บทความให้กำลังใจ(น้อมใจรับสัจธรรม)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ลบดึงดูดลบ
    พระไพศาล วิสาโล
    “ลบดึงดูดลบ” เป็นความเชื่อที่แพร่หลายในหมู่คนจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับ “บวกดึงดูดบวก” ความเชื่อดังกล่าวมีมูลความจริงไม่น้อยหากว่า “ลบ” คำแรกนั้นหมายถึงความรู้สึกลบ เช่น ความโกรธ เกลียด หวาดระแวง

    มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ว่าความรู้สึกลบนั้นทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อปีที่แล้วมีการศึกษาพบว่าความโกรธอย่างรุนแรงทำให้โอกาสที่จะเกิดหัวใจวายภายในสองชั่วโมงเพิ่มเป็น ๘.๕ เท่า

    ที่น่าสนใจคืองานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า คนวัย ๔๐ ที่มีความคิดลบต่อวัยชรา (เช่น เห็นว่าคนแก่เป็นพวกใจลอย เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ยาก) เมื่อเวลาผ่านไป ๒๕ ปี คนเหล่านี้จะสูญเสียเนื้อสมองบางส่วน (ฮิปโปแคมปัส) มากกว่า รวมทั้งมีลิ่มเลือดมากกว่า ซึ่งล้วนเป็นตัวบ่งชี้ของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ สอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าคนที่มีอคติต่อวัยชราจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากขึ้นใน ๔๐ ปีให้หลัง

    ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่า “ลบดึงดูดลบ”นั้น บางครั้งก็ส่งผลเกือบจะทันที คือแค่ไม่กี่ชั่วโมง บางครั้งก็ใช้เวลานาน แต่จะช้าหรือเร็วก็ล้วนมีเหตุผลที่อธิบายได้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอย ๆ

    ในชีวิตประจำวันเราจะพบว่า ความคิดลบนั้นย่อมนำพาสิ่งที่เป็นลบมาหาเราอยู่เสมอ แต่อาจจะไม่ได้มาในแบบที่คนเป็นอันมากวาดภาพเอาไว้ คือเกิดขึ้นมาโดยไม่มีที่มาที่ไป หรือเพราะพลังอำนาจบางอย่างที่เข้าใจได้ยาก แต่เกิดจากเหตุปัจจัยอันมีที่มาจากความคิดลบนั้นเอง

    “พร” เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่มีปากเสียงเป็นประจำ เธอมักเห็นพ่อด่าว่าแม่ บางทีก็ใช้กำลังกับแม่ จึงมีอคติต่อพ่อ รวมทั้งเกลียดชังผู้ชายที่ชอบใช้กำลังกับภรรยา ครั้นเธอเป็นสาว หลงรักชายหนุ่มคนหนึ่ง จึงได้แต่งงานกัน แต่บ่อยครั้งภาพฝังใจในวัยเด็กทำให้เธออดระแวงไม่ได้ว่าสามีของเธอจะเป็นเหมือนอย่างพ่อ ความหวาดระแวงนั้นเองทำให้เธอรู้สึกไวเป็นพิเศษกับคำพูดและอารมณ์ของสามี

    แม้สามีเธอจะเป็นคนอ่อนหวาน รักครอบครัว แต่บางครั้งก็มีความหงุดหงิดเวลาอยู่กับเธอ พูดเสียงเข้มกับเธอ แม้มันเกิดขึ้นไม่บ่อย น้อยกว่าความอ่อนโยนที่เขามีกับเธอ แต่เธอมักเลือกเห็นและเลือกจำแต่อารมณ์และคำพูดที่เป็นลบของสามี เมื่อผสมกับความทรงจำอันเลวร้ายที่มีต่อพ่อ อคติของเธอที่มีต่อเขาก็ถูกตอกย้ำหนักแน่นขึ้น ผลก็คือเธอมีความรู้สึกลบกับสามีมากขึ้นเป็นลำดับ ความรักเริ่มจืดจาง ความโกรธและหวาดระแวงเริ่มมาแทนที่

    อคติและความรู้สึกลบ ทำให้เธอมีพฤติกรรมลบกับสามีถี่ขึ้น เช่น ต่อว่าสามี ระบายอารมณ์ใส่เขา กล่าวหาว่าเขาไม่รักเธอ จากนั้นก็ขุดเอานิสัยต่าง ๆ ของเขามาตำหนิ เช่น ขี้เกียจ ไม่สนใจลูก เธอมีเรื่องต่อว่ากล่าวโทษเขาเป็นประจำ เมื่อเจอแบบนี้วันแล้ววันเล่า ในที่สุดสามีของเธอก็คุมอารมณ์ไม่อยู่ ตวาดใส่เธอ และเกือบใช้กำลังกับเธอ

    กรณีอย่างนี้มองเผิน ๆ ก็อาจสรุปได้ง่าย ๆ ว่า เป็นเพราะความรู้สึกลบที่มีต่อพ่อ เธอจึงได้สามีที่มีนิสัยอย่างพ่อ (หรือดึงดูดให้คนที่มีนิสัยอย่างพ่อมาเป็นสามีของเธอ) แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า การที่สามีมีพฤติกรรมดังกล่าว มิใช่เพราะนิสัยดั้งเดิมของเขาเป็นอย่างนั้น หากแต่เป็นผลจากการกระทำของตัวเธอเองเป็นสำคัญ เริ่มจากการคิดลบ (ว่าสามีคงไม่ต่างจากพ่อ) ทำให้เธอเห็นลบ (เลือกเห็นแต่สิ่งไม่ดีของสามี) ทำให้เกิดความรู้สึกลบ (โกรธและระแวงสามี) ตามมาด้วยพฤติกรรมลบ (ต่อว่า กล่าวโทษเขา) ในที่สุดก็ทำให้สามีตอบโต้เธอด้วยอารมณ์และพฤติกรรมลบ พูดอีกอย่างหนึ่ง ความคิดลบของเธอกระตุ้นปลุกปั่นให้เขามีพฤติกรรมลบกับเธอ

    “ลบดึงดูดลบ” จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากกฎแห่งกรรม เราทำอย่างไร ก็ได้ผลอย่างนั้น ดังมีสำนวนว่า “ให้ทุกข์แก่เขา ทุกข์นั้นถึงตัว” แต่สิ่งที่เราทำนั้นจะเป็นบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราคิด เห็น หรือรู้สึกอย่างไร ถ้าคิดลบ เห็นลบ รู้สึกลบ ก็ย่อมทำลบ ซึ่งเท่ากับกระตุ้นให้คนอื่นเกิดปฏิกิริยาที่เป็นลบ และส่งผลลบแก่เรา

    ในทางตรงข้ามถ้าปรารถนาบวก ก็ต้องเริ่มต้นจากการคิดบวก บางอย่างแค่คิดบวก ก็เกิดผลบวกแล้ว (เช่น มีสุขภาพดี ไกลจากโรคหัวใจและอัลไซเมอร์) แต่มีอีกหลายอย่างที่คิดบวกไม่พอ ต้องทำบวกด้วย จึงจะเกิดผลบวกแก่เรา

    บวกย่อมดึงดูดบวก หากว่าบวกตัวแรกนั้นหมายถึงการคิดดีและทำดี แล้วสิ่งดี ๆ ก็จะตามมา อาทิ ความรัก ความเกื้อกูลจากผู้อื่น และความสุขใจ แต่ถ้าคิดถึงแต่เงินทองและความสำเร็จ แล้วหยุดแค่นั้น ก็ยากที่เงินทองและความสำเร็จจะตามมา
    :- https://visalo.org/article/secret255907.html
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ทุกข์คลายได้ เมื่อใจยอมรับ
    พระไพศาล วิสาโล
    พระเจดีย์พุทธคยาทุกวันนี้เนืองแน่นด้วยผู้คนที่มาบูชาสักการะจากทุกสารทิศ วันหนึ่งมีจำนวนนับหมื่น ๆ คนโดยเฉพาะในช่วงที่ภูมิอากาศเป็นใจแก่นักท่องเที่ยว แต่ใครที่คิดมาหาความสงบที่นี่ อาจจะผิดหวัง เพราะนอกจากความพลุกพล่านแล้ว ยังมีเสียงดังฟังไม่ได้ศัพท์ตลอดวัน เนื่องจากแต่ละคณะมิได้มาสักการะด้วยดอกไม้และเครื่องหอมเท่านั้น หากยังสวดมนต์ด้วยภาษาของตน ทั้งในระหว่างเดินประทักษิณรอบพระเจดีย์และระหว่างนั่งรายล้อมพระศรีมหาโพธิ์ ยังไม่นับการแสดงธรรม ซึ่งมักใช้เครื่องเสียงเพื่อให้สมาชิกทุกคนในคณะได้ยินกันถ้วนทั่ว

    แต่น่าสังเกตว่า ทั้ง ๆ ที่มีเสียงอื้ออึงอย่างต่อเนื่อง ผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันนั่งสงบ หลับตาทำสมาธิอยู่รายรอบพระเจดีย์ ไม่มีทีท่ารำคาญกับเสียงเหล่านั้นเลย จะว่าเขาไม่ได้ยินเสียงดังกล่าว ก็เห็นจะไม่ใช่ ขณะเดียวกันก็น่าคิดว่าหากเขานั่งอยู่กลางตลาดหรือกลางถนน ซึ่งมีเสียงดังในระดับเดซิเบลเท่า ๆ กันหรือน้อยกว่า เขาจะยังนั่งหลับตานิ่งสงบได้หรือไม่ หลายคนคงทำไม่ได้

    เหตุใดผู้คนจึงสามารถสงบใจได้ท่ามกลางความพลุกพล่านและเสียงดังเซ็งแซ่รอบพระเจดีย์ คำตอบน่าจะอยู่ตรงที่ผู้คนเหล่านี้รู้ดีว่าเสียงเหล่านั้นเป็นเสียงสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ออกมาจากจิตที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา ในฐานะชาวพุทธด้วยกัน ผู้คนเหล่านี้จึงมีความรู้สึกดีกับเสียงเหล่านั้นแม้จะฟังไม่รู้เรื่องก็ตาม ดังนั้นจิตจึงไม่ผลักไสหรือต่อต้านเสียงดังกล่าว ผลก็คือจิตมีความสงบ สามารถนั่งสมาธิได้อย่างสบาย ไม่มีอาการอึดอัดกระสับกระส่าย

    ภาพดังกล่าวบอกให้เรารู้ว่า ความสงบในใจนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากบรรยากาศที่สงบสงัดเท่านั้น แม้มีเสียงอึกทึกครึกโครมรอบตัว เราก็สามารถพบความสงบใจได้ ดังนั้นสาเหตุที่ทำให้ใจไม่สงบจึงมิใช่อยู่ที่เสียงจากภายนอก หากอยู่ที่ใจของเราเอง หากยอมรับหรือรู้สึกดีกับเสียงที่ดังรอบตัว ใจเราก็สงบได้ไม่ยาก ในทางตรงข้ามหากใจมีทีท่าต่อต้าน ผลักไส ปฏิเสธ หรือชิงชังเสียแล้ว แม้เสียงจะแผ่วเบา ความว้าวุ่นกระสับกระส่ายหรือเป็นทุกข์ก็เกิดขึ้นกับใจได้ทันที

    กล่าวอีกนัยหนึ่ง เสียงไม่ใช่ปัญหา ท่าทีของใจเราต่างหากที่เป็นปัญหา นี้คือความจริงที่ผู้คนมักมองข้าม เมื่อมีความทุกข์ใจเกิดขึ้น ผู้คนจึงมักโทษสิ่งภายนอก แต่ลืมมองกลับมาที่ตนเอง ว่าแท้จริงแล้วเป็นเพราะใจที่ต่อต้าน ผลักไส หรือปฏิเสธสิ่งนั้นต่างหากจึงทำให้เป็นทุกข์ จะว่าไปแล้ว ไม่จำเพาะสิ่งที่เป็นลบเท่านั้น แม้สิ่งที่เป็นบวก เช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่ไพเราะ ทันทีที่รู้สึกผลักไสมัน เพราะเห็นว่ามันไม่เข้ากับบรรยากาศ ไม่ถูกกาละเทศะ หรือเพราะกำลังง่วนอยู่กับสิ่งอื่นอยู่ ใจก็เป็นทุกข์ทันที แม้จะได้กำไรมาหลายสิบล้าน แต่หากรู้สึกลบกับมัน เพราะคิดว่าน่าจะได้มากกว่านี้ ใจก็หงุดหงิดขึ้นมาทันที

    ในทางตรงข้าม แม้เจอสิ่งที่เป็นลบ เหตุการณ์ที่ย่ำแย่ หากเราทำใจยอมรับมันได้ ไม่ต่อต้านหรือผลักไสมัน คือ ไม่บ่น ไม่โอดโอยหรือโวยวาย ความทุกข์ใจจะลดน้อยลงมาก จริงอยู่เราอาจคิดว่ามันไม่น่าเกิดขึ้นกับเรา แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรยอมรับมัน ป่วยการที่จะบ่นว่าไม่น่าเลย เพราะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น มิหนำซ้ำการบ่นหรือปฏิเสธมัน มีแต่จะทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้น หากเจ็บป่วยแล้วยังโวยวายว่าทำไมต้องเป็นฉัน ก็จะไม่ป่วยแต่กายเท่านั้น ใจก็จะป่วยด้วย หากเงินหาย ก็จะไม่เสียแต่ของเท่านั้น ใจก็จะเสียด้วย ตามมาด้วยเสียสุขภาพ เพราะกินไม่ได้นอนไม่หลับ แล้วก็จะเสียงาน เพราะไม่มีอารมณ์ทำงาน ตามมาด้วยเสียสัมพันธภาพ เพราะหงุดหงิดใส่เพื่อน ระบายความโกรธใส่ลูกหรือพ่อแม่และคนรัก

    ถ้าไม่อยากซ้ำเติมตนเอง ก็ควรทำใจยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อน แต่การยอมรับไม่ได้แปลว่ายอมแพ้ อะไรที่แก้ไขได้ก็ควรทำ ไม่นิ่งเฉยหรืองอมืองอเท้า แต่จะทำได้ดีก็ต่อเมื่อเราหยุดบ่น หยุดโวยวาย ยอมรับความจริงให้ได้แล้วทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
    :- https://visalo.org/article/secret255801.htm
    . .

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ในวิกฤต มีโอกาส
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อพูดถึงความตาย เรามักนึกถึงความเจ็บปวด ความทุรนทุราย และความพลัดพรากสูญเสียจากสิ่งที่รัก บางคนอาจนึกเลยไปถึงสิ่งลี้ลับดำมืดหรือความทุกข์ทรมานที่รออยู่เบื้องหน้าหลังสิ้นลม ความตายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวในความรู้สึกของผู้คน จนแม้แต่จะเอ่ยถึงก็ยังไม่กล้า

    กล่าวได้ว่าความตายเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่สามารถจะเกิดได้กับคน ๆ หนึ่ง เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นสุดยอดของความพลัดพรากนอกจากความตาย แต่ในทุกวิกฤตย่อมมี “โอกาส”อยู่เสมอ

    มองในแง่กายภาพ ความตายเป็นวิกฤตที่นำความแตกดับมาสู่ชีวิตก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็เปิดโอกาสให้หลายชีวิตมีลมหายใจยืนยาวต่อไป โดยอาศัยอวัยวะจากผู้ตายมาปลูกถ่ายทดแทน หรืออาศัยความรู้จากร่างของผู้ตาย มาพัฒนาวิธีการเยียวยารักษาโรคร้ายเพื่อยืดชีวิตของผู้คน

    ใช่แต่เท่านั้น ความตายยังเป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณด้วย กล่าวคือเป็นประตูเปิดสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น ดังคนโบราณเชื่อว่าหากตั้งจิตให้เป็นกุศลก่อนตายก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์หรือได้พบพระศรีอาริย์ในชาติต่อไป ถ้าเป็นคนอีสานก็เชื่อว่าจะได้ไปสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    แต่ถึงแม้จะไม่เชื่อในภพหน้า ความตายก็ยังสามารถหนุนเนื่องให้เกิดการยกระดับทางจิตใจได้ตั้งแต่ขั้นสามัญไปจนถึงขั้นสูงสุด คือการบรรลุอรหัตผล ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับบุคคลที่บรรลุธรรมขั้นสูงในขณะที่ความตายมาประชิดตัว อาทิ พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ในวาระสุดท้ายของพระองค์ทรงประชวรหนัก มีทุกขเวทนาแรงกล้า พระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมถึง ๗ วัน ๗ คืน ในคืนสุดท้าย ทรงแสดงธรรมเรื่องความไม่เที่ยง พระเจ้าสุทโธทนะทรงพิจารณาตาม และเห็นแจ้งด้วยพระองค์เองว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ในที่สุดก็ทรงบรรลุอรหัตผลก่อนจะเสด็จดับขันธ์ในคืนนั้นเอง

    heaw3.jpg พระติสสะก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้รับทุกขเวทนามากในยามใกล้ตาย มิหน้ำซ้ำท่านยังถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งเนื่องจากเป็นโรคที่น่ารังเกียจ ท่านถูกปล่อยให้นอนจมปฏิกูลและมีหนองเปรอะเปื้อนเต็มตัว เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงเสด็จมาดูแลท่าน อาบน้ำชำระร่างกายและเปลี่ยนจีวรใหม่ จากนั้นพระองค์ได้แสดงธรรมสั้น ๆ ว่า “อีกไม่นาน ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ ถูกทอดทิ้ง ทับถมแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ อันหาประโยชน์มิได้” พระติสสะได้พิจารณาตามและประจักษ์ด้วยตนเองร่างกายนี้ไม่น่ายึดถือเลย ส่งผลให้ท่านบรรลุอรหัตผลในขณะเดียวกับที่สิ้นชีวิต
    ส่วนพระสัปปทาสมีประวัติที่แตกต่างออกไป กล่าวคือท่านมีความทุกข์มากที่ไม่เคยพบกับความสงบใจเลยตลอด ๒๕ ปีที่บวช จึงตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง ช่วงที่ท่านปาดคอตนเอง ท่านได้สติหันมาพิจารณาความเจ็บปวดอันแรงกล้าที่เกิดขึ้น และเห็นว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง จิตจึงละวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ชั่วขณะนั้นเองก็บรรลุอรหัตผลก่อนจะสิ้นลม

    ความตายนั้นตัดรอนชีวิตและบีบคั้นกายใจก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ประกาศสัจธรรมอย่างชัดเจนว่า สังขารนั้นไม่เที่ยง ไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นว่าเป็นของเราได้เลย เพราะเอาไปไม่ได้สักอย่าง ส่วนทุกขเวทนาอันแรงกล้านั้นก็ตอกย้ำว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ไม่น่ายึดไม่น่าเอา เป็นเสมือนครูที่เฆี่ยนตีไม่หยุดหย่อนจนกว่าเราจะเข็ดหลาบ และยอมปล่อยวางสังขารนั้นไปในที่สุด

    ด้วยเหตุนี้ในยามที่ความตายมาคุกคาม จึงมีโอกาสอย่างมากที่บุคคลจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมจนละวางความยึดติดถือมั่นในสังขาร เข้าถึงมรรคผลนิพพาน หรือลุถึงอิสรภาพทางจิตวิญญาณได้ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเรียกช่วงเวลาที่ใกล้ตายว่าเป็น “นาทีทอง”ของชีวิต

    สำหรับคนทั่วไปที่ไกลวัด หรือไม่หวังนิพพานในชาตินี้ ความตายก็ยังเป็นโอกาสให้ได้พบสิ่งดี ๆ เท่าที่ปุถุชนจะหวังได้ เช่น ได้เห็นลูกหลานหรือพี่น้องกลับมาคืนดีกันเพราะเห็นแก่คนป่วยที่กำลังจะตาย ในทำนองเดียวกัน บางคนที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้ภรรยาจนฝ่ายหลังตีจาก เมื่อเจ้าตัวป่วยหนักจนภรรยาอยู่เฉยไม่ได้ ต้องกลับมาดูแลอย่างใกล้ชิด สามีจึงมีโอกาสเอ่ยปากขอโทษภรรยา และนำไปสู่การคืนดีกันได้ในที่สุด
    เมื่อถึงคราวจะสิ้นลมสามีก็จากไปอย่างสงบ

    ทั้ง ๆ ที่ร่างกายใกล้จะแตกดับ แต่ก็มีหลายคนที่ได้พบกับความสงบในยามใกล้ตาย เพราะได้ปล่อยวางภาระต่าง ๆ ในชีวิต ด้วยรู้ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะแบกเอาไว้ต่อไป บ้างก็หันมาให้เวลากับลูกหลานและพ่อแม่ ได้รับความอบอุ่นใจ และดีใจที่ได้ทำสิ่งสำคัญในชีวิตก่อนตาย บางคนเมื่อรู้ว่ามีเวลาเหลือน้อย ได้หันเข้าหาธรรมะ เจริญสมาธิภาวนา สร้างบุญสร้างกุศลเต็มที่ จึงพบกับความสุขใจอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน

    หากไม่มีมรณภัยมาประชิดตัว ผู้คนเหล่านี้ก็คงยังหมกมุ่นกับการงาน แสวงหาเงินทอง วุ่นวายกับภาระต่าง ๆ หาไม่ก็เพลิดเพลินกับความสนุกสนาน จนลืมไปว่ายังมีสิ่งที่ดีกว่าหรือสิ่งสำคัญอย่างอื่นในชีวิตที่ต้องใส่ใจ ใช่หรือไม่ว่าความตายมาเตือนให้เขาหันมาทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจอย่างแท้จริง รางวัลที่ได้ก็คือความสงบเย็นและความสุขใจที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน กระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิตก็ยังพบกับความสงบได้ ไม่ทุรนทุรายแม้ทุกขเวทนาทางกายจะบีบคั้นก็ตาม

    ความตายจึงไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความทุกข์ทรมานเสมอไป มีผู้คนเป็นอันมากที่จากไปท่ามกลางความอาลัยและความปลื้มปีติของญาติที่เห็นคนรักของตนจากไปอย่างสงบและงดงาม

    มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องเคยกล่าวว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ” ความข้อนี้ใช้กับความตายได้ด้วย ความตายนั้นไม่น่ากลัวเลยหากเราเข้าใจความตายอย่างรอบด้านและทุกแง่มุม จนเห็นว่าความตายไม่ใช่วิกฤต หากเป็นโอกาสอันทรงคุณค่าด้วย
    :- https://visalo.org/article/secret255207.htm

    . skullunderlinemoving.gif
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่
    พระไพศาล วิสาโล
    เงินทอง เวลา และสุขภาพ คือสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา หากมีครบทั้งสามอย่างชีวิตย่อมมีความสุข และสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มาก แต่กล่าวโดยทั่วไปใหญ่แล้ว การที่เราจะมีทั้งสามอย่างครบถ้วนในเวลาเดียวกันนั้นเป็นเรื่องยากมาก

    มีผู้หนึ่งตั้งข้อสังเกตไว้ดีมากว่า เมื่อเรายังเด็ก เรามีเวลาและสุขภาพ แต่ไม่ค่อยมีเงิน เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ เรามีเงินและสุขภาพ แต่ไม่ค่อยมีเวลา ครั้นแก่ตัว เรามีเงินทองและเวลา แต่สุขภาพไม่ค่อยดี

    ผู้ใหญ่ทุกคนคงจำได้ดีว่า ตอนเป็นเด็กนั้น เรามีเวลาวิ่งเล่นได้ทั้งวัน กำลังวังชาล้นปรี่ แต่ถ้าอยากได้ของเล่นสักอย่าง ช่างยากเย็นเหลือเกิน เพราะไม่มีเงิน ขอพ่อแม่ก็มักถูกปฏิเสธ แต่เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ มีงานทำ ชีวิตมีความสะดวกสบาย มีปัญญาหาเงินซื้อทุกอย่างที่อยากได้ แต่กลับไม่ค่อยมีเวลาใช้ของเหล่านี้ รวมทั้งเวลาพักผ่อนหรืออยู่กับครอบครัว เพราะมัวแต่ทำมาหากิน

    แต่เมื่อเข้าสู่เข้าวัยชรา เกษียณจากการงาน เราก็จะมีเวลาเหลือเฟือ เงินที่เก็บไว้ก็มีไม่น้อย แต่ถึงตอนนี้สุขภาพไม่อำนวยให้ทำอย่างที่อยากทำได้ จะไปเที่ยวไหนก็ไม่สะดวกเหมือนก่อน จะกินตามใจปากก็ไม่ได้เพราะถูกโรคร้ายคุกคาม

    ใช่หรือไม่ว่า ชีวิตนี้หาความสมบูรณ์พร้อมได้ยาก มักจะมีบางอย่างขาดหายไปเสมอ เมื่อดิ้นรนจนได้สิ่งใหม่มา สิ่งเก่าก็พลันสูญหายไป จะเรียกว่าชีวิตนี้มีความพร่องเป็นนิจก็ได้ ใครที่ต้องการความสมบูรณ์พร้อมจากชีวิต ก็เตรียมใจพบกับความผิดหวังได้เลย

    แทนที่จะมัวไขว่คว้าหาสิ่งที่ยังไม่มี ไม่ดีกว่าหรือหากเราจะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรามีอยู่กับตัว อย่าลืมว่าสิ่งที่เรามีอยู่ตอนนี้ สักวันหนึ่งก็จะสูญหายไป หรือกลายเป็นของหายากขึ้นมา ถ้าปล่อยปละละเลยสิ่งนั้น วันหน้าก็จะเสียใจเมื่อสิ่งนั้นพลัดพรากไปจากเรา

    ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักว่าสิ่งที่ตนมีอยู่ตอนนี้ วันหน้าจะกลายเป็นอดีต เรามักทึกทักเอาเองว่าอะไรที่เรามีนั้นจะอยู่กับเราไปตลอด ดังนั้นจึงไม่ค่อยเห็นคุณค่า หาไม่ก็ใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย เช่น เด็กและวัยรุ่น มักจะใช้เวลาที่มีอยู่มากมายไปอย่างเปล่าประโยชน์ พอโตเป็นผู้ใหญ่ถึงค่อยมานึกเสียดายเวลาที่ผลาญไปในวัยเด็ก แต่แล้วผู้ใหญ่เองกลับไม่ค่อยถนอมสุขภาพ ใช้ร่างกายอย่างไม่บันยะบันยัง เอาแต่ทำมาหากินจนไม่ได้พักผ่อน ยิ่งเครียดก็ยิ่งหันเข้าหาอบายมุข กินเหล้า สูบบุหรี่ หรือเที่ยวกลางคืน กว่าจะรู้ตัวว่าทำอะไรกับร่างกายของตนเองก็ต่อเมื่อถูกโรคนานาชนิดเล่นงาน

    เมื่อถึงวัยชราหลายคนย่อมนึกเสียใจที่ก่อนหน้านั้นไม่รู้จักถนอมรักษาสุขภาพ ถึงตอนนี้มีเวลามากมายแต่ไม่มีแรงจะทำอะไรแล้ว จึงปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ นั่งเหม่อลอยหวนคิดถึงแต่อดีต หรือปล่อยใจไปกับความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่เขาอาจจะลืมไปว่าเวลาที่มีอยู่มากมายในวันนี้ พรุ่งนี้อาจไม่เหลือแม้แต่นาทีเดียว เพราะความตายมาพราก ถึงตอนนั้นอาจนึกเสียดายที่ไม่ได้ทำหลายอย่างที่ควรทำ โดยเฉพาะการเตรียมใจรับมือกับความตาย

    สิ่งที่เรามีมากมายจนล้นเหลือ เรามักไม่เห็นคุณค่า ต่อเมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป เราจึงจะซาบซึ้งในคุณค่าของสิ่งนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด พึงระลึกไว้เสมอว่า ทั้งหมดที่คุณมีอยู่ตอนนี้ จะไม่อยู่กับคุณไปตลอด ดังนั้นจึงควรรู้จักชื่นชมสิ่งเหล่านี้ และใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ แม้จะมีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์พร้อม แต่หากใช้ให้เป็น ก็สามารถสร้างสุขแก่เราได้

    ถึงจะมีแต่เวลาและสุขภาพ แต่ไม่ค่อยมีเงิน เราก็ยังสามารถใช้เวลาและกำลังวังชาให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตัวเองและผู้อื่นได้ เช่นศึกษาหาความรู้และช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีเงินมีสุขภาพ แต่ไม่มีเวลา ก็ยังมีความสุขได้หากรู้จักใช้เงินและสุขภาพอย่างถูกต้อง เช่น ใช้เลี้ยงตนและดูแลผู้อื่นให้ผาสุก ในทำนองเดียวกัน ถึงจะมีเวลาและเงิน แต่สุขภาพไม่ค่อยดี ก็ใช่ว่าชีวิตจะไม่มีความสุข หากรู้จักใช้เวลาที่มีนั้นในการฝึกฝนจิตจนเกิดสติและปัญญา

    ความสุขและความดีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำต้องมีเวลา สุขภาพ และเงินทองครบทั้งสามประการ แม้มีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หากรู้จักใช้ ก็บันดาลให้เกิดความสุขและความดีได้ จะว่าไปแล้วมีชีวิตจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งในสามประการนี้ แต่หากมีความสุขและความดีแล้ว ชีวิตก็ย่อมเต็มอิ่ม จิตใจจะไม่รู้สึกพร่องเลย

    ใช้ชีวิตโดยตระหนักว่าทุกอย่างที่มีนั้นจะต้องจากเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง นอกจากจะทำให้เราไม่ประมาทกับชีวิตแล้ว ยังช่วยให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น ใช่หรือไม่ว่าเพียงแค่รู้จักชื่นชมสิ่งที่มี จิตใจก็เป็นสุขทันที
    :- https://visalo.org/article/secret255303.htm
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    Buddhaandlotusamazon.jpg
    ความดีที่ผันแปร

    พระไพศาล วิสาโล
    กุมภ์เมลาเป็นพิธีที่สำคัญและยิ่งใหญ่มากสำหรับชาวฮินดูในอินเดีย ครั้งล่าสุดจัดที่เมืองอัลลาฮาบาดมีผู้คนมาร่วมงานถึง ๗๐ ล้านคน ไม่มีการชุมนุมทางศาสนาใดในโลกที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว

    ตลอดช่วง ๕๖ วันของพิธีดังกล่าวผู้คนหลายสิบล้านได้มาก่อกระโจมริมแม่น้ำคงคาเพื่อทำพิธีอาบน้ำชำระบาป ลองนึกภาพว่าผู้คนจำนวนหลายเท่าตัวของประชากรลาวทั้งประเทศมากระจุกรวมกันอยู่ในพื้นที่เล็กขนาดแค่อำเภอเดียว ความแน่นขนัดจะมากมายเพียงใด ความโกลาหลวุ่นวายน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

    แต่แล้วก่อนที่พิธีนี้จะยุติได้เกิดโศกนาฏกรรมที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองนั้น ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ผู้คนมหาศาลพากันเบียดเสียดยัดเยียดจนเหยียบกันตายถึง ๓๖ คน บาดเจ็บอีกมากมาย คนเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เพิ่งเสร็จการจาริกแสวงบุญทั้งสิ้น

    น่าคิดก็ตรงที่ว่า ช่วงที่อยู่ในพิธีกุมภ์เมลานั้น ผู้คนล้วนอยู่กันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หญิงผู้หนึ่งพูดถึงบรรยากาศในพิธีดังกล่าวว่า “ผู้คนจะห่วงใยคุณ ปฏิบัติต่อคุณอย่างสุภาพ (เช่นพูดว่า) คุณแม่มานี่เลย เชิญตามสบายเลย” แต่พอถามถึงเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟ หญิงคนเดียวกันนี้พูดว่า “ผู้คนคิดว่าพวกเขาแข็งแรงกว่าคุณ นึกอยากจะผลักคุณไปไหนก็ได้”

    คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ผู้คนที่ผลักใครต่อใครเพื่อแย่งขึ้นรถไฟ ที่จริงก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เอื้ออาทรนักจาริกแสวงบุญด้วยกัน แต่อะไรทำให้เขาเหล่านั้นมีพฤติกรรมตรงข้ามกันราวกับคนละคน

    ใช่หรือไม่ว่าความสุภาพและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อเรามีสำนึกว่าตนเองเป็นนักจาริกแสวงบุญหรือผู้ใฝ่ธรรม ในภาวะเช่นนั้นเราจะมีหิริโอตตัปปะและความอดทนอดกลั้นได้มากกว่า จะว่าไปแล้วสิ่งแวดล้อมไม่ว่าผู้คน พิธีกรรม และบรรยากาศล้วนมีส่วนช่วยสร้างสำนึกดังกล่าวให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนหลายสิบล้านที่นั่น เพราะตลอด ๒๔ ชั่วโมงมีเสียงดนตรีและการแสดงธรรมดังก้องทุกหนแห่ง อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับสำนึกดังกล่าวก็คือความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของมหาชนที่นั่น เป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน

    แต่พอออกจากพิธีดังกล่าวเพื่อเดินทางกลับบ้าน ทันทีที่ถึงสถานีรถไฟ สำนึกว่าฉันเป็นนักจาริกแสวงบุญก็เลือนหายไป มีสำนึกใหม่มาแทนที่คือ ความเป็นผู้โดยสาร ที่ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับใคร แต่ละคนมีแต่ความปรารถนาที่จะเดินทางกลับบ้านให้เร็วที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงคิดถึงแต่ตัวเอง เห็นผู้อื่นเป็นคู่แข่งที่ต้องเอาชนะเพื่อขึ้นรถไฟก่อนใคร ๆ ผลก็คือแย่งชิงผลักไสกันจนเหยียบกันตายอย่างน่าเศร้าสลด

    พฤติกรรมของคนเรานั้นจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสำนึกว่าเราเป็นใคร แต่สำนึกว่าเราเป็นใครนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเราอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมทั้งบุคคลและวัตถุด้วย ตอนอยู่วัดหรือเข้าคอร์สกรรมฐาน เราอาจมีสำนึกว่าตนเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่พอกลับบ้านหรือกลับมาทำงาน สำนึกอย่างอื่นมักจะมาแทนที่ เช่น ความเป็นนักธุรกิจ ความเป็นพ่อแม่ หรือความเป็นลูก ซึ่งอาจทำให้เรามีพฤติกรรมแตกต่างไปจากตอนอยู่วัด ที่เคยอดกลั้นต่ออารมณ์ ก็กลับมาหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ที่เคยชนะใจตนเองได้ ก็กลับมาพ่ายแพ้ต่อกิเลส ที่เคยมีน้ำใจไมตรี ก็กลับมาคิดถึงแต่ผลประโยชน์

    จะว่าคนเรามีหลายตัวตนก็ได้ ตัวตนใดจะโดดเด่นครองใจเราได้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมมิใช่น้อย บ่อยครั้งมันถูกปลุกเร้าได้ง่ายมากอย่างที่เราไม่ทันรู้ตัว เคยมีการทดลองโดยแบ่งคนเป็นสองกลุ่ม โดยมีภารกิจเหมือนกันคือเรียบเรียงคำต่าง ๆ ที่สลับกันให้เป็นประโยคขึ้นมา กลุ่มแรกได้ประโยคที่มีความหมายกลาง ๆ (เช่น “ข้างนอกอากาศหนาว”) ส่วนกลุ่มที่สอง ได้ประโยคที่เกี่ยวกับเงิน ( เช่น “ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น”) จากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มทำภารกิจอย่างที่สอง เช่น ไขปริศนาที่ค่อนข้างยาก

    สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คนที่เรียงประโยคที่เกี่ยวกับเงิน มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่นน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ดำเนินการทดลองในการกรอกข้อมูล หรือการช่วยเหลือ “คนแปลกหน้า” (ที่จริงเป็นผู้ดำเนินการทดลองที่ปลอมตัวเข้ามา)ที่ทำกล่องดินสอหล่น “โดยบังเอิญ” ในขณะที่กลุ่มแรกนั้นมีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือคนอื่นมากกว่า

    การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า เพียงแค่ถูกกระตุ้นให้คิดถึงเรื่องเงิน คนเราก็มีแนวโน้มจะเห็นแก่ตัวมากขึ้น ช่วยเหลือเกื้อกูลน้อยลง แต่หากถูกกระตุ้นให้คิดหรือรู้สึกในทางอื่น เช่น เห็นคนที่ทุกข์ยาก หรือเด็กที่กำลังยิ้ม ความเห็นใจหรือเอื้อเฟื้อก็อาจมาแทนที่ได้ ดังมีการทดลองพบว่า กระเป๋าสตางค์ที่มีรูปทารกแย้มยิ้มนั้น หากทำตกหล่นในที่สาธารณะ เจ้าของมีโอกาสได้คืนมากที่สุด (เช่น มีโอกาสได้คืนถึงร้อยละ ๘๘ ส่วนกระเป๋าที่ไม่ใส่รูปอะไรเลย มีโอกาสได้คืนแค่ร้อยละ ๑๕) พูดง่าย ๆ ก็คือ คนเรามีทั้งต่อมคุณธรรมและต่อมเห็นแก่ตัว เราจะมีพฤติกรรมอย่างใดก็ขึ้นอยู่กับว่าต่อมใดถูกกระตุ้นเร้ามากกว่า

    ทั้งหมดนี้ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมนักปฏิบัติธรรมบางคนเมื่อกลับมาสู่สิ่งแวดล้อมเดิม ๆ จึงมีนิสัยไม่น่ารักดังเดิมหรือยังพ่ายแพ้กิเลสเช่นเคย อย่างไรก็ตามหากเรารู้เท่าทันอิทธิพลของสิ่งเร้าภายนอก รวมทั้งรู้เท่าทันสำนึกในตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถรักษาใจไม่ให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำ และหันกลับมาทำสิ่งที่ดีงามได้
    :- https://visalo.org/article/secret255705.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    อานุภาพแห่งความดี
    พระไพศาล วิสาโล
    การทำความดี หมั่นสร้างบุญกุศล ไม่เพียงช่วยให้มีชีวิตที่ผาสุกเท่านั้น หากยังอำนวยให้มีความสุขในเวลาละโลกนี้ไป ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า “บุญย่อมทำให้เกิดสุขในเวลาสิ้นชีวิต”

    คนเป็นอันมากกลัวตายก็เพราะไม่แน่ใจว่าเมื่อตายแล้วจะไปไหน จะไปทุคติหรือไม่ แต่ความกลัวเช่นนี้จะไม่เกิดกับผู้ที่มั่นใจในความดีที่ทำมาทั้งชีวิต เพราะรู้ดีว่าบุญกุศลที่ได้ทำนั้นย่อมส่งผลให้ไปสู่สุคติ ในชาดกตอนหนึ่ง พระโพธิสัตว์ได้กล่าวอย่างองอาจว่า “ข้าพเจ้าไม่มีความชั่ว ซึ่งทำไว้ ณ ที่ไหน ๆ เลย ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง”


    อย่างไรก็ตามผู้ที่จะมั่นใจในความดีของตนถึงขนาดนั้น เห็นจะมีไม่มาก คนส่วนใหญ่ย่อมมีบ้างที่พลั้งเผลอทำความชั่ว หรือทำสิ่งที่ไม่สมควร และหากเป็นคนไกลวัด ใจไม่แนบแน่นกับธรรมะ ก็ย่อมหวั่นไหวเมื่อความตายใกล้เข้ามา ส่วนหนึ่งกลัวว่าจะไปอบาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่กลัวเพราะจะต้องพลัดพรากจากทุกอย่างที่รักและหวงแหน รวมทั้งชีวิตนี้

    ความกลัวดังกล่าวทำให้ผู้คนเป็นอันมากไม่สามารถตายอย่างสงบได้ มิพักต้องเอ่ยถึงความเจ็บปวดทางกาย และความทุกข์ทางใจที่รุมเร้าในยามใกล้ตาย ทำให้จิตใจกระสับกระส่ายและทุรนทุรายจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

    ในยามนี้สิ่งหนึ่งที่จะช่วยน้อมใจให้สงบจนสิ้นลมก็คือ การระลึกถึงสิ่งดีงามอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ สำหรับชาวพุทธก็ได้แก่ พระรัตนตรัย หรือพระโพธิสัตว์ เป็นต้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งเหล่านี้ หากผู้ใดศรัทธานับถืออยู่ก่อนแล้ว เมื่อระลึกนึกถึงคราใดย่อมเกิดความอบอุ่นใจ และมั่นใจว่าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจนปลอดภัย ความอบอุ่นและมั่นใจดังกล่าวเป็นโอสถอย่างดีที่เยียวยาจิตใจให้หายทุกข์ บรรเทาความกระสับกระส่ายให้คลายไป

    ส่วนผู้ไกลวัด ที่ไม่รู้สึกแนบแน่นกับพระรัตนตรัย ก็ใช่ว่าจะหมดโอกาสพบกับความสงบใจในวาระสุดท้าย เพราะอย่างน้อยยังมีสิ่งดีงามอีกอย่างหนึ่งที่ควรแก่การระลึกนึกถึง นั่นคือความดีที่ตนได้ทำ มนุษย์ทุกคนย่อมเคยกระทำความดีมาแล้วไม่มากก็น้อย ความดีเหล่านี้ไม่เคยสูญเปล่า ยังสามารถช่วยเหลือเราได้ในยามใกล้ตาย

    อย่างไรก็ตามเมื่อวาระสุดท้ายใกล้มาถึง ปุถุชนมักถูกบีบคั้นด้วยทุกขเวทนา อีกทั้งถูกครอบงำด้วยความกลัวและอารมณ์อกุศลต่าง ๆ จนไม่มีสติมากพอที่จะนึกถึงความดีที่ตนเคยทำ จึงจำเป็นที่ญาติมิตรจะช่วยน้อมใจเขาให้ระลึกถึงความดีงามเหล่านี้ การกระทำดังกล่าวสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบรรเทาความเจ็บปวดทางกายหรือการรักษาด้วยยา

    ชายชราผู้หนึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ ในช่วงท้ายของชีวิต เขามีอาการทรุดลงบ่อยครั้ง ทุกครั้งลูกหลานต้องรีบพาไปโรงพยาบาล เมื่ออาการทุเลาจึงพากลับบ้าน สถานการณ์เป็นเช่นนี้อยู่หลายเดือน ทั้งผู้ป่วยและลูกหลานมีความทุกข์ถ้วนหน้า กระทั่งเดือนสุดท้าย มีหลานคนหนึ่งได้ไปเฝ้าไข้ผู้ป่วยแทบทุกวัน หลานได้ชวนผู้ป่วยคุยเรื่องชีวิตในอดีต เขาจึงเล่าเรื่องความภาคภูมิใจในวัยหนุ่ม อาทิ การได้ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และการรับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

    หลานสังเกตว่าตลอดเวลาที่คุยเรื่องเหล่านี้ผู้ป่วยมีแววตาเป็นประกาย สีหน้าเบิกบานและดูสงบมากขึ้น ยิ่งเมื่อได้คุยกันเรื่องแก่นธรรมของพุทธศาสนาในตอนท้าย ๆ ผู้ป่วยก็ปล่อยวางได้มากขึ้น หลังจากนั้นไม่นานผู้ป่วยก็เรียกลูกหลานมาสั่งเสีย และจากไปอย่างสงบ ด้วยสีหน้าที่มีรอยยิ้มน้อย ๆ

    ที่น่าแปลกก็คือ ตลอดหนึ่งเดือนเต็มที่หลานมานั่งคุยกับผู้ป่วย เขาไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลยแม้แต่ครั้งเดียว

    การเตือนใจให้ผู้ป่วยนึกถึงความดีของตนนั้น สามารถทำได้แม้ในยามที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะโคม่าหรือไม่รู้สึกตัว หญิงชราผู้หนึ่งใกล้จะสิ้นลมแล้ว ไม่มีอาการตอบสนองใด ๆ ลูก ๆอยากให้แม่ถวายสังฆทานเป็นครั้งสุดท้าย จึงไปนิมนต์พระรูปหนึ่ง ซึ่งบังเอิญมาอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ของท่านที่อาพาธในห้องใกล้ ๆ กัน เมื่อท่านรับสังฆทานเสร็จ ก็สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกไม่หยุด สัญญาณชีพบนจอมอนิเตอร์พุ่งขึ้นลงเร็วมาก

    ท่านอยากช่วยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ดังนั้นเมื่อทราบจากลูกหลานว่าผู้ป่วยชอบใส่บาตรวันพระและไปกราบพระประธานที่วัดไตรมิตร ท่านจึงบอกผู้ป่วยว่า โยม วันนี้เป็นวันพระ ให้คดข้าวใส่ขัน เตรียมดอกไม้ธูปเทียนให้พร้อม จะไปใส่บาตรกัน พร้อมแล้วก็ให้ไปที่หน้าบ้าน ทีนี้ท่านถามผู้ป่วยว่า ซ้ายมือมีพระไหม ปรากฏว่าผู้ป่วยส่ายหน้า ท่านถามต่อว่า ขวามือมีพระไหม ทีนี้ผู้ป่วยพยักหน้า พร้อมกับพนมมือ แล้วท่านก็พูดนำผู้ป่วยให้ใส่บาตรพระทีละองค์ จนครบ ๙ องค์ ถึงตอนนี้ผู้ป่วยมีอาการสงบอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นท่านก็พูดนำผู้ป่วยให้ไปกราบหลวงพ่อทองที่วัดไตรมิตร พร้อมกับนั่งภาวนา หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

    ระหว่างที่พระนำจิต หญิงชราไม่มีอาการกระตุกอีกเลย ส่วนสัญญาณชีพก็ค่อย ๆ ลดลง ในที่สุดก็แบนราบ ลูก ๆ ดีใจมากที่แม่จากไปอย่างสงบ

    ความดีหรือบุญกุศลนั้น นอกจากจะนำความแช่มชื่นเบิกบานมาสู่จิตใจในขณะกระทำแล้ว ยังอำนวยให้เกิดความอิ่มเอิบปลาบปลื้มใจเมื่อระลึกนึกถึง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในยามใกล้ตาย
    :- https://visalo.org/article/secret255211.htm

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    สุขด้วยปัญญา
    พระไพศาล วิสาโล
    ผู้มีปัญญากับผู้ไม่มีปัญญาแตกต่างกันตรงไหน ข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ ผู้มีปัญญานั้นย่อมหาความสุขได้แม้ประสบทุกข์ ส่วนผู้ไม่มีปัญญามัวแต่เป็นทุกข์ทั้ง ๆ ที่พบสุข

    เมื่อความเจ็บป่วย ความสูญเสีย หรือความล้มเหลว เกิดขึ้นกับผู้มีปัญญา เขาไม่เอาแต่บ่นหรือตีโพยตีพาย แต่ยอมรับว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว อีกทั้งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับใครก็ตาม ดังนั้นจึงหันมาใคร่ครวญว่าจะแก้ไขหรือจัดการกับมันอย่างไร หากแก้ไขไม่ได้ ก็ยอมรับความจริง และมองไปข้างหน้า ไม่มัวเสียดายหรือเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นอดีตไปแล้ว เพราะรู้ดีว่าความเสียใจนั้นเป็นการซ้ำเติมตัวเอง ป่วยกายก็พอแล้ว ทำไมต้องป่วยใจด้วย เสียทรัพย์ก็พอแล้วจะเสียใจไปอีกทำไม หาไม่อาจทำให้เสียสุขภาพและเสียงานเสียการตามมา เท่านั้นไม่พอ อาจเสียสัมพันธภาพอีกด้วย เพราะเผลอระบายอารมณ์ใส่คนใกล้ชิด เช่น ลูกหรือคู่รัก

    ผู้มีปัญญานั้นนอกจากจะไม่ปล่อยให้ใจเป็นลบแล้ว ยังรู้จักมองหาข้อดีหรือประโยชน์จากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เช่น ได้เห็นสัจธรรมว่าสังขารนั้นไม่เที่ยงเลย พบกับพราก เจอกับจากเป็นของคู่กัน ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง มันแค่มาอยู่กับเราเพียงชั่วคราวเท่านั้น ถ้ายึดติดถือมั่นว่าเป็นของเราเมื่อใด ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตยังเตือนใจให้ไม่ประมาทและฝึกใจให้เข้มแข็ง ทำให้มีภูมิต้านทานต่อความทุกข์และอดทนต่อความผันผวนปรวนแปรในชีวิตได้มากขึ้น

    ความทุกข์นั้นไม่ได้มีแต่ด้านลบ แต่ยังมีด้านบวกที่ปัญญาเท่านั้นช่วยให้มองเห็น หลายคนพบว่าความเจ็บป่วยทำให้เขาได้สัมผัสกับความรักอย่างลึกซึ้งของพ่อแม่ หรือรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่รักและห่วงใยเขา ขณะที่จำนวนไม่น้อยขอบคุณโรคร้ายที่ช่วยให้เขาได้พบธรรมะและความสงบเย็นในจิตใจ ส่วนคนที่ล้มละลายก็ได้เห็นน้ำใจของมิตรแท้และรู้ว่าทรัพย์สินเงินทองหาใช่สรณะที่แท้ไม่ ใช่แต่เท่านั้นเขายังมองเห็นว่า ถึงจะเจอเรื่องร้ายเพียงใด ก็ยังดีที่มันไม่ร้ายไปกว่านี้

    การมองด้านบวกยังหมายถึง การมองเห็นสิ่งดี ๆ ที่ยังมีอยู่กับตัว ไม่มัวใส่ใจกับสิ่งที่เสียไปหรือสิ่งแย่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น แทนที่จะอาลัยแขนขาที่พิการหรือตาที่มืดบอด ก็หันมาชื่นชมอวัยวะต่าง ๆ อีกมายที่ยังดีอยู่ และใช้อย่างเต็มศักยภาพจนทดแทนสิ่งที่เสียไป ดังนั้นจึงพบกับความสุขได้ไม่ยาก ทำนองเดียวกันแทนที่จะคะนึงถึงทรัพย์ที่เสียไป ก็หันมาตระหนักว่าตนเองยังมีทรัพย์อีกมากมายที่สามารถให้ความสุขแก่ตนได้ ใช่แต่เท่านั้นสุขภาพก็ยังดีอยู่ อีกทั้งมีพ่อแม่และคนรักอยู่ใกล้ตัว ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งทรงคุณค่าที่เงินซื้อไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ทั้ง ๆ ที่ประสบทุกข์ ผู้มีปัญญาก็ยังสามารถมองเห็นและเก็บเกี่ยวความสุขที่มีอยู่รอบตัว อีกทั้งยังสามารถสัมผัสความสุขจากภายในอันเกิดจากใจที่ปล่อยวางและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นธรรมดา รวมทั้งความสงบเย็นจากสมาธิภาวนา

    ในทางตรงกันข้ามผู้ไม่มีปัญญาแม้มีทุกอย่างในชีวิต แต่ก็ยังทุกข์เพราะรู้สึกว่ามีน้อยไป ทั้ง ๆ ที่มีสุขภาพดี หน้าตาสะสวย ทรวดทรงงดงาม ก็ยังกลุ้มใจเพราะมองเห็นแต่ข้อตำหนิ เช่น มีสิว ผิวคล้ำ น้ำหนักเกิน ได้โบนัสนับล้านก็ยังไม่พอใจเพราะเห็นเพื่อนได้มากกว่า มีบ้านที่งดงาม กว้างขวาง อยู่สบาย ก็ยังไม่มีความสุขเพราะเห็นเพื่อนอยู่คฤหาสน์ ถึงจะได้โชคลาภมา ก็ยังเสียใจเพราะคิดว่าน่าจะได้มากกว่านั้น

    ผู้ไม่มีปัญญานั้นหากไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เสียไป ก็มัวแต่ชะเง้อมองสิ่งที่ยังไม่มี หวังว่าจะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้มันมาครอบครอง เขาคิดถึงแต่ความสุขที่รออยู่ข้างหน้า จนลืมไปว่าความสุขนั้นมีอยู่กับเขาแล้ว เป็นความสุขที่สัมผัสได้ในปัจจุบัน จะเรียกว่าเป็นความสุขที่อยู่ปลายจมูกก็ได้ แต่มันอยู่ใกล้มากจนมองไม่เห็น หาไม่ก็เป็นเพราะมันอยู่กับเขานานจนกลายเป็นสิ่งจำเจ ไม่มีค่า หรือเป็น “ของตาย” หารู้ไม่ว่ามันเป็นของชั่วคราว สักวันหนึ่งก็ต้องสูญสลายหายไป ต่อเมื่อวันนั้นมาถึง เขาจึงจะเห็นคุณค่าของมัน แต่ถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว แม้กระนั้นเขาก็ยังไม่สรุปบทเรียน มัวแต่เศร้าเสียใจที่สูญเสียมันไป จนลืมใส่ใจกับสิ่งดี ๆ อีกมากมายที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้

    ผู้ไม่มีปัญญานั้นจะเห็นคุณค่าของสิ่งใดก็ต่อเมื่อ ๑) มันยังไม่เป็นของเขา ๒) เขาสูญเสียมันไปแล้ว แต่ผู้มีปัญญานั้นเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นขณะที่มันยังอยู่กับเขา เพราะเขาให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอนาคตหรืออดีต ดังนั้นเขาจึงมีความสุขทุกขณะ โดยไม่หวังความสุขจากอนาคต หรือหวนหาความสุขในอดีต

    ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ แต่ใจก็ไม่ตกต่ำย่ำแย่ เพราะนอกจากไม่ยอมให้ความทุกข์ฉาบย้อมครอบงำใจแล้ว ยังสามารถมองเห็นความสุขทุกขณะด้วยประการฉะนี้
    :- https://visalo.org/article/secret255603.htm
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ประตูสู่ธรรม
    พระไพศาล วิสาโล
    ในความรู้สึกของคนทั่วไป ทุกข์ กับ ธรรม คือสิ่งที่ตรงข้ามกันราวเหวกับฟ้า หรือกลางคืนกับกลางวัน ทุกข์นั้นชวนให้รู้สึกหม่นหมอง มืดมน อยากถอยห่าง ขณะที่ธรรมให้ความรู้สึกโปร่งเบา สว่างไสว อยากเข้าใกล้ แต่ในความเป็นจริง ทุกข์กับธรรมนั้น ใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง ราวกับฝาแฝดก็ว่าได้ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยเข้าหาธรรมก็เพราะความทุกข์ ท่านโกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์คนสำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน เล่าว่า เป็นเพราะท่านปวดไมเกรนอย่างหนัก โดยที่การแพทย์แผนใหม่ช่วยอะไรไม่ได้เลย ท่านจึงเข้าหาสมาธิภาวนาตั้งแต่อายุ ๓๐ ต้น ๆ เป็นเหตุให้ท่านซาบซึ้งในคุณค่าของพุทธศาสนา และทุ่มเททั้งชีวิตให้แก่การปฏิบัติธรรม จนกลายเป็นคุรุที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีลูกศิษย์ทั่วโลก

    ในทำนองเดียวกันหลายคนเข้าหาธรรมก็เพราะถูกมะเร็งคุกคาม ครั้นได้พบความสงบเย็นจากพระธรรม ก็ถึงกับอุทานว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” เพราะหากไม่เป็นโรคนี้ ก็คงใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย ยากจะพบความสุขที่แท้

    ผู้คนจำนวนไม่น้อยขอบคุณวิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ เพราะหากเขาไม่สิ้นเนื้อประดาตัว ก็คงไม่หันหน้าเข้าวัดหรือปฏิบัติธรรม จนรู้ว่าอะไรคือสรณะอันประเสริฐของชีวิต

    ทุกข์ไม่เพียงผลักผู้คนให้เข้าหาธรรมเท่านั้น หากยังสามารถสอนธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง

    นางกีสาโคตมีเสียลูกในวัยที่กำลังน่ารัก ส่วนนางปฏาจาราเสียทั้งลูก สามี และพ่อแม่ ทั้งสองเศร้าโศกเสียใจอย่างหนักจนไร้สติ คนแรกอุ้มศพลูกด้วยความหวังว่าลูกจะฟื้นขึ้นมาได้ คนหลังกระเซอะกระเซิงจนผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ครั้นได้พบพระพุทธเจ้า และได้ฟังธรรมจากพระองค์เพียงไม่กี่ประโยค ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะเห็นกระจ่างแจ้งจากประสบการณ์ของตนเองว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย ยึดติดมากเท่าไรก็เป็นทุกข์มากเท่านั้น เช่นเดียวกันกับพระติสสเถระ ซึ่งป่วยหนักด้วยโรคร้ายน่ารังเกียจ จนเพื่อนภิกษุหนีห่าง ครั้นพระพุทธองค์เสด็จมาพยาบาล และตรัสสอนเรื่องอนิจจังของสังขาร เมื่อท่านพิจารณาตามก็เห็นแจ่มแจ้งด้วยตนเอง เกิดความหน่ายในสังขาร ปล่อยวางหมดสิ้น บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สิ้นกิเลสพร้อม ๆ กับสิ้นชีวิต

    ในพระไตรปิฎกยังพูดถึงพระภิกษุที่ถูกเสือกัดระหว่างธุดงค์ในป่าลึก ขณะที่มีทุกขเวทนาแรงกล้า ท่านได้เจริญกรรมฐาน เอาเวทนาเป็นอารมณ์ คือพิจารณาความเจ็บปวดด้วยสติอย่างสงบนิ่ง จนเห็นชัดว่าสังขารนี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง จิตจึงสลัดคืนสังขารทั้งปวง ไม่ยึดติดอีกต่อไป บรรลุอรหัตผลคาปากเสือนั้นเอง

    ทุกข์หรือเหตุร้ายที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเปิดใจให้เราเห็นสัจธรรมได้เสมอ ว่าไม่มีอะไรที่เราจะฝากใจไว้ได้เลย เพราะล้วนแต่ไม่เที่ยง บกพร่องบีบคั้น และยึดมาเป็นของเราไม่ได้เลยสักอย่าง แต่สาเหตุที่เราไม่เห็นสัจธรรมเหล่านี้เวลาเกิดเหตุร้าย ก็เพราะใจมัวแต่คร่ำครวญ โกรธแค้น จึงไม่มีสติมากพอที่จะใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้น ผลก็คือเสียอย่างน้อยสองสถาน คือ นอกจากเสียสิ่งที่รักแล้ว ใจก็ยังเสียด้วย หนักกว่านั้นคือ เสียสุขภาพ(เพราะเครียดจัด) เสียงาน (เพราะไม่มีสมาธิ) และเสียสัมพันธภาพ (เพราะระบายอารมณ์ใส่คนรอบตัว) ในทางตรงข้าม หากตั้งสติให้ดี พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยปัญญา แม้จะเสียสิ่งที่รัก แต่ก็ได้ธรรม ซึ่งมีคุณค่ามหาศาล เพราะนอกจากจะยกใจให้พ้นจากทุกข์จากเหตุการณ์เฉพาะหน้าแล้ว ยังเป็นภูมิคุ้มกันใจมิให้เป็นทุกข์ในวันหน้าอีกด้วย

    เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ๒ ปีก่อน มีผู้สูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก หลายคนเครียดหนักถึงกับเจ็บป่วย ที่ฆ่าตัวตายก็ไม่น้อย แต่ก็มีบางคนที่ยิ้มได้ เหตุผลก็เพราะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริงเลย ทรัพย์สินทั้งหลายนั้นมาอยู่กับเราเพียงชั่วคราว ไม่ช้าไม่นานเรากับมันก็ต้องจากกัน

    เมื่อทุกข์เกิดขึ้น หากเอาแต่คร่ำครวญ เราก็ขาดทุน แต่ถ้าใคร่ครวญ เราก็ได้กำไร เพราะธรรมที่ได้ประจักษ์นั้นมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่เสียไปมากมายนัก อันที่จริง แม้ยังไม่ต้องใคร่ครวญ แค่รู้ทันทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ก็ช่วยได้มากแล้ว เพราะสามารถดึงใจให้ไม่ถลำเข้าไปในความทุกข์จนกลายเป็นผู้ทุกข์

    ทุกข์นั้นเป็นเสมือนประตูสู่ธรรม ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงยกทุกข์ให้เป็นอริยสัจข้อแรก จากนั้นจึงตามมาด้วยสมุทัย นิโรธ และมรรค ถ้าไม่เจอทุกข์ ก็ยากที่จะเข้าใจสมุทัย ไม่เห็นคุณค่าของมรรค และไม่อาจเข้าถึงนิโรธได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเจอทุกข์แล้ว ก็ต้องเกี่ยวข้องกับทุกข์ให้เป็นนั่นคือ รู้ทุกข์ ไม่ใช่เป็นทุกข์ ดังนั้นพระองค์จึงสอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ ผลักไส หรือถลำเข้าไป

    จะเห็นธรรมหรือถึงธรรมได้ ก็ต้องผ่านทุกข์เสียก่อน สำหรับผู้ใฝ่ธรรม ทุกข์จึงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย น่ารังเกียจ หากแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หากใช้มันให้เป็น เกี่ยวข้องกับมันให้ถูก ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะสามารถเปิดทางไปสู่การพ้นทุกข์ได้
    :- https://visalo.org/article/secret255607.htm


     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    วางได้จึงไปดี
    พระไพศาล วิสาโล

    ทุกวันยายจะตื่นมาตั้งแต่ตีสี่ หลังจากสวดมนต์และทำกิจส่วนตัวเสร็จ ก็จะออกมาเตรียมอาหารใส่บาตรโดยมีลูกสาวช่วยอีกแรง


    วันหนึ่งหลานสาว ซึ่งต้องออกไปทำงานก่อนฟ้าสาง สังเกตว่าตีห้าครึ่งแล้ว ยายไม่ออกมาเตรียมอาหารเหมือนเคย มีแต่แม่ทำงานอยู่ในครัวคนเดียว จึงมาเคาะประตูห้องยาย พร้อมกับถามว่า “ยายจ๋า ไม่ใส่บาตรเหรอ?”

    ยายตอบด้วยน้ำเสียงแจ่มใสว่า “วันนี้ไม่ใส่หรอก เดี๋ยวยายจะนั่งสมาธิต่อสักหน่อย”

    หลานสาวถามต่อว่า “งั้นหนูไปทำงานนะ ยายจะเอาอะไรไหม?”
    ยายตอบว่า “ไปเหอะ ยายไม่เอาอะไรอีกแล้ว”

    จนสายยายก็ยังไม่ออกมาจากห้อง ลูกสาวรู้สึกผิดสังเกต จึงทั้งเรียกทั้งเคาะประตูห้องอยู่นาน แต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงไปเรียกคนมาช่วยงัดประตูห้องเข้าไป ภาพที่ปรากฏก็คือ ยายนุ่งขาวห่มขาว หลังพิงฝาอยู่ในท่านั่งสมาธิ ดวงตาปิด มีรอยยิ้มน้อย ๆ คล้าย ๆ คนนั่งหลับ แต่พอมีคนมาแตะตัว ร่างของยายก็เอียงกระเท่เร่ลงมา ถึงตอนนั้นทุกคนจึงรู้ว่ายายหมดลมแล้ว

    ยายจากไปอย่างสงบและดูเหมือนจะรู้ตัวล่วงหน้าด้วยว่าจะจากไปในเช้าวันนั้น จึงนุ่งขาวห่มขาวและเลือกที่จะทำจิตให้สงบ แทนที่จะออกไปใส่บาตรเหมือนเคย ธรรมดาคนที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย ย่อมอยากให้คนรักหรือลูกหลานอยู่ใกล้ ๆ เพื่อเป็นกำลังใจ แต่ยายกลับปรารถนาที่จะอยู่ลำพัง ใช้เวลาที่เหลืออยู่กับการสวดมนต์ รำลึกถึงพระรัตนตรัย และนั่งสมาธิ

    คนที่จะทำเช่นนี้ได้ย่อมไม่อาลัยในชีวิตและไม่กลัวความตาย ทั้งนี้เพราะเชื่อมั่นว่าได้ทำความดีมาโดยตลอด และได้ใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์คุ้มค่าสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ จึงแน่ใจว่ามีสุคติเป็นเบื้องหน้า ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่าหน้าที่ที่สมควรทำก็ทำเสร็จสิ้นแล้ว จึงหมดห่วงไร้กังวล ดังนั้นจึงพร้อมที่จะจากไปอย่างเงียบ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องสั่งเสียหรือล่ำลาลูกหลาน

    คนทั่วไปนั้นเมื่อใกล้จะตายมักทำใจไม่ได้ พยายามดิ้นรนต่อสู้กับพญามัจจุราชเพราะกลัวว่าตายแล้วจะไปอบาย เนื่องจากไม่สนใจสร้างบุญกุศล หรือทำบาปเป็นอาจิณ หาไม่ก็นึกเสียใจที่ยังไม่ได้ทำอะไรอีกมากมายที่สมควรทำ ความห่วงกังวลและความรู้สึกผิดติดค้างใจจึงรบกวนจิตใจทำให้กระสับกระส่าย ใช่แต่เท่านั้น เป็นเพราะยึดติดหวงแหนสิ่งต่าง ๆ อย่างเหนียวแน่นมาทั้งชีวิต เมื่อรู้แน่ว่าจะต้องพลัดพรากสิ่งเหล่านั้นไปหมด จึงไม่สามารถยอมรับความตายได้ แต่ยิ่งดิ้นรนต่อสู้ความตายมากเท่าไร ก็ยิ่งทุรนทุรายมากเท่านั้น

    นอกจากการทำความดี ละเว้นความชั่วแล้ว เราจะตายอย่างสงบได้ก็ต่อเมื่อรู้จักปล่อยวางด้วย ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ อำนาจ ชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดจนลูกหลาน ไม่เว้นแม้กระทั่งร่างกายที่ยึดว่าเป็นตัวตน แต่ถ้าจะรอปล่อยวางเมื่อใกล้ตายก็นับว่าเป็นความประมาทอย่างยิ่ง จึงควรฝึกปล่อยวางตั้งแต่ยังสุขสบายดีอยู่ ด้วยการให้ทานซึ่งเป็นการสละสิ่งที่ง่ายที่สุดคือเงินทองของนอกตัว ตามมาด้วยการรักษาศีล อันเป็นการฝึกลดละความเห็นแก่ตัว โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้อื่น และใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อหมกมุ่นในกามสุข

    แต่เท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องบำเพ็ญภาวนาคือฝึกฝนจิตใจ นอกจากเพื่อสละความรู้สึกนึกคิดที่เป็นอกุศลหรือทำให้จิตใจรุ่มร้อนเศร้าหมองแล้ว ที่สำคัญก็คือเพื่อให้มีปัญญาเห็นความจริงว่าสิ่งทั้งปวงนั้นไม่จีรังยั่งยืน (อนิจจัง) เจือไปด้วยทุกข์ ไม่เคยทำให้เกิดความพอใจได้อย่างแท้จริง (ทุกขัง)และไม่สามารถยึดมั่นเป็นตัวเราของเราได้อย่างแท้จริง (อนัตตา) ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์ดังกล่าวจะทำให้จิตใจสามารถปล่อยวางสิ่งทั้งหลายได้ ไม่ตกเป็นทาสของมัน รวมทั้งชื่อเสียงเกียรติยศ บริษัทบริวาร ลูกหลานคนรัก และความสำเร็จทั้งปวง

    ปล่อยวางในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งไม่ไยดีหรือไม่รับผิดชอบ หากหมายถึงการมีจิตใจเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น แม้ยังเกี่ยวข้องอยู่แต่ก็ไม่สยบมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวมตามควรแก่กรณี แต่เมื่อถึงเวลาพลัดพรากจากกัน ก็ไม่หวงแหนติดยึดหรือเศร้าโศกเสียใจ

    แม้ปุถุชนคนทั่วไปยากที่จะมีปัญญาถึงขั้นปล่อยวางสิ่งทั้งปวงได้อย่างแท้จริง แต่การดำเนินชีวิตโดยหมั่นให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนาอยู่เสมอ ย่อมช่วยให้จิตใจปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความสุขเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่ทรัพย์สมบัติอาจจะลดลง เป็นความสุขจากจิตที่สงบเย็นและจากความสัมพันธ์ที่ร่มรื่นกับผู้อื่น ช่วยให้ชีวิตโปร่งโล่งเบาสบายอย่างแท้จริง และเมื่อถึงคราวละจากโลกนี้ไปก็สามารถจากไปได้อย่างสงบ เพราะไม่หวงแหนอะไรและไม่คิดจะเอาอะไรอีกแล้ว

    เช้าวันที่ยายจะจากไป ประโยคสุดท้ายที่ยายตอบหลานก็คือ “....ยายไม่เอาอะไรอีกแล้ว” ข้อความนี้มีนัยยะลึกซึ้งมากเพราะเป็นคำพูดที่ออกมาจากใจของผู้ที่ปล่อยวางทุกอย่าง จึงพร้อมที่จะตายอย่างสงบ ใช่หรือไม่ว่า ต่อเมื่อเราสามารถพูดประโยคนี้ได้จากก้นบึ้งของหัวใจ จึงจะพร้อมรับความตายได้ด้วยใจสงบ
    :- https://visalo.org/article/secret255305.htm

     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    มีและเป็นอย่างไรถึงจะไม่ทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    ชีวิตคนเราส่วนใหญ่หมุนเวียนไปตามความอยาก มีความอยากเป็นตัวผลักดันให้โลดแล่นไป ความอยากของคนเรานั้นจะว่าไปก็หนีไม่พ้นความอยากมี กับความอยากเป็น เช่น อยากมีเงินมีทอง อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออยากเป็นคนเด่นคนดัง เป็นนักกีฬา เป็นดารา แต่ไม่ว่าจะมีอะไรหรือเป็นอะไร ถ้าอยากมีอยากเป็นแล้วก็ทำให้ทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่ทุกข์เพียงเพราะมีความอยากเท่านั้น แม้ได้มีได้เป็นสมอยากในที่สุดก็ทุกข์เช่นกัน

    ทันทีที่มีความอยากขึ้นมาใจก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะว่ายังไม่ได้สมอยาก ระหว่างที่ดิ้นรนขวนขวายไปหาสิ่งนั้นมาก็ทุกข์อีก ต้องเจออุปสรรคมากมายกว่าจะฟันฝ่าจนได้มา ครั้นได้มาแล้วก็ทุกข์ในการที่ต้องรักษา ต้องดูแล กลัวคนจะมาแย่งเอาไป ครั้นสิ่งที่หามาได้เกิดเสื่อมไปหรือถูกคนแย่งชิงไป ก็ทุกข์อีก เห็นได้ว่าทุกขั้นตอนของความอยาก เริ่มจากการมีความอยาก ไปจนถึงการตอบสนองความอยาก และรักษาสิ่งที่ตนอยากเอาไว้ ล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์ เราทุกข์เพราะกลัวความพลัดพรากสูญเสีย จึงต้องดิ้นรนเพื่อป้องกันการพลัดพรากสูญเสียเอาไว้ แต่บ่อยครั้งก็ไม่สามารถป้องกันไว้ได้ เพราะความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาของชีวิต

    แต่ถึงแม้ความพลัดพรากสูญเสียยังไม่เกิด ทรัพย์สมบัติของเรายังคงอยู่ในสภาพเดิม เราก็หนีความทุกข์ไม่พ้น แต่คราวนี้ทุกข์เพราะอยากได้อันใหม่ที่ดีกว่า คนที่มีรถราคาแพงหลายล้านบาท ยากนักที่จะพอใจกับรถคันเดิม ส่วนใหญ่อยากได้รถคันใหม่ที่แพงหรือแรงกว่าเดิม อาหารอร่อยก็เช่นกัน แม้ว่าจะชอบแค่ไหน แต่เมื่อกินไปทุกวันๆ ๆ ก็เบื่อได้ ทั้งๆ ที่รสชาติก็เหมือนเดิม

    มีอะไรก็ตามถ้าเรามีไม่เป็นก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น พระพุทธองค์เคยตรัสกับนางวิสาขาซึ่งเศร้าโศกเสียใจที่หลานสาวตาย พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าคนในกรุงสาวัตถีน่ารักเหมือนหลานของนาง นางจะรักเขาเหมือนหลานไหม นางวิสาขาตอบว่ารัก พระองค์จึงถามต่อว่าคนในกรุงสาวัตถีตายวันละกี่คน นางตอบว่ามากจนนับไม่ได้ พระองค์จึงถามว่า ถ้าเช่นนั้นนางไม่ต้องเศร้าโศกทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า วิสาขาเอย ผู้ใดมีสิ่งที่รักร้อยสิ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์ร้อย ผู้ใดมีสิ่งที่รักเก้าสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์เก้าสิบ ผู้ใดมีสิ่งที่รักแปดสิบ ผู้นั้นก็ทุกข์แปดสิบ ผู้ใดมีสิ่งที่รักเพียงหนึ่ง ผู้นั้นก็ทุกข์หนึ่ง ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ ไม่มีโศก ไม่มีความคับแค้นใจ

    การมีสิ่งที่น่าพึงพอใจคือสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะเมื่อได้มาแล้วก็ต้องมีจากพราก เป็นธรรมดาของโลก ถ้าไปยึดในความมีหรือยึดติดถือมั่นในสิ่งที่มีแล้วก็เตรียมใจทุกข์ได้เลย มีอะไรก็ตาม ถ้าไม่อยากทุกข์ ก็อย่าไปยึดมั่นในสิ่งนั้น คือมีโดยใจไม่ได้เข้าไปยึดครอง พูดอีกอย่างหนึ่ง ให้เรามีเหมือนกับไม่มี

    ทีนี้เราลองหันมาดูความเป็นบ้าง ใคร ๆ ก็อยากเป็นคนเก่ง แต่พอรู้ว่ามีคนอื่นเก่งกว่า ก็ไม่สบายใจ เกิดความอิจฉาริษยา ถ้ามีใครมาวิจารณ์ว่าไม่เก่ง ก็โมโห หรือเล่นกีฬาแล้วแพ้ก็เป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่การแพ้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ทุกข์เพราะว่าฉันเป็นคนเก่ง คนเก่งต้องไม่แพ้ ในทำนองเดียวกันใครที่เป็นคนเด่นคนดัง แต่ถ้าไปไหนไม่มีคนทักหรือคนรู้จัก ก็เป็นทุกข์

    แม้แต่ความเป็นแม่เป็นพ่อ ทันทีมีความสำนึกขึ้นมาว่าฉันเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คืออยากจะให้ลูกเคารพเชื่อฟัง ไม่อยากให้โต้เถียงเรา นี่เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ติดมากับความเป็นแม่หรือความเป็นพ่อ แต่พอลูกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังก็เป็นทุกข์ เรียกว่าความเป็นแม่ความเป็นพ่อมันกัดเรา

    มีตัวอย่างแม่คนหนึ่งที่กลุ้มใจเรื่องลูก ลูกเอาแต่เล่นเกมออนไลน์ การบ้านไม่ทำ การเรียนไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เรียกให้มากินข้าวก็ไม่กิน นอนก็ไม่เป็นเวล่ำเวลา พอแม่ว่ากล่าวมาก ๆ ลูกก็ไม่พอใจตามประสาวัยรุ่น จนถึงกับปั้นปึ่ง ไม่พูดกับแม่ แม่ก็น้อยอกน้อยใจว่าอุตส่าห์เลี้ยงลูกมาด้วยความรัก แต่ลูกมาทำกับแม่อย่างนี้ จึงยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่พูดด้วยแม่จะโดดตึก แล้วลูกก็ไม่พูดกับแม่จริงๆ แม่เสียใจมากจึงกระโดดตึกตายจริง ๆ อย่างนี้เรียกว่าถูกความเป็นแม่ทำร้ายเอา คือไปยึดถือกับความเป็นแม่มาก สำคัญว่าฉันเป็นแม่ ดังนั้นลูกต้องเชื่อฟังฉัน ต้องไม่เย็นชากับฉัน แต่เมื่อไม่ได้รับสิ่งนั้นจากลูก ก็น้อยเนื้อต่ำใจ หัวใจสลาย จนทำร้ายตัวเอง

    ไม่ว่าเป็นอะไรก็ตามย่อมทุกข์ได้ทั้งนั้น เพราะว่าเรามักจะเป็นกันไม่ถูก นั่นคือไปยึดความเป็นนั่นเป็นนี่เอาไว้ ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่สมมุติ เด็กนักเรียนที่สอบได้ที่ ๑ จากโรงเรียนในชนบท อาจจะคิดว่าตัวเองเก่ง แต่ที่จริงมันเป็นแค่สมมุติที่หาความแน่นอนไม่ได้ เพราะพอไปเรียนในกรุงเทพ ฯ กลับสอบได้อันดับท้าย ๆ แต่ถ้าหากว่าเรารู้ทันว่าความเป็นคนเก่งนั้นเป็นเรื่องสมมุติ เราก็พร้อมที่จะปล่อยวางได้ และไม่ไปเป็นทุกข์กับมันยามมันเสื่อมสลายไป หรือในยามที่คนอื่นเขาไม่รับรู้สมมุติเหล่านั้น

    จะมีอะไรก็ต้องมีให้ถูก คือไม่ยึดมั่นถือมั่น พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและความพลัดพรากสูญเสีย จะเป็นอะไรก็เป็นให้ถูก คือรู้ว่าสิ่งที่เป็นนั้นเป็นแค่สมมุติ จะเป็นคนเก่ง คนดัง คนใหญ่คนโต เป็นอธิบดี ปลัดกระทรวง หรือผู้อำนวยการ ก็ล้วนเป็นสมมุติที่พร้อมจะแปรเปลี่ยนไป ไม่มีวันยั่งยืนได้ และถึงแม้จะยังไม่แปรเปลี่ยน แต่มันก็เจือไปด้วยทุกข์

    แต่ถ้าให้ดีที่สุดก็คือคือว่าไม่สำคัญมั่นหมายว่ามีหรือเป็นอะไรเลย เคยมีพราหมณ์ผู้หนึ่งเห็นพระพุทธองค์ว่ามีผิวพรรณวรรณะผ่องใส จึงถามพระองค์ว่า ท่านเป็นเทวดาหรือ พระพุทธองค์ทรงตอบปฏิเสธ พราหมณ์ถามต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นท่านคงเป็นคนธรรพ์ พระองค์ก็ปฏิเสธอีก พราหมณ์จึงพูดต่อว่า ท่านคงจะเป็นยักษ์แน่ พระองค์ก็ปฏิเสธ พราหมณ์จึงพูดว่า ท่านคงจะเป็นมนุษย์กระมัง พระพุทธองค์ทรงตอบว่าไม่ได้เป็น สุดท้ายพราหมณ์ก็เลยถามว่า ถ้าเช่นนั้นท่านเป็นอะไร พระองค์ทรงตอบว่า กิเลสที่เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่าเป็นเทวดาก็ดี เป็นคนธรรพ์ก็ดี เป็นยักษ์ก็ดี เป็นมนุษย์ก็ดี เราได้ละหมดแล้ว สุดท้ายพระองค์ก็ตรัสกับพราหมณ์ว่า จงถือว่าเราเป็นพุทธะเถิด

    พระพุทธองค์ไม่ทรงถือว่าพระองค์เป็นอะไรเลย แต่หากจะเรียกขาน ก็ขอให้เรียกพระองค์ว่าพุทธะ ทั้งนี้เพราะพระองค์ตระหนักว่าการเป็นอะไรก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องสมมติ ถ้าเข้าไปยึดมั่นสำคัญหมายก็ทำให้เป็นทุกข์ทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นจะมีหรือเป็นอะไรก็ตาม อย่าเผลอเข้าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่านั่นเป็นตัวเราหรือของเราจริง ๆ มิฉะนั้นจะถูก “ตัวกู ของกู”กัดเอาจนหาความสุขไม่ได้

    :- https://visalo.org/article/bkkB000003.htm
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ก้าวใหม่สู่ชีวิตใหม่
    พระไพศาล วิสาโล
    สุขหรือทุกข์ของคนเราขึ้นอยู่กับปัจจัยสองส่วน คือปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ในบรรรดาปัจจัยสองส่วนนี้ ปัจจัยภายในคือตัวเรามีความสำคัญที่สุด บางครั้งปัจจัยภายนอกไม่มีอะไรน่ากลัวหรืออันตรายเลย แต่เหตุใดเราถึงเป็นทุกข์ ละอองเกสรนั้นไม่มีพิษมีภัย แต่หลายคนกลับมีอาการแพ้อย่างแรง บางคนแพ้อาหารทะเล กินแล้วเป็นต้องเกิดผดผื่นคัน ละอองเกสรหรืออาหารทะเลนั้นไม่ได้เป็นปัญหามากเท่ากับปฏิกิริยาบ้าคลั่งจากบางส่วนในร่างกายของเรา

    คนเราล้มป่วยได้ไม่ได้เพราะเชื้อโรคอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราอ่อนแอด้วย จึงปล่อยให้เชื้อโรคลุกลามและอาละวาดได้ ขณะที่บางคนมีเชื้ออย่างเดียวกันอยู่ในร่างกาย แต่ไม่เป็นอะไรเลย เนื่องจากภูมิคุ้มกันสามารถควบคุมมันไม่ให้ขยายตัวได้ คนที่ตายเพราะโรคซารส์หรือไข้หวัดนก ปอดของเขาถูกทำลายยับเยินไม่ใช่เพราะพิษจากเชื้อไวรัสที่แปลกปลอม แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายของเขาเองที่เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อ โดยปล่อยสารเคมีออกมาซึ่งทำให้ปอดอักเสบอย่างรุนแรง นอกจากเนื้อเยื่อที่ดีจะตายแล้ว หลอดเลือดในปอดยังรั่ว ทำให้เลือดและของเหลวท่วมปอด จนถึงแก่ความตายได้ พูดง่าย ๆ ก็คือภูมิคุ้มกันเหล่านี้ “โอเวอร์รีแอคท์” จนกลายเป็นอันตรายต่อร่างกายของตัวเอง

    ความทุกข์ทางใจก็เช่นเดียวกัน ปัจจัยภายนอกไม่สำคัญเท่ากับปัจจัยภายใน คือการวางจิตวางใจของเราเอง อยู่ในบ้านคนเดียว แม้ไม่มีใครมาก่อกวนรังควานเลย แต่ใจกลับผวาจนไม่เป็นอันทำอะไร เพราะปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา หาไม่ก็ฟุ้งซ่านกระสับกระส่ายเพราะคุมความคิดไม่อยู่ คนจำนวนไม่น้อยแม้จะอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยพ่อแม่พี่น้อง เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่กลับเป็นทุกข์เพราะรู้สึกอ้างว้าง การสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า เยาวชนในกรุงเทพ ฯ ใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือวันละสามชั่วโมงโดยเฉลี่ย เหตุผลหลักคือ “เหงา”

    เวลาเป็นทุกข์เพราะถูกตำหนิ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ เรามักโทษคนที่พูดเช่นนั้นกับเรา แต่เราลืมนึกไปว่าลมปากของเขานั้นสลายไปกับอากาศธาตุนานแล้ว เหตุใดคำพูดของเขาจึงยังดังก้องอยู่ในหัวของเราครั้งแล้วครั้งเล่า แถมยังชัดเจนเหมือนกับเปิดเทปกรอกหูซ้ำแล้วซ้ำอีก ใครกันที่จดจำคำพูดของเขาจนประทับแน่นในใจ ซ้ำยังเอามาทวนย้ำซ้ำเติมตัวเองไม่หยุดหย่อน แม้เขาอาจพูดด้วยวาจาสุภาพ ด้วยความปรารถนาดี แต่เหตุใดมันจึงกลายเป็นเสมือนค้อนทุบใจเรา เป็นเพราะเขาหรือเรากันแน่

    ที่จริงไม่ใช่ใจเราดอกที่รู้สึกเหมือนถูกค้อนทุบเมื่อได้ฟังถ้อยคำดังกล่าว แต่เป็นกิเลสหรืออัตตาต่างหากที่เจ็บปวด ความหลงตัวพองตนว่า “กูแน่”กลับมีอาการฝ่อบุบบี้ไปทันทีเมื่อถูกคนตำหนิ วิจารณ์ หรือเพียงแต่ไม่ชื่นชมอย่างที่เราหวังเท่านั้น แต่เมื่อกิเลสหรืออัตตาเจ็บปวดทุรนทุราย ควรหรือที่เราจะไปเจ็บปวดกับมันด้วย หรือเหมาเอาความเจ็บปวดของมันมาเป็นของเราแทน ที่จริงควรยินดีด้วยซ้ำที่เห็นมันถูกทรมาน มันจะได้เลิกพองตนเสียที จะได้ไม่มีเรี่ยวแรงมาขี่คอข่มขู่เราอย่างที่แล้วมา บางคนฉลาดที่จะมองเห็นประโยชน์จากคำตำหนิ อย่างน้อยก็ทำให้เห็นจุดบกพร่องที่ควรแก้ไข ช่วยให้ผลงานออกมาดีขึ้น ด้วยเหตุนี้คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ผู้ก่อสร้างเมืองโบราณ จึงกล่าวว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล” คำตำหนิไม่อาจทำให้เราทุกข์ได้เลย กลับเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ หากเรารู้จักมอง

    เมื่อรู้ข่าวว่าเป็นโรคร้าย ทั้ง ๆ ที่ก้อนมะเร็งยังไม่ได้ก่อกวนร่างกายเลย เพราะยังเล็กกระจิริดอยู่ แต่หลายคนกลับทรุดลงทันที ไม่มีเรี่ยวแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เซื่องซึม ไร้ชีวิตชีวา อะไรทำให้เขาเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะก้อนมะเร็งกระนั้นหรือ หรือว่าเป็นเพราะใจของเขาที่นึกไปถึงวันตายข้างหน้า ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่อีกไกล
    มะเร็งทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ หากใจเราไม่ทำร้ายตัวเอง มะเร็งทำร้ายได้ก็แต่ร่างกายของเราเท่านั้น แต่เมื่อวางใจไว้ถูก มะเร็งกลับมีประโยชน์ต่อชีวิต หลายคนพบธรรมะหรือจุดหมายของชีวิตหลังจากเป็นมะเร็ง มรณสติที่มะเร็งช่วยเตือนให้ระลึกถึงบ่อย ๆ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเห็นคุณค่าของชีวิตและใช้ทุกวินาทีที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า แทนที่จะมัวเสพสุขหรือหาเงินอย่างเคย ผลก็คือคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขสงบในจิตใจมากขึ้นอย่างไม่เคยประสบมาก่อน ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงพูดว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง” ขณะที่บางคนบอกว่า “โชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง” ด้วยเหตุผลที่ไม่ซับซ้อนแต่นึกไม่ถึง นั่นก็คือหากเธอเป็นมะเร็งปากมดลูกจะต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานกว่านี้มาก

    หลายคนประสบเหตุร้ายจนพิการ แต่เมื่อปรับตัวได้ คนพิการเหล่านี้กลับมีความสุขมากกว่าหลายคนที่มีอาการครบ ๓๒ บางคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานชั้นเลิศทั้ง ๆ ที่ทุพพลภาพตั้งแต่คอลงมา แม้มือใช้การไม่ได้ แต่ก็ยังมีปากงับพู่กันวาดภาพแต่ละชิ้นราคานับแสน จนสามารถเลี้ยงพ่อแม่และน้อง ๆ ได้ทั้งบ้าน บางคนกลายเป็นอาจารย์กรรมฐาน หลังจากประจักษ์แจ้งในความจริงที่ว่า กายต่างหากที่พิการ แต่ใจไม่ได้พิการด้วย เมื่อใจลาออกจากความพิการ จิตก็สดใสแจ่มกระจ่าง

    ไม่ว่าปัจจัยภายนอกจะเป็นอย่างไร เงินฝืดเคือง สูญเสียทรัพย์สิน งานการไม่ก้าวหน้า ตำแหน่งติดตัน คนรักตีจาก เพื่อนพ้องพลัดพราก หรือแม้เคราะห์กรรมจะมากระทบกับร่างกาย จนสุขภาพเสื่อมทรุด ร่างกายไม่สมประกอบ ทั้งหมดนี้ก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้หากใจยังมีสติมั่นคง ไม่จมปลักอยู่กับอดีตที่หวานชื่น หรือหมกมุ่นกับอนาคตที่หม่นมอง อีกทั้งไม่เผลอใจไปยึดเอาความทุกข์ของกิเลสมาเป็นของใจ มีปัญญาที่รู้จักใช้ประโยชน์จากทุกสถานการณ์ และจากทุกอย่างที่ยังมีอยู่กับตัว ตระหนักว่าทุกอย่างที่เกิดกับเรานั้นดีเสมอ อย่างน้อย ๆ ก็ดีที่มันยังไม่เลวมากไปกว่านี้

    ปีใหม่นี้ใคร ๆ ก็ปรารถนาจะเห็นโชคลาภ ความสำเร็จ ชื่อเสียงเกียรติยศพร้อมพรั่งบริบูรณ์รออยู่เบื้องหน้า แต่จะดีกว่าหากมองเข้ามาที่ใจของเราด้วยความหวังว่าธรรมทั้งหลาย มี สติ ปัญญา สมาธิ เป็นต้นจักเจริญงอกงามเพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองใจ โดยไม่หวั่นกลัวเคราะห์ภัยใด ๆ เพราะมั่นใจว่าธรรมเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุข เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชคได้ แต่หวังเท่านั้นย่อมไม่พอ ต้องลงมือบำรุงเลี้ยงธรรมดังกล่าวด้วย โดยควรถือเอาศักราชใหม่เป็นนิมิตหมายสำหรับการสร้างคุณภาพใหม่ให้แก่จิตใจเพื่อชีวิตใหม่ที่เปี่ยมสุข

    :- https://visalo.org/article/bkkB254912.htm
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    enlighthenday.jpeg
    ปล่อยวางอย่างรับผิดชอบ

    พระไพศาล วิสาโล
    คำสอนทั้งปวงในพุทธศาสนา ถึงที่สุดแล้วมุ่งไปสู่การปล่อยวาง เพราะปล่อยวางได้เมื่อไร ก็หมดทุกข์เมื่อนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการปล่อยวาง คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจไปว่า หมายถึงถึงอยู่เฉย ๆ งอมืองอเท้า นี่เป็นความเข้าใจผิด ปล่อยวางแบบพุทธหมายถึงปล่อยวางที่ใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา หรือยึดมั่นให้มันเป็นไปตามใจเราก็จริง แต่ก็ต้องดูแลเอาใจใส่ด้วยความรับผิดชอบ เช่น ร่างกายนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา จึงควรปล่อยวาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องดูแล ร่างกายไม่ใช่ของเราก็จริง แต่เราต้องดูแลเอาใจใส่ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเราในการทำความดี เหมือนกับเรือที่จะพาเราข้ามฟาก เราก็ต้องดูแลเอาใจใส่ ถ้ารั่วก็ต้องอุด ถ้าเสียก็ต้องรู้จักซ่อมแซม เรารู้อยู่ว่าเมื่อถึงฝั่งแล้วเราจะไม่แบกเอาเรือไปด้วย แต่ในขณะที่ยังไม่ถึงฝั่งเราก็ต้องดูแล คอยซ่อมแซมเพื่อนำเราไปถึงจุดหมายให้ได้ เรามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมดูแลเรือ ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ใช่เรือของเราก็เลยปล่อยวางไม่สนใจ ถ้าเช่นนั้นเราจะถึงจุดหมายได้อย่างไร

    มีเรื่องเล่าว่า คราวหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินไปตรวจตราตามกุฏิพระ เห็นพระรูปหนึ่งนั่งหลบฝน เนื่องจากหลังคารั่ว ฝนจึงหยดลงมา หลวงพ่อชาก็เลยถามว่า ทำไมไม่ซ่อมหลังคาล่ะ พระรูปนั้นบอกว่าผมปล่อยวางครับ หลวงพ่อชาก็เลยบอกว่า ปล่อยวางกับวางเฉยแบบงัวแบบควายนั้นไม่เหมือนกัน

    ผู้คนมักคิดว่าวางเฉยแบบงัวแบบควายเป็นการปล่อยวางแบบพุทธ นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด ปล่อยวางเป็นเรื่องภายในใจ แต่หน้าที่การงานเราก็ต้องทำตามสมควรแก่เหตุปัจจัย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นทั้งแก่ตัวเราเองและต่อผู้อื่นด้วย พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตโต)ได้สรุปสั้นๆ ว่า ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องการทำ “จิต” ส่วนการทำงานต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบนั้นเป็นเรื่องการทำ “กิจ” ในเมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนเป็นนิจ ในแง่จิตใจเราจึงควรปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง แต่ขณะเดียวกันอะไรที่สมควรทำเราต้องรีบทำ ไม่เฉื่อยแฉะเฉื่อยเนือย เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมา การทำกิจนั้นบางทีท่านก็เรียกว่าความไม่ประมาท

    ความไม่ประมาทกับการปล่อยวางเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ แม้อากัปกิริยาภายนอกทำงานด้วยความขยันขันแข็ง แต่ภายในใจไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา พร้อมอยู่เสมอที่จะเผชิญกับความผันผวน พร้อมที่จะเจอความล้มเหลว เพราะรู้ว่าเหตุปัจจัยต่างๆ มีมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ เวลาทำงานก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่านี่มันเป็นงานของเรา ใครจะมาแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เวลาทำอะไรก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าผลต้องออกมาอย่างนี้อย่างนั้น ถ้าไม่ออกมาตามที่หวัง ฉันโมโห ฉันโกรธ ฉันท้อแท้ ผิดหวัง ท่าทีเช่นนี้จะทำให้เป็นทุกข์ได้ง่าย

    เดี๋ยวนี้เราทำด้วยความยึดมั่นกันมาก ยึดมั่นว่าเป็นของเราก็เลยทำ ถ้าไม่ใช่ของเราก็ไม่ทำ หรือว่ายึดมั่นในผล เวลาทำอะไรก็ตามก็วาดหวังหรือหมายมั่นว่าผลจะต้องออกมาอย่างนี้จึงจะมีกำลังใจทำ ถ้าทำโดยไม่ต้องพะวงถึงผลข้างหน้า แต่ทำตามเหตุตามปัจจัยหรือมุ่งประกอบเหตุให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ แบบนี้ทำไม่เป็น ต้องมีแรงจูงใจคือเอารางวัลหรือเอาผลที่สวยงามมาล่อให้มีกำลังใจ นี้ไม่ใช่วิธีการทำงานแบบพุทธ ท่าทีที่ถูกต้องแบบพุทธคือทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเอาความสำเร็จหรือรางวัลมาล่อ แต่ทำเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ มีคุณค่า และน่าทำ ขณะที่ทำจิตก็อยู่กับปัจจุบัน พร้อมเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ล้มเหลวก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นเอง แต่งานล้มเหลว ก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว เพราะว่าเราไม่ได้เอาตัวตนไปผูกติดไว้กับงาน ใครมาวิจารณ์งานก็ไม่ทุกข์ไม่เสียใจ เพราะไม่ได้ยึดติดว่างานนี้เป็นตัวกูของกู
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ทำงานอะไรก็ตาม พึงทำด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบ โดยไม่ถือว่างานนั้นเป็นตัวกูของกู ทำเสร็จแล้วก็มอบผลงานให้เป็นของธรรมชาติไป ไม่ยึดว่าเป็นเราหรือของเรา คำสรรเสริญเยินยอและชื่อเสียงเกียรติยศที่เกิดขึ้นก็มอบให้แก่ธรรมชาติ หรือมอบให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นของเรา ใครสรรเสริญก็ไม่ได้หลงใหลได้ปลื้ม ใครมาตำหนินินทาก็ไม่ได้ทุกข์ร้อน เพราะไม่ได้ยึดว่าเป็นของเราตั้งแต่ต้น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเวลาทำงานเรามักคาดหวังผล แถมยังไปยึดติดกับคำสรรเสริญเยินยอและคำนินทาว่ากล่าว จึงทำงานอย่างไม่มีความสุข

    การปล่อยวางหมายถึงว่าเราไม่เข้าไปยึดในผลที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบวกหรือลบ แม้ภายนอกอาจจะไม่ได้ปฏิเสธ แต่ภายในใจนั้นไม่รับอยู่แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสทั้งพูดทั้งเขียนมาตลอดว่าสมณศักดิ์เป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีความหมายสำหรับท่าน ท่านขอเป็นทาสของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว แต่ว่าเมื่อท่านทำงานให้พระศาสนา จนเจริญในสมณศักดิ์เป็นลำดับ จากพระครู เลื่อนเป็นพระราชาคณะสามัญ แล้วก็เป็นชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม สุดที่พระธรรมโกศาจารย์ เคยมีลูกศิษย์มาแนะอาจารย์พุทธทาสว่า สมณศักดิ์เหล่านี้ท่านน่าจะคืนเขาไป ท่านอาจารย์พุทธทาสก็บอกว่า จะคืนได้อย่างไร ก็เรายังไม่ได้รับมาตั้งแต่แรกจะคืนได้อย่างไร คือแม้ทางราชการจะให้สมณศักดิ์และพัดยศมาแต่ใจท่านไม่ได้รับเลย จะเป็นชั้นไหนก็ไม่เคยรับมาตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปคืนเขา
    ถ้าเราวางใจได้อย่างนี้ เวลาทำงาน ได้รับคำสรรเสริญเราก็ไม่รับมาเป็นของเรา หรืออาจจะถือไว้แต่ไม่ได้เอามาสวมใส่ ทำได้แบบนี้จะรู้สึกสบาย โปร่งเบา เมื่อถึงเวลาที่เขาตำหนิติฉินเราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะว่าเราไม่ได้รับตั้งแต่แรก เมื่อมีคนชมก็ไม่เพลินหรือหลงตัว เมื่อถูกตำหนิก็ไม่เสียใจ สองอย่างนี้ไปด้วยกัน ถ้าเราทำใจด้วยใจที่ปล่อยวางแล้ว เราจะทำงานด้วยใจที่สบาย อิสระ โปร่งเบา และทำด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่สบายแล้วเฉื่อยชาเฉื่อยแฉะ ตรงข้าม เราทำเต็มที่ เพราะความสุขคือการอยู่กับปัจจุบัน แม้ทำงานก็มีความสุข สุขอยู่ที่งานไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน ยิ่งมีสติและสมาธิด้วยแล้ว จะทำงานอย่างมีความสุขมาก แม้ผลจะยังไม่ปรากฏก็ตาม ถ้าทำงานด้วยท่าทีเช่นนี้ ผลของงานจะไม่มีอิทธิพลต่อเรามากนัก เราจะทำด้วยความสุข และด้วยสำนึกว่า มันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ทำเพราะว่ามันเป็นของเรา

    การปล่อยวางและการทำงานด้วยความรับผิดชอบ หรือทำด้วยความไม่ประมาท เป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อมให้เป็นอันเดียวกันให้ได้ อย่าไปแยกกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการปล่อยวางตามอำนาจของกิเลสหรือความหลง มิใช่ปล่อยวางเพราะมีปัญญา
    :- https://visalo.org/article/bkkB000001.htm



     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    รู้ทันมาร
    พระไพศาล วิสาโล
    ในพระไตรปิฎกมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับมารที่มาก่อกวนผู้ประพฤติธรรม ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระอรหันต์ ภิกษุ ภิกษุณี มารมาก่อกวนหลายรูปแบบ บางทีก็ปลอมตัวมาพูดจาชักจูงให้คลายความเพียร เช่น มาพูดกับภิกษุณีที่ทำความเพียรอยู่ว่าท่านยังสาวอยู่ ไปหาความสุขทางโลกก่อนเถอะ แก่แล้วก็ค่อยมาปฏิบัติธรรม เป็นการได้ประโยชน์จากโลกทั้งสอง คือโลกของฆราวาสและโลกของบรรพชิต ตอนสาวก็หาความสุขจากโลกฆราวาสด้วยการเสพกาม พอแก่แล้วค่อยมาหาความสุขจากโลกแห่งบรรพชิต ฟังดูก็มีเหตุผลดี น่าคล้อยตาม บางทีมารก็มาหลอกให้กลัว เช่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหว หรือปลอมตัวเป็นพญาช้างเป็นงูใหญ่ มาขู่ให้กลัวจะได้เลิกปฏิบัติ

    แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งบำเพ็ญความเพียร ก็ยังมีมารมารังควาน เช่น ชวนให้พระองค์กลับไปบำเพ็ญทุกรกิริยา มีคราวหนึ่งมากล่าวกับพระองค์ว่า ท่านสั่งสมบุญกุศลมามากแล้ว จะทำความเพียรไปทำไม พระองค์ก็ตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย แต่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แต่ก็มีหลายกรณีที่เมื่อมารมาหลอกพระองค์ พระองค์ก็บอกให้มารรู้ว่าพระองค์รู้ทันแล้ว โดยกล่าวทักแค่ว่า “มารผู้มีบาป” เพียงเท่านี้มารก็ตกใจ อุทานว่า “พระพุทธเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา” เมื่อรู้ว่าหลอกไม่สำเร็จ มารก็ยอมแพ้ หายตัวไป จะเห็นได้ว่าพระองค์ไม่ได้ใช้ฤทธิ์เดชอะไรกับมาร เพียงแค่บอกให้รู้ว่าพระองค์รู้ทันมารแล้วเท่านั้น มารก็ยอมแพ้

    คราวหนึ่งพระสมิทธิบำเพ็ญเพียรอยู่ มารก็มาหลอกให้กลัวด้วยการทำให้แผ่นดินไหว พระสมิทธิตกใจจนเลิกปฏิบัติ กลับไปยังเชตวัน แล้วทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้า พระองค์ได้ฟังก็รู้ว่าเป็นอุบายของมาร จึงแนะนำพระสมิทธิว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็ให้พูดไปเลยว่า “มารผู้มีบาป เรารู้จักท่าน” พระสมิทธิก็เชื่อ กลับไปบำเพ็ญเพียรที่เดิม มารเห็นก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอีก คราวนี้พระสมิทธิก็บอกกับมารตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำ พอมารรู้ว่าพระสมิทธิรู้ทันแล้วก็เสียใจ อุทานว่า “พระสมิทธิรู้จักเราแล้ว” จากนั้นก็ล่าถอยกลับไป

    จะเห็นได้ว่าเพียงแค่การรู้ทันก็มีอานุภาพมากพอที่จะทำให้มารล่าถอยกลับไปได้ ไม่ต้องใช้ฤทธิ์เดช ไม่ต้องต่อสู้หรือโรมรันพันตูกับมาร แค่บอกให้มารรู้ว่าเรารู้ทันเท่านี้ก็พอแล้ว มารในที่นี้ก็หมายถึงกิเลสที่ปรุงความคิดและอารมณ์ต่างๆ ทำให้เกิดความท้อ ความกลัว คลายความเพียร หรืออาจจะรวมถึงอารมณ์อกุศลต่างๆ ที่ทำให้เป็นทุกข์ เครื่องมือสำคัญที่จะเอามารับมือกับสิ่งเหล่านี้ก็คือ สติ ได้แก่การรู้เฉยๆ แค่รู้ว่ามันเกิดขึ้นที่ใจก็พอแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน ไม่ว่ามันจะมาก่อกวนอย่างไรก็ตาม ขนาดพระโมคคัลลานะ มารก็เคยมาก่อกวนทำให้ปั่นป่วนที่ท้อง ทีแรกท่านไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ครั้นหยั่งจิตดูก็รู้ว่าเป็นฝีมือของมาร ท่านก็พูดกับมารอย่างเดียวกันว่า “มาร เรารู้จักท่าน ท่านอย่าคิดว่าเราไม่รู้จักท่าน” พอมารรู้ว่าพระโมคคัลลานะรู้ทันก็เสียใจ หนีจากไป ความโกรธ ความโลภ ความหงุดหงิด ความรู้สึกผิดต่างๆ ก็เช่นกัน ทันทีที่เรารู้ว่ามันมา มันก็ล่าถอยไปไม่ต่างจากมาร

    เวลามีความคิดและอารมณ์อกุศลเกิดขึ้น แค่รู้ทันเฉยๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องทำอะไร การดูก็ดี การเห็นก็ดี การรู้ทันก็ดี อันนี้เป็นงานของสติ คนส่วนใหญ่เวลาเกิดอารมณ์อกุศลขึ้นมามักจะอยู่เฉยไม่ได้ พยายามกดข่มมัน ยิ่งกดข่ม มันก็ยิ่งต้าน ยิ่งสู้ หรือไม่ก็หลบไประบายออกทางอื่น ผู้ชายคนหนึ่งพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมแปลก ๆ คือเวลาเจอศาลพระภูมิทีไร มีความรู้สึกอยากไปทำลาย เขาไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ความโกรธเกลียดศาลพระภูมิเกิดขึ้นโดยไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร สุดท้ายก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็ให้เขาเล่าประวัติให้ฟัง

    ตอนหนึ่งเขาเล่าว่าเขาเป็นคนที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับพ่อ ถูกพ่อดุด่าว่ากล่าวเป็นประจำ มีคราวหนึ่งพ่อด่าเขาอย่างรุนแรง ดูเหมือนจะลงไม้ลงมือด้วย เขาโกรธมากอยากจะตอบโต้ด้วยการต่อยพ่อแต่ก็ห้ามใจเอาไว้ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกผิดมาก เพราะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ คนดีไม่ควรเกลียดพ่อหรืออยากทำร้ายพ่อ เขาจึงพยายามกดข่มความโกรธเกลียดพ่อเอาไว้ ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้กับพ่อ ปรากฏว่าความโกรธเกลียดพ่อไม่ได้หายไปไหน มันถูกกดอยู่ในจิตไร้สำนึก แล้วไประบายออกที่ศาลพระภูมิแทน เพราะศาลพระภูมิเป็นเหมือนตัวแทนของพ่อ คือเป็นที่เคารพและดูมีอำนาจ ในเมื่อโกรธเกลียดพ่อหรือทำร้ายพ่อไม่ได้ ก็ไปออกที่ศาลพระภูมิแทน

    กรณีนี้แก้ได้ด้วยการที่เจ้าตัวยอมรับว่ามีความโกรธเกลียดพ่อ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส และไม่ต้องกดข่มความรู้สึกดังกล่าว แค่ยอมรับและดูมันเฉย ๆ แค่เห็นมันเฉย ๆ เรียกว่าไม่ต้องสนใจมันเลยก็ได้ มันเกิดขึ้นก็ปล่อยมันไป ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ก็จะพบว่าในที่สุดมันก็จะดับไปเอง ในทางตรงข้ามยิ่งไปกดข่มมัน มันก็ยิ่งรังควานหรือผลักดันให้เรามีอาการประหลาดวิปริตพิศดาร

    หลายคนพอทำสมาธิภาวนา จะเจอความคิดและอารมณ์ที่น่าเกลียด เช่น ความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ความพยาบาท พอมันเกิดขึ้นในใจก็รู้สึกผิด รู้สึกแย่ว่าทำไมฉันมีความคิดแบบนั้น ยอมรับมันไม่ได้ ก็พยายามกดข่มอารมณ์เหล่านั้นไว้ ที่จริงมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่อารมณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับเรา เพราะเรายังเป็นปุถุชนอยู่ มองอีกแง่หนึ่งมันเป็นอุบายของกิเลสที่อยากจะล่อหลอกให้เราเข้าไปพันตูกับมัน ขืนเราทำเช่นนั้นเราก็หลงกลมัน เจอแบบนี้เราก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปสนใจมันก็พอแล้ว

    มีหลายคนมาปรึกษาอาตมาว่าทำยังไงดี เพราะมักจะมีคำพูดจ้วงจาบพระรัตนตรัยดังขึ้นในใจ บางทีก็จ้วงจาบพ่อแม่ ด่าท่านอย่างรุนแรงในใจ บางคนสวดมนต์ไปได้สักพักก็มีเสียงตำหนิด่าทอ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขารู้สึกแย่กับตัวเองมาก ว่าทำไมถึงมีความคิดที่ชั่วร้ายแบบนี้ พยายามกดข่มเท่าไรก็ไม่สำเร็จ อาตมาจึงแนะนำไปว่าไม่ต้องทำอะไรกับความคิดหรือเสียงเหล่านั้น แค่รู้ว่ามันมีอยู่ก็พอ ไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าไปคิดกดข่ม อย่าไปทำอะไรกับมัน หากกดข่มมันมันก็ยิ่งได้ใจ รังควานหนักขึ้น
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    คนที่มีปัญหาแบบนี้มักคิดว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่คิดแบบนี้ จึงรู้สึกว่าตัวเองชั่วร้ายเหลือเกิน แต่ที่จริงมีคนคิดแบบนี้เยอะมาก เพียงแต่เขาไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง เพราะรู้สึกอับอาย พออาตมาเอาคำถามแบบนี้ขึ้นเฟ๊ซบุ๊ค หลายคนก็เขียนมาเล่าว่า ฉันก็เป็น หนูก็เป็น ผมก็เป็น มีเยอะทีเดียว แสดงว่าเหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องพิเศษพิสดารของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ติดดี ยิ่งอยากเป็นคนดี อยากทำตัวให้เรียบร้อย ความคิดแบบนี้ก็ยิ่งโผล่ออกมา จะว่ามันเป็นมารที่จะมาชวนให้หลงทางก็ได้ เป็นอุบายของมารที่ไม่อยากให้เราเจริญก้าวหน้าในทางธรรม หรืออาจจะเป็นเพราะความติดดีทำให้มีความรู้สึกลบต่อความคิดที่ไม่ดี พอมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจก็พยายามกดข่มมัน ยอมรับไม่ได้ว่าฉันมีความคิดแบบนี้อยู่ ทั้งที่มันเป็นธรรมดา พอกดข่ม มันก็มีแรงต้าน อย่าลืมว่าแรงกดเท่ากับแรงสะท้อน

    สิ่งที่ต้องทำในกรณีอย่างนี้ก็คือไม่ทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรกับความคิดเหล่านั้น ปล่อยมันไป ไม่โมโหโกรธามัน ไม่เกลียดมัน และไม่รู้สึกผิดกับตัวเองด้วย แค่รู้เฉย ๆ มันก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป นี่เป็นพลานุภาพของการรู้เฉยๆ รู้โดยที่ไม่ต้องไปทำอะไร มันสามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ หรือความคิดที่เป็นอกุศลได้

    อย่าไปดูแคลนการรู้เฉยๆ หรือสักแต่ว่ารู้ รู้โดยไม่ต้องทำอะไร รู้โดยไม่นำพาอะไร อย่างไรก็ตามเอาเข้าจริงๆ มันเป็นเรื่องยาก อย่างที่พูดตั้งแต่แรก เพราะคนเราทนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ มันอดไม่ได้ที่จะต้องทำอะไรสักอย่าง ยิ่งใฝ่ธรรมอยากจะขัดเกลาจิตใจตนเอง ก็ยิ่งทนไม่ได้กับความคิดแย่ ๆ แบบนี้ รู้สึกว่ามันเป็นความคิดที่สกปรก เป็นความคิดที่ชั่วร้าย ต้องจัดการกับมัน พอมีความรู้สึกว่านี่เป็นความคิดที่ชั่วร้าย ใจก็เป็นลบกับมันทันที ทำให้อยากผลักไสกำจัดมัน

    ทันทีที่ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์แล้ว เพราะใจให้ค่าเป็นลบกับสิ่งนั้น แต่ถ้าเราวางใจเป็นกลางๆ ถือหลักว่า คิดดีก็ช่าง คิดชั่วก็ช่าง หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ อาจารย์ของอาตมาพูดย้ำเสมอว่า “คิดดีก็ช่าง คิดชั่วก็ช่าง” อย่าไปทำอะไรมัน แค่เห็นเฉยๆ รู้เฉยๆ หรือถ้ารู้สึกว่า ดูทีไรเห็นทีไรก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปพันตูกับมัน ก็ลองไม่ให้ความสนใจมัน เวลามีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ให้กลับมารู้กาย เอากายเป็นฐาน วิธีนี้ก็ช่วยได้ วิธีนี้ไม่ได้มีประโยชน์แต่เฉพาะในเรื่องการภาวนาเท่านั้น ในชีวิตประจำวันก็ช่วยได้มาก

    มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายเกิดอารมณ์ดี ไปเด็ดดอกไม้มาใส่แจกัน ดอกไม้มีสอง สี สีเหลืองกับสีแดง เด็กคนนี้แยกดอกไม้สองสีออกจากกัน ดอกสีเหลืองก็ใส่ไว้ในแจกันหนึ่ง ดอกสีแดงก็ใส่ไว้ในอีกแจกันหนึ่ง แล้วเอาไปให้ย่า ย่าก็ขอบอกขอบใจ แต่พอเด็กไม่อยู่ ย่าก็เปลี่ยนเอาดอกสีเหลืองและสีแดงมาผสมในแจกันเดียวกัน พอหลานมาเห็นก็ไม่พอใจ โกรธ โวยวาย บอกให้ย่าเปลี่ยนกลับให้เป็นเหมือนเดิม แต่ตอนนั้นย่าไม่อยู่แล้ว อยู่แต่แม่ เด็กโวยวายมาก อาละวาดเลย แม่ก็บอกว่าเดี๋ยวแม่ทำให้ เด็กก็ไม่ยอม จะต้องให้ย่ามาทำ คือเปลี่ยนให้เป็นเหมือนเดิม แม่บอกว่าย่าไม่อยู่แม่ทำเองก็แล้วกัน เด็กก็ไม่ยอมจะให้ย่าทำ แม่บอกว่างั้นเดี๋ยวย่ากลับมาจะบอกย่าให้ เด็กก็ไม่ยอมจะเอาเดี๋ยวนั้นให้ได้ เจอแบบนี้แม่ชักมีน้ำโห

    ตอนแรกแม่อยากจะดุลูกว่าทำไมทำตัวแบบนี้ ทำไมพูดไม่ฟัง เอาแต่ใจตัว แต่ก็ตั้งสติได้ รู้ว่ายิ่งต่อว่าลูก ก็ยิ่งเพิ่มโทสะให้กับลูก ดังนั้นแทนที่จะดุด่าว่ากล่าวลูกเธอก็ใช้น้ำเย็น พูดกับลูกดีๆ ว่า ลูกโกรธย่าใช่ไหม เด็กตอบว่าใช่ แม่ถามว่า ลูกโกรธย่าที่เอาดอกไม้ของลูกไปสลับกันใช่มั้ย เด็กตอบว่า ใช่ แม่ถามต่อว่า ลูกโกรธมากเลยใช่ไหม เด็กตอบว่าโกรธมาก แม่จึงถามต่อว่า ลูกโกรธเท่าไหร่ โกรธเท่านี้ เท่านี้ หรือเท่านี้ ว่าแล้วก็เอามือผายออกเหมือนกับว่าโกรธเท่าฟ้าเลย เด็กก็ตอบว่าโกรธเท่าฟ้าเลย แม่จึงบอกลูกว่า เดี๋ยวย่ากลับมาแม่จะบอกย่าให้ว่าลูกโกรธย่าเท่าฟ้าเลย

    ปรากฏว่าพูดเท่านี้ ความโกรธของเด็กก็ลดวูบลง แล้วก็หยุดพยศเลย สักพักก็วิ่งออกไปเล่นข้างนอกเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความโกรธของลูกหายไปทันที เป็นเพราะอะไร อันนี้เป็นเพราะว่าแม่ทำให้ลูกได้เห็นความโกรธของตัว ได้รู้ว่าตัวเองกำลังโกรธ สิ่งที่แม่ทำเป็นเหมือนกับกระจกสะท้อนให้เด็กได้เห็นความโกรธของตัว พอเด็กเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ ความโกรธก็ดับวูบเลย คือเด็กเกิดสติขึ้นมา สติทำให้เห็นความโกรธ เมื่อความโกรธถูกเห็น มันก็จะดับไป อันนี้เป็นธรรมชาติของอารมณ์ทั้งหลาย ความโกรธนั้น เราไม่ต้องกดข่มมัน เพียงแค่เห็น หรือรู้ทันมันด้วยสติมันก็หายไป เด็กโกรธเพราะมีความหลง พอมีสติ มีความรู้สึกตัว ความหลงหายไป ความโกรธก็ตั้งอยู่ไม่ได้
    :- https://visalo.org/article/5000s08.html
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    goodtrainmind.jpg
    เป็นมิตรกับตัวเอง

    พระไพศาล วิสาโล
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า "จิตที่ฝึกฝนไว้ผิด ย่อมก่อความเสียหาย ยิ่งกว่าศัตรูหรือคนจองเวรจะพึงกระทำให้กันเสียอีก” เวลาศัตรูห้ำหั่นทำลายกันนั้น ความวิบัติหรือความฉิบหายที่เกิดขึ้นก็ยังมากไม่เท่ากับจิตที่วางไว้ผิด แต่ในทางตรงข้าม จิตที่ฝึกไว้ดีนั้นสามารถก่อประโยชน์แก่เราอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งแม้แต่พ่อแม่ คนรักหรือเพื่อนก็ไม่สามารถทำให้ได้ ไม่ว่าจะมีความปรารถนาดีต่อเราเพียงใดก็ตาม

    ถึงแม้ว่าไม่มีอะไรที่น่ากลัวเท่ากับใจที่วางไว้ผิด แต่ใจนั้นฝึกได้ ฝึกให้เป็นมิตรแทนที่จะเป็นศัตรู แต่ใจจะเป็นมิตรกับเราได้ เราต้องเป็นมิตรกับใจเสียก่อน เป็นมิตรกับใจ ฟังดูเหมือนง่าย แต่คนส่วนใหญ่มักทำร้ายจิตใจของตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรือปล่อยปละละเลย ทำให้จิตใจถูกทำร้ายด้วยกิเลส หรืออารมณ์ที่เป็นอกุศล เป็นเพราะเราปล่อยปละละเลยจิตใจ ปล่อยให้จิตใจถูกกระทำย่ำยีด้วยอารมณ์ต่างๆ ใจก็เลยย้อนกลับมาทำร้ายเรา กลายเป็นศัตรูกับเรา

    ความทุกข์พื้นฐานของมนุษย์ เกิดจากการที่เราไม่สามารถเป็นมิตรกับตัวเองได้ ทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ พยายามหนีออกจากตัวเอง ไปแสวงหาความสุขจากวัตถุสิ่งเสพ จากชื่อเสียง การยอมรับ ฐานะ ตำแหน่ง บริษัท บริวาร เพราะคิดหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะให้ความสุขแก่เราได้ แต่ถ้าคนเราเรียนรู้ที่จะเป็นมิตรกับตัวเอง ความสุขที่จะหล่อเลี้ยงใจก็หาได้ไม่ยาก ไม่ต้องไปแสวงหาความสุขจากที่ไหนมาหล่อเลี้ยงตน แค่อาศัยความสุขที่มีอยู่แล้วในใจ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการที่เรารู้จักเป็นมิตรกับตัวเอง

    การเป็นมิตรกับตัวเอง หมายถึงการเป็นมิตรกับกายและใจ เพราะคนเราประกอบด้วยกายกับใจ เป็นมิตรกับกาย ก็มีความปรารถนาดีกับกายของตน เป็นมิตรกับใจ ก็มีความปรารถนาดีกับใจของตน พยายามดูแลรักษากายและใจให้ดี เรื่องกายเราใส่ใจมากอยู่แล้ว ถ้าหากไม่หลงใหลไปกับอบายมุข คนส่วนใหญ่ก็มักดูแลรักษากายให้มีความผาสุก แต่เรื่องใจกลับไม่ค่อยให้ความใส่ใจ

    ในแต่ละวัน เราให้เวลากับกายมาก แต่ว่าให้เวลากับใจนิดเดียว เรามีเวลาหาอาหารมาเติมให้กายวันละสามมื้อ แต่อาหารใจเรากลับละเลย เราให้เวลาในการชำระร่างกายวันละหลายครั้ง แต่การชำระใจ เราทำบ้างหรือเปล่า เวลาของเราส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงานเพื่อจะได้มีเงิน และเงินที่ได้มาส่วนใหญ่ก็ใช้ปรนเปรอร่างกาย ส่วนที่จะเป็นประโยชน์แก่จิตใจนั้นมีน้อยมาก เรามีเวลาสำหรับการพักกายมาก แต่เวลาพักใจไม่ค่อยมี

    การหาโอกาสมาภาวนา นับเป็นการช่วยเหลือฟื้นฟูใจ ให้ใจได้พักผ่อน เป็นการให้อาหารหล่อเลี้ยงจิตใจให้เจริญงอกงาม ชำระจิตใจให้สะอาดผ่องใส ดังนั้นถ้าเรามอบสิ่งดีๆ ให้แก่จิตใจ ให้เวลาแก่จิตใจ พยายามเป็นมิตรกับใจ ใจก็จะกลับมาเป็นมิตรกับเรา ในยามที่ประสบทุกข์ทางกาย ใจก็จะคอยช่วยให้ไม่ทรมานมาก หรือช่วยทำให้ร่างกายดีขึ้น กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย เมื่อใจสบายกายก็จะหายเร็วขึ้น ถึงแม้จะมีทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็ลดลงเมื่อใจสงบ มีสมาธิ

    การฝึกฝนใจทำได้หลายวิธี เช่น การให้ทานเป็นการฝึกฝนใจให้รู้จักเสียสละ การรักษาศีลเป็นการฝึกฝนใจไม่ให้โลภะ โทสะ โมหะครอบงำ การภาวนาเป็นการฝึกฝนใจให้เห็นตามความเป็นจริง การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นการปฏิบัติเพื่อทำให้สติงอกงาม เมื่อมีสติ ใจก็ไม่หลงใหลไปตามแรงดึงดูดจากสิ่งภายนอก

    สติในที่นี้หมายถึงสัมมาสติ ไม่ใช่สติที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เวลาเราไปไหนแล้วจำทางกลับบ้านได้ จำได้ว่าจอดรถไว้ตรงไหน บ้านเราอยู่ถนนอะไร กลับบ้านทางไหน สามารถกลับบ้านถูก อย่างนี้เรียกว่าเรามีสติระลึกได้ แต่เป็นความระลึกได้ในเรื่องนอกตัว

    สิ่งที่เราต้องฝึกคือความระลึกได้ในเรื่องตัวเอง คือเรื่องกายและใจ เช่น กำลังทำงานอยู่แล้วเผลอคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ขณะที่กำลังใจลอยอยู่ก็ระลึกได้ว่ากำลังทำงานอยู่ สติดึงจิตกลับมาอยู่กับงานที่กำลังทำ อย่างนี้เรียกว่าสัมมาสติ เวลามีความโกรธเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสติ ใจก็จะถูกอารมณ์ครอบงำ หลุมอารมณ์สามารถดูดใจเราให้จมหายไปจนลืมตัว แต่ถ้าตั้งสติได้ สติก็จะดึงจิตออกมาจากความโกรธ สติช่วยให้เราไม่ลืมตัว หลงจมอยู่ในอารมณ์ ทำให้เรากลับมารู้สึกตัวเป็นปกติ และถ้าเรามีความรู้สึกตัวอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นทุกข์น้อยลง จิตสงบมากขึ้น

    ขอให้เราพยายามเป็นมิตรกับใจของตัวเอง ไม่ว่าใจจะพยายามหนีออกจากตัวเองเพียงใดก็ตาม ก็เรียกเขากลับมา พยายามทนอยู่กับตัวเองให้ได้ ไม่นานก็จะเป็นมิตรกับใจ เมื่อเป็นมิตรกับใจของเราได้ ใจก็จะกลับมาเป็นมิตรกับเรา เมื่อมีใจเป็นมิตรแล้ว อยู่ที่ไหนก็มีความสุข อบอุ่น ปลอดภัย ไม่เหงา ไม่อ้างว้าง
    :- https://visalo.org/article/5000s15.html
     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ขยายใจให้ใหญ่ขึ้น
    พระไพศาล วิสาโล
    มีพระหนุ่มรูปหนึ่ง อารมณ์ไม่ค่อยเบิกบานสักเท่าไร แต่ละวันมีเรื่องขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจอยู่เสมอ เวลานั่งสมาธิ ถ้ายินเสียงคนพูดคุยกันก็ไม่พอใจ บางครั้งตบะแตกก็ไปต่อว่าคนที่พูดคุยกัน เวลากวาดใบไม้ก็บ่นว่าใบไม้ร่วงเยอะ กวาดไปก็หงุดหงิดไป เวลาทำงานก็มักรู้สึกว่าถูกเพื่อนกินแรงอยู่เสมอ บางทีเขียนหนังสือแล้วปากกาฝืด ก็โมโหขว้างปากกาทิ้ง ทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาของหลวงพ่อมาตลอด

    วันหนึ่งหลวงพ่อบอกให้พระหนุ่มไปเอาเกลือจากในครัวมาหนึ่งห่อ เอาน้ำมาหนึ่งแก้ว แล้วก็ให้เทเกลือครึ่งหนึ่งลงไปในแก้ว จากนั้นก็ให้พระหนุ่มชิมน้ำนั้นดู แล้วถามว่าเป็นอย่างไร พระหนุ่มก็ตอบว่า เค็มมากครับหลวงพ่อ ทีนี้หลวงพ่อก็พาไปที่ลำธาร เอาเกลือที่เหลือโรยลงไปในลำธาร แล้วให้พระหนุ่มชิมน้ำในลำธาร

    หลวงพ่อถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง พระหนุ่มตอบว่าจืดครับหลวงพ่อ ในใจก็สงสัยว่าหลวงพ่อตั้งใจจะสอนอะไรหรือ หลวงพ่อให้พระหนุ่มคิดสักพัก พระหนุ่มก็คิดไม่ออก หลวงพ่อจึงบอกพระหนุ่มว่า ความทุกข์ก็เหมือนกับเกลือ มันจะเค็มหรือไม่ขึ้นอยู่กับใจเราว่าเป็นแค่น้ำแก้วหนึ่ง หรือเป็นลำธารหนึ่งสาย

    ความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรามันเป็นอย่างนั้น มันจะหนักหรือเบา ก็ขึ้นอยู่กับใจของเรา ว่าใจเราเปรียบเหมือนกับน้ำแก้วเล็ก ๆ หรือลำน้ำอันกว้างใหญ่ เวลาเราเจออะไรที่ไม่พอใจ ถ้าหากว่าเรามีความขุ่นเคือง มีความทุกข์มาก แสดงว่าใจของเรานั้นเล็กและแคบเหมือนกับแก้วน้ำ สิ่งที่มากระทบเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา จะทำให้เราเจ็บปวดหรือขุ่นเคืองหรือไม่ อยู่ที่ใจเรา

    ถึงแม้ใบไม้จะเยอะ เพื่อนร่วมงานจะไม่น่ารัก ดินฟ้าอากาศจะไม่เป็นใจ แต่มันทำให้เราทุกข์ไม่ได้ ถ้าหากว่าใจเราใหญ่เหมือนแม่น้ำ จะสุขหรือทุกข์นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพจิตของเรา คนที่ใจแคบ ใจเล็ก คิดถึงแต่ตัวเอง เจออะไรมากระทบก็ทุกข์ โกรธ ไม่พอใจไปหมด แต่คนที่ใจกว้างใหญ่ แม้จะมีเรื่องใหญ่ ๆ เกิดขึ้น เขาก็สามารถรักษาใจให้เป็นปกติได้

    มีผู้หญิงคนหนึ่งบ้านอยู่ในซอยกลางกรุงเทพ ฯ เธอเล่าว่า บ่ายวันหนึ่งเห็นรถแท็กซี่มาจอดที่หน้าบ้าน เธอก็รู้สึกไม่พอใจทันที เพราะว่าจอดขวางแบบนี้ถ้ารถเข้ารถออกก็ลำบากแน่ แล้วนั่นก็เป็นต้นไม้ที่พ่อปลูกเพื่อให้ร่มเงาหน้าบ้าน ไม่ใช่ให้ใครมาจอดรถซักหน่อย แต่สักพักเธอได้สติ มองอีกมุมว่าที่เขาจอดตรงนี้เพราะมันร่มรื่น น่าพักผ่อน ตอนนี้อากาศร้อนอบอ้าว เขาได้มาอาศัยร่มเงาหน้าบ้านเป็นที่ดับร้อน อีกอย่างนี่ก็เป็นถนนสาธารณะ และกว้างพอที่เราจะถอยรถออกมาได้ ตอนนี้เรายังไม่มีธุระออกจากบ้านเลยนี่นา พอคิดได้เช่นนี้ก็หายขุ่นเคือง สักพักเธอเห็นคนขับเอาข้าวมากิน ก็รู้สึกดีขึ้น ดีใจที่ต้นไม้ที่พ่อปลูกให้ร่มเงาเป็นประโยชน์แก่ผู้คน ให้คนได้พักผ่อน คนขับแท็กซี่คงจะเหนื่อย อาจจะไม่ได้กินข้าวมาตั้งแต่เช้า ได้มาอาศัยร่มเงาจากต้นไม้ที่พ่อปลูก เธอก็ดีใจ

    ความรู้สึกของเธอเปลี่ยนไปเพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง ทีแรกเธอไม่พอใจเพราะมีความรู้สึกว่า บ้านของฉัน หน้าบ้านของฉัน ทั้งที่จริงแล้วถนนหน้าบ้านไม่ใช่ของเธอด้วยซ้ำ เป็นของสาธารณะ แต่พอไปนึกว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นของฉัน เป็นถนนหน้าบ้านของฉัน ก็ไม่พอใจทันทีที่คนขับแท็กซี่มาจอดรถ แล้วก็ยิ่งไม่พอใจเมื่อเห็นเขามาอาศัยร่มเงาของต้นไม้ที่พ่อฉันปลูก แต่พอเธอคิดอีกมุมหนึ่ง มองถึงความรู้สึกของคนขับแท็กซี่ว่าเขาคงร้อน เหนื่อย ความรู้สึกโกรธก็เปลี่ยนไป มีความเห็นใจ มีความเมตตาเกิดขึ้น และสิ่งที่ตามมาก็คือ ความสุข ความดีใจที่เขาได้ดับทุกข์ โดยอาศัยร่มเงาที่หน้าบ้านของเธอ

    คนบางคนเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็เกิดความโมโห และไม่พอใจ แต่คนบางคนกลับรู้สึกดีใจ ที่แตกต่างกันอย่างนี้เป็นเพราะคุณภาพจิตหรือมุมมอง คนเราจะทุกข์หรือสุข ขึ้นอยู่กับมุมมองมากทีเดียว และมุมมองก็มีส่วนทำให้เราใจแคบ ใจเล็ก หรือว่าทำให้ใจกว้าง ใจใหญ่ ถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเอง ใจเราก็คับแคบ คิดถึงแต่บ้านของฉัน ถนนของฉัน ต้นไม้ของพ่อฉัน แต่ถ้าคิดถึงคนอื่น ใจเราก็กว้างขึ้น ลองพิจารณาดูว่าเวลาทุกข์เมื่อมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าเราคิดถึงแต่ตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือเปล่า

    คนที่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูมาก จะเป็นคนที่ทุกข์ง่าย หากว่าเรามีตัวกูของกูสูง หรือว่ามีอัตตาสูง เวลาใครแนะนำอะไรเรา เราก็ไม่พอใจแล้ว บ่นในใจทันทีว่า มาแนะนำฉันได้อย่างไร แล้วเธอล่ะ ทำดีแค่ไหน เราทุกข์เมื่อได้ยินคำแนะนำของเพื่อนก็เพราะเราปล่อยให้มันมากระทบกระแทกอัตตา จึงรู้สึกเสียหน้า หรือรู้สึกว่าฉันยังดีไม่พอ ยังมีข้อบกพร่อง ตัวอัตตามันจะไม่ชอบเลย ถ้าหากว่ามีคนมาเตือน มาบอกว่าฉันยังมีข้อบกพร่อง ฉันยังไม่ดีพอ

    แต่สำหรับคนที่รู้ทันอัตตา หรือคนที่มีอัตตาน้อย เขาจะขอบคุณคนที่มาทักท้วงหรือแนะนำ เพราะชี้ช่องทางให้เขาปรับปรุงงานหรือปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น เขาจะไม่คิดว่าเขาว่ากู ทำให้กูเสียหน้า แต่จะมองว่าที่เขาพูดมามันถูกไหม จริงไหม มันมีประโยชน์หรือเปล่า การมองแบบนี้ทำให้ใจไม่ทุกข์ และได้ประโยชน์ด้วย การมองแบบนี้พุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมาธิปไตย คือการเอาธรรมะหรือความถูกต้องเป็นใหญ่

    อธิปไตยแปลว่าความเป็นใหญ่ ในกรณีนี้หมายความว่า เราเอาอะไรเป็นใหญ่ เอาอะไรเป็นหลักในการตัดสินใจ ธรรมาธิปไตย หมายถึงการตัดสินหรือคิดโดยเอาธรรมะเป็นใหญ่ ธรรมะในที่นี้หมายถึงความจริง ความถูกต้อง ความดี เช่น เวลามีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ เขาก็จะดูว่าที่พูดมานั้นจริงไหม ถูกไหม มีประโยชน์ไหม เรียกว่าเอาธรรมะเป็นใหญ่ แต่คนที่เมื่อถูกแนะนำหรือต่อว่า เอาแต่คิดว่าเขาว่ากู เขาหักหน้ากู อย่างนี้เรียกว่าเอาตัวตนเป็นใหญ่ คือ อัตตาธิปไตย อัตตาเป็นเหมือนกรงที่ขังจิตเอาไว้ ทำให้ใจคับแคบ ไม่สามารถมองอะไรให้พ้นจมูกของตัวเองได้ แต่ถ้าหากว่ามีธรรมาธิปไตย หรือเอาธรรมะเป็นใหญ่ ใจก็จะแผ่กว้าง จะมีมุมมองที่กว้างขึ้น มีใจนึกถึงคนอื่น และสามารถมองจากมุมของคนอื่นได้

    เมื่อเรามองจากมุมของคนอื่น หรือนึกถึงคนอื่น เราจะมีความสุขได้ง่าย และยิ่งมองแบบนี้บ่อย ๆ ก็ยิ่งช่วยทำให้อัตตาตัวตนเล็กลง นอกจากนี้ยังสามารถฝึกฝนได้ด้วยการให้ เช่น การให้ทาน ทำให้เห็นแก่ตัวน้อยลง ทำให้นึกถึงผู้อื่นมากขึ้น เพราะว่าเวลาให้ทาน ถ้าเราน้อมใจนึกถึงประโยชน์ของผู้อื่น เช่น ให้เพราะอยากให้เขามีความสุข คลายจากความทุกข์ พอเราคิดแบบนี้บ่อย ๆ จิตใจเราก็จะมีเมตตากรุณามากขึ้น

    ทานจึงเป็นเครื่องฝึกอย่างหนึ่ง ทำให้ความเห็นแก่ตัวน้อยลง ตรงนี้แหละที่เป็นบุญ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าถ้าให้ทานบ่อย ๆ จะได้บุญ ในความหมายที่ว่าจะได้โชคลาภ ความร่ำรวย อันนั้นไม่ใช่บุญที่สำคัญในพุทธศาสนา ถ้าให้ทานแล้วสามารถลดอัตตาตัวตน ลดความเห็นแก่ตัว ลดความยึดมั่นถือมั่นลงได้นั้นถือว่าเป็นบุญที่ประเสริฐกว่า เพราะถ้ามีบุญแบบนี้ เวลามีอะไรมากระทบก็ไม่โกรธง่าย ไม่ขัดเคืองง่าย

    หลายคนเมื่อได้โชคลาภแล้ว กลับมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น มีความยึดติดถือมั่นมากขึ้น มีความทุกข์ง่ายขึ้น เพราะได้ลาภแล้วก็อยากได้อีก หรือเมื่อได้น้อยกว่าคนอื่นก็เป็นทุกข์ ขัดเคืองใจ ตรงข้ามกับคนที่มีความยึดมั่นถือมั่นน้อย เขาจะพอใจในสิ่งที่เขาได้มา ไม่ว่าได้มากหรือน้อย ก็มีความสุข หรือถึงจะไม่ได้เลย ใจก็ไม่ทุกข์
    :- https://visalo.org/article/5000s20.html
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    หลุดหลงเพราะรู้ทุกข์
    พระไพศาล วิสาโล
    ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น ดังมีคำกล่าวว่า “เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้” อันนี้เป็นทุกข์แบบหนึ่ง เรียกว่าทุกข์ของสังขาร เป็นเรื่องของกาย ทุกข์อีกแบบหนึ่งคือ ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ อันนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ เรื่องของใจ ความทุกข์ทางอารมณ์หรือทุกข์ใจนี้ จะว่าไปแล้วล้วนเกิดจากความหลง

    ความหลงมีสองอย่าง คือ “ไม่รู้ตัว” กับ “ไม่รู้ความจริง” การไม่รู้ตัวเกิดจากความเผลอ ลืมตัว มันทำให้เราคิดไปในทางที่เพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเอง เชื้อเชิญความทุกข์ใจให้เกิดขึ้นกับเรา ความโศกความร่ำไรรำพันมักจะเกิดตอนที่เรานึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว สิ่งที่เสียไปแล้ว คนรักที่จากไปแล้ว ไม่สามารถจะเอากลับคืนมาได้ ก็เลยเศร้าโศกเสียใจ ความคับแค้นใจมักจะเกิดตอนที่เรานึกถึงคนที่ขัดอกขัดใจเรา หรือคนที่ต่อว่าด่าทอเรา บางครั้งเรื่องเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ใจก็ไม่ยอมวางเสียที บางทีก็จดจ่อหมกมุ่นกับอนาคต คิดไปในทางเลวร้าย มันจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็คิดไปในทางลบแล้ว เรียกว่ามโน ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล กระวนกระวาย ความทุกข์ใจเกิดขึ้นแล้วก็ยังหลงปกป้องรักษาฟูมฟักหล่อเลี้ยงมันเอาไว้ อันนี้ก็คือความหลง ไม่รู้ตัว

    แต่ที่จริงแล้วรากเหง้าของความทุกข์คือ หลงตัวที่สองคือ “ไม่รู้ความจริง” ความจริงที่ว่า คือ สิ่งทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป ดับไป เรียกว่าเป็นทุกข์ หรือ ทุกขัง รวมทั้ง ไม่มีอะไรที่สามารถยึดเป็นตัวเป็นตนได้ คือเป็นอนัตตา สรุปก็คือ สิ่งทั้งปวง ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ล้วนไม่น่ายึดถือเพราะยึดถือไม่ได้ เพราะว่ามันแปรเปลี่ยนเป็นนิจ มันต้องเสื่อมต้องดับไป แต่พอเราไม่รู้ความจริงข้อนี้ เราก็เลยมีความคิดหรือความอยากที่สวนทางกับความจริง หรือมิอาจเป็นจริงได้ เช่น ยึดว่าร่างกายนี้จะต้องหนุ่มต้องสาวตลอด จะต้องไม่แก่ จะต้องมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีกำลังวังชาไปเรื่อย ๆ จะต้องไม่เจ็บไม่ป่วย ทั้ง ๆ ที่ควรจะมองว่าคนเราที่ไม่แก่ ไม่ป่วยนั้นไม่มี แต่ว่าใจไม่ยอมรับเพราะหลงยึดเอาไว้ ยึดไว้ว่าอะไรที่ได้มาแล้วก็จะไม่เสื่อมสูญไป มีของรักมีของถูกใจแล้วก็จะยึดให้มันอยู่กับเราไปนาน ๆ ชั่วฟ้าดินสลาย แต่ความปรารถนาเหล่านี้ล้วนขัดแย้งกับความจริง ก็เลยเกิดความทุกข์ใจ เกิดความอาลัย เกิดความวิตก เมื่อของรักหายไปก็กลุ้มอกกลุ้มใจ เมื่อคนรักจากไปก็โศกเศร้าเสียอกเสียใจ นี่เป็นเพราะความหลง ไม่รู้ความจริง

    ปีที่แล้วมีมิวสิควีดีโอซึ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงคนจำนวนหนึ่ง ชื่อว่า “ห้านาทีบรรลุธรรม” เนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่หลงรักผู้หญิง ผู้หญิงก็รักผู้ชายคนนี้หมายมั่นว่าจะแต่งงานกัน แต่แล้ววันหนึ่งผู้หญิงก็ทิ้งเขาไป ชายหนุ่มคนนี้ก็เศร้าโศกเสียใจมาก สุดท้ายจึงตัดสินใจบวช ถือว่าเป็นการบวชเพราะอกหัก ช่วงที่กำลังโกนผม เขาถามหลวงพ่อว่าทำไมคนรักกันจึงทิ้งกันไป ทำไมสุดท้ายต้องจากกัน เป็นเพราะทำกรรมอะไรไว้หรือ หลวงพ่อไม่ได้ตอบตรง ๆ แต่บอกให้ชายหนุ่มคนนี้ลองลืมตาสัก ๕ นาที โดยไม่ต้องกระพริบตาเลยแม้แต่วินาทีเดียว ลองทำดูว่าเป็นอย่างไร ชายหนุ่มคนนี้ลองทำดูก็รู้สึกว่ามันยากมาก พอฝืนไม่กระพริบตา สักพักน้ำตาก็ไหล หลวงพ่อจึงบอกว่า “เมื่อมีลืมตา สุดท้ายก็ต้องหลับตา” หากปฏิเสธหรือขัดขืนไม่ยอมกระพริบตา ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วหลวงพ่อก็สรุปว่า สรรพสิ่งนั้นไม่เที่ยง เกิดมาแล้วก็ดับไป

    ความรักหรือคนรักนั้น ก็เช่นเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ล้วนไม่เที่ยง ถ้าจะยึดมั่นถือมั่น พยายามให้มันเที่ยง มันก็เหมือนกับการพยายามลืมตาตลอดโดยไม่กระพริบตา ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะเป็นธรรมชาติของตาที่จะต้องกระพริบ ลมหายใจก็เช่นกัน ถ้าเราลองหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็จะเกิดความอึดอัดมาก ถ้าทำไปนาน ๆ ก็จะเกิดผลเสียต่อร่างกายหรืออาจถึงตายได้

    ทุกสิ่งมีความแปรเปลี่ยนอยู่เป็นนิจ ก็เหมือนกับเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ นั่งไปสักพักเราก็ต้องขยับ ถ้าเราฝืนไม่ขยับก็จะปวดเมื่อย ยิ่งฝืนก็ยิ่งปวดเมื่อยเป็นทุกข์มากขึ้น ทุกข์ทำให้เราต้องขยับ แต่ถ้าเราต้องการตรึงให้ร่างกายเราอยู่ในท่านี้ ก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น มันบอกเราว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ถ้าเราปฏิเสธอนิจจังก็จะทำให้เราเกิดทุกข์มากขึ้น เกิดความคับแค้น ความเครียด รวมถึงความอาลัยอาวรณ์ นี้คือรากเหง้าแห่งความทุกข์ของมนุษย์โดยเฉพาะความทุกข์ใจ

    ความทุกข์ที่เกิดจากความหลงคือไม่รู้ความจริงนั้น ทำอย่างไรเราจะรู้ความจริงว่าทุกข์เพราะหลง สิ่งเดียวที่ทำให้รู้ได้ คือ การเรียนรู้จากความทุกข์ ถ้าเรียนจากหนังสือหรือได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ แต่ยังไม่เจอทุกข์ด้วยตนเอง ก็ยากที่จะเห็นความจริงที่ว่าได้
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ “กานต์” เธอป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเมื่ออายุ ๓๐ ต้น ๆ โรคนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุมาก ๆ ทีแรกหมอไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ หมอคิดว่าสาเหตุที่ทำให้เธอป่วยเป็นมะเร็งนั้น อาจมาจากการที่เธอสูบบุหรี่ แต่เธอก็ไม่เคยสูบบุหรี่เลย ผู้หญิงคนนี้เป็นคนที่กลัวความตายมาก ๆ ครั้งแรกที่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งนั้น อารมณ์ของเธอแปรปรวน กลายเป็นคนขี้โกรธ โมโหใส่คนใกล้ชิดเป็นประจำ แต่ผ่านไปปีหนึ่งเธอก็สามารถทำใจได้ และสงบนิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดหนึ่งเธอก็พบว่า มะเร็งนั้นไม่ร้ายเท่ากับความทุกข์ใจ เธอบอกว่า “มะเร็งไม่ได้ทำให้ยิ้มคุณหายไป ทุกข์ในใจต่างหากเป็นตัวทำ”

    เธอกำลังจะบอกว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นกับเธอนั้น อย่างมากก็ทำให้เกิดทุกข์ทางกายเท่านั้น มันไม่สามารถทำให้รอยยิ้มหายไปได้ หากรอยยิ้มจะหายไปก็เป็นเพราะความทุกข์ใจล้วน ๆ ถามว่าความทุกข์ใจเกิดจากอะไร ความทุกข์ใจเกิดจากการที่ไม่ยอมรับความจริง เธอเคยกล่าวว่า “ในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นโหดร้ายกว่า เพราะมันเปรียบเหมือนคุกที่ขังใจเราไว้”

    มะเร็งเป็นเรื่องของกาย ส่วนความทุกข์ใจเป็นเรื่องของจิตใจที่ไม่ยอมรับความจริง คนที่จะเห็นอย่างนี้ต้องเจอความทุกข์มาด้วยตนเอง ถามว่าอะไรทำให้คนเราไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นมะเร็ง คำตอบก็คือความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย แต่หลังจากที่กานต์ได้หันมาศึกษาธรรม เธอพยายามไตร่ตรองมองตน จนพบว่า ทุกข์กายอันหนึ่ง ทุกข์ใจก็อีกอันหนึ่ง ทุกข์กายเกิดจากมะเร็ง ส่วนทุกข์ใจเกิดจากการวางใจผิด เพราะความหลงนั่นเอง การได้เห็นความจริงทำให้เธอมีใจที่สงบ และยอมรับความตายได้ ในที่สุดเธอก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ

    หากใคร่ครวญดี ๆ จะพบว่าความทุกข์ใจนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก มันเกิดจากใจของเรา ใจที่วางผิด ใจที่หลง ใจที่ไม่เห็นความจริง หรือใจที่ลืมตัว หลงจมอยู่กับความทุกข์ คนเราทุกข์เพราะหลง แต่ความทุกข์นั้นเองทำให้เราเห็นความจริงได้ เพราะอะไร ก็เพราะเราหันมาพิจารณาความทุกข์ เมื่อเราพิจารณาความทุกข์ก็ทำให้เราเห็นความจริง

    เป็นเพราะเหตุนี้เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจ ๔ จึงทรงยกเอาทุกข์เป็นอริยสัจข้อแรก พระองค์ตรัสว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ให้รอบ ให้ทั่วถึง ท่านทรงใช้คำว่าปริญญา คือ รู้รอบรู้ทั่ว หมายความว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน จะทำให้เกิดปัญญาที่ทำให้ออกจากทุกข์ได้ แต่การที่เราจะเห็นความจริงอย่างรอบด้านก็ต้องเจอทุกข์ด้วยตัวเองก่อน เมื่อเราเห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์ ปัญญาก็จะเกิดขึ้น

    คนเราเมื่อเกิดทุกข์ ก็มักหลงเข้าไปเป็นผู้ทุกข์ แต่ถ้ามีสติ จิตก็จะออกจากทุกข์ มาเป็นผู้เห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์อย่างรอบด้านทั่วถึง ความทุกข์ที่พิจารณานั้นไม่ใช่ความทุกข์ที่ไหน ก็เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความหลงนั่นเอง เมื่อเราหันกลับมาใคร่ครวญ ก็จะรู้ว่าเราทุกข์เพราะหลง ไม่ใช่ทุกข์เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่ทุกข์เพราะอากาศร้อน ไม่ใช่ทุกข์เพราะคำพูดของคนอื่น ไม่ใช่ทุกข์เพราะเกิดโรคร้ายกับตน แต่เกิดจากความหลง ไม่รู้ตัว หรือวางใจผิด

    ดังนั้นเราจะต้องหมั่นมองตนด้วยสติ พิจารณาตัวเรา ดูร่างกายไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นความจริงว่ากายและใจมันไม่จีรังยั่งยืน เกิดแล้วก็ดับไป มีแล้วก็เสื่อมไป เพราะมันเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น ลองใช้ความทุกข์มาเป็นแบบฝึกหัดในการใคร่ครวญด้วยปัญญา โดยเริ่มจากสติ ดูว่าความโศกเศร้า ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจนั้นเกิดจากอะไร ดูเพื่อให้เรารู้ว่าเรากำลังคับแค้นอยู่ กำลังทุกข์อยู่ โดยไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่รู้แค่นั้นพอ

    ถ้าหากยังไม่รู้ใจ ก็ขอให้รู้กายก่อน แล้วค่อยตามรู้ใจทีหลัง โดยหมั่นฝึกฝนเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่าเราทุกข์เพราะความคิด ไม่ได้ทุกข์เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ใช่เพราะมีสิ่งภายนอกมากระทบเรา ไม่ใช่เพราะแดด ไม่ใช่เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่เพราะรถติด ไม่ใช่เพราะคำพูดของคนอื่น แต่เป็นเพราะใจที่หลงต่างหากทำให้เป็นทุกข์

    เราจะพ้นจากความหลง เห็นความจริงได้ ก็ด้วยการหมั่นรู้ตัวอยู่บ่อย ๆ เห็นความจริงบ่อย ๆ ปัญญาก็จะเกิด ตอนแรกจะเห็นด้วยสติ ตอนหลังเราจะเห็นด้วยปัญญา การเห็นด้วยสติ คือ การรู้ตัว ส่วนการเห็นด้วยปัญญา คือรู้ความจริง ทำให้หลุดจากความหลงซึ่งเป็นรากเหง้าของความทุกข์

    ดังนั้นเราขอให้หมั่นเจริญสติ สร้างความรู้สึกตัวบ่อย ๆ เพื่อรับมือความทุกข์ที่จะเกิดขึ้น จนสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งปวงได้
    :- https://visalo.org/article/5000s18.html
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,152
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    KisakotamiDeadChild.jpg
    เปิดใจรับความจริง

    พระไพศาล วิสาโล
    ธรรมในพุทธศาสนาแยกได้เป็นสองอย่างเท่านั้น คือจริยธรรมและสัจธรรม จริยธรรมคือความดีเป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าอยากมีความสุขก็ต้องทำ ต้องทำจึงจะมีชีวิตที่ผาสุกและเจริญงอกงามได้ ส่วนสัจธรรมคือความจริง เป็นสิ่งที่ต้องเห็นหรือเข้าถึง การปฏิบัติธรรมถ้ากล่าวอย่างย่อๆ ก็มีแค่สองเท่านั้น คือทำความดี และเห็นความจริง ทำความดีได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีล รวมทั้งการภาวนาที่ทำให้คุณภาพจิตเจริญงอกงาม เช่น มีเมตตา มีความเพียร มีขันติ มีความอดทน ซึ่งล้วนทำให้จิตใจอ่อนโยน นุ่มนวล เอื้อเฟื้อต่อการทำความดี แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราต้องฝึกจิตให้เห็นความจริงด้วย ความจริงนั้นมีมากมาย อาจจะเรียกว่าไม่น้อยกว่าดวงดาวที่อยู่บนฟากฟ้า หรือที่อยู่ในจักรวาลนี้

    พระพุทธเจ้าเคยเปรียบความจริงทั้งหลายในโลกนี้ เหมือนกับใบไม้ในป่า คราวหนึ่งพระพุทธองค์ได้ประทับที่ป่าประดู่ลาย และหยิบใบไม้มากำมือหนึ่ง ตรัสถามพระสาวกว่าใบไม้ในมือของพระองค์กับใบไม้ในป่า อันไหนมีมากกว่ากัน พระสาวกก็ตอบว่าใบไม้ในป่ามีมาก ใบไม้ในกำมือพระองค์มีน้อย พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า ธรรมะที่พระองค์สอนก็เหมือนกับใบไม้ในกำมือ น้อยกว่าความจริงทั้งหลายในโลกและจักรวาลนี้ ความจริงมีมากมายนับประมาณไม่ได้ มหาศาลมาก แต่ความจริงที่พระพุทธเจ้าเอามาสอนนี้มีเพียงน้อยนิด เช่น ความจริงเกี่ยวกับรูปนาม ความจริงเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม ความจริงเกี่ยวกับเหตุแห่งทุกข์ คือปฏิจจสมุปบาท ความจริงที่เกี่ยวกับการดับทุกข์ คือปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร รวมทั้งความจริงเกี่ยวกับไตรลักษณ์

    จะว่าไปแล้วมีความจริงไม่กี่อย่างที่เราควรเปิดใจให้เห็น ถ้าเราทำความดีแต่ไม่สามารถเปิดใจให้เห็นความจริงอย่างที่ว่ามา ก็ยังหนีความทุกข์ไม่พ้น หรือยังไม่สามารถยกจิตเหนือความทุกข์ได้ ก็ยังต้องทุกข์ต่อไป ถึงแม้ว่าการทำความดีนั้นจะช่วยให้เรามีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง คนที่ทำความดีมามากก็ยังมีความทุกข์อยู่ อาจจะทุกข์เพราะทำความดีแล้วไม่มีคนเห็น มีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกตำหนิ มีความแค้นเคืองที่ถูกต่อว่าด่าทอ หรือเป็นทุกข์เมื่อล้มป่วย มีคนจำนวนไม่น้อยทำความดี สร้างบุญกุศล เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ คือมีอายุยืน ไม่ป่วยไข้ ชีวิตมีแต่ความเจริญ แต่พอเจ็บป่วยก็ทำใจไม่ได้ ตีโพยตีพายว่าทำไมต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์ทำความดี ทำไมฉันถึงต้องเป็นมะเร็ง อันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่แม้ทำความดีแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นทุกข์ ยิ่งถ้าทำความดีด้วยความเชื่อว่าทำความดีแล้วจะไม่มีทุกข์ ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่

    มีชายคนหนึ่งทำบุญให้ทานรักษาศีลตั้งแต่ยังหนุ่ม เพราะมีความเชื่อว่าทำแล้วชีวิตจะมีแต่ความสุขความเจริญ อายุยืน รอดพ้นจากโรคาพยาธิ แคล้วคลาดจากภัยอันตราย แล้ววันหนึ่งก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง เขาทำใจไม่ได้ ไม่ใช่เสียใจเท่านั้น แต่ยังมีความโกรธเคือง รู้สึกเหมือนถูกโกหกหลอกลวง ถูกหักหลัง เอาแต่ตัดพ้อว่า ทำไมฉันทำบุญแล้วถึงต้องล้มป่วย ทำไมบุญกุศลไม่ช่วยฉันเลย ทำไมทำดีแล้วต้องมาเจอทุกข์ภัยแบบนี้ เขาแค้นเคืองมาก แสดงความก้าวร้าวต่อหมอและพยาบาลเพราะทำใจไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน กลายเป็นว่าไม่เพียงแค่ป่วยกาย แต่ยังป่วยใจด้วย เพราะว่าวางใจผิด ตอนตายเขาก็ตายไม่สงบเพราะรู้สึกผิดหวังที่ต้องมาเจอเคราะห์กรรมแบบนี้ ทั้งๆ ที่ทำความดี รักษาศีลมาตลอด

    อันนี้เป็นเพราะเขาไม่ตระหนักถึงความจริงที่ว่าคนเราไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รวยหรือจน เด็กหรือผู้ใหญ่ พระหรือโจร ก็หนีความเจ็บป่วยและความตายไม่พ้น แต่ถ้าตระหนักถึงความจริงที่ว่าความแก่ ความเจ็บป่วยหรือความตายก็ดี เป็นธรรมดาของชีวิต เป็นความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น ก็จะทำใจยอมรับได้ และจะไม่ตีโพยตีพายซึ่งกลายเป็นการซ้ำเติมร่างกายให้ย่ำแย่ลงไป อันนี้เป็นตัวอย่างว่าทำความดีอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องฝึกใจหรือเปิดใจให้เห็นความจริง เห็นความจริงเกี่ยวกับไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตระหนักว่าในที่สุดแล้วคนเราก็ไม่อาจหนีความเจ็บป่วยและความตายได้พ้น รวมไปถึงความพลัดพรากสูญเสียด้วย เป็นเพราะคนเราไม่เห็นความจริงตรงนี้ ดังนั้นแม้ทำความดีก็ยังทุกข์

    ในสมัยพุทธกาล มีหญิงผู้หนึ่งชื่อนางกีสาโคตมี เป็นคนฉลาด เป็นคนที่ทำความดีมาตลอด เป็นผู้ใฝ่ธรรม แต่พอลูกตายก็ทำใจไม่ได้ ไม่ยอมรับว่าลูกตาย อุ้มลูกไปให้ใครต่อใครปลุกให้ฟื้น ทุกคนก็ส่ายหัวไม่สามารถช่วยเธอได้ พยายามบอกเธอว่าลูกเธอตายแล้ว เธอก็ไม่ยอมฟัง จนกระทั่งมีคนแนะนำให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เห็นอาการของเธอแล้วก็รู้ว่าสอนธรรมะไปใจก็ไม่เปิดรับ เพราะจิตใจท่วมท้นด้วยความเศร้าโศกเสียใจและความหลง เหมือนกับน้ำที่เต็มแก้ว แก้วมีน้ำอยู่เต็มนั้น เติมอะไรไปก็ไม่รับ พระองค์จึงบอกเธอว่า พระองค์สามารถช่วยเธอได้ถ้าหากเธอไปหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายมาให้
     

แชร์หน้านี้

Loading...