เรื่องเด่น “ไม้ค้ำโพธิ์” ค้ำชูพระศาสนา พลังศรัทธามหาสงกรานต์

ในห้อง 'พระพุทธรูป - วิหารทาน - สิ่งก่อสร้าง' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 8 เมษายน 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    0b989e0b8b3e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-e0b884e0b989e0b8b3e0b88ae0b8b9e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a8.jpg


    “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี”

    คำว่า “สะหลี” หมายถึง “ต้นโพธิ์”

    …ถือเป็นประเพณีอันทรงคุณค่าแห่งล้านนา ด้วยชาวพุทธมีความเชื่อศรัทธากันว่า

    หากถวายไม้ค้ำโพธิ์จะเป็นการช่วยค้ำชูพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

    ความเชื่อที่ว่านี้ถือปฏิบัติกันเนิ่นนานมาแล้ว เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของชาวล้านนาที่เรียกกันว่า “แห่ไม้ค้ำโพธิ์”

    ความเชื่อที่บอกเล่าสืบต่อๆกันมาก็คล้ายๆกับในหลายๆพื้นที่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ที่มีเทวดาอารักษ์สถิตรักษา ยิ่งด้วยเป็น “ต้นโพธิ์” แล้วล่ะก็ไม่ต้องพูดถึง ยิ่งมีขนาดใหญ่โตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงากว้างใหญ่ไพศาลร่มรื่นให้รู้สึกอุ่นเย็นหัวใจแล้ว เชื่อได้อย่างแน่วแน่เลยว่ามีสิ่งเหนือธรรมชาติคุ้มครองอยู่ด้วย

    โดยเฉพาะ “ต้นโพธิ์” ที่ปลูกในวัด

    คำบอกเล่าที่ปรากฏในสื่อของ อาจารย์เพชร แสนใจบาล วิทยากรครูภูมิปัญญาไทย โรงเรียนจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ผู้สืบสาวเรื่องราวไม้ค้ำโพธิ์ได้ความว่า ไม้ค้ำดังกล่าวนี้อาจได้มาจากไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชะตา หรือเป็นไม้ค้ำที่จัดทำขึ้นมาเฉพาะกรณีเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น เพื่อใช้ในการถวายทาน

    989e0b8b3e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-e0b884e0b989e0b8b3e0b88ae0b8b9e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a8-1.jpg

    ตำนานเล่าขาน เมื่อครั้งสมัยครูบาปุ๊ด เจ้าอาวาสองค์ที่ 14 วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ราวๆเดือนแปดเหนือ หรือช่วงเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2314 เกิดเหตุเภทภัยทางธรรมชาติ ลมพายุใหญ่พัดแรงจนทำให้กิ่งต้นโพธิ์ในวัดหักลงมาสร้างความเสียหาย ครูบาท่านก็นึกวิตก ด้วยว่าในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน กลางคืนขณะจำวัดก็เกิดนิมิตว่า…มีเทวดามาบอกกล่าวเล่าความว่าเหตุอาเพศกิ่งศรีมหาโพธิ์หักมาจากเหตุเพราะท่านไม่ตั้งใจปฏิบัติธรรมโดยเคร่งครัด

    นิมิตนี้ทำให้ท่านครูบาปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น ขณะที่วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วราวๆ 2 เดือนเห็นจะได้ ก็บรรลุธรรมอภิญญาณ ว่ากันว่า….ย่นย่อแผ่นดินได้

    เล่าลือกันว่า ขณะที่ท่านไปบิณฑบาตที่อำเภอแม่แจ่ม แล้วกลับมาฉันที่วัดพระธาตุศรีจอมทองในเช้าเดียวกันนั่นเชียว…คำยืนยันเรื่องราวตำนานเล่าขานนี้ว่ากันว่ามาจากพ่อค้าวัวต่างถิ่นชาวแม่แจ่มที่เดินทางรอนแรมมาค้าขายที่อำเภอจอมทอง ที่บอกเล่าว่า พบท่านครูบาเดินออกจากป่าบริเวณบ้านหัวเสือพระบาท ซึ่งเป็นหมู่บ้านเชิงดอยทางทิศตะวันตกของอำเภอจอมทอง ห่างออกไปประมาณ 7 กิโลเมตร

    989e0b8b3e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-e0b884e0b989e0b8b3e0b88ae0b8b9e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a8-2.jpg

    ขณะเดียวกัน กองเกวียนพ่อค้าวัวหุงข้าวเสร็จพอดีจึงนิมนต์รับบิณฑบาต ถามว่าท่านไปบิณฑบาตที่ไหนมาในป่าอย่างนี้ ได้รับคำตอบกลับมาว่า…ไปบิณฑบาตที่แม่แจ่มมา พ่อค้าวัวก็ถามกลับไปอีกว่า…บ้านอะไร เสียงตอบกลับมาก็คือ “บ้านสันหนอง” พร้อมๆกับเปิดฝาบาตรให้ใส่บาตร

    พ่อค้าเห็นข้าวในบาตรเป็นสีดำๆด่างๆรู้ทันทีว่าเป็นข้าวชั้นดี ในยุคสมัยนั้นปลูกกันมากที่แม่แจ่มเท่านั้น จึงถามกลับไปอีกว่า คนลักษณะใดใส่บาตร ท่านก็ตอบว่า เป็นผู้หญิงคอออม หมายถึงคอพอกปูดโปนออกมา หลังจากพ่อค้าวัวขายของเสร็จสรรพหมดภารกิจแล้วก็เดินทางกลับไปยังแม่แจ่ม ถามภรรยาว่าได้ใส่บาตรบ้างไหม ก็ได้ความว่าใส่บาตรพระเดินออกมาจากป่าเมื่อวันนี้ เอาข้าวก่ำใส่ พร้อมอธิบายถึงรูปลักษณะ

    989e0b8b3e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-e0b884e0b989e0b8b3e0b88ae0b8b9e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a8-3.jpg

    ก็…ตรงกันกับพระที่พ่อค้าวัวใส่บาตรเช่นเดียวกันที่จอมทอง เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก

    วันเข้าพรรษาปีต่อมา…ชาวบ้านมาทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมกันมากมาย ครูบาได้เล่าบอกถึงเหตุไม้ต้นโพธิ์หัก จึงได้มีการประชุมหารือกันว่า…ราวเดือนเมษายนทุกปี ให้พากันไปตัดไม้ง่ามมาช่วยกันค้ำกิ่งต้นโพธิ์เอาไว้ไม่ให้หักโค่นเวลาโดนลมพายุพัดแรงๆ…เป็นที่มาของประเพณี “แห่ไม้ค้ำโพธิ์” มาจนถึงวันนี้

    “ประเพณีสงกรานต์” เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ… เป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพันที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม ศาสนา…ความเชื่อดั้งเดิมการใช้ “น้ำ” เป็นตัวแทนเสมอเหมือนแก้ความร้อนช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้รดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื้น

    ขอพรบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้…สร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ร่วมกันทำบุญให้ทาน ก่อพระเจดีย์ทราย… ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมๆ ไปกับการเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน

    989e0b8b3e0b982e0b89ee0b898e0b8b4e0b98c-e0b884e0b989e0b8b3e0b88ae0b8b9e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b8a8-4.jpg

    ทั้งยังสร้างความรู้สึกผูกพันกลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน สร้างความรู้สึกหวงแหนในสาธารณสมบัติของสังคม…สิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม สถานที่ต่างๆ

    สงกรานต์นี้ด้วยพลานุภาพแห่ง “พระรัตนตรัย” … “บุญกุศล” ที่ท่านได้ร่วมทำบุญ จงคุ้มครองรักษาให้ท่านและครอบครัวมีความสุขกาย มีความสบายใจ มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง สืบไปด้วยเทอญ

    ทำบุญด้วย “ศรัทธา”…นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่ออย่างไรก็อย่าได้…“ลบหลู่”.

    รัก–ยม


    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1250159
     
  2. หมอกขาวมาวหลวง

    หมอกขาวมาวหลวง สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    55
    ค่าพลัง:
    +175
    สะหรี=ศรี
     

แชร์หน้านี้

Loading...