“โอชารสแห่งธรรม” หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย Dhamma Osoth, 24 ธันวาคม 2012.

  1. Dhamma Osoth

    Dhamma Osoth Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มกราคม 2012
    โพสต์:
    20
    ค่าพลัง:
    +78
    [​IMG]

    “โอชารสแห่งธรรม”
    พระธรรมเทศนา หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
    เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔



    คัดลอกบางส่วน :-

    “..ขั้นหนึ่งของการพิจารณา ท่านสอนให้ไปดูป่าช้า ก็เพราะยังไม่เห็นป่าช้าภายใน ให้ไปดูป่าช้าภายนอกก่อน เพื่อเป็นบาทเป็นฐานเป็นแนวทาง แล้วได้ย้อนจิตเข้ามาสู่ป่าช้าภายในของตน มันมีมันเต็มไปหมด นอกจากร่างกายของเราเป็นป่าช้าผีดิบแล้ว สัตว์สาราสิงชนิดต่างๆ ยังเต็มอยู่ภายในท้องเรานี้อีกด้วย มีอะไรบ้าง บรรจุกันมานานเท่าไร ป่าช้าตรงนี้ทำไมไม่ดู ดูให้เห็นชัดเจน ความเป็นอสุภะอสุภัง ความเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา กองอยู่ในนี้หมด ไม่นอกเหนือไปจากนี้เลย

    แยกไปทางความแปรปรวนคือเป็น อนิจฺจํ มันก็เห็นอยู่ชัดๆ แปรสภาพอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตาย แม้แต่เวทนามันก็ยังแปรของมัน มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ หมุนตัวอยู่อย่างนั้นมีเวลาหยุดยั้งที่ไหน ถ้ามีสติปัญญาทำไมจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ทำงานของตัวโดยหลักธรรมชาติของเขา ด้วยสติปัญญาของเรา ต้องรู้ต้องเห็น ปิดไม่อยู่ ปิดสติปัญญาไม่อยู่ ต้องทะลุโดยไม่สงสัย

    ทุกฺขํ อวัยวะส่วนไหนพาให้มีความสุขความสบายบ้าง นอกจากทุกข์เต็มตัวต้องบำบัดรักษาอยู่เรื่อยมา จึงพอรอดมาได้ถึงวันนี้ ยังพากันเพลิดเพลินกับกองไฟอยู่หรือ

    อนตฺตา ท่านประกาศไว้ชัดเจนแล้ว อย่ายุ่ง อนตฺตา เหมือนกับว่าจะตีข้อมือพวกเรานั่นแหละ อย่าไปเอื้อมอย่าไปจับ อันนั้นเป็นพิษเป็นภัย อย่าไปเข้าใจว่าเป็นตนเป็นของตน เป็นเราเป็นของเรา นั่นคือพิษคือภัย เมื่อว่าเป็นเราเป็นของเราเมื่อไร ความยึดมั่นถือมั่นก็เหมือนการจับไฟนั่นแล จงถอนตัวออกมาด้วยปัญญา ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา โดยแท้ จิตจะไม่ไปอาจไปเอื้อมไปจับ ไม่ไปแตะไปต้องจะปล่อยวางภาระธุรังคือ อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นภาระอันหนักนั้นออกมาโดยลำดับ

    เมื่อจิตถอนตัวออกจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น จิตก็เบาขึ้นตามๆ กันสบายขึ้นตามๆ กัน โอชารสของธรรมจะแสดงขึ้นโดยลำดับ ละเอียดยิ่งกว่าขั้นสมาธิ เมื่อรสแห่งธรรมเหนือรสของกิเลสประเภทนั้นๆ ก็ต้องเหยียบย่ำกันไป ปล่อยกันไปเรื่อยๆ


    [​IMG]

    รูปขันธ์เป็นสำคัญ ทำจิตให้กระทบกระเทือนมากทีเดียว รักก็เป็นทุกข์ ชังก็เป็นทุกข์ เกลียดเป็นทุกข์ โกรธเป็นทุกข์ เกี่ยวกับเรื่องรูปขันธ์นี่สำคัญมากกว่าเพื่อน ถ้าจิตไม่สงบก็จะไม่มีสถานที่บรรเทา ไม่มีสถานที่หลบซ่อนตัวพอมีความสุขบ้างเลยพระเรา จึงต้องพยายามทำจิตให้สงบ นำธรรมเข้ามาฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป

    อย่าเสียดายเวล่ำเวลา อย่าเสียดายวัฏสงสาร อย่าเสียดายเรือนจำ อย่าเสียดายตะราง อย่าเสียดายผู้คุมขังผู้ทรมาน ผู้บีบบังคับเราคือตัวกิเลสแต่ละประเภทๆ นี้คือตัวทรมานเราอย่างใหญ่หลวงมาแต่ไหนแต่ไรนับไม่ได้ก็ตาม ให้ถือเอาหลักปัจจุบันนี้เป็นตัวการสำคัญ แล้วจะกระจายไปหมด อดีตมีมานานเท่าไรก็คือธรรมชาติแห่งกองทุกข์ดังที่เป็นอยู่นี้ หากปลดเปลื้องกันไม่ได้ก็จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

    อย่าไปสนใจกับเรื่องอื่น ให้ดูเรื่องความเป็นจริงซึ่งมีอยู่ในตัวของเรา และประกาศอยู่ตลอดเวลานี้ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร อย่าลดละถอยหลัง อย่าเห็นสิ่งใดมีคุณค่ายิ่งกว่าความเพียรที่จะรื้อถอนตนออกจากสิ่งบีบบังคับนี้ ให้กลายเป็นตนผู้วิเศษขึ้นมา ตนนี้จะเสกสรรก็ตาม ไม่เสกสรรก็ตาม ไม่ติดไม่เป็นภาระ ไม่เป็นอุปาทาน เอาตรงนี้ให้ได้ นั่นแหละท่านว่าโอชารสอันสูงสุดอยู่ตรงนั้น ให้ถอดให้ถอนสิ่งที่เกี่ยวข้องพัวพันกันออกไปโดยลำดับ ถากถางเข้าไปตั้งแต่กองรูป ซึ่งเป็นกำแพงอันหนึ่ง หรือเป็นสิ่งหุ้มห่อหนาแน่นอันหนึ่ง


    [​IMG]

    พอผ่านกองรูป ทำลายกองรูปนี้ไปได้ไม่มีเยื่อใย รู้ชัดแจ้งด้วยปัญญาแล้ว เหมือนกับเรามีต้นทุนก้อนใหญ่ประจักษ์ใจ แน่ใจในการที่จะก้าวให้หลุดพ้นได้ในชาติปัจจุบันนี้ และในวันใดวันหนึ่ง ไม่ได้คาดว่าปีโน้นปีนี้ ถ้าลงจิตได้ถึงขั้นนี้แล้วเป็นที่แน่ใจ ความเพียรมาเอง ความทุกข์ความยากความลำบากเพราะการประกอบความเพียรนั้น มันลบล้างกันไปเองเพราะอำนาจรสแห่งธรรมที่ได้ปรากฏ คือเป็นผลปรากฏประจักษ์ใจ เหนือกว่าความทุกข์เพราะความพากเพียรเป็นไหนๆ ใจมีความพอใจโดยหลักธรรมชาติขึ้นมา ความเพียรหมุนตัวเป็นเกลียวในบุคคลที่เคยเกียจคร้าน

    ความเกียจคร้านเป็นเรื่องของกิเลสต้านทานธรรมต่อสู้ธรรม เราจะประกอบความพากเพียรความขี้เกียจขี้คร้าน ความอ่อนแอความท้อแท้เหลวไหล ความทุกข์ความลำบากจึงประดังกันเข้ามา บีบบังคับให้ก้าวไปไม่ได้ สุดท้ายก็ล้มตูม แสดงว่าถูกยิงแล้ว ไม่ต้องซ้ำหลายนัด ตูมเดียวก็ล้ม ล้มลงเสื่อลงหมอน หลับครอกๆ แครกๆ ล้วนแต่ถูกกิเลสมันยิงเอาๆ ฟันเอาแหลกแตกกระจาย ความเพียรไม่เป็นท่า ถ้าอย่างนี้แล้วก็คือผู้ที่จะจมอยู่ในวัฏสงสาร จมอยู่ในเรือนจำคือวัฏจักรนี้ตลอดไป หาวันหลุดพ้นไปไม่ได้ หาวันเป็นอิสระไม่ได้

    เพราะฉะนั้น จงฟาดฟันลงไปตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้นี้ไม่เป็นอื่น จะต้องพ้นจากสิ่งที่บีบบังคับนี้โดยไม่ต้องสงสัย สำคัญอยู่ที่ความเพียร ที่สติ ที่ปัญญา ความอดความทน เอ้า ทนลงไป ทนเพื่อบึกบึนเป็นอะไรไป อย่างอื่นเรายังทนได้ ทุกข์แทบล้มแทบตายในร่างกาย ไม่มีใครมาอดมาทนให้เรา เราจำต้องอดต้องทนมา เคยทนมาแล้วไม่ใช่เหรอ ส่วนความอดความทนทุกข์เพราะการประกอบความเพียรนี้ ทำไมจะไม่พออดพอทนได้ เพราะทนเพื่อจะประกอบความเพียรรื้อถอนตนให้พ้นจากทุกข์ ทำไมเราจะทนไม่ได้ว่ะ เอาให้หนักแน่นซิหัวใจของพระ หัวใจนักปฏิบัติ ถ้าลงเห็นภัยตามหลักธรรมแล้ว เห็นคุณก็จะเห็นขึ้นในลำดับต่อไปด้วยความเพียรของเรานั้นแล

    เบื้องต้นให้ฟาดฟันในเรื่องกรรมฐานนี้ให้มาก พอเป็นปากเป็นทาง ได้นี้เป็นเหตุเป็นผลเป็นต้นทุนแล้ว เรื่องขันธ์สี่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็เป็นอันทำงานด้วยกันอยู่แล้ว เวทนากายก็มี เวทนาจิตก็มี เวลาพิจารณาร่างกายนี้ทำไมจะไม่วิ่งประสานกัน เพราะธรรมเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่พิจารณาร่างกายเสร็จแล้ว จึงไปพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่าไปคาด อย่างนั้นผิด ในหลักปฏิบัติหลักความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ทำงานจ่อลงจุดใดแล้วมันจะกระเทือนกันไปหมด แต่เวลาเด่นมันไปเด่นตอนที่ร่างกายหมดความหมายไร้ค่าไปแล้วจากธรรม แต่ก่อนเราเห็นว่าสิ่งนี้มีความหมายมีคุณค่ามาก พอธรรมความจริงเข้าไปทำลายความจอมปลอมของกิเลสตัณหาประเภทนี้แล้ว สิ่งเหล่านั้นก็หมดความหมายไร้ค่าไป ธรรมเป็นของมีคุณค่าเหนือนั้นแล้วอย่างเด่นชัด ทีนี้พวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้จะเด่น เพราะได้เป็นปากเป็นทางมาแต่ขั้นรูปกายแล้ว


    [​IMG]

    เวทนามีอะไร ส่วนมากจะเข้าสู่จิตเวทนา เวทนาส่วนร่างกายก็เคยได้อธิบายให้ฟังแล้ว แยกดูในขณะที่เจ็บไข้ได้ป่วย ในขณะที่นั่งนานๆ ก็รู้ ถ้าอยากรู้เอาวันนี้ก็รู้เรื่องทุกขเวทนาด้วยสติปัญญา จะต้องรู้เห็นกันชัดเจน ถ้าใช้ปัญญา อย่าอดทนเฉยๆ การต่อสู้กับทุกข์ต้องต่อสู้ด้วยปัญญา ต่อสู้เฉยๆ อดทนเฉยๆ ไม่จัดว่าเป็นมรรค มรรค คือ สติปัญญา ทุกข์มีมากเพียงไรยิ่งหมุนติ้ว สติปัญญาจะออกจากจุดนั้นไม่ได้ เอาให้เห็นความจริงภายในนั้น เรื่องร่างกายแต่ละชิ้นละส่วนนั้นจะเป็นความจริง ตามหลักธรรมชาติของตนอย่างชัดเจนภายในจิต เพราะตามหลักธรรมชาติ เขาก็เป็นความจริงของเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว

    เวทนาจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงไรภายในร่างกาย มันก็เป็นความจริงอันหนึ่งของตัวเอง มีจิตเท่านั้นเป็นผู้ไปสำคัญมั่นหมาย เมื่อจิตได้พิจารณารู้เท่าด้วยปัญญาแล้ว จิตก็ถอนตัวเข้ามาสู่ความจริงของตนในขั้นนี้ แล้วก็ต่างอันต่างจริง เมื่อต่างอันต่างจริงแล้วเป็นโทษต่อกันที่ตรงไหน กระทบกระเทือนกันได้อย่างไร ไม่กระทบกระเทือนกัน กายก็เป็นกาย ทุกข์ก็เป็นทุกข์ ใจก็เป็นใจ คือ จิตเป็นจิต ต่างอันต่างจริงไม่กระทบกัน แม้ทุกขเวทนาจะไม่ระงับดับไปก็ตามก็ไม่กระทบกระเทือนกัน ไม่ทำความกระทบกระเทือนแก่จิตให้หวั่นไหวได้เลย นั่นคือเห็นความจริง หลายครั้งหลายหนก็สามารถถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในส่วนร่างกายนี้ได้ เวทนาทางกายมันก็ผ่านไปด้วยกัน เหลือแต่เวทนาทางจิต


    [​IMG]

    สัญญา สังขาร เป็นสำคัญ เวลาผ่านจากกายนี้ไปแล้ว รูปขันธ์นี้ไปแล้ว มันจะเด่นเรื่อง สัญญา สังขารความคิดความปรุง เพราะมันหมดปัญหาทางร่างกายแล้วจิตใจก็ไม่ยอมพิจารณา เหมือนกับเรารับประทานอิ่มแล้ว อาหารประเภทนี้อิ่มแล้วก็ปล่อย อันใดที่ยังสัมผัสสัมพันธ์ยังดูดดื่มก็รับประทานสิ่งนั้นๆ เรื่อยไป จนกระทั่งอิ่มโดยประการทั้งปวงแล้ว ปล่อยหมด ไม่ว่าอาหารหวานคาวประเภทใด การพิจารณาก็เหมือนกัน มันหากบอกอยู่ในตัวนั้นแล เมื่อใจอิ่มพอกับสิ่งใดย่อมปล่อยวางสิ่งนั้น แล้วหยุดการพิจารณาในสิ่งนั้น พิจารณาสิ่งอื่นต่อไป เช่นเดียวกับเรารับประทานอาหารประเภทนี้ เมื่อพอแล้วก็รับอาหารประเภทอื่นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอิ่มพอตัวหมดแล้ว ปล่อยหมดทุกประเภทของอาหาร การพิจารณานี้ก็เพื่อความอิ่มพอ แล้วปล่อยวางนั่นแล

    สังขารคือความคิดปรุงอยู่ภายในจิต ปรุงดีปรุงชั่ว เรื่องนั้นเรื่องนี้ ปรุงอยู่ตลอดเวลา เราทุกคนหลงเรื่องของตัว ไม่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้องก็ตาม จิตจะต้องวาดภาพ ความคิดความปรุง ทั้งอดีตทั้งอนาคตยุ่งไปหมดภายในจิตใจ หลงเพลินอยู่กับอารมณ์นั้น โศกเศร้าอยู่กับเรื่องนั้น เรื่องผ่านไปแล้วกี่ปีกี่เดือนก็นำมาอุ่น นำมาปรุงมาแต่งให้กวนใจ บีบบังคับใจอยู่นั้นแล เพราะความหลง ไม่ทันกับกลมายาของกิเลสประเภทนี้จึงต้องพิจารณา จิตปรุงขึ้นมาเรื่องอะไร ดีก็ดับ ชั่วก็ดับ เอาสาระอะไรจากสิ่งเหล่านี้ มันเกิดขึ้นมาที่ตรงไหนก็ค้นลงไปตรงนั้น
    สัญญาความสำคัญมั่นหมาย มันก็หมายออกมาจากจิต จิตนี้เมื่อเข้าถึงขั้นละเอียดเป็นอย่างนั้น หากเป็นหลักธรรมชาติของการพิจารณาเองเป็นเช่นนั้น ใครไม่บอกก็เข้าใจไปเอง สัมผัสสัมพันธ์ที่ไหน สติปัญญาจะหมุนติ้วๆ อยู่ตรงนั้น จนกระทั่งเข้าใจแล้วปล่อย

    เมื่อปัญญาได้ตัดสะพานทางรูปขันธ์ ก็เท่ากับตัดสะพานทางรูป เสียง กลิ่น รส ภายนอกเข้ามาเช่นเดียวกัน จะเหลืออยู่ภายในจิตก็เพียง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มีอยู่กับจิตล้วนๆ พิจารณาอยู่ในจุดนั้นด้วยปัญญา ไม่ทำความคุ้นเคยกับอาการใดในสี่อาการ คือ เวทนา สุขเกิดขึ้นมาก็ดับ ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ดับภายในจิตนั้น ท่านจึงเรียกว่า อนิจฺจา ๆ หรือ อนตฺตา ๆ มันเป็นสิ่งเกิดดับ สัญญาก็ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหมือนกัน จะยึดอะไร มันก็เป็นเหมือนกับรูปขันธ์นี้แหละ คือเป็นกองแห่งไตรลักษณ์เหมือนกันทั้งสิ้น


    [​IMG]

    เมื่อพิจารณาหลายครั้งหลายหน อาการทั้งสี่นี้ก็หดตัวตะล่อมเข้าสู่จิต นี่แลการไล่กิเลส ตีต้อนกิเลสตีเข้าไปอย่างนี้ มันไปหลบไปซ่อนอยู่ที่ไหน คลี่คลายขุดค้นตามไปด้วยปัญญา จนกระทั่งรู้ชัดเห็นชัดแล้ว กิเลสหาที่หลบซ่อนไม่ได้วิ่งเข้ามาสู่จิต จากนั้นสติปัญญาก็หมุนติ้วเข้าสู่จิต มโน ท่านก็ไม่ให้ยึด ฟังซิ มโนก็เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นั่นฟังซิ มโนไม่เป็นไตรลักษณ์ได้ยังไงก็กิเลสอยู่ในนั้น เราจะถือว่าใจเป็นเราเป็นของเราได้อย่างไร เมื่อกิเลสทั้งกองทัพมันอยู่ภายในจิตใจ ถ้าเราไปถือว่าจิตเป็นเราเป็นของเราแล้ว ก็เท่ากับถือกิเลสเป็นเราเป็นของเราเข้าอีก แล้วจะพ้นไปได้ยังไง ลึกซึ้งมากธรรมะข้อนี้ นี่ในขั้นพิจารณา

    จิตก็เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ด้วยกัน เพราะกิเลสมีอยู่ภายในนั้น เอ๊า ฟาดลงไปด้วยการพิจารณา อะไรจะแหลกแตกกระจาย แม้ที่สุดจิตจะฉิบหายไปกับสิ่งทั้งหลาย ก็ให้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญาของเราเถอะ

    ตอนกิเลสเป็นยอดวัฏจักร ที่ท่านว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นั่นละเชื้อแห่งภพแห่งชาติมันฝังจมอยู่ภายในจิตดวงนี้ เมื่อถูกตัดสะพานออกหมดไม่มีที่หากิน ออกทางตาก็ถูกตัดออกแล้ว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถูกตัดหมดด้วยปัญญา กิเลสหาทางออกไม่ได้ จะไปรักรูป รักเสียง รักกลิ่น รักรส เครื่องสัมผัส ก็ถูกตัดสะพานหมดแล้ว รู้เท่าความเป็นจริงหมดแล้ว มันก็วิ่งเข้าสู่ภายใน จะไปติดรูปขันธ์ นี้ก็พิจารณารู้แล้วด้วยปัญญา ปล่อยวางไปแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็พิจารณาไล่ตะล่อมเข้าไปโดยความเป็นไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไปหมดแล้ว มันอยู่จุดไหนกิเลส มันก็ต้องไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใหญ่คือจิต ปัญญาก็ฟาดฟันลงไป

    ที่นี่จิตเป็นเราเหรอ จิตเป็นของเราเหรอ ฟันลงไป เอ๊า อะไรจะฉิบหายก็ให้ฉิบหายไปไม่อาลัยเสียดาย เราต้องการความจริงเท่านั้น แม้จิตจะฉิบหายกระจายไปหมดกับสิ่งทั้งหลายที่แตกกระจายไป ก็ให้รู้เห็นกับการปฏิบัตินี้ ฟาดฟันลงไป สุดท้ายสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายก็แตกกระจาย ธรรมชาติของจริงล้วนๆ ของจริงอันประเสริฐคือจิตที่บริสุทธิ์นั้นไม่ตาย ไม่ถูกทำลาย นั่นเห็นไหม ที่นี่จะว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา หรือไม่ว่าก็ตามเถอะ ขอให้จิตบริสุทธิ์เสียอย่างเดียวเท่านั้นก็พ้นจากสมมุติไปหมดแล้ว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา นี้อยู่ในวงสมมุติ พอจิตได้หลุดพ้นจากนั้นไปแล้ว หมดคำที่จะพูดอะไรต่อไปอีกแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ๆ อยู่นั้นแล สงสัยอะไรที่นี่

    นี้แลคือการพ้นจากที่คุมขัง พ้นจากวัฏจักร คือที่คุมขังของสัตว์ทั้งหลายมีเราเป็นสำคัญ มีใจเราเป็นสำคัญ รื้อถอนออกที่ตรงนี้ ปลดเปลื้องออกที่ตรงนี้ เมื่อกิเลสหลุดลอยออกไปจากใจโดยสิ้นเชิงเสียเท่านั้น จะไม่มีอะไรเป็นปัญหาต่อจิตใจอีกเลย ท่านจึงเรียกว่า อกาลิกจิต อกาลิกธรรม หากาลหาเวลาไม่ได้ คือไม่มีกาลไม่มีเวลา เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พุทโธ เต็มดวงอยู่เช่นนั้น

    ทีนี้เราจะไม่เห็นโทษของกิเลสชัดเจนได้อย่างไร เมื่อสติปัญญาเป็นต้นขึ้นเหยียบหัวกิเลสให้แหลกแตกกระจายออกไปหมดแล้ว ทำไมจะไม่เห็นโทษของมันอย่างเต็มใจ ความสุขที่กิเลสนำมาป้อนเวลาเราจะตาย มันเอามาเยียวยาเราบ้างพอประทังชีวิตทำไมจะไม่รู้ นี่ความสุขเคลือบน้ำตาลที่เกิดขึ้นจากกิเลสปรุง และนำมาเยียวยาเราพอประทังชีวิต มันเป็นอย่างนี้นี่แลรสของกิเลส แต่รสของธรรมกลับตรงข้ามเป็นอย่างนี้ ทำไมจะไม่รู้

    เมื่อสรุปความลงแล้ว จิตที่อยู่ในอำนาจของวัฏจักรคือกิเลสเป็นเครื่องบีบบังคับ จึงไม่ผิดอะไรกับนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เมื่อได้พ้นจากสิ่งคุมขังคือกิเลสนั้นโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงหาอะไรเทียบไม่ได้ แม้เช่นนั้นท่านก็ยังยกว่า ประเสริฐๆ ซึ่งเป็นสมมุติอันหนึ่งขึ้นมา ที่ไม่ตรงกับความจริงอันนั้นนักเลย ถึงไม่ตรงก็ให้เป็นที่แน่ใจเถอะ ความต่างกันเป็นดังที่ว่านี้แล ระหว่างจิตที่มีสิ่งควบคุมกับจิตที่หลุดพ้นแล้วจากสิ่งบังคับทั้งหลาย เป็นอิสรเสรีเต็มที่ของตัวแล้ว ต่างกันดังที่กล่าวมาแล้วนี้แล


    [​IMG]

    ขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ ต่างมุ่งมาศึกษาหาสาระใส่ตน พิจารณาให้เห็นชัดตามหลักอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เพราะทั่วไตรโลกธาตุเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรจะเป็นของวิเศษพอให้อาลัยอาวรณ์กับมัน นอกจากการหลุดพ้นเสียเท่านั้นเป็นของวิเศษ เป็นธรรมชาติที่วิเศษแท้ ไม่ต้องเสกสรรปั้นยอก็เป็นธรรมชาติของตน พอกับทุกสิ่งทุกอย่าง นี้แลที่ว่ารสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง รสที่เราเคยผ่านมาจะเป็นรสชนิดใดก็ตาม รสแห่งธรรมชนะทั้งหมด ปล่อยทั้งหมด เพราะไม่มีรสอะไรเสมอ แม้รสนี้ก็ไม่ติด รสที่ว่าประเสริฐนี้ก็ไม่ติดตัวเอง เป็นหลักความจริงอันหนึ่งเท่านั้น

    เอ๊า เอาให้จริงนักปฏิบัติ อย่าท้อถอย เอ้า พลีชีพต่อพระพุทธเจ้าเถอะ การพลีชีพต่อกิเลสนี้เราไม่ว่าพลีก็ตาม เราเคยพลีมามากและนานแสนนานแล้ว จนนับไม่ได้ในภพชาติหนึ่งๆ ของแต่ละสัตว์แต่ละบุคคล นับไม่ได้แล้ว เอาวงปัจจุบันที่เห็นๆ เป็นๆ อยู่เวลานี้ ย้อนหลังไปจนหาประมาณไม่ได้ เป็นมาจากอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ที่ฝังอยู่ภายในใจนี้แลเป็นภพๆ ชาติๆ สิ่งอื่นๆ ทั่วไตรภพ ไม่มีสิ่งใดชิ้นใดพาให้เป็นภพเป็นชาติ และพาให้แบกกองทุกข์ทั้งมวล มีอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารานี้เท่านั้น

    เพราะฉะนั้น จิตเวลาคนตายแล้วว่าสูญ มันสูญไปไหน เอาภาคปฏิบัติเข้าไปจับซิ อย่าพูดตามกลมายาของกิเลสปิดหูปิดตาซิ กิเลสมันบอกว่าตายแล้วสูญ นั่น มันปิดไว้อย่างมิดชิดแล้ว กิเลสตัวพาให้สัตว์เกิดตายนั้นสูญไปไหน ทำไมไม่ย้อนศรแทงมันบ้างถ้าอยากรู้กลหลอกของมัน มันพาสัตว์โลกให้จมอยู่ในวัฏสงสารนี้ มันสูญไปไหนกิเลสน่ะ และกิเลสบังคับอะไรถ้าไม่บังคับจิต จิตเมื่อมันสูญไปแล้วกิเลสบังคับได้ยังไง มันไม่สูญน่ะซิมันถึงบังคับให้เกิดแก่เจ็บตายได้เรื่อยมาเรื่อยไปไม่หยุดไม่ถอย ทำไมเราจะไปหลงกลมายาของกิเลสว่าตายแล้วสูญๆ ไม่สะดุดใจเห็นโทษกลหลอกของมันบ้าง กิเลสตัวแสบนี้เคยหลอกสัตว์โลกให้หลงและงมทุกข์มานานแสนนานแล้ว

    พิจารณาให้ถึงความจริงซิ อะไรสูญไม่สูญก็ให้รู้ นี่จึงเรียกว่านักธรรมะ นักค้นคว้าพิจารณาให้ถึงความจริง ดังพระพุทธเจ้าที่ประกาศสอนธรรม ท่านประกาศสอนด้วยความจริง ท่านทรงปฏิบัติแล้ว ทั้งเหตุก็สมบูรณ์เต็มที่ จึงได้ผลเป็นที่พอพระทัยแล้วนำธรรมนี้ออกสอนโลก ท่านสอนไว้ที่ตรงไหนว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วสูญ อยู่ที่ตรงไหน มีแต่ว่าเกิดแก่เจ็บตายๆ อยู่อย่างนั้น ท่านสอนไว้เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ค้านกัน เพราะรู้อย่างเดียวกันเห็นจริงอย่างเดียวกันตามหลักความจริงนั้นๆ จะลบให้สูญได้อย่างไรเมื่อเป็นความจริงเต็มส่วนอยู่แล้ว

    [​IMG]

    การเกิดการตาย เกิดตายไม่หยุดไม่ถอยเพราะอะไรเป็นสาเหตุ ท่านก็สอนไว้แล้วว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ เป็นต้น นี่เป็นสาเหตุ มันฝังอยู่ภายในจิต จึงพาให้เกิดอยู่ไม่หยุดไม่ถอย พอทำลายอวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ลงไปแล้วเป็นอย่างไร อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ นั่น พออวิชชาดับจากใจเสียเท่านั้นไม่ว่าอะไรๆ ดับไปหมด นิโรโธ โหติ นั่น จะว่าไง หรือว่า เอวเมตสฺส เกวลลฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ นั่น พออวิชชาดับไปเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างดับไปหมด แล้วผู้ที่รู้ว่าอวิชชาดับ นั่นคือผู้บริสุทธิ์ ผู้บริสุทธิ์นั้นดับสูญไปได้อย่างไร ความจริงสุดส่วนเป็นอย่างนี้ ดูเอา ฟังเอา ผู้ถือ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ น่ะ ก็พวกเราชาวพุทธมิได้ถือ กิเลสํ สรณํ คจฺฉามิ นี่วะ

    เราเป็นนักปฏิบัติต้องค้นให้เห็นความจริงซิ ใครจะยกสามแดนโลกธาตุมาหลอกมาค้านก็ไม่หวั่น ถ้าลงได้รู้เห็นความจริงเต็มหัวใจแล้วค้านได้ยังไง เราคิดดู พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ทำไมจึงสามารถเป็นครูเป็นศาสดาของโลกได้ทั้งสามโลก ถ้าไม่เอาความจริงที่ทรงรู้ทรงเห็นเต็มพระทัยมาสอนเอาอะไรมาสอน การสอนก็สอนด้วยความอาจหาญไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้าผู้เป็นอาชาไนย ผู้นำความจริงล้วนๆ มาสอนโลก ไม่ได้เอาความปลอมความด้นเดามาสอนนี่ การพูดออกมาด้วยความด้นเดาเกาหมัดนั้นเป็นวิชาของอวิชชา เป็นหลักวิชาของอวิชชาที่กล่อมโลกให้ล่มจมไปตามมันต่างหาก หลักธรรมแท้ๆ ไม่ได้สอนให้ล่มจม ถึงเรียกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของปลอม ธรรมเป็นของจริงที่พึ่งเป็นพึ่งตายได้ไม่สงสัย

    กิเลสมันปลอมทั้งเพ ร้อยทั้งร้อยปลอม ธรรมจริงร้อยทั้งร้อยจริงหมด มันเดินสวนทางกันระหว่างกิเลสกับธรรม จึงต้องเป็นข้าศึกกัน การปฏิบัติความพากเพียรไม่รบกับกิเลสจะรบกับอะไร นี่คือข้าศึก ไม่รบกับอันนี้จะรบกับอะไร เวลานี้กิเลสเป็นข้าศึกต่อธรรม เป็นข้าศึกต่อเรา เราไม่รบกับกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อเราและต่อธรรมจะรบกับอะไร เมื่อรู้เรื่องของกิเลสเสียทั้งมวลแล้ว จะสงสัยธรรมไปที่ไหนกันอีก เฉพาะอย่างยิ่งจิตสงสัยอะไร เรื่องตายเกิดตายสูญ สูญที่ไหนก็ให้รู้ซินักปฏิบัติ ฟังอะไรเสียงลมปากที่อมกิเลสตัวสกปรกพ่นออกมา ไม่ขี้เกียจล้างหูหรือ จงฟังเสียงธรรมของศาสดาองค์เอกนั่นซิ หูจะได้สะอาด ใจจะได้บริสุทธิ์

    เอาให้จริงให้จัง ทำลุ่มๆ ดอนๆ เหลาะๆ แหละๆ เห็นแก่หลับแก่นอน เห็นแก่ปากแก่ท้องเหล่านี้เคยฝังใจมานานแล้ว เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวล จงพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงให้เป็นเรื่องของธรรมขึ้นมา จะสมชื่อสมนามว่าเป็นลูกศิษย์ตถาคต ได้พลีตนออกมาบวชในพระพุทธศาสนา และดำเนินตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า จะได้มหาสมบัติอันล้นค่ามาครองใจ เมื่อธรรมครองใจกับกิเลสครองใจนั้นต่างกันอย่างไร นี่ก็ดังที่พูดแล้ว ธรรมครองใจประเสริฐเลิศเลอ สง่าผ่าเผย มีอิสระเต็มตัวเต็มใจ ไม่ไขว่คว้า ไม่หิวโหย ไม่เสาะแสวง ไม่หวังพึ่งอะไรเพราะธรรมเต็มใจแล้ว อิ่มพอ..”


    [​IMG]

    ที่มา และสามารถอ่านทั้งหมดได้ที่นี่ :
    Luangta.Com -
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. Dhamma Osoth

    Dhamma Osoth Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มกราคม 2012
    โพสต์:
    20
    ค่าพลัง:
    +78

    ไฟล์ที่แนบมา:

  3. Dhamma Osoth

    Dhamma Osoth Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มกราคม 2012
    โพสต์:
    20
    ค่าพลัง:
    +78
    [ame=http://www.youtube.com/watch?v=6OmUNzOcLCE&list=PL_4BkEyJ4ugsVsYL50Dkm62CSWg8DWWaA&index=3]หลวงตามหาบัว-โอชารสแห่งธรรม - YouTube[/ame]
     

แชร์หน้านี้

Loading...