"ไม่แน่ ... คือ ... อนิจจัง" โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท อาจารย์ของ "อดีต" พระอาจารย์มิซุโอะ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย kennek, 10 มิถุนายน 2013.

  1. kennek

    kennek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 เมษายน 2006
    โพสต์:
    2,163
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +17,236
    ไม่แน่ ... คือ ... อนิจจัง

    พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)

    วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

    คัดลอกจาก http://www.geocities.com/clcseacon/preaching27.html



    มีพระฝรั่งองค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ของผม เมื่อเห็นพระไทยสามเณรไทยสึก ก็ “อุ๊ย เสียดาย ทำไมถึงทำอย่างนั้น ทำไมพระไทยเณรไทยถึงสึกกันนี่ ”

    เขาตกใจ พากันตื่นเต้นในการสึกของพระไทยเณรไทย ก็เพราะมาพบใหม่ๆ เขาพากันตื่นเต้นมีศรัทธามาบวชนี่มันดีแล้ว คิดว่าจะไม่สึกแล้ว ใครสึกก็โง่เท่านั้นแหละ มาเห็นพระไทยเณรไทยเข้าพรรษาก็บวชกัน ออกพรรษาแล้วก็สึก โอ๊ยสลดใจ ตกใจ “โอ้สงสารเน้อ สงสารพระไทย สงสารสามเณรไทย ทำไมถึงทำอย่างงั้น”

    พอดีต่อมา พระฝรั่งก็อยากสึกบ้าง เลยเห็นเป็นของที่ไม่สำคัญ ตอนแรกมาพบใหม่ๆ มันตื่นเต้น เห็นเป็นของสำคัญมาก การบวชนะนึกว่าจะทำเอาง่ายๆ เมื่อใจของคนกำลังมีศรัทธา มันพร้อมหมดทุกอย่าง คิดอะไรมันก็คิดดี คิดอะไรมันก็คิดถูกไปทั้งนั้นแหละ ไม่มีใครตัดสิน คือตัดสินเอาเองนั่นแหละ ไม่รู้ว่าปฏิปทาของการปฏิบัติทางจิตใจนี่ท่านทำยังไง ท่านจะต้องมีรากฐานอันมั่งคงที่สุดภายในจิตของท่านแล้ว แต่ท่านก็ไม่พูดอะไรมาก

    ส่วนผมบวชมาครั้งแรกไม่ได้ฝึกฝนหรอก แค่ว่ามันมีศรัทธา มันจะเป็นเพราะกำเนิดก็ไม่รู้ พระเณรที่บวชพร้อมๆ กัน ออกพรรษาแล้วก็สึก เรามองเห็นว่า “เอ้ ไอ้พวกนี้มันยังไงกันเน้อ” แต่เราไม่กล้าพูดกับเขา เพราะเรายังไม่ไว้ใจความรู้สึกของเรา มันตื่นเต้น แต่ภายในจิตของเราก็ว่านี่มันโง่มาก บวชมันบวชยาก สึกมันสึกง่าย นี่มีบุญน้อยไม่มีบุญมาก เห็นทางโลกมันมีประโยชน์มากกว่าทางธรรมะ นี่เราก็เห็นไปแต่เราไม่พูด เราก็มองดูแต่ในจิตของตัวเอง

    เห็นเพื่อนภิกษุที่บวชพร้อมๆ กันสึกไปเรื่อยๆ บางทีก็เอาเครื่องแต่งตัวมาใส่เข้ามาเดิน เราเห็นมันเป็นบ้าหมดทุกกระเบียดเลย แต่เขาว่ามันดี สวย สึกแล้วจะต้องไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็มาเห็นอยู่ในใจของเรา ไม่กล้าพูดให้เพื่อนเขา ว่าคิดอย่างนั้นมันผิด ก็ไม่กล้าพูด เพราะว่าตัวเรามันยังเป็นของไม่แน่อยู่ ว่าศรัทธาของเรานี้มันยังจะยึดยาวไปถึงขนาดไหน อะไรๆ ก็ยังไม่กล้าจะพูดกับใครเลย พิจารณาแต่ในจิตของตนเรื่อยๆ

    พอเพื่อนสึกไปแล้วก็ทอดอาลัย ไม่มีใครอยู่แล้วนะ ชักเอาหนังสือปาฏิโมกข์มาดูเลย ท่องปาฏิโมกข์สบาย ไม่มีใครมาล้อเลียนเล่นอะไรต่อไป ตั้งใจเลย แต่ก็ไม่พูดอะไร เพราะเห็นว่าการปฏิบัติตั้งแต่นี้ไปถึงชีวิตหาไม่ บางทีก็อายุ ๗๐ ก็มี ๘๐ ก็มี ๙๐ ก็มี จะพยายามปฏิบัติให้มันมีความนึกคิดเสมอ ไม่ให้คลายความเพียร ไม่ให้คลายศรัทธา จะให้มันสม่ำเสมอ อย่างนี้มันยากนัก จึงไม่กล้าพูด

    คนที่มาบวชก็บวชไป ที่สึกก็สึกไป เราดูมาเรื่อยๆ อยู่ไปก็ไม่ว่าจะสึกก็ไม่ว่า ดูเพื่อนเขาไป แต่ความรู้สึกภายในจิตใจของเราว่า พวกนี้มันไม่เห็นชัด พระฝรั่งที่มาบวชคงเห็นอย่างนั้น เบื่อความเป็นอยู่ของพระภิกษุ สามเณร เบื่อพรหมจรรย์ คลายความเพียรออกมาเรื่อยๆ ผลที่สุดก็สึก ทำไมสึกล่ะ แต่ก่อนเห็นพระไทยสึก . . .แหมเสียดาย น่าสลดสังเวช น่าสงสาร ตัวเราสึกทำไมไม่สงสารตัวเราหรือนี่ ไม่พูด ยิ้มๆ เท่านั้นแหละ ไม่พูด

    เรื่องการปฏิบัติในจิตของตัวเองนี้นะ ไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องตัดสินได้ง่ายๆ เพราะว่าพยานมันไม่มี เรื่องราวต่างๆ มีคนอื่นเป็นพยาน มันมีแบบมันมีแผน เรายังอาศัยคนอื่นเป็นพยาน เรื่องเอาธรรมะเป็นพยานนั้น เราเป็นธรรมแล้วหรือยัง เราคิดอย่างนี้มันถูกแล้วหรือยัง ถ้ามันถูก เราทิ้งความถูกได้หรือยัง หรือยึดความถูกอยู่

    มันต้องคิด คิดไปถึงที่สุดว่ามันทิ้งนั่นแหละจึงเป็นของสำคัญ จนกว่าที่ว่าไม่เป็นอะไรทั้งนั้น โน่นก็ไม่เป็น นี่ก็ไม่เป็น ดีก็ไม่เป็น ชั่วก็ไม่เป็น มันทิ้ง คือหมายความว่าให้มันหมดนั่นแหละ ถ้าอะไรมันหมด มันก็หมดไม่เหลือ ถ้าอะไรมันยังมีอยู่ มันก็ยังเหลืออยู่

    ฉะนั้นเรื่องปฏิบัติในจิตของตนนี่ว่ามันง่ายหรอก มันพูดง่ายนะ แต่ว่ามันทำยาก มันทำยาก ยากคือมันไม่ได้ตามปรารถนาของเรา บางครั้งที่เราปฏิบัติไป มันก็มีด้วยนะ มันเป็นเทวบุตรมาร มันช่วย ให้ดูไปให้ถูก พูดไปให้ถูก อะไรๆ มันถูกไปทั้งนั้นแหละ อันนั้นก็ดี อันนั้นก็ถูก ก็ไปยึดมั่นในความถูกนั้นอีก ผลสุดท้ายก็ผิดอีก ถลำไปอีกแหละ อันนี้มันเป็นของยากลำบาก ไม่มีอะไรจะวัดมัน

    คนที่มีศรัทธามากๆ คือ ประกอบไปด้วยศรัทธา มันประกอบไปด้วยความเชื่อ มันอ่อนด้วยปัญญา สมาธิก็เก่ง แต่ว่าวิปัสสนาไม่มี มันเห็นไปหน้าเดียว เห็นไปรูปเดียว ก็เป็นไป คิดอะไรก็ไม่รู้ มันมีศรัทธา ในทางพระพุทธศาสนาท่านพูดตามตัวหนังสือท่านว่า ศรัทธาอธิโมกข์ มันมีศรัทธาก็จริง แต่ว่าศรัทธานี้มันปราศจากปัญญา แต่เราก็มองไม่เห็นในขณะนั้น เราก็นึกว่า ปัญญาเราก็มี อย่างนี้ . . . มันก็เลยมองไม่เห็นความผิด

    เพราะฉะนั้นท่านจึงตรัสกำลังทั้งห้าไว้ว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

    ศรัทธา คือความเชื่อ สติ คือความระลึกได้ วิริยะ คือความเพียร สมาธิ คือความตั้งใจมั่น ปัญญา คือความรู้ทั่ว ปัญญาความรู้ทั่ว อย่าไปพูดแต่เพียงว่าปัญญาความรู้ ปัญญาความรอบรู้ทั่วถึง

    ปราชญ์ท่านจัดธรรมทั้งห้าประการนี้เป็นตอนๆ เพื่อเราจะมองดูปริยัติที่เรียบร้อยแล้ว มาเปรียบเทียบกับขณะจิตของเราที่มันเป็นอยู่อย่างศรัทธา คือ ความเชื่อ เราเชื่อไหม เราเป็นอย่างนั้นแล้วหรือยัง วิริยะเรามีเพียรแล้วหรือยัง ที่เราเพียรอยู่นี่มันถูกหรือผิด อันนี้เราต้องพิจารณา ใครก็เพียรกันหมดทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเพียรนี้มันประกอบไปด้วยปัญญาหรือเปล่า สตินี่ก็เหมือนกัน แมวมันก็มีสติ เห็นหนูขึ้นมา สติมาก็รู้ขึ้นมา ตามันจ้องดูของมัน นี่สติของแมว อะไรมันก็มีทุกอย่างละ สัตว์เดรัจฉานมันก็มี อันธพาลมันก็มี ปราชญ์ก็มี สมาธิความมุ่งมั่นความตั้งใจมั่น อันนี้มันก็มีอีกแหละ แมวมันก็มี มันมั่นที่จะตะครุบหนูกินนี่ ความมุ่งมั่นของมันมี สตินั้นก็เรียกว่าสติเหมือนกัน สมาธิความตั้งใจมั่นว่าจะทำอย่างนั้น มันก็มีอยู่ ปัญญาความรู้มันก็มี แต่ว่ามันไม่รอบรู้เหมือนมนุษย์ มันรู้อย่างสัตว์ มีปัญญาเพื่อจะตะครุบหนูกินเป็นอาหาร ธรรมทั้งห้าประการนี้ ท่านเรียกว่า กำลังสิ่งทั้งห้าประการนี้ เกิดมาด้วย สัมมาทิฏฐิ หรือเปล่า ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา นี่เกิดมาจากสัมมาทิฏฐิหรือเปล่า สัมมาทิฏฐินี้เป็นอย่างไร อะไรเป็นเครื่องตัดสินว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ อันนี้เราต้องรู้ชัด

    สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของไม่แน่นอน ฉะนั้น พระอริยะเจ้าและพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ได้ยึดมั่น ท่านยึดไม่ให้มั่น ไม่ใช่ท่านยึดมั่น ยึดไม่ให้มั่น คือยึดไม่ให้มันเป็นภพ ตัวยึดที่ไม่ได้เป็นภพ คือไม่มีตัณหาเข้าไปปะปน มันไม่ต้องเป็นนั่น ไม่ต้องเป็นนี่ มันหมด มันสิ้นในการกระทำอย่างนั้น เมื่อมันยึดมาแล้ว มันยินดีไหม มันยินร้ายไหม เมื่อมันยินดีแล้วมันยึดในความดีนั้นไหม มันยึดในความร้ายไหม

    ทิฏฐิ คือ ความเห็น หลักที่จะเป็นที่วัดให้เรารอบรู้พอสมควร เพื่อเราจะเรียนรู้ เพื่อเราจะพิจารณาก็มีอยู่เหมือนกัน เช่น ความเห็นที่ว่าเราดีกว่าเขา เห็นว่าเราเสมอเขา เห็นว่าเราโง่กว่าเขา นี่เป็นความเห็นอันผิดทั้งนั้น แต่ท่านก็เห็น ท่านเห็นแล้ว ท่านก็รู้ด้วยปัญญา เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับของมันไป เห็นว่าตัวนี้มันโง่กว่าเขาก็ไม่ใช่ ความเห็นซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่มันตัดต้นตัดปลายไปหมดล่ะ มันจะไปตรงไหนล่ะเห็นว่าเราดีกว่าเพื่อน เราก็ทะนงตัว มันก็มีอยู่ในนั้นแหละแต่มันยังไม่รู้จัก เห็นว่าเราดีเสมอกับเพื่อน มันก็ดีเสมอกันเท่านั้น เห็นว่าเราเลวกว่าเขา นั่นเราก็ตกใจ คิดอาภัพอับจน มันก็อุปาทานขันธ์ห้า มันเป็นภพชาติทั้งนั้นแหละ นี่เป็นเครื่องตัดสิน

    อีกอย่างหนึ่ง เช่น เราได้อารมณ์ที่ดี เราถึงดีใจ อารมณ์ที่ไม่ดีเราก็เสียใจ เราวัดดูไหมว่า อารมณ์ที่ดีเราถึงดีใจ อารมณ์ที่ไม่ดีเราก็เสียใจ เราวัดดูไหมว่า อารมณ์ที่เราไม่ชอบ กับอารมณ์ที่เราชอบนั้นมันมีราคาเท่ากันไหม นี่ ให้เอาไปวัดดูซี่ ที่เราอยู่ทุกวันนี้ อารมณ์ที่เราอาศัยอยู่นี้นะ เราได้อารมณ์ที่ชอบใจแล้วใจเราเปลี่ยนไหม เมื่อกระทบอารมณ์ที่ไม่พอใจแล้วมันเปลี่ยนไหม หรือมันคงที่ ดูตรงนี้ก็ได้เป็นพยานอันหนึ่งนะ แต่ว่าให้รู้ตัวของตัวนะ อันนี้เป็นพยานของเรา อย่าพึงไปให้มันตัดสินด้วยความอยาก บางทีมันก็เสริมขึ้นไปให้เราเป็นอย่างนั้นก็ได้ ต้องระวัง

    มันมีหลายแง่หลายมุมเหลือเกินที่เราจะต้องพิจารณา แต่ว่าในทางที่ถูกต้อง มันก็เรียกว่าไม่ใช่ตามตัณหา ไม่ใช่ตามความอยาก มันเป็นความจริง ท่านให้รู้ทั้งดี ทั้งชั่ว เมื่อรู้แล้วท่านก็ให้ละทั้งดีทั้งชั่ว ถ้าไม่ละมันก็ยังอยู่ เป็นอยู่ มีอยู่ ถ้ามีอยู่มันก็เหลืออยู่ มันก็มีภพอยู่ มันก็มีชาติอยู่อย่างนี้

    ฉะนั้นพระพุทธองค์ท่านจึงให้ตัดสินเอาเฉพาะตัวเอง อย่าพึงไปตัดสินให้คนอื่นเลย จะดีจะร้ายประการใด ท่านก็พูดให้ฟังเท่านั้นแหละ นี่เรื่องความจริงมันเป็นอยู่อย่างนี้ จิตใจเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เช่นว่ามีพระองค์หนึ่ง ไปจับเอาของเขา ทีนี้คนอื่นก็ว่า “ท่านขโมยของผม” ... “ผมไม่ได้ขโมย ผมเอาเฉยๆ ” ให้พระ ก. ตัดสิน จะตัดสินอย่างไร ก็ไปถามพระนั้นมาเป็นพยานในที่สงฆ์นะ “ผมเอาจริงครับ แต่ผมไม่ได้ขโมย” อย่างเรื่องอาบัติ สังฆาทิเสส อาบัติปาราชิก เป็นต้น “ผมทำอย่างนั้นอยู่ แต่ผมไม่เจตนา” ใครจะไปฟังได้อย่างนั้น มันก็ยาก ถ้าฟังไม่ได้ก็ทิ้งให้เจ้าของเดิมเขา เอาไว้ตรงนั้นแหละ

    แต่ว่าให้เข้าใจว่า อะไรที่มันเกิดมีในใจของเรานั้นนะ เรื่องปิดไม่อยู่ทั้งนั้นแหละ เรื่องมันจะผิดมันก็ปิดไม่ได้ เรื่องมันจะถูกมันก็ปิดไม่ได้ เรื่องมันจะดีก็ปิดไม่ได้ จะชั่วมันก็ปิดของมันไม่ได้ คือมันเปิดมันเอง มันปิดมันเอง มันมีมันเอง เป็นมันเอง มันเป็นอัตโนมัติอยู่ทุกอย่างละ มันเป็นเรื่องอย่างนี้ อย่าคาดเอา อย่าคะเนเอา อย่าเดาเอา

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ อะไรมันเป็นอวิชชามันไม่หมด องคมนตรีเคยถามผม “หลวงพ่อพระอนาคามี . . . จิตเป็นประภัสสรหรือเปล่า?”

    เราตอบว่า “เป็นบ้าง” ถาม “เอ้า พระอนาคามีท่านละกามได้แล้ว ทำไมจิตไม่เป็นประภัสสร?

    ตอบ “ท่านละกามได้ แต่ว่ามีเหลืออยู่ใช่ไหม อวิชชาโมหะเหลืออยู่ อะไรที่มันเหลืออยู่ นั่นแหละมันยังมีอยู่”

    ก็เหมือนบาตรของเรานั่นแหละ บาตรขนาดใหญ่อย่างใหญ่ บาตรขนาดใหญ่อย่างกลาง บาตรขนาดใหญ่อย่างเล็ก บาตรขนาดกลางอย่างใหญ่ บาตรขนาดกลางอย่างกลาง บาตรขนาดกลางอย่างเล็ก บาตรขนาดเล็กอย่างใหญ่ บาตรขนาดเล็กอย่างกลาง บาตรขนาดเล็กอย่างเล็ก มันจะเล็กเท่าไรก็ช่างมันเถอะ ยังมีบาตรอยู่ นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ อย่างว่า โสดา สกิทาคา อนาคา ละกิเลสได้แล้วนั้น แต่ว่ามันหมดแต่แค่นั้นนะ สิ่งที่ยังเหลืออยู่พวกนั้นมองไม่เห็น อวิชชานี่มันมองไม่เห็นอยู่นั่นแหละ ถ้าหากว่าจิตพระอนาคามีเรียบหมดแล้ว ก็ไม่ใช่อนาคา มันก็หมดสิ อันนี้มันยังเป็นอยู่ จิตเป็นประภัสสรไหม? ก็เป็นมั่งแต่มันไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ จะให้เราตอบยังไงล่ะ ท่านว่าวันหลังจะมาเรียนใหม่ เรียนก็เรียนซิ หลักมันมีอยู่แล้ว

    อันนี้ก็เหมือนกัน อย่าไปประมาท. . .ระวัง องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราท่านให้ระวัง อันนี้พูดถึงเรื่องปฏิบัติเรื่องจิตของเรา ผมก็เคยซวดเซมาหลายครั้งเหมือนกัน บางทีอยากจะทดลองหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน แต่แล้วมันไม่ถูกทางทั้งนั้นแหละ คือ มันอวดดับ อวดดีขึ้นในจิต มันเป็นมานะอันหนึ่ง ทิฏฐิความเห็น มานะความยึดไว้ มันมีอยู่นี่ พูดแต่เท่านี้มันก็ยังดูยากเหมือนกัน

    นี่ผมเคยพูดให้ฟัง โยมอะไรที่มาบวชเป็นหลวงตา หอบผ้าไตรจีวรมาแล้ว จะมาบวชหน้าศพของโยมแม่ ได้ผ้าไตรจีวรก็หอบเข้ามาในวัด ยังไม่ไปกราบพระ พอวางไตรจีวรก็เดินจงกรมเลย เดินอยู่หน้าศาลานั่นแหละ เดินกลับไปกลับมา เดินอย่างเอาจริงเอาจัง “เอ คนอย่างนี้มันก็มีนะ” นี่คือ ศรัทธาอธิโมกข์ เขาคิดว่าจะให้ตะวันไม่ทันตกจะให้สำเร็จก็ไม่รู้ นึกว่ามันง่ายนะ เราก็ปล่อยให้เขาเล่นอยู่นั่นละ ไม่ต้องมองใครละ เดินเอาจริงเอาจังอย่างนั้น เรามองเห็น โอ้โอย . . . มนุษย์เอ้ย มันคิดว่าจะง่ายๆ อย่างนั้นเหรอ พอดีให้อยู่ไปกี่วันก็ไม่รู้ ดูเหมือนไม่ได้บวช หรือบวชก็ไม่รู้ มันจะเป็นอะไรอย่างนั้นนะ !

    พอใจมันรู้อะไรปุ๊บ ส่งออกเลย มันรู้อะไรมาปุ๊บก็ส่งออกเลย ตัวจิตสังขารมันปรุงแต่ง ก็ไม่รู้เรื่องของมัน มันก็ว่าฉันเป็นปัญญา มันปรุงแต่งแยกขยายหลายอย่าง หลายประการ ชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ หลายอย่างละเอียด ก็จิตสังขารนี้มันก็คล้ายกับปัญญา ถ้าคนไม่รู้มันก็ว่าปัญญาดีๆ นี่แหละ แต่ว่าเมื่อถึงคราวมันแล้ว หาความจริงไม่มีอะไร เมื่ออารมณ์ที่ไม่พอใจเป็นทุกข์เกิดขึ้นได้ อยู่นั่นมันจะเป็นอะไร มันจะเป็นปัญญาอะไรไหม มันเป็นตัวสังขารทั้งนั้นแหละ

    เรื่องจริตของเรา เรื่องอารมณ์ของเรา มันก็คล้ายกับคนๆ หนึ่งนั่นแหละ พูดง่ายๆ มันคล้ายๆ กับคนๆ หนึ่ง คนบางคนมันชอบจริต เราก็มี บางคนที่ไม่ชอบจริตของเราก็มี สิ่งที่มันเป็นมาข้างนอก มันก็เหมือนกันอย่างนั้นแหละ มันไม่แปลกอะไรสักคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าอารมณ์นี้ ความเป็นจริงมันก็เป็นอยู่ที่เจ้าของนั่น อารมณ์นั้นมันก็ไม่มีอะไร มันเป็นสักแต่ว่าอารมณ์ เรามาคิดเอาเองหรอก ว่าเราดี เราชั่ว ว่าเราผิด ว่าเราถูกเหล่านี้ มันเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นเอง ว่าขึ้นเองผุดขึ้นมา อย่างนั้นธรรมนี้จึงเป็นเครื่องวิจารณ์วิจัยได้ยากเหลือเกิน

    ผมจึงบอกว่าให้แอบไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า คือใคร ก็คือธรรมะนั่นแหละ ธรรมะในสกลโลกนี้ทั้งหมด มันมา รวมอยู่ที่ธรรมะตัวเดียว คือ อนิจจัง ลองดูซิ ใครจะเป็นนักปฏิบัติเถอะ ผมค้นมาตลอด ๒๐-๔๐ พรรษานี่ ผมเห็นเท่านั้นแหละ แล้วก็อดทน อันหนึ่ง แล้วก็เข้าใกล้ธรรมะของท่าน อนิจจังมันไม่แน่ ใจว่าแน่ขนาดไหนก็บอกว่ามันไม่แน่ ใจมันจะยึดมั่นว่ามันแน่ที่ไหนก็ว่ามันไม่แน่ มันไม่เที่ยง ดันมันอยู่อย่างนี้แหละ อาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็ดับไปอยู่อย่างนี้แหละตลอดมาทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่ามันประเดี๋ยวประด๋าวนะ ยืนก็เป็นอยู่อย่างนั้น นั่งก็เป็นอยู่อย่างนั้น นอนก็เป็นอยู่อย่างนั้น ที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้นมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น มันเข้าใกล้พระ เข้าใกล้ธรรมะ มันเป็นอยู่อย่างนั้น

    อันนี้ผมว่ามันจะมีราคามากกว่าที่เราปฏิบัติมา เท่าที่ผมปฏิบัติมาตั้งแต่โน้นถึงขณะนี้ อาศัยอย่างนี้แหละ อาศัยตำราหรือก็ไม่ใช่ ไม่อาศัยตำราหรือก็ไม่ใช่ อาศัยครูบาอาจารย์จริงหรือก็ไม่ใช่ ไม่อาศัยครูบาอาจารย์จริงหรือก็ไม่ใช่ มันเป็นของก้ำกึ่งอยู่อย่างนี้ ถ้าพูดตามความจริงก็เรียกว่า ให้มันหมด คือทำให้มันหมด ทำให้มันเกิดขึ้นมา แล้วก็ทำให้มันหมดไป ทำให้มันมีสมมุติแล้วก็ให้มันมีวิมุตติ

    ผมเคยพูดให้พระฟังสั้นๆ แต่บางคนก็อาจจะสนใจ ถ้าหากว่าคนปฏิบัติอยู่ พิจารณาอยู่เรื่อยไป ตอนปลายถึงจะรู้จัก มันจะไปลงตรงนั้นแน่นอน ไม่ไปที่ไหน ผมเคยพูดว่า รีบเดินไป แล้วก็รีบกลับมา แล้วก็รีบหยุดอยู่ นี่เบื้องแรกมันเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วผลที่สุดจะเกิดความรู้สึกขึ้นในที่นั้นว่า เดินไปก็ไม่ใช่ กลับมาก็ไม่ใช่หยุดอยู่ก็ไม่ใช่ หมด มันหมดแล้ว อย่าไปหวังอะไรมากอีกแล้ว มันหมดแค่นั้นแหละ มันหมดแล้ว อย่าไปหวังอะไรมันมากอีกแล้ว มันหมดแค่นั่นแหละ มันสิ้นแล้ว ขีนาสาโว คือ สิ้นแล้ว ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องถอย ไม่ต้องหยุด หยุดก็ไม่มี เดินก็ไม่มี ถอยก็ไม่มี หมด อันนี้ให้เอาไปพิจารณาไว้ให้มันชัดในจิตของตนเอง ตรงนั้นมันจะไม่มีอะไรจริงๆ

    อันนี้มันก็ใหม่หรือเก่า มันก็เป็นกับผู้ที่มีปัญญา มีความฉลาด ผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่มีความฉลาดนั้นก็แก้ไม่ได้เหมือนกัน จะดูสภาพต้นไม้ก็ได้ ต้นมะม่วงก็ดี ต้นขนุนก็ดี ทุกต้น ถ้ามันเกิดแอบๆ กันอยู่นะ บางทีต้นหนึ่งมันโตกว่า ต้นเล็กมันน้อมหนีไปโน่น ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ใครไปบอกมัน นี่คือ ธรรมชาิติ ธรรมชาตินี้มันมีทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งผิดทั้งถูกนะ มันวนไปทางถูกก็ได้ วนไปทางผิดก็ได้ ต้นไม้ธรรมดาถ้าเราปลูกติด ๆ กัน แล้วก็ต้นหนึ่งมันโตก่อน ต้นที่มันโตทีหลังชอบแอบ ๆ ไปข้างนอก ทำไมมันเป็นอย่างงั้น ใครไปบอกมันไหม ใครไปแต่งมันไหม นั้นคือธรรมชาติ มันเป็นธรรมะ

    อย่างตัณหา คือความอยากนำเราไปสู่ทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราพิจารณาแล้วนะ มันจะโอนออกไปจากตัณหา มันพิจารณาตัณหา มันจะเขย่าตัณหานั้น ให้หมด ให้เบาให้บางไปเอง เหมือนกับธรรมชาติ ต้นไม้ต่าง ๆ นั่นแหละ ใครไปบอกมัน ใครไปสะกิดมันไหม มันก็พูดไม่ได้ มันก็ทำไม่ได้ แต่ว่ามันออกไปได้ ตรงนี้มันคับแคบ มันไม่เกิดอะไร มันก็โอนออกไปข้างนอก ดูอย่างนี้ก็เป็นธรรมะ ไม่ต้องไปดูอะไรมากมายหรอก ผู้ที่มีปัญญานะ เท่านี้ก็รู้จักว่ามันเป็นธรรมะ

    สัญชาติญาณของต้นไม้ มันไม่รู้จักอะไร แต่มันมีความรู้อยู่ในมันนั่นแหละ ทำให้วิ่งออกจากอันตรายได้ เลือกที่เหมาะสมของมันได้ ผู้มีปัญญาเราก็เหมือนกันนั่นแหละ เราบวชมาประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อหวังมันจะพ้นทุกข์ อะไรมันพาเราเป็นทุกข์ เราย่ำเข้าไปจะเห็นไหม สิ่งที่เราชอบใจ ไม่ชอบใจ นี่ก็เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ก็อย่าเข้าไปใกล้มันซิ จะไปรักมันหรือ จะไปเกลียดมันหรือ มันไม่แน่ทั้งนั้น เราก็แอบเข้าหาพระก็หมด อย่าลืมอันนี้ แล้วก็อดทนอย่างหนึ่งเท่านี้แหละดีมากที่สุด ถ้าคนมีปัญญาอย่างนี้ละมันดีมาก

    ความเป็นจริงตัวผมที่ได้ปฏิบัติมานี้นะ ไม่มีครูอาจารย์ขนาดพระทั้งหลายที่ผมสอนมาหรอก ไม่ค่อยมีหรอก บวชก็บวชอยู่วัดบ้านธรรมดา อยู่วัดบ้านนี่แหละ จิตมันคิดอยากจะทำ มันคิดอยากจะเป็น มันคิดอยากจะฝึก ไม่มีใครมาเทศน์ที่วัด ไม่มีใครหรอก ศรัทธามันเกิดในใจ ไปลองดู ไปพิจารณา เดินไปดู ไปหาดู หูมีก็ฟังไป ตามีก็ดูไป ทางหูได้ยินก็ว่า เออ มันไม่แน่ ทางตาเห็นก็ไม่แน่ จมูกได้กลิ่นมันก็บอกว่า อันนี้มันไม่แน่ ลิ้นมันได้รสมาเปรี้ยวหวานมันเค็ม ชอบไม่ชอบก็บอกว่าอันนี้มันก็ไม่แน่ โผฏรัฐพพะถูกต้องทางร่างกายมันสบายหรือเป็นทุกข์ ก็บอกว่าอันนี้มันก็ไม่แน่ นี่คือ เราได้อยู่ด้วยธรรมะ

    ตามเป็นจริงมันไม่แน่ แต่ตัณหาของเราว่ามันแน่ ทำยังไงล่ะต้องอดทน ตัวแม่บทของมัน ก็คือ ขันติ ความอดทน ทนมันไปเถอะแต่อย่าไปทิ้งพระนะ ที่เรียกว่ามันไม่แน่น่ะอย่าไปทิ้งนะ เดินไปในสถานที่ต่างๆ ในโบสถ์ในวิหารเก่า สถาปนิกเขาทำอย่างดี บางแห่งมันร้าว ก็มีเพื่อนพูดว่า “มันน่าเสียดายนะ มันร้าวหมดนะ” ผมเลยพูดว่า “ถ้าอย่างนี้นพระพุทธเจ้าก็ไม่มีซิ ธรรมะอันจริงก็ไม่มีสิ”

    ทั้งๆ ที่ตัวเราบางทีก็ยังนึกเสียดายอยู่ ที่มันร้าวอย่างนั้นนะ ก็ยังพูดให้มันเป็นประโยชน์แก่เพื่อนและแก่ตัวด้วย บางทีก็เสียดายเหมือนกันนะ แต่ก็ยังมักเข้าไปหาธรรมะ “ยังงั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่มีสิ ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นนะ” พูดแรงๆ เข้าไปให้เพื่อนได้ยิน หรือบางคนก็คงจะไม่ได้ยินหรอกไม่ได้ยิน เราก็ได้ยินของเรานั่นแหละ อันนี้มันเป็นประโยชน์ แล้วก็มีประโยชน์หลายๆ อย่างเช่นว่า เรานั่งอยู่เฉยๆ อย่างนี้ ถ้ามีเพื่อนบอก “หลวงพ่อ โยมคนนั้นว่าให้หลวงพ่ออย่างนั้นๆ พระองค์นั้นว่าให้หลวงพ่ออย่างนั้นๆ ” อย่างนี้เป็นต้น โอ๊ยมันสั่นขึ้นมานะ ได้ยินเขาว่ามันสั่นขึ้นมานี่ นี่คือ อารมณ์ เราก็ต้องรู้มันทุกระเบียดนิ้วแหละอารมณ์นะ พอมันรู้จัก บางทีมันก็ตั้งใจเหี้ยมโหดขึ้นมาในจิตของเรา แต่ก็บางทีเราไปสืบสวนเรื่องนั้นจริงๆ ก็เปล่า มันคนละเรื่องกันอีกแล้ว มันเลยไม่แน่ไปอีกแล้ว แล้วจะเชื่ออะไรมันทำไม เราจะเชื่อคนอื่นอะไรมากมายทำไม เราก็รู้ ก็ฟัง อดทน พิจารณา มันก็ไปตรงเท่านั้นแหละ

    ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็เขียนออก เขียนออก เขียนออกทั้งนั้น จนมันหมดคำพูดที่ปราศจากอนิจจัง คำพูดอันนั้นไม่ใช่คำพูดของนักปราชญ์ นี่จำไว้ ตัวเราเองถ้าไปทิ้งอนิจจังเสียก็ไม่ใช่นักปราชญ์เหมือนกัน ไม่ใช่นักปฏิบัติ ถ้าเห็นอารมณ์ ได้ยินอารมณ์ พบประสบอะไรมากมายขึ้นมา มันจะเป็นเหตุให้เพลินใจก็ตาม เป็นเหตุให้เศร้าใจก็ตาม ก็ว่า “อันนี้มันไม่แน่” ทำให้มันแรงๆ เข้าไปเถอะ จับมันตอนเดียวเท่านี้แหละ อย่าไปเอาอะไรมันมาก เอาอันเดียวนี่แหละ จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญ จุดตายด้วยนะนี่ . . . นี่คือจุดตาย นักปฏิบัติอย่าไปทิ้งมัน ถ้าทิ้งอันนี้หวังได้ว่ามีทุกข์ หวังได้ว่าผิดเป็นประมาณเทียว ถ้าไม่เอาอันนี้เป็นหลักปฏิบัติของตนแล้วเชื่อแน่ว่ามันผิด เพราะหลักนี้มันดีมาก นี่ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น ว่าธรรมะที่แท้จริง คือ พูดขึ้นในวันนี้มันก็เท่านี้ มันไม่มีอะไรมาก เห็นอะไรก็เห็นสักว่า รูป เทวนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สักว่ารูป สักว่าเวทนา สักว่าสังขาร สักว่าวิญญาณ มันเป็นของสักว่าเท่านั้นแหละ มันจะแน่นอนอะไรเล่า

    ถ้าเรามารู้เรื่องตามเป็นจริงเช่นนี้แล้ว มันก็คลายความกำหนัดคลายความรักใคร่ คลายความยึดมั่น คลายความถือมั่น ทำไมถึงคลายเพราะมันเข้าใจ เพราะมันรู้ มันเปลี่ยนออกจากอวิชชา มันก็เปลี่ยนออกมาจากนั้นแหละ ตัววิชานี้แหละ . . .มันคลอดออกจากอวิชา . . . มาเป็นตัววิชาขึ้น ตัวรู้นี่มันจะคลอดออกจากความไม่รู้ ตัวสะอาดนี่มันคลอดออกจากความสกปรก มันเป็นไปอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทิ้งอนิจจัง คือพระนี่ที่เรียกว่าพระพุทธองค์นั้นยังอยู่ ที่ว่าพระพุทธองค์ของเรานิพพานแล้วนะ อย่างหนึ่งก็ไม่ใช่ ถ้าเป็นส่วนลึกเข้าไปนะ พระพุทธเจ้ายังอยู่

    ก็เหมือนกันกับคำว่า ภิกขุ ถ้าแปลว่า ผู้ขอแล้ว มันก็กว้าง เอามาใช้ได้เหมือนกัน แต่ว่าใช้มากก็ผิดนะ คือมันขอเรื่อยๆ นี่ ถ้าเราพูดไปให้ซึ้งดีกว่านั้นอีกคือ ภิกขุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในสงสาร มันซึ้งไหมล่ะ. . .เอ้อ มันไม่ไปในรูปนั้นเสีย มันซึ้งกว่ากันอย่างนั้น การปฏิบัติธรรมะมันก็อย่างนั้น เข้าใจในธรรมะไม่ทั่วถึงมันก็เป็นอย่างหนึ่ง ธรรมะเข้าไปทั่วถึงมันก็เป็นอย่างหนึ่ง มันมีคุณค่ามากที่สุด

    อันนี้เราให้มันอิ่มอยู่ด้วยธรรมะ ถ้าเรามีสติอยู่เมื่อไร เราก็อยู่ใกล้ธรรมะเมื่อนั้น ถ้าเรามีสติอยู่เราก็เห็นอนิจจังของไม่เที่ยงอยู่ตราบนั้น เมื่อเราเห็นของไม่เที่ยงอยู่ตราบใด เราก็เห็นพระพุทธเจ้าตราบนั้น แล้วเราจะพ้นความทุกข์ในวัฎสงสารมิวันใดก็วันหนึ่ง ถ้าเราไปทิ้งคุณพระไปทิ้งพระพุทธเจ้าหรือไปทิ้งธรรมะอันนี้ มันก็เปล่าจากประโยชน์ที่เราทำอยู่ อย่างไรก็ต้องติดตามเรื่องการปฏิบัติของเราอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะทำงานอะไรอยู่ เราจะนั่งหรือจะนอนอยู่ ตาจะเห็นรูป หูจะฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส โผฏฐัพพะถูกต้องทางกายสารพัดอย่าง อย่าไปทิ้งพระ อย่าห่างจากพระ

    นี่ก็เรียกว่าผู้ที่เข้าถึงพระ ได้ไหว้พระอยู่ทุกเวลา ตอนเช้าเราก็ไปไหว้อะระหังสัมมาสัมพุทโธภควา ก็จริงอยู่ แต่ว่ามันจะไหว้ไม่มีความหมายถึงขนาดนี้ มันจะเหมือนกันกับคำว่าภิกขุนั่นแหละ แปลว่าผู้ขอ ก็ขอเรื่อยไปก็เพราะแปลอย่างนั้น ถ้าหากแปลอย่างดีที่สุด ภิกขุก็แปลว่า ผู้เห็นภัยในสงสาร อย่างนี้ก็เหมือนกัน อย่างแบบเราทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้า - ตอนเย็นไหว้พระอย่างนี้ มันก็จะเทียบได้ว่าภิกขุ ผู้ขอ ถ้าเราเข้าไปใกล้ชิดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ทุกเวลา เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสอยู่ มันจะเทียบกับศัพท์ที่ว่า ภิกขุผู้เห็นภัยในสงสาร คือมันซึ้งกว่ากันอย่างนี้ แล้วก็มันตัดหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง ถ้ามันเห็นธรรมะอันนี้แล้ว มันจะมีความรู้มีปัญญา ต่อไปเรื่อย

    อันนี้เรียกว่า ปฏิปทา ให้มีความรู้สึกอย่างนี้ในการประพฤติปฏิบัติของเรา มันจะมีความถูกต้องดีกว่า ถ้าคิดเช่นนี้พิจารณาเช่นนี้อยู่ในใจ ถึงแม้ว่ามันไกลจากครูบาอาจารย์ มันก็ยังใกล้ครูบาอาจารย์อยู่นั่นแหละ ถ้าหากว่าคนเราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์แต่ร่างกายของเรา แต่จิตใจมันไม่เข้าถึง มันอยู่ไปก็เพ่งโทษครูบาอาจารย์ สรรเสริญครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ทำถูกใจ . . .เราก็ว่าท่านดี ถ้าทำไม่ถูกใจเราก็ว่าไม่ดี ก็ไปปฏิบัติอยู่แค่นั้นแหละ ไม่เห็นมันได้อะไร ไปมองดูคนอื่นว่าคนนั้นดี คนนั้นไม่ดีอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่เห็นมันได้อะไรมากมาย ถ้าเราเข้าใจในธรรมะข้อนี้ เราจะเป็นพระขึ้นเดี๋ยวนี้แหละ

    มิฉะนั้นเหตุผลที่ว่า ผมห่างไกลจากลูกศิษย์ปีนี้ พรรษานี้ ทั้งพระเก่า พระใหม่ พระนวกะ ไม่ค่อยให้ความรู้ความเห็น ก็เพื่อให้พิจารณาเอาเองให้มันมากนั่นเอง พระใหม่ที่จะเข้ามา ผมบอกข้อกฎอยู่หมดแล้วว่า อย่าไปคุยกัน อย่าไปฝ่าฝืนข้อกติกาที่ทำไว้แล้วนั่นนะ คือ ทางมรรค-ผล-นิพพาน นั่นแหละ ถ้าใครไปฝ่าฝืนข้อกติกาอยู่มันก็ไม่ใช่พระ ไม่ใช่คนตั้งใจมาปฏิบัติเท่านั้นแหละ มันจะเห็นอะไร ถึงแม้จะนอนอยู่กับผมทุกคืนทุกวัน ก็ไม่เห็นหรอก จะนอนอยู่กับพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าหรอก ไม่ได้ปฏิบัติ เท่านี้แหละ

    ฉะนั้น การรู้ธรรมะ การเห็นธรรมะ มันอยู่ที่การปฏิบัติ ขอให้เรามีศรัทธาเถอะ เราต้องทำจิตของเราให้มันดี คนในวัดทั้งวัดนั้น ทำใจให้รู้สม่ำเสมอกันทุกคน เราจะไม่ต้องไปให้โทษใคร ไม่ต้องไปให้คุณใคร ไม่ต้องไปรังเกียจใคร ไม่ต้องไปรักใคร ถ้ามันเกิดโกรธเกิดเกลียดขึ้นให้มันมีอยู่ที่ใจ ให้มันดูถนัดเท่านั้นแหละ ให้ดูไปเท่านั้นแหละ ดูไปเถอะ ถ้าอะไรมันยังมีอยู่ในนี้ ก็เรียกว่านั้นแหละ ต้องขูดมันตรงนั้น เราจะไปพูดว่า “ตัดไม่ได้ ตัดไม่ได้” ถ้าเอาได้นั่นมาพูด มันก็เป็นนักเลงโตกันหมดเท่านั้นแหละ อาศัยที่ว่ามันตัดไม่ได้ ต้องพยายาม ตัดไม่ได้ต้องขูดมันสิ ขูดกิเลส . . . เกลากิเลสนั่นแหละ ขูดมันออกซิ . . .เหนียวแน่นนัก. . .นี่มันเป็นอย่างนั้นเสีย ไม่ใช่ว่ามันเป็นของได้ตามปรารถนา ตามใจของเรานะธรรมะ จิตมันเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงมันเป็นอย่างหนึ่ง ต้องระวังข้างหน้า ต้องระวังข้างหลัง ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่ามันไม่เที่ยง มันไม่แน่ ท่านย้ำเข้าไปอยู่เรื่อยๆ อย่างนี้

    ความจริงคือ ความไม่เที่ยงนี้ ความจริงที่มันสั้นๆ กว้างๆ ถูกๆ นี้ไม่ค่อยพิจารณากัน เห็นไปอย่างอื่นเสีย ดีก็อย่าไปติดดี ร้ายก็อย่าไปติดร้าย สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในโลก เราจะปฏิบัติเพื่อหนีจากโลกอันนี้ให้มันสิ้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้วาง ให้ละ ก็เพราะอันนี้มันประกอบให้ทุกข์เกิดขึ้นนั่นเอง ไม่ใช่อย่างอื่นหรอก

    credit: http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_cha/lp-cha_79.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...