แนวทางการเจริญสติของหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย nondanun, 16 มกราคม 2013.

  1. nondanun

    nondanun เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 ธันวาคม 2005
    โพสต์:
    5,980
    กระทู้เรื่องเด่น:
    13
    ค่าพลัง:
    +32,612
    [​IMG]

    แนวทางการเจริญสติ
    โดย หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ


    “ทางเอกของมนุษย์”

    เรามาเรียนหลักสูตรของมนุษย์ ด้วยการใช้กายและใจเป็นตำรา กล่าวคือ พยายามให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัวอยู่กับการใช้กายและใจ เข้าไปศึกษาดูให้รู้ให้เห็น โดยอาศัยวิธีการเจริญสติตามรูปแบบของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ คือ การยกมือสร้างจังหวะเคลื่อนไหวไปมาหรือการเดินจงกรม ทั้งนี้ ให้เจตนาเคลื่อนไหวเพื่อเห็นกายหยาบๆ ไปก่อน แล้วจึงจะเห็นใจหรือเห็นความคิดปรุงแต่งได้

    ถ้าจะเปรียบการเจริญสติเหมือนเด็กเรียนหนังสือ เมื่อครูเขียน ก. ไก่ ข. ไข่ ใส่กระดานอย่างชัดเจนแล้ว เด็กจะจำและเขียนได้ การเรียนรู้เรื่องกายและใจก็เช่นเดียวกัน ต้องฝึกให้มีสติเห็นกายเห็นใจชัดเจนก่อน แล้วเราจะทำได้ดี

    การยกมือสร้างจังหวะหรือการเดินจงกรมก็เพื่อให้มีสติรู้ชัดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ถ้าเห็นการเคลื่อนไหวชัด ก็เห็นใจชัด เราไม่ต้องไปหาดูใจ แต่อาศัยการดูผ่านการเคลื่อนไหวนี้ หาโอกาสที่จะดูกายอยู่เสมอๆ พยายามเจตนาดู (หมายถึงให้รับรู้ถึงความรู้สึกในขณะกายเคลื่อนไหว) เช่น ในขณะฝึกปฏิบัติด้วยการยกมือสร้างจังหวะหรือเดินจงกรม เป็นต้น วันหนึ่งอาจจะรู้หลายรู้

    ขณะที่มีความรู้สึกอยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย บางขณะอาจมีหลายเรื่องที่ทำให้เราหลง เช่น ความคิดที่ลักคิด (หมายถึง เราเข้าไปในความคิดปรุงแต่ง) ซึ่งมักเกิดขึ้นในขณะที่เราตั้งใจทำความเพียรด้วยการเจริญสติ เมื่อเกิดขึ้น ให้ถือว่าเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์สอนเรา ขอให้เรากลับมาตั้งต้นดูกายเคลื่อนไหวเสียใหม่ เพราะความหลงจะสอนเราไม่ให้หลง

    บางคนมีความสงบเป็นปกติ ก็ง่ายที่จะมีความรู้สึกตัวหรือมีสัมปชัญญะเกิดขึ้น การบำเพ็ญภาวนาจึงให้ความสำคัญกับการมีสติสัมปชัญญะ คือมีความรู้สึกระลึกได้อยู่เสมอๆ เพราะสติสัมปชัญญะจะสามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี เปลี่ยนผิดให้กลายเป็นถูกได้ ผู้มีสติสัมปชัญญะย่อมทำดี เพราะสติสัมปชัญญะเป็นที่เกิดของศีล สมาธิและปัญญา

    เราจึงมาหาวิธีที่จะเรียนรู้เรื่องจิตใจของเรา โดยอาศัยการดูกายดูใจ ถ้าเรามีสติดูกายดูใจให้ชำนาญ ให้รู้แจ้งเรื่องการเรื่องใจ จะทำให้รู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องศาสนา เข้าไปสัมผัสกับศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่ได้คิดเอาเอง แต่สัมผัสได้ นี่เป็นกฎของธรรมชาติ

    ดังนั้น ให้เราพยายามดูกายให้เห็นกายอยู่เสมอ ให้รู้เห็นด้วยใจสัมผัส เปรียบเหมือนกับเวลาครูสอนบนกระดาน เราต้องพยายามดูไปก่อน ตั้งใจดูให้ติดหูติดตา แต่ก่อนนี้ ก. ไก่ ก็อยู่ในกระดาน ข. ไข่ ก็อยู่ในกระดาน แต่เดี๋ยวนี้ ก. ไก่ กับ ข. ไข่ อยู่ที่ใจเราสัมผัสเพราะเราพยายามใส่ใจดู

    การมีสติดูกายดูใจ จึงเปรียบเหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้บันทึกข้อมูลไว้ การใส่ข้อมูลในจิตใจของเราโดยการฝึกดูบ่อยๆ ฝึกเห็นบ่อยๆ ก็จะมีการพัฒนาตนเอง ทำให้เห็นกายเห็นใจตามเป็นจริง เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องกายเรื่องใจของเราจนจบหลักสูตรของมนุษย์ นี้เรียกว่าการเห็นแจ้ง

    การเห็นแจ้งเปรียบเหมือนกับการเปิดเราออกจากความมืด เราจึงเห็นจิตใจของตนเอง และไม่เป็นไปกับอาการต่างๆ (หมายถึง ไม่เกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นในจิตใจของเรา) เห็นรูปธรรม นามธรรม ว่าเป็นอย่างไร ธรรมชาติของรูปว่าเป็นอย่างไร ธรรมชาติของนามว่าเป็นอย่างไร อาการของรูปมีอะไรบ้าง อาการของนามมีอะไรบ้าง (หมายถึง เห็นอาการที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ เช่น ความร้อน ความหิว ความหนาว ความดีใจ ความเสียใจ เป็นต้น)

    ถ้าเราไม่เห็นแจ้ง เราจะยอมสยบต่อรูป ต่อนาม ต่ออาการของรูป ต่ออาการของนาม ทำให้เราตกอยู่ใต้อำนาจของความคิดปรุงแต่ง

    ต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะ เราจึงหลุดพ้นจากอำนาจความคิดปรุงแต่ง คล้ายกับว่าเราสามารถคิดโจทย์เลขได้ถูก ไม่มีอะไรที่ข้องติดเหมือนแต่ก่อน การเรียนรู้เรื่องการเรื่องใจ จึงเปรียบเหมือนเราเรียนจบหลักสูตรชั้นประถมอย่างสมบูรณ์

    แต่ก่อนเราเข้าไปเป็นกับอาการของรูปหรือกาย เช่น เมื่อรู้สึกร้อนเราก็เป็นผู้ร้อน เมื่อรู้สึกหนาวเราก็เป็นผู้หนาว เมื่อรู้สึกหิวเราก็เป็นผู้หิว เมื่อรู้สึกเจ็บเราก็เป็นผู้เจ็บ เป็นต้น เราเป็น “ผู้เป็น” ไปกับอาการเหล่านั้นทั้งหมด เรียกว่า เราจำนนต่ออาการต่างๆ และปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเป็นใหญ่ ต่อเมื่อมีสติสัมปชัญญะ สิ่งเหล่านั้นเป็นใหญ่ไม่ได้อีก เพราะเราเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงอาการของรูป อาการของนาม เช่น ความโกรธเป็นอาการ มันไม่เที่ยง มันไม่มีตัวตนอะไร การเห็นเช่นนี้จึงเปรียบเหมือนกับเกิดตาวิเศษขึ้นมารับรู้เกี่ยวกับอาการของรูป เกี่ยวกับอาการของนาม

    “ตาวิเศษ” คือ การมีสติสัมปชัญญะเห็นรูปธรรมนามธรรมตกอยู่ในสภาพไตรลักษณ์ เราจึงสามารถละวางรูปและนามได้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับไม่มีขยะทิ้งไว้เกลื่อนกลาดรกรุงรังเหมือนแต่ก่อน อะไรที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับรูปกับนาม อาการของรูป อาการของนาม เราทิ้งลงในพระไตรลักษณ์ทั้งหมด แต่ก่อนมีแต่ขยะซึ่งเป็นภาระแก่เราเต็มไปหมด เช่น มีรอยทุกข์ รอยโกรธ รอยโลภ รอยหลง รอยรัก รอยชัง รอยร้อน รอยหนาว เป็นต้น แต่บัดนี้เราไม่มีขยะเหล่านั้นอีกต่อไป

    การเห็นความไม่เที่ยง หรือ เห็นไตรลักษณ์ ถือว่าเป็นบุญ บุญในที่นี้คือ ภาวะที่เห็นอาการของรูป อาการของนาม และสามารถใช้รูปนามในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง

    บาป คือ การไม่รู้เกี่ยวกับอาการของรูป อาการของนาม จึงเปรียบเหมือนความมืด ถ้าเป็นคนก็ถือว่าเป็นคนเถื่อน กายของเราก็เถื่อน ใจของเราก็เถื่อน เพราะเราปล่อยให้ความคิดปรุงแต่งมีอำนาจ ทำให้เรายึดความโกรธ ความโลภ ความหลง บางครั้งปล่อยให้ความโกรธอยู่กับเราข้ามในข้ามคืน

    ต่อเมื่อเรารู้แจ้งเห็นแจ้งเรื่องกายเรื่องใจเช่นนั้น (เกิดวิปัสสนาญาณ) เราก็เป็นคนไม่เถื่อน เป็นคนมีคุณภาพ

    ศาสนาเป็นเรื่องของคนโดยเฉพาะ เพราะเกี่ยวข้องกับกายและใจ ซึ่งมีอยู่ในเราทั้งหมด เรื่องบุญ เรื่องบาป ก็มีอยู่ในการกระทำของเรา

    เมื่อปฏิบัติถึงภาวะนี้ รูปกับนาม หรือกายกับใจจะมีความเป็นธรรมต่อกัน แต่ก่อนรูปกับนามเบียดเบียนกันตลอดเวลา เช่น เมื่อรู้สึกว่าร้อนหรือหนาวเกิดขึ้นที่กาย ใจก็เป็นทุกข์ ความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ กายก็เป็นทุกข์ ต่างเบียดเบียนกันและกันตลอดเวลา แต่บัดนี้เราเห็นรูปกับนามเกี่ยงข้องอย่างเป็นธรรมต่อกัน เพราะมีสติสัมปชัญญะเข้าไปดู ดังนั้น เมือมีสติสัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัวเกิดขึ้นที่ใด ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นที่นั่น

    เมื่อรู้ถึงจุดนี้ เราก็ได้หลักในการปฏิบัติ จึงก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เปรียบเหมือนกับเราเรียนหนังสือจบประถมด้วยระดับคะแนนที่ดี จึงมีโอกาสที่จะเรียนต่อชั้นมัธยมได้ การได้หลัก หมายถึง เรามีความคล่องตัวในการดูความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้น จึงทำให้เห็นความคิดปรุงแต่ง เมื่อเกิดภาวะที่เห็น ก็ทำให้เราไม่เป็นไปกับความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้น

    “การเห็น” ที่เป็นหลักสำคัญ เพราะสามารถถลุงและย่อยกิเลสออกทั้งหมด เปรียบเหมือนกับเราเรียนหนังสือเก่ง จึงอ่านออกและเข้าใจความหมายได้

    ภาวะที่เราดูไปๆ เรื่อยๆ นี้จะไปเห็นเรื่องสมมติ เห็นเรื่องทุกข์ ภาวะที่ดูทำให้เกิดความคล่องตัว คล้ายกับว่าเป็นเครื่องมืออย่างดี ทำให้ผ่านทางชีวิตได้ตลอดและไม่พบทางตัน

    การไม่เห็นทุกข์หรือความทุกข์ที่เกี่ยวกับรูปและนาม ทำให้เรายึดรูปทุกข์ นามทุกข์เป็นภารไปหมด ครั้นเมื่อเราเห็นแจ้ง ทุกข์บางอย่างหลุดทันที เพราะเราเห็นโลกนี้เต็มไปด้วยสมมติ เป็นรูปธรรมก็มี เป็นนามธรรมก็มี แม้ภาษาคำพูดอะไรต่างๆ ก็เป็นสมมติ เต็มไปทั้งโลก เรียกว่า สมมติบัญญัติ

    แต่ก่อนนี้หลวงพ่อเรียนไสยศาสตร์ คาถาอาคมมากมาย นั่งบริกรรมทั้งคืน เวลาทำน้ำมนต์ก็มีคาถา เข้าป่าก็มีคาถา นุ่งผ้าก็มีคาถา กินข้าวก็มีคาถา ออกจากบ้านจากเรือนก็มีคาถา จับวัวจับควายก็มีคาถาทั้งหมด เหมือนคนบ้าหอบฟาง หากได้ความสุขก็เป็นความสุขเล็กน้อย. เปรียบเหมือนกับเป็นพ่อค้าบรรทุกนุ่น บรรทุกปอไปขาย ได้เงินเล็กน้อย ถ้าจะเป็นบุญก็เป็นบุญเล็กน้อย ไม่เป็นบุญถาวร บัดนี้ หลวงพ่อไม่เป็นพ่อค้าขายนุ่น ขายปออีกต่อไป แต่เป็นพ่อค้าขายเพชรขายได้เงินมาก

    การเห็นสมมติ ทำให้สามารถรื้อถอนคาถาออกหมดสิ้น เช่น คาถาพุทธคุณ ๑๐๘ ความเชื่อในพิธีกรรมต่างๆ คาถาอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งต้องบริกรรมจนรู้สึกว่าตัวใหญ่ ตัวหนา หนังหนา และมองเห็นมีดปลิวเหมือนใบหญ้า เหล่านี้หลวงพ่อได้รื้อถอนออกหมดสิ้น จึงเกิดความเบากาย ความเบาใจ รู้แจ้งในเรื่องสมมติ ใครทำอะไรก็รู้ ใครทำผิดทำถูกก็รู้

    ขณะที่ “ตกแหล่งของความรู้” คือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เต็มไปด้วยวัตถุ ปรมัตถ์ อาการต่างๆ เห็นว่าทุกอย่างมีเหตุ มีปัจจัยต่อกัน เช่น เห็นว่าบางทีอารมณ์ ก็บัญญัติว่าดี ว่าไม่ดี ว่าชอบ ว่าไม่ชอบ คนธรรมดาก็บัญญัติว่ารัก ว่าชัง ว่าชอบ ว่าไม่ชอบ ว่าสวย ว่างาม ว่าคนนั้นดี ว่าคนนี้ไม่ดี ทั้งที่เป็นเรื่องปกติธรรมดา ทำให้ไม่เป็นอิสระในการเห็น นี้เรียกว่า รู้สมมติ รู้บัญญัติ รู้ปรมัตถ์ เมื่อมารู้สมมติ รู้บัญญัติ รู้ปรมัตถ์ จิตก็เป็นอิสระ เพราะเกิดภาวะการเห็นแจ้ง

    การตกแหล่งของความรู้เช่นนี้ จะรู้ในทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว กล่าวคือ เดินก็รู้ นั่งก็รู้ เห็นก็รู้ ได้ยินก็รู้ เรียกว่าเกิดปัญญาญาณ นำเราให้หลุดออกจากปัญหาต่างๆ การเห็นแจ้งจึงสนับสนุนให้เราเลื่อนระดับไปเรื่อยๆ ไปรู้เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา ได้สัมผัสกับบุญจริงๆ ไม่ใช่คิดเอาเองเหมือนเมื่อก่อน

    ใจที่สัมผัสกับบุญจริงๆ แล้วรับรองว่าไม่ตกนรก ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย เพราะรู้จักถูก รู้ผิด การสัมผัสกับบุญจึงเป็นประโยชน์ การสัมผัสกับบาปก็ทำให้เรารู้จักละบาป เปรียบเหมือนกับเราเคยเหยียบหนาม แต่เมื่อเราเห็นหนาม เราจึงไม่เหยียบหนามเช่นแต่ก่อน ดังนั้น การสัมผัสกับบุญจริงๆ จึงเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น

    ถ้าอยู่กับศีล สัมผัสกับศีลแล้ว จะมีความปกติกายปกติใจ คือ กายก็เป็นปกติ ใจก็เป็นระเบียบ ใจไม่ฟูไม่แฟบ ไม่พยศ ภาวะความปกติของกายและใจก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เกิดปัญญาคือความรู้ที่จะปลดปล่อยให้จิตบริสุทธิ์อยู่เสมอ การรู้เหตุ รู้ปัจจัย ทำให้ไม่โง่ ไม่หลง ไม่ติดอะไร และสามารถสัมผัสกับศีล กับสมาธิ กับปัญญา นี้เรียกว่า เป็นศีลสิกขา เป็นศีลที่เกิดจากมรรค

    ภาวะที่ดู ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นนี้ คือ ทางพ้นทุกข์แท้ๆ ภาวะที่ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นเช่นนี้ ถ้าดูอยู่เรื่อยๆ จิตก็จะบริสุทธิ์ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์

    การสัมผัสกับศีล คือ สัมผัสอย่างนี้ อยู่กับสภาวะอย่างนี้สม่ำเสมอ เป็นศีลสิกขา เป็นศีลที่ถลุงและย่อยกิเลสออก จึงสามารถละความชั่ว ทำความดี ทำให้จิตบริสุทธิ์ ศีลสิกขาเป็นศีลที่มีอานิสงส์จริงๆ ไม่ใช่ศีลสมาทาน ไม่ใช่ศีลสามัญลักษณะ การดำเนินชีวิตในขณะนี้จึงพบศีล เป็นคนมีศีลจริงๆ ทำให้กายปกติ วาจาปกติ ใจปกติ

    ขณะนี้ เราได้ผ่านพ้นมาเป็นมนุษย์ได้จริงๆ ปิดประตูนรก ปิดประตูอบายภูมิได้จริงๆ เพราะเรารู้เรื่องของมรรค รู้เรื่องของศีล รู้เรื่องของสมาธิ รู้เรื่องของปัญญา โดยการสัมผัส ไม่ใช่จำเอา ไม่ใช่ “คิดรู้” (หมายถึงรู้ด้วยการคิดเอาเอง) แต่ “พบเห็น” เป็นการสัมผัสกับศีล สัมผัสกับสมาธิ สัมผัสกับปัญญา สัมผัสกับอริยมรรค และสัมผัสกับพรหมจรรย์คือความบริสุทธิ์

    แต่ก่อนนี้ความคิดปรุงแต่งครอบครองเราหมด เช่น ทำให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน ความคิดฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย เป็นต้น เมื่อมีความรู้สึกตัว เราจึงสามารถเอาชนะความคิดปรุงแต่งได้และไม่มีสภาพอย่างนั้นอีกต่อไป เปรียบเหมือนกับเราเดินทางบนทางเอก เมื่อเราได้ผ่านบ้านนั้นเมืองนี้ไปเรื่อยๆ ไปถึงถิ่นไหน ผ่านพ้นมาอย่างไร เราจะรู้เห็นและสัมผัสได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีใครบอก

    ต่อมาจึงมารู้ มาเห็น มาสัมผัสเรื่องเทวดา เทวดา คือ คนที่ละอายต่อความชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว แต่ก่อนหลวงพ่อเข้าใจว่าเทวดาอยู่บนฟ้าอยู่บนก้อนเมฆ คิดไปว่าเป็นเมืองบนสวรรค์ นั่นก็ถูกอยู่ เทวดาตามความชั่วนั้น ไม่ใช่เทวดาที่จะช่วยเราได้ แต่เทวดาที่เกิดอยู่กับเรานั้น คือ มีความละอายต่อความชั่ว ไม่กล้าคิดชั่ว ไม่กล้าพูดชั่ว ไม่กล้าทำชั่ว แม้แต่คิดก็ไม่กล้า นี่คือ เทวธรรม เทวดาลักษณะนี้จะช่วยเรา รักษาเรา คุ้มครองเรา เราไม่ต้องไปกราบไหว้ ไม่ต้องไปขอร้องเทวดาที่ไหน เพราะเทวดาอยู่ในตัวเรา

    ความรู้เช่นนี้ไม่เคยคิดไม่เคยรู้มาก่อน จึงคิดอยากให้คนมารู้ อยากให้คนมาศึกษา อยากให้คนมาปฏิบัติ วันหนึ่ง ขณะหลวงพ่อเดินจงกรม ก็คิดไปว่าคนนั้นคงไม่รู้ คนนี้คงไม่รู้ คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงพี่น้อง อยากให้มาเดินจงกรม อยากให้มานั่งสร้างความรู้สึกตัว คิดแบบเมตตากรุณาอยากช่วยเหลือ


    การเข้าสู่ทางเอกจะนำเราผ่านจากความเป็นคน เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นมาร มาเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง เป็นผู้มีศีล ดำเนินชีวิตตามองค์มรรค ละความชั่ว ทำความดี มีจิตใจเป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม รู้บุญ รู้บาป เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทางเอกจึงนำเรามาพบเห็นมาเข้าใจอย่างนี้

    ศาสนามีอยู่ในจิตใจคนเรานี่เอง ถ้าคนคนนั้นละการทำชั่ว กระทำแต่ความดี และมีศีลบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังคิดชั่วอยู่ ก็ถือว่าไม่เข้าถึงพุทธศาสนา แม้จะกล่าวบทสวดว่า พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ศาสนาสอนให้คนไม่ทุกข์ สอนให้คนทำดี ไม่เป็นทุกข์ ถ้ายังมีทุกข์อยู่ไม่ได้ชื่อว่าเข้าถึงศาสนา ชีวิตก็อาจหมองไป อาจไหลเทไปในทางต่ำ

    เมื่อเราเข้าถึงศาสนา คือ เราละการทำความชั่ว กระทำความดี ก็เปรียบเหมือนกับคนทำกิจกรรมบางอย่างจนเป็นอาชีพ จึงมีความมั่นคง สามารถยึดอาชีพนั้นเป็นที่อาศัย มีอยู่มีกิน นี่เราได้สัมผัสอย่างนี้

    ภาวะที่ดู ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นนี้ เป็นการกระทำที่ย่อที่สุด เปรียบเหมือนว่าธรรมอยู่ในกำมือเดียวแท้ๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก

    แต่ก่อนหลวงพ่อพะรุงพะรัง ยึดพิธีรีตอง ยึดถือความดีจากคนอื่น เชื่อถือพิธีกรรมต่างๆ มีความกลัง แม้กระทั่งความคิดของตนเอง เช่น คิดขึ้นมาแล้วเกิดความสงสัย คิดขึ้นมาแล้วกลัว คิดขึ้นมาแล้วก็รัก คิดขึ้นมาแล้วก็ชัง เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น หลวงพ่อจึงไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะตั้งใจ “ดู” อย่างเดียว คล้ายกับว่า ชีวิตเป็นอย่างนั้น

    ฉะนั้น ถ้าใครได้ศึกษาปฏิบัติ จนเข้าถึงภาวะที่ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นได้แล้ว จะเป็นจุดที่พร้อม เป็นจุดรวม เป็นจุดเพชรแห่งธรรม เพราะสามารถถลุงสังโยชน์ได้ (กิเลสหรือความคิดปรุงแต่งที่ละเอียดขึ้น)

    การเห็นรูปนาม เห็นทุกข์ เห็นสมมติ เห็นจิตที่คิดปรุงแต่ง จะค่อยๆลบเลือนตัวกู (ความรู้สึกเป็นตัวตน) จิตใจค่อยๆ เปลี่ยนเป็นมนุษย์ คือ มีศีลเป็นที่พึ่ง ปิดนรก ปิดอบายภูมิ ละการทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ได้จริงๆ ประตูแห่งพระสัจธรรมก็เปิด จิตใจก็เป็นอิสระเพราะทำลายตัวกูลงได้ ละสักกายทิฐิ (ความเป็นตัวกูของกู) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) สีลัพพตปรามาส (ความยึดถือในพิธีรีตอง)

    ถึงจุดนี้จิตมันเปลึ่ยนมาเห็นมาเข้าใจ แต่ก่อนนี้คล้ายกับว่าตัวกูมันหลบซ่อนอยู่ที่ประตู บัดนี้ ตัวกูเหมือนกับเฝ้าดูอยู่ที่ประตู พอตัวกูจะออกมา มันกูจะเอ๋ ตัวกูล้มละลายไป เพราะมันทนต่อการพิสูจน์ไม่ได้ ถ้าจะเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่มีผล พอเขย่าเล็กน้อย บางผลก็หล่น

    ดังนั้น ความโลภ โกรธ หลง สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ที่เป็นสัญชาติญาณลึกๆ และเป็นอาการต่างๆ ทีเกิดขึ้นจากรูปนาม ได้หล่นหลุดหายไป

    ภาวะที่จิตใจเปลี่ยนเป็นพระ คือ มีใจที่ประเสริฐสามารถทำลายตัวกูลงได้ เมื่อสัมผัสกับภาวะนี้ ตัวกูก็หลุดไป หมดไป เหมือนกับว่า กุศลกับอกุศลหรือความสกปรกกับความสะอาดได้แยกออกจากกัน

    ความเป็นพระคือมีใจที่ประเสริฐอย่างนี้ จิตใจจะเปลี่ยนมาอย่างนี้ ไม่ใช่เปลี่ยนเครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช่เปลี่ยนแต่คำพูด ไม่ใช่การบวชแบบเอสาหัง และแบบอุกาสะ นั้นเป็นพิธีกรรม เป็นสมมติบัญญัติ เป็นพระสงฆ์โดยสมมติ แต่ถ้าเป็นพระอริยสงฆ์ คือ มันไกลจากความทุกข์ มันไกลจากกิเลส

    ความทุกข์และกิเลสคือข้าศึกของชีวิต ตัวกูที่มีอุปาทานเป็นข้าศึกของชีวิต เพราะถ้ามีตัวกูทีไร ก็เปรียบเหมือนมีรอยแผล รอยแพ้ รอยชนะ รอยสุข รอยทุกข์ รอยได้ รอยเสีย เมื่อละตัวกูลงได้ ก็เปรียบเหมือนรถยนต์ที่ชำรุดแล้ว ได้รับการซ่อมแซมให้กลับสู่ภาวะปกติ กายใจก็เช่นเดียวกัน

    เส้นทางธรรมก็นำเรามาถึงจุดนี้ เป็นเส้นทางกันประเสริฐ เป็นหมายเลขหนึ่ง เป็นทางเอกของชีวิต เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ก็สัมผัสกับความเป็นพระ จิตใจที่เปลี่ยนมาอย่างนี้ เป็นเพชรทางธรรม เป็นประตูแห่งสัจธรรม อย่างบทสวดที่เราสวดว่า “สทฺธมฺมโช สุปฏิปตฺติคุณาทิยุตฺโต, พระสงฆ์ที่เกิดโดยพระสืธรรม ประกอบด้วยคุณมีการปฏิบัติดีเป็นต้น” ที่เกิดโดยพระสัทธรรมอยู่ตรงนี้พระอริยสงฆ์เกิดตรงนี้ เกิดจากการเจริญสติจนเข้าถึงภาวะที่ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็นนี้เอง

    ภาวะที่ดูนี่เป็นมรรค เป็นพรหมจรรย์ ถ้าเปรียบกับทางก็เป็นทางด่วนที่ราบเรียบ กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) ปฏิฆะ (ความหงุดหงิดขัดเคือง) มานะ (ความถือตัว) ทิฐิ (การยึดถือความคิดเห็นว่าเป็นจริง) ที่เคยมีเคยเป็น ก็ได้เหี่ยวแห้งไป เปรียบคล้ายผลไม้ที่แห้งติดคาต้น เกิดความบริสุทธิ์ เป็นศีลอันยิ่ง เป็นสมาธิอันยิ่ง เป็นปัญญาอันยิ่ง เป็นศีลขันธ์ เป็นสมาธิขันธ์ เป็นปัญญาขันธ์ มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ เหมือนกับแต่ก่อนเราขับรถอยู่บนเส้นทางที่มีหลุมขรุขระ กระต้วมกระเตี้ยมอยู่ แต่พอเป็นเส้นทางราบเรียบ มันวิ่งได้คล่องไม่ติด วิ่งผ่านได้ตลอด

    ภาวะที่ดู ดูแล้วเห็น เห็นแล้วไม่เป็นนี้ จึงเกิดเป็นความชำนาญ เป็นศิลปะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การทำสิ่งใด ถ้ามีศิลปะก็ทำได้ยอดเยี่ยม เหมือนกับเป็นนักเขียนที่ใช้ปกกาด้ามเดียว พู่กันด้ามเดียว ก็สามารถวาดรูปภูเขาได้คล่องและชำนาญ มันเป็นเรื่องที่วิเศษขึ้นเรื่อยๆ

    ที่กล่าวมานี้ก็พยายามสมมติมาเปรียบเทียบสัจธรรมบางอย่างหาคำพูดไม่ได้ ต้องนำสมมติมาเปรียบเทียบให้ฟัง มันเป็นอย่างนั้น

    เมื่อเกิดภาวะที่เป็นศีลอย่างยิ่ง สมาธิอย่างยิ่ง ปัญญาอย่างยิ่ง พรหมจรรย์อย่างยิ่ง บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ก็จะละสิ่งที่เคยข้องแวะต่างๆ ในกายในใจ (เช่น เคยถือว่า มีตัวตนอยู่ในเวทนาเป็นต้น) มันเปลี่ยนไปเป็นคนละมุม ผ่านอะไร สัมผัสอะไรมา ก็รู้เอง เห็นเองจริงๆ เหมือนกับเราทำอะไรสำเร็จ มันบอก มันตรึกตรองในธรรมที่รู้ที่เห็น ที่หลุดมาว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร มันพลัดเข้าไปคล้ายกับว่าเกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข มันพลัดลงๆ เหมือนกับน้ำที่มันดูดเราลงไปลึกๆ เทไปสู่ทะเลที่ลึกๆ พัดพาไปไม่ต้องออกแรง เหมือนคนมีกำลัง ยกอะไรที่มันหนัก สามารถยกขึ้นได้ทันที เป็นมรรคเป็นผล เหมือนกับเข้าสู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล มันเรียบ มันประณีต มันทำลายตัวกูลงได้ ทำให้กิเลสเหี่ยวแห้งไป

    ภาวะขณะนี้จะไม่เกิดสัญญา ไม่หลงภพหลงชาติ จะคิดหาก็ยาก รู้สึกคล้ายๆ อย่างนั้น จะหวนคิดให้เป็นอย่างอื่นก็รู้สึกขนหัวลุก ใจมันไม่เป็น กายก็ไม่เป็นด้วย กิเลสมันหดตัว มันคิดอย่างนั้นไม่ได้แล้ว หาสัญญาเก่าไม่ได้แล้ว คล้ายกับเป็นชาติใหม่ เป็นภพใหม่

    พอมาถึงจุดนี้คล้ายกับว่าตัวกูได้สูญไป มันหมดเนื้อหมดตัว มันถูกเผาด้วยญาณ เหมือนการหดตัวการสิ้นสัญญาทั้งหลาย จิตเป็นอิสระ

    ถึงภาวะนี้ คล้ายกับว่าเกิดสภาวะที่มันขาดหลุดออกไป ดูเลือนๆลางๆ เหมือนกับขันธ์ ๕ ที่เคยมีอุปาทานที่เคยเป็นเชื้อ เคยชุ่มอยู่ คราวนี้มันไม่ได้อาหารจึงเหือดแห้ง จึงขาดออกจากกัน แต่ก่อนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำงานร่วมกัน แต่ว่าทำคนละหน้าที่ บัดนี้มันเหือดแห้ง ทุกสิ่งทุกอย่างหดตัว เหมือนกับว่ามันหลุดออกจากกัน บางทีเรายังหลงเอามาต่อกัน แม้จะมาต่อกันมันก็ไม่ติด เป็นกิริยาอาการล้วนๆ การพูดอะไร การคิดอะไร เป็นกิริยาอาการล้วนๆ ชีวิตมันจบการปรุงแต่ง จบสิ้นตัณหาอุปาทาน เมื่อถึงภาวะนี้เราจะรู้ว่า มรรค ผล นิพพาน มีจริง ความไม่เกิด ความไม่แก่ ความไม่เจ็บ ความไม่ตายมีจริงๆ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านก็รู้เรื่องนี้อยู่ตรงนี้ พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระอริยสงฆ์มีจริง มรรค ผล นิพพาน มีจริง เราสามารถที่กระทำให้หลุดพ้นได้ในชีวิตนี้จริงๆ

    การสอนให้คนมารู้เรื่องนี้ ถือว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ ถ้าสอนให้ทุกคนมาถึงจัดหมายปลายทางอันนี้ จะดีกว่าไปสอนให้คนทำบุญตักบาตร สร้างวัด เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้สิ้นทุกข์ สิ้นภพ สิ้นชาติ เป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุด ถ้าทำอย่างนี้ เกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ก็ให้ช่วยกันสนับสนุนการสอนเรื่องนี้ ถ้าไม่มีคนพูดไม่มีคนฟังเรื่องนี้ ธรรมะก็จะสูญหายไปหมด

    การพูดสัจธรรมนี้หลวงพ่อขอถือเป็นอาชีพ เมื่อถือสัจธรรมเป็นอาชีพ ก็ต้องพูด ถ้าไม่มีใครพูด ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครปฏิบัติให้ดู สัจธรรมก็หมด หากท่านสนใจศึกษาและปฏิบัติ หลวงพ่อพอจัดหาสถานที่ กุฏิ ศาลา เพื่อให้ท่านได้ใช้ฝึกฝนอบรมได้ทดลองปฏิบัติ พอเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยตามฐานะ มีอาหารและสัปปายะพร้อม

    แต่ก่อนนี้ ที่อยู่ของหลวงพ่อเป็นที่อยู่ในชนบทไกลจากความเจริญ เวลามีคนมาปฏิบัติมากๆ ก็มีปัญหา บางทีก็ขาดแคลน ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สะดวก ขณะนี้พอมีสถานที่แล้ว ถ้าท่านสนใจหลวงพ่อจะเป็นภาระให้ จะเป็นมิตรกับท่านตามฐานะ ตามอัตภาพ สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน ท่านอย่าไปทุกข์อยู่คนเดียว คิดว่าหลวงพ่อจะไม่พาท่านหลงทิศหลงทาง พอพบทางมาบ้าง เห็นทุกข์จึงพบทุกข์บ้าง เห็นผิดจึงพ้นจากผิดบ้าง พบทางจึงไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ไม่ว่าท่านจะเป็นนักบวช เป็นพระสงฆ์ หลวงพ่อมีสถานที่อยู่เตรียมไว้รับท่าน ถ้าท่านมีทุกข์ก็อย่าพึงตัดสินใจทำอย่างอื่น หลวงพ่อพบทางออกแท้ๆ เป็นทางหมายเลขหนึ่ง

    ขอให้พิจารณาดู อย่าพึงไปคิดหาเหตึ อย่าพึงไปขัดแย้ง ไปศรัทธา ไปรังเกียจอะไร ให้ถือว่า ที่กล่าวมาเป็นเสียงเสียงหนึ่ง เมื่อรับทราบแล้วอาจเลือนลบหายไปก็ได้ แต่ถ้าสนใจก็ลองมาปฏิบัติดู ถ้าอ่านแล้วเกิดศรัทธาเลยก็ไม่ถูกให้ลองปฏิบัติดูก่อน ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดผล จึงค่อยเชื่อ ถ้าปฏิบัติแล้วไม่เกิดผล จึงค่อยหาวิธีใหม่

    เรื่องของกรรมฐานนั้น ต้องทดลองปฏิบัติดู เมื่อสัมผัสด้วยตนเองแล้ว การกระทำจะจำแนกไปเอง หรือลิขิตการดำเนินชีวิตไปเอง ไม่ใช่การคิดเอา ไม่ใช่การจำเอา ต้องมีการกระทำและมีการสัมผัสด้วยตนเอง

    การมีความรู้สึกตัวนี้เป็นการเจริญสติปัฏฐานสี่ ถ้าใครพลิกมือขึ้นรู้ตัว เคลื่อนไหวไปมามีความรู้สึกตัวก็ใช้ได้แล้ว เพราะความรู้สึกตัวเป็นหน่อโพธิ คือ ทำให้เกิดสติปัญญา ความรู้สึกตัวนี่ต้องตั้งต้นจากจุดนี้ (การสร้างความรู้สึกตัวขณะกายเคลื่อนไหว) นี่คือทางเอกแท้ๆ เรียกว่า เอกมคฺโควสุทฺธิยา เป็นที่เกิดของสติปัฏฐานสี่ พุทธะเกิดขึ้นจากการสร้างความรู้สึกตัวให้มาก ต้องสร้างเอาเอง และปฏิบัติเอาเอง

    วิธีการเจริญสติตามรูปแบบที่หลวงพ่อเทียน ท่านสอนนั้น ทันสมัยและทันเวลาจริงๆ ยิ่งขยันสร้างเท่าไรก็ยิ่งรู้เห็นและเข้าใจชีวิตของเราได้มากขึ้นเรื่อยๆ

    ความรู้สึกตัวมีอยู่กับเราทุกชีวิต ตราบใดที่เรามีกายมีใจ การมีความรู้สึกตัวเป็นมนุษย์สมบัติของเราทุกชีวิตไม่ยกเว้นใครที่ไหน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในประเทศใด เชื้อชาติใด ภาษาใด ขอให้ท่านมีความรู้สึกตัว แค่ยกมือขึ้นรู้สึกตัวก็ใช้ได้แล้ว





    คัดลอกมาจาก :: ::
    http://www.geocities.com/suwannothera/biography.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...