เหนือความเชื่อ พระสุเมธาจารย์ (สุเมโธภิกขุ)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ฉลาดน้อย, 14 มีนาคม 2013.

  1. ฉลาดน้อย

    ฉลาดน้อย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +1,721
    เหนือความเชื่อ (Beyond Belief)

    พระสุเมธาจารย์ (สุเมโธภิกขุ)

    วัดอมราวดี กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ


    เมื่อพูดถึงขันธ์ห้า คือรูปเวทนาสัญญาสังขาร วิญญาณ และมีความ เชื่ออย่างไม่มีปัญหาใด ๆ เลยว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “ตัวเรา” ก็จะมีความรู้สึก ว่าจิตนั้นอยู่ในกาย อย่างนั้นไม่ใช่หรือ ? คนทั่วไปเมื่อถามว่า “จิตของท่านอยู่ไหน ?” เขาจะชี้ไปที่ศีรษะหรือตรงหัวใจ

    แต่หากท่านพินิจพิเคราะห์ดูตามความเป็นจริง ติดตามคำสอนของพระบรมศาสดา ท่านจะเริ่มหยั่งรู้ว่ากายต่างหากที่อยู่ในจิต แท้จริงแล้วจิตมาก่อน กายเป็นเพียงเครื่องรองรับแต่เป็นเครื่องที่ไวมากคล้ายเรด้า ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

    เมื่อเราเข้าใจเรื่องขันธ์ห้าอย่างแจ่มแจ้งแล้ว เราก็ปล่อยวางไป แล้วเราจะประจักษ์แจ้งถึงสิ่งที่เรียกว่า “อมตะ” ความไม่ตาย หรือทางพระนิพพาน ซึ่งหมายถึงเลยพ้นจากการปรุงคิดปรุงแต่งทั้งปวง เป็นการยากที่จะเข้าใจความไม่ตาย ใช่หรือไม่ ? เราเอ่ยคำเหล่านี้ได้ แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว เราไม่อาจหาคำพูดใด ๆ มากล่าวได้อีก คำพูดใด ๆ ก็ดี มโนคติก็ดี สัญญาก็ดี ใช้ได้กับโลกที่มีการปรุงแต่งเท่านั้น ตราบใดที่ท่านยึดมั่นอยู่กับความนึกคิด บัญญัติหรือทัศนะต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะด้วยความฉลาดแค่ไหน หรือเจตนาจะช่วยเพื่อนมนุษย์อย่างไร ตราบนั้นความยึดมั่นจะรัดรึงท่าน ให้ติดอยู่ในโลกที่ว่านี้ และจะเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในนั้น ถ้าท่านมองหาพระเจ้าในสภาวะที่มีเกิดมีตาย หรือในความรู้สึกสัมผัสที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ท่านจะผิดหวังโดยสิ้นเชิงเท่านั้นเอง

    ความเชื่อต่าง ๆ นั้นไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงมิใช่หรือ ? ท่านเชื่ออะไรก็เชื่ออยู่อย่างนั้น อายุ 50ปี แล้วก็ยังเชื่อเหมือนเมื่อครั้งอายุ 5 ขวบ คุณยายของอาตมาท่านเสียชีวิตไปแล้วเมื่ออายุ 75 ปี แต่ท่านมีอารมณ์คล้ายเด็กสาว ๆ อายุ 16 ปี คือท่านยังจำชื่อเพื่อนชายจอมเจ้าชู้ของท่าน ชื่อ Herculis Cavalier เมื่อครั้งท่านยังรุ่นสาวได้ นี่แสดงว่าแม้ว่ากายจะแก่ชราแล้ว แต่จิตใจยังยึดมั่นกับภาพเก่า ๆ อยู่

    เราสันนิษฐานและเชื่อ และไม่เคยสงสัยเลยแม้แต่น้อยว่า เรายึดอยู่กับอคติ หรือความคิดที่ปักแน่นอย่างไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เรายังเชื่อ และย้ำอยู่กับเรื่องเก่า ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ และนี่เองที่เป็นปัญหาทางการเมือง เพราะเหตุว่าคนส่วนมากยังยึดอยู่กับการเล่นการเมือง แทนที่จะเข้าใจกับความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำในขณะนั้น

    ความรุนแรง ความโหดร้าย ความโสมม เกิดขึ้นมากเท่าไรแล้ว ในเรื่องแก่งแย่งที่ดิน เรื่องการแบ่งเขต เช่นพูดว่า “นี่เป็นที่ของฉัน ออกไปเดี๋ยวนี้” ท่านจะเห็นอย่างนี้ตลอดเวลา มันเป็นความเหี้ยมและความมุ่งร้ายในใจคนนั่นเอง ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่ออย่างไม่สงสัยเลยแม้แต่น้อยว่า นี่เป็นที่ของฉัน บ้านของฉัน ลูกเมียของฉัน ของฉัน ของฉัน ......

    ตลอดเวลายี่สิบปีที่อาตมาปฏิบัติมา อาตมามองเห็นความยึดมั่น หมายมั่น ความครอบงำ ความโน้มเอียงต่าง ๆ มันค่อย ๆ จางไป เพราะเรายอมให้มันดับไป เป็นวิธีปล่อยว่าง เมื่อเรามองว่าชีวิตของเรา เปรียบเหมือนทางเดิน เราก็จะไม่ยึดเกาะอยู่บนนั้น เราจะไม่เป็นคนคับ แคบเห็นแก่ตัว เพราะเรารู้ดีว่าไม่มีอะไรที่เหมาะสมและดีพอที่จะยึดเหนี่ยว ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ที่ดิน แก้วแหวนเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ หรืออะไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่มีคุณค่าพอที่เราจะไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะโดยแท้ แล้วมันไม่ใช่ของเรา อ๋อ! แน่นอน เราเชื่อว่าเป็นของเราก็ได้ แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดี และมองเข้าไปในจิตของเราแล้ว เราจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ไม่มีใครที่จะเป็นเจ้าของอะไร

    ทีนี้ เมื่อได้พิจารณาว่ากายนี้อยู่ในจิต ความยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะจะเปลี่ยนไป ท่านจะต้องพิจารณาว่าแท้จริงแล้วจิตคืออะไร กายของท่านจะเข้าไปอยู่ในสมอง หรือเข้าไปอยู่ในหัวใจที่เต้นอยู่นั้นได้อย่างไร มันน่าขำ สมองและหัวใจมันอยู่ในกายของท่านมิใช่หรือ ?

    เมื่อเย็นวานนี้ อาตมายืนมองออกไปในความมืดสลัว ๆ มองดูต้นไม้อันปราศจากใบที่ขึ้นอยู่ตามขอบรั้วของวัดอมราวดี พิจารณาว่าต้นไม้นั้น อยู่ในจิต ต้นไม้ก็มีความรู้สึกและโอนอ่อนผ่อนตามความเป็นไปที่ล้อมรอบมันอยู่ ดังนั้น เราจะเปลี่ยนจิตใจที่มีความจำได้หมายรู้ไปสู่จิตที่เป็นความรู้ แจ้งในอารมณ์ ขอให้ท่านพิจารณาถึงความรู้ที่เกิดขึ้นจากอายตนะภายนอก และภายในกระทบกันว่าเป็นอย่างไร และการพิจารณานี้ให้ใช้สติปัญญาความสามารถของเราเองจากความรู้สึกสัมผัส ทั้งนี้มิใช่มองในลักษณะที่ว่า “ตัวกู ของกู”

    ศักยภาพอันยิ่งใหญ่ลึกซึ้งและมีความหมายที่สุดของมนุษย์ คือความสามารถที่จะหยั่งรู้ความจริงของความเป็นเช่นนั้นเอง มีดวงตาเห็นธรรม และหลุดพ้นจากโมหะคือความหลง

    เมื่อเราพิจารณาตถตา คือความเป็นเช่นนั้นเอง ให้เริ่มพิจารณาความไม่มีตัวตนคืออนัตตา เมื่อใดความรู้สึกว่ามีตัวมีตนมันหยุด เมื่อนั้นจะมีความสว่าง มีความรู้และเบิกบาน ท่านจะรู้สึกเกษมและมีความสมดุลย์ จะต้องใช้เวลานานพอสมควรที่ความวุ่นทั้งกายและจิตจะสงบลง และเมื่อระงับลงแล้ว ในขณะนั้นจะมีความสงบ สะอาดและสว่าง จะไม่มี “ตัวกู” และ “ของกู”

    เราจะต้องเข้าใจว่าเรานั้นต้องเรียนรู้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่สุด ไม่มุ่งหวังจะได้อะไรจากการปฏิบัติของเราคราวนี้ ไม่เอาตามที่เรา อยากจะได้ ถ้าไปได้มาตามความอยาก ก็จะเสียสิ่งนั้นไปทันที เราจะต้องถ่อมตน ชนิดที่ความนึกคิดเกี่ยวกับตัวเราถูกสลัดออกไปด้วยความเต็มใจ และ อย่างสง่างาม ด้วยเหตุฉะนี้เอง การทำสมาธิภาวนา ถ้ามาจากพลังจิต ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความเห็นส่วนตัว เช่นว่า “ฉันต้องทำให้สำเร็จ ฉันต้องบรรลุให้ได้” เช่นนี้แล้ว ท่านจะพบแต่ความผิดหวังและคับแค้นใจ เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่การตามหาวัตถุทางโลก ในทางโลกนั้น ถ้าท่านฉลาด แข็งแรง มีพรสวรรค์ มีโอกาส ท่านก็จะตลุยไปจนพบความสำเร็จมิใช่หรือ ? ตามหลักของความอยู่รอดของตัวที่แข็งแรงที่สุดนั้น ท่านสามารถข่มและทำลายคู่ต่อสู้ได้ ท่านเป็นผู้ชนะ

    การเป็นผู้พิชิตนั้น ค่านิยมทางโลกถือว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจยิ่งนัก แต่ ถ้าเราใช้ท่าทีเช่นนี้ในทางธรรม เราจะผิดหวัง เพราะว่าเรานั้นจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะอยู่กับความเป็นจริง ไม่คาดหวัง ไม่เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น

    การปฏิบัติของพระบรมศาสดานั้น เป็นการยอมรับวิถีชีวิตที่เป็นไปตามกระแส คือความเป็นเช่นนั้นเอง ในฐานะที่เป็นภิกษุ ให้เราพิจารณาถึงปัจจัยสี่ คือเรามีอาหารพออิ่ม มีเครื่องนุ่งห่ม มีหลังคาอยู่เหนือศีรษะ มียารักษาโรค มีการศึกษาพระธรรมวินัย เท่านี้ก็ดีพออยู่แล้ว เราควรจะพูดว่า “ทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว ฉันพอแล้ว” ไม่ก่อปัญหาหรือสร้างความวุ่นวายใด ๆ ขึ้นในใจของเรา

    อาตมาเองพบว่า อาตมาอยู่ได้สบาย โดยปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามวิถีทางของมันในอมราวดีนี้ อยู่กับความเป็นจริง อยู่กับดินฟ้าอากาศ กับผู้คน กับบ้านเมืองนี้ ไม่เปรียบเทียบ ไม่วิจารณ์ แต่จะมีความรู้สึกขอบคุณ ที่ได้มีโอกาสเช่นนี้ แต่มันก็ไม่ง่ายนักดอก เพราะอาตมาเป็นคนจู้จี้ มีความรู้สึกว่า ต้องรับผิดชอบมาก ที่จะทำทุกอย่างให้ดีและถูกต้อง ไม่ใช่ให้ดีแก่ตัวอาตมาเอง แต่ให้ดีสำหรับทุกๆ คน อาตมาตกอยู่ในฐานะต้องรับผิดชอบ เพราะ เป็นอาจารย์ เป็นเจ้าอาวาส และอะไรต่อมิอะไร คือต้องทำให้เป็นตัวอย่างที่ดี ท่านทั้งหลายอาจจะเป็นห่วงและวุ่นวายใจในกรณีเช่นนี้เหมือนกัน ดังนั้นให้เราเรียนปล่อยวางสิ่งเหล่านี้เสีย แม้ความรู้สึกที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มิได้หมายความว่าไม่รับผิดชอบ แต่เราปล่อยวางความนึกคิดหรือ ทัศนะต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมันอาจทำให้เราตาบอด มันอาจจะเป็นความนึกคิดที่ดีก็ได้ แต่ถ้าท่านไปยึดติดอยู่กับมัน ท่านจะไม่หลุดพ้น

    ในการใช้ชีวิตแบบพรหมจรรย์ ท่านฝึกตัวท่านเองให้มีใจกว้าง พร้อมที่จะเรียนรู้จากสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง ตามที่มันเป็นไป ไม่ต่อต้านหรือผลักดัน ไม่ไปจัดการควบคุมเพื่อจะเปลี่ยนโลกให้เป็นไปตาม ที่ท่านต้องการ เราต้องปล่อยวางความคิดเช่นนั้น แล้วอยู่กับความรู้และ ความมีสติสัมปชัญญะ

    ปัจจัยอันหนึ่งที่จะเข้าถึงความเห็นแจ้งได้คือศรัทธา ซึ่งมีลักษณะงดงามและเบิกบานอยู่ในนั้น พวกเรามักจะปรารถนาความคิดเห็นที่ฉลาด ที่ประกอบด้วยปัญญา แต่เราต้องถ่อมตน แล้วรักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งนี้ในเมื่อท่านเห็นว่าการปฏิบัติของท่านค่อนข้างลำบาก นี่เป็นการแนะนำ ว่า ไม่ให้ท่านกลัวที่จะมีความรัก ความเมตตา ความชื่นบาน และความมีน้ำใจ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ ชีวิตของเราจะเหี่ยวแห้งเหมือนอยู่ในทะเลทราย หรืออยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งแม้ว่ามันจะสะอาดเรียบร้อยแต่มันเย็นยะเยือกนะ

    ศาสนาก็เหมือนกัน เป็นโอกาสให้เรามีความอบอุ่นเบิกบาน มีความรัก มีศรัทธา เสียสละ และทำกุศล นี่แหละเป็นรากฐาน และเป็นความจำเป็น สำหรับชีวิตในพระศาสนา ให้มองชีวิตของเราในสังคมนี้ว่าเป็น โอกาสที่จะแสดงความมีน้ำใจเอื้ออารี มีความรัก ความชื่นบาน ให้มองดูจิตของเราที่มันเคลื่อนไหวไหลเวียนอยู่ในขณะนี้ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราทำเช่นนั้นก็เพื่อจะได้พิจารณาสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง หลุดพ้นจากความ หลงและอุปาทานยึดมั่น

    สำหรับการเข้าปฏิบัติกรรมฐานในครั้งนี้ ญาติโยมที่มานั้น มาเพื่อให้ และช่วยเหลือพระสงฆ์ นี่เป็นการแสดงถึงความรักและความโอบอ้อมอารี และพวกเราแสดงความขอบคุณ ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติ เรียนรู้ธรรมะ เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเรานั้นเป็นที่ยกย่องนับถือแก่คนทั่วไป

    เราสามารถจะพิจารณาตามวิธีที่กล่าวนี้ ยอมให้มีที่ว่างบ้าง สำหรับความเบิกบานและความกตัญญู คุณลักษณะอย่างนี้ จะช่วยให้มีรากฐานมั่นคง ที่จะเข้าใจถึงความหลุดพ้นจากความหลง

    ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_sumetho/lp-sumetho-13.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...