เหตุที่ทำให้โลกถึงกาลวิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย ธรรมรังสี, 22 ตุลาคม 2011.

  1. ธรรมรังสี

    ธรรมรังสี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2011
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +2,218
    องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้ทำการพิจารณาตามหลักธรรมแล้ว ปรากฏว่า




    สัตว์หนาด้วยราคะ โลกฉิบหายด้วยไฟ



    สัตว์หนาด้วยโทสะ โลกฉิบหายด้วยลม



    สัตว์หนาด้วยโมหะ โลกฉิบหายด้วยน้ำ





    ท่านพิจารณาได้ความว่า "สัตว์หนาด้วยราคะ โทสะ โมหะ แล้วทำไมผู้ฉิบหายจึงเป็นโลก ทำไมจึงไม่เป็นสัตว์ฉิบหายเล่า"


    ท่านอธิบายว่า " ราคะ โทสะ และโมหะ นั้น เป็นผลของอวิชชา ที่กล่าวไว้ในธรรมจักร (สมุทัยสัจจะ) ว่า กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นผลมาจากอวิชชานั้นเอง"


    ตัวเหตุคืออวิชชา ครอบงำจิตสันดานของสัตว์ เป็นผลให้สัตว์เกิดราคะ โทสะ โมหะ ทั้งสัตว์ทั้งโลกก็ฉิบหาย คือกระทบกระเทือนไปหมด



    ทั้งภายนอก คือ สัตว์และโลกทั้งปวง


    ทั้งภายใน คือ จิตสันดานของสัตว์แสดงออกมา มีแต่ฉิบหายกับฉิบหายอย่างเดียว (ถ้าไม่คุมด้วยศีลธรรม...)




    ที่มา : หนังสือ "รำลึกวันวาน" ปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ


    http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-06-03.htm







    เหตุแห่งโลกวิบัติ ตามคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระญาลิไท แห่งราชวงศ์พระร่วง อาณาจักรสุโขทัย (คัดตามสำนวนเดิม แบบย่อ)



    แต่ฝูงอันมีจิตแลมีชีวิตอันเกิดในภูมิทั้ง ๓๑ ชั้น ทั้งนี้มิเที่ยง ย่อมฉิบหายด้วยมัตยุรา (มัจจุราช) หากกระทำให้หายไส้ฯ อันว่าสิ่งทั้งหลายอันที่มีแต่รูปแลว่าหาจิตมิได้อันมีในภูมิ ๑๒ ชั้นแห่งนี้ เท่าเว้นไว้แต่อสัญญีสัตว์ขึ้นไปเบื้องบนแลฯ อันว่าที่ต่ำแต่อสัญญีสัตว์ลงมาหาเรานี้มีอาทิ คือพระสุเมรุราช ย่อมรู้ฉิบหายด้วยไฟด้วยน้ำด้วยลม หากกระทำให้ฉิบหายเสียได้แลฯ เมื่อว่าไฟจะมาไหม้กัลปนี้แลมีดังฤๅบ้างสิ้นฯ อันว่าไหม้แลล้างให้ฉิบหายเสียนั้นมี ๓ จำพวกแล จำพวก ๑ เพื่อไฟ จำพวก ๑ เพื่อน้ำ จำพวก ๑ เพื่อลม แลไฟหากมาล้างมากกว้าน้ำแลลม ไฟมล้าง ๗ คาบเล่าน้ำจึงมล้างคาบ ๑ เล่า น้ำมล้าง ๗ คาบ ลมจึงมล้างคาบ ๑ โดยอันดับดังนั้น แต่ไฟมล้าง ๑๖ คาบ แต่น้ำมล้าง ๘ คาบทั้งนั้นเป็น ๖๔ คาบ ลมจึงมล้างคาบ ๑ เมื่อว่าไฟมล้างมากกว่าน้ำ ๆ มล้างมากกว่าลมเพื่อดังนั้นฯ


    สัตต์สัตตัค์คินาวารา อัฏฐเมอัฏ์ฐมาทกา
    จตุสัฏ์ฐียทาปุณ์ณา เอโกวาโยวาโรสิยา
    อัค์คิวาภัส์สราเหฏ์ฐา อาเปนสุภกิณ์หโต
    เวหัปผลาโตวาเตน เอวํโลโกวินาส์สติฯ



    เมื่อว่าไฟมล้างกามภูมิทั้ง ๑๑ ชั้นแลล้างรูปภูมิ เมื่อพรหมอันเป็นปถมฌาน ๓ ชั้น คือว่าชั้นพรหมปาริสัชชาแลพรหมปโรหิตาแลมหาพรหมาจึงผสมภูมิอันไฟไหม้ได้ ๑๔ ชั้นไฟจึงไหม้ฯ เมื่อว่าน้ำมล้างนั้นเล่ามล้างกามภูมิ ๑๑ ชั้นมล้างภูมิพรหมอันเป็นปฐมฌาน ๓ ชั้นแล มล้างรูปภูมิพรหมอันเป็นทุติยฌาน ๓ ชั้น คือ ปริตตภาแลอัปมาณาภาแลอาภัสสราผสมภูมิอันน้ำท่วมได้ ๑๗ ชั้นจึงอย่าฯ เมื่อว่าลมแลมล้างกามภูมิทั้ง ๑๑ ชั้นมล้างรูปภูมิเมืองพรหมอันเป็นปฐมฌาน ๓ รูปภูมิเมืองพรหมอันเป็นทุติยฌาน ๓ ชั้น มล้างรูปภูมิเมืองพรหมนั้นคือตติยฌาน ๓ ชั้น คือปริตตสภา แลอัปปมาณสุภา แลสุภกิณหกาลมจึงอย่าพักแลฯ แต่นั้นบมิอาจพักเถิงจตุตถฌานภูมิได้ ผสมแต่ลมมล้างได้ ๒๐ ชั้น เมื่อมล้างมี ๓ ประการเพื่อดังนี้แลฯ เมื่อว่าไฟแลไหม้กัลปฝูงคนทั้งหลายผู้กระทำบาปด้วยกาย ผู้กระทำบาปด้วยปาก ผู้กระทำบาปด้วยใจแลมิรู้บุญแลธรรมเลยสักอัน แลมิรู้จักบิดาแลมารดา แลมิรู้จักสมณพราหมณ์แลมิรู้จักท่านผู้ทรงธรรม แลมิรู้จักว่าพี่นี้น้องแลญาตมิตรสหายแลเห็นกัน ดังกวางแลทราย ดังเป็ดแลไก่ ดังหมูแลหมา ดังช้างแลม้า ย่อมไล่ฆ่าไล่ฟันกันนั้นด้วยบาปกรรมอันเขาได้ทำบาปดังนี้แล เกิดอุบัติบมิดีทั่วทั้งจักรวาลนี้ทุกแห่งแลฯ คนทั้งหลายผู้กระทำไร่ไถนากินทุกแห่ง ครั้นว่าหว่านข้าว ๆ นั้นงอกขึ้นพอวัวกัดได้แล้วฝนฟ้าก็มิได้ตกสักแห่งเลย แลมีแต่เสียงฟ้าร้อง ส่วนว่าฝนมิได้ตกเลยสักเล็ด ทั้งข้าวก็ดี ผักก็ดี น้ำก็ดี ตายแห้งดังท่านเอาไฟลน ฝูงคนทั้งหลายยินร้ายทุกแห่งแลฯ ท่านผู้มีพระปัญญานั้น ครั้นว่าท่านเห็นนิมิตดังนี้เป็นดาลใจ ในสัทธาเร่งกระทำบุญธรรมแล้วยำเยงพ่อแลแม่ผู้เฒ่าผู้แก่สมณพราหมณ์ ครั้นว่าตายได้ไปเกิดในเทวโลกย์ ตายจากเทวโลกย์ก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกย์ที่ไฟไหม้มิเถิงนั้นแลฯ คนผู้หาปัญาบมิได้แลมิได้กระทำบุญทำธรรม ครั้นว่าตายก็ได้ไปเกิดในนรกอันมีในจักรวาลอื่นอันไฟไหม้มิเถิงนั้นแลฯ อันว่าแค่แลผ่าปลาจระเข้ทั้งหลายนั้นต่างแห้งตายหายเหือดไป ดังท่านแสร้งตากไว้แลเห็นกลาดไปทั่วแผ่นดินทุกแห่งแลตระบัด แลเห็นพำระอาทิตย์ขึ้นมาสองดวงดังหน้าผีเสื้อแลผีพรายดังจะคาบคั้นเอาฝูงคนทั้งหลายอันไป่มิทันตายนั้น ครั้นตระวันดวงหนึ่งตกแล้วตระวันดวงหนึ่งขึ้นมาแลผ่อนกันอยู่บนอากาศร้อนนักหนาแลฯ ดูเรืองอยู่ทุกแห่งหากลางคืนมิได้เลย เมื่อดังนั้นคนทั้งหลายอันยังมิตายนั้นก็กอดคอกันร้องไห้ แลเช็ดน้ำตาเสียจึงคำนึงเถิงบุญธรรมเมตตาภาวนา ครั้นตายไปเกิดในเทวโลกย์แล ฯ พระอาทิตย์สองดวงร้อนดังนั้นทั้งแม่น้ำเล็กแลแม่น้ำใหญ๋ อิกห้วยหนองคลองบึงบางบ่อแลสระบกพรอมแห้งสิ้นแล อยู่มาบหึงตระบัฃดเป็นตระวันขึ้นมาดวงหนึ่งอิกเล่าเป็น ๓ ดวง แลตระวันหนึ่งตกไปตระวันหนึ่งเที่ยงตระวันหนึ่งขึ้นมาเร่งร้อนยิ่งกว่าเก่านักหนา แลว่าแม่น้ำใหญ่ ๕ แถวแห้งสิ้นแลอยู่บมิหึงตระบัด เกิดเป็นตระวัน ๔ ดวงขึ้นมา จึงแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๗ อัน ๆ หนึ่งชื่อฉัททันตสระ อนึ่งชื่อมัณฑากินีสระ อนึ่งชื่อสีหปาตสระ อนึ่งชื่อกนปัณสระ (อภิธานว่า กัณณมุณฑ์) อนึ่งชื่อสัตนกาละสระ (อภิธานว่า รถกากร) อนึ่งชื่อกุนาละสระ แลว่าสระ ๗ อันนี้แห้งวสิ้นในเมื่อมีตระวัน ๔ ดวงนั้นแลฯ ทั้งฝุงมังกรภิมทองจระเข้ตายสิ้นแลฯ อันดับนั้นบมิหึงตระบัดบังเกิดตระวัน ๕ ดวง น้ำสมุทรแห้งสิ้นยังอยู่แต่ข้อมือเดีวจึงเห็นเงินเห็นทองแก้วสัตตพิฝะรัตนแลฯ อยู่บหึงตระบัดบังเกิดเป็นตระวัน ๖ ดวง แลร้อนเร่าเผ่าทั้งจักรวาลแลเห้นเป็นตระวันลุกอยู่เต็มทั่วจักรวาลดังท่านเผาหม้อ แลร้อนเร่าระงมอยู่ในเตาหม้อนั้นฯ อยู่บมิหึงตระบัดเกิดเป็นตระวันขึ้น ๗ ดวงแลร้อนสัตว์ใหญ่ ๗ ตัวอันอยู่สีทันดรสมุทรทั้ง ๗ นั้น อันอยู่ในหว่างเขาสัตตปริภัณฑ์อันล้อมเขาพระสุเมรุราชนั้นไว้ แลสัตว์อยู่ในฉัททันตสระสมุทรนั้น แลสัตว์ทั้งหลายอันมีในสีทันดรสมุทร อันอยู่ในสมุทรนั้นย่อมมาไหว้บานบคำรพปลาตัวใหญ๋อันเป็น้พระญาปลานั้นแลฯ แลว่าปลาทั้ง ๗ ตัว (อภิธานว่า ติมิ, ติมิงคล, ติมิรปิงคล, อานนท, ติมินท์, อัชฌาโรห, มหาติมิ) นั้นอยู่ในสีทันดรสมุทร ๗ ชั้นนั้น ปลาชั้นนอกชื่ออติมิรมหามัจฉา แลปลาอันดับนั้นเป็นพระญาปลาชื่ออุมันธมหามัจฉา ตัวดังนั้นชื่อนิมมิฉรมหามัจฉา ตัวหนึ่งชื่อชนาโรห แลพระญาปลา ๗ ตัวนี้โดยใหญ่เท่ากันทั้ง ๗ ตัวย่อมรีได้แล ๔,๐๐๐,๐๐๐ วา เมื่อตระวันขึ้น ๒ ดวงร้อนนักหนา พระญาปลา ๗ ตัวเชื่อมแลไหลเป็นน้ำมันไหม้เขาอัสกรรณ แลแผ่นดินชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ก่อนทุกแห่งแลฯ ไหม้ทั้งเขาพระหิมพานต์ ๗ อันแลมียอดได้ ๘๔,๐๐๐ นั้น แล้วเลื่อนไหม้ทั้งแผ่นดินเล็ก ๒,๐๐๐ ไหม้ไปชั้นอันชั้นนั้นเนือง ๆ ไหม้ทั้งบุพพวิเทหแลอุตตรกุรุแลอมรโคยานทวีปทั้งเมืองครุฑราชไหม้ทั้ง ๔ แผ่นดินใหญ่ดังว่าไหม้ป่าแลไหม้นรกทั้งหลายตระหลอดไปเถิงมหาอวิจีนรกแล้ว ไหม้อบายภูมิทั้ง ๔ ไหม้เขาพินาศไปเนือง ๆ แลไหม้พิมานเทวดาอันมีในยอดเขานั้น ไหม้เขาเนมินธร แลไหม้วิมานเทวดาทั้งหลายดังก่อนนั้น แลถัดนั้นไหม้เขาสุทัสสน แลไหม้เขากรวิก แล้วไหม้เขาอิสินธร แลไหม้เขายุคุนธรแล้วไหม้เมืองพระจตุโลกบาล แล้วไหม้วิมานแก้วฝูงเทพยดา อันอยู่เหนือจอมเขานั้นสิ้น เปลวไฟหุ้มเขาพระสุเมรุราช ใต้ลงไปไหม้อสุรภพแล้วไหม้เมืองพระอินทร์ ไหม้เขาพระสุเมรุ พัง ๗๐๐ โยชน์ ๘๐๐ โยชน์ ไหม้แลคาบ ๙๐๐ โยชน์ ๑,๐๐๐ โยชน์ ไหม้ต้นปาริกชาต ไหม้สวนอุทยาน ไหม้สระโบกขรณี ไหม้ยามาสวรรค์ ไหม้วิมานเทวดาอันมีในชั้นฟ้านั้นแล ถัดนั้นจึงไหม้ดุสิตสวรรค์ ถัดนั้นจึงไหม้นิมมานรดี ถัดนั้นไหม้ปรนิมมิตวสวัสดีสวรรค์เมืองพระญามารแล้ว ไหม้รัตนปราสาทฝูงเทวดาสิ้นไหม้แผ่นดินต่ำของเทพยดาสิ้นเปลวไฟจึงพลุ่งขึ้นไปเมืองพรหมชื่อพรหมปาริสัชชนาภูมิ ถัดนั้นไหม้พรหมปโรหิตาภูมิ ถัดนั้นจึงไหม้มหาพรหมภูมิ พรหม ๓ ชั้นใต้อาภัสสรภูมิ ไหม้พรหมอันเป็นทุติยฌานนั้นไหม้จึงดับแต่ชั้นนั้นแลชั้นนั้นจึงรอดแลภายต่ำเถิงอวิจีนรกหาเท่าบมิได้สักหยาด ดังท่านตามประทีปแลบ่เท่าในลาประทีปนั้น แต่ไหม้ดังนั้นได้นานได้อสงไขย ๑ แต่นั้นชื่ออสวัตตได้อสงไขยกัลปแลฯ เมื่อไฟไหม้ดังนั้นฝูงเทพยดาแลพรหมทั้งหลายเทียรย่อมหนีขึ้นไปสู่ชั้นบนที่ไฟไหม้ไปบ่มิเถิง แลเทียรย่อมเบียดเสียดกันอยู่ด่จดังแป้งยัดคนานนั้นแลฯ อยู่หึงนานนักตระบัดฝนจึงตก เมื่ออาทิแรกตกเมล็ดหนึ่งเท่าดินธุลี อยู่หึงนานแล้วจึงตกเมล็ดหนึ่งเท่าพรรณผักกาด อยู่หึงนานเล่าจึงตกเท่าเมล็ดถั่ว อยู่น้อยหนึ่งจึงตกเท่าลูกมะขามป้อมแล้วเท่าลูกมะขวิด แลเท่าตัวควายแล้วเท่าตัวช้างแล้วเท่าเรือน แลเมล็ดฝนใหญ่ได้อุศุภ ๑ แต่อุศุภ ๑ โดยใหญ่ได้ ๓๕ วา อยู่บัดแบงใหญ๋ได้ ๒,๐๐๐ วา อยู่หึงนานแล้วตกเล็ด ๑ ใหญ่ได้โยชน์หนึ่ง อยู่ได้ ๒ โยชน์ ๓ โยชน์ ๔ โยชน์ ๕ โยชน์ ๖ โยชน์ ๗ โยชน์ ๘ โยชน์ ๙ โยชน์ ๑๐ โยชน์ อยู่หึงนานได้ ๑๐๐ โยชน์ ๑,๐๐๐ โยชน์ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ อยู่หึงนานเท่าจักรวาลว่างลงดังท่านหลั่งน้ำตกจากกลออมแลตุ่มโพล่อันเดียว แลตระบัดน้ำจึงท่วมเมืองดินนี้ บัดแบงจึงท่วมจาตุมหาราชิกาทิพย์เมืองจตุโลกบาล แล้วจึงท่วมไตรตรึงษ์อันเป็นเมืองพระอินทร์ แล้วจึงท่วมยามา แล้วจึงท่วมดุสิดา แล้จึงท่วมนิมมารดี แล้วจึงท่วมปรนิมมิตวสวัสดีสวรรค์ แลน้ำเร่งท่วมเถิงเมืองพรหม ๓ ชั้นอันชื่อพรหมปริสัชชา พรหมปโรหิตา มหาพรหมา ฝนบมิได้ตกน้ำจึงเที่ยงอยู่ แต่นั้นจึงบมีฝนแลฯ โจษว่ามีน้ำอันเต็มแต่ต่ำนี้ขึ้นไปเถิงบนพรหมโลกย์ดังนั้นเป็นใด แลล้นจักรวาลเพื่อประดารดังใด จึงอาจารย์ผู้เฉลยนั้นว่าฉันนี้ ว่ายังมีลมอนึ่งชื่ออุปเกฏปุวาตแลลมนั้นพัดเวียนรอบเป็นสรกน้ำน้ำ แลมิให้น้ำนั้นล้นบากออกได้เป็นธรรมดาน้ำขึ้นดังธรรมกรก แลบมิซ่านตกออกนอกได้ เหยียมว่น้ำนั้นจึงบมิล้นเพื่อดังนั้นแลฯ จะกล่าวเถิงพรหมตนชื่อว่ามหาพรหมามีราชลงมาดูน้ำนั้น ถ้าแลเห็นดอกบัวดอก ๑ พรหมนั้นจึงทำนาว่าในกัลปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติพระองค์ ๑ แลฯ ถ้าแลเห็นดอกบัว ๒ ดอกจึงทำนายว่ามีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์แลฯ ถ้ามีเถิง ๓ ดอกทำนายว่าพระเจ้าอุบัติเถิง ๓ พระองค์แลฯ ถ้ามีเถิง ๔ ดอกทำนายว่าพระเจ้าอุบัติเถิง ๔ พระองค์แลฯ ถ้ามีเถิง ๕ ดอกทำนายว่าพระเจ้าอุบัติเถิง ๕ พระองค์แลฯ ถ้าแลว่าหาดอกบัวบมิได้ทำนายว่าในกัลปนี้จะหาพระพุทธเจ้ามิได้แลฯ ถ้าแลมีดอกบัวดอก ๑ กัลปนั้นชื่อสารกัลปแลฯ กัลปใดแลมีดอกบัว ๒ ดอกกัลปนั้นชื่อมัรฑกัลปแลฯ กัลปใดแลมีดอกบัว ๓ ดอกกัลปนั้นชื่อวรกัลปแลฯ กัลปใดแลมีดอกบัว ๔ ดอกกัลปนั้นชื่อสารมัณฑกัลปฯ กัลปใดแลมีดอกบัว ๕ ดอกกัลปนั้นชื่อภัททกัลปฯ แลกัลปใดแลหาดอกมิได้กัลปนั้นชื่อว่าสุญกัลปแลฯ ในดอกบัวนั้นมีอัฏฐบริกขารมหาพรหมย่อมเอาอัฏฐบริกขารขึ้นไปไว้ในพรหมโลกย์เมื่อใดต่อพระโพธิสัตว์เจ้าออกบวชแลตรัสเป็นพระพุทธเจ้าไส้ มหาพรหมจึงเอาลงมาถวายในวันออกบวชนั้นแลฯ


    ฯลฯ





    หมายเหตุ : ขอให้ทุกท่านที่ได้อ่าน พึงพิจารณาด้วยสติและปัญญาให้ดี อย่าตกอยู่ในความประมาทเลย โลกสงสารนี้ไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์มากกว่าความสุข และมีวันแตกสลายไปตามกาลเวลา เราแค่มาอาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อสร้างบารมีเพื่อแสวงหาทางออกจากทุกข์เท่านั้น อย่าได้หลงใหลมัวเมาอยู่ในสังสารวัฏนี้อีกต่อไปเลย พึงแสวงหาโลกุตรธรรมเถิด


    พระนิพพานย่อมประเสริฐสูงสุด หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดจากกองทุกข์ทั้งหลายในสังสารวัฏได้อย่างแท้จริง


    พึงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์


    ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง



    จิตนิ่ง จิตย่อมรู้ (ทุกข์) จิตสงบ จิตย่อมเห็น (สมุทัย) จิตดี จิตย่อมเป็น (มรรค) จิตเย็น จิตย่อมวาง (นิโรธ)



    สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม



    จิตเตนะ นียติ โลโก : โลก อันจิตย่อมนำไป (คือเป็นไปด้วยอำนาจของจิต -ในที่นี้หมายถึง จิตของสัตว์โลกส่วนใหญ่ในขณะนั้นๆ)






    พระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงเรื่องโลกและจักรวาล -พระไตรปิฎก



    1. อัคคัญญสูตร ว่าด้วยเรื่องกำเนิดของโลก กำเนิดของมนุษย์ และวรรณะทั้ง 4 หน้า 61 เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย


    2. จูฬนีสูตร ว่าด้วยเรื่องจักรวาล หน้า 215 เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย


    3. สุริยสูตร ว่าด้วยเรื่องในอนาคตพระอาทิตย์จะเกิดขึ้นครบ 7 ดวง และการพินาศของโลก หน้า 83 เล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย


    4. อุปสถสูตร ว่าด้วยเรื่องสวรรค์ 6 ชั้น หน้า 195 เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย


    5. พาลบัณฑิตสูตร ว่าด้วยเองผลกรรมของคนชั่วและคนดี เรื่องนรกขุมต่างๆ สัตว์เดียรัจฉานจำพวกต่างๆ และพระเจ้าจักรพรรดิ หน้า 239 เล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย


    6. เทวทูตสูตร ว่าด้วยพญายมซักถามสัตว์นรก และนรกขุมต่างๆ หน้า 239 เล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย


    7. สังขารูปปัตติสูตร ว่าด้วยสวรรค์ 6 ชั้น รูปพรหม 16 ชั้น อรูปพรหม 4 ชั้น หน้า 172 เล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย


    8. ฌานสูตร ที่ 1-2 ว่าด้วยอายุของรูปพรหม 4 ชั้น หน้า 125 เล่มที่ 21 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย


    9. อาเนญชสูตร ว่าด้วยอายุของอรูปพรหม 3 ชั้น หน้า 254 เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 ตุลาคม 2011
  2. ธรรมรังสี

    ธรรมรังสี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2011
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +2,218
    มวลน้ำมหาศาลที่เข้ามาสู่ประเทศไทยตอนนี้ ไม่ใช่มาจากน้ำฝนธรรมดาที่ระเหยมาจากทะเล แม่น้ำ หรือ มหาสมุทร (แบบเดิมๆ ที่มีปริมาณตามปรกติตามฤดูกาล)



    แต่มาจากน้ำแข็งขั้วโลกที่มีขนาดใหญ่เท่ากับประเทศจีนทั้งประเทศ ซึ่งละลายลงหมดแล้ว และยังมีน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายอยู่อีกเรื่อยๆ การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกนั้น มีทั้งที่ไหลลงสู่มหาสมุทร (ซึ่งทำให้กระแสน้ำเย็นกระแสน้ำอุ่นที่ไหลเวียนอยู่ทั่วโลกเปลี่ยนทิศทาง) มีทั้งที่ระเหยกลายเป็นกลุ่มเมฆฝนขนาดใหญ่ขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล มีผลต่อดินฟ้าอากาศและสนามแม่เหล็กของโลก ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติภัยพิบัติขึ้นทั่วโลก



    ตัวผมเองได้ทำการพิจารณาดูแล้วมีความเห็นว่า แม้จะให้คนไทยทั้งประเทศ (60 กว่าล้านคน) ปลูกต้นไม้คนละต้นในตอนนี้ ก็ไม่สามารถที่จะไปยับยั้งหรือบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอีก 5-10 ปีนี้ได้ (เพราะปัญหาต่างๆ เหล่านี้ถูกสะสมมานาน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การก่อมลพิษประเภทต่างๆ การทำลายสมดุลของธรรมชาติ การล้างผลาญทรัพยากรทางธรรมชาติ ฯลฯ)



    ดังนั้น ผมจึงขอเสนอให้ผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมืองทุกท่าน (ทั้งรัฐบาลและประชาชนทุกคน) โปรดพิจารณาเพื่อทำการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ดีด้วยความสามัคคีกันเถิด จะได้ผ่อนหนักเป็นเบา คือ...



    1. ย้ายเมืองหลวง และ เขตเศรษฐกิจ ขึ้นไปสู่ที่สูง เช่น วังน้ำเขียว ฯลฯ (ที่พร้อมต่อการพัฒนาและมีสถานที่รองรับ แต่ต้องไม่ใช่ที่ลุ่มต่ำหรือเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติร้ายแรง เช่น น้ำท่วม และ แผ่นดินไหว เป็นต้น)


    2. ปลูกป่าและสร้างอ่างเก็บน้ำคลองระบายน้ำให้มาก ในเขตที่ลุ่มภาคกลางและภาคอื่นๆ ตามความเหมาะสม (และสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ตามเขื่อนต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ใช้เพื่อการเกษตรยามหน้าแล้งด้วย)


    3. พัฒนาพลังงานทดแทน เช่น เซลล์สุริยะ ฯลฯ


    4. ออกแบบพื้นฐานโครงสร้างของประเทศไทยใหม่ เพื่อปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น รูปแบบของผังเมือง พื้นที่ทางการเกษตร เขตอุตสาหกรรม ระบบรถไฟความเร็วสูง (แบบญี่ปุ่น) ทั่วประเทศ และอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติควบคู่ไปกับส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั่วประเทศ ฯลฯ


    5. นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับชั้นตามความเหมาะสม




    ท่านใดจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ครับ ผมแค่เสนอตามความเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้นครับ ผิดถูกประการใด โปรดทำการชี้แนะด้วยครับ



    ปล. ประเทศที่ผมเห็นว่าควรเอาแบบอย่าง (ในทางที่ดี) เช่น ประเทศญี่ปุ่น และ สิงคโปร์ เป็นต้น


    ส่วนการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาแก้ปัญหาในภาวะที่ประเทศไทยประสบกับภัยพิบัตินั้น หากไม่นำมาแก้ไขปัญหาในระยะยาวแล้ว รับรองว่า ประเทศไทยติดลบแน่นอน



    เห็นทุกข์ จึงเห็นธรรม


    เข้าใจทุกข์ คือเข้าใจธรรม



    สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 22 ตุลาคม 2011

แชร์หน้านี้

Loading...