เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 7 ธันวาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,674
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,553
    ค่าพลัง:
    +26,394
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๔


     
  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,674
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,553
    ค่าพลัง:
    +26,394
    วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ จากเมื่อสักครู่ที่บอกเรื่องทำวัตรค่ำว่า การสวดมนต์เราจะเอาแต่จังหวะของเราไม่ได้ ต้องเป็นจังหวะของส่วนรวม ไม่ใช่เราสบายใจที่จะสวดจังหวะนี้ แล้วก็ลากเพื่อนทั้งวัดให้สวดจังหวะนี้ไปด้วย

    ถ้าหากว่ากล่าวกันอย่างถึงแก่นเลยก็คือ มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ทำอะไรต้องดู "ทีม" ก็คือพรรคพวกเพื่อนฝูงด้วย ไม่ใช่เอาแต่ตัวรอดคนเดียว การทำงานทุกอย่าง ถ้าเราเอาตัวรอดคนเดียว ก็ได้คนเดียว คนเก่งมักจะเอาตัวรอดได้ แต่หาเพื่อนยาก แต่คนนิสัยดี ไม่เก่ง จะมีเพื่อนช่วยเหลือเยอะ แล้วท้ายที่สุดการทำงานจะยั่งยืนกว่าคนเก่ง เพราะว่ามีหลายคนหลายหัว ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ

    ในเรื่องของคนนั้น พระพุทธเจ้าแยกออกไว้ชัดเจนที่สุด ว่าบุคคลมี ๔ ประเภท

    อุคฆฏิตัญญู ฟังหัวข้อธรรมก็บรรลุเลย คนเก่งประเภทสุดยอดแบบนี้ ในหน่วยงานถ้ามีถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์นี่ยุ่งฉิบหา..เลย..! เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วคนเก่งมักจะแบกมานะมาด้วย ภาษาฝรั่งเขาว่ามี "อีโก้" สูง ไม่ค่อยลงให้ใคร อเมริกาเคยทำโครงการไอน์สไตน์น้อย เอาเด็กที่มีไอคิว ๑๑๐ ขึ้นไปมาเรียนด้วยกัน โครงการล้มไม่เป็นท่าเลย เพราะว่าทุกคนเอาตัวกูของกูเป็นใหญ่ ท้ายสุดไปกับคนอื่นไม่ได้

    บุคคลประเภทที่สองคือ วิปจิตัญญู ต้องอธิบายขยายความถึงจะเข้าใจ แล้วก็ทำงานนั้นได้ บุคคลประเภทนี้อยู่ในหน่วยงานมากเท่าไรก็ดีเท่านั้น แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วมีไม่เกิน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ รวม ๒ ประเภทนี่ก็ว่าไปแล้ว ๔๐ เปอร์เซ็นต์

    บุคคลประเภทที่สามคือ เนยยะ ต้องปากเปียกปากแฉะ จ้ำจี้จ้ำไชได้ทุกวัน งานเรื่องเดียวกัน ทำวันนี้ผ่านไป พรุ่งนี้ทำอย่างเดิมก็ต้องถามต้องบอกกันอีกแล้ว ประเภทนี้เยอะมาก น่าจะถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์

    แล้วอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์เป็นใคร ? พวกปทปรมะ พวกนี้เก่งเกินไป ไม่ใช่คนโง่ เก่งแล้วไม่ยอมรับความคิดคนอื่น เอาอะไรกรอกใส่หัวไม่ได้ทั้งนั้นแหละ กูไม่เอาด้วย เวลาทำงานกับคนอื่นก็ "มึงไร้ฝีมือ..กูไม่ทำด้วย" ไปทางด้านโน้นก็ "กูแนะนำอะไรมึงไม่ทำตาม..กูไม่ทำด้วย" สรุปก็คือเก่งอยู่คนเดียว คนประเภทนี้ถ้าหากว่ามีเยอะ หน่วยงานฉิบหา..หมด..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,674
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,553
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ดังนั้น...เวลาที่พระเณรของเราทำงาน เราจะสังเกตว่า "คนเก่ง" หรือ "เก่งเกิน" นั้น ไม่ค่อยทำงานร่วมกับคนอื่นหรอก พวกนี้มีข้อแม้เยอะ แต่ว่าคนนิสัยดีทำงานร่วมกับใครก็ได้ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า ใครมาช่วยก็ยินดีแบ่งปันให้เขาช่วยงาน กูไม่ได้เก่งคนเดียว ร่วมมือกันได้ ถ้าไม่ช่วย กูก็ไปเรื่อย ๆ ถึงเหนื่อยก็ไม่หยุด เดี๋ยวงานก็เสร็จจนได้

    บุคคลประเภทนี้เป็นที่ต้องการในทุกหน่วยงานและทุกสถานที่ ไม่ต้องเก่งมาก แค่อธิบายงานแล้วรู้และทำได้ก็พอ แต่นิสัยดี บอกให้ทำอะไรขยับก่อนเลย ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ช่าง แต่ว่าเต็มใจทำ

    ขอย้อนกลับไปที่ว่ามนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม การทำงานทุกอย่างต้องดู "ทีมเวิร์ค" เป็นสำคัญ แม้กระทั่งการสวดมนต์ไหว้พระ คุณก็ลองสังเกตดูสิว่า ถ้าเราไปกับคณะไม่ได้ เอาแค่ ยถาฯ สัพพีฯ ก็พอ ไปรอดไหมล่ะ ? ถ้าเราขึ้นเสียงต่ำ พวกรับเสียงสูง หรือถ้าหากว่าเราขึ้นเสียงสูงมา เขาดันรับเสียเป็น "อันเดอร์เบส" ไปเลย แบบนี้ก็ล่มไม่เป็นท่า ดูแค่นี้แหละ..ไม่ต้องมากหรอก

    ดังนั้น...ตรงจุดนี้เราต้องเข้าใจและรู้จักตัวเองด้วย ปุคคลปโรปรัญญุตา การรู้จักตัวบุคคลทำให้สามารถบริหารงานได้ดี แต่ส่วนที่ควรรู้ที่สุดก็คือรู้จักตัวเอง รู้ขอบเขตข้อจำกัดของตัวเอง เราเป็นใคร ? ถนัดอะไร ? งานไหนไม่ถนัดก็ศึกษา เรียนรู้ สอบถามผู้ที่รู้ ค่อย ๆ เรียนไปทีละอย่าง ไม่ใช่ว่าไม่เคยทำมาก่อนก็หันหน้าหนีเลย ถ้าอย่างนั้นชาตินี้เราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติม นอกจากสิ่งที่ถนัดและชำนาญมาแต่เดิม ซึ่งสมัยนี้ส่วนใหญ่แล้วไม่พอกิน..!


    สมัยนี้เขาต้องการเป็ด เป็ดที่เป็นงานหลายอย่าง แต่ไม่เก่งหรอก แต่อะไรก็ทำได้หมด ว่ายน้ำก็ได้ ดำน้ำก็ได้ บินก็ได้ บางทีทะลึ่งขันได้อีกต่างหาก ฟักไข่แบบไก่ก็ทำได้ โบราณเขาถึงได้บอกว่า

    ซึ่งจะขัน........ขันได้ไม่เหมือนไก่
    บินก็ได้..........แต่ไม่ทันพันธุ์ปักษา
    ว่ายน้ำได้........ก็ไม่ทันเหล่าพันธุ์ปลา
    เหมือนวิชา.......เรียนหลายสิ่งไม่จริงจัง

    แต่สมัยนี้เขาต้องการคนแบบนี้ คนที่สามารถเข้ากับเพื่อนฝูงและกิจกรรมตรงหน้าได้
    สำคัญที่สุดก็คือต้องลดมานะในตัวเองลง

    มานะรวมสักกายทิฐิ "ตัวกู ของกู" เอาไว้ด้วย ก็เลยกลายเป็น "อีโก้" ที่บางคนแปลว่า "อัตตา" ถ้าลดมานะไม่ได้ก็ทำงานกับคนอื่นยากมาก แม้กระทั่งการเรียน ยังคิดว่าตัวเองเก่งกว่าอาจารย์เลย..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,674
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,553
    ค่าพลัง:
    +26,394
    ตอนที่กระผม/อาตมภาพเรียนอยู่ บางเรื่องอาจารย์ท่านรู้สู้กระผม/อาตมภาพไม่ได้นะครับ แต่กระผม/อาตมภาพก็ไม่ได้แสดงออกว่า กระผม/อาตมภาพเก่งกว่าอาจารย์ กระผม/อาตมภาพแค่ขอปรึกษาหารือว่า "เรื่องนี้ถ้าหากว่าออกไปในแนวอย่างนี้ จะได้ไหมครับอาจารย์ ?" ทำอย่างไรที่เราจะไม่แบกมานะเข้าไปในการงานทุกอย่าง แม้กระทั่งการทำงานเพื่อชำระใจของตนเอง

    เราจะเห็นว่ามีพระบางท่านคิดว่าตนเองเคร่งครัดกว่าผู้อื่น ไม่จับเงิน ไม่ฉันนม ไม่สวมรองเท้า จนกลายเป็นอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าเรียกว่า สีลัพพัตตุปาทาน การยึดมั่นในศีลพรต คือหลักปฏิบัติของตัวเองว่าเหนือกว่าผู้อื่น ลักษณะการปฏิบัติในศีลให้ละเอียดเป็นของดี แต่เราต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ให้ศีลนั้นไปส่งเสริมสมาธิให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ไปแบกศีลเอาไว้ว่า "ศีลกูดีกว่า" ถ้าอย่างนั้นก็ไปไม่รอดครับ..!

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ตรงจุดนี้ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี หรือว่าฆราวาส เราต้องตระหนักรู้ในตนเอง รู้ว่าอะไรเป็นข้อจำกัดของตนเอง โบราณเขาบอกว่า "หากการงานนั้นเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม" ไม่ใช่ว่ากลัวคนอื่นรู้ว่าเราทำไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นความโง่เฉพาะตน นอกจากทำงานไม่สำเร็จแล้ว ยังกลายเป็นแบกกิเลสเอาไว้ด้วย เกิดมาต้องรู้จักแพ้ให้เป็น ถ้าแพ้ไม่เป็น ชีวิตนี้จะชนะยาก

    ผมเคยยกตัวอย่าง มาร์ตินา ฮินกิส นักเทนนิสหญิง บางงวดก็ได้แชมป์ระดับวิมเบิลดัน เฟรนช์โอเพ่น ออสเตรเลียนโอเพ่น แต่บางทีก็ตกรอบแรก..! แต่ก็ไม่เห็นคุณเธอรู้สึกรู้สาอะไร ตกรอบแรกก็ศึกษาดูว่าตัวเองพลาดตรงไหน แล้วก็แก้ไขใหม่ เดี๋ยวก็ได้แชมป์อีก นั่นคือคนที่แพ้เป็น แพ้แล้วรู้จักแก้ไขข้อบกพร่อง แก้ไขจุดอ่อนของตนเองจนกลับชนะใหม่

    เหมือนกับการปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลาย ถ้าคุณชนะกิเลสแล้วก็ไม่มานั่งอยู่ตรงนี้หรอก แต่เพราะว่าแพ้แล้วแพ้อีก แต่ต้องแพ้ให้เป็น ก็คือรู้ว่าพลาดตรงไหน พยายามแก้ไขตรงนั้น จนกว่าที่จะชนะแล้วก้าวผ่านไปได้ แล้วข้อทดสอบใหม่ ๆ ก็จะมาอีก แต่ไม่มามุมนั้นแล้ว เพราะรู้ว่าเราสู้ได้ เพียงแต่ว่าแพ้บ่อย ๆ แล้วอย่าท้อ ต้องสู้กันต่อไปจนกว่าจะลมหายใจสุดท้าย ไม่ใช่แพ้หน่อยก็หมดกำลังใจแล้ว ถ้าลักษณะอย่างนั้นก็เป็นทาสกิเลสต่อไปอีกนับชาติกันไม่ถ้วน..!
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,674
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,553
    ค่าพลัง:
    +26,394
    กระผม/อาตมภาพเองเคยล้มวันหนึ่งเป็นร้อย ๆ ครั้ง คำว่าล้มในที่นี้ก็คือ จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก พอล้มผมก็ลุกใหม่เลย เริ่มต้นใหม่ "ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลของเราต้องบริสุทธิ์บริบูรณ์" แล้วก็ลุยกันใหม่

    กระผม/อาตมภาพถึงได้เคยเปรียบว่า ถ้าหากว่าคนสองคนเดินมาแล้วหกล้มพร้อมกัน คนหนึ่งลุกแล้วเดินต่อไปเลย อีกคนหนึ่งมัวแต่นั่งคร่ำครวญอยู่ว่า "ไม่น่าเลย เดินมาตั้งไกลแล้วล้ม...เสียดาย เจ็บเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน" ระหว่างสองคนนี้ ใครจะได้ระยะทางมากกว่ากัน ? หลับหูหลับตาตอบก็รู้ว่า คนที่ลุกแล้วเดินเลยได้ จะต้องระยะทางที่มากกว่าอย่างแน่นอน..!

    ดังนั้น...ในเรื่องของความดี ต้องหน้าด้านหน้าทน สู้ทำไป จนกว่าที่จะดีจริง ๆ ความหน้าด้านหน้าทนมาจากขันติบารมี ความจริงจังสม่ำเสมอมาจากสัจจบารมี ความพากเพียรไม่ท้อถอยมาจากวิริยบารมี อยู่ในบารมี ๑๐ ทั้งหมด


    สมัยที่พวกกระผม/อาตมภาพฝึกกันอยู่ที่วัดท่าซุง หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านให้เขียนบารมี ๑๐ แปะหัวเตียงเอาไว้ ตื่นเช้าขึ้นมามองก่อนเลย ข้อไหนของเรายังบกพร่อง วันนี้ต้องทำให้ได้ ตอนเย็นมาดูใหม่อีกทีหนึ่ง วันนี้เราทำข้อไหนได้บ้าง ? บกพร่องข้อไหนบ้าง ? พรุ่งนี้ต้องทำให้ได้ ต้องอยู่ในลักษณะนี้ถึงจะก้าวหน้า
    โดยเฉพาะในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ถ้าแบกมานะไว้..เจริญยาก ก้าวหน้ายาก ต้องลดมานะลงในระดับถึงเป็นพระมหากษัตริย์ก็ต้องไหว้คนจัณฑาลเพื่อขอเรียนรู้ได้ ในพระธรรมบทมีบอกไว้ชัดเจนเลย

    ตรงส่วนนี้จึงฝากไว้เป็นข้อคิดกับพวกเราว่า ให้สังเกตแค่รอบข้างก็พอว่า เวลาทำงานเราเป็นอย่างไร ? แนวคิดนี้ไปไม่ได้ เราก็เปลี่ยนแนวคิดใหม่ เขาไม่ให้เข้าตรงหน้า เราก็อ้อมเข้าข้างหลัง เข้าข้างหลังไม่ได้ก็ปีนข้างหน้าต่าง ถ้าหากว่าปีนหน้าต่างก็ยังไม่ได้ ก็โดดค้ำถ่อขึ้นไปเลย ต้องหาทางไปได้สักทางหนึ่ง เพียงแต่ว่าอย่ายึดติดกรอบเดิมมาก สำคัญอยู่ตรงที่ว่าความสำเร็จของงานคืออะไร ถ้าหากว่าต้องการให้งานสำเร็จ บางทีก็ต้องแหกคอกบ้าง


    เพียงแต่ว่าถึงแหกคอกไป ตีนข้างหนึ่งก็ต้องเหยียบเส้นเอาไว้ เส้นในที่นี้ก็คือศีล คือสมาธิ คือปัญญา ไปอย่างไรก็อย่าให้หลุดจากกรอบของศีล ถ้าอย่างนั้นโอกาสที่จะปฏิบัติแล้วผิดพลาดก็ยากมากแล้ว

    วันนี้จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนกระทั่งบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอังคารที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...