เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 ธันวาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพุธที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    วันนี้ตรงกับวันพุธที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ภารกิจสำคัญของกระผม/อาตมภาพก็คือต้องออกรายการทีวีของ ป.ป.ช. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) โดยมีผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมรายการ ได้แก่ท่านอาจารย์มาณี (รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ) ผู้ดำเนินรายการก็คือคุณเทอร์โบ (ณัฐปกรณ์ ประเสริฐสุข) ปรากฏว่าหลังจากถ่ายทำแล้ว ก็ยังต้องแสดงพระธรรมเทศนาต้านทุจริต โดยกระผม/อาตมภาพขอแสดงในกัณฑ์สุดท้าย คือสรุปหลักธรรมว่าด้วยการต้านทุจริต เสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วถึงได้นั่งคุยกัน

    ท่านอาจารย์มาณีนั้นต้องถือว่าเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของกระผม/อาตมภาพเช่นกัน เพราะว่าได้ติดตามศึกษาการบรรยายของท่านผ่านระบบซูมมีตติ้งออนไลน์ ในเรื่องของการบูรณาการหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เข้ากับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อที่จะให้เด็กรุ่นใหม่ของเราได้เรียนกัน

    กระผม/อาตมภาพติดตามท่านบรรยายการต้านทุจริตศึกษาทั้ง ๔ ภาค ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และบรรยายการต้านทุจริตทั้ง ๔ ภาค ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่ในหัวข้อ "เป็น อยู่ คือ อย่างเรียบง่ายในภาวะวิกฤต" กระผม/อาตมภาพก็ยังเข้าเรียนด้วย จึงทำให้ค่อนข้างจะรู้จักมักคุ้นท่านอาจารย์อยู่ด้านเดียว แต่ว่าท่านอาจารย์มาณีก็ศึกษาประวัติของกระผม/อาตมภาพเอาไว้แล้ว

    โดยเฉพาะในเรื่องของการแสดงพระธรรมเทศนาต้านทุจริตศึกษาก็ดี หรือว่าการถ่ายทำรายการต้านทุจริตของ ป.ป.ช. ก็ตาม เท่าที่ทราบมา ทางด้านจังหวัดสุพรรณบุรีก็ถ่ายทำรายการ โดยมีท่านเจ้าคุณประไพ - พระสุพรรณวชิราภรณ์, ดร. (ประไพ ปุญฺญกาโม ป.ธ.๓) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นผู้ร่วมรายการ

    ทางด้านจังหวัดกาญจนบุรีแห่งนี้ ก็มีพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณประสงค์ - พระเทพเมธาภรณ์ (ประสงค์ วราสโย ป.ธ.๘) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีฝ่ายธรรมยุต และพระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ, ดร. (ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีฝ่ายมหานิกาย ก็แปลว่าทั้ง ๔ ราย ซึ่งถ่ายทำรายการนี้ มีกระผม/อาตมภาพรูปเดียวที่ไม่ใช่เจ้าคณะจังหวัด ก็แปลว่า การคัดสรรของทางสำนักงาน ป.ป.ช. นั้น ได้ดูแล้วดูอีกว่าจะเอาพระเถระรูปใดมาออกรายการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้เข้าชมเข้าฟังรายการนี้

    หลังจากที่มานั่งคุยกันแล้ว กระผม/อาตมภาพก็ยังแสดงความหนักใจ เนื่องเพราะว่าการที่เราจะนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาเข้าไปในโรงเรียนนั้นเป็นของยาก โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ สังคมไม่เอื้ออำนวยแล้ว ถ้าเป็นสมัยที่กระผม/อาตมภาพยังเด็กอยู่
    ผู้คนยังรักเกียรติ รักชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเป็นอย่างยิ่ง จึงพยายามที่จะระมัดระวัง ไม่ทำอะไรที่จะทำให้เสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูลของตน แต่ว่าสังคมในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถึงขนาดยอมรับกันว่า ถ้าหากว่าท่านรวย เราก็จะไม่ถามถึงความประพฤติของท่านว่าเป็นอย่างไร ?
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    ในเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสิ่งหนึ่งประการใดคอยตีกรอบ แล้วในขณะเดียวกัน ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองก็ดี ในครอบครัวก็ตาม น้อยรายที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชน หรือว่าเด็กเล็กลูกหลาน ได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อสังคมไม่เอื้ออำนวย ผู้ใหญ่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ก็คงต้องใช้ระยเวลาอย่างน้อย ๒ - ๓ ชั่วคน ในการสร้างเด็กรุ่นใหม่ ให้รังเกียจการทุจริต โดยเฉพาะถ้าหากว่ากำลังใจไม่มั่นคงพอ ก็ย่อมจะโดน รัก โลภ โกรธ หลง ดึงให้ไหลตามกระแสโลกไป ก็คือบูชาเงิน หรือว่าวัตถุเป็นใหญ่ ทำให้การทุจริตเกิดขึ้นได้ง่าย

    การที่ท่านทั้งหลายจะมีกำลังในการต่อต้านกระแสโลกนั้น อันดับแรกเลย เราต้องเพียรพยายามรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ การที่ท่านทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังให้ศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น ย่อมทำให้สมาธิเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อสมาธิเกิดขึ้น เราก็นำไปใช้พินิจพิจารณา เห็นว่าสิ่งใดก่อให้เกิดประโยชน์ สิ่งใดก่อให้เกิดโทษ ไม่ว่าจะแก่ตัวเอง ครอบครัว สังคม หรือว่าประเทศชาติ แล้วก็เลือกเอาสิ่งที่ก่อประโยชน์ ละเว้นในสิ่งที่เป็นโทษ ซึ่งหลักธรรมตรงนี้ก็คือสังวรปธาน และปหานปธาน สังวรปธานก็คือในเรื่องของการระมัดระวังป้องกัน ปหานปธานก็คือในเรื่องของการเพียรพยายามแก้ไขข้อผิดพลาด

    หลังจากนั้นแล้วก็มาภาวนาปธาน ก็คือเพียรสร้างคุณงามความดีขึ้นในใจของเรา แล้วปิดท้ายด้วยอนุรักขนานุปธาน ก็คือเพียรรักษาความดีนั้น ๆ เอาไว้ เราถึงจะมีกำลังเพียงพอในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีโลภะและโมหะเป็นมูลได้

    เพราะว่าความโลภ โดยเฉพาะความหลงผิด เห็นว่าความร่ำรวยเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ไม่สนใจวิธีการที่ทำให้ตนเองร่ำรวย ถึงขนาดยอมทำการทุจริต ก็แปลว่าเราประกอบไปด้วยโมหะ ปราศจากปัญญา ยอมให้โลภะชักจูงเราไปในด้านผิดพลาด ดังนั้น..ถ้าใช้หลักปธานทั้ง ๔ ก็คือการพากเพียรป้องกัน พากเพียรแก้ไข พากเพียรสร้างสรร และ พากเพียรรักษา ก็จะทำให้เราท่านทั้งหลายมีหลักธรรมที่จะใช้ในการนำชีวิต

    โดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือโลกบาลธรรม ได้แก่ หิริ มีความละอายต่อความชั่ว ไม่กล้ากระทำความชั่วนั้น ๆ และโอตัปปะ เกรงกลัวผลของความชั่วนั้นจะส่งผลให้เราลำบาก เดือดร้อน จึงไม่กล้าที่จะกระทำความชั่ว ถ้าหากว่าเด็กรุ่นใหม่ของเรามีความละอายชั่วกลัวบาป รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา เขาย่อมมีปัญญาพอเพียงที่จะมองเห็นว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่วอย่างแท้จริง และโดยเฉพาะต้องไม่เป็นคนที่ทนต่อความชั่ว เห็นสิ่งไหนเป็นสิ่งไม่ดีไม่งาม ก็ต้องรู้จักคัดค้าน ไม่เช่นนั้นแล้วถ้าเราไม่ชอบ แต่หลบห่างไปเฉย ๆ ก็ได้แค่ตัวเอง ไม่ได้แก่สังคมและประเทศชาติเลย

    สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้นมีประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ที่ใช้ระยะเวลา ๔๐ ปี ในการสร้างเด็ก ๆ ให้มีความซื่อสัตย์ซื่อตรง ไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ไม่แสวงหาลาภที่ได้มาโดยไม่ชอบ คือการทุจริต เป็นต้น แม้ว่าจะมีปลาเน่าอยู่ไม่กี่ตัว แต่ก็ยังโดนสังคมบีบบังคับ เบียดเบียน จนกระทั่งไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เรียกว่าถ้าหากว่าใครทุจริตคอรัปชั่นในสังคมญี่ปุ่น โดนจับได้เมื่อไร ก็หมดอนาคตไปเลย..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    พวกเราที่มีความพากเพียรพยายาม จะนำเอาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เข้าไปให้เด็กรุ่นใหม่ศึกษาเล่าเรียนนั้น อันดับแรกเลย ต้องมีการสั่งการลงมาจากเบื้องบน อย่างเช่นว่าคำสั่งนายกรัฐมนตรีบ้าง คำสั่งรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการศึกษาบ้าง ในการสั่งการให้นำหลักสูตรเหล่านี้เข้าไปในโรงเรียน

    แล้วขณะเดียวกัน โรงเรียนก็ต้องให้จัดกิจกรรม ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับวัดวาอาราม ซึ่งจะอบรมให้เด็ก ๆ ทั้งหลายมีความละอายชั่ว กลัวบาป รู้จักรักษาศีล ปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นการ
    วางพื้นฐานทั้งภายนอก ก็คือการศึกษาเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ และการวางพื้นฐานภายใน คือสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในจิตในใจ ถ้าเป็นไปในลักษณะแบบนี้ ถึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ ในการสร้างบุคคลรุ่นใหม่ที่รังเกียจการทุจริต ใฝ่แต่ความสุจริตทั้ง ๓ ประการ ก็คือ สุจริตทางกาย สุจริตทางวาจา และสุจริตทางใจ

    น่าเสียดายที่ว่าหลักสูตรรุ่นเก่า ๆ อย่างที่กระผม/อาตมภาพเคยศึกษามา อย่างเช่นว่า "สมบัติผู้ดี" เป็นต้น สมัยนี้ไม่มีการศึกษาเล่าเรียนแล้ว จึงทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ของเรา ห่างไกลจากสิ่งที่ดีงาม หรือว่าหลักการประการใดที่ก่อให้เกิดความดีงามก็ไม่รู้ จึงได้แต่หวังว่า ถ้านำเอาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาเข้าไปให้เด็ก ๆ และมีการประสานกับทางวัดวาอาราม ซึ่งมีครูพระสอนศีลธรรมอยู่ เข้าไปช่วยในการขัดเกลาเด็ก ๆ ของเรา ก็อาจจะประสบความสำเร็จเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่น

    เนื่องเพราะว่าทางด้านญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้มีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เข้าไปประกอบอย่างชัดเจน นอกจากความหยิ่งในศักดิ์ศรีของตนเอง ที่จะไม่ทำชั่ว แล้วทำให้ตัวเองและครอบครัวมัวหมอง ในเมื่อเรามีหลักธรรมเป็นเครื่องประกอบ และทุกฝ่ายทุ่มเทกันอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่าการต้านทุจริตภายในสังคมไทยของเรานั้น น่าจะประสบความสำเร็จในระยะเวลาที่น้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินการมา

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพุธที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...