เป้าหมายของผู้ถือพรหมจรรย์ 5 จำพวก

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย thanan, 13 มกราคม 2005.

  1. thanan

    thanan เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 กันยายน 2004
    โพสต์:
    1,667
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +5,216
    *สรุปและเรียบเรียงโดย คุณธัมมโชติ


    เรื่องนี้สรุปความจากพระไตรปิฎก มหาสาโรปมสูตร โอปัมมวรรค พระสุตตันตปิฎก เล่ม 4 มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

    พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบการออกบวชเพื่อการเข้าถึงแก่นของศาสนาว่า เหมือนผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้ โดยทรงแบ่งไว้ 5 จำพวกคือ

    1.) บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ เขามีความยินดี พอใจในสิ่งเหล่านั้น ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ยกตนข่มผู้อื่นว่า ตนมีลาภสักการะ และได้รับคำสรรเสริญมากกว่าผู้อื่น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วตัดเอากิ่งและใบถือไป โดยเข้าใจผิด คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่ลาภสักการะ และความสรรเสริญ ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอากิ่งและใบของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กิ่งและใบนั้น

    2.) บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ผู้อื่นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เขาย่อมมัวเมา มีความประมาทเพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอาสะเก็ดถือไป คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่ศีล ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอาสะเก็ดของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่สะเก็ดนั้น

    3.) บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในศีลนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการทำสมาธิให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในสมาธินั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น ผู้อื่นเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น เขาย่อมมัวเมา มีความประมาทเพราะสมาธินั้น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอาเปลือกถือไป คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่สมาธิ ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอาเปลือกของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่เปลือกนั้น

    4.) บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในศีลนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการทำสมาธิให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในสมาธินั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสมาธินั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะสมาธินั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา จนทำญาณทัสสนะให้เกิดขึ้น (การเห็นแจ้งในปัญญาจากการเจริญวิปัสสนาขั้นต้น แต่ยังไม่ถึงขั้นมรรค/ผล หรือบรรลุมรรค/ผลขั้นต้นแล้ว (เช่น เป็นโสดาบัน) แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นพระอรหันต์) เขามีความยินดี พอใจในญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้เราเห็นอยู่ ผู้อื่นไม่รู้ไม่เห็น เขาย่อมมัวเมา มีความประมาทเพราะญาณทัสสนะนั้น

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอากระพี้ถือไป คิดว่านั่นคือแก่นไม้ เขาย่อมไม่ได้แก่นไม้ ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วติดอยู่ที่ญาณทัสสนะ ย่อมเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น เพราะเขาได้ถือเอากระพี้ของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กระพี้นั้น

    5.) บางคนเมื่อออกบวชแล้ว ได้รับลาภสักการะ และความสรรเสริญ แต่เขาไม่มีความยินดีในสิ่งเหล่านั้น ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งเหล่านั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะ และความสรรเสริญนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการถือศีลให้บริสุทธิ์ เขามีความยินดี พอใจในความบริสุทธิ์ของศีลนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในศีลนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ของศีลนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการทำสมาธิให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในสมาธินั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสมาธินั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะสมาธินั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา จนทำญาณทัสสนะให้เกิดขึ้น เขามีความยินดี พอใจในญาณทัสสนะนั้น แต่ความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในญาณทัสสนะนั้น ไม่ประมาท ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น

    เมื่อไม่ประมาท เขาจึงมีความเพียรในการเจริญวิปัสสนาต่อไป จนทำอรหัตตมรรค อรหัตตผล ให้เกิดขึ้น (บรรลุเป็นพระอรหันต์)

    เปรียบเสมือนผู้แสวงหาแก่นไม้ ไปพบต้นไม้ใหญ่ แล้วถากเอาแก่นถือไป เขาย่อมได้ประโยชน์ จากแก่นไม้นั้น ฉันใด ผู้ที่ออกบวชแล้วไม่ประมาท มีความเพียรในการเจริญวิปัสสนา จนทำอรหัตตมรรค อรหัตตผลให้เกิดขึ้น เขาย่อมเข้าถึงแก่นของศาสนา ฉันนั้น

    เพราะพรหมจรรย์นี้ มีอรหัตตมรรค อรหัตตผลเป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 มกราคม 2005
  2. บัวใต้น้ำ

    บัวใต้น้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กันยายน 2004
    โพสต์:
    888
    ค่าพลัง:
    +1,937
    โมทนาสาธุ

    เคยรู้มาแล้วน่ะครับ

    เป็นสิ่งที่ดี ทุกคนควรจะตะหนักเอาไว้ให้มากๆครับ

    ผมว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่นักปฏิบัติ มักจะมองข้าม
     

แชร์หน้านี้

Loading...