อุบายเช็ดน้ำตา

ในห้อง 'ทวีป ยุโรป' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 29 พฤศจิกายน 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    คนเราลงเห็นความตายเป็นเรื่องไม่น่ากลัว ก็น่าจะชื่อว่าเป็นผู้ “หลุดพ้น” ได้ เพราะการ “ติด” หรือ “ข้อง” ของชีวิต มันก็อยู่ที่ขืนจะเอาชนะกฎธรรมดา และเฝ้าวิตกกังวลว่าจะชนะไม่ได้ หรือพ่ายแพ้เร็วเกินไป กล่าวง่ายๆ ก็คือ “กลัว” นั่นเอง

    ความกลัวเป็นบ่อเกิดของอุบาย และการดิ้นรนกลัวยากกลัวจน ก็ดิ้นรนขวนขวายสู้ เหน็ดเหนื่อยทำงานกลัวเจ็บกลัวแก่ ก็ดิ้นรนหาทางกันและแก้ กลัวหนาวกลัวร้อน ก็พยายามหาอุบายเพื่อผ่อนร้อนผ่อนหนาว ฯลฯ บางที่ก็ดิ้นรนไปก่อนที่เหตุการณ์อันเป็นภัยนั้นจะเกิดขึ้นจริงๆ เสียอีก ต้องขาดทุนไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ความกลัวเป็นผีร้ายที่เฝ้าหลอกหลอนเฝ้าประทุษร้ายคนให้มีจิตวิปลาสไปต่างๆ นานา

    อย่างไรก็ตามยอดสุดของความกลัวก็อยู่ที่ความตาย ฉะนั้นใครเห็นความตายว่าเป็นเรื่องปรกติ และมีใจปรกติได้ก็นับว่าเป็นผู้พ้นภัยของชีวิต เป็นผู้ชนะโลกได้ เพราะลงรู้สึกต่อความตายได้อย่างนี้แล้วปัญหาอื่นๆ ก็กลายเป็นเรื่องเล็กเรื่องย่อยไปหมด เขาหมดเหตุปัจจัยที่จะดิ้นรนหวั่นไหวอย่างสิ้นเชิง จึงน่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ “หลุดพ้น”

    ความหมายของคำว่า “หลุดพ้น” ตามตำราธรรมะจะเป็นทำนองนี้ หรือไม่ก็ช่างเถอะ ! แต่หากใครทำจิตใจให้เข้าถึงภาวะตามที่ “สู่รู้” นี้ได้ ก็ไม่น่าจะน้อยหน้าพระอรหันต์องค์ไหน

    ความหมายของ ความ “หลุดพ้น” ดังว่านี้ ดูก็ง่ายๆ แต่ก็ไม่ยักง่าย สาเหตุที่เรื่องง่ายๆ ต้องกลายเป็นยาก ก็ เพราะวิสัยคนไม่ชอบนึกถึงความตายกัน เห็นมีแต่พยายามหาอุบายที่จะลืมมัน คนส่วนใหญ่ในโลกมักนิยมแก้ทุกข์เรื่องนี้ด้วยการทำ “ไม่รู้ ไม่ชี้” ทำราวกะว่าความแก่ความตายหรืออัปมงคลทั้งหลายแหล่มันเกิดจากเพราะไป “รู้” มันเข้า ถ้าไม่รู้มันเสีย ภัยและทุกข์ก็ไม่มี อุบายแก้ทุกข์ของชาวโลกที่กลายเป็นแฟชั่น โดยธรรมชาติไปอย่างนี้

    ก็เหมือนเด็กทารกหนีเสือ เมื่อ ผู้ใหญ่เห็นเสือก็เบิกตาโพลง ลืมตาสอดส่ายหาทางที่จะพ้นจากเขี้ยวเล็บของเสือ ระวังตัวตลอดเวลา ส่วนเด็กทารกหาทำเช่นนั้นไม่ พอเห็นเสือเท่านั้นก็หลับตาปี๋ เพราะคิดอย่างประสาเด็กว่า เสือเป็นสัตว์ที่เป็นภัยก็ตรงที่ไปเห็นมันเข้า หากไม่เห็นมันเสีย ภัยก็ไม่มี ความเป็นเสือก็ไม่มี เหตุนี้เด็กทารกจึงหนีเสือด้วยวิธีหลับตา ก็ถูกเหมือนกัน แต่ถูกตามประสาทารก คนหนีภัยจากความตายด้วยวิธีลืมตาย ก็ฉันเดียวกันนี้

    ทางพระ (พุทธ) ศาสนามีหลักคำสอนที่จะชักจูงคนให้เผชิญกับความจริง โดยเฉพาะความจริงที่หลบไม่พ้นเลี่ยงไม่ได้ เช่นความตายอย่างนี้ แม้ใครๆ ก็ไม่ชอบ แต่ก็ต้องพบกับมัน ไหนๆ จะพบแล้วก็สอนให้พบด้วยสติสัมปชัญญะ ฝึกใจให้ชินต่อสภาวะที่หนีไม่พ้น เหตุนี้ความตายจึงกลายเป็นบทเรียนฝึกจิตที่ดี เรียกตามภาษาธรรมะว่า “มรณัสสติ” นึกถึงความตายไว้เนืองนิจ จนกระทั่งเห็นว่าความตายไม่มีความหมายแตกต่างจากความเป็น เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป นี่ก็ “หลุดพ้น”

    มีครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่ง อยู่ด้วยกันทั้งหมด ๖ คน มีพ่อแม่ ลูกชาย ลูกสาว ลูกสะใภ้ และหญิงคนใช้ ถึงฤดูทำนาพ่อกับลูกชายก็ออกไปไถนา ส่วนพวกผู้หญิงก็ผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำอาหารไปส่ง วันหนึ่งเกิดเหตุร้าย ลูกชายถูกงูเห่ากัด พ่อแก้ไขไม่ทัน จึงถึงแก่ชีวิตกลางนานั่นเอง พ่ออุ้มร่างที่ไร้ชีวิตของลูกมาวางพาดไว้บนคันนา พิจารณาเกิดธรรมสังเวชแล้วก็หันเข้าจับคันไถ ไถนาต่อไป มีใครคนหนึ่งผ่านมา จะผ่านไปทางบ้าน เขาจึงฝากสั่งไปถึงพวกบ้านว่า วันนี้ให้นำอาหารมาเพียงส่วนเดียวและขอให้ออกมาให้หมดทุกคน

    เมื่อพวกผู้หญิงทางบ้านออกมาถึงนา รู้เรื่องร้ายก็พากันไปยืนดูร่างของชายหนุ่ม ซึ่งเคยเป็นลูก, เป็นผัว, เป็นพี่, เป็นนายของแต่ละคนมา เกิดความสังเวชแล้วก็หักใจ แยกย้ายกันลงไปเก็บขี้ดินขี้หญ้าปรับปรุงพื้นนาทำงานต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    ขณะนั้นมีชายแปลกหน้าคนหนึ่ง ไม่มีใครทราบว่าเขามาถึงที่นั้นแต่เมื่อไร เขามองร่างชายหนุ่มที่นอนตายอยู่บนคันนา แล้วก็ซักถามทุกคนในที่นั้น เริ่มแต่พ่อ เขาถามว่า

    “ลูกชายของท่านที่นอนตายอยู่นี้ สมัยมีชีวิตอยู่เขาคงเป็นลูกที่เลวร้ายมากซีนะ ท่านจึงไม่เสียใจ ร้องไห้อาลัยเขา ?”

    ชายผู้พ่อตอบว่า “ลูกชายเป็นคนดีมาก คนดีอย่างนี้จะมาเป็นลูกสักกี่คนก็ไม่หนักใจ เพราะเขาไม่เคยทำความยุ่งยากให้เลย ส่วนเหตุที่ไม่ร้องไห้นั้น ก็เพราะคิดเห็นว่าความตายของคนก็เหมือนงูลอกคราบ งูเมื่อมันสละลอกคราบเก่าทิ้งแล้ว มันก็เลื้อยไปอย่างไม่อาลัย แม้แต่จะเหลียวกลับหลังมาดู ฉันใด ดวงวิญญาณที่ออกจากร่างสัตว์แล้วก็ฉันนั้น มีบางเวลาเหมือนกันที่เผลอจะร้องไห้ แต่พอนึกถึงคราบงูแล้วก็อาย กลัวงูมันจะหัวเราะเยาะเอา ที่ไปนั่งร้องไห้อยู่กับคราบของมัน”

    หันมาถามหญิงผู้เป็นแม่ แม่ก็บอกว่า “ลูกคนนี้เมื่อก่อนที่จะมา (เกิด) เป็นลูก เขาก็ไม่ได้บอกได้เกริ่นให้รู้ตัว ฉะนั้น เวลาไป (ตาย) เขาก็ไม่ได้บอกได้ลา เลยไม่ยอมเสียน้ำตาให้แก่คนไม่มีมารยาทขาดวัฒนธรรมเช่นนี้”

    ถามผู้เป็นภรรยาบ้าง นางตอบว่า “การร้องไห้จะเอาดาวเอาเดือน ดูเหมือนจะมีท่าฉลาดกว่าร้องไห้จะให้คนตายแล้วฟื้น เพราะดาวเดือนยามตกอับลับแสงรัศมีไปแล้ว มันยังเคยเวียนโผล่มาให้ดูให้ชมในค่ำคืนต่อไป ส่วนคนตายแล้วไม่เห็นมีสักรายที่จะฟื้นคืนมา จึงไม่ยอมเสียเวลาร้องไห้”

    เมื่อหันไปถามน้องสาวบ้าง หล่อนตอบ “หนูยังสาวมีค่าราคาตัวอยู่ที่นวลของใบหน้า การร้องไห้จะทำให้หน้าของหนูเสียนวล หนูเสียดายนวลบนใบหน้า จึงไม่ร้องไห้”

    ส่วนหญิงคนใช้ตอบว่า “หม้อดินมันแตกแล้วประสานไม่ติด ไร้ประโยชน์หมดคุณค่าฉันใด คนที่ตายแล้วก็ฉันนั้น ร้องไห้เศร้าโศกไปอย่างไร เขาก็ไม่อาจจะฟื้นคืนมาเป็นนายให้ความปกป้องคุ้มครองเราได้อีก”

    ชายแปลกหน้าแปลกใจยิ่งขึ้น เมื่อฟังคำตอบของแต่ละคน แม้จะตอบไปต่างๆ กัน แต่ก็มีประโยชน์สำหรับตัวผู้ตอบ เพราะมันสามารถที่จะสกัดกั้นน้ำตาได้ เป็นเหตุผลที่จะช่วยให้ทุกคนพ้นจากการเศร้าโศก ทุกข์ระทม จึงยอมรับว่าเหตุผลของแต่ละคนนั้นมีประโยชน์ จึงถามต่อไปว่าเขาทำใจอย่างนี้ได้อย่างไร ? ชายผู้หัวหน้าครอบครัวตอบว่า

    เราเจริญกรรมฐานบทหนึ่งเป็นประจำคือ “มรณัสสติ” วันหนึ่งๆ ต้องพยายามนึกถึงความตายให้ได้ชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่งรู้สึกว่าความตายเป็นสมบัติของเรา ชายแปลกหน้ากล่าวคำขอบใจ แล้วก็จากไป

    เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะผู้เล่าไม่ใช่คนสามัญ คือ พระพุทธเจ้าท่านเล่าเพื่อเป็นอุบายเช็ดน้ำตา ให้แก่กฎุมพีผู้หนึ่ง ปรากฏอยู่ใน “อุรคชาดก” แต่ผู้เล่าต่อ ถ่ายทอดถึงผู้อ่านเป็นคนธรรมดา จึงดูไม่ค่อยจะขลังเหมือนของเดิม แต่ก็พอเป็นแนวทางให้รู้อุบายคำสอนของพระศาสนาได้ว่า ท่านประสงค์ให้คนกำจัดทุกข์กันด้วยการเข้าถึงความจริง โดยเฉพาะความจริงที่เราต้องพบกับมัน

    ท่านไม่ประสงค์จะให้เกิดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ชนิดสุดวิสัยคนสามัญเลย แต่คนเราก็ไม่พยายามมองให้เห็นเคล็ด หรือกลไกที่จะเข้าถึงสภาวะธรรมดากัน จึงเป็นเครื่องประมาณพื้นอุปนิสัยคนทั่วไปได้ว่า ชอบเป็นอยู่ด้วยการลืมความจริง จนกระทั่งเห็นความจริงเป็นสิ่งแปลกประหลาดไป อย่างเห็นคนที่ใกล้ชิดกับความตายได้อย่างปกติ ว่าเป็นคนผิดธรรมดา ถ้าไม่เสียคนก็กลายเป็นดีเกินคนไป ตามนิยายที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าเพื่อเป็นอุบายเช็ดน้ำตาผู้มีทุกข์ ดังถ่ายทอดมาเป็นตัวอย่าง

    แม้ในความเป็นอยู่ของคนธรรมดาทุกวันนี้ก็เช่นกัน หากใครมีปฏิปทาใกล้ชิดกับความตาย ถ้าไม่ดูถูกเหยียดหยาม ก็ยกย่องเทิดทูนไปเลย เช่นข่าวของผู้ประพฤติพรหมจรรย์บางท่าน ว่ามีปกตินอนในโลง (ผี) คือต่อโลงเตรียมไว้ใส่ศพของตัวเองเมื่อตายแล้ว แต่ตอนยังไม่ตายท่านก็ใช้โลงต่างเตียงนอนบ้าง บางเวลาท่านก็ลงไปนอนในโลงจริง ทำเป็นประหนึ่งว่าตายบ้าง ปฏิปทาของท่านเหล่านี้ เป็นที่น่าสนใจของประชาสามัญหนักหนา ที่ปรากฏเป็นข่าวก็มีอยู่หลายท่าน และล้วนแต่ได้รับนิยมยกย่องว่าเป็นผู้วิเศษไป

    ทั้งนั้น มีอยู่รายหนึ่งถึงกับกล่าวกันว่า เป็นพระอรหันต์ไปเลย นี่ก็เพราะเขาใช้วิสัยของเขามาเป็นหลักประมาณคุณธรรมของท่านเหล่านี้ เขาเห็นว่าท่านเหล่านี้ปฏิบัติในกิจที่เขาทำไม่ได้ แม้แต่เพียงจะนึก เขาก็พากันมืออ่อนตีนอ่อนไปเสียแล้ว เขาจึงคิดว่าผู้ที่ทำเช่นนี้ได้อย่างปกติ จะต้องไม่ใช่คนธรรมดา ถึงจะไม่เป็นพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นได้จริงๆ ก็จัดว่าเป็นผู้มีปฏิปทาควรบูชา ฉะนั้น ท่านผู้นอนโลง (ผี) หรือต่อโลงไว้ใส่ศพตัวเอง จึงเป็นบุคคลที่น่าสนใจถึงกับพากันตื่น

    หลวงตาก็เช่นนั้น เหตุผลที่เชื่อก็เพราะความตายมันทำให้คนใจฝ่อ กิเลสตัณหาลดลง แม้สิ่งที่เป็นนิมิตหรือสัญญาที่ชวนให้นึกให้คิดถึงเรื่องตาย ก็กลายเป็นเครื่องมือที่จะลดกิเลสตัณหาลงได้

    จนกระทั่งไปพบโลงที่วัดหาดนกกระสา งานยกช่อฟ้าอุโบสถ หลวงตาไปถึงขณะที่กำลังได้ฤกษ์ยกช่อฟ้า ผู้คนหลามไหลเต็มวัดเต็มวา เหตุที่ถือกันว่างานยกช่อฟ้านี้บุญแรง พระอาจารย์จินต์ผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็กำลังวุ่นวายอยู่กับพิธี เพราะเป็นหัวแรงสำคัญของงาน ให้คนพาหลวงตาไปพักที่กุฏิก่อน เมื่อพิธียกช่อฟ้าเสร็จสิ้นลงแล้ว จึงจะอาราธนาลงมาเทศน์

    พระภิกษุจินต์รูปนี้ หลวงตาเคยรู้จักมาก่อน เพราะเคยนิมนต์ท่านไปงานปิดทองช่อฟ้า ตามตลาดถึงสองคราว คราวแรกเทศน์ที่ตลาดคลองเตย ไปทราบที่นั่นเองว่าต้องเทศน์กลางตลาด และทราบความเป็นมาว่า พระภิกษุจินต์ไปรับอาสาสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง ที่วัดในจังหวัดระยองวัดหนึ่ง วิธีการของพระภิกษุจินต์ก็คือ นำช่อฟ้าของวัดนั้นเที่ยวตระเวนไปตั้งโรงพิธีตามชุมชน ประกาศให้คนมาทำบุญปิดทอง แล้วก็ย้ายไปเรื่อยๆ วิธีนี้พระภิกษุจินต์กับพวกลูกศิษย์เล่าว่าได้เงินดี บางแห่งก็ได้เป็นหมื่นๆ เหมือนกัน

    อุปสรรคที่ร้ายแรงก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ของคนบางพวกหาว่าเอาพิธีกรรม หรือบุญมาบังหน้า นำช่อฟ้าออกเที่ยวตระเวนหากิน เป็นเหตุให้ต้องเผชิญกับคนปากร้ายให้โทษอยู่เสมอ คิดไปก็ดี เพราะจะได้ทดสอบตัวเองว่าจะมีความอดทนหรือไม่ ? ความดีนี่ถ้าใจไม่มั่นคงจริงๆ ก็ทำไม่ค่อยตลอดรอดฝั่งเหมือนกัน พระภิกษุจินต์ว่าการนึกได้อย่างนี้ทำให้เกิดกำลังใจ จึงต่อสู้เรื่อยไป หลวงตาฟังพระภิกษุจินต์แล้วออกจะเห็นใจและเลื่อมใส

    เวลาห่างกันประมาณสองปี ก็มาพบภิกษุจินต์อีกที่ตลาดใหม่ดอนเมือง คราวนี้เป็นการเทศน์งานปิดทองช่อฟ้าอุโบสถวัดหาดนกกระสา ซึ่งเป็นวัดของท่านเอง เทศน์จบแล้ว พระภิกษุจินต์กับลูกศิษย์ก็นิมนต์ต่อให้มาเทศน์ในวันงานยกช่อฟ้า ซึ่งตรงกับวันที่ ๓ เมษายน (ท้ายตรุษ)

    หลวงตานั่งพักอยู่บนกุฏิ ซึ่งได้ทราบจากคนนำพามาว่าเป็นกุฏิของพระภิกษุจินต์เอง เข้าของเกลื่อนกลาดเต็มกุฏิเต็มห้องไปหมด ล้วนแต่เป็นของจำเป็นที่จะต้องใช้ในงานทั้งนั้น จึงดูไม่เรียบร้อยนัก ความจริงหลวงตาก็ไม่ได้ตำหนิอะไร เพราะมีอยู่สิ่งหนึ่งมันดึงความสนใจไปหมด จนไม่เหลือไว้ให้คิดหาความบกพร่องใดๆ สิ่งนั้นคือโลงศพที่ต่อด้วยไม้สักใหม่เอี่ยมวางอยู่ข้างฝากุฏิ ด้านสะกัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบูชามีเครื่องสักการะพร้อมมูล ถัดไปอีกด้านหนึ่ง เป็นห้องเก็บของจากที่หลวงตานั่งอยู่มองเห็นได้รอบด้าน

    พิธีกรรมยกช่อฟ้าเสร็จสิ้นลงแล้ว เสียงโฆษกประจำงานประกาศว่าจะมีเทศน์อีกหนึ่งกัณฑ์ อ้อนวอนให้ผู้คนอยู่ช่วยกันฟัง ส่วนพระภิกษุจินต์ก็รีบขึ้นกุฏิเพื่อวิสาสะปฏิสันฐานหลวงตา ขณะนั้นผู้ศรัทธาได้ทราบว่ามาจากถิ่นไกล เช่น จากจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฯลฯ เข้าใจว่าคงจะเป็นถิ่นที่พระภิกษุจินต์เคยผ่านคุ้นมาก่อน เพราะได้ยินเรียกท่านว่า หลวงพ่อบ้าง อาจารย์บ้าง บางท่านก็มีกิริยาอาการนอบน้อมเป็นพิเศษ มีอยู่ท่านหนึ่ง เคารพหลวงพ่อจินต์ของเขาแล้ว ก็หันไปกราบที่นั่น หีบศพ...โลงผีของพระภิกษุจินต์

    “ใบนี้มันใบที่สอง” พระภิกษุจินต์กล่าวกับเขาผู้นั้น “ใบแรกไม้สักทั้งแผ่น อาจารย์วัดดอนมาหักคอขอเอาไปแปลงเป็นโต๊ะ ส่วนใบนี้เพิ่งได้มาใหม่ เขาเอามาให้จากปราจีน ว่างๆ ฉันก็ลงไปนอนในนั้น” ผู้ฟังๆ แล้วก็ยกมือจบหัวด้วยความอัศจรรย์เลื่อมใส

    และแล้วก็มาถึงผู้ใจบุญกลุ่มหนึ่งล้วนแต่เป็นผู้ชายหนุ่มๆ ทั้งนั้น สังเกตตามคำทักทายปราศรัยของกันและกัน ก็แสดงว่าคุ้นเคยกันมาก เป็นพนักงานจากบริษัทอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งแถวๆ บางนา เขานำซองเรี่ยไรซึ่งแจกคนงานมามอบถวายร่วมบุญ พระภิกษุจินต์ต้อนรับเขาอย่างกระตือรือร้น ตะโกนเรียกคนครัวให้จัดอาหารพิเศษกับแกล้ม มาต้อนรับคนกลุ่มนี้ และชี้ไปที่นั่น

    “ตามสบายเลยไอ้น้องชาย” พระภิกษุจินต์ว่า “นั่นหีบมหาสนุก ขุมทรัพย์อยู่ในนั้น”

    “อาจารย์รับรองอย่างนี้ผมก็หายเหนื่อย” นายคนหนึ่งกล่าวอย่างร่าเริง และทุกคนต่างมีอาการยิ้มแย้มผ่องใส ต่อมาวงอาหารก็ตั้งขึ้น พร้อมทั้งขุมทรัพย์ในหีบมหาสนุกก็ถูกขูดขึ้นมา

    หีบมหาสนุกก็คือ โลงใส่ศพ เครื่องหมายของผู้หลุดพ้น พระอรหันต์

    ส่วนขุมทรัพย์นั้นหรือ ? มันมีทั้งแบนและกลม !

    ยี่ห้ออย่าบอกเลย แต่เขาโฆษณาว่า ดื่มแล้วโล่งอุรา

    เอาอะไรแน่กะเครื่องหมาย ฝรั่งเขาว่าภาษาอังกฤษไม่ได้ทำให้คนกลายเป็นชาวโรมัน พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสไว้เหมือนกัน “หนังราชสีห์ไม่สามารถทำให้ลาเป็นเจ้าป่าไปได้” โลงผีก็ดุจกันแหละน่า !



    ...................... จบ ......................
     

แชร์หน้านี้

Loading...