"อานาปานสติ" กู้โลก

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย aprin, 24 กันยายน 2010.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    [​IMG]

    พระภาวนาโพธิคุณ (พระอาจารย์โพธิ์ จันทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล นำเดินจงกรม

    [​IMG]
    พระอาจารย์โพธิ์ บรรยายธรรมก่อนนั่งสมาธิ

    หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ในบริเวณสวนรถไฟ-วชิรเบญจทัศ อุทยานจตุจักร กรุงเทพฯ เปิดอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับกิจกรรมที่มีอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นมา ที่นี่อาจจะเป็นหอจดหมายเหตุฯ แห่งแรกที่มีชีวิต คือ ไม่เพียงเป็นสถานที่เก็บเอกสาร ข้อมูล บันทึกของท่านพุทธทาสเท่านั้น หากยังได้นำส่งเหล่านั้นมาให้ทุกๆ คนได้ธรรมวิจัยร่วมกันในทุกๆ มิติ

    ณ อาคารปูนไม่ทาสี เปิดโล่ง ที่ถูกออกแบบบางส่วนมาจากสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี แห่งนี้ ยังมีการจำลองลานหินโค้ง ภาพปูนปั้นจำลองหินสลักพุทธประวัติก่อนที่จะมีพระพุทธรูป หอพุทธทาส ห้องปฏิบัติธรรม นิพพานชิมลอง สวนปฏิจจสมุปบาท ปริศนาธรรมจากโรงมหรสพทางวิญญาณ ห้องหนังสือ สื่อธรรมะ และรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ก็ได้ถูกจำลองมาไว้ที่นี่ด้วย

    สิ่งสำคัญของหอจดหมายเหตุฯ ไม่ได้อยู่ที่อาคารใหญ่โตกลางน้ำที่จะเชิดชูท่านพุทธทาสในเรื่องของชื่อเสียง แต่เป็นการสืบเนื่องงานเผยแผ่ธรรมะที่ท่านพุทธทาสได้ขุดเพชรจากพระไตรปิฎกออกมา เพื่อวางรากฐานที่คงไว้ซึ้งแก่นธรรมให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของจิตภาวนา
    และในวันเปิดหอจดหมายเหตุ พระภาวนาโพธิคุณ (พระอาจารย์โพธิ์ จันทสโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล ได้บรรยายธรรม เพื่อกระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญทางด้านจิตภาวนาไว้ว่า หอจดหมายเหตุฯ สร้างขึ้นมาด้วยทุนทรัพย์จำนวนมาก ถ้าไม่มีใครใช้ก็สูญเปล่า

    "ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งอยู่ในพระสูตร ใจความว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า อยู่ในป่าแห่งหนึ่งกันหลายรูปด้วยกัน มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ ตอนเย็นๆ ก็มาสนทนาว่า ป่านี้ ภิกษุชนิดไหนเข้ามาอยู่จะทำให้ป่านี้งดงาม ก็เสนอกันต่างๆ นานา พระสารีบุตรก็เสนอว่า ป่านี้จะงดงามต่อเมื่อภิกษุที่มีปัญญา พระมหากัสสปะเสนอว่า ป่านี้จะงดงามต่อเมื่อภิกษุที่ถือธุดงควัตรแล้วก็มาอยู่ พระอานนท์ก็เสนอว่า ป่านี้จะงดงามต่อเมื่อพระที่เป็นพหูสูตมาอยู่ แล้วไม่ตกลงว่าของใครถูกของใครผิด ก็ไปถามพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่าที่พวกเธอเสนอมานั้น ถูกโดยปริยาย ความจริงป่านี้จะงดงามก็ต่อเมื่อภิกษุกลับจากบิณฑบาตแล้ว มานั่งคู่ขา อธิษฐานใจว่า ตราบใดที่ยังฆ่ากิเลสไม่ได้จะไม่เลิก ป่านี้จะงดงามก็เพราะภิกษุชนิดนี้"

    พระอาจารย์โพธิ์อธิบายว่า ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ยอมรับ คำเสนอแนะของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ ก็เพราะว่าท่านเหล่านี้เป็นพระอรหันต์กันหมดแล้ว หมายความว่าพระพุทธเจ้าส่งเสริมคนที่กำลังปฏิบัติธรรม เพื่อเลื่อนระดับชีวิต พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญผู้ตั้งใจปฏิบัติว่า ตราบใดที่ความทุกข์ยังไม่หมดก็จะไม่เลิก ภิกษุที่ปฏิบัตินี่แหละจะทำให้ป่าแห่งนี้งดงาม

    "หอจดหมายเหตุฯ มาอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ สวนจตุจักรเป็นที่สาธารณะ เป็นสวนบริเวณใหญ่ในกรุงเทพฯ มีคนเข้ามาใช้สอยในที่แห่งนี้มากมายหลายประเภท แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า จะทำให้สวนจตุจักรมีคุณมีค่าในทางดับทุกข์ได้หรือเปล่า บังเอิญได้มีการสร้างหอจดหมายเหตุฯ ขึ้นที่นี่ ถ้าหากสร้างขึ้นมาแล้วไม่มีคนมาปฏิบัติ หอจดหมายเหตุฯ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงดีใจ ปลื้มใจ ทั้งโมทนาที่ญาตโยมทั้งหลายสนใจฝึกอานาปานสติ

    "อานาปานสติมีประโยชน์ อานิสงส์อย่างมาก เมื่อเจริญอานาปานสติแล้วก็จะได้เจริญธรรมะสติปัฏฐานสี่ โพชฌงค์ ๗ เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ธรรมในการพ้นทุกข์ ทั้งหมด หลักการปฏิบัติก็อยู่ที่การเจริญอานาปานสติ พระพุทธเจ้าไปฝึกทำอย่างอื่นด้วยวิธีมากมายก็ไม่บรรลุ ในที่สุดพระองค์กลับมาใช้อานาปานสติ ที่จริงเรื่องอานาปานสติ เขารู้กันมาก่อนนานแล้ว ตอนที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะมีพระชนมายุเพียง ๗ พรรษา ในวันที่พระเจ้าสุทโธทนะจัดให้มีการแลกนาขวัญ ก็ได้นำพระองค์ไปด้วย พระโพธิสัตว์สิทธัตถะแทนที่จะไปสนุกสนานกับงานนักขัตฤกษ์ พระองค์ไม่ไป แต่พระองค์กลับนั่งขัดสมาธิ เจริญอานาปานสติ ทำให้บรรลุสมาธิ ถึงระดับที่เรียกว่า ปฐมฌาน ต่อมาเมื่อพระองค์ไปทำด้วยวิธีอย่างอื่น ก็เห็นว่าไม่มีทางสำเร็จ พระองค์ก็กลับมาใช้วิธีนี้ใหม่ ในที่สุดพระองค์ก็ได้บรรลุธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    "พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า อานาปานสติ เป็นอริยวิหาร เป็นที่อยู่ของพระอริยะ เป็นที่อยู่อันประเสริฐ เป็นพรหมวิหาร เป็นที่อยู่ของพรหม ที่อยู่ของพระพุทธเจ้าโดยมากอยู่กับอานาปานสตินี่เอง โยมต้องรู้ว่า อานาปานสติ เป็นทางสายกลาง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เมื่อปฏิบัติอานาปานสติ ก็ได้เชื่อว่า ดำเนินอยู่ในทางสายกลาง เมื่อปฏิบัติอานาปานสติ ก็จะรู้สิ่งสำคัญที่สุด คือ รู้เรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทเจ้าตรัสว่า สิ่งที่พระองค์รู้มีมากมาย แต่สิ่งที่พระองค์นำมาสอน คือใบไม้กำมือเดียว นั่นคือเรื่องอริยสัจ เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และทางดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์ใดที่ยังไม่รู้อริยสัจ สัตว์ทั้งหลายก็ว่ายเวียนไปในวัฏสงสารอย่างไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น "

    บ่อยครั้ง เราแทบไม่สนใจเลยว่า อริยสัจเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตของเรา อริยสัจทั้งหมดอยู่ในชีวิตของเรา ถ้าไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจ จะมีความทุกข์มาก พระอาจารย์โพธิ์บอกว่า ความทุกข์มีสองอย่าง คือทุกข์ทางร่างกาย คือทุกขเวทนา นั่งนานก็ปวด ยืนนานก็ปวด ทำอะไรก็ไม่สบาย มันมีทุกข์อยู่ในกาย แล้วยังมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามารบกวน มันเป็นทุกข์อยู่เป็นประจำ

    "แต่ทุกข์ที่สำคัญที่สุดคือทุกข์ทางจิตใจ ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะก็มีความทุกข์ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ หากเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีอะไร เกิดมาเพื่อทนทุกข์ไปกว่าจะตาย แต่เรายังโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธเจ้า พบกับพระพุทธศาสนา แล้วได้เดินตามรอยพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงสอนไว้ คือ ปฏิบัติทางสายกลาง และ ทางสายกลางที่สะดวกที่สุด ก็คือการฝึกอานาปานสติ เพื่อให้เห็นทุกข์และการดับทุกข์

    "คนไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเรานำธรรมะมาใช้จริงๆ คนไทยจะอยู่อย่างสงบสุข ไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้คนไทยมีปัญหาเพราะไปหลงวัตถุนิยม เพราะฉะนั้นเราต้องหันกลับมาสนใจพุทธศาสนาในด้านการปฏิบัติ ตอนนี้ฝรั่งทั่วโลกเขาหันมาสนใจพุทธศาสนา แล้วเขามาบ้านเมืองเรา ซึ่งบ้านเมืองเรามีชื่อว่า มีพุทธศาสนามาช้านาน แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม เขาก็จะดูถูกว่าคนไทยนับถือพุทธศาสนาเพียงแต่ทะเบียน และประเพณี ถ้าเราปฏิบัติให้จริงจัง ให้ได้ผล ต่อไปจะได้แบ่งปันความรู้ทางพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศได้

    "อาตมาปลื้มใจมากที่กรุงเทพฯ มีหอจดหมายเหตุฯ เพราะชาวต่างชาติมาเขาจะได้มีศูนย์มาปฏิบัติธรรมกลางเมืองหลวง เราก็ได้แบ่งปันความรู้ให้เพื่อนมนุษย์ไว้สำหรับแก้ทุกข์ได้ ถ้าฝรั่งเข้ามาแล้ว ไม่เห็นคนสนใจปฏิบัติธรรมกันก็น่าเสียดาย เพราะเดี๋ยวนี้ฝรั่งนิยมฝึกสมาธิกันมากทั้งในอังกฤษ อเมริกา และอีกหลายประเทศ การที่เรามาปฏิบัติกันอย่างนี้ได้ประโยชน์หลายอย่าง"

    ท่านยกตัวอย่างว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งไปปฏิบัติที่สถานปฏิบัติธรม ทีปภาวัน บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ได้บอกกับท่านว่า มีคนเขาสงสัยว่า มานั่งสมาธิกันทำไมสี่วันห้าวัน นั่งเฉยๆ ผู้หญิงคนนั้นก็บอกว่า มานั่งแล้วจิตมันสงบ จิตมันเย็น เมื่อกลับไปบ้าน ก็ทำให้บ้านเรือนเย็น บ้านเรือนสงบ คนรอบข้างก็ไม่มีปัญหา

    "เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆ อยู่ที่จิตใจเรานั่นเอง ถ้าจิตเรามันร้อน เราก็มีปัญหาเดือดร้อน เครื่องมือที่จะทำให้จิตใจเย็น ก็คือฝึกภาวนา และวิธีฝึกภาวนาที่สะดวกที่สุด ก็คืออานาปานสตินี่เอง"

    ***หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ) ถนนนิคมรถไฟสาย ๒ จตุจักร กรุงเทพฯ จัดอบรมอานาปานสติภาวนาทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์: ๐-๒๙๓๖-๒๘๐๐, ๐-๒๙๓๖-๒๙๐๐ เว็บไซต์: <www.bia.or.th>, <www.dhamma4u.com>

    "
     

แชร์หน้านี้

Loading...