อริยสัจ ๔..

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย นิพพานายะ, 6 มกราคม 2014.

  1. นิพพานายะ

    นิพพานายะ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2011
    โพสต์:
    56
    ค่าพลัง:
    +176
    <a href="http://image.ohozaa.com/view2/xk4FYSxL2LcHsD9t" target="_blank"><img border="0" src="http://image.ohozaa.com/i/a53/MMUl25.jpg" /></a>

    อริยสัจ ๔..

    อริยสัจ คือ “ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงของพระอริยบุคคล” ถ้าผู้ใดสามารถรู้ อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา ผู้นั้นจะพ้นจากปุถุชน กลายเป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา ..อริยสัจ ๔ จัดเป็นหมวดธรรมที่สำคัญมากของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่สรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมด เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกนั้น สรุปรวมลงในอริยสัจ ๔ ทั้งสิ้น อริยสัจ ๔ มีดังนี้

    ๑. ทุกข์ : ความทุกข์

    ทุกข์ คือ สิ่งที่เบียดเบียนบีบคั้นทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อันเกิดจากร่างกายหรือจิตใจ ถูกเบียดเบียนแล้ว ทนได้ยาก หรือทนไม่ได้ จึงทำให้เกิดเป็นทุกข์ แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

    ๑.๑ สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำสภาวะ หมายถึง ความทุกข์ที่มีประจำอยู่ในสภาพร่างกายของคนเรา เริ่มตั้งแต่เกิดมามีชีวิต จนถึงตาย ซึ่งมีอยู่ ๓ อย่าง ดังนี้ คือ

    ๑) ชาติทุกข์ แปลว่า “ความเกิดเป็นทุกข์” หมายถึง การทนทุกข์ทรมานตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงคลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเกิดมามีชีวิตได้นั้น ต้องผ่านอันตรายมาได้โดยยากจึงจัดว่าเป็นทุกข์เพราะการเกิด

    ๒) ชราทุกข์ แปลว่า “ความแก่ชราเป็นทุกข์” หมายถึง สภาพร่างกายแก่ชราคร่ำครวญทรุดโทรม แม้จะนั่งจะนอน จะเดินไปมาก็ลำบาก จึงจัดว่าเป็นความทุกข์เพราะความแก่ชรา

    ๓) มรณทุกข์ แปลว่า “ทุกข์คือความตาย” หมายถึง ความตายนั้นเป็นสิ่งที่มาทำลายชีวิตหรือตัดรอนชีวิตของเราให้สิ้นไป จึงจัดเป็นความทุกข์เพราะความตาย

    ๑.๒ ปกิณณกทุกข์ แปลว่า “ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ” หมายถึง ความทุกข์ที่จรมาจากที่อื่นโดยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิต มีน้อยบ้างมากบ้าง ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละบุคคล มีอยู่ถึง ๘ อย่าง คือ

    ๑) โสกะ ความเศร้าใจ ความเสียใจ
    ๒) ปริเทวะ ความรำพึงรำพันบ่นท้อ
    ๓) ทุกขะ ความไม่สบายกาย เพราะเจ็บป่วย
    ๔) โทมนัสสะ ความน้อยใจ ความไม่สบายใจ
    ๕) อุปายาสะ ความคับใจ ความตรอมใจ
    ๖) อัปปิยสัมปโยคะ ประสบสิ่งไม่เป็นที่รัก แล้วไม่ชอบใจ
    ๗) ปิยวิปปโยคะ ความพลัดพราก จากสิ่งที่รัก
    ๘) อิจฉตาลาภะ ความผิดหวังไม่ได้ ในสิ่งที่ตนอยากได้

    อาการทั้งหมดนี้จัดเป็นทุกข์ ความเดือดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นแก่ทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ และเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกโอกาส พระองค์ทรงสั่งสอนให้มองโลกตามความเป็นจริง ให้รู้จักกับความเป็นจริงของโลก เพื่อให้ชาวพุทธไม่ประมาท และหาทางออกจากกองทุกข์อย่างถาวร

    ๒. สมุทัย : เหตุให้ทุกข์เกิด

    สมุทัย แปลว่า “เหตุให้เกิดทุกข์” สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้น คือ “ตัณหา” เป็นความอยากเกินพอดีที่มีอยู่ในจิตใจ ตัณหา นั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ

    ๒.๑ กามตัณหา คือ ความยากในกาม ความเยื่อใยในกาม โดยทั่วไปหมายถึง ความยินดี ชอบใจ พอใจ ในกามคุณ ๕ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)

    ใจความสูงสุดของกามตัณหา หมายถึงความยินดี ความติดใจ ความพอใจในกามภพ อันเป็นที่เกิดของผู้ยังเกี่ยวข้องด้วยกาม ของมนุษย์ และเทวโลก

    ๒.๒ ภวตัณหา ความอยากในภพ ภวตัณหา ทั่วไปหมายถึงความอยากมี อยากเป็น คืออยากมีอย่างนั้นอย่างนี้ อยากเป็นนั่นเป็นนี่

    ใจความสูงสุด ของภวตัณหา หมายถึง ความกำหนัดยินดีในรูปภพและอรูปภพ คือความพอใจติดใจในฌานด้วยความปรารถนาภพ อันเป็นความยินดีที่ประกอบด้วยสัสสตทิฐิ คือความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเช่นขันธ์ ๕ เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน มีติดต่อกันไปไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคืออยากเกิดอยากเป็นเช่นที่เป็นอยู่ตลอดไป

    ๒.๓ วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น โดยทั่วไป หมายถึงความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น คืออยากจะพ้นจากภาวะที่ตนไม่ต้องการ ไม่อยากได้ เช่น อยากพ้นจากความยากจน ความเจ็บไข้ พ้นจากความยากจน ไม่อยากเจอหน้าคนที่เราไม่ชอบใจ เป็นต้น

    วิภวตัณหา อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ความคิดที่ผิด (อุจเฉททิฐิ) คือ เห็นว่าภพชาติไม่มี อันเป็นความความเห็นผิด ที่ทำให้ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ เพราะความเห็นชนิดนี้เชื่อว่าชาติหน้าไม่มี คนเราตายแล้วสูญ จึงทำให้ปฏิบัติตนไปตามใจปรารถนาด้วยอำนาจของตัณหา โดยไม่กังวลถึงผลที่จะตามมาภายหลัง

    ๓. นิโรธ : ความดับทุกข์

    พุทธดำรัส “..ดูก่อนอานนท์ รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา... มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา... มีความดับไปเป็นธรรมดา ความดับแห่ง รูป...เวทนา...สัญญา... สังขาร...วิญญาณ นั้นเรียกว่า นิโรธ... ความดับแห่งธรรมเหล่านี้แล เรียกว่า นิโรธ...”

    ๔. มรรค : ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

    มรรค (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) หมายถึง อริยมรรค หรือทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ประการคือ

    ๑) สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) หมายถึง การรู้เห็นในอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้อง ชัดเจนด้วยปัญญา เช่นรู้ว่าทุกข์อย่างไร รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร รู้ว่าจะดับทุกข์ได้เพราะการดับตัณหา และรู้ว่าอริยมรรค คือทางให้ถึงการดับตัณหาได้

    ๒) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) หมายถึง ความคิดชอบ เช่น มีความคิดหาหนทางที่จะหลีกออกจากกาม ไม่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีความคิดที่จะไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และไม่คิดทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น

    ๓) สัมมาวาจา (การพูดชอบ) หมายถึง เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียดเว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สาระ

    ๔) สัมมกัมมันตะ (การกระทำชอบ) หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

    ๕) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) หมายถึง มีความเพียรระวังในการประกอบอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม

    ๖) สัมมาวายามะ (ควรเพียรชอบ) หมายถึง มีความเพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในตน เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป พากเพียรทำความดีให้เกิดขึ้น และเพียรพยายามรักษาความดีทีมีอยู่แล้วให้คงอยู่

    ๗) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) หมายถึง ความมีสติระลึกถึงความเป็นไปได้ของสภาพร่างกาย ระลึกถึงความเป็นไปของเวทนา (ขณะมีอารมณ์) ว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ ระลึกถึงความเป็นไปของจิตว่าเศร้าหมองเพราะกิเลสชนิดใด จิตที่ผ่องใสเพราะเหตุใด รวมไปถึงการระลึกถึงความดี ความชั่ว หรือความไม่ดีไม่ชั่วที่เกิดขึ้นในจิตของตน

    ๘) สัมมาสมาธิ (การตั้งจิตให้ชอบ) หมายถึง การทำจิตให้เป็นสมาธิ เริ่มตั้งแต่การทำจิตให้สงบชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) การทำจิตให้สงบเกือบจะแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) และทำจิตให้สงบในขั้นแน่วแน่ (อัปปนาสมธิ) หรือขั้นเข้าฌานสมาบัติ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น..

    https://www.facebook.com/apichai553?ref=hl
     

แชร์หน้านี้

Loading...