อภิธรรม เรื่อง การทำลายล้างความเพียรจม ใน ทาน, ศีล, ภาวนา

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย ชาไม่รู้, 29 ธันวาคม 2009.

  1. ชาไม่รู้

    ชาไม่รู้ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    485
    ค่าพลัง:
    +878
    อภิธรรม เรื่อง การทำลายล้างความเพียรจม ใน ทาน, ศีล, ภาวนา



    คำว่า “ความเพียรจม” คือ การกระทำด้วยความเพียร แต่ไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย จมอยู่อย่างนั้นทั้งปีทั้งชาติ อันไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ เป็นการหลงโง่งม เพียรอยู่ไม่ถูกทาง วนอยู่อย่างนั้นเอง ดังนั้น คำว่า “ทำลายล้างความเพียรจม” จึงหมายถึง ทำให้ก้าวหน้า ไม่ให้จมปลักเพียรหลงวนอยู่ในสิ่งที่ไม่ไปไหนนั่นเอง การกระทำ “ความเพียรจม” นี้มีมากมาย ในบทความฉบับนี้ จะกล่าวถึงความเพียรจมใน “ทาน, ศีล, ภาวนา”




    ความเพียรจมในทาน

    คือ การทำทานอยู่อย่างนั้น ต่อเนื่องยาวนาน ไม่มีจุดจบ จบไม่เป็น ไม่รู้จบตรงไหน ไม่รู้ทำต่อไปอีกนานเท่าไร ยึดติดอยู่กับการทำทานอยู่อย่างนั้น เพราะหลงไปคิดเอาว่าถ้าทำน้อยจะไม่ได้นิพพานบ้าง จะไม่ได้สวรรค์ที่ตนปรารถนาบ้าง จะไม่สำเร็จพุทธภูมิบ้าง อันนี้ นำไปสู่ “ความเพียรจม” จริงๆ การทำทานนั้น ทำเพียงแค่ “ให้พ้นอบายภูมิสี่” เท่านั้นเอง คนที่มีจิตวิญญาณยังอยู่ในอบายภูมิสี่นั้น ไม่อาจมาถือศีล บวชพราหมณ์ หรือเจริญสมาธิภาวนาได้เลย เขาต้องเริ่มต้นจากการทำทานก่อน เป็นพื้นฐาน จิตวิญญาณที่ไม่ถึงระดับมนุษย์นั้น ไม่อาจเข้าถึงธรรมได้เลย การทำทาน จึงเป็นการยกระดับจิตวิญญาณให้พ้นจากอบายภูมิสี่ เข้าสู่ความเป็นมนุษย์หรือเทวดาชั้นที่หนึ่งถึงสี่ก็พอแล้ว ไม่ต้องมากเกินนั้น การทำทานมากเกินไป ทำให้บุญล้นไปสู่ภพมาร คือ สวรรค์ชั้นห้าและหก ทำให้เป็นผู้สอนได้ยาก มีมิจฉาทิฐิต่างๆ เช่นว่า ต้องทำทานมากๆ ทำทานเพื่อให้ได้บุญ บุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงตน ฯลฯ อย่างนี้ไม่ตรงนิพพาน หลงออกไป เป็นมิจฉาทิฐิ การทำทานเพื่อหล่อเลี้ยงชาติภพของตนให้ยาวออกไปนั้น นำตนเองไปสู่ภัยแห่งสังสารวัฏทั้งสิ้น ไม่ควรทำเลย การทำทานเพื่อหวังผลบุญ ก็ทำให้ยึดติดในผลได้ คือ ทำแล้วต้องได้อะไรคืนมา ไม่รู้จักการปล่อยวาง ละวาง หรือการยอมรับการสูญไป ดับไป ของสิ่งต่างๆ ได้เสียที คือ อะไรหายไป ต้องมีอะไรคืนมาอยู่ตลอด จิตวนอยู่อย่างนี้ อันนี้คือ “ความเพียรจมในทาน” เมื่อทำทานพอดี จิตวิญญาณพ้นแล้วจากอบายภูมิสี่ ก็ให้รีบหาเวลาไปบวชพราหมณ์ มีศีลครอง เพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาเลย อย่าให้จมอยู่อย่างนั้น อนึ่ง การทำทานเพื่อยกระดับจิตวิญญาณ เมื่อจิตวิญญาณเข้าใจหลักการทำทานแล้ว จิตวิญญาณจะเปลี่ยนไป “ทำทานเป็นปกติ” ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ถ้ามีก็ทำ ถ้าไม่มีก็ไม่ว่าอะไร เวลาต้องเสียของ ก็ไม่เสียใจ เพราะทำทานจนเป็นปกติแล้ว




    ความเพียรจมในศีล

    คือ การยึดถือศีลอยู่อย่างนั้น แต่ไม่เกิดประโยชน์เกิดปัญญาแจ้งอะไรได้เลย ศีลที่ยึดถือกลับกลายเป็น “สังโยชน์ใหม่” ที่ตนสร้างขึ้นร้อยรัดผูกมัดตนเองและผู้อื่นไปด้วย เพราะไปหลงคิดเอาว่าต้องถือศีลให้ได้ ต้องถูกตลอด ผิดไม่ได้ นี่ก็มี อันที่จริง มนุษย์เราตามธรรมชาตินั้น มีทั้งถูกและผิด เป็นปกติ เป็นธรรมดา คนเราผิดกันได้ พระพุทธเจ้าก็ให้แนวทางแล้วว่า “ถ้าผิดศีลก็ให้ปลงอาบัติ” พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนว่า “ศีลนี้ห้ามผิด” ก็หาไม่ มันห้ามกันไม่ได้หรอกเรื่องผิดศีลนั้น แต่เมื่อผิดศีลแล้วให้รู้ตัวรู้ตน ปลงให้ตกว่าตนยังไม่นิพพาน ยังรักษาศีลไม่ได้ ยังบกพร่องอยู่ แสดงว่ามีอะไรในตน หรือคุณธรรมใดในตนย่อหย่อนยังไม่ได้อย่างอรหันตสาวกท่านอื่นๆ นี่คือ “ปลงตก” เมื่อผิดศีล ไม่ใช่ปลงอาบัติเพื่อหวังคาถาปลงอาบัติจะลบล้างความผิด ลบล้างกรรมให้หมดไปก็ไม่ใช่ เขาให้ “ปลง” เมื่อ “อาบัติ” จึงเรียกว่า “ปลงอาบัติ” ไม่ใช่ให้ลบล้าง ให้ชำระกรรมก็หาไม่ บางท่านผิดศีลแล้ว แต่บอกว่าตนไม่ผิดก็มี เช่น ตัดต้นไม้เอาไปทำวัด ก็อ้างว่าไม่ผิดศีลเพราะทำวัด อันนี้ จิตเป็นมิจฉาทิฐิแล้ว พึงระวัง อนึ่ง ความย่อหย่อนในศีลก็มี เช่น ไปคิดว่าไม่ต้องยึดศีล พระอรหันต์ไม่ยึดศีล แล้วก็ย่อหย่อน ผิดแบบไหลไปกู่ไม่กลับ หยุดไม่อยู่ ผิดแล้วผิดอีก อย่างนี้ ไม่พอดี ย่อหย่อนเกินไป ไม่ใช่ทางสายกลาง การทำลายล้างความเพียรจมในศีล คือ การทำศีลให้พอดี ตึงขึ้นได้บางครั้งที่ควร และหย่อนลงได้บางครั้งที่ควรด้วย ไม่จำเป็นต้องยึดความพอดีไปตลอด เพราะบางครั้ง ก็มีต้องตึงหรือหย่อนลงบ้าง ทำให้เป็นปกติวิสัยจึงเรียกว่าศีลแปลว่าปกติ ไม่ใช่ทำให้ไม่ปกติ ผิดธรรมชาติ ก็ไม่ใช่ศีล ศีล คือ ละเว้น ละวางในกิจในกรรมต่างๆ ออกไป จนเป็นปกติวิสัย




    ความเพียรจมในภาวนา

    คือ เจริญสมาธิภาวนาอยู่อย่างนั้น ได้แล้วได้อีก แต่ภาวนา แต่ไม่มีปัญญาเกิดขึ้นเสียที อันนี้แสดงว่าเป็น “ความเพียรจม” อันที่จริงการเจริญภาวนานั้น มีที่สุดไม่มากนัก เช่น ในการเจริญฌาน แค่ฌานสี่ ก็พอถึงนิพพานแล้ว คือ อาศัยช่วงรอยต่อฌานสามและฌานสี่ ระหว่างที่สุขดับไปนั่นแหละ พิจารณาความสุขดับไปเป็นอนิจจัง สุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ ล้วนไม่จีรัง เท่านี้เอง ก็ลัดตรงถึงนิพพานได้ ไม่ต้องไปทำความเพียรจมมากมาย บางท่านถึงขนาดเจริญฌานอนุโลมปฏิโลม ไปๆ กลับๆ อย่างชำนาญ เป็นสิบๆ รอบ แต่ไม่มีรอบใดเลยที่ตื่นขึ้นแล้วจิตตรงนิพพานได้ เพราะข้ามไปก็ข้ามมาอยู่อย่างนั้น เหมือนคนขี่รถผ่านซอยกลับไปกลับมา ไม่แวะเข้าซอยเสียที ทั้งๆ ที่เจอแล้ว ก็ยังผ่านไปอยู่ได้ อันนี้ คือ “ความเพียรจม” การทำลายความเพียรจมในภาวนา คือ การต้องรู้จังหวะของ “นิโรธ” ในขณะทำสมาธิภาวนา จังหวะใดเข้าสู่นิโรธได้ จิตก็ตรงนิพพานได้ตรงนั้น เช่น ในการเจริญอานาปานสติ นิโรธจะอยู่ตรงที่ “ลมหายใจดับหายหมด” อันนี้ เข้าถึงนิโรธได้เลย ไม่ต้องรอ ไม่ต้องไปเจริญอานาปานสติเป็นสิบปีสิบชาติ อนึ่ง ในการเจริญภาวนานี้ เป็นกรรมดี เป็นเครื่องสืบชาติต่อภพด้วย คือ ส่งไปยังภพพรหมโลก ถ้าไม่หลุดออกมาจากการทำความเพียรจม ก็ต้องจมปลักอยู่ในพรหมโลก บางท่านอยู่ ๑ ถึง ๕ กัป ซึ่งกัปหนึ่งก็มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้ว ๑ ถึง ๕ องค์บ้าง สรรพสัตว์ได้นิพพานไปนับไม่ถ้วน ตนยังหลงอยู่ในพรหมโลกอยู่เลย นี่แหละ ผลของความเพียรจมในภาวนา ให้โทษหนักอย่างนี้ ในสมัยพุทธกาล ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ พราหมณ์ผู้หนึ่งได้ให้คำทำนายพระพุทธเจ้าแล้วตนเองก็ร้องไห้ออกมาเลย เพราะเสียดายที่ตนต้องตายก่อน ไม่ทันได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า นี่ดูเอาเถิดว่าการลัดตรงสู่นิพพานนั้นมีค่าขนาดไหน จึงไม่ควรกระทำความเพียรจมอยู่อย่างนั้น ในกสิณก็มีความเพียรจมอยู่มาก จริงๆ กสิณนั้นไม่ยากถ้าจะลัดตรงสู่นิพพาน คือ อาศัยการดับไปของกสิณ พิจารณาตรงนั้นเห็นอนิจจังในสรรพสิ่งทันทีก็ทำลายล้างความเพียรจม ถึงอรหันต์ได้ทันที ไม่ต้องมัวไปเล่นกสิณอยู่เป็นปีเป็นชาติ




    ทาน, ศีล, ภาวนา แบบเร็วลัดไม่เพียรจม

    คือ ทำทานให้จิตตนเองเข้าใจในทาน เป็นมีใจเป็นทานโดยปกติ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่ใช่ทำเพราะหลงบุญ ทำเพราะธรรมชาติของตนเป็นคนไม่ตระหนี่เท่านั้นเอง พ้นแล้วจากความตระหนี่อันนำไปสู่อบายภูมิสี่ได้ ก็เข้าสู่ “ศีล” ทันที คือ หาเวลาว่างไปบวชเพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมเต็มที่ช่วงบวชนั้น ถ้าไม่อาศัยศีล และการถือบวชก็ไม่มีโอกาสได้มีเวลาทำสมาธิภาวนา อาศัยศีลเป็นเครื่องประคองตนเท่านั้น ไม่ต้องวนอยู่กับความถูกหรือผิดในศีล คนเราผิดกันได้ แต่ไม่ใช่ผิดแล้วหลงเพลินในความผิด ผิดก็รู้ว่าผิดแล้วก็เดินหน้าต่อไป ประคองดูว่าตรงไหนคือสายกลางของเรา เราหย่อนลงไป หรือตึงไปเพราะคุณธรรมใดบกพร่อง ประคองตนไว้ในทางสายกลางเท่านั้น แล้วเร่งภาวนาเลย โดยพุ่งไปที่จุดที่ลัดตรงสู่นิโรธ ไม่ต้องไปวนกับการแข่งกันทำตบะบ้าง อิทธิฤทธิ์บ้าง อันนั้นจะนำไปสู่ความเพียรจม ลัดตรงจุดที่เข้าสู่นิโรธเลย ก็ตรงนิพพานได้ไม่ยาก




    การเดินอริยสัจสี่ คือ ทางตรงสู่นิพพาน

    บุคคลเมื่อเกิดทุกข์จึงจะแสวงหาทางหลุดพ้น ถ้ายังมีสุขอยู่ ไม่มีทางเห็นธรรมได้ ไม่ต้องไปเทศน์ธรรมแก่คนที่มีสุขไม่มีทุกข์อยู่เลย ไม่ได้ผลหรอก เราเทศน์ธรรมเฉพาะแต่ท่านที่มีทุกข์แล้วก็พอ ท่านที่เสวยทุกข์อยู่ กำลังหาทางหลุดพ้นจากทุกข์นั้น (สมุทัย) แต่ยังไม่พบทาง (มรรค) เราก็เทศนาให้ถึง “นิโรธ” คือ ความว่างไป พ้นไป หลุดไป จากการยึดมั่นถือมั่น จากใดๆ ไรๆ ทั้งปวง จิตเป็นอิสระ ไม่แม้แต่จะยึดจิตยึดกาย ปล่อยทุกอย่างทั้งกายทั้งใจไม่ยึดอะไรทั้งสิ้น อะไรก็ไม่ใช่ทั้งนั้น นั่นแหละจะพ้นทุกข์ ไม่หลงสุข ไม่ทั้งสุขและทุกข์ คือ “นิโรธ” จิตจะตรงนิพพานได้ เมื่อจิตตรงนิพพาน “สัมมาทิฐิ” ก็เกิด สัมมาทิฐิก็คือ “มรรคแปดตัวแรก” นั่นคือ นิโรธนำไปสู่มรรค แล้วสัมมาทิฐินั่นแหละ ที่ทำให้สิ่งอื่นๆ เป็น “สัมมา” ทั้งหมด เพราะความเห็นตรง อะไรๆ ก็นำไปสู่ความตรงต่อนิพพานหมด มรรคแปดตัวอื่นๆ ก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างนี้คือตรงนิพพาน –จบ-
     
  2. ชาไม่รู้

    ชาไม่รู้ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    485
    ค่าพลัง:
    +878

แชร์หน้านี้

Loading...