เรื่องเด่น หลักสูตร ‘วัดสร้างชาติ’ ทำไม และอย่างไร?

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 12 กุมภาพันธ์ 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    b8b9e0b895e0b8a3-e0b8a7e0b8b1e0b894e0b8aae0b8a3e0b989e0b8b2e0b887e0b88ae0b8b2e0b895e0b8b4-e0b897.jpg

    วัดและพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชาติมานานนับหลายร้อยปี หากมีหลักสูตรวัดสร้างชาติขึ้นมา น่าจะทำให้การพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ดำเนินไปสู่การพัฒนาชาติอย่างแน่นอน

    วัดและพระสงฆ์เป็นองค์คณะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาชาติไทยมานานนับหลายร้อยปี ทั้งในด้านการสร้างคุณธรรมจริยธรรม เป็นที่พึ่งพาทางชีวิต จิตใจ จิตวิญญาณของผู้คน รวมทั้งเป็นศูนย์รวมกิจกรรมหลายอย่างในวิถีชีวิตไทยของคนในแต่ละชุมชน

    ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า มีพระภิกษุสามเณรจำนวน 252,851 รูป กระจายอยู่ในวัดทั้งสิ้น 41,310 แห่งทั่วประเทศไทย เฉลี่ยแล้วตำบลละ 6-7 แห่ง

    การกระจายตัวของวัดที่ทั่วถึงและใกล้ชิดกับประชาชนนี้ ทำให้วัดเป็นสถาบันสำคัญหนึ่งของประเทศที่มีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่บทบาทและสถานะทางสังคมของพระสงฆ์ได้เอื้อให้ท่านเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการสร้างประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าสู่ความอารยะ ทั้งทางคุณธรรม เศรษฐกิจ สังคม จริยธรรม การพัฒนาคน เป็นผู้ที่ช่วยสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประชาชนทั้งทางความคิดและจิตใจ ช่วยทำให้ประชาชนเกิดสำนึกและร่วมลงมือร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์พัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

    ขณะนี้ กิจการพระพุทธศาสนาอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2560-2564 ของมหาเถรสมาคม ที่ครอบคลุมพันธกิจด้านการปกครอง ด้านศาสนศึกษา ด้านศึกษาสงเคราะห์ ด้านเผยแผ่ ด้านสาธารณูปการ และด้านสาธารณสงเคราะห์ รวมทั้งการพัฒนาพุทธมณฑล ในการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวสู่การปฏิบัติจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและพลังการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของสังคมเป็นเครือข่ายดังที่ระบุไว้ในแผนดังกล่าว

    กุญแจสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปใดๆ ในประวัติศาสตร์โลก ล้วนมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ความสำเร็จในกรณีการปฏิรูปฯ ครั้งนี้จึงขึ้นกับการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของพระสังฆาธิการในฐานะของผู้นำองค์กรสงฆ์ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งผู้ที่มีบทบาทสนับสนุนการปฏิรูปให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงตอบรับกับแผนการปฏิรูปฯ

    ผมเสนอว่าประเทศไทยควรมีหลักสูตรเพื่อพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ให้ร่วมมือกันพัฒนาวัดอย่างเป็นระบบครบวงจร ตอบสนองต่อแผนการปฏิรูปอย่างสัมฤทธิผล ผมเรียกหลักสูตรนี้ว่าหลักสูตร “วัดสร้างชาติ (วสช.)” ซึ่งจำเป็นต้องมีลักษณะสำคัญดังนี้

    ประการแรก เป็นหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาพระสงฆ์และบุคลากรที่มีส่วนพัฒนาวัดร่วมกับพระ อาทิ พระสังฆาธิการ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาของสงฆ์ ไวยาวัจกร กรรมการวัด ผู้บริหารหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมพระศาสนา และฆราวาสที่มีเจตจำนงมุ่งมั่นสนับสนุนการปฏิรูปพระศาสนา เพื่อให้ทุกกลุ่มได้ร่วมเรียนรู้หลักปรัชญา หลักคิด หลักวิชา หลักการ และหลักปฏิบัติของการปฏิรูปฯ เกิดความเข้าใจร่วมกัน ทำงานร่วมกัน

    ประการที่สอง หลักสูตรควรมุ่งเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนในมิติ “ภาวะการเป็นผู้นำ” ที่สามารถขับเคลื่อนตน บริหารคน ร่วมกับการพัฒนาวัด พัฒนาชุมชน และพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน เป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง (change maker) ขับเคลื่อนการปฏิรูปในบริบทของวัดได้ และมิติ “ภาวะการบริหาร” เพื่อนำแผนการปฏิรูปฯ สู่การปฏิบัติ

    ดังแนวทางที่ระบุไว้ชัดเจนในแผนปฏิรูปฯ ว่า ควรเน้นการยกระดับกระบวนการบริหารจัดการภายในวัดโดยอาศัยความร่วมมือแบบภาคีเครือข่ายให้สามารถทำงานร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐกิจ ภาคธุรกิจ และประชากิจ เกิดเป็นเครือข่ายคนดีที่มีเจตจำนงส่งเสริมพระศาสนาเพื่อให้วัดก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพระศาสนาและสังคมตามวิสัยทัศน์ของแผนยุทธศาสตร์ที่ว่า “พุทธศาสน์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน”

    ประการที่สาม การพัฒนาวัดให้เป็นคำตอบของสังคมได้นั้น จำเป็นต้องทำให้วัดสามารถตอบ “โจทย์” ในชีวิตของคนได้ในมิติต่างๆ ได้ ดังนั้น หลักสูตรนี้ควรช่วยให้ผู้เรียนได้ขยายมุมมองการพัฒนาวัดให้เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี การบริหารในบริบทภายในและภายนอกประเทศที่เชื่อมโยงกับบทบาทของวัด ให้วัดสามารถปรับตัวพร้อมนำสังคมและการพัฒนาประเทศสู่ความเป็นอารยะด้วย

    การเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังช่วยให้การดำเนินตามพันธกิจทั้ง 6 ด้านบรรลุผลได้ดียิ่งขึ้น เช่น ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกับงานศาสนศึกษาและด้านศึกษาสงเคราะห์ หรือการเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในความคิด วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ย่อมช่วยให้ปรับการดำเนินภารกิจเผยแผ่ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีขึ้น

    ประการที่สี่ กระบวนการเรียนรู้ควรเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติผ่านการเรียนรู้จากพื้นที่จริงและตัวอย่างจริง ผู้เรียนควรได้เรียนรู้จากวัดและเจ้าอาวาสที่มีประสบการณ์ในการบริหารเพื่อพัฒนาวัดจนประสบความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น วัดสวนแก้ว วัดพระบาทน้ำพุ หรือวัดประยุรวงศาวาส ที่มีประสบการณ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรปริยัติธรรมศาลา จนเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลด้านอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยอดเยี่ยมอันดับ 1 (Award of Excellence) จากองค์การ UNESCO

    โดยบทเรียนสำคัญประการหนึ่ง คือการร่วมมือระหว่างวัดกับชุมชนโดยรอบวัดทั้ง 7 ชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ช่วยสร้างความมั่นคงด้านประชาคม สังคม และวัฒนธรรม ดังที่ กวาง โจ คิม ผู้อำนวยการ UNESCO กล่าวว่า “…ความร่วมมือร่วมใจที่น่ายกย่องระหว่างพระสงฆ์และชาวชุมชนเป็นนิยามของความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างวัดและชุมชนในศตวรรษที่ 21 ในการธำรงรักษาพุทธศาสนสถานให้ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชุมชนตราบจนถึงทุกวันนี้”

    ประการสุดท้าย หลักสูตรควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทุกภาคส่วนที่ประสงค์สนับสนุนแผนปฏิรูปฯ ทั้งนี้ การจัดทำหลักสูตรใดๆ ล้วนมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนได้ผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เช่น ค่าเช่าสถานที่เรียน ค่าอุปกรณ์ ค่าวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ ค่าหนังสือเอกสารการเรียน ฯลฯ

    หากไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาแล้ว ภาระค่าใช้จ่ายย่อมตกกับผู้เรียนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก หากมีหน่วยงานที่เห็นคุณค่าของหลักสูตรลักษณะนี้ ผมขอเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะพระสงฆ์เพื่อช่วยลดภาระของท่าน หรือหากมีหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ขออาสาตัวรับเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายให้หน่วยงานที่จัดหลักสูตรนี้ ย่อมสร้างคุณูปการสำคัญต่อการพัฒนากิจการพระศาสนาของประเทศ

    ผมได้เขียนแนวคิดไว้เมื่อ 20 ปีก่อนว่า การปฏิรูปใดๆ จะสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องปฏิรูป 3 มิติ คือ มิติคน ระบบ และบริบท ให้สอดรับประสานไปด้วยกัน แต่หัวใจสำคัญต้องเริ่มจาก “คน” ผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงก่อน ผมมั่นใจว่าหลักสูตร “วัดสร้างชาติ” จะช่วยพัฒนาคน นำสู่การพัฒนาวัด ให้พัฒนาชาติสู่ความอารยะได้อย่างแน่นอน
    โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ | คอลัมน์ ดร.แดน มองต่างแดน

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865896
     

แชร์หน้านี้

Loading...