หลวงพ่อสดวัดปากน้ำเทศน์ที่วัดมหาธาตุ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย หลับอยู่, 27 พฤษภาคม 2015.

  1. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +293
    หลวงพ่อสดวัดปากน้ำเทศน์
    ที่วัดมหาธาตุ
    วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐



    พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตมหาเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฏิ์ องค์ที่ ๑๕ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง และปฐมสภานายกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยท่านมีความตั้งใจ และทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อความเจริญของพระพุทธศาสนาส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุและสามเณร ทั้งการศึกษาพระไตรปิฎก และวิชาชั้นสูง ในพระพุทธศาสนา (การปฏิบัติสมถวิปัสสนา)



    จากเรื่องราวใน “สมเด็จป๋า เล่าเรื่อง หลวงพ่อวัดปากน้ำ” ทำให้ทราบว่า พระเดชพระคุณพระพิมลธรรม ฐานทตฺต นั้น ท่านชอบพอกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ (สด จฺนทสโร) และพอใจการปฏิบัติด้วย ท่านเคยพูดว่า ท่านพระครูวัดปากน้ำถึงมีข่าวอกุศลอย่างไรก็ดี มีคนมาขอปฏิบัติธรรมเจริญพระกัมมัฏฐานทุกวัดน่าจะทำตามบ้าง



    เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมเจ้าอาวาส และอธิบดีสงฆ์



    วัดมหาธาตุ ได้มีหนังสือมาอาราธนาหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ไปแสดงธรรมเรื่องกัมมัฏฐาน ซึ่งข้าพเจ้า (พระทิพย์ปริญญา) เองได้ฟังอยู่ด้วย จำมาได้เล็กน้อยจึงนำมาเล่าสู่ กันฟังพอเป็นเลา ๆ ดังต่อไปนี้



    ในวันที่กล่าวนี้ เวลา ๑๖.๐๐ น. ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุเมื่อภิกษุสามเณรวัดนั้น ซึ่งมีเจ้าพระคุณพิมลธรรมเป็นประธานได้ทำวัตรนมัสการพระเสร็จแล้ว ก็อาราธนาหลวงพ่อขึ้นธรรมาสน์ ในท่ามกลางหมู่ภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก จนล้นอาสนะที่มีอยู่ตามปกติลงมาถึงพื้นพระอุโบสถ นอกนี้ยังมีอุบาสกอุบาสิกาอีกที่พากัน มาประชุมฟัง



    ในการแสดง ท่านยกบาลีในพระสูตรว่าด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะเป็นหลัก แล้วอรรถธิบายว่าศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเหตุ วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล ศีลเป็นกัมมัฏฐานอันหนึ่งซึ่งจัดไว้ในข้อที่ ๒๔ ของกัมมัฏฐาน ๔๐



    กัมมัฏฐาน แปลว่าที่ตั้งมั่นของการกระทำสมาธิก็เป็นกัมมัฏฐานอันหนึ่งซึ่งจัดไว้ในกัมมัฏฐาน ๔๐ เป็น มัสสกนัยเจือได้ทุกข้อ


    ศีลอยู่ไหน สมาธิอยู่นั่น สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาอยู่ที่นั่นปัญญาอยู่ที่ไหน วิมุตติอยู่ที่นั่นวิมุตติญาณทัสสนะอยู่ที่นั่น


    ศีลที่เป็นกัมมัฏฐานนั้น เพราะศีลเป็นที่ตั้งของการกระทำให้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ บริสุทธิ์กาย วาจา เป็นเจตนาศีล บริสุทธิ์ใจ เป็นเจตสิกศีล ศีลซึ่งจัดไว้ในคัมภีร์ใด ๆ จะเป็นศีลของคฤหัสถ์หรือศีลของบรรพชิตก็ดี ไม่อื่นไปจากบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ซึ่งได้จัดไว้ในวิสุทธิมรรคว่า บริสุทธิ์กาย วาจา เป็นเจตนาศีล บริสุทธิ์ใจเป็นเจตสิก ศีล บริสุทธิ์ไตรทวาร เป็นแต่อาการของศีลเท่านั้น ยังไม่เป็นที่ตั้งของสมาธิได้ ที่จะเป็นที่ตั้งของสมาธิได้ ต้องเป็นศีลกัมมัฏฐาน คือ ศีลานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ซึ่งศีลนี้เป็นที่ตั้งของสมาธิได้


    สีลมฺปิ สิกฺขติ แปลว่าศึกษาศีล การศึกษาให้รู้จักศีล เมื่อรู้จักศีลแล้วจะได้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อบริสุทธิ์ แล้ว จะได้ระลึกถึงความบริสุทธิ์นั้นเนือง ๆ


    ความบริสุทธิ์นั้นอยู่ตรงไหน ?

    อยู่ตรงกำเนิดเดิม

    กำเนิดเดิมอยู่ตรงไหน?

    อยู่ที่สิบ

    ที่สิบอยู่ตรงไหน?

    อยู่ตรงกลางกาย

    ตัดขาดแค่สะดือ เรียบเหมือนหน้ากลอง แล้วบังเวียนเข้ามาถึงจุดศูนย์กลาง ว่างมีอยู่เท่าเมล็ดหรือ เมล็ดไทร (คือสมมติขึงเส้นด้ายจากสะดือทะลุหลังไปเส้นหนึ่ง จากเอวขาวทะลุเอวซ้ายไปเส้นหนึ่งภายในตัวนั้นจะเป็นเส้นด้ายพาดตัดกันเป็นรูปกากบาท ตรงนั้นแหละเป็นกำเนิดเดิม
    เมื่อแรกเกิดในครรภ์นั้น เป็นที่ตั้งของใจ เป็นที่หยุดของใจ เมื่อในหยุดแล้ว ลมก็หยุด ดุจพระเข้านิโรธ ใจหยุดเรียกว่าสันติ ลมหยุดเรียกว่าอนาปานสันติกับอนาปาเป็นธรรมอาศัยกัน คือ ใจหยุดลม ก็หยุด ลมหยุดใจก็หยุด อปุพฺพํ อจริมํ ไม่ก่อนไม่หลังกัน



    คำว่าใจ กับ ลม ทั้งสองนี้ ลมพอจะรู้จักว่าลมหายใจเข้าออกส่วนใจนั้นไม่รู้จักว่าอะไร ต้องพูดถึงใจต่อไป


    คำว่า “ใจ” หมายถึงความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ๔ อย่างนี้รวมกันเรียกว่าใจ เหมือนรูปก็เป็นคำรวมธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ อย่างรวมกันเรียกว่า รูป นาม ก็เหมือนกัน เป็นคำรวม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ อย่างรวมกันเรียกว่า นาม


    ใจก็เช่นเดียวกัน เห็นอย่างหนึ่ง จำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่งรู้อย่างหนึ่ง รวม ๔ อย่างนี้เรียกว่าใจ


    ใจนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญในตัวเรา สิ่งอื่นจะสำคัญยิ่งกว่าใจเป็นอันไม่มี ตามบาลีได้กล่าวไว้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมิมา ฯ ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อน มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐกว่า สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้า ใจชั่ว การทำก็ชั่ว การพูดก็ชั่ว การคิดก็ชั่ว ถ้าใจดี การทำก็ดี การพูดก็ดี การคิดก็ดี แล้วแต่ใจนี้



    การทำใจให้หยุดเป็นของทำได้ยากแก่บุคคลผู้เกียจคร้าน คนมี ความเพียรทำไม่ยาก การทำใจให้หยุดนั้น จะให้หยุดตรงไหน?

    ให้หยุดที่กำเนิดเดิม

    หยุดเหมือนอะไร?

    เหมือนนายสารถีห้ามล้อรถไม่ให้พ้นขีดหมายไปได้

    ใจกับกำเนิดเดิมอย่าให้ละจากกันและกันได้

    ใจเป็นศีลหรือกำเนิดเดิมเป็นศีล?



    ใจก็หาใช่ศีลไม่ กำเนิดเดิมก็หาใช่ศีลไม่ แต่ก็ไม่อื่นจากศีล ศีล อาศัยใจและกำเนิดเดิมประกอบถูกส่วนกันเข้าเกิดขึ้น เหมือนไม้สีไฟตะบันไฟ ไม้ขีดไฟ ประกอบถูกส่วนกันเข้าก็เป็นไฟขึ้นได้ นี้ศีลตามข้อศึกษา



    ส่วนศีลตามข้อปฏิบัติ เมื่อประกอบถูกส่วนเข้าก็จะเกิดเป็นดวงไฟเท่าฟองไข่แดงของไก่ หรือเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์สนิทเหมือนกระจกเงาส่องหน้า เมื่อเห็นตามข้อปฏิบัติดังนี้แล้วให้เอาใจหยุดอยู่ที่กลางดวงศีลที่เห็นนั้นให้ชำนาญในอิริยาบถทั้ง ๔ นั่ง นอน เดิน ยืน นั่งก็เห็น นอนก็เห็น เดินก็เห็น ยืนก็เห็นอยู่เสมอไม่ให้หายไป



    ดวงใสนั้นตั้งอยู่เหนือกำเนิดเดิมราว ๒ นิ้ว เมื่อเห็นดวงศีลแล้วในกลางดวงศีลนั้นมีดวงสมาธิ ในกลางดวงสมาธินั้นจะมีดวงปัญญาในกลางดวงปัญญาจะมีดวงวิมุตติ ในกลางดวงวิมุตตินั้นจะมีดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้นจะมีกายมนุษย์หยาบ กลางกายมนุษย์หยาบนั้นจะมีดวงศีล ฯลฯ



    ท่านได้ชักอุปมาการประกอบสมาธิเหมือนการสีไฟ และชักนิยามเทียบว่า ฤษีตนหนึ่งเมื่อจะไปป่าให้ลูกศิษย์เฝ้าอาศรมแล้วสั่งว่า “ไอ้หนู...ระวังไฟในเตาไว้ให้ดี อย่าให้ดับนะ ถ้าดับ ไม้สีไฟอยู่ในกระบอกนั้น” ครั้นแกไปแล้ว ไอ้เจ้าเด็กนั่นมัวเล่นเพลิน ไฟในเตาดับ เด็กน้อยกลัวพระเจ้าตากลับมาจะเฆี่ยนเอาก็ไปเอาไม้สีไฟในกระบอก มาดูว่าไฟอยู่ที่ไหน ดูทั่วแล้วก็ไม่เห็นไฟก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ไฟ จึงเอมมีดมาผ่าไม้สีไฟนั้นเป็นสองซีกก็ไม่เห็นมีไฟปรากฏ จึงผ่าซอยละเอียดออกไปอีกเป็น ๔ ซีกก็ไม่ เห็นไฟ ผ่าอีกเป็น ๑๖ ซีก ก็ไม่เห็นไฟอีก หมดปัญญาเลยเอาไม้ ๓๒ ซีกมารวมกัน แล้วใส่ครกตำจนละเอียด เอาออกมาโปรยก็ไม่เห็นไฟ



    ตกตอนเย็น ตาฤษีกลับมาไม่เห็นไฟ แล้วซักถามไซ้ถามดู เด็กนั้นก็เล่าความตามเป็นจริงให้ฟังโดยตลอด ฤษีจึงกล่าวว่าเจ้ามันโง่ ใครเขาสอนให้หาไม้มาใหม่ ๒ อัน แล้วเอาถูกัน แล้วสอนว่าการสีไฟเกิดขึ้นเขาไม่เอาไม้มาผ่าหาไฟในไม้อย่างเจ้านี้ดอก จำไว้



    ตัวอย่างที่อุปมานี้บ่งให้เห็นถึงการปฏิบัติกิจภาวนา ที่ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา นั้นแปลเป็นใจความในทางปฏิบัติว่า ประกอบด้วยความเพียร ๑ รู้ตัวอยู่เสมอ ๑ ไม่เผลอ ๑ วิเนยฺยโลเก อภิชฺฌา โทมนสฺสํ คอยระวังอย่างให้เกิดความอยากได้ และการเสียใจเมื่อยังไม่ได้ ต้องทำจิตให้เป็นอุเบกขาไว้ ให้สมกับบาลีว่า อุเปกฺขา สติปาริสุทธิ



    นอกจากนี้ยังอธิบายถึงฌานว่า ไปที่สุดจนถึงตอนพระพุทธเจ้าได้ทรงเพิกฌานเพิกกสิณ

    แล้วตัดเข้าหาอาณาปานสติอย่างไร กว่าจะจบประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ


    นอกจากนี้ยังอธิบายถึงฌานว่า ไปที่สุดจนถึงตอนพระพุทธเจ้าได้ทรงเพิกฌานเพิกกสิณ แล้วตัดเข้าหาอาณาปานสติอย่างไร กว่าจะจบ ประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ


    -->> เมื่อเทศน์จบแล้ว เจ้าคุณพระพิมลธรรมได้ออกปากชมเชยต่อหน้าข้าพเจ้าว่า ท่านเทศน์ดีมาก ยกพระสูตรมาแปลและอธิบายได้คล่องแคล่ว คุณพระทิพย์ปริญญา ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่ท่านเคยพบปะมา พระที่เป็นฝ่ายสมถะ มักไม่ใคร่แสดงธรรม พระที่แสดงธรรมโดยมากเป็นฝ่ายปริยัติ แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำนี้ ท่านเป็นพระปฏิบัติที่ชอบแสดงธรรมโดยความที่ท่านเป็นนักปริยัติมาแต่เก่าก่อนแล้วแนวการแสดงธรรมในเบื้องต้น แต่ละกัณฑ์ ฯ ระวังบาลีมิให้คลาดเคลื่อนและแปลเป็นข้อ ๆ ไปก่อน แล้วจึงจะขยายความชี้แนวปฏิบัติท่านแสดงธรรมอยู่ในหลักนี้เสมอ ไม่ใช่นึกว่าเอาตามใจชอบ ถ้าจะยกอะไรขึ้นเป็นต้องอ้างอาคตสถานที่มาแห่งธรรมเหล่านั้นประกอบด้วย


    ด้วยเกียรติคุณของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดที่ท่านดูแลเอาใจใส่ให้



    ภิกษุสามเณรมีการศึกษาดี มีการปฏิบัติดี กาลต่อมาเมื่อพระเดชพระคุณพระพิมลธรรม ได้ทำเรื่องขอแต่งตั้งพระครูสมณธรรมสมาทาน วัดปากน้ำ (สด จนฺทสโร) เป็นอุปัชฌายะไม่ช้าหลวงพ่อวัดปากน้ำ ก็ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ คณะวัดปากน้ำมีความชื่นชมยินดี กุลบุตรพากันมาบรรพชาอุปสมบทในสำนักวัดปากน้ำทวีขึ้น







    **************************************************************************
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]
    [​IMG] [​IMG] [​IMG]

    ข้อมูลจากหนังสือ


    ISBN 9749089049
    LC Call # BQ4180 พ46 2546
    Author พระครูภาวนามงคล (วิวัฒน์ กตวฑฺฒโน)
    Title ตามรอยธรรมกาย / พระครูภาวนามงคล (วิวัฒน์ กตวฑฺฒโน)
    Edition พิมพ์ครั้งที่ 1
    Imprint กรุงเทพฯ : เอส.พี.ค.เปเปอร์ แอนด์ ฟอร์ม, 2546
    Description 449, ผ292 หน้า : ภาพประกอบ
    Note บรรณานุกรม: หน้า 437-449
    Gift-T-46
    Subject ธรรมกาย (สมาธิ)
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...