เรื่องเด่น สุนทรภู่เกิดวันนี้ เหล้าและผู้หญิงเป็นสัตรูของชีวิต! ได้รับยกย่องเป็นกวีเอกของโลกพร้อม ร.๒!

ในห้อง 'บันเทิงและศิลปวัฒนธรรม' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 26 มิถุนายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    0b8b9e0b988e0b980e0b881e0b8b4e0b894e0b8a7e0b8b1e0b899e0b899e0b8b5e0b989-e0b980e0b8abe0b8a5e0b989.jpg
    ที่วัดเทพธิดาราม แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กทม. ในเขตสังฆาวาสซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์ จะมีตึกชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนอยู่หมู่ใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ผู้ทรงสร้างวัด ในเขตนี้จะมีอยู่หลังหนึ่งติดป้ายไว้หน้าประตูว่า “กุฏิสุนทรภู่” อันเป็นตึกที่กวีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์มาใช้ชีวิตอยู่ ๓ พรรษา
    สุนทรภู่ มีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านสำนวนกลอน ได้รับการยกย่องว่าเป็นบรมครูกลอนแปด เป็นกวีที่มีจินตนาการกว้างไกล สร้างโครงเรื่องและเนื้อหาของนิทานกลอนได้น่าสนใจชวนให้ติดตาม ซึ่งลักษณะเด่นของสุนทรภู่ถูกถ่ายทอดรวมอยู่ในวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” อย่างครบถ้วนทั้งเนื้อหาสาระและสุนทรีแห่งอักษร

    นอกจากสุนทรภู่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีสามัญชนคนเดียวที่มีอนุสาวรีย์แล้ว องค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติ ยังประกาศเกียรติคุณให้เป็นกวีเอกของโลก ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีวันเกิดของท่านในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ด้วย

    สุนนทรภู่ได้สร้างวรรณกรรมอมตะไว้มากมายให้เป็นสมบัติของชาติ แต่ชีวิตของสุนทรภู่กลับต้องตกระกำลำบากระเหเร่ร่อน มาสงบสุขได้ก็เมื่อวัยล่วงเข้า ๖๖ ปีแล้ว ก่อนจะถึงแก่กรรมเพียง ๕ ปี ทั้งนี้ก็ด้วยเรื่องเหล้าและผู้หญิงเป็นศัตรูของชีวิตมาตลอด

    สุนทรภู่มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดที่คลองบางกอกน้อย ธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์มาได้ ๔ ปี บิดามารดาไม่ปรากฏนาม ทราบแต่ว่าบิดาเป็นชาวบ้านกล่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มารดาคงจะเป็นผู้ดีมีสกุล เพราะต่อมาได้เป็นนางนมพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง แต่พออายุได้ ๒ ขวบบิดามารดาก็เลิกกัน บิดากลับไปบวชอยู่ที่ระยองแล้วไม่สึก ส่วนมารดาก็ได้สามีใหม่ สุนทรภู่เริ่มหัดอ่านเขียนในพระราชวังหลังก่อนที่จะเรียนต่อในสำนักวัดชีปะขาว เมื่อเจริญวัยแล้วจึงเข้าถวายตัวกับกรมพระราชวังหลังในหน้าที่เสมียน

    สุนทรภู่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนและรักการแต่งกลอนเป็นชีวิตจิตใจ ได้แต่งกลอนสุภาษิตและนิทานคำกลอนไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าวัยหนุ่ม ขณะที่เรื่องผู้หญิงก็ส่งผลร้ายต่อชีวิตสุนทรภู่เมื่ออายุย่างเข้า ๒๐ ปี โดยสมัครรักใคร่กับสาวฝ่ายในของวังหลังคนหนึ่งชื่อ จัน เมื่อกรมพระราชวังหลังทราบเรื่องจึงทรงกริ้ว ให้ลงโทษทั้งชายและหญิงด้วยการจองจำ แต่ไม่นานกรมพระราชวังหลังก็ทิวงคต สุนทรภู่จึงพ้นโทษ

    หลังพ้นโทษสุนทรภู่ได้บุกบั่นไปหาบิดาที่บ้านกร่ำ คงจะหวังไปบวชตามประเพณีและสะเดาะเคราะห์ แต่ไปเป็นไข้ป่าเกือบตาย จึงกลับมาถวายตัวกับพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสของกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง และได้แต่งงานกับจัน สาวคนรักที่ทำให้ต้องติดคุก แต่พอมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง จันก็ทนความเป็นคนขี้เหล้าและเจ้าชู้ของสุนทรภู่ไม่ไหว ต้องเลิกร้างกันไป สุนทรภู่มีเมียใหม่อีกหลายคน แต่ก็ไม่ประทับใจใครเท่าจัน ซึ่งท่านกวีเอกกล่าวถึงในบทกลอนที่แต่งไว้หลายเรื่อง

    ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งทรงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านกวี การดนตรี ประติมากรรม และได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นกวีเอกของโลกในปีเดียวกับสุนทรภู่ ได้ทอดพระเนตรสำนวนกลอนของสุนทรภู่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เอาตัวมารับราชการในกรมอาลักษณ์ สุนทรภู่ได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในหลายเรื่อง เช่นในการนำบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑เรื่อง “รามเกียรติ์” มาแก้ไขปรับปรุง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงเห็นว่าบทเก่าที่กล่าวถึงตอนนางสีดาผูกคอตายและหนุมานมาช่วยนั้นช้าไป ซึ่งบทเก่ากล่าวไว้ว่า

    “เอาภูษาผูกคอให้มั่น
    แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
    หลับเนตรจำนงปลงใจ
    อรทัยก็โจนลงมา
    บัดนั้น…
    วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
    ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา
    ผูกศอโจนลงมาก็ตกใจ
    ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต
    ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม้
    โลดโผนโจนลงตรงไป
    ด้วยกำลังว่องไวทันที”
    – เชิด –
    “ครั้นถึงจึงแก้ภูษาทรง
    ที่ผูกศอองค์พระลักษมี
    หย่อนลงยังพื้นปฐพี
    ขุนกระบี่ก็โจนลงมา”

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงเห็นว่า ในการแสดงนั้น เมื่อนางสีดาผูกคอ หนุมานยังต้องแสดงท่าตกใจตัวสั่น ร้อนใจดั่งเพลิงไหม้ กว่าจะเข้าไปช่วยได้นางสีดาก็คงตายไปแล้ว จึงทรงแก้ให้รวดเร็วขึ้นว่า

    “จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด
    เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่”
    เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ถึงแค่นี้ ก็จนพระทัยว่าจะให้หนุมานเข้าช่วยด้วยวิธีใดจึงจะเร็ว ครั้นถามเหล่ากวีที่ปรึกษาก็ไม่มีใครสามารถต่อได้ ทรงหันมาถามสุนทรภู่ กวีหนุ่มจึงถวายคำต่อให้ทันทีว่า
    “ชายหนึ่งผูกศออรทัย
    แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย
    บัดนั้น…
    วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย”
    ทรงพอพระราชหฤทัยในความสามารถของสุนทรภู่ และทรงรับสั่งชมเชย
    อีกครั้งหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์เช่นกัน ทรงพระราชนิพนธ์พรรณนาชมรถของทศกัณฑ์ไว้ว่า
    “รถที่นั่ง
    บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
    กว้างใหญ่เท่าเขาจักวาล
    ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
    คุมวงกงหันเป็นควันคว้าง
    เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
    สารถีขี่ขับเข้าดงแดน
    พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุล”

    เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ถึงตอนนี้ ก็ทรงนึกไม่ออกที่จะหาคำพรรณนาต่อไปให้สมกับความใหญ่โตถึงเพียงนั้น จึงรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ สุนทรภูจึงแต่งถวายว่า

    “นทีตีฟองนองระลอก
    คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
    เขาพระสุเมรุเอนเอนอ่อนระมุน
    อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
    ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท
    สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
    บดบังสุริยันตะวันเดือน
    คลาดเคลื่อนจตุรงค์ตรงมา”

    ทรงโปรดในเชิงกลอนของสุนทรภู่เป็นอย่างมาก โปรดเกล้าฯให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร พระราชทานที่ดินให้ปลูกสร้างบ้านอยู่ที่ท่าช้างวังหลวง รับสั่งให้เข้าเฝ้าทุกเช้าเย็น เวลาเสด็จประพาสก็โปรดเกล้าฯให้ลงเรือพระที่นั่งไปด้วย เป็นพนักงานอ่านเขียนในเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน

    ชีวิตของสุนทรภู่ช่วงนี้สุขสบาย อยู่กับภรรยาใหม่ชื่อ นิ่ม เป็นชาวบางกรวย มีบุตรด้วยกันอีกคนหนึ่ง แต่แล้วสุราก็เป็นเหตุ สุนทรภู่เมามายไปหามารดา เมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนสุนทรภู่ก็อาละวาด ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งเข้าห้ามปราม สุนทรภู่ก็ทำร้ายญาติคนนั้นจนเจ็บหนัก เมื่อมีผู้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯถวายฎีกา จึงรับสั่งให้เอาสุนทรภู่ไปจองจำ

    ครั้นเมื่อทรงพระราชนิพนธ์ติดขัด ก็ไม่มีกวีคนใดจะต่อให้พอพระราชหฤทัยได้เช่นสุนทรภู่ ด้วยเหตุนี้ขุนสุนทรโวหารจึงถูกเบิกตัวออกมาจากคุกให้พ้นโทษ กลับเข้ารับราชการตามเดิม

    ในระหว่างที่มีชีวิตรุ่งโรจน์ในสมัย ร.๒ นี้ สุนทรภู่ก็ได้สร้างความขุนเคืองพระทัยไว้กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์หลายครั้ง ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงมอบบทละครเรื่อง “อิเหนา” ตอนบุษบาเล่นธาร ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงนิพนธ์ และเมื่อนิพนธ์เสร็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงวานให้ขุนสุนทรโวหารช่วยตรวจทาน ซึ่งสุนทรภู่ก็กราบทูลเมื่ออ่านเสร็จว่า “ดีอยู่แล้ว”
    ครั้นเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นำบทที่ทรงนิพนธ์อ่านถวายหน้าพระที่นั่งต่อหน้ากวีที่ปรึกษาทั้งหลาย มาถึงบทที่ว่า

    “น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว
    ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”
    สุนทรภู้ก็ว่าความยังไม่ชัด ขอแก้เป็น
    “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
    แหวกว่ายปทุมมาอยู่ไหวไหว”

    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดที่สุนทรภู่แก้ แต่พระเจ้าลูกยาเธอทรงขุนเคืองพระทัยที่ให้สุนทรภู่ช่วยตรวจทานแล้วแต่ไม่แก้ มาหักหน้าต่อที่ประชุมเช่นนี้

    อีกครั้งหนึ่งเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงรับพระราชทานบทละครเรื่อง “สังข์ทอง”มานิพนธ์ตอนเลือกคู่ เมื่อทรงอ่านถวายในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า

    “จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว
    ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

    สุนทรภู่ก็ท้วงอีกว่าไม่ชัด ลูกปรารถนาอะไร พระเจ้าลูกเธอก็ทรงแก้เป็น

    “ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา”

    ฉะนั้นใน พ.ศ.๒๓๖๗ เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ ชีวิตของขุนสุนทรโวหารเลยตกอับ ถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ คนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า “สุนทรภู่” และไม่มีใครกล้าชุบเลี้ยงเกื้อกูล เพราะเกรงจะขัดพระราชหฤทัย ภรรยาที่อยู่ด้วยกันก็เลิกร้างไปอีกคน ญาติพี่น้องก็ไม่มีใครเหลียวแล ในปีนั้นสุนทรภู่ต้องยึดเอาผ้าเหลืองเข้าคุ้มตัวโดยออกบวช ซึ่งได้รำพันไว้ว่า

    “แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ
    บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
    เหมือนลอยล่องท้องทะเลอยู่เอกา
    เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล”

    สุนทรภู่บวชที่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะที่เชิงสะพานพุทธฯในปัจจุบัน แล้วออกเร่ร่อนจาริกไปตามจังหวัดต่างๆถึง ๓ ปี เมื่อกลับมาอยู่วัดเลียบอีกไม่นานก็ถูกบัพพาชนียกรรม คือถูกไล่ออกจากวัด ก็เนื่องด้วยสุราเป็นเหตุ ต้องเร่ร่อนโดยเรือแจวไปจังหวัดต่างๆอีก แล้วก็กลับมาอยู่วัดอรุณอัมรินทร์

    สุนทรภู่ย้ายมาอยู่วัดเทพธิดารามในปี ๒๓๘๓-๒๓๘๕ และแต่งกลอนรำพึงถึงวัตถุสถานของวัดไว้หลายอย่างใน “รำพรรณพิลาป”

    หอระฆังของวัดเทพธิดารามซึ่งก่ออิฐถือปูนสูง ๙ เมตร มีรูปลักษณะคล้ายหอกลอง สุนทรภู่ก็บรรยายไว้ว่า

    “หอระฆังดั่งทำนองหอกลองใหญ่
    ทั้งหอไตรแกลทองเป็นของหลวง
    ปลูกไม้รอบขอบนอกเป็นดอกดวง
    บ้างโรยร่วงรสรื่นทุกคืนวัน”

    สุนทรภู่อยู่ที่ไหนได้ไม่นาน จำพรรษาอยู่ทีวัดเทพธิดาราม ๓ พรรษาก็นับว่านานกว่าที่อื่น เมื่อยามที่ต้องจากไปจึงอาลัยอาวรณ์ไว้ว่า

    “โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก
    เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา
    โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา
    โอ้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว
    เคยเยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าเมื่อเราอยู่
    มาหาสู่ดูแลทั้งแก่สาว
    ยืมหนังสือลือเลื่องถามเรื่องราว
    โอ้เป็นคราวเคราะห์แล้วจำแคล้วกัน”

    ปลายรัชกาลที่ ๓ ชีวิตสุนทรภู่ค่อยสุขสบายขึ้น เมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงเมตตาปราณีให้ไปอยู่พระราชวังเดิมซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์ ทั้งกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาองค์โปรดของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงสร้างวัดเทพธิดารามให้ ก็ทรงเมตตาสุนทรภู่ และรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีที่ค้างอยู่จนจบ

    ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ชะตาชีวิตของสุนทรภู่ก็รุ่งโรจน์ขึ้นเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ในวัย ๖๖ ปี สุนทรภู่ถึงแก่กรรมในปี ๒๓๙๘ เมื่ออายุได้ ๗๐ ปี

    ทางวัดเทพธิดารามได้อนุรักษ์กุฎิที่สุนทรภู่เคยจำพรรษาไว้อย่างดี พร้อมทั้งเครื่องใช้ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และติดกลอนที่สุนทรภู่แต่งไว้รอบบริเวณ
    ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ เนื่องในงานสถาปนิก ๓๗ สมเด็จพระขนิษฐาเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินทรฯ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานกิตติบัตรแก่วัดเทพธิดารา ผู้ครอบครองอาคารกุฏิสุนทรภู่ ได้รับรางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย ในการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

    ทุกวันนี้ยังมีทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศแวะเวียนไปชมกุฏิสุนทรภู่ไม่ขาดสาย ซึ่งทางวัดก็เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมคลอดเวลา แฟนๆพระอภัยมณีจะไปเยี่ยมกุฏิสุนทรภู่สักครั้ง แค่เดินอ่านกลอนสุนทรภู่ที่ติดไว้ก็เพลินแล้ว
    8b9e0b988e0b980e0b881e0b8b4e0b894e0b8a7e0b8b1e0b899e0b899e0b8b5e0b989-e0b980e0b8abe0b8a5e0b989-1.jpg
    8b9e0b988e0b980e0b881e0b8b4e0b894e0b8a7e0b8b1e0b899e0b899e0b8b5e0b989-e0b980e0b8abe0b8a5e0b989-2.jpg
    8b9e0b988e0b980e0b881e0b8b4e0b894e0b8a7e0b8b1e0b899e0b899e0b8b5e0b989-e0b980e0b8abe0b8a5e0b989-3.jpg
    8b9e0b988e0b980e0b881e0b8b4e0b894e0b8a7e0b8b1e0b899e0b899e0b8b5e0b989-e0b980e0b8abe0b8a5e0b989-4.jpg

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000060639
     

แชร์หน้านี้

Loading...