วิธีตั้งจิตให้สงบเป็นสมาธิ (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย วิปัศย์, 29 พฤษภาคม 2012.

  1. วิปัศย์

    วิปัศย์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤษภาคม 2012
    โพสต์:
    178
    ค่าพลัง:
    +1,443
    [​IMG]


    วิธีตั้งจิตให้สงบเป็นสมาธิ
    โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔



    ต่อไปนี้มันจะยั้วเยี้ยๆ นะพอออกพรรษาแล้ว โอ๋ย ผมอกจะแตกจริงๆ นะผมทนเอา ยิ่งเกี่ยวกับเรื่องมาช่วยบ้านช่วยเมืองแล้วยิ่งหนักเข้าๆ ทุกอย่าง วุ่นไปหมดเลย เราที่เคยอยู่สบายๆ แต่ก่อน กับมาเป็นทุกวันนี้มันเป็นคนละโลกนะ ไม่ใช่ธรรมดาเป็นคนละโลก

    นี่ผมก็ไม่ได้เทศน์สอนพระมาเป็นเวลานาน เรียกว่าทอดธุระไปตามกำลังของเรา ตั้งแต่อายุ ๘๐ แล้วหยุดเอง มันหยุดของมันเอง อันนี้มันก็เป็นเรื่องใหม่ขึ้นมา ก็ธาตุอันเก่านั่นแหละบึกบึน เพราะฉะนั้นมันถึงทุกข์มากลำบากมากทีเดียว ฝืนวัยของเรา

    ผมเป็นห่วงเป็นใยกับพระของเรา โดยเฉพาะพระกรรมฐานนี้สำคัญมาก ซึ่งเป็นจุดสนใจของประชาชนให้พอได้มีหวัง ได้รับความอบอุ่นอยู่ เวลานี้ก็คือภาคปฏิบัติ แล้วก็เป็นห่วงสำหรับพระปฏิบัติของเรา มันจะลุ่มๆ ดอนๆ สุ่มสี่สุ่มห้าไปเรื่อยๆ นะ กิเลสจะมีรสมีชาติเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วหนาแน่นขึ้นมาภายในหัวใจของพระเรา ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของกิเลสหนุนหัวใจ

    ให้คิด ให้อ่าน ให้พูด ให้จา ให้ขวนขวายไปตามกิเลสเสียทั้งนั้น เวลานี้ ธรรมประหนึ่งว่า จะค่อยมุดมอดลงไปๆ เพราะอำนาจของกิเลส มันตีเข้ามาทุกด้าน เราได้เห็นชัดๆ ที่เกี่ยวกับวัดป่าบ้านตาดนี้ ดูซิการงานอะไรๆ เข้ามา เรื่องนั้นเข้ามา เรื่องนี้เข้ามา โลกเขาไม่ได้คิดนะ ว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นธรรม แต่จิตใจของเราเป็นธรรมล้วนๆ ว่าอย่างนี้เลย อะไรแฝงเข้ามาปั๊บนี้จะรู้ทันทีๆ ไม่มีคำว่าชินชากัน ถึงได้รู้เรื่องของกิเลสมันลุกลามขึ้น หนักมากทุกวันๆ ความสะดวกๆ ทุกอย่างเป็นเรื่องของกิเลสจูงสัตว์โลกทั้งนั้น สัตว์โลกไม่รู้

    อย่างทุกวันนี้เห็นไหมล่ะ ไปอยู่ที่ไหนโทรศัพท์กับหูนี้จ้อกันอยู่ โอ๋ย ผมดูไม่ได้นะ ผมสลดสังเวช อย่างนี้เห็นไหม อยู่ที่ไหน ยืนอยู่ก็ตาม นั่งก็ตาม จ่ออยู่นี้ เราสลดสังเวช นี่ละว่าเพื่อความสะดวก ว่าอย่างนั้นนะ ความยุ่งเหยิงวุ่นวายให้จิตใจขุ่นมัวมั่วสุมเดือดร้อนตลอดเวลา ก็คือสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องส่งเสริมด้วย เวลานี้กำลัง นี่ละที่ว่าโลกมันสะดวก สะดวกของกิเลส แต่เป็นข้าศึกของธรรมทุกระยะๆ ไป พระเราจะรู้ไหมเหล่านี้น่ะ ในวัดในวาจะมีตั้งแต่โทรศัพท์มือถือเต็มบ้านเต็มเมืองนะ

    ดูซิตั้งแต่รถรานี้ก็ดูซิ อย่างนี้แล้ว เดี๋ยวนี้เป็นยังไงรถรากับกรรมฐานเรา มันกลืนเข้ามาอย่างนี้ให้พิจารณาเอา กลืนเข้ามาเพื่อความสะดวกๆ มันสะดวกเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ไม่ได้สะดวกเพื่อธรรม นี่คิดทุกแง่ทุกมุม มันหากคิดของมันเองรู้เอง เพราะไม่เคยชินกับสิ่งเหล่านี้ สัมผัสเข้ามามันก็รู้ทันที เหมือนไฟจี้เรา เข้ามาจี้ธรรมรู้ทันที แย็บเข้ามารู้ทันที ไฟจี้เราก็แบบเดียวกัน กิเลสจี้ธรรมก็อย่างเดียวกัน สติธรรม ปัญญาธรรม มีประจำใจทำไมจะไม่รู้อะไรผิดอะไรถูก ผ่านเข้ามาเท่ากับว่าจี้นั่นเอง มันจะรับทราบกันทันทีๆ ธรรมดาไม่ทราบ ไม่ว่าท่านว่าเราใครๆ ก็เหมือนกัน ไม่ทราบ

    แต่ธรรมชาติของจิตอันนี้มันเป็นของมันเองอย่างนั้น มันทราบตลอด จึงว่าไม่เคยชินกับสิ่งใดตลอดไปเลย เพราะฉะนั้นอะไรผ่านเข้ามามันถึงรู้ได้ชัดเจนๆ รู้โดยหลักธรรมชาติของมัน ไม่ใช่ว่าเราตั้งหน้าตั้งตาจะรับทราบ จะปัดจะปิดจะป้องอะไรอย่างนี้ไม่นะ มันสัมผัสเข้ามา อันไหนจริงอันไหนปลอมมันก็รู้ทันทีๆ เป็นในหลักธรรมชาติของจิต พูดให้เต็มยศก็คือว่ามันจริงล้วนๆ แล้ว อะไรปลอมแฝงเข้ามานิดมันก็รู้ทันทีๆ สิ่งเหล่านี้ใครเคยคิดเคยอ่านไว้เมื่อไร ไม่คิด ผมเองผมก็ไม่คิดนะ ที่ว่ารู้ๆ เหล่านี้นะ เมื่อมันถึงขั้นเป็นอย่างนั้นแล้ว ใครเป็น มันก็รู้ด้วยกันนั่นแหละ ไม่ต้องมีใครบอกใครสอน มันจะรู้อย่างเดียวกันนี้ เป็นประจักษ์ในตัวเอง

    จึงเห็นได้ชัดว่า ธรรมนี้ละเอียดมากสุดยอดเลย กิเลสจะละเอียดแหลมคมขนาดไหน มันเป็นความสกปรกโสมม เป็นสิ่งที่หยาบโลน กระทบกระเทือนหนัก ต่อธรรมทั้งหลายมาตลอด อย่างนี้ ทีนี้เมื่อจิตไม่มีธรรมเข้าภายในใจ จิตกับกิเลสก็เป็นอันเดียวกันเสีย เลยไม่ทราบว่า อันใดถูกอันใดผิด มันกลายเป็นหลังหมีดำไปหมดเลย จิตทั้งดวงเป็นหลังหมีดำไปเลย ไม่มีด่างๆ ดาวๆ พอจะทราบว่า ตรงจุดนั้นดำจุดนี้ขาว จิตมันดำไปหมดก็เป็นอย่างนั้น เมื่อมันได้เป็นเต็มสัดเต็มส่วนของจิตดวงนั้นธรรมชาตินั้นแล้ว คือธรรมกับจิตเมื่อพูดให้เต็มยศแล้ว จิตกับธรรมเป็นอันเดียวกันเลย จะแยกไปไหนไม่ได้ นั้นละเมื่อถึงขั้นนั้นแล้วมันจะรู้ทุกอย่าง

    ขึ้นชื่อว่ากิเลสจะละเอียดขนาดไหน มันก็มีความหยาบในตัวของมัน เรียกว่ากระทบกระเทือน เหมือนไฟมาจี้เรา จะละเอียดขนาดไหนจี้มันก็เจ็บแปล๊บๆ นี่กิเลสจะละเอียดขนาดไหน ก็เหมือนไฟจี้ จี้ธรรม สติธรรม ปัญญาธรรม รักษากันอยู่ รู้โดยหลักธรรมชาติๆ อย่างนี้เรื่อยมา

    การปฏิบัติภาวนา เคยสอนหมู่เพื่อน ให้มีความแม่นยำต่องานการของตน วิธีการตั้งรากฐานจิตใจให้มีความสงบไม่ได้ เนื่องจากเราจับจด ไม่จริงไม่จังกับงานของตัวเองที่ทำ ถ้าจริงจังแล้วต้องได้ ไม่สงสัย เช่นอย่างให้ฝึกหัดภาวนา คำบริกรรมเป็นเครื่องกำกับจิต เพื่อจะตั้งรากฐานของจิต ให้มีความสงบขึ้นไปโดยลำดับๆ นี้ จะตั้งได้ด้วย คำบริกรรมภาวนา ถ้าปล่อยให้จิตกำหนดรู้เฉยๆ นี้ไม่ได้เรื่องนะ รู้มันก็รู้ในเวลาตั้งใจ พอเผลอแพล็บเดียว ออกรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสไปแล้ว มันก็กลายเป็นกิเลสไปหมดล่ะซี

    แต่ตั้งคำบริกรรมด้วยความบังคับบัญชาหนาแน่น มีสติกำกับตลอดเวลา อย่างนี้แน่นอนว่า จิตต้องสงบได้ เป็นอื่นไปไม่ได้ ว่าอย่างนี้เลยนะ เพราะนี้ได้เคยฝึกเจ้าของแล้ว ตอนที่มันมารู้จริงรู้จัง เอาจริงเอาจังกัน ก็ตอนที่จิตเจริญแล้วเสื่อมๆ มาได้ปีกว่าๆ จึงได้มาพิจารณาตั้งกฎใหม่ ขึ้นมาใส่ตัวเอง เราพยายามเท่าไรเจริญขึ้นไปได้สองสามวัน เสื่อมลงต่อหน้าต่อตา แล้ว ๑๔-๑๕ วันถึงจะฟื้นขึ้นมาได้ ๑๔-๑๕ วันเราแทบเป็นแทบตายนะ ทุกข์ทรมานมาก แล้วขึ้นไปพอสงบเย็นใจบ้าง สองสามวันเท่านั้นเสื่อมลงต่อหน้าต่อตา เป็นอย่างนี้ๆ ตลอดมาได้ปีกว่าๆ จิตผมเสื่อมตั้งแต่เดือนพฤศจิกาปีนี้ เดือนพฤศจิกาปีหน้าผ่านไป จนกระทั่งถึงเดือนเมษานานไหม คิดดูซิ นี่ละที่ตกนรกทั้งเป็น

    ก็กำหนดเอาจิตเฉยๆ กำหนดๆ จิตเฉย ๆ มันก็เป็นให้เห็นอยู่อย่างนี้ จึงทำให้เกิดความสงสัย มันอาจจะเป็นเพราะ การตั้งจิตเอาเฉยๆ มีสติกำกับจิตนี้ มันอาจจะเผลอไปตอนใดตอนหนึ่งก็ได้ ทีนี้เราจะตั้งคำบริกรรม เอาคำบริกรรมเป็นหลัก เป็นกฎเกณฑ์เลย ให้จับกับคำบริกรรมนี้ด้วยสติตลอดเวลา เอาทีนี้มันจะเผลอไปที่ไหนก็ให้รู้ นี่ละตอนมาได้เหตุได้ผลกัน

    ทีนี้ก็ตัดสินใจลงเลยว่า ทีนี้มีคำบริกรรมเป็นรากฐานอันสำคัญ ตั้งปักไว้เลย ด้วยคำบริกรรม แต่ว่าตั้งจริงๆ นะ นิสัยมันจริงจังมาก พอตั้งความสัตย์ ความจริงลงไปแล้ว ก็เหมือนกับหินหัก เทียวนะ ไม่ให้มีเงื่อนต่อกันเลย ต้องจริงจังอย่างนั้น ทีนี้เอา พุทโธ จะเผลอไปไม่ได้มันจะเป็นยังไง ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ จะไม่ยอมให้มันเผลอเลย เคลื่อนไหวไปมาที่ไหน สติกับคำบริกรรม ต้องให้ติดแนบๆ ตลอดเวลาๆ อย่างนี้ ถึงขนาดนั้นนะ ตั้งขนาดนั้นละ

    เรื่องจิตว่าเสื่อม ว่าเจริญนั้น ปล่อยหมดแล้ว เพราะความอยากไม่ให้มันเสื่อม มันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา อยากให้เจริญมันก็ไม่ได้เจริญ มันไม่ได้สมหวังทั้งสองอย่าง คราวนี้ จะเอาสิ่งสมหวังจากพุทโธ คำบริกรรมอย่างเดียว จิตจะเสื่อม ให้เสื่อมไป จิตจะเจริญ ให้เจริญไป ไม่เป็นอารมณ์ยิ่งกว่าคำบริกรรม อันนี้จะเสื่อมไปไม่ได้ จะสูญไปจากสตินี้ไปไม่ได้ ตั้งกึ๊กลงไปนี้ เอาละที่นี่หายห่วง จิตจะเจริญหรือเสื่อมปล่อยเลยเทียว มีแต่คำบริกรรมจะไม่ให้เสื่อม ให้อยู่กับพุทโธๆ

    แหม มันประจักษ์จริงๆ นะ คือเราเอาจริงเอาจังมากทีเดียวไม่ยอมให้เผลอเลย ไปบิณฑบาต ไม่ทราบเขาใส่อะไร ไม่ใส่อะไร คำว่าพุทโธกับสตินี้ ติดแนบๆ จะขบจะฉันเคลื่อนไหวไปมา พุทโธจะไม่ยอมปล่อยเลย นี่ละจึงเรียกว่าเป็นเหมือนตกนรกทั้งเป็น บังคับจิตให้อยู่กับพุทโธ มีสติบังคับ นี่หนักมากนะ ไม่ให้เคลื่อนไหวไปไหนเลย เคลื่อนไปไหนสติไม่ให้เคลื่อน ให้อยู่อย่างนั้นเป็นประจำๆ ติดแนบ ก็ไม่นานนะ

    นี่ละที่มันเห็นชัดๆ ความเสื่อมความเจริญปล่อยทิ้งหมดแล้ว ไม่ปล่อยตั้งแต่พุทโธกับสติ ติดกันแนบๆ อย่างนี้ตลอด นอกนั้นปล่อยหมด ไปไหนมีแต่พุทโธๆ ติดแนบ เพราะฉะนั้น มันถึงได้เห็นความละเอียดของจิต ทีนี้เวลามันนานเข้าๆ คำว่าพุทโธกับจิตนี้ค่อยละเอียดเข้าไปๆ จนกลายเป็นอันเดียวกัน ทีนี้นึกคำบริกรรมพุทโธไม่มีเลย เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียดเต็มที่อยู่นั้น คำบริกรรมนึกอย่างไร ก็ไม่ปรากฏ จนเจ้าของก็งง สงสัยเจ้าของ เอ๊ จะทำยังไงนี่ เราก็อาศัยพุทโธนี้ เป็นที่เกาะที่ยึด ทีนี้พุทโธก็ไม่มีแล้ว บริกรรมยังไงมันก็ไม่ปรากฏเลย จะทำไง มันก็มีความรู้สึก อันหนึ่งขึ้นมา เอ้า ถึงคำว่าพุทโธจะหายไปก็ตาม จิตที่รู้เด่นอยู่เวลานี้ ไม่หาย ยิ่งละเอียดลออ

    ให้ตั้งสติไว้กับความรู้อันนี้ นั่น จับคำบริกรรมพุทโธไม่ได้ ก็จับธรรมชาติที่รู้ด้วยสติ เอ้า อยู่นี้อีก ตั้งสติไว้อีกเหมือนกัน มันแน่วของมัน จนกระทั่งมันถึงจังหวะแล้ว จิตที่ว่าบริกรรมไม่ได้ มันก็คลี่คลายออกมา เหมือนว่าจิตมันสงบตัวของมันแล้วถอยออกมา พอมันคลี่คลาย ออกมานิดหนึ่ง พอเอาคำบริกรรมพุทโธได้ ปรากฏว่าพุทโธได้แล้ว เอาพุทโธติดเข้าไปเลย จากนั้นมาก็รู้จักวิธีปฏิบัติ เวลาเข้าขั้นละเอียดจริงๆ นี้พุทโธไม่มีนะ ไม่มีจริงๆ จนกระทั่งเจ้าของงง นึกยังไงก็ไม่ปรากฏ เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ จึงต้องเอาสติเข้าไปติดกับความรู้อันนั้นไว้แทนพุทโธๆ นี่ละที่มันเป็นที่แน่ใจว่าจิตนี้ต้องสงบได้แน่นอน ถ้าบังคับเป็นความสัตย์ความจริงอย่างนี้แล้ว เป็นอื่นไปไม่ได้ว่างั้นเถอะ

    นี่จิตก็เริ่มเจริญขึ้นมา จนกระทั่งถึงขั้นที่มันเจริญแล้ว สองสามวันมันเสื่อมลงไป ถึงขั้นนั้นแล้ว ก็ปล่อยความอาลัยตายอยาก ทั้งหมดเลย เอ้า จะเสื่อมก็เสื่อมไป ถึงจุดที่เคยเสื่อมแล้ว บังคับไว้ไม่ให้มันเสื่อม มันก็เสื่อมต่อหน้าต่อตา คราวนี้อยากเสื่อม-เสื่อมไป แต่คำบริกรรมไม่ยอมให้เสื่อมจากกันเลย ติดไปนั้นอีก พอไปถึงที่นั่นแล้ว เอ้า มันจะเสื่อมก็เสื่อมลง ไม่เสียดาย ปล่อยอารมณ์เลย คำบริกรรมนี้ติดแนบๆ มันเจริญขึ้นไปตรงนั้น เอ้า ทีนี้มันจะเสื่อมไหม สุดท้ายมันไม่เสื่อมนะ พอถึงขั้นนี้แล้วได้สองสามวัน มันเคยเสื่อม เคยเสื่อมมาเป็นประจำ ทีนี้ไม่เสื่อม พุทโธติดแนบเข้าไป ยิ่งแน่นเข้าไปๆ ก็เด่นชัดๆ แต่ยังไม่ถอยเรื่องคำบริกรรม

    เอาจนกระทั่งถึงว่า ความรู้นี้เด่นมาก เราจะบริกรรมก็ได้ ไม่บริกรรมก็ได้ ความรู้นี้เด่นอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติ หรือเป็นเป้าหมายอันหนึ่ง แห่งความเพ่งเล็งของจิต และสติจับจุดนี้ได้แล้ว ก็อยู่นั้นอีก ต่อไปคำบริกรรมมันก็ปล่อยของมัน แต่ปล่อยนี้ มันก็จับความรู้ที่เด่นๆ นั่นละ ก็ค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อย

    นี้เตือนให้หมู่เพื่อนได้ทราบว่า การตั้งจิตเบื้องต้น ต้องเอาจริงเอาจัง ถ้าตั้งอย่างที่ว่าแล้ว สงบได้แน่นอนไม่สงสัย เพราะผมเคยทำมาแล้ว จากนั้นก็แน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วไม่เคยเสื่อมนะ เพราะเราเข็ดหลาบเรื่องความเสื่อมของจิตนี้ ยิ่งเอาจริงเอาจังมาก มันก็ไม่เสื่อม


    นี้ การตั้งจิตเพื่อให้เป็นรากฐานของตัวเองจริงๆ ในการภาวนา เป็นหลักของใจจริงๆ อย่าทำเหลาะแหละนะ ให้มีจริงมีจังอย่างนี้ เราจะได้เห็นหลักเกณฑ์ของใจเกิดขึ้นที่ใจตัวเอง ความสงบจะปรากฏขึ้น ความแน่นหนามั่นคงแห่งความสงบจะแน่นขึ้นไปโดยลำดับลำดา จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิ

    คำว่าความสงบกับสมาธินั้นไม่ได้เหมือนกัน เมื่อพูดตามภาคปฏิบัติแล้ว ความสงบนั้นคือ จิตสงบลงไป หรือว่ารวมลงไปหนหนึ่งแล้วถอนขึ้นมาๆ เรียกว่าสงบเป็นครั้งคราว ในเวลาจิตที่รวมลงไปถอนขึ้นมานี้เรียกว่า ความสงบ

    ทีนี้เวลามันสงบลงไปถอนขึ้นมาหลายครั้งหลายหน มันสร้างฐานแห่งความมั่นคง ภายในตัวของมันขณะที่สงบนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นจิตที่แน่นหนามั่นคงขึ้นมา จากความสงบที่สั่งสมกำลังแห่งความแน่นหนามั่นคงมาเป็นลำดับนั้น ติดต่อกันมาเรื่อยๆ เลยกลายเป็นสมาธิขึ้นมาแน่นหนามั่นคง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว

    เวลาสงบแล้วถอนขึ้นมาๆ นั้นเรียกว่าจิตสงบ หรือว่าจิตรวม พอถึงขั้นจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตจะถอนขึ้นมาไม่ถอนขึ้นมาก็ตาม ฐานของจิตคือความสงบนั้นแน่นปึ๋งๆ ตลอดเวลา นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ เห็นประจักษ์ในหัวใจอย่างนี้ อ๋อ สมาธิกับความสงบนี้ต่างกัน นี่เรียกว่าสมาธิ เพื่อให้ถูกต้อง ดำเนินด้วยความราบรื่น

    พอจิตเป็นสมาธิ มีความสงบ มันอิ่มอารมณ์ ไม่เสียดายในความคิดความปรุงไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรสต่างๆ พอใจอยู่กับความสงบใจของตนนั้น เรียกว่าจิตมีสมาธิ จิตอิ่มอารมณ์ คือไม่อยากคิดกับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ อาศัยความสงบเย็นใจ ความแน่นหนามั่นคงของสมาธินั้นเป็นเรือนอยู่ของใจ

    จิตขั้นนี้ เวลามันสงบมีกำลังมากๆ แล้วมันจะรำคาญในการคิด การปรุงต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนมันหิวโหยมาก ไม่ได้คิดได้ปรุงอยู่ไม่ได้ ดีดดิ้นอยากคิดอยากปรุง พอจิตมีความสงบเป็นจิตแน่นหนามั่นคง เรียกว่าเป็นสมาธิเต็มที่แล้วนั้น ไม่อยากคิด ความคิดเป็นการรบกวนตัวเอง จิตที่อยู่แน่วมีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่ภายในตัวนั้น ถือว่า เป็นความสะดวกสบาย ไม่มีอะไรมากวนใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสมาธิ จึงมักติดในสมาธิ หรือติดในสมาธิ เพราะสมาธินี้ก็เป็นอารมณ์กล่อมใจได้ดี

    เมื่อยังไม่ถึงขั้นปัญญา ที่จะมีผลมากกว่านี้แล้ว จะติดได้ ทีนี้ พอจิตมีความแน่นหนามั่นคงแล้ว มันอิ่มอารมณ์แล้วที่นี่ เมื่อจิตอิ่มอารมณ์แล้ว พาออกทางด้านปัญญา ถ้าจิตไม่อิ่มอารมณ์ ยังหิวอารมณ์อยู่แล้ว ออกทางด้านปัญญา จะเป็นสัญญาไปเรื่อยๆ คาดหมายอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นสมุทัยไปหมด เลยไม่เป็นปัญญาให้

    เพราะฉะนั้น ท่านถึงสอนให้อบรมทางสมาธิเสียก่อน สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา คือสมาธิมีความแน่นหนามั่นคงแล้ว สมาธิมีความอิ่มตัวแล้ว ก็หนุนปัญญาได้ พิจารณาทางด้านปัญญาก็คล่องตัวๆ เป็นปัญญาจริงๆ ไม่ได้เป็นสัญญาอารมณ์ เพราะจิตอิ่มอารมณ์แล้ว ออกพิจารณาทางด้านปัญญา ยกเอาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก กระทั่งถึงร่างกายทุกสัดทุกส่วน ให้เป็นเหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อนั้นคือร่างกายทุกส่วนนี้แล ไฟคือสติปัญญา ตปธรรม หนุนเข้าไปพิจารณาเข้าไป

    สัมผัสสัมพันธ์กับอวัยวะใดก็ตาม ในร่างกายของเราที่เป็นที่ถนัดใจ พิจารณาอันนั้นๆ แล้วจะค่อยแตกกระจัดกระจายไปถึงเรื่องว่า อสุภะอสุภัง อย่างนี้ก็เหมือนกัน อสุภะก็คือของไม่สวยไม่งาม ของสกปรกโสโครกนั้นเองจะเป็นอะไรไป ร่างกายของเรานี้ก็คือป่าช้าผีดิบอยู่แล้ว คือส้วมคือถานอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติของมัน เป็นแต่เพียงว่าผิวหนังบางๆ ไปปิดเอาไว้นิดหน่อย หลอกลวงทั้งตัวเราหลอกลวงทั้งผู้อื่น เป็นสิ่งที่หลอกลวงโลกได้ด้วยผิวหนังบางๆ เท่านั้นเอง จากบางๆ ไปนั้นมีอะไร เรียกว่าหมดทั้งตัว มีแต่เรื่องกองอสุภะอสุภัง ป่าช้าผีดิบเต็มไปหมดในร่างกายของเรา

    พิจารณาทางด้านปัญญาพิจารณาอย่างนี้ ผิวหนังบางๆ ก็แยกละเอียดเข้าไปอีก ผิวหนังก็มีขี้เหงื่อขี้ไคลอยู่ในนั้นอีกมันสะอาดที่ไหน จากผิวเข้าไป หนังกับเนื้อมันก็ติดกันไป เข้าไปข้างในเท่าไร ยิ่งสกปรกโสมม ปัญญาหยั่งเข้าไปๆ ครั้งนี้เห็นเท่านี้ ครั้งต่อไปพิจารณาเข้าไป ค่อยแยบคายไปๆ ความเห็นค่อยละเอียดลออเข้าไปๆ ลุกลามไปได้หมด เลยปรากฏตั้งแต่อสุภะหมดทั้งตัวเลย ปัญญาก้าวเดินตามนี้ จนมีความคล่องแคล่วว่องไว แล้วมันจะค่อยถอนตัวของมันเอง เรื่องความรักความชัง ราคะตัณหานี้ มันจะค่อยถอนตัวของมันออกไปๆ เรื่อยๆ

    พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนมากเท่าไร เรื่องราคะตัณหามันถอนของมันเองแหละ ที่มันเป็นราคะตัณหา ก็เพราะมันหลงอันนี้ เข้าใจว่าเป็นของสวยของงาม ก็รักชอบใจ กำหนัดยินดีไปได้ซี เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้ เป็นป่าช้าผีดิบแล้ว มันจะไปกำหนัดอะไร อยู่ในป่าช้ากองกันพะเนินเทินทึก ใครไปกำหนัดยินดีกับมันที่ไหน อันนี้ป่าช้าของเราก็เหมือนกัน เมื่อลงได้เห็นชัดเจนอย่างนี้แล้วมันก็ถอนตัวออกมาๆ ความชำนิชำนาญในอสุภะอสุภังมากเท่าไร ประหนึ่งว่าราคะไม่มีนะ เหมือนว่าหมดไปเลยทั้งๆ ที่มันสงบตัวของมันต่างหาก มันไม่ได้สิ้นได้หมดนะ แต่ประหนึ่งว่าสิ้นไปแล้ว ราคะ เพราะอำนาจอสุภะอสุภังทับหัวมันไว้

    เพราะฉะนั้นจึงแยกแยะพิจารณา ขยับขยาย เพ่งดูภายนอกออกไป ว่าเป็นเหมือนกับ ร่างกายของเรานี้ ดูร่างกายก็เหมือนภายนอก แล้วดูร่างกายของตัวเองชัดเจนเข้าไป เมื่อมันมีความชำนิชำนาญแล้ว ดูซากอสุภะอสุภังของเจ้าของ ที่กางเอาไว้ข้างหน้า เช่น กองอสุภะของตัวเอง หรือกองอสุภะของผู้ใดก็ตาม มาตั้งไว้ตรงหน้า มันก็เห็นชัดเจนอย่างนั้น ครั้นสุดท้ายกองอสุภะอสุภัง ทั้งของเขา ทั้งของเรา ออกไปกองเอาไว้ มันเป็นมาจากไหน นั่นเวลาจะถึงตัวจริงของมัน

    กองอสุภะอสุภังที่ไปตั้งเอาไว้นี้กำหนดดูให้ชัดเจน ดูอันนี้มันเป็นยังไงอสุภะอันนี้ มาจากไหน ความเคลื่อนไหวของมันจะปรากฏขึ้นมา เวลาเราทำลาย-ทำลายเมื่อไรก็ได้ ตั้งขึ้นมาปั๊บ ให้ดับขาดสะบั้นลงไปทันทีทันใดก็ได้ เพราะปัญญาคล่องแคล่วว่องไว

    ทีนี้เราจะพิสูจน์ให้มันเห็นชัดว่า อสุภะนี้มาจากไหน ทั้งๆ ที่เราตั้งขึ้นมานั้น มันตั้งขึ้นมาจากอะไร อะไรพาให้เป็นอสุภะขึ้นมาต่อหน้าของเรานี้ เพ่งดู ดูตัวอสุภะตัวนี้ มันจะเคลื่อนไหวไปไหน มันจะเข้าในหรือออกนอก หรือมันจะเหาะเหินเดินฟ้าไปไหน ดูจุดนั้นให้ดี นี่ถึงขั้นที่มันจะตัดสินกันนะ ดูจุดนี้ ถ้ามันยังไม่ถึงขั้นตัดสินกันได้ ดูมันก็เป็นอีกแง่หนึ่งๆ ของมัน พอถึงขั้นที่มันจะตัดสินกันแล้ว อสุภะที่เรากำหนดอยู่ข้างหน้านี้

    จิตมันจะเพ่งดูนานๆ แล้วจิตดวงนี้แหละมันค่อยกลืนเข้ามาๆ อสุภะที่นั่งเด่นอยู่ต่อหน้าเรานี่ ความเด่นๆ นั้นถูกความรู้อันนี้ คือใจนี้ กลืนเข้ามาๆ สุดท้าย อสุภะเลยมาเป็นใจเสียเอง ไปหลอกตัวเอง ตั้งเป็นอสุภะนั้นขึ้นมา ครั้นเวลากำหนดตามหลักความจริงแล้ว อสุภะนั้นเลยหมุนเข้ามา หาใจตัวเอง ซึ่งเป็นผู้ไปวาดนี้แล เลยกลายเป็นจิตเสียเอง เป็นผู้ไปวาดภาพตัวเอง ทั้งว่าสวยว่างาม ทั้งว่าอสุภะอสุภัง ไม่ใช่ผู้ใด คือตัวจิตนี้เอง ไปหลอกตัวทั้งสองด้านนั้นแหละ

    พอเข้าถึงนี้แล้วมันก็รู้ตัวจริงของมันว่าตัวนี้เป็นผู้หลอก ตัวนี้เป็นตัวอสุภะหรือเป็นตัวสุภะ ภาพข้างหน้าที่เรากำหนดไว้นั้นไม่ใช่สุภะ ไม่ใช่อสุภะ ตัวนี้ต่างหาก เป็นผู้ไปหลอกวาดภาพ ไว้ข้างหน้า เวลาพิจารณาแล้ว มันก็กลืนเข้ามาหาตัวผู้ไปหลอกนี้เอง พอเห็นนี่แล้ว มันก็ปัดผึงเลย เรื่องอสุภะก็ตาม สุภะก็ตาม ภายนอกภายในที่ไหน มันไม่ถือเป็นปัญหา ยิ่งกว่าสุภะอสุภะ ที่เจ้าของคือใจดวงนี้เอง เป็นผู้ไปหลอกเสียเอง ไปตั้งอันนั้นไว้ พอมารู้ตัวเองว่าเป็นผู้ไปหลอก ตัวเองก็กลืนเข้ามา มันก็เห็นชัดเจนว่า ตัวเองนี้เท่านั้นเป็นผู้ไปวาดภาพว่าสุภะอสุภะ อสุภะภายนอกเลยไหลเข้ามาเป็นอสุภะภายในหัวใจเสีย ทีนี้มันก็ปล่อยเลย ปล่อยเรื่องราคะตัณหา มันปล่อย

    นี้เป็นขั้นเริ่มแรกที่มันปล่อย ตัดสินใจแน่แล้วทีนี้ ถึงจะไม่เสร็จสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนพวกที่เป็นขิปปาภิญญาก็ตาม แต่ก็เรียกว่าสอบได้แล้วขั้นนี้ ให้กำเริบเป็นอื่นเป็นไปไม่ได้ จะให้ย้อนกลับมาเป็นราคะตัณหาอีก เหมือนแต่ก่อนเป็นไปไม่ได้แล้ว แน่ใจเจ้าของ ทีนี้ก็มีแต่จะฝึกฝนเจ้าของ ฝึกซ้อมเจ้าของ โดยตั้งอสุภะที่เคยพิจารณาดังที่ว่านั้น ที่มันกลืนเข้ามาๆ ตั้งอันนั้นปั๊บ กำหนดเข้าไป แล้วค่อยกลืนเข้ามาเรื่อยๆ กลืนเข้ามามาถึงตัวนี้อีก ตั้งอีกตั้งใหม่อีก ตั้งเรื่อยเข้ามา เรียกว่าฝึกซ้อมขั้นนี้ให้ชำนิชำนาญ

    ขั้นราคะตัณหาได้หลักได้เกณฑ์แล้ว ทีนี้ฝึกซ้อมให้มีความชำนิชำนาญเข้าไป พอตั้งเป็นอสุภะขึ้นมา พอกำหนดๆ นี้อันนั้นมันจะค่อยหมุนเข้ามาหาตัวใจคือตัวผู้รู้นี้ กลืนไปหมด เอา ตั้งใหม่ นี่เรียกว่าฝึกซ้อมจิตขั้นนี้ ขั้นได้หลักได้เกณฑ์เรื่องสุภะอสุภะแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องราคะ ก็เป็นอันว่าขาดไปแล้ว แต่ยังไม่สิ้นไม่สุด ส่วนใหญ่ขาดเรียบร้อยแล้ว ให้กำเริบไม่มีทางแล้ว แต่ส่วนย่อย ส่วนอะไร จะเรียกว่ามลทินหรือสนิมเล็กๆ น้อยๆ ติดอยู่กับนั้นยังมี

    นี่ที่ว่าสอบได้แล้ว ๕๐% เรียกว่าสอบราคะตัณหาได้ ๕๐% แล้ว เป็นขั้นได้แล้ว ต่อไปนี้จะฝึกซ้อมกันให้เป็น ๖๐% ๗๐% ด้วยความชำนิชำนาญ ในการกำหนดอสุภะ ไม่หยุด ไม่ถอยเข้าไปเรื่อยๆ ต่อไป อันนี้ก็จะหมุนเข้ามาเร็วเข้าๆ แล้วดับไปเรื่อย พอเข้ามาถึงใจแล้วก็ดับที่ใจ เข้ามาถึงใจแล้ว ดับที่ใจเร็วเข้า เร็วมากเท่าไรดับที่ใจ นี่เรียกว่าฝึกซ้อมขั้นกามราคะที่สอบได้ระดับแล้ว เพื่อให้มีความชำนิชำนาญ ก้าวขึ้นสู่ความสิ้นราคะโดยสิ้นเชิง

    แต่ยังไงมันก็ไม่มีกำเริบแล้วถ้าถึงขั้น ๕๐% นี้ เรียกว่าตัดขาด ให้ถอยลงมากว่านี้ไม่ถอย เป็นแต่เพียงว่ามันช้า การฝึกซ้อมตัวเองนี้หากเป็นไปเอง ไม่มีใครบอกก็รู้ แล้วฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ เพื่อความชำนิชำนาญ ครั้นต่อไปเวลามันหมดมันสิ้นเสียจริงๆ กำหนดภาพขึ้นมาพับ พอปรากฏปั๊บมันก็ดับพร้อมๆ เข้าในหัวใจหรือไม่เข้าในหัวใจก็รู้มันดับพับๆ หมด ทีนี้ไม่มีการฝึก แต่เราก็ต้องอาศัยภาพอันนี้เป็นเครื่องฝึกไปเรื่อยๆ ชำนาญไปเท่าไรก็ต้องฝึกอยู่นี้

    จิตมันจะค่อยก้าวของมันไปเอง จากนั้นก็เป็นความว่างไปๆ แล้วก็ติดตามพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อพิจารณาร่างกายหมดปัญหาไปแล้ว มันก็ต่อเนื่องถึงพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรม รูปกายนี้เมื่อเวลามันหมดปัญหาไปแล้ว ให้พิจารณาเหมือนแต่ก่อนมันไม่ยอมพิจารณา มันรู้เองนั่นแหละ คือมันพอกามกิเลสพอตัวแล้ว ละได้แล้ว

    เรื่องพิจารณาร่างกาย เกี่ยวโยงกับกามกิเลส มันก็ค่อยหมดปัญหา จนกระทั่ง นิมิตที่ว่านี้หมดไปโดยสิ้นเชิง กามราคะก็หมดไปๆ ไปแบบนี้ๆ จากนั้นก็ว่างแล้วพิจารณาถึงพวก สัญญา สังขาร เฉพาะอย่างยิ่งสังขารตัวสำคัญ มันปรุงแพล็บเกิดขึ้นที่ไหนมันก็ดับที่นั่น นี่เรียกว่าพิจารณานามธรรม มันหากเป็นไปเองนะ สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนมากจะหนักอยู่ทางพวกสังขาร

    ผู้พิจารณานามธรรมนี้ คอยดูความปรุงความคิด ความเศร้าหมองผ่องใส ที่เป็น สัญญาอารมณ์มีอยู่ ๒ อย่าง สัญญา สังขาร มันจะเป็นอยู่ภายในจิต ติดตามเข้าไป เรื่องร่างกายมันหมดปัญหาไปแล้ว มันก็มีแต่นามธรรมที่ปรากฏมาจากจิต แล้วตามเข้าไป ก็ไปดับที่จิต ตามเข้าไป นี่ก็เป็นการฝึกซ้อมตลอดเหมือนกัน ความคิดความปรุงของจิต คิดเรื่องอะไรมันก็ดับพร้อมๆ คิดดีก็ดับ คิดชั่วก็ดับ แล้วก็ฝึกซ้อมกันไปในตัว มันก็ก้าวเข้าไปถึงตัวใหญ่ คืออวิชชา นี่เราพูดเพียงย่อๆ สรุปเอานะ


    ถ้า พูดถึงภาคปฏิบัตินี้ โถ มันเหมือนฟ้าดินถล่ม การพิจารณาก็ยืดยาวนาน ไม่ทราบว่ากี่วันกี่คืน ฟัดกันอยู่อย่างนั้น แต่นี้สรุปเอาในการพิจารณาธรรมทั้งหลาย ให้เห็นชัดเจนเป็นลำดับลำดาไป คำว่ากามกิเลสมันขาดยังไง ก็ขาดอย่างนี้แหละ พอถึงขั้นที่นิมิตที่เรากำหนดไว้ข้างหน้า มันหมุนตัวเข้ามา เป็นใจกลืนเข้ามาเสียเองแล้ว นี่เรียกว่าได้รากฐาน นิมิตภายนอกนั้นหมดแหละปัญหา ก็มาทราบตัวเองว่า ตัวเอง เป็นผู้หลอกตัวเองต่างหาก ไปตั้งสุภะขึ้นมาก็ตัวเองหลอกตัวเอง สุภะก็ดี อสุภะก็ดี เป็นตัวเองหลอกตัวเอง

    แต่เวลาเรายังไม่รู้ตัวนี้นั้นก็เป็นทางเดินของเรา ถูกต้องนะ แต่พอรู้ตัวนี้แล้วมันก็รู้โทษของตัวเองของจิต ว่าตัวจิตนี้เองไปหลอก มันเป็นขั้นเป็นตอน ในขณะที่ยังไม่รู้ก็เป็นทางเดินอันดีงาม ถูกต้อง จากนั้นมันก็เข้าถึงจุดใหญ่ซิ คำว่าอวิชชา เมื่อเข้าถึงนามธรรมแล้วมันจะเข้าจุดนั้น บอกไม่บอกก็ตาม เพราะมีแต่อวิชชาอันเดียวเท่านั้น นอกนั้นไม่มี พิจารณาอะไรมันไม่ยอมพิจารณา ก็มีแต่เรื่องสัญญา สังขาร เรียกว่านามธรรม พิจารณาแต่เรื่องนามธรรมล้วนๆ แล้วเข้าถึงจิตๆ หลายครั้งหลายหนมันก็ถล่มกันลงได้

    นี่การพิจารณาภาวนา เบื้องต้นก็อย่างที่พูดให้ฟังแล้ว ต้องตั้งจิตตั้งใจเอาให้จริงจัง ถ้าว่าบริกรรมก็เอาให้จริงแล้วจะเข้าสู่ความสงบ จากความสงบแล้วเข้าเป็นสมาธิ จากสมาธิแล้ว ออกพิจารณาทางด้านปัญญา เป็นขั้นเป็นตอน เป็นเวล่ำเวลา เวลาที่มันหมุนทางด้านปัญญานี้ มันหมุนจริงๆ นะจนไม่มีวันมีคืน ต้องพัก จิตอันนี้ถึงขั้นมันหมุนติ้วเสียจริงๆ แล้วเจ้าของเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เพราะสังขาร ปัญญาเอาสังขารความปรุงนี้ออกใช้ แต่เป็นความปรุงฝ่ายมรรค ไม่ได้เหมือนความปรุงของกิเลสที่เป็นฝ่ายสมุทัย เมื่อทำงานมากๆ มันก็เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ให้เข้าพักสมาธิเข้าสู่ความสงบ อย่ายุ่งเวลานั้น บังคับเข้าให้ได้ มันเพลินนะ จิตเวลาถึงขั้นปัญญาแล้ว มันจะไม่ยอมเข้าพักสมาธิ มันเห็นสมาธิว่านอนตายอยู่เฉยๆ

    ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส แล้วการฆ่ากิเลสไม่รู้จักประมาณ มันก็เป็นสมุทัยอีกเหมือนกัน ไม่รู้จักประมาณ เพราะฉะนั้นจึงเวลาเข้าพักให้เข้าพัก พักความสงบของจิต ถ้ามันพักไม่ได้จริงๆ ก็อย่างที่ผมเคยพูดให้ฟัง เอาพุทโธบริกรรมเลยก็มี ผมเคยเป็นแล้วนะ มันไม่ยอมจะเข้าพัก มันจะหมุนแต่ทางด้านปัญญา ฆ่ากิเลสถ่ายเดียวๆ ทั้งๆ ที่กำลังวังชาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าพอแล้ว เราจึงต้องเอาพุทโธบังคับไว้ให้อยู่กับพุทโธ สติตั้งอยู่นั้น ไม่ยอมให้ออกปัญญาหมุนไว้ สักเดี๋ยวก็ลงสู่ความสงบแน่วเลย นั่นเห็นไหมล่ะ พอจิตเข้าสู่ความสงบนี่ โอ๋ย เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ

    เวลาออกทางด้านปัญญามันเหมือนชุลมุนวุ่นวาย เหมือนนักมวยเข้าวงในกัน ทีนี้เวลาเข้ามาสู่สมาธินี้ มันเหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม เพราะได้พักผ่อนหย่อนจิต ตอนนี้บังคับเอาไว้นะ ไม่อย่างนั้นมันจะออกอีก เพราะกำลังของด้านปัญญามันหนักมากกว่าสมาธิเป็นไหนๆ ถ้าว่าเราเผลอนี้ ผมไม่อยากพูด ถ้าว่ารามือ พอพูดได้ เพราะมันไม่เผลอนี่ พอเราอ่อนทางนี้ รามือสักนิดหนึ่ง มันจะพุ่งออกด้านปัญญา เพราะฉะนั้น จึงต้องบังคับไว้ให้อยู่กับสมาธิแน่วอยู่นั้น จนเห็นว่าเป็นที่พอใจ มีกำลังวังชาทางด้านสมาธิ แล้วค่อยถอนออกมา พอถอนออกมามันจะดีดผึงเลยทางด้านปัญญา

    ให้ทำอย่างนี้ตลอดไปสำหรับนักปฏิบัติ อย่าเห็นแก่ว่าปัญญาดี ปัญญาฆ่ากิเลส แล้วเตลิดเปิดเปิงทางด้านปัญญา นี้เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง ที่แทรกจิต โดยการพิจารณา ไม่รู้จักประมาณ เลยกลายเป็นเรื่อง หลงสังขารทางด้านปัญญาไป สังขารทางด้านปัญญา กลายเป็นสมุทัยไปได้ เพราะเราไม่รู้จักประมาณ

    เวลาพิจารณาให้พิจารณาเต็มที่ ไม่ต้องบอกพอ ถึงขั้นปัญญาขั้นนี้แล้ว มันจะหมุนของมันเอง แต่เวลาพักให้พักเต็มที่ อย่างนั้นถูก ถึงขั้นปัญญาแล้ว มันจะไม่ยอมพัก มันจะหมุนทางด้านปัญญา เพราะเพลินในการฆ่ากิเลส หมุนเข้ามาทางสมาธิ เรียกว่าพักเอากำลัง เหมือนเราพักผ่อนนอนหลับ รับประทานอาหารมีกำลังวังชา ถึงจะเสียเวล่ำเวลาในการพักก็ตาม สิ้นเปลืองไปเพราะอาหารการกินก็ตาม แต่สิ้นเปลืองไปเพราะผลอันยิ่งใหญ่ในกาลต่อไปโน้น ประกอบการงานมีกำลังวังชา นี่จิตของเราพักสมาธินี้จะเสียเวล่ำเวลา แต่เป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ในสมาธินี้ จะหนุนปัญญาให้ก้าวเดินสะดวก คล่องแคล่ว นั่น ให้เป็นอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น

    ผู้ปฏิบัติจับไว้ให้ดีนะที่สอนนี้ ผมไม่ได้สอนด้วยความลูบคลำนะ สอนตามหลักความจริงที่ได้ผ่านมาอย่างไร อย่าเหลาะๆ แหละๆ นะการภาวนา เอาให้จริงจัง เรื่องมรรคผลนิพพานไม่ต้องถาม ขอให้ก้าวเดิน นี่คือทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ไปที่ไหน ขอให้ก้าวเดินตามนี้ให้ถูกต้องเถิด จะเข้าถึงมรรคผลนิพพานโดยไม่ต้องสงสัย สำคัญอยู่ที่การดำเนิน ถ้าผู้แนะไม่เข้าใจนี้ทำให้ผิดพลาดได้ นี้เราแนะด้วยความแน่ใจ เพราะเราดำเนินมาแล้วอย่างช่ำชอง ไม่มีอะไรสงสัยแล้ว

    ในการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน ไม่ว่าจะสมถะ ไม่ว่าจะสมาธิ ไม่ว่าจะปัญญา ปัญญาขั้นใด ตั้งแต่สติปัญญาอัตโนมัติไปเรื่อย จนกระทั่งมหาสติมหาปัญญา มารวมอยู่ที่หัวใจนี้ทั้งหมด มีความคล่องแคล่วแกล้วกล้า ประจักษ์หัวใจตลอดเวลา แล้วจะไปสงสัยสติปัญญา และสติปัญญาอัตโนมัติ ตลอดมหาสติ มหาปัญญาไปได้ยังไง ก็มันเป็นอยู่กับหัวใจ พากันจำให้ดี ให้ตั้งใจปฏิบัติตัวให้ดี

    เวลานี้ศาสนาจะเหลวแหลกแหวกแนวไปเรื่อยๆ นะ พระเรานี้จะพอเป็นเกาะ เป็นดอนอยู่ได้ ก็คือฝ่ายกรรมฐาน นอกนั้นไม่ว่าท่านว่าเรา มันเลอะๆ เทอะๆ ไปหมดแล้วเวลานี้ ผ้าเหลืองก็คลุมหัวโล้น ไปอย่างนั้นแหละ จิตใจความรู้สึกต่างๆ กิริยาอาการหมุนไปตามกิเลส ตลอดเวลาๆ ที่จะหมุนมาหาอรรถธรรม ไม่มีเสียแล้วเวลานี้พระเรา มันเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นพระเราให้หมุนตัวของเราทางด้านอรรถธรรม ฝืนกระแสของกิเลสที่นับวันรุนแรงขึ้นทุกวันๆ นี้ไปให้ได้นะ ถ้าเราอ่อนไปตามกิเลสเราจะจมแน่ๆ โลกสงสารมีความสุขความสบายที่ตรงไหน มองไปไหนมีแต่ฟืนแต่ไฟ เผาหัวอกของสัตว์โลกนี่นะ ข้างนอกสดสวยงดงาม เป็นเครื่องหลอกเครื่องลวง เครื่องประดับประดาตกแต่งของกิเลสหลอกสัตว์โลกให้ดิ้นไปตาม

    แต่ภายในมีแต่ฟืนแต่ไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อยสุมอยู่อย่างนั้น มากกว่านั้น ก็ผาดโผนโจนทะยาน เผาจนเจ้าของจะสลบไสลก็มี มีแต่ความทุกข์จากกิเลสทั้งนั้น แล้วเราจะหลงมัน ไปหาอะไร พิจารณาซิ เรื่องธรรม มีความสงบมากน้อยเพียงไร ยิ่งเย็นยิ่งสบายๆ ยิ่งให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวงด้วยแล้ว ไม่มีอะไรแล้วในโลกอันนี้ ที่จะมาเสียดแทงจิตใจ แม้เม็ดหินเม็ดทราย ไม่มีเลย เราก็ชี้นิ้วได้เลยว่า มีกิเลสเท่านั้น ที่เป็นข้าศึกของใจ กิเลสมีละเอียด ก็เสียดแทงอย่างละเอียด เหมือนเสี้ยนเหมือนหนาม ถ้ามันหยาบก็เหมือนภูเขาทั้งลูกทับเอาๆ

    ถ้ามันละเอียดลงไปก็เป็นประเภทหอกหลาวแหลม ละเอียดเข้าไปกว่านั้น ก็เป็นประเภท เสี้ยนหนาม เสียดแทงหัวใจ เหมือนผงเข้าตาเรานั้นแหละ กิเลสมีมากมีน้อยเหมือนผงเข้าตา ที่ละเอียดลงไปแล้วเหมือนผงเข้าตา พอสิ่งเหล่านี้ขาดสะบั้นลงไปหมดแล้วไม่มีอะไรเลย นั่นละท่านว่าจิตที่เป็นธรรมแท้ เป็นบรมสุข ตั้งแต่ขณะที่กิเลสขาดสะบั้นลงไปแล้ว ไม่มีทุกข์อันใดที่จะเข้าเฉียดจิตใจของท่านผู้สิ้นกิเลสได้เลย ก็มีแต่บรมสุขล้วนๆ จนกระทั่งนิพพาน นิพพานก็เป็นนิพพานเที่ยงอีกด้วย เป็นอนันตกาล นี่ผลแห่งการปฏิบัติ จะตะเกียกตะกายหนักมากเท่าไร ให้คำนึงถึงความสุขเป็นอนันตกาล สุขเที่ยงธรรม เวลานี้ทุกข์ เอ้า ทุกข์ เวลาสุขมันหากจะมี เอ้า บึกบึนกันไปเพื่อเอาสุขบรมสุขที่ไม่ต้องเกิดต้องตาย เป็น อกาลิโก ตลอดเวลา อันนี้ละเป็นของสำคัญ

    ให้พากันตั้งอกตั้งใจนะ ผมก็ยิ่งแก่ลงไปทุกวันๆ การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนนั้น รู้สึกดังที่เห็นนั่นแหละ ไม่ค่อยมีเวลาจะสั่งสอนด้วย กำลังวังชาผมก็ไม่อำนวยด้วย นี่ผมตะเกียกตะกายไปช่วยโลกช่วยสงสารเท่านั้นเอง ถ้าธรรมดาผมแล้วผมไม่เอาไหน ผมอยู่ที่ไหนผมสบาย ไม่มีอะไรกวนใจ อยู่ธรรมดาคนเดียวนี้โลกมันว่างไปหมดเลย โลกนี้เรียกว่าไม่มี คือจิตไม่ไปหมายว่าโลกมีเสียอย่างเดียวเท่านั้น มีแต่ความสว่างจ้าอยู่ภายใน ความรู้อันเดียวนี้เท่านั้นพอ ไม่มีอะไรเข้ามาสับสนปนเปเหมือนแต่ก่อน ที่กิเลสมาตั้งบ้านตั้งเรือน ตั้งส้วมตั้งถาน อยู่ในหัวใจของเรานี้เลย พออันนี้พังลงไปแล้วก็เป็นบรมสุขภายในจิตใจ

    นี่ผลแห่งการปฏิบัติ หนักเบามากน้อยเพียงไร เป็นที่ภูมิใจในงานการกระทำของเราด้วย เป็นที่ภูมิใจในผลที่เราได้รับได้รู้ด้วย ไม่มีที่ต้องติทั้งเหตุ คือการดำเนินมาและผลที่ได้รับ

    เพราะฉะนั้นจึงขอให้ทุกๆ ท่านได้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ อย่าอ่อนแอท้อแท้เหลวไหล โลกเวลานี้หนาแน่นไปด้วยกิเลสเต็มไปหมดเลยนะ ความสะดวกทุกอย่างๆ มีแต่กิเลสเบิกทางให้ตกเหวตกบ่อทั้งนั้น มันไม่ได้เบิกทางให้ไปสวรรค์นิพพานเพื่อบรมสุขนะ เบิกทางความสะดวกของกิเลสสะดวกเพื่อกองทุกข์นะ เบิกทางของธรรมนี้เพื่อความสุขบรมสุข ต่างกันอย่างนี้นะ เอาละ พูดเพียงแค่นี้พอ


    https://sites.google.com/site/phraaja/jit2
     

แชร์หน้านี้

Loading...