เรื่องเด่น วันมาฆบูชาหัวใจพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 12 กุมภาพันธ์ 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    e0b89ae0b8b9e0b88ae0b8b2e0b8abe0b8b1e0b8a7e0b983e0b888e0b89ee0b8a3e0b8b0e0b89ee0b8b8e0b897e0b898.jpg
    ผู้เขียน กฤษณา พันธุ์มวานิช

    เหตุใดจึงเรียกวันมาฆบูชาว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพราะวันมาฆบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ หมายความว่า หัวข้ออันประเสริฐเป็นไปเพื่อการหลุดพ้น โอวาท หมายถึง คำสอน ปาติโมกข์ หมายถึง หัวข้ออันประเสริฐ หรือหัวข้ออันเป็นไปเพื่อการหลุดพ้น พระองค์ได้ทรงย่อคำสอนของพระองค์ที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้มากมาย มาย่อไว้สั้นๆ เป็นหลักการเพียง 3 ประการ กล่าวเป็นภาษาบาลีว่า

    สพฺพปาปสฺส อกรณ์ กุสลสฺสูปสมฺปทา
    สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสน์


    ซึ่งแปลว่า การไม่กระทำบาปทั้งปวงหนึ่ง การทำกุศลให้ถึงพร้อมหนึ่ง การทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากเรื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

    ความหมายของการกระทำบาป “บาป” แปลว่า ลามก ความเสื่อมเสีย ความชั่ว ความเสียหาย ความเศร้าหมอง ความเลวทราม ความไม่ดี สิ่งที่เป็นความเลว ความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเศร้าหมอง ความลามกต่างๆ ถือว่าเป็นบาป บาปอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่กาย ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ เมื่อเราทำชั่วทางกาย ทางวาจาไปแล้ว บาปก็ไปติดอยู่ที่ใจไม่ได้ไปอยู่ที่อื่น

    ส่วนคำว่า บุญ หรือคำว่า กุศล หมายถึง ความดี ความประณีตขึ้น ความสะอาด ความเจริญ ความสุข ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นบาป

    เมื่อพิจารณาโดยเหตุผลแล้ว คนที่ทำบาปนั่นแหละเป็นคนได้รับทุกข์มากกว่าบุคคลผู้ถูกกระทำ เพราะฉะนั้นบุคคลที่มีปัญญา จึงไม่กระทำบาป แม้ว่าจะมีบุคคลชั่วบุคคลใจบาปมากระทำให้แก่ตน ก็ไม่คิดอาฆาตมาดร้าย ไม่คิดกระทำเขาตอบ ด้วยเกรงว่าจะเป็นบาปกรรม เป็นการจองเวรต่อกันไปในภายหน้า ก็จะเป็นเหตุให้สร้างบาปขึ้นมาอีก จึงไม่ควรกระทำบาป

    พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งบุคคลที่กระทำและบุคคลที่ถูกกระทำพระองค์จึงทรงสอนให้งดเว้นความชั่วทางกาย วาจา ใจ การทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด เช่น การเจริญสมถภาวนา หรือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรคให้เกิดขึ้นในจิตใจ ขัดเกลากิเลส คือ โลภ โกรธ หลง เป็นต้น อันสิ่งเศร้าหมองทางจิตใจ ให้เบาบางไปทีละน้อยๆ จนถึงความบริสุทธิ์สะอาด กิเลสสิ้นไปถึงที่สุด ได้สำเร็จมรรคผลนิพพานถึงความพ้นทุกข์ อันนี้เป็นขั้นสูง เป็นกุศลขั้น วิวัฏฏคามินีกุศล คือ กุศลที่เป็นไปในการออกจากวัฏฏะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดถึงความพ้นทุกข์

    หลักการซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาคือ
    1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ การงดเว้นลด ละเลิก การทำบาปทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และใจ หรืออกุศลกรรมบก 10
    2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างอันเป็นไปทางกาย วาจา และใจ หรือกุศลกรรมบก 10
    3.การทำจิตใจให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมองและขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ

    ส่วนอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา ที่ยึดถือเป็นจุดหมายสูงสุดที่จะต้องไปให้ถึงด้วยความเพียรและความบากบั่น คือ
    1.ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้นไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
    2.ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น

    3.ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจา และใจ

    4.นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิต มรรคมีองค์ 8

    สาระสำคัญอีกส่วนของโอวาทปาติโมกข์ คือ เรื่องวิธีการ 6 ข้อ ในการออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ให้แนวทางปฏิบัติแก่พระสงฆ์เอาไว้ดังนี้

    1.ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น หรือกล่าวโจมตีผู้อื่น

    [​IMG] [​IMG]

    2.ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนเสียหาย ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเดือดร้อน

    3.สำรวมในปาติโมกข์ ให้ความใส่ใจ เคารพต่อระเบียบวินัย กฎหมาย ขนบธรรมเนียมของสังคม

    4.รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือการใช้สอยสิ่งต่างๆ

    5.อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบเงียบ ไม่อึกทึก พลุกพล่าน เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต

    6. ฝึกจิตให้สงบ ได้แก่ การฝึกหัดควบคุมจิตใจ ไม่ให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ อันจะทำให้จิตไม่มีคุณธรรม

    คำว่า มาฆะ เป็นชื่อของเดือน 3 มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า “มาฆบูรณมี” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 วันมาฆบูชา ตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน 3 ถ้าหากว่าปีไหนมีอธิกมาสเดือน 8 สองหน วันมาฆบูชา ก็ตกกลางเดือน 4 สำหรับปีนี้วันมาฆบูชาจึงตรงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 (วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นวันคล้ายวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่ภิกษุ จำนวน 1,250 รูป ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ โดยพระองค์ทรงเริ่มแสดงพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร เมื่อวันเพ็ญกลางเดือน 8 พระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบัน ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา

    ในวันเพ็ญกลางเดือน 3 ซึ่งมีเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ได้เกิดขึ้น จะเป็นโดยบังเอิญหรือว่าโดยพระพุทธานุภาพก็ตาม ปรากฏว่ามีเหตุการณ์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายถึง 4 ประการ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”

    คำว่า จาตุรงคสันนิบาต แยกศัพท์ได้ดังนี้ คือ จาตุร แปลว่า 4 “องค์” แปลว่า ส่วน “สันนิบาต” แปลว่า ประชุม ฉะนั้น จาตุรงคสันติบาต จึงหมายความว่า การประชุมด้วยองค์ 4 กล่าวคือ มีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ หรือแปลว่า การประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 คือ

    1.พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ โดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน

    2.พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปนั้น เป็นพระอรหันต์ขีณาสพที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณกันทั้งนั้น

    3.พระอรหันต์จำนวน 1,250 รูปนั้น เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา บวชกับพระพุทธเจ้าด้วยกันทุกพระองค์

    4.วันนั้นเป็นวันเพ็ญกลางเดือน 3 ได้มาฆฤกษ์วันพระจันทร์เต็มดวง

    พระพุทธโอวาทที่พระองค์ทรงแสดงไว้เมื่อวันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันคล้ายวันสำคัญที่พระองค์ได้ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์ เมื่อถึงวันสำคัญเช่นนี้ จึงควรระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ได้ทรง
    ประทานไว้
    จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนได้ระลึกพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระโอวาทที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ประกอบด้วย การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้ผ่องใส และอุดมการณ์ 4 วิธีการ 6 ดังที่กล่าวข้างต้น ช่วยกันทำให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก ความสามัคคี ตามหลักคำสอนซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ด้วยการบำเพ็ญกุศลเป็นพุทธบูชาด้วยการเวียนเทียน อันเป็นอมิสบูชาและปฏิบัติบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ดี ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.matichon.co.th/article/news_1359086
     
  2. madeaw23

    madeaw23 สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2017
    โพสต์:
    209
    ค่าพลัง:
    +188
    กราบสาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...