วันจักรี คือ วันคล้ายวันสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 6 เมษายน 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,663
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,551
    ค่าพลัง:
    +26,390
    5073D2AE-1AD3-45FE-BA85-8128B073F737.jpeg

    ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่สบายของตน อย่าลืมว่าต้องตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า คือเอาความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเมื่อ ๒๓๒ ปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น หรือเรียกง่าย ๆ ว่าตั้งกรุงเทพฯ ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงแทนกรุงธนบุรี ประกอบไปด้วยองค์พระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์มาถึงปัจจุบัน ๙ รัชกาลด้วยกัน ระยะเวลา ๒๓๒ ปี มีในหลวงสืบสันตติวงศ์มา ๙ รัชกาล

    การสืบสันตติวงศ์ทั้ง ๙ รัชกาลนั้น ประกอบไปด้วยองค์บุรพมหากษัตริย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในยุคนั้น ๆ มาโดยตลอด แต่ถ้าจะนับองค์บุรพมหากษัตริย์ที่มีผู้รู้จัก ครุ่นคิดถึง เอ่ยถึงติดปากทั้งในและนอกประเทศ คือรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ ตลอดจนกระทั่งในหลวงองค์ปัจจุบัน ก็คือรัชกาลที่ ๙

    เราทั้งหลายจะเห็นได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๑ นั้น ต้องทำศึกสงครามรอบบ้านเกือบตลอดทั้งรัชกาล เหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง การตั้งกรุงเทพมหานครหรือกรุงรัตนโกสินทร์ของเราขึ้นมา ก็เกือบจะมาในลักษณะมือเปล่า เนื่องเพราะว่าทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังแทบจะไม่หลงเหลือเลย ในสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงขนาดต้องไปยืมเงินเจ้าสัวเมืองจีน เพื่อเอามาสร้างบ้านแปลงเมือง จนกระทั่งกลายเป็นกรุงธนบุรีขึ้นมา

    ในหลวงรัชกาลที่ ๑ จึงต้องประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก นอกจากต้องรบทัพจับศึกแล้ว ยังต้องสร้างพระนครใหม่ ทำนุบำรุงไพร่ฟ้าประชากร อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา โดยที่แทบจะไม่มีงบประมาณแผ่นดินเลย พอมาถึงสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๕ บ้านเมืองเราก็สูญเสียดินแดนให้แก่มหาอำนาจต่าง ๆ รอบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเขมรัฐตุงคบุรี หรือที่เรียกว่ารัฐฉาน หรือไทยใหญ่ในปัจจุบัน ในส่วนของหัวพันทั้งห้าทั้งหก ในส่วนของฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในส่วนของประเทศกัมพูชา ในส่วนของ ๔ รัฐที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งมาเลเซีย เป็นต้น ถูกบรรดามหาอำนาจบีบคั้นมารอบด้าน

    พระองค์ท่านต้องต่อสู้ฟันฝ่าประคับประคองเพื่อรักษาประเทศสยามเอาไว้ให้เป็นเอกราช สร้างความเจริญด้วยการสร้างทางรถไฟ สร้างการไปรษณีย์ การโทรเลข สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่สร้างความยากลำบาก มีแต่ความทุกข์เป็นปกติ พระชนมายุของพระองค์ท่านจึงไม่ได้ยั่งยืนมากนัก ต้องเรียกว่าสิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่ยังไม่ได้อยู่วัยชรา

    มาถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ องค์ปัจจุบันของเรา พระองค์ท่านยิ่งต้องเหน็ดเหนื่อยมากกว่าบุรพมหากษัตริย์ในอดีตมากนัก เนื่องจากว่าประชากรมากขึ้นหลายเท่า ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของเรายังมีประชากรแค่สิบล้านกว่านิดหน่อย ในสมัยปัจจุบันมากกว่าเดิม ๖-๗ เท่า พระองค์ท่านต้องต่อสู้ฟันฝ่ากับความยากลำบากของชาวบ้าน พยายามที่จะให้ประชากรทุกคนอยู่ดีกินดี เหน็ดเหนื่อยมาตลอด ๖๐ กว่าปีที่ครองราชย์มา ปัจจุบันนี้ก็ทรงชราภาพมากแล้ว พระชนมายุ ๘๗ พรรษาแล้ว

    เราจะเห็นว่าแม้แต่บุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นเลิศ เป็นผู้นำ เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ก็ยังประกอบไปด้วยความทุกข์ขนาดนี้ ตัวเราที่จะขึ้นชื่อว่าไม่ทุกข์นั้นไม่มี ถ้าตราบใดก็ตามที่เราเกิดมา เราก็จะต้องพบกับความทุกข์เช่นนี้เป็นปกติ ถ้าท่านทั้งหลายไม่ปรารถนาในการเกิดมาทุกข์เช่นนี้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติเพื่อที่จะตัด จะละ สละออกเสียซึ่งร่างกายและโลกนี้ เพื่อที่จะได้ก้าวพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ก็ต้องมาดำเนินตามศีล สมาธิ ปัญญาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้

    เราต้องระมัดระวังรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ทำให้ศีลขาดด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทำ ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นกระทำ สร้างเสริมสมาธิของเรา อย่างน้อยให้เป็นปฐมฌานที่คล่องตัว เพื่อที่จะมีกำลังในการช่วยตัดกิเลสได้ และท้ายที่สุดอย่างน้อยต้องมีปัญญาเห็นว่าเราจะต้องตายแน่นอน ขึ้นชื่อว่าถ้าตายแล้วเกิดมาทุกข์เช่นนี้เราไม่ต้องการอีก เพราะเราต้องการที่เดียวคือพระนิพพาน

    ถ้าทุกท่านสามารถรักษาอารมณ์ใจนี้เอาไว้ได้ โอกาสในการที่จะก้าวพ้นจากกองทุกข์ของท่านก็จะสั้นลง หรือว่าหลุดพ้นไปเลย ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๗
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com

    #วัดท่าขนุน
    #watthakhanun
    #พระครููวิลาศกาญจนธรรม
    #พระอาจารย์เล็ก
    #หลวงพ่อเล็ก
    #พระพุทธศาสนาช่วยโลก
    #พระสงฆ์ช่วยสังคม
    #ชุมชนคุณธรรมวัดท่าขนุน
    #ชุมชนคุณธรรม
    #ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนด้วยพลังบวร
    #สื่อธรรมะ
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...