มิติ ของชีวิต

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย wisarn, 15 เมษายน 2010.

  1. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    มิติ ของชีวิต
    ธรรมบรรยายโดย เขมานันทภิกขุ
    แสดงแก่คณาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิ โรฒ บางเขน
    ๑๙ มิถุนายน ๒๕๑๘
    [​IMG]
    ท่านรองอธิการบดี ท่านคณาจารย์ และนักศึกษาผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย
    อาตมาภาพได้รับนิมนต์ให้มาพูดในหัวข้อเรื่อง “มิติ ของชีวิต” ซึ่งฟังดูแล้วก็คงจะรู้สึกแปลก ๆ อย่างไรชอบกล และเราได้กำหนดกันว่า ให้เป็นธรรมบรรยายด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องรู้สึกฉงนฉงาย อันคำว่า “มิติ” ส่วนใหญ่แล้ว นักศึกษาผู้คงแก่เรียนคงจะระลึกได้ว่า มันเกี่ยวข้องกับวิชาฟิสิกส์อยู่ไม่ใช่น้อย คำนี้เป็นคำภาษาบาลี มิติแปลว่าการวัด หรือถ้าเป็นกิริยา คือ มินาติ แปลว่า วัด ภาษาลาติน ตรงกับคำว่า Dimensus ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษว่า Dimension ที่มาของคำว่า มิตินี้ บางทีอาตมภาพอาจจะต้องเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน คือมาเล่าให้ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นนักศึกษาผู้คงแก่เรียนซ้ำอีก
    จำเดิมตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่ง คือท่าน กาลิเลโอ ขึ้นไปทดลองที่หอเอนเมืองปิซา โดยใช้ลูกปืนต่างขนาดสองชนิด แต่ผลปรากฏว่า อัตราความเร่ง หรือความเร็วที่ลุกปืนหล่นลงมายังพื้นนั้น ได้ตกถึงพื้นดินพร้อมกัน ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่า ความเร็วหรือเวลานั้น แยกเป็นอิสระ เป็นสิ่ง ๆ หนึ่ง ผลการทดลองครั้งนี้ได้เสริมแนวโน้มของทฤษฎีของท่านนิวตัน <sup> 1</sup> นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เมื่อศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งทฤษฎีของท่านนิวตัน นักฟิสิกส์ทั่วไปเรียกกันว่า Newtonian Theory หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Classical Theory นั่นเอง ทฤษฎีของท่านนิวตันนั้นเป็นอย่างไร หวังว่าท่านทั้งหลายคงทราบดีแล้ว อาตมภาพอยากจะลัดไปถึงแนวโน้มซึ่งเกิดจากทฤษฎีของท่านนิวตันขึ้นมาว่า ก็โดยเหตุที่การทดลองของท่านกาลิเลโอและทฤษฎีนิวโทเนียน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ขนาด หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Space นั้นไม่เกี่ยวกับเวลา ด้วยเหตุนั้น เมื่อพิจารณาถึงมิติ จึงเน้นเฉพาะ ๓ มิติ คือ กว้าง – ยาว – หนา (ลึก) เท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านนิวตันได้ชี้ให้เห็นว่า ที่เรียกว่า Space หรือ อวกาศนี้ไม่ใช่ความไม่มีอะไร แต่อวกาศเป็น Substance หนึ่ง คือ มีสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งในที่สุดทำให้เกิดแนวโน้มในหมู่นักฟิสิกส์ว่า ในห้วงอวกาศทั้งหมดนี้ จะต้องมีสิ่ง ๆ หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ตั้งสมมุติฐานว่าเป็น อีเทอร์ (Ether)
    ตราบจนกระทั่งท่าน ไอน์สไตน์ ได้อุบัติขึ้นในโลก แนวโน้มของทฤษฎีที่ว่า อวกาศคือ Substance หนึ่งนั้นได้ถูกคัดค้านขึ้นมา ข้อนี้มีความสำคัญอย่างไร ท่านไอน์สไตน์ได้สรุปว่า Space หรือ ห้วงอวกาศนั้น ที่จริงไม่มีอะไรเลย ถ้าเราไม่คำนึงถึงปัจจัยที่มากำกับมันเข้า เช่น ยกตัวอย่างว่า ขณะมี่ดวงดาวดวงหนึ่งโคจรเข้าใกล้ดวงดาวอีกดวงหนึ่ง แล้ว Space นั้นเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เพราะความเคลื่อนไหวหรือ Motion ของดวงดาวนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ท่านไอน์สไตน์จึงชี้ให้เห็นว่า เมื่อยกดวงดาวทั้งคู่ออกเสียแล้ว ช่องว่างนั้นไม่เป็นอะไรเลย ดังขอยกตัวอย่างให้ท่านทั้งหลายพิจารณาจากตัวอย่างที่แสดงด้วยมือให้เห็นว่า เมื่ออาตมภาพยกนิ้วขึ้นให้ดูเป็นรูปตัว V และหมุนไปเช่นนี้ เราก็กำหนดเนื้อที่ช่องว่างระหว่างนิ้วเป็นรูปปลายดินสอแหลมขึ้นมา เมื่อตะกี้มันไม่มี พอเราใช้สองนิ้วเป็นเครื่องกำหนดความไม่มีนั้น ปรากฏความมีขึ้นมา แต่ความมีนั้น เนื่องจากปัจจัย คือนิ้ว ๒ นิ้ว เมื่อยก ๒ นิ้วนั้นออก สิ่งนั้นไม่มีอะไรเลย ด้วยเหตุนี้ ท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์จึงสรุปว่า การกำหนดค่าค่าหนึ่งค่าใดของห้วงอวกาศนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงกาลเวลาที่ปัจจัยต่าง ๆ มากระทำกันในช่วยของเหตุการณ์นั้น ๆ ในช่วง Duration นั้น ๆ ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่อาจจะหาค่าตายตัวของมันได้ นอกจากค่าสัมพันธ์ของมันเท่านั้น <sup> 2</sup> สิ่งหลายสิ่งมากระทำกันในช่วงเหตุการณ์หนึ่ง และเกิดค่าหนึ่งแล้ว มันเปลี่ยนไปอีกแล้ว อีกค่าหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนี้ในพระพุทธศาสนาเราเรียกกันว่า สนฺตติ การสืบต่อแห่งสังขารธรรม ซึ่งเราอาจจะเรียกง่าย ๆ ตามศัพท์เดิมของนักฟิสิกส์ว่า การวัดหาค่าสิ่งทั้งปวงเป็นเพียง Space Continuum <sup> 3</sup> คำว่า Continuum หมายความว่า บวกกับ กาละ เข้าไป เช่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า นักศึกษาคนใดคนหนึ่งพูดขึ้นในขณะที่มีก้อนน้ำแข็ง ๑ ลบ. ซม. วางอยู่ข้างหน้า แล้วก็พูดว่า อีก ๕ นาที ฉันจะเอาก้อนน้ำแข็ง ๑ ลบ. ซม. นี้ปาหัวเธอ คำพูดนี้เป็นคำพูดสมมติ เพราะอีก ๕ นาที ไม่มีก้อนน้ำแข็ง ในอากาศที่ร้อนเช่นนี้ มันก้หายไปอย่างรวดเร็ว คำพูดที่พูดว่า ฉันจะปาหัวเธออีก ๕ นาทีนั้น ไม่มีก้อนน้ำแข็งนั้นอีก สิ่งทั้งปวงปรากฏขึ้นชั่วสมัยหนึ่ง ขณะหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนไป ๆ ๆ ๆ จากทฤษฎีที่เรียกว่า สัมพัทธภาพนี้ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้สรุปหัวใจของทฤษฎีนี้ว่า ที่จริงมนุษย์ไม่รู้จักอะไรได้เลย เราไม่สามารจะรู้ว่า นี้คืออะไร ปละนี้คืออะไร ปต่เราอาจจะพูดได้ว่า “นี่สัมพันธ์กับนี่อย่างไร” เท่านั้น และสิ่งนี้ พระพุทธเจ้าเรียกชื่อว่ อิทปฺปจฺจยตา ความที่สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ไม่พูดว่านี้คืออะไร แบะนั้นคืออะไร แต่ความที่เพราะนี้เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น นี่แหละเรียกว่า อิทปฺปจฺจยตา คือกฎของธรรมชาติ ด้วยเหตุผลข้อเดียวที่ว่า มนุษย์ไม่อาจจะรู้จักอะไรได้ว่ามันเป็นอะไร เพราะว่า มนุษย์มีอายตนะจำกัด ศัพท์ที่เรียกว่าอายตนะ อจจะเป็นของใหม่สำหรับนักศึกษาผู้ไม่เคยชินกับภาษาวัด สิ่งนั้นก็คือ ประตู หรือ ทวาร ที่ชีวิตเชื่อมกับโลกหรือ ธรรมชาติ ได้แก่ ตาคู่กับรูป หู่คู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้น คู่กับรส ผิวสัมผัสกับสิ่งที่เข้ามาสัมผัส และใจกับสิ่งที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ (ความนึกคิด) เข้ามากระทบกัน เรียกว่า อายตนะภายนอกและภายใน นับเป็นคู่ได้ ๖ คู่
    อาตมภาพขอยกตัวอย่างให้ชัดเจนขึ้นอีกนิดหนึ่งว่า สิ่งทั้งปวงที่เรารู้จักว่ามีอยู่จริงนั้น ที่จริงเป็นเพียงมายา ปรากฏการณ์ชั่วครู่เท่านั้น มันถูกกฎอันเฉียบขาดของธรรมชาติ คือความเป็น อนิจจํ ทำให้ธรรมชาติเหล่านั้นแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ ซึ่งมนุษย์หาได้เพียงค่าสัมพัทธ์เท่านั้น เช่น สมมติว่า เราฟังเพลงสักเพลงหนึ่งจากเครื่องเล่นจานเสียง เพลงนี้มันเพราะเหลือเกิน นั้นเพราะว่า ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดและเวลาในช่วงเวลานั้นเท่านั้น สมมติว่าเราเปลี่ยน Speed ของเพลงให้ช้าลง ที่เราคิดว่าเพราะ บางทีจะกลับกลายเป็นน่าเกลียดที่สุด ครั้นเมื่อไปเร่ง Speed ให้เร็ว มันฟังเป็นเสียงพวก Chipmunks น่าเกลียดน่าชัง เพราะฉะนั้นความเพราะที่เรารู้สึกว่าเพราะนั้น มันขึ้นกับ Speed ที่พอดีของมัน
    ยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่คนโบราณมักจะชี้ให้คนหนุ่มสาว หรือคนรุ่นหลังดูความลับอันสำคัญ เมื่อ ปู่ ย่า ตา ทวด ของตัวเองตายลง เขามักแนะให้ลูกหลานเอาผ้าเช็ดหน้าไปชุบน้ำเหลืองของคุณยายคุณย่าที่ตายลง แล้วให้เก็บไว้บูชาที่หน้าหิ้งพระ น้ำเหลืองของมนุษย์ซึ่งมีกลิ่นที่น่าสะอิดสะเอียนทิ้งไว้ประมาณ ๑ เดือน หรือ ๑๕ วันเท่านั้น กลิ่นที่น่าสะอิดสะเอียนจะกลับกลายเป็นกลิ่นที่หอมเหมือนดอกมะลิ ลูกหลานเหล่านั้นกระทำตามคำขอร้องของบรรพบุรุษ เขาก็พบความจริงอันลึกลับของสิ่งที่เรียกว่ามายาของสิ่งทั้งปวง สิ่งที่เรียกว่าเหม็นที่สุกนั้นเอง มันกลับเป็นหอมที่สุดเมื่อทิ้งช่วงไว้ช่วงหนึ่ง มะม่วงที่เปรี้ยวที่สุด ทิ้งไว้ช่วงเดียวกลายเป็นหวาน รสเหล่านี้มันขึ้นกับกาละ
    ท่านนักศึกษาผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย เคยตักอาหารคือข้าวเปล่าใส่ปาก ถ้าเราเคี้ยวอย่างลวก ๆ เราก็ได้รสหนึ่ง ถ้าทิ้งช่วงให้นาน รสหวานปะแล่ม ๆ จะเกิดขึ้น
    ฉะนั้นขอให้สังเกตดูให้ ดีเถิดว่า เวลาและปรากฏการณ์ของรส กลิ่น เสียง อะไรเหล่านี้ เป็นเครื่องกำหนดคุณค่าของสิ่ง ๆ หนึ่งในขณะหนึ่ง ๆ และเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ๆ ๆ นี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่า สันตติ (continuum) ของมัน หรือเราจะเรียกเป็นภาษาเฉพาะก็คือ อิทปฺปจฺจยตา
    สิ่งทั้งปวงเราจะสรุปได้ว่าเป็นเพียงความที่เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น หรือถ้าแยกเป็นภาษาในเชิงตรรก เราจะพูดได้ชัดว่า ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งนี้จะมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จะไม่มี ถ้าสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จะเกิด ถ้าสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จะดับ ความจริงแท้มันไปอยู่ที่กฎแห่งความเปลี่ยนแปลง มิใช่อยู่ที่ปรากฏการณ์ ซึ่งเรารู้สึกว่า เมื่อเอาลิ้นไปแตะที่น้ำตาล เรารู้สึกหวาน ความหวานเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดจากค่าสัมพัทธ์ของช่วง Duration หนึ่ง
    แต่สัจจะไม่ได้อยู่ที่ ปรากฏการณ์ ชีวิต กาย และจิตนี้เป็นปรากฏการณ์ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเข้าไปสัมพันธ์กับมันนั้น เราสัมพันธ์ด้วยอายตนะ ที่เป็นเช่นนั้น เราหาได้สัมพันธ์กับสัจจะของมันไม่ เราเพียงแต่รู้จักปรากฏการณ์ จนกว่าเราสามารถที่จะสำรวมจิตไม่ให้เคลิบเคลิ้มไปในปรากฏการณ์แล้วเริ่มเห็น กฎของปรากฏ
    ขอย้ำว่ามันมีอยู่สอง ส่วน คือปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า Manifestation ของสิ่งทั้งปวงที่เราเห็นด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก นี้เราเรียกว่าปรากฏการณ์ทั้งหลาย มิใช่ตัวธรรมชาติ เป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ สาวนธรรมชาติจริงต้องหมายถึงกฎที่เป็นที่มาแห่งปรากฏการณ์นั่นเอง กฎคำนี้ถ้าเป็นศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้า เขาจะเรียกว่า God คือสัจจะซึ่งไม่อาจแปรเปลี่ยนได้ ส่วนปรากฏการณ์นี้แปรเปลี่ยนได้ เมื่อมนุษย์ไม่เฉลียวใจถึงกฎ ไปติดกับ เพลิดเพลินด้วยปรากฏ ในที่สุดเขาไม่รู้จักพระธรรมหรือพระผู้เป็นเจ้า ไปรู้จักแต่ปรากฏการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง
    ถัดมาขอให้อาตมาเลื่อนมาถึงสิ่งที่น่าขบขันที่ใกล้ชีวิตประจำวันของเรา เช่นเมื่อเราพูดว่า ฉันมีทรงผมทรงนี้ ถ้าพิจารณาดูไม่ดีแล้ว จะไม่รู้สึกขบขัน อันที่จริงทรงผมทรงนี้ไม่มี ท่านทั้งหลายพบความจริงว่า เส้นผมร่วงทุกวันเหมือนใบไม้ร่วง แต่มันก็งอกใหม่ทุกวัน ฉะนั้นทรงผมที่เราเห็นด้วยตา รูปที่มากระทำกับตานั้นเป็นเพียงมายาเท่านั้น เหมือนกับคลื่นที่ปรากฏ ถ้าสมมติเราพูดว่า คลื่นมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ถ้าใครตอบว่าคลื่นมี ถ้าถูกย้อนถามว่า ถ้าคลื่นมีอยู่จริงแล้ว ช่วยตัดคลื่นมาตั้งให้เป็นสักขีพยานตรงนี้หน่อยได้ไหม แล้วเราก็บอกว่าทำไม่ได้
    ถ้าคนหนึ่งตอบว่า หากคลื่นไม่มีอยู่จริง ก็แล้วตาทำไมจึงเห็นได้ ทีนี้โดยความเป็นจริงแล้ว จะต้องตอบว่า ถ้าลมและน้ำกระทำกันอยู่ในช่วงสมัยหนึ่ง คลื่นก็ปรากฏ ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งนี้จะมี ถ้าลมไม่มี มีแต่น้ำ ก็ไม่มีคลื่น
    สิ่งที่เราเรียกว่าทรงผม เราอาจจะมีทรงผมหนึ่งอยู่ได้ประมาณ ๑ เดือน ช่วงสมัยที่แฟชั่นนิยมกำลังเห่อ ที่จริงทุกขณะไม่มีทรงผม ถ้ามีก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่มี อาการสันตติ ของมัน อันหนึ่งร่วง อันหนึ่งเกิดขึ้น
    คราวนี้พูดถึงพุ่มไม้ สมมติว่าเราไปเที่ยวในป่าแห่งหนึ่ง หรืออารามหนึ่ง และจำได้ว่า มีพุ่มไม้ตรงนั้น ๆ ๆ ๆ แต่ที่จริงใบไม้ร่วงทุกวินาที และมันงอกออกมาเสริมทุกวินาที คือ สิ่งที่เราเห็นด้วยตาว่าเป็นเพียงทรงหนึ่งทรงใดนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์เท่านั้น
    เลื่อนมาให้ใกล้แค่หน้าผากของเราอีกนิดหนึ่ง เราคิดว่าหน้าตาของเรามันเป็นเช่นนี้อยู่เดือนหนึ่งแล้ว หรือปีหนึ่งแล้ว อาตมภาพอยากจะชี้ให้เห็นความขบขันที่ว่า ที่จริงหน้าของเราเปลี่ยนทุกขณะทุกวันที่เราส่องกระจก เซลล์ทุกเซลล์ล่วงลับไปทุกวินาที เซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนทุก ๆ วินาที ในช่วง ๗ ปีเท่านั้น เซลล์ทุกเซลล์ แม้แต่เซลล์กระดูกก็เปลี่ยนหมด เพราะฉะนั้น เราพูดได้หรือไม่ว่า เด็กคนหนึ่งเมื่อ ๑๐ ขวบแล้ว เติบโตขึ้นจนอายุ ๔๐ – ๕๐ นี้เป็นคน ๆ เดียวกัน หรือว่าคนละคน ในที่สุดเราก็ตอบไม่ได้อยู่ดี เพราะว่าเป็นคน ๆ เดียวกัน นั่นหมายความว่า เรายืนยันว่า คนเดิมยังอยู่ แต่ที่จริงคนเมื่อ ๑๐ ขวบนั้นตายไปแล้ว
    ถ้าเราบอกว่าคนละคน แต่ทำไม่เรายังจำอะไรได้อยู่ว่าเป็นคนคนนั้น นี่ก็คือความลับของธรรมชาติที่เรียกว่า สันตติของมัน อาการสืบต่อของสังขารธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ปิดบังมนุษย์เสียจากสัจจะของมัน คือ ไปติดอยู่ที่ปรากฏการณ์ สิ่งที่เรียกว่าหน้าตา ทรงผม พุ่มไม้ อะไรเหล่านี้ มันเพียงปรากฏขึ้นแล้ว เมื่อหูเราเข้าไปกำหนด ตาเราเข้าไปกำหนด ตากับรูปกระทำกันขึ้น เกิดค่าหนึ่งแล้วแปรไป ๆ ๆ ๆ ไม่รู้หยุด สิ่งที่เรียกว่าอายตนะนั้นเอง ทำให้เราสับสนที่สุด
    ในสังคมปัจจุบัน ตราบใดที่เรายังไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าอายตนะ คือ เครื่องมือที่เราเข้าไปวัดธรรมชาติแล้ว เราจะไม่สามารถตัดสินใจได้เลยว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด และนี่เป็นปัญหาที่ยุ่งยากของสังคม เพราะทุกคนยืนยันว่าฉันถูก และฉันถูกกว่าเธอเสมอไป จึงขอชี้ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า คนทั่วไปคิดว่า ตากับรูปนี้แยกจากกันได้ เขาคิดว่าตาอันหนึ่งและรูปอีกอันหนึ่ง ที่จริงตากับรูปแยกออกจากกันไม่ได้และ หมายความว่า ตาและรูปเป็น Coordinate ซึ่งกันและกัน เมื่อใดไม่มีตา รูปจะไม่ปรากฏ เมื่อใดไม่มีรูป ตานี้จะไม่เป็นตา สมมติว่าท่านทั้งหลายไปนั่งฟังเสียงของน้ำตกในป่าหรือที่ไหนก็ตาม ก่อนหน้าที่เสียงจะเกิด หรือก่อนหน้าที่เสียงจะเดินทางเข้าถึงหู เสียงนั้นไม่ใช่เสียง เป็นเพียงคลื่นชนิดหนึ่ง และก่อนที่หูจะปะทะกับเสียง หูนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ของหู ครั้นเมื่อเสียงกระทบกับหู จึงเกิดค่าสัมพัทธ์ระหว่างหูกับเสียง เรียกว่า โสตวิญญาณ ความรับรู้ทางหู ในกรณีทางตาก็เหมือนกัน รูปยังไม่เป็นรูป ถ้ายังไม่พบกับตา ตานี้ยังไม่เป็นตา ถ้ายังไม่ทำงานร่วมกับรูป พอมันไปทำงานร่วมกันเข้า เกิด จักขุวิญญาณ ความรับรู้ทางตากรณีหนึ่ง ๆ แล้วก็ดับลง สักเดี๋ยวหนึ่งก็เห็นอีกแล้ว ก็ดับลง เราจะพบอาการสันตติ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่ผิวสัมผัสนั้นเรื่อยไป
    อย่างกรณีทีท่านทั้งหลาย เอาไม้อันหนึ่งตีระฆัง เราจะพบความจริงว่า เสียงนั้นไม่ใช่เสียงระฆัง แต่เป็นเสียงค่าความสัมพัทธ์ระหว่าไม้ตีกังระฆังต่างหาก ถ้าสมมติว่า เราจะถามว่า ระฆังใบนี้เสียงเป็นอย่างไร คนหนึ่งจะตอบว่า เสียงนี้เพราะ อีกคนหนึ่งจะตองว่าเสียงไม่เพราะ แต่นี่ท่านทั้งหลงลืมเงื่อนไขสำคัญเสียแล้วว่า เสียงเป็นค่าสัมพัทธ์ระหว่างไม้ตีกับระฆัง ถ้าสมมติว่าเราเอาสำลีตีระฆังใบนั้นเสียงเป็นอีกอย่างหนึ่ง เอาไม่ก๊อกตี เสียงเป็นอีกเสียงหนึ่ง เอาเหล็กตี เสียงเป็นอีกเสียงหนึ่ง เราได้แต่ค่าสัมพัทธ์ คือค่าที่มันสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ ด้วยเหตุนี้เอง อาตมภาพจึงเลือกใช้คำว่า Coordinate ซึ่งกันและกัน คือต้องไปด้วยกัน แยกออกจากกันไม่ได้ หูกับเสียงแยกจากกันไม่ได้ ในขณะที่เราอยู่ในห้องที่เงียบสงัดที่สุด เราพูดว่า ฉันไม่ได้ยินเสียงนั้น ไม่จริง มันมีเสียงอยู่ แต่เสียงน้อยลง การได้ยินก็น้อย ถ้าท่านทั้งหลายเฝ้าสังเกตขบวนการหลับให้ดี ก่อนจะนอน เฝ้าสังเกตดูให้ดี สิ่งที่ทำหน้าที่สังเกต และสิ่งที่ถูกสังเกตนั้น จะควบคู่กันไปเสมอ เมื่อใกล้ ๆ จะหลับ ผู้สังเกตจะอ่อนลง สิ่งที่ถูกสังเกตจะอ่อนลง ๆ แล้วหายแว็บลงไปด้วยกัน สำหรับผู้ฝึกสมาธิอยู่เสมอจะไม่สงสัยเลยในเรื่องเช่นนี้ ว่าผู้สังเกตกับสิ่งที่ถูกสังเกตนั้นเป็น Coordinate ซึ่งกันและกัน แยกจากกันไม่ได้
    ในที่สุดอาตมภาพอยากจะเลื่อมาถึงค่าสัมพัทธ์ที่ค่อนข้างจะขบขันขึ้นกว่านั้น อีก วันที่เรารู้สึกว่าหน้าเรานุ่มนวล เอาแป้งมาทาเข้าแล้วบอกว่า หน้าเรานี้นุ่มนวล ขอให้ถามดี ๆ ว่า หน้านวลหรือมือนุ่มนวลกันแน่ อาตมภาพเคยสังเกตว่า วันไหนที่ไปทำงานก่อสร้างหรือช่วยเขาทำงานจนมือสาก แล้วเอามือลูบหน้า วันนั้นหน้านวลเพราะมือมันสาก เพราะฉะนั้นเอง ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดูให้ดีสักหน่อยจะพบว่า ผิวสัมผัสหรือความรู้สึกอันหนึ่งอันใดนั้น มันเป็นค่าสัมพัทธ์ของสิ่งหนึ่งเข้าไปกระทำกับสิ่งหนึ่ง แล้วสิ่งนั้นปรากฏออกมา ตัวมันเองไม่มีความหมาย จนกว่ามันจะเข้าไปสัมพัทธ์กับสิ่งหนึ่ง ซึ่งท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้สรุปไว้ และเรื่องนี้มันจริงเข้าไปถึงเรื่องจิตใจด้วย บางทีท่านไอน์สไตน์มิทันได้เฉลียวใจถึงเรื่องสูงสุด พระพุทธเจ้าเอง ท่านมิใช่นักวิทยาศาสตร์ หรือนักฟิสิกส์อย่างท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แต่ท่านเป็นพระศาสดา เมื่อเห็นความลับอันสูงสุดยอดของธรรมชาติแล้ว จึงหาบทสรุปเข้าไปสู่เรื่องจิตใจ คือ จัดระบบให้มนุษย์ปฏิบัติ เพื่อพ้นจากกับดักของปรากฏการณ์
    คราวนี้ขอเบื่อมาถึงค่าสัมพัทธ์ทางจริยธรรม แม้ในเรื่องของจริยธรรม ก็ยังเป็นเรื่องสมมติ ถ้าไม่มีดี ชั่วจะไม่ปรากฏ นี้คือ Coordinate ของศีลธรรมด้วย แต่ท่านทั้งหลายโปรดระวังให้ดี อาตมาไม่ได้พูดว่าดีและชั่วนี้ไม่ควรปฏิบัติ แต่พูดว่า ดีและชั่วเป็นสัจจะอยู่ในระดับสมมติ ไม่ใช่สัจจะชั้นปรมัตถ์ ศาสนามิได้หยุดอยู่แค่ศีลธรรม ดีชั่วนี้เป็นของคู่กัน แยกจากกันไม่ได้ เพราะชั่วมี ดีจึงปรากฏ เหมือนกลางวันกับกลางคืน คนทั่วไปคิดว่า ความมืดกับความสว่างนี้แตกต่างกัน ตรงกันข้ามกัน เป็นบวกกับลบ ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาให้ดีสักหน่อยว่า ถ้ามืดไม่มี แสงสว่างจะเรียกแสงสว่างได้อย่างไร เพราะว่าแสงสว่างมี ความมืดจึงมี และของสองสิ่งนี้เราเรียกว่าสองสิ่ง ที่จริงเป็นของสิ่งเดียว แต่เป็น อัญญรูป ซึ่งกันและกัน เป็นปรากฏการณ์ซึ่งกันและกัน เป็น Coordinate ซึ่งกันและกันระหว่างดีและชั่ว ในที่สุดเมื่อธรรมชาติมันมีอยู่เช่นนี้ ธรรมชาติมันมี่ค่าที่เป็น Coordinate ซึ่งกันและกันนี้ แล้วมนุษย์จึงตั้งระบบศีลธรรมขึ้น เพื่อยกชีวิตให้พ้นจากความเป็นสัตว์เดรัจฉาน นั่นแหละคือจริยธรรม จนกว่าจะถึงพัฒนาการขั้นสุดท้ายของมนุษย์ พระศาสดาทั้งหลายจึงมาชี้เรื่อง หลุดพ้นจากเรื่องดีเรื่องชั่ว และนั่นคือหัวใจของศาสนาทุกศาสนา พระผู้เป็นเจ้าไม่ดีไม่ นิพพานไม่ดีไม่ชั่ว ในพุทธภาษิตที่ตรัสว่า ปาปปุญฺญปหีนสฺส นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต เมื่อถอนทั้งบุญและบาปเสียได้ จักปรินิพพาน ขอให้เข้าใจปรินิพพานให้ดี ไม่ได้หมายถึงตาย มันหมายถึง พ้นพิเศษ หลุดพ้นออกไปจาก Dimension ทั้งปวง การงานของอายตนะต้องตกอยู่ภายใต้ของ Space – Time เสมอ อาตมาใช้คำว่า Space – Time นี้หมายความว่า Space – แล้วก็ Time ไม่ใช่ Space และ Time ถ้าใช้คำว่า Space และ Time ขนาดและเวลานั้น นั่นคือแนวโน้มของทฤษฎี Newtonian ซึ่งคิดว่ามันแยกกันอยู่ แต่เวลากับขนาดแยกกันไม่ได้ เหมือนที่อธิบายให้ฟังว่า ก้อนน้ำแข็งนั้นแยกจากกาลไม่ได้ มันควบคู่กันไปด้วยกัน การงานของอายตนะยังเป็นอกาลิโก ผูกพันกับกาลเวลา ส่วนพระธรรมคือ นิพพาน เป็น อกาลิกธรรม เป็น อกาลิโก
    อกาลิโกมักจะแปลว่า ทัน สมัย นี้ไม่ถูกในเนื้อหาส่วนลึก แต่ถูกต้องเมื่อต้องการโฆษณาว่า พระธรรมในแง่คำสอนของพระพุทธเจ้านี้ทันสมัย อย่าดูถูกละเลยเป็นอันขาด พระธรรมในแง่คำสอนหมายเพียงจริยธรรม ไม่ได้หมายถึง นิพพาน ส่วนพระธรรม แท้คือ นิพพาน นั้นเป็น อกาลิโก หมายถึง Timeless ในขณะที่จิตสงัดสงบถึงที่สุดในระดับที่เรียกว่า วิมุตติ ชั่วสมัยหรือชั่วคราว ขณะนั้นไม่กาละกระตุ้นชีวิต เหตุนี้เราท่านทั้งหลายยอมรับว่า เรามีเครื่องบงการชีวิต คือ กาละ เราต้องทำโน้น ๆ ๆ ๆ และถูกกระตุ้นอยู่ตลอดกาล ชั่วโมงเรียน ชั่วโมงสอน ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงเลี้ยงลูก ชั่วโมงนั้น ๆ วัน คืน ปี เดือน แต่เมื่อจิตสงบสงัดถึงระดับหนึ่งแล้ว กาละไม่ปรากฏเรียกว่าเป็น อกาลิโก (Timeless) ขึ้นมา
    อาตมภาพอยากจะชี้ให้ชัดลงไปในเรื่องของดีชั่วอีกชนิดหนึ่ง ว่าเป็นเรื่องสมมติสัจจะอย่างไร ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในสังคมใดสังคมหนึ่ง เขากำหนดค่าของศีลธรรมไว้อย่างหนึ่ง ในขณะที่อีกสังคมหนึ่งถือว่า นั่นเป็นความชั่วก็มี เช่น ผู้หญิงที่อ่าวปาปวน เกาะนิวกินีนั้นเขาจะถือว่า การมีสามีทีเดียวพร้อมกัน ๑๐ คน เป็นความดีชนิดหนึ่ง แต่ในฝ่ายสังคมเราถือว่าเป็นความเลว นี่แหละคือค่าที่เป็นสมมุติ เป็นความจริงในระดับมูลฐานของสังคมที่ทำให้เกิดสันติสุขตามค่านิยมที่เรา ตั้งขึ้น สามีหนุ่ม ๆ สามีที่ดีของหญิงเอสกิโมจะต้องให้ภรรยาของตัวเป็นผ้าห่มแก่แขก ถือว่าเป็นผู้มีจริยธรรมสูง ของเราถือว่าเลวทราม เพราะฉะนั้น ข้อตกลงหรือกฎบัตรทางศีลธรรมแล้วแต่สังคมไหนว่าไว้อย่างไร ในที่สุดเราก็มาถึงขั้นสุดท้ายว่า จริยธรรมที่ไหนที่ใกล้ไปทางหลุดพ้น ต้องถือว่าจริยธรรมนั้นถูกต้องกว่า เพราะฉะนั้น จริยธรรมในฝักฝ่ายที่ไม่ให้เกิดการเบียดเบียนกัน ต้องถือว่าถูก นี่คือมาตรการที่ตัดสินในขณะที่เราไม่รู้จักตัดสินว่าดีชั่วต่างกันอย่างไร
    ขออธิบายให้ชัดเจนในเรื่องดีชั่วจากคัมภีร์ไบเบิลของคริสเตียน ในหนังสือเล่มแรกที่เรียกว่า ปฐมกาล หรือ Genesis ซึ่งพวกฝรั่งสมัยใหม่ หรือแม้นักศึกษาปัจจุบันจะดูหมิ่นพวกเทพนิยายหรือนิยายพื้นบ้าน ทั้งเรื่องราวเหล่านั้นได้บันทึกเรื่องสูงสุดของจิตใจไว้ คือเรื่อง Adam และ Eve ที่พูดว่าทีแรกสุด Adam และ Eve ไม่รู้จักอะไรดีอะไรชั่ว พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมาให้อยู่ในสวนสวรรค์และก็มีความผาสุก ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นหญิงหรือเป็นชาย ก็เปลือยกายวิ่งเล่นกันอยู่ในนั้น พระผู้เป็นเจ้าสั่งว่า ผลไม้ทุกชนิดในสวนนี้เจ้ากินได้อย่างอิสระ เว้นไว้แต่ผลไม้ชนิดเดียวกลางสวนที่ชื่อว่าผลไม้แห่งความรู้ดี-ชั่ว ถ้าเจ้าขืนกินวันไหน วันนั้นเจ้าจักตาย
    ในสวนสวรรค์นั้นมีผลไม้ อยู่ ๒ ประเภท ประเภทที่อาตมากล่าวแล้ว เรียกว่า The Tree of Knowledge of Good and Evil ความรู้ที่มนุษย์ไปเสวยมันเข้าคือเรื่องดี เรื่องชั่ว เปรียบเทียบดี เปรียบเทียบชั่ว แล้วยึดมั่นถือมั่น กินเข้าไปวันไหนจะต้องตาย ทีนี้มีผลไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในสวนนั้นเอง เป็นเครื่องแก้ ที่เรียกว่า The Tree of the Eternal Life ผลไม้แห่งชีวิตนิรันดร์ ต่อมา Adam และ Eve ถูกล่อลวงโดยซาตาน ซาตานก็คือมารนั่นเอง บุคคลาธิษฐานเรื่องมารคืออุปสรรคของชีวิต ฝ่ายเราเรียกว่ามาร ฝ่ายเขาเรียกว่า ซาตาน มันมาล่อลวงนาง Eve บอกว่า ไม่จริง ที่พระเจ้าสั่งนั้นไม่จริง รีบกินเข้าไป จะได้มีความรู้สูง ๆ รู้จักแยกดีออกจาชั่ว แล้วเจ้าจะฉลาด นาง Eve เลยยุสามีให้กิน ทั้งคู่เมื่อกิน จึงได้รู้ว่า เราต่างเปลือยกาย มันจึงละอาย และวิ่งหนีเข้าไปหาใบไม้มาหุ้มกายเข้า มันเริ่มรู้ว่าหญิงต่างจากชาย รู้เรื่องว่า เปลือยกายต่างจากไม่เปลือยกาย เมื่อพระผู้เป็นเจ้าเสด็จเข้ามาในสวน ทั้งคู่ก็ไม่กล้าออกมาประจันหน้า เพราะว่าละอายว่าตัวเองเปลือยกาย พระเจ้าก็ทรงพิโรธ จึงขับไล่ออกจากสวนสวรรค์ ให้ตายจากความรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ยึดมั่น ดีและชั่วอยู่ตามธรรมชาติ เราพบความจริงในสังคมปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่าความดีและความชั่วนั้นเป็นศีลธรรม จริงยู่ศีลธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์เทิดทูนส่งเสริม และควรจะงอกตัวเองขึ้นมาในกรอบแห่งศีลธรรมนั้น แต่ในพัฒนาการขั้นสุดท้าย ศีลธรรมจะกลับกลายเป็นอุปสรรคแก่ผู้ที่ไม่รู้ความจริงเรื่องศีลธรรม ซึ่งการที่เราจะคิดว่า เราจะสร้างความดีให้เราด้วยการจับผิดเพื่อน ดู ๆ คล้าย ๆ เป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ที่จริงเป็นความชั่ว
    หรืออาตมภาพจะยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ จากอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลนั้นนั่นเอง ในวันหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งได้กระทำผิดกฎบัตรของสังคม ผิดศีลธรรมคือ มีชู้ขึ้นมาครั้งแรก ด้วยความเผลอสติ พวก ฟารีซี (Pharisee) ซึ่งเป็นพระที่เคร่งที่สุดของพวกยิวนั้น เขามีธรรมเนียมว่า การฆ่าผู้หญิงที่ทำผิดประเวณี และจับได้คาหนังคาเขานั้น ฆ่าด้วยก้อนหินจะเป็นความดี ได้บุญได้กุศล เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาก็วิงไล่ผู้หญิงคนนั้น ถือเชือก ถือไม้ ถือก้อนหิน จะฆ่าเสียให้ตาย ผู้หญิงคนนั้นก็หนีมาหลบข้างหลังพระเยซู ด้วยสำนึกว่าพระเยซูเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อพวก ฟารีซีเห็นผู้หญิงหลบข้างหลังพระเยซู จึงคิดว่าจำเลยมีสองคนแล้ว เพราะพระเยซูมักจะคัดค้านคำสอนของ โมเสส อันเป็นธรรมเนียมเดิมอยู่บ่อย ๆ ในที่สุดจึงแกล้งยั่วถามพระเยซูว่า ผู้หญิงคนนี้ผิดประเวณี จะต้องตายด้วยก้อนหิน ท่านโมเสสพูดว่าเป็นความดีของเรา ถ้าได้รุมกันฆ่า ท่านเห็นอย่างไร พระเยซูท่านเกิดมาเพื่อช่วยเหลือสัตว์ผู้ยาก ท่านจึงตรัสว่า ถ้าผู้ใดไม่เคยทำชั่วเลยในชีวิต จงรีบฆ่าผู้หญิงนี้เถิด คำพูดอันถูกจังหวะและลึกซึ้งอันนี้มันเสียดแทงเข้าสู่มโนธรรมของพวกพระที่ คิดจะสร้างความดีให้ตัวเองด้วยความแลวชนิดหนึ่ง คือ คิดว่าจะฆ่าเขา คิดว่าจะได้บุญ มันจึงสะอึกขึ้นมา แล้วทิ้งก้อนหินทีละคน แล้วหลบหน้าไปด้วยความละอาย พระเยซูได้หันมาทางผู้หญิงคนนั้น แล้วถามว่า มีใครลงโทษเจ้าบ้าง ผู้หญิงคนนั้นบอกว่า ไม่มี พระองค์พระเยซูผู้มีพระกรุณาอันใหญ่หลวงก็พูดขึ้นว่า เราก็หาโทษเจ้าไม่ แต่ทีหลังอย่าทำอีกนะ อย่าทำอีกก็แล้วกัน นี่เรียกว่าความกรุณาของท่านผู้รู้จริง ส่วนพระที่จะฆ่านั้น มันเป็นความชั่วของผู้ดี ส่วนพระเยซูนั้น ต้องถือเป็นความกรุณาของท่านผู้รู้ และท่านก็ตรัสว่า เราเกิดมาเพื่อคนชั่ว เราไม่ได้เกิดมาเพื่อคนดี
    ที่วัดแห่งหนึ่งของนิกาย เซ็น พระภิกษุรูปหนึ่งชอบขโมย เพื่อนพระทั้งหลานที่เคร่งครัดวินัย เขียนบัญชีหางว่าวไปถึงอาจารย์บอกว่า ถ้าไม่ไล่พระรูปนี้ออกจากวัด พวกเกล้ากระผมจะออกจากวัดนี้ให้หมด เหลือท่านอาจารย์อยู่กับอ้ายขโมยคนนี้ ท่านอาจารย์ผู้รู้จริงจึงเรียกประชุมพระทั้งวัด แล้วก็พูดว่า เธอทั้งหลายที่มีบัญชีหางว่าวนี้เป็นผู้ที่รู้แล้วว่า ดีต่างกับชั่วอย่างไร ถ้าอย่างนั้นเชิญออกจากวัดนี้ได้ เพราะเธอปลอดภัยแล้ว ฉันจะได้อยู่กับอ้ายคนที่มันยังไม่รู้ด้วยซ้ำไป เพราะฉันเกิดมาเพื่องานชนิดนี้ นี่แหละ คือความกรุณาของท่านผู้รู้ นั่นก็คือเรื่องความดี ความชั่ว นั้นมันเป็นวิวัฒนาการของจริยธรรมขั้นสุดท้าย ต้องมีความรู้สูงสุดที่เห็นว่า จริยธรรมหรือศีลธรรมเป็นสมมติ
    แต่สมมติไม่ใช่ไม่จริง ตัวอย่างในการหาค่าของ X ในวิชาพีชคณิต ถ้าสมมติว่า มีโจทย์ขึ้นมาแล้ว สมมติคำตองเท่ากับ X ถ้าใครค้านว่า อันนี้ไม่จริง ในที่สุดคนนั้นเห็นทีจะต้องสอบตกวิชานี้ เพราะจากค่าสมมตินี้ ค่าจริงจะออกมา จริยธรรมและศีลธรรมจะเป็นบทฐานที่ใหญ่หลวงที่สุด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า โลกุตรธรรมนี้ต้องผ่านทางกุศลเท่านั้น สำหรับคนพาลไม่มีหนทางอันใดเลย คนต้องเป็นคนดีที่สุดก่อน แล้วมีความรู้อยู่เหนือดี ด้วยเหตุนั้น ในวันที่ท่านตรัส โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็น Formula ใหญ่ที่สุดของพุทธธรรม ท่านพูดให้พระอรหันต์ทุกองค์จำไว้ว่า เมื่อไปเทศนาที่ไหนแล้ว อย่าพลาดจาก Formula ใหญ่นี้คือ สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำชั่วด้วยประการทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ ชำระจิตให้ผ่องแผ้ว ฟังดูเผิน ๆ เรารู้สึกว่า มันไม่มีอะไรมากมายนัก แต่ถ้าจะพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว จะพบว่า ประการแรกอย่าทำชั่ว ปละให้ทำดี นั่นคือ จริยธรรมข้อสุดท้าย เมื่อไม่ทำชั่ว ทำความดีแล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งดีและชั่ว คือ ชำระจิตให้พ้นจากดีและชั่วอีกทีหนึ่ง นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นแกนสำคัญที่สุดของพุทธธรรม
    อาตมภาพขอเลื่อนมาถึงสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตวิวัฒนาการอยูใน Space – Time อย่างไร เราต้องยอมรับทุกคนว่า ชีวิตนี้เป็นวิวัฒนาการ คนที่สำคัญผิดว่า ชีวิตมีเท่านี้ คนนั้นก็เป็น อาภัพพสัตว์ ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดสังเกตคำนี้ให้ดี คนทั่วไปเข้าใจว่า คนตาบอด หูหนวก ขาเปลี้ย มือแป นี้เป็นคนอาภัพ พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสเช่นนั้น คนอาภัพของพุทธธรรมหมายถึงว่า คนที่สำคัญผิดต่อชีวิต เช่น เห็นว่าสิ่งทั้งปวงซึ่งไม่เที่ยงตามสัจจธรรมของมันนั้น ว่าเป็นของเที่ยง นี้คือคนอาภัพ สำคัญทุกข์เป็นสุข นี้เป็นคนอาภัพ สำคัญสิ่งที่ไม่ตน ว่าเป็นตัวตนของตน จึงยืนกรานใช้ปัญญารณรงค์กับธรรมชาติ ซึ่งจะต้องถือว่า เป็นปัญญาชนิดที่โฉดเขลา ไม่มีใครเลยที่จะต่อสู้กับสัจจะได้ มนุษย์สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงเพียงปรากฏการณ์ เช่น ประดิษฐ์โน่น ประดิษฐ์นี่ ควบคุมอากาศ เครื่องทำความเย็น จัดสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้ นี่เราไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการรณรงค์ตามธรรมชาติ แต่เราศึกษากฎของธรรมชาติและผสมคล้อยไปเท่านั้น เราไม่ได้ทำอะไรใหม่ แม่แต่การยิงจรวดไปดวงจันทร์ มนุษย์หาได้ชนะธรรมชาติไม่ เพียงแต่พบแง่หนึ่ง เมื่อทำอย่างนี้ ๆ จะออกมา ๆ ๆ ทุกเรื่อง พระธรรมเจ้าเป็นผู้ทำ สัจจะเป็นผู้ทำ คือกฎ หรือ God เป็นผู้กระทำตลอดกาล แม้ในความคิดของเรา ขณะที่ว่าเรากำลังคิด เราคิดว่า เรากำลังคิด แต่หาได้เฉลียวใจไม่ว่า กฎกำลังกระทำให้คิด เช่น ท่านทั้งหลายสะสมความจำไว้มาก ความคิดก็พรั่งพรูออกมา ความดี หรือความชั่ว เป็นปรากฏการณ์ของสิ่งเดียวที่มีอัญญรูปสองอย่าง แต่สัจจะนั้น ไม่ดี ไม่ชั่ว เพราะว่าสัจจะเป็นกฎที่มาแห่งดีและชั่ว เช่น ความดีนี้มีปฏิกิริยาลูกโซ่ ทำอย่างนั้น จะออกอย่างนั้น ๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าดี ทำอย่างนี้ ออกอย่างนี้ ๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าเลว ฉะนั้นความดีความเลวเป็นปรากฏการณ์ จับเปรียบเทียบกันเข้าเป็นเพียง Relative Truth ขึ้นมา ส่วนสัจจะคือกฎที่สร้างดีและชั่ว ซึ่งตัวมันเองไม่ดีไม่ชั่ว เป็นกลาง ๆ ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเอง เมื่อชีวิตเป็นอยู่เช่นนี้ สัจจะกระทำอยู่เช่นนี้ วิวัฒนาการของชีวิตจึงเกิดขึ้น ผู้ที่ไม่รู้เท่านั้นจะต่อต้านวิวัฒนาการ ซึ่งไม่มีทางด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกลียดธรรมะขอให้ทราบด้วยว่า ธรรมะกำลังกระทำอยู่ในชีวิตของผู้นั้น เพราะธรรมะนั้นเองเป็นเครื่องกระทำให้ชีวิตวิวัฒน์ไปอย่างถูกต้อง
    อาตมภาพอยากจะชี้ถึงช่วงหนึ่งของชีวิต ช่วงแรกของชีวิตตามเงื่อนไขของวัยคือ กามโลก ฟังให้ถนัด ขอให้ท่านทั้งหลายฟังให้ดี ๆ ว่า กามะโลกะ ไม่ใช่ กามะโรคะ กามโลก หมายถึงว่า ช่วงมิติที่บุคคลกำลังบูชากาม มีค่านิยมในกาม เราต้องยอมรับเงื่อนไขนี้ จากเงื่อนไขของชีวิตในช่วงซึ่งฮอร์โมนเพศกำลังผลักดันอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเขาจะมีมันสมองดีเลิศขนาดไหน เงื่อนไขของกามยังบีบคั้นอยู่ ด้วยเหตุนั้น ค่านิยมอันสูงสุดของเขาจึงอยู่ที่กาม จึงเรียกมันว่า กามโลก การเวียนว่ายตายเกิดทางจิต วกวนอยู่ในกามโลก สี่คือ Dimension แรกของชีวิต ทุกคนต้องประจันหน้ากับสิ่งนี้ แม้คนนั้นจะฉลาดลึกซึ้ง แต่ขอให้ทราบว่า บางขณะนั้นกามโลกมันดับลง มันเลื่อนไปสู่ รูป โลก รูปะโลกะ รูปโลกนี้หมายความว่า เป็นโลกแห่งรูปอันบริสุทธิ์ อันสุดท้ายเรียกว่า อรูปโลก ไม่มีรูคือนาม สามช่วงนี้เรียกว่า Dimension ทั้ง ๓ ของวิวัฒนาการของชีวิต <sup>4</sup> อาตมภาพอยากจะแจกแจงให้ชัดลงไปอีกว่า สำหรับเด็กหนุ่มที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในโลกแห่งกาม ค่านิยมแห่งกามนั้นจะเข้าใจคนที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ในโลกแห่งรูปไม่ได้ ถ้าเข้าใจได้ก็น้อยเกินไป และนี้คือช่องว่างระหว่าง Dimension ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างวัย ระหว่างค่านิยมในสังคมที่ปั่นป่วนที่สุด ครูผู้เฒ่าของเราผ่านโลกแห่งกามมาแล้ว รู้รส รู้โทษ รู้คุณของมันแล้ว เมื่อมาตักเตือน ก็ไม่สามารถเตือนให้เขารู้สำนึกได้ เพราะกำลังมีค่านิยมแห่งกาม ช่องว่างอันนี้สำคัญมาก ในที่สุด ผู้เฒ่าที่ผ่านกามโลกมาแล้วฟังให้ดี ไม่ใช่กามโรค ไม่เช่นนั้นกาว่าอาตมากำลังประณามผู้เฒ่าขึ้นมา แต่ผู้ที่ผ่านกามะโลกะนี้ หมายถึงว่าเป็นผู้ที่ผ่านชีวิตตามเงื่อนไขนั้นมาอย่างปลอดภัยแล้ว ไม่สามารถที่จะอธิบายให้เขาฟังได้ว่าอะไรเป็นอะไร เด็กจึงไม่เชื่อฟัง แล้วจึงหาว่าผู้ใหญ่เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นเหมือนเขา ที่จริงความกระตือรือล้นรุนแรงของเขาอาจจะเป็นเพียงความผลักดันของกามก็ได้ สิ่งที่เรียกว่ากามโลกช่วงหนึ่ง ๆ นั้นจะมีอยู่ระยะหนึ่งตามวิสัยคนธรรมดาสามัญ หลังจากนั้นก็จะคลี่คลายไปสู่ รูปโลก คำว่า รูปโลกในความหมายนี้มีความหมายพิเศษ ขอให้นักศึกษา หรือท่านอาจารย์ผู้คงแก่เรียนทั้งหลานพิจารณาดูให้ดีว่า คนบางคนนั้นไม่ค่อยสนใจในกาม เช่นนักวิทยาศาสตร์บางคนทดลองอยู่ในห้อง Lab จนกระทั่งไม่สนใจที่จะมีกามารมณ์กับใคร คือมันมีค่านิยมอันสูงสุดอยู่ที่ได้ความรู้จากปรากฏการณ์ใหม่ บางคนชอบศิลปะ ชอบเก็บของเก่า ชอบสะสมต้นไม้ กล้วยไม้ นกเขา หรือบอน พอพูดถึงเรื่องกามารมณ์เขาไม่สนใจ แต่ถ้าพูดเรื่องกล้วยไม้ก็เนื้อเต้นขึ้นมา นี้เรียกว่าอยู่ในรูปโลก ค่านิยมมันอยู่ในเรื่องรูปอันบริสุทธิ์ ชอบเล่นพระเก่า ๆ รุ่นเชียงแสน รุ่นสุโขทัย พอเพื่อนชักชวนไปเที่ยวในเรื่องกามารมณ์ ไม่สนใจ นี่อยู่คนละ Dimension แล้ว พูดกันไม่รู้เรื่องแล้ว คู่สามีภรรยาที่อยู่คนละ Dimension จะพูดกันไม่รู้เรื่อง ฝ่ายหนึ่งชวนไปเต้นรำ ไปกินอะไรอร่อย ๆ ซึ่งถือว่าเป็นกามเหมือนกัน คำว่ากามไม่ได้หมายถึงเซ็กส์อย่างเดียว ยังหมายถึงเรื่องอร่อยทางลิ้น ทางหู ทางตา ทางจมูก ฝ่ายสามีอาจจะเป็นผู้ไม่สนใจเรื่องนั้นแล้ว คือ จิตประณีตขึ้น หรือตรงกันข้าม ภรรยาสนใจเรื่องรูปโลกแล้ว สามียังหมกมุ่นในเรื่องกามโลก ในที่สุดหลังจากรูปโลกได้เข้ามาในช่วงหนึ่ง แล้วก็มาถึง อรูปโลก สำหรับคนที่มีความชาญฉลาดในทางธรรม ช่วงเหล่านี้จะลัดสั้นเข้าไป
    สิ่งที่เรียกว่า อรูปโลก โลกของนามธรรม ไม่ขึ้นกับวัตถุของเก่าหรือ ศิลปะ หรือ บอน หรือ นกเขา ขึ้นมาสู่เรื่องนามธรรม เช่น ความสงบ เราจะพบว่า คนชราบางคน ดวงตาของท่านเหือดแห้งจากกามารมณ์ ไม่สนใจเก็บทรัพย์สมบัติ ไม่สนใจเรื่องรถเก่า ยี่ห้อเก่า ๆ หรือสมบัติเก่า สนใจเรื่องบุญกุศล อย่างนี้ไม่มีรูป มีแต่ชื่อ มีแต่นาม สนใจสมาธิภาวนา เมื่อได้อยู่ที่สงบสงัด รู้สึกสบายใจที่สุด แต่ว่าโลกทั้ง ๓ นี้ ยังต้องเร่าร้อนเสมอไป เพราะยังตกอยู่ใต้ Space – Time คนที่อยู่ในอรูปโลก มุ่งทำสมาธิในที่สงัด พอได้ยินเสียงเด็กมากวน จะโมโหจี๊ดขึ้นมา นี่มีปัญหาแล้ว แม้ว่าอยู่ในโลกที่ประณีตที่สุด ชอบสงัดที่สุด แต่ใครรบกวนก็โมโหขึ้นมาแล้ว และกาลจะมีผลเบียดเบียนผู้นั้นด้วย เพราะฉะนั้น กามโลก รูปโลก อรูปโลก นี่แหละ คือ Dimension ของชีวิตตามช่วงและเงื่อนไขของวัยด้วย แต่เงื่อนไขเหล่านี้หาได้ผูกพันไปถึงปัญหาของปัจเจกชนคนหนึ่ง ๆ ไม่ เราไม่อาจสรุปได้ว่า ทุกคนต้องเป็นเช่นนี้ ตามช่วงเงื่อนไขของวัยเหล่านี้ได้เลย เพราะคนบางคนสามารถแทงทะลุ Dimension เหล่านี้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเราเอาจิตวิทยาสมัยใหม่ของฝรั่งไปจับ บางทีเราอาจจะประณามบุคคลเช่นนั้นว่า เป็นบุคคลวิปริตขึ้นมาเสียก็ได้ อาตมภาพขอตักเตือนท่านทั้งหลายหรือเสนอท่านทั้งหลานให้รับทราบว่า ได้โปรดระวังให้ดี ผู้ที่มีอัจฉริยภาพทางศาสนานั้น ดูเหมือนคนไม่ปกติในแง่ใดแง่หนึ่งบ้างเหมือนกัน ถ้าสมมติว่า เด็กหนุ่มคนหนึ่งไม่สนใจเรื่องกาม มันไปสนใจเรื่องรูป หรือ อรูปไปเลย ถ้าอย่างนี้ นักจิตวิทยาสมัยใหม่อาจจะวิเคราะห์ว่า มันวิปริต ถ้าเช่นนั้น เรื่องเศร้าจะเกิดขึ้นในพุทธบริษัท เพราะว่าเขาไม่รู้จักทางลัดสั้นของวิวัฒนาการของชีวิต
    ในที่สุดอาตมาก็มาเลื่อนมาถึงสิ่งที่ว่า การแทงตลอดมิติทั้งหลาย ว่ามีได้อย่างไร หมายความว่า ถ้าเราปล่อยชีวิตให้วิวัฒนาการไปตามธรรมชาติ ครั้งสุดท้าย ทุก ๆ ชีวิตจะต้องเลื่อนมาถึงเรื่องอรูป ถ้าว่าชีวิตนั้นดำเนินชีวิตถูกธรรมชาติ เราจะพบว่า คนบ้านนอก พอแก่เข้าไม่สนใจเรื่องกาม ไม่สนใจเรื่องของเก่า แต่ไปสนใจเรื่องบุญ หรือบางคนเวียนมาสนใจเรื่องของเก่า ศิลปวัตถุ สะสมศิลปะ กล้วยไม้ สำหรับคนเฒ่าคนแก่สมัยนี้มันเวียนกลับมาสู่เรื่องกามก็มี ความประพฤติเหล่านี้ทำความสับสนที่สุดให้แก่วิวัฒนาการตามธรรมชาติ เงื่อนไขนี้เกิดจากสังคมเมืองอันเน่าเฟะ เพราะค่านิยมมันชวนให้คนเฒ่าเวียนไปสู่กามโลก ทั้ง ๆ ที่โดยวิถีทางธรรมชาติ มันจวนแจจะมาถึงการหลุดพ้นจาก Dimension ทั้งปวง เรียกว่า โลกุตตรภูมิ ไม่ใช่โลกอีกโลกหนึ่งทางวัตถุ แต่ว่า โลกุตตระ เหนือโลก ออกจากโลก พ้นจากโลกนี้ไป แต่ไม่ได้หมายถึงตาย หรือไม่ได้ออกไปแบบนักอวกาศ ออกไปในชีวิตที่ทันตาเห็น คือไม่ติดอยู่ในความบีบคั้นของ Space – Time อีกเลย สมมติว่าท่านทั้งหลายที่สนใจในการฟังธรรมบรรยายนี้ หรือจับใจความมาได้ตลอดแล้ว บางคนจะพบว่า ที่จริงธรรมะมันก็คือประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ความดิ้นรนที่จะออกให้เร็วที่สุดจากเงื่อนไขแต่ละช่วงของวิวัฒนาการ ถ้ามันถูกธรรมชาติ ชีวิตเองจะพาลิ่วไปสู่เป้าหมายของชีวิต ถ้าทำผิดมันเกิดเป็นอุปสรรควกวนอยู่ใน วัฏฏะ วัฏฏะ แปลว่าวน โดยวิธีทางของธรรมชาติ ก็เป็นวิถีทางหนึ่งแล้ว แต่ยังมีวิถีทางซึ่งอาจเรียกได้ว่า ทางมันลัดสั้น หรือค่อนข้างเป็นศิลปะสักหน่อย แต่ไม่ใช่ผิดธรรมชาติ ลัดไม่ได้หมายถึงว่าคดโกง แต่หมายถึงการไปเร็ว ๆ ความไปเร็ว ๆ อาจจะต้องเจ็บแสบบ้างเหมือนกัน เมื่อเราไปทางลัดก็จะต้องบุกหนาม แต่ถึงเป้าหมายเหมือนกัน ทางลัดนั้นแหละเขาเปิดโล่งไว้ให้แก่ อนาคาริก หรือ บรรพชิต ที่ไม่ประสงค์จะเวียนอยู่ในกามโลก หรือ รูปโลก หรืออรูปโลกนานนัก จึงเกิดเครื่องแบบบรรพชิตขึ้นในสังคม เพื่อการแสวงหาทางลัดสั้นที่สุด ไม่ยอมมีลูก ไม่ยอมมีเมีย ไม่ยอมมีข้อผูกพัน ไม่ยอมมีสมบัติ ลัดไปสู่โลกุตตร
    ถ้าท่านทั้งหลายยอมรับ แล้วว่า ชีวิตกับธรรมแยกจากกันไม่ได้แล้ว อาจจะเกิดคำถามแทรกขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้น คนรู้แจ้งเรื่องราวของชีวิต เขาจำเป็นที่จะต้องรอให้ชีวิตสิ้นสุดก่อนใช่ไหม จึงจะรู้หมดสิ้นเรื่องราวของชีวิต เช่น สมมติว่า เงื่อนไขของชีวิตมีอายุ ๘๐ ปี พระพุทธองค์นั้น น่าจะในวินาทีสุดท้ายเมื่ออายุ ๘๐ นั้นแหละจึงจะพูดเรื่องราวของชีวิตได้ถูกต้องหมดจดสิ้นเชิง แต่ทำไมพระองค์อายุเพียง ๓๕ จึงอธิบายเรื่องราวชนิดที่ผู้เฒ่าวัย ๙๐ หรือวัยร้อยหนึ่งอย่างโกญฑัญญะจึงต้องยอมตนเป็นสาวก เอาเงื่อนไขอะไรมาพูดกัน สิ่งนี้อาตมภาพอยากจะชี้ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า การแทงตลอด Dimension ต่าง ๆ นี้ มันมีได้สำหรับผู้ประสงค์ทางลัด คือ เกิดรู้แจ้งแทงตลอดขึ้นมาโดยไม่ต้องไปชิมมันเข้าจริง โดยเนื้อแม้แล้ว คำว่าชิมจริงนั้นเป็นเพียงคำพูดที่มีความหมายเลือน ๆ เท่านั้น เพราะประสบการณ์ทางด้านจิตนี้สำคัญที่สุด สำคัญกว่าประสบการณ์ทางด้ายกายมาก บรรพชิตที่แท้จริงจะรู้เรื่องเซ็กส์มากกว่าฆราวาส เนื่องจากการควบคุมจิตเมื่อเกิด กามราคะ ขึ้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า น เต กามานิ จิรานิ โลเก สงฺกปฺปราโค ปุริสฺสกาโม อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกไม่ใช่กาม แต่จิตที่ดำริเพราะกำหนัดนั้นแหละคือกาม เมื่อบรรพชิตควบคุมจิตเข้า จึงรู้เรื่องราวของกามได้ถี่ถ้วนที่รากเง่าของมันคือการดำริ ส่วนการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือทางอื่น หรือทางด้านนอกนั้น มันเป็นผลของการดำริที่จิตก่อนเพื่อน
    ก่อนที่จะมาถึงบทสรุปที่ ว่า การแทงตลอด Dimension ของชีวิตย่างรวดเร็วมีได้อย่างไร อาตมาภาพอยากจะเล่าเรื่องให้ฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งในที่สุดเรื่องราวเหล่านั้น จะกลายเป็นคำสรุป หรือคำตอบอยู่ในตัวของในเอง หมอชีวก นายแพทย์คนสำคัญที่เยียวยาพระพุทธองค์ตลอดมา ว่ากันว่า เชี่ยวชาญถึงขนาดผ่าตัดหัวกะโหลกได้ในสมัยโน้น ท่านเรียนวิชาแพทย์มาจากมหาวิทยาลัยตักกศิลา หลักสูตรปีสุดท้าย ท่านจะต้องทำวิทยานิพนธ์ คือ รายงานให้อาจารย์รู้ถึงความรู้ของตัว อาจารย์กำหนดวิทยานิพนธ์ว่า ให้หมอชีวกเดินทางไปทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๗ วัน แล้วให้กลับมารายงานว่า มีต้นไม้ชนิดไหนบ้างที่หมอชีวกไม่รู้จักสรรพคุณของมันในการเยียวนารักษาดรค ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์แบบสมัยใหม่ เพราะเขาเชื่อใจว่าไม่คดโกง ให้เพียงแต่บอกว่าสิ่งไหนไม่รู้ สิ่งที่รู้ไม่ต้องมาบอก หมอชีวกตั้งต้นออกเดินทางไปทั้ง ๔ ทิศ กลับมาครั้งสุดท้ายรายงานอาจารย์ของตัวเองว่า ไม่มีเลย ทุกต้นเขารู้จักหมด นั่นหมายความว่า หมอชีวกรู้จักพันธุ์ไม้ในโลกนี้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่ออาตมาเล่าให้ท่านฟังจบแล้ว หลายคนคงจะลังเลว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อ แม้แต่อาตมาเองก็ไม่เชื่อ สิ่งที่เล่ามานี้ หมอชีวกจะรู้จักต้นไม้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย ในโลกนี้มีต้นไม้อีกเยอะ ในคัมภีร์เล่าว่า เมื่อหมอเดินทางไปที่ไหน ต้นไม้จะตะโกนว่า รากของข้าพเจ้าแก้โรคนั้น ใบของข้าพเจ้าจะแก้โรคนั้น กระพี้แก้โรคนั้น แก่นแก้โรคนั้น เปลือกแก้โรคนั้น ดอกแก้โรคนั้น เกสรแก้โรคชนิดนั้น คำพูดเหล่านี้เป็นเพียงสำนวนหรืออุปมาที่จะชี้ให้เห็นว่า หมอชีวกชาญฉลาดเหลือเกินในเรื่องของสมุนไพร ในที่สุด สิ่งที่เล่ามานี้ก็มาถึงบทสรุปว่า หมอชีวกไม่รู้จักพันธุ์ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ดอก แต่หมอชีวกอาจจะรู้มากแต่ไม่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเพียงแต่ตรัสรู้เอา เพราะอะไรเล่า เพราะพันธุ์ไม้ในโลกนี้มันมีไฟลัม (Phylum) ของมัน เช่นหมอชีวกไปถึงไหนเมื่อมีคนป่วยเกิดขึ้น เมื่อต้องการยาชนิดที่จะมาแก้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักชื่อของมัน ไม่เคยเห็น พอรูดใบมาแล้วก็ดมกลิ่น กลิ่นคล้ายพันธุ์ไม้ที่เคยรู้จัก ใบสกหรือมัน เหมือนต้นไม้ที่เคยรู้จัก มีกลิ่นยูคาลิปตัสอยู่บ้าง ถ้าเช่นนั้นก็แก้หวัดได้ นี่เป็นอาการที่เรียกว่าตรัสรู้ของหมอชีวก หมายความว่า รู้จักมันเพียง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ตรัสรู้เอา ตรัสรู้ไม่ใช่เดา ไม่ใช่คาดคะเน แต่ว่าเกิดความรู้ชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างยิ่ง ในวงการศิลปะ งานศิลปะชั้นเยี่ยมยอดที่สุดทั่วไปแล้ว เขาจะทิ้งไว้ประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำสำเร็จบริบูรณ์หมด มันเหมือนไม่เสร็จ หรือว่ามันเสร็จเกินไป โวหารของพวกศิลปิน มักจะเรียกว่าเป็น Academic อะไรทำนองนั้น ไม่ทราบเขามีความหมายอย่างไร ก็คงมีความหมายว่า ดีเกิน ทำนองนั้น หรือสำนวนเมื่อ สิบ – ยี่สิบปีก่อน เขาชอบเรียกเด็กนักเรียนที่เรียบร้อยตามระเบียบครูว่าเด็กกระทรวง ตัดผม ๒ ซม. นุ่งกางเกง ๕ ซม. เลยเข่า อย่างนี้เรียกเด็กกระทรวง คือ ดีเกิน หรือ ถูกเกิน
    ในที่สุดเนื่องจากไฟลัมของจิตมีอยู่ เช่นกลุ่มกิเลส ที่เรียกว่า ราคะ กิเลสไหน ความรู้สึกไหนที่มันดึงเข้าหาตัวเรียกว่า ราคะ ความรู้สึกไหนที่มันผลักออก เรียกว่า โทสะ ความรู้สึกไหนที่เป็นเหตุให้ งง วนเวียนวกวน ตัดสินใจไม่ได้ ลังเล เรียกว่า โมหะ นี้คือไฟลัมของกิเลส เมื่อพระศาสดาจารย์เหล่านั้นเฝ้าพินิจชีวิตอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่ระยะหนึ่ง ติดต่อกันแล้ว มันเกิดเห็นไฟลัมของกิเลสขึ้นมา ในที่สุดเมื่อรู้มัน ๘๐ เปอร์เซ็นต์กว่าแล้ว ในที่สุดเกิดการตรัสรู้ของชีวิต ด้วยเหตุนั้น เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อ พระชนมายุ ๓๕ พรรษา พระเยซู เมื่ออายุเพียง ๓๐ ปี พระนาบีโมหะหมัด เมื่ออายุเพียง ๔๐ ปี จึงแทงทะลุเรื่องราวของชีวิตไปด้วยประการเช่นนี้ นี้คือเรื่องราวของพระศาสดาจารย์ของโลก ที่เกิดมาเพื่อชี้หนทางลัดให้เพื่อมนุษย์ นอกเหนือจากหนทางที่เป็นไปเองตามธรรมดา ด้วยเหตุนี้จึงมีทางหลายทาง ทางหมายทางไม่ได้หมายความว่า เดินคนละทาง คือหลายระบบ แต่มันเหมาะกับฆราวาสระบบหนึ่ง และสำหรับบรรพชิตระบบหนึ่ง แต่ทุกประเภท ทุกเพศจะต้องเดิน คือ จะต้องยอมรับวิวัฒนาการของชีวิตในลักษณะเช่นนี้ ผู้ใดไม่ยอมรับวิวัฒนาการของชีวิต ผู้นั้นชื่อว่าตายแล้ว คือ ตายอยู่ในวัฏฏะนี้ คือวนเวียนอยู่ใน กาม – รูป – อรูป แล้วก็วกกลับมากามอีก แล้วก็รูปอีก อรูปอีก วกไปวกมา วนไปวนมา นั่นคือ วัฏฏสงสาร ซึ่งเราใช้คำว่า สงสาร ว่าน่าสงสาร ที่จริงคำว่าสังสาระหมายถึง วนเวียน วัฏฏสงสารเพราะคนที่วนเวียนน่าสงสารจริง ๆ เสียด้วย
    ขออาตมภาพเลื่อนมาถึงผู้ที่กระทำถูกต่อวิวัฒนาการของชีวิต จะเกิดการแทงทะลุออกจาก Dimension แต่ละ Dimension ออกไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็มาถึงที่สุดของ Dimension คือ โลกุตตรภูมิ สิ่งที่เรียกว่า โลกุตตรภูมินั้น ไม่ประกอบด้วยกาละ ย้อนรำลึกไปถึงเรื่อง Space – Time ขึ้นมา เราจะพบว่า การงานของอายตนะทั้งปวง รูปกระทำกับตาเป็นเพียงปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์นั้นเป็นการกำหนดหมายด้วยกาละ และปรากฏการณ์นั้นเป็นไปตามอำนาจของ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ชีวิตได้วิวัฒน์ไปจนวางเฉยในปรากฏการณ์และเกิดความรู้แจ่มแจ้งต่อกฎของ ธรรมชาติ จนกล่าวได้ว่า ชีวิตได้แทงทะลุช่วงมิติต่าง ๆ ได้แล้ว ไม่อยู่ในอำนาจของ Space – Time อีก จึงอาจหยั่งรู้สิ่งที่เรียกว่า นิจฺจํ เที่ยงนิรันดร์ อมตะ หรืออมตธรรม คือ นิพพานอันเป็น นิจจํ เป็นของเที่ยง ไม่ประกอบด้วยกาละ เป็นอมตะซึ่งถือเป็นสัจจะอันสูงสุดอันเดียว
    ในทีสุดแห่งการบรรยายนี้ อาตมภาพขอชี้ให้ท่านทั้งหลายเห็นสิ่งที่เรียกกว้าง ๆ เหมือนเรากำลังมองแบบ Bird’s Eye View มองคลุมแผ่ไปถึงเอกชนและสังคม เอกชนคนหนึ่ง ๆ มีเงื่อนไขของชีวิต คือ นามรูป กาย และจิต มันมีเงื่อนไขจำกัด คือ จะต้องตาย จะต้องจบลงในช่วงที่จำกัด เงื่อนไขของกายและจิตนี้ มันจะจบในช่วงที่จำกัด ส่วนของสังคมเป็นการสืบต่อของข้อมูลเป็น Continuum ของข้อมูลของอนุชนหนึ่ง ๆ ที่ถ่ายทอดกันไปเรื่อย พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนให้เราท่านทั้งหลายไม่ประมาทว่า จงยังประโยชน์ตนและท่านด้วยความไม่ประมาทเถิด และเป็นเหตุให้เกิดสันติสุขในสังคม
    ชีวิตที่ทำถูกแก่ตัวเองเรียกว่าชีวิตที่เข้าถึงธรรม ส่วนชีวิตที่เผื่อแผ่ไปสู่สังคมนั้นเรียกว่า ชีวิตที่ควรจะเป็น ความจะเป็น มีขีดจำกัดว่า ถ้าใครไม่สามารถ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผู้ใดสามารถ จงรีบทำ เพื่อประโยชน์ท่านด้วย ในที่สุด ถ้าสังคมเป็นสังคมยั่วยุอายตนะ เมื่อกี้อาตมาได้ชี้แล้วว่า อายตนะของเราที่เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาตินั้น ถ้าไปยั่วยุมันเข้า มันจะเกิดซับซ้อนขึ้น เช่น ไปแยกดีออกจากชั่ว แล้วก็ติดดีกับชั่ว ไม่สามารถพ้นดีพ้นชั่ว เมื่อเราไปเที่ยวในห้างสรรพสินค้า เราจะพบว่า เราเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยที่ตา เหน็ดเหนื่อยที่หัวใจ ที่เกิดเปรียบเทียบอันนั้นสวย อันนั้นไม่สวย อันนั้นเลว อันนี้ดี ในที่สุด มนุษย์จึงเป็นมนุษย์ของความซับซ้อนทางอายตนะ ชีวิตโดยวิถีทางธรรมชาติเป็นชีวิตเชิงง่าย และกลับกลายเป็นชีวิตเชิงซ้อน เป็น Complex Existence ขึ้นมา เราทุกคนจะรู้สึกว่ายังไม่พอ เรามีรถเก๋งอย่างนี้ไม่ได้ ยังไม่พอ ยี่ห้ออื่นดีกว่านี้ ทั้ง ๆ ที่ยี่ห้อเก่ายังใช้ได้ เรื่องเสื้อผ้าเรามีความรู้สึกในแฟชั่นนิยมซับซ้อน ชีวิตจึงสับสน และซับซ้อนอยู่ในตัว ในที่สุดนี้ มนุษย์จึงมีเสียงกระซิบของตัวเองอยู่ทุกวันว่า ไม่พอ ๆ ๆ ๆ ฉันยังไม่พอ ๆ ๆ ในที่สุด มนุษย์ก็ฆ่าตัวเองจากชีวิตเชิงง่าย เพราะไปยั่วยุอายตนะ สังคมฝ่ายไหนไม่ว่าซ้ายหรือขวา ที่เป็นสังคมยั่วยุอายตนะแล้ว สังคมนั้นไม่เหมาะสมที่จะนำมนุษย์ ส่วนสังคมไหนที่ช่วยให้มนุษย์ลดการยั่วยุอายตนะ ชีวิตจะเริ่มเป็นเชิงง่าย เชิงเดี่ยว สังคมนั้นก็อำนวยแก่การประพฤติธรรมะ อำนวยแก่ชีวิตของเอกชน เขาจะเริ่มมองปราดเดียวจะเข้าใจความหมายของปรากฏการณ์ เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อตาเห็นรูป สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าได้ยิน ก็รูปทั้งปวง ไม่ว่าในอดีต ในปัจจุบัน หรือในอนาคต สวย ไม่สวย ประณีต หยาบ มันก็เท่านั้นเอง คือ เกิดขึ้นแล้วสลายลง สิ่งที่อร่อยที่สุด ที่เราชอบที่สุด เสื้อที่เราชอบที่สุด พักเดี๋ยวเดียวก็เบื่อ กี่ตัว กี่ชุดที่เราตื่นเต้นยินดี และในที่สุดก็เหวี่ยงทิ้งอย่างง่ายดายเมื่อแฟชั่นใหม่เข้ามา ผู้จับเคล็ดเรื่องนี้ เขาจะเริ่มเป็นอิสระจากอายตนะของเขา คือเริ่มเห็นปรากฏการณ์มายา ชั่วขณะ ๆ ๆ ในที่สุด ผู้ประพฤติอยู่เช่นนั้น ชื่อว่าประพฤติธรรม ชีวิตจะเริ่มคลี่คลายไปสู่ความมีอิสรภาพอย่างแท้จริง อิสรเสรีภาพของการยั่วยุจากอายตนะนี้เป็นอิสรภาพจอมปลอม เรารู้สึกว่าเราจะสนุกที่สุด หรือที่ โอมาคัยยัม ล้อเลียนพวกมนุษย์ว่า Eat, drink and be merry; for tomorrow we may die ดื่มกินให้มากที่สุด สนุกให้มากที่สุด เพราะพรุ่งนี้เราอาจจะตายเสียก็ได้ นี่คำล้อเลียนของโอมาคัยยัม โอมาคัยยัมเองไม่ได้กินสุรา เพียงแต่ประชดประชันเท่านั้น แต่ผู้ที่รู้เล่ห์ของชีวิต จะแสวงหาอิสรภาพจากการเป็นนายเหนืออายตนะ ผู้ที่ไม่รู้จะสมัครเป็นทาสของอายตนะ แล้วคิดว่านั่นคืออิสรภาพ อิสรภาพที่แท้จริงต้องเกิดจากอิสรภาพจากภายใน เกิดแจ่มแจ้งต่อวิถีทางของชีวิตเท่านั้น
    ในที่สุดนี้ อาตมภาพก็มาถึงกาลที่เป็นที่สุดแห่งธรรมบรรยาย ขออำนวยพรให้ท่านทั้งหลาย จงประสบสันติสุขทุกทิพาราตรีนับตั้งแต่บัดนี้จนตราบเข้าสู่พระนิพพานเทอญ
    <sup>1</sup> รวมไปถึงการค้นพบกฎแห่งการแกว่งของลูกตุ้มนาฬิกา (The Law of Pendulum) ของกาลิเลโอ ที่ว่า ไม่ว่าช่วงระยะจะยาวหรือสั้น แต่จะกินช่วงเวลาเท่าเดิมเสมอ ความจริงข้อนี้ยิ่งเน้นให้เห็นว่า เวลาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แยกออกไปจากสิ่งอื่น
    <sup>2, 3</sup> ทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้นแบ่งเป็น ๒ ภาค ภาคแรกเรียกว่า Special Theory และภาคหลังเรียกว่า General Theory ในภาคหลังนั้น ไอน์สไตน์ ได้อธิบายขยายความจากภาคแรก :ซึ่งเป็นตัวทฤษฎีทาง วิชาฟิสิกส์ล้วน ๆ เข้าสู่เรื่องจิตใจ ดังข้อเขียนของเขาเองในหัวข้อเรื่อง The Foundation of the General Theory of Relativity ดังนี้ “... The view of space and time has always been in the minds of physicists, even if, as a rule, they have been unconscious of it…”
    นั่นคือ กาละ เป็นเพียงความรู้สึกของจิต และโดยเหตุที่ในห้วงอวกาศนั้น เราไม่อาจหาจุดยืนที่คงที่ให้แก่ผู้วัด หรือผู้สังเกต ก็เพราะทุกสิ่งเคลื่อนไหวเป็น อนิจจํ อยู่ ค่าแห่งการวัดจึงเป็นเพียงค่าสัมพัทธ์ และค่าแต่ละค่าถูกตักสินด้วยกาละช่วงหนึ่ง ๆ เท่านั้น แม้สิ่งที่เรายืนยันว่าเป็นจริงในทุก ๆ ศาสตร์ ก็ต้องถูกตกลงและตัดสินในลักษณะเช่นนี้ เว้นไว้แต่สิ่งที่อยู่นอกอำนาจ อนิจจํ นอกอำนาจของ กาละ และสิ่งนั้นคือ พระนิพพาน แต่ประการเดียว
    <sup>4</sup> กามโลก-รูปโลก-อรูปโลก นั้นเป็นสถานะของจิตในช่วงนั้น ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่จำกัดวัยหรือเพศ เพราะเป็นการแล่นไปโดยขณะจิต พร้อมกันนั้นโดยวัย หรือโดยปัญญา ก็อาจจะเห็นวิวัฒนาการของชีวิต เป็นช่วงยาวที่มีเขตปันให้เห็นได้ แต่ใช่ว่าเขตปันแดนเหล่านั้นจะตัดกันเด็ดขาดลงได้ ยังอาจแล่นวกลงสู่สถานะที่ต่ำกว่าได้ด้วย แม้ว่ามีแนวโน้มไปในทางสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนกว่าถึงที่สุดอันไม่อาจวกกลับได้อีก
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 เมษายน 2010
  2. wisarn

    wisarn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    741
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +2,505
    มิติ ของชีวิต
    ภาคคำถาม - คำตอบ
    (ธรรมบรรยายโดย เขมานันทะ)
    [​IMG]
    ถาม ถ้าคนเราหาทางลัดข้ามกามโลกไปสู่โลกุตรภูมิแล้ว แสดงว่า การสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เป็นอันสิ้นสุดลง มนุษย์ทุกคนคงจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่องนี้ไว้อย่างไร
    ตอบ ดูเหมือนผู้ถามจะเป็นห่วงเรื่องการสืบพันธุ์ของมนุษย์เหลือเกิน เมื่อตะกี้ อาตมภาพได้บอกแล้วว่า วิถีทางของธรรมปฏิบัติ ตามวิถีทางของการวิวัฒนาการ คือ ประสงค์คล้อยตามวิวัฒนาการ กามโลก หรือ กาม เป็นเพียงเงื่อนไขช่วงสมัยหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราต้องเลิกเรื่องกาม พระพุทธองค์เอง ท่านตรัสว่า สุขโสมนัสใดเกิดจากกามนั้น เป็นคุณของกาม ส่วนข้อเท็จจริงว่า กามนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เสียบแทงเอาภายหลัง นั่นเป็นโทษอันต่ำทรามของกาม ส่วนอุบายใดที่บุคคลมีความรู้ชัดเจนในเรื่องกาม อุบายนั้นแหละเป็นการออกจากโทษ นั้นก็หมายความว่า มนุษย์พึงแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องในกาม แล้วปรารถนากามด้วยปัญญานั้น มิใช่แสวงหาเพื่อหลงจมอยู่ในมัน เพราะว่าสิ่งทั้งปวงนั้น เราใช้มันเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้ คนที่ใช้ไม่เป็น จะเกิดโทษขึ้น เช่น ไม่ขีดไป ถ้าใช้เป็น ก็เอาไฟมาหุงต้ม ใช้ไม่เป็น มันก็อาจไหม้บ้านเอาจนวินาศ ความรู้เรื่องไดนาไมท์มีประโยชน์ ถ้าใช้เป็น แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ก็เอามาใส่ขวด หรือใส่ถุงพลาสติกขว้างกัน ล้างผลาญกันอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ สิ่งทั้งปวงจะมีทั้งคุณและโทษ ส่วนผู้ที่รู้จักคุณและโทษ เลี่ยงจากโทษ แสวงหาแต่คุณ แม้กระนั้นก็ดี ในแง่คุณของมันนั้น ก็มิใช่เสวยมันเพื่อจะมัวเมา แต่ให้มันเป็นบทเรียนบทหนึ่งของชีวิตตามเงื่อนไขของฮอร์โมนเพศ เพื่อจะเลื่อนวิวัฒนาการของชีวิตขึ้นไปเบื้องสูง
    ผู้รู้จริงจะแสวงหากาม ที่ประณีต กามประณีตมิได้หมายถึงให้มัวเมา แล้วมิได้หมายถึงกามที่หยาบโลน กามที่หยาบโลนจะเวียนกลับมาสู่กามไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนกามที่ประณีต หมายความว่า มีความรู้เรื่องกามที่แท้จริง จะต้องผนวกกับความรู้ทางศาสนาเท่านั้น เขาจึงจะได้ลิ้มรสของกามถูกต้อง ไม่ได้หมายถึงให้เลิก แต่อย่างไรก็ดี มีหนทางลัดสั้นสำหรับบรรพชิต หรือผู้ที่ประสงค์ทางลัด นั่นคือการขจัดออกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาตมภาพได้บอกแล้วว่า มันเจ็บแสบ แต่ในความเจ็บแสบนั้น มันให้ความรู้อย่างลึกซึ้งเหมือนกัน บรรพชิตหวังจะไปเร็ว ๆ จึงไม่เยื่อใยในกาม ต่อสู้กับความรู้สึกที่มันดำริไปในกามท่าเดียว เมื่อระงับที่ต้นเหตุมันได้ การประพฤติทางกายเพื่อกิจกรรมทางเพศจึงเป็นสิ่งไม่จำเป็นมากไปกว่านั้น บุคคลที่ได้เสวยปีติในสมาธิ จะเห็นกามเป็นเพียงขี้ฝุ่นหรือสิ่งไม่จำเป็น เพราะว่ากามมีความหมายอยู่ที่ปีติ เดี๋ยวนี้เราเข้าใจว่า กามเป็นเรื่องเอร็ดอร่อย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางเลี่ยงจากโทษของมัน หญิงชายสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน เพียงคิดว่าจะตักตวงรสอร่อยซึ่งกันและกัน นี่เข้าใจผิดต่อเรื่องกาม ส่วนกามที่แท้จริงนั้น ต้องหมายถึงการประพฤติถูกธรรมชาติด้วยความรู้ที่ถูกต้อง แล้วกามมีความหมายอยู่ที่ปีติ เพราะฉะนั้นการที่จะแสวงหากามโดยไม่ได้ปีติ นั่นคือการประทุษร้ายซึ่งกันและกัน เหมือนที่ซิกมันด์ฟรอยด์พูด นี่ถูกต้องแล้วว่า กามเป็นประทุษร้าย ส่วนกามที่ถูกต้องนั้น จะต้องมีความรู้ว่า มันมีเป้าหมายอยู่ที่ปีติ ในเมื่อสมาธิหรือในการงานบางชนิดมันให้ปีติ ซึ่งแสวงหาได้โดยวิธีลัดและประณีตต่อกาม ผู้ประสงค์ทางลัดจึงมุ่งเข้าไปโดยไม่ยอมมีสามี ไม่ยอมมีภรรยา เพราะว่าได้เสวยปีติที่เหนือกาม ประเสริฐกว่ากาม กามปีติหยาบคายกว่าปีติที่เกิดในสมาธิ ทั้งสมาธิที่ฝึกเข้าไปตรง ๆ และสมาธิในการงาน เพราะฉะนั้นอย่าเป็นห่วงนักว่า มนุษย์จะสูญพันธุ์ไป เพราะเดี๋ยวนี้ปัญหาของมนุษย์มันอยู่ที่มนุษย์กำลังจะล้นโลก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมเข้าไป เพื่อว่าช่วยลดจำนวนมนุษย์ นี่ก็ยังถูกในแง่หนึ่ง แม้ไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของการปฏิบัติธรรม แต่มันก็ยังถูกอยู่ดี
    ถาม ทำอย่างไรจึงแก้ปัญหาในเรื่องคอรัปชั่นในวงราชการได้ ตามความคิดเห็นของท่าน
    ตอบ ปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่สำคัญอยู่มาก ระบบการปกครองไหน ๆ ไม่ว่ามีอุดมการณ์ หรือปรัชญาการปกครองวิเศษขนาดไหน ไม่เคยประสบกับความสำเร็จ เพราะบุคคลไม่ซื่อต่อตัวเอง เพราะว่าไม่ได้คำนึงถึงวิธีพัฒนาบุคลากรในระบบปรัชญานั้น ๆ วิธีพัฒนาบุคลากรของพระพุทธองค์นั้นแตกต่างจากวิธีพัฒนาบุคลากรของสังคมสมัย ใหม่ แม้จะมีนักวิชาการสมัยใหม่บางท่าน มักจะนำคำสอนของท่านมาใช้ แต่ก็มักจะอธิบายคลาดเคลื่อนจากจุดมุ่งหมายเดิมอยู่เสมอ เช่นในเรื่อง อธิปไตย ๓ ซึ่งมักประณามว่า อัตตาธิปไตยนี้ใช้ไม่ได้ โลกาธิปไตยนี้ใช้ไม่ได้ ปรารภตัวเอง ปรารภโลก นี้ใช้ไม่ได้ ธรรมาธิปไตยเท่านั้น ใช้ได้ ข้อนี้มีความเข้าใจผิด จึงเป็นเหตุให้ลบหลู่ หรือละเลยต่อวิธีพัฒนาบุคลากรทั้งสาม ซึ่งใช้ได้ทั้งหมด ข้อนี้มีความหมายที่จะต้องพิจารณาใหม่ให้ดี
    อัตตาธิปไตย นั้นมีความหมายพิเศษว่า เมื่อผู้นั้นคำนึงถึงตัวเองว่า กำลังเป็นทุกข์ ลำบาก จึงขวนขวายประพฤติธรรม หรือแม้แต่เราท่านที่เป็นข้าราชการ เมื่อคิดว่าตัวเองยังมีฐานะมีรายได้น้อย ไม่พอ เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว ปรารภถึงตนขึ้นมา จึงปฏิบัติหน้าที่ให้ดีกว่าเดิม นี่ใช้ได้ ที่เขาถือว่าไม่ถูก เพราะไปอธิบายผิด พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดในฐานะของระบบการปกครอง แต่เป็นระบบพัฒนาบุคลากร
    ส่วนโลกาธิปไตย นั้น ผู้นั้นมิได้คำนึงถึงตัวเอง แต่คำนึงว่าผู้อื่นจะติเตียนเรา เช่น เรามีหน้าที่เป็นครู หรือเป็นอะไรก็ตาม บัณฑิตผู้รู้จะหมิ่นน้ำใจเอา จึงไม่ยอมให้ใครดูถูก ด้วยอำนาจของหิริโอตตัปปะ จึงมีกำลังประพฤติเข้าไปตามหน้าที่ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้ใช้ได้
    ส่วน ธรรมาธิปไตย นั้น ไม่ได้คำนึงถึงตนและผู้อื่น คำนึงถึงความถูกผิดของเหตุผลในตัวของมันเอง ใครติหรือไม่ติไม่สำคัญ ใครติ ใครชมไม่สำคัญ สำคัญที่ว่า ทำอย่างนี้ ผลอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ผลอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้น ธรรมาธิปไตยจึงเป็นวิธีพัฒนาบุคลากรที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้มิได้หมายถึง ๒ ข้อต้นนั้นไม่ดี
    เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย คงจะจับใจความได้แล้วว่า ผู้ที่คอรัปชั่นนั้น ไม่รู้จักการพัฒนาตัวเองอย่างถูกต้อง ไม่คิดถึงตน ไม่ได้คิดว่า บัณฑิตจะติเตียน ไม่ได้คำนึงถึงธรรมะที่เป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ทำตามสำนึกของมโนธรรมในแง่กุศล กลับยินดีในแง่อกุศล จึงเกิดการคดโกง เขยิบฐานะหรือรายได้โดยไม่พัฒนาตัวเองให้ดีโดยธรรม
    อธิปไตยทั้ง ๓ นั้น เป็นเรื่องการพัฒนาบุคลากร ไม่ใช่ระบบการปกครอง เมื่อเราไปตีความหมายเป็นระบบการปกครองเสียแล้ว จึงไม่เหลียวแลอธิปไตยต่อตัวเอง และดังนั้นมันจึงไม่สามารถมีบทบาทในชีวิตของแกชนคนหนึ่ง ๆ อย่างแท้จริง อธิปไตยทั้งสามนี้ถ้าจะพูดอย่างภาษานักวิชาการก็เรียกว่าเป็น Motive power ของชีวิต ในการหมุนหรือผลักดันชีวิตให้พุ่งไปในทางสูง ทางประเสริฐ อย่างถูกต้อง นึกถึงตนว่ากำลังทุกข์ รีบประพฤติธรรม นี่ถ้าเป็นภิกษุ ถ้าคำนึงถึงผู้อื่นก็คำนึงว่า ท่านที่เป็นพระอรหันต์ ผู้มี เจโตปริยญาณ <sup> *</sup> อาจจะล่วงรู้ความคิดเรา ถ้าเราดำริผิด ท่านจะติเตียนเอา ถ้าอย่างนั้น ผู้นั้นจึงเกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมา จึงรีบระงับความคิดเลวร้าย การพัฒนาบุคลากรทั้งหมดในกรณีนี้ มีฐานกำลังอยู่ที่หิริและโอตตัปปะ หมายความว่า ผู้นั้นต้องเกิดหิริปละโอตตัปปะ ละอายกลัวต่อบาป เดี๋ยวนี้เราไม่ได้พูดกันถึงสิ่งนี้ให้มากพอ เรากลับสนับสนุนหรือเห็นดีด้วยกับผู้ที่ร่ำรวย แม้จะผิดกฎหมาย หิริโอตตัปปะของพุทธธรรมไม่ได้หมายถึงว่า ฉันไม่ทำบาป เพราะกลัวคนอื่นด่าอย่างเดียว แม้ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ก็ไม่ทำ คือละลายใจตัวเอง หิริโอตัปปะเป็นอริยทรัพย์ เป็นความร่ำรวยอย่างยิ่ง ถ้ามีในหัวใจคนหนึ่งคนใด ถ้าลงบุคคลได้มีความร่ำรวยด้วยอริยทรัพย์นี้แล้ว เขาไม่คอรัปชั่นแน่ เพราะมันรวยอยู่แล้ว คือ อริยทรัพย์อันประเสริฐเกินกว่าจะลดลงไปแสวงหาทรัพย์อย่างโลกย์ ๆ ด้วยวิธีคดโกง
    <sup>*</sup> ญาณล่วงรู้ความคิดของผู้อื่นได้
    ข้อต่อมา การคอรัปชั่นคือไม่รู้จักสันโดษ เหมือนที่ท่านอาจารย์ถวิลได้อธิบายให้ฟังเมื่อตะกี้นี้แล้ว สันโดษแปลว่าความอิ่มใจ ไม่ได้แปลว่าความมักน้อย ความมักน้อยเป็นอีกคำหนึ่ง คือ อปฺปิจฺฉตา เป็นคุณของนักบวช นักบุญ หรือผู้ประสงค์ประพฤติธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะสันโดษ หมายความว่า พอใจทุกระยะที่ได้มา แม้น้อยก็พอใจ ปีนี้ได้เงินเดือนเท่านี้ ยินดีอิ่มเอิบ เกิดกำลังใจทำงาน ปีหน้าเพิ่มขึ้น ยินดีภาคภูมิ คนที่ชื่นชมยินดีต่อผลงานของตัว จิตที่คดโกงมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายที่เป็นห่วงว่า ขืนสันโดษประเทศชาติจะล่มจมแล้ว มันตรงกันข้าม ถ้าสันโดษประเทศชาติจะเจริญอย่างถูกต้อง ไม่มีคอรัปชั่น ข้าราชการที่คอรัปชั่น เพราะไม่สันโดษ หาช่องทางลัด ชนิดคดโกงเพราะจิตใจไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักอิ่มหมายความว่า มันเป็นโมหะชนิดหนึ่ง เช่น เราฝันที่จะรวยโดยไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย หรือลงมือทำ แต่ด้วยอาการคดโกงความฝันว่าจะรวยเป็นความเหน็ดเหนื่อยขึ้นในตัวของมันแล้ว ส่วนที่ผู้รู้นั้นไม่ต้องฝันหวาน แต่เขารู้ว่า การทำความอิ่มใจทุกขั้นตอนนั่นแหละจะเป็นตัวการกำหนดความสัมฤทธิผลในบั้น ปลาย และเป็นการเสวยผลเสร็จไปแต่ต้นมือด้วย ท่านเหลาจื๊อ พูดคำขบขันคำหนึ่ง บัณฑิตผู้รู้แจ้งแสวงหาแต่อาหารใส่ท้องเท่านั้น ฟังดูขบขัน คล้าย ๆ คนที่ประพฤติเช่นนั้นเป็นคนโง่ หาแต่เรื่องกิน โดยเนื้อแม้นั้น คือ จิตใจมันไม่โลภ ไม่คิดจะสะสม วันหนึ่ง ๆ ก็พอได้เยียวยาอัตภาพร่างกายนี้ ไม่ต้องการอะไรอีก ส่วนเราท่านที่เป็นผู้ต้องแสวงหาเพราะยังมีภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว หรือต่อพ่อแม่ ก็ต้องขวนขวายหาทรัพย์ไปตามความจำเป็น แต่ด้วยการดำรงจิตอย่างถูกต้อง คือแสวงหาโดยสันโดษ
    พระพุทธเจ้าท่านได้จัดระบบเศรษฐกิจของครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจที่สุด ซึ่งถูกมองข้ามความสำคัญไปอย่างน่าใจหาย ท่านสอนเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขาเป็นพ่อค้าว่า ถ้าเธอได้มา ๔ ส่วน กิน ๑ ส่วน ซึ่งเมื่อเทียบส่วนแล้วน้อยมากของรายได้ และเก็บเป็นเงินสะสมอีก ๑ ส่วน ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินป่วยไข้ ๒ ส่วน ลงทุนกิจการค้าเป็นเงินหมุนเวียน และให้ทำเช่นนี้เรื่อยไป ด้วยสัดส่วนนี้ รายได้ก็จะเพิ่มขึ้น เงินสะสมก็จะเพิ่มขึ้น รายจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามส่วน ถ้าทำอย่างนี้จะเกิดหลักประกันในชีวิตอย่างแน่นแฟ้นที่สุด และจิตใจจะพบสันติสุข คุณค่าใด ๆ ที่เกินสันติสุขไม่มีในโลกนี้ เพราะว่าสันติสุขนั่นแหละเป็นเป้าหมายของชีวิต ความปั่นป่วนเป็นอุปสรรค สังคมใดปั่นป่วนไปด้วยเรื่องคอรัปชั่น เรื่องความขัดแย้ง แสดงว่าสังคมนั้นยังอยู่ในช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่บรรลุเป้าหมาย ข้อสำคัญ ท่านอย่าหลงเอาปรากฏการณ์วูบวาบของความขัดแย้งว่าเป็นเป้าหมายเสียก็แล้วกัน เพราะเดี๋ยวนี้ เราได้ยินพูดกันบ่อยว่า นี้แหละคือประชาธิปไตย ได้โต้กันมาก ได้เดินขบวนกันมาก นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย นี่เป็นความเปลี่ยนแปลง ส่วนเป้าหมายคือ สันติสุข คือเกิดการตรึงสันติภาพช่วงนานที่สุดในสังคม การตรึงสันติสุขให้เกิดในสังคมช่วงนาน ชื่อว่า วิมุตติของสังคม ส่วนวิมุตติของเอกชน หมายถึงการพ้นจากความเป็นทาสของอายตนะ พ้นจาก Dimension ทั้ง ๔ ไม่ตกเป็นทาสของปรากฏการณ์อีก แต่ยังอาจเสวยผล คือมีความสุขได้ตามที่อิสรภาพในภายหน้าจะอำนวยให้
    ถาม กระผมได้ฟังคำบรรยายมาตลอด พอจะทราบว่า เป็นคำสอนให้บุคคลหลุดพ้นจากความยึดมั่น ถือมั่น และดูเหมือนว่ามีผู้สนใจปฏิบัติจริง ๆ น้อย เพราะสังคมของคฤหัสถ์ก็ไม่สามารถเอื้ออำนวยได้ แต่กระผมอยากทราบแนวทางการปฏิบัติ ขอความกรุณาชี้แจงแนวทางบ้าง
    ตอบ ไม่ใช่เหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น ที่จะอ้างว่าไม่เห็นมีใครปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ฉันก็จะไม่ปฏิบัติ ความคิดอย่างนี้คับแคบ ส่วนความหมายของความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น ไม่ได้หมายถึงการหนีโลก ไปอยู่ถ้ำ หรืออยู่รู ให้พ้นจากสังคม ไม่มีที่ไหนจะหนีจากสังคมได้ เพราะ สังคมและเอกชนแยกกันไม่ได้เลย สังคมเป็นพฤติกรรมรวมของมนุษย์ และมันเป็นเพียง Concept ของเอกชนที่รู้สึกผูกพันอยู่กับสังคม ถ้าสมมติว่ามีโยคีหรือภิกษุรูปหนึ่งหนีไปอยู่ถ้ำคนเดียว แต่จิตกรุ่นไปด้วยเรื่องราวในสังคม คิดอะไรครุ่นอยู่นี้ นี่คือพาสังคมไปเก็บอัดไว้ในอกของตัวด้วย
    ในทำนองตรงกันข้าม ผู้หนึ่งผู้ใดเกิดจับเงื่อนต้นของการเกิดปัญหา ที่ตา ที่หูได้แล้ว เขาก็เกิดวิเวกอยู่ในความสับสนนี้นี่เอง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น คือ การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ ในขณะไม่ว่าเขาอยู่คนเดียว หรือในท่ามกลางผู้คน และกิจกรรมภายนอกอันสับสนอยู่ด้วยการงาน ความไม่ยึดมั่นที่แท้จริงนั้น ไม่ได้หมายถึงการไม่ทำอะไร แต่เป็นการทำอย่างยิ่ง คือทำด้วยสติสัมปชัญญะ และความรู้อันสุดยอด ทันทีที่ตาเห็นรูป เมื่อเกิดจะยินดียินร้ายขึ้นมาก็สลัดออกไป ให้เหลือแต่จิตที่ว่างโปร่ง จิตที่ว่างโปร่งนั่นแหละ จะตัดสินการงาน หรือวิถีทางของชีวิต ให้ประสบสันติสุขตั้งแต่ลงมือทำงาน และถึงที่สุดของการทำงาน เป้าหมายและเครื่องมือจะต้องเป็นสิ่งเดียวกันตั้งแต่ต้น
    การทำงานด้วยการทุ่มเทพลังจนทำให้ชีวิตสับสน แม้ว่าอาจบรรลุถึงผลได้ นี้ก็ยังต้องถือเป็นโมหะชนิดหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่า ท่านทั้งหลายจะทุ่มกำลังเพื่อหาเงินให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้รับความสงบสุข ยอมลงทุน ลำบากตัวเป็นเกลียว แต่ไม่มีหลักประกันไหนที่จะค้ำประกันได้เลยว่า พรุ่งนี้ท่านจะได้อยู่บริโภคผลมัน เพราะท่านอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น เป้าหมายก็ไม่ได้บรรลุถึง การทุ่มลงทุนนั้นก็เป็นโมฆะ เป็นความสูญเปล่า ฉะนั้น ฉับพลันที่ลงมือทำงาน จงทำจิตใจให้ไม่ยึดถืออะไรทั้งสิ้น นั่นคือบรรลุถึงเป้าหมายของงานในขณะที่ลงมือทำงานนั้นนั่นเอง
    อย่าฝากชีวิตบนความหวัง อย่าฝากชีวิตบนความเพ้อฝัน หรือความที่อาจจะเป็นหรืออาจจะได้อะไร ๆ มา นอกจากจิตที่ว่างโปร่งนั่นเอง เพราะมันเป็นผลอยู่ในตัวแล้ว และจงยืนชีวิตลงบนที่นี่และเดี๋ยวนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทุกขณะทุกขณะ เพราะไม่มีใครค้ำประกันได้ว่า ชีวิตจะล่วงลับไปเมื่อไร ฉะนั้นจะรีบเสวยผลในตัวชีวิตเอง อย่ากังวลถึงปัจจัยภายนอกมากมายนัก เงื่อนไขของการดำรงชีวิตทางร่างกายมีเพียงเล็กน้อย เพียงแต่เรื่องกินเพื่อยังอัตภาพได้ ส่วนจิตใจนั้นจะต้องเสวยรสของวิมุตติ คือ อิสรภาพในภายใน นั่นคืออาหารของชีวิตแท้
    เพราะฉะนั้นเอง คำถามที่ท่านถามมานี้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวสังคม สังคมเป็นปรากฏการณ์ของการสืบต่อของเหตุการณ์ของ Concept ร่วมสมัยและถ่ายทอดกันไป แต่เอกชนจะต้องล่วงลับไปตามกาลอันจำกัด เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงสังคมมากมายนัก แต่มุ่งเข้าไปที่ปัญหาส่วนตัว แล้วมันผลิตผลเป็นการแกปัญหาของสังคมไปในตัวด้วยเบ็ดเสร็จ แต่ข้อนี้มิได้หมายความว่า อาตมภาพไม่เป็นด้วยกับการกระโจนเข้าไปช่วยสังคม แต่เพื่อที่จะช่วยสังคมได้ดี จำเป็นที่บุคคลต้องรู้จักตัวเองเป็นปฐม ถ้ายังไม่รู้จักตัวเองจะช่วยสังคมได้อย่างไร คนตาบอดจะไปจูงคนตาบอด มิพากันตกเหวไปด้วยกันละหรือ ด้วยเหตุนั้น ความรู้จักตัวเองชัดเจน รู้จักความปรารถนาของตัวเอง รู้จักปัญหาที่ตัวเอง แล้วจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ได้ และเข้าใจว่าสังคมนี้ มันเป็นปรากฏการณ์ของอะไร เพราะมันเป็นเพียงปรากฏการณ์ของการแสวงหา
    การแสวงหากาม การแสวงหาเกียรติยศ การแสวงหาพรหมจรรย์ คือความหลุดพ้น ในขณะที่คนหนึ่งกำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า เพียรทำสมาธิภาวนาที่จะบรรลุถึงวิมุตติ ส่วนที่ในตลาด ในบาร์ ในไนท์คลับ พวกหนึ่งแสวงหากามอยู่ และอีกพวกหนึ่งกำลังนอนไม่หลับด้วยความเครียดที่ถูกหลู่เกียรติ และดิ้นรนแสวงหาเกียรติของตัวให้เพิ่มขึ้น
    สังคมมนุษย์ไม่มีอะไรมากกว่าปรากฏการณ์ของการแสวงหา ถ้าการแสวงหานั้นมีอวิชชาเข้าครอบงำ ปราศจากความรู้ ความมุ่งหมายของชีวิต คือสันติแล้ว การแสวงหานั้นจะนำไปสู่วิกฤติการณ์ คือ การปะทะกัน เพราะเมื่อแสวงหากาม ก็ได้กามบ้างตามกำลัง เมื่อได้ก็ตกลงใจ วินิจฉัยใสใจเคล้าเคลียอยู่ในกาม หรือเกียรติ หือแม้แต่คุณงามความดีที่ตนแสวงหาเอามาได้ เมื่อตกลงใจก็เกิดฉันทราคะ รักกามและก็เกิดสยบ และยึด และตระหนี่กาม ตระหนี่เกียรติ ตระหนี่คุณงามความดี ไม่อยากให้ใครได้ดีเท่าตัว แม้ในเรื่องคุณงามความดี เมื่อตระหนี่ก็หวงแหนป้องกัน เมื่อป้องกันก็ปะทะกับผู้อื่น ซึ่งป้องกัน กาม เกียรติ หรือคุณงามความดีของเขาเหมือนกัน
    รากเง่าของความสับสนของสังคมอยู่ที่การแสวงหาอย่างผิด ๆ และค่อนข้างลึกลับซับซ้อน ไม่รู้ว่าเขาแสวงหาอะไร เขาอาจจะพูดว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้แทนของราษฎร แต่ในส่วนตัวเขาอาจจะเป็นผู้แทนของลูกเมียเขาก็ได้ นี่เกิดการคอรัปชั่นแล้ว นี้เป็นความจริงหรือไม่ เขาอาจจะพูดว่า ข้าพเจ้าเป็นบรรพชิตผู้แสวงหาพรหมจรรย์ แต่ลึก ๆ อาจจะแสวงหากาม นี่คือสังคมที่ปกปิดไม่เปิดตัว เมื่อสังคมใดเกิดเปิดตัว ผู้ใดจะแสวงหากาม ก็จงหาความรู้ให้ถูกต้อง แล้วจงหากามเถิด จะได้ไม่เกิดปะทะกับผู้อื่น ผู้ใดแสวงหาเกียรติยศ จงแสวงหาเกียรติยศที่แท้จริง เพื่อจะได้ไม่ปะทะกับผู้อื่น ผู้ใดแสวงหาพรหมจรรย์ คือ ทางรอด จงแสวงหาเถิด ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ต้องมาปะทะกัน เพราะฉะนั้น การแสวงหาจะต้องถูกเปิดโล่ง คือเปิดใจออกมา ท่านแสวงหาอะไร จงแสวงหาสิ่งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมจะไม่มีการระแวงซึ่งกันและกัน
    เดี๋ยวนี้สังคมบ้านเรา เมืองเรา กำลังถูกหว่านโปรยด้วยผงพิษของความเกลียดชังและระแวง ขอให้ไปดูให้ดี ๆ แต่เดิมสังคมเราได้ถูกบรรยากาศของความรักห่อหุ้มอยู่ นั่นคือเสียงที่เปล่งว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อย่ามีเวรมีภัยซึ่งกันและกันเลย นี่คือบรรยากาศแห่งความรัก ความปรารถนาดี
    เมื่อพระภิกษุฉันอาหาร มื้อหนึ่ง แล้วก็ให้พร ในพรเหล่านั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำแห่งความรัก เมตตา ปรานี เป็นเครื่องหมายของความปรารถนาดี สังคมแต่เดิมจึงไม่มีความระแวง ไม่มีความชิงชังกันเกิดขึ้น เดี๋ยวนี้ขอให้ไปดู เขาต้องการตอบสนองอารมณ์ร้ายของตัว แม้จะยกความรัก เมตตาขึ้นมาก็ตาม เพราะการทำชนิดนั้นเป็นการสร้างบรรยากาศให้เกิดความเกลียดชัง ให้เกิดขึ้นในหัสใจของคนไทย ตราบใดมีความเกลียดชังแพร่ระบาดอยู่ ตราบนั้นสังคมไม่มีวันสงบ
    ด้วยความรักเมตตาเท่า นั้น มนุษย์จึงจะเป็นมนุษย์ได้ ด้วยการบีบบังคับเบียดเบียน มนุษย์ไม่มีทางเป็นมนุษย์แล้วจะตกต่ำยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นสังคมกำลังวิกฤติ จงเพ่งพินิจเข้าไปในตัวเอง มีความแจ่มแจ้งเท่าใด รีบช่วยสังคมเท่านั้น อย่ามึนงง อย่ามัวลังเล ลองพิสูจน์ความรู้ของตัวด้วยอำนาจของความรัก พิสูจน์ความรักด้วยการกระทำ ไม่ใช่ฉันรักชาวนา ฉันรักคนจน เห็นใจคนยากแล้วไม่ได้กระทำอะไร นี่ไม่ใช่ความรัก พิสูจน์ความรู้ด้วยความรักและพิสูจน์ความรักด้วยการกระทำ และพิสูจน์น้ำใจในการอดทนกระทำจนกว่าสัมฤทธิผล
    ถาม ผู้ที่เข้าใจธรรมะ จะให้ความเป็นธรรมแก่สังคมเพียงใด
    ตอบ อาตมภาพได้ตอบแล้ว จากคำถามของท่านที่ถามมาก่อนหน้านี้
    ถาม ในสังคมปัจจุบัน ทำไมจึงมีพวกมีพ้อง เล่นพวกเล่นพ้อง ไม่คำนึงถึงธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ ได้สอนไว้ ให้รักใคร่ซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนกัน
    ตอบ อาตมภาพก็ตอบแล้ว หากพวกพ้องเกิดจากการร่วมแสวงหากาม แสวงหาวัตถุกามอย่างโง่เขลาเกินความจำเป็น และแสวงหาเป็นทีม
    ถาม คนทำดีไม่ได้ดี คนทำชั่วได้ดี หมายถึงอะไรครับ ผิดกับพระพุทธเจ้าท่านได้กล่าวไว้หรือไม่ เพราะเหตุใด
    ตอบ อันนี้ค่อนข้างขบขัน เพราะว่า คราวหนึ่ง พระพุทธองค์เคยเสด็จไปล้อเลียนพวกที่สอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เหมือนกัน มีพวกลัทธิหนึ่งสอนว่า คนทำชั่วทุกคนต้องตกนรก ทำดีทุกคนต้องขึ้นสวรรค์ พระพุทธองค์ท่านทรงเสด็จไปล้อเลียนว่า เธอเชื่ออย่างนั้นรึ เขายืนยันว่า จริง คนทำดีต้องขึ้นสวรรค์ทั้งหมด ชั่วต้องตกนรกทั้งหมด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เธอเคยเห็นไหม คนที่ไปกระทำชู้กับภรรยาของศัตรูของพระราชา กลับได้ดี เคยเห็นไหม นี่มันเลว แต่ทำไมจึงได้ดี ที่นี่คนทำดี บางคนเกิดได้เลวขึ้นมา เธอไม่เห็นรึ เดียรถีร์พวกนั้นจึงเงียบงันอยู่
    คำถามนี้ช่างถามเหมือนที่พระพุทธองค์เคยล้อเลียน แล้วที่ขบขันสองต่อ คือว่า เขาเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยประการเดียวเสียอีก แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ว่า ทำดีนั้นดี ไม่ใช่ได้ดี ดีทันทีที่ตัดสินใจทำ เมื่อมโนกรรมเกิดขึ้นมา ที่เป็นฝักฝ่ายของเจตนาอันเป็นกุศล มันดีเสร็จเดี๋ยวนั้นแล้ว พอทำชั่วก็ชั่วเสร็จเดี๋ยวนั้น สวนผลทางกาย ทางวาจาที่จะเกิดขึ้นนั้น อันนี้แล้วแต่ปัจจัยภายนอกด้วย สมมติว่า เราเห็นหญิงกับชายคู่หนึ่ง กำลังยื้อแย่งด่าทอตบตีกันอยู่ เราเข้าใจว่า เขาจะฉุดคร่ากัน ไปชกหน้าผู้ชายเข้า แต่ปรากฏว่า ชายนั้นเป็นสามีของหญิง ทั้งคู่ก็หันมารุมกัน ตีเรา นี่มันได้เลวขึ้นมาแล้ว แต่จิตที่ดำริจะช่วยนั้นเป็นความดี ฉะนั้นทำดีต้องดีแน่ ส่วนผลทางกายอีกเรื่องหนึ่ง
    อีกปัญหาหนึ่ง เดี๋ยวนี้เราบอกว่า ทำดีหมายความว่า เราต้องได้ดีทางวัตถุด้วย หมายความว่า ถ้าฉันทำดี ต้องเอาเงินมาให้ฉันซิ ถ้าอย่างนั้น บางทีไม่ได้จริง แต่ตีความหมายว่า ถ้าทำมโนกรรมอันเป็นกุศล ผลแน่นอนที่สุดคือความดีในขณะนั้น พอคิดเลวเท่านั้น จิตใจเต้นระรัว คิดจะฆ่าเขา มันก็ตกนรกทันทีนั้นเลย ที่นั่นแหละ เดี๋ยวนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสถูกต้อง เหมือนบรรพบุรุษของเราได้สืบต่อกันมาว่า สวรรค์อยู่ที่อก นรกอยู่ที่ใจ พอคิดดี สวรรค์ก็เกิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นแล้วซึ่งสวรรค์ที่สัมผัสทางอายตนะ พอเริ่มคิดดี สวรรค์เกิด สบายอกอิ่มเอิบขึ้นมา พอคิดเลว ผลุง ลงนรกเดี๋ยวนั้น ที่ตรงนั้น ทั้ง ๆ ที่ผูกเน็คไท เต้นรำกันอยู่ในสโมสร
    อีกแง่หนึ่งของการทำดี ได้ดี ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า เมื่อบุคคลหนึ่งทำดีมาแต่ต้น เมื่อภายหลังสมาทานมิจฉาทิฏฐิ ถ้าอย่างนั้น คนนั้นลงนรก ทำดีเรื่อยมา ครั้งสุดท้ายมากลับทำเลวเสีย เราเห็นคนประชดประชันหลายคน ฉันทำดีเกือบตาย ไม่มีใครรู้ใครเห็น ทีนี้จะทำชั่วมันเสียเลย ถ้าอย่างนั้นลงนรกแน่นอน นรกที่นี่ เดี๋ยวนี้ คือจิตที่เร่า ๆ รัว ๆ อยู่ด้วยความเร่าร้อน ทีนี้ฝ่ายคนที่เคยทำเลวเป็นพาลมิจฉาทิฏฐิ ครั้งสุดท้ายสำนึกขึ้นมาลึกซึ้ง สมาทานสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ สุคติมีสวรรค์เป็นเป้าหมาย จะพูดว่า คนทำดีขึ้นสวรรค์หมด นี้ไม่ถูก มันขึ้นอยู่กับว่า ครั้งสุดท้ายเขาตัดสินใจสมาทานทิฏฐิอย่างไร บางทีคนที่ทำเลวมาก จะมีสำนึกถูกก็มี แต่ไม่ใช่มีบ่อยนัก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การทำความดีไว้ก่อนเป็นปลอดภัยแน่
    พระคริสต์ทรงตั้งปัญหาขึ้นถามแก่สาวกของพระองค์ท่านว่า ยังมีชาย ๒ คน เป็นลูกหนี้ คนหนึ่งเป็นหนี้ ๕๐๐ บาท คนหนึ่งเป็นหนี้เขา ๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อเจ้าหนี้คนเดียวกัน ตัดสินใจยกหนี้ให้ทั้งคู่ คือไม่เอาคืนแล้ว เจ้าทั้งหลายคิดว่า ลูกหนี้คนไหนรักนายที่สุด สาวกของพระองค์ก็ทูลว่า ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ ๑๐,๐๐๐ บาท เพราะเป็นหนี้เหลือเกิน แทบจะชดใช้ไม่ไหว เมื่อถูกยกหนี้ ต้องรักนายมาก พระคริสต์ท่านตรัสว่า ฉันใด คนที่เคยเลวทรามมากมาก่อนนั้นเมื่อเกิดเปลี่ยนแปลงสำนึกบาปได้แล้ว เกิดซาบซึ้งในพระธรรมขึ้นมา ผู้นั้นจะได้รับรางวัลลึกซึ้งและรักธรรมะที่สุด พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า บุคคลที่เคยเลวทราม เป็นคนชั่ว เมื่อสำนึกได้แล้ว ประพฤติธรรม ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวดุจพระอาทิตย์ฉายแสงขึ้นในท่ามกลางความมืด เราพบความจริงว่า คนเลวเมื่อกลับตัวได้ คนนั้นแหละจะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ที่สุด บางทีเข้าใจยิ่งกว่าคนดี เพราะว่าเขาเคยผจญกับความชั่ว จนกระทั่งเห็นโทษของมันอย่างลึกซึ้งมาแล้ว แต่ข้อนี้มิได้เป็นหลักตายตัว เพราะว่าคนที่ดีกลับดีสูงกว่าคนที่ชั่วแล้วกลับดี ก็มีเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น ข้อสำคัญมันขึ้นกับ สัมมาทิฏฐิ ไม่ว่าเขาเคยเลวหรือดีมาก่อน
    ถาม โลกุตระมีส่วนเกี่ยวข้องกับมิติที่ ๔ อย่างไร ขอได้โปรดอธิบาย
    ตอบ ขอให้ทราบว่า คำว่า มิติที่ ๔ นั้น มันรวมอยู่ในคำว่า Dimension คำเดียว มิติที่ ๔ นั้นไม่แยกออกจากกัน แต่เดิมมีความเข้าใจผิดจากแนวโน้มของทฤษฎี Newtonian เท่านั้น แนวโน้มที่เข้าใจว่า Space กับ time แยกกันอยู่ เห็นว่า เวลา ไม่เห็นเกี่ยวกับขนาด นั่นคือความเข้าใจผิด จึงเรียกมันว่า Space and Time ต่อมาไอน์สไตน์ได้พิสูจน์ Space และ time แยกจากกันไม่ได้ เวลาไม่สามารถแยกจากขนาดได้เลย จึงเรียกมันว่า Space-time
    ในกรณีนั้น อาตมภาพหมายถึงว่า ขณะที่ตากระทบรูป แล้วเกิดคุณค่าหนึ่งขึ้นแล้วจะเป็นคุณค่าที่ไม่เที่ยง แปรไปและเมื่อกระทบกับอีกที่หนึ่ง ก็แปรไป ค่าของคนจึงมีชั่วขณะ เพระฉะนั้นก่อนหน้าที่ท่านทั้งหลายจะเข้ามานั่งในที่นี้ ไม่ใช่คนเดียวกับที่นั่งอยู่ที่นี้ ค่าของคนขึ้นอยู่กับความคิดที่ละ ขณะ – ขณะ – ขณะ – ขณะ นี้โดยหลักของพุทธธรรมเรียกว่า ขณิกวาท เรื่องทุกเรื่องต้องตัดสินเป็นขณะ
    เมื่อเป็นเช่นนี้ อาตมาจะชี้ให้เห็นว่า โลกุตตรมิได้หมายถึงมิติที่ ๔ เพราะโลกุตตรเป็นอกาลิโก มิติที่ ๔ หมายถึง เวลา อกาลิโก แปลว่า พ้นจากเวลา เวลาไม่มีผลบีบบังคับผู้นั้นได้ เมื่อเวลาบีบคั้นไม่ได้ ก็อาจเรียกว่าเป็นอมตะ เหนือกาละ ทุกศาสนาจะชี้ไปที่นี้ พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ที่อยู่เหนือกาล เพราะเป็นผู้สร้างกาลเสียเอง ขอให้ท่านทั้งหลายไปอ่านคัมภีร์ไบเบิลเล่มต้น ๆ ชื่อเยนิซิส พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างกาลเวลา ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอยู่ใต้กาลเวลา นั่นไม่ใช่พระเจ้าจริง ไม่ใช่สัจจะ
    โลกุตตระ หมายถึงสภาวะที่ไม่มีอะไรบีบคั้น เหนือโลก พระอรหันต์ทั้งหลาย Space ไม่มีบทบาทกับท่าน วิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมคำนึงถึง Space วิชา Drama หรือละคร คำนึงถึง Space and time มากที่สุด แต่ว่าคุณค่าที่เกิดขึ้น เป็นความงามด้านสุนทรียะ หรือแม้แต่ความหวาดกลัว หรือโรคกลัวความสูง หรืออะไรเหล่านั้นที่คนทั้งหลายเป็น ไม่เป็นแก่พระอรหันต์ ท่านไม่กลัว ความสูงและ Space ทางสถาปัตยกรรมไม่อาจมีผลกับท่านได้ แต่มิได้หมายความว่า ท่านไม่มีสุนทรียารมณ์ สุนทรียะของนักสุนทรียะหรือศิลปิน หมายเพียงคุณค่าที่เกิดจาก Concept ที่เราว่ามันสวย เช่น นกกำลังบิน แสงแดด สายลม ล้วนขึ้นกับ Concept ของความเคยชิน ที่เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นความสวยงาม
    แต่ความงามที่พระ อริยเจ้าท่านเห็นนั้น เป็นความว่างจากความงาม ซึ่งลึกซึ้งและอิสระ เราจะพบว่าสุนทรียารมณ์นั้น ยังต้องถูกกระตุ้นจาก time-space นั่นเอง เมื่อเราไปดูละคร ฉากและสีของละคร ช่วงระยะเวลาที่เขากำหนดอารมณ์มาพอดิบพอดี ถ้านานเกินไปไม่มีผล เช่นบทโศกที่นานเกินไป บางทีอาจจะกลายเป็นขบขัน ซึ่งผู้กำกับที่ดีเขาจะรู้เคล็ดเรื่องนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีอิทธิพลสำหรับท่านผู้แจ่มแจ้งต่อธรรมะ
    เรื่องนี้ขอให้ท่านทั้งหลายไปสังเกตดูเอาเองให้ดี เพราะว่าธรรมชาติของใจนั้น มันหลุดพ้นอยู่ในตัวของมันเองในบางขณะ ข้อนี้ท่านทั้งหลายอาจไม่เคยได้ยิน
    พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสว่า จิตนี้ประภัสสร ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้หลุดพ้นได้ในตัวเอง ซึ่งเป็นการหลุดเฉพาะคราว เฉพาะสมัย ทุกคนลิ้มรสของ timeless ได้ แม้ไม่ถาวร ส่วนพระอรหันต์นั้นเด็ดขาด สิ้นเชิง ถาวร ตายตัว ส่วนเราท่านทั้งหลาย ผู้กำลังฝึกฝนในวิถีทางนั้น พึงสังเกตให้ดี ในบางขณะ จิตมันว่างวูบลงไป บอกไม่ถูกว่ามันความสุข หรือเป็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่ไม่มีปัญหา แม้แต่ความกลัว ความกังวลเรื่องอนาคตก็ไม่มี อดีตอนาคตไม่มีความหมายอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าลืมตัว เช่น ไปนั่งริมห้วย ริมบึง หรือริมทะเล พาลูกเมียไปนั่งอยู่ด้วย แต่จิตใจมันโล่งโถง ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ยังจำชื่อตัวเองได้ ยังจำชื่อเมียชื่อลูกได้ แต่ไม่เป็นทุกข์ นั่นแหละคือภาวะที่พอจะเปรียบเทียบได้ถึงวิมุตติ ซึ่งทั้งนี้เป็นเพราะความประจวบเหมาะของหลายเรื่องพอดีกัน เช่น ร่างกายปกติ ไม่มีอะไรมารบกวนจิตมากนัก จิตก็ว่างวูบลงไป ส่วนการกระทำสมาธิ จะชิมรสเรื่องนี้ได้ง่ายดาย สำหรับผู้ที่ชำนาญ
    แต่วิมุตติที่สิ้นเชิง ต้องหมายถึงสิ้นอาสวะ คือเข้าใจที่ถูกต้องต่อธรรมชาติที่เห็นชัดเจนว่า ไม่มีฉัน ฉันเป็นเพียงโมหะชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้น เนื่องจากประสงค์จะตรึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดให้อยู่ เมื่อสิ่งทั้งปวงเป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แต่มันอยากให้อยู่นาน ความอยากจึงสร้างผู้อยากขึ้นมา ผู้อยากคือฉัน จะเอาอย่างโน้น จะเอาอย่างนี้ เรียกว่ามีอุปาทานแล้วสร้างภพ คือความรุ้สึกว่าเป็นฉันขึ้นมา
    ที่ว่าความอยากสร้างผู้ อยากนั้น ท่านทั้งหลายคงจะรู้สึกขัดแย้งว่า มันฝืนความรู้สึกสามัญ เพราะรู้สึกว่า ฉันเป็นผู้อยาก แต่ถ้าโดยหลักพุทธธรรม หรือโดยธรรมชาติแล้ว ความอยากสร้างผู้อยาก และมันส่งเสริมวัฏฏะซึ่งกันและกัน ก็คือว่า เมื่อผู้อยากเกิดขึ้นมันก็สร้างความอยากให้แรงขึ้นอีก
    อาตมาขออุปมาถึงเทียนไขที่เราจุดเปลวมันขึ้น ถ้าตามธรรมดาก็คิดว่า เปลวเทียนไหม้แท่งไขให้ละลาย เปลวเป็นผู้กระทำ แท่งไขเป็นสิ่งที่ถูกกระทำ แต่ขอให้ท่านทั้งหลายวกดูอีกซีกวงจรหนึ่ง แท่งไขจะละลายเท่าใด มันย้อนไปกระทำเปลวเทียนลุกโชติช่วงขึ้นเท่านั้น นี่มันวนเวียนสนับสนุนกันเช่นนี้ ความอยากสร้างผู้อยาก ผู้อยากเกิดขึ้นเมื่อใด เร่งความอยากขึ้นเท่านั้น และเวียนกันขึ้นเรียกว่า วัฏฏะ
    การตัดวงจรหมายความว่า พอความอยากเกิดขึ้น รีบระงับลง ผู้อยากจะระงับลง ผู้อยากเป็นเพียงความเข้าใจผิด และมันเป็นเพียงกระแสสืบเนื่องกัน สิ่งที่ถูกสังเกตไม่ได้แยกจากผู้สังเกต เป็นปฏิกิริยาเนื่องถึงกันและกัน ถ้าจับเคล็ดเรื่องนี้ได้แล้ว ท่านจะเข้าใจถึงอริยธรรมชั้นลึก ไม่ใช่มนุษย์กำกับหรือกำหนดขึ้น คือว่าผู้อื่นหาได้แยกจากตัวไม่ ผู้อื่นกับตนหาได้แยกจากกันไม่ สัมพันธภาพของบุคคลในสังคมนั้นเหมือนกระจกเงา ๒ บาน ที่สะท้อนภาพเข้าหากัน กำหนดค่าของกันและกัน ไม่ว่าเป็นความรัก ความเกลียด มิตร หรือศัตรู จึงเกิดความรู้สึกที่ไม่สิ้นสุด เราคิดออกไม่สิ้นสุด แต่ถ้าเราหันมาเฝ้าดูที่ต้นตอแล้ว เราจะพบว่า ความอยากสร้างผู้อยาก เมื่อระงับความอยากได้ ผู้อยากจะไม่มี เมื่อผู้อยากไม่มี อิสรภาพจากการถูกกำหนดจะเกิดขึ้น
    และนี่ก็เป็นปัญหาที่แท้ จริง ซึ่งเกิดขึ้นได้ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเกิดจากสุตะ เรียนมาก การเรียนมากเป็นการยั่วยุอายตนะ คนที่มีความรู้มาก มักจะสร้างปัญหา คือเห็นแก่ตัว สังคมเราจะเกิดเป็นสังคมที่แบ่งชั้นว่า ถ้าฉันรู้มาก ฉันต้องได้เงินเดือนสูง ถ้าฉันฉลาดมาก ฉันต้องเหนือกว่าเธอในฐานะ แต่ถ้าโดยสำนึกทางด้านมโนธรรมแล้ว ผู้ฉลาดมากควรจะจนกว่าคนที่ไม่ฉลาด เพราะมีปัญญาพอที่เลี้ยงตัวเองได้ แต่คนที่ด้อยกว่า ต้องเป็นผู้ที่ควรถูกสงเคราะห์ ส่วนความรู้อีกระนาบหนึ่ง
    อาตมาใช้คำว่าระนาบ หมายความว่า มันคนละทางกับความรู้อย่างโลกย์ ๆ คือความรู้ในการดับอายตนะ สำรวมลงให้ดี เกิดญาณทัสสนะขึ้น มันเริ่มเห็นสิ่งทั้งปวงเองตามที่เป็นจริง และเป็นอยู่เอง เริ่มจัดหมวดหมู่ของสิ่งทั้งปวงเองโดยอัตโนมัติ เช่นเห็นอะไร เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางตา เห็นเสียง เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางหู และจะเห็นว่า เสียงกับความเงียบแยกกันอยู่ เมื่อขณะที่มีเสียงเกิดขึ้น ความเงียบก็มิได้หายไป จนกว่าเสียงจะค่อยลง ๆ แล้วความเงียบจะดังขึ้น ๆ ๆ ขณะมีคลื่นเสียงนั้น หูกับเสียงมักคลุกกัน จนแยกไม่ออก คือว่า ในขณะที่เราได้ยินเสียง หูมันกระทบกับเสียง เราจึงไม่ได้ยินเสียงของความสงัด ทั้ง ๆ ที่ความเงียบไม่ได้หายไปไหน แต่เราคิดว่า เมื่อเราได้ยินเสียงดังขึ้น ตูมขึ้น เข้าใจว่าความเงียบหายไป แต่ฟังให้ดี พอเสียงจากไปแล้ว ความเงียบได้เข้ามาครอบงำอีกทีหนึ่ง เสียงดังค่อย ๆ ละลายลงไปสู่ความสงัดเงียบ
    เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหมายของ อกาลิโก ความไม่ประกอบด้วยกาลก็ดี การอยู่เหนืออายตนะก็ดี ก็คือการเริ่มเห็นปรากฏการณ์ตามที่มันเป็นจริงตามธรรมชาติ ไม่ไปหลงอยู่ที่ปรากฏ หรือพฤติกรรมชั่วครู่ชั่วสมัยอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขาจะให้สิ่งทั้งปวงนั้นผ่านไปในช่วงที่มันเป็นจริง เขาจะไม่ผลักมัน และจะไม่ดึงมันไว้ ผลักนั้นคือ โทสะ ไม่ชอบให้อยู่นาน เพราะติดอารมณ์ที่สุข ที่ชอบใจ เมื่อเกิดอารมณ์ที่สุข อยากจะตรึงให้นาน ไม่ให้เปลี่ยน ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น อยู่ที่นี่ อยู่กับฉัน ฉันไม่ชอบให้เปลี่ยน ในที่สุดเกิดความแย่งยื้อกันขึ้น แล้วสร้างฉันผู้เป็นศูนย์กลางของความแย่งยื้อ เพราะฉะนั้น ความรู้เท่าทัน ปรากฏการณ์เหล่านั้น มีสติสัมปชัญญะที่ปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดมั่นถือมั่น คือ การกระทำ ถูกตามวิถีทางของธรรมชาติ เมื่ออะไรมันเข้ามา ก็เห็นชัดเจนตามที่เป็นจริง
    บางทีบทเพลงสนุก ๆ ของนักร้องสมัยใหม่ ผู้แต่งอาจจะแต่งไปตามความรู้สึกอย่างไรนั้นสุดแท้ แต่มันมีเนื้อหาดีอยู่ นั่นคือเพลง What ever will be will be นั้นแหละ ถ้าว่ามีความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงต่อปรากฏการณ์ทางอายตนะ อะไรจะเกิดจงเกิด ไม่ขัดขืน และไม่รับไว้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ญาณทัสสนะจะเกิดขึ้น มันจะจัดหมวดเองว่า เมื่อไม่ยึดถือ ผู้ยึดก็ไม่เกิด เมื่อไม่อยากให้มันอยู่ ไม่อยากให้มันหาย ผู้อยากก็ไม่เกิด ก็เห็นแต่สัมพันธภาพของปรากฏการณ์ชั่วครู่ชั่วสมัย ความดับทุกข์ก็จะแจ่มชัดขึ้นในชีวิต
    ขอยุติการตอบปัญหา หวังว่าได้ตอบแล้วทุกท่านที่ถามมา
    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 เมษายน 2010

แชร์หน้านี้

Loading...