มิติใหม่ของแฝดอิน-จัน

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 29 กันยายน 2006.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,174
    รูปถ่ายของแฝดสยาม "อิน-จัน" ที่เราคุ้นตากัน คือรูปของบุรุษ ๒ นาย ยืนหรือนั่งชิดติดกันเกินวิสัยพี่น้องทั่วไป ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นท่อนเอ็นคั่นอยู่ระหว่างร่างทั้งสอง ซึ่งเป็นอย่างนั้นตั้งแต่เกิดจนตายเมื่ออิน-จันอายุได้ ๖๓ ปี ดูเหมือนธรรมชาติบรรจงฝากท่อนเอ็นนั้นมา เพื่อใช้เป็นตัวอย่างสอนมนุษย์ว่า การประนีประนอมและความอดกลั้นเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเป็นสิ่งที่ฝึกปรือกันได้

    รูปถ่ายของแฝดคู่นี้มีลักษณะไม่ผิดไปจากรูปถ่ายอื่นๆ ที่หยิบยื่นให้เพียงข้อมูล ๒ มิติ ยิ่งเป็นรูปถ่ายในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ ด้วยแล้ว ยิ่งดูไม่ค่อยได้ความรู้สึกเท่าไหร่ เพราะคนในภาพไม่นิยมยิ้มให้กล้อง มีผู้อธิบายว่า เนื่องจากการถ่ายภาพครั้งนั้นกินเวลานานโขอยู่ ฉะนั้น กว่าจะถ่ายภาพเสร็จเรียบร้อย ที่ยิ้มไว้ก็ต้องหุบเพราะเหงือกแห้งไปเสียก่อน เลยอาจเป็นธรรมเนียมให้ไม่ต้องอวดฟันสู้กล้อง บ้างก็ว่า เป็นเพราะคนรุ่นนั้นเกรงว่า กล้องจะจับวิญญาณในขณะนั้นไป ฉะนั้น ถ้ายิ้มอย่างมีความสุข ก็จะเสียวิญญาณแห่งความสุขให้กล้องไปอย่างเรียกคืนไม่ได้ คนรุ่นหลังอย่างเราจึงเห็นแต่รูปคนวางหน้าเฉยเหมือนไม่อยากรับบุญที่มีคนมาบอก ทั้งๆ ที่ยามถ่ายรูปนั้น อาจเป็นช่วงที่คนในภาพมีความสุขที่สุดในชีวิตก็ได้

    เรื่องราวของอิน-จันที่เราได้อ่านกันมาส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องที่หยิบยืมกันมาจากหนังสือไม่กี่เล่ม และไม่มีข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากกว่าที่เคยมีอยู่แล้ว แม้ทราบว่าทั้งคู่ไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศสหรัฐและแต่งงานกับพี่น้องชาวอเมริกัน แต่เราก็ไม่ค่อยได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวของคนคู่นี้ ยกเว้นที่ว่า อิน-จันมีลูกชายหญิงรวมกันทั้งหมด ๒๒ ชีวิต ซึ่งก็ทำให้จิตใจทะลึ่งของคนนอกผ้าเหลืองอย่างเราซุกซนอยากรู้นักว่า บทเพลงซึ่งคั่นอยู่ระหว่างคืนส่งตัวคู่สมรสกับเช้าวันแรกของชีวิตคู่นั้น เป็นอย่างไร อยากรู้จนลืมไปว่า อิน-จันมีแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตด้วย

    จดหมายส่วนตัวที่อิน-จันเขียนถึงครอบครัว ตลอดจนเอกสารเก่าๆ เป็นหลักฐานที่ดี ซึ่งเปิดเผยให้เห็นอีกมิติหนึ่งของบุคคลที่เคยมีชื่อกระฉ่อนโลกคู่นี้ จดหมายเหล่านั้นเป็นมรดกตกทอดอย่างหนึ่งที่ทายาทของอิน-จันในปัจจุบันนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ด้วยความหวงแหน น่าเสียดายที่ว่าในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ (ค.ศ. ๑๙๕๕) เกิดไฟไหม้ที่บ้านของอิน เอกสารส่วนใหญ่จึงมอดไหม้กลายเป็นเถ้า ลบบันทึกของความทรงจำที่บางครั้งคนเขียนเองยังจำไม่ได้ จนสิ้นสลายเหมือนไม่เคยมีตัวตนมาก่อน และทิ้งให้เรื่องราวน่าสนใจอีกหลายเรื่องกลายเป็นปริศนาที่อาจไม่มีวันทราบคำตอบอีกต่อไป

    ทายาทผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า แม่ของเธอเคยบอกไว้ก่อนเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ ถึงจดหมายฉบับหนึ่งที่เก็บไว้ เป็นจดหมายที่อิน-จันเขียนถึงแม่ขณะอยู่บนเรือ ไม่ทราบว่า ถ้ามีจดหมายฉบับนี้อยู่จริง เป็นจดหมายที่ทั้งสองเขียนเป็นภาษาไทยขณะอยู่บนเรือเซเค็ม๑ มุ่งหน้าสู่อเมริกา หรือเป็นจดหมายที่เขียนขึ้นเมื่อครั้งเดินทางไปยุโรปกันแน่ เนื่องจากจดหมายดังกล่าวอยู่ในมือของทายาท แสดงว่าอิน-จันเขียนแล้วไม่ได้ส่ง น่าเสียดายที่ขณะนี้ทายาทผู้นั้นยังหาจดหมายฉบับดังกล่าวไม่พบ มิฉะนั้นแล้ว เราอาจได้เห็นลายมือภาษาไทยของอิน-จันกันเป็นครั้งแรก และอาจเป็นจดหมายภาษาไทยเก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งหรือฉบับเดียวที่เขียนโดยชาวบ้านในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และเหลือรอดอยู่ ก็เป็นได้

    หลังจากใช้ชีวิตออกตระเวนแสดงจนสร้างฐานะได้ระดับหนึ่งแล้ว อิน-จันได้ตัดสินใจปลีกตัวจากสายตานับคู่ไม่ถ้วนของผู้ชม และปักหลักใช้ชีวิตอย่างสงบที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา พร้อมรับชื่อสกุล "บังเกอร์" มาเป็นของตัว ก่อนพบสองพี่น้องจากตระกูลเยตส์ และเริ่มต้นชีวิตครอบครัวแบบที่ไม่มีใครในครั้งนั้นกล้าคิด อีก ๕ ปีให้หลัง อิน-จันซึ่งขณะนั้นมีวัยใกล้ ๔๐ ปี และห่างเหินจากการออกแสดงมาเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว ได้ตัดสินใจออกเดินทางไปเปิดการแสดงอีกครั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๙๒ (ค.ศ. ๑๘๔๙) ที่กรุงนิวยอร์ก ทว่าชาวนิวยอร์กในเวลานั้นกลับหันไปสนใจกับของใหม่แปลกตาล่าสุดคือ "ทอม ทัมบ์"๒ ซึ่งเป็นชายแคระสูง ๒๕ นิ้ว ๖ สัปดาห์อันเหงาหงอยในนิวยอร์กผ่านไป ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านในนอร์ทแคโรไลนาด้วยความผิดหวัง ผู้จัดรายการจ่ายค่าตัวให้เพียง ๑ ใน ๓ ของที่ตกลงกันไว้...ในเวลาอีก ๒-๓ ปีต่อมา

    ฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. ๑๘๕๓) มาถึงพร้อมกับคำทาบทามจากบุรุษชื่อฮาวส์๓ ให้อิน-จันออกแสดงอีกครั้ง แม้ทั้งสองยังรู้สึกเศร้าใจกับการไปนิวยอร์กคราวก่อน แต่นายฮาวส์ก็เกลี้ยกล่อมว่า ครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งนั้น เพราะเป็นการออกตระเวนแสดงในเมืองต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลตะวันออก และมุ่งหน้าสู่แคนาดา อิน-จันตอบตกลง โดยมีข้อแม้ว่าต้องนำลูกๆ ไปด้วย นายฮาวส์ไม่ปฏิเสธ อินเลือกแคทเธอรีน๔ เพราะเป็นลูกสาวคนโตและเป็นลูกคนแรก ส่วนจันเลือกคริสโตเฟอร์๕ ลูกคนที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกชายคนโต

    ในช่วง ๑๒ เดือนถัดมา อิน-จันใช้ชีวิตตระเวนแสดงตามที่ต่างๆ โดยมีแคทเธอรีนและคริสโตเฟอร์ร่วมแสดงด้วยการออกเต้นรำและร้องเพลง สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองยึดปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอในระหว่างเดินทาง คือการส่งจดหมายแลกเปลี่ยนข่าวสารกับครอบครัวและเพื่อนสนิท รวมทั้งเพื่อจัดการธุรกิจและธุระในบ้าน แต่ที่พิเศษกว่าครั้งก่อนๆ คือ นอกจากจดหมายที่ลูกๆ ช่วยเขียนแทนแล้ว ยังมีจดหมายที่อิน-จันเขียนเองรวมอยู่ด้วย จดหมายที่นำมาถ่ายทอดในบทความนี้ ส่วนใหญ่ได้รับริ้วรอยที่กาลเวลาประทับตราไว้ เพื่อยืนยันความเก่าแก่ ทุกฉบับมีสีเหลืองเนื่องจากเกรียมเวลาที่ผ่านมาราว ๑๕๐ ปี บางฉบับมีรอยแหว่ง หรือเปื้อนน้ำจนข้อความจางหาย ฉบับที่ (เดาว่า) อิน-จันเขียนเองประกอบด้วยประโยคเรียบง่ายตามประสาผู้ชาย แต่สอดแทรกความรักใคร่ห่วงใยที่มีต่อครอบครัว ไว้ในช่องว่างระหว่างบรรทัดตัวอักษรจนเต็มแปล้ จดหมายเก่าๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นอีกมิติหนึ่งในชีวิตของ "อิน-จัน" ได้เป็นอย่างดี...มิติที่มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตา อย่างที่รูปถ่ายไม่สามารถเปิดเผยให้เห็นได้

    ข้อความในจดหมายมีคำที่สะกดผิดแทรกอยู่ที่นี่บ้างที่โน่นบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของจดหมายที่เขียนโดยชาวบ้านในสมัยนั้น อย่าลืมว่าอิน-จันเดินทางออกจากสยามตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี จึงคงไม่ได้ร่ำเรียนมากไปกว่าการขีดเขียนภาษาไทยและจีนขั้นพื้นฐาน ทั้งสองใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงปลายวัยรุ่นถึงช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นไปกับการตระเวนแสดงตามที่ต่างๆ การที่อิน-จันเรียนรู้ภาษาอังกฤษจนสามารถเขียนสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ และอ่านออกจนถึงขั้นสามารถชื่นชมกวีนิพนธ์ของนักประพันธ์อย่างเอดการ์ แอลเลน โป๖ ได้ จึงถือเป็นผลพวงจากสติปัญญาและความมานะพยายามในการเรียนรู้ไม่ใช่น้อย ในครั้งนั้น ชาวอเมริกันแท้ๆ เองจำนวนมากยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยซ้ำไป๗ ดูเหมือนว่าอินชอบขีดเขียนมากกว่าจัน และอาจเป็นผู้ที่เขียนจดหมายทั้งหมดที่หลงเหลือมาจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามท้ายจดหมายมักลงชื่อว่า "C & E" ซึ่งอาจเป็นมารยาทในการยกชื่อฝ่ายที่ไม่ใช่ผู้เขียนขึ้นก่อน หรือไม่อีกทีก็เป็นเพราะตั้งแต่ออกตระเวนแสดงมา ชื่อของจันเป็นชื่อต้นเสมอ อีกอย่างหนึ่งที่น่ายกย่องเกี่ยวกับอิน-จันและภรรยาคือ ทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของลูกๆ จนถึงกับช่วยลงทุนสร้างโรงเรียน เพื่อให้ลูกและเด็กๆ ในละแวกบ้านได้มีโอกาสเรียนหนังสือ

    จดหมายส่วนใหญ่มักขึ้นต้นว่า "ภรรยาและลูกๆ ที่รัก" (Dear wives and children) ถ้าฝ่ายภรรยาเขียนก็จะเป็น "สามีและลูกๆ ที่รัก" (Dear husbands and children) โปรดสังเกตคำว่าสามีหรือภรรยาที่อยู่ในรูปพหูพจน์ ซึ่งแสดงว่าเป็นการเขียนถึงทั้ง ๒ ครอบครัวในเวลาเดียวกัน จดหมายเกือบทั้งหมดที่นำมาลงให้อ่านนี้เป็นจดหมายที่อินหรือลูกของอินเป็นผู้เขียน และมักพูดถึงธุระของอินกับลูกก่อน พอถึงคราวพูดเรื่องธุระของฝ่ายจันก็จะเปลี่ยนไปพูดว่า "อาฝากบอกว่า..." จดหมายที่ลูกๆ เป็นคนเขียนช่วยให้ทราบว่า ลูกๆ เรียกพ่อของตนว่า "ป๊ะป๋า" (Papa) จดหมายฉบับหนึ่งที่นำมาลงให้อ่านกันนี้ เขียนโดยภรรยาของจันคือแอดีเลด๘

    จดหมายลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. ๑๘๕๓) ส่งถึงบ้าน ขณะที่ทั้งสองเปิดการแสดงที่เมืองบัฟฟาโล ในมลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำไนแองการา๙ ที่ไหลขึ้นเหนือไปทิ้งตัวลงจนกลายเป็นน้ำตกชื่อดังชื่อเดียวกันในฝั่งประเทศแคนาดา จดหมายฉบับนี้บอกเราว่า ลูกๆ ของอิน-จันรู้สึกสนุกกับการได้เดินทางไปเปิดหูเปิดตากับพ่อตามเมืองต่างๆ

    "หวังว่าจดหมายฉบับนี้จะมาถึงเมื่อทุกคนสบายดี เราได้รับจดหมายลงวันที่ ๑๙ จากพวกเธอหลายวันแล้ว เราดีใจมากที่ทุกคนสบายดี และเก็บเกี่ยวพืชผลได้ดี เรามาถึงน้ำตกไนแองการาวันอาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งทำให้เด็กๆ ร่าเริงมาก เราและลูกๆ เดินกันทั้งวัน...เราและลูกๆ ได้เดินทางกันไกลพอสมควรในเรือไอน้ำ ผู้หญิงและเด็กๆ ในเรือหลายคนเมาเรือกัน แต่ลูกของเราไม่มีใครเมาเรือสักคน...เราคาดว่าจะอยู่ในกรุงนิวยอร์กประมาณ ๔ หรือ ๕ สัปดาห์ เราไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ เราอยากให้พวกเธอเขียนถึงเราถ้ามีเวลาว่าง เราอยากให้พวกเธอเขียนถึงเราบ่อยขึ้น"

    ใจความอีกส่วนหนึ่งในจดหมายฉบับเดียวกันมีว่า "ดูเหมือนนานมากแล้วที่เราออกจากบ้านมา เราเกือบเป็นโรคคิดถึงบ้านแล้ว ลูกๆ มีความสุขมากและสุขภาพของทุกคนดีจริงๆ เราคิดว่าลูกๆ โตขึ้นเยอะ เราคิดว่าพอเรากลับบ้าน ลูกเล็กๆ ที่บ้านคงจะลืมเราไปแล้ว พวกเธอต้องหารองเท้าดีๆ ให้ลูกทุกคนใส่เร็วๆ นะ คริสต์๑๐ กำชับให้บอกว่า เขาซื้อหินเฌล๑๑ ให้เธอด้วยเงินของเขาเองเชียวล่ะ เป็นแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นกันในเมืองเมาต์แอรี เขาพูดถึงวิคและแมรี่๑๒ มากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ ทั้งหมด บอกว่ายังไม่อยากกลับบ้าน เราซื้อเสื้อโค้ท กางเกง รองเท้าบู๊ต และผ้าคลุมใหม่ให้เขาด้วย เขาบอกว่าเขาอยากส่งเสื้อผ้าเก่ากลับบ้านไปให้พวกน้องๆ เราซื้อเสื้อโค้ท กางเกง และเสื้อเชิ้ตให้เขา ๔ ชุด ทั้งหมดนี้ทำให้เขาดูตัวใหญ่ขึ้น"

    ข้อความข้างต้น เป็นสาระปกติของจดหมายที่ส่งถึงบ้าน ซึ่งมักเล่าถึงสุขภาพของลูกๆ เมืองที่กำลังเปิดการแสดง กำหนดการเดินทาง และกิจกรรมจิปาถะอื่นๆ นอกจากนี้แล้ว ธุระหรืองานในไร่ที่คนทางบ้านควรเอาใจใส่ และการถามไถ่ทุกข์สุขของลูกๆ ตลอดจนเพื่อนบ้าน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติในจดหมายเหล่านี้ บ่อยครั้งที่อิน-จันพูดถึงบรรดาทาสผิวดำในความดูแลด้วย จดหมายฉบับนี้มีประโยคที่พาดพิงถึงทาสเหล่านั้นว่า "เราอยากให้พวกเธอยกกางเกงและเสื้อโค้ทเก่าๆ ของเราให้พวกนิโกร"

    หลังจากการออกตระเวนแสดงได้หลายเดือน จดหมายจากทางบ้านฉบับหนึ่งก็เดินทางมาถึง แต่คราวนี้มีเรื่องที่คงทำให้จิตใจของคนเป็นพ่อปั่นป่วน ทางบ้านแจ้งข่าวเรื่องอุบัติเหตุของลูกสาวมาด้วย จดหมายข้างล่างนี้เป็นจดหมายตอบจากอิน โดยลงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. ๑๘๕๓) เขียนจากนิวยอร์ก ถึงซาราห์หรือแซลลี๑๓ ภรรยาของอิน เพราะเป็นเรื่องที่อินต้องสะสาง เนื้อหาตอนนี้ใช้คำว่า "เรา" บ้าง "ฉัน" บ้าง

    "เราเพิ่งได้รับข่าวร้ายเกี่ยวกับอุบัติเหตุของเธอ และเราเสียใจที่รู้ว่าลูกของเราถูกลวก๑๔ อย่างสาหัสยิ่ง เธอบอกได้ไหมว่าเป็นความผิดของใคร เราอยากรู้ ช่วยบอกเราในจดหมายฉบับหน้าด้วย หวังว่าอุบัติเหตุครั้งนี้จะทำให้เธอระมัดระวังมากขึ้นในวันข้างหน้า ก่อนหน้านี้ เราเขียนถึงเธอบ่อยๆ ให้ดูแลลูกๆ ให้ดี อย่างไรก็ตามหวังว่าจะไม่ได้ยินเรื่องแบบนี้อีก ซาราห์ที่รัก ฉันไม่ได้โกรธ๑๕ เธอนะ แต่อยากให้เธอระมัดระวังดูแลลูกๆ ทุกคน ฉันไม่อยากให้เธอทำงานอะไรเลย อยากให้เธอดูแลลูกๆ ก่อน แล้วถ้าเธอมีเวลาทำอย่างอื่นก็จะดี แต่ต้องดูแลลูกๆ ก่อน"

    เนื้อความในจดหมายไม่ได้ระบุชื่อของลูกคนที่ถูกน้ำร้อนหรือไฟลวก แต่ข้อมูลจากแหล่งอื่นบอกว่า ลูกสาวของอินชื่อโรซาลิน อี. บังเกอร์ (Rosalyn Etta Bunker) ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๕ (ค.ศ. ๑๘๕๒) เสียชีวิตในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน โดยในวันที่เกิดเหตุนั้น เธออยู่บ้านตามลำพังกับทาสหญิงคนหนึ่ง ซึ่งละเลยต่อหน้าที่ จึงเกิดอุบัติเหตุตกลงไปในกองไฟ ขณะที่เขียนบทความเรื่องนี้ ยังไม่ทราบว่าเหตุการณ์ทั้งสองนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกันหรือไม่ เพราะปีที่เกิดเหตุนั้นต่างกัน อินเขียนจดหมายฉบับนี้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. ๑๘๕๓) ไม่น่าเป็นไปได้ว่า ภรรยาของอินจะรอเขียนจดหมายแจ้งข่าวเรื่องลูกถูกน้ำร้อนหรือไฟลวกนานเพียงนั้น หรือจดหมายเดินทางช้าเป็นปี ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ภรรยาของอินคงไม่ได้บอกว่า ลูกสาวคนนี้เสียชีวิต เพราะสำนวนจดหมายของอินขาดอารมณ์ของพ่อที่สูญเสียลูก บางทีผู้เป็นแม่อาจไม่ต้องการบอกความจริงทั้งหมดให้ทราบในระหว่างที่สามีกำลังออกตระเวนแสดง และต้องการบอกด้วยตนเองเมื่อสามีกลับถึงบ้านแล้ว ทว่าเหตุผลนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเสียทีเดียว เพราะเมื่อลูกสาวอีกคนหนึ่งเสียชีวิต ลูกสาวคนโตของอินเป็นผู้เขียนไปบอกพ่อหลังจากเกิดเหตุแล้วเพียง ๑ เดือน

    จดหมายฉบับเดียวกันนี้ ยังมีข้อความที่แสดงให้เห็นความห่วงใยของพ่อแฝดคู่นี้ที่มีต่อประสบการณ์ในวัยเด็กของลูกๆ ด้วย "เธอต้องบอกเบอร์รี่ว่า เวลาฆ่าหมู ต้องไม่ให้เด็กๆ อยู่ใกล้" อิน-จันคงไม่ต้องการให้ลูกเล็กๆ เห็นภาพที่สยดสยองเกินไปสำหรับเด็ก เช่นเดียวกับพ่อแม่ทุกคน แม้ในกรณีที่การกระทำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตปกติก็ตาม

    ดูเหมือนภารกิจประจำอย่างหนึ่งของอิน-จันในระหว่างการตระเวนแสดงคือ การออกจับจ่ายซื้อของแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อเป็นของฝากให้สมาชิกในครอบครัว ในจดหมายฉบับดังกล่าวมีข้อความที่ยืนยันนิสัยนี้ได้ดี

    "เราและลูกๆ มีสุขภาพดีจริงๆ ลูกๆ หายจากหวัดแล้ว และกินหอยนางรมกันทุกวัน เราไม่รู้ว่าจะอยู่ที่นี่อีกนานเท่าไหร่หลังปีใหม่ แต่ก็ไม่คิดว่าจะกลับถึงบ้านก่อนกลางเดือนเมษายนปีหน้า แบนเนอร์เขียนบอกว่า คนของเราเก็บเกี่ยวข้าวโพดได้เยอะ เราดีใจที่ได้ยินอย่างนั้น เธอบอกพวกนั้นด้วยว่า เมื่อเรากลับบ้าน เราจะมีของฝากให้ทุกคน ยกเว้นลีแอนน์ เราคิดว่า จอช อิสระ๑๖ จะดูแลเธอเอง" ไม่ทราบว่า ลีแอนน์และจอชเป็นใคร

    จดหมายลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๗ (ค.ศ. ๑๘๕๔) เขียนจากนิวยอร์ก ถึงภรรยาและลูกๆ ข้อความที่ว่า "ตอนนี้เคทกับคริสต์หลับปุ๋ยไปแล้ว" ทำให้นึกถึงภาพอิน-จันนั่งที่โต๊ะทำงาน เขียนจดหมายถึงบ้านใต้แสงตะเกียงริบหรี่ พร้อมชำเลืองดูลูกๆ ที่นอนหลับอย่างเหนื่อยอ่อนอยู่ในเตียงนอนใกล้ๆ เป็นครั้งคราว ใจความส่วนหนึ่งในจดหมายยังบอกเราด้วยว่า นอกจากการซื้อของฝากเพื่อเป็นที่ระลึกยามเดินทางแล้ว อิน-จันยังสรรหาของขวัญส่งไปให้ลูกๆ เมื่อถึงวาระสำคัญด้วย ทั้งสองไม่ยอมเสียโอกาสที่จะร่วมฉลองวันเกิดกับลูกๆ ด้วยการส่งของขวัญจากถิ่นไกล เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมกำชับผู้ใหญ่ที่บ้านให้ทำหน้าที่ของตนในไร่ด้วย

    "เราเขียนถึงเธอสัปดาห์หนึ่งมาแล้ว และในจดหมายนั้น เราสอดแหวนวงหนึ่งมาให้โจเซฟีน๑๗ เป็นของขวัญวันเกิด ถ้าได้รับแหวนแล้ว เราหวังว่าเธอคงเขียนตอบ และเราจะส่งอีกวงหนึ่งให้จูเลีย๑๘ เป็นของขวัญวันเกิดเช่นกัน เธอบอกดีเคเตอร์๑๙ ด้วยว่าเราซื้อมีดให้แล้ว เธอบอกในจดหมายว่า หมาเข้ามากัดแกะของเราตาย ทำไมเบอร์รี่ไม่ยิงหมาเสียล่ะ เรามีดินปืนกับตะกั่วตั้งเยอะ เธอบอกเบอร์รี่ด้วยว่า เราอยากให้เขาฆ่าหมาทุกตัวที่เข้ามาในรั้วของเรา แล้วโยนทิ้งในลำห้วยโดยไม่ต้องปริปากบอกใคร เธอบอกว่า เธอหรือเบอร์รี่เลี้ยงหมูแค่ ๑๔ ตัว ทำไม ทำไมไม่เลี้ยงมากกว่านั้น เราหวังว่าเธอคงเลี้ยงหมูเพิ่ม เราจะได้มีเนื้อสดๆ กินตลอดฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เอาอีก ๔ หรือ ๕ ตัว"

    จดหมายลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๗ (ค.ศ. ๑๘๕๔) เขียนโดยภรรยาของจันคือแอดีเลด หลังจากคำขึ้นต้นว่า "สามีและลูกๆ ที่รัก" (Dear husbands and children) แล้ว เธอก็กล่าวถึงลูกสาวคนโตของอิน คือแคทเธอรีน ซึ่งเพิ่งหายป่วยจากอาการหวัด ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างครอบครัวทั้งสองได้อย่างหนึ่ง

    "เราได้รับจดหมายลงวันที่ ๕ ของเธอแล้ว เราดีใจที่รู้ว่าพวกเธอสบายดี หวังว่าแคทเธอรีนคงสบายดี เราทุกคนสบายดี"

    หลังจากนั้นเธอก็รายงานกิจกรรมต่างๆ ในไร่ แล้วเล่าเรื่องแหวนที่ผู้เป็นพ่อส่งมาให้ลูกสาว

    "โจเซฟีนพอใจกับแหวนของเธอเป็นที่สุดเท่าที่เคยเห็น เธอได้รับก่อนวันเกิดของเธอ และสวมมันทุกวัน แนนซี๒๐ บอกว่าคุณต้องซื้อต่างหูให้เธอคู่หนึ่ง"

    นอกจากนี้แล้ว เธอก็เล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่ขอนำมาลงในที่นี้เนื่องจากไม่มีรายละเอียดพอให้จับเค้าเกี่ยวกับบุคคลและเรื่องราวเหล่านั้น แอดีเลดลงท้ายไว้ในจดหมายฉบับนี้ว่า "เราจะดีใจมากที่เห็นพวกเธอทุกคนกลับบ้าน ดูเหมือนเวลาผ่านไปช้าเหลือเกิน บอกคริสโตเฟอร์ว่า ฉันเสียใจมากที่เขาลืมฉันเสียแล้ว เขาบอกว่า เขาไม่อยากเจอแม่"

    ใจความตรงนี้ทำให้นึกถึงจดหมายที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่ว่าอิน-จันห่วงว่าลูกๆ ที่บ้านจะจำตนไม่ได้เมื่อกลับถึงบ้าน ดูเหมือนฝ่ายภรรยาเองก็รู้สึกทำนองเดียวกันเกี่ยวกับลูกที่ออกเดินทางร่วมกับสามี ทั้งนี้เพราะการเดินทางแต่ละครั้งกินเวลานานมาก ความห่างเหินทำให้ลูกๆ ซึ่งมีอายุน้อยลืมหน้าพ่อหรือแม่ที่ตนไม่ได้เห็นไปนานอย่างช่วยไม่ได้ ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่อิน-จันชดเชยความรู้สึกนั้นส่วนหนึ่งด้วยการซื้อของแปลกใหม่กลับมาฝากลูกๆ ที่บ้านเสมอ

    ในเดือนเมษายน ของปี พ.ศ. ๒๓๙๗ (ค.ศ. ๑๘๕๔) ทั้งสี่ก็มุ่งหน้ากลับบ้านด้วยรายได้ที่คุ้มค่าเหนื่อย อิน-จันวางมือจากการออกตระเวนปรากฏตัวเป็นเวลาอีก ๖ ปี ก่อนออกเดินทางอีกในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ. ๑๘๖๐) และกลับบ้านในปีถัดไป ไม่มีการเดินทางไปไหนอีกพักใหญ่ และอาจไม่มีอีกเลยถ้าไม่เป็นเพราะสงครามกลางเมือง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๔-๘ (ค.ศ. ๑๘๖๑-๕) และนำความสูญเสียมาสู่ฐานะของครอบครัวจนเป็นแรงผลักดันให้อิน-จันในวัย ๕๕ ปี ต้องออกจากบ้านอีกครั้ง

    จดหมายลงวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. ๑๘๖๖) เขียนจากเมืองฟิตช์เบิร์ก มลรัฐแมสซาชูเซตส์๒๑ โดยขึ้นต้นว่า "ถึงพี่/น้องสาวที่รัก" (Dear Sister) แต่ไม่ลงชื่อว่าเป็นใคร ทว่าเนื้อความในจดหมายฉบับนี้และฉบับถัดไปทำให้เดาว่า น่าจะเป็นสตีเฟน ดีเคเตอร์ ลูกชายของอิน แม้ลายเซ็นย่อว่า "เอส เอฟ บี" นั้นชวนให้สงสัยอยู่บ้าง

    เนื้อความในจดหมายพาดพิงถึงน้องชาย ๒ คน ซึ่งอาจชอบเล่นมากกว่าช่วยงานที่บ้าน

    "บอกเฟดริก๒๒ และวิลเลียมให้ทำตัวฉลาดหน่อย ช่วยเก็บแอปเปิ้ลและเลี้ยงหมู แล้วฉันจะเอาอานม้ากลับไปให้"

    หลังจากพูดธุระหรืองานที่ต้องทำในไร่ของฝ่ายอินเสร็จแล้ว ก็แทรกธุระของฝ่ายจันไว้ดังนี้

    "อัลเบิร์ต๒๓ ฝากให้บอกคริสโตเฟอร์ว่า อย่าปล่อยให้ปืนของเขาหมอง และหล่อลื่นให้ดี บอกมอนต์โกเมอรีให้เก็บปืนของเราให้ดี และหล่อลื่นปืนพก อย่าปล่อยให้ขึ้นสนิม เรามีปืนพกกระบอกหนึ่งอยู่กับคุณ...๒๔ ช่วยไปรับมา และจ่ายเงินให้เขาด้วย แล้วจ่ายหนี้เล็กๆ น้อยๆ สำหรับค่าทำรองเท้า และค่าเทอมด้วย" และ "อาฝากบอกคริสโตเฟอร์ให้ใส่ยางใหม่กับเกวียนเก่าเล่มนั้น"

    ข้อความประโยคหนึ่งที่จันฝากถามไว้ในจดหมายฉบับนี้ ไม่ทำให้รู้สึกแปลกใจเลย หากรู้นิสัยของเจ้าตัว

    "เขียนไปบอกด้วยว่า ทำบรั่นดีไว้มากแค่ไหน" จันนิยมดื่มสุรามากกว่าอิน

    ก่อนจบจดหมาย ก็ยังมีการฝากเงินให้ลูกชายคนเล็กของอิน "ให้เงิน ๑๐ เซ็นต์นี่แก่บ๊อบ"๒๕

    จดหมายลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๙ (ค.ศ. ๑๘๖๖) เขียนจากเมืองโทลีโด มลรัฐโอไฮโอ๒๖ ซึ่งห่างจากฉบับข้างต้นไม่นาน จดหมายฉบับนี้ไม่ขึ้นต้นถึงภรรยาและลูกๆ อย่างเคย และลงท้ายด้วยชื่ออินคนเดียว ทว่าเมื่ออ่านถึงกลางหน้าแรกก็พบประโยคที่ช่วยให้รู้ว่าเป็นจดหมายที่อินบอกให้ลูกที่เดินทางไปด้วยเขียนให้อีกเช่นกัน ประโยคตอนต้นจดหมายเป็นคำสารภาพผิดของผู้เป็นพ่อต่อลูกชายวัยขวบกว่าคนนี้

    "ป๊ะป๋าบอกว่าลืมส่งเงิน ๑๐ เซ็นต์ให้บ๊อบ แต่คราวนี้จะส่งให้ ๒๕ เซ็นต์เป็นการแก้ตัว"

    จดหมายฉบับนี้ก็เช่นเดียวกับฉบับอื่นๆ ที่อินมีเรื่องฝากเตือนลูกๆ บางคนเป็นรายตัว คือ

    "ป๊ะป๋าบอกอย่าให้มอนตโกเมอรี๒๗ และแพทริก๒๘ กินน้ำตาลจนหมดก่อนที่เรากลับถึงบ้าน"

    ใจความอีกส่วนหนึ่งช่วยให้ทราบด้วยว่า นอกจากของที่ระลึกที่นำกลับมาฝากเป็นประจำแล้ว อิน-จันยังซื้อของแปลกตาระหว่างเดินทาง เพื่อให้ลูกนำออกขายในเมืองที่อาศัยอยู่ เป็นการเสริมรายได้ หรือฝึกให้ลูกของตนรู้จักการทำธุรกิจย่อยๆ ตั้งแต่เป็นเด็ก เช่นเดียวกับที่ตนเองเคยทำมาก่อนเมื่อครั้งยังใช้ชีวิตในเมืองแม่กลอง ราชอาณาจักรสยาม

    "บอกมอนต์โกเมอรีให้เขียนบอกไปด้วยว่าขายนาฬิกาข้อมือหมดแล้วหรือยัง ถ้าหมดแล้ว เราจะซื้อเพิ่มให้อีก"

    อิน-จันไม่ลืมถามไถ่ถึงพวกคนงานผิวดำ ซึ่งในปีที่เขียนจดหมายนี้ เป็นช่วงหลังสงครามกลางเมืองไปแล้ว ฉะนั้น คนงานเหล่านี้จึงไม่ใช่ทาสอีกต่อไป ว่ากันว่าอิน-จันพยายามจ้างอดีตทาสผิวดำของตนไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่สมัครใจอยู่กัน

    "บอกไปด้วยว่า พวกนิโกรเป็นยังไง และยังมีการขโมยกันอยู่หรือเปล่า"

    อีกครึ่งหนึ่งของจดหมายเป็นส่วนของจัน ซึ่งเป็นอาของผู้ที่เขียนจดหมายฉบับนี้

    "อาสั่งให้คริสต์ใส่อิฐในเตา ซื้อข้าวโพดจากเจฟ ครีด พยายามซื้อ ๑๐๐ บาร์เรล"

    ข้อความถัดมาเป็นการกำชับเรื่องดูแลฟาร์ม "ให้อาหารหมูเสียแต่ตอนนี้ ขณะที่อากาศยังดีอยู่" รวมทั้งเรื่องเล็กน้อยประเภท "บอกแนนซีว่าอย่าขี่ม้ามากนัก จนอานสึกและอย่าให้ใครยืม ยกอานเก่าให้มารีแอนา๒๙ เสีย"

    จดหมายเหล่านี้ ช่วยให้เดาได้ว่าลูกๆ ของอิน-จันคงมีความสุขตามประสาเด็กท้องไร่ ลูกชายรู้จักยิงปืนและขี่ม้า ส่วนลูกผู้หญิงก็คงได้โอกาสทัดเทียมกันในเรื่องการขี่ม้า ก่อนจบจดหมาย ยังมีประโยคที่ดูเหมือนจะระวังไม่ให้ลูกสาวคนโตของอินรู้สึกน้อยใจ

    "เคท ป๊ะป๋าบอกว่า ถ้าเธออยากได้อานม้าอย่างแนนซี ให้เขียนบอกไป แล้วเราจะซื้อให้เธอ"

    เนื้อหาและชื่อของลูกๆ ที่อยู่ในจดหมายทั้ง ๒ ฉบับข้างต้นทำให้สรุปได้อีกอย่างหนึ่งว่า ลูกชายร่างสูงที่ถ่ายกับอิน-จัน ควรเป็นลูกคนที่ ๓ และลูกชายคนโตของอิน ชื่อสตีเฟน ดีเคเตอร์

    หลังจากนั้นไม่นาน จดหมายลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕) จากลูกสาวที่อินเกรงว่าอาจจะอยากได้อานม้า ก็เดินทางมาถึง แต่เธอไม่ได้พูดถึงอานม้า เธอเล่าให้ผู้เป็นพ่อทราบถึงข่าวร้ายที่คงทำให้ฝ่ายหลังรู้สึกปวดร้าวใจมากกว่าตนหลายเท่านัก

    "เป็นหน้าที่อันปวดร้าวของหนูที่ต้องบอกพ่อว่า จอร์จินนา๓๐ ไม่อยู่กับเราอีกต่อไปแล้ว น้องเสียชีวิตในวันที่ ๒๘ กันยายน ด้วยโรคคอตีบและครูป๓๑ น้องเป็นโรคคอตีบประมาณ ๒ สัปดาห์ แล้วเป็นหวัด ซึ่งต่อมากลายเป็นครูป อาการของน้องดูดีพอใช้ตลอดเวลา เป็นเวลา ๔ วันก่อนเสียชีวิตที่น้องไปฟังสวดกับเราทุกวัน น้องสวมเสื้อคลุมและลูกปัดซึ่งน้องภูมิใจมาก ก่อนวันที่น้องจากไป น้องเล่นในห้องและไปทานอาหารเช้าในครัว น้องทานอาหารได้ตลอดเวลา คืนต่อมา น้องมีอาการชักรุนแรงมาก และมีมาเรื่อยจนวันถัดมา (๒๘) เวลา ๑๒ นาฬิกาจึงเสียชีวิต น้องจากไปอย่างกะทันหันโดยที่ทุกคนไม่คาดคิดกันเลย น้องน้อยของเราทุกข์ทรมานมากเหลือเกิน แต่น้องก็ไปดีแล้ว เราทุกคนคิดถึงน้องมาก บ้านดูเงียบเหงาและเปล่าเปลี่ยวเมื่อไม่มีน้อง น้องพูดถึงพ่อบ่อยๆ น้องจะถามแม่ทุกวันว่า พ่อไปไหน แม่ก็บอกว่า พ่อไปทางเหนือ แล้วน้องก็จะไปบอกพี่น้องคนอื่นต่อ ว่าพ่อเดินทางไปเหนือ"

    การสูญเสียครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งที่ ๒ ของอินในปีนี้ เพราะในเดือนกุมภาพันธ์ อินต้องเสียลูกสาวอายุ ๒๐ ปีที่ชื่อจูเลียไปแล้ว ๑ คน การเป็นพยานต่อวาระสุดท้ายของลูกเป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่ภาวนาไม่ให้เกิดในชั่วชีวิตของตน อินต้องตกอยู่ในภาวะนี้ถึง ๓ ครั้ง ความรู้สึกเช่นว่านี้คงทวีคูณเป็นอย่างน้อย เมื่อต้องได้รับข่าวยามอยู่ไกลจากบ้าน เพราะเจ้าตัวคงรู้สึกว่า ตนมิได้ทำหน้าที่เสาหลักทางอารมณ์ให้แก่ครอบครัวอย่างที่ผู้นำครอบครัวพึงกระทำในวาระเยี่ยงนี้

    ในแง่ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์แล้ว จดหมายจากเคทฉบับนี้ ยังช่วยแก้ความเข้าใจผิดที่แหล่งข้อมูลเก่าเคยระบุว่า จอร์จินนาเสียชีวิตเพราะถูกน้ำร้อนลวกอีกด้วย

    อิน-จันคงเป็นพ่อที่ลูกๆ รักและยกย่อง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่า ลูกๆ ของอินรู้สึกในทางลบกับความเป็นแฝดของพ่อ หรือไม่พอใจกับการร่วมเดินทางไปปรากฏตัวในที่ต่างๆ ฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยที่เมื่อชีวิตของพ่อวางวายลง ลูกๆ ย่อมเป็นเดือดเป็นแค้นนักที่เพื่อนบ้าน และแม้กระทั่งแม่ของตนเองยกร่างไร้วิญญาณคู่นั้นให้คณะแพทย์ย้ายไปชันสูตรที่เมืองฟิลาเดลเฟีย แม้มีเหตุผลที่ดีทางการแพทย์ก็ตาม

    สตีเฟน ดีเคเตอร์ ลูกชายคนโตของอินเขียนจดหมายถึงแม่หลังจากได้ทราบข่าวเรื่องศพของอิน-จันจากทางบ้าน ใจความในจดหมายเป็นการต่อว่าที่ครอบครัวทั้งสองได้ตัดสินใจยกร่างของอิน-จันให้บรรดาแพทย์จากฟิลาเดลเฟีย เพื่อนำไปชันสูตรโดยที่ไม่ได้รอฟังความเห็นจากบรรดาบุตรชายที่ไปทำงานอยู่ต่างถิ่น ในจำนวนนั้นเป็นลูกชาย ๓ คนของอิน คือ ดีเคเตอร์ มอนต์โกเมอรี และเฟดริก กับลูกชายของจันที่ชื่อคริสโตเฟอร์

    จดหมายลงวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔) คับคั่งด้วยตัวอักษรที่ดูเหมือนสามารถกระโดดออกมาแสดงอารมณ์ของผู้เขียนต่อหน้าคนอ่านที่บ้านได้อย่างไม่ซ่อนเร้น

    "เรา๓๒ คิดว่าแม่ทำผิดมากที่ยอมให้ร่างทั้งสองแก่พวกหมอ ก่อนได้ฟังความเห็นของเรา ผมไม่เคยเสียใจกับเรื่องใดๆ เท่านี้มาก่อนในชีวิต แม่และครอบครัวทั้ง ๒ ฝ่ายควรไปรับศพกลับคืนมา และจัดการฝังเสีย ผมจะจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเองให้ ๒๕๐ เหรียญ ใครในครอบครัวนะที่ตกลงยินยอมกับเรื่องแบบนี้ วิลเลียม๓๓ บอกว่า เราไม่จำเป็นต้องร้อนใจเพราะแฟรงก์ เกรฟ๓๔ ดูแลให้อยู่แล้ว เขาอธิบายไม่ได้ว่า มีการขายร่างพ่อกับอา หรือให้ไปเปล่าๆ หรือมีเงื่อนไขอะไร แต่เราต้องรู้นะ แม่ควรจะรอคำตอบจากพวกเราก่อน ซึ่งผมคิดว่าแม่จะรอ"

    อีก ๑๕ วันให้หลัง คริสโตเฟอร์ ลูกชายของจันเขียนจดหมายถึงสตีเฟน เป็นฉบับที่ ๒ เข้าใจว่า ลูกพี่ลูกน้องคู่นี้คงสนิทสนมกันดีพอสมควร เพราะอย่างน้อยก็เคยไปรบในสงครามกลางเมืองสหรัฐในเวลาไล่เลี่ยกัน แม้ว่าไม่ได้ประจำการในกองทหารเดียวกันก็ตาม เขาระบายความในใจไว้ดังนี้

    "ฉันเขียนถึงนายหลายวันก่อน แต่จากนั้นมา ฉันก็เดินทางไปยังเมืองเมาต์แอรี และได้รู้เห็นมากขึ้นว่า คนที่นั่นทำเงินจากการตายของพ่อกับลุงอย่างไร ฉันเพิ่งไปเยี่ยมแม่ของนาย และฉันคิดว่า เธอเสียใจมากที่เธอกับแม่จัดการลงไปอย่างนั้น เธอขอให้ฉันเขียนถึงนาย และบอกให้นายกลับบ้านทันที..."

    อีกส่วนหนึ่งของจดหมาย มีความว่า "...พวกหมอเดินทางจากฟิลาเดลเฟียมาที่นี่เพื่อให้เงินแก่แม่กับป้าแซลลี ๑๒,๐๐๐ หรือ ๑๓,๐๐๐ เหรียญ แต่คนในเมาต์แอรีเจอก่อน เลยเอาเงินไปหมด เพราะช่วยจูงใจแม่กับป้าให้ ส่วนแม่กับป้าแซลลีไม่ได้อะไรแม้แต่เซ็นต์เดียว..."

    ในภายหลังคริสต์อีกเช่นกันที่ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวรายหนึ่งโดยมีดีเคเตอร์นั่งอยู่ด้วย และบอกว่า เพื่อนบ้านคนหนึ่งชื่อกิลเมอร์๓๕ ซึ่งเคยช่วยเหลืออิน-จันเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น เป็นผู้ชักจูงให้แม่และป้าของตนยกร่างให้คณะแพทย์นำไปศึกษา

    "แม่และป้าของผมบอกว่า พวกตนได้รับอิทธิพลจากข้อโต้แย้งที่นายอาร์. เอส. กิลล์เมอร์๓๖ กล่าวเป็นนัยไว้ให้คิด เขาคนนี้เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของพ่อและอาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ นายกิลล์เมอร์ได้ให้คำแนะนำในทุกเรื่อง และเหยียบย่ำความรู้สึกที่ดีและละเอียดอ่อนของผมและลูกพี่ลูกน้องของผมจนราพณาสูร ความคิดทั้งหมดของเขาคือ การนำศพออกแสดงให้คนดู เขายัดเยียดความคิดของตัวให้แม่ของเรา โดยใช้วาทศิลป์เอ่ยถึงผลประโยชน์ทางการเงินมากมายที่อาจได้รับจากการชันสูตรศพและการนำศพออกแสดงในภายหลัง ทั้งหมดนี้ฟังดูน่าขยะแขยงมากสำหรับผมและสตีเฟน ดี๓๗ ลูกพี่ลูกน้องของผม เราพบว่าพ่อของเราถูกฝังเยี่ยงสัตว์ธรรมดาๆ ในโลงไม้สนที่ตอกขึ้นหยาบๆ ซึ่งไม่ใช้เครื่องมือใดมากไปกว่าค้อนและเลื่อย นายกิลล์เมอร์เป็นผู้วางแผน ให้คำแนะนำ และดำเนินการทั้งหมด และไม่ว่าบรรดานายแพทย์พูดอย่างไร ผมและลูกพี่ลูกน้องของผมก็เชื่อว่า เขาทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเท่านั้น

    ขอให้ผมเล่าให้คุณฟังว่าเขาทำอะไรไปบ้าง เขาได้สะสางพินัยกรรมของพ่อ เขาได้ตรวจเอกสารส่วนตัวต่างๆ ทั้งหมด และหลังจากที่ได้มอบรายละเอียดให้แก่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ Herald แล้ว ก็ถามผู้สื่อข่าวว่า ไม่คิดหรือว่าข่าวนี้มีค่าพอสมควรกับค่าสมาชิกหนังสือพิมพ์ปีหนึ่ง หรือ ๒ ปี ถ้าผมทราบว่านายกิลล์เมอร์ต้องการรับหนังสือพิมพ์ Herald มากขนาดนั้น ผมก็จะออกเงินสมัครสมาชิกตลอดชีพให้เขาเสียเอง แทนที่เขาต้องไปเจรจาต่อรองระหว่างแม่กับบรรดาแพทย์ที่ฟิลาเดลเฟีย ความคิดทั้งหมดของนายกิลล์เมอร์คือการนำร่างออกแสดง ผมขอพูดอย่างไม่ลังเลเลยว่า นายกิลล์เมอร์ได้ย่ำยีความรู้สึกของเราทั้งครอบครัว หากผมหรือลูกพี่ลูกน้องของผมอยู่บ้าน เราจะปกป้องร่างทั้งสองนั้นแม้จนชีวิตจะหาไม่"

    ประโยคสุดท้ายของคริสโตเฟอร์ เป็นคำพูดง่ายๆ แต่ทำให้รู้สึกได้ว่า ลูกๆ ของอิน-จันเป็นผลลัพธ์จากการเลือกดำเนินชีวิต ที่พ่อแฝดคู่นี้สามารถภูมิใจได้ อิน-จันตัดสินใจถูกต้องในการปักหลักสร้างชีวิตครอบครัวของตนดังใจอยาก โดยไม่สนใจต่อคำทักท้วงของมิตรสหายและคำครหาของคนแปลกหน้า การได้อ่านจดหมายส่วนตัวเหล่านี้ ช่วยให้เห็นภาพของอิน-จันในฐานะพ่อและผู้นำครอบครัว ได้รู้สึกถึงความห่วงใยที่ทั้งคู่มีต่อทุกข์สุขของลูกๆ และภรรยา ตลอดจนความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว ไม่ใช่แต่เพียงลูกๆ เท่านั้นที่เป็นพยานยืนยันความสำเร็จในชีวิตของคนทั้งสอง แต่ทายาทอีกนับพันในสหรัฐที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ถึงความสำเร็จของตระกูลบังเกอร์ได้เป็นอย่างดี หลายคนเป็นบุคคลที่ทำประโยชน์แก่สังคมจนมีชื่อเสียงระดับประเทศ ทายาทจำนวนมากยังคงปักหลักอยู่ในเมืองที่ "อิน-จัน" เลือกเป็นจุดตั้งต้นชีวิตใหม่ ผืนดินส่วนใหญ่ที่ทั้งสองแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ ยังคงยืนหยัดเป็นทรัพย์สินในความครอบครองของเหล่าทายาทมาจนทุกวันนี้ ที่น่ารักกว่านั้นคือ ทายาทบางคนยังปลูกต้นกุหลาบที่ขยายพันธุ์มาจากต้นที่เคยมีชีวิตอยู่ในอาณาบริเวณบ้านหลังหนึ่งของอิน-จันด้วย

    เรื่องราวของ "อิน-จัน" จึงเป็นบันทึกการเดินทางของคน ๒ คน ที่สังคมติดป้ายให้ว่า "ไม่ธรรมดา" บนเส้นทางชีวิตที่เจ้าตัวตั้งใจถือหางเสือ ให้อยู่ในครรลองที่เป็น "ธรรมดา" ที่สุด คราวต่อไป เมื่อเห็นรูปถ่ายของ "อิน-จัน" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปที่มีลูกๆ หรือภรรยาขนาบข้าง เราคงไม่ต้องสงสัยอีกแล้วว่า ภายใต้สีหน้าไม่บอกอารมณ์อย่างเด่นชัดคู่นั้น แท้จริงแล้ว มีความสุขและความรักจากครอบครัวหล่อเลี้ยงไว้ ไม่น้อยไปกว่าใครอื่น...ถ้าไม่มากกว่า...เป็น ๒ เท่า



    กิตติกรรมประกาศ

    ขอขอบคุณ : คุณ Kay Hunter, Tom Atkins, Benny East, Eric Juday, June Juday, Marc Tolbert, Patrick Juday และ Surry County Historical Society ที่เมืองเมาต์แอรี มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่กรุณาเอื้อเฟื้อจดหมายและรูปถ่ายต่างๆ



    หมายเหตุ ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลล่าสุดที่ค้นได้ จึงอาจไม่ตรงกับข้อมูลบางอย่างที่ปรากฏในหนังสือแฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต ขอให้ถือว่าข้อมูลในบทความนี้เป็นปัจจุบันมากกว่า



    เชิงอรรถ

    ๑ Sachem ออกเสียง ซาเค็ม ก็ได้

    ๒ Tom Thumb

    ๓ Howes

    ๔ Katherine Marcellus Bunker เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๗ (ค.ศ. ๑๘๔๔) ไม่เคยสมรส และเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๒๗ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ (ค.ศ. ๑๘๗๑) ด้วยวัณโรค

    ๕ Christopher Wrenn Bunker เกิดเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๘ (ค.ศ. ๑๘๔๕) เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๓๒) เมื่ออายุได้ ๘๗ ปี

    ๖ Edgar Allen Poe (พ.ศ. ๒๓๕๒-๙๒ หรือ ค.ศ. ๑๘๐๙-๔๙) ชาวอเมริกันนามกระเดื่อง ซึ่งเป็นกวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักวิจารณ์วรรณกรรม

    ๗ ข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการไม่รู้หนังสือในสหรัฐเริ่มมีการบันทึกอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๑๒-๓ (ค.ศ. ๑๘๖๙-๗๐) ผู้เยาว์อายุ ๕-๑๙ ปี เข้าเรียนในโรงเรียนเพียงร้อยละ ๕๐ โดยที่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและชาย

    ๘ Adelaide Yates

    ๙ Niagara Falls มีทั้งในฝั่งสหรัฐและฝั่งแคนาดาซึ่งมีความสวยงามมากกว่า

    ๑๐ Christopher Bunker ลูกชายคนโตของจัน

    ๑๑ ต้นฉบับคือ Shale ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร ไม่น่าใช่กระดานชนวน

    ๑๒ น้องสาวของคริสโตเฟอร์

    ๑๓ Sarah หรือ Sallie Yates

    ๑๔ เนื้อความในจดหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นไฟหรือน้ำร้อน

    ๑๕ ต้นฉบับเขียนว่า I am not mede with you. เดาว่าเป็น I am not mad with you.

    ๑๖ ต้นฉบับเขียนว่า free Josh ซึ่งอาจหมายถึงคนผิวดำที่เคยเป็นทาสมาก่อน

    ๑๗ Josephine Virginia Bunker ลูกสาวของจัน เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๗ (ค.ศ. ๑๘๔๔) ไม่เคยสมรส และเสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๒๓ ปี ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๐ (ค.ศ. ๑๘๖๗)

    ๑๘ Julia Ann Bunker ลูกสาวของอิน เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ (ค.ศ. ๑๘๔๕) และเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕)

    ๑๙ Stephen Decatur Bunker ลูกชายของอิน เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๙ (ค.ศ. ๑๘๔๖) และเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐)

    ๒๐ Nancy Adelaide Bunker ลูกสาวของจัน เกิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๐ (ค.ศ. ๑๘๔๗) และเสียชีวิตขณะอายุเพียง ๒๗ ปี เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔)

    ๒๑ Fitchburgh, Massachusetts

    ๒๒ ในที่นี้เขียนว่า Fedric แต่ในข้อมูลอื่นๆ เขียนว่า Fredrick

    ๒๓ Albert Lemuel Bunker ลูกชายคนเล็กของจัน เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๐ (ค.ศ. ๑๘๕๗) แสดงว่าออกตระเวนไปกับพ่อ

    ๒๔ อ่านชื่อไม่ออก

    ๒๕ คงหมายถึงลูกชายคนเล็ก คือโรเบิร์ต บังเกอร์ (Robert Edward Bunker) ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียงขวบเศษ

    ๒๖ Toledo, Ohio

    ๒๗ James Montgomery Bunker เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๑ (ค.ศ. ๑๘๔๘) เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ (ค.ศ. ๑๙๒๑)

    ๒๘ Patrick Henry Bunker เกิดเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๓ (ค.ศ. ๑๘๕๐) เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (ค.ศ. ๑๙๓๘)

    ๒๙ Susan Mariana Bunker น้องสาวของแนนซี ลูกของจัน เกิดเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๒ (ค.ศ. ๑๘๔๙) และเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ (ค.ศ. ๑๙๒๒)

    ๓๐ Georginna Columbia Bunker เกิดเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ (ค.ศ. ๑๘๖๓)

    ๓๑ Croup อาการหดเกร็งของลาริงซ์ทำให้หายใจลำบาก คล้ายหลอดลมอักเสบ บางแห่งแปลว่าโรคซาง

    ๓๒ คำว่า เรา ในที่นี้น่าจะหมายถึงสตีเฟน ดีเคเตอร์ และเจมส์ มอนต์โกเมอรี ผู้เป็นน้องชาย

    ๓๓ ต้นฉบับคือ Wm ซึ่งคงหมายถึง William แต่ไม่ทราบว่าคือวิลเลียมที่เป็นลูกคนหนึ่งของอิน หรือนายแพทย์วิลเลียมที่เป็นคนสนิทคนหนึ่งของครอบครัว

    ๓๔ Frank Graves ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของครอบครัว เป็นผู้เขียนบันทึกเรื่องราวส่วนหนึ่งของอิน-จัน รวมทั้งเรื่องญาติที่ชื่อนายชู

    ๓๕ R. S. Gilmer

    ๓๖ ชื่อของนายกิลเมอร์ในที่นี้สะกดว่า Gillmer ซึ่งแตกต่างไปจากชื่อเดียวกันในเอกสารอื่นๆ

    ๓๗ สตีเฟน ดีเคเตอร์



    แหล่งข้อมูลอ้างอิง

    ข้อมูลเรื่องการรู้หนังสือของชาวอเมริกัน จากเว็บไซต์ http://nces.ed.gov/naal/historicaldata/litenroll.asp

    วิลาส นิรันดร์สุขศิริ. แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต. มติชน, ๒๕๔๙.

    หนังสือพิมพ์ New York Herald ฉบับประจำวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔)

    Hunter, Kay. Duet for a Lifetime. London : Michael Joseph, 1964.

    Wallace, Irving และ Wallace, Amy. The Two. New York : Simon & Schuster, 1978
     

แชร์หน้านี้

Loading...