มาฆบูชา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 22 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    วันนี้เป็นวันมาฆบูชา คล้ายกับวันปลงพระชนมายุสังขารของพระพุทธเจ้า ที่จะทรงลาโลกลาสงสาร หรือลาเรือนจำแห่งวัฏจักร สละธาตุขันธ์ทิ้ง เพราะเป็น “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” มาเป็นเวลาแปดสิบพระพรรษาแล้ว ซึ่งเป็นภาระหนักมาก ทรงแบกมาถึง ๘๐ ปี หนักตลอดเวลา ไม่เคยเบาเลย คือธาตุขันธ์นี้แล อย่างอื่นยังมีเบาบ้างหนักบ้าง พอได้หายใจโล่ง ข้าว น้ำ เราหาบหิ้วมาหนักๆ นี่ เราคดกินไป รินไป ใช้อย่างอื่นไป ก็หมดไป หมดไป แล้วก็เบาไป ส่วนธาตุขันธ์แบกมาตั้งแต่วันเกิดไม่เคยเบา หนักมาเรื่อยๆ ยิ่งเฒ่ายิ่งแก่ กำลังวังชาที่จะแบกจะหามไม่พอ ก็ยิ่งปรากฏว่าหนักขึ้นไปโดยลำดับ ท่านจึงว่า “ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้งห้านี้เป็นภาระอันหนักมาก”

    แบกรูป แบกกายหนักแล้วยังไม่แล้ว ยังแบกทุกขเวทนาที่มีอยู่ในกาย แบกสัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งล้วนแต่เป็นของหนัก และยังทิ่มแทงหัวใจเราอีกด้วยไม่เพียงหนักเฉยๆ มันยังมีหนามอันแหลมคมเสียบแทงเข้ามาภายในกายในใจอีก

    พระพุทธเจ้าท่านทรงอดทนแบกธาตุขันธ์นี้มาจนถึง ๘๐ พระพรรษา วันนี้พูดง่ายๆ ก็ว่า “โอ๊ย! ขันธ์นี้เหลือทนแล้ว ลาเสียทีเถอะ!” อันเป็นการปลงพระทัยว่า จะทรงปลงพระชนมายุสังขาร จากนี้ไปอีกสามเดือนจะทรงสลัดปัดทิ้งภูเขาภูเรานี่เสียที ทรงตรึกในวันเพ็ญเดือนสามเช่นนี้ ในวันเพ็ญเดือนสามนั้นเองปรากฏว่า ยังมีพระสาวก ๑,๒๕๐ องค์ ต่างองค์ต่างมาด้วยอัธยาศัยน้ำใจของตัวเอง ซึ่งไม่ต้องถูกเชื้อเชิญนิมนต์มาแม้แต่องค์เดียว มารวมกันในวันนั้นโดยพร้อมเพรียง จึงได้ประทานพระโอวาท เป็น “วิสุทธิอุโบสถ” ขึ้น ให้บรรดาสาวกอรหันต์ทั้งหลาย เป็นเครื่องรื่นเริงในธรรมของพระพุทธเจ้าที่ประทานในวันนั้น ในบทความย่อ ๆ ว่า

    สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา,
    สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.
    อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร,
    มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ,
    อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

    นี่เป็นพระโอวาทที่ประทานเป็นเครื่องรื่นเริงแก่บรรดาพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ในเวลาบ่าย ซึ่งคล้ายกับวันนี้ พระโอวาททั้งหมดนั้นเป็นเครื่องรื่นเริงสำหรับสาวกอรหันต์เหล่านั้น ไม่ใช่แสดงเพื่อให้ท่านเหล่านั้นยึดเป็นเครื่องมือ เพื่อซักฟอกกิเลส หรือนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสอาสวะออกจากจิตใจแต่อย่างใด เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ล้วนๆ แล้วทั้งนั้น จึงเรียกว่า “วิสุทธิอุโบสถ” ที่ประทานพระโอวาทในท่ามกลางพระสาวกอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ นี้ก็เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏอีกเลยในศาสนาของพระพุทธเจ้า ทั้งตอนที่ยังทรงพระชนม์อยู่และเวลาที่ปรินิพพานไปแล้ว และตลอดไป คงไม่มีซ้ำอีก

    ที่เราระลึกถึงท่านเหล่านั้น ก็เพราะท่านเป็น “อัจฉริยบุคคล” เป็นบุคคลอัศจรรย์ ในท่ามกลางแห่งมนุษย์ทั่วโลกที่ล้วนเป็นผู้มีกิเลสโสมม หมักหมมอยู่ภายในใจ ไม่ปรากฏแม้คนหนึ่งจะบริสุทธิ์อย่างท่าน

    “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” การไม่ทำบาป ความเศร้าหมองอันเป็นความทุกข์ทั้งปวง หนึ่ง คือบาปทางใจนั้นสำคัญมาก คนเราสร้างได้ทุกเวลา บาปทางกาย ทางวาจายังมีกาลมีเวลา แต่บาปทางใจที่สร้างความเศร้าหมองขึ้นมาแก่จิตใจนั้น มันเกิดขึ้นด้วยความคิดความปรุงของตัวเอง สิ่งที่ผลักดันออกมาให้ปรุงให้จิตใจเศร้าหมอง ก็คือสิ่งที่เศร้าหมองอยู่แล้ว สิ่งที่สกปรกอยู่แล้วภายในใจ ท่านเรียกว่า “กิเลส” กิเลสเป็นเครื่องปรุงแต่งสัญญา, สังขารออกมา มันเป็นกิเลสอีกประเภทหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง การทำบาป คือการสร้างความเศร้าหมอง ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเที่ยวฉกลัก ปล้นสะดมใครก็ตาม อันนั้นเป็นส่วนหยาบ บาปส่วนกลาง ส่วนละเอียดนั้น คนเรามักสร้างกันอยู่ภายในใจตลอดเวลา จึงเท่ากับสร้างความเศร้าหมองอยู่ภายในจิตตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อใจเป็นความเศร้าหมอง นั่งอยู่ก็เศร้าหมอง เพราะนั่งอยู่ก็สร้างความเศร้าหมองให้แก่ใจ ยืน เดิน นั่ง นอน คิดได้สร้างได้ทั้งนั้น ใจจึงเศร้าหมองได้ทุกอิริยาบถ ท่านสอนให้ไม่ทำความเศร้าหมองนี้ประการหนึ่ง

    จะทำด้วยวิธีใด ใจจึงจะไม่เศร้าหมอง? “กุสลสฺสูปสมฺปทา” จงยังความฉลาดให้ถึงพร้อมเพื่อจะแก้ไข เพื่อซักฟอกความเศร้าหมอง คือ “บาป” นั้นออกจากใจ แล้วกลายเป็น “สจิตฺตปริโยทปนํ” ขึ้นมา คือใจจะผ่องใส เมื่อความฉลาด คือมีสติ มีปัญญา เป็นเครื่องซักฟอกบาปความเศร้าหมอง ความสกปรกทั้งหลายออกจากใจ ใจก็เป็นความผ่องใสขึ้นมาที่เรียกว่า “สจิตฺตปริโยทปนํ” บาปน้อย บาปใหญ่ก็ค่อยหมดไป หมดไป กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา นี่คือพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น สอนให้พวกเราทำอย่างนี้ด้วยกัน จึงไม่มีทางอื่นที่จะเลือก

    หากมีทางเลือก พอผ่อนหนักผ่อนเบาได้ ก็ไม่มีใครที่จะเฉลียวฉลาดแหลมคมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า คงจะสานอู่สานเปลให้พวกเรานอกเอกเขนก ฆ่ากิเลสอยู่ในอู่ในเปลเรื่อยไปจนไม่มีเหลือ สมพระนามว่าเป็น ศาสดาที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกผู้อ่อนแอขี้บ่น แต่พระองค์ทรงทำ “ทางลัด ทางตรง” ให้แล้ว เต็มพระปรีชาสามารถ

    พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาจนได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงชำระกิเลสออกจากพระทัยไม่มีอันใดเหลือด้วยธรรมใด จึงต้องทรงสอนไปตามแนวทางที่ถูกต้องนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงเลือกเฟ้นเต็มพระสติกำลังความสามารถแล้ว จึงได้ธรรมที่เหมาะสมแก่บรรดาสัตว์มาสั่งสอนโลก

    คำว่า “เหมาะสม” นั้น ไม่ใช่เหมาะสมกับความชอบใจของบรรดาสัตว์ แต่เป็นความเหมาะสมในการแก้กิเลสของสัตว์โลกต่างหาก ธรรมที่ถูกต้องเหมาะสมมีเท่านี้ ไม่มีธรรมอื่นที่ยิ่งไปกว่า คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่ประทานไว้แล้วเท่านั้น นอกจากนี้ไม่มีธรรมใด เครื่องมือใด วิธีการใด ที่กิเลสจะกลัว กิเลสจะหลุดลอยออกไป แม้แต่ผิวหนังถลอก

    อนูปวาโท อย่าไปกล่าวไม่ดีกับผู้หนึ่งผู้ใด
    อนูปฆาโต อย่าฆ่า อย่าทำลาย หรือทำร้ายสัตว์ มนุษย์ ไม่ดี
    ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร สำรวมอยู่ในข้ออรรถข้อธรรมที่จะเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส
    มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ให้รู้จักประมาณในการกินอยู่ปูวาย อย่าให้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุเกินผลสำหรับนักปฏิบัติ ให้รู้จักประมาณในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตน
    ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ให้แสวงหาที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อกำจัดกิเลสด้วยความวิเวกนั้นๆ
    อธิจิตฺเต จ อาโยโค พึงประกอบจิตให้ยิ่งในอรรถธรรมด้วยสติปัญญาไปโดยลำดับ

    เมื่อขยายความออกก็มีเท่านี้ นี่เป็นพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หรือเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ประทานไว้

    เวลาประกาศธรรมให้เป็นเครื่องรื่นเริงแก่บรรดาสาวก ท่านประกาศอย่างนี้ เวลาทรงสอนสาวกเหล่านี้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านก็ทรงสอน “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” นี้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นความจำเป็นที่พวกเราทั้งหลายจะต้องปฏิบัติตามนั้น มีทางเดียวที่จะทำให้กิเลสหมดสิ้นไปจากใจได้โดยลำดับๆ พระโอวาทนี้ถึงใจพวกเราไหม? หรือมีเฉพาะอู่กับเปลเท่านั้นที่ถึงใจพวกเราน่ะ

    ธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทรงถอดถอนจากพระทัยมาสอนพวกเรา พวกเราถึงใจบ้างไหม? พระองค์ก็ประทานด้วยพระเมตตาเต็มส่วน พวกเรารับด้วยความจงรักภักดี เต็มจิตเต็มใจ มากน้อยประการใดบ้าง? หากว่าการรับธรรมดุจจะทิ้งเสีย ธรรมก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เรา ไม่สมเจตนาที่พระพุทธเจ้าประทานไว้

    ถึงวันเพ็ญเดือนหก ก็เป็นวันทรงปลงสังขาร ตามที่ทรงประกาศไว้ ตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งคล้ายกับวันนี้ จากนั้นมา เรื่องธาตุเรื่องขันธ์สิ่งบังคับก่อกวน ก็หมดสิ้นไปจากพระพุทธเจ้า เป็น “อนุปาทิเลสนิพพาน” ล้วนๆ หมดความกังวล หมดความรับผิดชอบในสมมุติทั้งปวง ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย นี่เรียกว่า “ธรรมเหนือโลก” “ธรรมสุดส่วน”

    โลก คือสมมุติทั้งหลายนั้นเอง สมมุติน้อยใหญ่ มีอยู่ในโลกนี้ทั้งนั้น “สามโลก” คือ โลกแห่งความสมมุติแห่งความเสกสรร แห่งความแปรปรวน “โลกแห่งอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ซึ่งเป็นโลกก่อความวุ่นวายตลอดสาย ไม่ว่าจะเป็นภพใด ชาติใด เป็นโลกที่หมุนไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นเจ้าอำนาจ เป็นทางเดิน ใครจะหักห้ามไม่ได้ พอพ้นจากนี้แล้ว ก็หมดปัญหา!

    นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต หมดความหิวโหย ดับสนิท ไม่มีสมมุติใดๆ เหลืออยู่เลย ธรรมนี้เป็นเครื่องกังวานอยู่ในความจริง ที่พระองค์ตรัสไว้ทุกแห่งหน

    ถ้าเราได้น้อมเข้ามาประพฤติปฏิบัติด้วยความซึ้งใจในธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้นก็จะมากังวานอยู่ในจิตของเรา เบื้องต้นก็จะกังวานอยู่ในความสงบร่มเย็นภายในใจ คือสมาธิเป็นขั้นๆ แล้วก็กังวานอยู่ด้วยปัญญา ความคิดค้นหาเหตุผล เพื่อเปลื้องตนให้หลุดพ้นได้เป็นระยะๆ สุดท้ายก็กังวานถึง “ความบริสุทธิ์” หลุดพ้นโดยประการทั้งปวง นั่น! นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโต ดับความหิวโหยอะไรทั้งหมด เพราะกิเลสทุกประเภทเป็นเชื้อแห่งความหิวโหยทั้งนั้น ไม่มีความอิ่มตัว ไม่มีความพอตัว ก็คือกิเลส เราจะยกน้ำในมหาสมุทรมาทั้งมหาสมุทรก็สู้ความหิวนี้ไม่ได้ “นตฺถิ ตณฺหาสมา นที” ความหิวโหยด้วยอำนาจของกิเลสนี้ จะเอาแม่น้ำมหาสมุทรมาแข่งก็สู้ไม่ได้ มีเต็มอยู่ในหัวใจของสัตว์โลก ไม่เคยบกพร่องเลย ตลอดกาลไหน ๆ

    เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙
    Luangta.Com -
    มาฆบูชา (คัดลอกมาบางส่วน)
     

แชร์หน้านี้

Loading...