พุทธธรรมสำหรับผู้บำเพ็ญบารมี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย น้ำตาลปี๊บ, 13 มกราคม 2005.

  1. น้ำตาลปี๊บ

    น้ำตาลปี๊บ บุคคลทั่วไป

    ค่าพลัง:
    +0
    พุทธธรรมสำหรับผู้บำเพ็ญบารมี

    "พระไตรปิฎกฉบับมังกร"เป็นการนำเสนอบางส่วนของพระไตรปิฎกซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนาโดยตรง "พระไตรปิฎกฉบับมังกร" นี้จึงเปรียบเสมือน "พุทธธรรมสำหรับผู้บำเพ็ญบารมี" หรือผู้ที่เป็นเช่นดัง "มังกร" เท่านั้น อันจะเป็นหนทางนำไปสู่จุดมุ่งหมายบสูงสุดแห่งการพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณได้อย่างสมบูรณ์

    คัดจาก "พุทธธรรมสำหรับผู้บำเพ็ญบารมี เล่มที่ 9 -- ดร.สุวินัย ภรณวลัย"

    - 1 -
    ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเตียนเรา กล่าวติเตียนพระธรรมหรือกล่าวติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรผูกอาฆาตแค้นเคืองขุ่นใจคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอโกรธเคืองหรือไม่พอใจพวกเขา พวกเธอก็จะประสบอันตรายเผชิญอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมชั้นสูง เพราะความโกรธเคืองนั้นได้

    ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกคนอื่นจะฟังกล่าวยกย่องเรา กล่าวยกย่องพระธรรม หรือกล่าวยกย่องพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจต่อคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอทำความรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจต่อพวกเขา พวกเธอก็จะประสบอันตรายเผชิญอุปสรรคต่อการบรรลุธรรมชั้นสูงเพราะความรื่นเริงดีใจนั้นได้

    - 2 -
    ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต มักกล่าวได้แค่เรื่องเล็กน้อยต่ำต้อยเพียงเรื่องระดับศีลที่มองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้น แต่แม้กระนั้นก็ยังเห็นได้ชัดว่า ตถาคตเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา (วิชาที่ขวางทางไปสู่นิพพาน) อันได้แก่ การทำนายโชคลาง การทำนายลักษณะ ทำพิธีบูชาไฟ พิธีพลีกรรมด้วยเลือด วิชาดูพื้นที่ วิชาทำเสน่ห์ เวทมนต์ไล่ผี วิชาตั้งศาลพระภูมิ ดูฤกษ์ยาตราทัพ วิชาพยากรณ์จากดวงดาว ให้ฤกษ์มงคล ใช้คนทรงเจ้า ทำพิธีแก้บน ปรุงยารักษาโรค เหล่านี้เป็นต้น

    - 3 -
    ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนก่อนหน้าตถาคต ได้อาศัยความเพียร เครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาทและอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี จนบรรจุ เจโตสมาธิ เป็นเหตุให้จิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผุดผ่องจนสามารถระลึกชาติได้หลายชาติ จำตัวเองได้ว่าชาตินั้น ๆ ตัวเองชื่ออะไร มีวรรณะอะไร มีชีวประวัติอย่างไร ครั้นฝึกจิตจนระลึกชาติย้อนกลับไปไกลแสนไกลจนนับไม่ถ้วนได้แล้วจึงเชื่อว่า อัตตาเที่ยง หรือ วิญญาณอมตะ (อาตมัน) มีอยู่จริง
    แต่ตถาคตได้เข้าถึงธรรมที่ลึกซึ้งกว่านั้นอีกได้แล้ว ธรรมนี้เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะผู้มีปัญญาซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้เอง ทำให้ตถาคตรู้ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก จึงไม่ยึดมั่นกับทิฏฐิว่า อัตตาเที่ยงหรือวิญญาณอมตะมีอยู่จริงได้ ตถาคตหลุดพ้นได้เพราะความไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้


    - 4 -
    ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดถึงความคิด ความดับ คุณ โทษ แห่งผัสสายตนะ 6 และอุบายเครื่องสลัดผัสสายตนะเหล่านั้นออกตามความเป็นจริง เมื่อนั้นเธอย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ที่เชื่อว่าอัตตาเที่ยงโลกเที่ยง หรือเชื่อในวาทะอื่น ๆ เพราะ ทิฏฐิ 62 นี้เป็นดุจตาข่ายที่คลุมวาทะต่าง ๆ ของสมณพราหมณ์เหล่านั้นไว้หมด แต่ต่อให้ทิฏฐิใดก็ตาม สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็ยังคงรับผัสสนะ จากอายตนะ 6 เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทานอยู่ดีจึงยังไม่อาจพ้นทุกข์ได้

    - 5 -
    ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต ขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว เทวดาและมนุษย์จัดเห็นกายของตถาคตได้ ชั่วเวลายังดำรงอยู่ หลักจากกายแตกสลายไปเพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก เปรียบเหมือนเมื่อกลุ่มผลมะม่วงถูกตัดขั้ว ผลมะม่วงทั้งหมดที่ห้อยอยู่กับขั้วก็ย่อมติดตามขั้วนั้นไปด้วย

    - 6 -
    มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย สมบูรณ์ด้วยศีลประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ถือสันโดษ ละนิวรณ์ 5 ได้ ย่อมเกิดความเบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่นเข้าสู่ฌาน

    ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง ภาวะที่ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกได้จัดเป็น ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้อย่างประณีต

    ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุ ทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิซาบซ่านอยู่ ภาวะนี้ก็จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้อย่างประณีต

    ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ ตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ภาวะนี้ก็จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้อย่างประณีต

    ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุ จตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้
    ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้องเปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศรีษะ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุมภาวะนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้อย่างประณีต


    - 7 -
    เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมองอ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ รู้ชัดอย่างนี้ว่า (วิปัสนาญาณ)

    "กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่างประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป 4 เกิดจากบิดา มารดา เจริญวัยเพราะอาหาร ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้"

    หรือภิกษุนั้น น้อมจิตไปเพื่อ เนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ (มโนมยิทธิญาณ) คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ เป็นรูปที่เกิดแต่ใจมีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
    หรือภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง(อิทธิวิธญาณ)
    หรือภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อได้ยินเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ที่อยู่ไกลด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ (ทิพพโสตธาตุญาณ)
    หรือภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อกำหนดรู้จิตของคนอื่นด้วยจิตของตน (เจโตปริยญาณ)
    หรือภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อระลึกชาติ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
    หรือภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อดูภพภูมิของหมู่สัตว์ต่าง ๆ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ (ทิพพจักขุญาณ)
    หรือภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อการหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย (อาสวักขยญาณ)
    ทั้งหมดนี้ก็จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้อย่างยอดเยี่ยมที่ไม่มีอย่างอื่นยอดเยี่ยมกว่า

    - 8 -
    อัมพัฏฐะ ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ ยึดติดเพราะอ้างตระกูล ยึดติดเพราะอ้างความถือตัว ย่อมได้ชื่อว่ายังอยู่ห่างไกลจาก วิชชาสมบัติ และ จรณสมบัติ อันเป็นคุณยอดเยี่ยมอันการทำให้แจ้งในวิชชาและจรณะอันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้เพราะละการยึดติดในชาติตระกูล และความถือตัวแล้วเท่านั้น
    จรณะ คือ การมีอริยศีล อริยอินทรียสังวร อริยสติสัมปชัญญะ อริยสันโดษ ละนิวรณ์ 5 ได้ บรรลุฌาน 4 ของภิกษุผู้ปฏิบัติ
    วิชชา คือ ญานทั้ง 8 ได้แก่ วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิญาณ อิทธิวิธญาณ ทิพพโสตธาตุญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ และอาสวักขยญาณ ของภิกษุผู้ปฏิบัติ

    - 9 -
    คุณสมบัติของพราหมณ์ ประกอบด้วย ชาติกำเนิด ความรู้ ผิวพรรณ ศีล และปัญญา ในบรรดาคุณสมบัติทั้ง 5 นี้ ศีลและปัญญาสำคัญที่สุด แต่ขาดซึ่งกันและกันไม่ได้
    ปัญญาต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์ และศีลก็ต้องมีปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ปัญญาย่อมมีในที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มีปัญญา ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา นักปราชญ์จึงยกย่องศีลและปัญญาว่าเป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก
    ศีล สมบูรณ์ได้ด้วย อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ ละนิวรณ์ 5 ได้
    ปัญญา สมบูรณ์ได้ด้วยบรรลุฌาน4 และได้ญาณทั้ง 8

    - 10 -
    ยัญที่ยอดเยี่ยมที่สุดและมีผลานิสงส์มากที่สุด มากกว่า การบูชามหายัญ มากกว่านิตยทาน มากกว่าวิหารทาน มากกว่าสรณคมน์ มากกว่าการสมาทานสิกขาบทคือการฝึกฝนตนเองจนสมบูรณ์ด้วยศีล และสมบูรณ์ด้วยปัญญา

    - 11 -
    มหาลิ ภิกษุทั้งหลายที่มาประพฤติพรหมจรรย์ในเรามิได้เพียงเพื่อบรรลุสมาธิภาวนาที่ทำให้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์เท่านั้น แท้จริงยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่า ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ สิ่งนั้นก็คืออริยผล 4 เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี และอรหันต์

    - 12 -
    การขจัดสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัด) 3 อย่างได้แก่ สักกายทิฐิ (ความเห็นว่ามีตัวตน) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) และ สีลัพพตปรามาส (การยึดติดศีลพรตอย่างงมงาย) ให้หมดไปจะทำให้บรรจุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน ซึ่งถ้าหากบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ ให้ลดน้อยลงได้ด้วยก็จะทำให้บรรลุสกทาคามิผลเป็นพระสกทาคามี

    หากขจัดสังโยชน์ 5 อย่างได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ (ความหงุดหงิดขัดเคือง) ให้หมดไปได้จะทำให้บรรลุอนาคามิผลเป็นพระอนาคามี หากขจัดให้อาสวะทั้งปวงหมดสิ้นไป จะทำให้บรรลุเจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต) และปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา) เป็นพระอรหันต์

    - 13 -
    อเจลกัสสปะ สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่า ตถาคต ตำหนิตบะทุกชนิดและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงเพราะเป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองนั้น ไม่ถือว่าพูดตรงตามที่เราพูด แต่ก็ไม่ถือว่าตู่เราด้วยคำเท็จ เพราะโดยการอาศัยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เราเห็นบุคคลผู้บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้มีอาชีวะเศร้าหมอง หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรกก็มี และไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี
    เราได้เห็นบุคคลผู้บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้อยู่เป็นทุกข์เพราะบุญน้อย หลังจากตายไปแล้วไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี เรารู้การมา การไป การจุติ และการบังเกิดของคนเหล่านั้นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ไฉนเราจัดตำหนิตบะทุกชนิด หรือคัดค้านชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงได้เล่า


    - 14 -
    การบำเพ็ญตบะที่ให้คุณเป็นประโยชน์ คือ การบำเพ็ญตบะที่เมื่อทำแล้วทำให้ผู้นั้นมีเมตตาจิตไม่จองเวร ไม่เบียดเบียนใคร แจ้งถึงในเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติได้ การบำเพ็ญตบะที่ให้คุณเป็นประโยชน์นี้ คือการบำเพ็ญตบะที่สมบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างครบถ้วน

    ตถาคต เป็นผู้ล้ำเลิศในศีลอันยอดเยี่ยม เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนี้ จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า (อธิศีล)
    ตถาคต เป็นผู้ล้ำเลิศในตบะที่กีดกันกิเลสอย่างยอดเยี่ยม เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนี้ จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า (อธิเชคุจฉะ)
    ตถาคต เป็นผู้ล้ำเลิศในปัญญาอันยอดเยี่ยม เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนี้ จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า (อธิปัญญา)
    ตถาคต เป็นผู้ล้ำเลิศในเรื่องความหลุดพ้น เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนี้ จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า (อธิวิมุตติ)
    เราบันลือสีหนาท บันลือในบริษัท บันลืออย่างองอาจ เทวดาและมนุษย์ที่มาถามปัญหาเรา เราตอบได้ เราทำให้ผู้ถามพอใจได้ พวกเขาก็สนใจฟัง ฟังแล้วก็เลื่อมใส เลื่อมใสแล้วก็แสดงออก แสดงออกแล้วก็ปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามแล้วต่างก็ชื่นชมยินดี

    - 15 -
    อภิสัญญานิโรธ คืออะไร ?
    สัญญาของคนมีเหตุมีปัจจัย เกิดก็มี ดับก็มี อย่างเช่น เมื่อจิตบรรลุปฐมฌาน กามสัญญาก็ดับไป สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกก็เกิดขึ้นมาแทน เมื่อจิตบรรลุทุติยฌาน สัจสัญญาอันเกิดจาก สมาธิ จะมาแทน สัจสัญญาอันเกิดจากวิเวก เมื่อจิตบรรลุตติยฌาน สัจสัญญาอันเกิดจากอุเบกขาจะมาแทนสัจสัญญาอันเกิดจากสมาธิ เมื่อจิตบรรลุจตุตถฌาน สัจสัญญาอันละเอียดที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขจะมาแทนสัจสัญญาอันเกิดจากอุเบกขา

    ในขั้นอรูปฌานก็เช่นกัน สัจสัญญาอันละเอียดในขั้นอรูปฌานที่สูงกว่าจะเกิดขึ้นแทนสัจสัญญาอันละเอียดของชั้นอรูปฌานที่ต่ำกว่าที่ดับไป จนเมื่อถึงขั้น อากัญจัญญายตนฌาน (อรูปฌาน ขั้นที่ 3) จะถือเป็น ที่สุดแห่งสัญญา เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วผู้นั้นย่อมเกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า

    "เมื่อตัวเรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะดีกว่า ถ้าเรายังคิดคำนึง สัญญาเหล่านี้ที่เราได้มาตั้งแต่ระดับฌาน 4 จนถึงอรูปฌาน ผ่าน อากาสานัญจายตนฌาน และ วิญญาณัญจายตนฌาน จนมาถึง อากัญจัญญายตนฌาน อันเป็นที่สุดของสัญญาแล้วจะพึงดับ สัญญาอื่นที่หยาบกว่าจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่ควรคำนึง"

    เมื่อผู้นั้นได้คิดอย่างนี้แล้วจึงไม่คิดไม่คำนึง เมื่อไม่คิดไม่คำนึงสัญญานั้นจึงดับไป จิตนั้นผ่านเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (อรูปฌาน 4) และสัญญาอื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้นในขั้นสุดท้ายจึงบรรลุ สัญญานิโรธ อันเป็นการเข้าถึงความดับสัญญาโดยมีความรู้ตัวได้
    อนึ่ง เพราะสัญญาเป็นปัจจัย ญาณจึงเกิดขึ้นแก่เรา ญาณทั้ง 8 ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ผู้บรรลุสัญญานิโรธแล้ว
    - 16 -
    เรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เราไม่ขอตอบด้วยเหตุนี้ เราจึงตอบเรื่องทุกข์ เรื่องทุกขสมุทัย เรื่องทุกขนิโรธ และเรื่องทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นหลักเท่านั้น

    - 17 -
    โปฏฐปาทะ เพราะเหตุไร เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเอกังสิกธรรมเล่า เพราะว่าธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ มีสาระ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

    โปฏฐปาทะ เราแสดงธรรมเพื่อละการได้อัตตภาพที่หยาบ (อัตตภาพที่มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป 4) เพื่อละการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ (อัตตภาพที่มีรูปสำเร็จด้วยใจมีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง) และเพื่อละการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป (อัตตภาพที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา) ซึ่งถ้าหากพวกท่านปฏิบัติตามนั้นก็จะละธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง (สังกิเลสิกธรรม) ได้ และ ธรรมที่ทำให้จิตผ่องแผ้ว (โวทานิยธรรม) ก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้

    - 18 -
    จิตตะ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่หยาบก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป มีเพียงการได้อัตตภาพที่หยาบเท่านั้น ส่วนในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่หยาบและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป และในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่หยาบและอัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ มีเพียงการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปเท่านั้น

    เปรียบเหมือนนมสดมาจากแม่โค นมส้มมาจากนมสด เนยข้นมาจากนมส้ม เนยใสมาจากเนยข้น หัวเนยใสมาจากเนยใส ในเวลาที่ยังเป็นนมสดก็ไม่นับว่าเป็นนมส้ม ไม่นับว่าเป็นเนยข้น เนยใส หัวเนยใส ยังเป็นนมสดเท่านั้น อย่างอื่นก็เช่นกัน ทั้งหมดนี้แลเป็น โลกสมัญญา(ชื่อที่ชาวโลกใช้เรียก) เป็นโลกนิรุตติ (ภาษาของชาวโลก) เป็น โลกโวหาร (โวหารของชาวโลก) เป็นโลกบัญญัติ (บัญญัติของชาวโลก) ซึ่งเราตถาคตก็ใช้อยู่แต่ไม่ยึดถือ

    - 19 -
    ภิกษุ เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตร ภรรยา เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ ตัวเขาจึงได้รับความเบิกบานใจและสุขใจ

    เปรียบเหมือนคนไข้อาการหนักบริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลังต่อมาหายป่วยบริโภคอาหารได้ กลับมีกำลัง เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ ตัวเขาจึงได้รับความเบิกบานใจและสุขใจ

    เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมาพ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและสุขใจ

    เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาสพึ่งตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่นจะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ ต่อมาพ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเองจะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เพราะความเป็นไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ ตัวเขาจึงได้รับความเบิกบานใจและสุขใจ

    เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติที่เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้าต่อมาข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็นปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ เพราะการลุถึงภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ ตัวเขาจึงไดัรับความเบิกบานใจและเป็นสุข

    ภิกษุถึงพิจารณานิวรณ์ 5ที่ตนยังละไม่ได้เหมือน หนี้ โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร และจงพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนจะได้แล้วเหมือนความไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถานอันสงบร่มเย็นเกิด

    เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความเบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เมื่อมีกายสงบย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุขจิตย่อมตั้งมั่น

    การละนิวรณ์ 5 คือ การละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้) ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌา ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความพยาบาท คือความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาทมุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาท ละถีนมิทธะ (ความหดหู่เซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมทั้งหลาย ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา จิตตั้งมั่น เข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานตามลำดับ แต่แม้ภิกษุปฏิบัติอริยสมาธิขันธ์ ได้สมบูรณ์อย่างนี้แล้วก็ตาม ในพระธรรมวินัยนี้ก็ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสมาธิขันธ์อยู่อีกคือ อริยปัญญาขันธ์เหมือนกับที่แม้ปฏิบัติอริยสีลขันธ์สมบูรณ์แล้วก็ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์อยู่อีก

    - 20 -
    ภิกษุ ในอริยปัญญาขันธ์ นั้นประกอบด้วย วิชชา 8 ประการ
    (1) วิปัสสนาญาณ เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีเหลี่ยมที่
    เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือพิจารณาดูก็รู้คุณค่าของแก้วไพฑูรย์นั้นตามความเป็นจริง การที่ภิกษุพิจารณากายนี้ตามความเป็นจริงได้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของ ภิกษุ
    (2) มโนมยิทธิญาณ เปรียบเหมือนคนชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง รู้ว่านี้คือหญ้าปล้อง นี้คือไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไส้ถูกชักออกมาจากหญ้าปล้องนั่นเอง หรือเปรียบเหมือนคนชักดาบออกจากฝัก ดาบเป็นอย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ดาบถูกชักออกมาจากฝักนั่นเอง การที่ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดจากใจ คือเนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่องก็จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
    (3) อิทธิวิธญาณ เปรียบเหมือนช่างหม้อเมื่อนวดดินเหนียวดีแล้วก็สามารถทำ
    ภาชนะที่ต้องการให้สำเร็จได้ การที่ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ก็จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
    (4) ทิพพโสตธาตุญาณ เปรียบเหมือนคนเดินทางที่มีประสบการณ์มากได้ยินเสียงดนตรีแต่ไกลก็แยกแยะได้ว่านั่น
    เสียงกลอง เสียงสังข์ เสียงตะโพน การที่ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณ ได้ยินเสียง 2 ชนิดคือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ก็จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
    (5) เจโตปริยญาณ เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกใสสะอาดหรือในภาชนะน้ำใส ย่อมเห็นไฝฝ้าบนใบหน้าของตนอย่างชัดเจนได้ การที่ภิกษุน้อมจิตไปกำหนดรู้จิตของผู้อื่นด้วยจิตของตนได้ ก็จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
    (6) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เปรียบเหมือนคนจากบ้านตนไปบ้านอื่นแล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีกแล้วเขาจากบ้านนั้นกลับ
    มายังบ้านเดิมของตน การที่ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อระลึกชาติก่อนได้หลายชาติก็จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
    (7) ทิพพจักขุญาณ เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวง คนตาดียืนบนปราสาทนั้น เห็นหมู่ชนกำลังสัญจรไปมา การที่ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อส่องดูภพภูมิต่าง ๆ ของหมู่สัตว์ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ก็จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ
    (8) อาสวักขยญาณ เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดเขา คนตาดีที่ยืน
    อยู่ขอบสระนั้นย่อมเห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด ก้อนหินหรือฝูงปลาที่กำลังแหวกว่ายอยู่ได้อย่างชัดเจน การที่ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อรู้อริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง รวมทั้งรู้อาสวะ อาสวสมุทัย อาสวนิโรธ และอาสวนิโรธคามินีปฏิปทา จนจิตสามารถหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะได้ ก็จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

    - 21 -
    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่นที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ฉะนั้นขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดมีพระบัญชาให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยอุตตริมนุสสธรรม (ธรรมยวดยิ่งของมนุษย์ผู้เยี่ยมยอด ซึ่งได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส จิตปลอดจากนิวรณ์ ความยินดีในเรือนว่าง) ได้ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ"

    เกวัฏฏะ เราไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิดพวกเธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยอุตตริมนุสสธรรมแก่คฤหัสถ์ อันปาฏิหาริย์นั้นเรารู้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งของเราว่ามีอยู่ 3 อย่างคือ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์

    แต่อิทธิปาฏิหาริย์ที่แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างนี้ ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสก็ยังอาจกล่าวติได้ว่า "มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่า คันธาริ หรือ วิชาฤาษีที่คันธาระ ภิกษุรูปนั้นที่แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างก็เพราะมีวิชานั้น" เราจึงเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

    ส่วน อาเทสนาปาฏิหาริย์ ที่สามารถทายจิต รู้ใจผู้อื่นได้ ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสก็ยังอาจกล่าวติได้ว่า "มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่า มณิกา (จินดามณี) ภิกษุรูปนั้นที่ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้เป็นดังนี้ ก็เพราะมีวิชานั้น" เราจึงเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

    ส่วน อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ การถ่ายทอดพร่ำสอนพุทธธรรม (ท่านจงตรึกตรองอย่างนี้ อย่าตรึงตรองอย่างนั้น จงใส่ใจอย่างนี้ อย่าใส่ใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด) และคือการทำตนให้สมบูรณ์ด้วยอริยศีล อริยสมาธิและอริยปัญญา อนุสาสนียปาฏิหารย์อย่างนี้เป็นคุณ เรายินดี เต็มใจ และพอใจในการแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์

    - 22 -
    "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป 4 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหนหนอ"
    ภิกษุปัญหานี้เธอไม่ควรถามเราเช่นนี้ แต่เธอควรถามเราว่ามหาภูตรูป 4 ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน หรือนามและรูปย่อมดับสนิทในที่ไหน เพราะต่อให้เธอฝึกจิตจนท่องไปใน 3 ภพได้ เธอก็จะไม่ได้คำตอบในปัญหาที่เธอถามเราหรอก แต่ถ้าเธอถามเราว่า มหาภูตรูป 4 ตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน
    เราสามารถตอบเธอได้ว่า มหาภูตรูป 4 ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในนิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีที่สุด แต่มีท่าข้าม (การฝึกกรรมฐาน) โดยรอบด้าน นามและรูปก็ย่อมดับสนิทในนิพพานนี้เช่นเดียวกัน

    - 23 -
    ผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิ หรือมีความเห็นผิดว่า ผู้บรรลุธรรมแล้วไม่ควรสอนคนอื่นเปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว ก็ไม่ควรสร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เพราะไม่มีผู้รับค่าสอนใดจะช่วยผู้สอนที่บรรลุธรรมแล้วได้นั้น เราตถาคตกล่าวว่า มีคติอย่าง 1 ใน 2 อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉานที่จะไปเกิดเท่านั้น

    - 24 -
    โลหิจจะ ศาสดา หรือคุรุ 3 ประเภทต่อไปนี้ สมควรถูกทักท้วง
    (1) คุรุที่ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ แต่กลับแสดงธรรมสอนศิษย์ มิหนำซ้ำศิษย์ก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง ศึกษาและหลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน คุรุประเภทนี้สมควรถูกทักท้วง ซึ่งการทักท้วงของผู้ทักท้วงก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
    (2) คุรุที่ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนศิษย์ แม้ศิษย์จะตั้งใจฟังศึกษา และปฏิบัติตาม ก็ยังถือว่าคุรุประเภทนี้สมควรถูกทักท้วง
    (3) คุรุที่ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิตจนบรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะแล้วก็แสดงธรรมสอนศิษย์ แต่ศิษย์ของเขากลับไม่ตั้งใจฟัง ศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งสอน คุรุประเภทนี้ก็ยังสมควรที่จะถูกทักท้วงอยู่ดี

    - 25 -
    วารสฏฐะ พราหมณ์ผู้กำหนัด หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญหาที่จะสลัดออกจากกามคุณ 5 ที่ทำให้รู้สึกหลงไหลน่ารักน่าใคร่ พราหมณ์นั้นเท่ากับละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ หลังจากตายแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม

    พราหมณ์ที่จะเข้าถึงพรหมได้ ต้องไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ไม่คิดจองเวร ไม่คิดเบียดเบียน มีจิตไม่เศร้าหมองและบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้

    ภิกษุก็เช่นกัน ถ้าภิกษุละนิวรณ์ 5 ได้ พิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ที่ตนละได้แล้ว เบิกบานใจเกิดปีติ กายสงบ มีความสุข จิตตั้งมั่น แผ่เมตตาจิตไปทั่วทุกสารทิศ แผ่ไปตลอดโลกด้วยจิตอันไพบูลย์ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน

    กรรมที่ภิกษุกระทำให้เมตตาเจโตวิมุตติที่ภิกษุได้อบรมแล้วจะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจร และอรูปาวจร นี้แหละที่เป็นทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม

    กรุณาจิต มุทิตาจิตและอุเบกขาจิต ก็เช่นกันย่อมเป็นทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมได้



    (พระไตรปิฏกฉบับมังกร โดย ดร. สุวินัย ภรณวลัย)
     
  2. endu

    endu เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 พฤศจิกายน 2004
    โพสต์:
    1,403
    ค่าพลัง:
    +5,847
    สวัสดีค่ะคุณน้ำตาลปิ๊บชื่อคุ้นจังอ่านซะตาลายเลยค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...