พึ่งธรรมลดฆ่าตัวตาย ทางออกชาวพุทธโลก

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 6 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    0b8a3e0b8a1e0b8a5e0b894e0b886e0b988e0b8b2e0b895e0b8b1e0b8a7e0b895e0b8b2e0b8a2-e0b897e0b8b2e0b887.jpg

    การประชุมชาวพุทธโลกครั้งที่ 29 ณ เมืองนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ปรัชญา “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก”

    ชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมกัน ในการประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) องค์การยุวชนพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ย.พ.ส.ล.) และมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก (มพล.) ที่โรงแรมแมรอด อินเตอร์เนชั่นแนล ระหว่างวันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ท่ามกลางบรรยากาศผลการวิจัยของญี่ปุ่นออกมาว่าชาวญี่ปุ่นมีอัตราฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

    อัตราการฆ่าตัวตายในผู้ชายวัยกลางคนที่ประเทศญี่ปุ่นมักจะพุ่งสูงในช่วงเช้าวันจันทร์ ตามรายงานการวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยวาเซดะและมหาวิทยาลัยโอซากา วิจัยพบว่าช่วงเวลาหนึ่งๆ ของวันเกี่ยวข้องกับจำนวนผู้ฆ่าตัวตาย จากการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใหญ่ 870,000 คนที่ฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นช่วงปี ค.ศ.1974-2014 พบว่าวันในแต่ละสัปดาห์ และช่วงเวลาของวันที่คนมีแนวโน้มฆ่าตัวตายจะแตกต่างกันไปตามเพศและอายุอีกด้วย

    อาทิ ผู้ชายในช่วงอายุ 40-65 ปี มีการฆ่าตัวตายระหว่างเวลา 04.00-07.59 น. เป็นต้น

    สำหรับการประชุมของชาวพุทธโลกได้ลงมติใหม่ 3 ข้อใหญ่ คือ 1.พ.ส.ล.ได้แก้ไขธรรมนูญบางข้อสำเร็จ 2. ย.พ.ส.ล. องค์กรลูกได้ประธานคนใหม่เป็นพระญี่ปุ่น ชื่อฮากุกะ มูระยามา (Hakuga Murayama) แห่ง All Japan Young Buddhist Association นับเป็นคนแรกที่มิใช่คนไทยที่ดำรงตำแหน่งนี้ และ 3.มพล.ซึ่งเป็นองค์กรลูกของ พ.ส.ล.ได้แก้ไขธรรมนูญเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และโปร่งใส เช่นระบุว่า การทำงานให้ มพล.นั้นเป็นการทำงานในรูปกิตติมศักดิ์ มิใช่งานประจำที่มีเงินเดือน

    การประชุมครั้งนี้ พระศากยวงศ์วิสุทธ์ิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก กล่าวสรุปบนเวทีก่อนปิดการประชุมที่วัด Sojiji เมืองโยโกฮามา ว่า นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจดจำที่ชาวพุทธทั่วโลกมารวมตัวกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน

    และในเวลา 10.00 น. วันที่ 9 พ.ย.2561 ได้มีการสวดมนต์เพื่อความเมตตาและสันติภาพต่อชาวโลก ตามพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เคร่งขรึมด้วยวิถีแห่งเซน โดยมีพระคุณเจ้า Shinzan Egawa ประธานสมาพันธ์ชาวพุทธญี่ปุ่นและเจ้าอาวาสวัดโซจิจิ เป็นประธาน ท่ามกลางชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์หลายร้อยคนทั่วโลก เต็มหอประชุมใหญ่และอลังการ

    ความเมตตานั้น มิเพียงแต่เมตตาผู้อื่น หากต้องเมตตาตนเอง เพื่อปราศจากทุกข์กังวลใดๆ อันจะนำมาซึ่งความสุขแห่งตน และไม่คิดร้ายทำลายตนด้วย

    วัดโซจิจิเป็นวัดโบราณ นิกายโซโตเซน ตั้งอยู่ในที่กว้างใหญ่ร่มรื่นด้วยแมกไม้เหมือนสวนใหญ่กลางกรุง มีอาคารสถานปฏิบัติธรรม ประกอบด้วยโครงสร้างที่เป็นไม้ พื้นปูด้วยไม้กระดานแผ่นใหญ่ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เช่น เดิน นั่งสมาธิ และกิจกรรมอื่นๆอันหลากหลาย

    ส่วนบรรยากาศการประชุมในวันแรกๆที่โรงแรมนั้น ท่านมาซา-มิชิ โชโดะ โคบายาชิ รองประธาน พ.ส.ล. เป็นประธานการประชุม แทนนายแผน วรรณเมธี ประธาน พ.ส.ล. ได้รับการชื่นชมจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะเจ้าภาพว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง จากผู้เข้าประชุมประมาณ 500 รูป/คน จากภาคีสมาชิก 202 ภาคี ที่เดินทางมาจาก 51 ประเทศทั่วโลก

    พระคุณเจ้า Shinzan Egawa ประธาน JBF กล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า การเป็นเจ้าภาพการประชุม พ.ส.ล. ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งสอดคล้องกับงานฉลอง 60 ปีแห่งการก่อตั้ง JBF ที่เพิ่งฉลองในปีที่ผ่านมา “เราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มา 18 ปีแล้ว แต่สถานการณ์ทั่วโลกอยู่ในสภาพที่วุ่นวาย ทั้งด้านเชื้อชาติและศาสนา ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในอันตราย เมื่อเราชาวพุทธมารวมพลังอย่างนี้ จึงขอให้คิดอย่างสุขุมรอบคอบถึงบทบาทชาวพุทธว่าจะทำเช่นไรต่อเรื่องดังกล่าว ให้เมตตาตนเองและคนใกล้ตัว”

    ส่วนการอภิปรายเรื่องการสร้างความหวังในชีวิตและมรณกรรม ได้เท้าความเรื่องที่วัยรุ่นญี่ปุ่นมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน จึงคิดปลิดชีวิตตนเอง เป็นการขัดขวางชีวิตที่สงบสุขในแต่ละวัน เป็นประสบการณ์ที่โดดเดี่ยว แสนเศร้า และผิดหวัง ต้องหาวิธีลดเรื่องนี้ จึงยกเรื่องความเมตตา หรือกรุณาธิคุณ มาเป็นหัวข้อหลักการประชุม

    มี ผู้เสนอให้ใช้หลักเมตตาธรรมแก้ปัญหา โดยพยายามให้ผู้ที่จะคิดฆ่าตัวตายแผ่เมตตาให้ตนเอง และเมตตาต่อครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ว่าถ้าหากเราตายไปคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนๆต้องโศกเศร้าเสียใจแค่ไหน ถ้าหากเมตตาได้แบบนี้ อาจเปลี่ยนใจไม่ฆ่าตัวตายก็ได้

    นอกจากนั้นก็มีข้อเสนอแนะว่า ควรพูดคุยและรับฟังกับผู้ที่คิดสั้นด้วย เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น ส่วนองค์กรที่ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เมื่อประสบภัยธรรมชาติต้องเข้าไปให้ถึงอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดกรณีไม่คาดฝัน อย่างเช่น พ.ส.ล.เคยยื่นมือช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติเมื่อคราวแผ่นดินไหวนั้น ทำให้ผู้ที่หมดหวังในชีวิตกลับมีความหวังขึ้น

    เมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งที่ 29 ได้มีประกาศปฏิญญากรุงโตเกียว 7 ข้อ ซึ่งนายพัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. ว่าจะเดินหน้าตามปฏิญญาให้เป็นรูปธรรมต่อไป ส่วนสมาชิกที่เพิ่มนั้นนายพัลลภบอกว่า มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 200 ภาคีสมาชิก และตั้งความหวังว่าเยาวชนคืออนาคตสอดคล้องกับ พ.ส.ล. ที่มีองค์กรสำหรับคนรุ่นใหม่ เรียกว่า ย.พ.ส.ล. และต่อไปจะมีกิจกรรมสำหรับเยาวชนมากขึ้น

    กรณีพระภิกษุสงฆ์ออกช่วยเหลือสังคม พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ตอบคำถามเดียวกันนี้ด้วย อธิบายว่าการที่พระสงฆ์ออกช่วยสังคมเป็นการเดินตามรอยบาทพระพุทธเจ้า หรือพระศากยมุนี ตามประวัตินั้นพระพุทธเจ้าช่วยเหลือสังคมตลอด ตั้งแต่ตื่นบรรทม พระองค์มิได้เข้าป่านั่งสมาธิหลบอยู่ที่ไหนๆเลย ชีวิตจริงๆของพระสงฆ์ต้องอยู่กับสังคม คอยแก้ไขและช่วยเหลือสังคม

    แต่ปัจจุบันมักเข้าใจว่าพระต้องเข้าป่านั่งสมาธิเท่านั้น การที่พระญี่ปุ่นไปช่วยสังคมถือว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมิใช่เฉพาะพระญี่ปุ่นที่ออกช่วยสังคม พระประเทศอื่นๆก็ออกช่วยสังคมเช่นกัน เพราะพระมีชีวิตอยู่ได้เมื่อชาวบ้านสนับสนุน ถ้าชาวบ้านมีปัญหาพระก็ต้องช่วย จึงควรสนับสนุนให้พระทำแบบนี้ต่อไป

    สำหรับประวัติ พ.ส.ล.นั้น เป็นองค์กรที่ตั้งมาเมื่อปี พ.ศ.2493 ที่ประเทศศรีลังกา โดยนักวิชาการชาวพุทธ ชื่อมาลาลาเซเกรา เป็นผู้ดำเนินการและเป็นประธานคนแรก เพื่อให้นิกายชาวพุทธทั้ง 3 คือ มหายาน วัชรยาน และเถรวาท รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบันมีองค์กรชาวพุทธเรียกว่าภาคีสมาชิกจำนวน 202 ภาคี จาก 51 ประเทศทั่วโลกเป็นภาคีสมาชิก

    และมีคณะอนุกรรมการต่างๆอีก 7 คณะ ประชุมติดตามผลงานและเผยแผ่หลักธรรม ช่วยเหลือสังคมทั่วโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ มีนายแผน วรรณเมธี เป็นประธาน และนายพัลลภ ไทยอารี เป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์

    การประชุมชาวพุทธโลกแต่ละครั้ง เป็นการนัดหมายมาพบปะกันเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการทำงานของ พ.ส.ล.เพื่อชาวพุทธ สำหรับปรัชญาการประชุมครั้งนี้คือ เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

    จุดประสงค์ประการหนึ่งก็คือ เพื่อหาแนวทางดำเนินกิจกรรมต่างๆมาใช้ในการเยียวยาจิตใจคนด้วยธรรม หรือธรรมโอสถ.

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/content/1437690
     

แชร์หน้านี้

Loading...