บุญแท้จริงไม่ติดโลก (หลวงปู่ดุลย์ อตุโล)

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 24 กันยายน 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,025
    <table align="center" border="0" cellpadding="0" cellspacing="0" width="94%"><tbody><tr><td class="postbody" valign="top">[​IMG]

    บุญแท้จริงไม่ติดโลก
    โดย หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

    ธรรมสภา รวบรวมและเรียบเรียง


    คำนำ


    “ยถาปิ ปุปฺผราสิมฺหา กยิรา มาลาคุณี พหู
    เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหู

    ช่างดอกไม้ ร้อยพวงมาลัยได้มากมาย จากกองดอกไม้กองหนึ่ง ฉันใด คนเราเกิดมาแล้วก็ควร (ใช้ชาติชาติหนึ่งนี้) สร้างความดีงามให้มาก ฉันนั้น”

    “บุญแท้จริงไม่ติดโลก” เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ซึ่งท่านเทศนาถึงบุญที่เกิดจากการเจริญสมาธิ อันจักยังให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความสุขในชีวิต “ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวจดูความว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แต่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย”

    นอกจากนั้นยังมีประวัติส่วนตัวของหลวงปู่และเทศนาว่าด้วยเรื่องบุญของผู้รู้อีกหลายท่านเรียบเรียงไว้ในเล่มนี้ด้วย อาทิเช่น พระราชพรหมญาณเถระ สมเด็จพระธีรญาณมุนี หรือ ก.เขาสวนหลวง เป็นต้น

    ธรรมสภาเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประพฤติบุญอย่างถูกต้องครบถ้วนในหลายแง่มุม จึงได้จัดพิมพ์หนังสือว่าด้วยเรื่องของ “บุญ” ขึ้นโดยเฉพาะรวม ๑๒ เล่มมีดังนี้

    ๑. บุญเป็นหลักใหญ่ของโลก
    ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
    ๒. บุญเป็นเครื่องอำนวยชัยให้บริบูรณ์พูนสุข
    ของ หลวงปู่ขาว อนาลโย
    ๓. บุญทานหมั่นทำให้สูงสุด
    ของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
    ๔. บุญเป็นหลักชัยประสบสุข
    ของ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
    ๕. บุญเหนือบุญ
    ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท
    ๖. บุญยิ่งกว่าบุญ
    ของ หลวงพ่อพุทธทาส
    ๗. บุญทำให้ได้บุญล้นคุณค่า
    ของ หลวงพ่อปัญญานันทะ
    ๘. บุญ...มรดกอันเป็นต้นทางแห่งกุศล
    ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
    ๙. บุญเป็นเคล็ดวิชาแก้ปัญหาชีวิต
    ของ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
    ๑๐. บุญแท้จริงไม่ติดโลก
    ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
    ๑๑. บุญเป็นที่สุดแห่งการสร้างสรรค์ชีวิต
    ของ พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตโต)
    ๑๒. บุญและอานิสงส์ของบุญ
    รวบรวมจากพระไตรปิฎก

    บุญกุศลอันเกิดจาการจัดพิมพ์หนังสือว่าด้วยเรื่อง “บุญ” นี้ ขอน้อมถวายแด่ องค์ผู้เทศนาธรรม ได้แก่ พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) พระเถระผู้ปฏิบัติดี ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และกำลังความรู้ เพื่อความแพร่หลายของพระสัทธรรมตลอดกาลนาน


    ด้วยความสุจริตและความหวังดี
    ธรรมสภาปรารถนาให้โลกพบความสงบสุข


    ........................................................................


    สารบัญ


    ๑. บุญในการปฏิบัติธรรม
    ๒. ความหมายของบุญ
    ๓. อามิสทาน
    ๔. ธรรมทาน การประกาศศาสนา
    ๕. ที่พึ่งให้ถึงชัย
    ๖. เล่าเรื่องบุญ-บาป จากอรรถกถาธรรมบท
    สังเขปประวัติชีวิต


    บุญในการปฏิบัติธรรม



    การทำบุญสุนทรทาน เป็นทางไกล ก็คือว่าจะทำให้ชีวิตเวียนว่ายตายเกิดอยู่หลายภพหลายชาติ อาจจะได้เกิดดี เป็นต้นว่า ได้เป็นมนุษย์หรือเทวดาอยู่หลายชาตินัก แต่ก็ยังไม่สิ้นทุกข์ โดยเฉพาะทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย กว่าจะสิ้นทุกข์พบสุขได้ก็เนิ่นนานเกินไป

    แต่การภาวนา คือฝึกสมาธิเจริญปัญญาเป็นวิธีลัดที่จะพามนุษย์พ้นทุกข์ได้เร็วพลัน การภาวนาจะช่วยให้เราตัดกิเลสตัณหาได้ขาดแล้วพ้นทุกข์พบสุขสงบได้อย่างถาวร

    ครั้งหนึ่ง เมื่อญาติโยมถวายสังฆทานเสร็จแล้ว ได้พากันกราบนมัสการถามหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งรักษาอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ว่า

    “หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี หน้าตาสดใสเหมือนกับไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากการที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี พวกกระผมมีเวลาน้อยหาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด”

    หลวงปู่ตอบพวกเขาว่า

    “มีเวลาเมื่อไร ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดที่สุด”

    วิธีเจริญสมาธิภาวนาตามแนวการสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล มีดังต่อไปนี้

    ๑. เริ่มต้นด้วยอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก

    ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัวหรือรู้ “ตัว” อย่างเดียว

    รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ “รู้อยู่เฉยๆ” ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม

    เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไปคิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ

    จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอ รักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีกจนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณาและรักษาจิตต่อไป

    ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน “พฤติแห่งจิต” โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

    ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

    ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ ให้ลองนึกคำว่า “พุทโธ” หรือ คำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

    พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง

    ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ด้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายยอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

    เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

    ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นไปสู้อารมณ์ทันที

    เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเอง ก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกันที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

    ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในอันที่จะเจริญให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ

    เจตจำนงนี้ คือ ตัว “ศีล”


    การบริกรรม “พุทโธ” เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป

    แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้ง ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

    ดั้งนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดจน และความไม่ขาดสายของพุทโธจะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

    เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่ามีลักษณาการประหนึ่งบุรุษผู้หนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขน พร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

    เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธาของตนเองเลย

    เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเองเพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ “พฤติแห่งจิต” ที่ฐานนั้นๆ

    บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

    ๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคอง รักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่เงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้ากิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)

    ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ

    ๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไป ก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

    ระวังจิตไม่ให้คิดถึงเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ ๖

    ๔. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆ รู้เท่าทันการเกิดอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกายอยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

    คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยคิด

    ๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติสังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิตได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่าเกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่งหาก่อหาเกิดไม่มีสิ้นสุด มันเป็นมายา หลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

    คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณนั่นเอง

    ๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็จะอยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

    เรียกว่า “สมุจเฉทธรรมทั้งปวง”

    ๗. ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้นก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะกรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีกไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า “พ้นเหตุเกิด”

    ๘. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร

    เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ธรรมจะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละ มันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่ถูกรู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)

    เมื่อจิตว่างจาก “พฤติ” ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึงความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้วจิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซึมซาบอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

    เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร

    เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง” จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง รวมกันเข้ากับความว่างอันบริสุทธิ์และสว่างของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า “นิพพาน”

    โดยปกติ คำสอนธรรมมะของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล นั้น เป็นแบบ “ปริศนาธรรม” มิใช่เป็นการบรรยายธรรม ฉะนั้น คำสอนของท่านจึงสั้น จำกัดในความหมายของธรรม เพื่อไม่ให้เฝือหรือฟุ่มเฟือยมากนัก เพราะจะทำให้สับสน เมื่อผู้ใดเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เขาย่อมเข้าใจได้เองว่า กิริยาอาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น มีมากมายหลายอย่าง ยากที่จะอธิบายให้ได้หมด ด้วยเหตุนั้น หลวงปู่ท่านจึงใช้คำว่า “พฤติของจิต” แทนกิริยาทั้งหลายเหล่านั้น

    คำว่า “ดูจิต อย่าส่งจิตออกนอก ทำญาณให้เห็นจิต” เหล่านี้ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปทั้งหมดตลอดองค์ภาวนา แต่เพื่ออธิบายให้เป็นขั้นตอน จึงจัดเรียงให้ดูง่ายเข้าใจง่ายเท่านั้น หาได้จัดเรียงไปตามลำดับกระแสการเจริญจิตแต่อย่างใดไม่

    ท่านผู้มีจิตศรัทธาในทางปฏิบัติ เมื่อเจริญจิตภาวนาตามคำสอนแล้ว ตามธรรมดาการปฏิบัติในแนวนี้ ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ มีความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองเป็นลำดับๆ ไป เพราะมีการใส่ใจสังเกตและกำหนดรู้ “พฤติแห่งจิต” อยู่ตลอกเวลา แต่ถ้าหากเกิดปัญหาในระหว่างการปฏิบัติ ควรรีบเข้าหาครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระโดยเร็ว หากประมาทแล้วอาจผิดพลาดเป็นปัญหาตามมาภายหลัง เพราะคำว่า “มรรคปฏิปทา” นั้น จะต้องอยู่ใน “มรรคจิต” เท่านั้น มิใช่มรรคภายนอกต่างๆ นานาเลย

    การเจริญจิตเข้าสู่ที่สุดแห่งทุกข์นั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยวิสุทธิศีล วิสุทธิมรรค พร้อมทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ จึงจะยังกิจให้ลุล่วงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

    อเหตุกจิต ๓ ประการ


    ๑. ปัญจทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะหรือทวารทั้ง ๕ มีดังนี้

    ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือ การเห็น จะห้ามไม่ให้ตาเห็นรูปไม่ได้

    หู ไปกระทบเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือ การได้ยิน จะห้ามไม่ให้หูได้ยินเสียงไม่ได้

    จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานวิญญาณ คือ การได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้จมูกรับกลิ่นไม่ได้

    ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือ การได้รส จะห้ามไม่ให้ลิ้นรับรู้รสไม่ได้

    กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือ กายสัมผัส จะห้ามไม่ให้กายรับสัมผัสไม่ได้

    วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาแฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น

    ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็น เช่นนั้น ย่อมกระทำมิได้

    การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้เป็นต้น

    (ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

    ๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

    ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือ วิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

    ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

    ๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

    สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ ควรพิจารณาอเหตุกจิตนี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม

    อเหตุกจิตนี้นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจในอเหตุกจิต ข้อ (๑) และ (๒) นี้เอง

    อเหตุกจิต ข้อ (๓) เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิต จนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง

    คำสอนในพระพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้ละสิ่งไม่ดี สร้างสิ่งที่ดีแล้วทำจิตใจผ่องแผ้วสะอาดบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ในที่สุดบุญเราก็ไม่เอา ไม่ยึด คือทำบุญโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในบุญ หลวงพ่อปัญญานันทะ เคยสอนเกี่ยวกับลอยบาป-ปล่อยบุญไว้

    หลวงปู่ดูลย์ปรารภธรรมครั้งหนึ่งว่า

    “สัจจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจจธรรมนั้น แล้วก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อมีนักปราญช์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อจะอธิบายสัจจธรรมนั้น นำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจจธรรมนั้นที่ตนเองได้ไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว”

    “คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมาย ก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียวคือพระนิพพาน การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วจะต้องหลงอยู่ในความคิดเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน”

    “การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง”

    “การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวม สงบ และคำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมีวิมุตติเป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง”

    “ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง”

    ท่านกล่าวถึงความสุขในชีวิตว่า

    “ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวมดูความสุขว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แต่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิดแก่เจ็บตายอยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย”


    ความหมายของบุญ



    บุญที่แท้จริง จะต้องเป็นสิ่งที่ช่วยให้พ้นทุกข์ได้และพบสุขอันแท้จริง บุญที่ทำๆ กันอยู่ทั่วไปนั้น ไม่มีความหมายอะไรในการบรรลุธรรม แต่มีประโยชน์ต่อการเป็นอยู่ก็ให้ทำกันไป แต่ก็ควรพัฒนาตัวเองให้ไปถึงบุญสูงสุดหรือโลกุตตรบุญให้ได้ หรือบุญที่พ้นไปจากบุญ

    พวกเราที่ยังเป็นปุถุชนกันอยู่เมื่อปรารถนากันอยู่เมื่อปรารถนาบุญ ส่วนใหญ่แล้วต้องการแต่บุญขั้นโลกีย์ บุญขั้นที่ยังข้องเกี่ยวกับโลก เพราะยังหลงใหลเสน่ห์ของโลกอยู่ แต่อริยชนกลับไม่เป็นอย่างนั้น จะไม่หวังบุญโลกีย์ บำเพ็ญแต่บุญโลกุตตระ หรือบุญที่พ้นโลก อยู่เหนือโลก

    เมื่อหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สร้างโบสถ์สร้างศาลาใหญ่โตก็มีผู้ไปถามหลวงปู่ว่า คงจะได้บุญกุศลใหญ่โตทีเดียวและโดยทั่วไปเราก็เชื่อกันอย่างนั้น

    แต่หลวงปู่กลับตอบว่า

    “ที่เราสร้างนี้ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลกสำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญเราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้”

    เราจะบรรลุถึงบุญที่พ้นบุญหรือบุญอยู่เหนือบุญได้ ก็ด้วยการปฏิบัติให้พ้นไปจากบุญ ก.เขาสวนหลวง นักปฏิบัติธรรมหญิงผู้ยิ่งใหญ่เคยเขียนเป็นกวีไว้ว่า

    การปฏิบัติเพื่อพ้นบุญพ้นบาป

    ๏ การปฏิบัติ ต้องรู้ ดูของหมุน
    ทั้งบาปบุญ วุ่นวาย คล้ายจักรผัน
    มันสืบต่อ ก่อความ ตามพัวพัน
    หมุนเวียนกัน ไม่รู้จบ ภพโลกีย์

    ๏ รู้รูปนาม ตามมอง ดูกองทุกข์
    ทั้งความสุข เห็นชัด สลัดหนี
    เพราะหลงตาม กามคุณ บุญบาปมี
    ความยินดี พอใจ ในกามา

    ๏ จงละความ กำหนัด ขจัดออก
    ด้วยการฟอก ขุดค้น กลตัณหา
    สละกาม ตามโอวาท พระศาสดา
    ในธรรมา-ริยสัจจ์ ชัดความจริง

    ๏ กำหนดรู้ กายใจ ให้แจ้งชัด
    อันเป็น “ทุกขสัจจ์” ชัดทุกสิ่ง
    “สมุทัย” ข้อสอง กองเหตุอิง
    ทุกข์มันสิง เพราะความอยาก ให้มากความ

    ๏ ข้อที่สาม “นิโรธ” ดับโทษหมด
    ธรรมปรากฏ ได้สละ ละเสี้ยนหนาม
    ดับความอยาก เครื่องเผาใจ ดังไฟลาม
    ละรูปนาม ตัวตน กลมายา

    ๏ ข้อที่สี่ “องค์มรรค” มีหลักเกณฑ์
    ความรู้เห็น รูปนาม ตามศึกษา
    เห็นทุกข์แจ้ง ชัดใจ ด้วยปัญญา
    มีดวงตา เห็นธรรม รู้ความจริง

    ๏ เมื่อรู้แจ้ง อริยสัจจ์ ชัดโดยย่อ
    ไม่ปรุงต่อ ตัดสังโยชน์ โทษไม่สิง
    ถึงสรณะ ภายใน ไม่อ้างอิง
    ไม่พึ่งสิ่ง อื่นใด ไม่ไยดี
    เพราะเหตุรู้ จักพระ ละพยศ
    เพื่อเปลื้องปลด โทษร้าย ได้ขัดสี
    รู้เหตุผล พ้นภัย ใช้วิธี
    ปล่อยวางมี ไว้เสมอ อย่าเผลอเพลิน

    ๏ ได้เดินตาม ทางพระ ชนะทุกข์
    ไม่หวังสุข ในขันธ์ ทั้งสรรเสริญ
    ผู้ประพฤติ ตามธรรม ความเจริญ
    เย็นเหลือเกิน เดินทาง อย่างสบาย
    ทั้งบุญบาป พ้นไป ได้ไถ่ถอน
    ไม่อาทร ร้อนจิต คิดมุ่งหมาย
    ไม่มีเรื่อง อะไร ไม่วุ่นวาย
    ถึงจุดหมาย ไม่ต้องวุ่น บุญบาปเอย


    บุญ-บาป อยู่ที่ความประพฤติ


    ชีวิตจะดีหรือชั่วก็อยู่ที่ตัวทำ
    บุญบาปอยู่ที่ความประพฤติ

    หลวงปู่ดูลย์ กล่าวว่า ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ คือ ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย โชคดี โชคร้าย เรื่องเคราะห์กรรม บาป บุญ อะไรทั้งหมดนี้ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น

    ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงเคยตรัสกับพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายว่า

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรม

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์บางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรม

    พระพุทธองค์ตรัสสอนพราหมณ์และคฤหบดีว่า

    “พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียนร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรม ทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง”

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อยคือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด พอใจในการประหารและการฆ่า ไม่มีความละอาย ไม่ถึงความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง

    เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ที่เขามิได้ให้ คือ ลักทรัพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้าน หรือที่อยู่ในป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย

    เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ถึงความสมสู่ในพวกหญิงที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่โคตรรักษา ที่ธรรมรักษา ที่มีสามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดแม้หญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นไว้)

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้กล่าวเท็จ คือไปในที่ประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง เมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง

    เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง หรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก

    เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่น อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

    เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยการสมควร

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความโลภมาก คือ เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด

    เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง

    เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทางที่ให้แล้วไม่มี ผลแห่งการบูชาไม่มี ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะไม่มี สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่บนโลกนี้

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์บางพวกในโลกนี้ เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติไม่เรียบร้อย คือ ไม่ประพฤติธรรมอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ อย่าง ทางวาจามี ๔ อย่าง ทางใจมี ๓ อย่าง

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่

    ละการถือทรัพย์ที่เขามิได้ให้ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ไม่ลักทรพย์เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นที่อยู่บ้าน หรือที่อยู่ป่า ที่เจ้าของมิได้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นขโมย

    ละการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย คือ ไม่ถึงความสมสู่ในพวกหญิง ที่มารดารักษา ที่บิดารักษา ที่มารดาและบิดารักษา ที่พี่ชายรักษา ที่พี่สาวรักษา ที่ญาติรักษา ที่สามี ที่อิสรชนหวงห้าม ที่สุดหญิงที่เขาคล้องแล้วด้วยพวงมาลัย (หญิงที่เขาหมั้นแล้ว)

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ไปในที่ประชุม หรือไปในหมู่ชน หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่าบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิดท่านรู้เรื่องใดก็จงบอกเรื่องนั้น เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า ไม่รู้ เมื่อรู้บอกว่า รู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่า ไม่เห็น เมื่อเห็นก็บอกว่า เห็น ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เพราะเหตุตนบ้าง เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งของเล็กน้อยบ้าง

    ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้วไม่นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้ หรือฟังข้างโน้นแล้ว ไม่นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้น สมานพวกที่แตกกันให้ดีกันบ้าง ส่งเสริมพวกที่ดีกันให้สนิทสนมบ้าง ชอบใจพวกที่พร้อมเพรียงกัน ยินดีแล้วในพวกที่พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมในพวกที่พร้อมเพรียงกัน และกล่าววาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน

    ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ชอบใจ

    ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาควรพูดตามความจริง พูดเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดเรื่องที่เป็นธรรม พูดเรื่องที่เป็นวินัย และกล่าววาจามีหลักฐาน มีที่อ้างได้ มีที่สุด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลสมควร

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ก็ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน ? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีความโลภมาก ไม่เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด

    เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริในใจไม่ชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนกัน ไม่มีทุกข์ มีแต่สุขรักษาตนเถิด

    เป็นผู่มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วมีอยู่ ผลแห่งการบูชามีอยู่ ผลแห่งการเซ่นสรวงมีอยู่ ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มีอยู่ โลกหน้ามีอยู่ มารดามีอยู่ บิดามีอยู่ สัตว์ทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ได้มีอยู่ในโลกนี้

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! ความประพฤติเรียบร้อย คือ ความประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

    พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ! สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้เข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะเหตุประพฤติเรียบร้อย คือ ประพฤติธรรมอย่างนี้แล

    (สาเลยยกสูตร ๑๒/๔๔๐)


    พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ


    พระสงฆ์ถือเป็นเนื้อนา เป็นที่สำหรับประชาชนหว่านเมล็ดข้าว คือบุญทานลงไป จะต้องงอกเงยขึ้น จึงต้องประพฤติตัวให้ดี อย่าให้มีบาป อกุศลในจิตใจ

    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เคยกล่าวตักเตือนพระภิกษุสามเณรว่า

    “คฤหัสถ์ชนญาติโยมทั่วไป เขาประกอบอาชีพการงานด้วยความยากลำบาก เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุข้าวของเงินทอง มาเลี้ยงครอบครัวลูกหลานของตน แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไรเขาก็ต้องต่อสู้ ขณะเดียวกันเขาก็อยากได้บุญได้กุศลด้วย จึงพยายามเสียสละทำบุญลุกขึ้นแต่เช้า หุงอาหารอย่างดีคอยใส่บาตร ก่อนใส่เขายกอาหารขึ้นท่วมหัวแล้วตั้งจิตอธิษฐาน ครั้นใส่แล้วก็ถอยไปย่อตัวยกมือไหว้อีกครั้งหนึ่ง ที่เขาทำเช่นนั้นก็เพราะต้องการบุญ ต้องการกุศลจากเรานั่นเอง แล้วเราเล่า มีบุญกุศลอะไรบ้างที่จะให้เขา ได้ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับเอาของเขามากนักแล้วหรือ”

    พระภิกษุสามเณรจะต้องประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี จะได้เป็นเนื้อนาบุญของชาวบ้านได้ ให้เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่า

    สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
    อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
    ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมแล้ว เป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
    สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว

    ให้เป็นพระเณรที่ควรแก่การระลึกถึงที่เรียกว่าเป็น สังฆานุสสติ เป็นพระสงฆ์ที่ระลึกถึงได้

    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงกล่าวว่า

    คำว่า พระสงฆ์ นั้นหมายถึงหมู่ มิได้หมายถึงบุคคลจำเพาะ และหมู่ที่หมายถึงนั้นก็คือหมู่ของพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นสาวก คือ เป็นผู้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล ตั้งต้นแต่พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคขึ้นไป จนถึงพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล มรรคนั้นได้แก่ธรรมปฏิบัติอันเป็นส่วนเหตุ ซึ่งเป็นเครื่องตัดกิเลสได้เด็ดขาด ผลนั้นก็ได้แก่ความสงบกิเลสอันเป็นผลของธรรมปฏิบัตินั้น ได้ชื่อว่าเป็นมรรคก็เพราะเป็นทางปฏิบัติอันนำไปสู่การตัดกิเลส ได้ชื่อว่าเป็นผล เพราะเป็นความดับกิเลสได้ สงบกิเลสได้ ผู้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ประสบมรรคคือธรรมปฏิบัติ อันเป็นทางตัดกิเลส หมายถึงตัวธรรมปฏิบัติโดยย่อก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา รวมกันเป็น มรรค ตัดกิเลสได้จึงประสบผล คือความดับกิเลส เรียกว่าวิมุตติ ความหลุดพ้น หรือเรียกว่านิโรธ ความดับ ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ประสบมรรคและผลดังนี้ รวมกันเข้าเป็นหมู่เรียกว่าพระสงฆ์ หรือพระอริยสงฆ์ เพราะฉะนั้น จึงได้แก่บุคคล ๔ คู่ นับรายบุคคลเป็น ๘

    คู่ที่หนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
    คู่ที่สอง ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล
    คู่ที่สาม ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล
    คู่ที่สี่ ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล

    สี่คู่ก็เป็นแปด ท่านแสดงว่า ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคนั้นก็ชั่วขณะจิตหนึ่ง แล้วจึงตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ก็อีกขณะจิตหนึ่ง ก็เป็นพระโสดาบันบุคคล ในคู่อื่นก็เหมือนกัน คือผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล ก็เป็นพระสกทาคามีบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ก็เป็นพระอนาคามีบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ก็เป็นพระอรหัตตบุคคลหรือพระขีณาสพผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว แม้เพียง ๔ คู่ นับรายบุคคลเป็น ๘ หรือนับเรียงบุคคลซึ่งเป็นพระโสดาบันเป็นต้น ก็เป็น ๔ เพราะฉะนั้น จึงเรียกพระสงฆ์คือแปลว่าหมู่ หมู่ของพระอริยบุคคลซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก ตามชั้นของมรรคผลก็มีจำนวนดังกล่าวแล้ว และเมื่อผู้บรรลุมรรคผลมีมากขึ้นเท่าไร พระสงฆ์ที่แปลว่าหมู่ของพระอริยบุคคลก็ใหญ่ขึ้นเท่านั้นมากขึ้นเท่านั้น นี้คือพระสงฆ์ที่เป็นรัตนะที่ ๓ ซึ่งดำรงพระคุณดังที่เราสวดกันอยู่ว่า

    สุปฏิปันโน ปฏิบัติดีแล้ว
    อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงแล้ว
    ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว
    สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว ดังนี้

    เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ระลึกถึงพระสงฆ์โดยพระคุณดังกล่าวมานี้ พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยมีพระสงฆ์ได้ช่วยนำพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมา และพระพุทธเจ้าเองทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะได้ทรงแสดงพระธรรมคำสั่งสอน และได้มีพระสงฆ์ขึ้น ก็คือได้มีหมู่แห่งบุคคลผู้ฟังคำสั่งสอน ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลขึ้นในพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่พระปัญจวัคคีย์ผู้รับพระปฐมเทศนา คือ พระธรรมจักร และทุติยเทศนา คือ พระอนัตตลักขณะเป็นต้นมา ว่าถึงในสมัยพระพุทธกาล ก็มีพระสุภัททะซึ่งบรรลุผลเมื่อใกล้จะปรินิพพาน หลังจากพระพุทธกาลมาก็ไม่มีพระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ท่านผู้ใดเป็นผู้บรรลุมรรคผลบ้าง

    ในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้พยากรณ์ แต่แม้เช่นนั้นก็ได้มีผู้เคารพนับถือให้ผู้ปฏิบัติพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าได้บรรลุมรรคผลในภายหลังพระพุทธกาลมาอีกนาน และแม้ว่าจะได้มีคัมภีร์ซึ่งพยากรณ์อายุของพระพุทธศาสนาแต่งขึ้นในลังกาทวีป ว่าเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปเท่านั้นๆ ก็จะไม่มีพระอรหันต์ ก็จะไม่มีพระอนาคามี ก็จะไม่มีพระสกทาคามี ก็จะไม่มีพระโสดาบัน เป็นต้น แต่ว่าได้มีพระพุทธพยากรณ์ตรัสไว้ว่า เมื่อมรรคมีองค์แปดยังมีอยู่ตราบใด โลกก็จะไม่ว่างจากสมณะที่ ๑ คือ พระโสดาบัน สมณะที่ ๒ พระสกทาคามี สมณะที่ ๓ คือพระอนาคามี สมณะที่ ๔ คือพระอรหันต์ตราบนั้น

    ในบทพระธรรมคุณก็มีแสดงไว้บทหนึ่งว่า “ธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา” ซึ่งมีอธิบายไว้อีกอย่างหนึ่งว่า ปฏิบัติเมื่อไรก็ย่อมได้รับผลเมื่อนั้น ไม่จำกัดว่าพระพุทธศาสนาจะล่วงไปเท่าไร ความเป็นอกาลิโกนั้นย่อมมีอยู่เสมอไป เพราะเหตุนี้ทุกคนผู้เกิดมาในภายหลังจึงไม่ควรจะท้อใจว่าไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลได้ ย่อมสามารถจะปฏิบัติได้ทั้งนั้น แต่แม้เช่นนั้นก็ไม่ควรที่จะมีตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากได้มรรคผล และไม่ควรจะมีอธิมานะคือความเข้าใจผิดคิดว่าสำเร็จมรรคผลแล้ว เพราะว่าผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจิตใจย่อมพบความสงบ เมื่อได้พบความสงบอยู่นานๆ ก็อาจจะคิดว่าสำเร็จไปแล้ว แต่ความจริงนั้นสังโยชน์ยังละไม่ได้เด็ดขาด หรือว่าอาสวอนุสัยยังละไม่ได้เด็ดขาด ธรรมปฏิบัติเป็นเหมือนหินทับหญ้าเอาไว้ หญ้าไม่งอกขึ้นแต่ว่ารากยังอยู่ ดังนี้ก็ยังตัดกิเลสไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจผิด คิดว่าบรรลุชั้นนี้แล้ว ก็ย่อมจะกลายเป็นอธิมานะ และบางทีกลับเกิดกิเลสขึ้นอีกกองหนึ่งคือ ยกตนข่มท่าน คิดว่าข้าพเจ้าสำเร็จแล้ว คนโน้นคนนี้ยังไม่สำเร็จ ข้าพเจ้าดีกว่า ดังนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นก่อกองกิเลสขึ้นมาอีก ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้บังเกิดความเจริญในธรรมยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่ามีอยู่จริงในโลกธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเป็นสิ่งที่รู้ได้ เป็นสิ่งที่มีเหตุผลปฏิบัติได้ คือได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ และบรรดาบริษัทของพระพุทธเจ้านั้นภิกษุบริษัทย่อมเป็นหัวหน้าซึ่งเป็นผู้บำรุงรักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อมา

    สำหรับบริษัทนี้เป็นชื่อของหมู่บุคคลผู้ปฏิบัติตนนับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติพระพุทธศาสนา มีอาการเป็นที่ปรากฏภายนอก คือภิกษุบริษัทหมู่ของภิกษุก็ถือเพศเป็นนักบวชตามพระพุทธเจ้า ครองผ้ากาสาวพัสตร์ และปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้น สำหรับภิกษุ ภิกษุณี บริษัทหมู่ของภิกษุณีคือสตรีผู้บวชตามพระพุทธเจ้า ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งบัดนี้ตามเถรวาทไม่มีแล้ว อุบาสกบริษัท อุบาสิกาบริษัท หมู่ของอุบาสกอุบาสิกาคือคฤหัสถ์ชายหญิงผู้ประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนาตามภูมิตามชั้น นับว่าเป็นอาการภายนอกเพราะการประกาศตนนั้น เป็นการแสดงตนให้คนอื่นทราบ เหมือนอย่างเป็นภิกษุก็ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ประกาศตนว่าเป็นภิกษุให้คนอื่นทราบ เป็นอุบาสกอุบาสิกา ก็เช่นเดียวกันเป็นการประกาศตนแสดงตนให้คนอื่นทราบ

    เพราะฉะนั้น บริษัททั้ง ๔ นี้จึงเป็นหมู่ของบุคคลผู้นับถือพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นพระสงฆ์โดยตรง ซึ่งเป็นรัตนะที่ ๓ นี้ เมื่อบรรลุมรรคผลทางจิตใจ จึงนับเข้าในพระสงฆ์ซึ่งเป็นรัตนะที่ ๓ นั้น ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นบุรุษสตรี ถ้าบรรลุมรรคผลแล้วก็นับเข้าในพระสงฆ์ซึ่งเป็นรัตนะที่ ๓ นั้น

    สำหรับภิกษุบริษัทนั้น ภิกษุเมื่อประชุมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ย่อมสามารถกระทำสังฆกรรมให้สำเร็จได้ตามพระพุทธานุญาต เรียกว่า เป็นพระสงฆ์ตามพระพุทธานุญาต เพราะฉะนั้น หมู่ของพระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปซึ่งประชุมกันทำสังฆกรรม จึงเรียกว่า เป็นพระสงฆ์ตามพระวินัย อันเรียกว่าสมมติสงฆ์หรือวินัยสงฆ์ พระสงฆ์ตามสมมติหรือพระสงฆ์ตามพระวินัย

    สำหรับการสืบรักษาพระพุทธศาสนานั้น พระสงฆ์คือหมู่ของภิกษุนี้ย่อมเป็นหัวหน้าการที่นำรักษาพระพุทธศาสนาสืบต่อมาเพราะเป็นผู้ที่ได้ออกจากเรือนมา เป็นผู้ไม่มีเรือน มาสละชีวิตทั้งหมดแก่พระพุทธศาสนา จึงมีโอกาสที่จะเรียนปฏิบัติพระพุทธศาสนา นำสืบรักษาพระพุทธศาสนาโดยสะดวก และฝ่ายคฤหัสถ์ก็ให้การอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัยทั้งหลายดังที่ปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นหัวหน้าในอันที่จะสืบรักษาพระพุทธศาสนา และก็ได้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงเป็นต้น ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระสังฆคุณนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่นับถือในอันดับถัดมาจากพระอริยสงฆ์ดังกล่าวมาข้างต้น

    แต่สำหรับหมู่ของผู้นับถือพระพุทธศาสนา คือบริษัททั้ง ๔ ดังกล่าว แม้ภิกษุบริษัทก็ย่อมมีดีมีไม่ดี ตามแต่บุคคล ซึ่งมีดีมีไม่ดี เพราะฉะนั้น จึงปรากฏว่ามีดีบ้างไม่ดีบ้าง เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาบ้าง ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาบ้าง แต่แม้เช่นนั้น เมื่อได้ทราบว่า พระสงฆ์โดยตรงนั้นหมายถึงพระอริยสงฆ์ ส่วนพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระวินัยสงฆ์หรือสมมติสงฆ์นั้นประกอบด้วยหมู่ภิกษุผู้ซึ่งอาจจะมีดีมีไม่ดี ซึ่งย่อมมีอยู่โดยปรกติในหมู่ทั้งหลาย แต่ก็มิได้หมายความว่าพระสงฆ์ซึ่งมุ่งถึงพระอริยสงฆ์โดยตรง อันเป็นรัตนะที่ ๓ พึงเศร้าหมองไปด้วย เพราะพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์นั้นย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ตามภูมิตามชั้นจริงๆ และแม้วินัยสงฆ์หรือสมมติสงฆ์ผู้เป็นผู้ปฏิบัติตรงก็เป็นผู้ที่พึงเคารพนับถือบูชา ฉะนั้น ก็ให้ระลึกถึงพระสงฆ์ดังกล่าวนั้น ทั้งที่เป็นอริยสงฆ์และทั้งวินัยสงฆ์ หรือสมมติสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงเป็นต้น ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า


    การค้ากับบุญบาป


    พวกชาวบ้านที่เป็นพ่อค้าประกอบอาชีพทำมาค้าขายได้ถามหลวงปู่ดูลย์ว่า

    “พวกกระผมมีภาระหน้าที่ในการค้าขาย ซึ่งบางครั้งจะต้องพูดอะไรออกไปเกินความจริงบ้าง ค้ากำไรเกินควรบ้าง แต่กระผมก็มีความสนใจและเลื่อมใสในการปฏิบัติทางสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง แล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติมาบ้างโดยลำดับ แต่บางท่านบอกว่าภาระหน้าที่อย่างผมนี้มาปฏิบัติภาวนาไม่ได้ผลหรอก หลวงปู่เห็นว่าอย่างไร เพราะเขาว่าขายของเอากำไรก็เป็นบาปอยู่ฯ”

    หลวงปู่ว่า

    “เพื่อดำรงชีพอยู่ได้ ทุกคนจึงต้องมีอาชีพการงาน และอาชีพการงานทุกสาขาย่อมมีความถูกต้อง ความเหมาะความควรอยู่ในตัวของมัน เมื่อทำให้ถูกต้องพอเหมาะพอควรแล้ว ก็เป็นอัพยากตธรรม ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญแต่อย่างใด ส่วนการประพฤติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะผู้ประพฤติธรรมเท่านั้น ย่อมสมควรแก่การงานทุกกรณี”


    อามิสทาน



    อามิสทาน การให้สิ่งของเป็นขั้นโลกีย์ที่จำเป็นเหมือนกันเพราะช่วยค้ำจุนชีวิต ทำให้เขามีที่พึ่งพาอาศัย ได้กำลังวังชา ผู้ให้เองก็ได้อานิสงส์ไม่น้อยเลย ดูอย่างนางวิสาขา มหาอุบาสิกาในสมัยพุทธกาล ทั้งสวยทั้งรวย ก็เพราะการทำบุญ เริ่มแต่บูชาพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เมื่อชาติก่อน มาในชาติหนหลังเธองามพร้อมแม้ในยามชรายังงดงามไร้ผู้เทียมทาน พระราชพรหมญาณเถรเคยกล่าวไว้ว่า

    การบูชาพระพุทธเจ้า เป็นปัจจัยให้นางวิสาขามีรูปสวย คือ เป็นเบญจกัลยาณี มีความงาม ๕ ประการ หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะยังจำได้ว่า “เบญจกัลยาณี” นั้น ได้แก่

    ๑. งามผม
    ๒. งามริมฝีปาก
    ๓. งามฟัน
    ๔. งามผิว
    ๕. งามวัย

    ตอนนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของนางวิสาขาอีกเหมือนกัน นางวิสาขานี้ชอบบูชาพระพุทธเจ้า แม้แต่เกิดมาในชาติหลัง เธอได้เป็นพระโสดาบันนับตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ก็ยังบูชาพระพุทธเจ้าจนตาย มีความเลือมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปกติและจริงใจ ทั้งนี้เพราะว่าเป็นอุปนิสัยเดิม ซึ่งเคยบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าตนจะระลึกชาติไม่ได้ แต่ว่ากำลังใจ น้ำใจที่เคยตั้งมั่นอยู่ในความดีของพระพุทธเจ้ามันไม่ถอยหลัง ที่ท่านกล่าวว่า การสร้างบุญบารมี สะสมเข้าไว้ ความจริงความดีที่เราสร้างไว้ สะสมอยู่เรื่อยๆ เกิดชาติต่อๆ ไปก็สร้างสรรค์ความดีเพิ่มเติม จนกว่าบารมีจะเต็ม ครั้งเมื่อบารมีเต็มแล้วก็เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

    คำว่า “บารมี” บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เราแปลกันว่า “กำลังใจ คือ ทำกำลังให้เต็ม” ตามศัพท์ศึกษากันมา เขาแปลว่า เต็ม เฉยๆ เลยไม่รู้กันว่า เต็มตรงไหน ความจริงคือทำกำลังใจให้เต็ม เช่น

    “ทานบารมี” เราตั้งใจในการให้ทานเป็นปกติ แต่ว่าการให้ทานนี้ เราจะให้ตามกำลังที่เรามีอยู่ ไม่ใช่ว่าให้เกินพอดี ถ้าเกินพอดีแล้วองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ติว่าเป็นการเบียดเบียนตนเกินไป

    ฉะนั้น การเต็มใจในการให้ทาน ไม่ใช่ว่ามีเท่าไรให้หมดอย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมสุคตไม่สรรเสริญ ต้องให้แล้วไม่ลำบากสำหรับเรา เขามีร้อย เขาให้ร้อยได้ เพราะมีเงินมาก ถ้าเราให้ร้อยแล้วหมด อย่างนี้ไม่ควรทำ ควรให้แล้วเราสบาย อย่างนั้นจึงจะเป็นความดี

    การให้ทานนี้เหมือนกัน เป็นปัจจัยให้นางวิสาขาเกิดมาในชาติหลัง ปรากฏว่าเป็นมหาเศรษฐีใหญ่ เพราะตระกูลของนางวิสาขามีเงินนับไม่ถ้วน ในเวลานั้น เศรษฐีทั้งหลายเขามีเงินนับกันเป็นโกฏิๆ ถ้ามีเงินประมาณ ๔๐ โกฏิ ก็ถือว่าเป็น “อนุเศรษฐี” คือเศรษฐีเล็กๆ ถ้าตั้งแต่ ๘๐ โกฏิขึ้นไป ก็ถือว่าเป็น “มหาเศรษฐีใหญ่” (คำว่าโกฏิ ไม่ใช่ ๑๐ ล้าน คำว่าโกฏิสมัยนั้น ท่านตั้งล้านเข้าไว้ แล้วเติมศูนย์อีกสามศูนย์ เป็นหลักล้านเท่ากับ ๑ โกฏิ) แต่ว่าตระกูลของนางวิสาขานี้ไม่ใช่อย่างนั้น รวยมากกว่านั้น นับเป็นโกฏิไม่ได้ ต้องตวงกันเป็นโกฏิๆ เล่มเกวียน ไม่ใช่โกฏิเหรียญเป็นโกฏิเล่มเกวียน เงินทองมากมายกว่าท้องพระคลังมาก

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ตระกูลของนางวิสาขาไม่ใช่ตระกูลคอรัปชั่น หมายความว่า ไม่ได้รวยมาเพราะการโกงชาวบ้านเขา ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นบุญวาสนาบารมีส่งเสริมเพิ่มเติมเข้าไว้สนับสนุนให้ตระกูลนี้มีความร่ำรวยเหลือหลาย คือ รวยมาตั้งแต่ปู่ มาสมัยพ่อก็เป็นคนรวย มาสมัยนางวิสาขาก็เป็นคนรวย นางวิสาขาทั้งรวยทั้งสวย น่าสนใจไหม

    บรรดาท่านพุทธบริษัท เรื่องความสวยสดงดงาม ท่านทราบแล้วว่า นางวิสาขาทำอย่างไร อย่างนี้หวังว่าคงจะเป็นที่ถูกใจของท่านสุภาพสตรี “ถ้าอยากจะสวยแบบนางวิสาขาบ้างก็ซ่อมพุทธรูปที่กำลังปรักหักพัง เรามีทุนซ่อมองค์ใหญ่ไม่ได้ เราก็ซ่อมองค์เล็ก ซ่อมด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา” เพื่อให้ปวงประชาที่นับถือพระพุทธศาสนาได้กราบไหว้บูชา เป็นที่เจริญใจอย่างนี้ผลที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้รับ คือมีความสวย เช่น นางวิสาขา

    ตอนนี้เราจะมาว่ากันถึงความรวย นางวิสาขานี้รวยมาก รวยบอกไม่ถูก เมื่อสามีของนางให้คนมาขอเรียกว่าพ่อผัวให้คนมาติดต่อ เขาถามว่า ตระกูลนี้มีเงินเท่ไร ท่านทูตสันติหรือพ่อสื่อทั้งหลายบอกว่า ท่านเศรษฐีผู้นี้มีเงิน ๔๐ โกฏิ บิดาของนางวิสาขายังนึกในใจว่า เงินแค่ ๔๐ โกฏิ มันยังน้อยไปกว่าเงินที่ติดอยู่ก้นเชี่ยนหมากของเรา ในสมัยก่อนชาวบ้านเขากินหมากกัน เมื่อสมัยที่อาตมายังเป็นเด็กเขามีเชี่ยนหมากประจำ เชี่ยนหมากมีตัวถังขึ้นมาแล้วก็มีฝา มีอุปกรณ์วางข้างบน คือ เต้าปูน กล่องยา กล่องหมาก อย่างนี้เป็นต้น แต่ก้นเชี่ยนหมากคือภายในตัวถัง เขาใส่อุปกรณ์สำหรับหมากเข้าไว้ แต่บางทีมีเงินทองไว้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ใส่ไว้ก้นเชี่ยนหมาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะจะไม่เป็นการยาก เวลาจับจ่ายใช้สอยเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องเข้าไปหยิบในเซฟ หรือในที่เก็บเก็บไว้บาทสองบาท สลึงสองสลึง เวลาจะใช้ก็หยิบได้สบาย

    ตระกูลสามีและนางวิสาขา ถือว่าเป็นตระกูลใหญ่ เป็นตระกูลเศรษฐีมีเงินถึง ๔๐ โกฏิ แต่ทว่า “ธนัญชัยเศรษฐี” ผู้เป็นบิดาของนางวิสาขา ยังมีความรู้สึกในใจว่า เงิน ๔๐ โกฏินี้ไม่เท่ากับเศษเงินที่เราเก็บไว้ที่ก้นเชี่ยนหมาก ดูซิเขารวยขนาดไหนแล้วเขาทำอย่างไรถึงได้รวย ท่านกล่าวว่า คนในตระกูลนี้ที่เป็นปัจจัยให้ร่ำรวยมีอยู่ ๕ คนคือ

    ๑. ท่านเมณฑกเศรษฐี ผู้เป็นปู่ของนางวิสาขา
    ๒. ธนัญชัยเศรษฐี ผู้เป็นพ่อของนางวิสาขา
    ๓. มาดาของนางวิสาขา
    ๔. ตัวนางวิสาขา
    ๕. นายปุณณะ ผู้เป็นทาส

    คำว่า “ทาส” หมายความว่า เดิมเป็นทาส ต่อมาด้วยอำนาจบุญบารมีอาศัยพุทธบูชาเดิมเป็นสำคัญ เป็นปัจจัยให้นายปุณณะคนนี้นั้น มีเงินเป็นร้อยๆ โกฏิเหมือนกัน จึงได้นามว่า “นายปุณณทาส” แต่ความจริงสมัยนั้นเขาไม่ใช่ทาสแล้ว เขามีเงินมากแต่คงอยู่ร่วมตระกูลกับท่านธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขา เพราะถือว่าเดิมตัวอาศัยท่านอยู่ เมื่อร่ำรวยขึ้นมาก็เลยไม่แยกกันกลายเป็นตระกูลเดียวกัน

    ท่านทั้งหลายทั้ง ๕ คนนี้นั้น ต่างคนต่างบูชาความดีของพระพุทธเจาด้วยการถวายทาน ทีนี้จะนำตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง เผื่อบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านคิดว่าชาตินี้เรารวยไม่พอ ความมีทรัพย์สินก็พอจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง แต่มันไม่ถึงกับฟุ่มเฟือย ถ้าเรามีมากจนใช้ไม่หมดนับจำนวนไม่ได้ ใช้เท่าไรมันก็ไม่สิ้น ใช้เท่าไรก็ไม่รู้สึกว่ายุบลงไป สึกหรอลงไป อย่างตระกูลของนางวิสาขานี้มีความสบายมาก ไม่ต้องไปโกงใครเขา อยากจะได้อะไรสมความปรารถนา เราจะสร้างความดี คือ การให้ทาน การสงเคราะห์ก็ทำให้สะดวก เมื่อเราให้ทานสบาย ใครมาเราก็ให้ ใครอดอยากเราก็ให้ ใครมีความลำบากขัดสนจนขึ้นมา เราก็สงเคราะห์ได้ อย่างนี้เป็นปัจจัยสร้างความสุข ที่ได้กล่าวแล้วว่า การให้ทาน เป็นปัจจัยของความสุข คือเป็นการผูกมิตร ทำจิตให้สบาย จะไปทางไหนก็มีแต่เพื่อน จะไปทางไหนก็มีแต่คนรัก เมื่อเรามีคนรักรอบบ้านแล้ว เราจะหนักใจอะไรกับศัตรู นี่เป็นผลของการให้ทาน

    นอกจากนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารยังกล่าวว่า “ทานัง สัคคโส ทานัง” ผลของการให้ทาน เมื่อตายจากความเป็นคนแล้วก็ไปเกิดบนสวรรค์ เป็นเทวดา เป็นนางฟ้า มีทิพยสมบัติ มีร่างกายเป็นทิพย์ ไม่มีความแก่ ไม่มีความป่วยไข้ไม่สบาย และสิ้นบุญเมื่อไร ก็ไม่เรียกว่าตาย เรียกว่า เคลื่อนลงมาเกิด มีความสุขเป็นพิเศษ

    องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ทรงกล่าวต่อไปว่า เกิดเป็นคนชาติใดก็ตาม “คนที่เคยให้ทานไว้ในเขตของพระพุทธศาสนา ทำแบบนางวิสาขาจะไปเกิดกี่ชาติก็ตาม หาความยากจนไม่ได้”

    ทั้งนี้เพราะอะไร ท่านกล่าวว่า “แม้จะเข้าถึงพระนิพพานแล้วอานิสงส์ยังไม่หมด”

    ที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตกล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า การให้ทานแบบนั้นมีอานิสงส์มาก หลังจากชาตินั้นไปเป็นเทวดาแล้ว ถ้าเกิดมาเป็นคนกี่ร้อยชาติ กี่พันชาติก็ตาม กว่าจะเข้าพระนิพพานขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจ ย่อมไม่ปรากฏ

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทการให้ทานมีผลดีแบบนี้ อย่าคิดว่าพระชอบพูดแต่การให้ทาน ไม่ใช่พระเป็นผู้บ่อนทำลายความสุขของสังคม ที่พระแนะนำเรื่องการให้ทานคือเป็นการเฉลี่ยความสุขซึ่งกันและกัน เมื่อเรามีความสุข เขามีความสุข ไม่มีใครมีความทุกข์ ก็มีแต่ความแช่มชื่น ภัยอันตรายก็ไม่เกิดขึ้นกับเรา การบริจาคทาน เป็นการสร้างความเป็นมิตรเข้าไว้ เมื่อเรามีมิตรเป็นที่สนิทใจเป็นที่รักที่ใคร่ ไปไหนก็มีแต่มิตร ไม่มีศัตรู

    ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทลองคิดดูสิว่า เราจะมีความสุขหรือจะมีความทุกข์ เป็นอันทราบว่าเราก็มีความสุข

    ตอนนี้มาดูตัวอย่าง นางวิสาขาทำอย่างไร จึงได้เป็นคนมีความร่ำรวยมาก ยากเหลือเกินที่จะหาคนรวยได้อย่างนางวิสาขา ความสวยก็สวยหาคนเสมอเหมือนไม่ได้อยู่แล้ว ยังจะมารวยเสียอีก ถ้าจะคิดๆ ไปตามภาษาชาวบ้านธรรมดาก็เรียกว่า แกทั้งสวยทั้งรวยจนน่าอิจฉา แต่ความจริงไปอิจฉาริษยาแกไม่เป็นประโยชน์ แกทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว เราสบาย เพราะอะไรก็ตาม ถ้าบุคคลใดเขาทำให้เป็นตัวอย่าง มีประโยชน์ มีคุณไม่มีโทษ มีความสุขเราเป็นคนทำทีหลัง เรามีความสบายมาก ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องพยายามใคร่ครวญแล้ว พิจารณาแล้ว หาที่ปรึกษาหารือแล้วจึงจะตัดสินใจ เพราะกิจใดถ้ายังไม่เคยทำ ยังไม่เคยได้ มันต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าคนเขาทำแล้ว เขาได้แล้ว เขามีความสุขใจ เราก็หวังได้แน่ว่า ถ้าเราทำตามเขาบ้าง เราก็จะมีความสุขเช่นเดียวกับเขา เราจะมีผลเช่นเดียวกับเขา

    มาดูกันเสียทีว่า นางวิสาขาทำอย่างไร เรื่องนี้ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกาย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์ไว้ว่า ถอยหลังจากชาตินี้ไปประมาณแสนกัป สมัยนั้นมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงอุบัติขึ้นในโลก มีพระนามว่า “พระวิปัสสีทศพล” ในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระทศพลมีบริวารประจำ คือพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ประมาณสองแสนรูป แล้วยังมีพระอรหันต์ทั้งหลายที่แยกย้ายกันอยู่ต่างหากอีก สำหรับพระอรหันต์ที่ประจำนี้ถ้าจะเปรียบเทียบกับพระมหากษัตริย์ ก็เรียกว่าข้าราชบริพารในพระราชสำนัก ประจำอยู่กับพระองค์ ส่วนพระสงฆ์ที่แยกย้ายอยู่ตามวัดต่างๆ มีอีกนับประมาณมิได้

    ในกาลนั้น นางวิสาขาเกิดเป็นสตรีคนหนึ่ง มีฐานะไม่ใช่เศรษฐีและก็ไม่ใช่คหบดี เป็นคนอย่างเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายคือมีฐานะพอกินพอใช้แบบธรรมดาๆ แต่ว่ามีสตรีนางหนึ่งเป็นเพื่อนของนางวิสาขา เธอเป็นลูกของมหาเศรษฐีใหญ่ มีเงินนับไม่ได้ นับล้าน นับโกฏิ นับพันโกฏิ หมื่นโกฏิ แสนโกฏิ นับไม่ได้ ถ้าจะนับเป็นเหรียญต้องนับเป็นร้อยๆ พันๆ โกฏิเล่มเกวียน เธอมีเงินมากเหลือเกิน แต่ว่าไม่ถือตัวทั้งๆ ที่นางวิสาขาเป็นคนจนแสนจน

    ถ้าจะเทียบกับฐานะขอนาง สตรีผู้นั้นซึ่งเคยเป็นเพื่อนเก่าตั้งแต่เด็กไม่เคยแสดงความรังเกียจ มีความรักใคร่ ถือว่านางวิสาขาเป็นมิตรสนิทชิดเชื้ออยู่ตลอดเวลา แต่ว่าสำหรับเธอนั้น เป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนา คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ในเมื่อกาลใด จะมีพระสงฆ์ติดตามมากี่แสนกี่ล้านองค์ก็ตาม นางสตรีผู้นั้นซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนางวิสาขา รับอุปการะทุกเวลา ทั้งสถานที่อยู่เครื่องใช้ไม้สอยทุกอย่างตามความจำเป็นของสมณวิสัย ตลอดจนอาหารการบริโภค ยารักษาโรค ทุกอย่างนางรับอุปการะทั้งหมด เป็นเหตุให้สาวกของพระบรมสุคต มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน มีความสุข ไม่ลำบากด้วยความเป็นอยู่ ที่เป็นอย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครูท่านกล่าวว่า เพราะว่านางบำเพ็ญกุศลทานมีการถวายสังฆทาน เป็นต้น

    ต่อมาองค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศน์ผลของการถวายสังฆทานว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมากตามลำดับของทาน ท่านกล่าวว่า

    การให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานแก่คนไม่มีศีล ๑ ครั้ง

    การให้ทานแก่คนที่ไม่มีศีล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานแก่คนที่มีศีลบริสุทธิ์ ๑ ครั้ง

    การให้ทานแก่คนที่มีศีลบริสุทธิ์ ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับให้ทานแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค ๑ ครั้ง

    (คำว่า “ผู้ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค” ก็คือ การปฏิบัติสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ด้วยความตั้งใจจริง หวังจะเป็นพระโสดาบัน แต่ยังไม่ได้ ก็เรียกว่าผู้ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค)

    การถวายทานแก่ท่านที่ปฏิบัติเพื่อพระโสดาปัตติมรรค ๑๐๐ ครั้ง ก็มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระโสดาปัตติมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระโสดาปัตติมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระโสดาปัตติผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระโสดาปัตติผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระสกิทาคามิมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระสกิทาคามิมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระสกิทาคามิผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระสกิทาคามิผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอนาคามิมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอนาคามิมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอนาคามิผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอนาคามิผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอรหัตมรรค ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอรหัตมรรค ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระอรหัตผล ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระอรหัตผล ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

    ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง

    ถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับการสร้างวิหารทานไว้ในพระพุทธศาสนา ๑ ครั้ง

    นางวิสาขาสมัยนั้นชื่อว่าอะไรก็ไม่ทราบ ท่านไม่ได้บอกชื่อ เมื่อได้ฟังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์ว่า การถวายสังฆทานมีอานิสงส์มาก แม้แต่ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเองถึง ๑๐๐ ครั้งก็มีผลไม่เท่ากับการถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง เพราะถวายสังฆทานนี้ ต้องปรารภพระพุทธเจ้าประธานเพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราถวายทานแด่พระสงฆ์ เราก็ต้องน้อมจิตถึงพระพุทธเจ้าด้วย เพราะคำว่า “สังฆทาน” แปลว่า “ทานเพื่อหมู่” ไม่ใช่เพื่อบุคคล เป็นส่วนสาธารณประโยชน์

    เมื่อนางได้ฟังอย่างนั้นแล้วจึงได้อาราธนาองค์สมเด็จพระประทีปแก้วพร้อมไปด้วยพระสงฆ์ตามสมควร ไปรับสังฆทานที่บ้าน เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงรับด้วยอาการ “ดุษณีภาพ” (หมายความว่า “พระพุทธเจ้า เวลาท่านรับนิมนต์ ท่านไม่ออกปากว่ารับได้ ถ้านิมนต์แล้วท่านไม่ขัด ท่านเฉย ถือว่ารับ”)

    เมื่อถึงเวลาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว พร้อมด้วยพระสงฆ์ก็ไปที่บ้านของนาง นางก็ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ตามกำลังฐานะที่พึงถวายได้ (อาจจะมีแกงเลียงตำลึงสักถ้วย มีต้มยำสักหม้อ มีน้ำพริกสักถ้วยหนึ่ง มีผักดิบ มีผักต้มอย่างนี้เป็นต้น คือเป็นธรรมดาๆ) เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดี เป็นผู้เลี้ยงง่าย ใครเขาเลี้ยงแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น พระองค์ไม่เคยรังเกียจ ไม่ใช่ว่าเป็นพระสำรวยเวลามียศถาบรรดาศักดิ์ขึ้นมาต้องกินข้าวด้วยตะลุ่มมุก ต้องกินจานแก้ว จานเงิน จานทอง สำรับสวยๆ พระดีท่านไม่ทำแบบนั้น ถ้าทำแบบนั้นก็เป็นพระนรกเท่านั้น พระดีเขาไม่คิด คิดเสียว่าถ้าชาวบ้านเขามีศรัทธาแล้วเป็นใช้ได้

    เมื่อนางถวายทานแล้ว จึงเข้าไปกราบองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ทรงพระนามว่า “วิปัสสีทศพล” ตั้งมโนปณิธานกับองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

    “การถวายสังฆทานครั้งนี้ ขอผลบุญอันนี้ จงส่งให้หม่อมฉันในชาติต่อไป ให้มีโอกาสได้เลี้ยงดูพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับสตรีที่เป็นเพื่อนของหม่อมฉันเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

    นางกล่าวเจตนาไม่ได้หวังความเป็นเศรษฐี ต้องการอย่างเดียวคือเลี้ยงดูพระสงฆ์ให้มีความสุข ดูเจตนาของนางให้ดี บรรดาท่านพุทธบริษัท เมื่อองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ทรงสดับแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทรงตรวจดูด้วยอำนาจพระพุทธญาณก็ทราบชัด เมื่อทราบแล้ว องค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิโสภาคย์ได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

    “ภคินี ดูกรรน้องหญิง นับตั้งแต่นี้ไปอีกแสนกัป จะมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า “พระสมณโคดม” สมัยนั้น เธอจะเกิดเป็นลูกของธนัญชัยเศรษฐี มีปู่นามว่า เมณฑกเศรษฐี เธอมีนามว่านางวิสาขา จะมีทรัพย์สินรวยมากนับไม่ได้และจะเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน”

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน หลังจากชาตินั้นแล้วนางวิสาขาก็ท่องเที่ยวอยู่บนสวรรค์สิ้นกาลนาน เมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงอุบัติ นางก็มาเกิดเป็นลูกธนัญชัยเศรษฐีแล้วก็ได้บรรลุพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และเกิดความมั่งมีศรีสุขร่ำรวยเงินทองจนนับไม่ได้

    หลวงปู่ดูลย์ท่านก็บำเพ็ญทานขั้นโลกีย์หรือในระดับศีลธรรมเหมือนอย่างท่านอื่นๆ เช่นกัน ต่างแต่ว่าทำแบบปล่อยวางหมดทำแบบไม่เอา ไม่หวังสวรรค์วิมานอะไรทั้งนั้น ท่านปรารถนาแต่บุญโลกุตตระเท่านั้น

    หลวงปู่เคยกล่าวไว้น่าคิดว่า

    “เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้วอาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง.”


    ธรรมทานการประกาศศาสนา



    การให้ธรรมะ การสั่งสอนธรรม การประกาศพระพุทธศาสนาให้แผ่ขยาย ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ให้ แต่ถ้าทำไม่ดีก็อาจเป็นบาปได้เหมือนกัน

    หลวงปู่ดูลย์เคยให้โอวาทเตือนพระธรรมทูตที่จะออกไปเผยแผ่พระศาสนา บำเพ็ญธรรมทานยังที่ต่างๆ ว่า

    “ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยผ่ประกาศพระศาสนานั้นเป็นได้ทั้งส่งเสริมพระศาสนาและทำลายยพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้เพราะองค์ธรรมทูตนั่นแหละเป็นตัวสำคัญ คือเมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญาจริยาวัตรงดงามตามสมณวิสัย ผู้ที่พบเห็น หากยังไม่เลื่อมใส ก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้นส่วนที่เลื่อมใสแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสมากขึ้นเข้าไปอีกฯ ส่วนองค์ที่มีความประพฤติและวางตัวตรงกันข้ามนี้ ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลย ก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีกฯ จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อมไปด้วยความรู้แความประพฤติ ไม่ประมาท สอนเขาอย่างไร ตนเองต้องทำอย่างนั้นให้เป็นตัวอย่างได้ด้วย”

    สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ปุณณกมหาเถระ) เคยกล่าวแก่พระธรรมทูต ที่จะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา อันเป็นการให้ธรรมทานว่า

    ว่ากันว่าในทางพระพุทธศาสนา งานนี้ก็เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ว่า เริ่มแต่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พอมีพระสงฆ์สาวกได้ ๖๐ รูป พระองค์ก็ได้จัดส่งท่านทั้ง ๖๐ รูปนั้น ออกเที่ยวประกาศพระศาสนา โดยตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงแห่งมา ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ แม้ท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปแสดงธรรม เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ประชาชน แต่อย่าไปสองรูปในทางเดียวกัน จนแยกย้ายกันไปรูปละสาย” นี้เป็นครั้งแรก ส่วนพระองค์เองก็เสด็จกลับมาที่แคว้นมคธ มาเทศน์ทรมานพวกชฏิลดาบสประมาณคนเป็นพี่น้อง ตั้งอาศรมหรือสำนักอยู่ใกล้ๆ กัน พี่ชายใหญ่ชื่ออุรุเวลกัสสปะ อยู่ที่อุรุเวลา น้องชายคนถัดไป คือคนกลาง ชื่อนทีกัสสปะ อยู่ที่ปากแม่น้ำ ซึ่งสมัยนี้เรียกชื่อว่าโมหนา และน้องคนสุดท้องชื่อ คยากัสสปะ อยู่ที่หัวเมืองคยา

    ในประเทศอินเดียนั้น มีเทือกเขาทั้งทางทิศใต้และทิศเหนือทางทิศเหนือเป็นเทือกเขาหิมาลัยมีสายน้ำธารน้ำต่างๆ ไหลลงมาเกิดเป็นแม่น้ำ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา เป็นแม่น้ำสำคัญจากทางเหนือ ทางทิศใต้เรียกเทือกเขาวินธยะ เราก็อ่านกันเสียว่าวินธัยจากเทือกเขาวินธัย มีแม่น้ำไหลลงมาสายหนึ่งเป็นแม่น้ำเนรัญชราไหลจากทางใต้ขึนไปทางเหนือ ไปรวมกับแม่น้ำคงคา เพราะฉะนั้นอุรุเวลกัสสปะ พร้อมบริวาร เห็นดีเห็นชอบเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าก็ลอยเครื่องบริขาร มันก็ลอยไปเหนือตามน้ำไปผ่านนทีกัสสปะ

    ทางนทีกัสสปะเห็นก็เข้าใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับพี่ชาย ก็เดินทางมาหา เมื่อทราบว่าได้ดีได้ชอบแล้วก็ลอยเครื่องบริขารไปตามน้ำเช่นเดียวกับพี่ชาย เครื่องบริขารก็ลอยไปถึงน้องชายเล็กที่อยู่เมืองคยา ที่ตั้งของโพธิ์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ่งเป็นที่ตรัสรู้นั้นเรียยกพุทธคยา อยู่ห่างจากเมืองคยา เมืองคยานี้เป็นเมืองเก่า อยู่ทางทิศเหนือ น้ำไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ กัสสะปะคนน้องอยู่เมืองคยา เรียกว่าคยากัสสปะ พอได้ข่าวก็รีบมาหาพี่ชาย เมื่อได้ทราบก็มีความเลื่อมใส ได้รับข่าวว่าเป็นลัทธิที่ดีแล้วก็ลอยเครื่องบริขาร เข้ารับการอุปสมบท จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงพาบริวารคือพระภิกษุชฎิลเก่าทั้งหมดไปที่คยาสีสะ หัวเมืองคยา

    ผมไปอยู่อินเดีย ๓ ปี ๕ เดือน ไปปีแรกก็ได้ไปดู ถามเขาว่าคยาสีสะอยู่ที่ไหน เขาก็พาไปดู เป็นเนินเขาเตี้ยๆ มีรอยเท้าอยู่ในหิน เวลานี้เขาสร้างมณฑปครอบ ตามความหมายของพวกนับถือศาสนาฮินดู ก็ว่าเป็นรอยบาทของพระวิษณุ ส่วนของเราก็ว่าเป็นพระพุทธบาท เวลานี้เขาก็นับถือกราบไหว้บูชากัน ถ้าเอาสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นออกก็เห็นได้ว่าครั้งพุทธกาลคงเป็นลาน กล่าวกันว่าครังนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรบนลานภูเขานี้

    ธรรมดาไม่ว่าเมืองไหนมักมีนิกาย ของเราอย่างปักษ์ใต้ก็มีม่องลาย มีนิยายอะไรต่ออะไร ที่เมืองคยานี้ก็มีนิยายว่า มียักษ์ตนหนึ่งชื่อคยา มีความผิดจึงถูกพระเจ้าปราบสังหารตาย ตรงที่เป็นลานนี้เป็นศีรษะยายักษ์ เมืองคยานี้เรียกว่าเป็นเมืองยักษ์คยา ที่ตรงนั้นเป็นศีรษะ เขาจารึกไว้ว่าคยาสิระ สิระก็คือสีสะ เขาไวพจน์กัน แปลอย่างเดียวกัน สีสะก็คือสิระ สิระก็คือสีสะ เขาจารึกชื่อว่า คยาสิระ สร้างเป็นศาลาอยู่ข้างล่าง มีบันไดขึ้นไป มีมณฑป มีรอยพรระบาทดังกล่าว ที่คยาสีสะนี้พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โปรดภิกษุผู้เป็นชฏิลดาบสเก่าพร้อมทั้งภิกษุบริวาร จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ถ้านับตามจำนวนที่ท่านว่าไว้ก็เป็น ๑,๐๐๓ รูป

    เป็นความฉลาดของพระพุทธเจ้าที่จะทำงานให้ได้ผล คือที่จะเทศนาให้ได้ผล ทรงเห็นว่าพวกชฎิลดาบสเหล่านี้มีเคารพนับถือมาก ถ้าพระองค์ไม่ปราบให้ลงเสียก่อนแล้ว ก็ยากที่จะทำงานให้ได้ผล เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรงไปปราบ จนได้เป็นลูกศิษย์แล้วพาไปกรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาเฝ้าพร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวน ๑๒ นหุต คือ ๑๒ หมื่นหนึ่งนหุต ท่านว่าเท่ากับหนึ่งหมื่น เหล่าข้าราชบริวารต่างสงสัยกันว่า ชฏิลดาบสเหล่านี้เป็นที่เคารพของชาวมคธมาก พระสมณโคดมเป็นศิษย์ของพวกอุรุเวลกัสสปะหรือพวกอุรุเวลกัสสปะเป็นศิษย์ของพระสมณโคดม

    พระพุทธเจ้าทราบวาระจิตของข้าราชบริพารเหล่านั้น จึงรับสั่งกับพระอุรุเวลกัสสปะว่า กัสสปะ เพราะเหตุไรท่านจึงละลัทธิของท่านมาบวชในศาสนาของเรา ท่านพระอุรุเวลกัสสปะกราบลงแล้วก็เหาะขึ้นไปในอากาศสูง ๗ ชั่วลำตาล แล้วลงกราบพระพุทธองค์ประกาศตนเป็นศิษย์ พวกนั้นก็พากันเลื่อมใสว่าท่านอุรุเวลกัสสปะที่เราทั้งหลายเคารพนับถือ ยังยอมตนเป็นศิษย์ของพระสมณโคดม จึงต่างทำความสำคัญและตั้งใจรับฟัง พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา จนบุคคลเหล่านั้นได้บรรลุมรรคผลและตั้งอยู่ในภูมิธรรมตามฐานะและอุปนิสัย เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

    ในส่วนพระสงฆ์สาวก ต่างก็แยกกันออกแสดงธรรมประกาศพระพุทธศาสนา ได้รับผลสำเร็จอย่างกว้างขว้าง มีกุลบุตรผู้มีศรัทธาทาเข้ามาบวชเป็นอันมาก แสดงว่าการเผยแผ่นี้เป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเจริญมาได้เพราะการเผยแผ่ ดังนั้นเราผู้เป็นศิษย์สาวก แม้เวลาผ่านมากว่า ๒,๐๐๐ ปีแล้ว ก็ยังดำเนินการตามหลักของพระพุทธเจ้าที่ทรงเผยแผ่พระศาสนา

    พระพุทธศาสนาเจริญได้รวดเร็วเพราะการเผยแผ่ ศาสดาเจ้าลัทธิต่างๆ ในยุคนั้นสมัยนั้นมีมาก เราได้ยินชื่อเหล่านักบวชผู้เป็นศาสดาเจ้าลัทธิ เป็นดาบสบ้าง เป็นปริพาชก อาชีวก อเจลกนิครนถ์บ้าง มีหลายลัทธิ แต่วิธีการสู่ของพระพุทธเจ้าไม่ได้ พวกเหล้านั้นตั้งสำนักอยู่ ใครปรารถนาก็มาหา จึงได้แนะนำและสอนลัทธิของตน ไม่มาก็แล้วไป พระพุทธองค์ไม่ทรงรอให้คนมาหา แต่พระองค์เสด็จไปหาผู้ทีทจะรับพระธรรมเทศนารอผู้ที่ควรรับพระธรรมเทศนา ไม่รอแต่ให้เขามาหา นี้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พรระศาสนาเจริญรวดเร็ว

    เคยเล่าเปรียบเทียบให้ฟังว่า แต่ก่อนนี้ป่าดงมันทึบ ต้นไม้ยังมาก เป็นป่ามาก ที่บ้านเดิมคือคือบ้านเดิมเกิดของผม อยู่ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา อยู่ติดกับดงพญาไฟ พวกพรานที่ไปหาเนื้อจัดเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเรียกว่า พวกนั่งห้าง มีต้นไม้ที่ลูกมันสุกแล้วมีพวกสัตว์ป่ามากิน โดยมากินน้ำในหนองที่มีน้ำ พวกพรานนั่งห้างก็ขึ้นต้นไม้ไปคาดห้าง เอาไม้ตัดเป็นท่อนๆ ผูกเข้าเป็นห้างไปนั่งอยู่บนนั้น คอยดักสัตว์ที่มากินน้ำกินผลไม้ ถ้าสัตว์มาก็ได้ยิง ถ้าสัตว์ไม่มาก็ไม่ได้ยิง นี้พวกหนึ่ง

    อีกพวกหนึ่งคือพวกตามล่า ผมเคยเป็นลูกน้องพวกพราน เขาเรียกว่า ลูกแหล่ง มีหลอดเป่าตามหลายคน ราวเก้าคนสิบคน พวกพรานเขาก็ออกดักหัวดอน เราก็ตามรอยไป เดินตามรอยไปพร้อมกับเป่าหลอดเรื่อย ๆ ใกล้เข้าไป สัตว์ได้ยินเสียงคนก็วิ่งออกจากดอน จะไปดอนอื่น พวกพรานก็ยิง เขายิงโดยไม่เล็งปืนมาทางที่เราอยู่ เขารู้ว่าลูกแหล่งอยู่ที่ไหน ทางไหนจากเสียงหลอดที่เราเป่าพรานพวกนี้เป็นพวกตามล่า ไม่ได้แต่รอให้เนื้อมาหา

    นี้ก็มาเทียบกับศาสดาเจ้าลัทธิต่างๆพวกที่ตั้งสำนักรอให้บริษัทมาหา คล้ายกับพรานพวกที่นั่งห้าง เนื้อมาก็ไดยิง เนื้อไม่มาก็ไม่ได้ยิง บางทีไปนั่งคอยตลอดรุ่งโดยไม่ได้ยิง ส่วนพวกพรานตามล่านี้ไปกลางวัน ไปตามดอนที่มีรอยเนื้อ ลูกน้องตามรอยเป่าหลอดไล่ พวกพรานว่าตามล่า วิธีประกาศพระศาสนาแบบของเราก็อาจเรียกว่าแบบเที่ยวล่าได้เหมือนกัน คือล่าเวไนย ไม่ได้รอแต่ให้เขามาหา

    พระธรรมทูตนี้ก็ปฏิบัติตามพระองค์พระพุทธเจ้า คือ ล่าเวไนยไปหาเขา ไปแนะนำสั่งสอนเขาตามกำหนดตามสายที่จัดไว้ ใครจะไปตำบลไหน อำเภอไหน แบ่งกันไปทำหน้าที่ตามความเหมาะสม เป็นการปฏิบัติตามรอยพระพุทธองค์ เป็นการทำให้พระศาสนาเจริญและมั่นคงถาวร

    ศาสนามีประโยชน์อย่างไร มีความจำเป็นอย่างไร เราทำเพื่ออะไร ก่อนจะเกิดมีศาสนาเป็นหลักฐานขึ้นมาได้นั้นยากเหลือเกินต้นเดิมมนุษย์เราไม่ทราบว่ามาจากไหน เกิดจากอะไรไม่มีใครรู้ศาสนาคริสต์บอกว่าพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ เราไม่ทราบว่ามาจากไหน เกิดจากอะไรไม่มีใครรู้ ศาสนาคริสต์บอกว่าพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ขึ้นมา แต่มันผิดธรรมชาติธรรมดาอยู่

    ในคัมภีร์ไบเบิ้ล กล่าวว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ก่อน ต่อมาเมื่อมืดก็สร้างอาทิตย์ขึ้นมา กลางคืนมืดก็สร้างพระจันทร์ขึ้นอีกแต่ความจริงนั้นความอบอุ่นกับแสงสว่างนี้สำคัญมาก ถ้าไม่มีความอบอุ่น อุณหภูมิไม่ดี แสงสว่างไม่มี ก็เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมาไม่ได้

    แต่ก่อนนี้พวกคนจีนบูชาพระจันทร์ เมื่อไม่นานมานี้อเมริกันเขาส่งจรวดขึ้นไปบนพระจันทร์ บนพระจันทร์นี้อากาศก็ร้อนเร็วเย็นก็เย็นเร็ว และเย็นก็เย็นมาก ร้อนก็ร้อนมาก บนพระจันทร์ไม่มีน้ำ ไม่น้ำอากาศ เพราะฉะนั้นบนพระจันทร์นี้เราจะวิ่งเราจะกระโดดอย่างตึกนี้เราก็กระโดข้ามได้ บนพระจันทร์ไม่มีอากาศเดินก็โหย่งๆ เพราะมันไม่หนัก ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอากาศ ไม่มีความดูด ไม่มีอากาศก็พูดไม่มีเสียง ที่เราพูดมีเสียงก็เพราะมีอากาศ เราพูดออกมากระทบกับอากาศแล้วเป็นคลื่นไปเข้าหู ในพระจันทร์ไม่มีอากาศจึงพูดไม่มีเสียง เมื่อไม่มีอากาศไม่มีน้ำ พืชสัตว์ต่างๆ ก็เกิดไม่ได้ มันสว่างนาน มืดนาน มืดก็มืดนาน สว่างก็สว่างนาน หนาวก็หนาวมาก ร้อนก็ร้อนมาก จึงไม่มีพืชอะไรเกิด เมื่อไม่มีพืชเกิดสัตว์ต่างๆ ก็เกิดไม่ได้

    บนโลกเรานี้ สิ่งมีชีวิตต่างๆ นั้นพวกต้นไม้ต้นหญ้าต่างๆ มันเกิดก่อนเราเป็นพี่ของเรา พวกสัตว์สี่เท้า สัตว์สองเท้า สัตว์ไม่มีเท้าสัตว์ต่างๆ เหล่านี้เกิดทีหลัง เพราะเราจะต้องกินผักกินหญ้ากินผลไม้กินใบไม้ กินรากเหง้าต้นไม้ที่เกิดมาก่อน เราเพราะฉะนั้นพวกต้นไม้ต้นหญ้ามันเป็นพี่ของเราเนื่องจากเกิดก่อนเรา เราเกิดมาจากไหนและใครเป็นปฐมบุรุษมนุษย์คนแรกไม่รู้ ทางคริสต์ก็เลยว่าอาดัมกับอีวา

    ทางศาสนาพราหมณ์ก็ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง พระพรหมเกิดขึ้นมาเอง ว่าในโลกนี้มีละอองจับกันเป็นก้อนเรียกว่า “ไข่พรหม” คือ “พรฺหฺมาณฺฑ” ก้อนที่ว่านี้มันแตกซีกบนเป็นฟ้าซีกล่างเป็นดิน แล้วก็มีตัวพรหมออกมา คือ ที่เรียกว่าพระพรหม เป็นผู้สร้างมนุษย์สร้างสิ่งต่างๆ เอาหัตถ์ซ้ายซัดไป เอาหัตถ์ซ้ายลูบหัตถ์ขวาซัดไป เป็นพระอิศวร พระนารายณ์ แล้วก็สร้างพระปชาบดีขึ้นมา ช่วยกันสร้างสัตว์และอะไรต่ออะไร ว่าไปอย่างนั้นก็มี พระพรหมนี้ก็เลยเป็นเลขหนึ่ง เป็นต้น และเป็นสยัมภู คือเกิดเอง จากก้อนธุลีที่มันรวมตัวกันเข้าเป็นฟองไข่ใหญ่แล้วแตกออกสองเสี่ยงเป็นฟ้ากับดินนั้น

    ทางภาคอีสาน มีเรื่องเก่าเล่ากันมา ยังกาหนังสืออ่านไม่ได้เพียงแต่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่ามีปู่สังกะสาย่าสังกะสี สร้างโลกขึ้นมา “แผ่นดินเท่าฮอยไก้ ต้นไม้เท่าลำเทียน” เอาดินมาปั้นเป็นมนุษย์เป็นสัตว์และอะไรต่ออะไรต่างๆ ทางจีนก็มีเรื่องของตนต่างออกไปเราจึงรู้ไม่ได้ว่ามนุษย์เรามาจากไหน

    มนุษย์เราที่มีรูปร่างต่างๆ กัน อาจจะเป็นเพราะอาหาร เพราะอากาศ พวกดำก็ดำ พวกเขาก็ขาว พวกไม่ดำไม่ขาวเขาจัดเป็นพวกผิวเหลือง พวกเรานี้เข้าให้เป็นพวกผิวเหลือง แต่ร่างกายคนเราทางแพทย์บอกว่าใช้กันได้ เข้ากันได้ แต่งงานกันได้ เส้นสายของอวัยวะภายในต่างๆ เหมือนกัน เข้ากันได้ ใช้กันได้ แสดงว่าเป็นพืชพันธุ์ที่สืบต่อกัน ที่มีรูปร่างต่างกันนั่นเพราะอากาศและอาหารที่เป็นคนป่าคนดอยอยู่ตามดงตามป่า กว่าจะเป็นคนเจริญก็หลายหมื่นหลายแสนปี เมื่อพบธรรมชาติอะไรต่างๆ ก็คอยจับเหตุจับผลเมื่อจับเหตุผลได้ก็ค่อยเจริญขึ้น

    เขาว่าความกลัวนี้เป็นของสำคัญ ศาสนาจะเกิดก็เพราะความกลัว เห็นธรรมชาติ เช่นอยู่ดีๆ ฟ้าผ่าเปรี้ยงมาจากไหนไม่รู้ เดี๋ยวฝนตกเดี๋ยวฟ้าแลบฟ้าผ่า ในฤดูแล้งก็เกิดไฟไหม้ป่า ไม่รู้ไฟมันมาจากไหน ฝนตกก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน กว่าจะรู้อะไรเป็นอะไรก็เป็นเวลาหมื่นๆ แสนๆ ปี เพราะความกลัวธรรมชาติปรากฏการณ์ต่างๆ จึงหาที่พึ่งแล้วก็กราบไหว้ภูเขาต้นไม้เป็นต้น ในพระธรรมบทก็มีเค้าอยู่ว่า

    พหํ เว สรณํ ยนฺติ ปพพตานิ วนานิ จ
    อารามรุกฺขเจตฺยานิ มนุสสา ภยตชชิตา
    เนตํ โข สรณํ เขมํ เนตํ สรณมุตฺตมํ
    เนตํ สรณมาคมฺม สพพทุกขา ปมุจฺจติ

    แปลว่า คนโดยมากถูกความตายมาคุกคาม มีความกลัว ก็นับถือภูเขาต้นไม้ อะไรต่างๆ นับถือพระดิน พระน้ำ พระไฟ พระลม คือพระธรณี พระวรุณ พระอัคคี พระพาย อะไรเหล่านี้ ซึ่งที่แท้แล้วไม่อาจเป็นที่พึ่งให้พ้นทุกข์ได้แต่อย่างใด มนุษย์เราเจริญขึ้นโดยลำดับ รู้ว่าอะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องเพิ่มชขึ้นตามลำดับจนถึงสมัยที่พรระพุทธองค์ของเรามาอุบัติและได้ตรัสรู้ นี่เป็นสมัยที่เจริญมากแล้วและวิวัฒนาการหรือความเจริญของมนุษย์นี้เกี่ยวข้องกันกับจักรหรือล้ออยู่ด้วย ถือกันว่าจักรหรือล้อเป็นของสำคัญ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าและความสำเร็จ

    จักร นี้ภาษามคธหรือบาลีเรียก จกฺก ภาษาสันสกฤตเป็น จกฺร แปลว่าล้อ รูปวงกลม มีวงมีกง มีกำ มีดุม ทางอีสานเรียก “ตีน” สำหรับรถก็เรียกว่าตีนรถ สำหรับเกวียนเรียกว่าตินเกวียน ถ้า “ล้อ” เขาหมายเอาที่ภาคกลางเรียกตะเฆ่ สำหรับลากไม้ ตะเฆ่นั้น ตีนของมันไม่มีกงไม่มีกำ มันทึบๆ มีดุม คำว่า ล้อ ภาคเหนือภาคพายัพเขาหมายเอา เกวียน คือเกวียนทั้งเล่มเขาเรียกว่าล้อ ภาคกลางเขาหมายเอาจักกะเป็นล้อ ซึ่งภาคอีสานเรียกว่าตีน เช่นตีนรถตีนเกวียน เพราะฉะนั้นเมื่อถูกรถทับเกวียนทับ เขาไม่เรียกว่ารถทับเกวียนทับ แต่เรียกว่ารถเหยียบ เกวียนเหยียบเช่นกับที่ว่าช้างเหยียบ ควายเหยียบ นี้คือภาษาที่มันเพี้ยนๆ กัน

    ที่จะเกิดล้อนี้ ว่ากันว่าครั้งแรกพวกป่าพวกดอยก็เพียงเอาไม้ผูกกันเข้าสำหรับใช้ลากเนื้อลากอะไรที่ได้ ต่อมาก็แก้ไขทำให้สะดวกเพิ่มขึ้น ถึงตัดไม้ให้เป็นท่อน เจาะให้เป็นรู เอาไม้สอดในรูเป็นล้อ และต่อมาก็ทำดีขึ้น เป็นกงเป็นกำ เป็นล้อเป็นเกวียนขึ้นมาเรียกว่าเกวียน เรียกว่ารถ ช่วยให้เดินทางและขนสิ่งของได้เร็วและสะดวก

    ในอินเดีย พวกอริยกะหรืออารยันที่แผ่เข้ามาในอินเดียได้ก็เพราะมีรถมีล้อ ช่วยให้เดินเร็วเดินสะดวก จึงชนะพวกเผ่าเดิมในอินเดีย ที่ไม่เจริญ ไม่มีรถไม่มีล้อ ไม่มีเครื่องพาหนะเดินเร็ว เราเพราะฉะนั้นพวกอารยันจึงได้นับถือว่าเป็นของวิเศษ มาถึงสมัยพระพุทธศาสนาของเรา เราก็ให้ความสำคัญแก่จักรหรือล้อเช่นกัน โดยใช้คำว่า “ธรรมจักร” ซึ่งแปลว่า “ล้อธรรม” เป็นชื่อพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดง และใช้เครื่องหมายธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาและการเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มาสมัยใหม่นี้ มนุษย์เราก้าวหน้าขึ้น ดัดแปลงให้ดียิ่งขึ้นโดยลำดับ จนมาเป็นรถยนต์ต่างชนิดต่างแบบเช่นที่เราเห็น ให้ความสะดวกและมีความเร็วสูงกว่าสมัยเก่าเป็นอันมาก ด้านเรือน้ำก็ทำไปๆ จนถึงต่อเรือได้ เริ่มแรกก็เป็นเรือขุด ต่อมาก็ต่อได้ คือทำเป็นเรือต่อ และต่อมาอีกก็สามารถเอาเหล็กมาต่อเป็นเรือได้ เรือแต่ก่อนใช้ใบ คือแล่นด้วยกำลังลม ต่อมาก็ใช้กำลังไอน้ำ ถึงสมัยปัจจุบันใช้นิวเคลียร์ซึ่งให้พลังมหาศาล ทางอากาศก็มีการคิดแล้วค้นคว้าทดลอง จนมีเครื่องร่อนเครื่องบินไปได้อย่างรวดเร็วมาก นี่ก็เกี่ยวกับความเจริญของมนุษย์ทางด้านการเคลื่อนไหวติดต่อ จะเจริญต่อไปอย่างไรอีกเราก็ยังรู้ไม่ได้

    มนุษย์เรา จะมีความสุขสมบูรณ์ก็เมื่ออยู่ด้วยกันได้ โดยไม่มีการเบียดเบียนกัน ก่อนที่มนุษย์เราจะรวมกันอยู่เป็นบ้านเมืองนั้น เดิมก็อยู่ป่าอยู่ดอยต่างคนต่างอยู่ หนักเข้าต้องพึ่งพาอาศัยกันจึงมีการรวมกลุ่มกัน เจริญใหญ่โตขึ้นโดยลำดับ ก็มาเป็นบ้านเป็นเมือง และเมื่อมาเป็นบ้านเป็นเมืองแล้วที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนกันก็จำเป็นจะต้องมีกฎทีเกณฑ์ ที่เรียกว่ากฎสังคม กฎประชาคม อะไรทำนองนี้

    อย่างศีล ๕ นี้ความจริงก็มีมาก่อนพระพุทธเจ้า คือเมื่ออยู่ด้วยกันมากๆ ก็มีการทำร้ายกันตีกันฆ่ากัน จึงออกกฎเกณฑ์บังคับใครทำก็ลงโทษต้องฆ่าให้ตายไปตามกัน เรื่องทรัพย์สมบัติก็อยู่ด้วยกันไปลักขโมยกันไม่ได้ เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ผัวๆ เมียๆ ก็เป็นเรื่องลำบาก บางทีอยากได้ก็ไปฉุดเอาลากเอา ฉุดลากลูกเมียเขามาเกิดเดือดร้อน จึงมีกฎเกณฑ์เป็นข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่องความผิดทางกามขึ้นและการพูดโกหกหลอกลวงอะไรต่างๆ ก็ทำความชั่วทำความเดือดร้อนให้เกิดจึงได้มีข้อห้ามทางนี้ขึ้น ข้อท้ายก็คือเห็นว่าเรื่องทั้งหมดมาจากต้นเหตุคือความมึนเมา ความประมาท จึงได้มีข้อห้ามเกี่ยวกับการดื่มของเมาขึ้น แล้วมาถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรา

    พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วได้ทรงนำเอากฎของสังคมดังกล่าวนั้นมาบัญญัติเป็นศีล เกิดเป็นศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาขึ้น แล้วศีลทั้งหลายก็แตกออกจากนี้ ศีลทำให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขเพราะทำให้สังคมมีระเบียบ มีกฎเกณฑ์ สังคมที่ไม่มีระเบียบไม่มีกฎเกณฑ์ย่อมเบียดเบียนกัน หาความสงบสุขไม่ได้ เมื่อศีลเป็นหลักทางศาสนา จึงอาจกล่าวได้ว่าศาสนาทำให้มนุษย์มีความสุขทำให้สังคมมีความสุข ทำให้มนุษย์สมบูรณ์ขึ้น ศาสนาจึงมีความจำเป็นดังนี้

    นอกจากศาสนามีหลักศีลช่วยให้สังคมอยู่เป็นสุขดังกล่าวนี้แล้วพระพุทธศาสนาของเรายังมีหลักธรรมสอนให้คนประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ได้รับประโยชน์ ได้รับความสุข ทั้งในชาตินี้และชาติหน้ารวมทั้งประโยชน์หรือความสุขอย่างสูงสุดคือพระนิพพานด้วย ที่เรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในโลกนี้ สัมปรายิกัตตะ ประโยชน์ในโลกหน้า และปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน พระศาสนาจึงเป็นสิ่งดี สิ่งประเสริฐ ช่วยบุคคลได้ด้วยประการฉะนี้

    พระพุทธองค์ รวมทั้งพระสงฆ์สาวก ได้ทำการประกาศพระศาสนา ให้มหาชนได้มีที่พึ่งอันอุดมอันประเสริฐ ช่วยให้พ้นทุกข์ได้ให้พระศาสนาแผ่ขยายและสถิตสถาพรสืบมาจนบัดนี้ เราทั้งหลายก็ดำเนินตามอยู่ เป็นการปฏิบัติตามพระพุทธจริยาและพระบรมพุทโธวาท

    การเผยแผ่พระศาสนาให้เข้าไปสู่จิตใจของประชาชน เป็นหน้าที่อันหนึ่งที่พระภิกษุพึงกระทำ หลวงปู่ดูลย์ท่านได้ส่งเสริมให้กิจการพระศาสนาและคุณภาพของพระภิกษุสามเณรเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ

    โดยเฉพาะด้านการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ที่สำนักบูรพารามของท่านได้มีการนสอนสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐานกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เอาจริงเอาจัง แต่ไม่เป็นที่เอิกเกริกมากนัก ในหนังสือ “อตุโลไม่มีใดเทียม” มีความกล่าวไว้ว่า

    เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยที่หลวงปู่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น มีชาวสุรินทร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จัก หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ดังจะเห็นจากเรื่องราวที่ว่า “ชาวคณะจังหวัดสุรินทร์ ผู้ใฝ่ในการบุญการกุศล ได้พากันเหมารถบัส เพื่อไปกราบนมัสการ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่ดอยปั๋ง เชียงใหม่บ้าง ไปกราบหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่สกลนครบ้างง พระคุณเจ้าเหล้านั้นได้กล่าวเป็นเชิงชี้แนะแก่ชาวสุรินทร์เหล่านั้นว่า ที่จังหวัดสุรินทร์เองก็มีพระอริยเจ้าผู้มีคุณธรรมสูงอยู่ที่นั่น คือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ทำไมจึงไม่ไปกราบ หรือทำไมจึงไม่รู้กัน อุตส่าห์ดั้นด้นตะเกียกตะกายไปถึงที่ไกลๆ โดยที่ไม่รู้ว่าที่จังหวัดของตนก็มีพระดีชั้นสุดยอดอยู่เหมือนกัน”

    ข้อความนี้คัดลอกจากบันทึกในหนังสือ “อกิญฺจโนบูชา” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่สาม อกิญฺจโน เมื่อ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

    จากความทรงจำของท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ได้เล่าถึงภารกิจด้านการเผยแผ่พระศาสนาของหลวงปู่ว่า ในระหว่างที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่นั้น งานหลักประเภทหนึ่งนั้นคือ งานก่อสร้าง ปฏิสังขรณ์และขยายวัดวาไปตามสาขาต่างๆ

    กล่าวคือ เมื่อฝ่ายกัมมัฏฐาน เผยแผ่ไปสู่ญาติโยมทางไหนก็ตาม กิจกรรมทางด้านวัดวาก็จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าแต่ละจุดแต่ละแห่ง ญาติโยมแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ ล้วนอยากได้ “วัดป่า” ล้วนอยากได้พระปฏิบัติทั้งนั้น

    อันนี้ เท่าที่ได้ฟังๆได้เห็นมา นับว่าเป็นการลำบาก เป็นการเพิ่มภาระแก่หลวงปู่อย่างยิ่ง คือไม่มีกำลังคน ไม่สามารถจะหาพระเณรไปโปรดญาติโยมให้ได้หลายจุด และให้ได้หลายแห่ง ก็เป็นอันว่าขัดข้องพอสมควร

    แต่เมื่อชาวบ้านเขาไม่ได้พระไป ก็หาโอกาสมาฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นครั้งคราว หรือมาทำบุญบริจาคทานที่หลวงปู่เป็นครั้งคราวเพื่อฟังข้อวัตรปฏิบัติหรือข้อแนะนำกัมมัฏฐาน

    อาจกล่าวได้ว่า ญาติโยมผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ปฏิบัติสมาธิภาวนาในจังหวัดสุรินทร์ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นแล้ว มักจะมีข้อสังเกตว่า ในจังหวัดอื่นนั้นพระสงฆ์สามารถปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ดีแต่ทางจังหวัดสุรินทร์ แสดงให้เห็นว่าญาติโยมจะมีโอกาสทำได้ดีเป็นจำนวนมาก

    เพราะเท่าที่หลวงปู่เผยแผ่คุณธรรมมา การเข้าถึงสมาธิปัญญานั้น ทำให้ญาติโยมตื่นตัวในการประพฤติปฏิบัติฝ่ายกัมมัฏฐานเป็นอันมาก

    ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ ศิษย์อาวุโสองค์หนึ่งของหลวงปู่ได้เคยพูดเปรียบเทียบในเรื่องนี้ว่า
    ทางแทบอีสานเหนือ เช่น อุบล อุดร ขอนแก่น นั้น ในแง่การปฏิบัติรับใช้เลี้ยงดู ถวายอาหารการบริโภค การบำรุงพระกัมมัฏฐานทำให้ได้ดี แต่แง่ของการตั้งใจทำสมาธิภาวนานั้น สู้ทางจังหวัดสุรินทร์ไม่ได้

    ส่วนทางสุรินทร์นั้น ในแง่การทะนุบำรุงจตุปัจจัย ถวายอุปถัมภ์แก่พระกัมมัฏฐานทางวัตถุนั้น สู้ทางอีสานเหนือไม่ได้ แต่ถ้าแง่การตั้งด้านสมาธิภาวนารักษาศีล ๘ ดูตามจำนวนแล้วทางสุรินทร์นี้ไม่ใช่ธรรมดาเลย ทางสุรินทร์กับบุรีรัมย์แถวนี้นับว่าการปฏิบัติภาวนาอยู่เกณฑ์ดี

    พระเถระผู้ใหญ่ท่านให้ข้อสังเกตดังนี้ และเท่าที่สังเกตมาก็เห็นว่าเป็นไปดังนั้นจริง ทั้งนี้ คงเป็นผลจากที่หลวงปู่ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการเผยแผ่ทางกัมมัฏฐาน พร้อมกับสนใจในการศึกษาด้านพระปริยัติไปด้วยกระมัง จึงได้ผลออกมาในลักษณะดังกล่าว

    หนังสือเล่มนั้นได้กล่าวถึงแนวทางการสอนของหลวงปู่ไว้ว่าสำหรับศิษยานุศิษย์ที่เป็นสามเณร และปรารถนาจะเจริญงอกงามอยู่ในบวรพุทธศาสนานั้น หลวงปู่จะชี้แนะแนวทางดำเนินปฏิปทาไว้ ๒ แนวทาง ซึ่งท่านให้ความเห็นว่า ผู้ที่จะเป็นศาสนทายาทนั้น ควรทำการศึกษาทั้งสองด้านคือ ทั้งปริยัติและปฏิบัติ

    ดังนั้น หลวงปู่จึงแนะนำว่า ผู้ที่อายุน้อยและมีแวว มีความสามารรถในการศึกษาเลาเรียน ก็ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมไปก่อนในเวลาที่ว่างจากการศึกษาก็ให้ฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วยเพราะจิตใจที่สงบ มีสมาธิ ย่อมอำนวยผลดีแก่การเล่าเรียน

    เมื่อผู้ความสามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อไปในชั้นสูงๆ ได้ หลวงปู่ก็จะจัดส่งให้ไปเรียนต่อในสำนักต่างๆ ที่กรุงเทพฯ หรือที่อื่นที่เจริญด้วยการศึกษาด้านปริยัติธรรม

    ศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่จึงมีมากมายหลายรูปที่ศึกษาพระปริยัติธรรมจบชั้นสูงๆ ถึงเปรียญ ๘ เปรียญ ๙ ประโยค หรือจบระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนกระทั่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศล และสหรัฐอเมริกา

    สำหรับอีกแนวทางหนึ่งนั้น สำหรับผู้ที่มีอายุมากแล้วก็ดี ผู้ที่รู้สึกว่ามันสมองไม่อำนวยต่อการศึกษาก็ดี ผู้ที่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานก็ดี หลวงปู่ก็แนะนำให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้พอเข้าใจให้พอคุ้มครองรักษาตัวเองให้สมควรแก่สมณสารูป แล้วจึงมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง
    ก็แลสำหรับผู้ที่เลือกแนวทางที่สองนั้น หลวงปู่ยังชี้แนะไว้อีก ๒ วิธี

    คือ ผู้ที่ใฝ่ในทางธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบฉบับของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ก็จะแนะนำและส่งให้ไปอยู่รับการศึกษาอบรมกับครูอาจารย์จังหวัดสกลนคร อุดรธานี และหนองคาย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักวัดป่าอุดมสมพร และสำนักถ้ำขามของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ได้ฝากฝังไปอยู่มากที่สุดและมาในระยะหลังมีฝากไปทีสำนักวัดป่าบ้านตาดของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสฺมปฺนโน บ้าง

    เป็นที่สังเกตว่า ไม่มีลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจใฝ่ในกิจธุดงค์คนใดที่หลวงปู่จะแนะนำให้ไปเอง หรือเที่ยวเสาะแสวงหาเอาเอง หรือเดินทางไปสำนักนั้นๆ เอง

    ในเรื่องนี้ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ยืนยันว่า หลวงปู่เคยใช้ให้ท่านเจ้าคุณเองเป็นผู้นำพระไปฝากไว้ที่สำนัก ท่านพระอาจารย์ฝั้น หลายเที่ยวหลายชุดด้วยกัน ศิษย์ที่ได้รับการฝึกอบรมจากสำนักท่านอาจารย์ฝั้นนั้นก็ได้กลับมาบำเพ็ญประโยชน์แก่การพระศาสนาด้านวิปัสสนาธุระที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์หลายท่านด้วยกัน จนกระทั่งมีไปเผยแผ่พระศาสนาในด้านนี้ถึงสหรัฐอเมริกาก็หลายรูป ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะผลการสังเกตเห็นแววและส่งเสริมสนับสนุนของหลวงปู่นั่นเอง

    ส่วนอีกวิธีหนึ่งนั้น หลวงปู่ชี้แนะไว้สำหรับผ้ที่สนใจจะปฏิบัติทางด้านสมาธิวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานอาจเป็นด้วยไม่ชอบการนุ่งห่มแบบนั้น หรือมีสุขภาพไม่เหมาะแก่การฉันอาหารมื้อเดียว หรือเพราะเหตุผลอื่นใดก็ตาม

    หลวงปู่ถือว่า การปฏิบัติธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหนในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบ นี้แล เป็นตัวธรรม เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติกายและใจเรานี้ หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่

    ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องหอบสังขารนี้ไปที่ไหน ถ้าตั้งใจจริงแล้วนั่งอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น นอนที่อยู่ไหน ยืนอยู่ที่ไหน เดินอยู่ที่ไหน ธรรมก็เกิดที่ตรงนั้นนั่นแล

    ยิ่งกว่านั้น หลวงปู่อธิบายว่า ยิ่งผู้ใดสามารถปฏิบัติภาวนาในท่ามกลางความวุ่นวายของบ้านเมืองที่มีแต่ความอึกทึกครึกโครมหรือแม้แต่กระทั่งในขณะที่รอบๆ ตัวมีแต่ความเอะอะวุ่นวาย ก็สมารถกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธิที่ผู้นั้นทำให้เกิดจึงเป็นสมาธิที่เข้มแข็งและมั่นคงกว่าธรรมดา ด้วนเหตุผลที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะ คือ ไม่อำนวยนั่นเอง เพราะว่าสถานที่เปลี่ยววิเวกนั้น ย่อมสัปปายะ อำนวยให้เกิดความสงบอยู่แล้ว จิตใจย่อมหยั่งลงสู่สมาธิได้ง่ายเป็นธรรมดา

    หลวงปู่ยังเคยบอกด้วยว่า การเดินจงกรม จนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่ความสงบนั้น จะเกิดสมาธิที่แข็งแกร่งกว่าสมาธิทีสำเร็จจากการนั่งหรือนอน หรือแม้แต่การเข้าป่ายิ่งนัก

    ด้วยเหตุนี้ จะสังเกตเห็นว่า ในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ จะมีนักปฏิบัติหลายท่านชอบไปนั่งสมาธิใกล้ๆ วงพิณพาทย์หรือใกล้ๆ ที่ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครมต่างๆ ยิ่งดังเอะอะน่าเวียนหัวเท่าไรก็ยิ่งชอบ

    อย่างไรก็ตามแม้ว่าการทำสมาธินั้น ความจริงแล้วย่อมไม่เลือกสถานที่ปฏิบัติก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่มีจิตเบา วอกแวกง่าย หรือผู้ที่ต้องการ “เครื่องทุนแรง” จำเป็นต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสงบ พึงแสวงหาสถานที่วิเวกหรือออกธุดงค์กัมมัฏฐานแสวงหาทีสงัดที่เปลี่ยว เช่น ถ้ำ เขา ป่าดงหรือป่าช้าที่น่าสะพรึงกลัว จะเป็นเครื่องสงบจิตไม่ให้ฟ้งซาน และตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสติได้โดยง่าย ก็จะทำให้การบำเพ็ญสมาธิภาวนาสำเร็จได้สะดวกยิ่งขึ้น
    ครั้งหนึ่งท่านได้เทศน์โปรดนักเลงให้กลับใจได้ ดังมีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือเล่มสำคัญนั้นว่า

    มีเรื่องเล่าสมัยที่หลวงปู่เดินทางกลับจากอุบลฯ มาสุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยมในครั้งแรก ท่านมาในรูปแบบของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน และพำนักโปรดญาติโยมอยู่ที่สำนักป่าบ้านหนองเสม็ด ตำบลเฉลียง อำเภอเมืองสุรินทร์

    ในช่วงนั้นได้มีชายหัวนักเลงอันธพาลผู้หนึ่ง มีความโหดร้ายระดับเสือ เป็นที่กลังเกรงแก่ประชาชนในละแวกนั้น กลุ่มของชายผู้นี้ท่องเที่ยวหากินแถบชายแดนไทยและกัมพูชา

    เมื่อได้ยินข่าวเล่าลือเกี่ยวกับพระธุดงค์มาพำนักที่บ้านเสม็ดเขามั่นใจว่าพระจะต้องเป็นผู้มีวิชาด้านคาถาอาคมอันล้ำเลิศอย่างแน่นอน จึงมีความประสงค์จะได้วัตถุมงคลเครื่องรางของขลังประเภทอยู่ยงคงกระพัน ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า

    ดังนั้นจึงพาลูกสมุนตัวกลั่น ๔ คน มีอาวุธครบครัน แอบเข้าไปหาหลวงปู่อย่างเงียบๆ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม แถวหมู่บ้านป่าถือว่าดึกพอสมควรแล้ว ชาวบ้านที่มาฟังธรรมและบำเพ็ญสมาธิภาวนาพากันกลับหมดแล้ว

    กลุ่มนักเลงแสดงตนให้ประจักษ์ กล่าวอ้อนวอนหลวงปู่ว่าพวกตนรักการดำเนินชีวิตท่ามกลางคมหอกคมดาบ และได้ก่อศัตรูไม่น้อย ที่มาครั้งนี้ก็เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธา มีเจตนาจะมาขอวิชาคาถาอาคมไว้ป้องกันตัวให้พ้นจากอันตราย

    ขอพระคุณท่านได้โปรดมีจิตเมตตา เห็นความลำบากยากเข็ญของพวกกระผมที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค หลบศัตรูมุ่งร้ายหมายขวัญ ได้โปรดถ่ายทอดวิชาอาคมให้พวกกระผมเถิด

    หลวงปู่กล่าวกับชายกลุ่มนั้นว่า “ข้อนี้ไม่ยาก แต่ว่าผู้ที่จะรับวิชาอาคมของเรานั้น จะต้องมีการปรับพื้นฐานจิตใจให้แข็งแกร่งเสียก่อน มิฉะนั้นจะรองรัยอาถรรพ์ไว้ไม่อยู่ วิชาก็จะย้อนเข้าตัวเกิดวิบัติร้ายแรงได้”

    ว่าดังนั้นแล้ว หลวงปู่ก็แสดงพื้นฐานของวิชาอาคมของท่านว่า “คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น จะต้องอาศัยพื้นฐานคือ พลังจิต จิตจะมีพลังได้ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่จาการนั่งภาวนา ทำใจให้สงบ วิชาที่ร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา”

    ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็นมั่นคงมิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเย็นกาย เย็นใจ เลื่อมใสนับถือ อีกอย่างก็มีความอยากได้วิชาอาคมดังกล่าว จึงยินดีปฏิบัติตาม

    หลวงปู่ได้แนะนำให้นั่งสมาธิภาวนา แล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุทโธ พุทโธ ชั่วเวลาประมาณ ๑๐ – ๒๐ นาทีเท่านั้น จอมนักเลงก็รู้สึกสงบเย็น ยังปีติให้บังเกิดซาบซ่านขึ้นอย่างแรง เป็นปีติชนิดโลดโผน เกิดอาการสะดุ้งสุดตัว ขนลุกขนชัน และร้องไห้

    เห็นปรากฏชัดในสิ่งที่ตนเคยกระทำมา เห็นวัวควายกำลังถูกฆ่า เห็นคนที่มีอาการทุรนทุรายเนื่องจากถูกทำร้าย เห็นความชั่งช้าเลวทรามต่างๆ ของตน ทำให้รู้สึกสังเวชสลดใจอย่างยิ่ง

    หลวงปู่ก็ปลอบโยนให้การแนะนำว่า “ให้ตั้งสมาธิภาวนาต่อไปอีก ทำต่อไป ในไม่ช้าก็จะพ้นจากภาวนานั้นอย่างแน่นอน”

    นักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิภาวนาอยู่กับหลวงปู่ไปจนตลอดคืน ครั้นรุ่งเช้า อานุภาพแห่งศีลและสมาธิที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาตลอดทั้งคืนก็ยังปัญญาให้เกิดแก่นักเลงเหล่านั้น

    จิตใจของพวกเขารู้สึกอิ่มเอิบด้วยธรรม เปี่ยมไปด้วยศรัทธาบังเกิดความเลื่อมใส จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคมขลังตลอดจนกลับใจเลิกพฤติกรรมอันทำความเดือดร้อนทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นจนหมดสิ้น ปฏิญาณตนเป็นคำตายกับหลวงปู่ว่า จะไม่ทำกรรมชั่วทุจริตอีกแล้ว

    เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ในครั้งนี้ จะเห็นว่าในขณะที่พวกเขาทั้ง ๕ อยู่ต่อหน้าหลวงปู่ พววกเขามิได้กระทำกรรมชั่วอันใดลงไปส่วนกรรมชั่วที่เขาเคยกระทำมาแล้วก็หยุดไว้ชั่วขณะ แฝงซ่อนเร้นหลบอยู่ในขันธ์สันดานของเขา

    ในตอนนั้นพวกเขามีเพียงความรู้สึกโลภ ด้วยการอยากได้คาถาอาคมจากหลวงปู่ แต่ความโลภช่วงนั้นได้สร้างความศรัทธาให้เกิด ทำให้ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอน

    ในขณะที่ตั้งใจ ความชั่วทั้งหลายก็หยุดพักไว้ ศีลก็มีความสมบูรณ์พอที่จะเป็นบาทฐานของสมาธิภาวนาได้ เมื่อรักษาได้อย่างนั้นไม่ขาดสาย จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยดี เรียกว่า มีสมาธิจิตที่ไม่กำเริบแปรปรวน เรียกว่าจิตมีศีล และอาการตั้งมั่นอยู่ด้วยดีเรียกว่ามีสมาธิ ย่อมมีความคล่องแคล่วแก่การงาน ควรแก่การพิจารณาปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เรียกว่า สติปัญญา

    ความรู้สึกและอารมณ์ดังกล่าว ตรงตามคำสอนของพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ที่ว่า “ศีลอันใด สมาธิอันนั้น สมาธิใดปัญญาอันนั้น”

    ข้อความที่สำคัญเกี่ยวกับการพูดการเทศน์ของท่านก็คือ โดยปกติท่านเป็นคนพูดน้อย แต่คดพูดเหล่านั้นมักจะรวบรัดจำกัดความ หมดจดชัดเจน แต่มีความลึกซึ้ง ยิ่งคิดยิ่งมองเห็นความหมายมากขึ้นไปอีก

    เป็นถ้อยคำที่ไม่ผิดพลาดจากความจริง ถูกกาลเทศะตรงต่อพระธรรมวินัย ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา พูดตามความจำเป็นตามเหตุการณ์
    คำพูดแต่ละคำไม่มีมายาเจือปนแม้แต่น้อย ไม่พูดพร่ำเพรื่อเพ้อเจ้อ เชิงเล่นหัวกับทั้งสานุศิษย์กับทั้งบุคคลอื่นทั่วไป ไม่พูดตลกคะนองหรือพูดเสียงดัง ไม่พูดเล่าถึงความฝัน ไม่พูดหรือปลอบโยนเอาอกเอาใจ หรือพูดเลียบเคียงหวังประโยชน์

    เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่สมควร ที่ลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติหลวงปู่จะพูดครั้งเดียวแล้วก็หยุด ไม่พูดพร่ำเพรื่อ หรือเมื่อจำเป็นต้องปรามให้หยุดการกระทำนั้นก็จะปรามครั้งเดียวไม่มีอะไรต่อ คือจะมีอะไรที่แรงออกมาคำหนึ่งแล้ว ท่านก็สงบระงับไปอย่างรวดเร็วแต่เมื่อมีอะไรที่น่าพอใจ น่าขัน ก็จะหัวเราะออกมาในวาระแรกแล้วต่อไปก็ยิ้มๆ และเป็นยิ้มที่สะอาดหมดจด เป็นปรกติ จริงใจ

    บุคลิกอีกอย่างที่มีประจำตัวหลวงปู่ก็คือ เมื่อเวลาสนทนากันจะไม่มองหน้าใครตรงๆ จะมองเพียงครั้งแรกที่พบ จากนั้นก็จะทอดสายตาลงต่ำ นานๆ ครั้งจะหันหรือเงยหน้าขึ้นมองบ้างเมื่อจำเป็น แม้แต่เมื่อพูดกับสมณะด้วยกัน เช่น หลวงปู่ขาว เป็นตัน ท่านก็ปฏิบัติเช่นนี้ ดังนั้น เรื่องการจดจำบุคคล หลวงปู่จึงจำไม่ค่อยเก่ง

    สำหรับผู้ที่หลวงปู่จำได้ดีเป็นพิเศษ ส่วนมากเป็นบุคคลที่มาปฏิบัติธรรมด้วย หรือผู่ที่นั่งสมาธิภาวนามาแล้วได้ผลอย่างไร แล้วมากราบเรียนท่านจะได้แนะนำแนวทางปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
    ส่วนผู้ที่อุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่นั้น ท่านก็จำได้เป็นครั้งคราวแล้วแต่เหตุการณ์

    ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ติดต่อขัดข้อง ขอความช่วยเหลือหรือขอความเห็นใจจากบุคคลอื่น หรือส่วนราชการต่างๆ หลวงปู่ไม่เคยทำ ท่านทำไม่เป็นหรือไม่สนใจที่จะทำ เช่น การจะเที่ยวขอร้องฝากให้ลูกศิษย์เข้าโรงเรียนหรือเข้าทำงาน หรือจอความร่วมมือจากหน่วยราชการ ให้ช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านไม่เคยมี ไม่มีแม้กระทั่งความใกล้ชิดสนิทสนมกับใครหรือกับตระกูลใดเป็นพิเศษ

    ในกิจนิมนต์นั้น หลวงปู่ก็จะสงเคราะห์รับไปตามความสะดวกตามความเหมาะสมควรโดยไม่คำนึงถึงฐานะของเจ้าภาพ ไม่คำนึงถึงชั้นวรรณะหรือเห็นแก่หน้าใคร ไม่ขึ้นอยู่ที่คำแนะนำของใคร ท่านให้ความอนุเคราะห์เสมอภาคกันหมด

    การชี้แจงแสดงธรรมหรือข้อปฏิบัตินั้น หลวงปู่ไม่นิยมออกตัวหรือการอารัมภบท เมื่อจะพูด ก็พูดชี้ไปตรงจุ ตรงความมุ่งหมายอันสูงสุดของการปฏิบัติธรรม พูดถึงจิต อุบายวิธีทำให้จิตสงบ หรือการพ้นจากทุกข์โทษทางใจ นิพพาน ความว่าง จิตเดิม จิตหนึ่ง ท่านจะแสดงเฉพาะจุดเฉพาะแนวทางตามภูมิของผู้ปฏิบัติหรือตามความสนใจของผู้เรียนถามท่านเท่านั้น บางทีก็พูดแบบถามคำตอบคำ

    เคยมีนักปฏิบัติธรรมระดับสูงผู้หนึ่งยกย่องท่านว่า หลวงปู่แสดงธรรมด้วยการไม่พูดอย่างไพเราะเพราะพริ้ง ดังนี้ก็มี

    หลวงปู่ไม่เคยแสดงธรรมนอกเรื่องนอกราว ตลกคะนองสาธกนิทานชาดก หรือเล่นสำนวนโวหาร มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อหลวงปู่ไปกิจนิมนต์ และพระองค์อื่นแสดงพระธรรมเทศนาแล้วมีใครคนหนึ่งวิจารณ์การแสดงธรรมให้ท่านฟังและขอคำวิจารณ์จากท่าน หลวงปู่ก็สนองตามความต้องการ โดยไม่ขัดอัธยาศัยทันที ด้วยการวิจารณ์ว่า “ท่านองค์นั้นก็แสดงธรรมไปตามความถนัด ตามความสามารถของท่านเอง”

    การแนะนำศิษย์ในเรื่องการเทศน์การแสดงธรรมนั้น หลวงปู่ไม่โปรดเรื่องตลกคะนองหรือเรื่องภายนอกมากเกินไป ท่านยอมรับการเทศน์ตลก มีมุขขำขันของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) แห่งวัดบรมนิวาส สมัยก่อน ซึ่งเป็นมุขขำขันที่มีสาระและประกอบด้วยธรรมะ

    หลวงปู่แนะนำว่า ในการแสดงธรรมเทศนานั้น ควรแสดงธรรมให้เป็นกระแส จากต่ำไปหาสูง จากง่ายไปหายาก ท่านย้ำว่าถ้าต้องการจะให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ขัน ไม่ง่วง ก็แสดงให้เขาทราบซึ้งในเนื้อหาแห่งธรรม หรือเข้าใจสัจธรรมข้อใดข้อหนึ่ง มันก็ขันขึ้นมาเอง ความโง่งมหลงเซอะบรรดามีโลกพอรู้สึกตัว “รู้” เท่านั้น มันก็น่าขันเสียทั้งนั้น ผู้ฟังก็จะขำขันในความเขลาของตน ตื่นตัวใจขึ้นมาเอง

    หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ก่อนจะดับขันธ์ ท่านได้แสดงธรรมเป็นครั้งสุดท้ายว่า

    “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างพระพุทธศาสนาให้ก่อเกิดอย่างบริบูรณ์ดังประสงค์แล้ว พระองค์จึงได้ทรงละ วิภวตัณหา นั้นเสด็จเข้าสู่ อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ทรงเป็นผู้หมดสิ้นทุกตัณหาทรงเป็นผู้ดับรอบโดยลักษณาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานของพระองค์ ลำดับแรกก็เจริญฌาณ ดิ่งสนิทเข้าไปจนถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่า เข้าไปลึกสุดอยู่เหนืออรูปฌาณ

    ในวาระแรกนั้น พระองค์ยังมิได้ดับขันธ์ต่างๆ ให้สิ้นสนิทเด็ดขาดแต่อย่างใด เพียงเข้าไปเพื่อทรงกระบวนการแห่งการเข้าสู่นิพพานหรือนิโรธเป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือสู่สิ่งที่พระองค์ได้สร้างได้พากเพัยรก่อเป็นทางเป็นแบบอย่างไว้เป็นครั้งสุดท้ายเสียหน่อย ซึ่งเรียกได้ว่า สิ่งอันเกิดจากการที่พระองค์ได้ยอมรับกับ ธุลีทุกข์ อันเป็นธุลีทุกข์ที่มนุษย์ธรรมดา มีจิตหยาบเกินกว่าที่จะสัมผัสว่ามันเป็นทุกข์”

    “นี่แหละ กระบวนการกระทำจิตตนให้ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธเป็นกระบวนการที่พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นยอดศาสดาในโลกเท่านั้นที่ทรงค้นพบ ทรงนำมาตีแผ่เผยแจ้งออกสู่โลกให้พึงปฏิบัติตาม

    เมื่อทรงสิ่งสุดท้ายนี้แล้ว จึงได้ถอยกลับมาสู่ภาวะต้น คือปฐมฌาณ แล้วตัดสินพระทัยครั้งสุดท้ายเสด็จดับขันธ์ต่างๆ ไปทีละขันธ์ วิญญาณขันธ์แห่งชีวิตและร่างกายนั้นได้ดับไปเสียตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่ปฐมฌาณนานแล้ว เพราะต้องดับสังขารขันธ์หรือสังขารธรรมขั้นแรกก่อนวิญญาณขันธ์ที่หยาบนั้น”

    “พระองค์เริ่มดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นในสุดอีก อันจะส่งผลให้ก่อวิภวตัณหาได้ชั้นหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงเลื่อนเข้าสู่ทุติยฌาณ แล้วจึงดับสัญญาขันธ์เลื่อนเข้าสู่ตติยฌาณ เมื่อพระองค์ดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นในสุดอีกที ก็เป็นอันเลื่อนขึ้นสู่จตุตถฌาณ คงมีแต่เวทนาขันธ์สุดท้ายแห่งชีวิต นั้นแลคือลักษณาการแห่งขั้นสุดท้ายของการจะดับสิ้นไม่เหลือ”
    “เมื่อพระองค์ดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมใหญ่สุดท้ายที่มีทั้งสิ้นแล้ว ก็มาดับเวทนาขันธ์อันเป็นจิตขันธ์ หรือนามขันธ์ที่ในจิตส่วนในคือ ภวังคจิต เสียก่อน แล้วจึงได้ออกจาก จตุตถฌาณ พร้อมกับมาดับ จิตขันธ์ หรือนามขันธ์สุดท้ายจริงๆ ที่ตรงนี้พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในฌาณสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก”

    “เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌาณแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือนั่นคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตอันเป็นปกติของมนุษย์ครบพร้อมทั้งสติสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพลางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างสมบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่ามหาสุญญตาหรือจักรวาลเดิม หรือเรียกว่า พระนิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้”



    ที่ พึ่ ง ใ ห้ ถึ ง ชั ย



    ๏ อยู่อย่างมีที่พึ่ง จึงอบอุ่น
    อยู่อย่างไร้ที่พึ่ง นั้นหนาวเหน็บ

    หลักธรรมคำสอนของพระพระพุทธองค์หัวข้อหนึ่งชื่อ นาถกรณธรรม แปลว่าธรรมอันกระทำที่พึ่ง ธรรมสร้างที่พึ่ง คุณธรรมที่ทำให้คนพึ่งตนได้ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ ประการ เป็นบทธรรมที่ช่วยให้คนพึ่งตนได้ คือ

    ๑. ศีล ความประพฤติดีงาม สุจริต มีระเบียบวินัย มีอาชีพบริสุทธิ์ถูกต้องศีลธรรม
    ๒. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องอะไรต่างๆ
    ๓. กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร การคบคนดี ได้ที่ปรึกษา และผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี
    ๔. โสวจัสสตา ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายไม่ดื้อรั้น รับฟังเหตุผล ฟังเสียงคนอื่น
    ๕. กิงกรณีเยสุ ทักขตา ความเอาใจใส่ช่วยขวนขวายในกิจใหญ่น้อยทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ รู้จักพิจารณาไตร่ตรองสามารถจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อย
    ๖. ธัมมกามตา ความเป็นผู้ใคร่ธรรม คือรักธรรม ใฝ่ความรู้ ใฝ่ความจริง รู้จักพูดรู้จักรับฟังทำให้เกิดความพอใจ น่าร่วมปรึกษาสนทนา ชอบการศึกษา ยินดีปรีดามรหลักธรรมหลักวินัยที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป
    ๗. วิริยารัมภะ ความขยันหมั่นเพียร คือ เพียรละความชั่วประกอบความดี มีใจแกล้วกล้าบากบั่นก้าวหน้า ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งธุระ
    ๘. สันตุฏฐี ความสันโดษ คือ ยินดี มีความสุขความพอใจด้วยปัจจัยสี่ที่หามาให้ด้วยความเพียรอันชอบธรรมของตน
    ๙. สติ ความมีสติ รู้จักกำหนดจดจำ ระลึกการที่ทำคำที่พูดไว้ได้ ไม่มีความประมาท
    ๑๐. ปัญญา ความมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้จักคิดพิจารณาเข้าใจภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

    หลักธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์

    มนุษย์ต้องมีที่พึ่ง ทำไมหรือ ท่านพันเอกอ่อน บุญพันธ์ กล่าวว่า เพราะมนุษย์มีความกลัว จึงต้องหาที่พึ่ง

    ในยุคดึกดำบรรพ์มนุษย์นับถือสิ่งต่างๆ เป็นที่พึ่งมากมาย แต่ครั้นกาลเวลาได้ล่วงเลยไปนานๆ เข้า การนับถือสิ่งต่างๆ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามความคิดของมนุษย์เป็นยุคๆ ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

    ยุคที่หนึ่ง เรียกว่ายุคนับถือธรรมชาติเป็นที่พึ่ง ยุคนี้มนุษย์นับถือธรรมชาติ คือดิน น้ำ ไฟ ลม ภูเขา ต้นไม้ ชะเงื้อผา ถ้ำ และอื่นๆ เป็นที่พึ่งตามแต่จะเห็นว่าเป็นที่พึ่งได้ เหตุที่มนุษย์ยุคนี้นับถือธรรมชาติก็เพราะสติปัญญาของมนุษย์ในยุคนี้ยังไม่เจริญพอ เมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้องเห็นฟ้าผ่าเกิดความหวาดเสียวสะดุ้งกลัวอย่างที่สุดก็ต้องหาที่หลบภัย เช่น ถ้ำ ชะเงื้อผาและอื่นๆ เป็นที่พึ่ง การหาที่พึ่งและหลบภัยนี้เป็นสัญชาตญาณทั่งๆไปของมนุษย์และสัตว์ เขาคิดว่าธรรมชาติต่างๆ อาจบันดาลให้เขาเป็นหรือตายได้เขาจึงกลัวเกรงและต้องเคารพนับถือธรรมชาตินั้นๆ เป็นที่พึ่ง เวลากลัวก็กล่าวคำอ้อนวอน บ่นเพ้อไปตามประสาของเขา

    ยุคที่สอง เรียกว่ายุคนับถือผีเป็นที่พึ่ง ยุคนี้เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาจากยุคที่หนึ่งหลายร้อยปี มนุษย์มีความเจริญขึ้นบ้างจึงเกิดมีมนุษย์เจ้าปัญญาคิดเห็นว่า ธรรมชาตินั้นๆ ไม่มีฤทธิ์เดชอะไร ที่ธรรมชาติแสดงฤทธิ์เดชได้นั้นเกิดจากมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงอยู่ในธรรมชาติๆ จึงแสดงฤทธิ์ได้ เช่น ฟ้าผ่า เป็นต้น เขาเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า “ผี” และผีนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เวลาเกิดโรคภัยไข้เจ็บก็โทษว่าผีทำ แล้วก็กล่าวว่าคำวิงวอนบ้าง ขอขมาโทษบ้าง เพื่อให้มีกรุณาและช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ

    อยากจะเอาใจผีคิดว่ามนุษย์ชอบอะไรผีก็คงชอบเหมือนกันเมื่อได้เนื้อมาก็เอาเนื้อดิบๆ ที่ได้มานั้นแหละ เอาไปแบ่งให้ผีกินบ้างวิธีนี้เรียกว่า บวงสรวงหรือเซ่น แต่เอาเนื้อไปวางไว้เฉยๆ เนื้อก็ไม่หมดไปจึงติดไฟขึ้นแล้วโยนเนื้อใส่กองไฟ กองไฟไหม้เนื้อหมดกลิ่นตลบไป เลยถือเอาเป็นลัทธิว่าผีได้กินแล้ว มนุษย์ยุคนี้จึงถือว่าไฟเป็นทูตของผี ถ้าอยากจะมีความสุขก็เอาเนื้อโยนเข้ากองไฟ แล้วก็กล่าวสรรเสริญคุณผีหรือบนบาน ผีจะได้ช่วย ยุคนี้หารหาที่พึ่งของมนุษย์มีการนับถือผีเป็นที่พึ่งเพิ่มขึ้นอีกจากการนับถือธรรมชาติส่วนการนับถือธรรมชาตติก็ยังคงมีอยู่

    ยุคที่สาม เรียกว่ายุคนับถือโลกบาลเป็นที่พึ่ง การที่มนุษย์ในยุคนี้นับถือโลกบาลเกิดจากได้สังเกตเห็นต้นไม้งอกงามสดชื่นออกดอกออกผลเป็นอันดี ต้นไม้ที่อยู่ข้างภูผาก็ชูยอดออดหาแสงแดดจึงนับถือดวงตะวันเป็นที่พึ่ง และเคารพดวงตะวันเรียกว่า สวิตระ นับถือฝนว่าเป็นเจ้าแห่งน้ำ เรียกว่า วรุณะ นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า อินทระ และนับถือสิ่งที่ทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์เรียกว่า มฤตยู มัจจุ หรือ ยมะ แล้วเลยตั้งให้สิ่งทั้งสี่นี้เป็นเจ้าทิศทั้งสี่ เรียกว่า โลกบาล

    ยุคที่สี่ เรียกว่ายุคนับถือพระพรหมเป็นที่พึ่ง ต่อมาเมื่อมนุษย์พวกนี้เจริญขึ้นจึงรวมเอาวิธีกล่าวสรรเสริญคุณโลกบาลเป็นลัทธิเดียวกัน เรียกว่า ไสยเวท ผู้ใดทรงจำวิธีจัดทำเครื่องบูชาและกล่าวสรรเสริญคุณโลกบาลได้ถูกต้อง เรียกผู้นั้นว่าพราหมณะผู้ที่ถูกเรียกวว่าพราหมณะก็ต้องตั้งตัวเป็นอาจารย์เรียกว่า พราหมณาจารย์ เมื่อตั้งตัวเป็นอาจารย์แล้วก็สอนให้มนุษย์เอาพระพรหมเป็นที่พึ่ง และสอนให้เลื่อมใสพระพรหมว่าเป็นผู้ประเสริฐอยู่บนสวรรค์ ไม่มีตัวมีตน มีคุณแก่โลก คือเป็นผู้สร้างโลกพร้อมทั้งสร้างมนุษย์และสัตว์ มนุษย์และสรรพสัตว์ตลอดถึงโลกตกอยู่ในอำนาจของพระพรหม จึงเกิดมีคำว่า พรหมลิขิต ขึ้น คือหมายควาาว่ามนุษย์และสัตว์จะดีหรือชั่วตลอดถึงโลกจะมีสภาพเป็นอย่างไรนั้นแล้วแต่พระพรหม

    เรื่องพราหมณ์กับพรหมนี้บางท่านสงสัยว่าใครสร้างใครกันแน่บางท่านว่าพระพรหมสร้างพราหมณ์ บางท่านว่าพราหมณ์ต่างหากสร้างพระพรหม แต่ใครจะสร้างใครกันนี้จะไม่ขอแสดงความคิดเห็นขอเสนอให้ทราบแต่เพียงว่า ยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์นับถือพระพรหมซึ่งมีลักษณะเป็นเทพเจ้า ไม่มีตัวตน ต่อมาผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ได้แตกแยกออกไปเป็นสองพวก คือพวกนับถือพระพรหมองค์เดียวว่าวิเศษกว่าสิ่งทั้งปวงพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งคือ พวกนับถือเทวดาหลายองค์ เช่น พระวิษณุ พระศิวะ พระนารายณ์ พวกนับถือเทวดาองค์เดียวน้อยกว่า สู้พวกนับถือเทวดาหลายองค์ไม่ได้ ต้องอพยพหนีออกไปจากอินเดียไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศปาเลสไตน์ที่เรียกว่าพวกยิว พวกยิวนี่แหละคือต้นรากศาสนาคริสต์และอิสลามซึ่งได้อุบัติขึ้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วหลายศตวรรษ พวกนับถือเทวดาหลายองค์ คือต้นรากของศาสนาฮินดูซึ่งในปัจจุบันนี้ยังคงแพร่หลายอยู่ในประเทศอินเดียจนกระทั่งทุกวันนี้

    ยุคที่ห้า ศาสนาพุทธ ยุคนี้มนุษย์นับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่ง ก่อนที่จะทราบว่าพระพุทธศาสนามีอะไรเป็นหลักเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ขอได้โปรดนึกย้อนหลังไปถึงยุคแห่งการหาที่พึ่งของมนุษย์แต่ละยุค ที่ล่วงมาแล้วรวม ๔ ยุคด้วยกัน คือ ๑. ยุคนับถือธรรมชาติ ๒. ยุคนับถือผี ๓. ยุคนับถือโลกบาล ๔. ยุคนับถือพระพรหม การหาที่พึ่งทั้ง ๔ ยุคนี้ มนุษย์หาที่พึ่งไปตามความรู้และความเข้าใจเพราะยังไม่มีความรู้ภูมิประวัติศาสตร์

    ครั้นต่อมายุคที่ ๕ คือยุคนับถือพระพุทธศาสนา มนุษย์มีความรู้ในเรื่องภูมิประวัติศาสตร์ดีขึ้น จึงหันมานับถือพระพุททธศษสนาเพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงเปฌนศาสนาสำหรับปัญญาชน คนมีความรู้มีเหตุผล พระพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ค้นหาความจริงสอนไม่ให้นับถือธรรมชาติ ไม่ให้กลัวธรรมชาติ สอนไม่ให้นับถือของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้าซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นเป็นมโนภาพเอาไว้เป็นที่พึ่ง เคารพนับถือและกลังเกรง โดยปราศจากเหตุผล

    การที่พระพุทธศาสนาสอนคัดค้านความเชื่อต่างๆ ของมนุษย์ในยุคก่อนพระพุทธศาสนา ๔ ยุคนั้นขอวิญญูชนได้โปรดพิจารณาดูก็เห็นเอง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาฟ้าผ่า มนุษย์กลัว วิ่งหนีเข้าบังต้นไม้ ต้นไม้ช่วยได้หรือเปล่า? เปล่าเลย ต้นไม้ช่วยไม่ได้ ที่เข้าใจว่าต้นไม้ช่วยได้ก็เพราะวิ่งเข้าไปที่ต้นไม้ที่ไม่มีสื่ออไฟฟ้า ถ้าวิ่งเข้าไปหาต้นไม้ที่มีสื่อไฟฟ้า ก็จะต้องประสบอันตราย ในกรณีอย่างนี้ ไม่ต้องวิ่งเข้าไปหาต้นไม้ ยืนกลางแจ้งเฉยๆ ซึ่งไม่มีสื่อกระแสไฟฟ้าฟ้าก็จะไม่ผ่า

    ในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์คือ ผี ท้าวโลกบาล และเทพเจ้าต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยมโนภาพ ก็เป็นเรื่องที่หาเหตุผลไม่ได้ ที่ว่าหาเหตุผลไม่ได้นั้นเพราะผู้ที่นับถือเท่านั้นจึงจะเกิดผลดีผลร้ายส่วนผู้ที่นับถือก็ไม่มีผลดีผลร้ายอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกรรมหรือการกระทำซึ่งเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้วผู้กระทำจะต้องรับผลดีผลร้ายตามเหตุที่ตนกระทำเสมอ คือทำเหตุดีย่อมได้รับผลดี ทำเหตุชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนตามหลักเหตุผลคือความจริง เกี่ยวกับความจริงนี้ใครจะนับถือหรือไม่นับถือ คำสั่งสอนของพระองค์ จะต้องได้รับผลสมกับความประพฤติปฏิบัตินั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร ก็เพราะคำสั่งสอนของพระองค์เป็นสัจจธรรมพระองค์ตรัสดีแล้วไม่ขึ้นกับเวลา ปฏิบัติเวลาใดได้ผลตามเวลานั้นตัวอย่างเช่น คนอกตัญญู ไม่รู้จักคุณคน คนไม่รู้จักคุณไม่เลือกว่ากาลใดสมัยใดเป็นคนเลว ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติก็เป็นคนเลว ในสมัยที่พระองค์ประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ก็เป็นคนเลว เดี๋ยวนี้ก็เป็นคนเลว ในคนกตัญญูกตเวที ที่เราเรียกกันว่าคนดีก็เหมือนกันไม่ว่ายุคใดสมัยใด ถ้าเป็นคนกตัญญูกตเวทีแล้ว เป็นคนดีทั้งนั้น

    เมื่อได้พิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่าหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงสอนคามความจริง เหตุผลเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง อะไรก็ตาม เมื่อยึดความจริงเป็นหลักแล้วสิ่งนั้นย่อมเป็นอมตะ คือไม่ตาย สิ่งใดถ้าไม่อาศัยความจริงเป็นหลัก สิ่งนั้นย่อมค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและเสื่อมไปในที่สุด ดังจะเห็นได้จากการนับถือธรรมชาติ ผี และเทพเจ้าต่างๆ ในยุคปัจจุบันค่อยๆ เสื่อมลงโดยลำดับ อันนี้มิใช่เกิดจากอะไร เกิดจากความรู้ของมนุษย์นั่นเอง

    เมื่อมนุษย์มีความรู้ความฉลาดขึ้น สิ่งใดที่เคยยึดถือไว้เป็นที่พึ่งระลึกด้วยความไม่รู้ ก็จะปล่อยวางไปเอง ตัวอย่างเช่น ใบไม้บางชนิด อาทิเช่น ใบเงินใบทอง ถือว่าเป็นใบไม่สำคัญในงานมงคล เช่น งานมงคลสมรสหรืองานขึ้นบ้านใหม่ จะต้องนำเอามาใส่ในบาตรน้ำมนต์ จะขาดเสียมิได้ การที่คนเรานำเอาใบไม้เหล่านี้มาเข้าในพิธีมงคลก็โดยถือเอาเสียว่า เงินๆ ทองๆ ซึ่งเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ แล้วใบไม้เหล่านี้นำเอาทองมาให้เราได้สมกับชื่อของมันหรือเปล่า? เปล่าทั้งสิ้น เงินทองที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยบุคคลเราเป็นผู้กระทำขึ้นเองทั้งนั้น

    เมื่อคนเรามีความรู้ความฉลาดขึ้น สิ่งเหล่านั้นก็เสื่อมคลายจากความยึดถือไปเอง ในปัจจุบันนี้ใบไม้ต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในสังคมที่ถือกันว่าเจริญแล้วไม่นำเอามาเข้าพิธีแล้ว แม้ในเรื่องภูตผีปีศาจและเทพารักษ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ก็ค่อยๆ จางๆ ไปจากความเชื่อถือ แต่ความจริงสิ่งเหล่านี้ใครจะนับถือหรือไม่นับถือ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่เกิดเป็นดีเป็นร้ายขึ้นเกิดจากมนุษย์เราไปเข้าใจผิดเอาเอง อย่างเรื่องสองหญิงพี่น้องไปเห็นกิ่งไม้แห้งติดอยู่กับต้นแกว่งไปแกว่งมาในขณะลมฝนมืดครึ้ม เข้าใจผิดคิดว่าผีหลอก ถึงกับสองหญิงพี่น้องต้องล้มป่วยลง ครั้นต่อมาภายหลังได้ทราบว่าเป็นกิ่งไม้แห้งก็หายจากป่วยไข้ อันนี้ชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์หลอกหลอนตัวเองต่างหาก หาได้เกิดจากธรรมชาติหรือภูตผีปีศาจไม่

    เกี่ยวกับสัจจธรรมคือความจริงแล้ว ใครจะเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกก็ตามที แต่ผลที่จะได้รับต้องเกิดกับผู้กระทำแน่นอน ตัวอย่างเช่นความเกียจคร้านซึ่งในพระพุทธศาสนาสอนว่าเป็นความชั่วมีผลทำให้เกิดความยากจนและเดือดร้อน เราไม่เชื่อตามนี้เชื่อตรงกันข้าม คือเชื่อว่าความเกียจคร้านแล้ว ผลที่ตนจะพึงได้รับหาเป็นตามที่เราคาดหมายไม่ ผลคงทำให้เป็นคนยากจนและเดือดร้อนในกรณีทำความดีก็เช่นกัน เราจะเข้าใจอย่างไรก็ตาม แต่ผลที่เราจะต้องได้รับคือความสุขกายสุขใจเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้

    พระพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้จริง ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง จึงทรงสั่งสอนให้ศาสนิกชนของพระองค์เข้าถึงของจริงคือพระธรรมธรรมะคำสอนของพระองค์ทุกข้อในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้น ล้วนเป็นนาถะคือที่พึ่งของชาวโลกทั้งนั้น ไม่เป็นที่พึ่งโดยตรงก็โดยอ้อม

    การหาที่พึ่ง เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งแตกต่างกับสัตว์เดรัจฉาน ที่มีความพอใจอยู่เพียงที่พึ่งทางกายเท่านั้น เช่นมีรังดีๆ มีรูอยู่ดีๆ มันก็พอใจแล้ว แต่มนุษย์เรามีเพียงเท่านั้นหาเพียงพอไม่ เพราะมนุษย์ยังต้องหาที่พึ่งทางจิตใจอีก ต้องการความปลอดภัยให้แก่จิตใจ ไม่น้อยกว่าทางร่างกาย คนเราจึงต้องหาที่พึ่งทางใจ การแสดงออกของการหาที่พึ่งทางใจนั้น คือการนับถือลัทธิศาสนานั่นเอง

    เพราะฉะนั้นเราจึงพูดได้เต็มปากว่า ศาสนาเกิดจากความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประชาชนจริงๆ มีประชาชนนับถือมากอยู่ในอันดับหนึ่งของโลก มีจำนวนศาสนิกชนทั่วโลกถึง ๕๒๐ ล้านคน ศาสนาคริสต์มีผู้นับถือ ๕๐๐ ล้านคน ลัทธิขงจื้อมีผู้นับถือ ๔๐๐ ล้านคน ศาสนาฮินดูมีผู้นับถือ ๓๐๐ ล้านคน ศาสนาชินโตมีผู้นับถือ ๑๗ ล้านคน ศาสนายูคา มีผู้นับถือ ๑๖ ล้านคน ศาสนาซิกซ์มีผู้นับถือ ๕ ล้านคน ตัวเลขนี้ได้มาจากผลการสำรวจของนักสำรวจแห่งศาสนาคริสต์ แต่ผู้ที่นับถือลัทธิขงจื้อนั้น ส่วนมากนับถือพุทธศาสนาก็ได้ แต่ก็น่าขอบใจท่านผู้ที่พยายามสำรวจและนำออกเผยแพร่ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก

    จากตัวเลขนี้พอจะเป็นเครื่องประกันได้ไหมว่า พระพุทธศาสนาเป็นเพชรน้ำหนึ่งของโลก เมื่อประจักษ์พยานมีอยู่อย่างนี้เราชาวไทยซึ่งเป็นพุทธศาสนิก จงพากันมาขุดค้นถากถาง และเพาะปลูกพืชคือศรัทธาลงในนาคือพระพุทธศาสนา ซึ่งได้อุปมาเสมือนนาดีอันดับหนึ่งของโลกอีกครั้งว่า มีเนื้อแท้เป็นอย่างไร เราชาวโลกซึ่งมีจำนวนมากมาย พากันมาตกลงปลงใจยอมรับนับถือเอาเป็นที่พึ่ง อันนี้เห็นจะไม่ใช่เป็นเพราะเหตุอื่นใด เป็นเพราะความดีอันเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนานั่นเอง ฉายแสงสว่างให้ผู้ที่นับถือเห็นคุณประโยชน์และเป็นที่พึ่งได้จริง เพราะพระธรรมคำสอนที่พระองค์ได้ตรัสสอนนั้น ทรงตรัสสอนตามความจริง

    อันการสั่งสอนตามความจริงนี้ผู่ยอมรับนับถือได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้วมีผลจริงตามที่ตนเข้าใจ ถึงกับได้ประพฤติธรรมคำสอนไว้ว่า เป็นสวากขาโต ซึ่งแปลว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันนี้ผู้กล่าวอย่างเลื่อนลอยหากแต่ได้กล่าวตามความจริง ได้โปรดพิจารณาดูก็ได้ ที่ว่าตรัสรู้แล้วนั้น ดีอย่างไร เป็นที่พึ่งได้อย่างไร ที่ว่าดีนั้น คือตรัสด้วยความรู้จริง ไม่ใช่จำคำของใครมาตรัสสอน หรือทรงคาดคะเนเอา ตรึกเอา แล้วนำเอามาตรัสสอน ตรัสสอนไปตามความจริง ทรงเอาความจริงเป็นหลัก

    ที่ว่าทรงเอาความจริงเป็นหลักนั้น จะพึงเห็นได้ เช่นสิ่งใดดีก็ตรัสว่าดีควรประพฤติปฏิบัติ สิ่งใดชั่วก็สอนว่าไม่ควรประพฤติปฏิบัติคำสอนของพระองค์ซึ่งหลุดออกจากพระโอษฐ์แต่ละคำหลุดออกมาได้ด้วยอำนสจพระโพธิญาณ คือญาณอันเป็นเครื่องตรัสรู้ รู้จริงๆ รู้ตามจริง ซึ่งผิดกับคำกล่าวของบุคคลบางคน ซึ่งไม่มีพระโพธิญาณ กล่าวออกมาหรือตรัสออกมา จึงไม่คงทนต่อการพิสูจน์ได้ไม่เป็นสวากขาโต ตัวอย่างเช่น พระพุทธดำรัสที่ว่าวิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ซึ่งแปลว่า คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร อันนี้เป็นความจริง แต่ก่อนนี้คนพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร ปัจจุบันนี้คนก็พ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร ต่อไปในอนาคต คนก็พ้นทุกข์ได้เพราะความเพียรเหมือนกัน

    ตัวอย่างที่นำมากล่าวนี้เพียงตัวอย่างเดียว ยังมีตัวอย่างเกี่ยวกับธรรมะข้ออื่นๆ อีกมากมาย แต่ไม่ได้ยกมากล่าว ขอได้โปรดทราบว่าแม้ธรรมะข้ออื่นๆ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน ตรงกันข้ามกับคำสอนของผู้อื่นที่ขาดพระโพธิญาณ มักสอนไปตามความรู้และความเข้าใจของคน คาดคะเนเอาบ้าง เดาเอาบ้าง คิดว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งตัวเองไม่รู้จริงแล้วก็สอนไปบ้าง คำสอนของเขาจึงไม่เป็นสวากขาตธรรม ตัวอย่างคำสอนของครูทั้งหกในสมัยพุทธกาล จะขอนำประวัติย่อๆ ของครูทั้งหก ท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า อาจารย์บูรณะ กัสสป อาจารย์ผู้นี้ มีปกติสอนว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว เพราะคนเราจะดีก็ดีเองจะชั่วก็ชั่วเอง และปกติของท่านไม่นุ่งผ้า ถือลัทธิทิคัมพร คือนุ่งลมห่มฟ้า ทำไมท่านอาจารย์บูรณะจึงสอนอย่างนี้ขอได้โปรดฟังเรื่องของท่านดดยย่อๆ ดังต่อไปนี้

    ในครั้งโบราณ ในประเทศอินเดีย คนที่เป็นใหญ่เป็นโต หรือเป็นเศรษฐีมหาศาลเขามักจะมีทาสกันไว้ใช้เป็นร้อยๆ ทาสคนที่ครบร้อยพอดีจะมีชื่อว่าบูรณะนี้ ถือกันว่าเป็นทาสมงคล มีอภิสิทธิ์กว่าทาสอื่นๆ งานการเบาหน่อย ท่านอาจารย์บูรณะเจ้าของลัทธิจึงว่าทำดีไม่ได้ดีทำชั่วไม่ได้ชั่ว จะดีก็ดีเอง จะชั่วก็ชั่วเอง เคยเป็นทาสมงคลอยู่ในบ้านเศรษฐีแห่งหนึ่ง จึงมีชื่อว่าบูรณะ ภายหลังท่านหนีออกจากบ้านนั้นได้ก็เที่ยวไปหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในป่า อดข้าวแทบตายมิหนำซ้ำถูกพวกโจรปล้นเอาเสื้อผ้าไปหมด เหลือแต่ตัวล่อนจ้อนจริงๆ อย่างที่เรามักจะชอบพูดกันในสมัยนี้ว่า ชุดวันเกิด โจรในอินเดียในสมัยนั้นทารุณไม่ใช่เล่น ปล้นกันขนาดหมดเนื้อหมดตัวจริงๆ

    เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ท่านจะออกจากป่าเข้าบ้านเมืองก็ออกมาไม่ได้เพราะอายเขา จึงหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในป่าอย่างนั้นมันเป็นคราวเคราะห์ดีของท่านอยู่บ้างเหมือนกัน คือ เมื่อเป็นทาสก็ได้เป็นทาสมงคล เมื่อคราวขัดสนก็เผอิญประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ในสมัยนั้น คือคนอินเดียกำลังตื่นคนวิเศษ เห็นต้นไม้แปลกๆ คนแปลกๆ ก็มักจะทึกทักว่าเป็นคนวิเศษ ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรกับคนในเมืองไทยสมัยนี้ มักจะแตกตื่นต้นไม้แปลกๆ คนแปลกๆ อยู่บ่อยๆ เมื่อมีผู้พบท่านเข้าก็เห็นอาการหลบๆ ซ่อนๆ งกๆ เงิ่นๆ ตาหูกลับกลอกประหลับประเหลือก เพราะฤทธิ์ที่อดข้าวพาลจะเป็นลมของท่าน เกิดความสนใจ จึงเข้าไปหา แสดงความเคารพนับถือเอาข้าวเอาน้ำมาให้และบอกกล่าวกันต่อๆ ไป มีผู้คนไปหา และเคารพนับถือมากขึ้น ทั้งๆ ที่ท่านเองก็ไม่ได้ทำอะไรเพียงแต่นั่งแก้ผ้าอยู่เฉยๆ

    เมื่อมีคนนับถือเช่นนี้ อาศัยที่ตัวท่านเป็นคนที่มีเชาว์อยู่บ้างจึงสถาปนาตัวเองเป็นรอาจารย์ แล้วก็เริ่มสอนลัทธิความเชื่อถือของตนต่อไป ลัทธิที่สอนก็ไม่มีอะไรมาก สอนไปตามประสบการณ์ที่ท่านได้ประสบมา คือท่านคิดว่า การที่ท่านได้มาเป็นอาจารย์นี้ ก็มิใช่ผลของความดีความชั่วอะไร มันเป็นขึ้นมาเอง เพราะเหตุการณ์ที่แล้วๆ มานั่นแหละ มันเป๋นพยานให้แก่ท่านอย่างดี คือสมัยเป็นทาสทำความดีแทบตายก็ไม่ได้ดี ผลที่ทำได้เป็นของนายหมด ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว เพราะการที่ท่านหนีออกจากบ้าน ผลที่ได้รับน่าจะเป็นความชั่ว คือถูกจับกุมไปลงโทษ แต่กลับได้ดีเป็นอาจารย์ มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ และอีกประการหนึ่งเสื้อผ้าที่เราเคยนุ่งห่มมานั้น นุ่งห่มมาช้านานแล้วไม่เห็นได้ดิบได้ดีอะไรสู้อีตอนที่ไม่มีผ้านนุ่งนี้ไม่ได้มีคนนับถือเยอะแยะ ท่านเลยสอนศิษย์ของท่านไม่ให้นุ่งผ้ากันต่อไปและตัวท่านเองก็ไม่นุ่งผ้าตลอดชีวิต

    เรื่องราวดังที่ได้นำมาเล่านี้ ท่านผู้ฟังโปรดพิจารณาดูก็แล้วกันว่าท่านบูรณะกัสสป ท่านสอนของท่านแบบไหนกัน สอนด้วยความรู้จริงสอนตามความจริง ซึ่งควรจะนับถือเป็นสาวกขาตธรรมได้หรือไม่ ถ้าท่านผู้ใดยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นสาวกขาตธรรมได้ก็ทดลองดูก็ได้ ผลมันเป็นอย่างไร คำสอนที่จะยืนยันว่า อะไรเป็นสาวกขาตธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุผล คือความจริง อย่างเรื่องของท่านบูรณะกัสสปนี้ก็เหมือนกัน ถ้าคำสอนของท่านเป็นสวากขาตธรรมแล้วใครแก้ผ้านั่งอดข้าว ก็ต้องเป็นอาจารย์กันหมด แต่ความจริงหาเป็นอย่างนั้นไม่ ใครขืนไปทำเข้าโดยเฉพาะอย่างในบ้านเมืองเรา เห็นจะต้องย้ายสำมะโนครัวเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้านสมเด็จเป็นแน่

    แม้ในลัทธิอื่นๆ ก็เหมือนกัน ถ้าเจ้าลัทธิไม่ได้เป็นสัพพัญญูแล้ว ถึงแม้จะสอนไว้อย่างไร ก็ถือเอาเป็นสวากขาตธรรมไม่ได้เพราะความจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น อันความจริงทุกอย่างมันจะหนีความจริงไม่ได้ ดังที่มีคำพังเพยพูดไว้ว่า “อันจริงหนีจริงสิ่งนี้ยากกินปูนหมากร้อนท้องไม่ต้องแหนง สีเดิมดำหรือจะทำเป็นสีแดงพระอินทร์แปลงก็ยังรู้ว่าพระอินทร์ปลอม”

    แต่พระพุทธศาสนามิใช่เป็นเช่นนั้น สอนไว้อย่างไร เรียกให้มาดู หรือท้าทายให้มาพิสูจน์ได้ ที่เป็นดังนี้ก็เพราะพระองค์ทรงสั่งสอนให้ผู้ฟัง รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ทรงสั่งสอนมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามเห็นจริงได้ และทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์สมควรแก่ความปฏิบัติ ไม่ได้เอาเรื่องลึกลับนอกฟ้าป่าหิมพานต์หรือเรื่องบนท้องฟ้านภากาศที่ไหนมาสอน ทรงเอาเรื่องของมนุษย์ เช่น พระองค์ทรงทราบว่ามนุษย์มีความกลัว ต้องหาที่พึ่ง พระองค์ทรงสั่งสอนให้มนุษย์หาที่พึ่งอย่างตรงไปตรงมา

    ที่พึ่งที่ให้หานั้นก็ไม่ได้ทรงสั่งสอนให้ไปอ้อนวอนบนบานศาลกล่าวเอาจากใคร ทรงสั่งสอนให้เอาตัวของตัวเป็นที่พึ่งของตัว ดังพระพุทธสุภาษิตที่ว่า อตฺตา หิ อตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน โก หิ นาโถ ปโร สิยา คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ทรงสั่งสอนตรงข้ามกับลัทธิอื่น ซึ่งสอนให้ไปพึ่งคนนั้นพึ่งคนนี้ พึ่งสิ่งนั้นพึ่งสิ่งนี้พึ่งได้จริงหรือไม่นั้นเจ้าตัวของท่านรู้เอง แต่ส่วนมากเหลว ไม่ได้รับผลอะไรเลย คงได้รับผลคือความดีความชั่วของตัวเองตามเคย

    อันการคิดพึ่งคนอื่นนั้น ในทางพระพุทธศาสนาไม่เคยสั่งสอนไว้ เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง ผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยโบราณ ท่านจึงผูกเป็นโคลงคติเตือนใจสอนลูกหลานไว้ว่า

    ๏ จมูกคัดคิดหยิบยื้ม ยืมเขา
    ขัดไม่ได้ให้เรา หนึ่งข้าง
    ข้างดีเล่าเขาเอา ไว้สูด เองเอย
    ข้างขัดจึงแบ่งบ้าง เยี่ยงนี้ธรรมดา

    ถ้าจะว่ากันอย่างรวบรัด แบบรวบหัวรวบหางแล้ว คำสอนของลัทธิอื่นสอนแบบให้ยืมจมูกเขาหายใจดังโคลงคติที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น แต่พระพุทธศาสนาสอนให้เอาตนของตนเป็นที่พึ่ง แต่การที่จะเอาตนของตนเป็นที่พึ่งได้ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นก็ต้องตั้งตนประพฤติตนอยู่ในธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ความจริงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขอได้โปรดทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อนด้วย ประเดี๋ยวจะหลายเป็นว่า สอนให้พึ่งพระพุทธเจ้า เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งไป

    ที่ว่าควรทำความเข้าใจนั้น คือ ให้เราเข้าใจว่า คำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ใช่เป็นของใคร ไม่ใช่เป็นขององค์พระพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นของคนนั้น ไม่ใช่เป้นของคนนี้ หากแต่เป็นความจริง ที่ทรงตัวอยู่อย่างนั้น ตัวอย่างเช่น คนรู้จักคุณของพ่อแม่รู้จักคุณของผู้ที่มีพระคุณเป็นคนดี ธรรมข้อนี้ พระพุทธเจ้าจะสอนหรือไม่สอน ถ้าใครประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นคนดี พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงรู้ความจริงข้อนี้ แล้วรงเอามาสั่งสอน เพราะฉะนั้นเราจึงได้กล่าวกันว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระธรรม ไม่ใช่เป็นเจ้าของพระธรรม หรือบัญญัติพระธรรมขึ้น

    ในส่วนความชั่วก็เช่นเดียวกัน ใครไม่รู้จักคุณของพ่อแม่ เนรคุณคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้มีพระคุณอื่นๆ ก็เป็นคนเลว ผู้ที่ประพฤติชั่วนั้นจะรู้หรือไม่รู้ก็เป็นคนชั่ว ความชั่วร้ายที่เกิดแก่ผู้กระทำชั่วนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้เขาประสบผลเช่นนั้น หากแต่เป็นผลซึ่งเกิดจากการกระทำชั่วของเขาเอง ดังนั้น การที่ทางพระพุทธศาสนาสอนให้คนพึ่งธรรมะก็คือสอนให้พึ่งตัวเองนั่นแหละ

    อันนี้พระองค์ได้ทรงตรัสกำชับว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา พระตถาคตเป็นเพียงผู้บอก หรือผู้ชี้ทางให้เท่านั้น อันการประพฤติปฏิบัติเป็นหน้าที่ของบุคคลแต่ละคนไป คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมด จึงเป็นคำสอนที่สอนให้พึ่งตนเองทั้งนั้น โดยตรงบ้าง โดยทางอ้อมบ้าง

    ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กล่าวว่า

    ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน อุณหิสฺสคือความร้อนอันเกิดแก่ตน มีทั้งภายในภายนอก ภายนอกมีเสือสาง ภูตผีปีศาจ เป็นต้น ภายในคือกิเลส วิชัยคือความชนะ ผู้ที่มาน้อมเอาสรณะทั้งสมานี้เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมจะชนะความร้อนเหล่านั้นไปได้หมดทุกอย่างที่เรียกว่า อุณหิสฺสวิชัย

    อุณหิสฺสวิชโย ธมฺโม โลเก อนุตฺตโร พระธรรมเป็นของยิ่งในโลกทั้งสาม สามารถชนะซึ่งความร้อนอกร้อนใจอันเกิดแต่ภัยต่างๆ ปริวชฺเช ราชทนฺเฑ พยคฺเฆ นาเค วีเส ภูเต อกาลมรเณน จ สพฺพสฺมา มรณา มุตฺโต จะเว้นห่างจากอันตรายทั้งหลาย คือ อาชญาของพระราชา เสือสาง นาค ยางพิษ ภูตผีปีศาจ หากว่ายังไม่ถึงความถึงกาลที่จักตายแล้ว ก็จักพ้นไปได้จากความตายด้วยอำนาจ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ตนน้อมเอาเป็นสรณะที่พึ่งที่นับถือนั้น

    ความข้อนี้มีพระบาลีสาธกดังจะยกมาอ้างอิง ในสมัยเมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์หนุ่ม ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ในราวป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เทวดาทั้งหลายพากันมาดู แล้วกล่าวคาถาขึ้นว่า เยเกจิ พุทฺธํ สรณํ คตา เส น เต คมิสฺสนติ อปายภูมิ ปหาย มานุสํ เทหํ เทวกายํ ปริปูเรสฺสันตี แปลความว่า บุคคลบางพวกหรือบุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ มี นรก เป็นต้น เมื่อละร่างกายอันเป็นของมนุษย์นี้แล้ว จักไปเป็นหมู่แห่งเทวดาทั้งหลายดังนี้

    สรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมศูนย์อันตรธานไปไหน ยังปรากฏอยู่แก่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงอยู่เสมอ ผู้ใดมายึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่ในกลางป่าหรือเรือนว่างก็ตาม สรณะทั้งสามก็ปรากฏแก่เราอยู่ทุกเมื่อ จึงว่าเป็นที่พึ่งแก่บุคคลจริง เมื่อปฏิบัติตามสรณะทั้งสามจริงๆ แล้ว จะคลาดแคล้วจากภัยทั้งหลาย อันก่อให้เกิดความร้อนอกร้อนใจได้แน่นอนทีเดียว

    ปัจจุบันที่ยังเป็นอยู่ กำลังเผชิญหน้าอยู่ ขณะนี้นั้นแหละสำคัญที่สุด แต่คนมักไม่คำนึง บ้างก็โหยหาแต่อดีต บ้างหวนคิดถึงแต่อนาคต จนเกิดความฟ้งซ่านไปต่างๆ นานา

    แต่หลวงปู่ดูลย์ท่านแนะนำว่า

    ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ

    ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้น ตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ

    ผมเคยเขียนกลอนไว้ว่า

    ๏ พรุ่งนี้
    พรุ่งเอ๋ยพรุ่งนี้
    จะยังมีอยู่หรือไม่ไม่คิดถึง
    แต่อย่าได้ไหวหวั่นจนพรั่นพรึง
    ควรคำนึงถึงแต่แค่วันนี้

    ๏ ในวันนี้จงทำดีถึงที่สุด
    รีบเร่งรุดก้าวไกลในหน้าที่
    ถ้าพรุ่งนี้มีอยู่คงดูดี
    ข้อสำคัญวันนี้ทำดีเอย.


    เล่าเรื่องบุญ – บาปจาก
    อรรถกถาธรรมบท



    เรื่องนางลาชเทวธิดา

    หญิงถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสป

    ความพิสดารว่า ท่านมหากัสสป อยู่ที่ปิปผลิคูหา เข้าฌาณแล้ว ออกในวันที่ ๗ ตรวจดูที่เที่ยวไปเพื่อภิกษาด้วยทิพยจักษุ เห็นหญิงรักษานาข้าวสาลีคนหนึ่ง เด็ดรวงข้าวสาลีทำข้าวตอกอยู่ พิจารณาว่า “หญิงนี้มีศรัทธาหรือไม่หนอ ?” รู้ว่า “มีศรัทธา” ใคร่ครวญว่า “เธอจักอาจ เพื่อทำการสงเคราะห์แก่เราหรือไม่หนอ ?” รู้ว่า “กุลธิดาเป็นหญิงแกล้วกล้า จักทำการสงเคราะห์เรา, ก็แลครั้นทำแล้ว จักได้สมบัติเป็นอันมาก” จึงครองจีวรถือบาตร ได้ยืนอยู่ที่ใกล้นาข้าวสาลี. กุลธิดาพอเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส มีสรีระอันปีติ ๕ อย่างถูกต้องแล้ว กล่าวว่า “นิมนต์หยุดก่อน เจ้าข้า” ถือข้าวตอกไปโดยเร็วเกลี่ยลงในบาตรของพระเถระแล้วไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๑ ได้ทำความปรารถนาว่า “ท่านเจ้าข้า ขอดิฉันพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว”


    จิตเลื่อมใสในทานไปเกิดในสวรรค์

    พระเถระได้ทำอนุโมทนาว่า “ความปรารถนาอย่างนั้น จงสำเร็จ” ฝ่ายนางไหว้พระเถระแล้ว พลางนึกถึงทานที่ตนถวายแล้วกลับไป. ก็ในหนทางที่นางเดินไป บนคันนา มีงูพิษร้ายนอนอยู่ในรูแห่งหนึ่ง งูไม่อาจขบกัดแข้งพระเถระอันปกปิดด้วยผ้ากาสะยะได้. นางพลางระลึกถึงทานกลับไปถึงที่นั้น. งูเลื้อยออกจากรู กัดนางให้ล้มลง ณ ที่นั้นเอง. นางมีจิตเลื่อมใส ทำกาละแล้ว ไปเกิดในวิมานทองประมาณ ๓๐ โยชน์ ในภพดาวดึงส์ มีอัตภาพประมาณ ๓ คาวุต๒ ประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น.


    วิธีทำทิพยสมบัติให้ถาวร

    นางนุ่งผ้าทิพย์ประมาณ ๑๒ ศอกผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง แวดล้อมด้วยนางอัปสรตั้งพัน เพื่อประกาศบุรพกรรม จึงยืนอยู่ที่ประตูวิมานอันประดับด้วยขันทองคำ เต็มด้วยข้าวตอกทองคำห้อยระย้าอยู่ ตรวจดูสมบัติของตน ใคร่ครวญด้วยทิพยจักษุว่า “เราทำกรรมสิ่งไรหนอ จึงได้สมบัตินี้” ได้รู้ว่า “สมบัตินี้เราได้แล้ว เพราะผลแห่งข้าวตอกที่เราถวายพระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปเถระ” นางคิดว่า “เราได้สมบัติเห็นปานนี้ เพราะกรรมนิดหน่อยอย่างนี้ บัดนี้เราไม่ควรประมาท, เราจักทำวัตรปฏิบัติแก่พระผู้เป็นเจ้า ทำสมบัตินี้ให้ถาวร” จึงถือไม้กวาด และกระเช้าสำหรับเทมูลฝอยสำเร็จด้วยทองไปกวาดบริเวณของพระเถระ แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้แต่เช้าตรู่

    พระเถระเห็นเช่นนั้น สำคัญว่า “จักเป็นวัตรที่ภิกษุหนุ่มหรือสามเณรบางรูปทำ” แม้ในวันที่ ๒ นางก็ได้ทำอย่างนั้น. ฝ่ายพระเถระก็สำคัญเช่นนั้นเหมือนกัน. แต่วันที่ ๓ พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดของนาง และเห็นแสงสว่างแห่งสรีระฉายเข้าไปทางช่องลูกดาล จึงเปิดประตู (ออกมา) ถามว่า “ใครนั่น กวาดอยู่ ?”

    นาง : ท่านเจ้าขา ดิฉันเอง เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน ชื่อลาชเทวธิดา

    พระเถระ : “อันอุปัฏฐายิกาของเรา ผู้มีชื่ออย่างนี้ ดูเหมือนไม่มี”

    นาง : ท่านเจ้าข้า ดิฉันผู้รักษานาข้าวสาลี ถวายข้าวตอกแล้วมีจิตเลื่อมใสกำลังกลับไป ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว บังเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์, ท่านเจ้าข้า ดิฉันคิดว่า สมบัตินี้เราได้เพราะอาศัยพระผู้เป็นเจ้า, แม้ในบัดนี้ เราจักทำวัตรปฏิบัติแก่ท่าน ทำสมบัติให้มั่นคง, จึงได้มา

    พระเถระ : ทั้งวานนี้ทั้งวานซืนนี้ เจ้าคนเดียวกวาดที่นี้, เจ้าคนเดียวเข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้หรือ ?

    นาง : อย่างนั้น เจ้าข้า

    พระเถระ : จงหลีกไปเสีย นางเทวธิดา, วัตรที่เจ้าทำแล้ว จงเป็นอันทำแล้ว, ตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่ามาที่นี้ (อีก)

    นาง : อย่าให้ดิฉันฉิบหายเสียเลยเจ้าข้า, ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้ดิฉันทำวัตรแก่พระผู้เป็นเจ้า ทำสมบัติของดิฉันให้มั่นคงเถิด

    พระเถระ : จงหลีกไป นางเทวธิดา, เจ้าอย่าทำให้เราถูกพรธรรมถึกทั้งหลาย นั่งจับพัดอันวิจิตร พึงกล่าวในอนาคตว่า “ได้ยินว่า นาวเทวธิดาผู้หนึ่ง มาทะวัตรปฏิบัติ เข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ เพื่อพระมหากัสสปเถระ” แต่นี้ไป เจ้าอย่ามา ณ ที่นี้ จงกลับไปเสีย

    นางจึงอ้อนวอนซ้ำๆ อีกว่า “ขอท่านอย่าให้ดิฉันฉิบหายเลยเจ้าข้า”

    พระเถระคิดว่า “นางเทวธิดานี้ไม่เชื่อฟังถ้อยคำของเรา” จึงปรบมือด้วยกล่าวว่า “เจ้าไม่รู้จักประมาณของเจ้า”

    นางไม่อาจดำรงอยู่ที่นั้นได้ เหาะขึ้นในอากาศ ประคองอัญชลี ได้ยืนร้องไห้ (คร่ำครวญอยู่) ในอากาศว่า “ท่านเจ้าข้า อย่าให้สมบัติที่ดิฉันได้แล้วฉิบหายเสียเลย, จงให้เพื่อทำให้มั่นคงเถิด”


    บุญให้เกิดสุขในภพทั้งสอง

    พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นเอง ทรงสดับเสียงนางเทวธิดานั้นร้องไห้ ทรงแผ่พระรัศมีดุจประดับนั่งตรัสอยู่ในที่เฉพาะหน้านางเทวธิดา ตรัสว่า “เทวธิดา การทำความสังวรนั่นเทียว เป็นภาระของกัสสปผู้เป็นบุตรของเรา, แต่การกำหนดว่า ‘นี้เป็นประโยชน์ของเรา แล้วมุ่งกระทำแต่บุญ ย่อมเป้นภาระของผู้มีความต้องการด้วยบุญ ด้วยการทำบุญเป็นเหตุให้เกิดสุขอย่างเดียว ทั้งในภพนี้ ทั้งภพหน้า” ดังนี้ เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

    “ถ้าบุรุษพึงทำบุญไซร้ พึงทำบุญนั้นบ่อยๆ พึงทำความพอใจในบุญนั้น เพราะว่า ความสั่งสมบุญทำให้เกิดสุข”

    เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี

    ท่านเศรษฐีบำรุงภิกษุสามเณรเป็นนิตย์

    ความพิศดารว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี จ่ายทรัพย์ตั้ง ๕๔ โกฏิ ในพระพุทธศาสนาเฉพาะวิหารเท่านั้น, เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวัน ไปสู่ที่บำรุงใหญ่ ๓ แห่งทุกวัน, ก็เมื่อจะไป คิดว่า “สามเณรก็ดี ภิกษุก็ดี พึงแลแลดูแม้มือของเรา ด้วยการนึกว่า ‘เศรษฐีนั้นถืออะไรมาบ้าง’ ดังนี้ ไม่เคยเป็นผู้ชื่อว่ามีมือเปล่าไปเลย, เมื่อไปเวลาเช้าให้คนถือข้าวต้มไป บริโภคอาหารเช้าแล้วให้คนถือเภสัชทั้งหลาย มีเนยใส เนยข้นเป็นต้นไป, ในเวลาเย็น ให้ถือวัตถุต่างๆ มีระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ผ้าเป็นต้น ไปสู่วิหาร, ถวายทาน รักษาศีล อย่างนี้ทุกๆ วัน ตลอดกาลเป็นนิตย์ทีเดียว


    การหมดสิ้นแห่งทรัพย์ของท่านเศรษฐี

    ในกาลต่อมา เศรษฐีย่อมถึงความสิ้นไปแห่งทรัพย์. ทั้งพวกพาณิชก็กู้หนี้เป็นทรัพย์ ๑๘ โกฏิ จากมือเศรษฐีนั้น. เงิน ๑๘ โกฏิ แม้เป็นสมบัติแห่งตระกูลเศรษฐี ที่ฝังตั้งไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝั่งพังลงเพราะน้ำ (เซาะ) ก็จมลงยังมหาสมุทร. ทรัพย์ของเศรษฐีนั้นได้ถึงความหมดสิ้นไปโดยลำดับ ด้วยประการอย่างนี้.


    เศรษฐีถวายทานตามมีตามได้

    เศรษฐีแม้เป็นผู้อย่างนั้นแล้ว ก็ยังถวายทานแก่สงฆ์เรื่อยไป, แต่ไม่อาจถวายทำให้ประณีตได้, ในวันหนึ่งเศรษฐีเมื่อพระศาสดารับสั่งว่า “คฤหบดีก็ทานในตระกูลท่านยังให้อยู่หรือ ?” กราบทูล “พระเจ้าข้า ทานในตระกูล ข้าพระองค์ยังให้อยู่, ก็แลทานนั้น (ใช้) ข้าวปลายเกรียน มีน้ำส้มพะอูมเป็นที่ ๒”


    เมื่อมีจิตผ่องใสทานที่ถวายไม่เป็นของเลว

    ทีนั้น พระศาสดา ตรัสกะเศรษฐีว่า “คฤหบดี ท่านอย่าคิดว่า ‘เราถวายทานเศร้าหมอง’ ด้วยว่าเมื่อจิตประณีตแล้ว, ทานที่บุคคลถวายแด่พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าเศร้าหมองย่อมไม่มี, คฤหบดี อีกประการหนึ่ง ท่านได้ถวายทานแด่พระอริยบุคคลทั้ง ๘ แล้ว; ส่วนเราในกาลเป็นเวลามพราหมณ์นั้นกระทำชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ให้พักไถนา ยังมหาทานให้เป็นไปอยู่ไม่ได้ทักขิไณยบุคคลไรๆ แม้ผู้ถึงซึ่งไตรสรณะ, ชื่อว่าทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย ยากที่บุคคลจะได้ด้วยประการฉะนี้, เพราะเหตุนั้นท่านอย่าคิดเลยว่า ‘ทานของเราเศร้าหมอง’ ดังนี้แล้ว ได้ตรัสเวลามสูตร ๑ แก่เศรษฐี


    อัง.นวก. ๒๓/๔๐๖


    เทวดาเตือนเศรษฐีให้เลิกการบริจาค

    ครั้งนั้น เทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูของเศรษฐี เมื่อพระศาสดาและสาวกทั้งหลายเข้าไปสู่เรือน, ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้เพราะเดชแห่งพระศาสดาและพระสาวกเหล่านั้น คิดว่า “พระศาสดาและพระสาวกเหล่านี้จะไม่เข้าสู่เรือนนี้ได้ด้วยประการใด, เราจะยุยงคฤหบดีด้วยประการนั้น แม้ใคร่จะพูดกะเศรษฐีนั้น ก็ไม่ได้อาจเพื่อจะกล่าวอะไรๆ ในกาลที่เศรษฐีเป็นอิสระ” คิดว่า “ก็บัดนี้เศรษฐีนี้เป็นผู้ยากจนแล้ว, คงจักเชื่อฟังคำสอนของเรา” ในเวลาราตรี เข้าไปสู่ห้องอันเป็นสิริของเศรษฐี ได้ยืนอยู่ในอากาศ.

    ขณะนั้น เศรษฐีเห็นเทวดานั้นแล้วถามว่า “นั่นใคร ?”

    เทวดา : มหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเป็นเทวดาสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน มาเพื่อต้องการเตือนท่าน

    เศรษฐี : เทวดา ถ้าเช่นนั้น เชิญท่านพูดเถิด

    เทวดา : มหาเศรษฐี ท่านไม่เหลียวแลถึงกาลภายหลังเลยจ่ายทรัพย์เป็นอันมากในศาสนาของพระสมณโคดม, บัดนี้ ท่านแม้เป็นผู้ยากจนแล้ว ก็ยังไม่ละการจ่ายทรัพย์อีก, เมื่อท่านประพฤติอย่างนี้จักไม่ได้แม้วัตถุสักว่าอาหารและเครื่องนุ่งห่ม โดย ๒ - ๓ วันแน่แท้ ; ท่านจะต้องการอะไรด้วยพระสมณโคดม, ท่านจงเลิกจากการบริจาคเงิน (กำลัง) เสียแล้วประกอบการงานทั้งหลาย รวบรวมสมบัติไว้เถิด

    เศรษฐี : นี้เป็นโอวาทที่ท่านให้แก่ข้าพเจ้าหรือ ?

    เทวดา : จ้ะ มหาเศรษฐี

    เศรษฐี : ไปเถิดท่าน, ข้าพเจ้าอันบุคลผู้เช่นท่าน แม้ตั้งร้อย ตั้งพัน ตั้งแสนคน ก็ไม่อาจให้หวั่นไหวได้, ท่านกล่าวคำไม่สมควรจะต้องการอะไรด้วยท่านผู้อยู่ในเรือนของข้าพเจ้า, ท่านจงออกไปจากเรือนของข้าพเจ้าเร็วๆ


    เทวดาถูกเศรษฐีขับไล่ไม่มีที่อาศัย

    เทวดานั้น ฟังคำของเศรษฐีผู้เป็นโสดาบันอริยสาวกแล้ว ไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงพาทารกทั้งหลายออกไป, ก็แล ครั้นออกไปแล้วไม่ได้ที่อยู่ในที่อื่น จึงคิดว่า “เราจักให้ท่านเศรษฐีอดโทษแล้วอยู่ในที่เดิมนั้น” เข้าไปหาเทพบุตรผู้รักษาพระนคร แจ้งความผิดที่ตนทำแล้ว กล่าวว่า “เชิญมาเถิดท่าน, ขอท่านจงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักของท่านเศรษฐี ให้ท่านเศรษฐีอดโทษแล้วให้ที่อยู่ (แก่ข้าพเจ้า)”

    เทพบุตรห้ามเทวดานั้นว่า “ท่านกล่าวคำไม่สมควร, ข้าพเจ้าไม่อาจไปยังสำนักของเศรษฐีนั้นได้”

    เทวดานั้นจึงไปสู่สำนักของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถูกท่านเหล่านั้นห้ามไว้ จึงเข้าไปเฝ้าสักกเทวราช กราบทูลเรื่องนั้น (ให้ทรงทราบ) แล้วทูลวิงวอนอย่างน่าสงสารว่า “ข้าแต่ข้าพเจ้า ข้าพระองค์ไม่ได้ที่อยู่ ต้องจูงพวกทารกเที่ยวระหกระเหิน หาที่พึ่งมิได้, ขอได้โปรดให้เศรษฐีให้ที่อยู่แก่ข้าพระองค์เถิด”


    ท้าวสักกะทรงแนะนำอุบายให้เทวดา

    คราวนั้น ท้าวสักกะ ตรัสกะเทวดานั้นว่า “ถึงเราก็จักไม่อาจกล่าวกะเศรษฐีเพราะเหตุแห่งท่านได้ (เช่นเดียวกัน), แต่จักบอกอุบายให้แก่ท่านสักอย่างหนึ่ง”

    เทวดา : ดีละ เทพเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสบอกเถิด

    ท้าวสักกะ : ไปเถิดท่าน จงแปลงเพศเป็นเสมียนของเศรษฐี ให้ใครนำหนังสือ (สัญญากู้เงิน) จากมือเศรษฐีมาแล้ว (นำไป) ให้เขาชำระทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ที่พวกค้าขายถือเอาไว้ ด้วยอานุภาพของตนแล้ว บรรจุไว้ให้เต็มในห้องเปล่า, ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ที่จมลงยังมหาสมุทรมีอยู่ก็ดี, ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ ส่วนอื่น ซึ่งหาเจ้าของมิได้ มีอยู่ในโน้นก็ดี, จงรวบรวมทรัพย์ทั้งหมดนั้น บรรจุไว้ให้เต็มในห้องเปล่าของเศรษฐี ครั้นทำกรรมชื่อนี้ให้เป็นทัณฑกรรมแล้ว จึงขอขมาโทษเศรษฐี


    เศรษฐีกลับรวยอย่างเดิม

    เทวดานั้น รับว่า “ดีละ เทพเจ้า” แล้วทำกรรมทุกๆ อย่างตามนัยที่ท้าวสักกะตรัสบอกแล้วนั่นแล ยังห้องอันเป็นสิริมงคลของท่านเศรษฐีให้สว่างไสว ดำรงอยู่ในอากาศ เมื่อท่านเศรษฐีกล่าวว่า “นั่นใคร” จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นเทวดาอันธพาล ซึ่งสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน คำใดอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วในสำนักของท่านด้วยความเป็นอันธพาล, ขอท่านจงอดโทษคำนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด, เพราะข้าพเจ้าได้ทำทัณฑกรรมด้วยการรวบรวมทรัพย์ ๕๔ โกฏิ มาบรรจุไว้เต็มห้องเปล่า ตามบัญชีของท้าวสักกะ ข้าพเจ้าเมื่อไม่ได้ที่อยู่ ย่อมลำบาก”


    เศรษฐีอดโทษแก่เทวดา

    อนาถบิณฑิกเศรษฐี จินตนาการว่า “เทวดานี้ กล่าวว่า ทัณฑกรรม อันข้าพเจ้ากระทำแล้ว’ ดังนี้, และรู้สึกโทษ (ความผิด) ของตน เราจักแสดงเทวดานั้นแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ท่านเศรษฐีนำเทวดานั้นไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลกรรมอันเทวดานั้นทำแล้วทั้งหมด

    เทวดาหมอบลงด้วยเศียรเกล้า แทบพระบาทยุคลแห่งพระศาสดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบพระคุณทั้งหลายของพระองค์ ได้กล่าวคำใดอันชั่วช้า เพราะความเป็นอันธพาล, ขอพระองค์ทรงงดโทษคำนั้นแก่ข้าพระองค์” ให้พระศาสดาทรงอดโทษแล้ว จึงให้ท่านมหาเศรษฐีอดโทษให้ (ในภายหลัง)


    เมื่อกรรมให้ผล คนโง่จึงเห็นถูกต้อง

    พระศาสดา เมื่อจะทรงโอวาทเศรษฐีและเทวดา ด้วยสามารถวิบากแห่งกรรมดีและชั่วนั่นแล จึงตรัสว่า “ดูก่อนคฤหบดี แม้บุคคลผู้ทำบาปในโลกนี้ ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใดบาปของเขาเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วแท้ๆ; ฝ่ายบุคคลผู้ทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล, แต่เมื่อใดกรรมดีของเขาเผล็ดผล, เมื่อนั้นเขาย่อมเห็นกรรมดีว่า ดีจริงๆ” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

    “แม้คนผู้ทำบาป ย่อมเห็นบาปว่าดี ตลอดกาลที่บาปยังไม่เผล็ดผล, เมื่อใด บาปเผล็ดผล, เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นบาปว่าชั่วฝ่ายคนทำกรรมดี ย่อมเห็นกรรมดีว่าชั่ว ตลอดกาลที่กรรมดียังไม่เผล็ดผล แม่เมื่อใด กรรมดีเผล็ดผล เมื่อนั้น เขาย่อมเห็นกรรมดีว่าดี”

    เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ

    ให้ทานเองและชวนคนอื่น ได้สมบัติ ๒ อย่าง

    ความพิสดารว่า สมัยหนึ่ง ชาวเมืองสาวัตถีพากันถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยเนื่องเป็นพวกเดียวกัน. อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนา ตรัสอย่างนี้ว่า “อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทานด้วยตน, (แต่) ไม่ชักชวนผู้อื่น, เขาย่อมได้โภคสมบัติ, (แต่) ไม่ได้บริวารสมบัติในทีแห่งตนเกิดแล้วๆ, บางคนไม่ให้ทานด้วยตน, ชักชวนแต่คนอื่น, เขาย่อมได้บริวารสมบัติ (แต่) ไม่ได้โภคสมบัติในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ; บางคนไม่ให้ทานด้วยตนด้วย ไม่ชักชวนคนอื่นด้วย, เขาย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ; เป็นคนเที่ยวกินเดน บางคนให้ทานด้วยตนด้วย ชักชวนคนอื่นด้วย, เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ ในที่แห่งตนเกิดแล้วๆ”


    บัณฑิตเรี่ยไรของทำบุญ

    ครั้งนั้น บัณฑิตบุรุษผู้หนึ่ง ฟังธรรมเทศนานั้นแล้ว คิดว่า “ โอ ! เหตุนี้น่าอัศจรรย์, บัดนี้ เราจักทำกรรมที่เป็นไปเพื่อสมบัติทั้งสอง” จึงกราบทูลพระศาสดาในเวลาเสด็จลุกไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอพระองค์ทรงรับภิกษาของพวกข้าพระองค์”

    พระศาสดา : ก็ท่านมีความต้องการด้วยภิกษุสักเท่าไร ?

    บุรุษ : ภิกษุทั้งหมด พระเจ้าข้า

    พระศาสดาทรงรับแล้ว. แม้เขาก็เข้าไปยังบ้าน เที่ยวป่าวร้องว่า “ข้าแต่แม่และพ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้, ผู้ใดอาจถวายแก่ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่าใด, ผู้นั้นจงให้วัตถุต่างๆ มีข้าวสาร เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่อาหารมียาคูเป็นต้น เพื่อภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านั้น, พวกเราจักให้หุงต้มในที่แห่งเดียวกันแล้วถวายทาน”


    เหตุที่เศรษฐีมีชื่อว่าพิฬาลปทกะ

    ทีนั้น เศรษฐีคนหนึ่ง เห็นบุรุษนั้นมาถึงประตูร้านตลาดของตนก็โกรธว่า “เจ้าคนนี้ ไม่นิมนต์ภิกษุแต่พอ (กำลัง) ของตน ต้องมาเที่ยวชักชวนชาวบ้านทั้งหมด (อีก)” , จึงบอกว่า “แกจงนำเอาภาชนะที่แกถือมา” ดังนี้แล้ว เอานิ้วมือ ๓ นิ้วหยิบ ได้ให้ข้าวสารหน่อยหนึ่ง, ถั่วเขียว ถั่วราชมาษก็เหมือนกันแล. ตั้งแต่นั้น เศรษฐีนั้นจึงมีชื่อว่า พิฬาลปทกเศรษฐี. แม้เมื่อจะให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็เอียงปากขวดเข้าที่หม้อ ทำให้ปากขวดนั้นติดเป็นอันเดียวกัน ให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้นไหลลงทีละหยดๆ ได้ให้หน่อยหนึ่งเท่านั้น

    อุบาสกทำวัตถุทานที่คนอื่นให้โดยรวมกัน (แต่) ได้ถือเอาสิ่งของที่เศรษฐีนี้ให้ไว้แผนกหนึ่งต่างหาก


    เศรษฐีให้คนสนิทไปดูการทำของบุรุษผู้เรี่ยไร

    เศรษฐีนั้น เห็นกิริยาของอุบาสกนั้นแล้ว คิดว่า “ทำไมหนอ เจ้าคนนี้จึงรับสิ่งของที่เราให้ไว้แผนกหนึ่ง ?” จึงส่งจูฬุปัฏฐากคนหนึ่งไปข้างหลังเขา ด้วยสั่งว่า “เจ้าจงไป, จงรู้กรรมที่เจ้านั่นทำ” อุบาสกนั้นไปแล้ว กล่าวว่า “ขอผลใหญ่จงมีแก่เศรษฐี” ดังนี้แล้วใสข้าวสาร ๑ -๒ เมล็ด เพื่อประโยชน์ แก่ยาคู ภัต และขนม, ใส่ถั่วเขียวถั่วราชมาษบ้าง หยาดน้ำมันและหยาดน้ำอ้อยเป็นต้นบ้างลงในภาชนะทุกๆ ภาชนะ. จูฬุปัฏฐากไปบอกแก่เศรษฐีแล้ว. เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว จึงคิดว่า “หากเจ้าคนนั้นจักกล่าวโทษเราท่ามกลางบริษัทไซร้, พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นเท่านั้น เราจักประหารมันให้ตาย” ในวันรุ่งขึ้น จึงเหน็บกฤชไว้ในระหว่างผ้านุ่งแล้ว ได้ไปยืนอยู่ที่โรงครัว


    ฉลาดพูดทำให้ผู้มุ่งร้ายกลับอ่อนน้อม

    บุรุษนั้น เลี้ยงดูภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชักชวนมหาชนถวายทานนี้, พวกมนุษย์ข้าพระองค์ชักชวนแล้วในที่นั้น ได้ให้ข้าวสารเป็นต้น มากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังของตน, ขอผลอันไพศาลจงมีแก่มหาชนเหล่านั้นทั้งหมด”

    เศรษฐีได้ยินคำนั้นแล้ว คิดว่า “เรามาด้วยตั้งใจ พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นว่า ‘เศรษฐีชื่อโน้นถือเอาข้าวสารเป็นต้นด้วยหยิบมือให้’ เราก็จักฆ่าบุรุษนี้ให้ตาย, แต่บุรุษนี้ ทำทานให้รวมกันทั้งหมด แล้วกล่าวว่า ‘ทานที่ชนเหล่าใดตวงด้วยทะนานเป็นต้นแล้วให้ก็ดี, ทานที่ชนเหล่าใดถือเอาด้วยหยิบมือแล้วให้ก็ดี, ขอผลอันไพศาล จงมีแก่ชนเหล่านั้นทั้งหมด’ ถ้าเราจักไม่ให้บุรุษเห็นปานนี้อดโทษไซร้, อาชญาของเทพเจ้าจักตกลงบนศีรษะของเรา” เศรษฐีนั้นหมอบลงแทบเท้าของอุบาสกนั้นแล้วกล่าวว่า “นาย ขอนายจงอดโทษให้ผมด้วย” และถูกอุบาสกนั้นถามว่า “นี้อะไรกัน ?” จึงบอกเรื่องนั้นทั้งหมด

    พระศาสดาทรงเห็นกิริยานั้นแล้ว ตรัสถามผู้ขวนขวายในมานว่า “นี่อะไรกัน ?” เขากราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดตั้งแต่วันที่แล้วๆ มา


    อย่าดูหมิ่นบุญว่านิดหน่อย

    ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามเศรษฐีนั้นว่า “นัยว่า เป็นอย่างนั้นหรือ ? เศรษฐี” เมื่อเขากราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า” ตรัสว่า “อุบาสก ขึ้นชื่อว่าบุญ อันใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่า ‘นิดหน่อย’ อันบุคคลถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเช่นเราเป็นประธานแล้ว ไม่ควรดูหมิ่นว่า ‘เป้นของนิดหน่อย’ ด้วยว่า บุรุษผู้บัณฑิตทำบุญอยู่ย่อมเต็มไปด้วยบุญโดยลำดับแน่แท้ เปรียบเสมือนภาชนะที่เปิดปาก ย่อมเต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

    “บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า ‘บุญมีประมาณน้อย จักไม่มาถึง’ แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ) ได้ฉันใด ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น”


    เรื่องธิดานายชั่งหูก

    คนเจริญมรณสติไม่กลัวตาย

    ความพิสดารว่า วันหนึ่ง พวกชาวเมืองอาฬวี เมื่อพระศาสดาเสด็จถึงเมืองอาฬวีแล้ว ได้ทูลนิมนต์ถวายทานแล้ว. พระศาสดาเมื่อจะทรงทำอนุโมทนาในเวลาเสร็จภัตกิจ จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า ‘ชีวิตของเราไม่ยั่งยืน, ความตายของเราแน่นอน, เราพึงตายแน่แท้, ชีวิตของเรามีความหมายเป็นที่สุด, ชีวิตของเราไม่เที่ยง, ความตายเที่ยง; ก็มรณะอันชนทั้งหลายใดไม่เจริญแล้ว, ในกาลที่สุดชนทั้งหลายนั้น ย่อมถึงความสะดุ้งร้องอย่างงขลาดกลัวอยู่กาละ เหมือนบุรุษเห็นอสรพิษแล้วกลัวฉะนั้น; ส่วนมรณะอันชนทั้งหลายใดเจริญแล้ว ชนทั้งหลายนั้นย่อมสะดุ้งในกาลที่สุด ดุจบุรุษเห็นอสรพิษแต่ไกลเทียว แล้วก็เอาท่อนไม่เขี่ยทิ้งไปยืนอยู่ฉะนั้น; เพราะฉะนั้นมรณสติอันท่านทั้งหลายพึงเจริญ”


    พระศาสดาเสด็จประทานโอวาทธิดาช่างหูก

    พวกชนที่เหลือฟังธรรมเทศนานั้นแล้ว ได้เป็นผู้ขวนขวายในกิจของตนอย่างเดียว. ส่วนธิดาของนายช่างหูกอายุ ๑๖ ปีคนหนึ่งคิดว่า “โอ ธรรมดาถ้อยคำของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอัศจรรย์, เราเจริญมรณสติจึงควร” ดังนี้แล้ว ก็เจริญมรณสติอย่างเดียวตลอดทั้งกลางวันกลางคืน ฝ่ายพระศาสดาเสด็จออกจากเมืองอาฬวีแล้วก็ได้เสด็จไปพระเชตวัน. นางกุมาริกาแม้นั้น ก็เจริญมรณสติสิ้น ๓ ปีทีเดียว. ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ในเวลาใกล้รุ่งทรงเห็นนางกุมาริกานั้น เข้าไปภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า “เหตุอะไรหนอ ? จักมี” ทรงทราบว่า “นางกุมาริกานี้เจริญมรณสติแล้วสิ้น ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ฟังธรรมเทศนาของเรา, บัดนี้ เราไปในที่นั้นแล้ว ถามปัญหา ๔ ข้อกะนางกุมาริกานี้เมื่อนางแก้ปัญหาอยู่ จักให้สาธุการในฐานะ ๔ แล้วภาษิตคาถานี้, ในเวลาจบคาถา นางกุมาริกานั้น จักตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล, เพราะอาศัยนางกุมาริกานั้น เทศนาจักมีประโยชน์แม้แก่มหาชน” ดังนี้แล้ว มีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร ได้เสด็จออกจากพระเชตวัน ไปสู่อัคคาฬววิหารโดยลำดับ. ชาวเมืองอาฬวีทราบว่า “พระศาสดาเสด็จมาแล้ว” จึงไปวิหาร ทูลนิมนแล้ว. แม้นางกุมาริกานั้น ทราบการเสด็จมาของพระศาสดา มีใจยินดีว่า “ข่าวว่า พระมหาโคดมพุทธเจ้าผู้พรระบิดา ผู้เป็นใหญ่ เป็นพระอาจารย์ ผู้มีพระพักตร์ดังพระจันทร์เพ็ญของเราเสด็จมาแล้ว” จึงคิดว่า “พระศาสดา ผู้มีวรรณะดังทองคำ อันเราเคยเห็น ในที่สุด ๓ ปี แต่วันนี้, บัดนี้ เราจักได้เห็นพระสรีระซึ่งมีวรรณะดังทองคำ และฟังธรรมอันเป็นโอวาท ซึ่งมีโอชะอันไพเราะ (จับใจ) ของพระศาสดานั้น”

    ฝ่ายบิดาของนาง เมื่อจะไปสู่โรงหูก ได้สั่งไว้ว่า “แม่ ผ้าสาฎก ซึ่งเป็นของคนอื่น เรายกขึ้นไว้ (กำลังทอ), ผ้านั้นประมาณคืบหนึ่งยังไม่สำเร็จ เราจะให้ผ้านั้นเสร็จในวันนี้, เจ้ากรอด้ายหลอดแล้วพึงนำมาให้แก่พ่อโดยเร็ว” นางกุมาริกานั้นคิดว่า “เราใคร่จะฟังธรรมของพระศาสดา, ก็บิดาสั่งเราไว้อย่างนี้; เราจะฟังธรรมของพระศาสดาหรือหนอแล หรือจะกรอด้ายหลอหดแล้วนำไปให้แก่บิดา ?” ครั้งนั้น นางกุมาริกานั้น ได้มีความปริวิตกอย่างนี้ว่า “เมื่อเราไปนำด้ายหลอดให้ บิดาพึงโบยเราบ้าง พึงตีเราบ้าง, เพราะฉะนั้น เรากรอด้ายหลอดให้แก่ท่านแล้ว จึงจักฟังธรรมในภายหลัง” ดังนี้แล้ว จึงนั่งกรอด้ายหลอดอยู่บนตั่ง แม้พวกชาวเมืองอาฬวีอังคาสพระศาสดาแล้ว ได้รับบาตร ยืนอยู่เพื่อต้องการอนุโมทนา. พระศาสดาประทับนิ่งแล้ว ด้วยทรงดำริว่า “เราอาศัยกุลธิดาใดมาแล้วสิ้นทาง ๓๐ โยชน์, กุลธิดานั้น ไม่มีโอกาสแม้ในวันนี้, เมื่อกุลธิดานั้นได้โอกาสเราจักทำอนุโมทนา” ก็ใครๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ย่อมไม่อาจเพื่อจะทูลอะไรๆ กะพระศาสดา ผู้ทรงนิ่งอย่างนั้นได้, แม้นางกุมาริกานั้นแล กรอด้ายหลอดแล้วใส่ในกระเช้าเดินไปสู่สำนักของบิดา ถึงที่สุดของบริษัทแล้ว ก็ได้เดินแลดูพระศาสดาไป. แม้พระศาสดา ก็ทรงชะเง้อ๑ ทอดพระเนตรนางกุมาริกานั้น. เหมือนกันว่า “พระศาสดา ประทับนั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัทเห็นปานนั้น ทอดพระเนตรเราอยู่ ย่อมทรงหวังการมาของเรา ย่อมทรงหวังการมาสู่สำนักของพระองค์ทีเดียว” นางวางกระเช้าด้ายหลอดแล้วได้ไปยังสำนักของพระศาสดา

    ถามว่า “ก็เพราะเหตุอะไร ? พระศาสดา จึงทอดพระเนตรนางกุมาริกานั้น”

    แก้ว่า “ได้ยินว่า พระองค์ได้ทรงปริวิตกอย่างนี้ว่า นางกุมาริกานั้น เมื่อไปจากที่นี้ ทำกาลกิริยาอย่างปุถุชนแล้ว จักเป็นผู้มีคติไม่แน่นอน, แต่มาสู่สำนักของเราแล้วไปอยู่ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จักเป็นผู้มีคติแน่นอน เกิดในดุสิตวิมาน” นัยว่า ในวันนั้น ชื่อว่าความพ้นจากความตายไม่มีแก่นางกุมาริกานั้น

    นางกุมาริกานั้น เข้าเฝ้าพระศาสดา ด้วยเครื่องหมายอันพระศาสดาทอดพระเนตรนั่นแล เข้าไปสู่ระหว่างรัศมี มีพรรณะ ๖ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง


    พระศาสดาตรัสถามปัญหากะธิดาช่างหูก

    ในขณะที่นางกุมาริกานั้นถวายบังคมพระศาสดาผู้ประทับนั่งนิ่งในท่ามกลางบริษัทเห็นปานนั้นแล้ว ยืนอยู่นั่นแล พระศาสดาตรัสกะนางว่า “กุมาริกา เธอมาจากไหน ?”

    กุมาริกา : ไม่ทราบ พระเจ้าข้า
    พระศาสดา : เธอจักไป ณ ที่ไหน ?
    กุมาริกา : ไม่ทราบ พระเจ้าข้า
    พระศาสดา : เธอไม่ทราบหรือ ?
    กุมาริกา : ทราบ พระเจ้าข้า
    พระศาสดา : เธอทราบหรือ ?
    กุมาริกา : ไม่ทราบ พระเจ้าข้า

    พระศาสดาตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ กะนางกุมาริกานั้น ด้วยประการฉะนี้

    มหาชนโพนทะนาว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดูธิดาของช่างหูกนี้ พูดคำอันตนปรารถนาแล้วๆ กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ‘เธอมาจากไหน ?’ ธิดาของช่างหูกนี้ควรพูดว่า ‘จากเรือนของช่างหูก’ เมื่อตรัสว่า ‘เธอจะไปไหน ?’ ก็ควรกล่าวว่า ‘ไปโรงของช่างหูก’ มิใช่หรือ ? พระศาสดาทรงกระทำมหาชนให้เงียบเสียงแล้ว ตรัสถามว่า ‘กุมาริกา เธอ เมื่อ เรากล่าวว่า มาจากไหน ?’ เพราะเหตุใดเธอจึงตอบว่า ‘ไม่ทราบ’

    กุมาริกา “พระเจ้าข้า พระองค์ย่อมทรงทราบความที่หม่อมฉันมาจากเรือนช่างหูก แต่พระองค์เมื่อตรัสถามว่า ‘เธอมาจากไหน ?’ ย่อมตรัสถามว่า ‘เธอมาจากที่ไหน จึงเกิดแล้วในที่นี่ ?’ แต่หม่อมฉันย่อมไม่ทราบว่า ‘ก็เรามาแล้วจากไหน จึงเกิดในที่นี้’

    ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการเป็นครั้งแรกแก่นางกุมาริกานั้นว่า “ดีละ ดีละ กุมาริกา ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล อันเธอแก้ได้แล้ว” แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า “เธอ อันเราถามแล้วว่า ‘เธอจะไปไหน ?’ เพราะเหตุไร จึงกล่าวว่า 'ไม่ทราบ' ?


    คีวํ อุกุขิปิตุวา.

    กุมาริกา “พระเจ้าข้า พระองค์ทรงทราบหม่อมฉันผู้ถือกระเช้าด้ายหลอดเดินไปยังโรงของช่างหูก, พระองค์ย่อมตรัสถามว่า ‘ก็เธอไปจากโลกนี้แล้ว จักเกิดในที่ไหน ?’ ก็หม่อมฉันจุติจากโลกนี้ย่อมไม่ทราบว่า ‘จักไปเกิดในที่ไหน’

    ลำดับนั้น พระศาสดา ประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว” แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า “เมื่อเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘ไม่ทราบหรือ ?’ เพราะเหตุไรจึงกล่าวว่า ‘ทราบ’ ?”

    กุมาริกา “พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันย่อมทราบภาวะคือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น เหตุนั้น จึงกราบทูลอย่างนั้น”

    ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่นางเป็นครั้งที่ ๓ ว่า “ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว” แล้วตรัสถามแม้ข้อต่อไปว่า “เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอ อันเราถามว่า ‘เธอย่อมทราบหรือ ?’ เพราะเหตุไร จึงพูดว่า ‘ไม่ทราบ’?

    กุมาริกา “หม่อมฉันย่อมทราบแต่ภาวะคือความตายของหม่อมฉันเท่านั้น พระเจ้าข้า แต่ย่อมไม่ทราบว่า จักตายในเวลากลางคืน กลางวันหรือเวลาเช้าเป็นต้น ในกาลชื่อโน้น, เพราะเหตุนั้น จึงพูดอย่างนั้น


    คนมีปัญญาชื่อว่ามีจักษุ

    ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการครั้งที่ ๔ แก่นางว่า “ปัญหาอันเราถามแล้วนั่นแล เธอแก้ได้แล้ว” แล้วตรัสเตือนบริษัทว่า “พวกท่านย่อมไม่ทราบถ้อยคำชื่อประมาณเท่านี้ ที่นางกุมาริกานี้กล่าวแล้ว ย่อมโพนทะนาอย่างเดียวเท่านั้น; เพราะจักษุคือปัญญาของชนเหล่าใดไม่มี, ขนเหล่านั้นเป็น (ดุจ) คนบอดทีเดียว; จักษุคือปัญญาของชนเหล่าใดมีอยู่; ชนเหล่านั้นนั่นแล เป็นผู้มีจักษุ” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

    “สัตว์โลกนี้เป็นเหมือนคนตาบอด, ในโลกนี้น้อยคนนัก จะเห็นแจ้ง, น้อยคนนักจะไปในสวรรค์ เหมือนนกหลุดแล้วจากข่าย (มีน้อย) ฉะนั้น”


    ธิดาช่างหูกตายไปเกิดในดุสิตภพ

    แม้นางกุมาริกานั้น ได้ถือกระเช้าด้ายหลอดไปสู่สำนักของบิดาแล้ว. แม้บิดานั้น ก็นั่งหลับแล้ว. เมื่อนางไม่กำหนดแล้ว น้อมกระเช้าด้ายหลอดเข้าไปอยู่ กระเช้าด้ายหลอดกระทบที่สุดฟืม ทำเสียงตกไป. บิดานั้นตื่นขึ้นแล้ว ฉุดที่สุดฟืมไป ด้วยนิมิตที่ตนจับเอาแล้วนั่นเอง. ที่สุดฟืมไปประหารนางกุมาริกานั้นที่อก, นางทำกาละ ณ ที่นั้นนั่นเอง บังเกิดแล้วในที่สุดภพ. ลำดับนั้น บิดาของนางเมื่อแลดูนาง ได้เห็นนางมีสรีระทั้งสิ้นเปื้อนด้วยโลหิตล้มลงตายแล้ว. ลำดับนั้น ความโศกใหญ่บังเกิดขึ้นแก่บิดานั้น. เขาร้องไห้อยู่ด้วยคิดว่า “ผู้อื่นจักไม่สามารถเพื่อยังความโศกของเราให้ดับได้” จึงไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นแล้ ว กราบทูลว่า”พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงยังความโศกของข้าพระองค์ให้ดับ” พระศาสดาทรงปลอบเขาแล้ว ตรัสว่า “ท่านอย่าโศกแล้ว. เพราะว่าน้ำตาของท่านอันไหลออกแล้ว ในกาลเป็นที่ตายแห่งธิดาของท่านด้วยอาการอย่างนี้นั่นแล ในสงสารมีที่สุด ที่ใครๆ ไม่รู้แล้วเป็นของยิ่งกว่าน้ำมหาสมุทรทั้ง ๔“ ดังนี้แล้ ว จึงตรัส สอนมตัคคสูตร. เขามีความโศกเบาบาง ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา ได้อุปสมบทแล้ว ต่อกาลไม่นานบรรลุพระอรหัตแล้วดังนี้แล.

    เรื่องบุตรของนายโคฆาตก์

    นายโคฆาตก์สั่งให้ภรรยาปิ้งเนื้อ

    ดังได้สดับมา นายโคฆาตก์คนหนึ่งในนครสาวัตถี ฆ่าโคแล้วถือเอาเนื้อล่ำปิ้งแล้ว นั่งพร้อมด้วยบุตรและภริยาเคี้ยวกินเนื้อ และขายด้วยราคา เขาทำการของคนฆ่าโคอยู่อย่างนี้ตลอด ๕๕ ปี มิได้ถวายยาคูหรือภัต แม้มาตรว่าทัพพีหนึ่งในวันหนึ่งแด่พระศาสดา ซึ่งประทับอยู่ในวิหารใกล้ เขาเว้นจากเนื้อเสีย ย่อมไม่บริโภคภัต วันหนึ่งเขาขายเนื้อในตอนกลางวันแล้ว ให้ก้อนเนื้อก้อนหนึ่งแก่ภริยา เพื่อปิ้ง เพื่อประโยชน์แก่ตน แล้วได้ไปอาบน้ำ

    ลำดับนั้น สหายของเขามาสู่เรือนแล้ว พูดกะภริยาว่า “หล่อนจงให้เนื้อที่จะขายพึงขายแก่ฉันหน่อยหนึ่ง, (เพราะ) แขกมาที่เรือนฉัน”

    ภริยานายโคฆาตก์ : เนื้อที่จะพึงขายไม่มี, สหายของท่านขายเนื้อแล้วบัดนี้ไปอาบน้ำ

    สหาย : อย่าทำอย่างนี้เลย ถ้าก้อนเนื้อมี ขอจงให้เถิด

    ภริยานายโคฆาตก์ : เว้นก้อนเนื้อที่ฉันเก็บไว้เพื่อสหายของท่านแล้วเนื้ออื่นไม่มี

    เขาคิดว่า “เนื้ออื่นจากเนื้อหญิงนี้เก็บไว้เพื่อประโยชน์แก่สหายของเราไม่มี, อนึ่ง สหายของเรานั้น เว้นจากเนื้อย่อมไม่บริโภค. หญิงนี้จักไม่ให้” จึงถือเอาเนื้อนั้นเองหลีกไป

    ฝ่ายนายโคฆาตก์อาบน้ำแล้วกลับมา. เมื่อภรริยานั้นคดภัตนำเข้าไปพร้อมกับน้ำผักต้มเพื่อตน, จึงพูดว่า “เนื้ออยู่ที่ไหน”

    ภริยา : นาย เนื้อไม่มี

    นายโคฆาตก์ : เราให้เนื้อไว้เพื่อต้องการปิ้งแล้วจึงไป มิใช่หรือ ?

    ภริยา : สหายของท่านมาบอกว่า “แขกของฉันมา, หล่อนจงให้เนื้อที่จะพึงขายแก่ฉัน” เมื่อฉันตอบว่า “เนื้ออื่นจากเนื้อที่ฉันเก็บไว้เพื่อสหายของท่านไม่มี, อนึ่ง สหายของท่านนั้น เว้นจากเนื้อย่อมไม่บริโภค” ก็ถือเอาเนื้อนั้นโดยพลการเองทีเดียวไปแล้ว

    นายโคฆาตก์ : เราเว้นจากเนื้อ ไม่บริโภคภัต, หล่อนจงนำภัตนั้นไป

    ภริยา : ฉันอาจทำอย่างไรได้, ขอจงบริโภคเถิดนาย


    นายโคฆาตก์ตัดลิ้นโคปิ้งบริโภค

    นายโคฆาตก์นั้นตอบว่า “เราไม่บริโภคภัต” ให้ภริยานำภัตนั้นไปแล้ว, ถือมีดไปสู่สำนักโคตัวยืนอยู่ที่หลังเรือน แล้วสอดมือเข้าไปในปากดึงลิ้นออกมาเอามีดตัดที่โคน (ลิ้น) แล้วถือไปให้ปิ้งบนถ่านเพลิงแล้ว วางไว้บนภัต นั่งบริโภคก้อนภัตก้อนหนึ่งไว้ในปาก. ในขณะนั้นเอง ลิ้นของเขาขาดตกลงในถาดสำหรับใส่ภัต ในขณะนั้นแล เขาได้วิบากที่เห็นสมด้วยกรรม. แม้เขาแลเป็นเหมือนโค มีสายเลือดไหลออกจากปากเข้าไปในเรือนเที่ยวคลาน ร้องไป.


    บุตรนายโคฆาตก์หนี

    สมัยนั้น บุตรของนายโคฆาตก์ยืนแลดูบิดาอยู่ในที่ใกล้. ลำดับนั้นมารดาพูดกะเขาว่า “ลูก” เจ้าจงดูบิดานี้เที่ยวคลานร้องไปในท่ามกลางเรือนเหมือนโค ความทุกข์นี้จักตกบนกระหม่อมของเจ้า เจ้าไม่ต้องห่วง แม้ซึ่งแม่ จงทำความสวัสดีแก่ตนหนีไปเถิด” บุตรนายโคฆาตก์นั้นถูกมรณภัยคุกคาม ไหว้มารดาแล้วหนีไป ก็แลครั้นหนีไปแล้ว ได้ไปยังนครตักกสิลา. แม้นายโคฆาตก์ก็เหมือนโค เที่ยวร้องไปในท่ามกลางเรือน ทำกาละแล้วเกิดในอเวจี. แม้โคก็ได้ทำกาละแล้ว. ฝ่ายบุตรของนายโคฆาตก์ก็ไปนครตักสิลา เรียนกางงานของนายช่างทอง. ลำดับนั้นอาจารย์ของเขา เมื่อจะไปบ้านสั่งไว้ว่า “เธอพึงทำเครื่องประดับชื่อเห็นปานนี้” แล้วหลีกไป. แม้เขามาเห็นเครื่องประดับแล้ว ดำริว่า “ชายผู้นี้ไปในที่ใดที่หนึ่ง เป็นผู้สามารถจะเลี้ยงชีพได้” จึงได้ให้ธิดาผู้เจริญวัยของตน (แก่เขา). เขาเจริญด้วยบุตรธิดาแล้ว.


    ลูกทำบุญให้พ่อ

    ลำดับนั้น บุตรทั้งหลายของเขาเจริญวัยแล้ว เรียนศิลปะ, ในกาลต่อมาไปพระนครสาวัตถี ดำรงฆราวาสอยู่ในพระนครนั้น ได้เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส. ฝ่ายบิดาของพวกเขาไม่ทำกุศลอะไรๆ เลยถึงความชราในนครตักกสิลาแล้ว. ลำดับนั้น พวกบุตรของเขาปรึกษากันว่า “บิดาของพวกเราแก่” แล้วให้เรียกมายังสำนักของตน พูดว่า “พวกฉันจะถวายทานเพื่อประโยชน์แก่บิดา” แล้วนิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. วันรุ่งขึ้น พวกเขานิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าประธานให้นั่งภายในเรือนแล้ว อังคาสโดยเคารพ, ในเวลาเสร็จภัตกิจ กราบทูลพระศาสดาว่า “พระเจ้าข้าพวกข้าพระองค์ ถวายภัตนี้ให้เป็นชีวภัต (ภัตเพื่อบุคคลผู้เป็นอยู่) เพื่อบิดา. ขอพระองค์จงทรงทำอนุโมทนา แก่บิดาของพวกข้าพระองค์เถิด”


    พระศาสดาทรงแสดงธรรม

    พระศาสดา ตรัสเรียกบิดาองพวกเขามาแล้ว ตรัสว่า “อุบาสกท่านเป็นคนแก่ มีสรีระแก่หง่อมเช่นกับใบไม้เหลือง, เสบียงทางคือกุศลเพื่อจะไปยังปรโลกของท่านยังไม่มี, ท่านจงทำที่พึ่งแก่ตน จงเป็นบัณฑิต อย่าพาล” ดังนี้แล้ว เมื่อทรงทำอนุโมทนา จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:-

    “บัดนี้ ท่านเป็นดุจใบไม้เหลือง, อนึ่ง บุรุษแห่งยายม (คือความตาย) ปรากฏแก่ท่านแล้ว. ท่านตั้งอยู่ใกล้ปากแห่งความเสื่อม, อนึ่ง แม้เสบียงทางของท่าน ก็ยังไม่มี. ท่านนั้น จงทำที่พึ่งแก่ตน, จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านกำจัดมลทินได้แล้วไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จักถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์”


    พวกบุตรถวายทานอีก

    บุตรเหล่านั้น ทูลนิมนต์พระศาสดา แม้ประโยชน์ในวันรุ่งขึ้น ถวายทานแล้ว ได้กราบทูลพระศาสดาผู้ทรงทำภัตกิจแล้ว ในเวลาทรงอนุโมทนาว่า “พระเจ้าข้า แม้ภัตนี้พวกข้าพระองค์ถวายให้เป็นชีวภัตเพื่อบิดาของปวงข้าพระองค์เหมือนกัน, ขอพระองค์จงทรงทำอนุโมทนาแก่บิดานี้นี่แล”

    พระศาสดา เมื่อจะทำอนุโมทนาแก่เขา ได้ตรัส ๒ พระคาถานี้ว่า :-

    ”บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว, เป็นผู้เตรียมพร้อมเพื่อจะไปสู่สำนักของพระยายม, อนึ่ง แม้ที่พักในระหว่างทางของท่านก็ยังไม่มี, อนึ่ง ถึงเสบียงทางของท่าน ก็หามีไม่, ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตน, จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต ท่านเป็นผู้มีมลทินอันกำจัดได้แล้ว ไม่มีกิเลส เพียงดังเนิน จักไม่เข้าถึงชาติชราอีก”

    รื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ

    เขมกะเป็นนักเลงเจ้าชู้ ถูกจับถึง ๓ ครั้ง

    ดังได้สดับมา นายเขมกะนั้นเป็นผู้มีรูปสวย. โดยมากหญิงทั้งหลายเห็นเขาแล้ว ถูกราคะครอบงำ ม่สามารถดำรงอยู่ตามภาวะของตนได้. แม้เขาก็ได้เป็นผู้ยินดียิ่งในปรทารกรรม เหมือนกัน

    ต่อมาในเวลากลางคืน พวกราชบุรุษจับเขานำไปแสดงแด่พระราชา. พระราชามิได้ตรัสอะไรกะเขา ด้วยดำริว่า “เราละอายต่อมหาเศรษฐี” แล้วรับสั่งให้ปล่อยไป. ฝ่ายนายเขมกะนั้น ก็มิได้งดเว้นเลย. ต่อมา (อีก ) พวกราชบุรุษก็จับเขาแล้วแสดงแด่พระราชาถึงครั้งที่ ๒ ที่ ๓. พระราชบุรุษก็รับสั่งปล่อยเช่นเคย. มหาเศรษฐีทราบเรื่องนั้นแล้ว พาเขาไปสำนักพระศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่นายเขมกะนี้”


    พระศาสดาทรงแสดงโทษแห่งปรทารกรรม

    พระศาสดาตรัสสังเวคกถาแก่เขาแล้ว เมื่อจะทรงแสดงโทษในการเสพภรรยาของคนอื่น ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

    “นระผู้ประมาทชอบเสพภรรยาของผู้อื่น ย่อมถึงฐานะ ๔ อย่างคือ : การได้สิ่งที่มิใช่บุญ เป็นที่ ๑ การนอนไม่ได้ตามความปรารถนา เป็นที่ ๒ การนินทา เป็นที่ ๓ นรก เป็นที่ ๔. การได้สิ่งมิใช่บุญอย่างหนึ่ง, คติลามกอย่างหนึ่ง, ความยินดีของบุรุษผู้กลัวกับด้วยหญิงผู้กลัว มีประมาณน้อยอย่างหนึ่ง, พระราชาย่อมลงอาชญาอันหนักอย่างหนึ่ง, เพราะฉะนั้น นระไม่ควรเสพภรรยาของคนอื่น”


    บุรพกรรมของนายเขมกะ

    ถามว่า “ก็บุรพกรรมของนายเขมกะนั้น เป็นอย่างไร ?”

    แก้ว่า “ดังได้สดับมาในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป เขาเป็นนักมวยที่เก่งที่สุด ยกธงทอง ๒ แผ่นขึ้นไว้ที่กาญจนสถูปของพระทศพลแล้ว หญิงที่เหลือเห็นเราแล้วจงกำหนัด” นี้เป็นบุรพกรรมของเขาด้วยประการฉะนี้. เพราะฉะนั้น หญิงคนเหล่าอื่น เห็นเขาในที่เขาเกิดแล้วจึงไม่สามารถเพื่อจะดำรงอยู่ตามภาวะของตนได้ดังนี้แล

    เรื่องสาวกเดียรถีย์

    พวกเดียรถีย์สอนบุตรไม่ให้ไหว้สมณะ

    ความพิสดารว่า สมัยหนึ่งพวกสาวกอัญญเดียรถีย์ เห็นพวกลูกๆ ของตนพร้อมทั้งบริวาร เล่นอยู่กับพวกลูกของพวกอุบาสกผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ ในเวลาลูกเหล่านั้นมาเรือนแล้ว จึงต่างให้กระทำปฏิญาณว่า “สมณะ พวกศากยบุตร พวกเจ้าไม่พึงไหว้, แม้วิหารของสมณะเหล่านั้น พวกเจ้าก็ไม่พึงเข้าไป” วันหนึ่ง ลูกของพวกอัญญเดีรถีย์เหล่านั้น กำลังเล่นอยู่ในที่ใกล้แห่งซุ้มประตูนอกพระเชตวันวิหาร มีความกระหายน้ำขึ้น ทีนั้น พวกเขาจึงส่งเด็กของอุบาสกคนหนึ่งไปสู่พระวิหาร สั่งว่า “เจ้าไปดื่มน้ำในพระวิหารนั้นแล้ว จงนำมาเพื่อพวกเราบ้าง” เด็กนั้นก็เข้าไปยังพระวิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลความข้อนั้น.


    บุตรพวกเดียรถีย์นับถือพระพุทธศาสนา

    ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเด็กนั้นว่า “เจ้าเท่านั้น ดื่มน้ำแล้วไป จงส่งแม้พวกเด็กนอกนี้มา เพื่อต้องการแก่การดื่มน้ำในที่นี้เทียว” เขาได้ทำอย่างนั้น. พวกเด็กเหล่านั้นมาดื่มน้ำแล้ว. พระศาสดารับสั่งให้หาเด็กเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสธรรมกถาที่สบายแก่เด็กเหล่านั้น ทรงทำเด็กเหล่านั้นให้มีศรัทธามั่นคงแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล เด็กเหล่านั้นไปสู่เรือนของตนๆ แล้ว แจ้งความนั้นแก่มารดาและบิดา ครั้งนั้นมารดาและบิดาของพวกเขา ถึงความโทมนัสปริเทวนาว่า “ลูกของพวกเรา เกิดเป็นคนมีทิฏฐิวิบัติเสียแล้ว” ครั้งนั้น คนที่สนิทสนมของพวกนั้นเป็นคนฉลาด มากล่าวธรรมแก่คนเหล่านั้น เพื่อต้องการแก่อันยังความโทมนัสให้สงบ

    มารดาและบิดาของพวกเด็กเหล่านั้น ฟังถ้อยคำของเหล่านั้นแล้วจึงกล่าวว่า “พวกเราจักมอบพวกเด็กๆ เหล่านี้แก่พระสมณโคดมเสียทีเดียว” ดังนี้แล้ว นำไปสู่พระวิหารพร้อมด้วยหมู่ญาติเป็นอันมาก


    ความเห็นเป็นเหตุให้สัตว์ไปทุคติและสุคติ

    พระศาสดาทรงตรวจดูอาสนะของคนเหล่านั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล้านี้ว่า :-

    “สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีความรู้ว่ามีโทษในธรรมที่หาโทษมิได้ มีปกติเห็นว่าหาโทษมิได้ในธรรมที่มีโทษ เป็นผู้ถือด้วยดีซึ่งมิจฉาทิฏฐิย่อมไปสู่ทุคติ. สัตว์ทั้งหลาย รู้ธรรมที่มีโทษ โดยธรรมมีโทษ รู้ธรรมที่หาโทษมิได้ โดยความเป็นธรรมหาโทษมิได้ เป็นผู้ถือด้วยดีซึ่งสัมมาทิฏฐิ ย่อมไปสู่สุคติ”

    เรื่องอังกุรเทพบุตร

    ทานที่เลือกให้พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ

    ข้าพเจ้าทำเรื่องให้พิสดารแล้วแล ในพระคาถาว่า “เย ฌานปปสุตา ธีรา” เป็นต้น. สมจริงดังคำที่ข้าพเจ้าปรารภอินทกเทพบุตรกล่าวไว้ในเรื่องนั้นดังนี้ว่า : “ได้ยินว่า อินทกเทพบุตรนั้นยังภิกษาทัพพีหนึ่ง ที่เขานำมาเพื่อตน ให้ถึงแล้วแก่พระอนุรุทธเถระผู้เข้าไปสู่ภายในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต บุญนั้นของอินทกเทพบุตรนั้น มีผลมากกว่าทานที่อังกุรเทพบุตร ทำระเบียบแห่งเตาประมาณ ๑๒ โยชน์ ถวายแล้วสิ้นหมื่นปี” เพราะเหตุนั้น อินทกเทพบุตร จึงกล่าวอย่างนั้น. เมื่ออินทกเทพบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาจึงตรัสว่า “อังกุระ” ชื่อว่าการเลือกให้ทานย่อมควร, ทาน (ของอินทกะ) นั้นเป็นของมีผลมาก ดังพืชที่หว่านดีแล้วในนาดี อย่างนี้, แต่ท่านไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทานของท่านจึงไม่มีผลมาก” เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า :-

    “บุคคลควรเลือกให้ทาน ในเขตที่ตนให้แล้ว จะมีผลมากเพราะการเลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว ทานที่ให้ในท่านผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ในชีวโลกนี้ เป็นของมีผลมากเหมือนพืชที่หว่านในนาดีฉะนั้น”

    เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป จึงได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

    “นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ, หมู่สัตว์นี้ก็มีราคะเป็นโทษ; ฉะนั้นแล ทานที่ให้ในท่านผู้ปราศจากราคะ จึงมีผลมาก, นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ, หมู่สัตว์นี้ก็มีโทสะเป็นโทษ, ฉะนั้นแล ทานที่ให้ในท่านผู้ปราศจากโทสะ จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ, หมู่สัตว์นี้ก็มีโมหะเป็นโทษ, ฉะนั้นแล ท่านที่ให้ในท่านผู้ปราศจากโมหะ จึงมีผลมาก. นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ, หมู่สัตว์นี้ก็มีความอยากเป็นโทษ; ฉะนั้นแล ทานที่ให้ในท่านผู้ปราศจากความอยาก จึงมีผลมาก.”

    เรื่องภิกษุฆ่าหงส์

    สองสหายออกบวช

    ดังได้สดับมา สหายสองคนชาวกรุงสาวัตถี ได้บรรพชาอุปสมบทใน (สำนัก) ภิกษุทั้งหลายแล้ว โดยมากเที่ยวไปด้วยกัน

    ในวันหนึ่งภิกษุสองรูปนั้นไปสู่แม่น้ำอจริวดี สรงน้ำแล้วผิงแดดอยู่ ได้ยืนพูดกันถึงสารณียกถา. ในขณะนั้น หงส์สองตัวบินมาโดยอากาศ


    ภิกษุรูปหนึ่งดีดตาหงส์ด้วยก้อนกรวด

    ขณะนั้น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งหยิบก้อนกรวดแล้วพูดว่า “ผมจักดีดตาของหงส์ตัวหนึ่ง” ภิกษุนอกนี้กล่าวว่า “ท่านจักไม่สามารถ”

    ภิกษุรูปที่หนึ่ง : ตาข้างนี้จงยกไว้, ผมจักยกไว้ดีดตาข้างโน้น.

    ภิกษุรูปที่สอง : แม้ตาข้างนี้ ท่านก็จักไม่สามารถ (ดีด) เหมือนกัน.

    ภิกษุรูปที่หนึ่ง : “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงคอยดู” แล้วหยิบกรวดก้อนที่สอง ดีดไปทางข้างหลังของหงส์. หงส์ได้ยินเสียงก้อนกรวดจึงเหลียวดู. ขณะนั้น เธอหยิบก้อนกรวดกลมอีกก้อนกนึ่ง แล้วดีดหงส์ตัวนั้นที่ตาข้างโน้น ให้ทะลุออกตาข้างนี้. หงส์ร้อง ม้วนตกลงแทบเท้าของภิกษุเหล่านั้นนั่นแล.


    ภิกษุทั้งหลายติเตียนแล้วทูลแด่พระศาสดา

    ภิกษุทั้งหลาย ยืนอยู่ในที่นั้นๆ เห็นแล้ว จึงกล่าวว่า “ผู้มีอายุเธอบวชในพระพุทธศาสนา ทำปาณาติบาต (นับว่า) ทำกรรมไม่สมควร” แล้วพาภิกษุทั้งสองรูปนั้นไปเฝ้าพระตถาคต.


    พระศาสดาประทานโอวาท

    พระศาสดาตรัสถามว่า “ภิกษุ ได้ยินว่า เธอทำปาณาติบาตจริงหรือ ?” เมื่อเธอกราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “ภิกษุเธอบวชในพระศาสนาที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ได้ทำแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุอะไร ? บัณฑิตในปางก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ อยู่ในท่ามกลางเรือน ทำความรังเกียจในฐานะแม้มีประมาณน้อย, ส่วนเธอบวชในพระพุทธศาสนาเห็นปานนี้หาได้ทำแม้มาตรว่าความรังเกียจไม่” อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า :-


    ศีล ๕ ชื่อกุรุธรรม

    “ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าธนญชัยเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครชื่ออินทปัตตะ ในแคว้นกุรุ, พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้วโดยลำดับ ทรงเรียนศิลปะทั้งหลายในเมืองตักกสิลาแล้ว อันพระบิดาทรงให้ดำรงในตำแหน่งอุปราช ในกาลต่อมา โดยกาลเป็นที่ล่วงไปแห่งพระบิดา ได้รับราชสมบัติแล้ว ไม่ทรงละเมิดราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ทรงประพฤติอยู่ในกุรุธรรมแล้ว. ศีล ๕ ชื่อว่ากุรุธรรม. พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีล ๕ นั้น ทำให้บริสุทธิ์. พระชนนี พระอัครมเหสี พระอนุชา อุปราช พราหมณ์ปุโรหิต อำมาตย์ผู้ถือเชือก นายสารถี เศรษฐี มหาอำมาตย์ผู้เป็นขุนคลัง คนรักษาประตู นางวรรณทาสี ผู้เป็นหญิงงามเมืองของพระโพธิสัตว์นั้น ย่อมรักษาศีล ๕ เหมือนพระโพธิสัตว์ ด้วยประการฉะนี้.


    แคว้นกาลิงคะเกิดฝนแล้ง

    เมื่อชนทั้ง ๑๑ คนนี้ รักษากุรุธรรมอยู่อย่างนั้น, เมื่อพระราชาทรงพระนามว่ากาลิงคะ เสวยราชสมบัติอยุ่ในพระนครทันตบุรี ในแคว้นกาลิงคะ ฝนมิได้ตกในแคว้นของพระองค์แล้ว. ก็ช้างมงคลชื่อว่าอัญชนาสภะของพระมหาสัตว์ เป็นสัตว์มีบุญมาก. ชาวแคว้นพากันกราบทูลด้วยสำคัญว่า “เมื่อนำช้างนั้นมาแล้ว ฝนจักตก”

    พระราชาทรงส่งพวกพราหมณ์ไป เพื่อต้องการนำช้างนั้นมา. พราหมณ์เหล่านั้นไปแล้ว ทูลขอช้างกะพระมหาสัตว์แล้ว. เพื่อจะทรงแสดงอาการขอนี้ของพราหมณ์เหล่านั้น พระศาสดาจึงตรัสชาดกในติกนิบาตรนี้เป็นต้นว่า :-

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายนทราบศรัทธาและศีลของพระองค์แล้ว ขอพระราชทานแลกทองด้วยช้าง ซึ่งมีสีดุจดอกอัญชัน ไปในแคว้นกาลิงคะ”

    ก็เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายนำช้างมาแล้ว, เมื่อฝนไม่ตก, ด้วยทรงสำคัญว่า “พระราชานั้นทรงรักษากุรุธรรม; เพราะฉะนั้น ฝนจึงตกในแคว้นของพระองค์” พระเจ้ากาลิงคะ จึงทรงส่งพวกพราหมณ์และอำมาตย์ไปอีก ด้วยพระดำรัสว่า “พวกท่านจงจารึกกุรุธรรมที่พระราชานั้นรักษาลงในแผ่นทองคำแล้วนำมา.” เมื่อพราหมณ์และอำมาตย์เหล่านั้นไปทูลขออยู่, ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด นับแต่พระราชาเป็นต้น กระทำอาการสักว่าความรังเกียจบางอย่างในศีลทั้งหลายของตนๆ แล้ว ห้ามว่า “ศีลของพวกเราไม่บริสุทธิ์” ถูกพราหมณ์และอำมาตย์เหล่านั้นอ้อนวอนหนักเข้าว่า “ความทำลายแห่งศีลหาได้มีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่” จึงได้บอกศีลทั้งหลายของตนๆ แล้ว.


    พระเจ้ากาลิงคะทรงรักษากุรุธรรมฝนจึงตก

    พระเจ้ากาลิงคะ ได้ทอดพระเนตรกุรุธรรมที่พวกพราหมณ์และอำมาตย์จารึกลงในแผ่นทองคำนำมา ทรงสมาทานบำเพ็ญให้บริบูรณ์ด้วยดี. ฝนจึงตกในแคว้นของพระองค์, แว่นแคว้นได้เกษมมีภิกษาหาได้โดยง่ายแล้ว.

    พระศาสดาครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า :-

    “หญิงแพศยาในครั้งนั้น ได้เป็นนางอุบลวรรณา, คนรักษาประตู ได้เป็นภิกษุชื่อว่าปุณณะ, อำมาตย์ผู้ถือเชือก ได้เป็นกัจจานภิกษุ, และอำมาตย์ผู้เป็นขุนคลัง ได้เป็นโกลิตะ, เศรษฐีในครั้งนั้นได้เป็นสารีบุตร, นายสารถี ได้เป็นอนุรุทธะ, พราหมณ์ได้เป็นกัสสปเถระ, อปราช ได้เป็นนั้นบัณฑิต, พระมเหสี ได้เป็นมารดาของราหุล, พระชนนี ได้เป็นพระนางมายาเทวี, พระเจ้ากุระ ได้เป็นพระโพธิสัตว์; พวกเธอจงจำชาดกไว้ด้วยอาการอย่างนี้”

    ดังนี้แล้ว ตรัสว่า “ภิกษุ บัณฑิตในครั้งก่อน เมื่อความรำคาญแม้มีประมาณน้อยเกิดขึ้นแล้ว, ทำศีลเภทของตนให้เป็นเครื่องรังเกียจแล้วอย่างนี้, ส่วนเธอ บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยเรา ยังปาณาติบาตอยู่ (นับว่า) ได้ทำกรรมอันหนักยิ่งนัก ; ธรรมดาภิกษุ ควรเป็นผู้สำรวมด้วยมือ เท้า และวาจา” ดังนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-

    “บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวบุคคลผู้มีมือสำรวมแล้ว มีเท้าสำรวมแล้ว มีวาจาสำรวมแล้ว ยินดีในธรรมอันเป็นไปภายใน มีจิตตั้งมั่นแล้ว เป็นคนโดดเดี่ยว สันโดษว่า เป็นภิกษุ.”

    เรื่องนายจุนทสูกริก

    นายจุนทะเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสุกรขาย

    ได้ยินว่า นายจุนทสูกริกนั้น ฆ่าสุกรทั้งหลายกินบ้าง ขายบ้างเลี้ยงชีวิตอยู่สิ้น ๕๕ ปี ในเวลาข้าวแพง เขาเอาเกวียนบรรทุกข้าวเปลือกไปสู่ชนบท แลกลูกสุกรบ้าน ด้วยข้าวเปลือกประมาณ ๑ ทะนานหรือ ๒ ทะนาน บรรทุกเต็มเกวียนแล้วกลับมา ล้อมที่แห่งหนึ่งดุจคอกข้างหลังที่อยู่แล้วปลูกผักในที่นั้นแล เพื่อลูกสุกรเหล่านั้น, เมื่อลูกสุกรเหล่านั้น กินกอผักต่างๆ บ้าง สรีรวลัญชะ (คูถ) บ้าง ก็เติบโตขึ้น (เขา) มีความประสงค์จะฆ่าตัวใดๆ ก็มัดตัวนั้นๆ ให้แน่น ณ ที่ฆ่าแล้ว ทุบด้วยค้อน ๔ เหลียม เพื่อให้เนื้อสุกรพองหนาขึ้น รู้ว่าเนื้อหนาขึ้นแล้ว ก็ง้างปากสอดไม้เข้าไปในระหว่างฟัน กรอกน้ำร้อนที่เดือดพล่าน เข้าไปในปากด้วยทะนานโลหะ. น้ำร้อนนั้น เข้าไปพล่านในท้อง ขับกรีสออกมาโดยส่วนเบื้องต่ำ (ทวารหนัก) กรีสน้อยหนึ่งยังมีอยู่เพียงใด ย่อมออกเป็นน้ำขุ่นเพียงนั้น เมื่อท้องสะอาดแล้ว, จึงออกเป็นน้ำใส ไม่ขุ่น, ทีนั้น เขาจึงราดน้ำที่เหลือบนหลังสุกรนั้น. น้ำนั้นลอกเอาหนังดำออกไป. แต่นั้นจึงลนขนด้วยคบหญ้าแล้ว ตัดศีรษะด้วยดาบอันคม. รองโลหิตที่ไหลออกด้วยภาชนะ เคล้าเนื้อด้วยโลหิตแล้วปิ้งนั่งรับประทานในท่ามกลางบุตรและภรรยา ขายส่วนที่เหลือ.

    เมื่อเขาเลี้ยงชีวิตโดยทำนองนี้นั่นแล, เวลาได้ล่วงไป ๕๕ ปี. เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในธุรวิหาร, การบูชาด้วยดอกไม้เพียงกำหนึ่งก็ดี การถวายภิกษาเพียงทัพพีหนึ่งก็ดี ชื่อว่าบุญอื่นน้อยหนึ่งก็ดี มิได้มีแล้วสักวันหนึ่ง.

    ครั้งนั้น โรคเกิดขึ้นในสรีระของเขา, ความเร่าร้อนอเวจีมหานรก ปรากฏแก่เขาทั้งเป็นทีเดียว.


    อเวจีนรกร้อนยิ่งกว่าไฟธรรมดา

    ขึ้นชื่อว่าความเร่าร้อนในอเวจี ย่อมเป็นความร้อนที่สามารถทำลายนัยน์ตาของผู้ยืนดูอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ได้. สมจริงดังคำที่พระภาคเจ้า ตรัสไว้ดังนี้แล้ว

    “ความเร่าร้อนในอเวจี แผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ.”

    และเพราะเหตุที่ความเร่าร้อนในอเวจีนั้น มีประมาณยิ่งกว่าความเร่าร้อนของไฟโดยปกติ พระนาคเสนเถระจึงกล่าวอุปมานี้ไว้ว่า “มหาบพิตร แม้หินประมาณเท่าเรือนยอด อันบุคคลทุ่มไปในไฟนรกย่อมถึงความย่อยยับได้โดยขณะเดียวฉันใด ส่วนสัตว์ที่เกิดในนรกนั้นเป็นประหนึ่งอยู่ในครรภ์มารดา จะย่อยยับไปเพราะกำลังแห่งกรรมเหมือนฉันนั้น หามิได้.


    นายจุนทะเสวยผลกรรมทันตาเห็น

    เมื่อความเร่าร้อนนั้น ปรากฏแก่นายจุนทสูกริกนั้นแล้ว อาการอันเหมาะสมด้วยก็เกิดขึ้น. เขาร้องเสียงเหมือนหมู คลานไปในท่ามกลางเรือนนั่นเอง, ไปสู่ที่ในทิศตะวันออกบ้าง สู่ที่ในทิศตะวันตกบ้าง

    ลำดับนั้น พวกคนในเรือนของเขา จับเขาไว้ให้มั่นแล้วปิดปาก. ธรรมดาผลแห่งกรรม อันใครๆ ไม่สามารถจะห้ามได้. เขาเที่ยวร้องไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง. คนใน ๗ หลังคาเรือนโดยรอบย่อมไม่ได้หลับนอน. อนึ่ง คนในเรือนทั้งหมด เมื่อไม่สามารถจะห้ามการออกไปภายนอกของเขาผู้ถูกมรณภัยคุกคามแล้วได้ จึงปิดประตูเรือนล้อมรักษาอยู่ภายนอกเรือน โดยประการที่เขาอยู่ภายในไม่สามารถจะเที่ยวไปข้างนอกได้.


    เสวยผลกรรมในสัมปรายภพ

    แม้นายจุนทสูกริก เที่ยวร้องไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ภายในเรือนนั่นเอง ด้วยความเร่าร้อนในนรก. เขาเที่ยวไปอย่างนั้นตลอด ๗ วัน, ในวันที่ ๘ ทำกาละแล้ว ไปเกิดในอเวจีมหานรก อเวจีมหานรก ปราชญ์พึงพรรณนาตามเทวทูตสูตร.


    พวกภิกษุเข้าใจว่าเขาฆ่าสุกรทำการมงคล

    พวกภิกษุเดินไปทางประตูเรือนของเขา ได้ยินเสียงนั้นแล้ว เป็นผู้มรความสำคัญว่า “เสียงสุกร” ไปสู่วิหาร นั่งในสำนักพระศาสดาแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อสุกรทั้งหลายอันนายจุนทสูกริก ปิดประตุเรือนฆ่าอยู่, วันนี้เป็นวันที่ ๗, มงคลกิริยาไรๆ ชะรอยจักมีเรือน (ของเขา), ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมตตาจิต หรือความกรุณาแม้อย่างหนึ่งของเขา ผู้ฆ่าสุกรทั้งหลายชื่อถึงเท่านี้ ย่อมไม่มี, ก็สัตว์ผู้ร้ายกาจหยาบช้าเช่นนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เคยเห็นเลย.”

    พระศาสดา ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เขาฆ่าสุกรตลอด ๗ วันนี้หามิได้. อันผลที่เหมาะสมด้วยกรรมเกิดขึ้นแล้วแก่เขา, ความเร่าร้อนในอเวจีมหานรกปรากฏแก่เขาทั้งเป็นทีเดียว, ด้วยความเร่าร้อนนั้นเขาร้องเหมือนหมูเที่ยวไปภายนิเวศน์อยู่ ตลอด ๗ วัน วันนี้ทำกาละแล้ว (ไป) เกิดในอเวจี.” เมื่อพวกภิกษุทราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เขาเศร้าโศกอย่างนี้ในโลกนี้แล้ว ยังจะไปเกิดในฐานะเป็นที่เศร้าโศกเช่นกันอีกหรือ?” ตรัสว่า “อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าผู้ประมาทแล้ว เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตามย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสองเป็นแท้” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

    “ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมเศร้าโศกในโลกที่สอง เขาเห็นกรรมเศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเศร้าโศก, เขาย่อมเดือดร้อน”

    </td> </tr> <tr> <td> </td> </tr> <tr> <td class="postdetails" height="40" valign="bottom">
    </td></tr></tbody></table>
     
  2. nirvana007

    nirvana007 สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มีนาคม 2006
    โพสต์:
    3
    ค่าพลัง:
    +1
    ขอบคุณมากครับที่ผมได้อ่านพระธรรมดีๆที่รวบรวมมาให้เสมอ...สาธุ
     
  3. marie

    marie สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    47
    ค่าพลัง:
    +16
    สาธุ สาธุ สาธุ
    อนุโมทนามิ ค่ะคุณ rinn ^^
    กราบสาธุการ หลวงปู่ดุลย์ ค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...