ติดสมาธิ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย อุรุเวลา, 2 กันยายน 2013.

  1. อุรุเวลา

    อุรุเวลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 ธันวาคม 2011
    โพสต์:
    3,464
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +8,002
    หลักปฏิปทาเครื่องดำเนินอันเป็นศูนย์กลางและเหมาะสมอย่างยิ่ง คือ ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ นี่เป็นเครื่องดำเนินสำหรับพระผู้เห็นภัย เพื่อจะหลุดพ้นจากภัยให้ถึงแดนเกษม คือพระนิพพาน ส่วนประกอบภายในจิต อารมณ์ของจิต เครื่องดำเนินของจิต ได้แก่กรรมฐาน ๔๐ ห้องดังที่ท่านแสดงไว้ จะเป็นบทใดก็ตามในกรรมฐาน ๔๐ ห้องนั้น ที่เห็นว่าเหมาะสมกับจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติเป็นราย ๆ ไป ย่อมยึดเอาธรรมบทนั้น ๆ ที่ตนชอบเข้ามากำกับใจ ที่เรียกว่าบริกรรมภาวนา ดังอนุสสติ ๑๐ นี้มี พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น อยู่ในอนุสสติ ๑๐ นี้ เราจะเอาบทใด หรืออานาปานสติ

    ธรรมเหล่านั้นบทใดเหมาะสมกับจริตนิสัยของผู้บำเพ็ญรายใด พึงนำธรรมบทนั้นเข้ามากำกับใจ ให้เป็นบริกรรมภาวนา หรือกำหนดรู้ เช่น ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบริกรรมหรือบริกรรมก็ได้ ตามแต่ความถนัดใจ ถ้าไม่บริกรรมก็ให้รู้ลมเข้าลมออก ลมสัมผัสที่ตรงไหนมาก พึงตั้งสติลงที่จุดนั้น เช่น ดั้งจมูกเป็นต้น เป็นที่ผ่านเข้าออกของลมอย่างเด่นชัด รู้ได้ชัด สัมผัสมากกว่าที่อื่น ๆ ก็กำหนดที่ตรงนั้นไว้

    ให้ความรู้คือใจนั้นอยู่กับความสัมผัสของลมผ่านเข้าผ่านออก โดยไม่ต้องตามลมเข้าไปและตามลมออกมาในขั้นเริ่มแรก จะเป็นการฟั่นเฝือมากไป หรือเพิ่มภาระให้จิตมากไป จึงต้องให้กำหนดรู้อยู่เพียงลมเข้าลมออกเท่านั้น ไม่ให้จิตส่งไปสู่สถานที่อื่นใดอารมณ์ใด นอกจากลมเข้าลมออกที่ตนกำหนดอยู่นั้นเท่านั้น เราจะบริกรรมธรรมบทใดก็ตาม ให้พึงทำความรู้สึกอยู่กับธรรมบทนั้น ๆ เท่านั้น ประหนึ่งว่าโลกนี้ไม่มีอันใดในเวลานั้น มีเฉพาะคำบริกรรม กับความรู้ที่สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่นี้เท่านั้น ท่านเรียกว่าภาวนาที่ถูกต้องเหมาะสม

    ในธรรมที่กล่าวมา ๔๐ ห้องนี้ เป็นธรรมที่เหมาะสมกับผู้ประพฤติปฏิบัติ จะยึดเอาบทใดก็ตาม เมื่อเห็นถูกกับจริตนิสัย จึงเรียกว่าเป็นธรรมกลาง ๆ เป็นปฏิปทาที่ราบรื่นดีงาม บรรดาพระสาวกอรหันต์ทั้งหลายท่านผ่านไปด้วยธรรมเหล่านี้แล ในขั้นเริ่มแรกเป็นเช่นนั้น นี่เราหมายถึงเริ่มแรกแห่งการภาวนา ต้องมีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นเครื่องเกาะเครื่องยึด เครื่องกำกับของใจ ไม่เช่นนั้นใจจะหาที่เกาะที่ยึดไม่ได้ ไขว้เขวไปหมดและไม่ได้ผลอันใด

    ท่านจึงสอนกรรมฐานไว้ในตัวของเรานี้ ก็มีกรรมฐาน ๕ ที่อุปัชฌาย์มอบให้ตั้งแต่วันอุปสมบท คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เราจะนำคำเหล่านี้คำใดคำหนึ่งบทใดบทหนึ่ง บริกรรมเช่นเดียวกับธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาสักครู่นี้ก็ได้ไม่มีอะไรขัดข้อง เพราะเป็นธรรมเป็นกรรมฐานด้วยกัน นี่เป็นธรรมฝึกหัดเบื้องต้น ต้องมีบทธรรมเป็นเครื่องยึด ไม่ใช่จะกำหนดรู้เฉย ๆ ดังที่จิตท่านมีหลักมีเกณฑ์แล้ว เช่น จิตท่านผู้มีสมาธิเป็นพื้นฐานอยู่แล้วนั้น ท่านจะบริกรรมหรือไม่บริกรรม หากเป็นการเห็นควรของท่านเองสำหรับผู้มีหลักใจแล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่มีหลักใจ ต้องยึดหลักธรรมนี้ไว้กับใจเป็นเครื่องยึดเป็นคำบริกรรม จึงเหมาะสม ไม่เช่นนั้นไม่ได้เรื่อง

    ผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงกำหนดธรรมเหล่านี้ ให้เลือกเอาธรรมเหล่านี้ที่เห็นว่าเหมาะกับจริตนิสัยของตนมาปฏิบัติต่อตนเองในขั้นเริ่มแรก จนจิตเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา คือความแน่นหนามั่นคงภายในใจ หากรู้เอง เมื่อจิตสงบลงไป ๆ หลายครั้งหลายหน จิตจะสร้างฐานแห่งความมั่นคงขึ้นภายในตัวเอง ความสงบเป็นครั้งเป็นคราวแล้วถอนขึ้นมานี้ ท่านเรียกว่าจิตรวมหรือจิตสงบ เมื่อจิตมีการสงบเข้าไปและถอนออกมา สงบตัวเข้าไปแล้วขยายตัวออกมา อย่างนี้ท่านเรียกว่าจิตสงบ

    เมื่อจิตสงบหลายครั้งหลายหน ในแต่ละครั้งละหนของจิตที่สงบนั้น ย่อมสร้างฐานแห่งความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในตัวเองโดยลำดับลำดา เมื่อนานเข้าก็กลายเป็นสมาธิขึ้นมา คือเป็นจิตที่มั่นคง เป็นจิตที่แน่นหนา กำหนดดูเมื่อไรก็รู้ได้ชัดว่านี้คือจุดแห่งความรู้ นี้คือจุดแห่งจิตอันเป็นความสงบประจำตัว นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ

    ไม่ใช่รวมลงไปแล้วเป็นสมาธิ ๆ เราจะเรียกว่าสมาธิในขณะที่จิตรวมก็ได้ แต่ที่ให้แน่ที่สุดก็คือ จิตรวมตัวเข้าไปหลายครั้งหลายหน จนถึงกับสร้างฐานของตนให้เกิดความมั่นคงขึ้นมา แม้จะคิดอ่านไตร่ตรองอะไรได้อยู่ก็ตาม แต่ฐานของจิตที่แน่นหนามั่นคงนั้นไม่ละตัวเอง นั่นจะเป็นความที่เหมาะสมอย่างยิ่งในคำว่าจิตเป็นสมาธิ เพราะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ในวงผู้ปฏิบัติจะทราบได้ชัดไม่ต้องไปถามใครเลย

    ขอแต่จิตได้สงบเข้าไปดังที่กล่าวนี้เถอะ เมื่อสงบเข้าไป ๆ ถอนออกมา สงบเข้าไปหลายครั้งหลายหนหลายวันหลายคืนเข้าไป หากเป็นความแน่นหนามั่นคงขึ้นภายในจิตเอง นั่นท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว

    จิตเป็นสมาธิย่อมมีความเย็น ย่อมมีความสงบตัว ไม่หิวโหยในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะอารมณ์ทางใด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เฉพาะอย่างยิ่งกามารมณ์เป็นสำคัญสำหรับนักบวช อันนี้เป็นข้าศึกมากภายในจิตใจ และชอบคิดมาก คิดได้อย่างรวดเร็วแต่หักห้ามได้ยาก เหล่านี้เมื่อจิตมีสมาธิคือความสงบแล้วสิ่งเหล่านี้ย่อมสงบตัวไป แต่ไม่ใช่ขาด ไม่ใช่ละขาด เป็นเพียงความสงบของจิต คือจิตอิ่มตัวในขั้นนี้ ท่านจึงสอนให้ใช้การพิจารณาคือปัญญา

    ปัญญานั้นหมายถึงการถอดการถอน การคลี่คลายดูสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วถอนไปโดยลำดับลำดา ตั้งแต่กิเลสขั้นหยาบ ๆ จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดสุด หลุดพ้น ท่านเรียกว่าปัญญาทั้งนั้น แต่เป็นขั้น ๆ ของปัญญา สมาธิเป็นเพียงทำจิตให้สงบเพื่อจะได้พิจารณาง่ายลงไป ผิดกับการพิจารณาทั้งที่จิตหาพื้นฐานแห่งความสงบไม่ได้อยู่เป็นอันมาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้บำเพ็ญทางสมาธิ ท่านเรียกว่าสมาธิอบรมปัญญา

    ดังที่กล่าวไว้ในอนุศาสน์ สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา ให้พิจารณาสิ่งทั้งหลายรู้ได้แจ่มแจ้งชัดเจนโดยลำดับลำดา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ ปัญญาเมื่อสมาธิได้อบรมแล้วย่อมมีความคล่องตัว คือได้รับการอบรม ได้รับความหนุนมาจากสมาธิแล้ว ย่อมมีความคล่องตัวในการพิจารณาแยกแยะอารมณ์ต่าง ๆ จนถึงกับตัดขาดได้ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นั่นท่านว่า สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ คือหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ นี่หลักธรรมที่ท่านแสดงเป็นพื้นเป็นฐานอันตายตัวไว้เป็นจุดศูนย์กลางโดยแท้จริง

    ท่านจึงสอนให้อบรมสมาธิเพื่อเป็นบาทเป็นฐาน เพื่อจิตได้มีความสงบตัว มีความอิ่มตัวในอารมณ์ทั้งหลาย อยู่ด้วยความสงบเย็นใจ เมื่อจิตมีความสงบเย็นใจแล้ว ย่อมพาพิจารณาอะไรเป็นการเป็นงานได้ดีกว่า การใช้ให้จิตพิจารณาทั้งที่จิตหาความเป็นสมาธิไม่ได้ และกำลังหิวโหยในอารมณ์เป็นไหน ๆ

    การพิจารณาจิตที่ไม่เคยมีความสงบเลยให้เป็นปัญญา มักจะเป็นสัญญาเถลไถลออกนอกลู่นอกทางอยู่เสมอ ๆ ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวอะไร จนถึงกับว่าไม่ได้เรื่อง ท่านจึงสอนสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้ผลในการพิจารณาทางด้านปัญญา เมื่อสมาธิมีอยู่ภายในจิตใจแล้ว ใจไม่หิวโหย ใจไม่รวนเร ใจไม่กระวนกระวาย ย่อมทำหน้าที่การงานของตนไปโดยลำดับลำดาตามสติที่บังคับให้ทำ จนถึงกับได้ปรากฏผลขึ้นมาเป็นปัญญาโดยลำดับลำดา จนถึงขั้นปัญญาที่เห็นเหตุเห็นผลแล้ว และหมุนตัวไปเองโดยไม่ต้องถูกบังคับเหมือนตั้งแต่ก่อนที่เคยบังคับกันนั่นเลย นี่เป็นอย่างนี้

    ในเบื้องต้นจึงต้องอาศัยคำบริกรรมเป็นพื้นฐานก่อน นี่เป็นหลักตายตัว เป็นหลักศูนย์กลางแห่งการปฏิบัติของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย ไม่ควรจะละไม่ควรจะปล่อยวางคำบริกรรมซึ่งเป็นเครื่องยึดของจิตในขั้นเริ่มแรก เพื่อหาหลักฐานใส่ตัวเอง จึงจำต้องใช้บทบริกรรมนี้เป็นฐานสำคัญมากอยู่เสมอ

    จนกว่าจิตนี้ได้เริ่มเป็นสมาธิขึ้นมา ถึงกับเป็นสมาธิแล้ว คำบริกรรมเหล่านั้นซึ่งเคยนำมาบริกรรมเป็นประจำนั้น ก็ย่อมจะปล่อยวางกันได้ ด้วยความเข้าใจตัวเองว่าสมควรจะปล่อยวางหรือไม่ นั้นเป็นสิ่งที่จะทราบด้วยสมาธิของตัวเอง ด้วยหลักของความรู้คือความเด่นชัดแห่งจุดของผู้รู้ของตัวเอง แล้วจะไม่บริกรรมก็ได้ โดยกำหนดเอาความรู้นั้นเป็นฐานทีเดียว อยู่กับความรู้นั้น เมื่อจะกำหนดให้ความรู้นั้นมีความสงบลงไป ก็กำหนดลงได้อย่างง่ายดาย ทีนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย

    ที่นี่คำว่าคำบริกรรมในกรรมฐาน ๔๐ ห้องนี้ หลักใหญ่ก็เป็นการบำเพ็ญในเบื้องต้น ผู้บำเพ็ญในขั้นเริ่มแรกจำต้องได้ยึดธรรมเหล่านี้ไว้เป็นหลักเกณฑ์ของใจ จนกว่าใจจะได้หลักได้เกณฑ์ แล้วค่อยแผ่กระจายออกไปในงานทั้งหลาย ทีนี้หาความเป็นประมาณไม่ได้ เมื่อจิตได้เป็นสมาธิแล้วฝึกหัดทางด้านปัญญา ปัญญาจะตีแผ่ออกไปโดยลำดับลำดา คำบริกรรมนั้นจะหายไปโดยหลักธรรมชาติของผู้บำเพ็ญนั่นแล

    เพราะฉะนั้นผู้บำเพ็ญถึงขั้นสมาธิอย่างแน่วแน่และขั้นปัญญาแล้ว ในคำบริกรรมทั้งหลายจึงหายไปโดยหลักธรรมชาติแห่งการปฏิบัติของตัวเอง คือค่อยหายไปเอง เช่นเดียวกับเราขึ้นบันได ก้าวขึ้นไปขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๑ ก็หมดความจำเป็นไป ก้าวผ่านไป ๆ จนถึงวาระสุดท้าย ก้าวขึ้นถึงบนบ้าน นี่คำบริกรรมก็ค่อยเปลี่ยนตัวเองไปเช่นนั้น จนถึงขั้นปัญญาแล้วไม่ต้องบอกที่นี่ หากรู้ในตัวเองวิธีทำการทำงาน

    เหมือนโลกเขาทำงาน ผู้ใหญ่ทำงานเข้าใจในงาน ทำไปได้กว้างขวางมากมายผิดกับเด็กเป็นไหน ๆ นี่การทำงานของสมาธิที่มีหลักมีเกณฑ์แล้ว กับการทำงานทางด้านปัญญาก็เป็นเช่นเดียวกัน มีความขยายตัวออกไปโดยลำดับลำดาจนหาประมาณไม่ได้ แต่ผู้ปฏิบัติหรือผู้ดำเนินสมาธิดำเนินปัญญานั้นจะรู้ตัวเอง โดยไม่ต้องไปถามใครว่าควรจะปล่อยคำบริกรรมมากน้อยเพียงไร หรือไม่ปล่อย เป็นยังไง ในเวลาใดขณะใด หากทราบเองในผู้ปฏิบัตินั้น ขอให้ทุก ๆ ท่านยึดไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติภาวนา

    หลักใหญ่ให้จิตสงบได้นั้นแหละเป็นของดี เพียงจิตสงบเท่านั้นก็ตัดความกังวลวุ่นวาย ซึ่งเคยประจำจิตเสียดแทงจิตออกได้โดยลำดับลำดา จนถึงกับเป็นขั้นสบาย เพราะฉะนั้นผู้ภาวนาเมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จึงมักขี้เกียจในการพิจารณาธรรมทั้งหลายด้วยปัญญา นอนจมอยู่กับสมาธินั้นเสียไม่ออกพินิจพิจารณา สุดท้ายก็เข้าใจว่าความรู้ที่แน่วแน่แห่งความเป็นสมาธิของตนนั้น จะเป็นมรรคผลนิพพานไปเลย ในข้อนี้ผมเคยเป็นแล้ว จึงได้นำมาอธิบายให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ว่าสมาธิต้องเป็นสมาธิ ปัญญาต้องเป็นปัญญา เป็นคนละสัดเป็นคนละส่วน เป็นคนละอันจริง ๆ ไม่ใช่อันเดียวกัน หากเป็นอยู่ในจิตอันเดียวกันนั่นแล เป็นแต่เพียงไม่เหมือนกัน

    จิตที่เป็นสมาธิก็เต็มภูมิได้เหมือนกัน เมื่อถึงขั้นเต็มภูมิแล้วจะทำอย่างไรก็ไม่เกินนั้น ไม่เลยนั้นไปอีก ถึงขั้นสมาธิที่เต็มภูมิแล้วก็มีแต่ความแน่วแน่ของจิต ความละเอียดของจิตที่รู้อย่างแน่วแน่เท่านั้น จะให้มีความละเอียดแหลมคมหรือแยบคายต่าง ๆ แผ่กระจายออกไปฆ่ากิเลสตัณหาอาสวะประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในใจนั้นไม่ได้ เพราะไม่เห็นเพราะไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้พิจารณาทางด้านปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องแยบคายยิ่งกว่าสมาธิอยู่มากมายจนหาประมาณไม่ได้ นี่ละปัญญาจึงเป็นปัญญา

    ผู้ที่เป็นสมาธิถ้าไม่ออกพิจารณาทางด้านปัญญา จะเป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นตลอดไปจนกระทั่งวันตายก็หาเป็นนิพพานได้ไม่ หาเป็นปัญญาได้ไม่ ต้องเป็นสมาธิอยู่ตลอดไป นี่ละท่านจึงสอนให้ออกพิจารณาทางด้านปัญญา มีความจำเป็นอย่างนี้ ให้ทุก ๆ ท่านจำไว้ให้แม่นยำ นี่สอนด้วยความแม่นยำด้วย สอนด้วยความแน่ใจของเจ้าของ เพราะได้ผ่านมาแล้วอย่างนี้ ติดสมาธิก็เคยติดแล้ว

    ผมเคยได้พูดให้หมู่เพื่อนฟังมานานแสนนานหลายครั้งหลายหน จนนับไม่ได้นั้นแหละ ว่าได้ติดสมาธินี้มาเสียอย่างจำเจ หรือติดสมาธิมาเสียจนจมพูดง่าย ๆ จนเป็นความขี้เกียจ จนเกิดความสำคัญว่าสมาธินี้แลจะเป็นนิพพาน สมาธินี้แลจะเป็นธรรมชาติที่สิ้นกิเลส จะสิ้นอยู่ตรงนี้ ตรงที่รู้ ๆ นี่ละ ไม่มีที่อื่นใดเป็นที่สิ้นกิเลส นั่นเหมาเอาเสียทั้งหมด ความจริงความรู้อันนั้นมันกลมกลืนกับอะไรอยู่ เพียงขั้นของสมาธิ ความรู้ในขั้นสมาธิ จะไปสามารถรู้กิเลสให้เหนือสมาธิไปได้อย่างไร เพราะกิเลสที่ละเอียดเหนือสมาธิมีอีกมากมายยิ่งกว่าที่ความรู้ในขั้นสมาธิจะรู้ได้เป็นไหน ๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้แยกทางด้านปัญญา เมื่อจิตมีความสงบ จะสงบขั้นใดก็ตามย่อมเป็นบาทเป็นฐาน เป็นเครื่องหนุนปัญญาตามขั้นของตนได้ ให้พิจารณา แต่ไม่ใช่พิจารณาในขณะที่จิตสงบ ต่างวาระกัน เมื่อจิตถอยออกจากความสงบแล้วให้ใช้ปัญญาพิจารณา การใช้ปัญญาพิจารณาก็หมายถึงขันธ์ห้านี้แหละ เป็นสถานที่ที่คลี่คลายพินิจพิจารณา เพราะนี้เป็นสิ่งที่เราติดก่อนสิ่งใดภายนอก ติดอันนี้ก่อน ติดขันธ์ห้า คืออะไร รูปเป็นสำคัญ รูปกาย กายของเรามีอะไรบ้าง นี่เรียกว่าคลี่คลายแล้วที่นี่นะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อันใดที่เหมาะกับการพิจารณาของเราเราจับจุดนั้นก่อน ธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ให้ดูทั้งที่เกิดทั้งที่อยู่ของมัน ทั้งความแปรสภาพของมัน เป็นอย่างไรบ้าง แต่ละชิ้นละอันนี้มันเดินทางสายเดียวกันด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไม่ปลีกไม่แวะ ไปทางสายเดียวกัน และมีส่วนที่เป็นอสุภะอสุภังอีกมากมายในบางส่วนของร่างกายเหล่านี้ เป็นอย่างไรบ้างพิจารณา นี่ท่านเรียกว่าปัญญา

    แยกแยะดูจะดูภายนอกก็ได้ภายในก็ได้ เป็นมรรคได้ทั้งสองทาง คือทั้งภายนอกทั้งภายใน เมื่อพิจารณาให้เป็นมรรค คือพิจารณาโดยทางปัญญาเพื่อการถอดการถอน เป็นมรรคได้ทั้งภายนอกภายใน ถ้าเรารู้เราเห็นเราสำคัญมั่นหมายเพื่อความผูกมัดตัวเอง นั้นก็เป็นสมุทัยได้ทั้งภายนอกภายใน นี่จะอธิบายให้ฟังเพียงราง ๆ ก่อน ไม่ได้พูดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะยังมีแง่ที่จะพูดอีกมากมายในวงแห่งปัญญาในขันธ์ห้าเหล่านี้

    เราดูไปตั้งแต่หนังแต่เนื้อ เอ็น กระดูก เอา ดูเข้าไปภายในมันมีอะไรบ้าง นี่คือปัญญา คลี่คลายดูให้เห็นชัดเจน แต่เวลาพิจารณานั้น เราอย่าเอาความที่ว่าอยากรู้อยากเห็น อยากให้เป็นอย่างใจโดยถ่ายเดียวเข้าไปทำลายความจริง ความจริงนั้นเป็นความจริงอยู่แล้ว ให้พิจารณาสอดส่องดูตามความจริงนั้น แล้วจะเห็นความจริงขึ้นมา เมื่อพิจารณาซ้ำ ๆ ซาก ๆ ดูหลายครั้งหลายหนเราจะเห็นความจริงขึ้นมา เช่น อนิจฺจํ ก็จริงอันหนึ่ง ทุกฺขํ จริงอันหนึ่ง อนตฺตา จริงอันหนึ่ง อสุภะอสุภังแต่ละอย่าง ๆ จริงไปตามหลักธรรมชาติของตัวเอง นี่มันจริงอย่างนี้ เมื่อจริงเข้าถึงใจแล้ว ใจย่อมมีความคลายตัวเองออกไปโดยลำดับ จากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ นี่ท่านเรียกว่าพิจารณาทางด้านปัญญา

    แล้วพิจารณาภายนอกก็ให้เป็นอย่างนั้น ได้ยินสิ่งใดเมื่อจิตที่ควรจะเป็นปัญญาได้แล้ว พอได้ยินก็จะแปรสภาพเป็นปัญญาขึ้นมา ได้เห็นก็จะแปรสภาพเป็นปัญญาขึ้นมา ในขณะที่ได้เห็นได้ยินได้ฟัง สัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ จะเป็นเรื่องปัญญาขึ้นมา ๆ เช่นเดียวกับมันเคยสร้างเรื่องกิเลสขึ้นมาในขณะที่ได้เห็นได้ยินได้ฟังแต่ก่อนนั้นแล ไม่ผิดกันอะไรเลย เมื่อถึงขั้นปัญญาจะทราบจะรู้เป็นอย่างนั้น นี่ละวิธีการดำเนิน ให้ยึดหลักที่กล่าวมานี้เป็นทางดำเนิน อย่าหาเรื่องหาราวใส่ตัว แฝง ๆ เรื่องนั้น แฝง ๆ เรื่องนี้ไป ไม่ถูก หลักใหญ่อยู่ตรงนี้ละให้ยึดเอา

    ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ดี หรือนับตั้งแต่พระสาวกทั้งหลายลงมาก็ดี ท่านหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งกรรมฐาน ๔๐ นี้ทั้งนั้นแหละ กรรมฐาน ๔๐ นี้แลเป็นธรรมที่สร้างจิตท่านให้มีความสงบร่มเย็น ต่อจากนั้นไปก็สร้างทางด้านปัญญาให้รู้แจ้งแทงทะลุไป ไม่พ้นจากกรรมฐานที่กล่าวมาเหล่านี้เลย เพราะกรรมฐาน ๔๐ นี้ไม่ใช่จะเป็นอารมณ์แห่งสมถะอย่างเดียว ยังเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ด้วย เมื่อจิตควรแก่วิปัสสนาแล้ว จะเป็นวิปัสสนาไปได้โดยไม่ต้องสงสัย

    ในขณะที่จิตยังไม่เป็นปัญญา จิตยังไม่เป็นวิปัสสนา ก็เอาธรรมเหล่านี้แลมาอบรมจิตใจด้วยความเป็นสมถะ คือเพื่อความเป็นสมถะ ได้แก่ความสงบของใจ พอจิตก้าวเข้าสู่ปัญญาแล้ว ธรรมที่เคยเป็นอารมณ์แห่งสมถะนี้แล จะแปรสภาพเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาไปได้โดยไม่ต้องสงสัย นี่ละหลักใหญ่อยู่ตรงนี้

    เมื่อการพิจารณาทางด้านปัญญาเกี่ยวกับขันธ์นอกขันธ์ใน พิจารณาอยู่โดยสม่ำเสมอดังที่กล่าวนี้ ความรู้แจ้งภายในจิตใจจะปรากฏขึ้นโดยลำดับลำดา โดยไม่มีใครบอกไม่มีใครสอน สิ่งไม่เคยรู้จะรู้ขึ้นมา สิ่งที่ไม่เคยละก็จะละ สิ่งที่เคยติดแนบภายในจิตใจของเรา จนไม่คาดไม่ฝันว่าจะแก้จะแยกจะแยะจะตัดกันออกได้ให้ขาด ก็เป็นขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนภายในใจ ด้วยอำนาจของปัญญานั่นแล

    เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นธรรมชาติที่แหลมคมมากกว่าสมาธิเป็นไหน ๆ ถ้าเรายังไม่เคยก้าวทางด้านปัญญามีแต่เพียงสมาธิ ก็จะเห็นว่าสมาธินี้เป็นความละเอียดมาก เพราะจิตที่เป็นสมาธิเต็มภูมิ ต้องสร้างความละเอียดให้ผู้ยังไม่เคยรู้เคยเห็นทางด้านปัญญาว่า ตัวนี้เป็นผู้ละเอียดแหลมคมมาก ละเอียดมากได้จริง ๆ โดยไม่ต้องสงสัย

    แต่พอก้าวออกทางด้านปัญญาแล้วจะเห็นสมาธินี้..เหมือนกับเราเดินทางไปเจอตะกั่ว ทีแรกก็ว่าเป็นของดี พอไปเจอเงินเข้าก็ทิ้งตะกั่ว พอไปเจอทองเข้าก็ทิ้งเงินแบบนั้นแหละ เรื่องเราผ่านสมาธิเป็นขั้น ๆ ขึ้นไปหาปัญญาเป็นขั้น ๆ จนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้น เป็นเช่นเดียวกันกับเราปล่อยวางสิ่งนั้น ๆ ก้าวผ่านไปโดยลำดับลำดานั้นเอง ดังที่กล่าวมานี้ไม่ผิด หากเป็นไปในหลักธรรมชาติของจิตนั่นละ ความละเอียดของปัญญาเป็นเช่นนั้น

    ที่นี่ธรรมชาติอันหนึ่งที่มันแทรก ที่เหมือนกับว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตนั้น มันอยู่ที่จิต เพียงสมาธิจะไม่มีโอกาสไม่มีทางทราบได้เลย จะกลืนกันทั้งเนื้อทั้งกระดูกทั้งก้างนั้นแหละถ้าเป็นอาหารก็ดี แล้วก็จะติดคอตายอยู่นั้นไม่ไปถึงไหน ถ้าไม่ใช้ความพินิจพิจารณาคลี่คลายออกโดยทางปัญญาแล้ว เราจะไม่ทราบความละเอียดของกิเลสประเภทที่ฝังจมอยู่ภายในจิตใจ แล้วก็แผ่พังพานออกไปทางรูป ทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แผ่พังพานออกไปนู้น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ทั่วแดนโลกธาตุ ไปเที่ยวยึดได้หมด ออกจากธรรมชาติที่ละเอียดที่สุดของกิเลสประเภทหนึ่งภายในจิตใจนั่นแล นี่ละมันสร้างเรื่องราวขึ้นมาภายในตัว แล้วแผ่อำนาจสาดกระจายไปทั่วโลกธาตุทั้งสาม

    กามโลก รูปโลก อรูปโลก ถ้าไม่ใช่จิตดวงนี้ไปเกิดดวงไหนจะไปเกิด อะไรจะไปเกิด สิ่งที่ละเอียดที่สุดพวกพรหมโลกเหล่านี้ก็เหมือนกัน อะไรจะไปเกิด มีแต่จิตทั้งนั้นไปเกิด เพราะธรรมชาติที่แฝงอยู่ภายในจิตนั้นผลักดันให้เป็นไปเอง ให้ไปเกิด นี่ละปัญญาเมื่อสร้างเข้าไป มันเห็นเข้าไปอย่างนี้เอง เห็นชัดเข้าไป ๆ ไม่ต้องไปถามใคร นั่นละผู้ปฏิบัติไม่อัศจรรย์พระพุทธเจ้าจะอัศจรรย์ใคร สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าสอนแล้วทั้งนั้น

    เมื่อปัญญาหยั่งเข้าไป ๆ แล้ว จะเห็นความละเอียดของทั้งกิเลสของทั้งปัญญาไปพร้อม ๆ กัน เมื่อได้เห็นชัดทั้งสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งตัวผู้ยึดมั่นถือมั่นแล้วว่าเป็นภัยด้วยกัน ทำไมจะไม่ถอดไม่ถอน ทำไมจะไม่สลัดปัดทิ้งลงได้เล่า ต้องปัดทิ้งได้โดยไม่ต้องสงสัย ปัญญานี้แหละพาให้สลัดปัดทิ้งได้ เพราะเห็นด้วยปัญญา ท่านกล่าวไว้เป็นบทบาลีว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ความสว่างกระจ่างแจ้งเสมอด้วยปัญญาไม่มี จะสว่างกระจ่างแจ้งที่ไหนเล่าปัญญา ต้องสว่างกระจ่างแจ้งลงในจุดที่มืดที่ดำ ที่เคยเกิดเคยตายนั้นแหละ ได้แก่ดวงใจของตัวเอง นี่มันมืดที่ตรงนี้ไม่ใช่มืดที่ไหน มันหลงที่ตรงนี้ไม่หลงที่ไหน ตัวนี้พาให้เกิด ตัวนี้พาให้ตาย

    ภพใดแดนใดก็ตามไม่พ้นจากจิตดวงนี้แล เป็นผู้พาให้ไปเกิดแก่เจ็บตาย อยู่ในทุกแห่งทุกหน ในภพน้อยภพใหญ่ภพนั้นภพนี้ไม่มีสิ้นสุด ก็เพราะธรรมชาติที่ละเอียดแหลมคมมากกลมกลืนกันอยู่กับจิตดวงนั้น นั่น ทีนี้เมื่อปัญญาได้หยั่งทราบลงไปโดยลำดับลำดาตั้งแต่เบญจขันธ์นี้เป็นของสำคัญ เอาส่วนหยาบนี้ก่อน มันหากเป็นของมันเอง ไม่ได้บอกว่าเอาส่วนหยาบก็ตามมันหากเป็น เพราะมันกระเทือนจิตอยู่ตลอดเวลารูปอันนี้

    ไม่ว่ารูปนอกไม่ว่ารูปในมันกระเทือนกันอยู่ตลอดเวลา ให้เป็นอารมณ์ยุ่งอยู่เสมอ ก็เพราะรูปนอกกับรูปใน รูปเขากับรูปเรา รูปหญิงกับรูปชาย เสียงหญิงเสียงชาย เสียงเขาเสียงเรา สัมผัสเขาสัมผัสเรานี้แหละ เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจอยู่ตลอดเวลา นี่เมื่อพิจารณาลงไปมันจะทราบสิ่งเหล่านี้ก่อน เมื่อทราบสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะสลัดเข้ามา ปล่อยเข้ามา จนกระทั่งถึงร่างกายของตัวเองก็สลัดเข้าไปเรื่อย ๆ นี่ปัญญาเหมือนกับไฟได้เชื้อ เผาเข้าไป ๆ ตรงใดจุดใดที่มีเชื้อไฟอยู่ไฟจะลุกลามเข้าไปตรงนั้น เอ้า จนกระทั่งถึงเวทนาเป็นส่วนละเอียด

    เมื่อออกจากรูปไปแล้วจะเข้าถึงเวทนา เวทนาอะไร กายเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ จะเห็นว่าเป็นอาการอันหนึ่ง ๆ ที่ออกมาจากใจทั้งนั้น เกิดแล้วดับ ๆ เวทนาก็คือความทุกข์ ความทุกข์ไม่ทราบตัวเอง แต่เป็นจิตเป็นผู้ทราบ และความสำคัญมั่นหมายที่ออกมาจาก อวิชฺชาปจฺจยา นั้นทำให้ยึดมั่นถือมั่น ทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา ทั้งอุเบกขาเวทนา ยึดได้ทั้งนั้น ถ้าลงได้หลงตัวจิตแล้ว จิตจะพาให้หลงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แต่เมื่อได้รู้แล้วจะรู้เข้าไปโดยลำดับลำดาจนกระทั่งถึงตัวจิต เวทนาก็รู้ รู้ก็ปล่อย สัญญา สังขาร วิญญาณ รู้ปล่อย นั่น ไม่มีใครบอกหากรู้เอง นี่ละเรียกว่าปัญญา ปัญญาฉลาดอย่างนั้นเอง แหลมคมอย่างนั้นเอง รู้ชัด ๆ ไม่มีใครมาบอกก็รู้เอง ๆ และปล่อยเข้าไป ๆ สุด ท้ายก็ขาดสะบั้นไปทั้ง ๆ ที่ขันธ์กับจิตนี้อยู่ด้วยกันครองกันอยู่นะ

    รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต ได้กลายเป็นคนละชิ้นละอันแล้ว จิตดวงนั้นเป็นเหมือนกับเกาะอันหนึ่งที่อยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นน้ำ ทีนี้เวลาพิจารณาเข้าไปอีก พิจารณาเข้าไปจนกระทั่งถึงตัวจิตซึ่งเป็นเกาะอันนั้น แยกพิจารณาอยู่นั้นเช่นเดียวกับเราพิจารณาภายนอกมีรูปขันธ์เป็นต้น โดยทาง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แยกเข้าไป ๆ พิจารณาเข้าไป สุดท้ายเกาะนั้นก็พังทลาย

    ความจริงนั้นเกาะคืออะไร นั้นแหละตัวกิเลส ตัวอวิชชา ตัวที่ละเอียดแหลมคมที่สุด สมาธิเข้าถึงได้ยังไงธรรมชาตินั้น เข้าไม่ถึง แต่ปัญญาพังได้ฟังซิ ไม่เจอไม่เห็นพังได้ยังไง นี่ละปัญญาพังได้ เกาะนั้นจนไม่มี ไม่มีเหลือ อ๋อ เกาะนั้นมันเป็นเกาะอะไร ก็เกาะ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เกาะแห่งภพ เกาะแห่งชาติ เกาะแห่งความเกิดแก่เจ็บตาย เกาะแห่งมหันตทุกข์ของสัตวโลกนั่นเองจะเป็นอะไรไป นี่รู้ชัดเจน

    เมื่อธรรมชาติอันนั้นได้พังลงไปแล้ว ไม่มีเกาะไม่มีดอน จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วไม่มีสีไม่มีแสง ไม่มีคำว่าความสว่างกระจ่างแจ้ง ไม่มีความว่าอับเฉา เอามาพูดไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องของสมมุติทั้งมวล เมื่อจิตได้ผ่านนี้ลงไปแล้วไม่มีใครบอกก็รู้ แต่ไม่มีคำว่าสว่างกระจ่างแจ้งดังที่โลกๆ ทั้งหลายคาดกัน หรือเราเองก็เคยคาดจะว่ายังไง เราเคยคาดเป็นยังไง คาดมันเป็นยังไง ทีนี้ความจริงกับความคาดผิดกันอย่างไรบ้าง เมื่อได้เข้าถึงความจริงแล้ว ไอ้ความคาดความหมายมันก็ล้มละลายของมันไปเอง ล้มละลายไปเอง โดยเข้ามาคัดค้านความจริงนี้ไม่ได้เลย นี่ละการตัดภพตัดชาติ

    การสร้างปัญญาขึ้นมาเพื่อรู้ในสิ่งที่ควรรู้ในสิ่งที่ควรเห็น ท่านว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา สว่างลงที่ตรงนี้แหละ ตรงที่มันมืด เกาะนั้นแหละเป็นธรรมชาติอันหนึ่งให้ติด ให้มองไม่ทั่วถึง ก็คือเกาะอันนี้เอง เกาะแห่งอวิชชา มันเกาะอยู่ในที่จิตนั่น ติดอยู่กับจิต เมื่อถูกพังทลายลงไปไม่มีเหลือแล้ว

    ลำพังโดยธรรมชาติของจิตแท้ ๆ แล้วจะไม่เป็นเกาะจะไม่เป็นจุด จะจับให้ได้ว่าเป็นจุดแห่งความสว่างก็ไม่ได้ จะว่าผ่องใสก็ไม่ได้ จะว่าเศร้าหมองก็ไม่ถูกโดยประการทั้งปวง ถ้าเป็นน้ำก็ไม่มีสี คือน้ำที่สะอาดเต็มที่นี้ย่อมไม่มีสี ถ้าต้องการจะให้เป็นสีก็เอาอะไรลงไปคลุกเคล้ากับน้ำ น้ำก็ปรากฏเป็นสีนั้น ๆ ขึ้นมา จิตก็เหมือนกัน จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่แล้วย่อมปราศจากสีสันวรรณะโดยประการทั้งปวง ไม่มีในจิตดวงนั้น นั่น ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่งั้นหากไม่ใช่อะไรทั้งนั้น นี่ท่านว่าโลกุตรธรรมเต็มภูมิ ธรรมเหนือโลก เหนืออะไร ก็เหนือธาตุเหนือขันธ์ เหนือสิ่งทั้งปวงที่เราเคยคาดเคยคิดเคยติดเคยพันมาแต่ก่อนนั่นแหละ มันไม่ติดไม่พันไม่ยึดไม่ถือ ปล่อยไปหมดโดยประการทั้งปวง

    นี่ละการพิจารณาการภาวนา ตั้งแต่เริ่มต้นบริกรรมภาวนามาโดยลำดับลำดา ก้าวไปอย่างนี้ ๆ อย่าให้ออกนอกลู่นอกทาง ให้ดำเนินตามครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างไร เหมือนพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างไร พระสาวกยึดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ไม่เคลื่อนคลาด จนกระทั่งถึงความหลุดพ้น ด้วยการยึดหลักสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าให้แนบสนิทกับใจ กลายเป็นสาวกอรหันต์ขึ้นมา ๆ

    เห็นไหมพวกเรา ได้กราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้เป็นโมฆะเมื่อไร เป็นของพูดเล่นเมื่อไร พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นของเล่นเมื่อไร เป็นของจริงแท้ ๆ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้สร้างขึ้นมา เป็นความสว่างกระจ่างแจ้งแก่โลกแก่สงสารเป็นของเล่นเมื่อไร เป็นของจริงโดยแท้ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นผู้หลุดพ้นตามเสด็จพระพุทธเจ้าทันโดยแท้ไม่มีทางสงสัย

    ขอให้สร้างใจของเราให้เป็นอย่างนั้นเถอะ เราจะยอมรับหมด พระพุทธเจ้ามีกี่พระองค์ กี่ล้านกี่อะไรไม่สงสัย ธรรมเป็นยังไงไม่สงสัย เพราะเป็นอยู่ที่ใจนี่แล้ว ใจเป็นผู้รู้ ใจเป็นผู้เห็น ใจเป็นพุทธะ ใจเป็นธรรมะ ใจเป็นสังฆะผู้ทรงความบริสุทธิ์ของตนไว้เต็มสัดเต็มส่วนแล้วจะสงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ที่ไหน ยืนยันกันที่ใจดวงนี้เอง นี่ละปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม ท่านเรียกว่า อกาลิโก อกาลิกจิต อกาลิกธรรม เป็นอันเดียวกันอยู่ภายในจิตของผู้ปฏิบัติ ของผู้หลุดพ้นนั้นแลจะเป็นที่ไหนไป

    ฉะนั้นจึงขอให้ทุก ๆ ท่านได้นำไปประพฤติปฏิบัติ อย่าท้อแท้อ่อนแอ อย่าโลเลโลกเลก อย่าเห็นว่าอันนั้นดีอันนี้ดี ไม่มีอะไรแหละ ในโลกนี้เต็มไปด้วยกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ทั้งเขาทั้งเรา เห็นกันแล้วเจอกันแล้วไม่ได้บ่นให้กันอยู่ไม่ได้ ต้องบ่นสู่กันฟัง เพื่อเป็นทางระบายความทุกข์ทั้งหลายที่มันอัดอั้นตันใจจะตายนั้นแหละออกมา เขาก็ระบาย เราก็ระบาย สุดท้ายก็มีแต่ลมเท่านั้น ทุกข์ไม่ได้ออกมาจากหัวใจ เพราะอะไร ก็เพราะไม่มีอะไรเป็นของอัศจรรย์นั่นเองภายในโลกนี้ แม้แต่จิตของเราเองแทนที่จะเป็นของอัศจรรย์ ก็บรรจุความทุกข์ความทรมานไว้เสียอย่างเต็มเอี๊ยด แล้วก็มาระบายกันเท่านั้น เป็นประโยชน์อะไร ให้พิจารณา

    นักปฏิบัติเป็นนักใคร่ครวญ พระไม่ใคร่ครวญไม่มีใครใคร่ครวญในโลก เพศของพระเป็นเพศละเอียด เป็นเพศที่สุขุม เป็นเพศที่พินิจพิจารณา เป็นเพศที่อดที่ทน เป็นเพศที่ใคร่ครวญมาก เป็นเพศที่มีความเพียร ไม่ใช่เป็นเพศที่กินแล้วนอนกอนแล้วนิน ขี้เกียจขี้คร้านท้อแท้อ่อนแอ ทำอะไรไม่คิดไม่อ่านดังที่เห็น ๆ อยู่นี่ วันหนึ่ง ๆ อกจะแตก การแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อน มองดูกิริยาอาการ มองดูอะไรมันหากโดนหูโดนตา และเข้าไปโดนหัวใจอยู่จนได้ สอนเท่าไรมันก็ไม่พ้น ให้นำไปพิจารณาซิ

    คนเราที่โง่ ๆ อยู่นี้แหละ เมื่อได้ฝึกหัดตัวของตัวให้เป็นไปตามหลักธรรมพระพุทธเจ้าแล้ว จะเป็นผู้ฉลาดขึ้นมาโดยไม่ต้องถามใครแหละ เอาธรรมะพระพุทธเจ้าละเป็นเครื่องส่องทาง ดำเนินลงไป ๆ หากจะมีวันฉลาดจนได้แหละ ถ้าฉลาดไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านจะสอนไว้ทำไม พระองค์ทรงเคยฉลาดจากการฝึกการทรมานมาแล้วนี่ พระสงฆ์สาวกก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าวิเศษด้วยธรรม พระสาวกก็วิเศษด้วยธรรม เราก็พยายามฝึกตนของเราให้ฉลาดด้วยธรรมบ้างซิภายในใจ

    ครูบาอาจารย์ก็หมดไป ๆ หาที่เกาะที่ยึดไม่ได้นะ หมดไป ๆ แทบจะว่าจริง ๆ แล้วเดี๋ยวนี้น่ะ การสอนจิตตภาวนาเป็นของสำคัญมาก พูดแล้ว สาธุ เราไม่ได้ประมาทคัมภีร์ใบลานตำรับตำรา อันนั้นเป็นตู้เป็นหีบยามีอยู่มาก เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ยาในตู้นั้นละแต่ละขวด ๆ แต่ละชิ้นละอันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ผู้ฉลาดที่จะนำมาใช้นั่นน่ะมันฉลาดไหม ถ้าผู้นำมาใช้ไม่ฉลาดก็ไม่เกิดผลประโยชน์อะไร นอกจากจะเกิดโทษอีกด้วยซ้ำ นี่ละเป็นข้อเทียบเคียง ต้องเป็นหมอเท่านั้นเป็นผู้จะนำยาเหล่านั้นมาใช้ได้เป็นผลประโยชน์แก่คนไข้ ผู้ไม่ใช่หมอเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะทำให้คนไข้ตาย

    นี่ละพระพุทธเจ้า พระสาวกเป็นหมอชั้นเอก นำธรรมโอสถนี้ละคือยามาสอนสัตวโลก จึงสอนด้วยความแม่นยำถูกต้องทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่พื้น ๆ แห่งธรรมจนกระทั่งถึงวิมุตติธรรม ไม่มีผิดไม่มีคลาดเคลื่อน จึงเรียกว่าสวากขาตธรรม ตรัสไว้ชอบแล้ว ๆ และดำเนินมาชอบแล้ว ทั้งรู้ชอบแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายรู้ชอบแล้ว สอนลูกศิษย์ลูกหาท่านจึงสอนด้วยความถูกต้องแม่นยำ

    บรรดาศิษย์ทั้งหลายที่เข้าไปอาศัยครูบาอาจารย์แต่ละองค์ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ ๆ ทำไมท่านจะสอนคลาดเคลื่อนล่ะ ท่านจะสอนผิดพลาดไปล่ะ ก็เมื่อท่านรู้อยู่อย่างเต็มใจ เห็นอยู่อย่างเต็มใจในธรรมทั้งหลาย บริสุทธิ์พุทโธเต็มที่แล้ว ท่านจะสอนผิดที่ตรงไหน ต้องสอนถูกต้องแม่นยำ ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องต้องตายใจได้เลย ฝากเป็นฝากตายได้เลย หลับตาได้ให้ท่านจูง ไม่สงสัยว่าจะจูงลงนรกอเวจีที่ไหน จะจูงเพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น เพื่อความพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว ท่านผู้รู้จริงเห็นจริงท่านสอนอย่างนั้น ท่านจูงอย่างนั้น ท่านอบรมอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแต่ละครั้งละคราวนี้ ผู้บรรลุมรรคผลนิพพานจึงมีมาก จะไม่มีมากยังไง ก็มีแต่ธรรมของจริงล้วน ๆ ออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ ผู้หาของจริงอยู่แล้ว ทำไมจะไม่ยึดเอาของจริงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มหัวใจเล่า นี่ละที่ความจริงของผู้รู้ธรรมเป็นเช่นนี้ เช่นเดียวกับหมอปริญญาที่เรียนมาแล้วด้วยความถูกต้องแม่นยำ ทดสอบทุกสิ่งทุกอย่างตลอดหยูกยาและวิชาความรู้ นำมาใช้จึงไม่ผิดพลาด นี่ก็พระสาวกทั้งหลายท่านเป็นเช่นนั้น และครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ที่ท่านได้ดำเนินมาแล้ว ผิดก็เป็นครูท่าน ถูกเป็นครูท่าน นำเอาทั้งผิดทั้งถูกนั้นแหละมาสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาด้วยความถูกต้องแม่นยำ จะไม่ผิดเหมือนอย่างท่านที่เคยดำเนินมาก่อน

    การสอนจึงลำบากนะ การสอนทางด้านจิตตภาวนา เพียงแต่เราจะจดจำเอาจากคัมภีร์ใบลานมานั้น ดังที่กล่าวแล้วว่า สาธุ ไม่ได้ประมาท เราจะนำมาสอนไม่ถูกต้อง เพราะเราไม่รู้ว่าธรรมะบทนั้น ๆ จะสอนเวลาใด สอนในกาลใด สอนในขณะใด ในขั้นใดภูมิใดของจิตตภาวนา ของแต่ละขั้นละภูมิของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย นี่สอนไม่ถูก นำมาใช้ไม่ถูก แต่ถ้าเป็นผู้รู้แล้วเห็นแล้วในทางภาคปฏิบัติ นับตั้งแต่สมาธิขึ้นไปจนกระทั่งถึงวิมุตติหลุดพ้นแล้ว จะสอนตรงไหนสอนได้ทั้งนั้น เพราะรู้แล้วทั้งนั้นนี่ ใครจะควรสอนอยู่ในธรรมบทใด ควรจะได้สอนในธรรมแขนงใดแง่ใด ๆ รู้เข้าใจ ๆ ต้องสอนได้ถูกต้องโดยไม่ต้องสงสัย นี่ละจึงเป็นที่นอนใจ บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายที่ไปหาครูบาอาจารย์ผู้ท่านถูกต้องแม่นยำแล้ว ผลจึงเป็นที่คาดหมายกันได้ว่าไม่สงสัย จึงขอให้ทุก ๆ ท่านได้ตั้งอกตั้งใจ

    เวลานี้เราอยู่ด้วยกันไม่ใช่เป็นของเที่ยงแน่นหนามั่นคงอะไรนักนะ พลัดพรากจากกันไปทั้งไปทั้งมาทั้งเป็นทั้งตาย พลัดพรากกันอยู่ตลอดเวลา คำว่า อนิจฺจํ ๆ ทุกฺขํ อนตฺตา จะเป็นอะไรไป ถ้าไม่ใช่เป็นตั้งแต่พวกเรานี้ไปทุกรูปทุกนาม จนกระทั่งถึงครอบโลกธาตุ มันเป็นแบบเดียวกันหมด จะมานอนใจได้เหรอ

    การเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ใช่เป็นของชินชาหน้าด้านนะ เป็นทุกข์จริง ๆ เช่นอย่างไฟเผาเรานั่นละ เราชินชาได้ไหมไฟเผาเรา ทุกข์เผาเราก็เหมือนกัน ทุกภพทุกชาติ เกิดต้องมีความทุกข์มาแล้ว พอเริ่มเกิดก็เริ่มทุกข์มาแล้วจะว่ายังไง เริ่มปรากฏทุกข์ขึ้นมาอย่างชัด ๆ แล้วตายก็เหมือนกัน ความเป็นอยู่แต่ละภพละชาติหาความสุขความสบายที่ไหนได้ เป็นแต่เพียงไม่พูดออกมาทุกขณะที่ทุกข์แสดงตัว ภายในร่างกายของเราและสัตว์ทั้งหลายเขาก็เป็นอย่างเดียวกัน

    เพราะอำนาจของกิเลสนี้แหละเป็นตัวสำคัญที่สุด ที่สร้างทุกข์ให้สัตวโลกโดยทั่วกัน ได้รับความลำบากลำบนไม่สงสัย จึงขอให้พากันพินิจพิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของเรา อย่าได้ชินชากัน และรีบเร่งขวนขวายคุณงามความดีที่จะให้หลุดพ้นจากมันเสีย ได้วันนี้ขณะนี้ยิ่งเป็นของที่วิเศษที่สุดแล้ว ในเรื่องการพ้นจากทุกข์น่ะ

    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
    เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
    เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙
     

แชร์หน้านี้

Loading...