เรื่องเด่น ชาวพุทธหลั่งไหล ร่วมงานสงกรานต์วัดหลวงพ่ออุตตมะ พระเดินเหยียบหลัง ปัดเป่าโรคร้าย

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 17 เมษายน 2018.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,590
    0b898e0b8abe0b8a5e0b8b1e0b988e0b887e0b984e0b8abe0b8a5-e0b8a3e0b988e0b8a7e0b8a1e0b887e0b8b2e0b899.jpg

    วันที่ 17 เม.ย. ที่วัดวังก์วิเวการาม หรือ วัดหลวงพ่ออุตตมะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำปีเนื่องจากถือเป็นงานทำบุญใหญ่ประจำปี โดยทั่วไปจะมีระยะเวลาการจัดงานทั้งหมด 5 วัน และในแต่ละวันจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ วันสงกรานต์ลง วันคาบปี วันสงกรานต์ขึ้น วันสรงน้ำพระ และวันยกฉัตรเจดีย์ หรือ วันกรวดน้ำ โดยใน 3 วันแรก ชาวมอญผู้สูงอายุจะไปถือศีล นอนอยู่ที่วัด เพื่อทำจิตใจให้ผ่องใสต้อนรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง และลูกหลานจะเป็นผู้นำอาหารมาส่งให้ที่วัดตั้งแต่ช่วงเช้ามืดประมาณตี 5 ของทุกวัน

    898e0b8abe0b8a5e0b8b1e0b988e0b887e0b984e0b8abe0b8a5-e0b8a3e0b988e0b8a7e0b8a1e0b887e0b8b2e0b899-1.jpg

    ซึ่งในทุกๆเช้า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งหญิง-ชาย แต่งกายด้วยชุดชาวมอญอย่างสวยงาม เดินทางไปทำบุญที่วัด โดยผู้หญิงชาวมอญจะเดินทูนถาดอาหารคาว-หวานไว้บนศีรษะ เพื่อนำไปถวายพระ เป็นภาพที่สวยงามและน่าอิ่มเอม ช่วงประมาณ 4 -5 โมงเย็น ชาวบ้านหนุ่มสาว และเด็ก ๆ จะบรรทุกน้ำจากบ้านใส่มาในรถ เพื่อพากันไปอาบน้ำให้พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ที่ไปถือศีลอยู่ที่วัด เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีที่น่าชื่นชม

    898e0b8abe0b8a5e0b8b1e0b988e0b887e0b984e0b8abe0b8a5-e0b8a3e0b988e0b8a7e0b8a1e0b887e0b8b2e0b899-2.jpg
    จากนั้นชาวมอญจะพากันขนทรายเข้าวัดไปร่วมกันก่อเจดีย์ทรายที่บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ ใกล้กับเจดีย์พุทธคยา การก่อเจดีย์ทรายของที่นี่ จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่น คือเป็นเจดีย์องค์ใหญ่องค์เดียว ที่ก่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ มีการจุดธูปเทียนบูชา และปักธงสีประดับ ในช่วงเวลากลางวัน ชาวมอญในหมู่บ้านจะมีการเล่นสะบ้า และการฟ้อนรำรื่นเริงกัน

    898e0b8abe0b8a5e0b8b1e0b988e0b887e0b984e0b8abe0b8a5-e0b8a3e0b988e0b8a7e0b8a1e0b887e0b8b2e0b899-3.jpg

    สำหรับวันที่ 4 ของเทศกาลสงกรานต์ (ส่วนใหญ่จะอยู่ราว ๆ วันที่ 16 หรือ 17 เม.ย. ขึ้นอยู่กับปฏิทินของชาวมอญในแต่ละปี สำหรับในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันรองสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะออกไปร่วมกันสรงน้ำพระ โดยเริ่มจากการสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดก่อน จากนั้นจึงเป็นการสรงน้ำพระภิกษุ และสามเณรทั้งวัด พิธีสรงน้ำพระนี้ ชาวบ้านจะถือว่าพระสงฆ์ เป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่สมควรจะเหยียบย่ำ หรือสัมผัสกับพื้นดิน ชาวมอญผู้ชายทั้งผู้ใหญ่ และเด็กวัยรุ่นที่มีจิตศรัทธา จะพร้อมใจกันมานอนเบียดเรียงรายต่อกันเป็นแถวยาว เพื่อให้พระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลัง โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยขจัดปัดเป่าโรคร้าย หรือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไปจากชีวิตของตน คลื่นศรัทธาหลั่งไหล ชาวบ้านนับร้อย ลงไปนอนให้ พระสงฆ์-สามเณร เดินเหยีบบ(คลิป)

    898e0b8abe0b8a5e0b8b1e0b988e0b887e0b984e0b8abe0b8a5-e0b8a3e0b988e0b8a7e0b8a1e0b887e0b8b2e0b899-4.jpg [​IMG] [​IMG]

    สำหรับการสรงน้ำพระสงฆ์ ก็จะเป็นการสรงแบบอาบทั่วทั้งตัว โดยในวันนี้ลูกเล็กเด็กแดงหนุ่มสาวเฒ่าแก่ จะพากันเตรียมน้ำอบน้ำปรุงที่ลอยด้วยดอกไม้มาจากบ้าน แล้วนำมาเทลงไปในรางไม้ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ รางไม้นี้ทำมาจากไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาว แล้วนำมามัดรวมผูกต่อ ๆ กัน วางเรียงรายเป็นรูปลักษณะคล้ายพัด เพื่อให้เกิดเป็นทางน้ำ ในแต่ละรางจะมีสาขาแตกแผ่ออกไป เพื่อให้การสรงน้ำนี้เป็นไปได้อย่างทั่วถึง

    น้ำจากรางไม้ทั้งหมดนี้จะไหลไปรวมที่จุดเดียวกันโดยมีฉากไม้ไผ่ที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เป็นฉากกั้น เพื่อให้พระสงฆ์ที่เดินมาบนหลังคน ได้ไปนั่งสรงน้ำอยู่ที่บริเวณหลังฉากกั้นนั้น หลังจากสรงน้ำพระเสร็จ ชาวบ้านผู้ชายจะช่วยกันอุ้มพระไปส่งที่บันไดวัด เพื่อไม่ให้พระสงฆ์ต้องสัมผัสกับพื้นดิน เมื่อสรงน้ำพระทุกรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวมอญจึงนำน้ำที่เหลือจากการสรงน้ำพระ มาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานโดยไม่ถือสาหาความกัน

    898e0b8abe0b8a5e0b8b1e0b988e0b887e0b984e0b8abe0b8a5-e0b8a3e0b988e0b8a7e0b8a1e0b887e0b8b2e0b899-5.jpg

    ส่วนในวันที่ 5 ซึ่งเป็นสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ (หลังวันสรงน้ำพระ 1 วัน ปีนี้ ตรงกับวันที่ 18 เม.ย. ชาวมอญจากซุ้มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน จะพร้อมใจกันจัดกองผ้าป่าที่ตกแต่งเป็นรูปหงส์ (สัญลักษณ์ของชาวมอญ) สีเงิน-สีทองอย่างสวยงาม พร้อมด้วยเครื่องสังฆทาน สำรับอาหารคาว-หวาน และจตุปัจจัยไทยธรรม มารวมพร้อมกันที่หน้าตลาดวัดวังก์กลางหมู่บ้าน จากนั้นจะร่วมกันแห่กองผ้าป่า นำขบวนด้วยการฟ้อนรำตามแบบชาวมอญที่สนุกสนาน เดินเท้าเป็นแถวยาวไปยังศาลาการเปรียญของวัดวังก์วิเวการาม

    หลังจากที่นำกองผ้าป่าไปไว้ยังศาลาวัดเรียบร้อยแล้ว ชาวมอญทั้งหมดพร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งวัด จะมาตั้งแถวร่วมกันหามเสลี่ยงอัญเชิญยอดฉัตร 9 ชั้น จากวัดวังก์วิเวการาม ไปยังเจดีย์ทรายที่ชาวบ้านได้ร่วมกันก่อไว้ที่บริเวณหน้าเจดีย์พุทธคยา โดยจะใช้เชือกความยาวประมาณ 300 เมตร ผูกเชื่อมต่อจากตัวฉัตรมายังด้านหน้าของขบวน เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมในพิธีอัญเชิญยอดฉัตรนี้ได้ครบทุกคน เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงเจดีย์ทราย จะอัญเชิญยอดฉัตรเดินวนขวา 3 รอบ จากนั้นประธานในพิธีพร้อมด้วยเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ร่วมกันอัญเชิญฉัตรขึ้นไปประดิษฐานที่ยอดบนสุดของเจดีย์ทราย พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วชาวบ้านร่วมกันโปรยทาน เสร็จจากพิธียกฉัตรเจดีย์ทราย ชาวมอญจะกลับมาที่ศาลาวัดอีกครั้ง เพื่อร่วมกันทำบุญกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลไปให้ผู้อื่น เป็นอันจบสิ้นประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญสังขละบุรีอย่างแท้จริง นับเป็นประเพณีที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธา แฝงไว้ด้วยความสมัครสมานสามัคคี และยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชนชาติมอญไว้ได้อย่างน่าตื่นตา

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_975041
     

แชร์หน้านี้

Loading...