ชาติ ชรา มรณาธิกถา สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 1 กันยายน 2013.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ อย่างนี้ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะไม่พึงเกิดขึ้นในโลกเลย ธรรมแลวินัยที่พระตถาคตตรัสรู้แจ้งทั่วก็จะไม่พึงรุ่งเรืองในโลก ธรรม ๓ อย่างนั้นอย่างไร จะได้แก่สิ่งอะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชาติ ความเกิดด้วย ชรา ความชำรุดทรุดโทรมแปรผันด้วย มรณ ความม้วยมอดพินาศขาดหายตายไปด้วยธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะไม่พึงเกิดขึ้นในโลก ธรรมแลวินัยที่พระตถาคตตรัสรู้แจ้งทั่ว ก็จะไม่พึงรุ่งเรืองในโลก

    ยสฺมา จ โข ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุใด ธรรม ๓ ประการเหล่านี้มีอยู่ในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกเพราะเหตุนั้น ธรรมแลวินัยที่พระตถาคตตรัสรู้แจ้งทั่ว จึงรุ่งเรืองในโลก พระพุทธภาษิตตรัสเทศนาไว้ฉะนี้ ให้นักปราชญ์ผู้มีปรีชาพึงสันนิษฐานว่า ธรรม ๒ ประการ คือ ชรา แลมรณะ นั้น จะมีจะเป็นขึ้นพร้อมก็เพราะชาติ ชาติความเกิดมีอยู่ ชราแลมรณะเป็นผล ผลจะมีมาก็เพราะเหตุ เหตุมีอยู่จึงบังเกิดผล ประหนึ่งต้นพฤกษาชาติ ย่อมเผล็ดดอกก่อนจึงจะเป็นผล ผลจะมีจะเป็นขึ้นก็เพราะดอกเป็นเหตุ ฉันใด ชราแลมรณะ ๒ ประการนี้ จะมี จะเป็น จะปรากฏขึ้นก็เพราะชาติเป็นเหตุเป็นแดนเกิด ฉันนั้น มิฉะนั้น เปรียบเหมือนดวงประทีป อันผู้ใดผู้หนึ่งจุดไว้ในที่มืด ย่อมมีแสงสว่างบังเกิดขึ้น ให้บุคคลผู้มีจักษุได้เห็นรูปารมณ์ต่าง ๆ แลแสงสว่างนั้นจะมีปรากฏขึ้นก็เพราะดวงประทีปเป็นเหตุเกิดขึ้นแห่งแสงสว่างฉันใด ชาติก็เป็นเหตุเกิด เป็นที่เกิดของชราและมรณะฉันนั้น

    ชาติอะไร ชื่อว่าเกิดเป็นตัวเกิด ชรานั้นอย่างไร อะไรชื่อว่าชรา เป็นตัวชรา มรณะนั้นอย่างไร อะไรชื่อว่ามรณะ เป็นตัวมรณะดังนี้ สำคัญนัก ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจำเป็นจะต้องศึกษาให้รู้จัก ชาติ ความเกิด และ ชรา ความแก่ แล มรณ ความตาย ถ้าไม่รู้จักชาติ, ชรา, มรณะ แล้ว ไม่พ้นจากชาติทุกข์ได้เลย จะต้องเกิดแก่ตายร่ำไปไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ที่จะพ้นจากอบายทุกข์และสังสารทุกข์ คือ เกิด, แก่, ตาย ได้นั้น อาศัยมารู้จักความเกิด รู้เท่าต่อความเกิด รู้จักชรา รู้เท่าต่อชรา รู้จักมรณะ รู้เท่าต่อมรณะ จึงพ้นจากอบายและสังสารทุกข์ได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย จะทรงพระนามว่า อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ นั้น แปลว่า เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้กำจัดข้าศึก คือกิเลส เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชาเป็นต้น ก็เพราะพระองค์ตรัสรู้เท่าต่อความเกิด, แก่, ตาย ธรรมที่พระองค์ตรัสเทศนาสั่งสอนไว้ จะชื่อว่าเป็นสวากขาตธรรมนั้น ก็เพราะเป็นอุบายจะให้สัตว์รู้เท่าต่อความเกิด, แก่, ตาย พระสงฆ์สาวกของพระองค์ ซึ่งจัดไว้เป็นคู่ ๆ ได้ ๔ เรียงตัวบุคคลเป็น ๘ จะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติชอบปฏิบัติดีนั้น ก็เพราะปฏิบัติจนรู้เท่าต่อ เกิด, แก่, ตาย ปัญญาที่มารู้จัก เกิด, แก่, ตาย เป็นเหตุให้สัตว์พ้นจากอบายทุกข์ แลสังสารทุกข์ เพราะฉะนั้น จำจะต้องศึกษาให้รู้จัก เกิด, แก่, ตาย

    เกิดนั้น คือความที่ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑ หรือ ๔ ยกรูปเสีย หรือ ๑ ยก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเสีย ปรากฏเป็นชัด อานตนานํ ปฏิลาโภ ความได้เฉพาะซึ่งอายตนะครบทั้ง ๖ คือ จักษุ ๑ โสต ๑ ฆาน ๑ ชิวหา ๑ กาย ๑ มน ๑ หรือ ๓ แต่ จักษุ ๑ โสต ๑ มน ๑ แต่ มน อย่างเดียว ย่นลงเป็น ๒ คือ นาม แล รูป

    นามแลรูปบังเกิดขึ้น ชื่อว่า ชาติ ความเกิด, นามปรากฏอย่างเดียว สมมติเรียกว่า อรูปพรหม, รูปอย่างเดียวปรากฏขึ้น สมมติเรียกว่า อสัญญีสัตว์, ปรากฏขึ้นทั้งนามแลรูป สมมติเรียกว่า อปายิกสัตว์บ้าง มนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง พรหมบางพวกบ้าง

    นามรูปที่ปรากฏขึ้นแล้ว เป็นทุกข์อย่างเดียว สมมติเรียกว่า สัตว์นรก แลเปรตบางพวก นามรูปที่ปรากฏขึ้นแล้วเป็นทุกข์มากกว่าสุข หรือสุขมากกว่าทุกข์ หรือเป็นสุขเป็นทุกข์เท่ากัน สมมติเรียกว่า เปรตบางพวก แลอสุรกาย แลสัตว์ดิรัจฉาน แลมนุษย์ แลเทวดาบางพวก

    นามรูปที่ปรากฏขึ้นแล้วเป็นสุขมากกว่าทุกข์ หรือเป็นสุขอย่างเดียว สมมติเรียกว่า มนุษย์ แลกามาพจรเทพยดา แลรูปาพจรเทพยดาบางพวก

    นามแลรูปปรากฏขึ้นแล้วมีแต่อุเปกขาเวทนาอย่างเดียว สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัสไม่มี สมมติเรียกว่า อรูปสัตว์ แล อสัญญีสัตว์

    นามแลรูปย่อมเป็นไปในภพทั้ง ๓ ๆ ตกลงเป็นนาม ๑ รูป ๑ นามรูปปรากฏขึ้นเป็นเช่นนี้แลชื่อว่าเกิดปัญญา, ที่มากำหนดรู้อย่างนี้ เห็นจริงอย่างนี้ ชื่อว่ารู้จักเกิด, ถ้าไปเห็นว่า สัตว์เกิด มนุษย์เกิด อย่างนี้ชื่อว่า ไม่รู้จักเกิด จัดเป็นคนหลงในโลก เพราะเห็นไปโดยสติ คำที่ว่าสัตว์ ว่าบุคคล ว่าเทวดา ว่าพรหม นี้เป็นคำสมมติบัญญัติเรียกกันตามโลกโวหาร เพื่อจะให้เข้าใจรู้กันง่าย ๆ เป็นของไม่จริงแท้, ที่จริงแท้นั้น นามรูป ประหนึ่งอันบุคคลเอาดินมาปั้นเป็นรูปหม้อ รูปกระถางเป็นต้น แลสมมติเรียกว่า หม้อ ว่ากระถางเป็นต้น เพื่อจะให้รู้จักเรียกกันใช้สอยกันง่าย ๆ แลคำว่าหม้อ ว่ากระถางเป็นต้นนั้น เป็นของสมมติ ไม่จริง ของจริงคงอยู่ที่ดิน ฉันใด คำว่า สัตว์, ว่าบุคคล, ว่าเทวดา, ว่าพรหม นั้น ก็เป็นแต่สมมติ ไม่จริง ของจริงคงอยู่ที่นาม ที่รูปเหมือนกัน ฉันนั้น

    อนึ่ง รถแลเกวียน เมื่อยังควบคุมกันอยู่ บุคคลก็เรียกว่ารถ ว่าเกวียน ถ้าแลว่ารถแลเกวียนนั้น อันผู้หนึ่งผู้ใดรื้อกระจายออกเสีย เป็นส่วน ๆ เป็นแผนก ๆ แล้ว บุคคลก็หาเรียกว่ารถ ว่าเกวียนไม่ ฉันใด รูป คือร่างกายนี้ เมื่อควบคุมกันครบทั้งอาการ ๓๒ มี เกสา เป็นต้น โลกสมมติเรียกว่าสัตว์ ว่าบุคคล ถ้าแยกกระจายกันอยู่เป็นส่วน ๆ เป็นผมส่วน ๑ ขนส่วน ๑ เล็บส่วน ๑ ฟันส่วน ๑ หนังส่วน ๑ เป็นต้นแล้ว อันผู้ใดผู้หนึ่งก็หาเรียกว่าสัตว์ ว่าบุคคลไม่ ฉะนั้น ผมตั้งอยู่ที่ศีรษะก็จริง ตาก็ได้เห็น จิตก็รู้ ขนตั้งอยู่ทั่วทั้งกาย เว้นแต่ฝ่ามือฝ่าเท้า มีจริง ตาก็ได้เห็น จิตก็รู้ เล็บตั้งอยู่ที่ปลายมือปลายเท้า มีจริง ตาก็ได้เห็น จิตก็รู้ ฟันตั้งอยู่เหนือกระดูกคาง เบื้องต่ำ เบื้องบน มีจริง ตาก็ได้เห็น จิตก็รู้ หนังหุ้มอยู่ทั่วทั้งกาย มีจริง ตาก็ได้เห็น จิตก็รู้แจ้ง

    ตาได้เห็นเหมือนไม่ได้เห็น จิตก็รู้เหมือนไม่รู้ เหตุไร เหตุว่าเราท่านทั้งปวง มาเห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคล มานึกว่าสัตว์ ว่าบุคคลไปเสีย หานึกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ เหตุฉะนี้ จึงว่า ตาเห็นเหมือนไม่เห็น นึกไปตามสมมติ จึงเกิดรัก เกิดชิงชังกันแลกัน ถ้าตาเห็น จิตนึกไปตามตา จิตรู้ ๆ ไปตามจิต ปล่อยวางสมมติเสียแล้ว ความรัก ความชิงชังกันแลกันก็จะมีมาแต่ไหน ปล่อยวางสมมติยังไม่ขาดตราบใด ก็จะต้องทนทุกข์ เกิด แก่ ตาย อยู่ตราบนั้น

    ที่มารู้เห็นตามของจริง คือ นามแลรูป ปล่อยวางสมมติเสียนี้แหละ เป็นเหตุจะให้พ้นจากทุกข์ คือ เกิด แก่ ตาย ถึงจะละสมมติยังไม่ได้ขาด เป็นแต่ละได้ครู่หนึ่ง ขณะหนึ่งเท่านั้นก็เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ แลเป็นปัจจัยที่จะให้ละได้ขาดต่อไป

    เพราะเหตุนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาให้รู้จักของจริง คือ นามแลรูป ครั้นรู้จักของจริงแล้ว พึงยึดไว้ ถือไว้ในของที่จริง ปล่อยวางของที่ไม่จริง คือ สมมติเสีย ก็แลคำว่าเกิด ๆ นั้น ให้พึงสันนิษฐานทราบเถิดว่า ไม่ใช่ใคร คือขันธ์ ๕ คือ อายตนะ ๖ คือ ธาตุ ๖ ย่นลงเป็นนามแลรูป ๆ ที่ปรากฏขึ้นนั้นแล ชื่อว่าเกิด นามแลรูปที่ปรากฏขึ้นนั้น ถึงซึ่งสภาวะเก่าคร่ำคร่าไป ชำรุดทรุดโทรมผันแปรไป หาคงที่อยู่โดยปรกติเหมือนเมื่อแรกตั้งขึ้นไม่

    ชื่อว่าชรา ความแก่ ปัญญาที่มากำหนดเห็นไปตามจริงอย่างนี้ ชื่อว่ารู้จักชรา ถ้าเห็นไปนึกไปว่า เราแก่ สัตว์แก่ มนุษย์แก่ เทวดาแก่ เป็นต้น ฉะนี้แล้ว ชื่อว่าไม่รู้จักชรา จัดเป็นคนหลง ถ้าเห็นไปตามของจริงว่า นามรูปเก่าคร่ำคร่าไป ไม่มีใครแก่ ดังนี้ ชื่อว่ารู้จักชรา คำที่ว่า ชรา ๆ นั้น ให้นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเถิดว่า ไม่ใช่ใคร คือนามรูปที่ชำรุดวิบัติแปรไป ๆ นี้แหละเรียกว่าชรา

    นามรูปที่วิบัติแปรไป ๆ นั้น ถึงซึ่งสภาวะแตกดับชื่อว่าตาย ถ้ามาเห็นไปว่า สัตว์ตาย เราตาย มนุษย์ตาย เทวดาตาย มารตาย พรหมตาย อย่างนี้ชื่อว่าไม่รู้จักตาย จัดเป็นคนหลง ถ้ามาเห็นมานึกไปว่า รูปแตก นามดับ ไม่มีใครตายอย่างนี้ ชื่อว่ารู้จักตาย ปัญญาที่มากำหนดรู้จักเกิด รู้เท่าต่อเกิด รู้จักแก่ รู้เท่าต่อความแก รู้จักตาย รู้เท่าต่อความตายนี้ บังเกิดขึ้นในกาลใด กาลนั้นย่อมมาละราคะ โทสะ โมหะได้

    ก็ราคะ โทสะ โมหะ จักบังเกิดขึ้นแล้วแลถาวรเจริญอยู่ ก็อาศัย สกฺกายทิฏฺฐิ ความเห็นว่ากายของเรา เราเกิดมา เราแก่ เราตาย ถ้ามาเห็นโดยความเป็นจริงว่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่มีใครตาย นามรูปปรากฏขึ้นต่างหาก นามรูปเก่าคร่ำคร่าไปต่างหาก นามรูปดับทำลายไปต่างหาก ดังนี้แล้ว ราคะ โทสะ โมหะ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ที่เกิดแล้วก็จะระงับดับไปในขณะนั้น

    อนึ่งเมื่อกำหนดนามรูปว่าเป็นตัว เกิด แก่ ตาย แจ้งใจชัดดังนี้แล้ว พึงมนสิการกระทำไว้ในจิตให้เนือง ๆ ทุกอิริยาบถ เมื่อไม่ได้อย่างนั้น โดยที่สุด จะกระทำไว้ในใจ ให้เห็นจริงแจ้งชัด แต่เพียงวันละครั้ง ๆ เท่านั้นก็เป็นการดี จัดเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ชีวิตที่เป็นอยู่ในวันนั้น มีกำไร ไม่ขาดทุน เพราะความที่มารู้จักรูป รู้จักนามเกิดนั้น ชื่อว่ารู้จัก อนตฺตา เห็น อนตฺตา อนตฺตานี้ก็เป็นธรรมมีอยู่ในโลกโดยธรรมดา แต่จะหาผู้ที่รู้แจ้งชัด แล้วแลหยิบยกบัญญัติขึ้นแสดงสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าใจนั้นยากนัก แม้พระปัจจเจกพุทธเจ้าท่านก็ประกอบด้วย อนตฺตา แจ้งชัด จนได้ตรัสรู้ปัจเจกโพธิญาณโดยลำพังพระองค์ ก็ยังไม่อาจบัญญัติยกขึ้นแสดงสั่งสอนผู้อื่นได้ นักปราชญ์นอกจากพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ที่จะได้เห็น อนตฺตา แจ้งชัดโดยลำพังปัญญาตนได้นั้นไม่มี ในข้อที่จะสั่งสอนผู้อื่นนั้นไม่ต้องว่า

    อนตฺตานี้ ต่อพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นในโลก แสดงเปิดเผยให้ตื้น สัตว์อื่นที่มีอุปนิสัยจึงได้ตรัสรู้ตาม แลสั่งสอนต่อ ๆ มา ถ้าไม่มีอุปนิสัยเสียแล้ว ถึงจะได้ยินได้ฟังสักเท่าใด ๆ ก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก อนตฺตา ที่เราท่านมาได้ยินได้ฟังแลรู้จัก อนตฺตา แจ้งชัดโดยครู่ ๑ ขณะ ๑ นี้เพราะมีอุปนิสัย ควรที่จะมีความยินดีว่า เป็นลาภของเรา อนึ่งผู้เห็น อนตฺตา นั้น ได้ชื่อว่าเห็นธรรมอันอุดมสูงสุด เพราะ อนตฺตา นี้เป็นธรรมอันสูง เป็นยอดของธรรมทั้งปวง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาสั่งสอนสัตว์ด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ก็เพื่อจะให้รู้จัก อนตฺตา ผู้ที่เห็นธรรมอันสูงสุด คือ อนตฺตา นี้ แม้จะมีชีวิตเป็นอยู่สักวัน ๑ ย่อมประเสริฐกว่าผู้ที่มีชีวิตอยู่ร้อยปีที่มิได้เห็น อนตฺตา สมด้วยพระพุทธภาษิตทรงตรัสไว้ว่า โยจ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ ธมฺมมุตฺตมํ บุคคลผู้ใดเมื่อมิเห็นซึ่งธรรมอันสูงสุด แลพึงมีชีวิตเป็นอยู่ตลอดร้อยปี เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต ธมฺมมุตฺตมํ ชีวิตของบุคคลผู้เห็นอยู่ซึ่งธรรมอันสูงสุด จะเป็นอยู่ตลอดวัน ๑ ย่อมประเสริฐกว่าชีวิตของผู้ที่ไม่เห็นธรรมเป็นอยู่ตลอดร้อยปีนั้น

    เหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสดังนี้ เพราะว่าผู้ที่ไม่เห็นธรรม แลมีชีวิตเป็นอยู่ตลอดร้อยปีนั้น เป็นอยู่ด้วยความประมาท ปราศจากสติ ไม่มีสติระลึกรู้กุศลธรรม บุคคลที่ประมาทนั้น ถึงจะมีชีวิตเป็นอยู่ พระองค์ก็ตรัสว่า เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เพราะเป็นอยู่ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ตน บุคคลที่ได้เห็นธรรมแลมีชีวิตเป็นอยู่วัน ๑ นั้น เป็นอยู่ด้วยปัญญาประกอบไปด้วยผลประโยชน์แก่ตน แลชื่อว่าเป็นคนไม่ประมาท

    ผู้ที่ไม่ประมาทนั้น ถึงจะตายไป ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตาย เพราะเป็นผู้มีที่กำหนดถึงคราวนั้นสมัยนั้นจักพ้นทุกข์ คือผู้ที่ไม่ประมาทนั้น มาเจริญลักษณะแห่งความไม่ประมาทแล้ว จักกระทำให้แจ้งซึ่งมรรคแลผล จักเกิดในสุคติภพอีกชาติหนึ่ง หรือ ๒ ชาติ อย่างช้าเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จักพ้นจากสังสารทุกข์ เหตุฉะนี้ ผู้ที่ไม่ประมาท ถึงจะตายไป จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตาย

    เมื่อนักปราชญ์ได้ทราบบรมพุทธาธิบายฉะนี้ ควรจะเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นมีสติระลึกถึงธรรมอันสูงสุด คือ อนตฺตา กำหนดรู้ ชาติ ความเกิด อนึ่งเมื่อรู้จักความเกิดว่า นามรูปเป็นตัวเกิดดังนั้นแล้ว เมื่อยามทุกข์ภัยอย่างใดอย่างหนึ่งบังเกิดขึ้น อย่าโทษเอาใคร ให้โทษเอาความเกิด

    เพราะเกิดมาจึงต้องทุกข์ภัยต่าง ๆ ต้องเขาด่า เขาว่า ต้องติดเครื่องจองจำ ต้องประหารฆ่าฟันต่าง ๆ ก็เพราะเกิดมา

    จำต้องแสวงหาอาหาร แลผ้านุ่งห่ม เครื่องประดับกาย ทนลม ทนแดด ทนฝน อดหลับ อดนอน ยุงริ้นกัด เพราะแสวงหาอาหารเป็นต้นนั้น ก็เพราะเกิดมา

    จะต้องเป็นหนี้ เป็นข้าให้เขาใช้สอย เป็นไปในอำนาจแห่งท่านผู้อื่น ได้ความเจ็บอกเจ็บใจต่าง ๆ ก็เพราะเกิดมา

    จะต้องไปรบทัพจับศึก พลัดพรากจากที่อยู่ที่อาศัย แลคนเป็นที่รักไป ก็เพราะเกิดมา

    จะต้องเป็นคนอนาถา ยากจนเที่ยวขอทานเขาตามถนนหนทาง กรำแดด กรำฝนทนทุกข์ลำบากยากเหนื่อย ไม่ใคร่จะมีใครให้ อด ๆ อยาก ๆ อิ่มบ้าง ไม่อิ่มบ้าง ก็เพราะเกิดมา

    จะต้องเศร้าโศกร่ำไร ทุกข์กายทุกข์ใจ คับแค้นจิต เพราะความวิปริตแลทุกขธรรมอันหนึ่งอันใดถูกต้อง คือต้องราชภัย พระเจ้าแผ่นดินริบราชฐาน ข้าวของเงินทองเหย้าเรือนที่นาที่สวน จำจองเฆี่ยนตีฆ่าฟัน หรือต้องโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย ทุพภิกขภัย ต่าง ๆ ก็เพราะเกิดมา

    จะต้องชราคร่ำคร่า รูปกายวิบัติแปรผัน เกสาก็หงอก ฟันก็โยกคลอนหักหลุด ผิวหนังเหี่ยวแห้งหดหู่ มํสํเหลวหย่อนยาน แถวเอ็นขึ้นสะพรั่ง จักษุมืด โสตตึง จมูกคัด ไม่รู้กลิ่น ชิวหาปร่าเชือน กายเป็นเหน็บชาไม่ใคร่รู้สัมผัส จิตเฟือนหลง สติไม่มั่นคง ก็เพราะเกิดมา

    จะมีอาพาธเจ็บไข้เกิดขึ้น เบียดเบียนกายต่าง ๆ คือ เจ็บตา เจ็บหู เจ็บจมูก เจ็บลิ้น เจ็บฟัน เจ็บศีรษะ เจ็บปาก เป็นโรคหอบ โรคหวัด โรคซูบผอม โรคในท้องต่าง ๆ โรคสลบแน่นิ่ง โรคลงราก โรคจุกเสียด โรคในข้อ โรคเรื้อน โรคต่อมพิษ โรคเกลื้อน กลาก หิดด้าน หิดเปื่อย โรคหืดมองคร่อ บ้าหมู โรควัณณะพิการ เป็นเม็ด เป็นผื่น โรคเกิดแต่โลหิต เกิดแต่ดี เกิดแต่เสมหะ เกิดแต่ลม เกิดแต่ฤดู โรคอุจจาระปัสสาวะพิการ โรคเกิดแต่บริหารกายไม่เสมอ โรคเกิดแต่ความเพียรแห่งตนแลผู้อื่น โรคเกิดแต่กรรมวิบากต่าง ๆ อย่างต่ำ ความไม่สบายอันมีขึ้นด้วยเย็นนัก แลร้อนนัก อยากข้าวอยากน้ำ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ

    อาพาธเหล่านี้แต่ละอย่าง ๆ บังเกิดขึ้น ล้วนเบียดเบียนกายให้ได้ทุกข์ จะมีมาก็เพราะ ชาติความเกิดเป็นนามรูป มรณะความตายชีวิตินทรีย์ขาดแตกไป อันตรธานไป ทิ้งรูปกายไว้ในที่นั้น ๆ จะมีมาก็เพราะเกิดเป็นนามรูป ถ้าไม่เกิดมาแล้ว ไหนเลยจะต้องทุกข์ต้องภัยเหล่าที่พรรณนามานี้

    ความเกิดเป็นของชั่ว ไม่ดี เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ แห่งเวทนาต่าง ๆ ควรจะคิดบาดหมางเบื่อหน่าย พิจารณาให้เห็นโทษในความเกิดแลเกลียดชัง ปล่อยวางความเกิดเสีย

    แต่โทษในความเกิดนั้น ไม่ค่อยจะมีใครเห็น เห็นแต่โทษในพยาธิแลมรณะ ถึงโทษชราเล่าก็ยากที่ผู้จะเห็น ต่อเมื่อชรา ความย่อยยับแห่งรูปกาย เสื่อมถอยกำลัง จนถึงลุกนั่งไม่ใคร่จะไหวมาถึงเข้าแก่ตน จึงจะเห็นว่า ชราเป็นของชั่ว ว่าเมื่อแต่ก่อนรูปกายก็สดใสงดงาม จะลุกนั่งเดินไปก็รวดเร็ว ทางไกล ๆ ก็ไปได้ จะทำสิ่งใดก็ทำได้ตามใจปรารถนา เดี๋ยวนี้ขัดไปทุกอย่างเพราะชรามาถึง ผู้ที่จะเห็นโทษชราเมื่อคราวมาถึงเข้าแก่ตนโดยนัยนี้ ก็น้อยตัว ต่อผู้ที่มีสติระลึกตรึกตรองพิจารณาไป จึงจะเห็นโทษชรา

    บุคคลบางพวก รูปกายชราย่อยยับ ผมหงอก ฟันหัก อายุถึงหกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบ แล้วก็มิได้เห็นโทษชรา แลมิได้คิดถึงตัวว่าเราแก่แล้ว ปรกติเป็นคนมักโลภ มักโกรธ มักหลง อิจฉาริษยา เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับทุกข์อย่างใด ก็คงที่อยู่อย่างนั้น จิตโลภ จิตโกรธ จิตหลง จิตอิจฉาริษยาหาย่อยยับเสื่อมไปตามรูปกายไม่ แลผู้นั้นก็มิได้บรรเทาถอยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉาริษยา ให้เสื่อมถอยน้อยเบาบางลงจากสันดาน ถึงจะได้ยินได้ฟังธรรมอยู่เนือง ๆ ก็เป็นแต่สักว่าฟัง หาคิดจดจำข้อธรรมที่สำคัญเป็นแก่นสารไว้ปฏิบัติดับกิเลสในสันดานไม่ บางทีฟังจำได้แต่ไม่ปฏิบัติ ไม่ได้นึกน้อมนำธรรมที่ตนจำได้ไว้ในใจ หรือปฏิบัติอยู่บ้าง นึกน้อมกระทำธรรมไว้ในใจอยู่บ้าง แต่เมื่อยามเป็นปกติยังไม่มีเหตุการณ์ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อิจฉาริษยา ยังไม่เกิดขึ้น ครั้น โลภะ โทสะ โมหะ อิจฉาริษยา บังเกิดขึ้นแล้ว ก็ปล่อยเต็มตามกำลังของความโลภ ความโกรธ ความหลง แลความอิจฉาริษยา ที่บังเกิดขึ้นนั้น

    บางทีตน โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ก็พออยู่แล้ว ยังมิหนำซ้ำชักชวนผู้อื่น ให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้อิจฉาริษยา ไปตามตนอีกเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เพราะไม่เห็นโทษชรา ไม่คิดถึงตัวว่าตนชรา จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย ชรายังไม่มาถึง รูปกายก็ยังบริบูรณ์อยู่ จะมาเห็นโทษชรา จะคิดถึงตัวว่าชราเล่า แต่ผู้ที่ชรามาถึงแล้ว ยังไม่เห็นโทษชรา ยังไม่คิดถึงตัวว่าชรา เหตุฉะนี้จึงว่า โทษชรานี้เห็นยาก ยากที่จะมีผู้แลเห็น

    แต่โทษของพยาธิ ความเจ็บไข้ แลโทษของมรณะ ความตายนั้น เห็นง่ายกว่าโทษชรา โทษชรานั้นไม่ใคร่จะมีใครกลัว ไม่เหมือนดังความเจ็บไข้แลความตาย ความเจ็บไข้แลความตายนั้นมีผู้กลัวมากนัก เพราะพยาธิความเจ็บไข้บังเกิดขึ้นย่อมไม่มีความสุข เสวยแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว เมื่อความตายมาถึง ชีวิตเลี้ยงรูปนามก็ขาด รูปก็แตก นามก็ดับ นอนกลิ้งอยู่เหมือนท่อนไม้ ท่อนฟืน ไม่มีอำนาจอะไร มดจะกัด สุนัขจะแย่ง แร้งจะทึ้ง กาจะจิก ก็นิ่ง ใครจะเหยียบย่ำข้ามไปข้ามมาก็นิ่ง ใครจะยกจะหามเอาไปทิ้งในที่โสโครกไม่สะอาดก็เฉย หรือใครจะด่า จะว่า จะทุบ จะตี จะประหาร สับฟันให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ก็นิ่ง

    ไม่เหมือนเมื่อยามมีชีวิตเป็นอยู่ จนชั้นมดจะกัด ยุงจะกิน ริ้นจะไต่ หรือใครว่าให้ไม่ชอบใจก็โกรธเคืองหมายมั่น พยาบาทจองเวร หาอุบายประทุษร้ายได้ความฉิบหายต่าง ๆ รูปแตกนามดับแล้วก็ตกลงเป็นราคาเดียวกัน ทั้งไพร่ทั้งผู้ดี มิได้มีอำนาจอะไร

    อนึ่งเมื่อพยาธิเจ็บไข้บังเกิดขึ้น ได้ทุกขเวทนา ก็ยังได้เห็นหน้าญาติเผ่าพันธุ์มิตรสหายอันเป็นที่รักเจริญจิตอยู่บ้าง แลยังจะคิดขยับขยายทำบุญกุศลได้บ้าง

    พยาธินั้นถึงสัตว์จะกลัวมากก็ยังไม่เท่ามรณะ ความตายนี้สัตว์กลัวยิ่งนัก เพราะสัตว์มีชีวิตเป็นที่รักยิ่งกว่าสิ่งอื่น แลความตายนั้นมีมาถึงเข้าแล้ว สารพัดจะต้องสละต้องวิโยค พลัดพรากจากสัตว์แลสังขาร อันเป็นที่รักเจริญใจทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกประการ เหตุดังนั้น ความตายนี้สัตว์จึงกลัวมาก เป็นทุกข์ภัยอย่างใหญ่ของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ก็ผู้ที่จะเห็นโทษเห็นทุกข์ในพยาธิแลมรณะ จะสะดุ้งกลัวต่อพยาธิและมรณะนั้น ก็เมื่อยามมาถึงเข้าแก่ตน หรือเห็นคนอื่นเขาเจ็บเขาตายกันกลุ้ม ๆ ถึงเห็นโทษ ทุกข์ภัยในพยาธิแลมรณะ ร้อนใจกลัวจะต้องเจ็บต้องตายเหมือนเขาบ้าง

    หรือเมื่อครั้งปีระกา มีอหิวาตกโรคบังเกิดขึ้น คนต้องโรคตายมากนัก ผู้ที่เห็นเขาเจ็บตายไปอย่างนั้น ก็หวาดหวั่นพรั่นตัวกลัวจะต้องเจ็บต้องตายไปบ้าง พากันทำบุญให้ทาน ทำการกุศลต่าง ๆ เพื่อจะห้ามกันความตาย หรือเพื่อจะตายไป บุญกุศลนั้นจะได้เป็นของตัวติดตามไปให้ได้ความสุขในเบื้องหน้า บางพวกก็ภาวนาบ่นพึมพำ ๆ เพื่อจะกันตาย ครั้นท้องลั่นจ๊อกขึ้นมาก็ตกใจหน้าสลด คิดว่าเราเห็นจะตายคราวนี้เป็นแน่ บางพวกมีคนเป็นที่รักจากไปเสียในที่อื่นก็ร้องไห้ร่ำไรคิดถึงกัน บางพวกเที่ยวนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดมนต์ฉันเช้า บางพวกก็นิมนต์พระมารับสังฆภัตต์แลอุเทสภัตต์เป็นต้น คราวนั้นพระภิกษุสงฆ์ตามบึงบาง แลภิกษุสงฆ์ในบ้านในเมืองร่ำรวยนัก จนไม่มีท้องจะใส่ เพราะมีผู้เขาทำบุญให้ทานมาก ครั้นอหิวาตกโรคสงบเงียบลง พระภิกษุก็อดโซไป เพลาเช้า ๆ ออกเที่ยวบิณฑบาตก็ไม่ใคร่จะพอฉัน ท่านที่มีอุปัฏฐากญาติโยมอยู่ใกล้ ๆ ก็พอยังชั่ว ท่านที่ไม่มีอุปัฏฐากญาติโยม หรือมีอยู่เสียไกลก็ลำบาก เพราะไม่ใคร่จะมีผู้ทำบุญ

    ผู้ที่จะทำบุญกุศลแลจะเหลียวแลดูพระ จะนับถือพระเป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึกนั้น ก็เมื่อยามทุกข์ภัยบังเกิดขึ้น หรือเมื่อแก่ทุพพลจวนจะใกล้ตาย หรือเมื่อยามเจ็บหนักจวนจะแตกดับ หรือเมื่อยามความตายใกล้จะถึงเข้า ยามปกติเป็นสุขสบายอยู่แล้ว ผู้ที่จะเหลียวหน้ามาดูพระ แลจะนับถือพระเป็นที่พึ่ง แลคิดจะทำบุญทำกุศลนั้นน้อยนัก ร้อยส่วนจะได้สักส่วน ๑ ก็ทั้งยาก เว้นเสียแต่ผู้ที่ไม่ประมาทมีสติคิดอยู่เสมอว่า เราจะต้องทุกข์ต้องภัย จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย สิ่งอื่นไม่เป็นของเรา บุญบาปนี้แหละเป็นของเรา อันนี้ก็เป็นธรรมดาของสัตว์ผู้เป็นปุถุชน มีสันดานหนาไปด้วยกิเลส ใช่แต่จะมีแต่ในกาลเดี๋ยวนี้ก็หาไม่ ถึงในกาลที่ล่วงไปแล้วก็เป็นอย่างนี้ กาลต่อไปข้างหน้าก็จักเป็นอย่างนี้เหมือนกัน

    แต่ถึงกระนั้นเล่า เมื่อยามทุกข์ภัยมาถึงบังเกิดขึ้น หรือเมื่อความชรา พยาธิ มรณะ ครอบงำ แลเหลียวดูพระ เห็นคุณพระนับถือพระ กระทำบุญกุศลก็เป็นการดี ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท แลชื่อว่าเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งตน ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท แลรักษาไว้ซึ่งตนนั้น ก็แต่บุคคลที่รักษาตน ผู้ที่ไม่รักษาตนแล้ว ย่อมเป็นผู้ประมาทหารักษาซึ่งตนไม่ ผู้ที่รักษาตนนั้น ย่อมรักษาไว้ซึ่งตนในวัยทั้ง ๓ เมื่อรักษาตนในวัยทั้ง ๓ ไม่ได้ ก็ย่อมจะรักษาซึ่งตนในวัยอันใดอันหนึ่ง เมื่อเราท่านทั้งปวงมีความรักตน อยากให้ตนได้ความสุข ไม่อยากให้ทุกข์มาถึงแก่ตนแล้ว จำจะต้องเป็นผู้ไม่ประมาทรักษาไว้ซึ่งตน เมื่อจะรักษาไว้ซึ่งตนนั้น พึงปฏิบัติตามนัยพุทธภาษิตตรัสเทศนาที่ว่า :-

    อตฺตานญฺเจ ยํ ชญฺญา รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ

    ติณฺณมญฺญญตรํ ยามํ ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต

    อธิบายความในพระคาถาว่า

    ถ้าว่าบุคคลพึงรู้ซึ่งตนว่าเป็นที่รักไซร้ บุคคลผู้นั้นพึงรักษาซึ่งตนนั้นให้เป็นตน อันตนรักษาไว้ดี คือว่าผู้นั้นจะเป็นผุ้รักษาตนดีด้วยอุบายอันใด ก็พึงรักษาตนนั้นด้วยอุบายนั้น พระอรรถกถาจารย์สังวรรณนาว่า ถ้าบุคคลผู้เป็นคฤหัสถ์คิดว่า เราจะรักษาตน เข้าไปยังห้องปิดประตูลั่นกลอนแลถึงพร้อมด้วยอารักขา แม้จะอยู่พื้นเบื้องบนปราสาทไซร้ ก็ไม่ชื่อว่ารักษาซึ่งตน

    ฝ่ายบรรพชิตแม้จะอยู่ในถ้ำที่มีบานประตูปิดเปิด ปิดเสียอยู่ในที่นั้น ด้วยคิดว่าเราจะรักษาซึ่งตนดังนี้ ก็ไม่ชื่อว่ารักษาตนซึ่งตน

    ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ เมื่อทำบุญกุศล มีบำเพ็ญทานรักษาศีลเป็นต้น ตามกำลัง ก็หรือบรรพชิต เมื่อถึงซึ่งอันขวนขวายในวัตรปฏิบัติแลปริยัติการเล่าเรียน แลกระทำไว้ในใจซึ่งกรรมฐานภาวนา ย่อมชื่อว่ารักษาซึ่งตน

    เมื่อไม่อาจปฏิบัติอย่างนี้ได้ในวัยทั้ง ๓ ผู้เป็นบัณฑิตพึงปฏิบัติชำระซึ่งตนในวันอันใดอันหนึ่ง ถ้าหากว่า บุคคลที่เป็นคฤหัสถ์ครอบครองเรือนในปฐมวัย ไม่อาจกระทำกุศล เหตุตนยังขวนขวายในกิจการเพื่อจะยังทรัพย์สินให้เกิดขึ้นอยู่ ในมัชฌิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาท กระทำบุญกุศล ถ้าในมัชฌิมวัยยังเลี้ยงบุตรภรรยา ไม่อาจกระทำบุญกุศลได้ไซร้ ในปัจฉิมวัยพึงรีบกระทำกุศลเสียทีเดียว แม้ปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้รักษาซึ่งตน เมื่อไม่กระทำอย่างนี้ ไม่ชื่อว่ารักตน ชื่อว่ากระทำตนให้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

    ฝ่ายบรรพชิต ถ้าในปฐมวัยมัวเล่าเรียนกระทำการท่องบ่นจำทรงบอกกล่าว แลกระทำวัตรปฏิบัติแกพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น ถึงซึ่งความประมาทอยู่ไซร้ ในมัชฌิมวัยพึงเป็นผู้ไม่ประมาท เจริญสมณธรรม ถ้าในมัชฌิมวัยยังใคร่ถามเนื้อความแลข้อวินิจฉัยเหตุอันใช่เหตุแห่งปริยัติที่ตนเล่าเรียนในปฐมวัย ถึงซึ่งความประมาทอยู่ ในปัจฉิมวัย พึงเป็นผู้ไม่ประมาทเจริญสมณธรรม เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้รักซึ่งตน เมื่อไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ชื่อว่ารักตน ย่อมจะทำตนให้เดือดร้อนเนือง ๆ ในภายหลัง โดยนัยพุทธภาษิตและอรรถกถาจารย์แสดงไว้ฉะนี้

    เหตุดังนั้น สาธุชนสัปบุรุษพึงปฏิบัติให้ชื่อว่าเป็นอันรักตน ประกอบการกุศล แลศึกษาให้รู้จักชาติ ชรา มรณะ โดยนัยที่วิสัชนามาฉะนี้ ๚


    คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/sd-wanarut-06.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...