กสิณ 10 และการพิจารณาขันธ์ 5 เป็นวิปัสสนาญาณ

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ขง, 6 กันยายน 2015.

  1. ขง

    ขง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +676
    พิจารณาขันธ์ ๕ เป็นวิปัสสนาญาณ


    อันนี้ไม่มีอะไรพิสดารท่านสอนให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา โดยให้พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วยก็รักษา เพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจ หรือมันเริ่มป่วยไข้ ก็คิดว่าธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้ เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่ ถ้าทรงอยู่ได้ ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไป ถ้าเอาไว้ไม่ได้มันจะผุพัง ก็ไม่มีอะไรหนักใจ ความทุกข์จะเกิดแก่ตัวเองหรือใคร อะไรก็ตาม ไม่ผูกจิตติดใจอย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุอรหัตผล ตามนัยที่ท่านสารีบุตรกล่าวไว้ในขันธวรรคแห่งพระไตรปิฏก

    ที่มา :: หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ. อุทัยธานี


    *****​


    กสิณ


    ปฐวีกสิณ

    กสิณนี้ ท่านเรียกว่า ปฐวีกสิณ เพราะมีการเพ่งดินเป็นอารมณ์ ศัพท์ว่า "ปฐวี" แปลว่า "ดิน" กสิณ แปลว่า "เพ่ง" รวมความแล้วได้ความว่า "เพ่งดิน"

    อุปกรณ์กสิณ

    ปฐวีกสิณนี้ มีดินเป็นอุปกรณ์ในการเพ่ง จะเพ่งดินที่เป็นพื้นลานดิน ที่ทำให้เตียนสะอาด จากผงธุลี หรือจะทำเป็นสะดึงยกไปยกมาได้ ก็ใช้ได้ทั้งสองอย่าง ดินที่จะเอามาทำเป็นดวงกสิณนั้น ท่านให้ใช้ดินสีอรุณอย่างเดียว ห้ามเอาดินสีอื่นมาปน ถ้าจำเป็นหาดินสีอรุณไม่ได้มาก ท่านให้เอาดิน สีอื่นรองไว้ข้างล่างแล้วเอาดินสีอรุณทาทับไว้ข้างบน ดินสีอรุณนี้ ท่านโบราณาจารย์ท่านว่าหาได้จาก ดินขุยปู เพราะปูขุดเอาดินสีอรุณขึ้นไว้ปากช่องรูที่อาศัย เมื่อหาดินได้ครบแล้ว ต้องทำสะดึงตาม ขนาดดังนี้ ถ้าทำเป็นลานติดพื้นดิน ก็มีขนาดเท่ากัน

    ขนาดดวงกสิณ

    วงกสิณที่ทำเป็นวงกลมสำหรับเพ่ง อย่างใหญ่ท่านให้ทำไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว อย่างเล็กไม่เล็กกว่าขอบขัน ระยะนั่งเพ่งบริกรรม ท่านให้นั่งไม่ใกล้ไม่ไกลกว่า ๒ คืบ ๔ นิ้ว ตั่งที่รองวงกสิณ ท่านให้สูงไม่เกิน ๒ คืบ ๔ นิ้ว ท่านว่าเป็นระยะที่พอเหมาะพอดี เพราะจะได้ ไม่มองเห็นรอยที่ปรากฏบนดวงกสิณ ที่ท่านจัดว่าเป็นกสิณโทษ เวลาเพ่งกำหนดจดจำ ท่านให้ มุ่งจำแต่สีดิน ท่านไม่ให้คำนึงถึงขอบและริ้วรอยต่าง ๆ

    กิจก่อนการเพ่งกสิณ

    เมื่อจัดเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ท่านให้ชำระร่างกายให้สะอาด แล้วนั่งขัดสมาธิที่ตั่ง สำหรับนั่ง หลับตาพิจารณาโทษของกามคุณ ๕ ประการ ตามนัยที่กล่าวในอสุภกรรมฐาน ต้องการ ทราบละเอียดโปรดเปิดไปที่ บทว่าด้วยอสุภกรรมฐาน จะทราบละเอียด เมื่อพิจารณาโทษของ กามคุณจนจิตสงบจากนิวรณ์แล้วให้ลืมตาขึ้นจ้องมองภาพกสิณจดจำให้ดีจนคิดว่าจำ ได้ก็หลับตาใหม่ กำหนดภาพกสิณไว้ในใจ ภาวนาเป็นเครื่องผูกใจไว้ว่า "ปฐวีกสิณ" เมื่อเห็นว่าภาพเลือนไปก็ลืมตา ดูใหม่ เมื่อจำได้แล้วก็หลับตาภาวนากำหนดจดจำภาพนั้นต่อไป ทำอย่างนี้บ่อยๆ หลายร้อยหลายพัน ครั้งเท่าใดไม่จำกัด จนกว่าอารมณ์ของใจจะจดจำภาพกสิณไว้ได้เป็นอย่างดี จะเพ่งมองดูหรือไม่ ก็ตาม ภาพกสิณนั้นก็จะติดตาติดใจ นึกเห็นภาพได้ชัดเจนทุกขณะที่ปรารถนาจะเห็นติดตาติดใจ ตลอดเวลา อย่างนี้ท่านเรียกว่า "อุคคหนิมิต" แปลว่า นิมิตติดตา อุคคหนิมิตนี้ ท่านว่ายังมีกสิณ โทษอยู่มาก คือภาพที่เห็นเป็นภาพดินตามที่ทำไว้ และขอบวงกลมของสะดึง ย่อมปรากฏริ้วรอย ต่าง ๆ เมื่อเข้าถึงอุคคหนิมิตแล้ว ท่านให้เร่งระมัดระวังรักษาอารมณ์สมาธิและนิมิตนั้นไว้จนกว่า จะได้ปฏิภาคนิมิต ปฏิภาคนิมิตนั้น รูปและสีของกสิณเปลี่ยนจากเดิม คือกสิณทำเป็นวงกลมด้วย ดินแดงนั้น จะกลายเป็นเสมือนแว่นแก้ว มีสีใสสะอาดผ่องใสคล้ายน้ำที่กลิ้ง อยู่ในใบบัว ฉะนั้น รูปนั้นบางท่านกล่าวว่าคล้ายดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกปิดบัง เอากันง่าย ๆ ก็คือ เหมือน แก้วที่สะอาดนั่นเอง รูปคล้ายแว่นแก้ว จะกำหนดจิตให้เล็กโตสูงต่ำได้ตาม ความประสงค์ อย่างนี้ท่านเรียกปฏิภาคนิมิต เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วท่านให้นักปฏิบัติเก็บตัว อย่ามั่วสุมกับ นักคุยทั้งหลาย จงรักษาอารมณ์ รักษาใจให้อยู่ในขอบเขตของสมาธิเป็นอันดี อย่า สนใจใน อารมณ์ของนิวรณ์แม้แต่น้อยหนึ่ง เพราะแม้นิดเดียวของนิวรณ์ อาจทำอารมณ์ สมาธิที่กำลัง จะเข้าสู่ระดับฌานนี้ให้สลายตัวได้โดยฉับพลัน ขอท่านนักปฏิบัติจงระมัดระวัง อารมณ์รักษา ปฏิภาคนิมิตไว้ คล้ายกับระมัดระวังบุตรสุดที่รักที่เกิดในวันนั้น

    จิตเข้าสู่ระดับฌาน

    เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เข้าระดับฌาน อารมณ์ของฌานในกสิณทั้ง ๑๐ อย่างนั้น มีอารมณ์ดังนี้ ฌานในกสิณนี้ท่านเรียกว่าฌาน ๔ บ้าง ฌาน ๕ บ้าง เพื่อเป็นการป้องกันการ เข้าใจผิด ขออธิบายฌาน ๔ และ ฌาน ๕ ให้เข้าใจเสียก่อน

    ฌาน ๔

    ฌาน ๔ ท่านเรียกว่า จตุตถฌาน ท่านถืออารมณ์อย่างนี้
    ๑. ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒. ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือ ละวิตกและวิจารเสียได้ คงดำรงอยู่ในองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๓. ตติยฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ ดำรงอยู่ในสุขกับเอกัคคตา
    ๔. จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุข เสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา กับเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑
    ฌาน ๔ หรือที่เรียกว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึง ๔ ท่านจัดไว้อย่างนี้ สำหรับในที่บางแห่ง ท่านว่ากสิณทั้งหมดทรงได้ถึงฌาน ๕ ท่านจัดของท่านดังต่อไปนี้

    ฌาน ๕

    ๑. ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒. ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ ละวิตกเสียได้ คงทรง วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๓. ตติยฌานมีองค์ ๓ คือ ละวิตก วิจาร เสียได้ คงทรง ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๔. จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ ละวิตก วิจาร ปีติ เสียได้ คงทรงสุขกับเอกัคคตา
    ๕. ฌาน ๕ หรือที่เรียกว่าปัญจมฌาน มีองค์สองเหมือนกันคือ ละวิตก วิจาร ปีติ สุขเสียได้ คงทรงอยู่ในเอกัคคตา และเพิ่มอุเบกขาเข้ามาอีก ๑
    เมื่อพิจารณาดูแล้ว ฌาน ๔ กับฌาน ๕ ก็มีสภาพอารมณ์เหมือนกัน ผิดกันนิดหน่อยที่ ฌาน ๒ ละองค์เดียว ฌาน ๓ ละ ๒ องค์ ฌาน ๔ ละ ๓ องค์ มาถึงฌาน ๕ ก็มีสภาพเหมือน ฌาน ๔ ตามนัยนั่นเอง อารมณ์มีอาการเหมือนกันในตอนสุดท้าย อารมณ์อย่างนี้ ท่านแยกเรียก เป็นฌาน ๔ ฌาน ๕ เพื่ออะไรไม่เข้าใจเหมือนกัน กสิณนี้ถ้าท่านผู้ปฏิบัติทำให้ถึงฌาน ๔ หรือ ฌาน ๕ ซึ่งมีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ และอุเบกขารมณ์ไม่ได้ ก็เท่ากับท่านผู้นั้นไม่ได้เจริญ ในกสิณนั้นเอง เมื่อได้แล้วก็ต้องฝึกการเข้าฌานออกฌานให้คล่องแคล่ว กำหนดเวลาเข้า เวลา ออกให้ได้ตามกำหนด จนเกิดความชำนาญ เมื่อเข้าเมื่อไร ออกเมื่อไรได้ตามใจนึก การ เข้า ฌานต้องคล่องไม่ใช่เนิ่นช้าเสียเวลาแม้ครึ่งนาที พอคิดว่าเราจะเข้าฌานละก็เข้าได้ทันที ต้องยึด ฌาน ๔ หรือฌาน ๕ คือเอาฌานที่สุดเป็นสำคัญ เมื่อเข้าฌานคล่องแล้ว ต้องฝึกนิรมิตตามอำนาจ กสิณให้ได้คล่องแคล่วว่องไว
    จึงจะชื่อว่าได้กสิณกองนั้น ๆ ถ้ายังทำไม่ได้ถึง ไม่ควรย้ายไปปฏิบัติ ในกสิณกองอื่น การทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลเร็ว กลับเสียผล คือของเก่าไม่ทันได้ ทำใหม่ เก่าก็จะหาย ใหม่ก็จะไม่ปรากฏผล ถ้าชำนาญช่ำชองคล่องแคล่วในการนิรมิต อธิษฐานแล้ว เพียงกองเดียว กองอื่นทำไม่ยากเลย เพราะอารมณ์ในการฝึกเหมือนกันต่างแต่สีเท่านั้น จะเสียเวลาฝึกกองต่อๆ ไป ไม่เกินกองละ ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน เป็นอย่างสูง จะนิรมิตอธิษฐานได้ สมตามที่ตั้งใจของนักปฏิบัติ จงอย่าใจร้อน พยายามฝึกฝน จนกว่าจะได้ผลสูงสุดเสียก่อน จึงค่อยย้ายกองต่อไป

    องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง

    ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ

    - วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมิต นั้นเป็นอารมณ์

    - วิจาร พิจารณาปฏิภาคนิมิตนั้น คือพิจารณาว่า รูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงดงาม คล้าย แว่นแก้วที่มีคนชำระสิ่งเปรอะเปื้อนหมดไป เหลือไว้แต่ดวงเก่าที่บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากธุลีต่างๆ

    - ปีติ มีประเภท ๕ คือ

    ๑. ขุททกาปีติ มีอาการขนพองสยองเกล้าและน้ำตาไหล
    ๒. ขณิกาปีติ มีแสงสว่างเข้าตาคล้ายแสงฟ้าแลบ
    ๓. โอกกันติกาปีติ มีอาการร่างกายกระเพื่อมโยกโคลง คล้ายเรือที่ถูกคลื่นซัด บางท่าน ก็นั่งโยกไปโยกมา อย่างนี้เรียก โอกกันติกาปีติ
    ๔. อุพเพงคาปีติ มีกายลอยขึ้นเหนือพื้น บางรายก็ลอยไปได้ไกลหลายๆ กิโลก็มี
    ๕. ผรณาปีติ อาการเย็นซ่าซาบซ่านทั้งร่างกาย และมีอาการคล้ายกับร่างกายใหญ่ สูงขึ้นกว่าปกติ

    - สุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต

    - เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติ ไม่สอดส่าย อารมณ์ออกนอกจากปฏิภาคนิมิต

    ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็นปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่นๆ แปลกแต่กสิณนี้ มีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน

    - ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ตอนนี้จะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณ จะยุติลง คงเหลือแต่ความสดชื่นด้วยอำนาจปีติ อารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสดสวยงดงาม วิจิตรตระการตามากกว่าเดิม มีอารมณ์เป็นสุขประณีตกว่าเดิม อารมณ์จิตแนบสนิทเป็น สมาธิ มากกว่า

    - ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้ เหลือแต่ความสุขแบบเครียดๆ คือมีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต คล้ายใครเอาเชือกมามัดไว้มิให้เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวยน้อยเต็มที่ ภาพนิมิตดูงามสง่าราศีละเอียดละมุนละไม มีรัศมีผ่องใสเกินกว่าที่ประสบมา อารมณ์ของจิตไม่สนใจ กับอาการทางกายเลย

    - จตุตถฌาน ทรงไว้เพียงเอกัคคตา กับอุเบกขา คือมีอารมณ์ดิ่ง ไม่มีอารมณ์รับความสุข และความทุกข์ใดๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น มีอุเบกขาวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งมวลมีจิตสว่างโพลง คล้ายใครเอาประทีปที่สว่างมากหลายๆ ดวงมาตั้งไว้ในที่ใกล้ ไม่มีอารมณ์รับแม้แต่ เสียงลมหายใจ สงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ ๔ เป็นฌานสำคัญชั้นยอด ควรกำหนดรู้แบบง่ายๆ ไว้ว่า เมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน ๔ จะไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ควรกำหนดไว้ง่ายๆ แบบนี้สะดวกดี

    ท่านทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบของกสิณต้องถึง ฌาน ๔ และนิมิตอะไรต่ออะไรตามอำนาจกสิณ ถ้าทำไม่ถึงกับนิมิตได้ตามอำนาจกสิณ ก็เป็น เสมือนท่านยังไม่ได้กสิณเลย

    อาโปกสิณ

    อาโปกสิณ อาโป แปลว่า น้ำ กสิณ แปลว่า เพ่ง อาโปกสิณ แปลว่า เพ่งน้ำ กสิณน้ำ มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ท่านให้เอาน้ำที่สะอาด ถ้าได้น้ำฝนยิ่งดี ถ้าหาน้ำฝนไม่ได้ท่านให้เอา น้ำที่ใสแกว่งสารส้มก็ได้ อย่าเอาน้ำขุ่น หรือมีสีต่างๆ มา ท่านให้ใส่น้ำในภาชนะเท่าที่จะหาได้ ใส่ให้เต็มพอดี อย่าให้พร่อง การนั่ง หรือเพ่ง มีอาการอย่างเดียวกับปฐวีกสิณ จนกว่าจะเกิด อุคคหนิมิต อุคคหนิมิตของอาโปกสิณนี้ปรากฏเหมือนน้ำไหวกระเพื่อม สำหรับปฏิภาคนิมิต ปรากฏเหมือนพัดใบตาลแก้วมณี คือใสมีประกายระยิบระยับ เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วจงเจริญ ต่อไปให้ถึงจตุตถฌาน บทภาวนา ภาวนาว่า อาโปกสิณัง

    เตโชกสิณ

    เตโช แปลว่า ไฟ กสิณเพ่งไฟเป็นอารมณ์ กสิณนี้ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้ จุดไฟให้ลุกโชน แล้วเอาเสื่อหรือหนังมาเจาะทำเป็นช่องกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้ววางเสื่อหรือหนังนั้น ไว้ข้างหน้า ให้เพ่งพิจารณาไปตามช่องนั้น การนั่งสูง หรือระยะไกลใกล้ เหมือนกับปฐวีกสิณ การเพ่ง อย่าเพ่งเปลวไฟที่ไหวไปมา ให้เลือกเพ่งแต่ไฟที่มีแสงหนาทึบที่ปรากฏตามช่องนั้นเป็น อารมณ์ ภาวนาว่า เตโชกสิณัง ๆๆๆ หลาย ๆ ร้อยหลายพันครั้ง จนกว่านิมิตจะเป็นอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตปรากฏเป็นดวงเพลิงตามปกติ สำหรับปฏิภาคนิมิตนั้นมีรูปคล้าย ผ้าแดงผืนหนา หรือคล้ายกับพัดใบตาลที่ทำด้วยทองหรือเสาทองคำที่ตั้งอยู่ในอากาศ เมื่อได้ ปฏิภาคนิมิตแล้ว ท่านจงพยายามทำให้ถึงจตุตถฌานเถิด ผลที่ตั้งใจไว้จะได้รับสมความปรารถนา

    วาโยกสิณ

    วาโยกสิณ แปลว่า เพ่งลม การถือเอาลมเป็นนิมิตนั้น ท่านกล่าวว่าจะถือเอาด้วยการ เห็นหรือจะถือเอาด้วยการกระทบก็ได้

    การกำหนดถือเอาด้วยการเห็น ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดถูกต้องปลายหญ้าหรือปลายไม้ เป็นอารมณ์เพ่งพิจารณา

    การถือเอาด้วยการถูกต้อง ท่านให้ถือเอาการที่ลมพัดมากระทบตัวเป็นอารมณ์ สมัยนี้ การถือเอาลมกระทบจะใช้พัดลมเป่าแทนพัดลม หรือถือเอาการเห็นต้นหญ้าต้นไม้ที่ไหวเพราะ ลมพัด จะใช้พัดลมเป่าให้ไหวแทนลมธรรมชาติก็ได้ เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่ ให้ภาวนาว่า วาโยกสิณัง ๆๆๆ

    อุคคหนิมิตของวาโยกสิณนี้ ปรากฏว่ามีการไหวๆ คล้ายกับกระไอแห่งการหุงต้มที่มี ไอปรากฏมากระทบจักษุ พูดให้ชัดเข้าก็คือ มีปรากฏการณ์คล้ายตามองเห็นไอน้ำที่ต้มเดือดแล้ว นั่นเอง มีอาการปรากฏขึ้นอย่างนั้น

    สำหรับปฏิภาคนิมิต มีอาการปรากฏภาพเหมือนไอน้ำที่ลอยขึ้น แต่ไม่เคลื่อนไหวหรือ คล้ายกับก้อนเมฆบาง ที่ลอยอยู่คงที่นั่นเอง อาการอื่นนอกจากนี้เหมือนในปฐวีกสิณ

    นีลกสิณ

    นีลกสิณ แปลว่า เพ่งสีเขียว ท่านให้ทำสะดึงขึงด้วยผ้าหรือหนัง กระดาษก็ได้ แล้วเอา สีเขียวทา หรือจะเพ่งพิจารณาสีเขียวจากใบไม้ก็ได้ ทำเช่นเดียวกับปฐวีกสิณ

    อุคคหนิมิต
    เมื่อเพ่งภาวนาว่า นีลกสิณัง ๆๆๆๆ อุคคหนิมิตนั้นปรากฏเป็นรูปที่เพ่งนั่นเอง

    ปีตกสิณ

    ปีตกสิณ แปลว่า เพ่งสีเหลือง การปฏิบัติทุกอย่างเหมือนนีลกสิณ แต่อุคคหนิมิตเป็น สีเหลือง ปฏิภาคนิมิตเหมือนนีลกสิณ นอกนั้นเหมือนกันหมด บทภาวนา ภาวนาว่า ปีตกสิณังๆๆ

    โลหิตกสิณ

    โลหิตกสิณ แปลว่า เพ่งสีแดง บทภาวนา ภาวนาว่า โลหิตกสิณัง ๆๆๆๆ นิมิตที่จัดหา มาเพ่ง จะเพ่งดอกไม้สีแดงหรือเอาสีแดงมาทาทับกับสะดึงก็ได้ อุคคหนิมิตเป็นสีแดง ปฏิภาคนิมิต เหมือนนีลกสิณ

    โอทาตกสิณ

    โอทาตกสิณ แปลว่า เพ่งสีขาว บทภาวนา ภาวนาว่า โอทาตกสิณัง ๆๆๆๆ สีขาวที่ จะเอามาเพ่งนั้น จะหาจากดอกไม้หรืออย่างอื่นก็ได้ตามแต่จะสะดวก หรือจะทำเป็นสะดึงก็ได้ นิมิตทั้งอุคคหะและปฏิภาคก็เหมือนนีลกสิณ เว้นไว้แต่อุคคหะเป็นสีขาวเท่านั้นเอง

    อาโลกกสิณ

    อาโลกกสิณ แปลว่า เพ่งแสงสว่าง ท่านให้หาแสงสว่างที่ลอดมาตามช่องฝาหรือช่อง หลังคา หรือเจาะเสื่อลำแพน หรือแผ่นหนังให้เป็นช่องเท่า ๑ คืบ ๔ นิ้ว ตามที่กล่าวในปฐวีกสิณ แล้วภาวนาว่า อาโลกกสิณัง ๆๆ อย่างนี้ จนอุคคหนิมิตปรากฏ

    อุคคหนิมิตของอาโลกกสิณ มีรูปเป็นแสงสว่างที่เหมือนรูปเดิมที่เพ่งอยู่ ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นแสงสว่างหนาทึบเหมือนกับ เอาแสงสว่างมากองรวมกันไว้ที่นั้น แล้วต่อไปขอให้นักปฏิบัติจงพยายาม ทำให้เข้าถึงจตุตถฌาน เพราะข้อความที่จะกล่าวต่อไป ก็เหมือนกับที่กล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณ

    อากาสกสิณ

    อากาสกสิน แปลว่า เพ่งอากาศ อากาสกสิณนี้ ภาวนาว่า อากาสกสิณัง ๆๆ ท่าน ให้ทำเหมือนในอาโลกกสิณ คือ เจาะช่องเสื่อหรือหนัง หรือมองอากาศ คือความว่างเปล่าที่ลอดมา ตามช่องฝา หรือหลังคา หรือตามช่องเสื่อและผืนหนัง โดยกำหนดว่า อากาศ ๆๆ จนเกิดอุคคหนิมิต ซึ่งปรากฏเป็นช่องตามรูปที่กำหนด ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏคล้ายอุคคหนิมิต แต่มีพิเศษที่บังคับให้ ขยายตัวออกให้ใหญ่เล็ก สูงต่ำได้ตามความประสงค์ อธิบายอื่นก็เหมือนกสิณอื่นๆ

    อานุภาพกสิณ ๑๐

    กสิณ ๑๐ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติในกสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตุตถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณ กองนั้น ๆ มีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน ๔ แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่าง ๆ ตามแบบ ท่านว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าถึงกสิณ อำนาจฤทธิ์ในกสิณต่างๆ มีดังนี้

    ปฐวีกสิณ มีฤทธิ์ดังนี้ เช่น นิรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นคนมากได้ ให้คนมากเป็นคน ๆ เดียว ได้ ทำน้ำและอากาศให้แข็งได้

    อาโปกสิณ สามารถนิรมิตของแข็งให้อ่อนได้ เช่น อธิษฐานสถานที่เป็นดินหรือหินที่ กันดารน้ำให้เกิดบ่อน้ำ อธิษฐานหินดินเหล็กให้อ่อน อธิษฐานในสถานที่ฝนแล้งให้เกิดฝนอย่างนี้ เป็นต้น

    เตโชกสิณ อธิษฐานให้เกิดเป็นเพลิงเผาผลาญหรือให้เกิดแสงสว่างได้ ทำแสงสว่างให้ เกิดแก่จักษุญาณสามารถเห็นภาพต่าง ๆ ในที่ไกลได้คล้ายตาทิพย์ ทำให้เกิดความร้อนในทุก สถานที่ได้

    วาโยกสิณ อธิษฐานจิตให้ตัวลอยตามลม หรืออธิษฐานให้ตัวเบา เหาะไปในอากาศก็ได้ สถานที่ใดไม่มีลม อธิษฐานให้มีลมได้

    นีลกสิณ สามารถทำให้เกิดสีเขียว หรือทำสถานที่สว่างให้มืดครึ้มได้

    ปีตกสิณ สามารถนิรมิตสีเหลืองหรือสีทองให้เกิดได้

    โลหิตกสิณ สามารถนิรมิตสีแดงให้เกิดได้ตามความประสงค์

    โอทาตกสิณ สามารถนิรมิตสีขาวให้ปรากฏ และทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานที่อำนวยประโยชน์ ในทิพยจักษุญาณ เช่นเดียวกับเตโชกสิณ

    อาโลกกสิณ นิรมิตรูปให้มีรัศมีสว่างไสวได้ ทำที่มืดให้เกิดแสงสว่างได้ เป็นกรรมฐานสร้างทิพยจักษุญาณโดยตรง

    อากาสกสิณ สามารถอธิษฐานจิตให้เห็นของที่ปกปิดไว้ได้ เหมือนของนั้นวางอยู่ในที่แจ้ง สถานที่ใดเป็นที่อับด้วยอากาศ สามารถอธิษฐานให้เกิดความโปร่ง มีอากาศสมบูรณ์เพียงพอแก่ความต้องการได้

    วิธีอธิษฐานฤทธิ์

    วิธีอธิษฐานจิตที่จะให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการ ท่านให้ทำดังต่อไปนี้ ท่านให้เข้าฌาน ๔ ก่อน แล้วออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น แล้วกลับเข้าฌาน ๔ อีก ออกจากฌาน ๔ แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฏสมความปรารถนา

    (จบกสิณ ๑๐ แต่เพียงเท่านี้)

    แนะกสิณร่วมวิปัสสนาญาณ

    ท่านผู้ฝึกกสิณ ถ้าประสงค์จะให้ได้อภิญญาหก ก็เจริญไปจนกว่าจะชำนาญทั้ง ๑๐ กอง ถ้าท่านประสงค์ให้ได้รับผลพิเศษเพียงวิชชาสาม ก็เจริญเฉพาะอาโลกกสิณ หรือเตโชกสิณ หรือ โอทาตกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วฝึกทิพยจักษุญาณ แต่ท่านที่มีความประสงค์จะเร่งรัดให้เข้าสู่ พระนิพพานเร็วๆ ไม่มีความประสงค์จะได้ญาณพิเศษเพราะเกรงจะล่าช้าหรืออัชฌาสัยไม่ ปรารถนา รู้อะไรจุกจิก ชอบลัดตัดทางเพื่อถึงจุดหมายปลายทางขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

    เข้าฌานออกฌานพิจารณาขันธ์ ๕

    ท่านจะลัดตัดทางก็ตาม แต่ฌานที่ได้ควรให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือฌาน ๔ หรือฌาน ๕ เมื่อได้แล้วก่อนจะพิจารณาวิปัสสนาญาณ ท่านต้องเข้าฌานให้ถึงที่สุด จนอารมณ์จิตเป็นอุเบกขา เงียบสงัดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ มีอารมณ์ผ่องใสในกุศลธรรม แล้วออกจากฌาน ๔ หรือ ฌาน ๕ พิจารณาขันธ์ตามแบบวิปัสสนารวมดังต่อไปนี้

    พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป ได้แก่สภาพที่เห็นได้ด้วยตา เวทนา ความรับอารมณ์ ที่เป็นสุขและทุกข์ อารมณ์ที่เป็นสุข เรียกว่า สุขเวทนา อารมณ์ที่เป็นทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา อารมณ์ว่างเฉย ๆ ไม่มีความสุขความทุกข์รบกวน เรียกว่า อุเบกขา สัญญา แปลว่า ความจำ สังขาร หมายถึงอารมณ์ที่เป็นบุญ คือ อารมณ์ผ่องใส ที่เต็มไปด้วยความเมตตาปราณี อารมณ์ ที่เป็นบาป คืออารมณ์ขุ่นมัว คิดประทุษร้าย ที่เกิดขึ้นแก่ใจ เรียกว่าสังขาร วิญญาณ แปลว่า ความรับรู้ เช่น รู้หนาว ร้อน หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น เรียกว่าวิญาณ

    อาการทั้ง ๕ อย่างนี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕ ซึ่งมีปรากฏประจำร่างกายมนุษย์และสัตว์อยู่ เป็นปกติ ท่านให้พิจารณาว่า ขันธ์ ๕ นี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มี ในเรา เพราะขันธ์ ๕ นี้ เต็มไปด้วยความกลับกลอกไม่ยั่งยืนถาวร มีความเกิดขึ้นมาแล้วก็ ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ๆ ในที่สุดก็สลายตัว แม้จะหาทางกีดกันห้ามปรามอย่างไร ก็ไม่สำเร็จผล ขันธ์ ๕ ก็เปลี่ยนแปรไปตามสภาพของมัน การที่ขันธ์ ๕ เปลี่ยนแปรไม่หยุดยั้งห้ามปรามไม่ได้นี้ ท่านเรียกว่า เป็นไปตามกฎธรรมดาที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้ การเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมของสังขาร คือขันธ์ ๕ นี้ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ทั้งทางกายและใจ ใจมีทุกข์เพราะไม่ประสงค์จะให้ขันธ์ ๕ ทรุดโทรม กายเป็นทุกข์เพราะการบีบคั้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และการแสวงหาอาหารมาหล่อเลี้ยง อาการของขันธ์ ๕ มีสภาพไม่แน่นอนผันแปรไป และสลายตัวไปในที่สุดฉันใด รูปนิมิตกสิณก็ฉันนั้น ขณะนี้รูปกสิณตั้งอยู่ ความผ่องใสมีอยู่ ในกาลบางครั้งรูปกสิณนี้ก็เศร้าหมอง และรูปกสิณนี้จะดำรงอยู่ ตลอดกาลก็หาไม่ ปรากฏขึ้นไม่นานเท่าใดก็ สลายตัวไป รูปกสิณนี้มีสภาพรงตัวได้ไม่ตลอดกาลฉันใด สังขารของเราก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสลายไปอย่างรูปกสิณนี้ เอาอะไรเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้เลย ปลงไปพิจารณาไปให้เห็นเหตุเห็นผล ถ้าปลงไปจิตจะซ่าน ก็เข้าฌานในกสิณใหม่ พอใจเป็นอุเบกขา ดีแล้วก็คลายฌานพิจารณาใหม่ ทำอย่างนี้ไม่ช้าเท่าใดก็จะเกิดนิพพิทาญาณ มีความเบื่อหน่ายใน สังขารแล้วจะปลงความห่วงใยในสังขารเสียได้

    มีอารมณ์วางเฉยเมื่อทุกข์เกิดขึ้นแก่สังขารท่าน เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือวางเฉยในสังขารด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ต่อไปจิตจะเข้าโคตรภูญาณ เป็นจิตอยู่ในระหว่างปุถุชนกับพระโสดาบัน หลังจากนั้นถ้าท่านไม่ประมาท พิจารณาสังขารตามที่ กล่าวมาแล้ว โดยเข้าฌานให้มาก ออกจากฌาน พิจารณาสังขารเป็นปกติ จิตก็จะตั้งมั่นและชำแรก กิเลสให้เด็ดขาดไปได้ โดยกำจัดสังโยชน์สามเบื้องต้นสามประการ อันเป็นคุณธรรมขั้นพระโสดาบัน จะพึงกำจัดได้ คือ
    ๑. สักกายทิฏฐิ เห็นตรงข้ามกับอารมณ์นี้ที่เห็นว่า ร่างกายคือขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเราเสียได้ โดยเห็นว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เพราะถ้าขันธ์ ๕ มีในเรา เรามีในขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ เป็นเรา เราเป็นขันธ์ ๕ จริงแล้ว ในเมื่อเราไม่ต้องการความทุกข์อันเกิดจาก โรคภัยไข้เจ็บและการเปลี่ยนแปลง ขันธ์ ๕ ก็ต้องไม่มีการป่วยไข้และเปลี่ยนแปลง เราไม่ ต้องการให้ขันธ์ ๕ สลายตัว ขันธ์ ๕ ถ้าเป็นของเราจริงก็ต้องดำรงอยู่ ไม่สลายตัว แต่นี่หาเป็น เช่นนั้นไม่ กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการ และ พยายามเหนี่ยวรั้งด้วยวิธีการต่างๆ ขันธ์ ๕ ก็มิได้เป็นไปตามความปรารถนา ในที่สุดก็สลายตัว จนได้ เพราะขันธ์ ๕ เป็นสมบัติของกฎธรรมดา กฎธรรมดาต้องการให้เป็นอย่างนั้น ไม่มีใคร มีอำนาจเหนือกฎธรรมดา ฝ่าฝืนกฎธรรมดาไม่ได้ เมื่อจิตยอมรับนับถือกฎธรรมดา ไม่หวั่นไหว ในเมื่อร่างกายได้รับทุกข์เพราะป่วยไข้ หรือเพราะการงานหนักและอาการเกิดขึ้นเพราะเหตุ เกินวิสัย อารมณ์ใจยอมรับนับถือว่า ธรรมดาของผู้ที่เกิดมาในโลกที่หาความแน่นอนไม่ได้ โลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขจริงจังมิได้ ที่เห็นว่าเป็นสุขจากภาวะของโลก ก็เป็น ความสุขที่มีผีสิง คือสุขไม่จริง เป็นความสุขอันเกิดจากเหยื่อล่อของความทุกข์ พอพบความสุข ความทุกข์ก็ติดตามมาทันที เช่น มีความสุขจากการได้ทรัพย์ พร้อมกันนั้นความทุกข์เพราะ การมีทรัพย์ก็เกิด เพราะทรัพย์ที่หามาได้นั้นจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องมีทุกข์ ทันทีด้วยการคอยระวังรักษาไม่ให้สูญหายหรือทำลาย เมื่อทรัพย์นั้นเริ่มค่อย ๆ สลายตัวหรือ สูญหายทำลายไป ทุกข์เกิดหนักขึ้นเพราะมีความ เสียดายในทรัพย์ แม้แต่ตัวเองก็แบกทุกข์ เสียบรรยายไม่ไหว จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องบำรุงความสุขได้จริงจัง ไม่ว่าอะไรก็ต้องตกอยู่ ในอำนาจของกฎธรรมดาสิ้น จิตเมื่อเห็นอย่างนี้ ความสงบระงับจากความหวั่นไหวของการ เปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น เป็นจิตที่ประกอบไปด้วยเหตุผล
    ไม่มีน้ำตาไหล ในเมื่อได้ข่าวญาติ หรือคนที่รักตาย ไม่หนักใจเมื่อความตายกำลัง คืบคลานมาหาตน และพร้อมเสมอที่จะรอรับ ความตายที่จะเกิดแก่ตน ตามกฎของธรรมดา รู้อยู่ คิดอยู่ถึงความตายเป็นปกติ ยิ้มต่อความ ทุกข์และความตายอย่างไม่มีอะไรหนักใจ จิตมีอารมณ์อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ละสักกายทิฏฐิ ได้แล้ว ได้คุณสมบัติของพระโสดาบันไว้ได้หนึ่งอย่าง
    ๒. วิจิกิจฉา ละความสงสัยในมรรคผลเสียได้ โดยมีสัทธาเกิดขึ้นเที่ยงแท้มั่นคงว่า ผลของการปฏิบัตินี้มีผลที่จะพ้นจากวัฏทุกข์ได้จริง
    ๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด ไม่ยอมให้ศีล บกพร่อง เมื่อมีคุณสมบัติครบสามประการดังนี้ ท่านก็เป็นพระโสดาบันแล้ว ไม่ต้องรอให้ใครบอก และออกใบประกาศโฆษณา

    องค์ของพระโสดาบัน

    เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาตัวเอง ขอบอกองค์ของพระโสดาบันไว้ เพราะรู้ไว้เป็น คู่มือพิจารณาตัวเอง
    ๑. รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อยตลอดชีวิต
    ๒. เคารพพระรัตนตรัยอย่างเคร่งครัด ไม่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย แม้แต่จะพูด เล่นๆ ก็ไม่พูด
    ๓. มีอารมณ์รักใคร่ในพระนิพพานเป็นปกติ ไม่มีความปรารถนาอย่างอื่นนอกจาก พระนิพพาน
    พระโสดาบันตามปกติมีอารมณ์สามประการดังกล่าวมานี้ ถ้าท่านได้ ท่านเป็น พระโสดา ท่านก็จะเห็นว่าอาการที่กล่าวมานี้เป็นความรู้สึกธรรมดาไม่หนัก แต่ถ้าอารมณ์ อะไรตอนใดในสามอย่างนี้ยังมีความหนักอยู่บ้าง ก็อย่าเพ่อคิดว่าท่านเป็นพระโสดาบันเสียก่อน สำเร็จ จะเป็นผลร้ายแก่ตัวท่านเอง ต้องได้จริงถึงจริง แม้ได้แล้วถึงแล้ว ก็ควรก้าวต่อไปอย่า หยุดยั้งเพียงนี้ เพราะ มรรคผลเบื้องสูงยังมีต่อไปอีก


    *****

    ที่มา :: หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ. อุทัยธานี

    การพิจารณาร่างกาย (1)

    ตัวอย่างในพระธรรมบท ขุททกนิกาย สมัยเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วประมาณ ๑๐ ปี ในระหว่างนี้ไม่เกิน ๑๐ ปี ในระหว่างนั้นในบรรดาศากยราชก็ดี เทวทหะก็ดี ศากยราช คือพระญาติขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทหะเป็นญาติของทางฝ่ายพระนางพิมพาราชเทวี ตระกูลทั้ง ๒ นี้เป็นพระญาติในเครือเดียวกัน ต่างคนต่างก็ออกบวชในพระพุทธศาสนากันมาก ทีนี้สมัยนั้น ท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ ทางศากยราชที่บกบิลพัสดุ์ ท่านท้าวมหานามทรงมีพี่น้องอยู่ ๒ คนท่านท้าวมหานาม พระอนุรุทธและพระนางโรหิณี สำหรับพระนางโรหิณีนี้เห็นจะไม่ต้องเกี่ยวเพราะเธอเป็นผู้หญิง ท้าวมหานามจึงเรียกพระอนุรุทธเข้ามาว่า ศากยะก็ดี เทวทหะนครก็ดี ต่างคนต่างบวชตามองค์สมเด็จพระชินสีห์กันหมด เหลือแต่ตระกูลเรา ๒ คนนี่เท่านั้นที่ยังไม่มีคนบวช ก็จะกลายเป็นคนหมันไป ถ้ากระไรก็ดีพี่จะขอบวช ขอน้องจงอยู่ครองสมบัติขึ้นเป็นพระราชาพระอนุรุทธก็นิ่งฟัง แล้วท่านท้านมหานามก็กล่าวว่าถ้าเจ้าจะเป็นพระราชาปกครองคน จงเรียนถึงกิจของพระราชาหรือของประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการ สมัยนั้นพระราชามีงานมาก ต้องทำนา แต่พระอนุรุทธเป็นพระอนุชาไม่เคยลำบากต้องทำงานกับเขา จึงถามว่าวิธีทำนาเป็นอย่างไร
    ท่านท้าวมหานามก็กล่าวว่าเวลาที่จะทำระยะแรกก็นำวัวควายออกไป นำไถออกไปนำอุปกรณ์ออกไป ไถให้เป็นรอย แล้วก็เอาข้าวหว่านลงไป แล้วก็ไถกลบ เอาคราดคราดแล้วก็เก็บขี้หญ้า
    พระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือ ท้าวมหานามเก็บก็บอกว่ายังไม่เสร็จ ต่อนี้ไปก็ดูน้ำ พืชข้าวว่าจะเกิดขึ้นดีหรือไม่ ถ้าปรากฏว่ามีวัชพืช คือพืชที่จะเป็นอันตรายแก่ข้าวก็ต้องถากต้องถางต้องถอน เป็นการรักษาต้นข้าว ถ้ามีตัวเพลี้ยตัวหนอนก็ต้องหาวิธีไล่เพลี้ยหนอนที่กินกอข้าว

    พระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง มหานามก็บอกว่ายังไม่เสร็จ ต่อไปเมื่อข้าวโตขึ้นมาเป็นรวง เมื่อเป็นรวงแล้วก็เป็นเมล็ดแก่เต็มที่ก็ต้องเก็บเกี่ยว เกี่ยวเสร็จแล้วก็มานวด นวดเสร็จแล้วก็เก็บไว้ในยุ้งในฉาง
    ท่านพระอนุรุทธถามว่าเสร็จหรือยัง ท่านมหานามก็บอกว่ายัง ก็บอกต่อไปว่าต่อไปก็ต้องนำข้าวมาสะสางมาสีให้พร้อมเป็นข้าวสารแล้วก็นำมา
    ท่านพระอนุรุทธถามว่าเสร็จแล้วหรือยัง ท่านท้าวมหานามก็บอกว่ายัง กินข้าวป่าเก่าเข้าไปแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาใหม่ก็ต้องนำเอาข้าวเก่าไปทำพันธุ์ข้าวมาปลูกใหม่ แล้วทำไปอย่างนี้เรื่อยไป ถึงปีก็ต้องทำใหม่ ได้ข้าวก็เกี่ยวอย่างนี้ตลอดชีวิต
    ท่านพระอนุรุทธถามว่า กิจของการทำนาทำมาหากินนี่มันไม่มีการหยุดกันหรือ ท่านท้าวมหานามก็บอกว่าหยุดไม่ได้เพราะเราต้องกิน ญาติผู้ใหญ่ของเราทุกระดับชั้นก็ทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าจนกระทั่งตายท่านก็ไม่มีโอกาสหยุด เพราะเป็นกิจที่เราจะต้องทำ นี่ท่านพระอนุรุทธบอกว่าถ้าเช่นนั้นเราจะบวช ท่านเป็นพระราชาต่อไป
    เป็นอันว่าท่านท้าวมหานามก็ตามใจ ความจริงเวลานั้นท้าวมหานามเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ว่าปฏิบัติธรรมะได้ถึงพระอนาคามี เมื่อพระอนุรุทธได้รับคำอนุญาตจากพี่ชายแล้วก็เชิญชวนเพื่อนเก่าอีก ๔ คนด้วยกัน มีพระเทวทัตร่วมไปด้วย และมีพระอุบาลีที่เป็นช่างตัดผมติดตามไปด้วย เวลาที่จะบวชก็ให้พระอุบาลีบวชก่อน ทั้งนี้ก็เพราะว่าในพระพุทธศาสนาถือว่าใครบวชก่อนเป็นผู้อาวุโส ผู้เป็นพี่ คนที่บวชทีหลังจะต้องเคารพเป็นลำดับกัน การที่ให้พระอุบาลีบวชก่อนในฐานะที่เป็นคนรับใช้ก็มีความอยู่ในใจว่าเราได้ ตัดมานะไม่ถือตัวว่าเป็นเจ้าเป็นนาย ถือว่าเขาเป็นนายจะละมานะตัวนี้เป็นขั้นแรก ต่อมาท่านก็บวชในพระพุทธศาสนา อาศัยที่ได้ฟังธรรมจากเท้ามหานามบอกว่าเกิดเป็นมนุษย์หาความหยุดไม่ได้ ต้องทำมาหากินกันต่อไป แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ก็ต้องหากินกันแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ท่านจึงไม่ต้องการหากินต่อไป เมื่อบวชแล้วก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระจอมไตร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสพระนิพพานเป็นที่หมาย ว่าพระนิพพานเป็นเอกันตบรมสุข มีความสุขอย่างยิ่ง ขึ้นชื่อว่าความทุกข์นิดหนึ่งย่อมไม่มีในขันธ์ ๕ มีความบริสุทธิ์เต็มไปด้วยความเบา


    แต่ว่าคนที่จะถึงพระนิพพานได้ก็ต้อง พยายามตัดโลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง เห็นว่าร่างกายไม่เป็นสาระเป็นแก่นสาร เป็นอนิจจัง เกิดมาแล้วหันมาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์ อนัตตามีความสลายตัวในที่สุด ถ้าเรายังรอความเกิดต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้โทษให้พระอนุรุทธและบรรดาพระทั้งหลายฟัง ว่าร่างกายเป็นโรคนิทธัง เป็นรังของโรค เกิดมาแล้วทุกวันมีแต่โรค ไม่มีมนุษย์ตนใดไม่มีโรคแม้แต่ ๑ วินาที อาการโรคอย่างอื่นไม่มีก็มีโรคอย่างหนึ่งขังอยู่ในกาย คือ ชิฆัจฺฉา ปรมา โรคา ซึ่งกล่าวว่าความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคเขาแปลว่าเสียดแทง เวลามันหิวขึ้นมาหาความสบายไม่ได้ มันไม่มีความสบาย ถ้าหากว่าเราตัดความหิวเสียได้ โรคร้ายคือความอยากเสียได้เราก็จะมีความสุข

    พระอนุรุทธถามว่าทำอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า สมเด็จพระบรมศาสดาก็บอกว่าพิจารณาเห็นว่าร่างกายมันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราเมื่อเราตัดร่างกายเสียได้แล้ว ไม่เห็นว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา ก็ตัดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้หมด เพราะว่าที่เราต้องการทรัพย์สินหรือต้องการมีครอบครัว ก็เพราะถือว่าคำว่าร่างกายนี้สำคัญ ฉะนั้น ถ้าหากว่าตัดความเป็นของเราในร่างกายเสียได้ ก็เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ท่านฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระพิชิตมารแต่เพียงเท่านี้ก็เข้าป่าเจริญสมณธรรม คือกรรมฐาน ทรงจิตให้เป็นสมาธิดีแล้วก็พิจารณาขันธ์ห้าว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่มีในเรา ร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ผสมกันเป็นกองชั่วขณะหนึ่ง และก็มีความตายในที่สุด ในระหว่างที่ยังไม่ตายร่างกายก็เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ ทุกขัง เต็มไปด้วยความทุกข์ โรคนิทธัง เป็นรังของโรค ปภังคุณัง มันจะต้องเปื่อยเน่าไปในที่สุด ร่างกายของเราก็ดีร่างกายของบุคคลอื่นก็ดีไม่มีสิ่งใดที่เป็นสาระแก่นสาร ไม่มีความสะอาด มีแต่ความสกปรกหาความเยือกเย็นไม่ได้ เต็มไปด้วยความเร้าร้อน ท่านพิจารณาตามกระแสพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระชินวรเพียงเท่านี้ ปรากฏว่าได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

    ที่มา ::: หนังสือกรรมฐาน 40 หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

    การพิจารณาขันธ์ 5

    - ทีนี้ที่ผมกล่าวว่าขันธ์ 5 เป็นปัจจัยแห่งพระนิพพาน จะเล่าพระสูตรสักสูตรหนึ่ง สูตรนี้ก็มีอยู่ในพระธรรมบทขุททกนิกาย หรือว่ามาจากพระไตรปิฎก กระผมจะไม่บอกละว่าอยู่ตอนไหน เรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนึ่งบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายที่บวชใหม่ เข้าไปกราบทูลลาองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งใจจะไปเจริญพระกรรมฐานในป่า หวังให้บรรลุมรรคผล ตอนนั้นองค์สมเด็จพระทศพลจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่า "ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไปลาพระสารีบุตรแล้วหรือยัง" บรรดาพระทั้งหลายเหล่านั้นจึงกราบทูลว่ายังพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธจ้าจึงทรงมีพระบัญชาว่า อย่างนั้นก่อนที่เธอจะไปเธอจงไปลาพระสารีบุตรเสียก่อน พระเหล่านั้นก็รับคำแล้วก็ลาพระพุทธเจ้าออกไปจากพระมหาวิหารเข้าไปหาพระสารี บุตร พอเข้าไปถึงพระสารีบุตร พระสารีบุตรให้โอวาทอื่นพอสมควร แล้วพระทั้งหลายเล่านั้นจึงได้ถามพระสารีบุตรว่า พวกกระผมเป็นปุถุชน ถ้าจะปฏิบัติตนให้เป็นพระโสดาบันจะทำยังไงขอรับ พระสารีบุตรก็บอกว่า ถ้าพวกเขาทั้งหลายปรารถนาเป็นพระโสดาบัน ก็จงพิจารณาขันธ์ 5 ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา ปลงให้ตกจนกว่าจะเลิกสังโยชน์ 3 ได้ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพตปรามาส เมื่อปลงขันธ์ 5 อย่างเดียวสังโยชน์ 3 มันจะขาดไปเอง เมื่อสังโยชน์ 3 ขาดลงไปแล้ว พวกเธอก็จะได้เป็นพระโสดาบัน พระพวกนั้นก็เลยถามต่อไปว่า เมื่อผมเป็นพระโสดาบันแล้วจะเป็นพระสกิทาคามีจะทำยังไง ท่านก็บอกว่าพิจารณาขันธ์ 5 ตามแบบนั้นแหละพิจารณาละเอียดลงไปก็จะเป็นพระสกิทาคามีเอง พระพวกนั้นก็ถามต่อไปว่า เมื่อพวกกระผมเป็นพระสกิทาคามีแล้ว จะเป็นพระอนาคามีจะทำยังไง ท่านก็บอกว่าปลงขันธ์ 5 นั่นเองทำอย่างว่านั้นแหละ แล้วกามฉันทะกับปฏิฆะ คือการกระทบกระทั่งจิต การโกรธ ความพยาบาท มันก็จะสิ้นไปเอง ก็จะเป็นพระอนาคามี ท่านพวกนั้นก็ถามต่อไปว่า ถ้าผมเป็นพระอนาคามีแล้ว ผมจะเป็นอรหันต์จะต้องทำอย่างไร ท่านบอกว่าพิจารณาขันธ์ 5 ตามที่บอกมานั่นแหละก็เป็นพระอรหันต์ไปเอง สังโยชน์ 10 ก็จะขาดไป พระพวกนั้นก็จะถามว่า เมื่อเป้นพระอรหันต์ละสังโยชน์ 10 ได้แล้วการพิจารณาขันธ์ 5 ไม่ต้องทำต่อไปใช่ไหมขอรับ พระสารีบุตรตอบว่าไม่ใช่ พระอรหันต์นี่แหละทำหนัก ยิ่งพิจารณาหนักเพื่อความอยู่เป็นสุข นี่แหละพระคุณเจ้าที่เคารพ เห็นหรือยังขอรับว่า ขันธ์ 5 ตัวเดียวเท่านั้นแหละเป็นเหตุละกิเลสได้ทุกตัว ในขันธวรรคแห่งพระไตรปิฎกเท่าที่ดูผ่านมา เคยรู้แล้วที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ธรรมะส่วนหนึ่ง หรือธรรมะอย่างหนึ่ง กองหนึ่ง ที่สามารถทำลายกิเลสได้ทั้งหมด ท่านวิจัยชื่อของกิเลสทั้งหมดเข้าไว้ มีธรรมะกองนี้เท่านั้นที่ทำลายกิเลสทั้งหมดนี้ได้ นี่พระสารีบุตรกับพระพุทธเจ้าพูดเป็นเสียงเดียวกัน ท่านไม่ยักเถียงกันนะขอรับ น่าแปลกใจไหม เพราะคนที่เขาถึงจริงๆ แล้วไม่มีใครเขาเถียงกัน ไอ้ที่ยังเถียงกันอยู่น่ะ มันยังไม่ได้อะไร

    ที่มา ::::: หนังสือ มหาสติปัฏฐาน สี่ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ. อุทัยธานี
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 8 กันยายน 2015
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,538
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,131
    ค่าพลัง:
    +70,497
    หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ได้อธิบาย พรหมวิหารสี่และกสิณ ที่สัมพันธ์กันไว้ดังนี้





    .....พรหมวิหาร 4 นี้มีไว้สำหรับตัด ปฏิฆะ คือ ความไม่พอใจอารมณ์ที่มากระทบกระทั่ง ทำให้เราไม่พอใจแม้แต่เล็กน้อย ถ้าเราถูกด่าหนัก เราก็ไม่โกรธ กระทบกระทั่งนิดหน่อยเราก็ไม่มีความรู้สึก อย่างนี้เป็นพระอนาคามีอันดับแรก ยังได้ครึ่งของพระอนาคามี

    .....ถ้าหากว่าเราใช้พรหมวิหาร 4 ไม่เป็นที่ถูกใจ กำลังใจไม่เข้มแข็งพอ ก็คุมพรหมวิหาร 4 ไว้ ใช้กสิณ เป็นกำลัง กสิณที่จะใช้คือ กสิณสีแดง สีเขียว สีขาว สีเหลือง สี่สีนี่อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำกสิณให้เป็นฌาน 4 กสิณทำฌานง่ายเป็นกรรมฐานหยาบ ใช้กสิณให้เป็นฌาน 4 มีอารมณ์ทรงตัว กำลังของฌาน 4 ของกสิณจะเข้ามาคลุมพรหมวิหาร 4 ได้ดีมาก

    ..... และ สามารถมีกำลังตัดกิเลสคือ โทสะ ความโกรธ ได้อย่างดี ( ปฏิฆะ มีอารมณ์กระทบกระทั่ง โทสะความโกรธ ) ทีนี้ เมื่อปฏิบัติในกสิณ 4 อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง กสิณ 4 อย่างนี้ไม่ต้องใช้ทั้ง 4 อย่างนะ ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง อยากจะทราบ ไปฟังรายละเอียดในตอนที่พูดเรื่องกสิณข้างหน้า
     
  3. ขง

    ขง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +676
    ขอบคุณครับ ท่าน นักรบเงา ผมเอาเรื่อง โทสะจริต หรือ กสิณสีมาให้อ่านครับ



    โทสะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย​
    โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)


    ที่มา :: โทสะจริต-จริต ๖ ชุดทูลถวาย « ศูนย์พุทธศรัทธา

    อาตมาขอถวายพระพรในด้านของ โทสะจริต สำหรับโทสะจริตนี้ ก็เห็นจะเป็นเช่นเดียวกับราคะจริต เพราะว่าท่านที่จะตัดได้จริงๆ ก็ต้องเป็นพระอนาคามี ตามที่ถวายพระพรมาแล้วในสมัยที่กล่าวถึงราคะจริต

    สำหรับ โทสะจริต แปลว่า คนมักโกรธ แต่ความจริง จริตทุกอย่างย่อมมีกับคนทุกคนทั้งหมด เพราะว่าไม่ใช่คนใดคนหนึ่งและก็มีหนึ่งจริต ไม่ใช่เช่นนั้น แต่ละคน แต่ละคน ก็ต่างคนต่างมีจริตด้วยกันหมด ทั้งหกประการ แต่ทว่าจะมีจริตอะไร ไปมั่วสุมหรือไปหมกอยู่บ้างเท่านั้น มีกำลังอ่อน หรือว่ามีกำลังเข้มแข็ง

    อย่างคนในโลกมามีทั้งหมด คนที่ไม่รักสวยไม่รักงามเลย ก็ไม่มี แต่ที่ท่านเรียกว่าราคะจริตนำ ก็เพราะว่าหนักไปในด้านสวยด้านงามเป็นกรณีพิเศษ อะไรทุกสิ่งทุกอย่างต้องเรียบร้อยไปหมด แม้จะไปตักน้ำ ฟันฟืน เข้าป่า ก็ต้องหวีผมให้เรียบ จัดเครื่องแต่งกายให้เรียบ ทั้งๆที่ต้องทำงานหนัก อย่างนี้เป็นต้น จัดว่าเป็นประเภทของราคะจริต ความรักสวยรักงามเป็นเรื่องใหญ่ อะไรๆก็ต้องสวย อย่างนี้เป็นราคะจริต

    แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ คนที่มีราคะจริต การต้องการความเรียบร้อย ความสวยสดงดงาม มีเหมือนกันทุกคน แต่ว่าไม่เท่ากัน บางคนก็เรียกว่าแต่งกายเพียงแค่สุกเอาเผากินก็ใช้ได้ อย่างอาตมาเป็นต้น ขอประทานอภัย พูดอ้างตนนี่พระพุทธเจ้าท่านห้าม แต่ที่อ้างมาก็เพราะว่า อาตมาเองเป็นคนสุกเอาเผากินในเรื่องการแต่งกาย ไม่ค่อยจะเรียบร้อยนักว่าไม่สนใจ ไม่ใช่ว่าไม่สนใจเมื่อแก่ เมื่อหนุ่มยิ่งไม่สนใจมากกว่านี้ ตอนแก่เข้าดูเหมือนว่าจะดีกว่าหนุ่มนิดหน่อย

    ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะเกรงว่ามันจะรุ่มร่ามเกินไป ที่ว่าพระแก่รุ่มร่าม ยิ่งตอนสมัยที่เป็นพระหนุ่ม จีวรสีเหลืองไม่ห่ม ห่มแต่จีวรสีกรักอย่างเดียว เพราะมีอารมณ์ต้องการตัดราคะจริต ไม่ให้เกิดความพอใจในตัวของตัวเอง นั่นก็แสดงว่ามีราคะจริตอยู่มาก ไม่ใช่ไม่มี การทำตนเช่นนั้น เป็นการข่มขู่ เป็นการบังความรู้สึก ไม่ให้เกิดความพอใจ และไม่ให้เกิดความผูกพัน

    ทีนี้คนที่เกิดมาในโลก คนที่ไม่รู้จักโกรธเลยก็ไม่มีเหมือนกัน เป็นอันว่ารู้จักโกรธเหมือนกัน แบบเรียกว่าใครจะโกรธหนักกว่ากัน น้อยกว่ากัน ไวกว่ากัน ช้ากว่ากันเท่านั้น

    สำหรับโมหะจริต อารมณ์ที่คิดอะไรไม่ออก ในกาลบางครั้งบางคราวเคยปลอดโปร่ง แต่บางครั้งคิดไม่ออก อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน ความผูกพันในวัตถุ ความผูกพันในบุคคล ที่เรียกกันว่าโมหะจริต อันนี้ก็มีอยู่ด้วยกันทุกคน แต่ว่าใครจะมากจะน้อยเท่านั้น

    ความเชื่อถือ บางครั้งก็ใช้ปัญญาน้อยไปหน่อย ความเชื่อที่แท้ที่สัมปยุตไปด้วยปัญญา ท่านไม่เรียกว่าหนักไปด้วยศรัทธา ศรัทธาจริตนี้ เรียกว่า ความเชื่อถือที่ใช้ปัญญาน้อยไปนิดหนึ่ง คือคิดน้อยไปหน่อย หรือที่เรียกกันว่าคิดไม่ทัน อย่างนี้ก็ต้องมีเหมือนกันทุกคน จะมากหรือจะน้อยกว่ากันเท่านั้น

    ทีนี้ความปลอดโปร่ง ความเฉลียวฉลาด ในกาลบางขณะ ก็ย่อมมีเหมือนกันทุกคน แต่ทว่าใครจะมีเป็นปกติ หรือไม่ปกติเท่านั้น

    เป็นอันว่า จริตทั้งหก ทุกคนต้องยอมรับนับถือว่า ตนมีพร้อมมูลบริบูรณ์ แต่ว่าบางอย่างจะยิ่งหย่อนกว่ากัน บางอย่างจะเหนือกว่ากัน บางอย่างจะน้อยไปเท่านั้นเอง

    ทีนี้คนบางคนที่บอกว่าตนไม่มีราคะจริต ตามที่องค์สมเด็จพระมหาบพิตรเคยตรัสว่า บางคนเขาบอกว่าเขาไม่มีราคะจริต พอยั่วไปยั่วมาราคะก็เกิด อันนี้อาตมาเห็นชอบด้วย ที่พระมหาบพิตรทรงกระทำอย่างนั้น จะได้เตือนให้ท่านผู้นั้นมีความรู้สึกตัวว่า นี่ศัตรูมันแอบอยู่ในใจของท่าน แต่ท่านมองไม่เห็นศัตรู การที่มองไม่เห็นศัตรู คิดว่าศัตรูเป็นมิตร ตัวนี้ตายง่าย นี่คำว่าตายง่าย ก็เพราะว่า ราคะจริตมันจะกินใจจนตาย ไม่สามารถจะพ้นจากความทุกข์ไปได้

    ต่อนี้ไปก็ขอปรารภเรื่องโทสะจริต คำว่า โทสะจริต แปลว่า คนมักโกรธ คนประเภทนี้ชอบโกรธ โกรธง่ายๆ ถ้าโกรธใครได้แล้วรู้สึกว่าจะโก้ดี แสดงอาการฮึดฮัดเข้มข้น เกรี้ยวกราด เข้าใจว่าเป็นการกระทำความดี แล้วถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็รู้สึกว่าตนเองจะไม่สบายใจ แต่ทำไปแล้วรู้สึกภูมิใจว่า ความโกรธของตนเป็นผล

    อารมณ์อย่างนี้ องค์สมเด็จพระทศพลทรงแนะนำไว้ว่า ควรจะใช้พรหมวิหาร ๔ และกสิณ ๔ อย่าง ที่เรียกกันว่า วรรณกสิณ คือ กสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว เพ่งเป็นการระงับจิต ทั้งนี้ก็เพราะว่า ถ้าทำถูกกับจริต มันเป็นของง่าย

    สำหรับความโกรธ ถ้าใช้พรหมวิหาร ๔ ก็จะต้องพิจารณาหาความจริงของจิตให้พบ ตรวจจิตไว้เสมอว่า เรามีอารมณ์แห่งความรัก มีความรู้สึกในความรัก ในเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเป็นคนหรือสัตว์หรือไม่ก็ตาม ปกติจิตมีความรู้สึกอย่างนี้อยู่เสมอหรือเปล่า

    เรามีความสงสาร ปรารถนาจะเกื้อกูลบุคคลอื่นและสัตว์อื่นให้มีความสุข ตามที่เราต้องการ และคนทุกคนต้องการ ความรัก ความเมตตาจากคนอื่น ต้องการความสงสาร ความเกื้อกูลจากคนอื่น

    และก็มุทิตา มีอารมณ์ไม่อิจฉาริษยาบุคคลอื่น เห็นบุคคลอื่นได้ดี พลอยยินดีด้วย ทั้งนี้เพราะว่า เราเองก็มีความปรารถนาเช่นนั้นเหมือนกัน

    เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ การไม่อิจฉาริษยากัน ไม่เสียดสีกัน ไม่นินทาว่าร้ายกัน ไม่กล่าวคำให้เป็นโทษ ไม่สร้างความสะเทือนใจซึ่งกันและกัน เห็นคนอื่นได้ดีไม่ริดลอนความดีของบุคคลนั้น พากันยกย่องสรรเสริญสนับสนุนความดี ยินดีในความดีที่เขาได้มา เราเองมีความต้องการอย่างนั้น

    ถ้าเราทำความดี ก็ต้องการให้คนอื่นสนับสนุน เราทำความดี ก็ไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาอิจฉาริษยา ริดลอนความดี อาการอย่างนี้ ย่อมมีแก่บุคคลทุกคน แต่ทว่าพิจารณาใจของเรา เราต้องการให้บุคคลอื่นเขาทำเช่นนี้กับเรา และเราคิดทำอย่างนี้กับเขาหรือไม่ นี่เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาเพ่งจับอารมณ์ใจของตัวเองเป็นสำคัญ

    แล้วสำหรับอุเบกขา ความวางเฉยนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัสว่า เห็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน จะต้องมีกรรมหนักอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามากระทบกระทั่ง หมายถึงว่า เขามีโทษ เขามีทุกข์ เป็นไปตามอำนาจกฎของกรรม ที่เราเองไม่สามารถจะช่วยเหลือเขาได้ เราไม่ซ้ำเติมให้เขามีความทุกข์มากไปกว่านั้น ตั้งใจจะทรงอารมณ์จิตให้มีความสุข หมายความว่า วางเฉยไว้

    ถ้าเราคิดจะไปซ้ำเติมเขา จิตใจของเรา มันจะไม่มีความสุข มันเป็นอารมณ์โหดร้าย ความเร่าร้อน เห็นเขาเพลี่ยงพล้ำลงไป เขามีทุกข์ ตั้งใจจะซ้ำเติม ถ้าซ้ำเติมได้ มันก็เป็นทุกข์ ถ้าซ้ำเติมไม่ได้ มันก็เป็นทุกข์ ซ้ำเติมเขาได้ เพื่อนของเขา ตัวของเขา เขาจะมีความโกรธ จะกลายเป็นศัตรูของเรา ในเมื่อเรามีศัตรูมากขึ้น เราก็เป็นทุกข์ ถ้าทำเขาไม่ได้สมความปรารถนา ก็นอนเป็นทุกข์ คิดอยากจะทำ นี่ก็มานั่งนึกถึงตัวเองว่า ถ้าเรามีความทุกข์อย่างนี้แล้ว ถ้าคนอื่นเขามาซ้ำเติมเรา เราจะมีความสุขหรือเราจะมีความทุกข์ เราจะมีความต้องการหรือไม่ นี่ก็เป็นอันว่า เราก็ไม่มีความต้องการ

    องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ให้เอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบ เอาความรู้สึกของใจของเราให้เข้าไปเปรียบเทียบ เพราะว่าการมีโทสะ คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น เป็นอาการของความทุกข์ ไม่ใช่อาการของความสุข เพราะอะไร คนที่โกรธง่าย แก่เร็ว

    คนที่มีความมักโกรธ หรือมีอารมณ์โกรธ คนนั้นเป็นคนโง่ โง่ตรงไหน ถ้าโกรธขึ้นมาเมื่อไร ปัญญามันถูกตัด ความโกรธมันตัดปัญญาไป ตอนนั้นมันคิดอะไรไม่ออก ทีนี้คนที่มีโทสะจริต จึงกลายเป็นคนโง่มากกว่าคนฉลาด และคนที่เขาฉลาดจริงๆ นี่เขาไม่โกรธใคร โกรธเหมือนกัน แต่รู้จักยับยั้งเสียทัน แต่ที่ว่าไม่โกรธเลยนั้นไม่มี แต่ว่าไม่บูชาความโกรธ

    ถ้าเราบูชาความโกรธ ที่อาตมากล่าวว่า คนโกรธง่าย หรือ โกรธบ่อยๆ ชอบโกรธเป็นปกติ เป็นคนโง่ ก็เพราะว่าเป็นการสร้างศัตรู คนถ้ามีศัตรูมากก็มีความทุกข์มาก จะนอนอยู่ จะนั่งอยู่ จะตื่นอยู่ จะหลับอยู่ จะเดินไปธุระที่ไหน ไม่มีความสบายใจ เพราะว่าเกรงภัยอันตรายที่เราสร้างไว้จากความโกรธ จะเข้าสนองตน ทำตนให้รับความลำบาก ทำตนให้เกิดความเป็นทุกข์

    นี่เป็นอันว่าคนที่มักโกรธ ไม่ใช่คนมีความสุข เป็นคนมีความทุกข์ แต่ทว่าเราเกิดมากับความโกรธ ความโกรธมันติดตามเรามาหลายแสนชาติ นี่ทำอย่างไรจึงจะหาทางทำลายล้างมันให้สิ้นซากไปได้ การทำลายล้างความโกรธให้สิ้นซาก ก็ต้องเป็นพระอนาคามี

    แต่ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามี จะทำอย่างไรจึงจะยับยั้งความโกรธไว้เสียได้ ไม่ใช่ทำลายความโกรธ แต่ยับยั้งความโกรธ ไม่ปล่อยให้ความโกรธเป็นเจ้านายตลอดเวลาตามที่แล้วๆมา เพราะว่าเวลาในกาลก่อน ปล่อยให้ความโกรธเป็นเจ้านายเกินพอดี

    ตอนนี้ก็ต้องมาพิจารณาถึงพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินสีห์ เป็นเครื่องปลอบใจตนเอง ใจต้องหาทางปลอบ เพราะใจมันงุ่นง่าน ใจมันพลุกพล่าน ใจมีความโกรธ ใจเป็นทาสของความโกรธ ต้องหาทางปลอบ ถ้าไม่หาทางปลอบแล้วก็ มันจะไม่อยู่ ด้วยอารมณ์มันจะมีแต่ความดิ้นรน มันจะหาความสุขไม่ได้ จะใช้วิธีปลอบในทางไหนดี

    อันดับแรกมาคิดถึงตนเองก่อน นั่งก็คิด นอนก็คิด ขณะใดถ้ายังตื่นอยู่ โอกาสมี คิดไว้เสมอว่า เราต้องการอะไรหนอ เวลานี้เราต้องการคนที่มาประกาศตนเป็นศัตรูกับเรามั๊ย ต้องการให้ใครมาพิฆาตเช่นฆ่าเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามาด่าเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามากลั่นแกล้งเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามาอิจฉาริษยาเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามานินทาว่าร้ายเรามั๊ย ต้องการให้ใครเขามาเสียดสีเรามั๊ย ถ้าเรามีทุกข์ก็ต้องการให้ใครเขามาซ้ำเติมเรามั๊ย ถามใจตนเอง ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เธอต้องการมั๊ย

    หากว่าใจของเราเองบอกว่าต้องการ ก็ตามใจเถอะ จะไปทำอะไรให้ใครก็ได้ จะไปด่าใคร จะไปตีใคร จะไปทำร้ายใคร จะไปนินทาว่าร้ายใคร จะไปกล่าวคำเสียดสีใครก็ว่าได้

    แต่ถ้าอารมณ์ใจของเราไม่ต้องการ ก็ต้องหาทางระงับอาการที่เราไม่ต้องการนั้นเสีย เราจะไม่ทำกับคนอื่น คิดหามุมแห่งความเป็นจริงว่า คนเรา ถ้าเราไม่ต้องการให้เขามาเป็นศัตรูกับเรานี่ แล้วเราต้องการอาการที่คนประเภทนั้นมาทำกับเราอย่างไร

    อันดับแรก เราก็ต้องการให้เขามาพูดดี อารมณ์ที่เป็นประโยชน์ อารมณ์ที่เราต้องการ ต้องการให้เขาทำความดี เป็นที่ชอบใจของเรา นี่เป็นปัจจัยแห่งความรักในขั้นต้น

    ประการที่สอง ถ้าเราขาดสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เราต้องการการเกื้อกูลจากบุคคลอื่นมาสนับสนุนเรา นี่เป็นอาการที่เราต้องการ

    ประการที่สาม ถ้าความดีปรากฏกับเรา เราต้องการให้คนอื่นสนับสนุนความดีนั้น รับรองความดีนั้น ไม่ริดรอนความดี เรียกว่าไม่อิจฉาริษยาด้วย และก็ส่งเสริมด้วย

    ประการที่สี่ กรรมหนักมาตกถึงเราเข้าแล้ว ถ้าเพื่อนมาซ้ำเติม เราไม่เอา เราไม่ต้องการ

    รวมความว่า เหตุสี่ประการนี้ เป็นการยับยั้งความคิดที่ไม่เป็นสุขสำหรับเรา หมายความว่าเราจะมีความสบาย เราจะมีความสุข ถ้าเขาทำอาการตรงกันข้าม คือคิดทำลายล้างเราด้วยประการทั้งปวง ซ้ำเติมเมื่อเรามีความทุกข์ เราขาดอยู่แล้ว พึงแกล้งดึงเอาไปเสียอีก ของยิ่งไม่มีใช้ ไม่มีจะกิน พวกก็หาทางทำลายด้วยประการทั้งปวง กลั่นแกล้งด้วยประการทั้งปวง ให้ไม่มีใช้ ไม่มีกินมากขึ้น นี่เราจะเดือดร้อน

    นี่ก็ใช้มุมนี้ ที่เราคิด เราพอใจ ไปใช้กับคนอื่น เพราะว่าเราต้องการให้คนเขามีความรักในเรา พูดดี ทำดี เพื่อเรา เราก็พยายามหักห้ามความโกรธ พูดดี ทำดีเพื่อเขา ถ้าใครเขาขาดแคลนอะไร เราก็เกื้อกูลตามกำลังที่เราจะพึงมี และเกื้อกูลด้วยวัตถุไม่ได้เราไม่มี ก็เกื้อกูลด้วยกำลังกาย ถ้าสิ่งนั้นไม่สามารถจะเกื้อกูลด้วยกำลังกายและวัตถุได้ ก็เกื้อกูลด้วยปัญญา แนะนำว่า ไปที่โน่นนะ ไปที่นี่ซิ คนนั้นคนนี้เขาสามารถจะช่วยท่านได้ นี้ก็เป็นอาการเกื้อกูล

    เห็นเขามีความดีเกิดขึ้นไม่อิจฉาริษยาเขา พลอยยินดีในความดีที่เขาปฏิบัติ และพร้อมจะทำความดีตามเขา เห็นเพื่อนมีทุกข์หนัก เป็นเหตุสุดวิสัยที่เราจะช่วยเหลือได้ เราก็วางเฉยไม่ซ้ำเติม จิตคิดไว้อย่างนี้ให้มันเป็นปกติ อย่างนี้เราจะมีความสุข

    นี่พูดในด้านเฉพาะที่เราจะทำกับเขา ให้เขามีความสุข เราก็จะมีความสุข ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปูชา ลภเต ปูชัง” ผู้บูชาย่อมได้รับการบูชาตอบ “วันทโก ปฏิวันทนัง” คนไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ นี่พูดเฉพาะเราทำความดีกับคนดี ย่อมมีผลเช่นนี้

    และก็มีคนบางจำพวก เช่น พระเทวทัต เป็นต้น พระเทวทัตนี่ องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดา ทรงสงเคราะห์มาทุกชาติ ทุกสมัย แม้แต่ในชาติสุดท้าย นี่องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงเกื้อกูลเป็นกรณีพิเศษ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ให้บวชในพระพุทธศาสนา และก็สอนให้ได้ฌานโลกีย์ ได้อภิญญาสมาบัติ เลยทะนงตนคิดว่าเป็นผู้วิเศษ นี่คนเลวประเภทนี้มีอยู่ กลับไม่เห็นความดีขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ คิดขบถ ทรยศต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะปกครองสงฆ์เสียเอง ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่มีความสามารถ ตนเองได้ฌานโลกีย์ จัดว่าเป็นปุถุชนคนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส

    เวลานั้นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์มีอยู่ครบ เป็นพระอรหันต์มากมาย ทั้งอัครสาวกทั้งหลาย ก็ยังอยู่ทั้ง ๒ ท่าน อสีติมหาสาวกก็ยังอยู่ สาวกเบื้องต่ำขององค์สมเด็จพระบรมครู ก็มีตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป มีคุณธรรมดีกว่าพระเทวทัตมาก แต่ว่าพระเทวทัตมองไม่เห็น เพราะคนเลวนี่ เราจะเมตตาปรานีอย่างไร มันก็ไม่ได้ทั้งนั้น จะคิดว่าเรามีพรหมวิหาร ๔ ต่อเขา เขาจะมีต่อเรามันก็ไม่แน่นัก ในปัจจุบันนี้ ต่างคนต่างก็พบกันมาแล้วทุกคน ว่าสันดานคนเลวจริงๆ นี่จะเอาดีไม่ได้ ไม่มีการเห็นความดีของบุคคลอื่น

    ถ้าไปพบอย่างนี้จะทำอย่างไร ก็เป็นอันว่าถ้าพบอย่างนี้เข้า ก็จะต้องใช้อารมณ์ๆ หนึ่ง นั่นก็คืออารมณ์คิดทบทวนหาความจริงว่า คนประเภทนี้เขาเป็นทาสของอบายภูมิ เขาไม่ใช่ไท กำลังใจของเขาเป็นทาส เป็นทาสของใคร เป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม เขาเป็นคนที่หาความสุขไม่ได้ เขาจะมีแต่ความทุกข์ เพราะการกระทำอย่างนั้น

    ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาว่า ถ้าเราจะโต้ตอบเขาทุกข์แล้ว เราก็จะมีทุกข์ด้วย มันช่วยกันทุกข์ใหญ่ เราไม่ตอบเขา เพราะอะไร เพราะเขาเอาไฟไปเผาใจของเขาเสียแล้ว เขาเอาไฟเผาใจของเขา เป็นเพราะอะไร เพราะว่าเขามีใจเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม

    คนทุกคนที่เกิดมาในชาตินี้ เป็นคนที่ต้องการความสุข ความสำราญด้วยกันหมด แต่ทว่าเขาไม่สร้างความสุข ไม่สร้างความดี เพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย เพราะว่า

    กิเลส ความเศร้าหมองของจิต หุ้มห่อใจของเขามืดมิด จนให้เขามองไม่เห็นด้านของความดี นี้ประการหนึ่ง

    ตัณหา ความทะยานอยากดึงลากจิตใจของเขา ให้คิดแต่ความชั่วเป็นปกติ นี้ประการหนึ่ง

    อุปาทาน ความโง่ เข้าไปยึดมั่น คิดว่าอาการของการทำความชั่วอย่างนั้นเป็นของดี นี้ประการหนึ่ง เป็นเจ้านายของเขา

    และอกุศลกรรม อาศัยกิเลส ตัณหา อุปาทานทั้ง ๓ ประการ ดึงดันให้เขาสร้างกรรมที่เป็นอกุศล ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

    คนประเภทนี้ในชาติปัจจุบัน ก็มีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุข เขานั่งเป็นทุกข์ เขานอนเป็นทุกข์ ก็มีแต่ความเร่าร้อน ถ้าเขาเป็นคนมีปัญญาจริง เขาก็จะไม่ต้องสร้างความชั่วแบบนั้น เพราะคนสร้างความชั่วประเภทนั้น มีแต่ความเร่าร้อนใจ จะหาความสุขกาย สุขใจไม่ได้

    เราก็คิดให้อภัยเขา คิดสงสารเขา คิดเมตตาเขา ไม่โต้ไม่ตอบ ไม่ทำคืน เขาจะทำยังไงก็ช่างเขา ปล่อยไปตามอัธยาศัย รักษากำลังใจด้วยอำนาจของพรหมวิหาร ๔ คิดว่า โอ้หนอ นี่เขาเกิดมาเป็นคนแล้ว ไม่น่าจะมาทำลายความดีของคน การที่จะเกิดมาเป็นคนแต่ละคราวมันเป็นของยาก นี่เขาจะต้องกลับไปเกิดเป็นสัตว์นรก เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส ใช้เวลาหลายแสนกัป กว่าจะพ้นจากนรกได้ แล้วต้องมาเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน กว่าจะมาเป็นคนบริบูรณ์สมบูรณ์ได้ ก็นานแสนนาน ถ้าเกิดเป็นคนก็จะเป็นคนยากจนเข็ญใจไร้พวก มีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุข

    คนประเภทนี้ เป็นบุคคลที่น่าให้อภัย ทำจิตใจของเราให้สบาย คิดเป็นอภัยทานอยู่เป็นปกติ ใหม่ๆ ก็จะคิดได้ยาก แต่ว่านานๆเข้า คิดมากๆ คิดบ่อยๆ อารมณ์ก็จะชิน เช่นเดียวกับองค์สมเด็จพระมหามุนินทร์ ที่พระเทวทัตทำทุกอย่าง ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงยับยั้งพระทัย ไม่โต้ตอบพระเทวทัต มาตั้งแต่ชาติไหนๆ

    สำหรับการบันทึกในตอนนี้ ก็ต้องขอถวายพระพร … เป็นอันว่าสำหรับการจะระงับโทสะจริต โดยใช้อารมณ์คิดพิจารณาในด้านพรหมวิหาร ๔ เฉพาะจุดนี้ อาตมาก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

    สำหรับตอนนี้ อาตมาจะขอถวายพระพรในด้านของโทสะจริต เฉพาะในเรื่องของกสิณ ๔
    ตามที่องค์สมเด็จพระมหามุนี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแนะนำว่า บุคคลผู้มีโทสะจริตเป็นประจำ ควรจะเจริญนอกจากพรหมวิหาร ๔ แล้ว ก็ควรจะใช้กสิณ ๔ คือ กสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามอัธยาศัย เพื่อเป็นเครื่องปรับปรุงใจให้พ้นจากอำนาจของความเป็นคนโทสะร้ายหรือโกรธง่าย

    ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงตรัสอย่างนี้ อาตมาภาพเข้าใจว่า สมเด็จพระมหามุนีคงมีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสัพพัญูญูวิสัย ถ้าหากว่าพระมหาบพิตรจะตรัสถามอาตมาว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงตรัสไว้แต่เพียงอย่างเดียว จะได้ปฏิบัติสบาย อันนี้ถ้าจะพิจารณาไปไม่ใช่ว่าอาตมาทราบ เป็นแต่เพียงว่าเอาจิตของตนเองเป็นเครื่องวัด เมื่ออารมณ์ของบุคคลบางคน ชอบมีอารมณ์ทรงตัวมากกว่าอารมณ์คิด คือทำจิตให้สงบสงัดอยู่เฉพาะอารมณ์บางอย่างเท่านั้น ปักไว้เฉยๆ อย่างนี้มีอยู่ แต่คนบางคนใช้อารมณ์ทรงตัวนิ่งไม่ได้ ต้องใช้อารมณ์คิดจึงจะมีความสบาย

    แม้แต่บุคคลคนเดียวก็เช่นเดียวกัน คนเดียวกัน หรือว่าบุคคลคนเดียวกันนั้น บางครั้งมีอารมณ์ชอบสงัด แต่บางครั้งก็มีอารมณ์ชอบคิด นี่อาตมาพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ เท่าที่ทรงตรัสอย่างนั้น ก็คงจะมีความหมาย ถึงบุคคลประเภทที่มีอารมณ์ชอบคิดประเภทหนึ่ง หรือบุคคลที่มีอารมณ์ชอบใช้อารมณ์ทรงตัวเฉพาะอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่ต้องการจะคิด เกรงว่าจะฟุ้งซ่านมากเกินไป นี่อย่างหนึ่ง

    ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ทรงให้กรรมฐานคู่ปรับกับโทสะจริต ไว้เป็น ๒ ประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์คิด กสิณ ๔ เป็นอารมณ์ทรง คือทรงอยู่ในอาการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ

    แต่ความจริง กสิณมีถึง ๑๐ อย่าง ถ้าพระมหาบพิตรจะทรงตรัสถามว่า ทำไมกสิณทั้ง ๑๐ อย่างนี้จะใช้เหมือนกันหมดไม่ได้หรือ ทำไมจึงจำเพาะมาใช้แต่เฉพาะวรรณกสิณ ๔ อย่างเท่านั้น ถ้าตรัสถามอย่างนี้ อาตมาก็ต้องขอตอบ ขอถวายพระพรว่าจนด้วยเกล้าตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่ทราบความประสงค์ขององค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ถ้าจะถวายพระพรไปก็จะกลายว่าเป็นการเดามากเกินไป ถึงแม้ว่าจะมีใครมาจ้างให้เดา อาตมาก็ไม่ขอยอมเดา

    ยอมเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่ามีเหตุหลายประการ เท่าที่ผ่านมาแล้วในระยะต้น อาตมาเองไม่เข้าใจในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระทศพล แต่ก็พยายามทำตามคำสอน ก็รู้สึกว่ามีผล ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า อาตมาพยากรณ์ตัวเองเป็นอรหันต์ กล่าวกันแต่เพียงสั้นๆ หมายถึงว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นความดีเบื้องต้น

    อย่างที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอนให้รักษาศีล ทรงสอนให้ให้ทาน ในตอนต้น อาตมาก็ไม่ทราบถึงอานิสงส์ ว่าจะมีผลเป็นประการใดแน่นอน ไปฟังท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้ ท่านพูดกัน ท่านก็พูดแต่ผลในชาติหน้า ผลในชาตินี้ไม่เคยที่จะได้ฟังใครกล่าวให้พบให้ได้ยิน แต่ก็มาพบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคสมัยนั้น แต่ความจริงสมัยนั้นอาตมาก็สัมผัสกับท่านผู้รู้น้อยมาก ไม่ค่อยได้พบใคร ไม่ใช่ว่าพระทุกองค์ท่านไม่มีความรู้ แต่บังเอิญไปถามองค์ที่ไม่รู้เข้า ท่านก็ว่าชาติหน้าจะได้ไปเป็นเทวดาบนสวรรค์บ้าง จะเป็นพรหมบ้าง ก็ว่ากันไป

    แต่มาพบหลวงพ่อปานท่านบอกว่า ผลชาติหน้าใหญ่ แต่ว่าผลชาตินี้ก็มี นี้เลยทำตามท่าน ก็รู้สึกว่าทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ไม่ใช่มีผลชาติหน้าอย่างเดียว ต้องได้รับผลตั้งแต่ชาตินี้ไปก่อน คือความสุขใจ ได้ให้ทานแล้ว แล้วก็ได้มิตรขึ้นมา มีความสุข คนชั่วก็มี คนดีก็มาก คนที่เขาไม่รู้สึกคุณคนเป็นของธรรมดา จะต้องมีอยู่ ไม่ใช่ว่าให้เขาแล้วเขาดีทุกคน แต่ชื่อว่าใจก็มีความสุขเพราะว่าได้มีโอกาสได้เกื้อกูลเขา เห็นเขาอกตัญญูไม่รู้คุณคน ก็นึกยิ้มในใจว่า คนนี้ช่างกระไร เป็นหนี้กิเลสมาตั้งแต่ชาติก่อนไม่พอ ยังจะมาเป็นหนี้กิเลสตัณหาในชาตินี้อีก สร้างอกุศลกรรมทำขึ้น เป็นคนที่น่าสงสารอย่างยิ่ง

    การรักษาศีลเป็นปัจจัยให้มีความสุข การภาวนาทำใจให้เยือกเย็น อันนี้ก็รู้สึกว่าชาตินี้มีผล ทีนี้การที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงสอน ทั้งๆที่อาตมาไม่ทราบอานิสงส์ก็ลองทำมาแล้ว ก็มีผลคือมีความสุขใจ ในด้านที่องค์สมเด็จพระจอมไตรต้องใช้เฉพาะกสิณ ๔ อย่างนี้ อาตมาไม่เข้าใจชัดเหมือนกัน แต่ว่าผลที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิให้ มีประโยชน์

    อย่างโอทาตกสิณ กสิณสีขาว ถ้าทำกสิณข้อนี้เข้า จนเป็นฌานสมาบัติ ผลที่ได้ในอันดับแรกก็คือมีความสุขใจ จิตใจไม่ดิ้นรนมากเกินไป แต่ว่ายังเป็นบุคคลผู้ทรงฌานโลกีย์ หรือเป็นโลกียชน ก็ยังมีความทุกข์ ยังมีความดิ้นรน แต่ความดิ้นรนมันน้อยลง ถ้าดิ้นน้อย มันก็เหนื่อยน้อย ดิ้นน้อยมันก็ลำบากน้อย นี่เป็นอันว่าจิตถ้าทรงฌานได้อารมณ์มีความสุข ความคิดความอ่านมันก็คล่องตัว นี่เป็นอันดับแรก

    สำหรับโอทาตกสิณ กสิณสีขาว เป็นสมุฏฐานให้เกิดทิพจักขุญาณ เมื่อทำกสิณนี้ มีความเข้มข้นขึ้น ทิพจักขุญาณก็ปรากฏ ตอนนี้เป็นปัจจัยให้มีผลกำไรมากขึ้นมาก มีความสุขใจยิ่งขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น สามารถพิสูจน์ผลความดี และความชั่วของตัวได้ว่า ความดีและความชั่วของตัวที่ทำมาแล้วในกาลก่อน มีผลเป็นประการใด และความดีในกาลที่ทำในปัจจุบัน มีผลเป็นประการใด และการที่จะก้าวต่อไป จะทำอย่างไร ถึงจะมีผลรวดเร็ว โอทาตกสิณให้ผล สามารถจะรู้การก้าวหน้าของตนได้ว่า เราจะทำเข้าถึงจุดนี้ ควรจะทำแบบไหนจึงจะตรงจุด ไม่เปะปะๆไปเหมือนกับคนตาบอดคลำทาง

    นี่เป็นอันว่ากสิณ ๔ ประการนี้มีประโยชน์ โดยเฉพะโอทาตกสิณ มีประโยชน์มาก ทีนี้การที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงให้คนที่มีโทสะจริต ใช้กสิณ ๔ อย่างแล้วมีผล เรื่องนี้ปรากฏมาในพระธรรมบทขุททกนิกาย สมัยเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์อยู่ สมัยนั้นองค์สมเด็จพระบรมครูกับอัครสาวกก็ยังอยู่พร้อมเพรียง พระสงฆ์มีมาก

    ปรากฏว่าในกาลหนึ่งอัครสาวกขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคือพระสารีบุตร ไปได้ลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นลูกชายของนายช่างทอง เธอเป็นคนหนุ่ม เป็นคนสวย และก็เป็นคนรวย เรื่องคนหนุ่ม คนสวย คนรวย พระสารีบุตรก็มีความเข้าใจว่า เธอก็คงจะมักมากไปด้วยกามารมณ์ จิตใจจะยุ่งยากไปด้วยเพื่อนระหว่างเพศ เพราะตามที่เคยสังเกตมาเป็นอย่างนั้น จึงได้ให้กรรมฐานกับพระลูกชายนายช่างทอง เป็นอสุภกรรมฐานกับกายคตานุสสติ พิจารณากายเทียบกับซากศพ เพื่อเป็นการตัดราคะจริต

    ความจริงคนที่มีราคะจริต รักสวย รักงาม เจ้าระเบียบ คนที่มีโทสะจริต นี่จะทำอะไรเร็วๆ และทำอะไรหยาบ เดินตึงตังโครมคราม หนักๆ ทำงานหยาบๆ ทำเร็ว ทำเร็วคล้ายๆ กับคนที่มีพุทธจริต แต่คนทีมีพุทธจริต ทำเร็ว ต้องการเร็ว แต่มีความละเอียดมาก คนที่มีโทสะจริตทำงานเร็ว ตึงตังโครมคราม รวดเร็ว แต่ทว่ามีความหยาบมาก ต้องสังเกต นี่เป็นข้อสังเกต

    พระลูกชายนายช่างทองเจริญอสุภกรรมฐานมา ๓ เดือน อยู่กับพระสารีบุตร ในที่สุดไม่มีผลในการปฏิบัติ เอาอะไรไม่ได้เลย พอออกพรรษาขึ้นมา พระสารีบุตรจึงพาพระลูกชายนายช่างทอง ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยคิดว่าพระองค์นี้น่ากลัวจะไม่ใช่วิสัยของเราเป็นผู้ฝึก จะต้องเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึก

    ความจริงอาการของคนที่จะต้องฝึกมีอยู่ ๒ ประเภท บุคคลประเภทหนึ่ง ต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงฝึกเองจึงจะมีผล อีกประเภทหนึ่งสาวกขององค์สมเด็จพระทศพล ซึ่งเคยเป็นคู่ปรับกันมา สามารถจะฝึกได้ อันนี้ตัวอย่างมีมาก

    ตัวอย่างเมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตร จะทรงดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ความจริงจะทรงนิพพานที่ปาวาฬเจดีย์ก็ได้ แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรารถนาในการสงเคราะห์ปริพาชก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่องค์สมเด็จพระภควันต์ ต้องทรงสั่งสอนเอง ถ้าคนอื่นสอนไม่มีผล

    ฉะนั้นองค์สมเด็จพระทศพลจึงได้เสด็จไปที่กุสินารามหานคร ตอนนั้นเมื่อปริพาชกจะเข้ามาเฝ้า พระห้าม องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงตรัส และปล่อยให้เข้ามา การที่ตถาคตต้องทรมานพระกายลำบากมาที่นี่ ก็เพราะว่าต้องการจะสงเคราะห์ลูกชายคนสุดท้ายคนนี้

    นี่เป็นอันว่า คนที่จะทรมานให้เข้าถึงความดี บางท่านต้องเป็นพระพุทธเจ้าเอง บางท่านพระสาวกสงเคราะห์ได้ สำหรับลูกชายนายช่างทอง ท่านพระสารีบุตรก็ดำริว่า อาจจะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าผู้เดียว องค์เดียวเท่านั้น ที่จะทรงสั่งสอนให้คนนี้เข้าถึงมรรคถึงผลได้ ท่านไม่มีความประมาทหรือไม่ทะนงตน

    ฉะนั้นเมื่อเวลาออกพรรษาแล้ว จึงได้พาพระลูกศิษย์ ลูกชายนายช่างทองไปเฝ้าองค์สมเด็จพระทศพล และกราบทูลให้ทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าสอนมาแล้ว ๓ เดือน เธอไม่มีผล คนๆ นี้เห็นจะต้องเป็นองค์สมเด็จพระทศพลทรงสงเคราะห์ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ จึงได้ตรัสกับพระสารีบุตรว่า สารีปุตตะ ดูก่อนสารีบุตร เธอจงกลับไปเถิด กุลบุตรผู้มีศรัทธาที่ชื่อว่าตถาคตสงเคราะห์ไม่ได้นั้นไม่มี

    เมื่อพระสารีบุตรกลับไปแล้ว องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็พิจารณาดูจริต ว่าพระองค์นี้เธอมีจริตอะไร องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า เขาผู้นี้เป็นผู้หนักไปในด้านโทสะจริต ไม่ใช่ราคะจริต

    ดังนั้นองค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์จึงได้ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำขึ้นมาดอกหนึ่ง และเป็นดอกบัวสีแดงจัด องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ ส่งให้กับพระลูกชายนายช่างทองว่า เธอจงไปนั่งที่ด้านหน้าวิหารที่กองทราย เอาก้านดอกบัวปักลงไปในกองทราย นั่งลืมตาพิจารณาจำภาพไว้ว่าสีแดง และหลับตานึกถึงภาพ ภาวนานึกในใจว่า สีแดง สีแดง สีแดง

    เธอทำตามนั้น เธอไปมูลกองทรายเข้า เอาก้านบัวปัก ลืมตาจำภาพดอกบัวสีแดง และหลับตานึกถึงภาพสีแดง และนึกภาวนาในใจว่าสีแดง สีแดง สีแดง เมื่อภาพเลือนไปจากใจ ก็ลืมตามาดูใหม่ จำได้ก็หลับตาใหม่ ทำอย่างนั้น สลับกันไปสลับกันมา ภายในไม่ช้าชั่วครู่เดียว เธอก็ได้ฌาน ๔ ภาพดอกบัวที่เห็นในใจ จากสีแดงกลายเป็นสีเหลือง สีเหลืองค่อยๆ จางไปๆ จนเป็นสีขาวทีละน้อยๆ จนกระทั่งเป็นสีประกายพรึก สามารถจะนึกบังคับภาพนั้นให้สูงก็ได้ ให้ต่ำก็ได้ อยู่ข้างหน้าก็ได้ อยู่ข้างหลังก็ได้ ให้ใหญ่ก็ได้ ให้เล็กก็ได้ คล่องในอารมณ์ของจิต

    ตอนนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิตร์ ขณะที่พระองค์ทรงประทับอยู่ในพระมหาวิหาร สมเด็จพระพิชิตมารทรงพิจารณาว่า พระช่างทองเวลานี้ทรงฌาน ๔ ในกสิณแล้ว เป็นฌานโลกีย์ แต่ว่าในขั้นต่อไป ตอนที่จะเข้าถึงความเป็นโลกุตตระ ความเป็นพระอรหันต์ ถ้าเราไม่ช่วยเธอ เธอสามารถจะไปได้ไหม องค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทราบด้วยอำนาจพระพุทธญาณว่า เขาผู้นั้นไม่สามารถจะทำได้ เพราะอะไร เพราะกำลังใจยังอ่อน องค์สมเด็จพระชินวรจึงได้ทรงช่วย นี้ความจริงการช่วยนี่ไม่ได้ช่วยพยุงใจเขา ช่วยสร้างนิมิตกสิณให้เป็นวิปัสสนาญาณ

    อันนี้มีบุคคลหลายคน มาถึงก็บอกว่า ขอบารมีหลวงพ่อช่วย ให้บรรลุมรรค บรรลุผล ให้ได้ฌานสมาบัติ ก็รู้สึกแปลกใจ ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็บอกได้แต่เพียงตรงๆว่า ช่วยไม่ได้ คนทุกคนต้องช่วยตัวเอง พระพุทธเจ้ายังช่วยคนอื่นไม่ได้เรื่องกำลังใจ จะช่วยได้แต่อาการภายนอก คือให้กำลังใจนั้นได้ สนับสนุนกำลังใจได้ แต่จะไปช่วยใจให้เป็นคนฉลาด ช่วยใจให้เป็นคนมีฌานสมาบัติ อันนี้ช่วยไม่ได้

    สำหรับพระลูกชายนายช่างทอง พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ช่วยด้านจิตใจ แต่ก็ช่วยในสิ่งที่เนื่องด้วยใจภายนอก นั่นก็คือ เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า เธอเล่นฌาน ๔ กำลังเพลิน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงเนรมิตดอกบัวทองคำที่มีสีสวยสดงดงามนั้น ให้กลายเป็นดอกบัวที่มีสีเศร้าหมอง

    เมื่อพระลูกชายนายช่างทอง ลืมตาขึ้นมาดูดอกบัว เห็นสีเศร้าหมองใจ ก็แปลกใจ ว่าเมื่อสักครู่นี่สียังสวยอยู่ เอ ทำไมสีดอกบัวจึงเศร้าหมองไปอย่างนี้ เศร้าลงไปมาก ก็เลยมาคิดเทียบในใจว่า โอหนอ จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เดิมทีเรามีความกระปรี้กระเปร่า สวยสดงดงาม มีความเปล่งปลั่ง อวัยวะสมบูรณ์ ต่อไปถ้าความแก่เฒ่าปรากฏ มันก็จะเศร้าเหมือนดอกบัวนี้

    เธอก็หลับตา แล้วก็นั่งนึกถึงภาพของดอกบัวเศร้าหมอง และคิดถึงว่าร่างกายเราแก่ไปๆ ทุกวันๆ มันจะต้องเศร้าหมองแบบนี้ พอใจสบายดี หวังว่าจะเลิก ลืมตามาดูอีกที ตอนนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ เนรมิตให้กลีบดอกบัวหล่นลงไปเสียแล้ว เหลือแต่ฝัก ยิ่งเศร้าหมองใหญ่ ใกล้จะหัก เหี่ยวแห้งลงไปมาก

    เธอก็มาเปรียบเทียบกับตัวเอง เพราะเวลานั้นจิตเป็นฌาน ๔ ปัญญาย่อมเกิดด้วยอำนาจของสมาธิ มีความเห็นว่า ร่างกายของเราต่อไปนี้ มันก็จะทรุดโทรมเหี่ยวแห้งลงไป เหมือนกับคนแก่ที่เราเคยเห็น มีหนังหุ้มกระดูก มีหลังค้อมลง เหมือนกับดอกบัวที่เหลือแต่ฝัก เกสร กลีบหล่นหมด ค้อมลงไปใกล้จะหัก คิดปลงจิตสังขารของตนว่า ร่างกายสภาพของเรา มีอย่างนี้แน่นอน ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงไปได้ มันจะต้องไม่สวยงดงามอย่างนี้เสมอไป ไม่หนุ่มเสมอไป มันคลานเข้าไปหาความแก่ คลานเข้าไปหาความร่วงโรย เหมือนกับดอกบัวนี้เป็นธรรมดา จิตใจสบาย ลืมตามาว่าจะเลิก

    ตอนนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเนรมิตดอกบัวดอกนั้น ให้หักลงไปกับพื้นปฐพี เธอมองดูดอกบัวนี้ บอก เออ ดอกบัวนี้เป็นดอกบัวทองคำ แข็งแรง ในที่สุดก็มีสภาพเป็นอย่างนี้ หักเรี่ยราย กระจัดกระจาย ไม่เป็นชิ้นดี ในที่สุดก็จะถมลงไปในพื้นปฐพี เป็นแผ่นดินไปหมด

    จึงกลับเข้ามาคิดถึงชีวิตของตนว่า เราเองก็มีความเป็นเช่นนั้น ที่องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงสอนว่า อนิจจัง ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ทุกขัง ร่างกายมีสภาพเป็นทุกข์ อนัตตา ในที่สุดมันก็ต้องสลายตน ที่องค์สมเด็จพระทศพลทรงตรัสว่า อัตภาพร่างกายคือ ขันธ์ห้า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา นี่เป็นของจริง ในที่สุดร่างกายก็ต้องสลายตัวไปแบบนี้ ถ้าเรายังจะยึดถือร่างกาย ว่าเป็นเรา เป็นของเราต่อไป คิดว่ามันมีความดี ในที่สุดความทุกข์ประเภทนี้ก็จะปรากฏ เมื่อกาลสมัยเข้ามาถึง ตายแล้ว ถ้าเราเกิด เกิดก็ต้องวน มาเกิดเป็นเด็ก มาเป็นคนหนุ่มคนสาว และก็มาเป็นคนแก่ และก็มาเป็นคนตาย อาการอย่างนี้มันจะหาที่สุดไม่ได้ การเกิดแต่ละคราวก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีปัจจัยใดที่เป็นเหตุแห่งความสุข ในเมื่อมันเป็นความทุกข์ มันไม่เป็นความสุข เราจะยึด จะถือ จะเกาะมันไว้เพื่อประโยชน์อันใด ท่านพิจารณาไปในเรื่องนี้ ในที่สุดจิตก็พ้นจากอาสวะกิเลส ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น

    ขอถวายพระพร พระมหาบพิตร พระราชสมภาร การที่องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ทรงสอนให้คนที่มีโทสะจริตใช้กสิณ ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องประหัตประหารโทสะ และในที่สุดก็ได้สำเร็จอรหัตผล อย่างนี้มีอยู่มาก

    ฉะนั้น การที่พระมหาบพิตรจะพิจารณาพระธรรมคำสั่งสอน ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เป็นการทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ก็ต้องใช้พระราชจริยาพิจารณาว่า อาการที่จะต้องใช้อารมณ์จิต ว่าเวลานี้จิตต้องการทรงตัว หรือว่าจิตต้องการคิด ถ้าจิตต้องการคิด ก็ต้องใช้กรรมฐานที่มีอารมณ์คิด ที่เป็นข้าศึกกับโทสะจริต นั่นก็คือพรหมวิหาร ๔ ถ้าหากว่าจิตต้องการอารมณ์ทรงตัว ก็ใช้กรรมฐานคือกสิณ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามพระราชอัธยาศัยที่เห็นว่าสมควร

    การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแนะนำบรรดาพุทธบริษัท ให้ปฏิบัติอย่างนี้ ก็เพราะว่า องค์สมเด็จพระชินสีห์พิจารณาเห็นแล้วว่า คนเราทุกคนย่อมมีอารมณ์ไม่เสมอกัน ว่าจะบังคับให้ใช้อารมณ์ปักโดยเฉพาะอย่างนั้น ก็เป็นไปไม่ได้ บางคนต้องการอารมณ์คิด และบุคคลคนเดียวกัน บางครั้งชอบคิด บางครั้งชอบมีอารมณ์นิ่งๆ ทรงตัว

    ทีนี้การใช้พระกรรมฐานจะเข้าประหัตประหารโทสะจริต ถ้าจะทรงตรัสถามว่า แค่ฌานโลกีย์ตัดได้เด็ดขาดไหม อันนี้อาตมาก็ต้องขอถวายพระพรว่า แค่ฌานโลกีย์ก็แค่ระงับได้ชั่วขณะเท่านั้น อย่างเก่งที่สุด ก็ในขณะที่ทรงจิตเป็นสมาธิ ให้ยับยั้งอารมณ์ความโกรธ ความพยาบาทไว้ได้เท่านั้นก็เป็นพอ

    อันนี้ความจริงไม่แน่ คนได้ฌาน ๔ บางครั้งเวลาจะเข้าฌาน อาการของโทสะจริตเข้ามาขวาง อารมณ์เจ็บใจคนต่างๆ มีอยู่ เป็นอันว่าฌานสู้อารมณ์ของโทสะไม่ได้ วันนั้นฌานพัง

    บางท่านเวลาทรงฌานอารมณ์ดี แนบแน่นสนิท มีจิตมั่นอยู่ในฌาน โทสะไม่สามารถจะมารบกวนจิตได้ แต่พอคลายอารมณ์เป็นฌานแล้วไม่นาน ชั่วขณะครู่หนึ่ง อารมณ์ของโทสะจริตก็เข้ามาครอบงำได้ นี้เป็นอันว่าในขณะที่ทรงฌานโลกีย์ จะชื่อว่าเป็นผู้มีการชนะโทสะจริตนั้นไม่เป็นความจริง เป็นแต่เพียงว่ายับยั้งไว้ชั่วคราวเท่านั้น

    หากว่าปฏิบัติอารมณ์ให้เข้าถึงพระโสดาบัน อารมณ์ของโทสะจริตก็ยังมีความแรงกล้าตามปกติ แต่ทว่าไม่ประทุษร้ายใคร ด้วยอำนาจของศีล เกรงว่าศีลจะขาด ทีนี้พอเข้าถึงพระสกิทาคามี อาศัยที่มีพรหมวิหาร ๔ แก่กล้า มีอภัยทานเป็นสำคัญ ในตอนนี้รู้สึกว่า กำลังของโทสะจริตจะเพลากำลังลง มีเหมือนกัน ไม่มากนัก และก็ยับยั้งได้รวดเร็ว โทสะจริตนี้ถ้าจะทำลายให้หมดไปได้จริงๆ ให้สิ้นซาก ก็ต้องเป็นพระอนาคามี

    สำหรับเรื่องราวของโทสะจริตนี้ อาตมาก็ขอถวายพระพรมาเพียงเท่านี้ เพราะว่ามองดูก็เห็นว่าใกล้จะหมดเวลาเต็มที ถ้าถวายพระพรมากกว่านี้ไปก็เกรงใจว่าจะเฝือ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
     
  4. ขง

    ขง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +676
    วิธีทำอารมณ์ใจให้เยือกเย็น

    ผู้ถาม : หลวงพ่อเจ้าขา ดิฉันอยากจะให้หลวงพ่อแนะนำวิธีทำอารมณ์ใจให้เยือกเย็นหน่อยเถอะเจ้าค่ะ เพราะขณะนี้เป็นคนเจ้าโทสะเหลือเกินค่ะ

    หลวงพ่อ : ไม่ยากๆ ที่บ้านมีตู้เย็นไหม?

    ผู้ถาม : ตู้เย็นหรือครับ มีพังๆ

    หลวงพ่อ : ไม่ใช่ เจ้าของปัญหามีหรือเปล่า ถ้ามีนะใช้ลูกโตๆ เข้าไปนั่งในนั้นมันจะเย็นทั้งกายเย็นทั้งใจ ต่อไปก็เย็นเรื่อย ไม่บ่นไม่ว่าใคร ตายแหงแก๋...

    การทำใจให้เย็นที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การระงับโทสะ

    ถ้าเป็น โทสจริต ให้ใช้กรรมฐาน ๘ อย่าง คือ

    (๑) พรหมวิหาร ๔ มี ๔ อย่าง

    เมตตา ความรัก
    กรุณา ความสงสาร
    มุทิตา พลอยยินดีเมื่อบุคคลอื่นได้ดี
    อุเบกขา วางเฉย ไม่ซ้ำเติม

    (๒) ถ้า พรหมวิหาร ๔ คุมใจไม่อยู่ ให้ใช้ กสิณ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งคือ กสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง จับภาพดูหลับตา ลืมตาจำ หลับตานึกถึงภาพ ก็ภาวนา "สีแดงๆ ๆ" สีเหลืองก็ "สีเหลืองๆ ๆ" ง่ายดี

    ถ้าเป็นภาษาบาลีแปลแล้วก็เป็นแบบนั้น สีแดง คือ โลหิตกสิณังๆ ๆ

    ผลที่สุดไม่รู้เรื่องอะไร จำเอาไว้ว่าสีแดง ไม่ต้องว่าอะไร นึกถึงสีแดงแล้วจับภาพพระให้ทรงตัว ถ้าภาพพระเลือนไปก็ลืมตามาดูใหม่ อย่างนี้ทำสักครั้งละ ๕ นาที ๑๐ นาที แล้วจิตจะตกไปเอง ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ลด


    จากหนังสือ ธัมมวิโมกข์ เล่มที่ ๓๔๓ หน้าที่ ๙๘ โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
     
  5. จริยากุ

    จริยากุ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    1,314
    ค่าพลัง:
    +1,446
    สอบถามเรื่อง กสิณลมค่ะ
    คือได้ฝึกมานานแต่ไปหยุดที่มองอากาศแล้วรู้สึกเหมือนมีไอน้ำร้อน การฝึกไม่ก้าวหน้าจากเดิม ควรทำอย่างไรต่อคะ ขอคนที่รู้ช่วยตอบด้วยค่ะ
     
  6. ขง

    ขง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +676
    1. อันดับแรก ต้องสมาทานศีล 5 กับ กรรมฐาน ก่อนครับ ขอขมาพระด้วย

    2.พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ ก่อน เจริญกสิณ

    อนึ่ง เมื่อจะเจริญมรณสติ พึงเจริญดังนี้ ก็ว่าได้

    ธัมโมเมหิ มะระณัง อะนะตีโต มะระณะ (ชายว่า)
    ธัมโมเมหิ มะระณัง อะนะตตา มะระณะ (หญิงว่า)

    เรามีความตายเป็นธรรมดา ล่วงความตายไปไม่ได้แล้ว ความตายนั้น คือ สิ้นลมหายใจ กายตา วิญญาณดับ


    3. เจริญอานาปานสติ ควบคู่กำหนดนิมิตกสิณ ครับ

    นิมิตกสิณ จะเข้าสู่ ปฏิภาคนิมิต



    " มีอาการปรากฏภาพเหมือนไอน้ำที่ลอยขึ้น แต่ไม่เคลื่อนไหวหรือ คล้ายกับก้อนเมฆบาง ที่ลอยอยู่คงที่นั่นเอง อาการอื่นนอกจากนี้เหมือนในปฐวีกสิณ "


    4. อยากเร่ง เรื่องฤทธิ์ ให้ภาวนาว่า

    "สัมปจิตฉามิ" อ่านว่า สัม - ปะ - จิต - ฉา - มิ

    ผมใช้ภาวนา ควบคู่กันกับกำหนดภาพนิมิตกสิณ และกำหนดลมหายใจ ครับ

    หลวงพ่อบอกภาวนาคาถา นี้ ครบ 3 เดือน มีผลคล้ายอภิญญา ครับ

    ผม ลองปฏิบัติมาคร่าวๆ ก็ได้ผลพอสมควรครับ


    5. เมื่อสมาทานกรรมฐานเสร็จ ตั้งจิตอธิษฐาน ว่า

    " ขอพรบารมีพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย มีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ เป็นที่สุด
    โปรดกรุณาชี้แนะแนวทาง การเจริญกสิณลม ในกาลปัจจุบันนี้ด้วยเทอญ "

    เมื่อทำบุญสังฆทาน เน้น หนังสือสวดมนต์ กับ หนังสือธรรมะ เสร็จแล้ว
    ให้ อุทิศบุญให้พระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ และอธิษฐาน ให้ช่วยสงเคราะห์ เรื่องกสิณ ลม ครับ

    ข้อ สุดท้ายนี้มีผลมากนะครับ บางทีเกิดปัญญาขึ้นมาเอง รู้ขึ้นมาเอง บางทีท่านมาสอนในฝัน

    พอไปเทียบเคียงกับตำราครูบาอาจารย์ ก็ตรงกันครับ รู้อะไรเกี่ยวกับตำรานี่ ต้องไปเทียบกับตำราครูบาอาจารย์ก่อน

    ถ้าตรงใช้ได้ลุยเลย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 มกราคม 2016
  7. ขง

    ขง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2012
    โพสต์:
    189
    ค่าพลัง:
    +676
    ปฐวีกสิณ


    กสิณนี้ท่านให้เพ่งดิน เอาดินมาทำเป็นรูปวงกลม โดยใช้สะดึงขึงผ้าให้ตึง
    แล้วเอาดินทา เลือกเฉพาะดินสีอรุณ แล้วท่านให้วางไว้ในที่พอเหมาะที่จะมองเห็นไม่ใกล้และไกลเกินไป
    เพ่งดูดินให้จำได้แล้วหลับตานึกถึงภาพดินนั้น ถ้าเลือนไปจากใจ ก็ลืมตาดูดินใหม่ จำได้ดีแล้วก็หลับตานึกถึงภาพดินนั้น
    จนภาพนั้นติดตา ต่อไปไม่ต้องดูภาพดินภาพนั้นก็ติดตาติดใจจำได้อยู่เสมอ ภาพปรากฏแก่ใจชัดเจน
    จนสามารถบังคับภาพนั้นให้เล็กโต สูง ต่ำได้ตามความประสงค์อย่างนี้เรียกว่า อุคหนิมิตหยาบ
    ต่อมาภาพดินนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนสีไปที่ละน้อย จากสีเดิมไปเป็นสีขาวใส จนใสหมดก้อน
    และเป็นประกายสวยสดงดงามคล้ายแก้วเจียระไนอย่างนี้เรียกว่า ถึงอุปจารฌานละเอียด


    ต่อไปภาพนั้นจะสวยมากขึ้นจนมองดูระยิบระยับจับสามตา เป็นประกายหนาทึบอารมณ์จิตตั้งมั่นเฉย
    ต่ออารมณ์ภายนอกกายคล้ายไม่มีลมหายใจ อย่างนี้เป็นฌาน ๔เรียกได้ว่า ฌานปฐวีกสิณเต็มที่แล้ว


    เมื่อได้อย่างนี้แล้ว ท่านผู้ทรงอภิญญาท่านนั้นเล่าต่อไปว่า อย่าเพิ่งทำกสิณกองต่อไปเราจะเอาอภิญญากัน
    ไม่ใช่ทำพอได้ เรียกว่าจะทำแบบสุกเอาเผากินไม่ได้ต้องให้ได้เลยทุกอย่าง ได้อย่างดีทั้งหมด
    ถ้ายังบกพร่องแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่ยอมเว้น ต้องดีครบถ้วนเพื่อให้ได้ดีครบถ้วน ท่านว่าพอได้ตามนี้แล้ว
    ให้ฝึกฝนเข้าฌานออกฌาน คือเข้าฌาน ๑. ๒. ๓. ๔. แล้วเข้าฌาน ๔. ๓. ๒. ๑.
    แล้วเข้าฌานสลับฌาน คือ ๑. ๔. ๒.๓. ๓. ๑. ๔. ๒. ๔. ๑. ๒. ๓. สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้จนคล่อง
    คิดว่าจะเข้าฌานระดับใดก็เมื่อใดก็ได้



    .....ต่อไปก็ฝึกนิรมิตก่อน ปฐวีกสิณเป็นธาตุดิน ตามคุณสมบัติท่านว่า สามารถ
    ทำของอ่อนให้แข็งได้ สำหรับท่านที่ได้กสิณนี้ เมื่อเข้าฌานชำนาญแล้ว
    ก็ทดลองการนิรมิตในตอนแรกท่านหาน้ำใส่แก้วหรือภาชนะอย่างใดก็ได้
    ที่ขังน้ำได้ก็แล้วกันเมื่อได้มาครบแล้วจงเข้าฌาน ๔ ในปฐวีกสิณ แล้วออกฌาน ๔
    หยุดอยู่เพียงอุปจารฌาน คือพอมีอารมณ์นึกคิดได้ในขณะที่อยู่ในฌานนั้น นึกคิดไม่ได้
    เมื่อถอยจิตมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌานแล้วอธิษฐานว่า ขอน้ำตรงที่เอานิ้วจิ้มลงไปนั้นจงแข็งเหมือนดินที่แข็ง
    แล้วก็เข้าฌาน ๔ ใหม่ ถอยออกจากฌาน ๔ หยุดอยู่เพียงอุปจารฌานลองเอานิ้วมือจิ้มน้ำดู
    ถ้าแข็งก็ใช้ได้แล้วก็เล่นให้คล่องต่อไป ถ้ายังไม่แข็งต้องฝึกฝนฌานให้คล่องและมั่นคงกว่านั้น
    เมื่อขณะฝึกนิรมิตอย่าทำให้คนเห็น ต้องทำที่ลับเฉพาะเท่านั้น ถ้าทำให้คนเห็น
    พระพุทธเจ้าท่านปรับโทษไว้เราเป็นนักเจริญฌาน ต้องไม่หน้า
    ด้านใจด้านจนกล้าฝ่าฝืนพระพุทธอาณัติ เมื่อเล่นน้ำในถ้วยสำเร็จผลแล้ว ก็คำว่าสำเร็จนั้น
    หมายความว่าพอคิดว่าเราจะให้น้ำแข็งละน้ำก็แข็งทันที โดยเสียเวลาไม่ถึงเสี้ยวนาที อย่างนี้ใช้ได้
    ต่อไปก็ทดลองในแม่น้ำและอากาศเดินบนน้ำบนอากาศให้น้ำในแม่น้ำและอากาศเหยียบไปนั้น
    แข็งเหมือนดินและหิน ชำนาญดีแล้วก็เลื่อนไปฝึกกสิณอื่นท่านว่าทำคล่องอย่างนี้กสิณเดียว
    กสิณอื่นพอนึกขึ้นมาก็เป็นทันทีอย่างเลวสุดก็เพียง ๗วัน ได้กอง เสียเวลาฝึกอีก ๙ กอง
    เพียงไม่เกินสามเดือนก็ได้หมด เมื่อฝึกครบหมดก็ฝึกเข้าฌานออกฌานดังกล่าวมาแล้วและนิรมิตสิ่งต่างๆ
    ตามความประสงค์ อานุภาพของกสิณ จะเขียนไว้ตอนว่าด้วยกสิณ ๑๐


    ที่มา หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดย หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ. อุทัยธานี
     

แชร์หน้านี้

Loading...