พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 2 ธันวาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    ภาพทรงศีล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    (หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเถระ)



    การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ

    เนื่องมาจากการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ในสมัยของ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ครั้งนั้น
    ได้ก่อให้เกิดการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ที่นับว่าสำคัญครั้งหนึ่ง
    ในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในเวลาต่อมา
    กล่าวคือ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    เสด็จกลับมาประทับทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดมหาธาตุ
    จนทรงรอบรู้ในภาษาบาลีและเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกแล้ว
    ก็ทรงพิจารณาเห็นความบกพร่องในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในยุคนั้น
    ดังพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

    “ผลแห่งการที่ทรงศึกษาและพิจารณาทั่วถึงละเอียดเข้า
    ก็ให้เกิดความสลดพระราชหฤทัยไปว่าวัตรปฏิบัติแลอาจาริยสมัย
    ซึ่งได้นำสั่งสอนกันสืบๆ มานี้ เคลื่อนคลาดห่างเหิน แลหยาบหย่อนไปเป็นอันมาก
    ดูประหนึ่งว่าจะมีรากเง่าเค้ามูลอันเน่าผุไปเสียแล้ว”


    ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
    ดังที่ได้ทรงศึกษาจากท่าน ผู้รู้และพิจารณาสอบสวนกับพระไตรปิฏก
    ที่ได้ทรงศึกษาจนเชี่ยวชาญแตกฉาน โดยพระองค์เองทรงประพฤตินำขึ้นก่อน
    แล้วภิกษุสามเณรอื่นๆ ที่นิยมเลื่อมใสก็ประพฤติตาม

    ในระยะแรกที่ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ดังกล่าวนั้น
    ยังเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ จึงทรงรู้สึกไม่สะดวกพระราชหฤทัย
    เพราะวัดพระมหาธาตุเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช
    ทั้งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ด้วย
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงย้ายไปประทับ ณ
    วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) อันเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงพระนคร
    ทั้งนี้ก็คงเพราะความที่ทรงเคารพในสมเด็จพระสังฆราช
    และเพื่อจะได้ไม่เป็นที่ขัดข้องพระทัยของสมเด็จพระสังฆราช
    เกี่ยวกับการปฏิบัติของพระองค์นั่นเอง

    เมื่อเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย แล้ว ก็ทรงปรับปรุงแก้ไข
    วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ตามแนวแห่งพระราชดำริได้สะดวกนั้น
    กระทั่งมีผู้ปฏิบัติตามเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่
    ซึ่งได้รับการขนานนามในเวลาภายหลังต่อมาว่า
    คณะธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า พระสงฆ์ธรรมยุต

    พระราชดำริในการปรับปรุงแก้ไขพระศาสนาของ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะ
    เรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาพระปริยัติธรรม
    และการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัทด้วย
    จึงนับเป็นช่วงแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทะนุบำรุงพระศาสนา


    จัดสมณทูตไทยไปลังกา

    สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงพระชนม์สืบมาถึงรัชกาลที่ ๓
    และในปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ซึ่งทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในขณะนั้นว่า
    การพระศาสนาในลังกาจะเป็นอย่างไร
    ไม่ได้ไปสืบสวนให้ทราบความช้านานหลายปีมาแล้ว
    อีกประการหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฏกที่ฉบับของไทยยังบกพร่อง
    ควรจะสอบสวนกับฉบับลังกามีอยู่หลายคัมภีร์
    ถ้าแต่งพระภิกษุสงฆ์ไทยเป็นสมณทูตไปลังกาอีกสักครั้งหนึ่ง เห็นจะเป็นการดี
    ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันเช่นนี้
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงเลือกสรรพระภิกษุที่จะส่งไปลังกา
    และมีสมณลิขิตไปถึงสังฆนายกตามพระราชประสงค์
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกได้พระภิกษุสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูป
    พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรชาวลังกาอีก ๕ รูป
    ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ ๒ ปีก่อน
    และเดินทางกลับบ้านเมืองของตนในคราวนี้ด้วยได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ
    โดยเรือหลวง ชื่อจินดาดวงแก้ว เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล
    ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๕ สมณทูตชุดนี้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
    ในเดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๖ พร้อมทั้งได้ยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกมาด้วย ๔๐ คัมภีร์

    ตามเรื่องราวที่ปรากฏแสดงว่า

    การสมณทูตไทยไปลังกาครั้งนี้ยังประโยชน์แก่
    พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
    เพราะทำให้คณะสงฆ์ไทยมีโอกาสได้คัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกา
    มาสอบสวนกับพระไตรปิฏกของไทยในส่วนที่บกพร่องสงสัย
    ให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย
    ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกที่เป็นหลักฐานสำคัญ
    ของพระพุทธศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์สืบมาดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน



    ชำระความพระสงฆ์ครั้งใหญ่

    ในตอนปลายสมัยของ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) นี้
    ได้มีการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่
    ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

    “เมื่อ ณ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เกิด
    ชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารมิควร
    ได้ตัวชำระสึกเสียก็มาก ประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่หนีไปก็มาก
    พระราชาคณะเป็นปาราชิกก็หลายรูป”


    นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุด
    เท่าที่ปรากฏในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

    ทั้งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ในยุคนั้น
    ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง
    ความเอาพระทัยในการคณะสงฆ์ของ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างจริงจัง
    ที่ทรงอุตสาหะชำระสะสางการพระศาสนา
    และการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิบริบูรณ์อย่างเต็มพระกำลังสติปัญญาอยู่เสมอ


    พระอวสานกาล

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลานานถึง ๑๙ ปี ๖ เดือน
    ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๘๕
    ตรงกับวันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ในรัชกาลที่ ๓
    มีพระชนม์มายุได้ ๘๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    โปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวแล้วพระราชทานเพลิงพระศพ
    เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๖

    [​IMG]
    ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาส สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง


    ประวัติและความสำคัญของวัดราชาธิวาส

    วัดราชาธิวาส หรือ วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร
    เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
    เป็นวัดที่สร้างมานานแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงละโว้
    เดิมชื่อว่า วัดสมอราย รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชวิจารณ์ว่า
    คำว่า “สมอ” นี้ มาจากภาษาเขมร ว่า “ถมอ”
    ที่แปลว่า “หินถมอราย” ซึ่งหมายถึง “หินเรียงราย”

    เมื่อรัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ทรงปรารภว่า
    วัดสมอรายเป็นที่ประทับระหว่างทรงผนวช
    ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
    และของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
    จึงพระราชทานนามเสียใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร ในจุลศักราช ๑๒๑๓
    แต่ในนามเอกสารต่างๆ เรียกวัดนี้ว่า วัดราชาธิวาส
    ตลอดรัชกาลที่ ๔ และ ๕ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

    ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงอุปสมบท
    แล้วเสด็จมาประทับที่วัดนี้ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
    เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
    ทรงผนวชแล้วก็เสด็จมาประทับด้วยพระองค์เอง
    ซึ่งต่อมาภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี
    พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

    และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
    ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ หลังจากประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ
    ทรงปฎิบัติอุปัชฌายวัตรตามพระวินัยแล้วก็เสด็จมาจำพรรษาที่วัดสมอราย
    จนถึงสิ้นราชกาลที่ ๒ และยังประทับที่วัดนี้จนตลอดพรรษา
    แล้วเสด็จประทับวัดมหาธาตุบ้าง วัดสมอรายบ้าง
    จนถึง พ.ศ. ๒๓๗๒ จึงประทับที่วัดสมอรายเป็นการถาวร
    โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
    ทรงทราบแล้วจึงรับสั่งให้ปลูกพระตำหนักถวาย

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดราชาธิวาส
    ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์



    ในรัชกาลที่ ๓ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่วัดนี้ด้วย
    ได้มีการปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม เมื่อรัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ก็มีการปฏิสังขรณ์ต่อ
    ครั้นต้นรัชกาลที่ ๕ ก็มีการปฏิสังขรณ์อีกใน ร.ศ. ๑๒๓
    โปรดเกล้าๆ ให้รื้อและสร้างเสนาสนะขึ้นใหม่หลายสิ่ง คือ
    พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ พระตำหนักพระจอมเกล้า หอสวดมนต์
    ศาลาคู่หน้าพระอุโบสถ ปัจจุบันรื้อแล้ว
    หมู่กุฏิจัดเป็น ๓ คณะ เขื่อนก่อด้วยอิฐ พระเจดีย์ดัดแปลงจากของ รั้วเสาหิน
    เรียกว่าเสาอินทขีล ภูเขา และสระน้ำซึ่งถมระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๘
    หลังจากนั้นก็มีการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์


    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
    สถิตย์สถานของสมเด็จพระสังฆราช ๔ พระองค์


    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
    เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
    ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า “วัดมหาธาตุ”
    เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสลัก” หรือ “วัดฉลัก”
    ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งเมืองธนบุรีเป็นราชธานี
    ได้สร้างพระนครขึ้นทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
    วัดสลักอยู่ในพระนครด้านฝั่งตะวันออก
    จึงเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่พำนัก
    ของพระราชาคณะมาตลอดสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ได้ย้ายพระนครข้ามฟากมาตั้งฝั่งตะวันออกฝ่ายเดียว
    พระราชวังที่สร้างใหม่มีวัดอยู่ใกล้ชิด ๒ วัด คือ วัดโพธาราม
    หรือวัดพระเชตุพนในปัจจุบัน อยู่ชิดพระบรมมหาราชวัง
    ทางทิศใต้ของพระราชวังบวรสถานมงคล
    (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
    พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ)

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ได้สถาปนาวัดสลักขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ และได้ขนานนามว่า “วัดนิพพานาราม”
    ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงปรารภพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช
    ให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม
    เพราะเป็นวัดที่ตั้งอยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับวังหน้า
    สะดวกในการเสด็จทั้ง ๒ พระองค์ แต่ก่อนจะถึงกำหนดการทำสังคายนา
    ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญดาราม”

    อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดพระศรีสรรเพชญาดารามครั้งนั้น
    นับว่าเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
    ได้ปรารภเหตุที่คัมภีร์พระไตรปิฎกที่สร้างขึ้นเป็นฉบับหลวง
    ยังวิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นอันมาก
    เนื่องจากหนังสือที่หามาเป็นต้นฉบับ เป็นหนังสือที่สร้างขึ้นตามหัวเมืองไม่ได้ฉบับดี
    สมควรประชุมสงฆ์ตรวจชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่ได้สร้างไว้แล้วนั้นถูกต้อง
    การสังคายนา เริ่มเมื่อเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๓๑ ถึงกลางเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๓๒
    เป็นเวลา ๕ เดือน จึงสำเร็จ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง
    ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธาน
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภก
    ครั้นสังคายนาเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกจำลองไว้เป็น
    พระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้นใหม่ เรียกว่า “ฉบับทองทึบ” หรือ “ฉบับทองใหญ่”
    เก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานในหอพระพระมนเฑียรธรรม
    วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนถึงปัจจุบัน

    [​IMG]
    พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์


    ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๖ สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้สวรรคต
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ
    ให้ประชุมพระราชาคณะสอบไล่พระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร
    ที่วัดพระศรีสรรเพชรญดาราม
    ในโอกาสนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามวัดใหม่ขึ้นอีกครั้งเป็น “วัดมหาธาตุ”
    ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์อันเป็นส่วนของ
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
    ซึ่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๗ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ
    ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นแล้ว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อนามวัด
    เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชนั้นว่า
    “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์” ซึ่งใช้มาตราบจนทุกวันนี้

    วัดมหาธาตุฯ นั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
    ตั้งแต่องค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ถัดมาจากสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆัง ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗
    เป็นลำดับมาถึงรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๔ พระองค์ คือ

    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) พระองค์ที่ ๒
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๓
    สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๔
    สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๕


    [​IMG]
    พระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ
    ณ พระมณฑป วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์



    นอกจากนี้ วัดมหาธาตุยังเคยเป็นที่ประทับและศึกษาพระธรรมวินัย
    ของสมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราชในอดีต เมื่อทรงผนวช
    คือ ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    แล้วเสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ๗ เดือน จึงทรงลาผนวช
    ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระชันษาครบอุปสมบท
    จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุสงฆ์
    โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์
    หลังจากประทับแรมอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๑ คืนแล้ว
    จึงได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เป็นเวลา ๑ ปี
    แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุอีก ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๓๗๒
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
    พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๓๙๒


    วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร
    แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
    ทรงมีพระประวัติในเบื้องต้นเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
    ทราบแต่เพียงว่า ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีขาล
    จุลศักราช ๑๑๒๐ ตรงกับวันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๐๑
    ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา
    สันนิษฐานว่า เป็นพระราชาคณะที่ พระนิกรมมุนี มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑
    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี
    ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้ง สมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็น สมเด็จพระสังฆราช
    ในราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    และทรงเลื่อนสมณศักดิ์พระพรหมมุนี (ด่อน) เป็นที่ พระพิมลธรรม
    เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙
    ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

    “ศรีศยุภะมัศดุอดีตกาล พระพุทธศักราช
    ชะไมยะสหัศสังวัจฉะระไตรยสตาธฤกษ เอกุนสัฎฐิเตมาศะประจุบันกาล
    มุกสิกสังวัจฉะระสาวนมาศ กาฬปักษยะครุวาระสัตะดฤษถีปริเฉทกาลอุกฤษฐ
    สมเด็จบรมธรรมมฤกะมหาราชารามาธิราชเจ้า
    ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์อะนันตะคุณวิปุลปรีชาอันมหาประเสริฐทรงพระราชศรัทธา
    มีพระราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
    ดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนาให้พระเทพโมลี เป็นพระพรหมมุนี
    ศรีวิสุทธิญาณนายกติปิฎกธรา มหาคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
    สถิตยะในราชบุรณาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล
    พระชนมายุศมะศรีสวัสดิพิพัฒมงคลวิมลทฤฆายุศมะ ในพระพุทธศาสนาเถิดฯ”


    ต่อมา ในรัชกาลที่ ๒ หรือในรัชกาลที่ ๓ ไม่ทราบแน่ชัด
    เลื่อนเป็น พระธรรมอุดม ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๓ ในรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ
    เลื่อนเป็น สมเด็จพระพนรัตน ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

    “ศรีศยุภะมัศดุอดีตกาล พระพุทธศักราชชะไมยะสหัสสังวัจฉะระ
    ไตรสัตตาทฤกะเตสัตติสังวัจฉะระ ปัญจมาสะ ปัจจุบันกาล พยัฆสังวัจะระ
    กฎิกมาศ ศุขปักษย์ เตรัสมีดฤษถีสุกระวาระ ปริเฉทกาลอุกฤษฐ
    สมเด็จบรมธรรม์มฤกมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์
    อนันตคุณวิบุลปรีชาอันมหาประเสริฐทรงพระราชศรัทธา
    มีพระราชโองการมาณพระบัณฑูร สุรสิงหนาทดำรัสสั่ง
    พระราชูทิศถาปนให้พระธรรมอุดม เป็นสมเด็จพระพนรัตนปริยัติวรา
    วิสุทธิสังฆาปรินายก ติปิฎกธราจารย์สฤทธิขัติยสารสุนทร
    มหาคณิศรบวรวามะคณะสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิตย์
    ในราชบุรณาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล
    พระชนมายุศมะศรีสวัสดิพิพัฒมงคลวิมลทฤฆายุศมะ ในพระพุทธศาสนาเถิดฯ”



    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๘๕
    ตรงกับวันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล นี้
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
    แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวแล้วพระราชทานเพลิงพระศพ
    เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๖

    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระพนรัตน (นาค)
    ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    เมื่อวันพุธ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ปีเถาะ พุทธศักราช ๒๓๘๖
    สถิต ณ วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๖ พรรษา
    ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

    “ศิริศยุภมัศดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช ชะไมยสหัสสังวัจฉะระ
    ไตรยสตาธฤกฉะอะสีติ ปัตยุบันกาล สะสะสังวัจฉะระ
    วิสาขมาศกาฬปักษ์เอกาทศะมีตฤตถี พุทธวาระ ปริเฉทกาลอุกฤษฐ
    สมเด็จบรมธรรม์มฤกมหาราชาธิราชเจ้าผู้ทรงทศพิธราชธรรม์
    อนันตคุณวิบุลปรีชาอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธา
    มีพระราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนา
    ให้เลื่อนสมเด็จพระพนรัตนขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี
    ศรีสมณุตปริณายก ติปิฎกธราจารย์ สฤษดิ์ขัติยสารสุนทร มหาคณฤศรทักษิณา
    สฤษดิสังฆะ คามวาสีอรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณานิกรจตุพิธบรรพสัช
    สถิตย์ในพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวง
    (แล้วมีนามองค์อื่นต่อไป ลงท้ายจึงมีพรว่า)
    ให้จฤกถฤตฤกาลอวยผล พระชนมายุศมศิริสวัสดิพิพัฒมงคลวิมลทฤฆายุ
    ในพระพุทธศาสนาจงทุกๆ พระองค์เทอญฯ”


    ในประกาศที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) ดังกล่าวข้างต้นนั้น
    ได้ระบุไว้ว่าพระองค์สถิต ณ วัดมหาธาตุ
    ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
    แต่ในความเป็นจริง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) มิได้เสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    เนื่องเพราะขณะนั้นวัดมหาธาตุอยู่ในระหว่างการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
    ซึ่งต้องรื้อลงแล้วทำใหม่ดุจสร้างใหม่ทั่วทั้งพระอาราม
    โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริที่จะให้เป็น
    ที่อยู่จำพรรษาของภิกษุสามเณรได้ ๑,๐๐๐ รูป จึงได้เริ่มลงมือปฏิสังขรณ์
    เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ จนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี
    จวบจนต้นรัชกาลที่ ๔ จึงสำเร็จบริบูรณ์
    สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะ จนถึงสิ้นพระชนม์

    อาจกล่าวได้ว่า ธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    ก็เป็นอันเลิกไปตั้งแต่สมัยของ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) นับแต่นั้นเป็นต้นมา
    สมเด็จพระสังฆราชเคยสถิตอยู่ ณ พระอารามใด
    เมื่อก่อนที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็จะยังสถิตอยู่ ณ พระอารามนั้นสืบไป
    ดังที่ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมกันต่อมาจวบจนถึงทุกวันนี้
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร


    ประวัติและความสำคัญของวัดราชบุรณะ

    วัดราชบุรณะ หรือ วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร
    เป็นวัดเอกประจำเมืองตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งกรุงเทพฯ เขตพระนคร
    กรุงเทพมหานคร เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญวัดหนึ่งของประเทศไทย
    เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
    ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๗
    วัดราชบุรณะ เดิมชื่อ “วัดเลียบ” กล่าวกันว่าพ่อค้าชาวจีนชื่อ “เลี้ยบ”
    เป็นผู้สร้าง จึงเรียกกันว่า “วัดจีนเลี้ยบ”
    ต่อมาคำว่าจีนเลือนไปคงเหลือเป็นวัดเลียบเท่านั้น

    หลังจากที่รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริพิทักษ์ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์
    ทั้งพระอารามและทรงถวายเป็นพระอารามหลวง
    ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณะ”
    ตามนามวัดคู่เมืองราชธานีตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย

    พระปรางค์ของวัดราชบุรณะนั้นมีความงดงามมาก
    สร้างมาตั้งครั้งสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นศิลปะแบบย่อมุมไม้ ๒๘
    มีฐานบัวซ้อน ๕ ชั้น แต่ละชั้นทำเป็นรูปมารแบกโดยรอบ
    โดยมีนภศูลพระฉัตรครอบประดับบนยอดพระปรางค์

    นอกเหนือจากความสำคัญในทางประวัติศาสตร์แล้ว “ขรัวอินโข่ง”
    พระภิกษุที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรเอกในพระราชสำนักว่า

    “ผู้นำเทคนิคการเขียนภาพแบบยุโรปมาผสมผสานกับ
    ศิลปะดั้งเดิมของไทย ด้วยการให้แสงและเงาภาพ”


    ก็เคยบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้

    และเมื่อครั้งประเทศไทยได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในรัชกาลที่ ๖
    วัดราชบุรณะได้ถูกระเบิดทำให้สถานที่สำคัญๆ ของวัดได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด
    รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่งด้วย

    [​IMG]
    อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่เมืองแกลง จ.ระยอง


    นอกจาก “ขรัวอินโข่ง” แล้ว
    เมื่อครั้งสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    “สุนทรภู่” กวีเอกของไทย ก็ได้เคยออกบวชที่ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)
    เพื่อหนีราชภัยในรัชกาลที่ ๓ ขณะอายุได้ ๔๑ ปี เช่นกัน

    ดังนั้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
    บริเวณวัดและพระอุโบสถจึงได้ถูกรับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
    โดยมี ศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) เป็นผู้ออกแบบ
    พระอุโบสถนี้เป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข หลังคาลด ๒ ชั้น
    หน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ
    ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว
    พระนามว่า “พระพุทธมหาราชประสาธน์”
    ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ แทนพระประธานองค์เดิม
    ที่ถูกระเบิดทำลายเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

    [​IMG]
    พระปรางค์ วัดราชบุรณะ ราชวรวิหาร
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)


    จัดสมณทูตไทยไปลังกา

    ในสมัย สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ในรัชกาลที่ ๓
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดส่งสมณฑูตไปลังกา
    เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เพื่อสืบข่าวพระศาสนาและยืมคัมภีร์พระไตรปิฎก
    ในส่วนที่ไทยยังบกพร่อง สมณฑูตชุดนี้ได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
    ในต้นปี พ.ศ. ๒๓๘๖ อันเป็นปีที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
    ครั้นปี พ.ศ. ๒๓๘๗ พระสงฆ์ลังกาฝากหนังสือเข้ามาเตือนหนังสือพระไตรปิฎก
    ที่ยืมมาเที่ยวก่อน ๔๐ พระคัมภีร์
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้
    จัดสมณฑูตออกไปยังลังกาอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๒ ในรัชกาลนี้
    พระสงฆ์ที่ไปในครั้งนี้ ๖ รูป คือ

    ๑. พระอมระ (คือพระอมราภิรักขิต เกิด วัดบรมนิวาส)
    ซึ่งเคยร่วมไปในสมณฑูตชุดก่อนด้วย
    ๒. พระสุภูติ (คือพระสมุทรมุนี สังข์) ซึ่งเคยร่วมไปในสมณฑูตชุดก่อนด้วย
    ๓. พระสังฆรักขิต
    ๔. พระปิลันทวัชชะ (ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า พระปิลินทวัจฉะ)
    ๕. พระยัญญทัตตะ
    ๖. พระอาสภะ
    ๗. สามเณรแก่น เปรียญ (ภายหลังลาสิกขาได้เป็นพระยาโอวาทวรกิจ)
    (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่า สามเณรปันขาระ)


    [​IMG]
    พระอมราภิรักขิต (เกิด)


    สมณฑูตชุดนี้ก็เป็นพระภิกษุสามเณรธรรมยุตล้วนเช่นเดียวกับชุดก่อน
    สมณฑูต ๗ รูปพร้อมด้วยพระภิกษุชาวลังกาอีก ๑ รูป และไวยาวัจกร ๑๐ คน
    ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๑๒ ข้างแรม พ.ศ. ๒๓๘๗
    โดยเรือหลวงอุดมเดชและได้กลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๔ ปีเดียวกัน
    พร้อมกับได้ยืมหนังสือพระไตรปิฏกเข้ามาอีก ๓๐ คัมภีร์
    และในคราวนี้ได้มีภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ชาวลังกาติดตามมาด้วยถึง ๔๐ คนเศษ

    คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ยืมมาคราวนี้มีอะไรบ้างยังไม่พบหลักฐาน
    แต่จากความในสมณสันเทศ (จดหมาย) ของพระสงฆ์ลังกา
    ที่ฝากเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ซึ่งยังทรงผนวชอยู่และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ในขณะนั้น
    ปรากฏชื่อคัมภีร์บางส่วนที่พระสงฆ์ได้มาในครั้งนั้น คือ

    ๑. นามรูปปริเฉท
    ๒. มหานยสารทีปนี
    ๓. เอกักขรโกสฎีกา
    ๔. วัจจวาจฎีกา
    ๕. สัททัตถรชาลินีฎีกา
    ๖. วินยวินิจฉยฎีกา
    ๗. บุราณฎีกาบาลีมุต
    ๘. นวฎีกามูลสิกขา
    ๙. บุราณฎีกาอังคุตร
    ๑๐. ฎีกามหาวงศ์ (๑๐ คัมภีร์นี้ ให้ยืมมา)
    ๑๑. เภสัชมัญชุสา
    ๑๒. ชินจริต
    ๑๓. เรื่องทันตธาตุ


    เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยกับลังกา
    ได้มีการติดต่อกันในทางพระศาสนาค่อนข้างใกล้ชิด
    ทั้งโดยทางราชการและโดยทางเอกชน
    โดยทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยบ่อยๆ
    และโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชและทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารอยู่
    ทำหน้าที่ต้อนรับดูแลพระสงฆ์ลังกา
    ตลอดถึงจัดสมณฑูตไทยออกไปลังกาตามพระราชประสงค์ถึง ๒ ครั้ง
    ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงต้องมีหมู่กุฏิไว้รับรองพระสงฆ์ลังกาโดยเฉพาะ
    เรียกว่า “คณะลังกา” (บริเวณที่เป็นพระวิหารพระศาสดาในบัดนี้)
    ดังที่กล่าวไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

    “ครั้งนั้น พระเปรียญ (วัดบวรนิเวศวิหาร) พูดมคธได้คล่อง
    มีพระลังกาเข้ามา (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
    จึงต้องทรงมีหน้าที่เป็นผู้รับรองในราชการ
    มีคณะไว้สำหรับพระลังกาที่วัด (บวรนิเวศวิหาร)
    ตั้งอยู่ที่เป็นพระวิหารพระศาสดาในทุกวันนี้ ทรงสื่อสารกับคณะสงฆ์ที่ลังกา
    บางคราวก็ทรงแต่งสมณฑูตส่งไปลังกาโดยราชการก็มี”


    การที่ต้องมีคณะลังกาไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น
    แสดงว่าคงมีพระสงฆ์ลังกาเข้ามาพำนักอยู่บ่อยๆ หรือเป็นประจำ
    และที่น่าสนใจก็คือ พระเปรียญวัดบวรนิเวศวิหารครั้งนั้น
    ไม่เพียงแต่พูดมคธได้คล่องเท่านั้น
    แต่บางท่านยังสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องอีกด้วย
    อาทิเช่น พระอมระ (คือพระอมราภิรักขิต เกิด)
    (ซึ่งเป็นสมณฑูตไปลังกาถึง ๒ ครั้ง)
    ในรัชกาลที่ ๓ ชาวลังกาก็ชมว่า “พูดได้เหมือนอังกฤษทีเดียว”
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) ซึ่งเป็นสมณฑูตไปลังกา
    แต่ครั้งยังเป็นพระราชาคณะที่ พระอโนมศิริมุนี ในรัชกาลที่ ๔
    ก็สามารถเทศนาเป็นภาษามคธให้ชาวลังกาฟังได้
    อันแสดงให้เห็นว่าการศึกษาภาษาบาลีของพระสงฆ์ไทยยุคนั้นเจริญก้าวหน้ามาก
    ทั้งมีความตื่นตัวในการศึกษาภาษาของชาวตะวันตก เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้นด้วย

    ทั้งนี้ก็โดยมีพระสงฆ์สำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    วัดบวรนิเวศวิหารเป็นผู้นำ ซึ่งแบบอย่างอันนี้ได้ตกทอดมาจน
    ถึงยุคของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในรัชกาลที่ ๕

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓


    พระอวสานกาล

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๕ ปีเศษ
    ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๓๙๒
    ในรัชกาลที่ ๓ มีพระชนม์มายุได้ ๘๖ พรรษา
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)
    พุทธศักราช ๒๓๙๔-๒๓๙๖


    วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
    แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงได้รับสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง
    สมเด็จพระสังฆราช องค์พระประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย
    นับเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ในการปกครองของคณะสงฆ์ไทย
    เพราะแต่ก่อนมานับแต่ยุคต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ย้อนไปจนถึงยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
    ไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายพระองค์ใด แม้ทรงผนวชอยู่จนตลอดพระชนมชีพ
    ได้รับการสถาปนาในตำแหน่งที่ สมเด็จพระสังฆราช
    เพราะฉะนั้น พระประวัติและพระเกียรติคุณของ
    สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

    สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๒๘
    ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    และ เจ้าจอมมารดาจุ้ย (ธิดาพระราชาเศรษฐี เป็น ‘พระสนมโท’
    ต่อมาได้เลื่อนเป็น “ท้าวทรงกันดาล” ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้รักษาการคลังใน
    เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓)
    ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๓๓
    ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ ทศก จุลศักราช ๑๑๕๒
    ได้รับพระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้าวาสุกรี”

    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
    พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชาและอุปสมบท



    ทรงบรรพชาและอุปสมบท

    พ.ศ. ๒๓๔๕ ทรงผนวชเป็นสามเณร แต่เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา
    โดยทรงผนวชเป็นหางนาค กับพระองค์เจ้าชายฉัตร (กรมหมื่นสุรินทรรักษ์)
    ในคราวที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
    (กรมพระวังหลัง) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๓๔๕ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์
    เมื่อทรงผนวชแล้วก็ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพระเชตุพน

    ทรงศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและภาษาบาลี ตลอดทั้งวิธีลงยันต์เลขไสย
    อยู่ใน สำนักสมเด็จพระพนรัตน ผู้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนในขณะนั้น
    ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอักษรสมัยและเวทย์มนต์ยิ่งนัก
    โดยเฉพาะภาษาบาลีนั้น สมเด็จพระพนรัตนรอบรู้แตกฉานมาก
    ได้รจนาหนังสือเป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธไว้ ๓ เรื่องคือ
    สังคีติยวงศ์ พงศาวดารการสังคายนา ๑
    จุลยุทธการวงศ์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ๑
    มหายุทธการวงศ์ พงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ๑
    กล่าวกันว่า ตำรับตำราพิชัยสงครามและพระคัมภีร์ต่างๆ
    ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่กับสมเด็จพระพนรัตน วัดป่าแก้ว
    ก็ตกมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนแห่งนี้ด้วย
    ฉะนั้น สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    คงจักได้ทรงศึกษาเล่าเรียนตำรับตำราต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้
    จึงได้ทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านคดีโลกและคดีธรรม
    ดังเป็นที่ประจักษ์จากผลงานอันเป็นบทพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ มากมาย

    สามเณรพระองค์เจ้าวาสุกรี ประทับจำพรรษาและศึกษาอยู่ในวัดพระเชตุพน
    จนสิ้นสมัยรัชกาลที่ ๑ ขณะนั้นพระชนม์ได้ ๑๙ พรรษา ก็ไม่ทรงสึก
    เนื่องจากอายุยังไม่ครบผนวชเป็นพระภิกษุ จึงทรงเป็นสามเณรต่อไป
    จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๕๔
    โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์
    และ สมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “สุวณฺณรํสี” เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์

    [​IMG]
    พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ


    อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒

    เมื่อทรงผนวชเป็นภิกษุได้ ๓ พรรษา ในระหว่างพรรษาที่ ๓ นั้น
    สมเด็จพระพนรัตน เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ผู้เป็นพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพ
    ครั้นออกพรรษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    เสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐิน จึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ
    และให้ครองพระกฐิน และโปรดเกล้าฯ ให้ครองวัดพระเชตุพนในวันนั้น
    จึงทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ตั้งแต่ทรงผนวชได้เพียง ๓ พรรษา
    นับเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน รูปที่ ๒
    และต่อมาก็ทรงสถาปนาเป็น กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์
    ทรงสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะสามัญ


    เจ้านายพระองค์แรกที่ทรงดำรงสมณศักดิ์

    การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา
    พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระราชาคณะครองวัดพระเชตุพนนั้น
    เป็นการเริ่มธรรมเนียมอย่างใหม่ขึ้นในทางการปกครองคณะสงฆ์
    คือเจ้านายทรงรับสมณศักดิ์ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย
    เพราะก่อให้เกิดผลดีตามมาในภายหลังแก่คณะสงฆ์และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ
    ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๒ ย้อนไปจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา
    ไม่เคยปรากฏว่ามีเจ้านายที่ทรงผนวชได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
    หรือมีตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์เลย
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงริเริ่มประเพณีนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก
    และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรก
    ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์และดำรงตำแหน่งทางการคณะสงฆ์
    นับแต่นั้นมา เจ้านายที่ทรงผนวชอยู่ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
    และดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางการคณะสงฆ์ที่สำคัญๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นจำนวนมาก

    จะเห็นได้ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    ทรงพระราชดำริเริ่มประเพณีตั้งเจ้านายให้ดำรงสมณศักดิ์ขึ้นในคณะสงฆ์นั้น
    ก่อให้เกิดผลดีแก่พระศาสนาและชาติบ้านเมืองหลายประการ กล่าวคือ

    - เป็นทางให้เจ้านายทรงนิยมในการทรงผนวชอยู่นานๆ มากขึ้น
    เพราะเห็นทางที่จะเจริญในทางพระศาสนา
    และมีโอกาสที่จะทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนาและชาติบ้านเมือง
    ในทางที่ทรงพระปรีชาสามารถได้อย่างกว้างขวาง

    - เป็นทางนำบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาสู่วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์
    ทำให้วงการพระศาสนาและคณะสงฆ์มีโอกาสพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็ว
    และกว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะเจ้านายย่อมทรงไว้ซึ่งพระชาติวุฒิและ
    พระคุณวุฒิที่ทรงได้รับการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดีจากราชสกุล
    เมื่อเข้ามาทรงผนวชอยู่ในพระพุทธศาสนา
    ย่อมเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของพระพุทธศาสนา
    เลยก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระศาสนา
    และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ

    - เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จในการดำเนินกิจการทางพระศาสนาและคณะสงฆ์
    เพราะเจ้านายย่อมเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชน
    ฉะนั้นกิจการในทางพระศาสนาและคณะสงฆ์ที่ดำริและดำเนินการ
    โดยมีเจ้านายย่อมเป็นที่ทรงพร้อมด้วย พระชาติวุฒิ พระคุณวุฒิ และพระอิสริยยศ
    เป็นผู้นำย่อมเป็นที่ศรัทธาและไว้วางใจของคนทั่วไป
    จึงไม่เป็นการยากที่จะกระทำการนั้นๆ ให้บรรลุเป้าหมายหรือประสบความสำเร็จ
    ดังเป็นที่ปรากฏในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ของไทยตลอดมา

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒


    ทรงเป็นเจ้าคณะกลาง

    ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
    ให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกลาง
    แล้วโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
    ให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
    ทรงดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะกลาง
    บังคับบัญชาวัดทั้งปวงในกรุงเทพฯ จนตลอดสิ้นรัชกาลที่ ๓
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส



    การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก

    ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔
    สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
    ซึ่งทรงผนวชอยู่ และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
    ก็ได้รับการอันเชิญเสด็จเถลิงถวัลย์ราชย์ มไหสวริยสืบมหันตมหิศรราชวงศ์
    ดำรงสิริราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    มีพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ในปลายรัชกาลที่ ๓ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๙๒ นั้น
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ
    ที่จะทรงตั้ง พระพิมลธรรม (อู่) วัดสุทัศน์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
    จนโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ร่างนามที่จะทรงตั้ง และลงวัน เดือน ปี
    ที่จะทรงตั้งไว้เรียบร้อยแล้ว ก็พอทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต
    หลังวันที่กำหนดจะทรงตั้งไว้นั้นเพียงวันเดียว

    ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
    จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส
    ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
    และทรงสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
    สมเด็จพระมหาสังฆปริณายกทั่วพระราชอาณาเขต
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่วัดพระเชตุพน
    มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบวรราชาภิเษก
    เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้นเป็น
    พระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษกที่เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทย
    และ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรก
    ที่ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช ดังความที่ปรากฏนี้

    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)



    “ศรีศยุภมัสดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช
    ชไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤกจตุนวุติสังวัจฉร
    ปัตยุบันกาลสุกรสังวัจฉรสาวนมาศ สุกกปักษ์จตุรสติดฤศถี สุกรวารปริเฉทกำหนด
    พระยาทสมเด็จพระปรมนทร มหามกุฏสุทธสมมตเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์
    วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติ
    สังสุทธเคราหณี จักรีบรมนารถ อดิศวรราชรามวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต
    อุกฤษฐวิบูลย์ บูรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิธัญญลักษณวิจิตร
    โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิผลสรรพศุภผลอุดม
    บรมสุขุมาลมหาบุรุษยรัตน์ ศึกษาพิพัฒน์สรรพโกศล สุวิสุทธวิมลศุภศีลสมาจาร
    เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณ วิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตาร
    ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศศรานุรักษ์ เอกอรรคมหาบุรุษ
    สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฏกาทิโกศล วิมลปรีชา มหาอุดมบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ
    บริบรูณ์คุณสารสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช
    สรรพวิเศษศิรินทร มหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ
    นพปฏลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต
    สรรพทศทิศวิชิตไชยสกลมไหสวริย มหาสวามินทร์
    มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย
    พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์อุกฤษฐศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย
    อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมทรธรรมิกมหาราชาธิราช
    บรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานคร
    อมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์
    อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ได้ประดิษฐดำรงมาเป็นมหานครอันใหญ่
    เปนที่ศุขเกษมสมบรูณ์ด้วยสรรพโภคัยมไหยสุริยสมบัติ
    เพียบพูลด้วยชนคณานิกรบรรสัษย์ คือบุรุษยรัตนราชวงศานุวงศ์ เสนามาตยามนตรี
    กระวีชาติราชปโรหิต เป็นที่ไปมานานาค้าขายแห่งประเทศพานิช
    วิจิตรด้วยวิกัยภัณฑ์สรรพพัสดุล้วนวิเศษ เป็นที่รื่นเริงบันเทิงจิตร
    แห่งชาวนานาประเทศนิคมชนบท ปรากฏด้วยมหาชน อันเจริญขึ้น
    ด้วยความฉลาดในหัตถกรรมต่างๆ แลชำนาญในการช่างสรรพกิจทุกประการ
    เจริญขึ้นด้วยหมู่นิกรโยธาทวยหาญ เป็นประเทศที่ประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนา
    ประดับด้วยเรือนพระปฏิมาอุโบสถาคาระเสนาศน์ วิจิตรด้วยสุวรรณหิรัญมาศ
    เปนที่เจริญความเลื่อมใสแห่งมหาชน ซึ่งเป็นมาได้ดังนี้ สำเร็จได้ด้วยอำนาจบารมี
    พระเดชานุภาพ วิริยะปรีชาวิจารณกิจ แห่งสมเด็จพระบรมนารถบพิตร
    ซึ่งทรงสถิตย์เป็นปฐม คือองค์สมเด็จพระบรมไอยกาธิราช ที่ได้ทรงพระนามตามประกาศ
    ด้วยพระนามแห่งพระมโหทิฐปฏิมาว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นเดิมมา
    ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่า ก็เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    พระองค์นั้น แลได้ทรงพระผนวชรับพระธุระฝ่ายพระบวรพระพุทธศาสนามาช้านาน
    ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธศาสน์ราชสาตร
    แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ แลในทางปฏิสันฐารปราไส
    แล้วมีพระหฤทัยโอบอ้อมอารี เป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป
    แลได้เปนครูอาจารย์ครุถานิยบุทคลแห่งราชสกุลวงษ์มหาชนเป็นอันมาก
    ควรที่จะเปนประธานาธิบดี มีอิศริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณะนิกรสงฆ์
    คามวาสีอรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายหนือทั้งปวง เมื่อบุรุษย์รัตนอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้มีอยู่
    ก็มิได้ควรที่จะยกย่องพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ถึงจะมีสติปัญญาวิทยาคุณ
    ที่มีตระกูลเป็นอย่างอื่น ให้มีอิศริยยศถานานุศักดิ์ยิ่งกว่า
    จึงมีพระบรมราชโองการมาร พระบัณฑูรสุรสิงหนารทดำรังสั่งให้สถาปนา
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เปน

    กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์
    บรมพงศาธิบดีจักรีบรมนารถปฐมพันธุมหาราชวรังกูร
    ปรเมทรนเรนทรสูรสัมมาภาธิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลจารพิเศษมหาวิมล
    มงคลธรรมเจดียุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร
    มโหฬารเมตตาภิธยาไศรย ไตรปิฏกกลาโกศล เบญจปฎลเสวตรฉัตร
    ศิริรัตโนปลักษณะมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิธำรง
    มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์
    สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์
    เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกยปดิพัทธพุทธบริสัษยเนตร
    สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโรปการกิจ
    สฤษดิศุภการมหาปาโมกขประธานวโรดม บรมนารถบพิตร


    เสด็จสถิตย์ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
    พระอารามหลวง กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ
    นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ทฤฆายุสมศิริสวัสดิฯ”
    *

    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)



    กล่าวกันว่า เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    มิได้ทรงตั้ง พระพิมลธรรม (อู่) เป็นสมเด็จพระสังฆราช
    ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
    ก็คงเนื่องมาจากพระราชประเพณีนิยมที่มีมาแต่โบราณกาล
    ดังที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ได้ทรงอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ ความว่า

    พระเถระที่จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะนั้น
    ก็เฉพาะผู้ทรงคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นพระอุปัชฌายะ เป็นพระอาจารย์
    เป็นที่ทรงนับถือเหมือนอย่างพระอุปัชฌายะ หรือพระอาจารย์
    หรือเป็นผู้ใหญ่ผู้เฒ่ามีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษาจึงถึงต่างปูนกัน
    สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีความเกี่ยวข้องกับ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายประการ กล่าวคือ
    ในทางพระราชวงศ์ก็ทรงเป็นพระเจ้าอา ในทางวัยวุฒิก็ทรงเจริญพระชนมายุกว่า
    ๑๔ พรรษา ในทางความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ ก็ทรงเป็นพระอาจารย์ กล่าวคือ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาอักขรวิธีและพระพุทธวจนะ
    ตลอดถึงวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

    ฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงเคารพนับถือมากมา
    แต่ครั้งยังทรงผนวชอยู่ เป็นที่ทรงปรึกษาในเหตุการณ์สำคัญๆ เสมอ
    เช่นเมื่อครั้งทรงผนวชใหม่ๆ ในปลายรัชกาลที่ ๒ หลังจากผนวชได้เพียง ๑๕ วัน
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถก็เสด็จสวรรคต
    ตามราชนีติประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ควรจะได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    เพราะทรงอยู่ในฐานะองค์รัชทายาทแต่ขณะนั้นยังทรงพระเยาว์
    และทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ เสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ส่วนมาก
    จึงเห็นว่าควรถวายราชสมบัติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ซึ่งเป็นพระโอรสผู้ใหญ่และทรงเจริญพระชนมายุกว่า
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ พรรษา
    ฉะนั้น หลังจากสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตเมื่อถูกกราบทูลถามว่า
    จะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือจะทรงผนวชอยู่ต่อไป
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไปทูลปรึกษาสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ซึ่งขณะนั้นทรงเป็น กรมหมื่นนุชิตชิโนรส (พระชนมายุ ๓๔ พรรษา)
    กับทั้งสมเด็จพระกรมพระยาเดชาดิศร ขณะนั้นทรงเป็นกรมหมื่นเดชอดิศร
    ซึ่งเป็นที่ทรงคารพนับถือมากทั้งสองพระองค์ และทั้งสองพระองค์ได้ตรัสแนะนำว่า
    ไม่ใช่เวลาควรปรารถนาราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงได้ทรงผนวชอยู่ต่อมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ พระราชดำรัสแนะนำของ
    สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ครั้งนี้นับว่าก่อให้เกิดผลดีแก่
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและชาติบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ


    นอกจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จะทรงเป็นที่เคารพนับถือของ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองพระองค์
    ทรงเป็นที่สนิทสนมกันมากด้วย ดังที่เล่ากันมาว่า
    ในปลายรัชกาลที่ ๓ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระดำริร่วมกันว่า
    น่าจักได้สร้างวัดส่วนพระองค์ไว้นอกพระนคร
    สำหรับเป็นที่เสด็จไปประทับในบางโอกาสหรือในคราวจำเป็นพระองค์ละวัด
    สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงได้ทรงสร้างวัดไว้ในคลองมอญวัดหนึ่ง
    ซึ่งเรียกกันในครั้งนั้นว่า วัดใหม่วาสุกรี
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง
    เรียกกันในขณะนั้นว่า วัดนอก มาภายหลังจึงได้พระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาส
    ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๔
    สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงได้ถวายวัดใหม่วาสุกรี เป็นพระอารามหลวง
    และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชิโนรสาราม

    * หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]

    พระอัจฉริยภาพในทางพระศาสนาและวรรณกรรม

    สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงมีพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน
    สาเหตุหนึ่งคงเนื่องมาจาก ทรงได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาเป็นอย่างดี
    จากพระอาจารย์ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งยุค ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
    คือ สมเด็จพระพนรัต วัดพระเชตุพน ประกอบกับพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์
    จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นที่ปรากฏโดดเด่น ทั้งในด้านการพระศาสนา
    และด้านวิทยาการของบ้านเมืองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

    กล่าวเฉพาะในด้านการพระศาสนา แม้ว่าในทางการปกครองจะไม่มีเหตุการณ์พิเศษ
    ให้กล่าวขวัญถึงพระองค์มากนัก เพราะทรงรับภาระธุระทางการปกครอง
    ว่ากล่าวเฉพาะวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาจนเกือบตลอดพระชนม์ชีพ
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก ที่สมเด็จพระสังฆราช
    อยู่เพียงปีเศษในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมายุเท่านั้น

    แต่การที่ทรงมีพระภาระกิจทางการปกครองไม่มากนั้น กลับเป็นผลดียิ่งนัก
    เพราะเป็นโอกาสให้พระองค์ได้ทรงศึกษาพิเคราะห์พระธรรมวินัย
    และใช้พระปรีชาสามารถสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าแก่การพระศาสนา
    และชาติบ้านเมืองเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ ในทางพระสัทธรรม
    ปรากฏว่าทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญ ทรงเป็นที่ปรึกษา
    และถวายวิสัชนาพระราชปุจฉาต่างๆ ในรัชกาลที่ ๓ มาโดยตลอด
    ในทางรจนา นับว่าทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ
    ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
    หรือร่ายยาวมหาชาติ เป็นต้น ที่ถือกันว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอก
    ทางพระพุทธศาสนา ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    ในทางพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่างๆ
    ถวายพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
    ให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงบำเพ็ญ
    โดยทรงคิดเลือกพุทธอิริยาบถต่างๆ จากเรื่องพุทธประวัติ
    เป็นจำนวน ๓๗ ปาง ได้เป็นต้นแบบพระปางสมัยรัตนโกสินทร์สืบมา ดังนี้

    ๑. ปางพระบำเพ็ญทุกรกิริยา
    ๒. ปางพระรับมธุปายาส
    ๓. ปางพระลอยถาด
    ๔. ปางพระรับกำหญ้าคา
    ๕. ปางพระมารวิชัย
    ๖. ปางพระสมาธิ
    ๗. ปางพระถวายเนตร
    ๘. ปางพระจงกรมแก้ว
    ๙. ปางพระเจ้าประสานบาตร
    ๑๐. ปางพระฉันสมอ
    ๑๑. ปางพระลีลา
    ๑๒. ปางพระเอหิภิกขุ
    ๑๓. ปางพระปลงกรรมฐาน
    ๑๔. ปางพระห้ามสมุทร
    ๑๕. ปางพระอุ้มบาตร
    ๑๖. ปางพระภัตตกิจ
    ๑๗. ปางพระเกษธาตุ
    ๑๘. ปางพระลงเรือขนาน
    ๑๙. ปางพระห้ามญาติ
    ๒๐. ปางพระป่าเลไลย
    ๒๑. ปางพระห้ามพระแก่นจันทร์
    ๒๒. ปางพระนาคาวโลกย์
    ๒๓. ปางพระปลงพระชนมายุสังขาร
    ๒๔. ปางพระรับอุทกัง
    ๒๕. ปางพระสรงน้ำ
    ๒๖. ปางพระยืน
    ๒๗. ปางพระคัพธานุราช
    ๒๘. ปางพระยืน
    ๒๙. ปางพระสมาธิเพชร
    ๓๐. ปางพระสำแดงชราธรรม์
    ๓๑. ปางพระเหยียบรอยพระพุทธบาท
    ๓๒. ปางพระสำแดงโอฬาริกนิมิต
    ๓๓. ปางพระทรงรับผลมะม่วง
    ๓๔. ปางพระขับพระวักกลิ
    ๓๕. ปางพระไสยาสน์
    ๓๖. ปางพระฉันมธุปายาส
    ๓๗. ปางพระห้ามมาร



    รัตนกวีศรีรัตนโกสินทร์

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระพนรัตน วัดพระเชตุพน
    ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางภาษาต่างๆ โดยเฉพาะภาษาบาลี และพระปริยัติธรรมอย่างยิ่ง
    อีกทั้งตำราพิชัยสงครามและคัมภีร์ต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
    ตกมาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ พระองค์จึงทรงรอบรู้ทางด้านภาษาอย่างดีเยี่ยม
    ทรงแตกฉานทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ดังปรากฏในงานพระนิพนธ์ของพระองค์
    หลากรูปแบบและหลายรส ความที่ทรงรจนาอย่างแสดงถึงพระอัจฉริยภาพ
    สมกับที่ทรงได้รับยกย่องเป็นรัตนกวีในสมัยรัตนโกสินทร์
    งานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สามารถจำแนกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

    ๑. งานพระนิพนธ์ร้อยกรอง

    ๑.๑ ประเภทโคลง มี ๕ เรื่อง
    ๑.๑.๒ โคลงกลบท
    ๑.๑.๒ โคลงจารึกศาลาราย และโคลงจารึกหน้าศาลาพระมหาเจดีย์
    ๑.๑.๓ โคลงภาพคนต่างภาษา
    ๑.๑.๔ โคลงภาพฤาษีดัดตน
    ๑.๑.๕ โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน

    ๑.๒ ประเภทร่าย มี ๒ เรื่อง
    ๑.๒.๑ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
    ๑.๒.๒ ร่ายทำขวัญนาคหลวง

    ๑.๓ ประเภทลิลิต มี ๒ เรื่อง
    ๑.๓.๑ ลิลิตตะเลงพ่าย
    ๑.๓.๒ ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค

    ๑.๔ ประเภทฉันท์ มี ๘ เรื่อง
    ๑.๔.๑ สรรพสิทธิ์คำฉันท์
    ๑.๔.๒ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
    ๑.๔.๓ ฉันท์กล่อมช้างพัง และกาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
    ๑.๔.๔ ตำราฉันท์มาตราพฤติ
    ๑.๔.๕ ตำราฉันท์วรรณพฤติ
    ๑.๔.๖ สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย
    ๑.๔.๗ จักรทีปนีตำราโหราศาสตร์
    ๑.๔.๘ ฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรี

    ๑.๕ ประเภทกลอน มี ๑ เรื่อง คือ กลอนเพลงยาวเจ้าพระ

    ๒. งานพระนิพนธ์ร้อยแก้ว

    ๒.๑ ปฐมสมโพธิกถา ฉบับภาษาบาลี
    มีต้นฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นพระคัมภีร์ใบลานจำนวน ๓๐ ผูก
    ผูกละประมาณ ๒๔ หน้า เมื่อปริวรรตเป็นอักษรไทยและแปลออกมาแล้ว
    จะเป็นหนังสือหนาประมาณ ๒,๑๖๐ หน้า หรือประมาณ ๒๗๐ ยก
    ซึ่งเป็นหนังสือพระพุทธประวัติฉบับที่มีขนาดหนาที่สุดในโลก
    ๒.๒ คำประกาศบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๔
    ๒.๓ พระราชพงศาวดารสังเขป และพระราชพงศาวดารย่อ
    ๒.๔ คำฤษฏี
    ๒.๕ พระธรรมเทศนาพระราชพงศาวดารสังเขป


    [​IMG]
    พระโกศทรงฝรั่ง บรรจุพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม



    พระอวสานกาล

    เมื่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น
    ทรงมีพระชนมายุ ๖๑ พรรษา ทรงประชวรพระโรคชรา
    พระสุขภาพจึงไม่สู้แข็งแรงนัก ทรงประชวรหนักคราวหนึ่ง
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
    ให้มีพิธีสเดาะพระเคราะห์ตามพิธีไสยศาสตร์ถวาย
    ทรงเจริญพระชนมายุอยู่ในรัชกาลที่ ๔ เพียง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
    เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕
    เวลาบ่าย ๓ โมง ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๙๖
    สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา กับ ๔ วัน
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑ ปี ๔ เดือน
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ทรงพระศพเป็นพระเกียรติยศยิ่ง

    ครั้นปีขาลเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๖ (พุทธศักราช ๒๓๙๗)
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
    ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง แล้วเชิญพระโกศพระศพ
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ตั้งกระบวนแห่แต่วัดพระเชตุพนไปเข้าพระเมรุท้องสนามหลวง
    มีการมหรสพ ๓ วัน ๓ คืน ครั้นเดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ
    ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๗
    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว
    นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้มีตำแหน่งพระครูฐานานุกรม ประจำสำหรับรักษาพระอัฐิ
    ถึงเวลาเข้าพรรษาก็เสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิทุกปี
    และถึงวันเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินวัดพระเชตุพน ก็โปรดเกล้าฯ
    ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานในพระอุโบสถ ทรงสักการบูชาแล้วทอดผ้าไตร
    ให้พระฐานานุกรมสดับปกรณ์พระอัฐิเป็นประเพณีตลอดมา
    ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน

    หลังจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์แล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้โปรดสถาปนาพระเถระรูปใด
    เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล
    ในรัชกาลที่ ๔ จึงมีสมเด็จพระสังฆราชเพียงพระองค์เดียว
    คือ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์แล้ว
    ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็ว่างอยู่ตลอดจนรัชกาลที่ ๔ เป็นเวลา ๑๕ ปี
    เหตุที่ไม่ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น
    คงเป็นเพราะไม่มีพระเถระรูปใดอยู่ในฐานะที่จะทรงสถาปนา
    ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔


    อาจมีผู้สงสัยว่า การที่ว่างสมเด็จพระสังฆราช
    หรือไม่มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลานานนั้น

    การปกครองคณะสงฆ์จะดำเนินการกันอย่างไร
    จึงขออธิบายไว้ตรงนี้สั้นๆ ว่า แต่ครั้งโบราณกาลมา
    องค์พระมหากษัตริย์ทรงถือเป็นพระราชภาระในการปกครองดูแลคณะสงฆ์
    โดยทรงโปรดฯ ให้เจ้านายผู้ใหญ่หรือขุนนางผู้ใหญ่ในตำแหน่งเจ้ากรมสังฆการี
    (บางยุคเรียกว่ากรมสังฆการีธรรมการ ซึ่งภายหลังเป็นกระทรวงธรรมการ)
    เป็นผู้กำกับดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อมีกิจอันใดเกิดขึ้นในคณะสงฆ์
    เจ้ากรมสังฆการีก็จะเป็นผู้รับสั่งการไปทางเจ้าคณะต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไป
    สมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์โดยตรง
    ด้วยพระองค์เองทรงดำรงอยู่ในฐานะปูชนียบุคคลของปวงพุทธบริษัทเท่านั้น
    การปกครองคณะสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะนี้
    จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง
    สำหรับคณะกลางซึ่งสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเป็นเจ้าคณะอยู่เดิมนั้น
    แม้ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สิ้นพระชนม์แล้ว
    ก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นอยู่ใน พระอัฐิสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    มีถานานุกรมพระอัฐิบังคับบัญชาว่ากล่าวตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๕
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี)



    การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า
    ตำแหน่ง พระมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่ง สังฆมณฑล ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้นมีนามอย่างสังเขปว่า “สมเด็จพระสังฆราช”
    เป็นประเพณีสืบมา ส่วนพระบรมราชวงศ์ผู้ได้รับมหาสมณุตมาภิเษก
    ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งพระสังฆปริณายกหาได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่
    ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
    ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์ จึงได้ทรงพระราชดำริพระนาม
    สำหรับเรียกพระบรมราชวงศ์ผู้ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช
    ขึ้นใหม่ว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” และได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยน
    คำนำพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    สมเด็จพระมหาสมณะ ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
    อยู่ในขณะนั้น เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”
    เป็นพระองค์แรก พระนามว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า”
    จึงได้เกิดมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยนี้และพร้อมกันนี้ ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้
    สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ซึ่งทรงดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในอดีต
    เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” เช่นเดียวกันด้วย จึงเรียกกันว่า
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และ
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สืบมาแต่บัดนั้น

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖


    ประกาศสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

    มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสิรินทร
    มหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศใทราบโดยทั่วกัน
    ด้วยทรงพระราชดำริว่า พระมหาสังฆปรินายก
    ปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า
    สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้น ได้มีนามอย่างสังเขปว่า
    สมเด็จพระสังฆราชเป็นประเพณีสืบมา แต่ส่วนพระบรมราชวงศ์ผู้ได้รับ
    มหาสมณุตมาภิเษกดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เช่นนี้หาได้เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราชไม่
    ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
    ไม่ปรากฏพระเกียรติยศในส่วนทรงดำรงสมณศักดิ์นั้นเลย

    จึงทรงพระราชดำริว่า สมด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    พระอุปัธยาจารย์ ได้ทรงรับพระมหาสมณุตาภิเษกเป็น
    มหาสังฆปริยนายกปธานาธิบดีสงฆ์ มาจนกาลบัดนี้ถึง ๑๐ พรรษาล่วงแล้ว
    ทรงมีคุณูปการในทางพระศาสนกิจยิ่งนัก พระองค์มีพระชนมายุเจริญยิ่ง
    ล่วง ๖๐ พรรษา ประจวบอภิลักขิตสมัยครบรอบวันประสูติ
    ทรงบำเพ็ญพระกุศลเฉลิมพระชันษา สมควรจะสถาปนาพระนามในส่วนสมณศักดิ์
    ให้ปรากฏพระเกียรติยศยิ่งขึ้น จึงควรพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (มีสร้อยพระนามคงตามเดิม) เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสืบไปชั่วกาลนาน

    อนึ่ง เมื่อได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์ปัจจุบันฉะนี้แล้ว
    จึงทรงพระราชดำริถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ผู้ได้ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษกเป็นมหาสังฆปริณายก
    ประธานาธิบดีสงฆ์มาแต่อดีตกาล ก็มีคุณูปการในทางพุทธศาสนากิจสมัย
    นั้นมาเป็นอย่างยิ่ง สมควรจะสถาปนาพระสมณศักดิ์ขึ้นไว้เช่นเดียวกัน
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งสองพระองค์นั้นเป็น
    “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” ตั้งแต่บัดนี้สืบไปด้วย
    พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน
    พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน
    (หมายเหตุ : รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)

    [​IMG]
    พระรูปหล่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ประดิษฐาน ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม



    พระเกียรติคุณประกาศ

    ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
    (UNESCO) ได้มีมติรับข้อเสนอของคณะผู้แทนไทยในการประชุมสมัยสามัญ
    ครั้งที่ ๒๕ ที่สำนักงานใหญ่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกย่อง
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓
    นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายเกียรตินี้

    องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
    ได้ประกาศรายชื่อบุคคลสำคัญผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก
    ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓-๒๕๓๔ และถวายพระเกียรติคุณ
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในฐานะปูชนียบุคคลสำคัญ
    ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๓
    ตามมติที่ประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ ๒๕ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก
    กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม-๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒
    และชักชวนให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมฉลอง
    เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๓

    พระมหาสมณเจ้าฯ........................จอมกวี โลกเฮย
    ยูเนสโกสดุดี.................................ปราชญ์เจ้า
    ผู้นำศาสนจักรศรี...........................สังฆราช
    พระอัจฉริยะประจักษ์กล้า................ประดุจแก้วมณี
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล เจดีย์ประจำรัชกาลที่ ๑-๔


    ประวัติและความสำคัญของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

    “วัดโพธิ์” หรือนามทางราชการว่า
    “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร”
    เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร
    และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี
    เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ
    ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นวัดหลวง
    ข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร
    พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย

    พระอารามหลวงแห่งนี้มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๓๘ ตารางวา
    อยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง
    ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช
    มีถนนเชตุพน ขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาว แบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจน

    มีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า
    หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงพระราชดำริว่า
    มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุฯ)
    ด้านใต้คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม
    ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑
    ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จและโปรดฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔
    พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ”
    ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดฯ ให้เปลี่ยนท้ายนามวัดเป็น
    “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ดังปรากฏในศิลาจารึก
    ซึ่งติดไว้ที่ผนังด้านในพระวิหารทิศพระพุทธโลกนาถมุขหลัง
    เรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑ ความว่า

    [​IMG]
    ลายจำหลักมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการที่พระบาทพระพุทธไสยาสน์


    “ศุภมัศดุพระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยสามสิบเบดพระวะษา
    ณ วันจันทร์เดือนสิบเบดแรมแปดค่ำปีระกานักสัตว์เอกศก
    สมเดจ์พระบรมธรรมมฤกมหาราชาธิราชพระเจ้ารามาธิบดี
    บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ผ่านพิภพไอศวรรยาธิปัดถวัลราช
    กรุงเทพทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิหลดภพนพรัตนราชธานี
    บุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน เสดจ์ทอดพระเนตร์เหนวัดโพธารามเก่า
    ชำรุดปรักหักพังเปนอันมากทรงพระราชศัรทธาจะปติสังขรณ์ส้างให้บริบูรรณงามขึ้น
    กว่าเก่าซึ่งที่เปนลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น
    ทรงพระกรุณาให้เอาคนสองหมื่นเศศฃนดินมาถมเตมแล้ว
    รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบลุ่มไปจึงให้ซื้อมูลดินถมสิ้นพระราชทรัพย์
    สองร้อยห้าชั่งสิบห้าตำลึงจึ่งให้ปราบที่พูนมูล ดินเสมอดีแล้ว
    ครั้นณะวันพฤหัศบดีเดือนสิบสองแรมสิบเบดค่ำปีฉลูนักสัตว์เบญจะศก
    ให้จับการปัติสังขรณะส้างพระอุโบสถมีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุะ
    ล้อมรอบพื้นในกำแพงแก้ว แลหว่างพระระเบียงชั้นในชั้นนอกก่ออิฐห้าชั้นแล้วดาดปูน
    กระทำพระระเบียงล้อมสองชั้นผนังพระระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุะ
    ผนังหลังพระระเบียงเขียนเปนลายแย่งมุมพระระเบียงนั้นเปนจัตุระมุข
    ทุกชั้นมีพระวิหารสี่ทิศบันดาหลังคาพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้น
    มุงกระเบื้องเคลือบศรีเขียวเหลืองสิ้น
    ตรงพระวิหารทิศตวันตกออกไปให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่
    กว้างสิบวาลึกห้าศอกตอกเขมเอาอิฐหักใส่กะทุ้งให้แน่นแล้วเอาไม้ตะเคียนยาวเก้าวา
    น่าศอกจัตุรัศเรียงระดับประกับกันเป็นตะรางสองชั้น
    แล้วจึงเอาเหล็กดอกเห็ดใหญ่ยาวสองศอกตรึงตะหลอดไม้แกงแนงทังสองชั้น
    หว่างช่องแกงแนงนั้นเอาอิฐหักทรายถมกะทุ้งให้แน่นดีแล้วรุ่งขึ้นณะวันศุกร์
    เดือนสามขึ้นสิบค่ำปีฃาลฉ้อศกเพลาเช้าสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเสดจ์พระราชดำเนิร
    พร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตโหราจารย์
    มายังที่ลานพระมหาเจดีย์ จึงให้ชักชะลอพระพุทธปติมากรศรีสรรเพชญ์อันชำรุด
    รับมาแต่กรุงเก่า เข้าวางบนราก
    ได้ศุภฤกษประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางคดนตรีปี่พาทย์
    เสดจ์ทรงวางอิฐทองอิฐนากอิฐเงินก่อรากข้าทูลลอองทุลีพระบาททังปวงระดมกันก่อถาน
    กว้างแปดวาถึงที่บันจุจึงเชิญพระบรมธาตุ์แลฉลองพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง
    พระเขี้ยวทององค์หนึ่งพระเขี้ยวนากองค์หนึ่ง บันจุในห้องพระมหาเจดีย์
    แล้วก่อสืบต่อไปจนสำเรจ์ยกยอดสูงแปดสิบสองศอกกระทำพระระเบียงล้อมสามด้าน
    ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกรียรดิ์จึงถวายนามพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ
    แลในวงพระระเบียงชั้นในมีพระมหาธาตุ์สี่ทิศนอกพระระเบียงชั้นนอก
    หว่างพระวิหารคตนั้น มีพระเจดีย์ถานเดียวห้าพระองค์สี่ทิศญี่สิบพระองค์
    เข้ากันทังพระมหาเจดีย์ใหญ่พระมหาธาตุ์เปนญี่สิบห้าพระองค์บันจุพระบรมธาตุสิ้น
    แลมีพระวิหารคตสี่ทิศกำแพงแก้วคั่นประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบสองประตู
    มีรูปสัตว์ประตูละคู่ ทำหอไตรย์มุงกระเบื้องหุ้มดิบุก
    ฝาแลเสาปิดทองลายรดน้ำแลตู้รูปปราสาทใส่คำภีร์พระปะริยัติไตรย์ปิฎก
    ทำการบุเรียนหอระฆัง พระวิหารน้อยซ้ายขวาสำหรับทายกไว้พระพุทธรูป
    ขุดสระน้ำปลูกพรรณไม้ทำศาลารายห้าห้องเจ็ดห้องเก้าห้องเปนสิบเจ็ดศาลา
    เขียนเรื่องพระชาฎกห้าร้อยห้าสิบพระชาติ์ทังตำรายาแลฤาษีดัดตนไว้
    เปนทานทำกำแพงแก้วล้อมรอบนอก มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องถ้วยสี่ประตู
    มีรูปอสูรประจำประตูละคู่ มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบเก้าประตู
    ทังประตูกำแพงคั่นสองเปนสิบเบ็ดประตูมีรูปสัตว์ประตูละคู่เปนรูปสัตว์ญี่สิบสองตัว
    แล้วทำตึกแลกุฎีสงฆ์หลังละสองห้องสามห้องสี่ห้องห้าห้องหกห้องเจ็ดห้อง
    ฝากะดานพื้นกะดานมุงกระเบื้องเปนกุฎีร้อยญี่สิบเก้าทำหอฉัน
    หอสวดมนต์ศาลาต้มกรักตากผ้า สระน้ำ ทำกำแพงล้อมกุฎีอีกวงหนึ่ง
    แลรีมฝั่งน้ำนั้นมีศาลาสามหน้าต้นตะพานพระสงฆ์สรงน้ำทำเวจกุฎีสี่หลัง
    แลในพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้นเชิญพระพุทธปติมากร
    อันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพัง
    อยู่ณะเมืองพระพิศณุโลกเมืองสวรรคโลกเมืองศุกโขไทเมืองลพบุรี
    เมืองกรุงเก่าวัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อยพันสองร้อยสี่สิบแปด พระองค์ลงมา
    ให้ช่างหล่อต่อพระสอพระเศียรพระหัตถ์พระบาทแปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว
    พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้าน่าตักห้าศอกคืบสี่นิ้วเชิญมาบุณะ
    ปติสังขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปนพระประธานในพระอุโบสถ
    บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวะปติมากร
    แลผนังอุโบสถเขียนเรื่องทศชาติ์ทระมานท้าวมหาชมภูแลเทพชุมนุม
    พระพุทธรูปยืนสูงญี่สิบศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนาถสาศดาจารย์
    ปรักหักพังเชิญมาแต่วัดศรีสรรเพชญ์ กรุงเก่า
    ปติสังขรณ์เสรจ์แล้วเชิญประดิษถานในพระวิหารทิศตะวันออกมุกหลัง
    บันจุพระบรมธาตุ์ด้วย ผนังเขียรพระโยคาวจรพิจาระณาอาศภสิบ
    และอุประมาญาณสิบพระพุทธรูปวัดเขาอินเมืองสวรรคโลก
    หล่อด้วยนากน่าตักสามศอกคืบหาพระกรมิได้
    เชิญลงมาบุณะปติสังขรณด้วยนากเสรจ์ แล้วประดิษถานไว้เปนพระประธาน
    ในพระวิหารทิศตวันออกบันจุพระบรมธาตุ์
    ถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์มีต้นพระมหาโพธิ์ด้วย
    แลผนังนั้นเขียนเรื่องมารพะจล พระพุทธรูปน่าตักสี่ศอกห้านิ้ว
    เชิญมาแต่กรุงเก่าปติสังขรณ์เสรจ์แล้วประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศไต้
    ถวายพระนามว่าพระพุทธิเจ้าเทศนาพระธรรมจักรมีพระปัญจะวักคีทังห้า
    นั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักร
    แลเทศนาดาวดึงษ์พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว
    เชิญมาแต่ลพบูรีปติสังขรณ์เสรจ์แล้วประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตก
    บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระนาคปรก
    มีพญานาคแผลงฤทธิ์เลิกพั้งพานมีต้นจิกด้วยแลผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกษธาตุ์
    พระพุทธรูปหล่อใหม่สูงแปดศอกคืบห้านิ้ว ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศเหนือ
    บันจุพระบรมธาตุ์ ถวายพระนามว่าพระป่าเลไลย
    มีช้างถวายคนทีน้ำมีวานรถวายรวงผึ้งแลผนังนั้นเขียนไตรย์ภูมมีเฃาพระสุเมรุราช
    แลเขาสัตตะพันท์ทวีปใหญ่ทังสี่แลเฃาพระหิมพานต์อะโนดาตสระแลปัญจะมหานัที
    พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่าน่าตักสี่ศอกเชิญเข้าประดิษฐานไว้
    เปนพระประธานในการบุเรียร แล้วจัดพระพุทธรูปใส่ในพระระเบียงชั้นในชั้นนอก
    แลพระวิหารคต เปนพระพุทธรูปมาแต่หัวเมือง ชำรุดปติสังขรณ์ขึ้นใหม่
    หกร้อยแปดสิบเก้าพระองค์พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูน
    สำหรับอารามชำรุดอยู่ร้อยแปดสิบสามพระองค์เข้ากันเปนพระพุทธรูป
    แลพระอรหรรต์แปดร้อยเจดสิบสองพระองค์ลงรักปิดทองสำเรจ์เหลือนั้น
    ข้าทูลลอองทุลีพระบาทสัปรุษทายกรับไปบุณะไว้ในพระอารามอื่น
    แลการถาปะนาพระอารามเจ็ดปีห้าเดือนญี่สิบแปดวันจึงสำเรจ์
    สิ้นพระราชทรัพย์แต่ที่จำได้คิดค่าดินถมอิฐปูนไม้ทรุงสักขอนสักไม้แก่น
    เหล็กกระเบื้องฟืนไม้จากทำโรงงานร่างร้านเรือนฃ้าพระเสากระดานกุฎี
    น้ำอ้อนน้ำมันยางชันดีบุก ทองเหลืองทองแดงศรี ผึ้ง
    หล่อถ่านกระจกน้ำรักทองคำกระดาดชาดเสนเครื่องเขียนรงดินแดง
    พระราชทานช่างแลเลี้ยงพระสงฆ์เลี้ยงช่างแล้วช่วยคนชายสกันหกสิบหกคน
    สมโนครัวสองร้อยญี่สิบสี่คนเปนเงินเก้าสิบห้าชั่งสิบเบดตำลึง
    สักแขนขวาถวายเปนข้าพระขาดไว้ในพระอาราม
    ตั้งหลวงพิทักษ์ชินศรีเจ้ากรมขุนภักดีรศธรรม
    ปลัดกรมควบคุมข้าพระรักษาพระอารามเข้ากันสิ้นพระราชทรัพย์ส้างและช่วยคน
    เปนเงินสามพันเจ็ดร้อยแปดสิบห้าชั่งหกตำลึง
    แล้วทรงพระกรรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่งทรงพระพุทธรูป
    ในพระวิหารทิศพระระเบียง พระวิหารคตการบุเรียนพระมหาธาตุ์เจดีย์ใหญ่น้อย
    สิ้นแพรร้อยพับแต่พระพุทธเทวะปติมากรในพระอุโบสถ
    ทรงผ้าศรีทับทิมชั้นในตาดชั้นนอก
    ครั้นณะวันศุกร์เดือนห้าแรมสิบสองค่ำปีระกาตรีนิศก
    ให้ตั้งการฉลองอาราธนา พระราชาคณะถานานุกรมอะธิการ
    อันดับฝ่ายคันธะธุระวิปัศนาธุระพันรูปพร้อมกันณะพระอุโบสถ
    เพลาบ่ายแล้วสี่โมงห้าบาตสมเดจ์พระบรมนารถบรมบพิตร์พระพุทธิเจ้าอยู่หัว
    เสดจ์พระราชดำเนิรพร้อมด้วยสมเดจ์พระอนุชาธิราชวงษานุวงษ์
    เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตาจารย์มายังพระอุโบสถทรงสมาทานพระอุโบสถศีล
    แล้วหลั่งน้ำอุทิโสทกบลงเหนือพระหัตถ์พระพุทธปติมากร ถวายพระอาราม
    ตามพระบาฬีแก่พระสงฆ์มีองค์พระพุทธปติมากรเปนประธานมีนามปรากฏ
    ชื่อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศมอบถวายพระวัณะรัตนพิพัฒญาณอดุล
    สุนธรวรนายกปิฎกะธรามหาคะนิศรบวร ทักขิณาคณะสังฆารามคามวาสี
    สถิตย์ในวัดพระเชตุพน แลัวถวายแก่พระพุทธปติมากร แพรยกไตรย์
    หนึ่งบาตร์เหล็กเครื่องอัฐะบริฃารพร้อมย่ามกำมะหยี่
    เครื่องย่ามพร้อมพัชแพรร่มแพรเสื่ออ่อนโอเถาโอคณะกาน้ำช้อนมุกขวดแก้ว
    ใส่น้ำผึ้งน้ำมันพร้าวน้ำมันยา กลักใส่เทียนธูปสิ่งละร้อย
    ไม้เท้ารองเท้าสายสะเดียงพระสงฆ์พันหนึ่งก็ได้เหมือนกันทุกองค์
    ครั้นจบพระบาฬีที่ทรงถวายพระสงฆ์รับสาธุพร้อมกันประโคมดุริยางค์ดนตรี
    แตรสังข์ฆ้องกลองสนั่นไปด้วยสรัทสำเนียงกึกก้องโกลาหล
    พระสงฆ์รับพระราชทานแล้วไปสรงน้ำครองไตรย์มาสวดพระพุทธมนต์
    เพลาเยนวันละพันรูปปรนิบัดิพระสงฆ์ฉันเช้าเพนสามวันพันรูปถวายกระจาดทุกองค์
    ให้มีพระธรรมเทศนาบอกอานิสงษ์ทุกวันแล้วปรนิบัดิพระสงฆ์
    ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนไตรย์ฉันเช้าทั้งเจดวัน
    เปนพระสงฆ์หกร้อยญี่สิบสี่รูป ถวายผ้าสบงทุกองค์ถวายบาตร์เหล็ก
    ซึ่งพระสงฆ์ไม่มีครองแล้วถวายกระจาดเสื่อร่มรองเท้าธูปเทียนไม้เท้าด้วย
    แล้วให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชีพราหมณะ
    อนาประชาราษฎรทังปวงแลมีโฃนอุโมงโรงใหญ่
    หุ่นละคอนมอญรำระบำมงครุ่มคุลาตีไม้ปรบไก่งิ้วจีนญวนหกขะเมน
    ไต่ลวดลอดบ่วงรำแพนนอนหอกดาบโตฬ่อแก้วแลมวย
    เพลากลางคืนประดับไปด้วยประทีปแก้วระย้าแก้วโคมพวงโคมราย
    แลดอกไม้รุ่งสว่างไปทั้งพระอาราม แล้วให้มีหนังคืนละเก้าโรง
    มีดอกไม้เพลิงคืนละสองร้อยพุ่มระทาใหญ่แปดระทาพลุะประทัดพะเนียง
    ดอกไม้ม้าดอกไม้กะถางดอกไม้กลต่างต่างแลมังกรฬ่อแก้ว
    ญวนรำโคมเปนที่โสรมนัศบูชาโอฬาริกวิเศศ
    เปนพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกรรมพฤกษ์ฉลากพิกัดค่าพระราชบุตรบุตรี
    พระภาคีไนยราชแลนางพระสนม ราชกุญชรอัศดรนาวาฉลากละห้าชั่งสี่ชั่งสองชั่ง
    เป็นเงินสามร้อยสามสิบแปดชั่ง เงินใส่ผลมะนาวร้อยหกสิบแปดชั่งเข้ากัน
    ทิ้งทานห้าร้อยหกชั่งคิดทังเงินค่าผ้าทรงพระ ดอกไม้สดบูชา
    เลี้ยงพระสงฆ์กระจาดและโรงฉ้อทานเครื่องไทยทาน
    ทำเครื่องโขนโรงโขนเครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ
    พระราชทานการมะโหระสพแลถวายระย้าแก้วโคมแก้วบูชาไว้ในพระอาราม
    เปนเงินในการฉลองพันเก้าร้อยสามสิบชั่งสี่ตำลึงเข้ากัน
    ทั้งสร้างเปนพระราชทรัพย์ห้าพันแปดร้อยสิบเบดชั่ง
    ครั้นเสรจ์การฉลองพระอารามแล้วพายหลังทรงพระกรรุณา
    ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทังสอง ซึ่งสถิตย์ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศ
    แลทิศประจิมนั้นขึ้นไปประดิษถานไว้ ณพระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
    ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทังสองพระองค์
    ซึ่งเชิญมาแต่เมืองศุกโขไทน่าตักห้าศอกคืบกับนิ้วหนึ่งเท่ากัน
    พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินราชเข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหาร
    ฝ่ายทักขิณทิศ พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินศรีเข้าประดิษถาน
    ไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายปัจจิมทิศคงดังเก่าซึ่งทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศล
    ทั้งนี้ ใช่พระไทยจะปรารถนาสมบัติบรมจักรจุลจักรท้าวพญาสามลราช
    แลสมบัติอินท์พรหมหามิได้ ตั้งพระไทยหมายมั่น
    พระบรมโพธิญานในอนาคตกาลจะรื้อสัตว์ให้พ้นจากสงสารทุกข์ แลการพระราชกุศล
    ทั้งนี้ ฃออุทิศให้แก่เทพยุเจ้าในอนันตะจักรวาฬแลเทพยุเจ้าในฉกามาพจรแล
    โสฬศมหาพรหม อากาศเทวดาพฤกษเทวดาภูมเทวดาอารักษเทวดาแลกษัตราธิราช
    พระราชวงษานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตสมณชีพราหมณ์อนาประชาราษฎร
    ทั่วสกลราชอาณาจักรในมงคลทวีป จงอนุโมทนาเอาส่วนพระราชกุศลนี้
    ให้เปนบุญลาภศิริสวัสดิทีฆายุศมฯ”
    *

    [​IMG]
    พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
    นับเป็นหนึ่งในพระอุโบสถที่งดงามมากของวัดในเมืองไทย



    ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน
    ขยายเขตพระอารามด้านใต้และตะวันตกคือ
    ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสสวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่
    พระมณฑป ศาลาการเปรียญ และสระจระเข้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่
    เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

    แม้การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดเมื่อฉลองกรุงเทพฯ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕
    เป็นเพียงซ่อมสร้างของเก่าให้ดีขึ้น มิได้สร้างเสริมสิ่งใดๆ

    เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดโพธิ์ แห่งนี้
    บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และที่ ๓ ขุนนาง เจ้าทรงกรมช่างสิบหมู่
    ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า
    และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ
    ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในวัดพระอารามหลวง
    ด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์
    สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก)
    ที่รวบรวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น

    จักรพันธุ์ โปษยกฤต จิตรกรชื่อดังของไทยกล่าวไว้ในหนังสือ
    “โบสถ์วัดโพธิ์” เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า

    “ศิลปศาสตร์ในวัดโพธิ์ จึงเสมือนโอฆะแห่งวิชา
    ที่สามารถตักตวงได้ ยังประโยชน์แก่กุลบุตร กุลธิดา
    ให้อุดมสมบูรณ์อลังการด้วยปัญญาอยู่มิรู้เหือดแห้ง”


    * หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ

    [​IMG]
    พระพุทธรูปเก่าแก่ที่พระระเบียงรอบพระอุโบสถ
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)
    พุทธศักราช ๒๔๓๔-๒๔๓๕


    วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร
    แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


    หัวข้อ

    • พระประวัติในเบื้องต้น
    • ทรงบรรพชาและอุปสมบท
    • ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
    • ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก
    • การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก
    • ประกาศการมหาสมณุตมาภิเศก
    • ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี
    • ทรงเป็นสถาปนิก
    • ทรงเป็นนักโบราณคดี
    • ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์
    • ทรงเป็นนักดาราศาสตร์และโหราศาสตร์
    • ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์
    • ทรงเป็นกวี
    • ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย
    • พระอวสานกาล
    • ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม
    • ประวัติและความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร
    o ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตพุทธาวาส
    o ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตสังฆาวาส
    o ความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร
    o การศึกษาปริยัติธรรมในวัดบวรนิเวศวิหาร
    o วัดบวรนิเวศวิหารกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)



    พระประวัติในเบื้องต้น

    นับแต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    สิ้นพระชนม์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔ แล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด
    เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี

    ฉะนั้น ในรัชกาลที่ ๔ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชจนเกือบตลอดรัชกาล
    เพราะ สมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่เพียงปีเศษตอนต้นรัชกาลเท่านั้น

    เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
    ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ก็มิได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    ตลอดช่วงต้นแห่งรัชกาล เป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี

    ฉะนั้น ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๒๓ ปี
    จึงได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ
    เป็น สมเด็จพระสังฆราช นับเป็นพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๑๘
    ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
    และ เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก
    ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง เอกศก
    จุลศักราช ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒
    อันเป็นวันเริ่มสวดมนต์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    จึงได้พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้าฤกษ์”


    ทรงบรรพชาและอุปสมบท

    พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
    อยู่ในสำนักพระญาณสมโพธิ (รอด) ครั้งทรงผนวชเป็นสามเณรได้ ๔ พรรษา
    ประชวรไข้ทรพิษต้องลาผนวชออกมารักษาพระองค์ เมื่อหายประชวรแล้ว
    สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓
    ทรงจัดการให้ทรงผนวชเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง

    พ.ศ. ๒๓๗๒ พระชนมายุครบทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
    ให้ทรงลาผนวชออกสมโภช แล้วแห่พร้อมด้วย
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้าอาภรณ์
    ที่จะทรงผนวชเป็นเป็นสามเณรในเวลานั้น
    ในการทรงผนวชเป็นพระภิกษุนั้น
    สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
    และ พระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “ปญฺญาอคฺคโต”

    เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้วทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
    ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดมหาธาตุ นั้นเช่นกัน

    ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ทรงพระเจริญพระชนมายุกว่า ๕ พรรษา เป็นเหตุให้ทรงเลื่อมใส
    ในลัทธิธรรมวินัยตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
    ภายหลังจึงได้ทรงทำทัฬหีกรรม อุปสมบทซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ในนทีสีมา
    ตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น
    โดยมี พระสุเมธาจารย์ (พุทธวังสะ) เป็นพระอุปัชฌาย์
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมจนทรงแตกฉานในภาษาบาลี
    แต่ไม่ทรงเข้าสอบเพื่อเป็นเปรียญ
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก
    ที่เคยพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
    เมื่อครั้งยังมิได้ทรงเป็นพระราชาคณะให้ทรงถือเป็นเกียรติยศสืบมา
    พระนิพนธ์อันเป็นเครื่องแสดงถึงพระปรีชาสามารถ
    ในภาษาบาลีของพระองค์ก็คือ พระนิพนธ์เรื่อง สุคตวิทัตถิวิธาน
    ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลีว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์คืบพระสุคต
    อันเป็นมาตราวัดที่มีกล่าวถึงในทางพระวินัย

    นอกจากนี้ ก็ได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เป็น ภาษาบาลีไว้อีกหลายเรื่อง
    นับว่าทรงเป็นปราชญ์ทาง ภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์

    ในรัชกาล ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
    ตั้งเป็นพระราชาคณะสมณศักดิ์ เสมอพระราชาคณะสามัญ
    พระราชทานตาลปัตรแฉกถมปัดเป็นพัดยศ

    พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะยังทรงผนวชอยู่
    ทรงเป็นพระเถราจารย์ประธานแห่งพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย
    ทรงลาผนวชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ ๔
    จึงได้ทรงสถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฤกษ์
    เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
    ทรงอิศริยยศเป็นประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
    ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “ธรรมยุติกนิกายิกสังฆมัธยมบวรนิเวสาธิคณะ”
    ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองรองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
    ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆปริณายก คือสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในขณะนั้น
    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    จึงทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเป็นพระองค์แรก
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร



    ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์

    พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงพระอิศริยยศ
    เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
    สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์
    ที่ พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์
    เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จประทับที่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม
    ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน
    โดยทรงเชิญเสด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัดเข้าไปอยู่ด้วยพอครบคณะสงฆ์
    ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วันก็ทรงลาผนวช

    หลังจากเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภ
    ที่จะถวายมหาสมณุตมาภิเษกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
    ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช
    แต่สมเด็จมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นไม่ทรงรับ
    ทรงถ่อมพระองค์อยู่ว่า เป็นพระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ
    จักข้ามเจ้านายที่เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งทรงเจริญพระชนมายุกว่าก็มี
    จักเป็นที่ทรงรังเกียจของท่าน จึงทรงรับเลื่อนเพียงเป็นกรมพระ
    เสมอด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในชั้นเท่านั้น
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

    การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนพระอิศริยยศ
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งนี้
    แม้ว่าพระองค์จะไม่รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในที่สมเด็จพระสังฆราช
    แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุดเท่ากับทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    ดังปรากฏในคำประกาศเลื่อนกรมดังนี้

    “สมควรเป็นสังฆปรินายกประธานาธิบดี มีสมณศักดิ์อิศริยยศ
    ใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆ์บรรพสัชทั้งปวงในฝ่ายพุทธจักร”


    ฉะนั้น ในช่วงต้นรัชกาลมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๔
    เป็นเวลา ๒๓ ปี จึงว่างสมเด็จพระสังฆราช

    [​IMG]
    รัชกาลที่ ๕ ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖


    ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก

    เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๔ อันเป็นบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ
    แห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
    จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช
    ขณะเมื่อทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษกนั้น
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเจริญพระชนมายุถึง ๘๒ พรรษาแล้ว
    มาในคราวนี้ ทรงยอมรับถวายมหาสมณุตมาภิเษก
    เพราะเจ้านายชั้นเดียวกันสิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น
    มีเจ้านายผู้ใหญ่เจริญพระชนมายุเหลืออยู่แต่พระองค์เพียงพระองค์เดียว


    การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก
    (ของเดิมเขียน มหาสมณุตมาภิเศก)

    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีสงฆ์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
    มีเทียนชัยและเตียงพระสวดภาณวารตั้งพระแท่นเศวตฉัตร
    ในนั้น ตั้งพระแท่นสรงที่ศาลากำแพงแก้ว
    โรงพิธีพราหมณ์ตั้งริมคูนอกกำแพงบริเวณนั้นออกมา
    มีสวดมนต์ตั้งน้ำวงด้ายวัน ๑ พระสงฆ์ ๒๐ รูป
    รุ่งเช้าจุดเทียนชัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
    โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงจุด
    พระสงฆ์เข้าพระราชพิธี ๓๐ รูป สวดมนต์ ๓ เวลาและสวดภาณวาร ๓ วัน ๓ คืน
    เช้าวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๔ สรงแล้ว เสด็จขึ้นพระแท่นเศวตรฉัตร
    มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงสถาปนาแล้ว
    ทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องยศ ดอกไม้ธูปเทียนและต้นไม้ทองเงินของหลวงแล้ว
    ทรงถวายศีล เป็นเสร็จการรับมหาสมณุตมาภิเษกเพียงเท่านี้
    ต่อนั้นทรงธรรม ๔ กัณฑ์อนุโลมตามบรมราชาภิเษกกัณฑ์ทศพิธราชธรรมจรรยา
    เปลี่ยนเป็นไตรสิกขาและ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนของ
    พระสงฆ์พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์



    ประกาศการมหาสมณุตมาภิเศก

    “ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๔
    ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม สสสังวัจฉรกรรติกมาศกาฬปักษ์
    พาระสีดิถี ศุกรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๐
    พฤศจิกายนมาศ สัตตวีสติมวารปริเฉทกาลกำหนด

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ
    บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรวรขัติยราชนิกโรดม
    จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศอุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี
    จักรีบรมนารถ มหามกุฏราชวรางกูรสุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์
    บูรพาดูลย์กฤาฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษดิ
    ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล
    ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตาร
    ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิสมญา
    พินิตประชานารถเปรมกระมลขัตยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์
    อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก
    มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร
    อเนกชนิกร สโมสารสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ
    นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสวามินทร์
    มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถ ชาติอาชาวไศรย
    พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี
    เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์
    ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์
    ได้ดำรงพระยศเปน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่
    แลเปนสังฆปรินายกปธานาธิบดีมีสมณะศักดิใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆบรรพสัช
    ทั่วพระราชอาณาเขตร มาตั้งแต่วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ
    ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ล่วงมาจนกาลบัดนี้
    มีพระชนมายุเจริญยิ่งขึ้นจนไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด
    ในมหาจักรีบรมราชตระกูลนี้ ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ที่ยังดำรงอยู่ดี
    จะได้มีพระชนมายุยืนยาวมาเสมอด้วยพระชนมายุสักพระองค์เดียว
    เปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลพระบรมวงศานุวงศ์ทรงยินดี
    มีความเคารพนับถือยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

    อีกประการหนึ่งฝ่ายบรรพชิต บรรดาพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ในเวลานี้
    ก็ไม่มีผู้ใดซึ่งจะมีพรรษาอายุเจริญยิ่งกว่าพระชนมายุแลพรรษา
    ก็ย่อมเปนที่ยินดีเคารพนับถือยิ่งใหญ่ในสมณะมณฑลทั่วทุกสถาน

    อนึ่งแต่ก่อนมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    พระราชทานมหาสมณุตมาภิเศกแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
    กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ด้วยทรงพระราชปรารถ
    พระชนมายุซึ่งเจริญยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง

    อีกประการหนึ่ง ด้วยการที่ทรงผนวชมาช้านาน
    ทรงคุณธรรมทางฏิบัติในพระพุทธสาสนา
    แลได้เปนครูอาจารย์แห่งราชตระกูลแลมหาชน เป็นอันมากเป็นที่ตั้ง
    ก็ถ้าจะเทียบแต่ด้วยคุณธรรมการปฏิบัติในทางพระพุทธสาสนาฤา
    ด้วยการที่เป็นครูอาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์แลมหาชนเปนอันมากนี้
    ก็พิเศษกว่า ด้วยได้ทรงเปนพระอุปัธยาจารย์ในพระเจ้าแผ่นดิน
    และพระบรมวงศานุวงศ์มีเจ้าฟ้า แลพระองค์เจ้าต่างกรม แลพระองค์เจ้า
    จนตลอดข้าราชการเป็นอันมาก จนถึงในครั้งนี้ก็ยังได้ทรงเปนพระอุปัธยาจารย์
    ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร
    ซึ่งยังทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ในบัดนี้
    เพราะฉะนั้นบรรดาบรมราชตระกูลแลตระกูลทั้งปวงทั้งในสมณะมณฑล
    ทั่วทุกหมู่เหล่าย่อมมีความเคารพนับถือในพระองค์ทั้งสองประการ
    คือเป็นพระเจ้าบรมวงศ์ซึ่งทรงมีพระชนมายุเจริญ
    ยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แลทั้งเปนพระอุปัธยาจารย์ด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง
    จึงมีความนิยมยินดีที่จะใคร่ให้ได้ดำรงพระยศอันยิ่งใหญ่
    เสมอกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยรับมหาสมณุตาภิเศกแลเลื่อนกรม
    เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จพระ ให้เต็มตามความยินดีเลื่อมใส
    จะได้เปนที่เคารพสักการบูชา เป็นที่ชื่นชมยินดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    แลพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลอเนกนิกรมหาชนบรรดา
    ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาทั่วหน้า

    จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ
    ให้ตั้งการมหาสมุตาภิเศก แลเลื่อนพระอิสริยยศ
    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์
    ขึ้นเปนกรมสมเด็จพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า

    พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังสีสุริยพันธุ์
    ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุตร ปกิบัติสุทธิคณะนายก ธรรมนิติสาธกปวรัยบรรชิต
    สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชาปัญญาอะค มหาสมณุดม บรมพงศาธิบดี
    จักรีบรมนารถ มหาเสนานุรักษ์อนุราชวรางกูร ปรมินทร
    บดินทร์สูริย์หิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย
    ไตรปิฎกโหรกลาโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร
    ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤฐสมณศักดิธำรง
    มหาสงฆปรินายก พุทธสาสนดิลกโลกุตม มหาบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ
    ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์
    เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิโลกยปฏิพัทธพุทธบริสัษยเนตร
    สมณคณินทราธิเบศร์ สกลพุทธจักโรปการกิจ
    สฤษดิศุภการมหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร
    เสด็จสถิตย์ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง (มุสิกนาม)


    ให้ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนด
    อย่างพระองค์เจ้าต่างกรมตำแหน่งใหญ่ ในพระบรมมหาราชวัง
    แลดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งกรุงเทพฯ
    แลหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต พระราชทานนิตยภัทรบูชาเดือนละ ๑๒ ตำลึง
    ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนาเปนภาระสั่งสอน
    ช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป
    โดยสมควรแก่พระอิศริยยศสมณศักดิ์
    จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณศุขพลปฏิภาณคุณสารสมบัติสรรพศิริสวัสดิ
    พิพัฒมงคล วิบูลยศุภผลจิรฐิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญฯ”
    *

    หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ

    [​IMG]
    ที่ประทับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    อยู่ด้านหน้าพระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม) วัดบวรนิเวศวิหาร
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)



    ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี

    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงพระอัจฉริยภาพในหลายด้าน ซึ่งคนส่วนมากไม่ค่อยจะได้รู้จัก
    ประการแรก ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี
    ที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่มากนัก
    ผลงานด้านภาษาบาลีที่สำคัญของพระองค์ก็คือ
    พระนิพนธ์เรื่อง “สุคตวิทิตถิวิธาน”
    ซึ่งทรงวิเคราะห์ และอธิบายเรื่องคืบพระสุคต
    พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘ ในปลายรัชกาลที่ ๓
    และได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในลังกา
    ในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ สำหรับในประเทศไทยนั้น
    เพิ่งจะมารู้จักพระนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อต้นรัชกาลที่ ๖
    นอกจากพระนิพนธ์เรื่องนี้แล้ว
    พระองค์ยังทรงพระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ เป็นภาษาบาลีไว้อีกหลายเรื่อง
    ส่วนพระนิพนธ์ในภาษาไทยก็ทรงไว้หลายเรื่องเช่นกัน ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
    และทรงพระปรีชาสามารถทั้งในทางร้อยแก้วและร้อยกรอง ที่สำคัญ
    เช่น ลิลิตพงศาวดารเหนือ โครงพระราชประวัติในรัชกาลที่ ๔


    ทรงเป็นสถาปนิก

    พ.ศ. ๒๓๙๖ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระราชดำริที่จะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งองค์เดิมเป็นพระเจดีย์ขนาดย่อม
    ให้เป็นพระมหาเจดีย์สำหรับเป็นที่สักการบูชาของมหาชนสืบไทย
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    แต่ยังทรงเป็นกรมหมื่นออกแบบพระเจดีย์
    และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
    เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัย
    ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
    เป็นผู้บัญชาการทำการปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ
    พระปฐมเจดีย์ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
    จึงเป็นผลงานออกแบบของ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์


    ทรงเป็นนักโบราณคดี

    เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่
    ได้เสด็จธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่างๆ เป็นเหตุให้ทรงพบ
    ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ และจารึกอื่นๆ ในเวลาต่อมาอีกมาก
    และพระองค์ทรงพยายามศึกษา จนสามารถทรงอ่านข้อความในจารึกดังกล่าวนั้นได้
    ซึ่งอำนวยประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไทยอย่างมหาศาล

    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งทรงเป็นศิษย์ใกล้ชิด
    ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่ง ก็ได้ทรงดำเนินรอยตาม
    เป็นเหตุให้ทรงเชี่ยวชาญในทางโบราณคดีพระองค์หนึ่งของไทย
    ในยุคนั้น ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทย
    ได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่างๆ ในประเทศไทยไว้มาก
    และได้ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (อักษรขอม) เป็นพระองค์แรก


    ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์

    นอกจากจะทรงสนพระทัยในการศึกษาทางโบราณคดีแล้ว
    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังทรงสนพระทัยในเรื่องประวัติศาสตร์ด้วย
    ดังจะเห็นได้จากผลงานทางด้านประวัติศาสตร์ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง
    เช่น ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์
    พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นต้น


    ทรงเป็นนักดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นที่เลื่องลือว่า
    เชี่ยวชาญในทางโหราศาสตร์เป็นอันมากแต่ไม่ทรงนิยมการพยากรณ์
    ในด้านดาราศาสตร์ก็ทรงเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง
    ได้ทรงพระนิพนธ์ “ตำราปักขคณนา”
    (คือตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร
    พระนิพนธ์อันเป็นผลงานของพระองค์ในด้านนี้ไม่ค่อยได้ตีพิมพ์ออกเผยแพร่
    คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้จักพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในเรื่องดังกล่าวเหล่านี้มากนัก


    ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์

    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวัน
    ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ในรัชกาลที่ ๓
    จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓ ในรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย
    นับว่าทรงมีความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง
    ทรงเรียกบันทึกของพระองค์ว่า “จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน”
    และในจดหมายเหตุนี้ยังได้ทรงบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญๆ ไว้ด้วย
    นับเป็นจดหมายเหตุทางประวัติที่มีค่ามากเรื่องหนึ่ง


    ทรงเป็นกวี

    สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ไว้มาก
    ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ในส่วนที่เป็นภาษาไทยนั้น
    ทรงพระนิพนธ์เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ไว้ก็จำนวนมาก
    เช่น โคลงพระราชประวัติรัชกาลที่ ๔
    กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น
    จึงกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นกวีนักอักษรศาสตร์
    ที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์


    ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย

    เมื่อกล่าวถึงเรื่องพระกริ่ง คนส่วนมากก็คงจะเคยได้ยินเรื่อง พระกริ่งปวเรศ
    ซึ่งนิยมนับถือกันว่าเป็นยอดแห่งพระกริ่งในสยามพระกริ่งปวเรศเป็นพุทธศิลป์
    ที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ได้ทรงพระดำริสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕
    นับเป็นการให้กำเนิดพระกริ่งขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
    และได้เป็นแบบอย่างให้มีการสร้างพระกริ่ง กันขึ้นในเวลาต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕


    พระอวสานกาล

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    รัชกาลที่ ๕ ตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอันมาก
    ทรงเป็นที่ปรึกษาในกิจการบ้านเมืองที่สำคัญๆ
    ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มาตลอดพระชนมชีพ
    ดังจะเห็นได้จากความในพระราชหัตถเลขา
    ที่กราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น บางตอนว่า

    “ทุกวันนี้หม่อมฉันเหมือนตัวคนเดียว
    ได้อาศัยอยู่แค่สมเด็จกรมพระกับสมเด็จเป็นที่พึ่งที่ปรึกษา
    เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ขอให้ทรงพิเคราะห์การให้ละเอียดด้วย”


    ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ทรงประชวรต้อกระจก ในที่สุดพระเนตรมืด ครั้ง พ.ศ. ๒๔๓๕
    ทรงประชวรพระโรคกลัดพระบังคนหนัก จัดเข้าในพระโรคชรา
    สิ้นพระชนม์เมื่อเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕
    ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา
    ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๔๑ ปี
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๑๑ เดือน ๑ วัน
    ก็สิ้นพระชนม์ ได้พระราชทานพระโกศกุดั่งใหญ่ทรงพระศพ

    พระศพ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ประดิษฐานอยู่ ณ พระตำหนักเดิม (คือที่เสด็จประทับ) วัดบวรนิเวศวิหาร
    เป็นเวลาถึง ๘ ปี จึงได้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง
    เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖


    ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ขณะเมื่อทรงดำรงพระสมณฐานันดรเป็นสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก
    ที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ยังไม่มีคำนำพระนามที่บ่งบอกถึงพระเกียรติยศ
    ในทางสมณศักดิ์ คือเรียกพระนามไปตามพระอิศริยยศแห่งบรมราชวงศ์ว่า
    “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์”
    มาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น
    “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์”
    ในคราวเดียวกันกับที่ทรงสถาปนา
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ จึงได้เรียกกันว่า
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่นั้นเป็นต้นมา
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    บริเวณพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร


    ประวัติและความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร

    วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร
    เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต
    ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ
    แต่เดิมวัดแห่งนี้ ชื่อว่า “วัดใหม่” ตั้งอยู่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส
    โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
    วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลปะไทยผสมจีน
    โดยทรงผูกพัทธสีมาเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๒
    ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบวัดรังษีสุทธาวาสมารวมกับวัดบวรนิเวศวิหาร

    วัดบวรนิเวศวิหารได้รับการทะนุบำรุงและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้น
    จนเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง โดยเฉพาะในสมัยปลายรัชกาลที่ ๓
    ครั้นเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดว่างเว้นลง
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงอาราธนา
    สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏ สมมุติเทวาวงศ์
    (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
    ที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
    ให้เสด็จมาครองและทรงเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕
    แล้วจึงพระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่ว่า “วัดบวรนิเวศวิหาร”
    ซึ่งอาจเป็นการแสดงนัยว่าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ นั้น
    ทรงเทียบได้ว่าอยู่ในพระสถานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
    ที่มีสิทธิ์ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป
    ทำให้วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ และเสริมสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้น

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ประดับหินอ่อนดูตระการตา


    เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ทรงเป็นพระราชาคณะ ในระหว่างที่เสด็จประทับที่วัดแห่งนี้อยู่นั้น
    ได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยทรงปรับปรุงและ
    วางหลักเกณฑ์วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
    มีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นจำนวนมาก
    วัดบวรนิเวศวิหารจึงเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย
    ที่มีคณะสงฆ์เป็นธรรมยุติกนิกาย


    อีกทั้งได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง
    พร้อมทั้งได้รับพระราชทานพระตำหนักจากรัชกาลที่ ๓ ด้วย

    ในสมัยต่อมาวัดแห่งนี้เป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์
    เมื่อทรงผนวชหลายพระองค์ เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
    และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
    จึงทำให้วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุงให้คงสภาพดีอยู่เสมอ

    ในปัจจุบันนี้ ศิลปกรรมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุหลายสิ่งหลายอย่าง
    ยังอยู่ในสภาพดีพอที่จะชม และศึกษาได้เป็นจำนวนไม่น้อย

    วัดบวรนิเวศวิหารนี้มีศิลปกรรมและถาวรวัตถุที่มีค่าควรแก่การศึกษาไม่น้อย
    แบ่งออกเป็นศิลปกรรมในเขตพุทธาวาสและศิลปกรรมในเขตสังฆวาส
    เขตทั้งสองนี้ถูกแบ่งโดยกำแพงและคูน้ำ แยกจากกันอย่างชัดเจน
    มีสะพานเชื่อมถึงกัน ทำให้เดินข้ามไปมาได้อย่างสะดวก
    ศิลปกรรมล้ำค่าที่สำคัญภายในวัดแห่งนี้ที่น่าสนใจ มีดังนี้

    [​IMG]
    สวนด้านหน้าพระอุโบสถ
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พระสุวรรณเขต (องค์หลัง)-พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า)
    สององค์พระประธานต่างความงามต่างสมัยในพระอุโบสถ



    • ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตพุทธาวาส

    ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตพุทธาวาสที่สำคัญเริ่มจาก พระอุโบสถ
    ซึ่งได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัดในสมัยรัชกาลที่ ๓
    แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมต่อมาอีกหลายครั้ง
    รูปแบบของพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓
    มีมุขหน้ายื่นออกมาเป็นพระอุโบสถ และมีปีกยื่นออกซ้ายขวาเป็นวิหารมุข
    หน้าที่เป็นพระอุโบสถมีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประตูหน้าต่าง
    และหน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น พระอุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะ
    ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยโปรดเกล้าฯ ให้มุงกระเบื้องเคลือบลูกฟูก
    ประดับลายหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบสี และโปรดเกล้าฯ ให้
    ขรัวอินโข่ง เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ
    ขรัวอินโข่งเป็นพระสงฆ์ผู้มีฝีมือในการวาดภาพและเป็นคนไทยคนแรก
    ที่ใช้วิธีการวาดภาพแบบตะวันตกคือมีการแสดงระยะใกล้ไกล

    ส่วนภายนอกได้รับการบูรณะด้วยการบุผนังด้วยหินอ่อนทั้งหมด
    เสาด้านหน้าของพระอุโบสถเป็นเสาเหลื่ยม มีบัวหัวเสาเป็นลายฝรั่ง
    ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างปิดทองประดับด้วยกระจก

    [​IMG]
    ใบเสมาที่ตั้งไว้ติดอยู่กับผนังพระอุโบสถ


    ด้านหน้าของพระอุโบสถ มี “ใบเสมา” รุ่นเก่าสมัยอู่ทอง
    ทำด้วยหินทรายแดงนำมาจากวัดวังเก่า จังหวัดเพชรบุรี
    ส่วนใบเสมาอื่นๆ มีลักษณะแปลกแตกต่างออกไป กล่าวคือ
    เป็นเสมาที่ตั้งไว้หรือประดับเข้ากับส่วนของผนังพระอุโบสถ
    ซึ่งแตกต่างจากวัดทั่วไปที่จะตั้งไว้บนลานรอบพระอุโบสถ

    พระอุโบสถหลังนี้มีรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะต่างไปจากพระอุโบสถทั่วไป
    เพราะเป็นการผสมกันระหว่างศิลปะแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๓
    ซึ่งกระเดียดไปทางศิลปะจึนและศิลปะแบบรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นศิลปะที่มีอิทธิพลฝรั่ง
    จึงทำให้พระอุโบสถหลังนี้มีลักษณะผสมของอิทธิพลศิลปะต่างชาติทั้งสองแบบ
    แต่ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นฐานของศิลปะไทย

    เมื่อมองโดยรวมแล้วพระอุโบสถหลังนี้
    จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่งดงามแปลกตาไม่น้อยทีเดียว

    ศิลปกรรมภายในพระอุโบสถ นอกเหนือไปจากพระพุทธรูปแล้ว
    ก็มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    โปรดเกล้าฯ ให้ขรัวอินโข่งเขียนขึ้น เป็นงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีค่ายิ่ง
    เพราะเป็นรูปแบบของจิตรกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อของการรับอิทธิพลยุโรป
    มาผสมผสานกับแนวคิดตามขนบนิยมของไทย

    [​IMG]
    พระพักตร์ยิ้มเล็กน้อยในแบบศิลปะสุโขทัยของพระพุทธไสยาสน์


    ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังนี้ สันนิษฐานว่า
    เขียนตั้งแต่สมัยที่พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ เข้าครองวัด
    โดยเขียนบนผนังเหนือประตูหน้าต่างขึ้นไป มีอยู่ ๑๖ ตอน
    เริ่มต้นจากทางหลังของผนังด้านซ้ายทางทิศตะวันตก
    นับเป็นผนังที่ ๑ วนทักษิณาวัตพระพุทธรูปในพระอุโบสถตามลำดับ
    มีคำจารึกพรรณาเขียนไว้ที่ช่องประตู หน้าต่าง รวม ๑๖ บาน

    นอกจากภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังแล้ว
    ที่เสาพระอุโบสถได้เขียนภาพแสดงปริศนาธรรม
    เปรียบด้วยน้ำใจคน ๖ ประเภท เรียกว่า ฉฬาภิชาติ ด้วย

    ภายในพระอุโบสถนี้มีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือ
    พระพุทธรูปองค์ข้างหลังชื่อ “พระสุวรรณเขต” หรือ “พระโต”
    หรือ “หลวงพ่อเพชร”
    (พระประธานในพระอุโบสถสมัยแรก)
    เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อโลหะขนาดใหญ่ ศิลปะขอม
    ขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๙ ศอก ๒๑ นิ้ว
    หันพระพักตร์ออกมาทางด้านหน้าของพระอุโบสถ
    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ผู้สร้างวัด
    ได้ทรงอัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี
    เพื่อมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
    โดยรื้อออกเป็นท่อนๆ ตามรอยประสานเดิม แล้วนำมาประกอบขึ้นใหม่
    สันนิษฐานว่าเดิมเป็นพระทวาราวดี ลักษณะแบบขอม พระศกเดิมโต
    พระยาชำนิหัตถการ นายช่างของสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ
    เลาะพระศกเดิมออกเสีย แล้วทำพระศกใหม่ด้วยดินเผาให้เล็กลง
    ตามที่เห็นว่างามในเวลานั้น ประดับเข้าที่แล้วลงรักปิดทอง
    มีพระสาวกใหญ่นั่งคู่หนึ่ง เป็นพระปั้นขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก

    [​IMG]
    พระพุทธไสยาสน์ ศิลปะสุโขทัย
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พระสุวรรณเขต (องค์หลัง)-พระพุทธชินสีห์ (องค์หน้า) พระประธานในพระอุโบสถ
    เบื้องหน้ามีพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช ๓ พระองค์ประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี



    นอกจากนี้ ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ของพระสุวรรณเขตหรือพระโต
    ยังเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

    ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้ เมื่อยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร

    ส่วนพระพุทธรูปองค์ข้างหน้าชื่อ “พระพุทธชินสีห์”
    (พระประธานในพระอุโบสถสมัยหลัง)
    ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต
    ลักษณะของพระพุทธชินสีห์ต่างจากพระพุทธรูปอื่นแบบเก่าในบางอย่าง
    เช่น มีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ นิ้ว นิ้วพระบาททั้ง ๔ นิ้ว ยาวเสมอกัน
    ต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ แสดงว่าผู้สร้างได้ทราบคัมภีร์นั้น
    พระพุทธรูปที่ได้สร้างกันขึ้นชั้นหลังได้ถือเป็นแบบสืบมาจนทุกวันนี้
    แต่ก่อนนั้นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในเมืองไทย ทั้งทางเมืองเหนือและเมืองใต้
    ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เป็นหลั่นกัน เหมือนกับนิ้วมือคนสามัญ

    แต่เดิมพระพุทธชินสีห์เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของหัวเมืองฝ่ายเหนือ
    พระพุทธรูปสำริดขนาดหน้าพระเพลา (หน้าตัก) กว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว
    เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปางมารวิชัยสมัยสุโขทัยผสมเชียงแสน
    และเป็นที่กราบสักการะของพระมหากษัตริย์และสาธุชนมาเกือบ ๗๐๐ ปี
    ประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

    ประวัติการสร้างพระพุทธชินสีห์ ตำนานกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๑๕๐๐
    พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้
    แล้วสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก

    จากนั้นได้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง
    อีกทั้ง ได้ทรงหล่อพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่
    พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา
    โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ ณ พระวิหารทิศเหนือ
    และประดิษฐานพระศรีศาสดา ณ พระวิหารทิศใต้
    พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา
    จึงประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเดียวกันตลอดมาถึง ๙๐๐ กว่าปี

    ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    พระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ชำรุดทรุดโทรมขาดผู้รักษาดูแล
    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ
    เพื่อมาประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ประทับของ
    สมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
    และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ครั้งทรงผนวช อีกหลายพระองค์ด้วย

    “พระพุทธชินสีห์” จึงเป็นพระคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์
    และสมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาช้านาน


    พระพุทธชินสีห์นั้นเป็นพระพุทธรูปที่ชาวพิษณุโลกและชาวเมืองเหนือ
    เคารพบูชาอย่างยิ่งองค์หนึ่ง ในคราวที่อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมากรุงเทพฯ
    ในปี พ.ศ. ๒๓๗๓ นั้น มีบันทึกที่กล่าวถึงความรู้สึกของชาวเมืองไว้ว่า

    [​IMG]
    พระมหาเจดีย์ใหญ่ หรือพระเจดีย์กลม


    “..เมื่ออัญเชิญออกจากวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศกร้องไห้เป็นอันมาก
    เงียบเหงาสงัดไปทั้งเมือง เหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไป ๓ ปี
    ชาวเมืองพิษณุโลกได้ความยากยับไปเป็นอันมาก ตั้งแต่พระพุทธชินสีห์ลงมาถึง
    กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำ
    ได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวว่า
    เพราะเหตุที่ไปอัญเชิญพระพุทธชินสีห์อันเป็นสิริของเมืองพิษณุโลกลงมา..”

    ‘พระพุทธชินสีห์’ แต่เดิมประดิษฐานไว้ในมุขหลังของ
    พระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหารที่เป็นจตุรมุข
    ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังทรงผนวช
    และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารนั้น ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาต
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
    ออกสถิตหน้าพระสุวรรณเขตหรือพระโต พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ดังทุกวันนี้

    พระพุทธชินสีห์ประทับบนแท่นหล่อสำริด สถิตสถาพรมั่นคง
    ภายใต้ฉัตรตาล ๙ ชั้น ดูร่มเย็นเป็นสุข พระอุณาโลมฝังเพชร
    มีเครื่องราชสักการะ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ถวายเป็นพุทธบูชา
    เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์ชาติไทย
    เสด็จพระราชดำเนินมาถวายเครื่องราชสักการะสืบมายาวนาน

    [​IMG]
    พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระมหาเจดีย์ใหญ่


    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือเลื่อมใสพระพุทธชินสีห์มาก
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ได้โปรดให้ทำกาไหล่พระรัศมีองค์พระด้วยทองคำ
    ฝังพระเนตรฝังเพชรใหม่ และตัดพระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ
    ปี พ.ศ. ๒๓๙๗ ทรงให้หล่อฐานด้วยทองสำริด ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน

    เบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์มีโต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่บนฐานชุกชีที่รับฐานพระ
    ถัดลงมาเป็นม้าหมู่บูชา ๓ ที่ เป็นผลงานการออกแบบของ
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
    สถาปนิกเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    พระรูปหล่อ ๓ องค์ ซึ่งประดิษฐานเรียงกันบนฐานชุกชี ประกอบไปด้วย
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปัญญาอคฺคโต)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐
    และพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓
    ซึ่งทุกพระองค์ทรงเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)



    ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็น พระมหาเจดีย์ใหญ่ หรือพระเจดีย์กลม
    มีขนาดใหญ่สีทองสุกใสตั้งสูงโดดเด่นเป็นสง่า มองเห็นแต่ไกล
    ตรงกลางประดิษฐานพระเจดีย์ที่คะเนว่าสูงจากฐานประมาณ ๔ เมตรกว่า
    พระเจดีย์องค์นี้มีฐานกลม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
    สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    หุ้มกระเบื้องสีทองในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน
    ส่วนด้านข้างของพระเจดีย์มี พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานอยู่
    โดยทั่วไปไม่สามารถเข้าไปชมด้านในองค์พระเจดีย์ได้
    เนื่องจากทางวัดจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ในวันสำคัญๆ เท่านั้น

    สำหรับพระเจดีย์ที่น่าสนใจอีกองค์หนึ่งก็คือ พระเจดีย์ไพรีพินาศ
    ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เจดีย์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐาน พระไพรีพินาศ
    พระพุทธรูปปางประทานพร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญและมีชื่อเสียงของวัด
    แม้ว่าทางวัดจะไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าสักการะพระไพรีพินาศ
    แต่ว่าทางวัดก็ได้สร้างพระไพรีพินาศจำลองไว้ให้สาธุชนกราบไหว้แทน

    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)



    ข้างหลังพระเจดีย์กลมออกไปเป็น พระวิหารเก๋งจีน
    ข้างในมีภาพเขียนฝีมือช่างจีน เทคนิคและฝีมืออยู่ในเกณฑ์ดี

    ถัดจากพระวิหารเก๋งจีนเป็น พระวิหารพระศาสดา
    ซึ่งเป็นพระวิหารขนาดใหญ่แบ่งเป็น ๒ ห้อง มีประตูทะลุผ่านกันได้
    มุขหน้าประดิษฐาน พระศาสดา พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๔
    โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ
    เชื่อกันว่าเมื่อได้สักการบูชาแล้วจะมีอำนาจบารมีอันศักดิ์สิทธิ์
    ปกปักรักษาจากสิ่งชั่วร้ายให้กับผู้ประพฤติธรรม

    ส่วนมุขหลังประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ หรือพระไสยา
    กล่าวกันว่า งดงามที่สุดในบรรดาพระไสยาสน์ในเมืองไทย
    เป็นพระศิลาลงรักปิดทองศิลปะสุโขทัย สร้างขึ้นราว พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๘๙๓
    ยาวแต่พระบาทถึงพระจุฬา (พระเกศ) ๖ ศอกคืบ ๕ นิ้ว พระรัศมี ๑ คืบ
    เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพายหลวง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย

    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
    (สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)



    พระพุทธไสยาสน์ หรือพระไสยา เป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ ๔
    ทรงทอดพระเนตรเห็นเมื่อครั้งยังทรงผนวช
    และเสด็จไปประพาสวัดพระพายหลวง เมืองสุโขทัย
    ด้วยลักษณะเป็นพระไสยาศิลาลงรักปิดทองที่งามกว่าพระไสยาองค์อื่น
    ดังนั้นเมื่อเสด็จมาประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
    จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารเดียวกันกับพระศาสดา

    โดยเรื่องนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องของพระองค์นี้ไว้ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
    ความตอนหนึ่งว่า “พระศิลาอย่างนี้ไม่ได้ทำไว้เพื่อประดิษฐานเป็นพระศิลาอย่างเดิม
    ทำพอเป็นแกนที่เป็นพระใหญ่ต่อเป็นท่อน เพราะอย่างนี้จึงได้ลงรักปิดทอง...”
    ภายหลังเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงสิ้นพระชนม์
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิไปบรรจุไว้ในฐานพระไสยาองค์นี้
    เชื่อกันว่า การกราบไหว้พระไสยาจะทำให้เป็นผู้ใจสงบ มีสมาธิ คนรักใคร่

    ภายในพระวิหารพระศาสดามีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
    อายุนับร้อยๆ ปี เรื่องพระพุทธประวัติ ชาดก และเหล่าเทวดา ฯลฯ
    อันวิจิตรงดงาม มีสีสันสดสวย ทรงคุณค่าและประมาณค่ามิได้

    [​IMG]
    พระศาสดา ประดิษฐาน ณ พระวิหารพระศาสดา


    ในบริเวณพุทธาวาสนั้นยังมีศิลปกรรมน่าสนใจอีกหลายอย่างเช่น
    ศาลาพระพุทธบาท เป็นศาลาห้องกระจก ตั้งอยู่ข้างพระอุโบสถ
    ที่ภายในศาลาแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทจำลอง
    เป็นรอยพระพุทธบาทของเก่าแก่โบราณสมัยสุโขทัยที่อายุราว ๑ พันปี
    ซึ่งเป็นแผ่นศิลาขนาดใหญ่สลักรอยพระพุทธบาทคู่
    ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ทรงอัญเชิญมาจากจังหวัดชัยนาท
    นับว่าต่างจากรอยพระบาททั่วไปที่จะมีเพียงรอยพระบาทเดี่ยว
    บนรอยพระพุทธบาทจำลองมีเหรียญต่างๆ วางอยู่ข้างบน
    เนื่องจากผู้คนที่แวะเวียนมามักจะวางเหรียญเพื่อเป็นการสักการบูชา
    เชื่อกันว่าเมื่อได้สักการบูชาแล้วจะพ้นจากภัยพาลเคราะห์ร้าย

    อีกทั้ง พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งสร้างขึ้นเป็นเครื่องแสดงว่า
    วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
    ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จเปลื้องเครื่องทรงในศาลานี้ก่อนเสด็จเข้าวัด

    [​IMG]
    พลับพลาเปลื้องเครื่อง


    นอกจากนี้ ตรงประตูทางเข้าวัดบวรนิเวศวิหาร ด้านหน้าพระอุโบสถ
    มี “ประตูเซี่ยวกาง” ศิลปะทวารบาลที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมาอย่างเด่นชัด
    โดยประตูเซี่ยวกางแห่งนี้เป็นรูปเทวดาผี ใช้ไม้แกะเป็นรูปเทวดา
    หนวดเครายาว ปิดทองเหลืองอร่าม ตนหนึ่งมือซ้ายถือสามง่าม มือขวาถือกริช
    เหยียบบนหลังจระเข้ อีกตนหนึ่งมือขวาถือโล่ มือซ้ายถือดาบ เหยียบบนหลังมังกร
    มีตำนานอยู่ในลัทธิมหายานว่า เป็นจอมแห่งเทวดาผู้พิทักษ์ประตูวัด
    ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่
    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคตินิยมแบบจีน
    คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ่ากัง” ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง

    ส่วนที่แปลกและสะดุดตาของคนที่เดินทางผ่านไป-มา ก็คือ
    บริเวณปากของ “เซี่ยวกาง” นายทวารบาล จะมีสีดำ
    ซึ่งแม่ค้าพวงมาลัยหน้าประตูวัดเล่าว่า สมัยก่อนยุคที่เมืองไทยยังดูดฝิ่น
    ได้มีชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงม
    พอต่อมาทางการได้ปราบทำลายโรงงานยาฝิ่นจนหมดสิ้น
    เมื่อแกหาฝิ่นดูดไม่ได้ สุดท้ายเลยไปลงแดงตายตรงประตูนี้

    [​IMG]
    “ประตูเซี่ยวกาง” ที่มีปากสีดำอันโดดเด่นของวัดบวรนิเวศวิหาร


    หลังจากเมื่อทางวัดมาพบจึงได้ทำพิธีกงเต๊กให้
    ต่อมาชาวจีนคนนั้นได้ไปเข้าฝันสมเด็จท่านเจ้าอาวาส
    ว่าให้ทำที่ให้แกอยู่แล้วแกจะเฝ้าวัดให้ ทางวัดจึงได้สร้างกำแพงทำซุ้มประตู
    แล้วอันเชิญดวงวิญญาณชาวจีนคนนั้นมาสถิตย์อยู่ ณ ประตูแห่งนี้

    ต่อมาก็มีเรื่องเล่ากันว่าของในวัดที่เคยถูกขโมยไปหลายครั้ง
    ล้วนได้คืนกลับมาหมดด้วยความศักดิ์สิทธิของดวงวิญญาณคนจีนที่คอยเฝ้าวัด
    ทำให้เกิดการสักการบูชาประตูเซี่ยวกางขึ้น ซึ่งหลายๆ คนต่างเชื่อกันว่า
    ถ้าบนอะไรแล้ว ก็จะได้สิ่งนั้นตามที่ขอหมด
    โดยนิยมนำฝิ่นมาป้ายปาก และนำถุงโอยัวะกับพวงมาลัยมาแขวนบูชา

    ในช่วงรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ พวกคนจีนเข้ามาในเมืองไทยมาก
    เพื่อมาเป็นแรงงาน คนจีนพวกนี้ส่วนมากจะสูบฝิ่นติดฝิ่น
    แล้วอาจจะมาขอหวยอะไรทำนองนี้ แล้วปรากฏว่าถูก
    คิดว่าเราเองชอบฝิ่น เจ้าก็คงชอบเหมือนกัน เลยเอาขี้ฝิ่นดิบมาป้ายปาก
    ปากก็เลยมีสีดำ แต่ในปัจจุบันความเชื่อมันก็เริ่มกลายไป
    กลายเป็นว่าท่านโปรดของดำทั้งหมดเลย เหมือนพระราหู
    พอเราผ่านไปก็เลยเห็นเป็นถุงโอยัวะบ้าง
    ถุงโอเลี้ยงบ้าง ถุงซุปไก่ดำบ้าง ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

    [​IMG]
    ศาลาพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง

    [​IMG]
    รอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเป็นแผ่นศิลาสลักรอยพระพุทธบาทคู่
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,548
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,894
    [​IMG]
    พระตำหนักปั้นหยา


    • ศิลปกรรมล้ำค่าในเขตสังฆาวาส

    ศิลปกรรมในเขตสังฆาวาสส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔
    เพื่อเป็นพระตำหนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะทรงผนวชในวัดนี้
    พระตำหนักต่างๆ ที่อยู่ในคณะพระตำหนัก ประกอบด้วย พระตำหนักปั้นหยา
    พระตำหนักจันทร์ พระตำหนักเพ็ชร์ พระตำหนักทรงพรต พระตำหนักใหญ่
    พระตำหนักซ้าย พระตำหนักล่าง พระตำหนักบัญจบเบญจมา และหอสหจร

    ความเป็นมาของพระตำหนักต่างๆ เริ่มจาก พระตำหนักปั้นหยา
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างพระราชทาน
    พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ เมื่อทรงอาราธนาให้เสด็จมาประทับที่วัดแห่งนี้
    และประทับอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยาตลอดระยะเวลาแห่งการผนวช
    โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาจากสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง
    ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

    [​IMG]
    พระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม)


    ต่อมา พระตำหนักนี้ได้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์
    และเจ้านายทุกพระองค์ที่ทรงผนวชและเสด็จประทับอยู่ที่วัดแห่งนี้
    รูปทรงของพระตำหนักเป็นตึก ๓ ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรป
    ก่ออิฐถือปูน หน้าจั่วประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
    ภายในแบ่งเป็นห้องพระ ห้องพระบรรทม และห้องทรงพระอักษร
    อีกทั้งยังมีคำจารึกที่แผ่นศิลาในพระตำหนักปั้นหยาชั้นล่าง
    พระตำหนักปั้นหยาตั้งอยู่ทางซ้ายมือของคณะพระตำหนักต่างๆ
    เป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี คือห้ามมิให้สตรีเพศขึ้นพระตำหนักนี้

    [​IMG]
    ที่ประทับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
    ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม)



    ถัดจากพระตำหนักปั้นหยาคือ พระตำหนักจันทร์ (พระตำหนักเดิม)
    เป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
    ทรงสร้างด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
    เจ้าฟ้าจันทราสรัทธาวาส กรมขุนพิจิตเจษฐฃฏาจันทร์

    ถวายเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส
    ในบริเวณพระตำหนักจันทร์ด้านทิศตะวันออก ติดกับรั้วเหล็กมีศาลาเล็กๆ
    มีพาไล ๒ ด้าน ฝาล่องถุนก่ออิฐถือปูน โถงเป็นเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้อง
    ศาลาหลังนี้เดิมเป็นพลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
    ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสร้างไว้ในสวนพระราชวังเดิม
    แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมาปลูกไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒

    [​IMG]
    พระตำหนักเพ็ชร


    พระตำหนักเพ็ชร ตั้งอยู่ทางขวามือเมื่อเข้าจากทางหน้าวัด
    เป็นพระตำหนัก ๒ ชั้นแบบฝรั่ง มุขหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุงดงาม
    พระตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    เมื่อครั้งยังทรงผนวช ได้สร้างถวายด้วยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์
    เพื่อให้เป็นที่ทรงงาน และเป็นท้องพระโรงสำหรับรับแขกของ
    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
    โดยมีการฉลองพระตำหนักเพ็ชร เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

    ภายในห้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔
    ซึ่งปั้นขึ้นมาเป็นต้นแบบขนาดเท่าพระองค์จริงเป็นองค์แรก
    และได้กลายเป็นต้นแบบของพระบรมรูปหล่อต่างๆ ในเวลาต่อมา

    ปัจจุบัน พระตำหนักเพ็ชรใช้เป็นสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม
    และเป็นสถานที่เก็บรักษาตู้พัดยศ พัดรอง กล่องงาแกะสลักรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
    เครื่องบริขารสงฆ์ เครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนๆ

    พระตำหนักทรงพรต เป็นพระตำหนักที่ทรงเคยประทับ
    ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน
    ครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

    อย่างไรก็ตามศิลปกรรมและถาวรวัตถุของวัดบวรนิเวศวิหาร
    ยังมีอีกมากมายหลายอย่างซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพดี

    นอกจากนี้ในเขตสังฆาวาสยังเป็นที่ประดิษฐาน พระไพรีพินาศจำลอง
    พระพุทธรูปปางประทานพร ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระเจดีย์กลมมากนัก
    เมื่อเดินเข้าไปจะมีป้ายบอกทางชี้บอกไว้
    เดินตรงไปเรื่อยๆ จนสุดทางข้ามสะพานข้ามน้ำเล็กๆ
    มองไปทางขวามือก็จะเห็น ศาลาพระไพรีพินาศจำลอง

    [​IMG]
    พระไพรีพินาศจำลองประดิษฐานอยู่ในเขตสังฆาวาส
     

แชร์หน้านี้

Loading...