เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 10 กันยายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,574
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,382
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,574
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,382
    วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ทางวัดท่าขนุนจะมีโครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าไทย นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" และอาทิตย์นี้ฝนฟ้าก็เป็นใจ เว้นช่วงให้ใส่บาตรกันได้โดยสะดวก

    แต่ว่าในการบิณฑบาตทุกวัน มาสะดุดใจในวันนี้มากที่สุด ก็คือก่อนช่วงที่จะมาถึงร้านค้าชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน เพื่อจะได้ดำเนินการตามโครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าไทย นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" นั้น ช่วงขาขึ้น นี่เป็นภาษาโบราณ ก็คือถ้าหากว่าขึ้นสู่ที่สูง เขาจะเรียกขาขึ้น ถ้าลงมาจะเรียกว่าขาล่อง ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านเดินทางไปทองผาภูมิ เขาจะเรียกว่าขาขึ้น ถ้าเดินทางมายังกาญจนบุรีเขาจะเรียกว่าขาล่อง

    ช่วงขาขึ้นก็คือระหว่างที่เดินรับบาตรไปเรื่อย จากซุ้มประตูของเทศบาลตำบลทองผาภูมิ มุ่งหน้าไปทางโรงพยาบาลทองผาภูมินั้น เมื่อผ่านร้านอาหารชื่อดังของทองผาภูมิ ก็คือร้านเงาะป่า ที่มีชื่อเสียงตรงที่ว่า เมื่อท่านไปถึงร้านแล้ว โปรดตักอาหารด้วยตนเอง จะมากจะน้อยก็จานละ ๔๐ บาทเท่ากัน

    ปรากฏว่ามีสุภาพบุรุษท่านหนึ่งนิมนต์ขอใส่บาตร กระผม/อาตมภาพก็หยุดรับตามแบบฉบับของพระ ก็คือทอดสายตาลงต่ำ แต่คราวนี้โดยปกติแล้วญาติโยมก็มักจะใส่ถุงกับข้าวก่อน กระผม/อาตมภาพจึงต้องพลิกฝาบาตรขึ้นเพื่อรอรับ แต่สิ่งที่วางลงมาก็คือโถข้าวทั้งใบพร้อมทัพพี..! แล้วหลังจากนั้นสุภาพบุรุษท่านนั้นก็พยายามที่จะยัดเยียดถุงกับข้าวอีก ๙ ถุงลงมารอบ ๆ โถข้าว จนกระทั่งเด็กวัดต้องรีบมาเก็บกับข้าวออก แล้วกระผม/อาตมภาพถึงได้บอกว่า "ยกโถข้าวตักใส่บาตรพระทุกรูปด้วย" โยมเพิ่งจะเข้าใจ จึงรับเอาโถข้าวกลับไปแล้วตักใส่บาตร

    อาตมภาพเห็นแล้วก็ถอนหายใจ เนื่องเพราะว่าบุคคลที่อยากจะใส่บาตร แต่ใส่ไม่เป็น ในระยะหลังนี้มีเยอะมาก เด็กวัยรุ่นบางคนก็เก้ ๆ กัง ๆ ไม่รู้ว่าจะใส่กับข้าวก่อนหรือว่าใส่ข้าวก่อน บางรายก็ถึงกับออกปากถามเลยว่า "ควรจะใส่อะไรก่อนดีเจ้าคะ ?" ซึ่งก็ถือว่าเป็นความฉลาดส่วนตัวของคุณเธอ ที่อุตส่าห์ออกปากถาม พระจะได้บอกขั้นตอนให้

    แต่บางรายทำอะไรไม่ถูกจริง ๆ ทำให้กระผม/อาตมภาพที่ตักบาตรมาตั้งแต่เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกว่า "ผู้คนสมัยนี้จะห่างวัดห่างวาอะไรได้มากปานนั้น"
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,574
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,382
    หลายท่านถึงเวลาก็แต่งตัวตามสบาย นุ่งกางเกงขาสั้นบ้าง นุ่งกางเกงขาสามส่วนบ้าง ใส่เสื้อกล้ามบ้าง มาใส่บาตร แต่อะไรก็ไม่หนักหนาเท่ากับสุภาพสตรีบางท่าน นุ่งกางเกงประมาณว่า ขาสั้นเว้าสูงเสมอหูยังไม่พอ ยังใส่เสื้อไม่มีแขนเปิดสะดือมาอีกต่างหาก แล้วแม่ก็ใจดีเหลือเกิน ให้มาเสียมากมายมหาศาล ทำเอาพระที่ตบะไม่ดี ต้องฟุ้งซ่านไปหลายวัน..!

    เรื่องพวกนี้กระผม/อาตมภาพเห็นแล้วก็รู้สึกห่วงสังคมไทย ซึ่งดูแล้วว่าจะห่างวัดห่างวาออกไปมากขึ้นทุกที ทำให้รู้สึกโหยหาไปถึงสมัยก่อน ที่ทุกบ้านถึงเวลาก็หิ้วปิ่นโตเข้าวัด โดยเฉพาะกระผม/อาตมภาพนั้น เรียนชั้นประถมปีที่ ๑ จนถึงชั้นประถมปีที่ ๒ เทอมกลาง ยังมีการหยุดเรียนในวันโกนวันพระ หลังจากที่เปิดเทอมปลายของชั้นประถมปีที่ ๒ แล้ว ครูใหญ่จึงได้ประกาศว่า "ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป การปิดเรียนจะปิดในวันเสาร์ วันอาทิตย์แทนวันโกนวันพระ" ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาแก่กระผม/อาตมภาพมากเป็นพิเศษ

    เนื่องจากรู้จักแต่วันขึ้น-แรม ที่เป็นวันโกน วันพระ รู้ว่าถึงเวลาวันโกน ครูจะให้หยุดเรียนครึ่งวัน พาไปทำความสะอาดวัด กวาดพื้นบ้าง กวาดศาลา ถูศาลาบ้าง ทำความสะอาดห้องน้ำบ้าง ช่วยกันล้างถ้วยล้างชามล้างปิ่นโต คว่ำเรียงเอาไว้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อใช้งานในวันพระบ้าง

    แล้วกระผม/อาตมภาพก็ชอบบรรยากาศในวัดเป็นพิเศษ เนื่องเพราะว่าเข้าไปทุกครั้งก็รู้สึกเย็นกายเย็นใจ บางทีทำงานยังไม่ทันจะเสร็จ ก็หลับคาศาลาไปแล้ว..! เนื่องเพราะสมัยก่อน ศาลามักจะสร้างด้วยไม้ทั้งหมด โดยเฉพาะไม้พื้นต้องมีการขัดด้วยกะลาแล้วลงเทียน คำว่า ขัดด้วยกะลา ในที่นี้ก็คือ ผู้ใหญ่จะนำเอามะพร้าวแห้งมาตัดครึ่งลูก แล้วก็คว่ำลง ให้พวกเราไถไปตามพื้น เมื่อถึงเวลามีเศษผงจะเปลือกมะพร้าวร่วงลงมาบ้าง ก็ใช้วิธีกวาดเอาทีหลัง

    หลังจากนั้นแล้วก็นำเอาเศษเทียนที่พอจะมีเหลืออยู่ มาต้มให้โดนความร้อนจนละลาย แล้วก็เอาผ้าชุบถูเร็ว ๆ ผ่านไปรอบหนึ่ง หลังจากนั้นก็ขัดด้วยกะลาตามไป ทำให้กระดานแต่ละแผ่นเงาวาววับ นอนลงไปเมื่อไร ก็รู้สึกเย็นชื่นใจ อยากจะหลับเสียเดี๋ยวนั้น มารู้ทีหลังว่าบางคนอยู่วัดแบบนั้นไม่ได้ ไม่ทราบว่าบุญน้อยไป หรือว่ากรรมบังก็ไม่รู้ ? บางคนกระวนกระวายถึงขนาดที่ต้องรีบกลับบ้าน เป็นเรื่องที่น่าสงสารมาก..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,574
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,382
    ในเมื่อรู้จักแต่วันโกนวันพระ พอวันโกนทำความสะอาดวัดเสร็จสรรพเรียบร้อย ครูก็ปล่อยกลับบ้าน วันพระก็เดินตามพี่สาวไปวัด สมัยก่อนถ้าหากว่าพ่อแม่ไม่พาไปวัด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพี่สาวพาไปวัด เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า สมัยก่อนนั้นการใกล้ชิดระหว่างผู้หญิงและผู้ชายนั้น จะเป็นที่ตำหนิติเตียนในสังคมเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็จะต้องมีพี่น้องที่เป็นผู้ชายไปด้วย

    กระผม/อาตมภาพที่พอจะรู้ความ เพราะว่าเข้าเรียนชั้น ป. ๑ สมัยก่อนนั้น เขาเข้าเรียนกันตอน ๘ ขวบ จึงต้องเป็นเพื่อนพี่สาวไปวัดทุกวันพระ แต่ไปแล้วก็ไร้ประโยชน์ เพราะว่าบรรดาบุคคลที่ตั้งใจจะเป็น "ว่าที่พี่เขย" ถ้าไม่ควักกระเป๋าส่งสตางค์ให้ไปซื้อขนมแล้วไปกินไกล ๆ ก็มักจะเอาของฝากมาเป็นไก่ปิ้งบ้าง อ้อยควั่นบ้าง ส่งให้ แล้วก็ชี้ว่าไปกินทางด้านโน้น พวกเรารับของได้ก็วิ่งไปด้วยความดีใจ ส่วนทางด้านนี้เขาจีบพี่สาวเราอย่างไรก็ไม่รับรู้แล้ว..!

    เมื่อมีการประกาศว่าให้มาหยุดวันเสาร์อาทิตย์ กระผม/อาตมภาพก็ต้องรบเร้าพี่สาว คือนางสาวมุกดา เพชรชื่นสกุล ในปัจจุบันนี้ ว่าเมื่อไรจะถึงเสาร์อาทิตย์ พี่สาวก็ต้องพาไปที่ปฏิทิน ซึ่งสมัยก่อนก็มักเป็นรูปองค์ในหลวง ราชินี หรือว่าดารา แล้วก็จะมีแผ่นวันที่เป็นปึกใหญ่ ๆ ขนาดฝ่ามือ เรียงกัน ๓๖๕ ใบบ้าง ๓๖๖ ใบบ้าง พี่สาวจะพลิกให้ดูไปจนถึงใบที่เป็นสีแดง แล้วก็บอกว่า "จำเอาไว้..ใบที่เป็นสีแดงคือวันอาทิตย์ ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันคือวันเสาร์" กว่าที่กระผม/อาตมภาพจะเคยชินกับวันเสาร์อาทิตย์ก็ผ่านไปเป็นปี..!

    เมื่อถึงเวลาวันศุกร์ ครูบาอาจารย์ก็ต้องพาเข้าวัด เพื่อที่จะไปสวดมนต์ ไหว้พระ ไปทำความสะอาดวัดคล้าย ๆ กับวันโกนสมัยก่อน แล้วถึงได้ปล่อยกลับบ้าน เด็กสมัยนั้นจึงไม่ได้ห่างวัด เนื่องเพราะว่าโรงเรียนเกือบทุกแห่งก็เป็นโรงเรียนวัด ระยะหลังนี้มีการดิ้นรนที่จะเอาชื่อวัดออกจากโรงเรียน ดังนั้น..โรงเรียนชื่อดังหลายแห่ง จากที่มีคำว่า "วัด" นำหน้า ก็กลายเป็นว่าเหลือแต่ชื่อโรงเรียนเดิมเท่านั้น

    กระผม/อาตมภาพก็ไม่เข้าใจว่า รังเกียจวัดอะไรกันหนักหนา ? เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันนี้ จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมคนรุ่นใหม่ จึงใส่บาตรกันไม่เป็น

    แต่ว่าสุภาพบุรุษที่เจอในวันนี้ก็ไม่น่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ ดูจาอายุอานามก็น่าจะตก ๔๐ กว่า ๕๐ ปีแล้ว ขนาดนั้นก็ยังใส่บาตรไม่เป็น แต่ก็ยังดีที่ประกอบไปด้วยจิตศรัทธา เห็นพระแล้วก็ยังนิมนต์ใส่บาตร เมื่อให้คำแนะนำไป คาดว่าวันต่อ ๆ ไป หรือว่าครั้งต่อ ๆ ไป ก็คงจะใส่บาตรได้ถนัดขึ้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,574
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,543
    ค่าพลัง:
    +26,382
    เพียงแต่ว่าทุกวันนี้ทางทองผาภูมินั้น พระเณรอยู่ได้ด้วยพี่น้องมอญพม่า เกือบร้อยละ ๙๐ พี่น้องมอญพม่าจะใส่บาตรทุกวัน สร้างบุญสร้างกุศลใส่ตัวทุกวัน ถ้าไม่ใช่ต้องไปหาหมอ หรือว่าเจ็บไข้ได้ป่วยจนล้มหมอนนอนเสื่อ จะไม่ยอมขาดการใส่บาตรเป็นอันขาด

    โดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลทองผาภูมิที่กระผม/อาตมภาพนำสายบิณฑบาตวัดท่าขนุนออกรับบาตรทุกวันนั้น มีวัดที่บิณฑบาตถึง ๕ วัดด้วยกัน ก็คือวัดท่าขนุน วัดทองผาภูมิ วัดเวฬุวัน ของหลวงพ่อสาคร ธมฺมาวุโธ (พระครูภาวนาสุทธาจารย์) วัดจวบจันทร์วนาราม ของหลวงพ่อสอน รกฺขิโต วัดป่าผาตาดธารสวรรค์ ของหลวงพ่ออุดม ปทุโม (พระครูวิสุทธิกาญจโนดม) แล้วในปีนี้ยังมีวัดป่าไร่กระเตอ ที่เป็นวัดธรรมยุตเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ วัด

    ในเมื่อมีพระเดินบิณฑบาตถึง ๖ วัดด้วยกัน ถ้าหากไม่ใช่พี่น้องมอญพม่าใส่บาตรกันมากจริง ๆ ก็อาจจะมีอดกันบ้าง แต่ปรากฏว่าอย่างของวัดท่าขนุนนั้น ข้าวปลาอาหารได้มาเหลือเฟือทุกวัน ถึงขนาดต้องมอบหมายให้คณะ อสม.ตำบลท่าขนุน นำเอาอาหารที่เหลือหลังจากมื้อเพลแล้ว ไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ตลอดจนกระทั่งบรรดาผู้ต้องขัง

    บางทีบรรดาต่างด้าวซึ่งเข้าเมืองมาเพื่อที่จะมาทำงานในบ้านเรา โดนกวาดจับไปได้ทีหนึ่ง ๓๐ - ๔๐ คน ทางท่านผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิก็ต้องติดต่อมายังวัดท่าขนุน ให้นำอาหารไปเลี้ยงผู้ต้องขังเหล่านี้ ถ้าวันไหนอาหารมีน้อย ไม่เพียงพอ กระผม/อาตมภาพก็ต้องสั่งแม่ชีหุงข้าว ทำกับข้าวต่างหาก เพื่อที่จะนำไปเลี้ยงคนทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มาช่วยทำงานในบ้านเรานี่เอง เพียงแต่ว่าเข้ามาแบบผิดกฎหมายจึงโดนจับกุม

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้น ถ้าพูดถึงคนไทย กระผม/อาตมภาพก็ออกอาการ "น้ำตาจิไหล" เพราะว่ามีคนไทยที่ใส่บาตรเป็นประจำอยู่ประมาณร้อยละ ๑๐ เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็อาจจะใส่บาตรปีละครั้งตอนวันเกิดตัวเองบ้าง ใส่บาตรช่วงปีใหม่ เพราะว่าทางเทศบาลตำบลทองผาภูมิและทางวัดท่าขนุนร่วมกันทำ "โครงการใส่บาตรพระ ๙๙ รูป สร้างกุศลรับปีใหม่" ทำให้คนไทยออกอาการใส่บาตรกันไม่เป็น

    จึงน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งว่า
    "ทำอย่างไรที่จะให้ญาติโยมทั้งหลาย รู้จักพื้นฐานการเข้าถึงพระพุทธศาสนาได้ดีกว่านี้ ?" หลังจากที่ปากเปียกปากแฉะ สั่งสอนญาติโยมมาจนอายุ ๖๐ กว่าปีเข้ามาแล้ว ยิ่งสอนญาติโยมส่วนหนึ่งก็ยิ่งไกลวัด..! จึงทำให้กระผม/อาตมภาพได้แต่ฝากความหวังไว้กับพระภิกษุสามเณรรุ่นหลัง ๆ ว่าจะมีความพากเพียรไม่ท้อถอยในการสั่งสอนญาติโยมกันต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...