เรื่องเด่น พระอรหันต์ มี 4 ประเภท จึงแสดงฤทธิ์ได้แตกต่างกัน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 14 มิถุนายน 2020.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    พระติสสเมตเตยยเถระ
    %B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg.1347310724575.jpg

    พระติสสเมตเตยยเถระ

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

    ในกัล์ปนับจากภัทรกัล์ปนี้ไปแสนหนึ่ง พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ได้ทรงทำให้มหาชนเป็นอันมาก ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้

    ในสมัยนั้น ท่านได้เกิดเป็นดาบสชื่อโสภิตะ อาศัยอยู่ในยอดเงื้อมแห่งภูเขา เที่ยวเสาะหาและบริโภคแต่ผลไม้ที่หล่นเอง ในเวลานั้น ท่านได้เที่ยวแสวงหาธรรมอันเพื่อนำไปสู่พรหมโลก โดยการบูชาเพลิง ในตลอดเวลาจึงนำเอาฟืนสำหรับติดไฟมาสุมไฟให้ลุกโพลง

    ในครั้งกระนั้นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ทรงมีพระประสงค์จะโปรดท่านดาบส จึงเสด็จมายังสถานที่ท่านดาบสบูชาไฟ แล้วตรัสว่า ขอท่านจงให้ฟืนแก่เรา เราจะทำการบูชาไฟ และเพราะการบูชาไฟนั้น ความบริสุทธิ์จักมีแก่เรา?

    โสภิตดาบสทูลว่า ดูกรท่านผู้ผู้เจริญ ท่านเข้าใจความประสงค์ของเทวดาดี ขอเชิญท่านบูชาไฟเถิด ขอท่านจงเอาฟืนสำหรับติดไฟไป.ลำดับนั้น พระชินเจ้าทรงถือเอาฟืนนั้นต่อกับกองเพลิงที่ติดไฟลุกโพลงอยู่ และทรงกระทำปาฏิหาริย์ให้ไฟไม่ลุกติดฟืนนั้น

    พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า ท่านดาบส ไฟของท่านดับเสียแล้ว เครื่องบูชาของท่านไม่มีแล้ว การบูชาไฟของท่านไร้ประโยชน์ เชิญท่านลองบูชาไฟของเราบ้างซิ

    โสภิตดาบสทูลถามว่า ดูกรท่านผู้มีความเพียร ไฟของท่านเป็นเช่นไร ขอจงบอกไฟของท่านแก่เรา เมื่อท่านบอกแก่เราแล้ว เราทั้งสองจะได้บูชาไฟนั้น?

    พระบรมศาสดาทรงตรัสว่าการบูชาของเรามี ๓ ประการนี้ คือ เพื่อดับธรรมอันเป็นเหตุ ๑ เพื่อเผากิเลส ๑ เพื่อ (เพราะ) ละความริษยา และตระหนี่ ๑

    โสภิตดาบสทูลถามว่า ดูกรท่านมหาวีระผู้นิรทุกข์ ท่านมีความเป็นมาอย่างไร มีโคตรอย่างไร อาจาระและข้อปฏิบัติของท่านเราเลื่อมใสนัก

    พระบรมศาสดาทรงตรัสตอบว่า เราเกิดในสกุลกษัตริย์ บำเพ็ญเพียรจนถึงที่สุดแห่งอภิญญา มีอาสวะทั้งปวงสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ของเราไม่มี

    ข้าแต่พระองค์ผู้ส่องแสงสว่าง ทรงบรรเทาความมืด ถ้าพระองค์เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ข้าพระองค์จักขอนมัสการพระองค์ พระองค์ผู้ทำที่สุดทุกข์.แล้วท่านดาบสก็ได้เอาหนังสัตว์มาปูลาดถวายเป็นที่ประทับนั่ง แล้วอาราธนาพระสัพพัญญูให้ทรงประทับนั่งบนหนังสัตว์นั้น โสภิตดาบสทำการอุปัฏฐากพระองค์ นิมนต์พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เข้าไปยังภูเขา เก็บผลมะพลับสุกใส่หาบจนเต็ม แล้วนำมาปอกคลุกเคล้าด้วยน้ำผึ้งแล้ว ถวายแด่พระพุทธเจ้า ในขณะเมื่อท่านมองดู พระพุทธเจ้าทรงเสวยอยู่นั้น ก็บังเกิดจิตเลื่อมใสในพระองค์

    พระปทุมุตระพุทธเจ้า ทรงประทับนั่งอยู่ในอาศรมแล้วตรัสว่า ผู้ใดมีความเลื่อมใส ได้อังคาสเราด้วยผลมะพลับด้วยมือของตนเอง เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

    ผู้นั้นจักได้เสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๒๕ ครั้งและจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑๐๐๐ ครั้ง เมื่อผู้นั้นประสงค์ ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน อันควรค่าของเหล่านั้นก็จักบังเกิดขึ้นในทันที ผู้นี้จักเป็นผู้บันเทิงพร้อมและเป็นผู้มีความสบายทุกเมื่อ ผู้นี้เข้าถึงกำเนิดใด คือความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้น จักเป็นผู้มีสุขทุกแห่ง จักได้เป็นมนุษย์ ผู้นั้นเป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท ได้เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าแล้ว จักเป็นพระอรหันต์

    ท่านได้กระทำกรรมดีจนตลอดชีวิต ครั้นละจากภพมนุษย์นี้ไปแล้ว ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิมนุษย์และเทวดา

    บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    มีเรื่องอยู่ว่า ครั้งอดีตกาลสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า มีช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา

    ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย

    ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด

    ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร

    พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย

    พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย

    ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น

    คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะ สูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

    พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวง

    พระธรรม เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เป็นบุญเขต ที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้

    และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น

    ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้

    ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า

    ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี

    ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม

    อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง

    สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล

    เมื่อเวลาผ่านไปพุทธันดรหนึ่ง ในภัทรกัป สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์

    พระราชาและอำมาตย์เหล่านั้นที่บังเกิดเป็นเทวดาเสวยสุขอยู่ในเทวโลกก็ได้จุติจากเทวโลก

    พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศลผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน

    ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น ในภพสุดท้ายนี้ หนึ่งในนั้นก็ถือปฏิสนธิในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อว่า ติสสเมตเตยยะ และอำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง

    ท่านติสสเมตเตยยะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน

    เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน

    พาวรีปุโรหิตออกบวช

    ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า

    พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนคร

    อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท

    ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่

    อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถีมาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป

    พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก

    อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป

    พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง

    ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น

    ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”

    พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”

    พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”

    พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”

    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย

    เทวดาบอกปริศนาธรรม

    เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

    เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

    เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

    เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ

    เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ

    พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา

    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ

    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

    พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา

    เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ

    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ

    ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี

    พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล

    ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิล พัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

    จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น

    ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป.

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส

    ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิตมาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง

    พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อย ๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน

    โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย

    ติสสเมตเตยยะทูลถามปัญหาของตน

    ลำดับนั้น ติสสเมตเตยยะเมื่อจะทูลถามความสงสัยของตน จึงถามปัญหาว่า

    ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้

    ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร

    ใครรู้อดีตกับอนาคต แล้วไม่ติดอยู่ใน ปัจจุบัน ด้วยปัญญา

    พระองค์ตรัสสรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ

    ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ว่า ดูกรเมตเตยยะ

    ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์

    มีตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ

    พิจารณาเห็นธรรมแล้วดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้

    ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น

    ภิกษุนั้นรู้ซึ่งอดีตกับอนาคตแล้ว ไม่ติดอยู่ในปัจจุบันด้วยปัญญา

    เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ

    ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดใน

    โลกนี้เสียได้ ฯ

    จบเทศนาท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑๐๐๐ คน บริวารของตน หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของติสสเมตเตยยพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต ติสสเมตเตยยพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค
     
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    e0b8aae0b887e0b886e0b98c.jpg
    พระมหากัสสปเถระ

    ชาติภูมิ
    ท่านพระมหากัสสปะ เป็นบุตรกปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐ มีชื่อว่า ปิปผลิ อีกอย่างหนึ่ง เรียกตามโคตรว่า กัสสปะ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี เป็นบุตรีพราหมณ์โกสิยโคตร เมื่องสาคละ จังหวัดมคธรัฐ เนื้อความในเรื่องนี้มีว่า เมื่อปิปผลิมาณพอายุได้ ๒๐ ปีแล้ว กปิลพราหมณ์ผู้เป็นบิดา พร้อมกับนางพราหมณีผู้มารดา ก็ปรึกษากันหาภรรยาให้แก่บุตรของตน จึงมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น ให้แก่พราหมณ์แปดคน แล้วส่งไปเพื่อให้แสวงหาหญิงที่มีลักษณะดีงาม มีฐานะเสมอกันกับสกุลของตน พราหมณ์แปดคนรับสิ่งของทองหมั้นแล้ว ก็เที่ยวหาไป จนได้บรรลุถึงสาครนคร ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้น ครั้นได้เห็นแล้วจึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อตกลงกันแล้ว จึงมอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวหมงคล และส่งข่าวให้กปิลพราหมณ์ได้ทราบ ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้น ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้อง เขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางทราบว่า นางผู้เจริญ จงได้สามีที่มีชาติและโคตรโภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครองครองเรือนเป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ต่อไปภายหลังนางจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน ครั้นเขียนเสร็จแล้วมอบให้คนใช้นำไปส่งให้ แม้นางภัททกาปิลานีก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายเช่นนั้นให้คนใช้นำมา คนถือจดหมายทั้งสองมาพบกันระหว่างทาง ต่างไถ่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้วจึงฉีกจดหมายออกอ่าน แล้วทิ้งจดหมายฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความแสดงความรักใคร่ซึ่งกันและกันขึ้นใหม่ แล้วนำไปให้แก่คนทั้งสอง ครั้นกาลต่อมา การอาวหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อยโดยคนทั้งสองไม่ได้มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องกันเลย แม้แต่ขึ้นสู่เตียงนอนก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา นางภัททกาปิลานี้ขึ้นข้างซ้าย เมื่อเวลานอน ตั้งพวงดอกไม้สองพวงไว้กลางที่นอน เพราะกลัวร่างกายจะถูกต้องกัน ถึงกลางวันก็ไม่ได้มีการหัวเราะยิ้มหัวต่อกันเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุตรหรือธิดา สกุลของสามีภรรยาคู่นี้มั่งมีมาก มีการงานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์ก็มาก มีคนงานและพาหนะสำหรับใช้งานก็มาก ครั้นต่อมา บิดามารดาเสียชีวิตแล้ว ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติ ดูแลการงานนั้นสืบทอดจากบิดามารดา และสามีภรรยาต่างมีความเห็นร่วมกันว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาปเพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี จึงมีใจเบื่อหน่าย พร้อมใจกันจะออกบวช ได้แสวงหาผ้ากาสยะ ถือเพศเป็นบรรพชิต ออกบวชมุ่งหมายเป็นพระอรหันต์ในโลก สะพายบาตรลงจากปราสาทหลีกไป ปิปผลิเดินหน้า นางภัททกาปิลานีเดินไปตามหลัง พอไปถึงทางแยกแห่งหนึ่ง จึงแยกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้าย จนบรรลุถึงสำนักของนางภิกษุณี ภายหลังได้บวชเป็นนางภิกษุณี และได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนปิปผลิเดินทางไปพบสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ใต้ร่มไทร ซึ่งเรียกว่า พหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน มีความเลื่อมใสเปล่งวาจาประกาศว่า พระศาสดาเป็นพระศาสดาของตน ตนเป็นสาวกของพระศาสดาฯ

    รับโอวาทเอตทัคคะ

    พระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ด้วยประทานโอวาท ๓ ข้อว่า

    ๑. กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงใจ ไว้ในภิกษุที่เป็นผู้เฒ่าและปานกลาง อย่างดีที่สุด

    ๒. เราจักฟังธรรมซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักตั้งใจฟังธรรมนั้น แล้วพิจารณาเนื้อความ

    ๓. เราจักไม่ละสติที่เป็นไปในกาย คือ พิจารณาเอาร่างกายเป็นอารมณ์

    ครั้น ประทานโอวาทแก่พระมหากัสสปะอย่างนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ท่านได้ฟังพุทธโอวาทที่นั้นแล้ว ก็เริ่มบำเพ็ญเพียรในวันที่ ๘ นับจากวันอุปสมบทมา ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ตามปกติท่านพระมหากัสสปะนั้นถือธุดงค์ ๓ อย่าง คือ ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร, ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ด้วยเหตุนั้นพระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์ นอกจากนี้ท่านยังมีคุณความดีที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องหลายสถานเช่น

    ๑. ทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง

    ๒. กัสสปะเข้าไปในตระกูล ชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเหมือนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกายวาจาใจในตระกูลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในตระกูลเหล่านั้น เพิกเฉยแล้วตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้นฯ

    ๓. กัสสปะมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณา ในเวลาแสดงธรรมแก่ผู้อื่นฯ

    ๔. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติชอบ โดยยกเอาท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่างฯ

    หน้าที่สำคัญ

    ท่านพระมหากัสสปะนั้นดีแต่ในการปฏิบัติ หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ธรรมเทศนาอันเป็นอนุสาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากธัมมสากัจฉา (การสนทนาในเรื่องธรรมะ) กับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวบริหารพระพุทธดำรัสบ้าง ในเมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ดูท่านไม่ออกหน้านัก เป็นเพียงสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวกองค์สำคัญ เมื่อพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว คือในเวลานั้นท่านเป็นพระสังฆเถระ พอถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ ๗ วัน ท่านประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่ภิกษุชื่อว่า สุภัททะผู้บวชเมื่อตอนแก่ กล่าวคำมิดีมิชอบต่อพระธรรมวินัย ในคราวเมื่อเดินทางจากปาวานคร ปรึกษาหารือในทางที่จะทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นแบบฉบับ พระสงฆ์ก็ยินยอมเห็นพร้อมด้วย ท่านจึงเลือกภิกษุผู้ทำสังคายนาได้ ๕๐๐ องค์ การทำสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลีและพระอานนท์เป็นกำลังในการวิสัชนาพระวินัยและพระธรรม โดยลำดับกัน ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ เรียกว่า ปฐมสังคายนา เมื่อท่านทำสังคายนาเรียบร้อยแล้ว ได้อยู่ที่พระเวฬุวนาราม ในกรุงราชคฤห์ ไม่ประมาท ปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ ดำรงชนมายุสังขารประมาณได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างกลางกุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์มหานคร

    ข้อควรกำหนด

    ปิปผลิมาณพออกบวช ปิปผลิมาณพกับนางภัททกาปีลานี สละสมบัติออกบวชนั้น น่าจะเห็นว่าท่านได้ทำตามธรรมเนียมบวชเป็นสันยาสีของพวกพราหมณ์ คือ ละการครองเรือน ปลงผมจุกเสีย โกนโล้นทั้งศีรษะ นุ่งห่มผ้าสีเหลืองหม่น ได้แก่ผ้ากาสะยะของเรา นุ่งผืนห่มผืน เที่ยวภิกขาจาร เลี้ยงชีวิต เข้าอยู่ป่า มีมรรยาทอันจะพึงรักษา มีภาวนาอันจะพึงบำเพ็ญตามวิธี ไม่ปรากฏว่าได้ตั้งอยู่เป็นหมู่คณะ การบวชอย่างนี้ทำต่อหน้าปุโรหิต คือ ผู้อำนวยการพิธีและแขกผู้มาประชุมเป็นการเด็ดเดี่ยวเทียบกับจรรยาของคนไทย คฤหัสถ์ผู้ได้รับประโยชน์แห่งการครองเรือนแล้ว เจริญด้วยบุตรหลานแต่งให้มีครอบครัว เสร็จกิจธุระในการปลูกฝังเขาแล้ว ตนเองเข้าวัดจำศีลฟังเทศน์มุ่งบุญกุศลต่อไป

    ข้อพิสูจน์ว่าพระมหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ พระมหากัสสปะเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาองค์หนึ่ง เพราะปรากฏว่าการเลือกพระสงฆ์ในการทำปฐมสังคายนา ท่านเลือกเอาแต่ล้วนพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณแตกฉานในพระไตรปิฎก และล้วนมีศักดานุภาพมากที่พระศาสดาทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะนั้น ๆ โดยมาก ล้วนได้วิชชา ๓ และอภิญญา ๖ เป็นต้น ที่เป็นปุถุชนและพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี แม้จะแตกฉานในพระไตรปิฎก ท่านก็ไม่นับเข้าในจำนวนสังคายนา ถึงเป็นพระขีณาสพ ถ้าเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสกก็ไม่นับเข้าในจำนวนสังคายนาเหมือนกัน สรุปความว่า พระมหาเถระเลือกพระสงฆ์สังคายนาครั้งนั้น ๔๙๙ เพื่อไว้โอกาสจะบรรจุพระอานนท์ด้วยองค์หนึ่ง เนื้อความดังสาธกมานี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า พระมหากัสสปะเป็นอรหันต์ปฏิสัมภิทาองค์หนึ่ง

    พระมหากัสสปะได้รับยกย่องพิเศษ คือ พระศาสดาทรงประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน และพระองค์ทรงรับเอาผ้าสังฆาฏิของท่านเป็นทรง และยกย่องไว้ในสมัฏฐาน คือ ฐานะที่มีธรรมเครื่องอยู่เสมอกับพระองค์ และทรงสรรเสริญว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ จนถึงตรัสสอนพวกภิกษุให้ถือเอาเป็นแบบ ข้อที่ได้รับยกย่องเป็นพิเศษเช่นนี้ให้สำเร็จความสันนิษฐานว่า ท่านจะได้เป็นผู้ประดิษฐานธรรมวงศ์ในอนาคต ทำนองคล้ายกับพระองค์มอบมรดก คือ พระศาสนาไว้ท่านปกครองต่อไป เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อทรงเห็นว่าพระราชโอรสองค์ใดควรสืบสันตติวงศ์ต่อไป ก็พระราชทานพระนามเป็นเครื่องหมายตำแหน่งรัชทายาทแก่โอรสนั้น ฉะนั้นฯ..
     
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    พระปชาบดีโคตมีเถรี
    %B9%82%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B5.jpg.1347369895670.jpg
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะผู้รู้ราตรีนาน

    พระปชาบดีโคตมีเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้รู้ราตรีนาน ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไป
    ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
    ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระปชาบดีโคตมีได้เกิดในสกุลอำมาตย์ ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปการะทุกสิ่ง เจริญ รุ่งเรืองร่ำรวย ในพระนครหังสวดี บางครั้ง ท่านพร้อมด้วยบิดามีหมู่ทาสีห้อมล้อม เข้าไปเฝ้าพระนราสภพระองค์นั้น พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ได้เห็นพระพิชิตมารทรงแสดงธรรมอยู่ แล้วเกิดจิตเลื่อมใส ได้เห็นพระผู้นำนรชนทรงตั้งพระภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉาไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน จึงถวายมหาทานและปัจจัยเป็นอันมาก แด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระสงฆ์ ๗ วัน แล้วได้หมอบลงแทบพระบาท มุ่งปรารถนาตำแหน่งนั้น
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ตรัสท่ามกลางบริษัทใหญ่ว่า สตรีใดได้นิมนต์พระผู้นำโลกพร้อมด้วยสงฆ์ให้ฉันตลอด ๗ วันเราจักพยากรณ์สตรีนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
    ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดม ซึ่งทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก สตรีผู้นี้จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักได้เป็นพระสาวิกาของพระศาสดา มีนามว่าโคตมี จักได้เป็นพระมาตุจฉาบำรุงเลี้ยงชีวิตของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จักได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน
    ครั้งนั้น ท่านได้สดับพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว มีใจปราโมทย์ บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยปัจจัยทั้งหลายตราบเท่าสิ้นชีวิต
    ในสมัยว่างพระพุทธเจ้าในระหว่างสมัยพระกัสสปพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย
    จุติจากเทวโลกในพุทธันดรหนึ่งอีก ไปบังเกิดเป็นภรรยาหัวหน้าทาส ผู้ปกครองทาส ๕๐๐ คน พระนางเป็นหัวหน้าทาสี ผู้ปกครองทาสี ๕๐๐ คน ในกรุงพาราณสี ทำงานด้วยกัน พักอยู่ในที่เดียวกัน. (หัวหน้าทาสในเวลานั้น มาเกิดเป็นพระนันทกเถระในพุทธุปปาทกาลนี้)
    ครั้งนั้น สมัยเข้าพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ลงจากเงื้อมเขานันทมูลกะ ไปที่ป่าอิสิปตนะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงแล้วกลับมาป่าอิสิปตนะ ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงดำริว่า เราควรจักขอหัตถกรรมงานช่างฝีมือ เพื่อทำกุฎีสำหรับเข้าจำพรรษา เพราะผู้จะเข้าอยู่จำพรรษาในฤดูฝน ทั้งปฏิบัตินาลกปฏิปทา จำต้องเข้าอยู่ในเสนาสนะ ประจำ ที่มุงบังด้วยเครื่องมุงบัง ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง สมจริงดังพระพุทธดำรัสนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่พึงเข้าอยู่จำพรรษา ภิกษุใดฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น เมื่อ ใกล้ฤดูฝน จวนถึงกาลจะเข้าพรรษา ถ้าได้เสนาสนะนั่นก็บุญละ ถ้าไม่ได้ ก็จำต้องแสวงหาหัตถกรรมทำ เมื่อไม่ได้หัตถกรรม ก็พึงทำเสียเอง ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่ควรเข้าอยู่จำพรรษา นี้เป็นธรรมดาประเพณี เพราะเหตุนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นคิดว่า เราจำจักต้องขอหัตถกรรม จึงห่มจีวรเข้าไปสู่พระนครเวลาเย็น ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเศรษฐี
    นางทาสีหัวหน้า ถือหม้อน้ำกำลังเดินไปท่าน้ำ เห็นเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินเข้าพระนคร
    เศรษฐีรู้เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมาแล้ว ก็กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่มีเวลา โปรดไปเถิด
    ลำดับนั้น ทาสีหัวหน้าถือหม้อน้ำจะเข้าไป เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังเดินจากพระนคร จึงลดหม้อน้ำลง แล้วไหว้อย่างนอบน้อม เผยปากถามว่า ทำไมหนอ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พอเข้าไปแล้วก็ออกไป
    ท่านตอบว่า เราพากันมา ก็เพื่อขอหัตถกรรมงานสร้างกุฎีสำหรับอยู่จำพรรษา
    นางจึงถามว่า ได้ไหมล่ะเจ้าข้า
    ตอบว่า ไม่ได้ดอก อุบาสิกา
    นางถามว่า จำเป็นหรือที่คน ใหญ่ ๆ เท่านั้นจึงจะทำกุฎีนั้นได้ หรือแม้คนยากจนก็ทำได้
    ท่านตอบว่า ใคร ๆ ก็ทำได้
    นางจึงกล่าวว่า ดีละเจ้าข้า พวกดิฉันจักช่วยกันทำ ขอโปรดรับอาหารของดิฉันในวันพรุ่งนี้
    นิมนต์แล้ว ก็ถือหม้อน้ำพักไว้ที่ทางท่าน้ำที่มาแล้ว กล่าวกับนางทาสีทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงอยู่ตรงนี้กันนะ
    เวลาที่ทาสีเหล่านั้นมา ก็กล่าวว่า พวกเจ้าทั้งหลาย พวกเราจักทำงานเป็นทาสีสำหรับคนอื่นกันตลอดไปหรือ หรือว่า อยากจะพ้นจากการเป็นทาสีเขา
    เหล่าทาสีก็ตอบว่า พวกเราอยากพ้นเสียวันนี้นี่แหละ แม่เจ้า
    นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ที่ยังไม่ได้หัตถกรรม เราก็นิมนต์ให้ฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว พวกเจ้าจงให้สามีของพวกเจ้า ให้งานหัตถกรรมเสียวันหนึ่ง
    เหล่าทาสีก็รับว่า ดีละ แล้ว บอกพวกสามี เวลาที่เขาออกมาจากดงเวลาเย็น สามีเหล่านั้นรับปากแล้วมาประชุมกันที่ประตูเรือนทาสีหัวหน้า
    ครั้งนั้น ทาสีหัวหน้าจึงกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้พวกเจ้าจงถวายหัตถกรรมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย แล้วบอกอานิสงส์ พร้อมกับขู่คนที่ไม่อยากจะทำด้วยโอวาทอันหนักหน่วงให้ทุกคนยอมรับ
    รุ่งขึ้น นางถวายอาหารแก่เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วให้การนัดหมายแก่ลูกทาสทุกคน ทันใดนั้นเอง ลูกทาสเหล่านั้นก็พากันเข้าป่า รวบรวมทัพพสัมภาระแล้ว สร้างกุฎีทีละหลังเป็นร้อย ๆ หลัง จัดบริเวณมีที่จงกรมเป็นต้น วางเตียง ตั่ง น้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้นไว้
    แล้วจึงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายให้รับปฏิญญาที่จะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้นตลอดไตรมาส พร้อมทั้งให้จัดเวรถวายอาหาร ทาสีผู้ใดไม่อาจถวายในวันเวรของตนได้ ทาสีหัวหน้าก็นำอาหารจากเรือนตนถวายแทนทาสีผู้นั้น
    ทาสีหัวหน้าบำรุงมาตลอดไตรมาสอย่างนี้ ครั้นสิ้นกาลเข้าพรรษาแล้ว ก็ให้ทาสีคนหนึ่งๆ จัดผ้าสาฎกคนละผืน รวมเป็นผ้าสาฎกเนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน นางให้เปลี่ยนแปลงผ้าสาฎกเนื้อหยาบเหล่านั้น ทำเป็นไตรจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปสู่เขาคันธมาทน์ทางอากาศทั้งที่ทาสีเหล่านั้นเห็นอยู่นั่นแล.
    ทาสีเหล่านั้นทุกคนทำกุศลจนตลอดชีวิต ก็บังเกิดในเทวโลก ส่วนนางทาสีผู้เป็นหัวหน้า เมื่อจุติจากภพนั้นแล้ว ก็มาบังเกิดในเรือนของหัวหน้าช่างทอหูก ไม่ไกลกรุงพาราณสี ต่อมาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ โอรสพระนางปทุมวดี (ต่อมาในพุทธุปปาทกาลนี้ พระนางปทุมวดีมาบังเกิดเป็น พระอุบลวรรณาเถรี) ที่พระเจ้ากรุงพาราณสีนิมนต์ไว้มาถึงประตูพระราชนิเวศน์ไม่พบคนใด ๆ ที่จะดูแล จึงกลับออกไปทางประตูกรุง ไปยังหมู่บ้านช่างทอหูกนั้น หญิงผู้นั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นึกเอ็นดู ก็ไหว้หมดทุกองค์แล้วถวายอาหาร พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ไปสู่เขาคันธมาทน์อย่างเดิม.
    ทาสทั้งพันคนนั้นที่ได้ทำกุศลมาด้วยกัน เมื่อตายแล้วก็เกิดในสวรรค์. นางทาสีทั้ง ๕๐๐ คนนั้น ในบางทีก็เกิดเป็นภรรยาของทาสทั้ง ๕๐๐ คนนั้น. บางทีแม้ทั้งหมดก็เกิดเป็นภรรยาของทาสผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น
    ต่อมา ในกาลครั้งหนึ่งหัวหน้าทาสเคลื่อนจากเทวโลกมาบังเกิดในราชตระกูล. เทวกัญญาทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก เมื่อเจ้าชายนั้นได้เสวยราชย์ก็นำหญิงเหล่านั้นไปสู่พระราชวังเป็นนางสนม
    พวกนางท่องเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในวัฎสงสารอยู่โดยทำนองนี้ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา หัวหน้าทาสก็มาเกิดเป็นพระนันทกเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี พวกนางทาสทั้ง ๕๐๐ ก็มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ในโกลิยนครบ้าง ในเทวทหนครบ้าง.ทั้งหมดต่างก็ได้เป็นชายาของเจ้าชายในพระราชวงศ์ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดกรณีการวิวาทระหว่างสองนครเรื่องการแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิณี จนจะเกิดสงครามระหว่างสองพระนครขึ้น จนพระผู้มีพระภาคทรงต้องออกมาสงบศึก กษัตริย์ทั้งสองพระนครจึงได้ถวายเจ้าชายในราชตระกูล นครละ ๕๐๐ องค์ไห้ออกบวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาค รายละเอียดในเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไป
    มาเป็นราชธิดาในโกลิยวงศ์ในสมัยพระโคตมพุทธเจ้า
    ในพุทธุปปาทกาลนี้ นางผู้เป็นหัวหน้าทาสีในครั้งนั้นก็มาถือปฏิสนธิในพระราชวังของพระเจ้ามหาสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด เป็นกนิษฐภคินีของพระนางมหามายา ผู้เป็นพระพุทธมารดา ในวันขนานพระนาม พราหมณ์ทั้งหลายได้รับสักการะแล้ว เห็นพระลักษณสมบัติของพระนางแล้ว ได้พยากรณ์ว่า ถ้าพระนางนี้จักได้พระธิดา พระธิดาจักเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าจักได้พระโอรส พระโอรสจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระปชาของพระนางจักเป็นผู้ยิ่งใหญ่ โดยประการแม้ทั้งสองนั้นเทียว ดังนี้ พระญาติทั้งหลายจึงได้ขนานพระนามของพระนางว่า ปชาบดี
    พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงมงคลอภิเษกกับพระนางทั้งสองพระองค์ เวลาที่ทรงเจริญวัยแล้วทรงนำไปอยู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ต่อมา พระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี ในวันที่ ๗ ตั้งแต่วันที่พระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว พระนางมหามายาเทวีก็สวรรคต บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็ทรงสถาปนาพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระมหาสัตว์ไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี เวลานั้น นันทกุมารก็ประสูติ พระมหาปชาบดีนี้ ทรงมอบพระนันทกุมารแก่พระพี่เลี้ยงนางนมให้เป็นผู้ดูแลพระนันทกุมารผู้เป็นพระราชโอรสแท้ ๆ ส่วนพระองค์เองทรงประคบประหงมบำรุงพระโพธิสัตว์ด้วยพระองค์เอง
    พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระศาสนา
    ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากวังในวันที่พระนางยโธราพิมพาประสูติพระโอรสคือ ราหุลราชกุมาร บำเพ็ญเพียรจนเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ทรงแสดงพระธรรมจักรกับกัปปวัตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่อมา ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ "ยสะ" ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อแต่นั้นมา ๒-๓ วัน ทรงแสดงธรรมโปรดสหายของท่านยสะทั้ง ๕๔ คน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
    จากนั้นก็ได้ส่งพระสาวกทั้งหลายออกไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้ทรงพบชายหนุ่มจำนวน ๓๐ คน เป็นสหายกันเรียกว่า ภัททวัคคีย์ ทรงแสดงธรรมโปรดให้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงส่งไป ประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง ๓๐ องค์
    ตอนบ่ายวันนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลนี้พระองค์ได้ทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารทั้ง ๑,๐๐๐ รูปให้ได้บรรลุมรรคผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
    จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงพาพระอรหันต์ผู้เป็นชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูป นั้นเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ได้ทรงให้ปฏิญญาไว้เมื่อก่อนที่จะทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชศรัทธาถวายพระเวฬุวัน นับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
    ต่อมาถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ปริพาชกซึ่งเป็นสหายกัน ๒ คน คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมทั้งบริวารรวมทั้งตัวเองด้วยจำนวน ๒๕๐ คน ที่พระเวฬุวันวิหาร ประทานเอหิภิกขุสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น แต่ต่อมาไม่นานก็ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปติสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก
    หลังจากที่ได้ทรงเปิดประชุมจาตุรงคสันนิบาต ในตอนบ่ายแห่งวันเพ็ญเดือนมาฆะ และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ต่อพระสงฆ์อรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในที่ประชุมนั้นแล้ว ต่อจากนั้นมา พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระอริยสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์นั้นออกไปประกาศพระพุทธศาสนา
    พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว
    กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์ และเป็นอุบาสกอุบาสิกาจนได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
    พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงทราบกิตติศัพท์นั้นแล้ว จึงทรงส่งทูตมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ คณะทูตทั้งหมดเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เลื่อมใส ขอบวชเป็นพระภิกษุและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกองค์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ส่งทูตมาอย่างนี้อีก ๘ ครั้ง ทุกครั้งก็เป็นเช่นเดิมคือคณะทูตทั้งหมดออกบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และไม่มีผู้ใดทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธองค์จึงยังมิได้เสด็จ ต่อมา ย่างเข้าปีที่ ๒ นับแต่ตรัสรู้ พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงส่งทูตมาอาราธนาอีก โดยทรงมอบให้กาฬุทายีอำมาตย์เป็นหัวหน้าคณะทูตที่มาคราวนี้ก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะ
    ครั้นย่างเข้าฤดูร้อน พระกาฬุทายีจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา พระพุทธองค์พร้อมพระอริยสงฆ์จำนวน ๒ หมื่นรูป จึงได้เสด็จไปโดยมีพระกาฬุทายี เป็นผู้นำทางเสด็จดำเนินเป็นเวลา ๖๐ วันก็ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธรามใกล้ป่ามหาวันซึ่งพระญาติจัดไว้ถวาย ได้ทรงแสดงเวสสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใส แล้วพระญาติพระวงศ์ต่างก็ลาเสด็จกลับโดยไม่มีแม้แต่พระองค์เดียวที่จะนิมนต์พระผู้มีพระภาคเพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น
    พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตภายในกรุงกบิลพัสดุ์
    วันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสองหมื่นองค์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ มหาชนก็เล่าลือกันว่า ได้ยินว่า สิทธัตถราชกุมาร เที่ยวเดินไปตามบ้านต่าง ๆ เพื่อขอข้าว พระนางภัททากัจจานาได้ยินข่าวดังนั้นก็ทรงพระดำริว่า แต่ก่อน พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยวอทองอย่างยิ่งใหญ่ในพระนครนี้แหละ บัดนี้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือบาตรเที่ยวไปเพื่อขอข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดสีหสัญชรทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จพระดำเนินไปตามถนน จึงเสด็จไปกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปตามบ้านเรือนเพื่อขอข้าว
    พระราชาทรงสลดพระทัย ทรงเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อาย เพื่ออะไร จึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว ทำไมพระองค์จึงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร
    พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร อันนี้เป็นวงศ์ เป็นจารีตของอาตมภาพ
    พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งหลายมีวงศ์เป็นกษัตริย์มหาสมมตราชมิใช่หรือ ก็ในวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนั้น แม้กษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่าเที่ยวไปเพื่อภิกขาจาร ย่อมไม่มี
    พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระกัสสปะ เป็นวงศ์ของอาตมภาพ และพระพุทธเจ้าอื่น ๆ นับได้หลายพันได้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจารเท่านั้น
    ตรัสพระคาถาบทหนึ่งประทานแก่พระพุทธบิดา ในขณะที่ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นแล เมื่อสิ้นพระคาถานั้น พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนิมนต์ให้เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาท
    พระนางมหาปชาบดีโคตมีบรรลุพระโสดาบัน
    ในขณะนั้น พระนางมหาปชาบดีทรงเฝ้ารับเสด็จอยู่บนพระมหาปราสาทนั้น ณ ที่นั้นทรงตรัสพระคาถาอีกบทหนึ่งว่า ธมฺมญฺจเร พึงประพฤติธรรม เป็นต้น.ยังพระนางมหาปชาบดี ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ยังพระราชาให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล จากนั้นพระราชาทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต
    พระนางมหาปชาบดีถวายผ้าห่ม
    จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงเห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทรงพระดำริว่า พระอัตภาพของบุตรเรางดงามหนอดังนี้ ลำดับนั้น พระนางก็เกิดพระโสมนัสเป็นกำลัง แต่นั้น ทรงพระดำริว่าเมื่อบุตรของเราอยู่ในวังตลอด ๒๙ ปี เราก็ไม่เคยถวายสิ่งใด แม้สักว่าผลกล้วยเพียงผลเดียวนั้นเทียว บัดนี้เราจักถวายผ้าจีวรแก่บุตรนั้น.และยังทรงคิดต่อไปอีกว่า ก็ในกรุงราชคฤห์นี้มีผ้าราคาแพงมากมาย แต่การที่จะถวายผ้าที่ซื้อมาเหล่านั้นไม่ทำให้เราดีใจ สู้ผ้าที่เราทำเองนั้นไม่ได้ เราจำจะต้องทำผ้าเองถวาย ดังนี้.
    ดังนั้นพระนางจึงทรงให้สร้างโรงงานทอผ้าในภายในพระราชวังนั้นเทียว ทรงให้เรียกช่างศิลป์ทั้งหลาย พระราชทานเครื่องบริโภค ขาทนียะและโภชนียะของพระองค์นั้นแลให้แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้วทรงให้ทอผ้า.พระนางพร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนม เสด็จไปทอผ้าตามสมควรแก่กาลเวลา ก็ในวันนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี เสด็จมาสู่โรงงานทอผ้าของศิลปินทั้งหลาย ทรงให้นำฝ้ายมาจากตลาด ทรงขยำ ทรงยีด้วยพระหัตถ์ กรอด้ายอย่างละเอียด แล้วทอเป็นผืนผ้า
    ในกาลที่ผ้านั้นทอเสร็จแล้ว ทรงทำการสักการะใหญ่แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้ว ทรงใส่ผ้าคู่หนึ่งในหีบอันมีกลิ่นหอม ทรงให้ถือผ้า ทูลแด่พระราชาว่า หม่อมฉันจักถือผ้าจีวรไปถวายแก่บุตรเรา พระราชาตรัสสั่งให้เตรียมทางเสด็จ ราชบริวารทั้งหลายปัดกวาดถนน ตั้งหม้อน้ำเต็ม ยกธงผ้าทั้งหลาย ตกแต่งทางตั้งแต่พระทวารพระราชวังจนถึงพระวิหารนิโครธาราม ให้เกลื่อนกล่นด้วยดอกไม้ ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีทรงประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง พร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนมแวดล้อมแล้ว ทรงทูนหีบผ้า เสด็จไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ เป็นของหม่อมฉัน หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด ฯ
    เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์
    พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันสามารถนำผ้าจีวรทั้งหลายจากคลังผ้าถวายแก่ภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้าง แต่ผ้าใหม่คู่นี้หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับผ้าใหม่คู่นั้นของหม่อมฉันเถิด
    พระนางกราบทูลอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสห้ามอย่างนั้นทั้งสามครั้ง
    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่ที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ แก่พระภิกษุสงฆ์เล่า
    ตอบว่า เพราะเพื่อทรงอนุเคราะห์พระมารดา ก็ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระดำริว่า เจตนา ๓ อย่างคือ บุพเจตนา มุญจนเจตนา อปราปรเจตนา ของพระนางมหาปชาบดีนี้ เกิดขึ้นปรารภเราแล้ว จงเกิดขึ้นปรารภพระภิกษุสงฆ์บ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตนาทั้ง ๖ อย่างก็จะรวมเป็นอันเดียวกัน จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น ดังนี้
    ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายแก่สงฆ์ทรงมุ่งหมายอะไร
    ตรัสอย่างนั้น เพื่อชนรุ่นหลัง และเพื่อทรงให้เกิดความยำเกรงในสงฆ์ด้วย นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ตัวเรานั้นดำรงอยู่ไม่นาน แต่ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ในพระภิกษุสงฆ์ ชนรุ่นหลังจงทำความยำเกรงในสงฆ์ให้เกิดขึ้น ดังนี้ จึงทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายสงฆ์.ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่หนึ่งที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ให้แก่สงฆ์ ทักขิไณยบุคคลชื่อว่า สงฆ์ เพราะฉะนั้น ชนรุ่นหลังทำความยำเกรงให้เกิดขึ้นในสงฆ์ จักเห็นว่าปัจจัยสี่เป็นสิ่งพึงถวายสงฆ์ เมื่อไม่ลำบากด้วยปัจจัยสี่ สงฆ์ก็จักเรียนพระพุทธวจนะ ทำสมณธรรม เมื่อเป็นอย่างนั้น ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้
    พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงพรรพชาเป็นพระภิกษุณี
    ต่อมา พระศาสดา ทรงอาศัยกรุงเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงทำให้แจ้งพระอรหัตแล้วปรินิพพาน ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร.
    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดี เกิดว้าเหว่พระหฤทัยปรารถนาจะทรงผนวช ก็ประจวบเกิดเหตุที่ชาวพระนครทั้ง ๒ คือ เมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะ ทะเลาะกันในเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีที่ไหลผ่านระหว่างนครทั้งสอง จนถึงขั้นจะรบกัน พระศาสดาจึงได้เสด็จไปเทศนาอัตตทัณทสูตรโปรดหมู่พระญาติในระหว่างเมืองทั้งสองให้เข้าใจกัน เจ้าทั้งหลายทรงเลื่อมใสแล้วจึงได้มอบถวายพระกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ให้บวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาค ครั้นเมื่อบวชแล้ว พระชายาของท่านเหล่านั้นก็ได้ส่งข่าวไปยังพระภิกษุหนุ่มเหล่านั้น ทำให้ท่านเหล่านั้นเกิดความไม่ยินดีในเพศสมณะ. พระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเกิดความเบื่อหน่ายในสมณวิสัย จึงทรงนำภิกษุหนุ่ม ๕๐๐ รูปเหล่านั้นไปสู่สระชื่อว่ากุณาละ ประทับนั่งบนแผ่นหินที่ทรงเคยประทับนั่งในครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นนกดุเหว่า. ทรงเทศนาด้วยเรื่องกุณาลชาดกเพื่อบรรเทาความไม่ยินดีของภิกษุเหล่านั้นลงจบเทศนาพระภิกษุหนุ่มทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงนำกลับมาสู่ป่ามหาวันอีกครั้งหนึ่ง ทรงกระทำพระภิกษุเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล
    ฝ่ายพระชายาของพระภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้ส่งข่าวไปเพื่อจะดูใจพระภิกษุเหล่านั้นว่ายังปรารถนาในเพศคฤหัสถ์อยู่หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบไปว่า พวกเราไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน. พระนางเหล่านั้นทรงดำริว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่พวกเราจะกลับไปยังเรือน เราจะไปเข้าเฝ้าพระนางมหาปชาบดีเพื่อขออนุญาตบรรพชา แล้วจักออกบวช. พระชายาทั้ง ๕๐๐ นางจึงเข้าไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดีทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวชเถิด
    พระนางมหาปชาบดีเองก็ทรงปรารถนาที่จะออกบวชอยู่แล้ว จึงได้พาสตรีเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
    พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวช
    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ในสักกะชนบท ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว
    พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจ การที่สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย
    แม้ครั้งที่สอง และ ครั้งที่สาม ที่พระนางทูลอ้อนวอนต่อพระผู้มีพระภาคเพื่อทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงห้ามเสียทั้งสามครั้ง
    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง พลางถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ เสด็จกลับไป ฯ
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ ตาม พระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จหลีกจาริกทางพระนครเวสาลี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ข่าวว่า พระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น
    พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือเพศบรรพชาด้วยพระองค์เอง
    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ปลงพระเกสา ทรงพระภูษาย้อมฝาด พร้อมด้วยนางสากิยานีมากด้วยกัน เสด็จตามพระพุทธองค์ไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงเมืองเวสาลี กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน โดยลำดับ เวลานั้นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ได้ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก
    ได้ยินว่าพระนางมหาปชาบดีได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรานี้ ทั้ง ๆ ที่พระตถาคตไม่ทรงอนุญาตแล้ว ก็ถือเพศบรรพชาด้วยตนเองทีเดียว แล้วก็ความที่เราถือเพศบรรพชาอย่างนี้ เกิดปรากฏเป็นที่ทราบไปทั่วชมพูทวีปแล้ว ถ้าพระศาสดาทรงอนุญาตบรรพชาไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี แต่ถ้าพระองค์จักไม่ทรงอนุญาตไซร้ จักมีความครหาอย่างใหญ่หลวง พระนางทรงปริวิตกอย่างนี้จึงไม่อาจจะเข้าไปยังวิหาร ได้ยืนทรงกรรแสงอยู่.
    ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก จึงได้ถามถึงสาเหตุกับพระนาง
    พระนางตอบว่า พระอานนท์เจ้าข้า เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
    พระอานนท์กล่าวว่า ดูกรโคตมี ถ้าเช่นนั้น พระนางจงรออยู่ที่นี่แหละ สักครู่หนึ่ง จนกว่าอาตมาจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้
    พระอานนทเถระทูลขออนุญาตให้สตรีบวชได้ต่อพระศาสดาถึง ๓ ครั้ง
    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น มีพระบาททั้ง ๒ พอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก ด้วยน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ขอประทานวโรกาส ขอสตรีสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เถิด พระพุทธเจ้าข้า
    พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย
    แม้ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม ที่ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลอ้อนวอนต่อพระผู้มีพระภาค แต่พระองค์ก็ยังทรงห้ามเสียทั้งสามครั้ง
    พระอานนท์ทูลขออนุญาตโดยอ้างเหตุผลแห่งความสามารถของสตรี
    ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว ผิฉะนั้น เราพึงทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้วโดยปริยายอื่น
    ท่านพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญมาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว สามารถจะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลได้หรือไม่ พระเจ้าข้า
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว สามารถทำให้แจ้งแม้โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้ ฯ
    พระอานนทเถระทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ถ้าสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สามารถเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้ พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก ทรงประคับประคอง เลี้ยงดู ทรงถวายขีรธารา เมื่อพระชนนีสวรรคต ได้ให้พระผู้มีพระภาคเสวยขีรธารา ขอประทานวโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
    ทรงกำหนดครุธรรม ๘ ประการเป็นเงื่อนไข

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงรับครุธรรม ๘ ประการ นั่นแหละเป็นอุปสมบทของพระนาง คือ :

    ๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
    ดูกรอานนท์ ก็ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละจงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง ฯ
    พระอานนทเถระทูลเรื่องครุธรรม ๘ ประการต่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี
    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์รับทราบครุธรรม ๘ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ แล้วเข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี ชี้แจงว่า ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละจักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง
    พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาว หรือชายหนุ่ม ที่ชอบการแต่งกาย เมื่ออาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวนมาแล้ว ก็พึงประคองรับด้วยมือทั้งสอง ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้าฉะนั้น ฯ
    เหตุให้พรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่นาน
    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคอุปสมบทแล้ว
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น
    ดูกรอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวก โจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย
    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงใน นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือน เพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน
    ดูกรอานนท์ บุรุษกั้น ทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
    พุทธานุญาตให้อุปสมบทภิกษุณี
    ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวาย บังคม ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทีนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนำเหตุที่เกิดนั้น มาบัญญัติเป็นพระพุทธานุญาต โดยทรงมีรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี ฯ
    เหล่าพระภิกษุณีเข้าใจการอุปสมบทของพระมหาปชาบดีโคตมีคลาดเคลื่อน
    เมื่อได้ทรงมีพระพุทธบัญญัติอย่างนั้นแล้ว เหล่าสตรีอื่นก็ได้อุปสมบทโดยพระภิกษุเป็นพระภิกษุณี ตามที่มีพระพุทธานุญาต ต่อมาภิกษุณีเหล่านั้นได้กล่าวกะพระมหาปชาบดีโคตมีว่า พระแม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี
    ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุณีทั้งหลายประพฤติรังเกียจอยู่ย่อมไม่ทำอุโบสถ ไม่ทำปวารณาร่วมกับพระนางเลย
    ลำดับนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาทแล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว กล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ภิกษุณีเหล่านั้นพูดกะดิฉันอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่าง นี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
    พระศาสดาทรงสดับคำของท่านพระอานนท์แล้ว จึงตรัสว่า "ครุธรรม ๘ ประการ เราให้แล้วแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เราเองเป็นอาจารย์ เราเองเป็นอุปัชฌายะของพระนาง
    ดูกรอานนท์ พระมหาปชาบดีโคตมี รับครุธรรม ๘ ประการ แล้วในกาลใด พระนางชื่อว่าอุปสมบทแล้วในกาลนั้นทีเดียว
    ชื่อว่าความรังเกียจในพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้เว้นแล้วจากทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น อันเธอทั้งหลายไม่ควรทำ"
    พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตพรที่พระเถรีทูลขอ
    ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะทูลขอ พรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่
    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลเรื่องดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาค
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ข้อที่ตถาคตจะอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคามนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ที่มีธรรมอันกล่าวไม่ดีแล้วเหล่านี้ ยังไม่กระทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม ก็ไฉนเล่า ตถาคตจักอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ
     
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    %B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B5.jpg.1347444825181.jpg

    พระสกุลาเถรี เอตทัคคะผู้มีทิพยจักษุ

    พระสกุลาเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้
    ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต
    ครั้งนั้น นางเกิดในเมืองหงสวดีมีนามว่าขัตติยนันทนา มีรูปสวยงดงามอย่างยิ่งเป็นที่พึงใจ เป็นพระธิดาของพระราชาผู้ใหญ่ พระนามว่าอานันทะ เป็นพระภคินีต่างพระมารดาแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ห้อมล้อมด้วยราชกัญญาทั้งหลาย ประดับด้วยสรรพาภรณ์ เข้าไปเฝ้าพระวีรเจ้า แล้วได้ฟังธรรมเทศนา
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตั้งภิกษุณีองค์หนึ่งใน ตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุณีผู้มีทิพยจักษุ ในท่ามกลางบริษัทสี่ พระนางได้ฟังพระพุทธพจน์นั้นแล้ว มีความร่าเริง ถวายทานและบูชาพระสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง
    พระบรมศาสดาได้ตรัสกะพระนางว่า ดูกรขัตติยนันทนา เธอจักได้ตำแหน่งที่ตนปรารถนา ตำแหน่งที่เธอ ปรารถนานี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป ในกัปที่หนึ่งแสนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดม มีสมภพในวงศ์พระเจ้า โอกกากราชจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักเป็นพระสาวิกา ของพระศาสดามีนามว่าสกุลา
    เธอกระทำกุศลกรรมอย่างยิ่งตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็เวียนว่ายอยู่ใน ภพภูมิเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป
    ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
    ในภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามกัสสปะ ครั้งนั้นนางได้บวชปริพาชิกา ถือลัทธิเที่ยวไปผู้เดียว เที่ยวไปเพื่อภิกษา ก็ได้น้ำมันมาหน่อยหนึ่ง บังเกิดมีใจผ่องใส เอาน้ำมันนั้นมาตามประทีปบูชาพระเจดีย์ชื่อสัพพสังวร แห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
    ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้แล้วนั้นและด้วยการตั้งเจต์จำนง ไว้ เมื่อนางละร่างกายมนุษย์นั้นแล้ว ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอำนาจบุญกรรมนั้นเ เมื่อนางไปเกิดในที่ใดๆ ประทีปเป็นอันมาก ก็สว่างไสวแก่นางในที่นั้นๆ เมื่อนางปรารถนาจะได้สิ่งที่อยู่นอกฝา หรือสิ่งที่อยู่นอกภูเขาศิลา ก็เห็นได้ทะลุปรุโปร่ง นี้เป็นผลแห่ง การถวายประทีป นางมีนัยน์ตาแจ่มใส รุ่งเรืองด้วยยศ มีศรัทธา มีปัญญา นี้ก็เป็นผลแห่งการถวายประทีป
    นางจุติจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นผู้มีทิพยจักษุบริสุทธิ์ดี ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกเท่านั้นตลอดพุทธันดรหนึ่ง
    ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
    ในพุทธุปปาทกาลนี้ นางมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันมีทรัพย์มากมาย แห่งกรุงสาวัตถี เมื่อเติบใหญ่ก็ได้แต่งงานมีบุตรและธิดา ในครั้งนั้น เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ลืมเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ซึ่งมีราคา ๙ โกฏิไว้ในพระอาราม และพระอานนท์ได้เก็บรักษาไว้ เมื่อนางวิสาขาทราบว่าพระเถระเก็บรักษาไว้จึงไม่รับคืนแต่ได้ให้นำออกขายและนำทรัพย์ที่ได้มาซื้อที่ดิน และออกเงินส่วนตัวอีก ๙ โกฏิเพื่อสร้างพระอาราม ครั้นเมื่อสร้างพระอารามเสร็จ จึงได้ใช้ทรัพย์อีก ๙ โกฏิเพื่อฉลองพระอาราม
    ในวันงานถวายพระอารามแต่พระผู้มีพระภาคนั้นเอง นางสกุลาก็มีโอกาสได้ฟังธรรมบังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสิกาในคราวนั้น
    ต่อมาก็ได้มีโอกาสฟังธรรมในสำนักของพระภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพรูปหนึ่ง บังเกิดดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วจึงได้สละบ้านเรือน บุตรและธิดา ออกบวช แต่เนื่องจากอายุยังไม่ครบบวช จึงเป็นได้เพียงนางสิกขมานา และนางก็บำเพ็ญเพียร ทำมรรคเบื้องบนให้เกิดขึ้นโดยการปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา ได้ตัดขาดซึ่งอาสวะทั้งหลาย ซึ่งจะต้องทำลายด้วยอนาคามิมรรค บรรลุอนาคามิผล และเมื่ออายุครบ ก็ได้บวชเป็นภิกษุณี บวชแล้วเริ่มเจริญวิปัสสนา เพียรพยายามอยู่ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต มีความชำนาญใน ฤทธิ์และทิพโสตธาตุ รู้วาระจิตของผู้อื่น
    ทรงแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะผู้มีทิพยจักษุ
    ภายหลัง พระศาสดาประทับนั่ง ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวก ภิกษุณีไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระสกุลาเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่า ภิกษุณีทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ
     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    พระปุณณชิเถระ
    %B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%93%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg.1347371363997.jpg

    พระปุณณชิเถระ

    พระปุณณชิเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรก ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้รับการบวช จากพระบรมศาสดา ต่อจากพระยสเถระ ถ้าถือตามลำดับชื่อที่ปรากฏในพระบาลีท่านก็เป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๙ ของโลก

    นอกจากประวัติที่ปรากฏอยู่ในเรื่องพระยสเถระแล้ว ประวัติอื่น ๆ ของท่านไม่มีปรากฏอยู่ในที่อื่นอีกเลย

    กำเนิดเป็นปุณณชิมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านเกิดเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี มีชื่อว่าปุณณชิ เป็นหนึ่งในบรรดาสหายผู้เป็นคฤหัสถ์ทั้ง ๔ ของ ยสกุลบุตรผู้ เป็นบุตรของนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวปายาส ผสมน้ำนมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าในเช้าวันวิสาขปุรณมี เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงตัดสินพระทัยเลิกกระทำทุกรกิริยา และในคืนนั้นก็ทรงบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นเมื่อวันหนึ่งยสกุลบุตรแลเห็นเหล่านางผู้เป็นบริวารนอนเกลื่อนกลาดอยู่บนเรือน ประกอบไปด้วยกิริยาอันไม่น่าดู น่าเกลียดเหมือนซากศพในป่าช้า บังเกิดความเบื่อหน่ายเปล่งอุทานว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่วุ่นวายหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่ขัดข้องหนอ.จึงได้เดินเข้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นว่า ยสะ ที่นี่แลไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ยสะ เธอจงมานั่งเถิด เราจักแสดงธรรม ให้เธอฟัง ครั้นจบพระธรรมเทศนาแล้ว ยสกุลบุตรก็บรรลุโสดาบัน

    ในวันรุ่งขึ้นเมื่อเศรษฐีบิดาของยสกุลบุตรออกมาตามบุตรที่หายไปจากบ้าน มาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบพระพุทธองค์ ซึ่งทรงแสดงฤทธิ์มิให้เศรษฐีเห็นยสกุลบุตร แล้วได้แสดงธรรมโปรด จนกระทั่งเศรษฐีเกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล บังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะทั้งสาม นับเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๓เป็นคนแรกในโลก.ส่วนยสกุลบุตรเมื่อจบพระธรรมเทศนาก็บรรลุพระอรหัต จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงบันดาลให้ท่านเศรษฐีเห็นพระยสกุลบุตร และชี้แจงจนท่านเศรษฐีเห็นชอบให้ยสกุลบุตรได้บวช และได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อเศรษฐีคฤหบดีกลับไปไม่นาน ยสกุลบุตรก็ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์จึงทรงโปรดให้ยสกุลบุตรได้บวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วได้ตรัสว่า ธรรมเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุนั้น

    วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จพร้อมด้วยท่านพระยสไปยังเรือนของท่านเศรษฐีผู้คหบดี ครั้นถึงแล้วจึงทรงเทศนาโปรดนางสุชาดาและภรรยาเก่าของท่านพระยส เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านทั้งสองก็บรรลุโสดาบัน ประกาศตนเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ นับเป็นอุบาสิกาคู่แรกของโลกที่กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นชุดแรกในโลก ครั้งนั้น มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสได้อังคาสพระผู้มีพระภาคและท่านพระยส ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนๆ จนให้ห้ามภัต ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดา และภรรยาเก่าของท่านพระยส เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะกลับไป

    สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของพระยสออกบรรพชา

    สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยส คือ วิมล ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๔ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๔ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๔ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

    พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๔ เหล่านั้น

    ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์

    สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ องค์

    สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา

    สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยส เป็นชาวชนบทจำนวน ๕๐ คน เป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๕๐ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๕๐ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๕๐ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

    พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๕๐ เหล่านั้น

    ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์

    สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์

    บุรพกรรมของชน ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นต้น

    วันหนึ่งพระศาสดา ทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้วทรง แสดงพระปาติโมกข์ เหล่าภิกษุบางพวกจึงกล่าวติเตียนว่า

    “พระศาสดา ประทานตำแหน่งแก่พระอัครสาวกทั้งสองโดยเห็นแก่หน้า พระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชเป็นพวกแรกสุด พ้นจากพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์ พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น แต่พระ ศาสดาทรงละเลยภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกหน้า ประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาเหล่านั้น”

    พระศาสดาตรัสถามภิกษุทั้งหลายถึงเรื่องที่พวกภิกษุเหล่านั้นพูดกันอยู่ ภิกษุทั้งหลายทูลเรื่องที่ตนพูดกัน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราหาเลือกหน้าให้ตำแหน่งแก่พวกภิกษุไม่ แต่เราให้ ตำแหน่งที่แต่ละคน ๆ ตั้งจิตปรารถนาไว้แต่ปางก่อนแล้ว ๆ นั่นแล” และพระศาสดาทรงเล่าถึงบุรพกรรมของชนเหล่านั้น โดยเล่าถึงบุรพกรรมของยสกุลบุตรและสหายอีก ๕๔ คนไว้ดังนี้

    กลุ่มพระยสกุลบุตรทั้ง ๕๕ คนนั้น เคยตั้งจิตปรารถนาพระอรหัต ไว้ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และปฏิบัติทำกรรมที่เป็นบุญไว้เป็นอันมาก ครั้งหนึ่งในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เขาเหล่านั้นเป็นสหายกัน ร่วมเป็นพวกกันทำบุญโดยเที่ยวจัดแจงศพคนไร้ที่พึ่ง วันหนึ่ง พวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงตกลงกันว่าจะเผาเสีย จึงนำศพนั้นไปป่าช้า เมื่อนำศพมาถึงป่าช้าแล้ว ยสกุลบุตรกับเพื่อนอีก ๔ คน จึงอยู่ที่ป่าช้านั้นเพื่อจัดการเผาศพ ส่วนเพื่อนที่เหลืออีก ๕๐ คนก็กลับไป

    ในขณะที่ทำการเผาศพหญิงตายทั้งกลมอยู่นั้น ยสกุลบุตรได้ใช้หลาวเขี่ยศพนั้นเพื่อพลิกศพกลับไปกลับมาให้โดนไฟทั่ว ๆ ขณะที่เอาไม้เขี่ยร่างศพอยู่นั้นก็ได้พิจารณาศพที่ถูกเผา ได้อสุภสัญญาแล้ว เขาจึงแสดงอสุภสัญญาแก่สหายอีก ๔ คนนั้นว่า “นี่เพื่อน ท่านจงดูศพนี้ มีหนังลอกแล้วในที่นั้น ๆ ดุจรูปโคด่าง ไม่สะอาด เหม็น น่าเกลียด ” สหายทั้ง ๔ คนนั้นก็ได้อสุภสัญญาในศพนั้น แล้วคนทั้ง ๕ นั้นเมื่อเผาศพเสร็จแล้วจึงได้นำอสุภสัญญาที่ปรากฏแก่ตนนั้น ไปบอกแก่สหายที่เหลือ ส่วนยสกุลบุตรนั้นเมื่อกลับถึงเรือนแล้วก็ได้บอกแก่มารดาบิดาและภรรยา คนทั้งหมดนั้นก็เจริญอสุภสัญญาแล้ว

    นี้เป็นบุพกรรมของคน ๕๕ คน มียสกุลบุตรเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้นในสมัยปัจจุบัน ความที่เห็นว่าในเรือนของตน ที่เกลื่อนไปด้วยด้วยสตรีเป็นดุจป่าช้าจึงเกิดแก่ยสกุลบุตร และด้วยอุปนิสัยสมบัติแห่งอสุภสัญญาที่เคยได้มานั้น การบรรลุคุณวิเศษจึงเกิดขึ้นแก่พวกเขาทั้งหมด คนเหล่านี้ได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้วเหมือนกัน ด้วยประการอย่างนี้ หาใช่พระบรมศาสดาเลือกหน้าแต่งตั้งให้ไม่
     
  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    %B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg.1347372045216.jpg
    พระพระวัปปเถระ

    พระวัปปเถระที่จะกล่าวในถึงท่านในเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ เป็นภิกษุรูปที่สองในหมู่ปัญจวัคคีย์ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ได้ดวงตาเห็นธรรม

    ท่านเป็นภิกษุรูปที่ ๒ แห่งพุทธกาลนี้ การได้เป็นหนึ่งในพระภิกษุกลุ่มแรกที่บรรลุพระอรหันต์ในโลกนี้ ก็เป็นไปตามที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้และได้รับการพยากรณ์จากพระปทุมุตตรพุทธเจ้าไว้ ตามเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเกิดอยู่ในตระกูลสูง ในพระนครหงสาวดี เมื่อเติบใหญ่ขึ้นได้ฟังผู้คนกล่าวคำชื่นชมว่า พระเถระรูปโน้น และรูปโน้น ได้เป็นผู้รับพระธรรมของพระศาสดาเป็นพวกแรกก็ปรารถนาจะเอยู่ในฐานะเช่นนั้นบ้าง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตั้งความปรารถนาต่อพระองค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในอนาคตกาล ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ในบรรดาภิกษุผู้รับพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นพระองค์เป็นพวกแรกดังนี้ แล้วประกาศการถึงสรณคมน์ คือการเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ที่พึ่ง ที่ระลึก ในสำนักของพระศาสดา ท่านได้ทำบุญจนตลอดชีวิต ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปเกิดไปตายในภูมิเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    ในพุทธุปบาทกาลนี้เกิดเป็นบุตรพราหมณ์ที่ชื่อว่า "วาเสฏฐะ" ในกรุงกบิลพัสดุ์ ตัวท่านเองได้รับการขนานนามว่า วัปปะ

    ในอรรถกถาไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับบิดาของท่านไปมากกว่านี้ และในอรรถกถาเล่มที่ ๕๕ ที่มีการระบุชื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ที่เข้าทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ก็ไม่มีพราหมณ์ที่ชื่อ "วาเสฏฐะ" รวมอยู่ด้วย แต่ก็น่าแปลกที่ว่าชื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ตามที่กล่าวไว้ในอรรถกถาเล่มที่ ๕๕ นั้น ก็ไปตรงกับชื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ที่พระราชาแห่งกาลิงครัฐ ส่งไปเป็นทูตเพื่อขอช้างเผือกจากพระเวสสันดร ในเวสสันดรชาดก ในอรรถกถาเล่มที่ ๖๔

    เพื่อให้ความสอดคล้องกันไป พอสรุปได้ว่า พราหมณ์บิดาของท่านพระวัปปะ เป็นหนึ่งในพราหมณ์ ๑๐๘ คนที่ได้รับเชิญให้เข้าพิธีเฉลิมพระนามพระราชกุมาร

    โกณฑัญญพราหมณ์เข้าทำนายพุทธลักษณะ

    ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระประยูรญาติก็ได้จัดพระราชพิธีเฉลิมพระนาม โดยได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาประกอบพิธี โดยถวายผ้าใหม่ให้ครอง และถวายภัตตาหาร ครั้นเสร็จภัตกิจแล้วจึงได้เลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้น พราหมณ์ ๘ คนเหล่านี้คือ พราหมณ์ชื่อรามะ ชื่อธชะ ชื่อลักขณะ ชื่อสุชาติมันตี ชื่อโภชะ ชื่อสุยามะ ชื่อโกณฑัญญะ ชื่อสุทัตตะ ซึ่งพราหมณ์เหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่ได้ทำนายพระสุบินในวันที่ทรงประสูตินั่นเอง

    ครั้นเมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ได้ตรวจดูพระสรีระของพระมหาบุรุษแล้ว มีพราหมณ์ ๗ คน (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๓ คน) ได้ทำนายออกเป็น ๒ แนว ว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกทรงผนวช จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยที่สุดในหมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้นทำนายเป็นทางเดียว (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๕ คน ทำนายเป็นทางเดียว ซึ่งทั้ง ๕ พราหมณ์นี้ก็คือปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่นเอง) ว่าพระองค์จะเสด็จออกทรงผนวช แล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน พวกพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกลับไปสู่เรือนของตัวเองแล้วก็ได้ปรารภกับบุตรทั้งหลายว่า ตัวพ่อนั้นอายุมากแล้ว คงจะไม่ได้อยู่ชมพระบารมีของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้จะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พวกเจ้าเมื่อพระกุมารทรงตรัสรู้แล้วเจ้าจงบวชในพระศาสนาของพระองค์เถิด

    กำเนิดปัญจวัคคีย์

    อีก ๒๙ ปีต่อมา เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเห็นโทษในกาม เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ในครั้งนั้นพราหมณ์ ๗ คน ได้สิ้นชีวิตไปตามกรรมแล้ว ส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยกว่าเขาทั้งหมด เมื่อท่านทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว จึงเข้าไปหาพวกบุตรพราหมณ์ของพราหมณ์ทั้ง ๗ และชักชวนให้ออกบวชตามเสด็จ แต่ก็มีบุตรพราหมณ์เพียง ๔ คนเท่านั้นที่เห็นดีด้วย บุตรพราหมณ์ทั้ง ๔ คน เหล่านี้ คือ ท่านภัททิยะ ท่านวัปปะ ท่านมหานาม และท่านอัสสชิ และท่านโกณฑัญญพราหมณ์จึงได้บวช

    เมื่อบวชแล้วบรรพชิตทั้ง ๕ นี้อันมีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า จึงได้มีชื่อว่า พระปัญจวัคคีย์เถระ ก็ได้เที่ยวบิณฑบาตในคามนิคมและราชธานี และได้เดินทางไปอุปัฎฐากพระโพธิสัตว์ ตลอด ๖ ปีที่พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มกระทำทุกรกิริยา ด้วยหวังว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใดก็จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยามิใช่หนทางไปสู่อริยธรรม จึงทรงกลับมาเสวยพระกระยาเช่นเดิม หมู่ปัญจวัคคีย์คิดว่าพระมหาสัตว์ทรงละความเพียรเสียแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละพระองค์เสีย ไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

    ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ ทรงกลับมาเสวยพระกระยาหารดังปกติ ล่วงมาถึงวันวิสาขบุรณมี ทรงเสวยโภชนะอย่างดีที่นางสุชาดาถวาย ทรงลอยถาดทองไปให้ทวนกระแสแม่น้ำตามที่ทรงอธิษฐาน จึงตกลงพระทัยที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระมหาอมตธรรมให้ได้ในวันนั้น จึงทรงประทับใต้ร่มมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปสู่ด้านตะวันออก นั่งขัดสมาธิ อธิษฐานความเพียร ทรงกำจัดมารและพลมารและบรรลุธรรมเป็นลำดับ จนกระทั่ง ทรงตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้นเอง

    ครั้นเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์สมควรจะแสดงธรรมให้ก่อน จึงทรงพิจารณาถึง อาฬารดาบสและอุททกดาบส ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าบุคคลทั้งสองสิ้นชีวิตไปแล้ว เมื่อทรงพิจารณาต่อไปก็ทรงเห็นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้อุปัฏฐากครั้งเมื่อทรงตั้งความเพียรนับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา อีกทั้งโกณฑัญญพราหมณ์ก็เป็นผู้กระทำกรรมสะสมบารมีมาถึง๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็เพื่อประสงค์จะเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถบรรลุธรรมก่อนผู้อื่น

    ลำดับนั้น พระศาสดา จึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตมฤคทายวัน ที่ปัญจวัคคีย์อาศัยอยู่ เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์

    ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

    ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปฐาก จึงได้ตกลงกันว่า พระสมณโคดมนี้คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากแล้ว เสด็จมา ณ บัดนี้ พวกเราทั้งหลายไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์เลย แต่ว่าท่านนี้เกิดในตระกูลใหญ่ เป็นวรรณกษัตริย์ เราควรปูลาดอาสนะที่นั่งไว้ เพื่อพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง ฯ ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยประพฤติต่อพระองค์ มาบันดาลให้ลืมข้อตกลงที่ทำกันนั้นไว้จนหมดสิ้น ลุกขึ้นต้อนรับพระพุทธองค์ รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย ดังที่เคยทำมา แต่ยังพูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ คือ เรียกโดยการเอ่ยพระนามโดยตรง หรือเรียกโดยใช้คำแทนพระพุทธองค์ว่า อาวุโส ฯ

    พระพุทธองค์ทรงห้ามพวกปัญจวัคคีย์ มิให้เรียกพระองค์เช่นนั้น (ซึ่งถือว่าเป็นการไม่เคารพ ที่ทรงห้ามก็เพื่อจะมิให้เกิดโทษแก่เหล่าปัญจวัคคีย์เหล่านั้น) และทรงตรัสต่อไปว่า ตถาคตได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังธรรมเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เพื่อที่เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้า ก็จักบรรลุถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์

    เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ ได้กล่าวเป็นเชิงสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์ว่า แต่เดิมที่ท่านปฏิบัติ แม้โดยการอดอาหาร กระทำทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด ถึง ๖ ปี ก็ไม่สามารถแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณได้ มาบัดนี้เมื่อท่านคลายความเพียรนั้น กลับมาเป็นผู้มักมาก ท่านจะบรรลุธรรมใด ๆ อย่างไรได้

    พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสว่า ท่านไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเลย ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว และทรงขอให้เหล่าปัญจวัคคีย์ตั้งใจฟังธรรมที่ท่านจะแสดง แต่ปัญจวัคคีย์เหล่านั้นก็ยังได้กล่าวสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์อีกถึง ๒ ครั้ง

    จนในครั้งที่ ๓ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย นึกถึงถ้อยคำของพระพุทธองค์ในครั้งก่อนว่า วาจาที่ท่านกล่าวว่าท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว เช่นนี้ ท่านได้เคยพูดออกมาในกาลก่อนหรือไม่ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์จึงระลึกขึ้นได้ว่าพระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยได้ตรัสมาก่อนเลย จึงพากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์จะตรัสเทศนาสั่งสอนสืบไป

    ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสแสดง พระปฐมเทศนาประกาศพระสัมโพธิญาณ ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาจบ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ในวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๘ นั่นเอง

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงได้ทรงเปล่งพระอุทานว่า โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ, โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ) เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา

    ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา

    ครั้นเมื่อท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรคแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่าธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

    บัดนั้น ถือว่าโลกมี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์สาม เป็นครั้งแรก

    ในวันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ทรงให้พระภัททิยเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๒ ในวันแรม ๑ ค่ำ

    ในวันแรม ๒ ค่ำ ทรงให้พระวัปปเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๓

    ในวันแรม ๓ ค่ำ ทรงให้พระมหานามเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๔

    ในวันแรม ๔ ค่ำ ทรงให้พระอัสสชิเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๕

    อนึ่งในวันแรม ๕ ค่ำ ทรงเทศนาอนัตตลักขณสูตร ให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตด้วย ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์
     
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    %B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%B0.jpg.1347369702879.jpg



    พระนาลกเถระ

    การที่ท่านพระนาลกเถระ ท่านนี้ได้รับโอวาทจากพระบรมศาสดาในเรื่องการปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็นปฏิปทาที่ทำได้โดยยาก ทำให้เกิดความยินดีได้ยาก และท่านได้สมาทานการปฏิบัติดังกล่าวอย่างอุกฤษฏ์ ซึ่งการปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์นี้ ในพุทธธันดรหนึ่ง จะมีพระที่ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์ได้เพียงท่านเดียว และในพุทธันดรนี้พระเถระที่ปฏิบัติได้ก็คือท่านพระนาลกเถระผู้นี้เอง ที่เป็นดังนั้นเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในการนั้นไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เมื่อท่านได้เกิดมาและเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่งท่านได้เห็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา (ปฏิบัติเพื่อความเป็นมุนี) จึงปรารถนาที่จะเป็นเช่นนั้นบ้างจึงตั้งความปรารถนาและบำเพ็ญบารมีตลอดแสนกัป เพื่อผลดังกล่าว

    กำเนิดเป็นนาลกมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านมีกำเนิดในวรรณะพราหมณ์ เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เป็นบุตรของน้องสาวของท่านอสิตฤๅษี บิดามารดาเรียกชื่อว่า นาลกะ ตระกูลของท่านเป็นตระกูลใหญ่มี ทรัพย์ได้ ๘๗ โกฏิ

    ประวัติอสิตฤๅษีผู้เป็นลุงของพระเถระ

    อสิตฤษีนี้เป็นปุโรหิตของ พระเจ้าสีหหนุพระชนกของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้เป็นอาจารย์บอกศิลปะแต่ครั้ง พระเจ้าสุทโธทนะยังมิได้ครองราชย์ย์ ครั้นครองราชย์แล้วพระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงแต่งตั้งให้ท่านเป็นปุโรหิต เมื่ออสิตพราหมณ์เข้ามารับราชการในพระราชวังทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า พระเจ้าสุทโธทนะก็มิได้ทรงทำความเคารพเหมือนเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ทรงกระทำเพียงยกพระหัตถ์ประนมเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามราชประเพณีของเจ้าศากยะทั้งหลายที่ได้อภิเษกแล้ว

    ต่อมาอสิตปุโรหิตเบื่อหน่ายด้วยการรับราชการ จึงกราบทูลพระมหาราชว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จะบรรพชาพระเจ้าข้า พระราชาทรงทราบว่าอสิตปุโรหิตมีความแน่วแน่ที่จะออกบวช จึงตรัสขอร้องว่า ท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้น ขอให้ท่านอาจารย์อยู่ในอุทยานของข้าพเจ้าเถิด โดยที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมท่านอาจารย์เสมอ ๆ ปุโรหิตรับกระแสพระดำรัสแล้ว บรรพชาเป็นดาบส พระราชาทรงอุปถัมภ์อยู่ในส่วนนั่นเอง ดาบสกระทำกสิณบริกรรมยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้ว ตั้งแต่นั้นมา อสิตดาบสนั้นก็ไปฉันในราชตระกูล แล้วไปพักกลางวัน ณ ป่าหิมพานต์ หรือบนสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา หรือในนาคพิภพเป็นต้น แห่งใดแห่งหนึ่ง

    อสิตฤๅษีทำนายลักษณะพระกุมารสิทธัตถะ

    วันหนึ่งขณะที่ท่านฤๅษีนั่งพักผ่อนกลางวันในดาวดึงส์พิภพอยู่นั้น ก็เห็นเหล่าเทวดา ขับระบำรำฟ้อน มีใจชื่นชม มีปีติโสมนัสอย่าง เหลือเกินนั้น ก็แปลกใจเพราะไม่เคยเห็นเหล่าเทวดามีปิติโสมนัสอย่างเหลือเกินเช่นนี้มาก่อน จึงถามถึงสาเหตุนั้นกับเหล่าเทวดา เทวดาทั้งหลายก็ตอบท่านฤๅษีว่า บัดนี้พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะอุบัติขึ้นแล้ว ต่อไปพระองค์จักประทับนั่งที่ลานแห่งต้นโพธิแล้วจักเป็นพระพุทธเจ้าประกาศพระธรรมจักร พวกข้าพเจ้าต่างยินดีเพราะเหตุนี้ว่า พวกเราจักได้เห็นพระพุทธองค์ และจักได้ฟังพระธรรมของพระองค์

    ดาบสนั้นฟังคำของเหล่าเทวดาแล้ว ก็ลงจากเทวโลกทันที ตรงเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ นั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ได้ยินว่าพระราชโอรสของพระองค์อุบัติแล้ว อาตมภาพอยากเห็นองค์พระกุมาร พระราชาจึงมีรับสั่งให้พาพระราชกุมารมา แล้วทรงอุ้มไปเพื่อให้นมัสการดาบส พระบาททั้งสอง ของพระโพธิสัตว์กลับไปประดิษฐานอยู่บนชฎาของดาบส

    ความจริงนั้น ชื่อว่าพระมหาสัตว์จะพึงไหว้ใครนั้นไม่มี ถ้าคนผู้ไม่รู้วางศีรษะของพระโพธิสัตว์ที่เท้าของดาบส ศีรษะของดาบสนั้นพึงแตกออก ๗ เสี่ยง ดาบสคิดว่า เราไม่สมควรทำตนให้พินาศเช่นนั้น จึงลุกจากอาสนะแล้วยกมือไหว้พระโพธิสัตว์ พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุอัศจรรย์นั้น จึงทรงไหว้บุตรของตน

    ดาบสนั้นระลึกได้ชาติ ๘๐ กัป คือ ในอดีต ๔๐ กัป ในอนาคต ๔๐ กัป เห็นลักษณสมบัติของพระโพธิสัตว์ จึงใคร่ครวญดูว่า เธอจักได้ เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่หนอ ทราบว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยมิต้องสงสัย ท่านเห็นว่าพระราชบุตรนี้เป็นอัจฉริยบุรุษ จึงได้ยิ้มขึ้น ต่อนั้นจึงใคร่ครวญต่อไปว่า เราจักได้ทันเห็นความเป็นพระพุทธเจ้านี้หรือไม่หนอ ก็เห็นว่า เราจักไม่ได้ทันเห็น จักตายเสียก่อน แล้วจักไปบังเกิดในอรูปภพ ซึ่งที่นั้น แม้พระพุทธเจ้าตั้งร้อยพระองค์ก็ดี ตั้งพันพระองค์ก็ดี ก็ไม่สามารถที่จะเสด็จไปโปรดเพื่อให้เราตรัสรู้ได้ แล้วคิดว่าเราจักไม่เห็นอัจฉริยบุรุษผู้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นนี้ เราจักมีความเสื่อมใหญ่ คิดถึงตรงนี้แล้วก็ร้องไห้ออกมา พระราชาทรงเห็นดังนั้นแล้วจึงเรียนถามว่า ท่านนั้น เมื่อสักครู่ก็หัวเราะออกมา แล้วกลับมาร้องไห้อีกเล่า ข้าแต่ท่านดาบส อันตรายอะไรจักเกิด แก่พระลูกเจ้าของพวกเราหรือ ดาบสตอบว่า พระกุมารจักไม่มีอันตราย จักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย

    ครั้นเมื่อทรงถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงร้องไห้ออกมาเล่า ดาบสตอบว่า เราเศร้าโศกถึงตนว่า จักไม่ได้ทันเห็นพระมหาบุรุษผู้เป็นพระ พุทธเจ้าเช่นนี้ ความเสื่อมใหญ่จักมีแก่เราดังนี้ จึงได้ร้องไห้

    อสิตฤๅษีจัดการให้หลานชายออกบวชเป็นดาบส

    ต่อจากนั้นเมื่อออกมาจากพระราชวังแล้ว อสิตฤษี รู้ด้วยกำลังปัญญาของตนว่าตนมีอายุน้อย จึงพิจารณาว่า ในวงญาติของเรามีใครบ้างจักได้เห็นความเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้มองเห็นนาลกทารกผู้เป็นหลาน เป็นผู้ได้สะสมบุญไว้ตั้งแต่ ศาสนาพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า และคิดว่านาลกมาณพถ้าเติบใหญ่ขึ้นพอมีปัญญาแล้วจะตั้งอยู่ในความประมาท ท่านนั้นเพื่อจะอนุเคราะห์นาลกมาณพนั้น จึงไปยังเรือนของน้องสาว แล้วถามว่า นาลกะ บุตรของเจ้าอยู่ไหน นางผู้เป็นน้องสาวตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า เขาอยู่ในเรือน ท่านดาบสจึงสั่งให้เรียกเขามา เมื่อนาลกมาณพมาแล้ว ท่านดาบสก็พูดกับเขาว่า นี่แน่ะพ่อ บัดนี้พระราชโอรสอุบัติแล้วในตระกูลของพระเจ้าสุทโธทนมหาราชเป็นหน่อพุทธางกูร พระองค์จักได้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อล่วงได้ ๓๕ ปี เจ้าจักได้เห็นพระองค์ เจ้าจงบวชในวันนี้ทีเดียว

    ในอนาคตเมื่อเจ้าได้ยินคำว่า “พุทโธ” ดังระบืออยู่ทั่วไปแล้ว นั่นหมายความว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ย่อมทรงเปิดเผยทางปรมัตถธรรม เจ้าจงไปเข้าเฝ้าพระองค์แล้วทูลถามด้วยตนเอง ในสำนักของพระองค์ แล้วจงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด

    นาลกมาณพคิดว่า ลุงคงจักไม่ชักชวนเราในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ทันใดนั้นนั่นเองให้คนซื้อผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตรดินจากตลาด ให้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ประคองอัญชลีบ่ายหน้าไปทางพระโพธิสัตว์ ด้วยกล่าวว่า บุคคลผู้สูงสุดในโลกพระองค์ใด ข้าพเจ้าขอบวชอุทิศบุคคลนั้น แล้วกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เอาบาตรใส่ถุง คล้องที่ไหล่แล้วไปยังหิมวันตประเทศบำเพ็ญสมณธรรม

    นาลกดาบสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

    นาลกดาบสนั้นเป็นผู้สั่งสมบุญไว้ ได้บำเพ็ญเพียรเป็นดาบส รักษาอินทรีย์รอคอยพระชินสีห์อยู่ ครั้นเมื่อเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุสัมโพธิญาณ โดยลำดับแล้วทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐในกรุงพาราณสี เหล่าเทวดาทั้งหลายก็ได้โมทนาสาธุการไปตลอดสามโลก นาลกดาบสนั้นรอคอยอยู่อย่างนั้น เมื่อได้ยินข่าวอันพวกเทวดาผู้หวังประโยชน์แก่ตนพากันมาบอกแล้วจึงได้เดินทางไปเฝ้าพระชินสีห์ผู้องอาจกว่าฤๅษีแล้ว ในเวลาที่ได้เห็นพระองค์ จิตเลื่อมใสอย่างสูงสุดก็บังเกิดขึ้นในใจของดาบสนั้น

    ครั้นเมื่อได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาแล้ว นาลกดาบสกล่าวว่า อสิตฤษีผู้เป็นลุงของข้าพระองค์ รู้ว่าพระกุมารนี้จัดบรรลุทางแห่งสัมโพธิญาณ ท่านได้บอกกะข้าพระองค์ว่า ท่านจงฟังประกาศว่า พุทโธ ในกาลข้างหน้า ผู้บรรลุสัมโพธิญาณย่อมประพฤติมรรคธรรมดังนี้ วันนี้ข้าพระองค์ได้รู้ตามคำของอสิตฤๅษีว่า คำที่ท่านกล่าวนั้นเป็นคำจริง เพราะการได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าในบัดนี้เป็นพยานในคำพูดของท่าน เพราะเหตุนั้น ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสบอกปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด ฯ

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงโมเนยยปฏิปทาแก่นาลกดาบส

    เมื่อนาลกดาบสได้กราบทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงความที่ปฏิปทาของมุนีทำได้ยาก และทำให้ยินดีได้ยาก โดยมีพระประสงค์จะให้นาลกดาบสเกิดอุตสาหะ จึงตรัสว่า

    เอาเถิดเราจักบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่ท่าน ท่านจงช่วยเหลือตนด้วยการทำให้เกิดความเพียร สามารถทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก ทำให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ เพราะในการปฏิบัติตามปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์นั้น สาวกรูปเดียวเท่านั้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ย่อมทำได้และทำให้เกิดได้

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงการละกิเลสอันเข้าไปผูกพันกับชาวบ้าน จึงตรัสว่า

    พึงกระทำการด่าและการไหว้ในบ้านให้เสมอกัน เป็นอย่างเดียวกัน ไม่ต่างกัน พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ คือ เขาด่าแล้วถึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ เขาไหว้แล้วพึงประพฤติเป็นผู้สงบ ไม่มีความเยื่อหยิ่ง ไม่พึงมีความฟุ้งซ่านว่า พระราชายังไหว้เรา ดังนี้

    จากนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรื่อง ศีล คือความสำรวมในปาติโมกข์โดยสังเขป ด้วยหัวข้อคือการเว้นจากเมถุนและการเว้นจากฆ่าสัตว์แก่นาลกดาบสและทรงแสดงความสำรวมอินทรีย์ โดยย่อดังนี้

    พึงเป็นผู้สงบไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์

    มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรมไม่ยินดียินร้าย ในสัตว์ทั้งหลาย

    พึงกระทำตน ให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า

    จากนั้น เมื่อจะทรงแสดงความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะจึงตรัสว่า

    มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัยที่ปุถุชนข้องอยู่แล้ว เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้

    พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย

    บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงศีล คือการบริโภคปัจจัยด้วยหัวข้อเนมัตตัญญุตา คือ ความรู้จักประมาณใน การบริโภค และปฏิปทาตราบเท่าถึงการบรรลุพระอรหัตโดยทำนองนั้น ก่อนจึงตรัสว่า

    ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่เห็นแก่ท้องมีอาหารพอประมาณ พึงรู้จักประมาณในการบริโภค ไม่บริโภคเพื่อเล่นดังนี้ แม้เป็นผู้มีอาหารพอประมาณอย่างนี้ ก็พึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ด้วยมีความปรารถนาน้อย ๔ อย่าง คือ ปัจจัย ธุดงค์ ปริยัติ และอธิคม

    บัดนี้ เมื่อจะตรัสถึงการสมาทานธุดงค์แล้ววัตรเกี่ยวกับเสนาสนะ อันจบลงด้วยการบรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทานั้น จึงตรัสตรัสธุดงค์ ๑๓ แก่พระนาลกเถระ

    มุนีนั้นเที่ยวไปรับบิณฑบาตแล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้

    พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์ คือสมบูรณ์ด้วยปัญญา

    ยินดีแล้วในป่า ไม่พึงยินดีในเสนาสนะใกล้บ้าน

    พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ คือไม่พึงขวนขวายโลกิยฌานอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งแม้ด้วยโลกุตรฌานที่สัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรคเป็นต้นที่โคนต้นไม้นั้น แล

    ครั้นเมื่อรุ่งเช้าแล้ว ควรเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ไม่พึงรับนิมนต์เข้าไปฉันในบ้าน

    ไม่พึงเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน คือไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องของคฤหัสถ์ ไม่คล้อยตามไปกับเขา เช่นมีการร่วมเศร้าโศกด้วยเป็นต้น

    ตัดถ้อยคำเสียแล้ว ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกิน คือไม่ควรกล่าวอะไร ๆ เลย เพื่อต้องการปัจจัย

    มุนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ เราไม่ได้ก็เป็นความดี ดังนี้แล้ว เป็นผู้คงที่เพราะการได้และไม่ได้ ทั้งสองอย่างนั้นแล ย่อมก้าวล่วงทุกข์เสียได้

    มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่ ไม่เป็นใบ้ ก็สมมุติว่าเป็นใบ้ ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึงดูแคลนบุคคลผู้ให้

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงอานิสงส์แห่งปฏิปทาจึงตรัสว่า

    ก็ภิกษุผู้ไม่มีตัณหา ตัดกระแสร์กิเลสได้แล้ว ละกิจน้อยใหญ่ ได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน ฯ

    บัดนี้ เนื่องเพราะพระนาลกเถระ เพราะฟังคาถาเหล่านี้แล้วคิดว่า ชื่อว่าปฏิปทาของมุนีมีเพียงเท่านั้น ก็ทำได้โดยง่าย ไม่ยากนัก สามารถบำเพ็ญได้ด้วยความลำบากเล็กน้อย ดังนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงว่า ปฏิปทาของมุนีทำได้ยากแก่พระนาลกเถระ จึงตรัสว่า เราจักบอกปฏิปทาของมุนีแก่ท่านอีก

    ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี

    พึงเป็น ผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ คือเมื่อได้ปัจจัยโดยชอบธรรมแล้ว พึงบริโภคโดยรักษาจิตให้พ้นจากกิเลส เหมือนการเลียคมมีดโกนที่มีหยาดน้ำผึ้ง ย่อมกินโดยระมัดระวัง เพราะเกรงลิ้นจะขาดฉะนั้น

    พึงบรรเทาความอยากในรส พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง เพราะไม่เสพปัจจัยที่เกิดขึ้นด้วยทางอันเศร้าหมอง

    มีจิตไม่ย่อหย่อน เป็นผู้มีจิตไม่เกียจคร้าน เพราะทำให้มั่นคงในการบำเพ็ญกุศลธรรมเป็นนิจ

    และไม่พึงคิดมาก โดยวิตก ถึงญาติ ชนบท และเทวดา

    เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือเป็นผู้ไม่มีกิเลส อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้วในภพไหน ๆ พึงเป็นผู้มีไตรสิกขา และศาสนาพรหมจรรย์ทั้งสิ้นเป็นที่ ไปในเบื้องหน้าทีเดียว

    พึงศึกษาเพื่อการนั่งผู้เดียว คือพึงศึกษาเพื่อความเป็นผู้เดียวในทุกอิริยาบถ และเพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม ท่านกล่าวถึงกายวิเวกด้วยการนั่งผู้เดียว กล่าวถึงจิตวิเวกด้วยการอบรมของสมณะ

    ท่านผู้เดียวแลจักอภิรมย์ความเป็นมุนีที่เราบอกแล้วโดยส่วนเดียว ทีนั้น จงประกาศไปตลอดทั้งสิบทิศ ท่านได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลายผู้เพ่งฌาน ผู้สละกามแล้ว แต่นั้น พึงกระทำหิริและศรัทธาให้ ยิ่งขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นสาวกของเราได้

    พระเถระบรรลุอรหัต

    พระนาลกเถระครั้นฟังดังนั้นแล้ว ได้เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยใน ฐาน ๓ คือในการเห็น ๑ ในการฟัง ๑ ในการถาม ๑ เพราะเมื่อจบเทศนา พระนาลกเถระนั้นมีจิตเลื่อมใสถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปสู่ป่า

    ไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก นี้คือ ความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการเห็นของพระนาลกเถระนั้น

    อนึ่งไม่เกิด ความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้ฟังพระธรรมเทศนาอีก นี้คือความเป็น ผู้มีความปรารถนาน้อยในการฟังของพระนาลกเถระนั้น

    อนึ่งไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอ เราจะพึงได้ถามโมเนยปฏิปทาอีก นี้คือความเป็นผู้ปรารถนาน้อยในการถามของพระนาลกเถระนั้น

    พระนาลกเถระนั้นเป็น ผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างนี้ จึงเข้าไปยังเชิงภูเขา ไม่อยู่ตลอดสองวัน ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่นั่งตลอดสองวัน ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ไม่เข้าไปบิณฑบาตตลอดสองวัน ณ บ้านแห่งหนึ่ง คือไม่อยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกินกว่าหนึ่งวัน พระนาลกเถระเที่ยวจากป่าสู่ป่า จากต้นไม้สู่ต้นไม้ จากบ้านสู่บ้าน ปฏิบัติปฏิปทาอันสมควรแล้วตั้งอยู่ในผลอันเลิศ

    พระเถระปรินิพพาน

    เพราะภิกษุผู้บำเพ็ญโมเนยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์ จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือนเท่านั้น บำเพ็ญอย่างกลางจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี บำเพ็ญอย่างอ่อนจะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี พระนาลกเถระนี้บำเพ็ญอย่างอุกฤษฏ์ ฉะนั้นจะอยู่ได้ ๗ เดือน รู้ว่าตนจะสิ้นอายุจึงอาบน้ำ นุ่งผ้า คาดผ้าพันกาย ห่มสังฆาฏิสองชั้น บ่ายหน้าไปทางพระทศพล ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ประคองอัญชลี ยืนพิงภูเขาหิงคุลิกะ ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

    พระผู้มีพระภาค เจ้าครั้นทรงทราบว่า พระนาลกเถระปรินิพพานแล้ว จึงเสด็จไป ณ ภูเขานั้น พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ กระทำฌาปนกิจให้เก็บพระธาตุไปบรรจุยังเจดีย์แล้วเสด็จกลับ ด้วยประการฉะนี้
     
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    เรื่องของพระมหาโมคคัลลานะผู้เลิศฤทธิ์
    ใช้แค่หัวแม่เท้ากดเวชยันต์ปราสาทจนหวั่นไหว
    เพื่อเตือนสติแก่ท้าวสักกะผู้หลงในกาม
    #คุณธรรมเพื่อความสิ้นตัณหา
    (จูฬตัณหาสังขยสูตร เล่ม ๑๒ ข้อ ๔๓๓-๔๓๙)
    พระศาสดาประทับ ณ บุพพาราม
    ซึ่งนางวิสาขาสร้างถวาย ใกล้เมืองสาวัตถี
    ท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์เสด็จไปเฝ้า
    ทูลถามว่า ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าใด
    ภิกษุชื่อว่าน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
    เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
    พระศาสดาตรัสตอบว่า
    “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า
    สิ่งทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
    เธอย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง
    กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
    เมื่อได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
    เป็นสุขหรือทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข
    ย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งเวทนานั้น
    .......
    พิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย
    ความดับและการสละคืน
    (คือเบื่อที่เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์)
    จึงไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งไรๆ ในโลก
    (ทั้งสุขและทุกข์)
    เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
    สามารถดับกิเลสได้
    ทราบชัดด้วยตนเองว่า
    ความเกิดสิ้นแล้ว.
    ...ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป
    ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
    ภิกษุนั้นชื่อว่า
    น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
    มีความสำเร็จอย่างยิ่ง
    มีความปลอดโปร่งอย่างยิ่ง
    เป็นพรหมจารีอย่างยิ่ง
    เป็นผู้ประเสริฐกว่า
    เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
    ....
    ท้าวสักกะ จอมเทพทรงพอพระทัย
    ในพระดำรัสตอบแห่งพระศาสดา
    ถวายบังคมลาแล้วทำประทักษิณ
    (เวียนขวาแสดงความเคารพ)
    แล้วอันตรธาน (หาย) ไป
    .......
    พระมหาโมคคัลลานะ
    นั่งอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
    เมื่อท้าวสักกะทูลลาจากไปแล้ว
    ท่านคิดว่าท้าวสักกะชื่นชมยินดี
    ต่อพระพุทธพจน์นั้นโดยที่รู้เรื่องเข้าใจดี
    หรือว่าไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ
    แต่แสดงความยินดี
    ชื่นชมไปอย่างนั้นเอง
    ท่านจึงหายไปจากบุพพาราม
    ไปปรากฏตน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
    .......
    เวลานั้นท้าวสักกะและท้าวเวสสุวัณ
    (เจ้าแห่งยักษ์ชั้นจาตุมหาราช)
    กำลังฟังดนตรีอยู่ในสวนดอกบุณฑริก
    เห็นพระมหาโมคคัลลานะมา
    จึงรีบมาต้อนรับ
    พระมหาโมคคัลลานะทูลถามว่า
    ที่ฟังพระดำรัสตอบของ
    พระผู้มีพระภาคนั้น
    ใจความสำคัญว่าอย่างไร
    ขอให้เล่าให้ฟังด้วย
    ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
    พระองค์ทรงมีกิจมาก มีธุระมาก
    ทรงลืมหมดแล้ว
    ..........
    เพื่อเลี่ยงไปหาเรื่องอื่น
    ท้าวสักกะจึงชวน
    พระมหาโมคคัลลานะ
    ไปชมเวชยันตปราสาท
    ซึ่งสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมีถึง ๑๐๐ ชั้น
    มีเทพธิดามากมาย
    ท้าวสักกะขอให้พระมหาโมคคัลลานะ
    ชมเวชยันตปราสาทอันน่ารื่นรมย์
    พระมหาโมคคัลลานะถวายพระพรว่า
    เป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์จริง
    แม้พวกมนุษย์เมื่อเห็นสถานที่ใดๆ
    อันน่ารื่นรมย์ก็มักจะออกปากชมว่า
    เหมือนสถานที่ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์
    ขณะนั้นพระมหาโมคคัลลานะดำริว่า
    ท้าวสักกะนี้ประมาทอยู่
    ด้วยทรัพย์สินสมบัติอันเป็นทิพย์
    เพื่อจะให้ท้าวสักกะสังเวชสลดใจ
    จึงเอาหัวแม่เท้าของท่าน
    กดเวชยันตปราสาท
    ทำให้เวชยันตปราสาทสั่นสะเทือนหวั่นไหว
    ท้าวสักกะจึงสังเวชสลดใจ
    เห็นพระมหาโมคคัลลานะ
    เป็นผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก
    ............
    เมื่อเห็นว่าท้าวสักกะสังเวชสลดใจแล้ว
    พระมหาโมคคัลลานะ
    จึงถามถึงเรื่องที่พระศาสดาตรัส
    ท้าวสักกะจึงเล่าถวายทุกประการ
    พระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดี
    ต่อภาษิตของท้าวสักกะ
    แล้วกลับจากดาวดึงส์
    มาปรากฏตนที่บุพพาราม
    เข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามเรื่องนั้นอีกครั้งหนึ่ง
    .........
    พระศาสดาตรัสเล่าให้ฟัง
    เหมือนที่ท้าวสักกะเล่าถวายแล้ว
    ท่านมหาโมคคัลลานะชื่นชม
    ต่อพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง
    ....................
    พระไตรปิฎกฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว
    ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
    เพจอาจารย์วศิน อินทสระ
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
    =AZWqBrQ1GscgWwItAmP6mSiK9nWw8nCj89r4pWWYE4S6xNMBtdoDhjdiAwL9kzhEcB_TEaMxsRUk5UD1o14cmzvFR7rDln-BjoFgRUP_pKmtGz2pbT24pSIJkLOXQEhjWVqb_quDjvIMcof0yUsLb5Mw2BwTXRP6bQ5MCBdXNOHYMPynKnbv-GQPveDzZrHzPpA&__tn__=EH-R'] 1SQHysb4mdcdPRDaGq1OtSomhoJlwUE0remHJ9MpZEoL&_nc_ohc=G8EBYKpnLTYAX8owkI3&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    images.jpg.1347447789565.jpg
    พระอนุรุทธเถระ เอตทัคคะผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีทิพยจักษุ ฯ

    พระอนุรุทธเถระผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา ให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีจักษุทิพย์ ควรจะได้ทราบว่าการที่พระอนุรุทธเถระเป็นผู้เลิศเช่นนั้น เพราะเป็นผู้มีความชำนาญที่ได้สั่งสมไว้แล้วในเวลาที่ผ่านมา อรรถกถากล่าวว่า พระเถระนั้น ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน ได้เจริญอาโลกกสิณตรวจดูเหล่าสัตว์ด้วยทิพยจักษุอย่างเดียว เว้นแต่ช่วงเวลาฉันเท่านั้น ดังนั้น พระเถระนี้จึงชื่อว่าเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ เพราะเป็นผู้มีความชำนาญอันสะสมไว้ตลอดวันและคืน ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากท่านได้ตั้งปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

    กระทำมหาทานแด่พระปทุมุตตระพุทธเจ้า

    ได้ยินว่า ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระอนุรุทธเถระนั้นบังเกิดในสกุลคฤหบดีผู้มหาศาล ครั้นเมื่อเจริญวัยแล้ว อยู่มาวันหนึ่งวันหนึ่งได้ไปยังพระวิหารที่พระพุทธปทุมุตตระประทับอยู่ และฟังธรรมอยู่แถวท้ายหมู่พุทธบริษัทในวิหารนั้น ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของภิกษุผู้มีทิพยจักษุ ท่านจึงปรารถนาที่จะได้เป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

    ดังนั้นท่านจึงนิมนต์พระพระปทุมุตตระพุทธเจ้า และทำการถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน แล้วท่านจึงหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา แสดงความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งการถวายทานสักการะนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใด เพียงแต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งเอตทัคคะนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือน ภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง ในวันสุดท้าย ๗ วัน นับแต่วันนี้

    พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาลด้วยพุทธญาณ ทรงเห็นว่าความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่ากุลบุตรผู้เจริญ ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักมีชื่อว่าอนุรุทธ ท่านจักเป็นยอดของภิกษุผู้มีทิพยจักษุ ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าดังนี้ ครั้นเมื่อทรงพยากรณ์แล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับไป

    ตั้งแต่นั้นมา ตราบที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ท่านก็ได้กระทำแต่กรรมที่ดีมาโดยตลอด ครั้นเมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อเจดีย์ทองประมาณ ๗ โยชน์สร้างสำเร็จแล้ว ท่านจึงเข้าไปหาเหล่าภิกษุสงฆ์ แล้วถามภิกษุสงฆ์เหล่านั้นว่า ทำบุญด้วยอะไรจึงจะทำให้ได้ทิพยจักษุ ภิกษุสงฆ์บอกว่าควรทำบุญด้วยประทีป ท่านจึงให้สร้างต้นประทีปหลายพันต้น และสร้างประทีปบริวาร ด้วยถ้วยกระเบื้องและถาดสัมริด นับจำนวนไม่ได้ ถวายเป็นพุทธบูชา และอธิษฐานว่า ผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้เกิดทิพยจักษุญาณ ท่านกระทำเช่นนี้จนตลอดชีวิต เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดแสนกัป

    บุรพกรรมในสมัยพระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ครั้งที่ท่านเกิดในสมัยของพระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ครั้งนั้นท่านถวายประทีป แก่พระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เข้าฌานอยู่ที่ควงไม้ พระองค์ทรงรับแล้วห้อยไว้ที่ต้นไม้ ท่านได้ถวายไส้ตะเกียงน้ำมันพันหนึ่ง แด่พระพุทธองค์ด้วย ประทีปนั้นลุกโพลงอยู่ ๗ วันแล้วดับไปเอง อานิสงส์ครั้งนั้นท่านได้กล่าวว่า จะนับจะประมาณมิได้ อาทิเช่น

    เมื่อท่านเกิดเป็นเทวดา วิมานของท่านก็มีรัศมีรุ่งโรจน์ สว่างไสว ท่านได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์อยู่ ๒๘ ชาติ ท่านมีจักษุอันเป็นทิพย์สามารถมองเห็นได้ไกลหนึ่งโยชน์ ทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านมีรัศมีกายแผ่ออกไปจากร่างประมาณโยชน์หนึ่ง ท่านได้เกิดเป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐ กัป

    บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ครั้นสมัยในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเกิดในเรือนคฤหบดีใกล้กรุงพาราณสี เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน มหาชนได้สร้างพระเจดีย์ประมาณ ๑ โยชน์สำเร็จแล้ว ท่านก็ให้สร้างภาชนะสำริดจำนวนมาก บรรจุเนยใสจนเต็ม แล้ววางไส้ตะเกียงห่างกัน ๑ องคุลี ในภาชนะดังกล่าววางล้อมพระเจดีย์ให้เรียงชิดกันแล้วจุดไฟขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา แล้วให้สร้างภาชนะสำริดที่ใหญ่กว่าใส่เนยใสเต็ม จุดไส้ตะเกียงพันดวงรอบ ๆ ขอบปากภาชนะสำริดนั้น แล้วให้จุดไฟขึ้น ท่านเทินภาชนะสำริดไว้บนศีรษะ เดินประทักษิณเวียนบูชาเจดีย์ระยะทางโดยรอบประมาณ ๑ โยชน์ ตลอดคืนจนถึงเช้ารุ่ง เขาแต่กรรมดีจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วบังเกิดในเทวโลก

    ถวายภัตแด่พระอุปริฎฐะปัจเจกพุทธเจ้า

    ขอจงอย่าได้ยินคำว่า ‘ ไม่มี ’

    ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เขาถือปฏิสนธิในนครพาราณสีนั้นอีก ในเรือนของตระกูลยาจกเข็ญใจ เขาได้มีชื่อว่า อันนภาระ เป็นคนหาบหญ้า อาศัยอยู่กับสุมนเศรษฐี ผู้ซึ่งให้มหาทานที่ประตูบ้านแก่คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยกจก ทุกวัน ๆ

    วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าอุปริฎฐะเข้านิโรธสมบัติ ที่ภูเขาคันธมาทน์ ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว พิจารณาว่า วันนี้ ควรจะทำการอนุเคราะห์ใคร ธรรมดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้อนุเคราะห์คนเข็ญใจ ท่านจึงคิดว่าวันนี้เราควรทำการอนุเคราะห์นายอันนภาระ ท่านทราบว่า นายอันนภาระจะออกจากป่ากลับมายังบ้านตน ท่านจึงเหาะจากภูเขาคันธมาทน์ มายืนอยู่ที่หน้านายอันนภาระที่ประตูบ้านนั่นเอง

    นายอันนภาระเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงถือบาตรเปล่าจึงนิมนต์ว่าโปรดรออยู่ที่นี้ก่อนเถิดขอรับ แล้วรีบไปถามภรรยาว่า อาหารที่ท่านเตรียมไว้สำหรับเรามีหรือไม่ นางตอบว่า มี เขาจึงไปรับบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้ามา แล้วกล่าวว่า ด้วยเหตุที่เราไม่ได้ทำกรรมที่ดีไว้ในชาติก่อน เราก็ต้องเป็นลูกจ้างเขาอยู่เช่นนี้ ครั้นเมื่อเราปรารถนาจะทำบุญ แต่ก็ขาดของที่จะทำบุญ ครั้นเมื่อมีของที่จะทำบุญก็หาพระผู้สมควรรับไทยธรรมนั้นไม่ได้ มาวันนี้เราพบพระอุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าเข้าพอดี และของที่จะทำบุญก็มีอยู่ ท่านจงใส่อาหารที่เป็นส่วนของฉันลงในบาตรนี้ หญิงผู้เป็นภรรยาก็คิดว่า เมื่อใดสามีของเราให้อาหารซึ่งเป็นส่วนของเขา เมื่อนั้นเราก็ควรมีส่วนในทานนี้เช่นกัน คิดดังนั้นแล้วจึงวางอาหารที่เป็นส่วนของตนลงในบาตรถวายแก่อุปริฏฐปัจเจกพุทธเจ้าด้วย นายอันนภาระนำบาตรอันบรรจุภัตตาหารมาถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า ขอให้พวกข้าพเจ้าพ้นจากความอยู่อย่างลำบากเช่นนี้เถิด ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้สดับคำว่า ‘ ไม่มี ’

    พระปัจเจกพุทธเจ้า อนุโมทนาว่า จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด เขาจึงปูลาดผ้าห่มของตนลง แล้วนิมนต์พระปัจจเจกพุทธเจ้าเพื่อทรงฉันภัตตาหาร พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงนั่ง ณ อาสนะนั้นแล้ว ทรงพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา แล้วจึงทรงฉัน เมื่อฉันเสร็จแล้ว นายอันนภาระจึงถวายน้ำสำหรับล้างบาตร ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงกระทำอนุโมทนาว่าสิ่งที่ท่านต้องการแล้ว ปรารถนาแล้วจงสำเร็จทันที

    เทวดาที่สิงอยู่ที่ฉัตรของสุมนเศรษฐีเห็นดังนั้นจึงกล่าวสาธุการขึ้น ๓ ครั้ง สุมนเศรษฐีได้ยินเทพยดาประจำฉัตรกล่าวอนุโมทนา จึงคิดว่า เราให้ทานตลอดเวลามากตั้งเท่าไหร่ ก็ยังไม่อาจทำให้เทวดาให้สาธุการ นายอันนภาระที่อาศัยเราอยู่นี้ ถวายบิณฑบาตเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็ทำให้เทวดาให้สาธุการได้ เนื่องเพราะเขาได้ทำบุญกับบุคคลผู้ที่สมควรเป็นปฏิคาหก เราพึงให้ทรัพย์แก่นายอันนภาระนั้น แล้วทำให้บุญนั้นเป็นของของเราจึงจะดี

    คิดดังนั้นแล้วจึงเรียกนายอันนภาระมาแล้วถามว่าวันนี้เจ้าให้ทานอะไร ๆ แก่ใครหรือ นายอันนภาระตอบว่า ข้าพเจ้าถวายภัตตาหารแก่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฎฐะเศรษฐีกล่าวว่า เจ้าจงรับกหาปณะไปแล้วให้บุญนั้นแก่เราเถอะ นายอันนภาระตอบว่าให้ไม่ได้หรอกนายท่าน เศรษฐีเพิ่มทรัพย์ขึ้นจนถึงพันกหาปณะ นายอันนภาระก็ยังกล่าวว่า แม้ถึงพันกหาปณะก็ยังให้ไม่ได้ เศรษฐีกล่าวอ้อนวอนขอให้ส่วนบุญแก่ฉันเถอะ นายอันภาระกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าส่วนบุญนั้น ควรให้หรือไม่ควรให้ แต่ข้าพเจ้าจะถามพระปัจเจกพุทธเจ้าดู ถ้าควรให้ก็จะให้ ถ้าไม่ควรให้ก็จะไม่ให้

    แล้วนายอันนภาระจึงเดินไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า สุมนเศรษฐีให้ทรัพย์แก่ข้าพเจ้าพันหนึ่ง แล้วขอส่วนบุญในบิณฑบาตที่ถวายแก่ท่าน ข้าพเจ้าควรจะให้หรือไม่ให้ พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า เราจะเปรียบให้ท่านฟัง ในบ้านตำบลนี้มีร้อยเรือน เราจุดประทีปไว้ในเรือนหลังหนึ่งเท่านั้น เรือนอื่นเอาตะเกียงของตนมาต่อไฟถือไป แสงของประทีปดวงเดิมยังมีอยู่หรือไม่นายอันนภาระกล่าวว่า แสงประทีปก็จะสว่างขึ้นไปอีก พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่าฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อท่านให้ส่วนบุญแก่คนอื่น พันคนหรือแสนคนก็ตาม ให้แก่คนเท่าใด บุญก็เพิ่มขึ้นแก่ตนเท่านั้น ดังนี้

    นายอันนภาระกราบพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วกลับไปยังสำนักของสุมนเศรษฐีกล่าวว่า ขอท่านจงรับส่วนบุญในบิณฑบาตทานเถิด เศรษฐีกล่าวว่า เชิญท่านรับทรัพย์พันกหาปณะไปเถิด นายอันนภาระกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ขายบิณฑบาตทาน แต่ข้าพเจ้าให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธา เศรษฐีกล่าวว่า ท่านให้ส่วนบุญแก่เราด้วยศรัทธา แต่เราบูชาคุณของท่าน ฉันให้พันกหาปณะนี้ จงรับไปเถิด นายอันนภาระจึงถือเอาทรัพย์พันกหาปณะไป เศรษฐีกล่าวว่า ตั้งแต่นี้ไปท่านไม่ต้องงานให้เหน็ดเหนื่อย ท่านจงปลูกเรือนอยู่ใกล้ถนนเถิด ถ้าท่านต้องการสิ่งใดฉันจะมอบสิ่งนั้นให้ ท่านจงมานำเอาไปเถอะ

    ปกติแล้วบิณฑบาตที่บุคคลใดถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ บุคคลนั้นย่อมได้รับผลบุญในวันนั้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นสุมนเศรษฐีในครั้งก่อนที่ไปเฝ้าพระราชา ก็ไม่เคยชวนนายอันนภาระไปด้วย แต่ในวันนั้นได้ชวนนายอันนภาระไปด้วย ในวันนั้นพระราชาไม่มองดูเศรษฐีเลย ทรงมองแต่นายอันนภาระเท่านั้น เศรษฐีจึงทูลถามว่า เหตุไฉนพระองค์จึงทรงมองดูแต่บุรุษผู้นี้ พระราชาตรัสว่า เรามองดูเขาเพราะไม่เคยเห็นเขาเข้าเฝ้าในวันอื่น ๆ เขาชื่ออะไร เศรษฐีทูลว่า ชื่อนายอันนภาระ แล้วเศรษฐีก็ได้เล่าเรื่องที่เขาไม่บริโภคอาหารของตน แต่ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฎฐะ แล้วเขาได้แบ่งส่วนบุญให้ เขาได้ทรัพย์พันกหาปณะจากตนเพื่อบูชาบุญนั้น พระราชาตรัสว่า เขาก็ควรจะได้จากเราบ้าง เราเองก็ควรทำการบูชาบุญนั้น แล้วจึงพระราชทานทรัพย์พันกหาปณะให้นายอันนภาระ แล้วตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจดูบริเวณที่จะปลูกเรือนที่นายอันนภาระจะอยู่

    เมื่อพนักงานกำลังจัดแจงแผ้วถางที่สำหรับเรือนนั้นก็ได้พบขุมทรัพย์ชื่อปิงคละ ในที่นั้นตั้งเรียงกัน จึงมากราบทูลพระราชา ๆ สั่งให้ไปขุดขึ้นมา เมื่อพนักงานเหล่านั้นกำลังขุดอยู่ ขุมทรัพย์ก็กลับจมลงไป พนักงานเหล่านั้นไปกราบทูลพระราชาอีก พระราชาตรัสว่า ทรัพย์นั้นเป็นของนายอันนภาระ จงไปขุดเพื่อนายอันนภาระ พนักงานก็ไปขุดตามคำสั่ง ขุมทรัพย์ก็ผุดขึ้น พนักงานเหล่านั้นขนทรัพย์มากองไว้ในพระราชวัง พระราชาประชุมอำมาตย์ทั้งหลายแล้วตรัสถามว่า ในเมืองนี้ใครมีทรัพย์มีถึงเท่านี้บ้าง อำมาตย์ทูลว่า ไม่มีใครมี พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น นายอันนภาระนี้จงชื่อว่า ธนเศรษฐีในพระนครนี้ เขาได้ฉัตรประจำตำแหน่งเศรษฐีในวันนั้นนั่นเอง

    กำเนิดเป็นเจ้าอนุรุทธศากยะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ตั้งแต่วันนั้น เขากระทำแต่กรรมอันดีงามจนตลอดชีวิตจุติจากภพนั้นไปเกิดในเทวโลก เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์เป็นเวลานาน ครั้งที่พระศาสดาของพวกเราทรงอุบัติ เขาก็มาถือปฏิสนธิเป็น เจ้าอนุรุทธ พระโอรสแห่งเจ้าอมิโตทนะศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาแห่งพระพุทธบิดา คือพระเจ้าสุทโธทนศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ เจ้าอนุรุทธเป็นน้องชายของเจ้ามหานามะศากยะ ท่านทรงเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง เป็นผู้มีบุญมาก ทรงมีโภคะสมบูรณ์ ไม่เคยทรงสดับคำว่า “ไม่มี ” มีเรื่องเล่าว่า

    ทรงโปรดขนมชื่อว่า “ไม่มี”

    วันหนึ่งเมื่อท่านพร้อมกับพระญาติ ๕ พระองค์ทรงเล่นกีฬาลูกขลุบอยู่ เจ้าอนุรุทธทรงแพ้พนันขนมแล้ว จึงให้มหาดเล็กไปกราบทูลพระมารดาเพื่อให้ส่งขนมมาเป็นค่าที่แพ้พนัน พระมารดาของท่านก็ทรงจัดขนมส่งไป ศากยราชทั้งหกเสวยแล้วทรงเล่นกันอีก เจ้าอนุรุทธก็เป็นฝ่ายแพ้ร่ำไป ส่วนพระมารดาต้องส่งขนมไปถึง ๓ ครั้ง ในวาระที่ ๔ จึงทรงให้ไปแจ้งว่า “ขนมไม่มี” พระกุมารทรงคิดว่า “ขนมชื่อนี้ คงเป็นขนมประหลาดชนิดหนึ่ง ” เพราะไม่เคยทรงได้ยินคำว่า “ไม่มี ” จึงส่งคนไปทูลพระมารดาว่า “ให้นำขนมไม่มี นั่นแหละมาเถิด”

    ฝ่ายพระมารดาของท่าน เมื่อมหาดเล็กทูลว่า “เจ้าอนุรุทธขอให้ทรงประทานขนมชื่อ ‘ไม่มี’ ไปถวาย” จึงทรงพระดำริว่า “ลูกของเราไม่เคยได้ยินคำว่า ‘ ไม่มี ’ เราจะสอนลูกเราให้รู้คำนั้นด้วยอุบายนี้” จึงทรงปิดถาดทองคำเปล่าด้วยถาดทองคำอีกใบหนึ่งแล้วส่งไป

    ด้วยผลแห่งอธิษฐานในคราวที่เจ้าอนุรุทธศากยะเกิดเป็นนายอันนภาระ ได้ถวายภัตตาหารแด่พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ และทำความปรารถนาไว้ว่า ‘ ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้สดับคำว่า ‘ ไม่มี ’ จึงทำให้ถาดนั้นให้เต็มด้วยขนมทิพย์ เมื่อถาดนั้นพอเขาวางลงที่สนามเล่นขลุบแล้วเปิดขึ้น กลิ่นขนมก็ตั้งตลบไปทั่วทั้งพระนคร พอกษัตริย์ทั้งหกหยิบชิ้นขนมเข้าไปในพระโอฐเท่านั้น โอชะก็แผ่ซ่านไปทั่วประสาทรับรสทั้งเจ็ดพัน

    พระกุมารนั้นทรงพระดำริว่า “พระมารดาคงจะไม่รักเรา, พระมารดาจึงไม่ทรงปรุงขนมชื่อไม่มีนี้ประทานเรามาก่อน, ตั้งแต่นี้ไป เราจะไม่กินขนมอื่น” แล้วเสด็จไปสู่ตำหนัก ทูลถามพระมารดาว่า “เจ้าแม่ หม่อมฉันเป็นที่รักของเจ้าแม่หรือไม่เป็นที่รัก ?”

    เจ้าย่อมเป็นที่รักยิ่งของแม่ เสมือนนัยน์ตาของคนมีตาข้างเดียว และเหมือนดวงใจของแม่ ฉะนั้น

    เมื่อเช่นนั้น เหตุไร เจ้าแม่จึงไม่เคยทรงปรุงขนมไม่มี ประทานแก่หม่อมฉันเล่า เจ้าแม่

    พระนางรับสั่งถามมหาดเล็กคนสนิทว่า “ขนมอะไร ๆ มีอยู่ในถาดหรือ”

    มหาดเล็กทูลว่า “ มีขนมเกิดขึ้นเองอยู่เต็มถาด, ขนมเช่นนี้ กระหม่อมฉันก็ยังไม่เคยเห็น”

    พระนางทรงพระดำริว่า “บุตรของเราคงเป็นผู้มีบุญ บุญนั้นคงทำให้มีขนมเต็มถาด”

    พระโอรสจึงทูลพระมารดาว่า “เจ้าแม่ ตั้งแต่นี้ไป หม่อมฉันจะไม่เสวยขนมอื่น ขอเจ้าแม่พึงปรุงแต่งขนมไม่มีอย่างเดียว”

    ตั้งแต่นั้นมา เมื่อพระกุมารทูลขอขนม พระนางก็ทรงครอบถาดเปล่านั่นด้วยถาดอื่น ส่งไปประทานพระกุมารนั้น ขนมทิพย์ก็เกิดขึ้นถวายพระกุมารนั้นตลอดเวลาที่ท่านเป็นฆราวาส

    เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

    ก่อนที่ท่านจะเกิดมาในสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฎในชาดกต่าง ๆ เช่น

    เกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นท้าววาสวะ ใน สุธาโภชนชาดก

    เกิดเป็นท้าวสักกเทวราช พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิต ใน จตุโปสถชาดก

    เกิดเป็น ๗ พี่น้อง ร่วมกับพระพุทธองค์ ใน ภิสชาดก

    เกิดเป็น ปัพพตดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น สรภังคดาบสโพธิสัตว์ ใน สรภังคชาดก

    เกิดเป็น ท้าวสักกเทวราช พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระราชา ใน มณิโจรชาดก

    เกิดเป็น ปัญจาลจันทกุมาร พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น มโหสถบัณฑิต ใน มโหสถบัณฑิตชาดก

    เกิดเป็น นายสารถี พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดก

    เกิดเป็น ปัพพตดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น สรภังคดาบส ใน อินทริยชาดก

    เกิดเป็น ท้าวสักกเทวราช พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น อกิตติบัณฑิต ใน อกิตติชาดก

    เกิดเป็น ท้าวสักกเทวราช พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระเจ้าสีวิราช ใน สีวิราชชาดก

    เกิดเป็น ท้าวสักกเทวราช พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น พระจันทกุมาร ใน จันทกุมารชาดก

    พระบรมศาสดาทรงอุบัติ

    ส่วนพระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ทรงครองเรือนอยู่ ๒๙ ปี แล้วทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดามายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดา อำมาตย์กาฬุทายีก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา แล้วพระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ในครั้งนั้นทรงทำพระธรรมเทศนาอันวิจิตรแก่พระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ เมื่อทรงอนุเคราะห์พระญาติแล้ว ทรงให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ไม่นานนัก ก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปจาริกในมัลลรัฐแล้วเสด็จกลับมายังอนุปิยอัมพวัน

    ขัติยศากยกุมารออกบวชตามเสด็จ

    สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงประชุมศากยะสกุลทั้งหลาย ตรัสให้แต่ละตระกูลในศากยราชวงศ์ส่งขัตติยกุมารออกบวชตามเสด็จ ในครั้งนั้นเล่ากันว่า ขัตติยกุมารถึงพันองค์จึงออกผนวชโดยพระดำรัสครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อขัตติยกุมารโดยมากเหล่านั้นผนวชแล้ว เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์นี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธ อานันทะ ภคุ กิมพิละ เทวทัต ยังมิได้ผนวชจึงสนทนากันว่า

    “พวกเรายังให้ลูก ๆ ของตนบวชได้ ศากยะทั้ง ๖ นี้ มิใช่พระญาติหรือจึงมิได้ทรงผนวช”

    เมื่อเป็นดังนั้นเจ้ามหานามศากยะจึงเข้าไปหาเจ้าอนุรุทธศากยะผู้เป็นน้อง และกล่าวว่า บัดนี้ ศากยะกุมารที่มีชื่อเสียงเป็นอันมากได้ออกผนวชตามเสด็จ แต่ผู้ออกบวชจากตระกูลของเรายังไม่มี น้องจักบวช หรือว่า พี่จักบวช”

    พระอนุรุทธราชกุมารจึงทูลถามว่า “การบวชนี้เป็นอย่างไร ? ”

    เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “ผู้บวช ก็ต้องโกนผมและหนวด ต้องนุ่งห่มผ้ากาสายะ ต้องนอนบนเครื่องลาดด้วยไม้ หรือบนเตียงที่ถักด้วยหวาย เที่ยวบิณฑบาตอยู่ นี้ชื่อว่าการบวช”

    เจ้าอนุรุทธศากยะจึงทูลว่า “เจ้าพี่ หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติ หม่อมฉันจักไม่สามารถบวชได้”

    เจ้าอนุรุทธกุมารนั้น ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล มีโภคะสมบูรณ์ แม้คำว่า“ไม่มี ” ก็ไม่เคยได้ยิน จึงไม่ยินดีในการบวช

    เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “อย่างนั้น ท่านจงเรียนรู้การงานสำหรับอยู่เป็นฆราวาสเถิด ในระหว่างเราทั้งสองจะไม่บวชเลยสักคนก็เป็นเรื่องไม่ควร”

    อนุรุทธกุมารผู้ซึ่งไม่รู้แม้กระทั่งว่าอาหารที่ตนบริโภคนั้นเกิดขึ้นที่ไหน ได้มาอย่างไร จะรู้จักการงานได้อย่างไร ?

    เจ้าศากยะทั้ง ๓ สนทนากันถึงที่เกิดแห่งข้าว

    ก็วันหนึ่ง ยุวกษัตริย์ ๓ องค์ คือ เจ้ากิมพิละ เจ้าอนุรุทธ และเจ้าภัททิยะ ทรงสนทนากันด้วยเรื่องว่า “ ข้าวที่เราบริโภคเกิดขึ้นที่ไหน ?”

    กิมพิลกุมาร รับสั่งว่า “เกิดขึ้นในฉาง”

    ครั้งนั้นภัททิยกุมาร ตรัสค้านกิมพิลกุมารนั้นว่า “ท่านยังไม่ทราบที่เกิดแห่งข้าว ชื่อว่าข้าว ย่อมเกิดขึ้นที่หม้อข้าว”

    เจ้าอนุรุทธตรัสแย้งว่า “ ถึงท่านทั้งสองก็ยังไม่ทรงทราบ ธรรมดาข้าว ย่อมเกิดขึ้นในถาดทองคำประมาณศอกกำ”

    ได้ยินว่า บรรดากษัตริย์ ๓ องค์นั้น วันหนึ่ง กิมพิลกุมาร ทรงเห็นเขาขนข้าวเปลือกลงจากฉาง ก็เข้าพระทัยว่าข้าวเปลือกเหล่านี้เกิดขึ้นในฉางนั่นเอง

    ฝ่ายพระภัททิยกุมาร ทรงเห็นเขาคดข้าวออกจากหม้อข้าวก็เข้าพระทัยว่า ข้าวเกิดขึ้นในหม้อข้าวนั่นเอง

    ส่วนอนุรุทธกุมาร ยังไม่เคยทรงเห็นคนซ้อมข้าว คนหุงข้าว หรือคนคดข้าว ทรงเห็นแต่ข้าวที่เขาคดแล้วตั้งไว้ เฉพาะพระพักตร์เท่านั้น ท่านจึงทรงเข้าพระทัยว่า “ภัตเกิดในถาด ในเวลาที่ต้องการบริโภค”

    ยุวกษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์นั้น ย่อมไม่ทรงทราบแม้ที่เกิดแห่งข้าวตามเรื่องที่เล่ามาข้างต้น เพราะฉะนั้น อนุรุทธกุมารนี้จึงทูลถามว่า “การทำงานนี้เป็นอย่างไร ?

    เจ้ามหานามศากยะ จึงสอนเรื่องการครองเรือนแก่อนุรุทธกุมารผู้น้องว่า ผู้อยู่ครองเรือน ชั้นต้นต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้หว่าน ให้ไขน้ำเข้า ครั้นไขน้ำเข้ามากเกินไป ต้องให้ระบายน้ำออก ครั้นให้ระบายน้ำออกแล้ว ต้องให้ถอนหญ้า ครั้นแล้วต้องให้เกี่ยว ให้ขน ให้ตั้งลอม ให้นวด ให้สงฟางออก ให้ฝัดข้าวลีบออก ให้โปรยละออง ให้ขนขึ้นฉาง ครั้นถึงฤดูฝนก็ต้องทำอย่างนี้อีก เป็นอย่างนี้ทุกปี

    ครั้นอนุรุทธกุมารได้ทรงฟังกิจการที่ฆราวาสจะพึงทำเป็นประจำทุกปีเช่นนั้น ทรงมองไม่เห็นว่า การงานสำหรับเพศฆราวาสทั้งหลายจะมีที่สิ้นสุดเมื่อไร จึงทูลให้เจ้ามหานามทรงครองฆราวาส ส่วนตนเองจะเป็นผู้ออกบวช

    เจ้าอนุรุทธศากยะขออนุญาตจากพระราชมารดา

    เจ้าอนุรุทธศากยะจึงเข้าไปหาพระราชมารดา แล้วกล่าวขออนุญาตที่จะออกบวช พระราชมารดาไม่ทรงยินยอม ท่านได้กล่าวอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระราชมารดาของอนุรุทธศากยะทรงคิดว่า พระเจ้าภัททิยศากยะ ผู้ทรงเป็นพระสหายสนิทของอนุรุทธศากยะนี้ ทรงครองราชสมบัติเป็นราชาของพวกศากยะ พระองค์คงจะไม่อาจสละราชสมบัติออกทรงผนวชเป็นแน่ จึงได้กล่าวกะอนุรุทธศากยะว่า ถ้าพระเจ้าภัททิยศากยะทรงผนวช เจ้าก็ออกบวชได้

    ลำดับนั้น อนุรุทธศากยะจึงเสด็จไปเข้าไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยศากยะ แล้วได้ทูลว่า การบวชของเรานั้นขึ้นอยู่กับตัวท่าน

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า ไม่ว่าการบวชของท่านจะขึ้นอยู่กับตัวเราหรือไม่ก็ตาม ท่านจงบวชตามสบายเถิด

    อนุรุทธศากยะได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเราทั้งสองจะออกบวชด้วยกัน

    พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า เราไม่สามารถออกบวชได้ ถ้ามีสิ่งอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ท่านได้ เราจะทำสิ่งนั้นให้แก่ท่าน ท่านจงบวชเองเถิด

    อนุรุทธศากยะตรัสว่า ก็พระมารดาได้ตั้งเงื่อนไขกับเราว่า ถ้าท่านบวชด้วย พระมารดาก็จะยอมให้เราบวช ก็ท่านพูดเมื่อครู่นี้ว่า เราจงบวชตามความสบาย ดังนั้นเมื่อท่านยอมให้เราบวช ท่านก็ต้องบวชด้วย

    ในสมัยนั้น คนทั้งหลายเป็นผู้มีความสัตย์ ดังนั้นพระเจ้าภัททิยศากยะได้ต่อรองว่า จงรออยู่สัก ๗ ปีเถิด เมื่อครบ ๗ ปีแล้ว เราทั้งสองจึงจะออกบวชด้วยกัน ฝ่ายเจ้าอนุรุทธก็ไม่ยินยอม การต่อรองได้ดำเนินไปโดยลดระยะเวลาลงเรื่อย ๆ จนถึง ๗ วัน เจ้าอนุรุทธจึงยินยอม

    อุบาลีออกบวชพร้อมด้วยศากยะทั้งหก

    แต่นั้น กษัตริย์ทั้งหกองค์นี้ คือ ภัททิยศากยราช อนุรุทธ อานนท์ กคุ กิมพิละ และเทวทัต พร้อมกับนายภูษามาลา ชื่อ อุบาลี ได้เสด็จออกจากเมืองโดยทำเสมือนหนึ่งว่าจะเสด็จไปประพาสอุทยาน เมื่อออกนอกแดนที่เหล่าศากยะทั้ง ๖ ปกครองแล้ว ก็ทรงส่งทหารมหาดเล็กให้กลับพระนคร แล้วเสด็จต่อไปเข้าสู่แดนของศากยะราชพระองค์อื่น กษัตริย์ ๖ พระองค์ก็ทรงเปลื้องอาภรณ์ของตนออกทำเป็นห่อ แล้วรับสั่งให้นายอุบาลีกลับไปพร้อมกับนำเครื่องประดับเหล่านั้นไปเพื่อเลี้ยงชีพ ฝ่ายอุบาลีภูษามาลาไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับ โดยคิดว่า

    “พวกเจ้าศากยะราชโหดร้ายนัก ถ้าเรากลับไปพร้อมเครื่องประดับเช่นนี้ เจ้าศากยราชเหล่านั้นก็จะฆ่าเราเสีย ด้วยเข้าพระทัยว่า พระกุมารทั้งหลายถูกเจ้าคนนี้ปลงพระชนม์เสียแล้ว แล้วก็คิดต่อไปว่า ศากยกุมารเหล่านี้ทรงสละสมบัติ ทิ้งอาภรณ์อันหาค่ามิได้เหล่านี้ราวกับถ่มน้ำลายทิ้ง เพื่อออกผนวช ก็ทำไมเราจึงจะทำเช่นนั้นบ้างไม่ได้เล่า ? ”

    ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงแก้ห่อเครื่องประดับนั้น เอาอาภรณ์เหล่านั้นแขวนไว้บนต้นไม้แล้ว กล่าวว่า “ ใครต้องการก็จงเอาไปเถิด ” แล้วหันกลับเดินไปสู่สำนักของศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมารเหล่านั้นเห็น อุบาลีภูษามาลากลับมาจึงตรัสถามถึงเหตุที่กลับมา นายภูษามาลาก็กราบทูลให้ทรงทราบ

    ศากยะทั้งหกบรรลุคุณพิเศษ

    ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้น ทรงพาอุบาลีภูษามาลา ไปสู่สำนักพระศาสดาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า

    “พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ ความถือตัวอยู่ อุบาลีผู้นี้เป็น นายภูษามาลา เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง”

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ

    ท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหัตถ์เตวิชโช โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง ท่านพระอนุรุทธเป็นผู้มีจักษุเป็นทิพย์ แต่ยังไม่บรลุพระอรหัตผล ท่านพระอานนท์ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระ ภายหลังเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน

    พระเถระบวชแล้ว เป็นผู้ได้สมาบัติในภายในพรรษาก่อนเพื่อน ได้ทิพยจักษุฌาน ต่อมาท่านได้เกิดความไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม จึงไปยังสำนักของพระสารีบุตรเถระ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า

    ท่านพระสารีบุตร (๑) ผมตรวจดูตลอดพันโลกด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ (๒) ก็ผมปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ตั้งสติไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา (๓) เหตุใดเล่า จิตของผมจึงยังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า

    (๑) เราตรวจดูตลอดพันโลกด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ดังนี้ เป็นเพราะ มานะ ของท่านยังมีอยู่

    (๒) การที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า ก็เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อนตั้งสติมั่นไม่หลงลืม กายสงบระงับไม่ระส่ำระสาย จิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตาดังนี้ เป็นเพราะ อุทธัจจะ ของท่านยังมีอยู่

    (๓) ถึงการที่ท่านคิดอย่างนี้ว่า เออก็ไฉนเล่าจิตของเรายังไม่พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็เป็นเพราะ กุกกุจจะ ของท่านยังมีอยู่

    ท่านจงละธรรม ๓ อย่างนี้ ไม่ใส่ใจธรรม ๓ อย่างนี้ แล้วน้อมจิตไปในอมตธาตุครั้งนั้นแล

    พระเถระบอกกรรมฐานแก่ท่านด้วยประการเช่นนี้ ท่านรับกรรมฐานแล้ว ไปทูลลาพระศาสดาแล้วเดินทางไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจติยะ ยับยั้งอยู่ด้วยการจงกรมเป็นเวลาครึ่งเดือน ท่านลำบากกาย เพราะกรากกรำด้วยกำลังความเพียร นั่งอยู่ภายใต้พุ่มไม่พุ่มหนึ่ง แล้วก็ตรึกแล้วถึงมหาปริวิตก ๗ ประการ คือ

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีความปรารถนาน้อย มิใช่ของบุคคลผู้มีความปรารถนามาก

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สันโดษ มิใช่ของบุคคลผู้ไม่สันโดษ

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้สงัด มิใช่ของบุคคลผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ปรารภความเพียร มิใช่ของบุคคลผู้เกียจคร้าน

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีสติตั้งมั่น มิใช่ของบุคคลผู้มีสติหลงลืม

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีจิตมั่นคง มิใช่ของบุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้มีปัญญา มิใช่ของบุคคลผู้มีปัญญาทราม ฯ

    ในครั้งนั้น ท่านได้มีความปริวิตกว่า มหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ เป็นเช่นไรหนอ พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกทางใจของท่านพระอนุรุทธแล้ว เสด็จจาก เภสกลามิคทายวัน แขวงสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคชนบท ไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านอนุรุทธที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แล้วทรงตรัสให้พระอนุรุทธเถระตรึกใน มหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ ที่ว่า

    ธรรมนี้เป็นธรรมของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ทำให้เนิ่นช้า มิใช่ของบุคคลผู้ชอบใจในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า

    แล้วตรัสมหาอริยวงสปฏิปทา ประดับไปด้วยความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และมีภาวนาเป็นที่มายินดี และทรงตรัสให้พระอนุรุทธเถระอยู่จำพรรษาที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจดีย์นี้ต่อไปอีก แล้วเสด็จเหาะไปปรากฏที่ป่าเภสกลามิคทายวันแขวงเมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ ท่านพระอนุรุทธอยู่จำพรรษาที่วิหารปาจีนวังสทายวัน แคว้นเจดีย์นครนั้นต่อไปอีก ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียรมีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

    ต่อมาภายหลัง พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า อนุรุทธเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวก ผู้มีทิพยจักขุ

    พระอนุรุทธเถระกับการบัญญัติสิกขาบทบางข้อ

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธเดินทางไปพระนครสาวัตถี ในโกศลชนบท ได้ไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ณ เวลาเย็น ในสมัยนั้น ในหมู่บ้านนั้นมีสตรีผู้หนึ่งชื่อ นางคันธคันธินี จัดเรือนพักสำหรับอาคันตุกะไว้ เป็นสถานที่อันนางจัดสร้างไว้เพราะความเป็นผู้ประสงค์บุญ ท่านพระอนุรุทธฟังคำของพวกชาวบ้านว่า มีเรือนพักกันเขาจัดไว้ ณ ที่นั้น จึงเข้าไปหานางคันธคันธินี แล้วได้ขอพักแรมในเรือนพักสักคืนหนึ่ง นางคันธคันธินีก็นิมนต์ท่านพักแรม

    ต่อมามีพวกคนเดินทางกลุ่มอื่นเข้าไปหานางคันธคันธินี แล้วได้ขอพักแรมในเรือนพักสักคืนหนึ่งเช่นกัน นางจึงกล่าวว่า มีพระสมณะเข้าไปพักแรมอยู่ก่อนแล้ว ถ้าพระสมณะนั้นอนุญาตก็พักแรมได้ คนเดินทางพวกนั้น จึงพากันเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธแล้ว ได้ขอพักแรมคืนในเรือนพักสักคืนหนึ่ง พระเถระก็อนุญาต

    อันที่จริง นางคันธคันธินีนั้นเมื่อได้เห็นพระเถระก็ได้มีจิตปฏิพัทธ์ ดังนั้น นางจึงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธ แล้วได้กล่าวว่า พระคุณเจ้าอาศัยปะปนกับคนพวกนี้จะพักผ่อนไม่สบาย ดิฉันจะจัดเตียงถวายพระคุณเจ้าให้พักข้างใน ท่านพระอนุรุทธรับด้วยดุษณีภาพ

    ครั้นแล้ว นางได้จัดเตียงที่มีอยู่ข้างในถวายท่านพระอนุรุทธ แล้วประดับตกแต่งร่างกายให้หอม เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธ แล้วได้กล่าวเกี้ยวพาราสีพระเถระ ท่านพระอนุรุทธมิได้โต้ตอบ ท่านได้นิ่งเสีย

    นางได้พยายามเกี้ยวพาราสีท่านพระเถระถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ นางได้ขอให้พระเถระรับเอานางเป็นภรรยาและปกครองทรัพย์สมบัติทั้งหมด

    แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอนุรุทธก็ได้นิ่งเสีย

    นางเห็นดังนั้น นางจึงได้เปลื้องผ้าออกแล้ว เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง เบื้องหน้าท่านพระอนุรุทธ ฝ่ายท่านพระอนุรุทธ สำรวมอินทรีย์ ไม่แลดู ไม่ปราศรัยกับนาง

    นางเห็นพระเถระสำรวมกาย วาจา ใจ ได้เช่นนั้นจึงอุทานว่า น่าอัศจรรย์นัก คนเป็นอันมากยอมให้ทรัพย์เรา ๑๐๐ กษาปณ์บ้าง ๑๐๐๐ กษาปณ์บ้าง ส่วนพระสมณะรูปนี้ เราวิงวอนด้วยตนเองยังไม่ปรารถนาจะรับปกครองเราและสมบัติทั้งหมด แล้วจึงนุ่งผ้า ซบศีรษะลงที่เท้าของท่านพระอนุรุทธ แล้วได้กล่าวคำขอขมาต่อท่าน

    ท่านพระอนุรุทธก็ยกโทษให้ ครั้นรุ่งเช้า นางได้ถวายภัตตาหารแด่พระเถระ ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้วจึงแสดงธรรมให้นางฟัง นางจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทั้งพระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

    ต่อจากนั้น ท่านพระอนุรุทธเดินทางไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้เล่าเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลายฟัง บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอนุรุทธจึงได้สำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคามเล่า

    ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอนุรุทธว่า ดูกรอนุรุทธ ข่าวว่า เธอสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม จริงหรือ?

    ท่านพระอนุรุทธทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรอนุรุทธ ไฉนเธอจึงได้สำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคามเล่า การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

    แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นว่า อนึ่ง ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับมาตุคาม เป็นปาจิตตีย์

    พระอนุรุทธเถระกับนางชาลินีเทพธิดา

    สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธพำนักอยู่ในป่าแห่งหนึ่งในแคว้นโกศล ครั้งนั้น นางเทพธิดาในสวรรค์ดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งชื่อชาลินี ในอดีตเคยเป็นภรรยาเก่าของท่านพระอนุรุทธ นางยังคงมีความเสน่หาอาลัยในพระมหาเถระอยู่ นางเข้าไปหาท่านถึงที่อยู่ตามเวลา ปัดกวาดบริเวณ เข้าไปตั้งน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน น้ำฉันน้ำใช้ให้พระเถระใช้สอยโดยไม่นึก

    ครั้นแล้วได้กล่าวกับท่าน ให้นึกถึงความสุขอันน่าใคร่ทั้งหลายทั้งปวงบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ท่านเคยอยู่ในกาลก่อน พรั่งพร้อมด้วยหมู่เทวดาแวดล้อมเป็นบริวาร เพื่อให้ท่านได้ตั้งจิตไปเกิดในภูมิเทวดาอีก

    ลำดับนั้น พระเถระได้ให้คำตอบแก่เทพธิดาว่า นางเทพธิดาผู้เขลา ท่านไม่รู้แจ้งถึงคำของพระอรหันต์ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา บังเกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้ ย่อมเป็นสุข บัดนี้ การเกิดในภพใหม่ ไม่ว่าในภูมิใด ๆ ของท่านไม่มีต่อไปอีกแล้ว

    นางเทพธิดาได้ฟังดังนั้น หมดความหวัง แล้วกลับไปยังวิมาน

    พระพุทธเจ้าและพระสาวกช่วยพระอนุรุทธเถระทำจีวร

    นางชาลินีเทพธิดาถวายผ้าบังสุกุล

    ในวันหนึ่ง พระเถระมีจีวรเก่าแล้ว จึงได้เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งแล้วในที่ทั้งหลายเช่นตามกองขยะเป็นต้น นางชาลินีเทพธิดานั้น เห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลอยู่ จึงถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๑๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก แล้วคิดว่าถ้าเราจักถวายท่านตรง ๆ ท่านคงไม่รับ จึงซุกผ้าไว้บนกองขยะแห่งหนึ่งให้โผล่มาเพียงชายผ้าเท่านั้น เมื่อพระเถระเห็นชายผ้าของท่อนผ้าเหล่านั้นแล้ว จึงดึงชายผ้านั้นออกมาเห็นเป็นผ้าบังสุกุลจึงถือเอา แล้วกลับไป

    หมายเหตุ บางตำรากล่าวว่า วิธีการที่นางเทพธิดาชาลินี นำผ้าไปวางซุกไว้ในกองขยะ ในลักษณะทอดผ้าบังสุกุลนั้น พุทธบริษัทได้ถือเป็นแบบอย่างในการทอดผ้าบังสุกุล และทอดผ้าป่าในปัจจุบันนี้

    พระศาสดาทรงช่วยทำจีวร

    ครั้นในวันทำจีวรของพระเถระนั้น พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จไปที่พระวิหารประทับนั่งแล้ว แม้พระอสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ รูปก็นั่งอยู่ด้วย พระมหากัสสปเถระนั่งแล้วตอนต้น เพื่อเย็บจีวร พระสารีบุตรเถระนั่งในท่ามกลาง พระอานนเถระนั่งในท้ายที่สุด ภิกษุสงฆ์กรอด้าย พระศาสดาทรงร้อยด้ายนั้นในรูเข็ม พระมหาโมคคลัลานเถระ เป็นผู้จัดหาวัตถุที่พระสงฆ์ต้องการ แม้เหล่าเทพธิดาประจำบ้านก็เข้าไปสู่ภายในบ้านแล้ว ชักชวนให้เจ้าบ้านมาถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ในครั้งนั้นภัตตาหารอันมีข้าวยาคูของควรเคี้ยว ต่างทั้งหลายมีปริมาณเป็นอันมาก จนภิกษุทั้งหลายฉันไม่หมด เหลือกองอยู่เป็นอันมาก

    พระขีณาสพไม่พูดเกี่ยวกับปัจจัย

    ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า “หมู่ภิกษุมีเพียงเท่านี้ เพราะเหตุใดจึงมีผู้นำภัตตาหารมาถวายมากมายจนเหลือมากมายปานนี้ พระอนุรุธเถระเห็นจะประสงค์ให้เขารู้ว่าญาติและอุปัฏฐากของตนมีมาก”

    ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดเรื่องอะไรกัน?”

    เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องที่ตนโจษจันอยู่ พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่าอนุรุทธเป็นผู้ขอให้นำของเหล่านี้มาหรือ?”

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

    พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุรุทธผู้บุตรของเรา ไม่กล่าวถ้อยคำเห็นปานนั้น แม้ พระขีณาสพทั้งหลาย ก็ย่อมไม่กล่าวเรื่องเกี่ยวกับปัจจัย บิณฑบาตเหล่านี้ เกิดด้วยอานุภาพของเทวดา”

    พระอนุรุทธเถระบำเพ็ญเพียรโดยถือเอาการไม่นอนเป็นวัตร

    ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าพระเถระนั้น ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน ได้เจริญอาโลกกสิณตรวจดูเหล่าสัตว์ด้วยทิพยจักษุอย่างเดียว เว้นแต่ช่วงเวลาฉันเท่านั้น บางอาจารย์กล่าวว่า พระเถระเป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ๕๕ ปี เบื้องต้นไม่ได้หลับ ๒๕ ปี ต่อแต่นั้นจึงได้หลับในเวลาปัจฉิมยาม เพราะร่างกายอ่อนเปลี้ย

    บทบาทพระอนุรุทธเถระเมื่อครั้งพุทธปรินิพพาน

    ตามพระบาลีได้กล่าวถึงบทบาทของพระอนุรุทธเถระเมื่อคราวครั้งพุทธปรินิพพานไว้ว่า เมื่อพระบรมศาสดาได้ทรงมีปัจฉิมวาจาแก่เหล่าภิกษุทั้งมวลแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าฌานสูงขึ้นไปเป็นลำดับ จนถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ ด้วยเหตุว่าผู้ที่เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัตินั้นลมหายใจก็จะหมดไป ทำให้ไม่ทราบว่าทรงปรินิพพานแล้วหรือยัง เมื่อเทพดาและมนุษย์เห็นความไม่เป็นไปของลมอัสสาสปัสสาสะ จึงได้ร้องขึ้นพร้อมกัน ด้วยเข้าใจว่าพระศาสดาปรินิพพานเสียแล้ว ฝ่ายพระอานนทเถระ ถามพระอนุรุทธเถระว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วหรือ พระอนุรุทธตอบว่า พระตถาคตยังไม่ปรินิพพาน แต่พระองค์ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ การที่พระอนุรุทธเถระทราบดังนั้นก็เป็นด้วยพระเถระท่านเข้าสมาบัตินั้น ๆ พร้อมกับพระศาสดาที่เดียว และเมื่อท่านทราบว่าพระพุทธองค์ทรงเข้านิโรธสมาบัติ จึงทราบว่ายังทรงไม่ปรินิพพาน เพราะเหตุว่า การสิ้นชีวิตภายในนิโรธสมาบัติ ย่อมไม่มี

    ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ และทรงถอยออกจากฌานลงเป็นลำดับจนถึงจตุตถฌาน พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจาจตุตถ
    ฌาน หยั่งลงสู่ภวังคจิต แล้วปรินิพพานในขณะนั้นนั่นเอง

    ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านพระอนุรุทธ จึงได้แจ้งแก่หมู่พระภิกษุและเหล่ากษัตริย์ทั้งปวงที่เฝ้าอยู่ ว่าพระบรมศาสดาได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุทั้งหลาย นั้น ภิกษุเหล่าใดที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผลก็ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ส่วนภิกษุเหล่าใดที่บรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ได้ธรรมสังเวช

    ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธจึงได้เตือนให้ภิกษุทั้งหลายอย่าได้เศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พึงรำลึกถึงพระดำรัสของพระพุทธองค์ในเรื่องความไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลาย และยังบอกด้วยว่า เหล่าเทวดาจะตำหนิเอาว่า ตัวของพระภิกษุทั้งหลายเองก็ยังไม่อาจอดกลั้นความเศร้าโศกได้ และจะปลอบโยนผู้อื่นได้อย่างไร

    จากนั้น ท่านพระอนุรุทธและท่านพระอานนท์ เห็นเป็นเวลาใกล้รุ่งแล้ว ท่านทั้งสองจึงแสดงธรรมีกถาตลอดราตรีที่ยังเหลืออยู่นั้น รุ่งเช้าท่านพระอนุรุทธสั่งท่านพระอานนท์ให้ไปแจ้งแก่เจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว

    นอกจากนั้นในระหว่างเตรียมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอยู่นั้น เมื่อเกิดเหตุผิดปกติเกิดขึ้น พวกเจ้ามัลละกษัตริย์ก็มักจะเรียนถามสาเหตุกับพระเถระ ด้วยว่าพระเถระผู้เดียวปรากฏว่าเป็นผู้มีทิพยจักษุเพราะฉะนั้น แม้จะมีพระเถระองค์อื่น ๆ ที่มีอายุกว่า แต่พวกเจ้ามัลละเหล่านั้น ก็เรียนถามเฉพาะพระเถระ ด้วยเห็นว่า ท่านพระอนุรุทธเถระนี้สามารถตอบได้ชัดเจน เช่นเมื่อมัลลปาโมกข์ ๘ องค์ จะยกพระสรีระพระผู้มีพระภาคขึ้นเพื่อแห่ไปทางทิศทักษิณแห่งพระนคร แล้วเชิญไปภายนอกพระนคร ถวายพระเพลิงพระสรีระพระผู้มีพระภาคทางทิศทักษิณแห่งพระนคร แต่ก็ยกพระพุทธสรีระไม่ขึ้น จึงได้ถามพระเถระ พระเถระจึงแจ้งว่า

    เหล่าเทวดาประสงค์จะให้เชิญพระพุทธสรีระไปทางทิศอุดรแห่งพระนคร แล้วแห่เข้าไปสู่พระนครโดยทวารทิศอุดร เชิญไปท่ามกลางพระนคร แล้วออกโดยทวารทิศบูรพา แล้วถวายพระเพลิงพระสรีระพระผู้มีพระภาค ที่มกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ทางทิศบูรพาแห่งพระนคร

    อีกครั้งหนึ่งเมื่อครั้งจะจุดไฟถวายพระเพลิง มัลลปาโมกข์ ๔ องค์ผู้มีหน้าที่ถวายพระเพลิง ก็ลงมือจุดไฟเพื่อถวายพระเพลิง แต่พยายามอย่างไรไฟก็ไม่ติด เหล่ามัลลกษัตริย์จึงเรียนถามพระอนุรุทธเถระ พระเถระจึงตอบว่า เหล่าเทวดาประสงค์จะให้คอยพระมหากัสสปเถระที่กำลังเดินทางมา เพื่อให้พระมหากัสสปเถระกระทำความเคารพพระพุทธสรีระด้วยตนเองเสียก่อน ดังนี้เป็นต้น

    รับมอบหมายให้บริหารคัมภีร์อังคุตตรนิกายเมื่อครั้งปฐมสังคายนา

    หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระก็ดำริที่จะทำสังคายนาพระธรรม จึงได้อาราธนาพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป เพื่อทำปฐมสังคายนาที่ ปากถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์

    ในการสังคายนานั้น มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย โดย พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อบัญญัติพระวินัย และ พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม

    ในการสังคายนา เหล่าพระสงฆ์มีมติให้สังคายนาสุตตันตปิฎกก่อน โดยเริ่มจาก สังคายนาทีฆนิกาย สังคายนามัชฌิมนิกาย สังคายนาสังยุตตนิกาย สังคายนาอังคุตตรนิกาย ไปตามลำดับ

    ครั้นสังคายนาทีฆนิกายแล้ว พระธรรมสังคาหกเถระกล่าวว่า นิกายนี้ชื่อทีฆนิกาย แล้วมอบท่านพระอานนท์ ให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน

    ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์ทีฆนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระ ทั้งหลายได้สังคายนามัชฌิมนิกาย แล้วมอบแก่ศิษย์ของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระว่า ท่านทั้งหลายจงบริหารคัมภีร์มัชฌิมนิกายนี้

    ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์มัชฌิมนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระ ทั้งหลายได้สังคายนาสังยุตตนิกาย แล้วมอบแก่พระมหากัสสปเถระ ให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน

    ต่อจากการสังคายนาคัมภีร์สังยุตตนิกายนั้น พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้สังคายนาอังคุตตรนิกาย แล้วมอบแก่พระอนุรุทธเถระให้ไปสอนลูกศิษย์ของท่าน

    พระอนุรุทธเถระปรินิพพาน

    ท่านพระอนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธ์ เข้าสู่นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    fzbPppyTBv4K9f7z9WfqAYF8tR07hIcBLNSBguODNRx0&_nc_ohc=0cNrk9e6K68AX95LSG8&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg



    พระสัปปทาสเถระอรหันต์
    พระผู้จักตัดคอด้วยมีดโกนแต่กลับตัดกิเลสเสียสิ้นด้วยญาณ.




    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสัปปทาสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย จ วสฺสสตํ ชีเว" เป็นต้น.

    พระเถระให้งูกัดตัว
    ดังได้สดับมา กุลบุตรผู้หนึ่งในกรุงสาวัตถี ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว บรรพชาได้อุปสมบทแล้ว โดยสมัยอื่นอีก กระสันขึ้นจึงคิดว่า "ชื่อว่าภาวะแห่งคฤหัสถ์ ไม่ควรแก่กุลบุตรเช่นเรา. แม้การดำรงอยู่ในบรรพชาแล้วตายไป เป็นความดีของเรา" ดังนี้แล้ว ก็เที่ยวคำนึงหาอุบายเพื่อมรณะของตนอยู่.
    ภายหลังวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำแต่เช้าตรู่ ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ไปสู่วิหาร เห็นงูที่โรงไฟ จึงใส่งูนั้นไว้ในหม้อใบหนึ่งปิดหม้อแล้วถือออกจากวิหาร.
    ฝ่ายภิกษุผู้กระสัน ทำภัตกิจแล้วเดินมาเห็นภิกษุเหล่านั้น จึงถามว่า "นี่อะไร? ผู้มีอายุ" เมื่อพวกภิกษุตอบว่า "งู ผู้มีอายุ" จึงถามว่า "จักทำอะไรด้วยงูนี้?" ฟังคำของภิกษุเหล่านั้นว่า "เราจักทิ้งมัน" คิดว่า "เราจักให้งูนี้กัดตัวตายเสีย" จึงกล่าวว่า "นำมาเถิด, กระผมจักทิ้งมันเอง" รับหม้อจากมือของภิกษุเหล่านั้นแล้ว นั่งอยู่ในที่แห่งหนึ่งแล้ว ก็ให้งูนั้นกัดตน. งูไม่ปรารถนาจะกัด. ภิกษุนั้นเอามือล้วงลงในหม้อแล้ว คนข้างโน้นข้างนี้, เปิดปากงูแล้วสอดนิ้วมือเข้าไป. งูก็ไม่กัดเธอเลย.
    เธอคิดว่า "งูนี้มิใช่งูมีพิษ เป็นงูเรือน" จึงทิ้งงูนั้นแล้วได้ไปยังวิหาร.
    ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะเธอว่า "ผู้มีอายุ ท่านทิ้งงูแล้วหรือ?"
    ภิกษุกระสัน. ผู้มีอายุ นั้นจะไม่ใช่งูพิษ นั่นเป็นงูเรือน.
    ภิกษุ. ผู้มีอายุ งูพิษทีเดียว แผ่แม่เบี้ยใหญ่ ขู่ฟู่ฟู่ พวกผมจับได้โดยยาก เพราะเหตุไร ท่านจึงว่าอย่างนี้?
    ภิกษุกระสัน. ผู้มีอายุ ผมให้มันกัดอวัยวะบ้าง สอดนิ้วมือเข้าในปากบ้าง ก็ไม่อาจให้มันกัดได้.
    พวกภิกษุฟังคำนั้นแล้ว ได้นิ่งเสีย.
    #พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้วมีชื่อว่าสัปปทาสะ
    ภายหลังวันหนึ่ง ช่างกัลบกถือมีดโกน ๒-๓ เล่ม ไปวิหาร วางมีดโกนเล่มหนึ่งไว้ที่พื้น เอาเล่มหนึ่งปลงผมของภิกษุทั้งหลาย.
    ภิกษุกระสันนั้นจับมีดโกนเล่มที่เขาวางไว้ที่พื้นแล้ว คิดว่า "#จักตัดคอด้วยมีดโกนนี้ตาย" จึงยืนพาดคอไว้ที่ต้นไม้ต้นหนึ่งแล้ว จ่อคมมีดโกนที่ก้านคอ ใคร่ครวญถึงศีลของตน จำเดิมแต่กาลอุปสมบท ได้เห็นศีลหมดมลทิน ดังดวงจันทร์ปราศจากมลทิน และดังดวงแก้วมณีที่ขัดดี.
    เมื่อเธอตรวจดูศีลนั้นอยู่ ปีติเกิดแผ่ซ่านทั่วทั้งสรีระ เธอข่มปีติได้แล้วเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย จึงถือมีดโกน เข้าไปท่ามกลางวิหาร.
    ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายถามเธอว่า "ผู้มีอายุ ท่านไปไหน?"
    ภิกษุกระสัน. ผู้มีอายุ ผมไปด้วยคิดว่า ‘จักเอามีดโกนนี้ตัดก้านคอตาย.’
    ภิกษุ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ตาย?
    ภิกษุกระสัน. บัดนี้ ผมเป็นผู้ไม่ควรนำศัสตรา๑- มา ด้วยว่าผมคิดว่า ‘จักตัดก้านคอด้วยมีดโกนนี้, แต่ตัดกิเลสเสียสิ้นด้วยมีดโกน คือญาณ.’
    ____________________________
    พวกภิกษุกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ภิกษุนี้ พยากรณ์พระอรหัตด้วยคำที่ไม่เป็นจริง."
    พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาพระขีณาสพย่อมไม่ปลงตนจากชีวิตด้วยมือตนเอง."
    ภิกษุ. พระเจ้าข้า พระองค์ตรัสภิกษุนี้ว่า ‘เป็นพระขีณาสพ’,
    ก็ภิกษุนี้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอย่างนั้น เหตุไรจึงกระสัน?
    อะไรเป็นเหตุแห่งอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของภิกษุนั้น.
    เหตุไร งูนั้นจึงไม่กัดภิกษุนั้น.
    พระศาสดา. "ภิกษุทั้งหลาย งูนั้นได้เป็นทาสของภิกษุนี้ในอัตภาพที่ ๓ จากอัตภาพนี้ก่อน มันไม่อาจจะกัดสรีระของผู้เป็นนายของตนได้."
    พระศาสดาทรงบอกเหตุอย่างหนึ่งแก่ภิกษุเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ก่อน.
    ก็ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุนั้นได้ชื่อว่าสัปปทาสะ.
    #บุรพกรรมของพระสัปปทาสเถระ
    ดังได้สดับมา ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า บุตรแห่งคฤหบดีผู้หนึ่งฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เกิดความสลดใจจึงบรรพชา ได้อุปสมบทแล้ว, โดยสมัยอื่นอีก เมื่อความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น จึงบอกแก่ภิกษุผู้สหายรูปหนึ่ง. สหายนั้นกล่าวโทษในภาวะแห่งคฤหัสถ์แก่เธอเนืองๆ.
    ภิกษุนอกนี้ฟังคำนั้นแล้ว ก็ยินดียิ่งในพระศาสนา จึงนั่งขัดสมณบริขารทั้งหลายซึ่งมลทินจับในเวลาที่หน่ายในก่อน ให้หมดมลทินใกล้ขอบสระแห่งหนึ่ง. ฝ่ายสหายของภิกษุนั้นนั่งในที่ใกล้นั้นเอง.
    ลำดับนั้น ภิกษุนั้นกล่าวกะสหายนั้นอย่างนี้ว่า "ผู้มีอายุ ผมเมื่อสึก ได้ปรารถนาจะถวายบริขารเหล่านี้แก่ท่าน." สหายนั้นเกิดโลภขึ้น คิดว่า "เราจะต้องการอะไรด้วยภิกษุนี้ผู้ยังบวชหรือสึกเสีย, บัดนี้ เราจักยังบริขารทั้งหลายให้ฉิบหาย."
    ตั้งแต่นั้นมา สหายนั้นพูดเป็นต้นว่า "ผู้มีอายุ บัดนี้จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตของพวกเรา ผู้ซึ่งมีมือถือกระเบื้อง เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวในสกุลผู้อื่น? (ทั้ง) ไม่ทำการสนทนาปราศรัยกับบุตรและภรรยา" ดังนี้แล้ว ก็กล่าวคุณแห่งภาวะของคฤหัสถ์.
    ภิกษุนั้นฟังคำของสหายนั้นแล้ว ก็กระสันขึ้นอีก คิดว่า "สหายนี้ เมื่อเรากล่าวว่า ‘ผมกระสัน’ ก็กล่าวโทษในภาวะแห่งคฤหัสถ์ก่อน บัดนี้กล่าวถึงคุณเนืองๆ เหตุอะไรหนอแล? รู้ว่า "เพราะความโลภในสมณบริขารเหล่านี้" จึงกลับจิตของตนเสียด้วยตนเองทีเดียว.
    เพราะความที่ภิกษุรูปหนึ่งถูกตนทำให้กระสันแล้ว ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า บัดนี้ ความเบื่อหน่ายจึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ด้วยประการฉะนี้.
    ก็สมณธรรมใดอันภิกษุนั้นบำเพ็ญมา ๒ หมื่นปีครั้งนั้น สมณธรรมนั้นเกิดเป็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของภิกษุนั้น ในกาลบัดนี้แล.
    #ชีวิตของผู้ปรารภความเพียรวันเดียวประเสริฐ
    ภิกษุเหล่านั้นฟังเนื้อความนี้จากสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลถามยิ่งขึ้นว่า "พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ภิกษุนี้ยืนจดคมมีดโกนที่ก้านคออยู่ เทียวบรรลุพระอรหัต พระอรหัตมรรคเกิดขึ้นได้โดยขณะเพียงเท่านั้น หรือหนอแล?"
    พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้ปรารภความเพียร ยกเท้าขึ้นวางบนพื้น เมื่อเท้ายังไม่ทันถึงพื้นเลย พระอรหัตมรรคก็ได้เกิดขึ้น. แท้จริง ความเป็นอยู่แม้เพียงชั่วขณะของท่านผู้ปรารภความเพียร ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของบุคคลผู้เกียจคร้าน" ดังนี้แล้ว

    #เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-



    โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย
    เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วีริยํ อารภโต ทฬฺหํ.
    ก็ผู้ใดเกียจคร้าน มีความเพียรอันทราม
    พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี,

    ความเป็นอยู่วันเดียวของท่านผู้ปรารภความ
    เพียรมั่น ประเสริฐกว่าชีวิตของผู้นั้น.



    #ขอขอบคุณบทความจาก
    https://84000.org/tipitaka//attha/attha.php?b=25&i=18&p=11 และขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้
     
  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    rXOkQDW2wifi1NN2feOdrNgzj9op9yfI6ybeEOhH-FO_&_nc_ohc=KcWwJ1PNS4gAX8-ugsM&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  14. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    พระอชิตเถระ




    บุรพกรรมในการถวายทานแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า

    ในกัปที่ ๙๑ ท่านบังเกิดในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า ครั้นเมื่อเติบใหญ่แล้ว ครั้งหนึ่งท่านได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จดำเนินอยู่ในถนน ก็บังเกิดจิตเลื่อมใส จึงได้ถลายผลมะขวิดแด่พระบรมศาสดาและก็ได้กระทำกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

    ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ท่านบวชเป็นดาบสอยู่ในป่าหิมวันต์ ไม่เคยได้เห็นพระ สัมพุทธเจ้า แม้เสียงของพระองค์ก็ไม่เคยได้ยิน ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาได้เสด็จสู่ภูเขาหิมวันต์ แล้วประทับนั่งอยู่ ท่านดาบสได้เที่ยวแสวงหาอาหารอยู่ในป่านั้น ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพร้อมไปด้วยพระมหาปุริสลักษณะอันประเสริฐทั้ง ๓๒ ประการในป่านั้น จึงได้พิจารณาด้วยความรู้ของตนและระลึกได้ว่า ผู้ดำรงด้วยพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการดังนี้ ต้องเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ถ้าเช่นนั้น เราควรสักการะพระองค์ พระองค์จะชำระคติของเราได้ ท่านคิดได้ดังนั้น จึงรีบกลับมาสู่อาศรม ถือเอาน้ำผึ้งและน้ำมัน หยิบเอาหม้อแล้ว เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้นำเอาไม้ ๓ ท่อนไปวางไว้ที่กลางแจ้ง ได้ก่อไฟให้ลุกโพลงแล้วได้ถวายบังคม ๘ ครั้ง

    พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน ท่านดาบสด้วยความที่มีจิตเลื่อมใส โสมนัสก็ได้ตามประทีปถวายแด่พระพุทธเจ้าด้วยมือทั้งสองของตน ตลอด ๗ คืน ๗ วัน ครั้นเมื่อพ้นราตรีที่ ๗ ไปแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จลุกขึ้น

    กลิ่นหอมทุกอย่างอันมีอยู่ในป่าที่ภูเขาคันธมาทน์ มาหอมฟุ้งในสำนักพระพุทธเจ้าด้วยพุทธานุภาพ เวลานั้น ต้นไม้มีดอกหอมทุกชนิด ดอกบานสะพรั่งโชยกลิ่นมาหอมตลบพร้อมกันด้วยพุทธานุภาพ นาคและครุฑทั้งสองพวกที่ภูเขาหิมวันต์ทั้งหมดก็พากันมาในสำนักพระพุทธเจ้าด้วยประสงค์จะฟังธรรม พระเทวลเถระผู้เป็นพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์หลายแสนก็เดินทางเข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า

    พระปทุมุตรพุทธเจ้าทรงประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ตรัสพยากรณ์ผลบุญนั้นว่า ผู้ใดมีความเลื่อมใส ตามประทีปถวายเราด้วยมือทั้งสองของตน เขาจัก รื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๖ หมื่นกัลป์ และจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑,๐๐๐ ครั้ง.จักได้เป็นจอมเทวดาเสวยรัชสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง จักได้เสวยรัช สมบัติอันไพบูลย์ในปฐพี ๗๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณานับมิได้ ด้วยการตามประทีปถวายนี้ จักเป็นผู้มีทิพยจักษุ ผู้นี้จักมองเห็นไกล ๒๕๐ ชั่วธนู โดยรอบทุกเมื่อ เมื่อเขาจุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นคน ประทีปจักทรงอยู่ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อผู้นี้เกิด พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม ตลอดทั่วนครจักโชติช่วง ผู้นี้เข้าถึงกำเนิดใด คือ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ เพราะผลแห่งการตามประทีปถวาย ๘ ดวงนั้น ชนทั้งหลายจักบำรุงผู้นี้ นี้เป็นผลแห่งการตามประทีปถวาย

    ในแสนกัลป แต่กัลปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้จักมีนามชื่อว่าอชิตะ จักได้เป็นสาวกของพระศาสดาเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ นิพพาน

    ท่านบังเกิดอยู่ในเทวโลกตลอด ๖ หมื่นกัลป ในช่วงเวลาที่ท่านเสวยสุขอยู่ในเทวโลกนั้น ประทีป ๑๐๐ ดวงส่องสว่างให้แก่เราเป็นนิตยกาล รัศมีของเราพุ่งออกไปในเทวโลกและมนุษยโลก เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดแล้ว ยังความโสมนัสให้เกิดยิ่ง เราจุติจากเทวโลกชั้นดุสิตแล้ว ลงสู่ครรภ์มารดา

    บุรพกรรมสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

    มีเรื่องอยู่ว่า ครั้งอดีตกาลสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า มีช่างไม้คนหนึ่งชาวกรุงพาราณสี มีความรู้ทางด้านช่างไม้อย่างไม่มีใครเทียบในสำนักอาจารย์ของตน ช่างไม้นั้นมีศิษย์ ๑๖ คน ศิษย์คนหนึ่ง ๆ มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมอาจารย์และศิษย์เหล่านั้นเป็น ๑๖,๐๑๗ คนอย่างนี้ ทั้งหมดนั้นอาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการเอาไม้ในแถบภูเขามาสร้างเป็นปราสาทชนิดต่าง ๆ แล้วผูกแพนำมาขายยังกรุงพาราณสีทางแม่น้ำคงคา หากพระราชาทรงต้องการก็จะสร้างปราสาทชั้นเดียว หรือเจ็ดชั้นถวาย หากไม่ทรงต้องการ ก็จะขายคนอื่นเลี้ยงบุตรภรรยา

    ลำดับนั้นวันหนึ่ง อาจารย์ของศิษย์เหล่านั้นคิดว่า เราไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการเป็นช่างไม้ได้ตลอดไป เพราะถึงคราวแก่ตัวลงก็จะทำงานนี้ได้ยาก จึงเรียกศิษย์ทั้งหลายมาบอกว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย พวกท่านจงไปนำต้นไม้ที่มีแก่นน้อยมีน้ำหนักเบา เช่นต้นมะเดื่อเป็นต้นมาให้เรา ศิษย์เหล่านั้นรับคำแล้วต่างก็ ไปนำมา อาจารย์นั้นเอาไม้นั้นมาประดิษฐ์เป็นรูปนกแล้วใส่เครื่องกลไกเข้าไปภายในนกนั้น นกไม้ยนต์นั้นก็สามารถบินขึ้นสู่อากาศดุจพญาหงส์ เที่ยวไปเบื้องบนป่าแล้วบินลงเบื้องหน้าศิษย์ทั้งหลาย

    ลำดับนั้น อาจารย์จึงถามศิษย์ทั้งหลายว่า นี่แน่ะท่านทั้งหลาย เราทำพาหนะไม้เช่นนี้ได้ ก็จะสามารถยึดราชสมบัติได้ การเลี้ยงชีพด้วยศิลปะการเป็นช่างไม้ลำบาก ศิษย์เหล่านั้นจึงได้ดำเนินการตามที่อาจารย์สั่ง ครั้นสำเร็จแล้วจึงได้แจ้งให้อาจารย์ทราบ ลำดับนั้นอาจารย์จึงปรึกษากับพวกศิษย์ว่า เราจะยึดราชสมบัติที่ไหนก่อน พวกศิษย์ตอบว่า ยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีซิ ท่านอาจารย์ อาจารย์กล่าวว่า อย่าเลยพวกท่าน ไม่ดีดอก เพราะแม้พวกเราจะยึดราชสมบัติกรุงพาราณสีได้ ก็จะไม่พ้นจากการพูดถึงอาชีพเดิมของเราคือช่างไม้ว่า เราเป็นพระราชาช่างไม้ เรามีพระยุพราชช่างไม้ ชมพูทวีปออกใหญ่โต เราไปที่อื่นกันเถิด

    ลำดับนั้น พวกศิษย์พร้อมด้วยลูกเมียขึ้นนกยนต์พร้อมด้วยอาวุธ มุ่งหน้าไปหิมวันตประเทศ เข้าไปยังนครหนึ่งในหิมวันต์ แล้วพากันบุกเข้าไปถึงพระราชมณเฑียรนั่นเองด้วยนกยนต์ ศิษย์เหล่านั้นก็สามารถยึดราชสมบัติในนครนั้นได้โดยง่าย จากนั้นจึงอภิเษกอาจารย์ไว้ในฐานะพระราชา ชื่อว่าพระเจ้ากัฏฐวาหนะ นครนั้นจึงได้ชื่อว่า กัฏฐวาหนคร

    พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงดำรงอยู่ในธรรม ทรงตั้งพระยุพราช และทรงตั้งศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ไว้ในตำแหน่งอาจารย์ พระราชาทรงสงเคราะห์ศิษย์เหล่านั้นด้วยสังคหวัตถุ ๔ จึงเป็นแคว้นที่มั่งคั่ง สมบูรณ์และไม่มีอันตราย ทั้งชาวเมืองชาวชนบทนับถือพระราชาและข้าราช การเป็นอย่างยิ่ง พูดกันว่า พวกเราได้พระราชาที่ดี ข้าราชบริพารก็เป็นคนดี

    อยู่มาวันหนึ่ง พวกพ่อค้าจากมัชฌิมประเทศ นำสินค้ามาสู่กัฏฐวาหนนคร และนำเครื่องบรรณาการไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านมาจากไหน พวกพ่อค้าทูลว่า ขอเดชะ มาจากกรุงพาราณสีพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามเรื่องราวทั้งหมด ณ กรุงพาราณสีนั้นแล้วตรัสว่า พวกท่านจงนำมิตรภาพของเราไปทูลกับพระราชาของพวกท่านเถิด พ่อค้าเหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้ว พระราชาพระราชทานเสบียงแก่พวกพ่อค้าเหล่านั้น เมื่อถึงเวลาไปยังตรัสชี้แจงด้วยความใส่พระทัย

    พวกพ่อค้ากลับไปกรุงพาราณสีได้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาตรัสว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเราจะงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากแคว้นกัฏฐวาหะ แล้วทรงให้ป่าวประกาศว่า พระราชากัฏฐวาหนะจงเป็นพระสหายของเรา พระราชาทั้งสองได้เป็นมิตรกันโดยไม่ได้เห็นกันเลย แม้พระราชากัฏฐวาหนะ ก็ทรงให้ป่าวประกาศไปทั่วนครว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านจงงดเก็บส่วยของพ่อค้าที่มาจากกรุงพาราณสี และควร ให้เสบียงแก่พวกเขาด้วย

    ลำดับนั้นพระเจ้าพาราณสี ทรงส่งพระราชสารไปถวายแด่พระเจ้ากัฏฐวาหนะว่า หากมีอะไรแปลก ๆ อันสมควรเพื่อจะเห็น เพื่อจะฟังในชนบทนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้ข้าพระองค์ได้เห็นและได้ฟังบ้าง ก็ขอได้โปรดพระราชทานพระกรุณาด้วย พระราชกัฏฐวาหนะทรงส่งพระ ราชสารตอบถวายพระราชาพาราณสีเหมือนกัน พระราชาทั้งสองทรงกระทำกติกากันอยู่อย่างนั้น

    คราวหนึ่ง พระราชากัฏฐวาหนะได้ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดยิ่งนัก มีค่ามากเหลือเกิน มีสีคล้ายรัศมีพระอาทิตย์อ่อน ๆ พระราชากัฏฐวาหนะทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลเหล่านั้น ทรงดำริว่า เราจักส่งไปให้สหายของเราจึงให้ช่างทำงา สลักผอบงา ๘ ใบ เอาผ้ากัมพลใส่ลงในผอบเหล่านั้น ผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอก ก็สามารถบรรจุลงในผอบงาใบเล็ก ๆ ได้ จากนั้นจึงให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับครั่งทำก้อนครั่งกลมหุ้มข้างนอก เอาครั่งเป็นก้อนกลม ๘ ก้อนใส่ไว้ในสมุก เอาผ้าพันไว้ประทับตราแล้วทรงส่งอำมาตย์ไป รับสั่งว่า พวกท่านจงนำไปถวายพระราชาพาราณสี และทรงจารึกพระอักษรว่า บรรณาการนี้ อันหมู่อำมาตย์ท่ามกลางพระนครพึงสนใจ และส่งให้พวกอำมาตย์นำ ไปถวายแด่พระเจ้าพาราณสี

    พระเจ้าพาราณสีทรงอ่านคำจารึกแล้วรับสั่ง ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ทรงแกะตราประทับแล้วคลี่ผ้าพันออก เมื่อเปิดสมุกก็ทรงเห็นก้อนครั่งกลม ๘ ก้อน พระเจ้าพาราณสีทรงอายว่าสหายของเราส่งก้อนครั่งกลมให้เรา คล้ายกับให้เด็กอ่อนเล่นก้อนครั่งกลม จึงทรงทุบก้อนครั่งก้อนหนึ่ง ณ พระที่นั่งของพระองค์ ทันใดนั้นเอง ครั่งก็ แตกออก ผอบงาจึงตกมาแล้วแยกออกเป็นสองส่วน ทอดพระ เนตรเห็นผ้ากัมพลอยู่ข้างใน จึงทรงเปิดผอบอื่น ๆ ออกดู ในผอบแต่ละใบได้บรรจุผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ ยาว ๑๖ ศอก กว้าง ๘ ศอกเหมือน ๆ กัน มหาชนเห็นดังนั้นต่างก็ได้มีความพอใจว่า พระราชากัฏฐวาหนะ ซึ่งเป็นพระอทิฏฐสหาย (สหายที่ไม่เคยเห็นกัน) ของพระราชาของเราทรงส่งบรรณาการเช่นนี้มาถวาย การทำไมตรีเช่นนี้สมควรแล้ว พระราชารับสั่งให้เรียกพ่อค้ามาตีราคาผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ๆ พ่อค้าเห็นผ้ากัมพลนั้นแล้วกราบทูลว่า ผ้ากัมพลทั้งหลายนี้ประมาณค่ามิได้เลย ลำดับนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงดำริว่า การส่งบรรณาการตอบแทน ก็ควรจะส่งให้เหนือกว่าบรรณการที่ส่งมาถวาย สหายของเราส่งบรรณาการหาค่ามิได้มาให้เรา เราควรจะส่งอะไรให้สหายดีหนอ

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะทรงอุบัติขึ้นแล้ว ประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ครั้งนั้นพระราชาได้มีพระราชดำริว่า สิ่งอื่นจะ สูงสุดยิ่งกว่าพระรัตนตรัยไม่มี เอาเถิด เราจะส่งข่าวว่าพระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว แก่สหาย พระเจ้าพาราณสีนั้น ตรัสให้จารึกคาถานี้ว่า

    พระพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งปวง

    พระธรรม เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เพื่อความสุขแก่สัตว์ทั้งปวง

    พระสงฆ์เกิดขึ้นพร้อมแล้วในโลก

    เป็นบุญเขต ที่ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า ดังนี้

    และให้จารึกการปฏิบัติของภิกษุรูปหนึ่งตราบเท่าถึงพระอรหัต ด้วยชาดสีแดงลงบนแผ่นทอง ใส่ลงในสมุกทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ใส่สมุกนั้นลงในสมุกทำด้วยแก้วมณี ใส่สมุกทำด้วยแก้วมณีลงในสมุกแก้วตาแมว ใส่สมุกแก้วตาแมวลงในสมุกทับทิม ใส่สมุกทับทิมลงในสมุกทองคำ ใส่สมุกทองคำลงในสมุกเงิน ใส่สมุกเงินลงในสมุกงาช้าง ใส่สมุกงาช้างลงในสมุกไม้แก่น ใส่สมุกไม้แก่นลงในหีบ เอาผ้าพันหีบแล้วประทับตราพระราชลัญจกร ทรงให้นำช้างเมามันตัวประเสริฐ มีธงทองคำประดับด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทองให้ตกแต่งบัลลังก์บนช้างนั้น แล้วยกหีบวางไว้บนบัลลังก์ กั้นเศวตฉัตร บูชาด้วยของหอมและดอกไม้ทุกชนิด ขับเพลงสรรเสริญหนึ่งร้อยบท ด้วยกังสดาลทุกชนิด เคลื่อนไป แล้วทรงให้ตกแต่งทางตลอดระยะไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระองค์ แล้วทรงนำไปด้วยพระองค์เอง เสด็จประทับอยู่ ณ ทางนั้น

    ทรงนำไปจนถึงเขตรัฐสีมาของพระราชากัฏฐวาหนะ พระราชากัฏฐวาหนะได้ทรงสดับข่าวนั้น ก็เสด็จมาต้อนรับ ทรงกระทำการต้อนรับเหมือนเช่นที่พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงกระทำ แล้วทูลเชิญให้เสด็จเข้าพระนคร รับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ และพวกชาวพระนคร ทรงเปลื้องผ้าพันออก ณ พระลานหลวง ทรงเปิดหีบทอดพระเนตรเห็นสมุกในหีบ แล้วทรงเปิดหีบทั้งหมดตามลำดับ ทอดพระเนตรเห็นจารึกบนแผ่นทองคำ ทรงพอพระทัยว่า สหายของเราทรงส่งรัตนบรรณาการ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งตลอด แสนกัป พวกเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังว่า พุทโธ โลเก อุปปนโน พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลกดังนี้

    ทรงดำริว่า ถ้ากระไรเราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังพระธรรม ดังนี้แล้วตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งว่า ได้ยินว่า พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ อุบัติแล้วในโลก พวกท่านคิดว่าควรจะทำอะไร อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ประทับอยู่ ณ ที่นี้แหละ พวกข้าพระองค์จักไปฟังข่าวดู พระเจ้าข้า

    ลำดับนั้น อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวาร ๑๖,๐๐๐ คน ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ผิว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก พวกข้าพระพุทธเจ้าก็คงไม่มีการกลับมาเห็นอีก หากว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงอุบัติ พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกลับมา กราบทูลดังนั้นแล้วก็ถวายบังคมลาแล้วก็พากันเดินทางไป ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอของพระราชาพระองค์หนึ่ง ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าก็จะไป พระราชาตรัสว่า เมื่อเจ้าทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ ณ ที่นั้นแล้ว จงกลับมาบอกเราด้วย พระเจ้าหลานเธอรับพระบัญชาแล้วจึงได้ไป พวกเขาแม้ทั้งหมดไปตลอดทางพักเพียงราตรีเดียว ก็ถึงพระนครพาราณสี

    ในระหว่างที่พวกอำมาตย์ยังเดินทางไปกรุงพาราณสีนั่นเอง ยังไม่ทันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปเสียก่อนแล้ว เมื่อเหล่าอำมาตย์มาถึง พวกเขาก็เที่ยวไปจนทั่ววิหาร แลเห็นเหล่าพระสาวกอยู่กันพร้อมหน้า จึงถามว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน พระสาวกเหล่านั้นจึงบอกแก่พวกเขาว่า พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว เหล่าอำมาตย์จึงถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ยังมีอยู่หรือไม่ พระสาวกเหล่านั้นกล่าวว่า มีอยู่ อุบาสก คือพึงตั้งอยู่ในพระรัตนตรัย พึงสมาทานศีล ๕ พึงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ พึงให้ทาน พึงปฏิบัติธรรม

    อำมาตย์เหล่านั้นครั้นได้ฟังแล้วพากันบวชทั้งหมด เว้นแต่อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอนั้น อำมาตย์ผู้เป็นพระเจ้าหลานเธอ ถือ เอาบริโภคธาตุ (ต้นโพธิ์ บาตรและจีวร เป็นต้น ชื่อว่า บริโภคธาตุ) มุ่งหน้ากลับไปยังแคว้นกัฏฐวาหนะ พระเจ้าหลานเธอนี้ถือเอาธมกรก (หม้อกรองน้ำ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพาพระเถระรูปหนึ่งผู้ทรงธรรมและวินัยไปยังพระนครโดยลำดับ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกและเสด็จปรินิพพานแล้ว ได้กราบทูลถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้ พระราชาเสด็จเข้าไปหาพระเถระฟังธรรมแล้วรับสั่งให้สร้างวิหาร ประดิษฐานพระเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทรงดำรงอยู่ในพระรัตนตรัย และ ศีล ๕ เป็นนิจ ทรงเข้าอยู่จำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทรงให้ทาน ทรงดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้วไปยังบังเกิดในกามาวจรเทวโลก แม้อำมาตย์ ๑๖,๐๐๐ คน ก็พากันบวช แล้วมรณภาพเยี่ยงปุถุชน ยังไม่ได้มรรคผลอันใด แล้วได้ไปเกิดเป็นบริวารของพระราชาผู้เป็นเทวดานั้นนั่นเอง

    สมัยพระสมณโคดมพุทธกาล

    อำมาตย์เหล่านั้นอยู่ในเทวโลกสิ้นไปพุทธันดรหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระ ภาคเจ้าของเรายังไม่ทรงอุบัติ ได้จุติจากเทวโลก

    พระราชาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศลผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าปเสนทิ มีชื่อว่า พาวรี ประกอบด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ ได้เล่าเรียนวิชาพราหมณ์จนจบไตรเทพ ครั้นเมื่อบิดาล่วงลับไปก็ได้ดำรงตำแหน่งปุโรหิตแทน

    ส่วนอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๑๖ คนนั้น หนึ่งในนั้นก็ได้เกิดเป็นบุตรของอัคคาสนียพราหมณ์ ของพระเจ้ามหาโกศล ในพระนครสาวัตถี มีนามว่า อชิตะ เมื่อขณะที่ท่านเกิดได้มีแสงสว่างไสวไปทั่ว อำมาตย์ผู้ใหญ่ที่เหลืออีก ๑๕ คน และอำมาตย์ที่เป็นบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ที่กรุงสาวัตถีนั้นนั่นเอง

    ท่านอชิตะเมื่อมีอายุพอจะศึกษาศิลปวิทยาแล้ว บิดามารดาจึงนำไปฝากเป็นศิษย์คนหนึ่งในจำนวนศิษย์ ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ซึ่งท่านและศิษย์ผู้ใหญ่อีก ๑๕ คนนั้นต่างก็มีศิษย์คนละ ๑,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐ คน

    เมื่อพระราชามหาโกศลได้เสด็จสวรรคต พระเจ้าปเสนทิจึงได้อภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ พาวรีพราหมณ์ก็ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทินั้นอีก พระราชาได้พระราชทานสิ่งของที่พระชนกพระราชทานไว้ และสมบัติอื่นแก่พาวรีปุโรหิตเป็นอันมาก พระราชานั้นเมื่อยังทรงพระเยาว์ ก็ได้เรียนศิลปะในสำนักของพาวรีปุโรหิตเหมือนกัน

    พาวรีปุโรหิตออกบวช

    ลำดับนั้น พาวรีได้ทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวช พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์ เมื่อท่านดำรงอยู่ก็เหมือนบิดาของข้าพเจ้ายังอยู่ ท่านอย่าบวชเลย พาวรีทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์จักบวชแน่พระเจ้าข้า พระราชาเห็นว่าไม่ทรงสามารถห้ามได้ จึงทรงขอร้องว่า ขอท่านจงบวชอยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้เห็นทุกเย็นและเช้า อาจารย์พร้อมด้วย ศิษย์ ๑๖ คน กับบริวารอีก ๑๖,๐๐๐ คน ได้บวชเป็นดาบสอยู่ในพระราชอุทยาน พระราชาทรงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ เสด็จไปทรงอุปัฏฐากอาจารย์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า

    พราหมณ์พาวรีย้ายสำนักออกไปนอกพระนค

    อยู่มาวันหนึ่งศิษย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์ว่า การอยู่ใกล้พระนครมีเครื่องพัวพันมาก ท่านอาจารย์เราไปหาโอกาสที่ไม่มีชนรบกวนเถิด ชื่อว่าการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด เป็นประโยชน์มากแก่บรรพชิตทั้งหลาย อาจารย์ รับว่า ดีละ จึงไปทูลพระราชา พระราชาตรัสห้ามถึง ๓ ครั้งก็ไม่สามารถจะห้ามได้ จึงพระราชทานกหาปณะ ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ รับสั่งกะอำมาตย์ทั้ง หลายว่า พวกเจ้าทรงสร้างอาศรมถวาย ในที่ที่คณะฤๅษีปรารถนาจะอยู่เถิด แต่นั้นอาจารย์พร้อมด้วยชฏิล ๑๖,๐๐๐ เป็นบริวาร ได้รับอนุเคราะห์จากพวก อำมาตย์จึงออกจากอุตตรชนบท มุ่งหน้าไปทักษิณชนบท

    ครั้นเมื่อพาหมู่คณะเดินทางมาถึงบริเวณใกล้พรมแดนใน ระหว่างสองแคว้น คือ แคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะซึ่งเป็นภุมิประเทศที่ แม่น้ำโคธาวารีแยกออกเป็นสองสาย แล้วมาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นเกาะกว้างยาวประมาณ ๓ โยชน์ เกาะทั้งหมดปกคลุมไปด้วยป่ามะขวิด เมื่อก่อน ณ บริเวณนั้นสรภังคดาบสเป็นต้นได้อาศัยอยู่

    อาจารย์เห็นเช่นนั้นแล้วจึงประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า ประเทศนี้เป็นที่อยู่ของสมณะมาก่อน ประเทศนี้สมควรแก่นักบวช พวกอำมาตย์จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ แก่พระเจ้าอัสสกะ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ให้แก่พระเจ้ามุฬกะ เพื่อการครอบครองถือเอาภูมิประเทศนั้น พระราชาทั้งสองนั้นได้พระราชทานที่บริเวณเกาะนั้นและบริเวณอื่นประมาณ ๒ โยชน์ รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕ โยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมาของพระราชาเหล่านั้น พวกอำมาตย์ก็ได้สร้างอาศรม ณ ที่นั้นแล้วและให้นำทรัพย์มาจากกรุงสาวัตถีมาจัดตั้งเป็นโคจรคามเสร็จแล้วพากันกลับไป

    พาวรีพราหมณ์และเหล่าศิษย์ ทั้ง ๑๖,๐๑๖ คนก็เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้ ต่อมาก็ได้มีชาวบ้านซึ่งเลื่อมใสในวัตรของพราหมณ์ เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่บนที่ดินของพราหมณ์เหล่านั้น โดยได้รับอนุญาตจากพวกพราหมณ์ เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยพราหมณ์พาวรีนั้นก็เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยผลอันเกิดจากการกสิกรรม ครั้นครบรอบปีเหล่าชาวบ้านก็รวบรวมเงินจากแต่ละครอบครัวเพื่อเป็นส่วยให้แก่พระราชา และถือเอาส่วยนั้นไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ ทูลกับพระราชาว่า ขอพระองค์ทรงรับส่วยนี้เถิด พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า เราไม่รับ พวกท่านจงนำไปถวายอาจารย์เถิด พวกชาวบ้านก็นำส่วย ๑๐๐,๐๐๐ นั้นมามอบต่อพาวรีพราหมณ์

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเราต้องการเงินทอง ก็ไม่พึงสละทรัพย์สินมากมายของเราออกบวช พวกท่านจงรับเอากหาปณะของพวกท่านคืนไปเสีย พวกชาวบ้านบอกว่า พวกเราจะไม่ยอมรับทรัพย์ที่พวกเราบริจาคแล้วอีก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเราจะนำทรัพย์มาให้ท่านทำนองนี้ทุก ๆ ปี ถ้าท่านไม่รับเพื่อประโยชน์ตนเองละก็ ขอท่านจงรับกหาปณะเหล่านี้ไว้ให้ทานก็แล้วกัน พราหมณ์จึงยอมรับทรัพย์ดังกล่าวไว้ โดยเก็บไว้ในเพื่อการให้ทานแก่ผู้กำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจก

    อาจารย์นั้นกระทำมหายัญคือ คือการให้ทานจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ ปี ปีละครั้งอย่างนี้ กิติศัพท์การทำมหาทานของพราหมณ์พาวรีก็กระจายไปทั่วชมพูทวีป

    พราหมณ์พาวรีโดนพราหมณ์ผู้มาขอรับทานสาปแช่ง

    ครั้งนั้น ในหมู่บ้านทุนนวิตถะ ในแคว้นกลิงคะ นางพราหมณีสาว ผู้เป็นภริยาของพราหมณ์เฒ่าผู้เกิดมาในวงศ์ของชูชกพราหมณ์ ได้ทราบข่าวการทำทานดังกล่าวของพราหมณ์พาวรี จึงลุกขึ้นเตือนพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า เขาว่า พาวรีกำลังให้ทาน ท่านจงไปรับบริจาคเงินทองมาจากที่นั้น พราหมณ์นั้นถูกพราหมณีพูดดังนั้นก็ไม่อาจทนอยู่ได้จึงได้ออกเดินทางไปยังสำนักของพราหมณ์พาวรี ครั้นเมื่อไปถึง ก็เป็นวันที่พราหมณ์พาวรีได้กระทำมหาทานไปเสียแล้วตั้งแต่เมื่อวันวาน ซึ่งเมื่อให้ทานแล้ว พราหมณ์พาวรีก็เข้าบรรณศาลากำลังนอนนึกถึงทานที่ตนได้กระทำไปนั้น

    ครั้นเข้าไปถึงก็พูดว่า “ท่านพราหมณ์ โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด ท่านพราหมณ์โปรดให้ทานแก่ข้าเถิด”

    พาวรีพราหมณ์กล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ ท่านมาไม่ถูกเวลา เราให้ทานแก่พวกยาจกที่มาถึงไปแล้ว บัดนี้ไม่มีกหาปณะดอก”

    พราหมณ์พูดว่า “ท่านพราหมณ์ ข้าไม่ต้องการกหาปณะมากมายเลย ข้าขอเพียง ๕๐๐ กหาปณะ ”

    พาวรีพราหมณ์ “ท่านพราหมณ์ ๕๐๐ กหาปณะก็ไม่มี เมื่อถึงเวลาให้ทานครั้งหน้า ท่านจึงได้”

    พราหมณ์พูดว่า “ก็เวลาท่านให้ทาน ข้าจักมาได้อย่างไร” แล้วจึงทำกลอุบายเพื่อให้พาวรีพราหมณ์เกิดความกลัว โดยก่อทรายเป็นสถูปใกล้ประตูบรรณศาลา โรยดอกไม้สีแดงไปรอบ ๆ ทำปากขมุบ ขมิบเหมือนบ่นมนต์แล้วพูดว่า “เมื่อเราขอ แล้วท่านไม่ให้ไซร้ ในวันที่ ๗ ศีรษะของท่านจะแตก ๗ เสี่ยง”

    พราหมณ์พาวรีฟังคำของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัว เป็นผู้มีทุกข์ซูบซีด ไม่บริโภคอาหาร เมื่อเป็นผู้เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ใจก็ไม่ยินดีในการบูชาเทพและเทวดาทั้งหลาย

    เทวดาบอกปริศนาธรรม

    เทวดาผู้สถิตอยู่ ณ บรรณศาลานั้น เห็นพราหมณ์พาวรีมีทุกข์สะดุ้งหวาดหวั่น จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้วได้กล่าวว่า พราหมณ์นั้นไม่รู้จักศีรษะ เป็นผู้หลอกลวง ต้องการทรัพย์ ไม่มีความรู้ในในเรื่อง ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่าบัดนี้ ท่านรู้จักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอก ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป แก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะฟังคำของท่าน ฯ

    เทวดาตอบว่าแม้เราก็ไม่รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป เราไม่มีความรู้ในธรรมทั้ง ๒ นี้ ปัญญาเป็นเครื่องเห็นธรรมอันเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ย่อมมีเฉพาะในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

    พราหมณ์พาวรีถามว่า ในปัจจุบันนี้ มีใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้ที่รู้ ขอท่านเทวดาจงบอกบุคคลผู้รู้ธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไปนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด ฯ

    เทวดาบอกเรื่องพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ

    เทวดาตอบว่าดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร ลำดับพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช มีพระรัศมีรุ่งเรือง เป็นนายกของโลกเสด็จออกผนวชจากพระนครกบิลพัสดุ์ เป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ทรงบรรลุอภิญญาและทศพลญาณครบถ้วน ทรงมีพระจักษุในสรรพธรรม ทรงบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง ทรงน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้วในโลก มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม ท่านจงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด พระองค์จักตรัสพยากรณ์ข้อความนั้นแก่ท่าน ฯ

    พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า สัมพุทโธ ก็เป็นผู้มีใจเฟื่องฟู ความโศกสลดก็เบาบางลงไป และเกิดปีติอันท่วมท้น มีใจชื่นชมเบิกบานเกิดความโสมนัส จึงถามเทวดานั้นว่า พระโลกนาถประทับอยู่ในคามนิคมหรือในชนบทไหน ข้าพเจ้าจะไปนมัสการพระบรมศาสดาได้ในที่ใด ฯ

    เทวดาตอบว่าพระชินเจ้าผู้ศากยบุตร ทรงมีพระปัญญามาก มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวาง ทรงปราศจากธุระ หาอาสวะมิได้ องอาจกว่านระ ทรงรู้ธรรมเป็นศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ประทับอยู่ในมณเฑียรของชนชาวโกศลในพระนครสาวัตถี ฯ

    พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ ๑๖ คนไปเฝ้าพระศาสดา

    ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรี เรียกพราหมณ์ทั้งหลายซึ่งเป็นศิษย์มาสั่งว่า ดูกรมาณพทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจักบอกแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเรา บัดนี้ พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ท่านทั้งหลายจงรีบไปเมืองสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เถิด ฯ

    พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายซักถามว่า ข้าแต่ท่านพราหมณ์ บัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วจะพึงรู้ว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัมพุทธเจ้าได้อย่างไรเล่า ขอท่านจงบอกสิ่งที่จะทำให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รู้จักพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด ฯ

    พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ ที่ท่านทั้งหลายเล่าเรียนมามาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พราหมณาจารย์ทั้งหลายพยากรณ์ไว้ว่า ถ้ามหาปุริสลักษณะนั้น มีอยู่ในวรกายของพระมหาบุรุษใด พระมหาบุรุษนั้น จะเป็นได้ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ถ้าพระมหาบุรุษนั้นอยู่ครองเรือน จะพึงเป็นพระบรมมหาจักรพรรดิ์ จะทรงมีชัยชนะทั่วปฐพีนี้ จะทรงปกครองโดยธรรม ด้วยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศาตรา ถ้าออกบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

    พราหมณ์พาวรีสั่งให้ศิษย์ถามปัญหา ๗ ข้อกับพระศาสดา

    เมื่อท่านทั้งหลายเห็นพระมหาบุรุษผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการดังนี้ ท่านทั้งหลายก็จงกล่าวถามในใจ ถึง ๑. ชาติ (อายุ) ๒. โคตร ๓. ลักษณะ ๔. มนต์ และ ๕. ศิษย์เหล่าอื่นอีก และถามถึงปริศนาธรรมเรื่อง ๖. ธรรมอันเป็นศีรษะ และ ๗. ธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ถ้าว่าท่านนั้นเป็นพระพุทธเจ้าจริงแท้แล้ว ท่านก็จักตอบปัญหาที่ท่านทั้งหลายกล่าวถามในใจ ด้วยวาจาได้ ฯ

    พราหมณ์มาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน คือ อชิตะ ๑ ติสสเมตเตยยะ ๑ ปุณณกะ ๑ เมตตคู ๑ โธตกะ ๑ อุปสีวะ ๑ นันทะ ๑ เหมกะ ๑ โตเทยยะ ๑ กัปปะ ๑ ชตุกัณณี ๑ ภัทราวุธะ ๑ อุทยะ ๑ โปสาลพราหมณ์ ๑ โมฆราช ๑ ปิงคิยะ ๑ ได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้วก็ลาอาจารย์ กระทำประทักษิณแล้ว บ่ายหน้าต่อทิศอุดร มุ่งไปยังที่ตั้งแห่งแคว้นมุฬกะ เมืองมาหิสสติ

    ในคราวนั้น พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนได้เดินทางผ่านเมืองอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสะ เมืองวนนคร เมืองโกสัมพี เมืองสาเกต จนถึงเมืองสาวัตถี

    พระบรมศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อบ่มอินทรีย์ของเหล่าพราหมณ์ให้แก่กล้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ศิษย์ของพาวรีพราหมณ์ทั้ง ๑๖ คน มาพร้อมด้วยมหาชนเป็นอันมาก ทรงพระดำริว่า อินทรีย์ของพราหมณ์เหล่านั้นยังไม่แก่กล้าเพียงพอ อีกทั้งถิ่นนี้ก็ยังไม่เป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์ทั้งหลาย ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า ปาสาณกเจดีย์ในเขตแคว้นมคธเป็นที่สบายเหมาะแก่พราหมณ์เหล่านั้น ถ้าเราแสดงธรรมในที่นั้น มหาชนก็จักบรรลุธรรม อีกทั้งพวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อเดินทางผ่านเข้าไปยังเมืองต่าง ๆ ก็จะมีมหาชนตามมามากยิ่งขึ้นไปอีก ผู้บรรลุธรรมก็จักมีมากขึ้น จะเป็นประโยชน์อันมหาศาล

    ครั้นทรงพระดำริเช่นนั้นแล้ว จึงทรง เสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ออกจากกรุงสาวัตถีบ่ายพระพักตร์ไปยังกรุงราชคฤห์ ก่อนที่พวกพราหมณ์จะมาถึง พวกพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อก็มาถึงกรุงสาวัตถี เข้าไปสู่วิหาร เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีไปแล้ว ก็พากันเข้าไปถึงพระคันธกุฏี ได้เห็นรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็แน่ใจว่า เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแน่แล้ว เพราะจากลักษณะของรอยพระบาทเป็นรอยของผู้หมดกิเลสแล้ว เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงได้ออกเดินทางตามพระบรมศาสดาไป

    พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าสู่พระนครมีเสตัพยนครและกรุงกบิล พัสดุ์ เมืองกุสินารา เมืองมันทิระ เมืองปาวาโภคนคร เมืองเวสาลี เมืองราชคฤห์ เป็นต้นตามลำดับ หมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๖ คนก็ได้เดินทางพร้อมทั้งศิษย์ ๑๖,๐๐๐ คน ผ่านตามเมืองที่พระบรมศาสดาเสด็จผ่าน ผ่านเข้าเมืองใด มหาชนในเมืองเหล่านั้นก็ออกเดินทางติดตามมาอีกเป็นอันมากเพื่อจะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

    จนกระทั่งเสด็จไปถึงปาสาณกเจดีย์ แขวงเมืองราชคฤห์ ก็ทรงหยุดประทับอยู่ ณ ที่นั้น พวกเหล่าพราหมณ์และมหาชนก็ได้ตามพระบรมศาสดาจนถึงปาสาณกเจดีย์ ครั้นได้ฟังว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ ที่นี้ ก็เกิดปิติ ปราโมทย์พากันขึ้นภูเขาไปสู่พระเจดีย์นั้น เหมือนบุคคลผู้กระหายน้ำย่อมยินดีต่อน้ำเย็น เหมือนพ่อค้ายินดีต่อลาภใหญ่ และเหมือนบุคคลถูกความร้อนแผดเผายินดีต่อร่มเงา ฉะนั้น

    ก็ในขณะนั้นพระผู้มีพระภาค แวดล้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์ ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่ ประหนึ่งราชสีห์บันลือเสียงกังวานกระหึ่มอยู่ในป่า

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุก ๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ฉะนี้แล ฯ

    อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า

    โลกอันอะไรสิห่อหุ้มไว้? โลกไม่ปรากฎเพราะเหตุอะไรสิ?

    อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้น? ขอพระองค์จงตรัสบอก

    อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น?

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอชิตะ

    โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่ปรากฎเพราะความตระหนี่

    เรากล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก

    ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

    อชิตมาณพทูลถามว่า

    กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอายตนะทั้งปวง

    อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย?

    ขอพระองค์จงตรัสบอก

    ธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย

    กระแสทั้งหลายอันอะไรย่อมปิดกั้นได้?

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอชิตะ

    กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น

    เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย

    กระแสเหล่านี้อันปัญญาย่อมปิดกั้นได้

    ท่านอชิตะทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์

    ปัญญา สติ และนามรูป ย่อมดับไป ณ ที่ไหน?

    ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์จงตรัส

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอชิตะ

    ท่านได้ถามปัญหาข้อใดแล้ว เราจะแก้ปัญหาข้อนั้นแก่ท่าน

    นามและรูปดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด

    นามรูปนั้นก็ดับ ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณ

    ท่านอชิตะทูลถามว่า

    พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม

    และพระเสขบุคคลในทิฏฐิเป็นต้นนี้มีมาก

    ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้มีปัญญา

    ได้โปรดตรัสบอกความดำเนินของพระขีณาสพและเสขบุคคลเหล่านั้น

    แก่ข้าพระองค์เถิด

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอชิตะ

    ภิกษุไม่พึงติดใจในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว

    ฉลาดในธรรมทั้งปวง พึงมีสติเว้นรอบ

    พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค) ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    อชิตพราหมณ์ และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ บรรลุสัจธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา และจิตของอชิตพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของอชิตพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต อชิตพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ดังนี้

    ในอรรถกถาอชิตเถรคาถา (อรรถกถาเล่มที่ 50) กล่าวถึงกาลเมื่อท่านจะดับขันธ์ไว้ดังนี้

    ท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะบันลือสีหนาท ได้ภาษิตคาถาว่า

    เราไม่มีความกลัวตาย ไม่มีความอาลัยในชีวิต

    จักเป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ ละทิ้งกายนี้ไป ดังนี้

    ก็พระเถระ ครั้นกล่าวคาถานี้แล้วเข้าฌาน ปรินิพพานแล้ว ในระหว่างนั้นเอง ฉะนี้แล
     
  15. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    พระรัฐปาลเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธา

    พระรัฐปาลเถระผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน ท่านพระรัฐปาละนั้น เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ได้มีศรัทธาที่จะบวช กระทำการรอดข้าวถึง ๗ วัน มารดาบิดาจึงยอมอนุญาตให้บวชได้ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

    ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

    ในกัปแห่งพระปทุมุตตรพระพุทธเจ้า คือหนึ่งแสนกัปนับถอยหลังไปจากกัปปัจจุบัน เวลานั้นอยู่ในช่วงเวลาที่พระปทุมุตรพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ พระราหุลเถระ และพระรัฐปาลเถระ เป็นสหายกัน ต่างก็บังเกิดในครอบครัวคฤหบดีในกรุงหงสวดี ไม่มีการกล่าวถึงชื่อและตระกูลของท่านทั้งสองในสมัยนั้น พอท่านเจริญวัยแล้ว ดำรงอยู่ในฆราวาส เมื่อบิดาของแต่ละคนสิ้นชีวิตลง ก็ตรวจดูทรัพย์สินที่ตนได้รับมรดกมา เห็นว่ามีทรัพย์หาประมาณมิได้ จึงคิดว่า บุรพชนของตนทั้งหลายมีปู่ และปู่ทวดเป็นต้น ก็ไม่สามารถนำเอาทรัพย์นี้ไปกับตนได้ ดังนั้นเราจึงควรหาทางนำเอาทรัพย์ที่เรามีอยู่นี้ไปกับเราให้ได้ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดดังนั้นแล้วคนทั้ง ๒ นั้นจึงเริ่มให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น ในสถานที่ ๔ แห่ง

    สหายทั้งสอง คนหนึ่งเป็นผู้ชอบสอบถามคนที่มาแล้วมาอีกในโรงทานของตน ว่าชอบใจสิ่งใด เป็นต้นว่า ข้าวยาคูและของเคี้ยว แล้วก็ให้สิ่งนั้นแก่ผู้นั้น เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงมีชื่อว่า “ผู้กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว” อีกคนหนึ่ง ไม่ถามเลย เมื่อมีผู้ถือภาชนะมาเพื่อใส่สิ่งของ ก็ใส่ของที่เขาต้องการให้เต็มแล้วก็ให้ไป ด้วยเหตุนั้นแหละ เขาจึงมีชื่อว่า “ไม่กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว”

    วันหนึ่งชนทั้ง ๒ นั้นออกไปนอกบ้านแต่เช้าตรู่ ได้พบดาบสผู้มีฤทธิ์มาก ๒ รูป ที่เหาะมาแต่ป่าหิมพานต์ เพื่อภิกขาจร มาลงในที่ที่ไม่ไกลจากที่สหายทั้งสองยืนอยู่ เมื่อดาบสทั้ง ๒ นั้น จัดแจงบริขารมีภาชนะน้ำเต้า เป็นต้นแล้วก็เดินไปตามทางเพื่อภิกขาจาร สหายทั้งสองจึงมาไหว้ใกล้ ๆ ครั้งนั้นดาบส กล่าวกะชนทั้ง ๒ นั้นว่า ท่านผู้มีบุญใหญ่ ท่านมาในเวลาไร ชนทั้ง ๒ นั้นตอบว่า มาเดี๋ยวนี้ขอรับ แล้วรับภาชนะน้ำเต้าจากมือ ของดาบสทั้ง ๒ นั้น นำไปเรือนของตน ๆ แล้วถวายภัตตาหาร ครั้นในเวลาเสร็จภัตรกิจ สหายทั้งสองจึงขอให้ท่านฤๅษีทั้งสองรับปากว่า จะมารับภิกษาจากตนเป็นประจำ เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฎฐากของตน ก็ให้พรว่า ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพปฐวินทรนาคราชเถิด ความที่ท่านกล่าวให้พรดังนี้ด้วยมีเหตุว่า

    ดาบสรูปนั้น ท่านเป็นคนมักร้อน เมื่อรู้สึกร้อนก็จะแหวกน้ำในมหาสมุทรออกเป็น ๒ ส่วนด้วยอานุภาพของตน แล้วไปยังภพของปฐวินทรนาคราชเพื่อนั่งพักในตอนกลางวัน ได้แลเห็นสมบัติต่าง ๆ ในภพนาคราชนั้น ครั้นเมื่อพักพอสบายแล้ว จึงกลับมายังโลกมนุษย์ สหายผู้นั้นเมื่อประสงค์จะรู้ความหมายของท่านดาบสที่ให้พรตนอย่างนั้น ในวันหนึ่ง จึงถามดาบสนั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านกระทำอนุโมทนาว่า จงสำเร็จเหมือนภพปฐวินทรนาคราช คำนี้ท่านหมายความว่าอะไร ดาบสกล่าวว่า ที่เรากล่าวนั้นหมายความว่า ขอให้สมบัติของท่านจงมีเหมือนสมบัติของพระยานาคชื่อว่า ปฐวินทร ตั้งแต่นั้นมา กฎุมพีผู้นั้นก็ตั้งจิตมั่น ปรารถนาอยู่ในภพของพระยานาคชื่อว่า ปฐวินทร

    ส่วนดาบสอีกรูปหนึ่งก็เช่นกัน แต่ไปพักกลางวันยังภพดาวดึงส์ ในเสริสกวิมานที่ว่างเปล่า ดาบสนั้นเที่ยวไปเที่ยวมาในดาวดึงสพิภพนั้นได้แลเห็นสมบัติของท้าวสักกเทวราชว่ามีมากมายและสวยงามเพียงใด เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฏฐากของตน ก็กล่าวว่าสมบัติของท่านจงเป็นเหมือนสักกวิมาน ครั้งนั้น กฎุมพี ก็ถามดาบสนั้นเหมือนอย่างสหายอีกคนหนึ่งถามดาบสอีกท่านหนึ่งนั้น เมื่อได้ฟังเช่นนั้น กุฎุมพีก็ฟังคำของดาบสนั้น จึงตั้งจิตมั่นปรารถนาอยู่ในภพของท้าวสักกะ

    ด้วยกุศลแห่งกรรมที่สหายทั้งสองได้บำเพ็ญมา เมื่อทั้งสองสิ้นชีวิตลงแล้ว ต่างก็ได้ไปเกิดในภพที่ตนตั้งจิตปรารถนาไว้นั้น สหายผู้ที่เกิดในภพของปฐวินทรนาคราช ก็มีชื่อว่า ปฐวินทรนาคราชา สหายผู้เกิดเป็นพญานาคราชนั้น เมื่อเห็นสภาพของตนที่เกิดมาในเพศของนาคนั้น ก็เกิดความร้อนใจว่า การเกิดของเราอยู่ในฐานะที่ไม่น่าพอใจหนอ ที่นี้เป็นที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง เห็นทีดาบสที่ให้พรเราเช่นนั้น คงจะไม่รู้ที่อื่น ๆ ที่ดีกว่าเป็นแน่แท้

    ส่วนสหายอีกท่านหนึ่งก็ไปเกิดเป็นท้าวสักกะในภพดาวดึงส์ ต่อมาก็ถึงเวลาที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่มีหน้าที่จะต้องไปเฝ้าท้าวสักกเทวราชทุก ๆกึ่งเดือน ปฐวินทรนาคราชานั้นก็ต้องไปเฝ้าท้าวสักกะพร้อมกับพระยานาคชื่อวิรูปักษ์ด้วย จึงได้กลายเพศเป็นมาณพน้อย แล้วไปเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราชทุกกึ่งเดือน

    ในเวลาที่ท่านได้เข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช ท้าวสักกะเห็นพระยานาคนั้นก็จำได้ว่าเป็นสหายเก่า จึงถามพระยานาคนั้นว่า สหาย ท่านไปเกิดที่ไหน พระยานาคกล่าวว่า ท่านมหาราช อย่าถามเลย ข้าพเจ้าไปเกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ส่วนท่านได้อยู่ในที่ที่ดีแล้ว ท่านสักกะตรัสว่า สหาย ท่านอย่าวิตกเลยว่าเกิดในที่ไม่สมควร พระทศพลพระนามว่า ปทุมุตตระทรงบังเกิดในโลกแล้ว ท่านจงกระทำกุศลกรรมแด่พระองค์นั้นแล้วปรารถนาฐานะนี้เถิด เราทั้ง ๒ จักอยู่ร่วมกันเป็นสุข พระยานาคนั้นกล่าวว่า เทวะ ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้น แล้วจึงไปนิมนต์พระปทุมุตตระทศพล พร้อมกับจัดแจงเครื่องสักการะสัมมานะเพื่อเตรียมถวายพระศาสดาและเหล่าพระภิกษุตลอดคืนยันรุ่ง กับนาคบริษัทในภพนาคของตน

    วันรุ่งขึ้น เมื่อรุ่งอรุณ พระศาสดาตรัสเรียกพระสุมนเถระ ผู้อุปัฏฐากของพระองค์ว่า สุมนะ วันนี้ตถาคตจักไปภิกษาจาร ณ ที่ไกล ภิกษุปุถุชนนั้นไม่สามารถไปด้วย จงไปแต่พระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ผู้มีอภิญญา ๖ เถิด พระเถระสดับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว แจ้งแก่ภิกษุทั้งปวง ภิกษุทั้งหมดผู้มีอภิญญาประมาณแสนหนึ่งได้เหาะไปพร้อมกับพระศาสดา พระยานาคปฐวินทรกับนาคบริษัทที่มารับเสด็จพระทศพล แลดูพระภิกษุสงฆ์ที่ล้อมพระศาสดาซึ่งกำลังเสด็จมา แลเห็นพระศาสดาอยู่เบื้องต้น พระสงฆ์นวกะจนถึงสามเณรชื่ออุปเรวตะผู้เป็นโอรสของพระตถาคตอยู่ท้าย จึงเกิดปีติปราโมทย์ว่า การที่พระสาวกทั้งหลายที่เป็นพระภิกษุได้แสดงอานุภาพเห็นปานนี้ยังไม่น่าอัศจรรย์ แต่อานุภาพแห่งสามเณรองค์เล็กนี้ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกินดังนี้

    ครั้นเมื่อพระทศพลประทับนั่งที่ภพของพระยานาคนั้นแล้ว พระภิกษุทั้งหลายก็นั่งเรียงกันตามลำดับอาวุโส พระยานาคเมื่อถวายข้าวยาคูก็ดี เมื่อถวายของเคี้ยวก็ดี แลดูพระทศพลทีหนึ่ง ดูสามเณรอุปเรวตะทีหนึ่ง นัยว่ามหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ในสรีระของสามเณรนั้นย่อมปรากฏเสมือนพระพุทธเจ้า ก็สงสัยว่าเป็นอะไรกันหนอ จึงถามภิกษุรูปหนึ่งผู้นั่งไม่ไกลว่า ท่านเจ้าข้า สามเณรรูปนี้เป็นอะไรกับพระทศพล ภิกษุนั้นตอบว่า มหาบพิตร สามเณรรูปนั้นเป็นโอรสของพระพุทธองค์

    ปฐวินทรนาคราชจึงดำริว่า สามเณรรูปนี้ใหญ่หนอ จึงได้ความเป็นโอรสของพระตถาคตผู้สง่างามเห็นปานนี้ แม้สรีระของท่านก็ปรากฏเสมือนพระสรีระของพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว แม้ตัวเราก็ควรเป็นอย่างนี้ในอนาคตกาล จึงถวายมหาทาน ๗ วัน แล้วกระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พึงเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนอุปเรวตะสามเณรนี้ ด้วยอานุภาพแห่งกุศลกรรมนี้ พระศาสดาทรงเห็นว่า หาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตมหาบพิตรจักเป็นโอรสแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่าโคตมะ ดังนี้แล้วเสด็จกลับไป

    ส่วนปฐวินทรนาคราช เมื่อถึงกึ่งเดือนอีกครั้งหนึ่งก็ไปเฝ้าท้าวสักกะกับพระยานาคชื่อวิรูปักษ์อีก คราวนี้ท้าวสักกะตรัสถาม พระยานาคนั้นผู้มายืนอยู่ในที่ใกล้ว่า สหาย ท่านกระทำมหาทานเพื่อปรารถนาเทวโลกนี้แล้วหรือ

    ปฐวินทรนาคราช ตอบว่า ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาเทวโลกนี้ดอกเพื่อน

    ท้าวสักกะ ท่านเห็นโทษอะไร เล่า?

    ปฐวินทรนาคราช โทษไม่มีมหาราช แต่ข้าพเจ้าเห็นสามเณรอุปเรวตะโอรสของพระทศพล ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นสามเณรนั้นก็มิได้น้อมจิตไปในที่อื่น ข้าพเจ้านั้นกระทำความปรารถนาว่าในอนาคตกาล ขอข้าพเจ้าพึงเป็นโอรสเช่นนี้ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ข้าแต่มหาราช แม้พระองค์ก็จงกระทำความปรารถนาอย่างหนึ่งเถิด เราทั้ง ๒ จักไม่พรากกันในที่ ๆ เกิดแล้ว

    ท้าวสักกะรับคำของพระยานาคนั้นแล้ว ต่อมาวันหนึ่งเห็นภิกษุผู้มีอานุภาพมากรูปหนึ่ง จึงนึกว่า กุลบุตรนี้ออกบวชจากสกุลไหนหนอดังนี้ ทราบว่ากุลบุตรผู้นี้เป็น บุตรของสกุลผู้สามารถสมานรัฐที่แตกแยกกันแล้ว กระทำการอดอาหารถึง ๑๔ วันเพื่อให้มารดาบิดาอนุญาตให้บรรพชาแล้วจึงได้บวช

    ครั้นทราบแล้วจึงกระทำมหาสักการะ ๗ วันต่อพระทศพล แล้วกระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งกัลยาณกรรมนั้น ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนอย่างกุลบุตรผู้นี้ในศาสนาของพระองค์เถิด พระศาสดา ทรงเห็นความปรารถนาหาอันตรายมิได้ จึงพยากรณ์ว่า มหาบพิตร พระองค์จักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาของ พระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ ในอนาคตแล้วเสด็จกลับไป ฝ่าย ท้าวสักกะก็เสด็จกลับไปยังเทพบุรีของพระองค์ตามเดิม

    เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดแสนกัป
    บุรพกรรมในสมัยพระปุสสพุทธเจ้า

    ในที่สุดกัปที่ ๙๒ สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่า ปุสสะ จุติมาบังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้ามหินทรราชา (อรรถกถาบางแห่งกล่าวว่าชื่อ ชยเสนะ )กรุงกาสี พระราชมารดาทรงพระนามว่า สิริมา ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมแก่ สุรักขิตะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ และบุตรปุโรหิต ชื่อ ธรรมเสนะ ทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พระศาสดาทรงสถาปนาพระสุรักขิตะถระไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระธรรมเสนะเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒

    พระเจ้ามหินทรราชา ท่านมีพระโอรสแต่ต่างพระมารดากับพระปุสสพุทธเจ้า อีก ๓ พระองค์ (ซึ่งต่อมมาในสมัยของพระพุทธเจ้าของเรานี้ก็คือ พระอุรุเวลกัสสป พระนทีกัสสป และ พระคยากัสสป) ฝ่ายพระเจ้ามหินทรราชา มีพระดำริว่า ลูกชายคนโตของเราออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า ลูกคนเล็กเป็นอัครสาวก ลูกปุโรหิตเป็นทุติยสาวก พระองค์จึงทรงให้สร้างวิหาร ทรงดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ และทรงปรารถนาจะอุปัฏฐากพระบรมศาสดาผู้เป็นพระโอรส พร้อมหมู่พระภิกษุแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ชนทั้งหลายได้มีโอกาสเช่นนั้นบ้าง จึงให้สร้างรั้วไม้ไผ่สองข้าง ปิดล้อมด้วยผ้า ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระราชวัง เบื้องบนรับสั่งให้ผูกพวงของหอมพวงมาลัยที่หอมฟุ้งเป็นเพดาน เสมือนประดับด้วยดาวทอง เบื้องล่างรับสั่งให้เกลี่ยทรายสีเหมือนเงินแล้ว โปรยดอกไม้ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตามทางนั้น แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร เพื่อกระทำภัตกิจ แล้วเสด็จกลับมายังวิหาร โดยทางเดิม มหาชนอื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ดู แล้วไฉนจะได้ถวายภักษาหารและการบูชาเล่า ทรงกระทำเช่นนี้มาตลอด ๗ ปี ๗ เดือน

    ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เป็นเวลานานถึงเพียงนี้แล้ว ถึงวันนี้ พวกเราแม้เพียงปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่จะได้ถวายภิกษา หรือกระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า พระราชาทรงยึดถือว่า พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นของพระองค์เองผู้เดียว ที่ถูกแล้ว พระศาสดาเมื่อเสด็จอุบัติ ก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย มิใช่อุบัติเพื่อประโยชน์เฉพาะแก่พระราชาเท่านั้นไม่

    ชาวพระนครร่วมปรึกษากับพระโอรสทั้ง ๓ องค์ว่าพวกเราจะทำอุบายอย่างหนึ่ง โดยให้ชาวพระนครเหล่านั้นแต่งโจรชายแดนขึ้น แล้วส่งข่าวกราบทูลพพระเจ้ามหินทรราชาว่า หมู่บ้าน ๒ - ๓ แห่งที่อยู่ชายแดนเกิดโจรปล้น พระเจ้ามหินทรราชาจึงมีรับสั่งให้เรียกพระโอรสทั้ง ๓ เข้าเฝ้าแล้วรับสั่งให้พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปโจร พระโอรสทั้ง ๓ ออกไปจัดการให้โจรสงบแล้วกลับมากราบทูลพระเจ้ามหินทรราชา

    พระราชาทรงพอพระทัย ตรัสว่าและสัญญาว่าจะพระราชทานพรข้อหนึ่งให้กับพระโอรสทั้งสาม พระโอรสเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ได้ไปปรึกษากับชาวพระนครถึงเรื่องพรที่ได้รับพระราชทานมาว่า พวกเราจะเอาอะไร ชาวพระนครกล่าวว่า ทรัพย์สินเงินทองช้างม้าเป็นต้นหาได้ไม่ยาก แต่พระพุทธรัตนะหาได้ยาก ไม่เกิดขึ้นทุกกาล เราขอให้พระเจ้ามหินทรราชาทรงยอมให้ชาวพระนครได้มีโอกาสกระทำบุญแด่ พระปุสสพุทธเจ้าบ้าง พระโอรสเหล่านั้นจึงนำความนั้นขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระราชา

    พระราชาเมื่อกลับคำพูดไม่ได้จึงตรัสต่อรองว่า ขอเวลาให้ท่านได้ทำบุญกับพระศาสดากับหมู่พระสงฆ์อีก ๗ ปี ๗ เดือน ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๖ เดือน ฯลฯ เพียงเดือนเดียว พระโอรสก็ไม่ยินยอม สุดท้ายจึงขออีก ๗ วัน พระโอรสก็ยินยอม

    พระราชาทรงนำสิ่งที่เตรียมไว้ถวายพระพุทธองค์และหมู่ภิกษุ สำหรับระยะเวลา ๗ ปี ๗ เดือน มารวมกันเพื่อถวายใน ๗ วันเท่านั้น แล้วพระราชาถวายบังคม กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครได้ถวายทานแล้ว ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด

    พระราชโอรสเหล่านั้นกับชาวพระนครจึงสร้างพระวิหารมอบถวายแด่พระศาสดา ปรนนิบัติพระศาสดาในที่นั้น เมื่อจวนเข้าพรรษา พระราชโอรสเหล่านั้นจึงคิดกันว่า พวกเราจะปรนนิบัติพระศาสดาให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไรหนอ

    ครั้นแล้วจึงได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้หนักในธรรม ไม่หนักในอามิส หากพวกเราตั้งอยู่ในศีลแล้วจักเป็นที่พอพระทัยของพระศาสดาได้ ราชกุมารเหล่านั้นจึงจึงแต่งตั้งอำมาตย์ผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเป็นผู้หารายได้เพื่อใช้ในการถวายทาน แต่งตั้งอำมาตย์ ผู้หนึ่งเป็นผู้รับจ่ายในการถวายทาน และแต่งตั้งอำมาตย์อีกผู้หนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อตัดกังวลในการถวายทานของพระโอรสทั้งสาม

    ครั้นแล้ว ราชกุมารทั้งสาม พร้อมทั้งบริวาร ๑,๐๐๐ คน ออกบวชโดยสมาทานศีล ๑๐ ครองผ้ากาสายะ ๒ ผืน บริโภคน้ำที่สมควร ครองชีพอยู่ เขาบำรุงพระศาสดาตลอดชีวิต พระศาสดาทรงเสด็จปรินิพพานในสำนักของเขาเหล่านั้นเอง

    ราชโอรสเหล่านั้นเมื่อทิวงคตแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

    กำเนิดเป็นรัฐปาลกุลบุตรในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

    ครั้นมาในเวลาเริ่มสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ราชกุมารทั้งสามมาเกิดเป็นชฎิล ๓ พี่น้อง คือ พระอุรุเวลกัสสป พระนทีกัสสป และ พระคยากัสสป อำมาตย์สามคนนั้น คนหนึ่งมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร ส่วนอีกคนหนึ่งมาเกิดเป็นวิสาขอุบาสก และอำมาตย์ผู้มีหน้าที่เป็นผู้เลี้ยงภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นั้นก็มาเกิดเป็นบุตรเพียงคนเดียว ในวรรณพ่อค้า ตระกูลเศรษฐี ในถุลลโกฏฐิตะนิคม ตระกูลของท่านชื่อว่า รัฐปาละ เพราะเป็นผู้สามารถดำรงรักษารัฐที่แบ่งแยกได้ คือตระกูลท่านได้สละทรัพย์สินช่วยเหลือแคว้นซึ่งกำลังตกต่ำทางเศรษฐกิจ ให้กลับมั่นคงเหมือนเดิม คนทั่วไปเรียกชื่อท่านว่า รัฐปาละ ตามชื่อตระกูลของท่านเอง

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปในหมู่ชนชาวกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมที่ท่านรัฐปาลอาศัยอยู่ เหล่าพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายชาวนิคมถุลลโกฏฐิตะ ได้ทราบข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยสกุล เสด็จจาริกมาถึง จึงได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงโปรดพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา

    รัฐปาลกุลบุตรขอบวช

    สมัยนั้น รัฐปาลกุลบุตร ก็ได้นั่งอยู่ในหมู่บริษัทนั้นด้วย เขาเกิดความเลื่อมใสในพระธรรมที่ทรงตรัส และเกิดความคิดว่า ทำอย่างไรหนอเราจึงจะทราบพระธรรมของพระบรมศาสดาทรงแสดงให้ได้ทั่วถึงถ้าเรายังคงเป็นผู้ครองเรือน การจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์ ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย ถ้ากระนั้นเรา พึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด

    ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาจบแล้ว ต่างก็ชื่นชมยินดีในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายบังคมแล้วต่างพากันกลับไป

    รัฐปาลกุลบุตร คิดว่า เราไม่ควรทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลาที่พราหมณ์ และคหบดี เหล่านั้นยังไม่ลุกไป เพราะญาติสาโลหิตมิตรทั้งหลาย ของเขาในที่นั้นเป็นจำนวนมาก ทุกคนก็ทราบอยู่ว่า ท่านเป็นลูกคนเดียว ของมารดาบิดา ท่านไม่ควรบวช แล้วก็จะขัดขวางการขอบรรพชาของเขา ดังนั้นเขาจึงทำเป็นลุกขึ้นไปพร้อมกับพวกเหล่านั้น เมื่อเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็แกล้งแยกตัวออกมาอ้างว่ามีกิจเนื่องอยู่ด้วยสรีระบางอย่าง แล้วไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบรรพชา

    พระผู้มีพระภาคทรงถามว่า ท่านเป็นผู้ที่มารดาบิดาอนุญาตให้ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้วหรือ?

    รัฐปาลกุลบุตรกราบทูลว่า ยัง พระเจ้าข้า

    พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า ดูกรรัฐปาละ พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่บวชบุตรที่มารดาบิดามิได้อนุญาต

    ครั้งนั้น รัฐปาลกุลบุตรลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วเข้าไปหามารดาบิดาที่อยู่ในเรือน แล้วได้กล่าวขออนุญาตเพื่อออกบวช

    เมื่อรัฐปาลกุลบุตรกล่าวเช่นนี้แล้ว มารดาบิดาของรัฐปาลกุลบุตร ได้กล่าวว่า

    พ่อรัฐปาละ เจ้าเป็นบุตรคนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของเราทั้งสอง มีแต่ความสุข ได้รับเลี้ยงดูมาด้วยความสุข พ่อรัฐปาละ เจ้าไม่ได้รู้จักความทุกข์อะไรเลย มาเถิด พ่อรัฐปาละ เจ้าจงแสวงหาความสุขทางโลกไปเถิด เจ้ายังอยู่ในวัยหนุ่ม ยังสามารถแสวงหาความสุขต่าง ๆ ก็จงแสวงหาความสุขไปด้วย ทำบุญไปด้วยก็ยังได้ เราทั้งสองจะอนุญาตให้เจ้าออกบวชเป็นบรรพชิตไม่ได้ อย่าว่าแต่จะยอมให้เจ้าออกบวชเป็นบรรพชิตเลย แม้นเจ้าจะตายลง เราทั้งสองก็ไม่ปรารถนาจะพลัดพรากจากเจ้า?

    แม้รัฐปาลกุลบุตร จะอ้อนวอนมารดาบิดาอยู่ถึงสามครั้ง ท่านทั้งสองก็ยังไม่ยินยอม

    มารดาบิดาไม่อนุญาตให้บวช

    ครั้งนั้น รัฐปาลกุลบุตรน้อยใจว่า มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ดังนี้ จึงนอนอยู่บนพื้นเรือนที่นั้นเอง ด้วยตั้งใจว่าเราจักยอมตายถ้ามารดาบิดาไม่ยอมให้เราบวช

    ตั้งแต่นั้นเขาก็ไม่ยอมบริโภคอาหาร เริ่มตั้งแต่ ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน ไปจนกระทั่งถึงวันที่ ๗

    ครั้งนั้น มารดาบิดาของรัฐปาลกุลบุตรจึงได้กล่าวอ้อนวอนให้เขาล้มเลิกความคิดที่จะออกบวชเสีย แล้วมาแสวงหาความสุขใส่ตัวจะดีกว่า มารดาบิดาทั้งสองก็ได้อ้อนวอนเขาถึง ๓ ครั้งแต่รัฐปาลกุลบุตรก็ได้แต่นอนนิ่งเสีย ไม่ยอมฟัง

    เพื่อนช่วยอ้อนวอนขอให้อนุญาตให้บวช

    ครั้งนั้น มารดาบิดา ของเขาพูด ๓ ครั้งไม่ได้แม้คำตอบ จึงให้เรียกสหายของเขามาพูดว่า สหายของเจ้านั้นอยากจะบวช พวกท่านจงห้ามเขาทีเถอะ แม้สหายเหล่านั้นจะเข้าไปหาเขาแล้ว พูดอ้อนวอนถึง ๓ ครั้งเขาก็ยังคงนิ่ง เหล่าสหายของเขาก็คิดอย่างนี้ว่า ถ้าเพื่อนผู้นี้ไม่ได้บวช ก็จักตาย ก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้ายอมให้เขาบวชแล้ว ทั้งมารดาบิดาก็จะมีโอกาสได้เห็นเขาบ้างเป็นครั้งคราว รวมทั้งพวกเราที่เป็นสหายด้วย อีกอย่างหนึ่งการบรรพชานี้เป็นของลำบาก เขาก็ต้องถือบาตรเดินไป เที่ยวบิณฑบาตทุกวัน ๆ การประพฤติพรหมจรรย์ที่มีการนอนหนเดียว กินหนเดียว หนักนักหนา ก็เพื่อนของเราผู้นี้เป็นชาวเมือง เป็นสุขุมาลชาติ ถ้าเขาไม่อาจทนประพฤติพรหมจรรย์เช่นนั้นได้ ก็จะต้องกลับมาเอง เอาเถิด เราจักเกลี้ยกล่อมให้มารดาบิดาของเขาอนุญาตจะเป็นผลดีกว่า

    ลำดับนั้น พวกสหายพากันเข้าไปหามารดาบิดาของรัฐปาลกุลบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า ถ้าคุณแม่คุณพ่อจะไม่อนุญาตให้รัฐปาลกุลบุตรออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต เขาก็จักตายเสียในที่นั้นเอง แต่ถ้าคุณแม่คุณพ่อจะอนุญาตให้รัฐปาลกุลบุตรออกบวช คุณแม่คุณพ่อก็จักได้เห็นเขาบ้าง แม้บวชแล้ว หากรัฐปาลกุลบุตรทนสภาพการบวชไม่ได้ เขาจะไปไหนอื่น เขาก็จักลับมาที่นี่เอง ขอคุณแม่คุณพ่ออนุญาตให้รัฐปาลกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด

    มารดาบิดาอนุญาตให้บวช

    มารดาบิดากล่าวว่า ดูกรพ่อทั้งหลาย เราอนุญาตให้รัฐปาลกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิต แต่เมื่อเขาบวชแล้วพึงมาเยี่ยมมารดาบิดาบ้าง

    ครั้งนั้น สหายทั้งหลาย พากันเข้าไปหารัฐปาลกุลบุตรถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า คุณแม่คุณพ่ออนุญาตให้ท่านออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่เมื่อท่านบวชแล้ว พึงมาเยี่ยมคุณแม่คุณพ่อบ้าง

    รัฐปาละบวชและบรรลุพระอรหันต์

    ครั้งนั้น รัฐปาลกุลบุตรลุกขึ้น บริโภคโภชนะ บำรุงกายให้เกิดกำลังแล้ว ไหว้มารดาบิดา ละเครือญาติ ที่มีน้ำตาตกนองหน้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    แล้วได้ทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้า ออกบวชเป็นบรรพชิตได้แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งซึ่งยืนอยู่ที่ใกล้ ให้รัฐปาลกุลบุตรได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค

    ครั้นเมื่อท่านรัฐปาละอุปสมบทแล้วไม่นาน พอได้กึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถุลลโกฏฐิตนิคมตามควรแล้ว เสด็จจาริกไปทางนครสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับได้เสด็จถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

    ท่านรัฐปาละเมื่อได้บวชแล้ว หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว บำเพ็ญสมณธรรม ถือธุดงควัตรอย่างอุกฤษฏ์ อยู่อย่างนี้ ๑๒ ปี เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร ไม่ช้านานเท่าไร ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ท่านพระรัฐปาละได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

    ครั้นเมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว พระเถระรำลึกถึง คำที่สัญญากับว่า เมื่อครั้งที่มารดา บิดาของเราอนุญาตเราให้บวช ท่านทั้งสองกล่าวว่า เจ้าต้องมาพบเราบางครั้งบางคราว แล้วจึงอนุญาต บัดนี้ เราจักทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อกลับไปเยี่ยมท่านทั้งสอง แล้วประสงค์จะทูลลา จึงเข้าเฝ้า

    ครั้งนั้น ท่านพระรัฐปาละเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะไปเยี่ยมมารดาบิดา ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตกะข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดใจของท่านพระรัฐปาละด้วยพระหฤทัยแล้วว่า เมื่อพระรัฐปาละไปแล้ว จักมีอุปสรรคไร ๆ ไหมหนอ ทรงทราบว่า จักมีแน่ ทรงตรวจดูต่อไปว่า พระรัฐปาละ จักสามารถย่ำยีอุปสรรคนั้นหรือไม่หนอ ทรงเห็นว่า พระรัฐบาละนั้นบรรลุพระ อรหัตแล้ว จักสามารถพ้นจากอุปสรรคนั้นได้ จึงทรงอนุญาต

    ท่านพระรัฐปาละลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เก็บอาสนะถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางถุลลโกฏฐิตนิคม จาริกไปโดยลำดับ บรรลุถึงถุลลโกฏฐิตนิคมแล้ว เมื่อถึงแล้ว ท่านพระรัฐปาละจึงได้พักอยู่ ณ พระราชอุทยาน ชื่อมิคาจีระ ของพระเจ้าโกรัพยะ ในถุลลโกฏฐิตนิคมนั้น ซึ่งเป็นพระราชอุทยานที่พระราชาพระองค์นั้นพระราชทานพระราชานุญาตแก่เหล่าบรรพชิตที่มาถึงในเวลาที่หาที่พักไม่ได้ ครั้นรุ่งเช้า ท่านพระรัฐปาละจึงเข้าไปบิณฑบาตยังถุลลโกฏฐิตนิคม

    เมื่อเที่ยวบิณฑบาตมาจนถึงเรือนของบิดาท่าน สมัยนั้น บิดาของท่านพระรัฐปาละ กำลังให้ช่างกัลบกสางผมอยู่ที่ซุ้มประตูกลาง ได้เห็นท่านพระรัฐปาละในเพศบรรพชิต กำลังมาแต่ไกล ด้วยความที่ระยะเวลาผ่านไปถึง ๑๒ ปี อีกทั้งพระเถระบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่แต่ในป่า บริโภคแต่ภัตที่บิณฑบาตได้ หน้าตาผิวพรรณจึงเปลี่ยนไป จนท่านบิดาจำไม่ได้ และด้วยความที่ท่านบิดาผูกใจเจ็บในพวกเหล่าสมณะที่ทำให้ท่านต้องเสียลูกชายอันเป็นที่รักต้องออกจากเรือนไปบวช จึงกล่าววาจาขับไล่ว่า สมณะเหล่านี้ ตั้งแต่ให้บุตรที่รักคนเดียวของเราบวช เราก็ไม่เห็นบุตรเราแม้แต่วันเดียว เหมือนเรามอบบุตรไว้ใน มือโจร สมณะเหล่านี้กระทำการหยาบช้าอย่างนี้ ยังจะเข้าใจว่า ที่นี้ควรจะเข้ามา อีก ควรจะเอาตัวออกไปเสียจากที่นี้

    ครั้งนั้น ท่านพระรัฐปาละไม่ได้อะไรจากการที่ไปที่บ้านบิดาของท่าน ที่แท้ได้แต่คำด่าเท่านั้น ขณะนั้นนางทาสีแห่งเรือนของบิดาท่านพระรัฐปาละกำลังจะเอาขนมแป้งที่ชื่อกุมมาสที่บูดเน่าไปทิ้งเสียในที่ทิ้งขยะ ท่านรัฐปาละเห็นดังนั้นจึงได้กล่าวกะนางทาสีนั้นว่า

    ดูกรน้องหญิง ถ้าสิ่งนั้นจำต้องทิ้ง ก็จงใส่ในบาตรของฉันนี้เถิด

    นางทาสีเมื่อได้ยินดังนั้นก็ก้มลงเทขนมบูดเน่านั้นลงในบาตรของท่านรัฐปาละ ขณะที่นางทาสีกำลังเทขนมบูดลงในบาตรนั้น แลเห็นมือทั้งสองตั้งแต่ข้อมือ ของพระเถระผู้น้อมบาตรลงเพื่อรับภิกษา และเท้าทั้งสองตั้งแต่ชายจีวรลงไป นางก็จำเสียงและลักษณะของมือและเท้าของท่านพระเถระได้ว่าเป็น ท่านรัฐปาละผู้เป็นบุตรของนายตน

    แต่ถึงแม้นางทาสีนั้นจะเป็นนางนม ผู้ทะนุถนอมพระเถระให้ดื่มน้ำนม และเลี้ยงมาจนเติบโต ก็ไม่บังอาจพูดกับบุตรนายผู้บวช และถึงความเป็นพระมหาขีณาสพแล้ว นางจึงรีบเข้าเรือนแล้วได้เข้าไปหามารดาของท่านรัฐปาละ แล้วได้กล่าวว่า

    เดชะบุญแม่เจ้า แม่เจ้าพึงทราบว่า รัฐปาละลูกแม่เจ้ามาแล้ว

    มารดาท่านพระรัฐปาละกล่าวว่า แม่คนใช้ ถ้าเจ้ากล่าวจริง ฉันจะปล่อยให้เจ้าเป็นไท ทำให้เจ้าไม่ต้องเป็นทาสี

    แล้วมารดาของท่านพระรัฐปาละจึงเข้าไปหาบิดาถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า เดชะบุญท่านคฤหบดี ท่านพึงทราบว่า ได้ยินว่ารัฐปาลกุลบุตรมาถึงแล้ว

    พระรัฐปาลฉันขนมบูด

    พระเถระนั้น เมื่อได้ภัตแล้วก็เดินหลีกไป ในบริเวณที่ใกล้ ๆ นั้นมีศาลาที่ผู้ใจบุญสร้างขึ้นอยู่ใกล้เรือน ที่ศาลานั้นเขาจัดอาสนะไว้ น้ำและน้ำข้าวเขาก็จัดตั้งไว้ในศาลานั้น เพื่อบรรพชิตทั้งหลายที่เมื่อเที่ยวบิณฑบาตได้แล้วจักนั่งฉัน และถ้าว่าบรรพชิตทั้งหลายปรารถนา ก็สามารถจะถือเอาสิ่งของที่ทานบดีทั้งหลายจัดไว้ก็ได้ ขณะนั้น ท่านพระรัฐปาละอาศัยศาลานั้นฉันขนมกุมมาสบูดนั้นอยู่

    บิดาเข้าไปหาท่านพระรัฐปาละถึงที่ใกล้ แล้วได้ถามว่า

    มีอยู่หรือ พ่อรัฐปาละ ที่พ่อจะ ฉันขนมกุมาสบูด แม้เราเห็นกับตาก็ไม่เชื่อ ทนไม่ได้ พ่อรัฐปาละ พวกเรา นั้นมีทรัพย์อยู่หนอ มิใช่ไม่มีทรัพย์ พ่อควรไปเรือนของตัวมิใช่หรือ?

    คฤหบดียืนจับที่ขอบปากบาตรของพระเถระ แล้วกล่าวคำข้างต้น เมื่อบิดายืนจับที่ขอบปากบาตรอยู่นั้น พระเถระก็ฉันขนมนั้น ขนมนั้นส่งกลิ่นบูดเหม็นเหมือนฟองไข่เน่า เป็นเช่นกับรากสุนัข เล่าว่าปุถุชนก็ไม่อาจกินขนมเช่นนั้นได้ แต่พระเถระ ฉันเหมือนกับอาหารปกติ ครั้นฉันเสร็จแล้วจึงกรองน้ำด้วย ธรรมกรก ล้างบาตร ปาก และมือ แล้วท่านพระรัฐปาละตอบว่า

    ดูกรคฤหบดี เรือนของอาตมภาพผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะมีที่ไหน อาตมภาพไม่มีเรือน อาตมภาพได้ไปถึงเรือนของท่านแล้ว แต่ที่เรือนของท่านนั้น อาตมภาพไม่ได้การให้ ไม่ได้คำตอบเลย ได้เพียงคำด่าอย่างเดียวเท่านั้น

    มาไปเรือน มาเถิด พ่อรัฐปาละ

    พระเถระ เพราะเป็นผู้ถือ เอกาสนิกังคธุดงค์ (ฉันมื้อเดียว) อย่างอุกฤษฏ์ จึงกล่าวปฏิเสธว่า

    อย่าเลยคฤหบดี วันนี้อาตมภาพทำภัตตกิจเสร็จแล้ว

    พ่อรัฐปาละ ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงรับภัตตาหารเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ ท่านพระรัฐปาละรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพแล้ว

    พระเถระ โดยปกติเป็นผู้ถือ สปทานจาริกังคธุดงค์อย่างอุกฤษฏฺ์ (บิณฑบาตตามลำดับบ้าน) จึงปกติจะไม่รับนิมนต์ เพื่อฉันภิกษาในบ้าน ในวันรุ่งขึ้น แต่ที่รับก็เพราะประสงค์จะอนุเคราะห์มารดา ได้ยินว่า มารดาของพระเถระรำลึกแล้วรำลึกเล่าถึงพระเถระ ก็เกิดความโศกอย่างใหญ่ ร้องห่มร้องไห้มีดวงตาฟกซ้ำ เพราะฉะนั้น พระเถระคิดว่า ถ้าเราจักไม่ไปเยี่ยมมารดานั้น หัวใจของมารดาจะพึงแตก จึงรับด้วยความอนุเคราะห์

    พระรัฐปาลเข้าไปบ้านโยมบิดา

    ลำดับนั้น บิดาของท่านพระรัฐปาละทราบว่า ท่านรัฐปาละรับนิมนต์แล้วเข้าไปยังนิเวศน์ของตน แล้วสั่งให้ฉาบไล้ที่แผ่นดินด้วยโคมัยสด แล้วให้ขนเงินและทองมากองเป็นกองใหญ่ แบ่งเป็นสองกอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองใหญ่อย่างที่บุรุษที่ยืนอยู่ข้างนี้ ไม่เห็นบุรุษที่ผู้ยืนข้างโน้น บุรุษที่ยืนข้างโน้นไม่เห็นบุรุษผู้ยืนข้างนี้ ฉะนั้น ให้ปิดกองเงินกองทอง นั้นด้วยเสื่อลำแพน ให้ปูลาดอาสนะไว้ท่ามกลาง แล้วแวดวงด้วยม่าน แล้วเรียกหญิงทั้งหลายที่เป็นภรรยาเก่าของท่านพระรัฐปาละมาว่า

    ดูกรแม่สาวๆ ทั้งหลาย เจ้าทั้งหลาย ประดับด้วยเครื่องประดับสำรับใดมา จึงเป็นที่รักที่ชอบใจของรัฐปาลบุตรของเราแต่ก่อน จงประดับด้วยเครื่องประดับสำรับนั้น

    ครั้นล่วงราตรีนั้นไป บิดาของท่านพระรัฐปาละ ได้สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉัน อย่างประณีต แล้วใช้คนไปเรียนเวลาแก่ท่านพระรัฐปาละว่า ถึงเวลาแล้วพ่อรัฐปาละว่า ภัตตาหารสำเร็จแล้ว

    ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระรัฐปาละ นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ แห่งบิดาท่าน แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ บิดาของท่านพระรัฐปาละสั่งให้เปิดกองเงินและทองนั้น แล้วได้กล่าวกะท่านพระรัฐปาละว่า

    พ่อรัฐปาละ ทรัพย์กองนี้เป็นส่วนของมารดา กองอื่นเป็นส่วนของบิดา ส่วนของปู่อีกกองหนึ่ง เป็นของพ่อผู้เดียวพ่ออาจจะใช้สอยสมบัติ และทำบุญ ได้ พ่อจงลาสิกขาสึกเป็นคฤหัสถ์มาใช้สอยสมบัติ และทำบุญไปเถิด

    ท่านพระรัฐปาละตอบว่า

    ดูกรคฤหบดี ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้ ท่านพึงให้ เขาขนกองเงินกองทองนี้บรรทุกเกวียนให้เข็นไปจมเสียที่กลางกระแสแม่น้ำคงคา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความโศก ความร่ำไร ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เพราะมีทรัพย์นั้นเป็นเหตุ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน

    ครั้นพระเถระกล่าวอย่างนั้น เศรษฐีคฤหบดีคิดว่า เรานำทรัพย์นี้มาด้วยหมายจะให้บุตรนี้สึก บัดนี้ บุตรนั้นกลับเริ่มสอนธรรม แก่เรา อย่าเลย เขาจักไม่ทำตามคำของเราแน่ แล้วจึงลุกขึ้นไปให้เปิดประตู ห้องภรรยาเก่าของบุตรนั้น ส่งคนไปบอกว่า ผู้นี้เป็นสามี พวกเจ้าจงไปทำ อย่างใดอย่างหนึ่ง พยายามจับตัวมาให้ได้ นางรำทั้งหลายผู้อยู่ในวัยทั้งสามออกไปล้อมพระเถระไว้ แล้วต่างจับท่านที่เท้าแล้วถามว่า พ่อผู้ลูกเจ้า นางฟ้าทั้งหลายผู้เป็นเหตุให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์นั้นเป็นเช่นไร ?

    เพราะเหตุไร นางรำเหล่านั้น จึงกล่าว อย่างนี้? ได้ยินว่า ครั้งนั้น คนทั้งหลายเห็น เจ้าหนุ่มบ้าง พราหมณ์หนุ่มบ้าง ลูกเศรษฐีบ้าง เป็นอันมาก ละสมบัติ ออกบวชกัน คนเหล่านั้นไม่รู้คุณของการบรรพชา จึงตั้งคำถามว่า เหตุไรคนเหล่านี้ จึงบวช คนอีกพวกหนึ่งจึงกล่าวว่า เพราะเหตุแห่งเทพอัปสร เทพนาฏกะ ถ้อยคำนั้นได้แพร่ไปอย่างกว้างขวาง นางฟ้อนรำเหล่านั้นทั้งหมด จึงจำถ้อยคำนั้นได้แล้วจึงกล่าวอย่างนี้

    ท่านพระรัฐปาละตอบว่า

    ดูกรน้องหญิง เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์เพราะเหตุนางฟ้าทั้งหลายหามิได้

    หญิงเหล่านั้นเสียใจว่า รัฐปาละผู้ลูกเจ้าเรียกเราทั้งหลายด้วยวาทะว่า น้องหญิง ดังนี้สลบล้มอยู่ ณ ที่นั้น

    ครั้งนั้น ท่านพระรัฐปาละได้กล่าวกะบิดาว่า

    ดูกรคฤหบดี ถ้าจะพึงให้ โภชนะก็จงให้เถิด อย่าแสดงทรัพย์และส่งมาตุคามมาเบียดเบียนเราเลย อย่าให้อาตมภาพลำบากเลย

    พระเถระ กล่าวอย่างนั่นเพราะเหตุว่าเพื่ออนุเคราะห์ มารดาบิดา เล่ากันว่า เศรษฐีนั้น สำคัญผิดว่า ขึ้นชื่อว่าเพศบรรพชิตแล้วย่อมเศร้าหมอง เราจักให้เปลื้องเพศบรรพชิตออก ให้อาบน้ำ บริโภคร่วมกันสามคน จึงไม่ถวายภิกษาแก่พระเถระ พระเถระคิดว่า ถ้ามารดาบิดากระทำเช่นนั้นแก่พระขีณาสพเช่นเรา ก็จะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก จึงกล่าวอย่างนี้ ด้วยความอนุเคราะห์มารดาบิดานั้น

    คฤหบดีได้ยินเช่นนั้นจึงกล่าวว่า บริโภคเถิด พ่อรัฐปาละ ภัตตาหารสำเร็จแล้ว

    ถึงบิดาท่านพระรัฐปาละ ได้อังคาสท่านพระรัฐปาละด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างประณีตให้อิ่มหนำด้วยมือของตนเสร็จแล้ว

    พระรัฐปาละแสดงธรรม

    ครั้งนั้น ท่านพระรัฐปาละฉันเสร็จชักมือออกจากบาตรแล้วได้ยืนขึ้นกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

    จงมาดูอัตภาพอันวิจิตร มีกายเป็นแผล อันคุมกันอยู่แล้ว กระสับกระส่าย เป็นที่ดำริของชนเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง

    จงมาดูรูปอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑล มีกระดูกอันหนังหุ้มห่อไว้ งามพร้อมด้วยผ้า (ของหญิง) เท้าที่ย้อมด้วยสีแดงสด หน้าที่ไล้ทาด้วยจุณ พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้

    ผมที่แต่งงาม ตาที่เยิ้มด้วยยาหยอด พอจะหลอกคนให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้

    กายเน่าอันประดับด้วยเครื่องอลังการ ประดุจกล่องยาหยอดอันใหม่วิจิตร พอจะหลอกคนโง่ให้หลงได้ แต่จะหลอกคนผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานไม่ได้

    ท่านเป็นดังพรานเนื้อวางบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อพรานเนื้อกำลังคร่ำครวญอยู่ เรากินแต่อาหารแล้วก็ไป

    ครั้นท่านพระรัฐปาละยืนกล่าวคาถาเหล่านี้จบแล้ว จึงเหาะไปยังพระราชอุทยานมิคาจีระของพระเจ้าโกรัพยะ แล้วนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง การที่ท่านต้องเหาะไปเช่นนั้น เนื่องจากท่านทราบว่าเศรษฐีบิดาของพระเถระนั้น สั่งนักมวยปล้ำให้คุมอยู่ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ และคอยดูว่า ถ้าพระเถระจะออกไป ก็จงจับมือเท้าพระเถระไว้เปลื้องผ้ากาสายะออกให้ถือเพศคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงคิดว่า มารดาบิดานั้น จับมือเท้าพระมหาขีณาสพเช่นเรา จะพึงประสบสิ่งมิใช่บุญ ข้อนั้นอย่าได้มีแก่มารดาบิดาเลย จึงได้เหาะไป

    ครั้งนั้น พระเจ้าโกรัพยะ ตรัสเรียกพนักงานรักษาพระราชอุทยานชื่อ มิควะมาเพื่อให้ตกแต่งสวนให้สะอาดงดงามเพราะมีพระประสงค์จะเสด็จประพาสอุทยานนั้น

    นายมิควะทูลรับพระเจ้าโกรัพยะ แล้วจึงชำระพระราชอุทยานมิคาจีระโดยกระทำทางไปพระราชอุทยานให้เสมอ ให้ถากสถานที่ที่ควรจะถาก ให้กวาดสถานที่ที่ควรจะกวาด และกระทำการเกลี่ยทรายโรยดอกไม้ ตั้งหม้อน้ำเต็ม ตั้งต้นกล้วยเป็นต้น ไว้ภายในพระราชอุทยาน จึงได้เห็นพระรัฐปาละ ซึ่งนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง คนเฝ้าสวนคิดว่า พระราชาของเรา ตรัสชมกุลบุตร ผู้นี้อยู่เสมอ ทรงมีพระประสงค์จะพบแต่ไม่ทรงทราบว่ากุลบุตรผู้นั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น เราจักไปกราบทูลพระราชา จึงเข้า ไปเฝ้าพระเจ้าโกรัพยะ แล้วได้กราบทูลว่า

    ขอเดชะ พระราชอุทยานมิคาจีระของพระองค์หมดจดแล้วและในพระราชอุทยานนี้มีกุลบุตรชื่อ รัฐปาละ ผู้เป็นบุตรแห่งตระกูลเลิศในถุลลโกฏฐิตนิคมนี้ ที่พระองค์ทรงสรรเสริญอยู่เสมอๆ นั้น เธอนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง

    พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า

    ดูกรเพื่อนมิควะ ถ้าเช่นนั้น ควรจะไปยังพื้นสวนเดี๋ยวนี้เราทั้งสองจักเข้าไปหารัฐปาละผู้เจริญนั้นในบัดนี้

    ครั้งนั้น พระเจ้าโกรัพยะรับสั่งว่า ของควรเคี้ยวควรบริโภคสิ่งใดอันจะตกแต่งไปในสวนนั้น ท่านทั้งหลายจงแจกจ่ายของสิ่งนั้นทั้งสิ้นเสียเถิด ดังนี้แล้ว รับสั่งให้เทียมพระราชยานชั้นดี เสด็จออกจากถุลลโกฏฐิตนิคมด้วยพระราชยานที่ดีๆ ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ เพื่อจะพบ ท่านพระรัฐปาละ

    ท้าวเธอเสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนยานพระที่นั่งไปจนสุดทางเสด็จลงทรงพระดำเนินด้วยบริษัทชนสูงๆ เข้าไปหาท่านพระรัฐปาละ แล้วทรงปราศรัยกับท่านพระรัฐปาละ ครั้นผ่านปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วรับสั่งว่า เชิญท่านรัฐปาละผู้เจริญนั่งบนเครื่องลาดนี้เถิด

    ท่านพระรัฐปาละถวายพระพรว่า

    ดูกรมหาบพิตร อย่าเลย เชิญมหาบพิตร นั่งเถิดอาตมภาพนั่งที่อาสนะของอาตมภาพดีแล้ว พระเจ้าโกรัพยะประทับนั่งบนอาสนะที่พนักงานจัดถวาย

    ท่านพระรัฐปาละถวายพระพรว่า

    ดูกรมหาบพิตร อย่าเลย เชิญมหาบพิตร นั่งเถิดอาตมภาพนั่งที่อาสนะของอาตมภาพดีแล้ว พระเจ้าโกรัพยะประทับนั่งบนอาสนะที่พนักงานจัดถวาย

    พระรัฐปาลเถระแสดงธรรมถวายพระเจ้าโกรัพยะ

    ความเสื่อม ๔

    ครั้นพระเจ้าโกรัพยะประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระรัฐปาละว่า

    ท่านรัฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ คือ ความเสื่อมเพราะชรา ๑ ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ ๑ ความเสื่อมจากโภคสมบัติ ๑ ความเสื่อมจากญาติ ๑ คนบางพวกในโลกนี้เมื่อประสพความเสื่อมเหล่านี้แล้ว ย่อมปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ท่านรัฐปาละ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ถึงเข้าแล้ว จึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านรัฐปาละไม่ได้มีความเสื่อมเหล่านั้นเลย

    ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตเสียเล่า?

    ธัมมุทเทส ๔

    ท่านพระรัฐปาละถวายพระพรว่า มีอยู่แล มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงแสดงธัมมุทเทส ๔ ข้อ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ธัมมุทเทส ๔ ข้อเป็นไฉน? คือ

    ๑. โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน

    ๒. โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน

    ๓. โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

    ๔. โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

    ดูกรมหาบพิตร ธัมมุทเทส ๔ ข้อนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    พระรัฐปาละกล่าวนิคมคาถา

    ท่านรัฐปาละได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้ว ภายหลังได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้อื่นอีกว่า

    เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลก ที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์แล้วย่อมไม่ให้เพราะความหลง โลภแล้วย่อมทำการสั่งสมทรัพย์และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป พระราชาทรงแผ่อำนาจชำนะตลอดแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุดมิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างหนึ่ง ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทร ข้างโน้นอีก พระราชาและมนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมาก ยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน ย่อมเข้าถึงความตาย เป็นผู้พร่องอยู่ ละร่างกายไปแท้ ความอิ่มด้วยกามย่อมไม่มีในโลกเลย

    อนึ่ง ญาติทั้งหลายพากันสยายผมคร่ำครวญถึงผู้นั้น พากันกล่าวว่า ได้ตายแล้วหนอ พวกญาตินำเอาผู้นั้นคลุมด้วยผ้าไปยกขึ้นเชิงตะกอนแต่นั้นก็เผากัน ผู้นั้น เมื่อกำลังถูกเขาเผา ถูกแทงอยู่ด้วยหลาวมีแต่ผ้าผืนเดียว ละโภคสมบัติไปญาติก็ดี มิตรก็ดี หรือสหายทั้งหลายเป็นที่ต้านทานของบุคคลผู้จะตายไม่มี ทายาททั้งหลาย ก็ขนเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป ส่วนสัตว์ย่อมไปตามกรรม ที่ทำไว้ ทรัพย์อะไรๆ ย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ บุตรภรรยาทรัพย์และแว่นแคว้นก็เช่นนั้น

    บุคคลย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ และย่อมไม่กำจัดชราได้ด้วยทรัพย์ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ว่าน้อยนัก ว่าไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน แต่คนพาลย่อมนอนหวาดอยู่ เพราะความที่ตนเป็นพาลส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว

    เพราะเหตุนั้นแลปัญญา จึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้ คนเป็นอันมาก ทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุดสัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมาย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลกบ้าง ผู้อื่นนอกจากผู้มีปัญญานั้นย่อมเชื่อได้ว่า จะเข้าถึงครรภ์และปรโลก หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรม ละโลกนี้ไปแล้วย่อมเดือดร้อน เพราะกรรมของตนเองในโลกหน้า เปรียบเหมือนโจรผู้มีความผิด ถูกจับเพราะโจรกรรม มีตัดช่อง เป็นต้น ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น ความจริง กามทั้งหลายวิจิตร รสอร่อยเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิต ด้วยรูปมีประการต่างๆ

    มหาบพิตร อาตมาภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นจึงบวชเสียสัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ เมื่อสรีระทำลายไป ย่อมตกตายไป เหมือนผลไม้ทั้งหลายที่ร่วงหล่นไป มหาบพิตร อาตมภาพรู้เหตุนี้จึงบวชเสีย ความเป็นสมณะ เป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิด เป็นผู้ประเสริฐแท้ ดังนี้แล

    ทรงแต่งตั้งพระรัฐปาลเถระเป็นเอตทัคคะผู้เลิศของภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา

    ต่อมา ภายหลังพระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่ากุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนานี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ ท่านพระรัฐปาละนั้น เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ได้มีศรัทธาที่จะบวช กระทำการรอดข้าวถึง ๗ วัน มารดาบิดาจึงยอมอนุญาตให้บวชได้ และ โดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวไว้ข้างต้น

    พระรัฐปาลเถระปรินิพพาน

    ไม่มีรายละเอียดว่า ท่านปรินิพพานอย่างไร ทราบเพียงว่า ท่านปรินิพพานหลังพระผู้มีพระภาค
     
  16. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
  17. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
     
  18. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
    #เรื่องพระภาคิไนยสังฆรักขิต
    (สังฆรักขิตผู้เป็นหลาน)
    พระศาสดาประทับที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี
    กุลบุตรผู้หนึ่งชาวเมืองสาวัตถีนั่นเอง
    ฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว
    มีความเลื่อมใสขออุปสมบท
    ..
    เมื่ออุปสมบทแล้ว
    ปรากฏนามว่า สังฆรักขิต
    ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
    หลังจากบวชแล้วเพียง ๒-๓ วัน
    ..
    น้องชายของพระสังฆรักขิตนั้น
    มีบุตรชายคนหนึ่ง
    ให้บวชในสำนักของพระสังฆรักขิตผู้เป็นลุง
    แม้พระนั้นก็ชื่อสังฆรักขิตเหมือนกัน
    จึงเรียกกันว่า ภาคิไนยสังฆรักขิต
    คือสังฆรักขิตผู้เป็นหลาน
    ..
    เธอจำพรรษาที่วัดใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
    ได้ผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าจำนำพรรษา) มา ๒ ผืน
    ผืนหนึ่งยาว ๗ ศอก อีกผืนหนึ่งยาว ๘ ศอก
    เธอกำหนดไว้ในใจว่า
    จะถวายผืนที่ยาว ๘ ศอก นั้นแก่หลวงลุง
    ..
    จึงไปคอยพระเถระอยู่ ณ ที่อยู่ของท่าน
    เมื่อหลวงลุงมาก็ทำการต้อนรับ
    รับบาตร จีวร อาราธนาให้พระเถระนั่ง
    ล้างเท้า และถวายน้ำดื่ม
    พัดพระเถระอยู่ครู่หนึ่ง
    แล้วนำผ้ายาว ๘ ศอกออกมาถวาย
    อ้อนวอนขอให้หลวงลุงรับไว้
    เพราะเป็นความตั้งใจของตนตั้งแต่ได้มา
    ..
    แต่ท่านลุงปฏิเสธ
    บอกว่าผ้าสำหรับใช้ของท่านมีบริบูรณ์แล้ว
    ขอให้พระสังฆรักขิตเอาไว้ใช้เอง
    ..
    พระสังฆรักขิตผู้หลานอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง
    พระเถระก็หารับไม่ คงยืนยันอย่างเดิม
    ..
    พระหลานชายน้อยใจว่า
    "ว่าโดยฐานะทางสายโลหิตก็เป็นหลาน
    เมื่อบวชก็เป็นสัทธิวิหาริก (ศิษย์อุปฌาย์)
    แม้เป็นเช่นนี้ ท่านไม่ประสงค์ใช้สอยร่วมกับเรา
    ท่านรังเกียจในการรับผ้าสาฎก
    ที่เราตั้งใจมานานที่จะถวาย
    เราจะเป็นสมณะอยู่ทำไมอีก
    เราควรสึกไปเป็นคฤหัสถ์"
    ..
    เธอคิดดังนี้แล้วได้คิดต่อไปว่า
    "การครองเรือนตั้งตัวได้ยาก
    ควรจะทำอะไรกิน
    มองเห็นทางอยู่อย่างหนึ่งคือ
    เอาผ้าสาฎก ๘ ศอกไปขาย
    แล้วซื้อแม่แพะมาตัวหนึ่ง
    แม่แพะออกลูกเร็ว
    เมื่อแม่แพะออกลูกแล้ว
    จะขายลูกแพะเอามาทำต้นทุน
    เมื่อรวมเงินได้มากแล้ว
    จะหาหญิงคนหนึ่งมาเป็นภรรยา
    ต่อมาจะมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง
    จะพาลูกนั่งเกวียนมาหาหลวงลุง
    เราจะอุ้มลูกแต่แม่เขาบอกว่า
    ให้เราขับเกวียนเขาจะอุ้มเอง
    โดยความเผลอเลอ
    ลูกหล่นลงไปอยู่ที่ทางเกวียน
    ล้อเกวียนจะทับลูก
    เราโกรธภรรยาจับเอาด้ามปฎักตีหัวมัน"
    ..
    คิดมาถึงตอนนี้
    สังฆรักขิตเอาด้ามพัดตีหัวหลวงลุงพอดี
    เพราะเพลินไปว่าเป็นภรรยาตน
    ..
    พระเถระคิดว่า
    ทำไมพระหลานชายจึงทำอย่างนี้
    กำหนดจิตจึงรู้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์
    จึงกล่าวว่า
    "สังฆรักขิต! เธอตีมาตุคามไม่ได้แล้ว
    เรื่องอะไร จึงมาตีเอาเราเล่า?"
    พระสังฆรักขิตคิดว่า
    "ตายจริง! พระอุปฌาย์รู้เรื่องที่เราคิดด้วย
    เราจะอยู่เป็นพระได้อย่างไรต่อไป เราจะสึกละ"
    ดังนี้แล้วได้วางพัดใบตาลแล้วออกวิ่งหนี
    ...
    ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นออกวิ่งไล่ตาม
    จับมาได้ พาไปเฝ้าพระศาสดา
    ..
    พระพุทธองค์
    ทรงทราบเรื่องทั้งปวงแล้วตรัสว่า
    "ภิกษุ! เธอทำกรรมหนักอย่างนั้นทำไม
    เธอเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
    ผู้มีความเพียร
    เธอบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าเช่นเรา
    ควรมีความเพียรให้เขาได้เรียกตนว่า
    เป็นโสดาบัน หรือสกทาคามี อนาคามี
    จะมิควรหรือ”
    ..
    "เธออย่าคิดอะไรมากไปเลย
    มาเถิดมาฝึกฝนอบรมจิต
    ธรรมดาจิตย่อมรับอารมณ์ได้ไกล
    ท่องเที่ยวไปไกล
    เธอควรพยายามสำรวมจิต
    เพื่อให้ละราคะ โทสะและโมหะ
    อันเป็นเครื่องผูกแห่งมาร"
    ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ว่า
    "ทูรงฺคมํ เอกจรํ" เป็นอาทิ
    มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่ต้น
    จบพระธรรมเทศนา
    พระภาคิไนยสังฆรักขิตได้บรรลุโสดาปัตติผล
    .............
    #ธรรมบท #ทางแห่งความดี เล่ม ๑
    #จิตตวรรควรรณนา
    #ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
    #เพจอาจารย์วศิน อินทสระ
    =AZWr2ZTBUOQu1T-bHm1msdraa8OoqjBqLJgdBJPM67GQj11FKxxKqwYbjhwCQj5GDiniFCRMlLkW04ScBvkGq16T9oj7FdnXQHAtBiGLLQMUeO9DvqicGUc-1qDsLUtR1KSqVWQupiyrHjli9xs2eL08txTosrlhwxEZHodCWbJiVbn3INW8c2ntVmO2GGRhH0A&__tn__=EH-R'] JCdr6_ccnA7zrqCh4ur56422IA5_FkdpmK0aKWhqFlFf&_nc_ohc=drLPDz8arxEAX-NzgLo&_nc_ht=scontent.fbkk2-3.jpg
     
  19. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
     
  20. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,434
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,124
    ค่าพลัง:
    +70,473
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...